Categories
Special Content

อลเวงโลโก้สองทีมแมนเชสเตอร์ ปมดรามาภาพเรือ โยงค้าทาส

พรีเมียร์ลีกกำลังเข้าสู่โค้งสุดท้ายของซีซัน 2022-23 การขับเคี่ยวอย่างดุเดือดกำลังเกิดขึ้นหลายโซนของตารางอันดับ ไม่ว่าจะเป็นการแย่งชิงแชมป์ระหว่างอาร์เซนอลกับแมนฯซิตี นั่นเท่ากับตั๋วยูฟา แชมเปียนส์ ลีก เหลือเพียงสองใบสำหรับอันดับ 3-4 แต่กลับมีทีมที่เข้าข่ายได้ลุ้นอย่างน้อยหกทีมคือ นิวคาสเซิล, แมนฯยูไนเต็ด, ท็อตแนม ฮอตสเปอร์, แอสตัน วิลลา, ลิเวอร์พูล และไบรท์ตัน ขณะที่ด้านล่างของตาราง เซาแธมป์ตัน, ฟอเรสต์, เอฟเวอร์ตัน, เลสเตอร์ และลีดส์ กำลังมีแต้มเบียดอยู่แถวโซนตกชั้น แม้แต่บอร์นมัธ, วูลฟ์แฮมป์ตัน และเวสต์แฮม ก็ยังชะล่าใจผ่อนคันเร่งไม่ได้

แต่แล้วเกิดเหตุนอกสนามที่ร้อนระอุไม่แพ้กันขึ้นกับสองทีมยักษ์ใหญ่แห่งเมืองแมนเชสเตอร์ แมนฯซิตี และแมนฯยูไนเต็ด ที่เกิดกระแสรณรงค์ให้สองสโมสรเปลี่ยนแปลงตราสัญลักษณ์ที่ใช้มายาวนานกว่าหนึ่งศตวรรษ โดยจุดที่เป็นปัญหาคือภาพเรือสำเภาสามเสากระโดงที่อยู่บนโลโก้ทีมเนื่องจากสื่อความหมายถึงการค้าทาสและการใช้แรงงานทาส ซึ่งสร้างความอึดอัดใจให้กับผู้รักความเท่าเทียมกันของมนุษย์ คล้ายคลึงกับกรณีที่เคยเกิดขึ้นกับทีมอเมริกันฟุตบอล วอขิงตัน เรดสกินส์ ซึ่งถูกสั่งให้ยกเลิกคำว่า “เรดสกินส์” และโลโก “อินเดียนแดง” เพราะนัยว่าเป็นการดูถูกเหยียดหยามชนพื้นเมืองอเมริกัน

ปฐมบทโยงเรือทาสอยู่ที่ผู้ก่อตั้ง นสพ.”เดอะ การ์เดียน”

จุดเริ่มต้นของการถกเถียงมาจากบทความที่เผยแพร่ช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมาของ “เดอะ การ์เดียน” สื่อคุณภาพของอังกฤษ ซึ่งจากการสืบเสาะหาข้อมูลของนักประวัติศาสตร์พบว่า ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ของตนเองและเครือข่ายมีความเกี่ยวข้องกับการค้าทาส ก่อนที่ ไซมอน แฮทเทนสโตน นักข่าวของเดอะ การ์เดียน จะนำมาขยายต่อกลางเดือนเมษายนและสร้างประเด็นดรามาขึ้นมาว่า สมควรไหมที่ แมนเชสเตอร์ ซิตี และแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด จะนำภาพเรือสำเภาสามเสากระโดงออกไปจากสัญลักษณ์สโมสรเพราะสื่อถึงการค้าและใช้แรงงานทาส

แฮทเทนสโตนยอมรับว่าเป็นแฟนบอลแมนฯซิตีกว่าครึ่งศตวรรษ สมัยเด็กชื่นชอบเรือสำเภาสีทองเป็นพิเศษเพราะทำให้จินตนาการถึงโจรสลัด ต่อมาปลายทศวรรษ 1990 มันถูกทดแทนด้วยนกอินทรีสีทองที่สามารถเชื่อมโยงถึงนาซี แต่สโมสรกลับไปใช้เรือสำเภาอีกครั้งในปี 2016 รวมถึงดอกกุหลาบสีแดง สัญลักษณ์ของแลงคาเชียร์ เขาไม่เคยตั้งคำถามอะไรกับเรือสำเภาจนกระทั่งอ่านบทความชิ้นนั้นที่เขียนโดย คาสแซนดรา กูปทาร์

แฮทเทนสโตนรู้สึกอึดอัดใจที่รู้ว่า จอห์น เอ็ดเวิร์ด เทย์เลอร์ พ่อค้าฝ้ายชาวอังกฤษและผู้ก่อตั้งเดอะ แมนเชสเตอร์ การ์เดียน เมื่อปี 1821 (ก่อนเปลี่ยนชื่อเป็นเดอะ การ์เดียน ในปี 1959) มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับหลายบริษัทที่นำเข้าฝ้ายดิบซึ่งเป็นผลผลิตของแรงงานทาสในอเมริกา และมีอย่างน้อย 9 จาก 11 กลุ่มทุนที่สนับสนุนเทย์เลอร์เกี่ยวข้องกับการขนส่งทาสข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก นอกจากนี้ เซอร์จอร์จ ฟิลิปส์ หนึ่งในนักลงทุนยุคก่อตั้ง ยังเป็นเจ้าของ(ร่วม)สวนอ้อยในจาเมกาที่ใช้แรงงานทาสด้วย 

แฮทเทนสโตนได้ข้อสรุปว่าทุกเรื่องราวในบทความไม่ว่าจะเป็นการค้าขาย การเกษตร และทาส ล้วนมีเรือเป็นศูนย์กลาง ขณะที่ธุรกิจฝ้ายในแมนเชสเตอร์บูมสุดขีดช่วงทศวรรษ 1850 มีจำนวนโรงงานมากถึง 108 แห่ง จนกระทั่งแมนเชสเตอร์ได้รับฉายา Cottonopolis

เดอะ แมนเชสเตอร์ การ์เดียน ฉบับปฐมฤกษ์วางจำหน่ายในปี 1821 หรือหลังจากสหราชอาณาจักรได้ยกเลิกระบบทาสไปแล้วสิบสี่ปี แต่พ่อค้าฝ้ายยังเก็บเกี่ยวผลกำไรที่ได้รับจากทาสอย่างต่อเนื่อง ฝ้ายดิบที่เกิดจากหงาดเหงื่อของทาสในอเมริกา แคริบเบียน และบราซิล ยังถูกลำเลียงมายังท่าเรือของสหราชอาณาจักร ก่อนแปรเปลี่ยนเป็นสิ่งทอสินค้ารูปแบบต่างๆในโรงงานแถบแลงคาเชียร์ แล้วกระจายไปขายทั่วโลก แฮทเทนสโตนมองว่า “เรือ” ไม่ได้เป็นเพียงสัญลักษณ์ของ “การค้าขาย” ของแมนเชสเตอร์ แต่ยังสื่อความหมายถึง “การเอารัดเอาเปรียบ” อีกด้วย

เพื่อนคนหนึ่งของแฮทเทนสโตนชี้ให้เห็นว่า รูปเรือบนโลโกของแมนฯซิตีคล้ายกับเรื่องราวที่เขาเคยอ่านเกี่ยวกับเรือเสาเสากระโดงที่แล่นไปทั่ว “เดอะ เซเวน ซีส์” (The Seven Seas) ได้แก่มหาสมุทรอาร์กติก, แอตแลนติกเหนือ, แอตแลนติกใต้, แปซิฟิกเหนือ, แปซิฟิกใต้, อินเดีย และมหาสมุทรใต้ เพื่อรับ ขนส่ง และฝากสินค้าที่ผลิตโดยแรงงานทาส แม้กระทั่งทาสเองก็เป็นสินค้า เหตุการณ์นี้ดำเนินมายาวนานจนกระทั่งอเมริกาเลิกทาสเมื่อปี 1865

แฮทเทนสโตนให้ความเห็นว่า แน่นอนเรือเหล่านั้นไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับฟุตบอล แต่ผลผลิตของทาสยังฝังแน่นอยู่ในวัฒนธรรมและผู้คนมีความสุขเฉลิมฉลองความสำเร็จผ่านตราสโมสรที่สื่อถึงความกดขี่โดยไม่รู้ตัว

มีคำกล่าวอ้างถึงเรือบนสัญลักษณ์สโมสรของแมนฯซิตีว่า เพื่อเฉลิมฉลอง คลองเดินเรือแมนเชสเตอร์ (The Manchester Ship Canal) ซึ่งเป็นเส้นทางน้ำภายในประเทศความยาว 36 ไมล์ เชื่อมเมืองแมนเชสเตอร์กับทะเลไอริช และเปิดใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 1894 ปีเดียวกับทีมอาร์ดวิค แอสโซซิเอชัน (Ardwick Association F.C.) เปลี่ยนชื่อเป็นแมนเชสเตอร์ ซิตี แต่แฮทเทนสโตนเชื่อว่าไม่ใช่เรื่องจริงเพราะแนวคิดภาพเรือนำมาจากตราแผ่นดินของแมนเชสเตอร์

แฮทเทนสโตนระบุเพิ่มเติมว่า มีสโมสรฟุตบอลอังกฤษไม่มีแห่งที่ใช้ภาพเรือในสัญลักษณ์ทีม และแต่ละทีมก็อธิบายที่มาที่ไปชัดเจนเช่น ทรานเมียร์ โรเวอร์ส เป็นเรือรบและบ่งบอกถึงประวัติศาสตร์ในฐานะเมืองแห่งการต่อเรือ, กริมสบี ทาวน์ เป็นเรือลากอวน ทีมมีฉายาว่า “เดอะ มาริเนอร์ส” และใช้กะลาสีเรือ “แฮร์รี เดอะ แฮดด็อค” เป็นตัวนำโชค, พลีมัธ อาร์ไกล์ ซึ่งโลโกเป็นเรือสำเภาขนาดใหญ่ แต่ถูกออกแบบเพื่อระลึกถึงเรือเมย์ฟลาวเวอร์ที่นำกลุ่มผู้แสวงบุญเดินทางจากอังกฤษไปยังโลกใหม่ (ทวีปอเมริกา) เมื่อปี 1620 ขณะที่สโมสรที่ตั้งอยู่ในเมืองท่าที่เกี่ยวข้องกับการค้าทาสโดยตรงอย่างลอนดอน บริสตอล และลิเวอร์พูล ล้วนหลีกเลี่ยงภาพเรือปรากฏบนตราสโมสร แม้ บริสตอล โรเวอร์ส ซึ่งสื่อใกล้เคียงเรือที่สุด ก็ใช้ภาพโจรสลัด

เรือเข้ามาในโลโกพร้อมเปลี่ยนชื่อเป็น “แมนฯยูไนเต็ด”

มาถึงประวัติศาสตร์ของสองสโมสรยักษ์ใหญ่ แมนฯยูไนเต็ดก่อตั้งสโมสรในปี 1878 ก่อนหน้าแมนฯซิตีสองปี จากการรวมตัวของพนักงานรถไฟแผนกขนส่งสายแลงคาเชียร์และยอร์กเชียร์ เดิมใช้ชื่อว่า “นิวตัน ฮีธ” (Newton Heath) ก่อนเปลี่ยนมาเป็น “แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด” ในปี 1902

ความเป็นมาของตราสโมสร นิวตัน ฮีธ ใช้ตราสโมสรสองแบบแต่ไม่เกี่ยวข้องกับเรือ ภาพเรือปรากฏครั้งแรกในปี 1902พร้อมเปลี่ยนชื่อทีมเป็นแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด แต่สัญลักษณ์แตกต่างจากที่แฟนบอลคุ้นตาอย่างสิ้นเชิง คือเป็นรูปสิงโตและแอนทิโลป (antelope) บนตัวมีกุหลาบสีแดง ถือโล่ที่มีเรือสามเสากระโดงอยู่ด้านบน ด้านล่างเป็นแถบสีเหลืองสามแถบคาดบนพื้นสีแดง แถบทั้งสามหมายถึงแม่น้ำสามสาย Irwell, Irk และ Medlock ที่ไหลผ่านตัวเมือง

เหนือโล่เป็นหมวกเหล็กที่มีลูกโลกตั้งอยู่ข้างบน แสดงถึงทักษะทางการค้าของชาวเมือง และเรือในโล่ยังหมายถึงการค้าทางเรืออีกด้วย ส่วนบริเวณด้านล่างของโล่และเท้าของสัตว์ทั้งสองเป็นคำจารึกภาษาลาติน “’Concilio Et Labore” แปลว่า “ปัญญาและความมานะ”

โดยรวมแล้ว การออกแบบตราของแมนฯยูไนเต็ดได้รับแรงบันดาลจากสัญลักษณ์ประจำเมือง บวกกับประวัติศาสตร์ในฐานะเมืองที่ประสบความสำเร็จด้านการค้าโลกระหว่างยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม

แมนฯยูไนเต็ดใช้ตราสโมสรนั้นนานกว่าสี่สิบปี ก่อนเปลี่ยนระหว่างทศวรรษ 1940 ซึ่งคล้ายกับปัจจุบันคือ แถบด้านบนเป็นชื่อ “แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด” และแถบด้านล่างเป็นคำว่า “ฟุตบอลคลับ” ตรงกลางเป็นโล่ที่มีเรืออยู่ด้านบนและปีศาจอยู่ด้านล่าง

โลโกใหม่สองครั้งต่อมาในปี 1958 และ 1970 ตัวปีศาจหายไป ถูกแทนที่ด้วยแถบสามเส้น ก่อนปีศาจกลับมาในเวอร์ชัน 1973, 1992 และ 1998 ซึ่งใช้จนถึงตอนนี้ อย่างไรก็ตาม เรือสำเภาไม่เคยหายไปจากโลโกทั้งหกแบบในยุคแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด

เรืออยู่ในโลโก “แมนฯซิตี” ก่อนทีมเพื่อนบ้านแปดปี

แมนฯซิตีก่อตั้งสโมสรในปี 1880 จากสมาชิกโบสถ์เซนต์มาร์คในเวสต์ กอร์ดอน, แมนเชสเตอร์ ใช้ชื่อแรกเริ่มว่า “เซนต์มาร์คส (เวสต์ กอร์ดอน)” (St. Mark’s (West Gorton)) ก่อนเปลี่ยนเป็น “อาร์ดวิค แอสโซซิเอชัน ฟุตบอล คลับ” (Ardwick Association Football Club) ในปี 1887 และ “แมนเชสเตอร์ ซิตี” ในปี 1894 หรือสองปีหลังเข้าร่วมฟุตบอลลีก

เช่นเดียวกับทีมเพื่อนบ้าน สัญลักษณ์ของแมนฯซิตีตอนใช้ชื่อเซนต์มาร์คสฯและอาร์ดวิคฯไม่มีรูปเรือ เรือปรากฏครั้งแรกในปี1894 พร้อมกับเปลี่ยนชื่อเป็นแมนเชสเตอร์ ซิตี โดยสัญลักษณ์ดังกล่าวก็คล้ายคลึงกับแมนฯยูไนเต็ดในปี 1902 แต่ความจริงคือ แมนฯซิตีเองก็ดัดแปลงจากตราประจำเมืองของแมนเชสเตอร์ที่มีตั้งแต่ปี 1842

แมนฯซิตีใช้สัญลักษณ์ดังกล่าวจนถึงปี 1960 จึงเปลี่ยนมาเป็นแบบใหม่ที่คล้ายกับโลโกตอนนี้ คือเป็นแถบวงกลมเขียนคำว่า “แมนเชสเตอร์ ซิตี เอฟ.ซี.” โดยมีโล่อยู่ข้างในวงกลม ด้านบนเป็นเรือสำเภาสามเสากระโดง ด้านล่างเป็นแถบสีเหลืองสามแถบหรือ Three Rivers

จากนั้นเป็นเวอร์ชันปี 1970 ที่ใกล้เคียงรูปแบบเดิมเปลี่ยนเพียงโทนสี, ปี 1972 ใช้กุหลาบสีแดงแทนสามแถบ, ปี 1976 เปลี่ยนโทนสี, ปี 1997 ถือเป็นการปฏิวัติครั้งใหญ่ ภาพพญาอินทรีผงาดเหนือโล่ที่ข้างในเป็นเรือ, ตัวหนังสือ M.C.F.C. และแถบสีขาวสามแถบบนพื้นสีฟ้า เหนือนกอินทรีเป็นดาวห้าแฉกสามดวง ข้างล่างโล่เป็นคำขวัญภาษาลาติน “Superb in Proelio” แปลว่า “ความภาคภูมิใจในสนามรบ” โดยนกอินทรีสื่อความหมายถึงอุตสาหกรรมการบิน ซึ่งสนามบินแมนเชสเตอร์เปรียบเสมือนหัวใจของประเทศอังกฤษตอนเหนือ

อย่างไรก็ตาม โลโกนี้ไม่ได้รับความนิยมในหมู่แฟนบอลและถูกเปลี่ยนใหม่ในปี 2016 ซึ่งคล้ายกับเวอร์ชัน 1972 แต่ปรับดีไซน์และสีให้ชัดเจนทันสมัย พร้อมใส่ปี 1894 ซึ่งเป็นปีแรกที่ใช้ชื่อ แมนเชสเตอร์ ซิตี ลงไปในแถบวงกลม สโมสรยังใช้สัญลักษณ์นี้จวบจนปัจจุบัน

จากประวัติศาสตร์กว่าหนึ่งศตวรรษในช่วงที่ใช้ชื่อ แมนฯยูไนเต็ด (120 ปี) และแมนฯซิตี (129 ปี) เรือสำเภาถือเป็นส่วนสำคัญของสัญลักษณ์สโมสรมาตลอดเพื่อสื่อถึงความยิ่งใหญ่ในการค้าขายทางเรือของเมืองแมนเชสเตอร์

หลายเสียงยืนยัน “เรือ” เป็นประตูสู่การค้าขายทั่วโลก

เปรียบเทียบตราสโมสรของสองทีม เรือของแมนฯซิตีมีขนาดใหญ่กว่า กินพื้นที่ครึ่งหนึ่งของโล่เท่ากับส่วนที่เป็นกุหลาบสีแดง ขณะที่เรือของแมนฯยูไนเต็ดจะอยู่หนึ่งส่วนสามของพื้นที่โล่ อีกสองส่วนสามเป็นปีศาจแดง

