Categories
Football Business

เมื่อรัฐบาลอังกฤษตั้ง “องค์กรอิสระ” ดูแลความยั่งยืนลูกหนังเมืองผู้ดี

เมื่อเดือน กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา วงการฟุตบอลอังกฤษมีความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญ เมื่อรัฐบาลสหราชอาณาจักร ไฟเขียวประกาศจัดตั้งองค์กรอิสระ ในการกำกับดูแลเกมลูกหนังของประเทศ

ตลอดช่วงเวลากว่า 1 ปีที่ผ่านมา แฟนฟุตบอลอังกฤษได้ทำงานร่วมกับรัฐบาล ในการรวบรวมความคิดเห็น และกลั่นกรองเป็นข้อเสนอแนะ เพื่อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปเกมลูกหนังเมืองผู้ดีเสียใหม่

ไข่มุกดำ x SoccerSuck จะมาขยายให้ฟังถึงรายละเอียดของการจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมาใหม่ ที่มีความตั้งใจที่จะเปลี่ยนแปลงฟุตบอลอังกฤษครั้งยิ่งใหญ่ เพื่อเดินหน้าสู่อนาคตที่ยั่งยืนต่อไป

“สมุดปกขาว” นำไปสู่การปฏิรูป

จุดเริ่มต้นการปฏิรูปฟุตบอลของประเทศอังกฤษครั้งนี้ เกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2021 เมื่อเทรซีย์ เคราช์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้เผยแพร่รายงานที่ชื่อว่า “Review of Football Governance”

เบื้องหลังของรายงานฉบับดังกล่าว มาจากแฟนฟุตบอลและรัฐบาลที่ต่างเห็นตรงกันว่า ต้องหาวิธีการที่จะมีการควบคุมการบริหารงานของทีมฟุตบอล ไม่ให้ทำเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว ซึ่งกระทบต่อส่วนรวม

ข้อเสนอแนะการยกเครื่องที่ตกผลึกแล้ว ได้รวมอยู่ในสมุดปกขาว (White Paper) เรื่อง “A Sustainable Future – Reforming Club Football Governance” ที่เผยแพร่เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 23 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ซึ่งหนึ่งในเนื้อหาสำคัญของเอกสารสมุดปกขาว อยู่ที่การผลักดันให้รัฐบาล จัดตั้ง “ผู้ควบคุมกิจการด้านฟุตบอล” (Football regulator) ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระที่มีอำนาจควบคุมดูแลลูกหนังในประเทศ

วัตถุประสงค์หลักของ Football regulator ได้กำหนดกฎเหล็กไว้ 5 ข้อ ได้แก่ ป้องกันความล้มเหลวด้านการเงินของสโมสรฟุตบอล, กำหนดคุณสมบัติเจ้าของทีมและผู้บริหารที่เข้มงวดขึ้น, หยุดแนวคิดการเข้าร่วมทัวร์นาเมนท์ที่ไม่ชอบธรรม, ให้อำนาจแฟนบอลในการยับยั้งการเปลี่ยนแปลงอัตลักษณ์ของสโมสร และการจัดสรรเงินที่ยุติธรรมตามลำดับขั้นแบบพิระมิด

“การปฎิรูปครั้งใหม่ แฟนบอลคือหัวใจสำคัญในการปกป้องรากฐานที่ยาวนานของวงการฟุตบอลในประเทศ และส่งต่อเกมฟุตบอลที่สวยงามให้กับคนรุ่นหลังสืบไป” ริชี ซูแน็ก นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ระบุ

ด้านลูซี่ เฟรเซอร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม สื่อ และกีฬาของอังกฤษ กล่าวว่า “สมุดปกขาวฉบับนี้ แสดงถึงการปฎิรูปกีฬาฟุตบอลที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ประเทศ ซึ่งมีมานานกว่า 165 ปี”

กรณีศึกษาของบิวรี่ และแม็คเคิลฟิลด์ ทาวน์

ย้อนกลับไปเมื่อช่วงต้นฤดูกาล 2019/20 บิวรี่ สโมสรในลีก วัน (ดิวิชั่น 3) ถูกขับออกจากลีกอาชีพของอังกฤษ หลังจากไม่สามารถหากลุ่มทุนมาเทคโอเวอร์ เพื่อเคลียร์หนี้สิน 2.7 ล้านปอนด์ ได้ทันตามกำหนดเวลา