อย่างไรก็ตามตอนที่แมนฯซิตีเปลี่ยนจากพญาอินทรีกลับไปใช้รูปแบบเดิมเมื่อปี 2016 สโมสรได้ออกแถลงการณ์ว่า “ตราใหม่เป็นเสมือนต้นฉบับดั่งเดิมที่ดูทันสมัยขึ้น หวนกลับไปสู่รูปทรงกลมในอดีต พร้อมชุดสัญลักษณ์อันเป็นเอกลักษณ์ของแมนเชสเตอร์ได้แก่ เรือ แม่น้ำสามสาย และดอกกุหลาบสีแดง อีกทั้งยังเป็นครั้งแรกที่สโมสรได้ใส่ตัวเลข 1894 ซึ่งเป็นปีก่อตั้งสโมสรไว้ด้วย เพื่อเป็นการเคารพแก่ประวัติศาสตร์อันยาวนานของชุมชนแมนเชสเตอร์

โจนาธาน สโคฟิลด์ นักประวัติศาสตร์ เปรียบเรือเป็นเสมือนลมหายใจของเมือง “มันคือสัญลักษณ์ของการค้าเสรี ภายใต้แนวคิดมนุษย์ในโลกใบนี้ต่างมีความเท่าเทียมกัน เพราะทุกคนล้วนมีสิทธิเท่าเทียมซึ่งกันและกันในการประกอบธุรกิจ และนี่แหละเป็นความหมายของเรือ”

แกรห์ม สตริงเกอร์ ส.ส.เขต Blackley และ Broughton จากพรรคแรงงาน ให้ความเห็นว่า “เมืองแมนเชสเตอร์ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับการค้าทาสเลย จริงๆแล้วประชาชนที่นี่ในสมัยอเมริกาเกิดสงครามกลางเมืองเมื่อปี 1861 เคยรวมตัวประท้วงระบบทาสด้วยซ้ำ การรณรงค์เรื่องนี้ (เรือเป็นสัญลักษณ์ของการค้าและการใช้ทาส) เป็นสิ่งที่บ้าบอคอแตกเรื่องหนึ่งที่ผมเคยเจอมา”

แคเธอรีน เฟลทเชอร์ ส.ส.จากพรรคอนุรักษ์นิยม ซึ่งถือตั๋วปีของแมนฯยูไนเต็ด เป็นคนหนึ่งที่ไม่พอใจรายงานพิเศษชิ้นนั้นของเดอะ การ์เดียน “ผู้คนในเมืองแมนเชสเตอร์เป็นเจ้าบ้านที่ให้การต้อนรับผู้มาเยือนได้อบอุ่นมากที่สุดกลุ่มหนึ่งในโลก ดังนั้นเรือไม่สามารถนำไปใช้เป็นสัญลักษณ์แทนอะไรแบบนั้นแน่นอน”

เจพี โอ’นีล ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ของแมนฯยูไนเต็ด และเขียนหนังสือชื่อ “Red Rebels: United and the FC Revolution” ถึงขนาดระบุว่า ตรรกะของแฮทเทนสโตนเป็นเรื่องตลกเพราะมันย้อนแย้งกันเอง 

“ไม่ใช่แค่ตราสัญลักษณ์ของสโมสรเกิดขึ้นหลังการประกาศเลิกทาสนานมาก ตัวสโมสรเองยังก่อตั้งหลังระบบทาสสิ้นสุดลงหลายสิบปี แล้วต้องไม่ลืมว่าเรือลำแรกเดินทางมาถึงแมนเชสเตอร์ในปี 1894 พร้อมการเปิดคลองเรือ และที่แมนเชสเตอร์ คนงานโรงงานฝ้ายในยุคสงครามกลางเมืองอเมริกา พร้อมใจไม่ยอมทำงานยุ่งเกี่ยวกับฝ้ายดิบที่ได้มาจากแรงงานทาส แม้นั่นทำให้ชีวิตของพวกเขาสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายก็ตาม”

ทางด้านความคิดเห็นของแฟนบอล ไมค์ โกลด์สตีน นักบินวัย 57 ปี ซึ่งเริ่มดูการแข่งขันแมนฯซิตีในสนามตั้งแต่อายุแปดขวบ กล่าวว่า “ไร้สาระด้วยประการทั้งปวง คุณเอาแต่ย้อนเวลากลับไปแบบนั้นไม่ได้หรอก มันคล้ายกับคนอิตาเลียนยังบ้าคลั่งอาณาจักรโรมัน”

ปีเตอร์ ชอว์ แฟนบอลวัย 34 ปีของแมนฯยูไนเต็ด “ช่างไร้สาระจริงๆถ้าจะเอา(ภาพเรือ)ออกไป มันเกี่ยวข้องกับการฉลองเปิดคลองเรือ ไม่มีอะไรยุ่งกับการค้าทาสแม้แต่นิดเดียว”

เจมี พาร์คเฮาส์ พ่อครัวแฟนบอลแมนฯยูไนเต็ดวัย 37 ปี “เป็นเรื่องถูกต้องแล้วที่ผู้คนจะตั้งคำถามเรื่องการค้าทาสใช้แรงงานทาส แต่ไม่ใช่เรื่องนี้ (ภาพเรือ) ตราสัญลักษณ์สื่อถึงคลองเรือแมนเชสเตอร์ไม่ใช่ทาส การโยงโลโกสโมสรกับค้าขายเป็นอะไรที่มากจนเกินเลยไป”

เทียบ “เรดสกินส์” เปลี่ยนชื่อ-โลโกเพราะด้อยค่าอินเดียนแดง

ไม่กี่ปีที่แล้วเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ขึ้นกับ “วอชิงตัน เรดสกินส์” (Washington Redskins) ทีมอเมริกันฟุตบอลเก่าแก่ของเนชันแนล ฟุตบอล ลีก (เอ็นเอฟแอล) ในสหรัฐอเมริกา

เมื่อปี 2020 เอ็นเอฟแอล มีมติให้ตัดคำว่า “เรดสกินส์” ออกจากชื่อ และยกเลิกตราสโมสรที่มีภาพอินเดียนแดง หลังจากถูกวิจารณ์มายาวนานเนื่องจากสื่อถึงชนพื้นเมืองอเมริกันอย่างไม่เหมาะสม ส่วนหนึ่งเป็นเพราะแรงกดดันจากบริษัทสปอนเซอร์ใหญ่อย่าง เฟดเอ็กซ์, ไนกี้, เป๊ปซี่ และธนาคารแห่งอเมริกา

ระหว่างหาชื่อถาวร ทีมเลือกใช้ชื่อ “วอชิงตัน ฟุตบอล ทีม” (Washington Football Team) เป็นการชั่วคราว ส่วนสัญลักษณ์ของทีมบนหมวกอเมริกันฟุตบอลจะใช้ตัวอักษร W จนกระทั่งต้นปี 2022 ทีมได้ประกาศใช้ชื่อใหม่ว่า “วอชิงตัน คอมมานเดอร์ส” (Washington Commanders) อย่างเป็นทางการ ขณะที่โลโก W ถูกออกแบบใหม่

วอชิงตัน โพสต์ สื่อยักษ์ใหญ่ในอเมริกา ระบุว่าการเปลี่ยนชื่อทีมและตราสัญลักษณ์จะใช้ค่าใช้จ่ายกว่า 10 ล้านเหรียญสหรัฐในการดำเนินงานด้านต่างๆอาทิ การผลิตสินค้าของที่ระลึก ชุดแข่งขัน สนามแข่งขัน ฯลฯ แต่ในระยะยาวเชื่อว่าจะส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ของทีมวอชิงตัน ทำให้ได้รับการสนับสนุนจากแฟนอเมริกันฟุตบอลมากขึ้น

อย่างไรก็ตามกรณีของวอชิงตันถือว่าแตกต่างกับแมนฯยูไนเต็ดและแมนฯซิตีอย่างเห็นได้ชัดทั้งประเด็นการสื่อความหมายและแรงกดดันจากสังคม

ไนเจล เคอร์รี ผู้ชำนาญการด้านแบรนดิ้ง ให้สัมภาษณ์ว่าการปรับเปลี่ยนตราสโมสรจะต้องใช้เงินหลายล้านปอนด์เช่นกัน “นี่จะเป็นการดำเนินงานใหญ่มากครั้งหนึ่งและต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงมากในการเปลี่ยนตราสโมสรของแมนฯยูไนเต็ดและแมนฯซิตี”

“ความเชื่อมโยงเรื่องทาสไม่ได้ชัดเจนหรือแข็งแกร่ง แต่มันมีศักยภาพที่จะทำลายสร้างความเสียหายให้กับประวัติศาสตร์ด้านต่างๆที่เชื่อมโยงสโมสร  เหตุผลในการเปลี่ยนแปลงก็ดูไม่มีน้ำหนัก แน่นอนย่อมมีการถกเถียงกันต่อไปว่าแท้จริงแล้ว เรือเป็นตัวแทนของอะไรกันแน่ การอภิปรายจะดำเนินต่อไป แต่โดยส่วนตัวแล้ว ผมเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงไม่น่าจะเกิดขึ้น”

เรียบเรียง : ฐปน วันชูเพลา (Senior Football Writer) 

Categories
Special Content

8 นักเตะเกรดพรีเมียมในตลาดซัมเมอร์ เคน-เบลลิงแฮม-ไรซ์-โอซิมเฮน นำขบวน

ตลาดซื้อขายนักเตะกลางซีซัน (Winter/January transfer window) ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา สโมสรพรีเมียร์ลีกร่วมกันสร้างสถิติใหม่ใช้เงินรวมกัน 815 ล้านปอนด์ มากกว่าตลาดฤดูหนาวสี่ปีที่ผ่านมารวมกัน เชลซีนำโด่งหัวขบวน 323 ล้านปอนด์หรือ 329 ล้านยูโร ทีมเดียวมากกว่าทั้งกัลโช เซเรีย อา ทั้งลีกรวมกันไม่ถึง 28 ล้านยูโร เชลซียังสร้างสถิติใหม่ของสหราชอาณาจักรด้วยการทุ่ม 106.8 ล้านปอนด์เพื่อดึงเอ็นโซ แฟร์นานเดซ มาจากเบนฟิกา

ตลาดใหญ่ช่วงฤดูร้อน (Summer transfer window) กลางปีนี้ของพรีเมียร์ลีก ยังไม่ประกาศวันเปิดปิดแต่คาดว่าน่าจะเป็นต้นเดือนมิถุนายนเหมือนปีที่แล้ว ซึ่งเปิดวันที่ 10 มิถุนายน และปิดวันที่ 1 กันยายน โดยใช้จ่ายเงินรวมทั้งสิ้นเกือบ 2พันล้านปอนด์ มากกว่าอีกสี่ลีกบิ๊กไฟฟ์ บุนเดสลีกา, ลีกเอิง, เซเรีย อา และลา ลีกา รวมกัน

การซื้อขายเพื่อเสริมแกร่งให้กับขุมกำลังเพื่อสู้ศึกฤดูการแข่งขัน 2023-24 ยากที่จะคาดเดาว่าตัวเลขเงินหมุนเวียนในตลาดจะสูงเป็นประวัติศาสตร์หรือไม่ แต่ที่แน่นอนคือ นักเตะเนื้อหอมที่จะก้าวสู่ตลาดฤดูร้อนปีนี้จัดอยู่ในกลุ่มสตาร์เอบวกหลายคนนำโดย จูด เบลลิงแฮม มิดฟิลด์ว่าที่ GOAT ซึ่งคาดว่าโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ต้องการค่าตัวเริ่มต้นที่ 130 ล้านปอนด์, เฮนรี เคน ยอดศูนย์หน้าที่วัยใกล้พ้นช่วงพีคและมองหาทีมใหม่ที่จะทำให้เขาได้รับเกียรติยศระดับเมเจอร์ครั้งแรกในชีวิต, ดีแคลน ไรซ์ ยอดมิดฟิลด์ตัวรับที่ตกเป็นข่าวตลอด 1-2 ปีที่ผ่านมา และวิคเตอร์ โอซิมเฮน ดาวซัลโวระดับบล็อกบัสเตอร์อีกคนหนึ่ง

สกาย สปอร์ตส์ สื่อกีฬายักษ์ใหญ่ของอังกฤษ ได้รวบรวมรายชื่อนักเตะที่เข้าข่าย Big transfer moves ในตลาดใหญ่กลางปีดังต่อไปนี้

แฮร์รี เคน: ความคลุมเครือสู่สัญญาปีสุดท้ายกับสเปอร์ส

ขอบคุณภาพจาก  https://www.premierleague.com/news/3147101

การตัดสินใจของแฮร์รี เคน ซึ่งเหลือสัญญากับท็อตแนม ฮ็อตสเปอร์ ถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2024 เป็นหนึ่งในไฮไลท์ของตลาดซัมเมอร์หลังจากเคยเกือบโบกมือลาสเปอร์สเมื่อปี 2021 แต่ดาเนียล เลวี ประธานสโมสร ทั้งโก่งราคาสูงลิ่วและยืนยันเสียงแข็งไม่ขายให้แมนฯซิตี แต่ปีนี้สถานการณ์ต่างออกไป เคนเหลือสัญญาปีเดียว อนาคตของทีมยังลุ่มๆดอนๆ ไม่รู้ว่าใครจะมาเป็นผู้จัดการทีมสเปอร์ส เขาอายุ 29 ปีแต่ยังไร้แชมป์ระดับเมเจอร์ และทีมยังไม่แน่ว่าจะได้เล่นบอลยุโรปถ้วยไหน

แน่นอน เคนรักสโมสร ครอบครัวเขาติดตามเชียร์ทั้งเกมหย้าเยือน แต่อันโตนิโอ คอนเต ซึ่งถูกตั้งความหวังว่าจะเป็นคนพาสเปอร์สไปสู่ความสำเร็จ โดนไล่ออกแบบสายฟ้าฟาด เช่นเดียวกับฟาบิโอ ปาราติซี ผู้อำนวยการฝ่ายกีฬา ก็มีอนาคตไม่ชัดเจน เคนจะยอมต่อสัญญาใหม่หรือไม่ซึ่งเชื่อว่าจะยาวพอให้เขาแขวนสตั๊คกับทีมที่อยู่มาตั้งแต่ปี 2004 ตอนอายุ 11 ขวบ

ไมเคิล บริดจ์ คอลัมนิสต์ของสกาย สปอร์ตส์ มองว่ายังมีความเป็นไปได้แม้น้อยนิดที่เลวีจะรั้งเคนอยู่ต่อจนหมดสัญญาและเป็นฟรีเอเยนต์ หรืออาจยอมปล่อยให้ทีมที่ต้องการศูนย์หน้าที่การันตี 20 ประตูต่อซีซันอย่างแมนฯยูไนเต็ดในราคา 80 ล้านปอนด์ ขณะที่บาเยิร์น มิวนิก ยังติดตามสถานการณ์ใกล้ชิดแต่ดูเหมือนเคนยังอยากเล่นในพรีเมียร์ลีกต่อไปมากกว่า

จูด เบลลิงแฮม: ใช้เงินจูงใจไม่พอยังต้องมีแผนงานเด็ด

ฟอร์มในเวิลด์คัพที่กาตาร์เป็นเครื่องยืนยันระดับฝีเท้าของจูด เบลลิงแฮม มิดฟิลด์ดาวรุ่งทีมชาติอังกฤษและโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ว่าเป็นทองแท้ไม่ใช่ทองชุบที่หลุดลอกเมื่อต้องลงแข่งขันบนสังเวียนระดับสูง เขามีอายุแค่ 19 ปี ยังสามารถพัฒนาฝีเท้าได้อีกมาก บวกกับสัญญาที่สิ้นสุดในปี 2025 ทำให้ทีมเสือเหลืองตั้งราคาแบบไม่อยากขายที่ 130 ล้านปอนด์

แต่อะไรไม่สำคัญเท่าเบลลิงแฮมเองก็ไม่รีบร้อนตัดสินใจอนาคตเสียด้วย หากจะสะสมประสบการณ์กับดอร์ทมุนด์ต่ออีกสักหนึ่งปีก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไรแม้มีบิ๊กทีมอย่างเรอัล มาดริด, แมนฯซิตี, ลิเวอร์พูล และแมนฯยูไนเต็ด พร้อมอ้าแขนรับเขาไปอยู่ด้วย 

เบลลิงแฮมเคยให้สัมภาษณ์ว่า เขาให้ความสำคัญอันดับแรกกับการพัฒนาทักษะความสามารถเพื่อขยายขอบเขตศักยภาพออกไปเรื่อยๆ ซึ่งนั่นทำให้เรอัล มาดริด เป็นเต็งหนึ่งเพราะเป็นทีมที่จะยกระดับให้เขาเป็นมิดฟิลด์ระดับโลก รวมถึงความสำเร็จสูงสุดอย่างเหรียญชนะเลิศแชมเปียนส์ลีกและรางวัลบัลลงดอร์ แหล่งข่าววงในระบุว่า ทีมราชันชุดขาวถึงขนาดบอกว่า คีลิยัน เอ็มบัปเป เลือกผิดที่ยังอยู่กับปารีส แซงต์-แยร์แมง

เมลิสสา เรดดี คอลัมนิสต์ของสกาย สปอร์ตส์ อ้างอิงคนในครอบครัวเบลลิงแฮมที่เคยพูดว่า “มีทางเดียวที่จะชนะใจจูด คือขายแผนงานเกี่ยวกับฟุตบอล” เหมือนเมื่อครั้งเขาตัดสินใจย้ายจากเบอร์มิงแฮมไปอยู่ดอร์ทมุนด์แทนแมนฯยูไนเต็ด เพราะเชื่อว่าที่ดอร์ทมุนด์ เขามีโอกาสลงสนามมากกว่าและพัฒนาฝีเท้าได้ดีกว่า

ดีแคลน ไรซ์: ถึงย้ายทีมก็ยังใช้ชีวิตในลอนดอน

ดีแคลน ไรซ์ เป็นมิดฟิลด์เนื้อหอมตลอดช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา แต่ซัมเมอร์นี้ มิดฟิลด์ตัวรับวัย 24 น่าจะโบกมือลาเวสต์แฮมที่ยังเหลือสัญญาอีกสองปี เพราะที่กาตาร์ ไรซ์เคยพูดชัดเจนว่าเขาต้องการเล่นในระดับที่สูงขึ้น นักข่าวตีความว่า ไรซ์อยากสัมผัสเกมแชมเปียนส์ลีกและลุ้นแชมป์พรีเมียร์ลีก ซึ่งตอนนี้ เวสต์แฮมไม่ใช่ทีมที่ตอบโจทย์ต่อไปแล้ว

สื่อเชื่อว่าอาจเป็นไปได้ที่ไรซ์อาจกลับไปเล่นให้เชลซีที่เขาเคยฝึกปรือฝีเท้าในอะคาเดมีตั้งแต่อายุเจ็ดขวบ และยังมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเมสัน เมาท์ แต่อาร์เซนอลเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายเพราะอย่างน้อยทีมปืนใหญ่ตกเป็นข่าวสนใจไรซ์ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา พวกเขาชัดเจนในความต้องการยกระดับมิดฟิลด์เมื่อเคยพยายามเซ็นสัญญากับมอยเซส ไกเซโด

ดาร์เมช เชธ คอลัมน์ของสกาย สปอร์ตส์ ระบุว่าเมื่อไรซ์ไม่ขยายเซ็นสัญญา เวสต์แฮมก็ต้องขายเขาปีนี้ไม่รอถึงปีหน้าให้เหลือสัญญาปีเดียว และสนนราคาไม่เบาแน่ เดวิด มอยส์ กุนซือทีมขุนค้อน เคยประเมินค่าตัวไรซ์ว่าทะลุหลัก 150 ล้านปอนด์แน่นอน

วิคเตอร์ โอซิมเฮน: วาดฝันชี้เป้าหมายไปเล่นพรีเมียร์ลีก

วิคเตอร์ โอซิมเฮน เป็นอีกหนึ่งสินค้าเนื้อหอมที่ยังเหลือสัญญาสองปีแต่ยังไม่มีข่าวต่อสัญญาใหม่กับนาโปลี ซึ่งแน่นอนที่ต้องการเก็บศูนย์หน้าวัย 24 ปีเพื่อสร้างความยิ่งใหญ่ในลีกอิตาลี และกลับไปลุ้นแชมป์แชมเปียนส์ลีกอีกครั้งหลังจากเพิ่งแพ้เอซี มิลาน ในรอบแปดทีมสุดท้าย

ในเซเรีย อา โอซิมเฮนทำไปแล้ว 21 ประตู 5 แอสซิสต์ บวกอีก 5 ประตูในบอลถ้วยยุโรป เขาตกเป็นข่าวกับแมนฯยูไนเต็ดที่ต้องการศูนย์หน้าระดับห้าดาวในซัมเมอร์นี้ แต่ทีมปีศาจแดงจะยอมทุ่มเงินถึงร้อยล้านปอนด์บวกหรือเปล่าทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแผนงานของตระกูลเกลเซอร์ หรือบางทีอาจต้องรอความชัดเจนว่ากลุ่มทุนไหนที่จะมาเทคโอเวอร์แมนฯยูไนเต็ด

ดาร์เมช เชธ คอลัมนิสต์ของสกาย สปอร์ตส์ ให้ความเห็นว่าคงต้องรอความเคลื่อนไหวเรื่องสัญญาใหม่จากสองฝ่าย แต่โอซิมเฮนเคยพูดชัดเจนว่า เขาจะทุ่มเททำงานอย่างหนักเพื่อบรรลุความฝันในการจะได้เล่นพรีเมียร์ลีกสักวันหนึ่ง สโมสรระดับท็อปและรวยพอจ่ายค่าตัวร้อยล้านปอนด์ก็มีไม่กี่ทีม

มอยเซส ไกเซโด: ยากที่ไบรท์ตันยอมปล่อยถ้าไม่เปย์หนักจริง

เดือนมกราคมที่ผ่านมา อาร์เซนอลและเชลซีเสนอซื้อมอยเซส ไกเซโด แต่ถูกไบรท์ตันปฏิเสธรวมถึงเงิน 70 ล้านปอนด์จากทีมแรก ทีมนกนางนวลยืนยันไม่ขายไกเซโด และยังปิดดีลต่อสัญญาสี่ปีบวกออปชันปีที่ห้า

พอล บาร์เบอร์ ซีอีโอสโมสร ระบุไม่มีเงื่อนไขฉีกสัญญาหรือ release clause นั่นจึงทำให้หลายทีมพรีเมียร์ลีกที่หวังเติมพลังให้แดนกลางยังไม่ถอดใจ น่าติดตามว่าอาร์เซนอลกับเชลซีจะเคลื่อนไหวอย่างไรในฤดูร้อนนี้

ดาร์เมช เชธ คอลัมนิสต์ของสกาย สปอร์ตส์ ให้ความเห็นว่า ถ้าไบรท์ตันทำอันดับสูงพอคว้าโควตาแชมเปียนส์ลีกหรือยูโรปาลีก มิดฟิลด์วัย 21 ซึ่งเล่นให้เอกัวดอร์ 30 นัด คงจะร่วมงานท้าทายกับกุนซือโรแบร์โต เด แซร์บี แต่ถ้าไม่ ไกเซโดน่าจะยังสวมยูนิฟอร์มไบรท์ตันต่ออย่างน้อยหนึ่งซีซันอยู่ดี ยกเว้นบิ๊กทีมอังกฤษจะกล้าทุ่มเงินมหาศาลให้ไบรท์ตันชนิดยากที่จะปฏิเสธ แน่นอนต้องมากกว่า 70 ล้านปอนด์ที่รวมแอดออน

เมสัน เมาท์: การเลือกอนาคตที่ขึ้นกับปัจจัยมากมายของเชลซี

อนาคตของเมสัน เมาท์ ค่อนข้างคลุมเครือ เขาเหลือสัญญากับเชลซีแค่กลางปี 2024 การต่อสัญญาใหม่ยังไม่คืบหน้าเพราะสโมสรต้องปรับโครงสร้างค่าเหนื่อยนักเตะให้เข้ากับไฟแนนเชียล แฟร์เพลย์ แถมมีผู้เล่นมากเกินความจำเป็นจนต้องผ่องถ่ายออกในซัมเมอร์นี้ ขณะที่ยังไม่รู้ว่าใครจะมาเป็นผู้จัดการทีมคนใหม่และจะเริ่มงานเมื่อไร ส่วนฟอร์มของมิดฟิลด์วัย 24เองก็ดร็อปเช่นเดียวกับเพื่อนร่วมทีมส่วนใหญ่ในยุคแกรห์ม พอตเตอร์ แถมเพิ่งบาดเจ็บกระดูกเชิงกราน หายหน้าไปจากสนามสี่นัด

ลิเวอร์พูลและนิวคาสเซิลเป็นสองทีมที่มีข่าวสนใจเมาท์อย่างจริงจัง บาเยิร์นก็มีข่าวเชื่อมโยงแต่สกาย เยอรมัน ระบุว่าสโมสรคงไม่ซื้อมิดฟิลด์เพิ่มแล้วเมื่อคอนราด ไลเมอร์ กองกลางทีมชาติออสเตรียของไลป์ซิก เตรียมตัวย้ายเข้านครมิวนิกแบบฟรีค่าตัวในฤดูร้อนนี้

ไลออล โธมัส คอลัมนิสต์ของสกาย สปอร์ตส์ ยอมรับว่าเป็นการคาดเดาที่ยากมากว่ามิดฟิลด์ทีมชาติอังกฤษรายนี้จะร่วมหัวจมท้ายกับเชลซีต่อหรือไม่ คิดอย่างไรกับการขยายสัญญา และถ้าเลือกออกจากสแตมฟอร์ดบริดจ์ เมาท์จะลงเอยกับทีมไหน

ชูเอา เฟลิกซ์: เนื้อหอมขึ้นมากหลังฟอร์มเด่นช่วงเชลซียืมตัว

ในตลาดหน้าหนาว เชลซียืมชูเอา เฟลิกซ์ จากแอตเลติโก มาดริด มาใช้งานจนจบซีซัน แต่ในสัญญาไม่มีออปชันหรือเงื่อนไขซื้อขาด เฟลิกซ์ทำไป 2 ประตูจาก 11 นัด (ตัวจริง 10 ตัวสำรอง 1) ถ้าไม่เจอใบแดงถูกแบนสามนัด เขาคงได้ลงเล่นทุกนัด ดูเหมือนแนวรุกวัย 23 จะไปได้สวยกับตำแหน่งเบอร์ 10 สตาฟฟ์โค้ชและฝ่ายบริหารด้านเทคนิคค่อนข้างพอใจผลงานของเฟลิกซ์

ไลออล โธมัส คอลัมนิสต์ของสกาย สปอร์ตส์ ให้ความเห็นว่า เฟลิกซ์แสดงศักยภาพที่แท้จริงออกมาเรื่อยๆในสีเสื้อเดอะบลูส์ มีความเป็นไปได้ที่เชลซีจะยื่นซื้อขาดหรือยืมตัวต่อ แต่ติดตรงที่เชลซีคงไม่ได้เล่นบอลสโมสรยุโรปสักรายการ บวกกับคำถามว่าเขาจะอยู่ในแผนงานของผู้จัดการทีมคนใหม่หรือไม่ แต่ถึงไม่ใช่เชลซี เฟลิกซ์ก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจทีเดียวสำหรับสโมสรชั้นนำของยุโรปที่จะเจรจาขอซื้อกับแอตเลติโก มาดริด

เจมส์ แมดดิสัน: น่าซื้อหากเลสเตอร์ไม่โก่งราคาสูงเว่อร์

ขอบคุณภาพจาก  https://www.bbc.com/sport/football/63126188

ซีซันนี้แม้มีอาการบาดเจ็บรบกวนแต่เจมส์ แมดดิสัน มีผลงาน 9 ประตู 6 แอสซิสต์จาก 24 เกมพรีเมียร์ลีก ในวัย 26 ปีเขาเหลือสัญญากับเลสเตอร์แค่ปีเดียว บวกกับเดอะฟ็อกซ์อาจลงไปเล่นแชมเปียนชิพฤดูกาลหน้า สโมสรน่าจะขายแมดดิสันได้ในราคาประมาณ 50 ล้านปอนด์ขึ้นไป ขณะที่ต้องเสียสตาร์อีกคน ยูริ ติเลอมองส์ ไปแบบฟรีๆเพราะหมดสัญญา

สเปอร์สและนิวคาสเซิลต่างให้ความสนใจแมดดิสันมายาวนาน สองทีมกำลังอยู่ในสมรภูมิแย่งชิงอันดับ 3-4 บนตารางพรีเมียร์ลีก แน่นอนโควตาแชมเปียนส์ลีกย่อมมีผลต่อการตัดสินใจเลือกทีมของแมดดิสันในซัมเมอร์นี้ ทีมสาลิกาดงอาจได้เปรียบกว่าในเรื่องสถานการณ์สโมสรที่มีความเสถียรทั้งบอร์ดบริหารและสตาฟฟ์โค้ช เอ็ดดี ฮาว กำลังพาทีมไปได้สวย ยกระดับตัวเองขึ้นไปอยู่แถวหน้าของลีก แถมยังได้รับเงินสนับสนุนชนิดใจถึงพึ่งได้จากกลุ่มทุนตะวันออกกลาง

ร็อบ ดอร์เซตต์ คอลัมนิสต์ของสกาย สปอร์ตส์ เชื่อว่าแมดดิสันคงย้ายออกเลสเตอร์หน้าร้อนนี้ และคงไม่ใช่แค่สเปอร์สกับนิวคาสเซิลที่พร้อมเสนอราคาซื้อให้เดอะฟ็อกซ์พิจารณา ทักษะตำแหน่งเบอร์สิบไม่ใช่ปัญหา แต่เป็นสภาพร่างกายของแมดดิสันที่ยังมีเครื่องหมายคำถาม อีกตัวแปรที่ช่วยให้การเจรจาง่ายขึ้น เลสเตอร์ไม่ควรโก่งราคาเกินงาม

เรียบเรียง : ฐปน วันชูเพลา (Senior Football Writer) 

Categories
Special Content

การเดินทางของ “แว็งซองต์ กอมปานี” โค้ชอัจฉริยะผู้พาเบิร์นลี่ย์คืนสู่พรีเมียร์ลีก

เมื่อคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา เบิร์นลีย์ เป็นทีมแรกที่การันตีเลื่อนชั้นสู่พรีเมียร์ลีก ในฤดูกาลหน้าเป็นที่เรียบร้อย หลังบุกไปชนะมิดเดิลสโบรช์ 2 – 1 โดยใช้เวลาเพียงซีซั่นเดียว กลับคืนสู่ลีกสูงสุดอีกครั้ง

เบิร์นลี่ย์ มีแต้มทิ้งห่างลูตัน ทาวน์ ทีมอันดับ 3 ที่เหลือโปรแกรมเพียง 6 นัด ขาดลอยถึง 19 แต้ม สร้างสถิติใหม่ เป็นทีมลีกแชมเปี้ยนชิพที่เลื่อนชั้นเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยที่ยังเหลืออีก 7 เกม

ทั้งหมดทั้งมวล ต้องยกเครดิตให้กับแว็งซองต์ กอมปานี ผู้จัดการทีมชาวเบลเยียม ที่เพิ่งมาคุมทีมในอังกฤษเป็นฤดูกาลแรก แต่สามารถฝ่าฟันวิกฤตของสโมสรที่ถาโถมเข้ามา จนได้รับรางวัลที่ยิ่งใหญ่

อีกทั้งในวันจันทร์ที่ 10 เมษายน กอมปานี ฉลองวันเกิดอายุครบ 37 ปี ด้วยการนำ “เดอะ คลาเร็ตส์” เปิดเทิร์ฟ มัวร์ รับการมาเยือนของเชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด ทีมรองจ่าฝูงที่กำลังลุ้นเลื่อนชั้นอัตโนมัติ

เชฟฯ ยูไนต็ด คือทีมล่าสุดที่ยัดเยียดความปราชัยให้กับเบิร์นลี่ย์ ด้วยสกอร์ 5 – 2 เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปีที่แล้ว หลังจากนั้น จ่าฝูงแชมเปี้ยนชิพ ไร้พ่ายมา 19 นัดติด ก่อนดวลกับ “ดาบคู่” อีกครั้ง

จุดเริ่มต้นจากติดลบ, ตกชั้น และทีมแตก

นับตั้งแต่ฤดูกาล 2016/17 จนถึง 2021/22 เป็นเวลา 6 ฤดูกาลติดต่อกัน ที่เบิร์นลี่ย์อยู่ในลีกสูงสุดของอังกฤษ แต่พวกเขาก็ลงทุนไปไม่น้อย และส่วนหนึ่งต้องกู้เงินจากธนาคาร เป็นจำนวน 65 ล้านปอนด์

โดยเมื่อเดือนธันวาคม ปี 2020 ALK Capital กลุ่มทุนจากสหรัฐอเมริกา ได้เข้ามาซื้อกิจการของสโมสร ซึ่งเงินกู้ธนาคาร 65 ล้านปอนด์นั้น ถูกรวมอยู่ใน 200 ล้านปอนด์ ที่เป็นมูลค่าการเทคโอเวอร์ด้วย

สำหรับเงินที่กู้มาจากธนาคารนั้น มีกำหนดชำระคืนภายในเดือนธันวาคม ปี 2025 แต่มีเงื่อนไขที่ว่า เบิร์นลีย์ต้องอยู่รอดในพรีเมียร์ลีกต่อไปถึงตรงนั้น หากตกชั้นจะต้องชำระเงินกู้คืนทันทีภายใน 3 เดือน

และในที่สุด เบิร์นลีย์ก็ตกชั้นจากพรีเมียร์ลีกจริง ๆ ในซีซั่น 2021/22 นั่นหมายความว่า “เดอะ คลาเร็ตส์” จะต้องจ่ายเงินกู้คืนให้ธนาคารภายในเดือนสิงหาคม 2022 กระเทือนไปถึงการเงินภายในสโมสร

ขอบคุณภาพ https://www.facebook.com/burnleyofficial

เมื่อการเงินของเบิร์นลี่ย์มีปัญหา ก็จำใจต้องปล่อยนักเตะตัวหลักออกไปแทบยกทีม ไม่ว่าจะเป็นนิค โป๊ป, นาธาน คอลลินส์, ดไวท์ แมคนีล รวมถึงแม็กซ์เวลล์ คอร์เนต์ 4 คนนี้ ได้เงินกลับเข้ามาเกือบ 70 ล้านปอนด์

โดยเงิน 70 ล้านปอนด์ที่ได้จากการขายนักเตะ ทางเบิร์นลีย์ได้เอาไปชำระหนี้ธนาคารทั้งหมด แต่พวกเขายังได้เงินก้อนเล็กๆ ในการเสริมผู้เล่นจากกฎการเงินชูชีพ (Parachute Payments) หลังตกชั้นจากพรีเมียร์ลีก

“กอมปานี” เจองานหนักภายใต้ข้อจำกัด

เมื่อฌอน ไดซ์ ถูกปลดจากตำแหน่งผู้จัดการทีม ก่อนจบฤดูกาล 2021/22 เพียง 1 เดือน เบิร์นลีย์ได้แต่งตั้งแว็งซองต์ กอมปานี อดีตนักเตะแมนเชสเตอร์ ซิตี้ เข้ามารับงานเป็นกุนซือคนใหม่ เพื่อสู้ศึกในซีซั่นถัดไป

หลังจากสร้างตำนานคว้าแชมป์ 12 โทรฟี่ ตลอด 11 ปีกับแมนฯ ซิตี้ ในปี 2019 กอมปานีได้ย้ายไปอยู่กับอันเดอร์เลชท์ โดยรับบทบาททั้งผู้เล่นและผู้จัดการทีมในปีแรก ก่อนจะมาเป็นโค้ชแบบเต็มตัวในปีถัดมา

จากประสบการณ์งานโค้ช 2 ปีที่เบลเยียม สู่โลกที่โหดกว่าเดิมอย่างแชมเปี้ยนชิพ อังกฤษ ซึ่งกอมปานีรู้ดีว่า เบิร์นลีย์มีข้อจำกัดด้านการเงิน และเขาจะขอสร้างทีมขึ้นมาใหม่ตามแนวทางของตัวเอง

กอมปานี นำเงินที่ได้รับจาก Parachute Payments ซื้อนักเตะเข้ามามากกว่า 10 คน ใช้เงินรวมกันไม่ถึง 40 ล้านปอนด์ ล้วนเป็นนักเตะโนเนม และอายุไม่เกิน 26 ปี เอามาเจียระไนให้เป็นเพชรเม็ดงาม