สาเหตุสำคัญที่บิวรี่หลุดออกจากลีกอาชีพ เนื่องจากไม่มีเงินจ่ายนักเตะ และพนักงานของสโมสร นับเป็นสโมสรแรกในรอบ 27 ปี ที่ต้องพบกับจุดจบดังกล่าว ปิดฉาก 134 ปี ที่โลดแล่นอยู่ในลีกฟุตบอลระดับอาชีพ

อีกทีมหนึ่งที่ประสบกับชะตากรรมเดียวกัน คือแม็คเคิลฟิลด์ ทาวน์ ที่อยู่ในเนชั่นแนล ลีก (ดิวิชั่น 5) เมื่อฤดูกาล 2020/21 แต่ยังไม่ทันเปิดซีซั่น สโมสรถูกศาลสั่งให้ล้มละลาย จนต้องเริ่มใหม่ที่ดิวิชั่นต่ำสุดในซีซั่นถัดไป

อย่างไรก็ตาม ก็มีบางสโมสรที่โชคดี ยังรักษาสถานภาพทีมระดับอาชีพไว้ได้ เช่น ดาร์บี้ เคาน์ตี้ และโบลตัน วันเดอเรอร์ส แต่ต้องแลกด้วยการถูกตัดแต้มอยู่หลายครั้ง ทั้งหมดนี้เป็นผลมาจากการบริหารที่ผิดพลาด

ซึ่งหน่วยงานที่ตั้งขึ้นมาใหม่จากรัฐบาล จะมีการสร้างระบบออกใบอนุญาต เพื่อบังคับให้สโมสรต่าง ๆ แสดงรูปแบบทางธุรกิจที่ยั่งยืน เพื่อช่วยป้องกันความล้มเหลวด้านการเงิน ซ้ำรอยเหมือนที่เคยเกิดกับหลายสโมสร

ทดสอบนายทุนเมื่อมีการเทคโอเวอร์

ตัวอย่างจากการซื้อสโมสรนิวคาสเซิล ยูไนเต็ด เมื่อเดือนตุลาคม 2021 แอมเนสตี้ แถลงประณามกลุ่มทุนจากซาอุดีอารเบีย ที่มีปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่สุดท้ายก็เทคโอเวอร์เป็นผลสำเร็จ

เช่นเดียวกับการยื่นข้อเสนอซื้อสโมสรแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ของมหาเศรษฐีจากกาตาร์ ที่ทำให้เกิดความกังวลกับปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน และความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+)

ส่วนกรณีของโรมัน อับราโมวิช เจ้าของทีมเชลซี ที่ถูกรัฐบาลอังกฤษประกาศคว่ำบาตร จากกรณีรัสเซียรุกรานยูเครน จนถูกบังคับขายสโมสรในเดือนมีนาคม 2022 และท็อดด์ โบห์ลี่ กลายเป็นเจ้าของทีมคนใหม่

โดยหน่วยงานอิสระของรัฐบาล จะมีกระบวนการกำหนดคุณสมบัติเจ้าของทีมและผู้บริหารที่สูงขึ้นกว่าในปัจจุบัน เพื่อพิสูจน์หลักประกันว่า เจ้าของทีมและผู้บริหารมีความตั้งใจที่จะลงทุนในสโมสรจริง ๆ

ขอบคุณภาพ https://web.facebook.com/ChelseaFC

ดับฝันกบฏที่เป็นภัยต่อฟุตบอลอังกฤษ

จากการก่อตั้ง “ยูโรเปี้ยน ซูเปอร์ ลีก” ในเดือนเมษายน 2021 สโมสรบิ๊ก 6 พรีเมียร์ลีก ได้ตัดสินใจเข้าร่วมทัวร์นาเมนท์ดังกล่าว จนเกิดกระแสต่อต้านอย่างรุนแรง และพวกเขาก็ยอมถอนตัวออกมาในที่สุด

แม้จะออกมายอมรับความผิดพลาด แต่บรรดาแฟนบอลต้องการทำให้แน่ใจว่า จะไม่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ซ้ำอีก จึงเรียกร้องให้มีการออกกฎเพื่อหยุดสโมสรที่พยายามจะทำลายพีระมิดฟุตบอลอังกฤษ

อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็วๆ นี้ ยูโรเปี้ยน ซูเปอร์ ลีก ได้คืนชีพอีกครั้ง กับรูปแบบใหม่ โดยตั้งเป้ามี 60 – 80 ทีมเข้าร่วม แบ่งออกเป็น 4 ดิวิชั่น มีเลื่อนชั้น-ตกชั้น แต่ยังไม่มีการเปิดเผยว่ามีสโมสรใดเข้าร่วมบ้าง

การถือกำเนิดของ “องค์กรอิสระ” จากรัฐบาลอังกฤษ จะมีอำนาจในการหยุดความพยายามของสโมสรในอังกฤษ เข้าร่วมการแข่งขันในทัวร์นาเมนท์ใดๆ ที่เป็นผลเสียต่อเกมฟุตบอลในประเทศ

ป้องกันการเปลี่ยนแปลงรากเหง้าที่ไม่เข้าท่า

เมื่อปี 2012 กรณีของวินเซนต์ ตัน เจ้าของสโมสรคาร์ดิฟฟ์ ซิตี้ จัดการเปลี่ยนสีเสื้อทีมเหย้าจากสีน้ำเงิน เป็นสีแดง และเปลี่ยนโลโก้จากนก เป็นมังกร ตามความเชื่อแบบเอเชีย จนถูกแฟนบอลตำหนิอย่างรุนแรง

ผ่านไป 3 ปี วินเซนต์ ตัน ทานกระแสต่อต้านจากแฟนบอลไม่ไหว จนต้องกลับสู่สิ่งเดิมทั้งเสื้อ และโลโก้ ซึ่งเจ้าตัวรู้สึกได้ว่าบรรยากาศภายในสโมสรกลับมาดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แฟนบอลกลับมาสนับสนุนทีมเต็มที่

หรือกรณีของฮัลล์ ซิตี้ ในปี 2013 อัสเซม อัลลัม เจ้าของทีม พยายามเปลี่ยนชื่อสโมสรใหม่เป็น “ฮัลล์ ซิตี้ ไทเกอร์ส” แต่ถูกสมาคมฟุตบอลอังกฤษปฏิเสธคำขอ ทำให้ตัวเขาตัดสินใจขายสโมสรในปีถัดมา

สำหรับหน่วยงานอิสระที่จัดตั้งใหม่ จะมอบอำนาจให้แฟนบอลในการยับยั้งการเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เป็นอัตลักษณ์ของสโมสร ถ้าไม่ได้รับความยินยอม ทั้งการเปลี่ยนชื่อสโมสร, โลโก้ของสโมสร, สีประจำสโมสร และอื่นๆ

การกระจายเงินทุนอย่างเป็นธรรม

ประเด็นเรื่องการเงินระหว่างพรีเมียร์ลีก กับลีกแชมเปี้ยนชิพ ที่มีความเหลื่อมล้ำอย่างเห็นได้ชัด ทำให้เกิดข้อตกลงในการลดช่องว่างตรงนี้ ด้วยการจัดสรรเงินที่ยุติธรรม เพื่อให้ทีมระดับล่าง ๆ ได้ประโยชน์มากขึ้น

ริค แพร์รี่ ประธานอีเอฟแอล (EFL) ต้องการส่วนแบ่ง 25 เปอร์เซ็นต์ ของรายได้จากการออกอากาศรวมกับพรีเมียร์ลีก อีกทั้งขอให้ยกเลิกกฎการจ่ายเงินแบบชูชีพ (Parachute Payment) สำหรับทีมที่ตกชั้นจากพรีเมียร์ลีก

“พรีเมียร์ลีกฤดูกาลแรก (1992/93) ช่องว่างระหว่างพรีเมียร์ลีกกับลีกรองอยู่ที่ 11 ล้านปอนด์ ความเหลื่อมล้ำมันกว้างขึ้นตลอดเวลา จุดประสงค์ของเราคือการทำให้สโมสรมีความยั่งยืนในระยะยาว” อดีตซีอีโอของลิเวอร์พูล กล่าว 

จนถึงเวลานี้ การเจรจาระหว่างพรีเมียร์ลีก และอีเอฟแอล ยังไม่ได้ข้อยุติ ซึ่งหากยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงนี้ได้ ทางเลือกสุดท้ายที่จะใช้คือ ให้หน่วยงานใหม่ที่ตั้งขึ้นโดยรัฐบาล เข้ามาแทรกแซงเพื่อแก้ไขปัญหา