ตัวอย่างเช่น 3 นักเตะจากแมนเชสเตอร์ ซิตี้อย่าง ซีเจ อีแกน-ไรลีย์ (ค่าตัว 3 ล้านปอนด์), อาริยาเนต์ มูริค (ค่าตัว 3.5 แสนปอนด์) รวมถึงยืมตัวเทย์เลอร์ ฮาร์วูด-เบลลิส เซ็นเตอร์แบ็กดาวรุ่งวัย 21 ปี

หรือนักเตะที่ดึงมาจากลีกเบลเยียม เช่น จอช คัลเลน อดีตลูกทีมสมัยอยู่อันเดอร์เลชท์ (ค่าตัว 3 ล้านปอนด์), มานูเอล เบนสัน จากรอแยล อันท์เวิร์ป (ค่าตัว 3 ล้านปอนด์), อานาส ซารูรี่ จากชาเลอรัว (ค่าตัว 3.5 ล้านปอนด์) เป็นต้น

วินัย และเด็ดขาด คือเคล็ดลับความสำเร็จ

สมัยที่ฌอน ไดซ์ เป็นผู้จัดการทีม ได้ติดป้ายขนาดใหญ่เป็นม็อตโต้หน้าสนามซ้อมของเบิร์นลีย์ว่า “วิ่งด้วยขา, สู้ด้วยใจ, ไม่ยอมแพ้” นั่นคือมรดกชิ้นสำคัญที่ฌอน ไดซ์ ได้ทิ้งไว้ให้กับสโมสรจนถึงทุกวันนี้

เมื่อแว็งซองต์ กอมปานี เข้ามาเป็นกุนซือคนใหม่ของ “เดอะ คลาเร็ตส์” ในสภาพทีมที่แตกสลายหลังตกชั้นจากพรีเมียร์ลีก ได้พูดคุยกับนักเตะเป็นเวลา 12 นาที เพื่อฝังดีเอ็นเอความเป็นผู้ชนะให้กับลูกทีม

เนื่องจากกอมปานี ไม่เคยมีประสบการณ์การคุมทีมในอังกฤษมาก่อน ทำให้งานคุมทีมเบิร์นลีย์ คือโอกาสในการเรียนรู้ที่ดีสำหรับเขา เขาเป็นคนที่มีวินัยในการทำงานที่สูงมาก และใส่ใจในทุกรายละเอียด

ตั้งแต่วันแรกที่ทำงานกับเบิร์นลีย์ กอมปานีมาถึงสโมสรเป็นคนแรก และกลับบ้านเป็นคนสุดท้ายเสมอ ซึ่งในแต่ละวันเขาได้ปรับปรุง และพัฒนางานของตัวเองอยู่เสมอ เพื่อยกระดับทีมให้แข็งแกร่งมากขึ้น

คุณสมบัติอีกอย่างหนึ่งของกอมปานี คือเป็นโค้ชที่มีความเด็ดขาด ไม่สนใจว่านักเตะหน้าไหนที่ออกมาบ่นว่าไม่ได้ลงเล่น ลูกทีมทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมกัน ถ้าพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าดีพอที่จะออกสตาร์ทเป็นตัวจริง

ขอบคุณภาพ https://www.facebook.com/burnleyofficial

หนึ่งในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นช่วงปรีซีซั่น เมื่อนักเตะคนหนึ่งได้ซื้อเค้กมาอวยพรวันเกิดให้กับแจ็ค คอร์ก กองกลางเพื่อนร่วมทีม แต่ถูกกอมปานีสั่งห้ามโดยเด็ดขาด เนื่องจากมองว่าเป็นอาหารที่ทำลายสุขภาพ

ซึ่งนักเตะภายในทีมก็เชื่อฟัง แสดงให้เห็นว่ากอมปานีได้รับความเคารพเป็นอย่างสูง และมองว่ากุนซือชาวเบลเยียมคือผู้นำที่จะนำพาเบิร์นลีย์ประสบความสำเร็จ เรียกได้ว่าเขาสามารถซื้อใจลูกทีมได้แล้ว

เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสด้วย “มันสมอง”

ด้วยความที่เบิร์นลี่ย์ เสียนักเตะตัวหลักออกไปเยอะในช่วงซัมเมอร์ปี 2022 ทำให้ถูกมองข้ามว่า โอกาสเลื่อนชั้นคงจะมีน้อย แต่พวกเขากลับทำสิ่งที่หลายคนคิดว่าเป็นไปไม่ได้ ให้เกิดขึ้นจริงแบบไม่น่าเชื่อ

เหตุผลสำคัญคือ แว็งซองต์ กอมปานี ได้เปลี่ยนแนวทางการเล่นจากยุคของฌอน ไดซ์ ที่เน้นพละกำลัง และบอลโยนยาวสไตล์อังกฤษขนานแท้ ให้เป็นการต่อบอลสั้น เซ็ตเกมจากแดนหลัง เหมือนกับแมนฯ ซิตี้ ยุคเป๊ป กวาร์ดิโอล่า

ด้วยแผนการเล่น 4-3-3 หรือบางครั้งใช้ 4-2-3-1 ทำให้ทีมของกอมปานี มีเปอร์เซ็นต์การครองบอลเฉลี่ย 64 เปอร์เซ็นต์ มากที่สุดในลีกรอง เมื่อเทียบกับซีซั่นก่อนในยุคฌอน ไดซ์ ที่ครองบอลเฉลี่ยเพียง 39เปอร์เซ็นต์

คีย์แมนคนสำคัญของเบิร์นลีย์ชุดนี้ คือ นาธาน เทลล่า มิดฟิลด์วัย 23 ปี ที่ยืมตัวมาจากเซาแธมป์ตัน ยิง 17 ประตู กับ 4 แอสซิสต์ แตกต่างจากช่วงเวลา 3 ปีในถิ่นเซนต์ แมรี่ส์ ที่เจ้าตัวทำได้แค่ประตูเดียวเท่านั้น

หรือ 2 กองหน้าวัยเก๋าอย่างเจย์ โรดริเกวซ กับแอชลีย์ บาร์นส์ วัย 33 ปีเท่ากัน ที่กำลังเข้าสู่ช่วงท้ายปลายทางของอาชีพค้าแข้ง ทำไป 9 และ 6 ประตู ตามลำดับ ติดอันดับท็อป 5 ดาวซัลโวของทีมอยู่ในเวลานี้

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ คือเบื้องหลังผลงานอันยอดเยี่ยมของเบิร์นลีย์ ในวันที่ได้รับการการันตีว่าเลื่อนชั้น ด้วยสถิติยิงได้มากที่สุด 76 ประตู เสียน้อยที่สุด 30 ประตู และมีโอกาสเก็บถึง 100 แต้ม ในอีก 7 นัดที่เหลือ

สำหรับเบิร์นลีย์โฉมใหม่ คือส่วนผสมระหว่างความสดกับความเก๋า ผู้จัดการทีมดาวรุ่งที่มีความกระหายชัยชนะ และสไตล์การเล่นที่น่าตื่นตาตื่นใจ พวกเขาคือทีมน้องใหม่พรีเมียร์ลีก ซีซั่นหน้าที่น่าจับตามองจริงๆ

ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา เบิร์นลี่ย์มีแต่ปัญหาที่เข้ามารุมเร้ามากมาย แต่ด้วยมันสมองที่ชาญฉลาดของแว็งซองต์ กอมปานี ก็ช่วยให้สโมสรเอาตัวรอดจากวิกฤต และกลับมาฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งในที่สุด

ขอบคุณภาพ https://www.facebook.com/burnleyofficial

เรียบเรียง : จักรพันธ์ ภู่ทอง

อ้างอิง :

https://theathletic.com/4389762/2023/04/07/vincent-kompany-burnley-promotion-premier-league/

https://www.dailymail.co.uk/sport/football/article-11951087/Vincent-Kompany-turned-burnt-Burnley-warriors-Premier-League.html

Categories
Special Content

ความกังวลของ “แกเร็ธ เซาท์เกต” กับปัญหาแข้งอังกฤษในพรีเมียร์ลีกลดลง

โปรแกรมฟุตบอลในช่วงกลางสัปดาห์นี้ ยาวไปจนถึงกลางสัปดาห์หน้า จะสลับฉากจากระดับลีก เป็นทีมชาติ ในส่วนฝั่งยุโรป จะเป็นรอบคัดเลือก ของฟุตบอลชิงแชมป์ระดับทวีป หรือ “ยูโร 2024”

สำหรับยูโร 2024 รอบคัดเลือก มี 53 ชาติเข้าร่วม (ยกเว้นเยอรมนี ในฐานะเจ้าภาพ และรัสเซีย ที่ยังติดโทษแบนจากยูฟ่า) แบ่งออกเป็น 10 กลุ่ม โดยมี 7 กลุ่ม ที่มีกลุ่มละ 5 ชาติ และอีก 3 กลุ่ม ที่มีกลุ่มละ 6 ชาติ

แต่ละกลุ่ม คัดเอา 2 อันดับแรก เข้ารอบสุดท้ายอัตโนมัติ ส่วนอีก 3 ชาติที่เหลือ จะเอามาจากชาติที่ตกรอบคัดเลือกยูโร แต่มีผลงานดีที่สุด ในยูฟ่า เนชันส์ ลีก เฉพาะลีก A, B และ C ลีกละ 4 ชาติ มาเตะเพลย์ออฟกันในแต่ละลีก

ในส่วนของทีมชาติอังกฤษ จะประเดิม 2 นัดแรก ด้วยการ “รีแมตช์” คู่ชิงชนะเลิศยูโรครั้งที่แล้ว ในการบุกไปเยือนทีมชาติอิตาลี ที่เนเปิ้ลส์ 23 มีนาคม และจะกลับมาเล่นในเวมบลีย์ พบกับทีมชาติยูเครน 26 มีนาคม

อย่างไรก็ตาม แกเร็ธ เซาท์เกต กุนซือ “ทรี ไลออนส์” ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับจำนวนนักเตะอังกฤษที่ได้ลงเล่นเป็นตัวหลักในพรีเมียร์ลีกลดลง เหตุใดเขาจึงออกมาพูดเช่นนี้

ส่องไลน์-อัพอังกฤษ ก่อนประเดิมคัดยูโร

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 16 มีนาคมที่ผ่านมา ทีมชาติอังกฤษประกาศรายชื่อ 25 นักเตะชุดสู้ศึกยูโร 2024 รอบคัดเลือก 2 นัดแรกกับอิตาลี ในวันที่ 23 มีนาคม และยูเครน ในวันที่ 26 มีนาคม โดยมีรายชื่อดังต่อไปนี้

– ผู้รักษาประตู : จอร์แดน ฟิคฟอร์ด (เอฟเวอร์ตัน), นิค โป๊ป (นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด), อารอน แรมส์เดล (อาร์เซน่อล)

– กองหลัง : เบน ชิลเวลล์ (เชลซี), เอริค ดายเออร์ (ท็อตแน่ม ฮอทสเปอร์), มาร์ค เกฮี (คริสตัล พาเลซ), รีช เจมส์ (เชลซี), แฮร์รี่ แม็กไกวร์ (แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด), ลุค ชอว์ (แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด), จอห์น สโตนส์ (แมนเชสเตอร์ ซิตี้), ไคล์ วอล์คเกอร์ (แมนเชสเตอร์ ซิตี้), คีแรน ทริปเปียร์ (นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด)

– กองกลาง : จู๊ด เบลลิงแฮม (โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์), คอเนอร์ กัลลาเกอร์ (เชลซี), จอร์แดน เฮนเดอร์สัน (ลิเวอร์พูล), เจมส์ แมดดิสัน (เลสเตอร์ ซิตี้), คัลวิน ฟิลลิปส์ (แมนเชสเตอร์ ซิตี้), ดีแคลน ไรซ์ (เวสต์แฮม), เมสัน เมาท์ (เชลซี)

– กองหน้า : ฟิล โฟเด้น (แมนเชสเตอร์ ซิตี้), แจ็ค กริลิช (แมนเชสเตอร์ ซิตี้), แฮร์รี่ เคน (ท็อตแน่ม ฮอทสเปอร์), บูกาโย่ ซาก้า (อาร์เซน่อล), อิวาน โทนีย์ (เบรนท์ฟอร์ด), มาร์คัส แรชฟอร์ด (แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด)

แต่ล่าสุดเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา มี 3 แข้งขอถอนตัวออกไป เริ่มจากนิค โป๊ป ที่ได้รับบาดเจ็บจากเกมที่นิวคาสเซิล ชนะฟอเรสต์ 2 – 1 ในเกมลีกนัดล่าสุด โดยเฟเซอร์ ฟอร์สเตอร์ นายทวารจากสเปอร์ เสียบแทน

รายต่อมาคือเมสัน เมาท์ ที่ไม่ได้ลงเล่นตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ เนื่องจากมีอาการบาดเจ็บที่กระดูกเชิงกราน และล่าสุดเป็นรายของแรชฟอร์ด ที่ได้รับบาดเจ็บจากเกมที่เอาชนะฟูแล่ม 3 – 1 ในถ้วยเอฟเอ คัพ

นักเตะผู้ดีในพรีเมียร์ลีกน้อยลงเรื่อย ๆ

“ตัวเลขก็คือตัวเลข และมันก็ไม่เพิ่มขึ้นเลย ตอนนี้ตัวเลขอยู่ที่ 32 เปอร์เซ็นต์ ตอนที่ผมรับงานอยู่ที่ 35 เปอร์เซ็นต์ และปีก่อนหน้านั้นอยู่ที่ 38 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นชัดเจนเลยว่า มันคือกราฟขาลงแบบไม่มีข้อโต้แย้ง”

“จำนวนนักเตะอังกฤษที่ลดลงอย่างรวดเร็วในพรีเมียร์ลีก มันไม่ใช่สิ่งที่น่ากังวลในอีก 18 เดือนข้างหน้า แต่ในอีก 4-5 ปีต่อจากนี้ มันอาจจะเป็นปัญหา โดยเฉพาะในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา เหลือแค่ 28 เปอร์เซ็นต์”

ทั้งหมดที่กล่าวมา คือคำพูดของแกเร็ธ เซาท์เกต กุนซือทีมชาติอังกฤษ ที่ออกมาแสดงความกังวลเกี่ยวกับจำนวนนักเตะชาวอังกฤษที่เป็นตัวหลักในพรีเมียร์ลีก กำลังน้อยลงเรื่อย ๆ และอาจจะส่งผลเสียในระยะยาว

สำหรับในฤดูกาล 2022/23 มีนักเตะอังกฤษลงเล่นในพรีเมียร์ลีก 161 คน ซึ่งลดลงเมื่อเทียบกับ 2 ฤดูกาลหลังสุด และอีก 22 คน ลงเล่นใน 4 ลีกใหญ่ของยุโรป (เยอรมัน, อิตาลี, สเปน, ฝรั่งเศส)

เมื่อมาดูตัวเลขของนักเตะสัญชาติอังกฤษ ที่ลงเล่นในยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ฤดูกาลนี้ คำนวณออกมาเป็นจำนวนนาที พบว่าอยู่ในอันดับที่ 6 น้อยกว่าฝรั่งเศส, เยอรมัน, สเปน, โปรตุเกส และบราซิล ตามลำดับ

และถ้าเจาะลึกลงไปสำหรับเปอร์เซ็นต์การลงสนามในพรีเมียร์ลีก ของ 23 นักเตะสิงโตคำรามที่ติดทีมในการคัดเลือกยูโร 2 เกมแรก ปรากฏว่า ในจำนวนนี้ มีอยู่ 7 คน ที่ลงเล่นไม่ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ ได้แก่ ไคล์ วอล์คเกอร์, คอเนอร์ กัลลาเกอร์, รีช เจมส์, เบน ชิลเวลล์, เฟเซอร์ ฟอร์สเตอร์, แฮร์รี่ แม็กไกวร์ และคัลวิน ฟิลลิปส์

อย่างไรก็ตาม ในช่วง 4 ซีซั่นหลังสุด นักเตะจากสโมสร “บิ๊ก 6” พรีเมียร์ลีก (อาร์เซน่อล, เชลซี, ลิเวอร์พูล, แมนฯ ซิตี้, แมนฯ ยูไนเต็ด, สเปอร์) ลงเล่นคิดเป็น 27 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ย 16 เปอร์เซ็นต์ ของ 4 ซีซั่นก่อนหน้านั้น

ไม่ใช่แค่เซาท์เกตเท่านั้นที่กังวล โรแบร์โต้ มันชินี่ เทรนเนอร์ของ “อัซซูรี่” คู่แข่งของอังกฤษในเกมเปิดหัว คืนวันพฤหัสบดีนี้ ก็ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า เขาก็เจอปัญหาขาดแคลนนักเตะชาติตัวเองในลีกสูงสุดเช่นกัน

แม้สโมสรจากเซเรีย อา จะผ่านเข้ารอบ 8 ทีมสุดท้ายยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ได้ถึง 3 ทีม แต่มีนักเตะอิตาลีรวมกันไม่ถึง 10 คน จำนวนนาทีที่นักเตะลงเล่นในถ้วยใหญ่ยุโรป อยู่ในอันดับที่ 8 ต่ำกว่าอังกฤษเสียอีก

อีกไม่นานคงต้องหานักเตะจากลีกรอง

แกเร็ธ เซาท์เกต นายใหญ่สิงโตคำราม ชี้ว่า ตลาดนักเตะหน้าหนาวปีนี้ ที่ใช้เงินมากถึง 815 ล้านปอนด์ คือการตัดโอกาสนักเตะอังกฤษในพรีเมียร์ลีก และเขาอาจจะต้องหานักเตะจากลีกแชมเปี้ยนชิพมาทดแทน

และนี่คือหน้าตาของทีมชาติอังกฤษ ถ้าเซาท์เกตอยากหานักเตะฝีเท้าดีจากลีกรอง (แผนการเล่น 4-3-3หรือ 4-2-3-1)

– เฟรดดี้ วูดแมน (เปรสตัน นอร์ทเอนด์) : อดีตผู้รักษาประตูนิวคาสเซิล วัย 26 ปี เล่นตำแหน่งเดียวกับแอนดี้ วูดแมน คุณพ่อของเขา เก็บคลีนชีตได้ 16 นัด จาก 38 นัด ให้กับเปรสตันในฤดูกาลนี้

– ไรอัน ไจล์ส (มิดเดิลสโบรช์) : ฟูลแบ็กฝั่งซ้ายวัย 23 ปี ที่ยืมตัวมาจากวูล์ฟแฮมป์ตัน ทำ 11 แอสซิสต์ จาก 38 นัด ให้กับมิดเดิลสโบรช์ ในลีกแชมเปี้ยนชิพ ฤดูกาลนี้ ภายใต้การคุมทีมของไมเคิล คาร์ริก