ปฏิกิริยาจากผู้คนในแวดวงลูกหนัง

จากการที่รัฐบาลอังกฤษ เปิดทางให้มีการตั้งหน่วยงานอิสระเพื่อควบคุมดูแลฟุตบอลในประเทศ ก็ได้มีปฏิกิริยาจากผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียตามมามากมาย และนี่คือส่วนหนึ่งของความเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง

ริชาร์ด มาสเตอร์ส (ประธานพรีเมียร์ลีก) : “เรารู้สึกชื่นชมในความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการปกป้องวงการฟุตบอลอังกฤษ แต่กฎระเบียบของรัฐบาล จะต้องไม่ทำลายการแข่งขัน หรือความสามารถในการดึงดูดเงินลงทุน”

สตีฟ แพริช (เจ้าของร่วมคริสตัล พาเลซ) : “มันเป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน อังกฤษจะเป็นประเทศแรกของโลกที่ฟุตบอลถูกควบคุมโดยรัฐบาล แน่อนว่าสมุดปกขาวเป็นสิ่งที่ดี แต่อาจมีปีศาจซ่อนอยู่”

เดวิด ซัลลิแวน (ประธานสโมสรเวสต์แฮม ยูไนเต็ด) : “ผมคิดว่าเป็นความพยายามโปรโมตผลงานของรัฐบาลมากกว่า รัฐบาลนี้แย่มากที่มาจัดการทุกอย่าง ผมไม่ยอมรับการแทรกแซงของรัฐบาล”

องค์กรควบคุมฟุตบอลของรัฐบาลอังกฤษ คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายในปี 2024 คงต้องให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ แต่อย่างน้อยก็ได้เห็นความตั้งใจที่จะปกป้อง รักษาวัฒนธรรมฟุตบอลที่ดีงามไว้ให้คงอยู่ต่อไปจากรุ่นสู่รุ่น

เรียบเรียง: จักรพันธ์ ภู่ทอง

อ้างอิง :

– https://www.gov.uk/government/publications/fan-led-review-of-football-governance-securing-the-games-future/fan-led-review-of-football-governance-securing-the-games-future

– https://www.gov.uk/government/publications/a-sustainable-future-reforming-club-football-governance/a-sustainable-future-reforming-club-football-governance

– https://researchbriefings.files.parliament.uk/documents/CBP-9255/CBP-9255.pdf

– https://theathletic.com/4245991/2023/02/24/explained-white-paper-regulation-epl-efl/

https://www.telegraph.co.uk/football/2023/02/22/football-regulator-should-not-have-needed-game-has-blame/

Categories
Special Content

7 ปีที่ล้มเหลว : ย้อนรอยความผิดพลาด “เอฟเวอร์ตัน” ในยุคฟาฮัด โมชิริ

นับตั้งแต่ฟาฮัด โมชิริ นักธุรกิจชาวอังกฤษเชื้อสายอิหร่าน เข้ามาเทกโอเวอร์เอฟเวอร์ตันเมื่อช่วงต้นปี 2016 พร้อมกับความทะเยอทะยานที่จะพาสโมสรแห่งนี้ ประสบความสำเร็จในระดับสูงให้ได้

โมชิริได้ลงทุนไปมหาศาลในการดึงผู้จัดการทีมบิ๊กเนม และซื้อนักเตะคุณภาพเข้ามาหลายคนเพื่อหวังยกระดับเอฟเวอร์ตัน แต่ตลอด 7 ปีที่ผ่านมา กับโค้ช 7 คน กลับไม่ประสบความสำเร็จใด ๆ เลย

ช่วงเวลาดังกล่าว เอฟเวอร์ตันเปรียบเสมือนพายเรือในอ่างมานาน วนเวียนอยู่กับการซื้อนักเตะที่ล้มเหลว และเปลี่ยนตัวกุนซือ ยังหาทิศทางที่ถูกต้องไม่เจอเสียที ยิ่งไล่ตามยิ่งห่างไกลออกไปเรื่อย ๆ

ผลงานของทีมไม่ดี การเงินของสโมสรก็มีปัญหาอย่างหนัก เหตุผลส่วนหนึ่งก็มาจากโควิด-19 แต่การบริหารที่ผิดพลาดในยุคโมชิริ ก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้ “ทอฟฟี่สีน้ำเงิน” ตกอยู่ในความเลวร้ายเช่นนี้