– เทย์เลอร์ ฮาร์วูด-เบลลิส (เบิร์นลีย์) : เซ็นเตอร์แบ็กวัย 21 ปี ที่ยืมตัวมาจากแมนเชสเตอร์ ซิตี้ สามารถสอดแทรกขึ้นมาเล่นเกมรุกได้ และเคยติดทีมชาติอังกฤษชุดเยาวชนทุกรุ่น ตั้งแต่ชุดยู-16 จนถึงยู-21

– ชาร์ลี เครสเวลล์ (มิลล์วอลล์) : เซ็นเตอร์แบ็กวัย 20 ปี ที่ยืมตัวมาจากลีดส์ ยูไนเต็ด ลูกชายของริชาร์ด เครสเวลล์ อดีตกองหน้าชื่อดัง กำลังพามิลล์วอลล์ลุ้นพื้นที่เพลย์ออฟ เพื่อเลื่อนชั้นสู่พรีเมียร์ลีก

– แม็กซ์ อารอนส์ (นอริช ซิตี้) : ฟูลแบ็กฝั่งขวาวัย 23 ปี เพชรเม็ดงามจากอคาเดมี่ของนอริช ลงเล่นให้ทีมชุดใหญ่มาตั้งแต่ปี 2018 และเคยตกเป็นเป้าหมายของบาร์เซโลน่า ยักษ์ใหญ่จากสเปนมาแล้ว

– เจมส์ แม็คอาธี (เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด) : มิดฟิลด์วัย 20 ปี ยิง 5 ประตู กับ 2 แอสซิสต์ ในลีก ซึ่งเชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด ทีมของเขา จับสลากพบกับแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ต้นสังกัดที่แท้จริง ในเอฟเอ คัพ รอบรองชนะเลิศ

– อเล็กซ์ สกอตต์ (บริสตอล ซิตี้) : มิดฟิลด์วัย 19 ปี มีจุดเด่นในเรื่องแอสซิสต์ให้เพื่อนยิงประตู ได้รับการคาดหมายว่าเป็นหนึ่งในนักเตะที่ดีที่สุดของลีกรอง โดยมีทีมจากพรีเมียร์ลีกหลายทีมให้ความสนใจเขา

– จอร์จ ฮอลล์ (เบอร์มิงแฮม ซิตี้) : มิดฟิลด์วัย 18 ปี เติบโตจากอคาเดมี่ของเบอร์มิงแฮม ซิตี้ ที่เดียวกับจู๊ด เบลลิ่งแฮม ซึ่งทรอย ดีนี่ย์ กองหน้าเพื่อนร่วมทีม บอกว่า เขาจะเป็นซูเปอร์สตาร์คนใหม่ของอังกฤษแน่นอน

– นาธาน เทลล่า (เบิร์นลีย์) : มิดฟิลด์วัย 23 ปี ที่ยิมตัวมาจากเซาแธมป์ตัน ยิง 17 ประตู กับ 3 แอสซิสต์ ช่วยให้ทีมของกุนซือแว็งซองต์ กอมปานี จ่อเลื่อนชั้นขึ้นสู่พรีเมียร์ลีก ในฐานะแชมป์ลีกรองเต็มที

– โจ เกลฮาร์ดท์ (ซันเดอร์แลนด์) : ศูนย์หน้าวัย 20 ปี ยืมตัวมาจากลีดส์ ยูไนเต็ด ในช่วงตลาดซื้อขายนักเตะเดือนมกราคมที่ผ่านมา ลงเล่นให้ซันเดอร์แลนด์ 10 นัด ในลีกรอง ทำได้ 1 ประตู กับ 2 แอสซิสต์

– ชูบา อัคปอม (มิดเดิลสโบรช์) : อดีตกองหน้าอาร์เซน่อล วัย 27 ปี ทำได้ 24 ประตู จาก 31 นัด ในลีก มีส่วนสำคัญที่ช่วยให้ “เดอะ โบโร่” มีลุ้นเลื่อนชั้นแบบอัตโนมัติ ทั้ง ๆ ที่อยู่ท้ายตารางเมื่อช่วงต้นซีซั่น

เรียบเรียง : จักรพันธ์ ภู่ทอง

อ้างอิง :

– https://www.bbc.com/sport/football/64988328

– https://www.bbc.com/sport/football/65014530

https://www.telegraph.co.uk/football/2023/03/17/what-england-team-would-look-like-filled-current-championship/

– https://www.skysports.com/football/news/11095/12835452/gareth-southgate-admits-concern-over-englands-shrinking-talent-pool-with-only-32-per-cent-of-starters-in-premier-league-eligible

https://www.dailymail.co.uk/sport/football/article-11885279/We-worse-Southgate-Roberto-Mancini-bemoans-lack-homegrown-talent-Italy.html

Categories
Football Business

เงินไม่ใช่ปัจจัยเดียว ? : เมื่อ “พรีเมียร์ลีก” เริ่มเป็นที่น่าจับตามอง ของกุนซือเลือดกระทิง

การถือกำเนิดของพรีเมียร์ลีก เมื่อปี 1992 คือจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของวงการฟุตบอลอังกฤษ เพราะเป็นการเปิดประตูให้เม็ดเงิน ผู้เล่น และผู้จัดการทีมจากต่างชาติ ได้หลั่งไหลเข้ามาในเมืองผู้ดีมากขึ้น

ตลอดเวลากว่า 30 ปี ของพรีเมียร์ลีก ได้มีโค้ชต่างชาติหลายๆ คน ก้าวเข้ามามีบทบาทในการช่วยพัฒนาความสนุกเร้าใจ และสร้างความสำเร็จให้เป็นที่ยอมรับ จนทำให้ลูกหนังเมืองผู้ดีได้รับความนิยมไปทั่วโลก

โดยเฉพาะบรรดากุนซือสัญชาติ “สเปน” ที่ได้เข้ามาคุมทีมในพรีเมียร์ลีกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงหลังๆ นั้น มีเหตุผลมาจากเรื่องเงินเพียงอย่างเดียวหรือไม่ ? ติดตามไปพร้อมกันได้ที่ ไข่มุกดำ x SoccerSuck

ราฟา เบนิเตซ ผู้เปิดตำนานโค้ชสเปนในลีกผู้ดี

ผู้จัดการทีมชาวสเปนคนแรกในพรีเมียร์ลีก อังกฤษ คือ ราฟาเอล เบนิเตซ ที่เข้ามาคุมทีมลิเวอร์พูล ในฤดูกาล 2004/05 และสร้างปาฏิหาริย์ด้วยการชนะเอซี มิลาน คว้าแชมป์ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก เป็นโทรฟี่แรก

ตามมาด้วยแชมป์ยูฟ่า ซูเปอร์ คัพ, แชมป์เอฟเอ คัพ, แชมป์คอมมูนิตี้ ชิลด์ และเกือบพา “หงส์แดง” คว้าแชมป์พรีเมียร์ลีก ในฤดูกาล 2008/09 ก่อนที่ในซีซั่นถัดมา จบเพียงแค่อันดับที่ 7 จนถูกปลดออกจากตำแหน่ง

หลังจากนั้น ราฟาก็ได้รับงานคุมสโมสรในพรีเมียร์ลีกอีก 3 ทีม คือ เชลซี ช่วยทีมคว้าแชมป์ยูฟ่า ยูโรป้า ลีก ต่อด้วยการพานิวคาสเซิล เลื่อนชั้นสู่พรีเมียร์ลีก ในฐานะแชมป์ลีกแชมเปี้ยนชิพ และปิดท้ายที่เอฟเวอร์ตัน

ขอบคุณภาพ https://www.facebook.com/ChelseaFC

ราฟา เบนิเตซ ถือเป็นผู้ที่ปูทางให้กับโค้ชชาวสเปนคนอื่นๆ ในเวลาต่อมา ยังมีอีก 5 เทรนเนอร์เลือดกระทิง ที่ได้เข้ามาพิสูจน์ฝีมือในลีกยอดนิยมอย่างพรีเมียร์ลีก ในช่วงกลางยุค 2000s ถึงกลางยุค 2010s ดังนี้

– ฆวนเด้ รามอส (ท็อตแน่ม ฮอทสเปอร์) : เข้ามาคุมทีมไก่เดือยทองในฤดูกาล 2007/08 และคว้าแชมป์ลีก คัพ ซึ่งนั่นคือแชมป์รายการล่าสุดของสโมสร ก่อนจะถูกปลดออกจากตำแหน่งในเดือนธันวาคม ปี 2008

– โรแบร์โต้ มาร์ติเนซ (วีแกน / เอฟเวอร์ตัน) : รับงานกับวีแกนในพรีเมียร์ลีกเมื่อปี 2009 และสร้างเทพนิยายคว้าแชมป์เอฟเอ คัพ ปี 2013 แม้จะตกชั้นจากลีกสูงสุด ก่อนจะย้ายไปคุมทีมเอฟเวอร์ตัน จนถึงปี 2016

– เปเป้ เมล (เวสต์บรอมวิช อัลเบี้ยน) : เข้ามารับงานในเดือนมกราคม 2014 เซ็นสัญญา 18 เดือน พา “เดอะ แบ็กกี้ส์” ได้ที่ 17 รอดตกชั้นหวุดหวิด แต่การทำทีมชนะแค่ 3 จาก 17 เกม เขาจึงถูกปลดออกจากตำแหน่ง

– กิเก้ ซานเชซ ฟลอเรส (วัตฟอร์ด) : เปิดประสบการณ์คุมทีมบนเวทีพรีเมียร์ลีกกับ “เดอะ ฮอร์เน็ตส์” เมื่อฤดูกาล 2015/16 ก่อนแยกทางหลังจบซีซั่น แล้วกลับมารับงานอีกครั้งในปี 2019 แต่อยู่ได้เพียง 3เดือน ก็ถูกปลด

– ไอตอร์ การันก้า (มิดเดิลสโบรช์) : กุนซือผู้พา “เดอะ โบโร่” เลื่อนชั้นขึ้นสู่พรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 2016/17 และได้ยืมตัวอัลบาโร่ เนเกรโด้ กองหน้าเพื่อนร่วมชาติ ช่วยยิงได้ถึง 10 ประตู แต่ไม่สามารถช่วยให้ทีมรอดตกชั้น

ช่วงทศวรรษแรก กับกุนซือชาวสเปน 6 คน ก็มีทั้งที่ประสบความสำเร็จ และล้มเหลว จนกระทั่งการมาของชายที่ชื่อ เป๊ป กวาร์ดิโอล่า ที่เข้ามาเปลี่ยนวงการฟุตบอลอังกฤษ และสร้างความยิ่งใหญ่ที่แมนเชสเตอร์ ซิตี้

ปรากฏการณ์ความสำเร็จของเป๊ป กวาร์ดิโอล่า

คนที่ติดตามฟุตบอลอังกฤษมายาวนาน จะทราบดีว่า สไตล์การเล่นของฟุตบอลอังกฤษขนานแท้ คือเน้นการโยนบอลยาว แล้วอาศัยความแข็งแกร่ง ในการดวลลูกกลางอากาศ หรือเสียบสกัดคู่แข่งแบบถึงลูกถึงคน

ขอบคุณภาพ https://www.facebook.com/mancity

แต่การมาถึงของเป๊ป กวาร์ดิโอล่า ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของแมนเชสเตอร์ ซิตี้ และลูกหนังเมืองผู้ดี ด้วยแท็กติกการเล่นบอลสั้น ขึ้นเกมรุกจากแดนหลัง แทนที่จะใช้ลูกโด่ง แย่งบอลวัดดวงเหมือนในอดีต

โดยเฉพาะในตำแหน่งผู้รักษาประตู เป๊ปตัดสินใจลดบทบาทของโจ ฮาร์ท ไปเป็นตัวสำรอง โดยให้เหตุผลว่า อดีตนายทวารทีมชาติอังกฤษรายนี้ ไม่ใช่สเปกที่ตัวเองต้องการ เพราะออกบอลสั้นด้วยเท้าไม่เก่ง

ทำให้อดีตกุนซือบาร์เซโลน่า และบาเยิร์น มิวนิค ตัดสินใจดึงตัวเคลาดิโอ บราโว่ มาแทน แต่ไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับแท็กติกได้ จึงซื้อตัวเอแดร์ซอน มาร่วมทีม และกลายเป็นตัวหลักจนถึงปัจจุบันนี้

ก่อนที่เป๊ปจะเข้ามาคุมทีมแมนฯ ซิตี้ ผู้รักษาประตูพรีเมียร์ลีก มีสัดส่วนการเล่นบอลยาวมากถึง 80 เปอร์เซ็นต์ แต่ช่วง 7 ปีหลังสุด ลดลงเหลือ 63 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งนี่คือนายทวารสมัยใหม่ตามแนวคิดของเขา

เมื่อการเล่นบอลยาวจากผู้รักษาประตูลดลง ทำให้ค่าเฉลี่ยการผ่านบอลจากแดนหลัง ในช่วง 7 ปี หลังสุด เพิ่มขึ้นเป็น 912 ครั้งต่อเกม เมื่อเทียบกับช่วงก่อนที่เป๊ปเข้ามาทำงานในอังกฤษ มีค่าเฉลี่ย 869 ครั้งต่อเกม

วิธีการของเป๊ป กวาร์ดิโอล่า ได้แสดงให้แฟนบอลทั่วโลกเห็นถึงความยอดเยี่ยม ด้วยการคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีก 4 สมัย และแชมป์รายการอื่นๆ รวม 11 โทรฟี่ ขาดเพียงแชมป์ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ที่ยังต้องตามหาต่อไป

ใครจะเชื่อว่า ฟุตบอลที่เน้นการต่อบอลสั้น ที่หลายคนมองว่ามีความเสี่ยงต่อการผิดพลาดถึงขั้นเสียประตู จะได้รับความนิยมมากขึ้น หลายๆ ทีมในลีกรองของอังกฤษ และในยุโรป เริ่มเปลี่ยนมาเอาอย่างแมนฯ ซิตี้

แต่ถ้ามีใครสักคนบอกว่า แมนฯ ซิตี้ ยิ่งใหญ่แบบทุกวันนี้ได้เพราะเงินล้วนๆ มันไม่เป็นเช่นนั้นเลย เพราะ 5 ฤดูกาลหลังสุด เรือใบสีฟ้า ไม่เคยครองอันดับ 1 ทีมที่ใช้เงินซื้อนักเตะมากที่สุดในลีกเลยแม้แต่ครั้งเดียว

ต่อจากเป๊ป ก็มีกุนซือเลือดสแปนิชตามมาเรื่อยๆ

หลังจากที่สุดยอดกุนซืออย่างเป๊ป กวาร์ดิโอล่า เข้ามาเขย่าพรีเมียร์ลีก ในช่วงเวลาแค่ 7 ปีหลังสุด ก็ได้มีโค้ชชาวสเปน เข้ามาคุมทีมในลีกสูงสุดของอังกฤษอีก 6 คน ซึ่งเป็นตัวเลขที่เท่ากับช่วงระหว่างปี 2004-2015

นอกเหนือจากเป๊ปแล้ว ยังมีกุนซือจากแดนกระทิงดุที่รับงานอยู่ในปัจจุบันอีก 5 คน ประกอบด้วย มิเกล อาร์เตต้า (อาร์เซน่อล), อูไน เอเมรี่ (แอสตัน วิลล่า), ฆูเลน โลเปเตกี (วูล์ฟส์แฮมป์ตัน), รูเบน เซลเลส (เซาแธมป์ตัน) และฆาบี้ กราเซีย (ลีดส์ ยูไนเต็ด)

ความจริงยังมีซิสโก้ มูนญอซ โค้ชอิมพอร์ตจากสเปนอีกหนึ่งคน ที่เคยรับงานคุมทีมในพรีเมียร์ลีกกับวัตฟอร์ด ในช่วงเดือนตุลาคม 2020 ถึงกันยายน 2021 แต่ถูกปลดออกไป เนื่องจากทำผลงานได้ย่ำแย่ ชนะแค่ 2 จาก 7 นัดแรกของฤดูกาล 2021/22

นั่นแสดงให้เห็นว่า โค้ชฟุตบอลเลือดสแปนิช เริ่มที่จะมองลีกอังกฤษเป็นเป้าหมายต่อไปในการสร้างชื่อเสียง และค่าจ้างที่มากขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากทีมในพรีเมียร์ลีกหลายทีม ได้มีการลงทุนในสโมสรอย่างเต็มที่

เมื่อเร็วๆ นี้ ดีลอยด์ (Deloitte) บริษัทที่ปรึกษาทางการเงินระดับโลก ได้มีการจัดอันดับสโมสรฟุตบอลที่ทำเงินเข้ามามากที่สุด (Deloitte Football Money League) ประจำปี 2023 โดยวัดจากรายรับในฤดูกาล 2021/22

ปรากฏว่า ใน 30 อันดับแรก มีทีมจากพรีเมียร์ลีก ติดเข้ามาถึง 16 ทีม ซึ่งแตกต่างจากลาลีกา สเปน ที่มีเพียง 5 ทีมเท่านั้น ถือเป็นครั้งแรกที่สโมสรในลีกสูงสุดอังกฤษติดอันดับเกินครึ่งหนึ่ง นับตั้งแต่มีการจัดอันดับมา 26 ปี

ยังมีเหตุผลอื่นๆ ที่ทำให้พรีเมียร์ลีก เป็นที่น่าสนใจของผู้จัดการทีมฟุตบอลชาวสเปนมากขึ้น คือคุณภาพของผู้เล่น การเคลื่อนที่เป็นจังหวะเร็ว เกมที่มีความเข้มข้นสูง และบรรยากาศการเชียร์ของแฟนบอลที่คึกคัก

การที่ผู้จัดการทีมฟุตบอลสัญชาติสเปน เข้ามาแสวงหาความท้าทายบนแผ่นดินอังกฤษมากกว่าในอดีต เป็นข้อพิสูจน์ที่แสดงให้เห็นว่า พรีเมียร์ลีกกำลังจะไปอยู่ในสถานะที่เหนือกว่าลาลีกาในอีกไม่นานนี้

เรียบเรียง: จักรพันธ์ ภู่ทอง

อ้างอิง :

https://www.telegraph.co.uk/football/2023/03/03/why-spaniards-dream-managing-england-not-just-money/

https://theathletic.com/3327242/2022/05/24/guardiola-premier-league-change/

https://thegodofsports.com/how-pep-guardiola-transformed-man-city-into-a-giant/

https://sport360.com/article/football/english-premier-league/283343/how-spanish-managers-have-fared-in-the-premier-league-as-unai-emery-takes-the-reins-at-arsenal

https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_Premier_League_managers

https://www2.deloitte.com/uk/en/pages/sports-business-group/articles/deloitte-football-money-league.html

Categories
Special Content

กระจกหกด้านส่อง “เอมิเลียโน มาร์ติเนซ” ยอดนายประตูที่คนรักเท่าผืนหนัง คนชังเท่าผืนเสื่อ

ไม่ว่ารักหรือเกลียดเอมิเลียโน มาร์ติเนซ นายทวารจอมหนึบของสโมสรแอสตัน วิลลาและทีมชาติอาร์เจนตินา แต่ปฏิเสธได้ว่า “เอมิ” เป็นผู้รักษาประตูคนหนึ่งที่มีฝีมือระดับเวิลด์คลาสในทศวรรษ 2020

มาร์ติเนซเป็นหนึ่งในกุญแจดอกสำคัญที่ไขประตูพาอาร์เจนตินาครองแชมป์โลกที่รอคอยเป็นเวลา 36 ปี ซึ่งทำให้เขารับรางวัลถุงมือทองคำในฐานะผู้รักษาประตูยอดเยี่ยมของเวิลด์คัพ 2022 ที่ประเทศกาตาร์ และล่าสุดปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มาร์ติเนซได้รับเลือกให้เป็นผู้รักษาประตูยอดเยี่ยมประจำปี 2022 ของฟีฟา

ระหว่างพิธีมอบรางวัล ช่างภาพจับสีหน้าที่ไร้อารมณ์ของคิลิยัน เอ็มบัปเป ยอดกองหน้าทีมชาติฝรั่งเศส ซึ่งทำแฮททริกในนัดชิงชนะเลิศก่อนแพ้อาร์เจนตินาในการดวลจุดโทษ เปรียบเทียบกับใบหน้ายิ้มแย้มชื่นชมของลิโอเนล เมสซี กัปตันทีมชาติอาร์เจนตินา เป็นหลักฐานยืนยันที่ก่อนหน้านี้ สื่อมวลชนฝรั่งเศสเคยตีตราประทับนายด่านวัย 30 ปีว่า The most hated Argentine.