วอลซ์ และคูมัน เข้ากันไม่ได้

โรแบร์โต้ มาร์ติเนซ คือผู้จัดการทีมเอฟเวอร์ตันคนแรก ภายใต้การบริหารของฟาฮัด โมชิริ ในช่วงครึ่งหลังของฤดูกาล 2015/16 แม้จะพาทีมไปถึงรอบรองชนะเลิศฟุตบอลถ้วย 2 รายการ แต่ผลงานในพรีเมียร์ลีกจบแค่อันดับที่ 11

และการตัดสินใจครั้งแรกของโมชิริ คือการปลดมาร์ติเนซออกจากตำแหน่งกุนซือ จากนั้นได้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารทีม ด้วยการดึงตัวสตีฟ วอลซ์ เป็นผู้อำนวยการสโมสร และโรนัลด์ คูมัน เป็นเฮดโค้ชคนใหม่

แม้ในซีซั่นแรกของคูมัน ทำผลงานได้ดีจบอันดับที่ 7 แต่ในซีซั่นที่สอง วอลซ์และคูมัน กลับมีความเห็นที่ไม่ตรงกันในเรื่องการเสริมผู้เล่นหลายเรื่อง เช่นการซื้อนักเตะ 3 คนมาเล่นมิดฟิลด์ คือกิลฟี่ ซิกูร์ดส์สัน, ดาวี่ คลาสเซ่น และเวย์น รูนี่ย์

ในช่วงซัมเมอร์ปี 2017 เอฟเวอร์ตันใช้เงินซื้อนักเตะมากถึง 140 ล้านปอนด์ ทว่าผลงานกลับย่ำแย่ในการออกสตาร์ท 9 นัดแรกของพรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 2017/18 จนเฮดโค้ชชาวดัตช์ถูกปลดออกจากตำแหน่ง

ตลาดนักเตะของเอฟเวอร์ตัน ในฤดูกาล 2016/17 และ 2017/18 ใช้เงินซื้อนักเตะร่วม 220 ล้านปอนด์ แต่ไม่ได้ใกล้เคียงการลุ้นแชมป์ และโควตายูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก สัญญาณแห่งความหายนะ ได้เริ่มขึ้นแล้ว

ปลดบิ๊กแซม หลังทำงานได้แค่ครึ่งปี

หลังจากหมดยุคของโรนัลด์ คูมัน การสรรหากุนซือใหม่ก็เกิดขึ้น ในตอนแรก ฟาฮัด โมชิริ อยากได้มาร์โก้ ซิลวา โค้ชวัยหนุ่มของวัตฟอร์ด แต่สตีฟ วอลซ์ กลับบอกให้เลือกแซม อัลลาไดซ์ กุนซือวัยเก๋า มารับหน้าที่แทน

ขอบคุณภาพ https://www.facebook.com/Everton

เอฟเวอร์ตันได้แต่งตั้งอัลลาไดซ์ มาสานต่อในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2017 เซ็นสัญญา 1 ปีครึ่ง และสามารถกอบกู้ผลงานที่ย่ำแย่ในยุคของคูมันได้อย่างยอดเยี่ยม เข็นเอฟเวอร์ตันจบในอันดับที่ 8 ของตาราง

อย่างไรก็ตาม แฟนบอลของทอฟฟี่สีน้ำเงิน กลับไม่ปลื้มกับสไตล์การทำทีมของบิ๊กแซม ทำให้เจ้าของทีมต้องตัดสินใจปลดออกจากตำแหน่ง ทั้งๆ ที่ทำงานได้แค่ 6 เดือน ส่วนวอลซ์ ผอ.สโมสร ก็ตกงานด้วยเช่นกัน

โมชิริ ต้องจ่ายค่าชดเชยให้กับอดีตกุนซือทีมชาติอังกฤษ และจ่ายค่าชดเชยอีก 4 ล้านปอนด์ให้กับวัตฟอร์ด จากกรณีที่มีการร้องเรียนว่าไปติดต่อมาร์โก้ ซิลวา ให้มารับงานกุนซือแบบผิดกฎ

แต่ในที่สุด ซิลวาก็เข้ามารับหน้าที่โค้ชคนใหม่ของเอฟเวอร์ตัน ดูเหมือนว่า แนวทางของสโมสรกำลังจะเปลี่ยนไป จากการทุ่มเงินเพื่อความสำเร็จครั้งใหญ่ มาเน้นการวางอนาคตในระยะยาวแทน