เหตุผลไม่ใช่เพราะเคืองแค้นที่มาร์ติเนซดับความหวังฝรั่งเศสที่จะชูถ้วยเวิลด์คัพสมัยที่สองติดต่อกันหลังจากงัดฟอร์มซูเปอร์เซฟป้องกันลูกยิงของร็องดาล โกโล มูอานี ก่อนหมดเวลาพิเศษ แถมยังเซฟลูกจุดโทษของคิงส์เลย์ โกมัน แต่เป็นการโยนบอลทิ้งเพื่อก่อกวนสมาธิจนโอเรเลียง ชูอาเมนี ซัดบอลออกข้าง

ขอบคุณภาพจาก  https://www.bbc.com/sport/football/64115904

หลังจากรับรางวัลถุงมือทองคำบนแท่นพิธี มาร์ติเนซยังแสดงกิริยาไม่สุภาพด้วยการเอาโทรฟีไปจ่อเป้ากางเกง ต่อจากนั้นยังเรียกร้องให้ยืนไว้อาลัยหนึ่งนาทีให้กับเอ็มบัปเปในห้องแต่งตัวนักกีฬาด้วย แค่นั้นยังไม่พอหลังกลับไปประเทศอาร์เจนตินา เขายังถือตุ๊กตาหน้าเอ็มบัปเปขณะร่วมขบวนพาเหรดฉลองความสำเร็จกลางกรุงบัวโนสไอเรสต์

ภายหลังงานประกาศผลรางวัลของฟีฟา มาร์ติเนซพยายามบรรเทาความเกลียดชังของคนฝรั่งเศสด้วยการพูดผ่าน TMC สถานีโทรทัศน์ของฝรั่งเศส ว่า “ด้วยความสัตย์ ผมรักประเทศฝรั่งเศส ผมเคยไปพักผ่อนช่วงวันหยุดที่นั่นหลายครั้ง ผมรักคนฝรั่งเศส ผมยังนอนห้องเดียวกับนักเตะฝรั่งเศสสองคนจากแอสตัน วิลลา”

“สำหรับทีมชาติฝรั่งเศส พวกเขาเกือบทำสิ่งที่ไม่น่าเป็นไปได้คือ รักษาแชมป์โลก พวกเขายังชนะเลิศเนชันส์ ลีก เมื่อปี 2021เชื่อเถอะพวกเขามีอนาคตที่ยิ่งใหญ่รออยู่เบื้องหน้า”

ถึงกระนั้นยังคงเป็นไปได้ว่า มาร์ติเนซยังเป็นคนอาร์เจนไตน์ที่โดนเกลียดมากที่สุดในฝรั่งเศสอยู่ดี

สองปีครึ่ง จากตัวสำรองเป็นนายประตูเวิลด์คลาส

มาร์ติเนซใช้เวลาสองปีครึ่งเปลี่ยนตัวเองจากดินกลายเป็นดาว จุดเริ่มต้นอยู่ในเดือนกันยายน 2020 เมื่อย้ายมาอยู่แอสตัน วิลลา ด้วยค่าตัว 20 ล้านปอนด์ (รวมแอดออน) หลังจากมีโอกาสลงเป็นตัวจริงเกมพรีเมียร์ลีกแค่ 13 นัดให้กับอาร์เซนอลระหว่างปี 2012 ถึง 2020

ขอบคุณภาพ https://www.premierleague.com/news/1832188

ที่ตู้ล็อคเกอร์ มาร์ติเนซติดรายการเป้าหมายที่เขามีไว้พุ่งชน หนึ่งในลิสต์คือต้องเป็นผู้รักษาประตูที่เก่งที่สุดในโลก ซึ่งตอนนั้นดูเหมือนเป็นเป้าหมายที่เกินความจริงไปหน่อยสำหรับนายทวารที่ไม่เคยเป็นมือหนึ่งของต้นสังกัด แถมระหว่างอยู่ในสัญญากับอาร์เซนอล เขาถูกปล่อยยืมตัวให้หกสโมสรคือ ออกซ์ฟอร์ด, เชฟฟิลด์ เวนสเดย์, รอตเธอร์แฮม, วูลฟ์แฮมป์ตัน, เกตาเฟ และเรดดิง มีสถิติเล่นบอลลีกรวมกันเพียง 16 นัด

แต่นับจากเซ็นสัญญากับวิลลา มาร์ติเนซไม่เพียงได้สองรางวัลใหญ่ของผู้รักษาประตู แต่ยังมีเหรียญชนะเลิศโคปา อเมริกา และเวิลด์คัพ คล้องคอ

นีล คัทเลอร์ อดีตโค้ชผู้รักษาประตูที่ทำงานให้วิลลามายาวนาน เป็นคนหนึ่งที่เห็นพัฒนาการของมาร์ติเนซตลอดสองปีครึ่ง เขาเป็นคนชวนนายทวารอาร์เจนไตน์มาร่วมทีมเดอะ ไลออนส์ แห่งมิดแลนด์ส ก่อนกลายเป็นเพื่อนสนิทและนักจิตวิทยาอย่างไม่เป็นทางการให้มาร์ติเนซ

คัทเลอร์ให้สัมภาษณ์กับบีบีซี สปอร์ต ว่า “การเปลี่ยนตัวเองจากสถานภาพนายประตูตัวสำรองในพรีเมียร์ลีกมาชนะเลิศเวิลด์คัพภายในเวลาอันสั้นเป็นเส้นทางชีวิตที่ไม่เหมือนใครแน่นอน แต่ก็มีหลายเหตุผลที่ทำให้เอมิก้าวหน้าเร็วขนาดนี้ ซึ่งเริ่มจากความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าและการทำงานอย่างหนัก”

“ความตั้งใจที่ยอมทำทุกอย่างเพื่อให้ตัวเองไปถึงจุดที่ต้องการนั้น มันยิ่งใหญ่มาก เขามีความปรารถนาที่ชัดเจน ซึ่งล้วนเป็นคุณสมบัติที่ทำให้ผมพยายามอย่างมากเพื่อดึงเอมิมาที่วิลลา แต่อีกด้านหนึ่งได้สร้างปัญหาใหญ่มากแก่เขา เพราะบางครั้งเอมิก็ทำอะไรมากเกินไปซึ่งเกิดจากการขาดประสบการณ์ เขาเคยบาดเจ็บเนื่องจากฝึกซ้อมรับลูกโทษมากเกินไป”

ช่วงเวลาที่ดีที่สุดของมาร์ติเนซกับอาร์เซนอลคือชีวิตช่วงสุดท้ายที่เอมิเรตส์ สเตเดียม เป็นช่วงที่ไวรัสโควิดระบาดและนายประตูมือหนึ่ง เบิร์นด์ เลโน บาดเจ็บ เชาได้รับโอกาสลงตัวจริง 11 นัดติดต่อกันรวมทุกรายการ รวมถึงนัดชิงชนะเลิศ เอฟเอ คัพ เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2020 ซึ่งอาร์เซนอลชนะเชลซี 2-1

แต่หลังจากลงตัวจริงในคอมมูนิตี ชิลด์ เมื่อวันที่ 29 สิงหาคมปีเดียวกัน ซึ่งอาร์เซนอลชนะลิเวอร์พูลจากการดวลลูกโทษ อนาคตของมาร์ติเนซเริ่มไม่มั่นคงเพราะเลโนกลับมาและต้องการตำแหน่งมือหนึ่งหรือไม่ก็ย้ายทีม นั่นทำให้มาร์ติเนซเลือกเป็นฝ่ายไป ขณะที่คัทเลอร์จับตาดูสถานการณ์ใกล้ชิด

คัทเลอร์กล่าวถึงช่วงเวลานั้นว่า “เรามีรายชื่อผู้รักษาประตู ผม, โยฮัน แลงเก (ผู้อำนวยการด้านกีฬาของวิลลา) และแผนกคัดเลือก นัดประชุมกันบ่อยมาก โยฮันและทีมสเกาท์มุ่งไปที่สถิติอย่างคลีทชีนหรือเปอร์เซ็นต์การเซฟ ซึ่งชื่อเอมิอยู่ลำดับล่างๆของลิสต์เพราะลงเล่นน้อย เมื่อนำไปเทียบกับผู้รักษาประตูรายอื่นในยุโรปที่เราจับตามองอยู่”

“โชคดีที่พวกเขาเปิดรับแนวคิดของผม ซึ่งมองไปที่สไตล์การเล่นและรูปร่างสรีระ ถ้าเป็นเรื่องชีวกลศาสตร์ (bio-mechanics) นั้น เอมิจัดอยู่ระดับที่เยี่ยมมาก เขาถูกกาเครื่องหมายถูกทุกช่องเลย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะโน้มน้าวให้ฝ่ายบริหารจ่ายเงิน 18 ล้านปอนด์เพื่อซื้อนายประตูที่ไม่ค่อยได้ลงตัวจริง แต่ผมก็ทำสำเร็จ ผมถึงขนาดเอาพาวเวอร์พอยท์มาอธิบายให้พวกเขาฟังเลย ว่าเอมิจะนำอะไรมาให้ทีมบ้าง รวมถึงแคแร็กเตอร์ของเขา”

“จากนั้นเป็นงานที่ผมต้องขายสโมสรให้เอมิบ้าง ผมคุยกับเขาทางโทรศัพท์หลายครั้งเพื่อเล่าให้ฟังว่าผมทำอะไรทำอย่างไร และอะไรที่เราจะประสบความสำเร็จร่วมกันได้ เอมิรู้ดีว่าผมจะทำทุกอย่างเต็มที่เพื่อให้เขาดีขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่เขาต้องการเช่นกัน นี่เป็นจุดที่ทำให้เราเชื่อมต่อกัน จนกระทั่งเอมิรู้สึกได้แล้วว่า โอเค ผมจะย้ายไปวิลลา”

ด้านสว่างของนายทวารที่ถูกมองว่าไร้สปิริตนักกีฬา

คัทเลอร์ย้ายออกจากวิลลาในเดือนตุลาคมปีที่แล้วเมื่ออูไน เอเมรี ผู้จัดการทีมคนใหม่ ย้ายเข้ามาพร้อมสตาฟฟ์โค้ชส่วนตัว รวมถึงซาบี การ์เซีย ผู้ชำนาญการด้านผู้รักษาประตู ซึ่งเคยทำงานกับมาร์ติเนซมาแล้วที่อาร์เซนอล แต่สายใยระหว่างมาร์ติเนซกับคัทเลอร์ยังเหนียวแน่น นายทวารได้โพสต์ข้อความบนสื่อโซเชียลว่า คัทเลอร์เป็นโค้ชชาวอังกฤษที่ดีที่สุด หรือหลังจบพิธีมอบรางวัลเวิลด์คัพ 2022 เขาก็โทรศัพท์จากสนามลูเซลไปหาคัทเลอร์

“สิ่งแรกที่ผมสัมผัสได้จากเอมิหลังนัดชิงชนะเลิศครั้งนั้นคือความผ่อนคลาย ผมภูมิใจกับเขาอย่างที่สุดเพราะรู้ดีว่าทุกอย่างที่เขาทุ่มเทมาตลอดชีวิตก็เพื่อสิ่งนั้น”

“เอมิทุ่มเททุกสิ่งเพื่อได้ไปเล่นฟุตบอลและคว้าแชมป์ด้วย เขามีนักโภชนาการส่วนตัวเช่นเดียวกับนักโยคะและครูสอนพิลาติส (การออกกำลังกายรูปแบบหนึ่ง เน้นเสริมสร้างความแข็งแรงและเสริมความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ) ผมรู้มาว่าเขาออกไปว่ายน้ำกลางดึกเพื่อฟื้นฟูสภาพร่างกายให้พร้อมสำหรับการแข่งขันนัดต่อไป”

“งานของผมคือหาว่าอะไรจะช่วยให้เอมิเติบโต ดังนั้นผมจึงรู้ทุกอย่างเกี่ยวกับชีวิตนอกเหนือฟุตบอลของเขา เช่นเดียวกับรายละเอียดทั้งในและนอกสนามฝึกซ้อม คนอาจตำหนิเรื่องที่เขาทำระหว่างดวลจุดโทษกับฝรั่งเศสหรือตอนรับรางวัลถุงมือทองคำ แต่ผมมองเขาต่างจากคนอื่น จริงๆแล้วเอมิมีนิสัยเห็นอกเห็นใจคนอื่น เขาพร้อมทำทุกอย่างเพื่อช่วยเหลือคนรอบตัว ต้องการให้คนอื่นมีความสุข อย่างที่วิลลา เขามักจัดงานเลี้ยงบาร์บีคิว พยายามชวนเพื่อนนักฟุตบอลและครอบครัวมาอยู่ร่วมกัน เพราะนั่นเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเขา”

คัทเลอร์กล่าวถึงการกระทำที่เหมือนไม่มีน้ำใจนักกีฬาของมาร์ติเนซที่กาตาร์ว่า มันเป็นส่วนหนึ่งของเกมแพลน แต่เขามีส่วนผิดเช่นกันเพราะพวกเขาทำงานร่วมกันมานาน จึงทำให้เขาแสดงบุคลิกภาพและตัวตนอย่างนั้นออกไปในสถานการณ์เช่นนั้น

“แทนที่จะแสดงอารมณ์หงุดหงิดหรือหดหัวเข้าในกระดอง เราต้องการให้เขาแสดงถึงความมุ่งมั่นความเชื่อมั่น และล้อมรอบไปด้วยความเย่อหยิ่ง ซึ่งส่งผลต่อเกมหรือสถานการณ์นั้นๆในทางบวก”

“จากสถิติ มีความเป็นไปได้มากที่จุดโทษ คนยิงจะทำประตูได้ ดังนั้นประเด็นคือจะทำอย่างไรให้เขาหลุด ผมจำได้ครั้งแรกที่เราโฟกัสเรื่องไซโคคู่แข่งเป็นแมตช์วิลลากับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ในเดือนกันยายน 2021 บรูโน แฟร์นันเดส ยิงจุดโทษพลาดหลังจากเอมิเข้าไปพูดกับเขาว่า คริสเตียโน โรนัลโด น่าจะเป็นคนยิงนะ ผมรู้จักนักเตะดี ผู้เล่นอย่างแฟร์นันเดสนั้น เขาเป็นคนแบบทำให้ลมออกหูง่าย คุณรู้ดีว่าไม่ต้องใช้ความพยายามมากนักหรอก”

เส้นทางสุดทุรกันดารกว่าถึงวันรับมอบตำแหน่งมือหนึ่ง

“เอมิ” มีชื่อเต็มว่า ดาเมียน เอมิเลียโน มาร์ติเนซ เกิดวันที่ 2 กันยายน 1992 ที่เมือง Mar del Plata ประเทศอาร์เจนตินา เริ่มต้นเส้นทางนักฟุตบอลกับทีมเยาวชนของอินดีเพนเดียนเต ก่อนได้รับเทียบเชิญให้ไปทดสอบฝีเท้าที่อะคาเดมีของอาร์เซนอลหลังจากวันเกิดปีที่ 17 ไม่นานนัก ผลรับดีเกินคาด อาร์เซนอลเสนอสัญญานักเตะระดับเยาวชนให้เขา

สมัยเล่นให้ทีมอินดีเพนเดียนเต มาร์ติเนซมีฉายาว่า “ดิบู” (Dibu) ด้วยความที่มีลักษณะหน้าตาท่าทางคล้ายกับ “ดิบูโฮ” (Dibujo) จากหนังการ์ตูนทีวีในอาร์เจนตินาเรื่อง Mi familia es un dibujo และเขาก็ยินดีให้ทุกคนเรียกเขาด้วยชื่อเล่นนั้นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

มาร์ติเนซอยู่ในทีมเยาวชนอาร์เซนอลระหว่างปี 2010 – 2012 ก่อนถูกปล่อยตัวให้ออกซ์ฟอร์ด ยูไนเต็ด ทีมในลีกทู แบบกะทันหันเนื่องจากไรอัน คลาร์ก และเวย์น บราวน์ ได้รับบาดเจ็บ ขณะที่คอนเนอร์ ริปลีย์ หมดสัญญายืมตัว นายประตูวัย 22ปี (ขณะนั้น) มีโอกาสสัมผัสบอลลีกอังกฤษครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2012 เป็นแมตช์ปิดซีซันพบกับพอร์ทเวล ซึ่งเป็นฝ่ายชนะ 3-0