ดึงอันเชล็อตติเข้ามา จนผอ. สโมสรอยู่ไม่ได้

ในปี 2018 นอกจากเอฟเวอร์ตันจะแต่งตั้งมาร์โก้ ซิลวา เป็นกุนซือคนใหม่แล้ว ยังได้ดึงตัวมาร์เซล แบรนด์ มาเป็นผอ. สโมสรคนใหม่ด้วย ในการพยายามชดใช้ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจาก 2 ฤดูกาลที่ผ่านมา

การเสริมผู้เล่นในยุคของซิลวา และแบรนด์ ได้เน้นไปที่นักเตะอายุน้อย และเซ็นสัญญาแบบระยะยาว เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของสโมสร และสามารถทำกำไรมหาศาล เมื่อมีการขายนักเตะไปให้ทีมอื่น

ริชาร์ลิสัน, ลูคัส ดีญ และเยอร์รี่ มิน่า คือ 3 นักเตะดาวรุ่งที่เซ็นสัญญาเข้ามาช่วงตลาดซัมเมอร์ แน่นอนว่า แนวทางนี้ต้องใช้เวลาและความอดทนอย่างสูง ซึ่งเอฟเวอร์ตันก็ทำได้ดี จบอันดับที่ 8 ในซีซั่น 2018/19

แต่ในซีซั่นต่อมา จุดเปลี่ยนสำคัญก็เกิดขึ้น เมื่อซิลวาทำผลงานได้ย่ำแย่ และการแพ้ลิเวอร์พูล ในเมอร์ซี่ย์ไซด์ ดาร์บี้ ต้นเดือนธันวาคม 2019 พาทีมหล่นไปอยู่โซนตกชั้น นั่นคือฟางเส้นสุดท้าย นำไปสู่การตกงานของเขาในที่สุด

ซึ่งโมชิริ ก็ได้ทำเซอร์ไพรส์ให้กับแฟนๆ ทอฟฟี่สีน้ำเงิน ด้วยการดึงตัวคาร์โล อันเชล็อตติ กุนซือมากประสบการณ์ มาคุมทีมแทน และดึงตัวนักเตะค่าเหนื่อยแพงอย่างฮาเมส โรดริเกวซ มาร่วมทีมในช่วงซัมเมอร์ปี 2020

เมื่อแบรนด์รู้ว่า โมชิริได้กลับไปใช้นโยบายเดิม คือการใช้เงินมหาศาลเพื่อความสำเร็จอีกครั้ง ซึ่งขัดกับแนวทางของตัวเอง ที่เน้นการสร้างทีมในระยะยาว จึงตัดสินใจอำลาตำแหน่งผอ. สโมสร ในเดือนธันวาคม 2021

เล่นกับไฟด้วยการดึงราฟา เบนิเตซ คุมทีม

คาร์โล อันเชล็อตติ ขอลาออกจากเอฟเวอร์ตัน หลังจบฤดูกาล 2020/21 และฟาฮัด โมชิริ เจ้าของทีม ได้สร้างความฮือฮา ด้วยการแต่งตั้งราฟาเอล เบนิเตซ อดีตกุนซือลิเวอร์พูล ทีมคู่ปรับร่วมเมือง

แน่นอนว่า การเดิมพันของโมชิริในครั้งนี้ ทำให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้านอย่างหนักจากแฟนๆ เอฟเวอร์ตันว่า ทำไมสโมสรถึงเลือกโค้ชที่เคยมีประเด็นพูดหมิ่นทอฟฟี่สีน้ำเงินว่าเป็น “ทีมเล็ก” เมื่อปี 2007

ตลาดนักเตะทั้ง 2 รอบ ในฤดูกาล 2021/22 ยุคของเบนิเตซ เอฟเวอร์ตันได้ผู้เล่นใหม่ 10 คน แต่ใช้เงินรวมกันแค่ 30 ล้านปอนด์ ซึ่งถือเป็นยอดใช้จ่ายซื้อนักเตะที่น้อยที่สุด นับตั้งแต่โมชิริเป็นเจ้าของสโมสร

แม้จะเริ่มต้นซีซั่นในพรีเมียร์ลีกได้ดี ชนะ 4 จาก 6 เกมแรก ทำเอาแฟนๆ ทอฟฟี่สีน้ำเงินเริ่มฝันไกล แต่ความจริงที่โหดร้ายก็เข้ามา เพราะ 13 เกมหลังจากนั้น ชนะแค่เกมเดียว เสมอ 3 และแพ้ถึง 9 เกม

เกมสุดท้ายของ “เอล ราฟา” คือนัดแพ้นอริช ซิตี้ 1 – 2 เมื่อ 15 มกราคม 2022 อยู่อันดับที่ 15 มีแต้มมากกว่าโซนตกชั้นแค่ 6 แต้ม ท่ามกลางความสะใจของแฟนๆ “เดอะ ค็อป” ที่เขาไปทำให้เอฟเวอร์ตันเละเทะเข้าไปอีก

การตัดสินใจดึงตัวราฟา เบนิเตซ มารับงานที่เอฟเวอร์ตัน ผลลัพธ์ที่ออกมาล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง แสดงให้เห็นว่า ฟาฮัด โมชิริ มีความเข้าใจในเรื่องการบริหารจัดการทีม และเรียนรู้วัฒนธรรมของสโมสรที่ยังไม่มากพอ

คำพูดของโมชิริ ที่เรียกเสียงวิจารณ์อื้ออึง

ด้วยความที่ฟาฮัด โมชิริ มีแพสชั่นในการยกระดับเอฟเวอร์ตัน ให้ขึ้นมายิ่งใหญ่ทัดเทียมกับบิ๊ก 6 พรีเมียร์ลีก แต่บางคำพูด หรือการให้สัมภาษณ์ของเขา ก็สร้างความไม่พอใจให้กับหลาย ๆ คน ที่เกี่ยวข้อง

อย่างเช่น เมื่อเดือนมกราคม 2018 โมชิริได้กล่าวพาดพิงโรเมลู ลูกากู ดาวยิงเบลเยียม ที่ไม่ยอมต่อสัญญาในถิ่นกูดิสัน พาร์ค ทั้งๆ ที่ ตกลงรายละเอียดไปแล้ว โดยอ้างว่าสาเหตุมาจากเชื่อเรื่องไสยศาสตร์วูดู

หรือเมื่อเดือนมีนาคม 2019 โมชิริอ้างว่า เอฟเวอร์ตันก็มี “Fab 4” อย่างกิลฟี่ ซิกูร์ดส์สัน, เวย์น รูนี่ย์, ยานนิค โบลาซี่ และเซงค์ โทซุน เป็นคู่แข่งกับฟิลิปเป้ คูตินโญ่, ซาดิโอ มาเน่, โมฮัมเหม็ด ซาลาห์ และโรแบร์โต้ ฟีร์มีโน่ ของลิเวอร์พูล

และล่าสุด หลังเกมที่บุกแพ้เวสต์แฮม ยูไนเต็ด 0 – 2 เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา โมชิริได้ปฏิเสธที่จะตอบคำถามถึงอนาคตในตำแหน่งกุนซือของแฟรงค์ แลมพาร์ด โดยพูดเพียงสั้น ๆ ว่า “เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับผม”

ย้อนกลับไปเมื่อ 10 วันก่อนเกมกับเวสต์แฮม โมชิริยังให้คำมั่นว่าแลมพาร์ดจะยังคุมทีมต่อไป แต่เมื่อกระแสความไม่พอใจของแฟนบอลพุ่งขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ต้องตัดสินใจแยกทางกับตำนานมิดฟิลด์เชลซีในที่สุด

อนาคตของเอฟเวอร์ตันที่พอจะคาดหวังได้ อยู่ที่สนามเหย้าแห่งใหม่ในแบรมลีย์ มัวร์ ความจุ 52,888 ที่นั่ง ซึ่งคาดว่าน่าจะเปิดใช้งานภายในปี 2024 แม้แฟนบอลของสโมสรจะไม่เห็นด้วยกับการบริหารของโมชิริก็ตาม

บทเรียนแห่งความล้มเหลว ตลอด 7 ปีที่ผ่านมาของเอฟเวอร์ตัน ในยุคของฟาฮัด โมชิริ ทำให้เราได้เรียนรู้ว่า สิ่งที่ต้องทำเป็นลำดับแรก คือแผนงานที่ถูกต้อง ชัดเจน และตัดสินใจในเรื่องสำคัญแบบชาญฉลาด

เรียบเรียง : จักรพันธ์ ภู่ทอง