ต้นซีซันถัดมา 2012-13 มาร์ติเนซถูกใส่ชื่อเป็นตัวสำรองในเกมเยือนสโตค ซิตี เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2012 และพบลิเวอร์พูล เมื่อวันที่ 2 กันยายน จนกระทั่งวันที่ 26 กันยายน นายทวารอาร์เจนไตน์ได้โอกาสเล่นนัดแรกให้เดอะ กันเนอร์ส เป็นเกมลีกคัพ รอบสาม ซึ่งอาร์เซนอลถล่มโคเวนทรี ซิตี ทีมเยือน 6-1 และรอบต่อมา มาร์ติเนซได้เฝ้าประตูอีกครั้ง อาร์เซนอลเดินทางไปชนะเรดดิง 7-5

ฤดูกาล 2013-14 มาร์ติเนซถูกส่งให้เชฟฟิลด์ เวนสเดย์ ทีมในแชมเปียนชิพ ยืมตัวแบบฉุกเฉินนาน 28 วันเมื่อวันที่ 15ตุลาคม 2013 ก่อนมีการขยายสัญญาไปจนจบซีซัน ชีวิตช่วงที่เหลือ มาร์ติเนซต้องระหกระเหินไปเล่นให้ทีมในแชมเปียนชิพได้แก่ รอตเธอร์แฮม, วูลฟ์แฮมป์ตัน และเรดดิง ยกเว้นกับเกตาเฟที่อยู่ในลาลีกา สเปน ซีซัน 2017-18 ซึ่งมาร์ติเนซได้เล่นแค่ 7 นัดรวมทุกรายการ

หลังหมดสัญญายืมตัวกับเรดดิงในซีซัน 2018-19 มาร์ติเนซก็ได้ปักหลักกับทีมชุดใหญ่อาร์เซนอลเป็นครั้งแรกในซีซัน 2019-20 ซึ่งเขาได้ลงสนามมากถึง 23 นัดรวมทุกรายการ ก่อนย้ายไปเฝ้าประตูให้วิลลาในซีซัน 2020-21 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการแจ้งเกิดในอาชีพนักฟุตบอล

มาร์ติเนซเก็บคลีนชีท 4 นัดจาก 7 นัดแรกในพรีเมียร์ลีก ก่อนปิดซีซันแรกกับวิลลาด้วย 15 คลีนชีท โดยเดอะ ไลออนส์ จบด้วยอันดับ 11 มาร์ติเนซลงเฝ้าเสาทั้ง 38 นัด เสีย 46 ประตู ส่งผลให้เขาได้ลงตัวจริงให้ทีมอาร์เจนตินาเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2021 เป็นเกมรอบคัดเลือก ฟุตบอลโลก 2022 เสมอชิลี 1-1 ก่อนกลายเป็นผู้เล่นหลักของทีมนับจากนั้น รวมทั้งสิ้น 26 นัด ณ วันนัดชิงชนะเลิศเวิลด์คัพ

หนึ่งใน wishlist ที่ติดไว้กับตู้ล็อคเกอร์ที่วิลลาคือ การเล่นให้อาร์เจนตินา คัทเลอร์กล่าวว่า “ตอนมาถึงวิลลา เขาวางเป้าหมายไว้เยอะแยะ ทุกวันเมื่อเปิดตู้ เขาก็จะกาบางข้อออกไป รวมถึงการเป็นมือหนึ่งของทีมชาติ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเขามากที่ได้เล่นนัดแรกในเดือนมิถุนายน 2021”

“เขาเป็นคนประเภทขับเคลื่อนด้วยสถิติ ไม่ว่าจะเป็นการป้องกัน การตัดลูกครอส หรือการจ่ายบอลคอมพลีทของตัวเขาเอง เขาไม่เสียประตูมากที่สุดในโคปา อเมริกา 4 จาก 6 เกม”

“บางครั้งงานของผมก็เป็นแค่นักจิตวิทยา ต้องเข้าใจอารมณ์ของเขาหรือสิ่งที่เขากำลังคิด เขากระหายที่จะเก็บคลีทชีท เขาต้องการเซฟทุกอย่าง แม้กับสิ่งที่ไม่น่าเป็นไปได้ ดังนั้นอีกด้านหนึ่ง เขาต้องเรียนรู้การรับมือเมื่อไม่สมหวังหรือไม่ประสบความสำเร็จกับบางเรื่องด้วย”

แล้วอะไรคือเป้าหมายที่มาร์ติเนซวางไว้ในอนาคต โค้ชคู่บารมีตอบว่า “สิ่งที่ยิ่งใหญ่ในตัวเอมีคือ ความกระหาย และที่ผ่านมาเขาได้เล่นน้อย นั่นทำให้เขาเป็นนักฟุตบอลอายุ 30 ปีในร่างของคนอายุ 22 ปี เขาจึงยังทำอะไรได้อีกมาก และยังยืนอยู่บนจุดสูงสุดได้อีกหลายปี”

เรียบเรียง : ฐปน วันชูเพลา (Senior Football Writer) 

Categories
Special Content

บิลลี่ เมเรดิธ : ตำนานแข้งแมนฯ ซิตี้ ผู้มีเอี่ยวคดีแหกกฎการเงินยุคโบราณ

ข่าวใหญ่ที่สุดของวงการฟุตบอลอังกฤษเมื่อสัปดาห์ก่อน คือกรณีของแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ที่ถูกทางพรีเมียร์ลีก ตั้งข้อหาทำผิดกฎการเงินมากกว่า 100 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2009 – 2018 จากการสืบสวนที่ใช้เวลานานถึง4 ปี

พรีเมียร์ลีกกล่าวหาว่า ตลอด 9 ปีดังกล่าว แมนฯ ซิตี้ ไม่ได้ให้ข้อมูลการเงินที่ถูกต้อง, ไม่ปฎิบัติตามกฎไฟแนนเชียล แฟร์เพลย์ (FFP) ของยูฟ่า และไม่ให้ความร่วมมือกับลีกสูงสุดเมืองผู้ดีในการสอบสวนอีกด้วย

ซึ่งบทลงโทษที่แมนฯ ซิตี้ จะได้รับจากพรีเมียร์ลีก มีตั้งแต่ปรับเงิน, ตัดแต้ม, ริบแชมป์ หรือร้ายแรงที่สุด อาจถึงขึ้นถูกขับพ้นจากลีกอาชีพ แต่บทสรุปของคดีนี้ คงต้องใช้เวลาหลายเดือน หรือนานนับปีกว่าจะรู้ผล

ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2020 แมนฯ ซิตี้ เคยถูกยูฟ่าลงโทษ จากกรณีผิดกฎ FFP ทำให้พวกเขาถูกแบนจากถ้วยยุโรป 2 ฤดูกาล แต่ขอยื่นอุทธรณ์ต่อสู้คดี จนได้รับโทษเพียงแค่ปรับเงิน 10 ล้านยูโรเท่านั้น

แต่มีเหตุการณ์หนึ่งในอดีต ที่หลายคนอาจไม่รู้มาก่อน คือ “เรือใบสีฟ้า” เคยทำผิดกฎการเงินในโลกลูกหนังยุคเก่าแก่ เมื่อกว่า 100 ปีที่แล้ว เรื่องราวจะเป็นอย่างไร ติดตามได้ที่ ไข่มุกดำ x SoccerSuck

ต้นตำรับ “ปีกพ่อมดแห่งเวลส์”

หากพูดถึงนักเตะที่มีฉายาว่า “The Welsh Wizard” หรือปีกพ่อมดแห่งเวลส์ แฟนฟุตบอลส่วนใหญ่จะนึกถึงไรอัน กิกส์ ตำนานดาวเตะแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด แต่บิลลี่ เมเรดิธ คือแข้งคนแรกของโลกที่ได้ฉายานี้

เมเรดิธ เกิดที่ย่านแบล็ก พาร์ค ในประเทศเวลส์ อาชีพแรกในชีวิตของเขา คือการเป็นคนงานเหมืองถ่านหินในบ้านเกิด แต่มีความสนใจในกีฬาฟุตบอล จึงได้รวมตัวกับเพื่อนคนงาน เล่นฟุตบอลในเวลาว่าง

ซึ่งฝีเท้าของเมเรดิธ ก็ไปเข้าตาหลายสโมสรในอังกฤษ อีกทั้งคุณแม่อยากให้เป็นนักฟุตบอลอาชีพ แม้ตัวเขาไม่ปรารถนาที่จะอยู่ห่างจากครอบครัวก็ตาม และได้รับโอกาสเซ็นสัญญากับแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ในปี 1894

เมเรดิธ ลงสนามเป็นครั้งแรกให้กับแมนฯ ซิตี้ ในเกมบุกแพ้นิวคาสเซิล 4 – 5 ก่อนที่จะเริ่มฉายแววเก่งด้วยการยิง 2 ประตู ใส่นิวตัน ฮีธ (ปัจจุบันคือแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด) ในศึกดาร์บี้แมตช์ แต่ทีมของเขาแพ้คาบ้าน 2 – 5

ด้วยสไตล์การเล่นที่เน้นการใช้ความเร็วสูง และวิ่งกระชากลากเลื้อยตัดเข้าในกรอบเขตโทษ จึงเป็นที่ชื่นชอบของแฟนบอลซิตี้ ซีซั่นแรกของเมเรดิธ ทำผลงานได้น่าประทับใจ ลงสนามแค่ 18 นัด แต่ยิงไปถึง 12 ประตู

ตลอด 5 ฤดูกาลแรกที่อยู่กับแมนฯ ซิตี้ เมเรดิธ เป็นดาวซัลโวของสโมสรถึง 3 ฤดูกาล โดยเฉพาะฤดูกาล 1898/99 เจ้าตัวยิงได้ถึง 30 ประตู มีส่วนพาทีมเลื่อนชั้นสู่ลีกสูงสุดของอังกฤษเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

ช่วงเวลาที่เรือใบสีฟ้า โลดแล่นอยู่ในลีกสูงสุด เมเรดิธ และบิลลี่ กิลเลสพี ถูกยกให้เป็นดาวเด่นของทีม อย่างไรก็ตาม สโมสรตกชั้นกลับสู่ดิวิชั่น 2 ในฤดูกาล 1901/02 แต่ก็คว้าแชมป์ลีกรองได้ในฤดูกาลถัดมา

หลังเลื่อนชั้นกลับมาแค่ซีซั่นเดียว แมนฯ ซิตี้ สร้างความตื่นตะลึงเมื่อจบตำแหน่งรองแชมป์ดิวิชั่น 1 และคว้าแชมป์เอฟเอ คัพ เอาชนะโบลตัน วันเดอเรอร์ส ในนัดชิงชนะเลิศ 1 – 0 ซึ่งเมเรดิธ คือผู้ทำประตูชัยของเกมนี้

เงิน 10 ปอนด์ พาซวยครั้งใหญ่

ฟุตบอลดิวิชั่น 1 (เดิม) ฤดูกาล 1904/05 แมนเชสเตอร์ ซิตี้ เป็นหนึ่งในทีมที่มีลุ้นแชมป์ในนัดปิดซีซั่น แต่ท้ายที่สุดพวกเขาแพ้แอสตัน วิลล่า 2 – 3 ไม่เพียงแค่ชวดแชมป์เท่านั้น เพราะมีเรื่องฉาวโฉ่ตามมาด้วย

โดยหลังจบเกม อเล็กซ์ ลีค กัปตันทีมวิลล่า บอกว่า บิลลี่ เมเรดิธ จ้างวานให้ล้มบอลด้วยเงิน 10 ปอนด์ แม้ได้ต่อสู้คดีถึงที่สุด แต่เอฟเอก็สั่งแบนเมเรดิธ ห้ามลงเล่น 1 ซีซั่น ส่วนแมนฯ ซิตี้ ถูกปรับเงิน

คดีล้มบอลของเมเรดิธ เป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่คดีใหญ่ของแมนฯ ซิตี้ ในปี 1906 ทอม ฮินเดิล นักบัญชีที่ได้รับการว่าจ้างจากเอฟเอ ได้มาตรวจสอบการเงินที่น่าสงสัยของสโมสร และพบความผิดปกติจนได้

สาระสำคัญคือ แมนฯ ซิตี้ ได้มีการถ่ายเทเงินผ่านบัญชีลับ เพื่อหลีกเลี่ยงกฎการเงินของเอฟเอ ที่กำหนดไว้ว่า ห้ามไม่ให้บุคคลใดนำเงินเข้ามาสู่สโมสรด้วยวิธีที่ไม่ถูกต้อง ที่อาจจะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำกับทีมอื่นๆ

จากการสืบสวนของเอฟเอ พบว่า แมนฯ ซิตี้เจอข้อกล่าวหาติดสินบน กรณีได้แชมป์เอฟเอ คัพ ในฤดูกาล 1903/04 รวมทั้งการจ่ายเงินโบนัสให้กับนักเตะรวม 681 ปอนด์ ซึ่งเป็นจำนวนที่มากผิดปกติ

โดยในช่วงที่เมเรดิธชดใช้โทษแบน ได้รับค่าจ้างมากกว่าเพดานเงินเดือนสูงสุดอีก 50% จากเดิม 4 ปอนด์ เป็น 6 ปอนด์ แต่เจ้าตัวไม่เชื่อว่า มีนักเตะเพื่อนร่วมทีมคนอื่นๆ ได้รับค่าจ้างน้อยกว่าเขาแน่นอน

นอกจากนี้ เรือใบสีฟ้ายังถูกตรวจพบว่า มียอดเงินจำนวนมากเข้าไปในบัญชีส่วนตัวของผู้อำนวยการสโมสร ที่มีการกระจายไว้หลายบัญชี และมีการโยกย้ายเงินส่วนนี้ไปยังบัญชีของนักเตะในสโมสรด้วย

จากรายงานของเอฟเอ สรุปได้ว่า “ตอนนี้ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า สโมสรทำผิดกฎอย่างต่อเนื่องมาหลายปี ด้วยวิธีการที่ไม่ชอบมาพากลอย่างมาก” ซึ่งคำซัดทอดของเมเรดิธ ก็ได้นำไปสู่การลงโทษแมนฯ ซิตี้ในที่สุด

บทสรุปของคดีนี้ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ถูกลงโทษด้วยการปรับเงิน ขณะที่บอร์ดบริหาร สตาฟโค้ช รวมถึงเจ้าหน้าที่ของสโมสรที่เกี่ยวข้อง โดนแบนห้ามยุ่งเกี่ยวกับฟุตบอล และถูกบีบให้ออกจากสโมสร

ส่วนนักฟุตบอล 17 คนที่เกี่ยวข้องกับคดีทำผิดกฎการเงิน ถูกแบนยาว และไม่สามารถลงเล่นให้กับสโมสรได้อีกต่อไป บิลลี่ เมเรดิธ ได้ทิ้งผลงาน 147 ประตู จาก 338 นัด ให้แฟนบอลซิติเซนส์ได้จดจำ

สลับขั้วสู่ยูไนเต็ด และรีเทิร์นที่ซิตี้

หลังจากที่แมนเชสเตอร์ ซิตี้ เจอมรสุมคดีแหกกฎการเงิน บิลลี่ เมเรดิธ ก็ได้ย้ายสู่อีกฟากของเมือง ในการไปค้าแข้งให้กับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ทีมน้องใหม่ที่ได้เลื่อนชั้นขึ้นสู่ลีกสูงสุด ฤดูกาล 1906/07

ในช่วงครึ่งซีซั่นแรก เมเรดิธ และแซนดี้ เทิร์นบูลส์ อดีตนักเตะซิตี้อีกคนที่ย้ายมาด้วยกัน ยังอยู่ในช่วงชดใช้โทษแบน กระทั่งเข้าสู่ศักราชใหม่ ในปี 1907 ทั้งคู่ได้ลงสนามเป็นนัดแรก ในเกมที่พบกับแอสตัน วิลล่า

เมเรดิธ แอสซิสต์ให้เทิร์นบูลส์ ยิงประตูเดียวของเกม เฉือนเอาชนะวิลล่า 1 – 0 เปิดตัวกับสโมสรใหม่ได้อย่างสวยงามทั้งคู่ และกลายมาเป็นผู้เล่นกำลังสำคัญของปีศาจแดง ช่วยทีมจบในอันดับที่ 8 ของตาราง

ขณะที่สโมสรเก่าของเมเรดิธ หลังจากทีมแตกสลาย ผลงานก็ร่วงลงไปอย่างน่าใจหาย จากอันดับ 3 เมื่อ 1 ฤดูกาลก่อน มาอยู่อันดับ 17 แม้ในซีซั่นถัดมาจะขึ้นสูงในอันดับ 3 อีกครั้ง แต่ก็มีอันต้องตกชั้นในซีซั่น1908/09

ตลอดช่วงเวลาที่สวมเสื้อแมนฯ ยูไนเต็ด เมเรดิธ และเทิร์นบูลส์ คว้าแชมป์ลีกสูงสุด 2 สมัย และแชมป์เอฟเอ คัพ 1 สมัย ก่อนที่เทิร์นบูลส์ จะถูกแบนตลอดชีวิต จากคดีล้มบอลในเกมแดงเดือดกับลิเวอร์พูล เมื่อปี 1915

ส่วนเมเรดิธ ตัดสินใจย้ายกลับไปแมนฯ ซิตี้ เป็นคำรบสอง ในฤดูกาล 1921/22 แต่ไม่ประสบความสำเร็จเหมือนรอบแรก ทำได้แค่ 2 ประตู ตลอด 3 ปีที่ลงเล่น และประกาศแขวนสตั๊ดหลังจบซีซั่น 1923/24 ขณะอายุ 49 ปี

เมเรดิธ เสียชีวิตเมื่อ 19 เมษายน 1958 ด้วยวัย 83 ปี และหลังจากที่เขาเสียชีวิตไปหลายปี สโมสรแมนฯ ซิตี้, แมนฯ ยูไนเต็ด และสมาคมฟุตบอลเวลส์ ได้ร่วมกันทำป้ายสุสาน เพื่อระลึกถึงผลงานที่ยิ่งใหญ่ในวงการฟุตบอล

การที่แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ถูกพรีเมียร์ลีกตั้งข้อกล่าวหาละเมิดกฎการเงิน ถือเป็นเรื่องอื้อฉาวร้ายแรงที่สุดนับตั้งแต่ก่อตั้งสโมสร ซึ่งพวกเขาขอต่อสู้ด้วยพลังทั้งหมดที่มี เพื่อหวังหลุดพ้นจากวิบากกรรมในครั้งนี้ให้ได้

เรียบเรียง: จักรพันธ์ ภู่ทอง

อ้างอิง :

https://www.theguardian.com/football/2020/feb/26/manchester-city-falling-foul-of-ffp-in-1906-forgotten-story

https://playupliverpool.com/1906/06/01/the-billy-meredith-case/

– https://playupliverpool.com/1906/05/31/suspensions-of-manchester-city-players-and-officials/

https://www.manchestereveningnews.co.uk/news/nostalgia/billy-meredith-manchester-city-united-7409284

https://en.wikipedia.org/wiki/Billy_Meredith

Categories
Special Content

Game of Thrones สู้ด้วยคมดาบ สู่สงครามลูกหนังบนสนามหญ้า

นาน ๆ ครั้งที่จะมีสองทีมแข่งติดกัน ส่วนใหญ่เป็นเพราะบังเอิญเกมบอลถ้วยถูกจัดแทรกใกล้บอลลีก แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่สองทีมจะเตะพรีเมียร์ลีกแบบ back-to-back แถมยังเป็น rivalry match ระดับห้าดาวอย่าง The War of Roses ระหว่าง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และ ลีดส์ ยูไนเต็ด ถือได้ว่าเป็นไปได้ยากที่สุดแต่ก็เป็นไปแล้วเมื่อทั้งคู่แข่งขันที่โอลด์ แทรฟฟอร์ด ในวันพุธที่ 8 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ก่อนเจอกันอีกครั้งในวันอาทิตย์ที่ 12 กุมภาพันธ์ที่เอลแลนด์ โรด ซึ่งตั้งอยู่ห่างโรงละครแห่งความฝันประมาณ 64 กิโลเมตร

ตามคิวเตะแรกเริ่ม แมตช์ที่โอลด์ แทรฟฟอร์ด ต้องแข่งช่วงเดือนกันยายนปีที่แล้ว แต่ถูกเลื่อนออกไปเนื่องจากการสวรรคตของสมเด็จพระราชินี อลิซาเบธที่สอง และเนื่องจากแมนฯยูไนเต็ด ยังอยู่บนเส้นทางลุ้นแชมป์ทั้งสี่รายการ พรีเมียร์ลีกจึงพยายามให้ทั้งคู่แข่งด้วยกันเร็วที่สุดเมื่อเข้าสู่ครึ่งหลังของซีซัน 2022-23 

เดือนกุมภาพันธ์ 2023 แมนฯยูไนเต็ดต้องเล่นรอบ 16 ทีมสุดท้าย ยูโรปา ลีก กับบาร์เซโลนา มิดวีคสองสัปดาห์ติดกัน คั่นกลางด้วยบอลลีกกับเลสเตอร์ และต่อด้วยนัดชิงชนะเลิศคาราบาว คัพ กับนิวคาสเซิลในวันอาทิตย์ที่ 26 กุมภาพันธ์ ซึ่งทำให้เกมกับเบรนท์ฟอร์ดถูกเลื่อนออกไป ทีมปีศาจแดงยังต้องเตะรอบ 5 เอฟเอ คัพ กับเวสต์แฮมในวันที่ 1 มีนาคมอีก แมนฯยูไนเต็ดจึงเหลือคิวว่างเดียวกลางสัปดาห์ให้พรีเมียร์ลีกใส่โปรแกรมที่เลื่อนมาจากปีที่แล้ว ซึ่งเกมยังสนุกเข้มขัน ลีดส์ออกนำ 2-0 ก่อนเจ้าบ้านไล่ทันและยังเหลือเวลาร่วมยี่สิบนาทีให้ทั้งสองคลำเป้าหาประตูชัย แต่เกมลงเอยที่ผลเสมอ 2-2 

ก่อนแมตช์สองที่เอลแลนด์ โรด สงครามกุหลาบเกิดขึ้น 112 ครั้งรวมทุกรายการ แมนฯยูไนเต็ดชนะ 49 นัด ลีดส์ชนะ 26นัด และเสมอกัน 37 นัด แต่ถ้าเฉพาะเกมลีก แมนฯยูไนเต็ดชนะ 40 นัด ลีดส์ชนะ 23 นัด และเสมอ 34 นัด โดยลีกคัพ แมนฯยูไนเต็ดชนะทั้ง 5 นัดที่เจอกัน ส่วนเอฟเอ คัพ แมนฯยูไนเต็ดชนะ 4 นัด ลีดส์ชนะ 3 นัด และเสมอ 3 นัด

สามแมตช์ความทรงจำ “สงครามกุหลาบ”

ต้นเดือนกุมภาพันธ์เพื่อพรีวิวสงครามกุหลาบ สื่อฟุตบอลดัง 90min ได้จัดสามเกมแห่งความทรงจำระหว่างแมนฯยูไนเต็ดและลีดส์เอาไว้ ซึ่งเป็นการดวลสตั๊ดช่วงหลังที่แฟนบอลส่วนใหญ่ยังพอเชื่อมโยงกับการติดตามกีฬาลูกหนังได้

1998: แมนฯยูไนเต็ด 3 ลีดส์ 2

เป็นฤดูกาลที่แมนฯยูไนเต็ดทำทริปเปิลแชมป์ ซึ่งมีโมเมนต์ให้น่าจดจำมากมาย รวมถึงแมตช์หนึ่งที่หลายคนอาจลืมไปแล้วช่วงต้นซีซัน 1998-99 คือเฉือนชนะคู่อริเก่าแก่ในบ้าน เป็นเกมที่สองฝ่ายเปิดเกมบุกมอบความบันเทิงให้ผู้ชมทั้งในสนามและทางบ้าน เกมน่าจะลงเอยด้วยผลเสมอจกระทั่งนิคกี บัตต์ ส่งกองเชียร์ทีมเยือนกลับบ้านด้วยความผิดหวัง

2002: แมนฯยูไนเต็ด 4 ลีดส์ 3

ลีดส์เป็นทีมหนึ่งที่สร้างผลงานได้โดดเด่นขณะเปลี่ยนผ่านศตวรรษใหม่ ส่วนแมนฯยูไนเต็ดก็ครองความยิ่งใหญ่ภายใต้การกุมบังเหียนของเซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ทั้งสองเตะกันอย่างดุเดือดที่โอลด์ แทรฟฟอร์ด สกอร์ยันกันที่ 3-3 ก่อนโอเล กุนนาร์ โซลส์ชาร์ จะทำประตูชัยให้ทีมปีศาจแดง

2010: แมนฯยูไนเต็ด 0 ลีดส์ 1

ลีดส์เริ่มเจอวิกฤติการเงินราวปี 2001 แถมรายได้หดหายเพราะไม่ได้เล่นแชมเปียนส์ ลีก สองปี ถึงขนาดยอมขายริโอ เฟอร์ดินานด์ ให้แมนฯยูไนเต็ดในราคาเฉียด 30 ล้านปอนด์ ปัญหานอกสนามส่งผลต่อฟอร์มในสนามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ลีดส์ลงไปอยู่แชมเปียนชิพ ซีซัน 2004-05 และลีกวัน ซีซัน 2007-08 ก่อนกลับมาเล่นลีกสูงสุดในซีซัน 2020-21 

เดือนมกราคม 2010 ลีดส์ ซึ่งเล่นอยู่ในลีกวันและได้แชมป์ซีซันนั้น ถูกจับสลากไปเยือนโอลด์ แทรฟฟอร์ด รอบสาม เอฟเอ คัพ แต่ลีดส์ล้มยักษ์ด้วยประตูเดียวของเยอร์เมน เบคฟอร์ด เป็นครั้งแรกที่เซอร์เฟอร์กูสันแพ้ทีมต่ำลีกกว่าในบอลถ้วยเก่าแก่รายการนี้ แต่แมนฯยูไนเต็ด ยังจบซีซัน 2009-10 ด้วยแชมป์ลีกคัพและรองแชมป์พรีเมียร์ลีก

สงครามกุหลาบยังเกี่ยวข้องกับสองพี่น้องตำนานทีมชาติอังกฤษ แจ็คกีและบ็อบบี ชาร์ลตัน ซึ่งอายุต่างกันสองปี แจ็คกีเป็นวันแมนคลับ เล่นให้ลีดส์ทีมเดียวระหว่างปี 1952 ถึง 1973 บ็อบบีเล่นให้แมนฯยูไนเต็ดระหว่างปี 1956 ถึง 1973 ก่อนย้ายไปเพรสตัน นอร์ธ เอนด์ และทีมอื่น ๆ 

พี่น้องชาร์ลตันเป็นนักเตะที่เล่นเกม Pennines derby มากที่สุดของสองสโมสร แจ็คกี 27 นัดรวมทุกรายการเท่ากับพอล เรียนีย์ ซึ่งอยู่กับลีดส์ระหว่างปี 1962 ถึง 1978 ส่วนบ็อบบีลงสนาม 29 นัดรวมทุกรายการ และยังทำสกอร์ได้มากที่สุดคือ 9ประตู ส่วนเจ้าของสถิติสูงสุดฝั่งลีดส์ได้แก่ มิค โจนส์ 7 ประตู

สำหรับสถิติน่าสนใจอื่น ๆ ของสงครามกุหลาบ

พบกันครั้งแรก: 20 มกราคม 1923 ฟุตบอลดิวิชั่นสอง (หรือแชมเปียนชิพในปัจจุบัน) เจ้าบ้าน แมนฯยูไนเต็ดเสมอลีดส์ 0-0 

ชนะมากที่สุดรวมทุกรายการ: ลีดส์ชนะแมนฯยูไนเต็ด 5-0 ฟุตบอลดิวิชั่นหนึ่ง ที่เอลแลนด์ โรด เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 1930 และแมนฯยูไนเต็ดชนะลีดส์ 6-0 ฟุตบอลดิวิชั่นหนึ่ง ที่โอลด์ แทรฟฟอร์ด เมื่อวันที่ 9 กันยายน 1959

คนดูในสนามมากที่สุด: ที่เอลแลนด์ โรด 52,368 คน ลีดส์แพ้แมนฯยูไนเต็ด 0-1 เมื่อวันที่ 17 เมษายน 1965 และที่โอลด์ แทรฟฟอร์ด 74,526 คน แมนฯยูไนเต็ด แพ้ลีดส์ 0-1 เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2010

คนดูในสนามน้อยที่สุด: ที่เอลแลนด์ โรด 10,596 คน ลีดส์ชนะแมนฯยูไนเต็ด 3-1 เมื่อวันที่ 26 เมษายน 1930 และที่โอลด์ แทรฟฟอร์ด 9,512 คน แมนฯยูไนเต็ดแพ้ลีดส์ 2-5 เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 1931

ทำประตูมากที่สุดในหนึ่งนัด (3 ประตู): มิค โจนส์ (ลีดส์) วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 1972, สแตน เพียร์สัน (แมนฯยูไนเต็ด) วันที่ 27 มกราคม 1951, เดนนิส ไวโอลเลต (แมนฯยูไนเต็ด) วันที่ 21 มีนาคม 1959, แอนดี ริทชี (แมนฯยูไนเต็ด) วันที่ 24 มีนาคม 1979, บรูโน แฟร์นานเดส (แมนฯยูไนเต็ด) วันที่ 14 สิงหาคม 2021

การย้ายทีมระหว่างคู่อริตะวันตกเฉียงเหนือ

เป็นที่รู้กันดีว่าแฟนบอลจะไม่พอใจมาก ๆ ถ้านักเตะย้ายไปเล่นให้ทีมคู่อริโดยเฉพาะย้ายแบบตรง ๆ ไม่แวะเล่นให้ทีมอื่นก่อน ตัวอย่างช่วงตลาดซัมเมอร์ปีที่แล้ว คัลวิน ฟิลลิปส์ มิดฟิลด์ตัวรับทีมชาติอังกฤษของลีดส์ ซึ่งเป็นเป้าหมายหนึ่งที่แมนฯยูไนเต็ดต้องการเอาไปแก้ปัญหากองกลาง แต่สื่อมองว่าเป็นไปได้ยากเพราะฟิลลิปส์ไม่ใช่เป็นนักเตะในทีมลีดส์ แต่ยังเกิดในเมืองลีดส์ และพัฒนาฝีเท้ากับอะคาเดมีของลีดส์ (2010-2014) ก่อนเล่นให้ทีมชุดใหญ่ครั้งแรกในปี 2015 และในที่สุด ฟิลลิปส์ก็เซ็นสัญญากับแมนฯซิตีด้วยค่าตัว 49 ล้านยูโร

บางคนอาจสงสัยว่า ทำไมลีดส์ไม่เป็นคู่อริกับแมนฯซิตี เพื่อนบ้านของแมนฯยูไนเต็ด ซึ่งมีคำตอบจากฝั่งแฟนบอลลีดส์ว่า “ศัตรูของศัตรูคือมิตร” และอีกอย่างสีเสื้อของแมนฯยูไนเต็ดเป็นปัจจัยที่สร้างประวัติศาสตร์สงครามกุหลาบขึ้นมา

อลัน สมิธ เป็นกรณีศึกษาที่ชัดเจน เขาเกิดในรอธเวลล์ เมืองทางตะวันออกเฉียงใต้ของซิตี ออฟ ลีดส์ เติบโตจากอะคาเดมีของลีดส์ และเล่นทีมชุดใหญ่ในปี 1998 แถมเปิดตัวได้แจ๋วในวัยเพียง 18 ปี สามารถทำประตูลิเวอร์พูลได้ด้วย สมิธจบซีซันแรกด้วย 9 ประตูจาก 26 นัดรวมทุกรายการ

ปี 2002 นักข่าวถามสมิธว่าถ้ามีสักสโมสรที่ไม่คิดอยากเล่นให้บ้างไหม เขาตอบว่า “มีซิ แมนฯยูไนเต็ด ไงล่ะ” และกระทั่งลีดส์ตกพรีเมียร์ลีกในปี 2004 สมิธยังให้สัมภาษณ์ว่าเขาจะลงเล่นแชมเปียนชิพเพื่อกอบกู้สโมสรขึ้นมาใหม่ แต่ไม่กี่สัปดาห์ต่อมา สมิธเซ็นสัญญาย้ายไปสวมยูนิฟอร์มปีศาจแดง ทำให้แฟนบอลโกรธมากเหมือนถูกนักเตะขวัญใจทรยศ

จากข้อมูลที่ถูกบันทึกไว้ นักเตะลีดส์ที่ย้ายไปอยู่โอลด์ แทรฟฟอร์ด โดยตรงมีจำนวน 6 คน เริ่มจากโจ จอร์แดน วันที่ 4มกราคม 1978 ค่าตัว 350,000 ปอนด์ ตามด้วยกอร์ดอน แม็คควีน วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 1978 ค่าตัว 500,000 ปอนด์, อาร์เธอร์ เกรแฮม วันที่ 1 สิงหาคม 1983 ค่าตัว 65,000 ปอนด์, เอริค คันโตนา วันที่ 12 พฤศจิกายน 1992 ค่าตัว 1.2 ล้านปอนด์, ริโอ เฟอร์ดินานด์ วันที่ 22 กรกฎาคม 2002 ค่าตัว 29.1 ล้านปอนด์ และอลัน สมิธ วันที่ 26 พฤษภาคม 2004 ค่าตัว 7 ล้านปอนด์

ส่วนที่ย้ายจากแมนฯยูไนเต็ดไปอยู่เอลแลนด์ โรด มีจำนวน 10 คน คนแรกคือ เฟรดดี กู้ดวิน วันที่ 16 มีนาคม 1960 ค่าตัว 10,000 ปอนด์ ตามด้วยจอห์นนี กิลส์ วันที่ 1 สิงหาคม 1963 ค่าตัว 33,000 ปอนด์, ไบรอัน กรีนฮอฟฟ์ วันที่ 1 สิงหาคม 1979 ค่าตัว 350,000 ปอนด์, กอร์ดอน สตรัคคัน วันที่ 2 มีนาคม 1989 ค่าตัว 300,000 ปอนด์, ลี ชาร์ป วันที่ 14 สิงหาคม 1996 ค่าตัว 4.5 ล้านปอนด์, แดนนี พัคห์ วันที่ 27 พฤษภาคม 2004 เป็นส่วนในดีลของอลัน สมิธ, เลียม มิลเลอร์ วันที่ 4พฤศจิกายน 2005 ยืมตัว, สกอตต์ วูตตัน วันที่ 21 กันยายน 2013 ไม่เปิดเผยข้อมูล, แคเมรอน บอร์ธวิก-แจ็คสัน วันที่ 7สิงหาคม 2017 ยืมตัว และดาเนียล เจมส์ วันที่ 31 สิงหาคม 2021 ค่าตัว 25 ล้านปอนด์

ลีดส์หวังซื้อเออร์วิน แต่กลับเสียคันโตนา

มีนักเตะคนหนึ่งที่น่าพูดถึงแม้ไม่ได้อยู่ในลิสต์ 16 คนแต่เคยเล่นทั้งลีดส์และแมนฯยูไนเต็ดเพียงไม่ได้ย้ายทีมโดยตรง แถมเป็นผู้เล่นที่ประสบสำเร็จสูง ได้รับการยกย่องในฝีเท้า เขาคือ เดนิส เออร์วิน ซึ่งว่ากันว่าเป็นหนึ่งในฟูลแบ็คยอดเยี่ยมตลอดกาลของพรีเมียร์ลีก แต่ขณะเดียวกัน เขาถูกประเมินค่าต่ำกว่าความเป็นจริงมาก 

เออร์วินเคยอยู่ในทีมเยาวชนของลีดส์เมื่อปี 1983 และขึ้นชุดใหญ่ปีเดียวกัน เล่นให้ลีดส์ 72 นัดในบอลดิวิชันสอง ก่อนย้ายไปอยู่โอลด์แฮมแบบฟรีค่าตัวในปี 1986 เขาช่วยทีมเข้าถึงรอบชิงชนะเลิศลีกคัพปี 1990 แต่แพ้ฟอเรสต์ 0-1 ซึ่งปีเดียวกัน แมนฯยูไนเต็ดซื้อแบ็คชาวไอริชด้วยรคา 625,000 ปอนด์

เออร์วินเป็นนักเตะปีศาจแดง 12 ปี ลงเล่นพรีเมียร์ลีก 296 นัด คว้าแชมป์ 7 สมัย, แชมป์เอฟเอ คัพ 2 สมัย, แชมป์ลีก คัพ 1 สมัย และแชมป์แชมเปียนส์ลีก ปี 1999 ลีดส์เคยพยายามซื้อตัวเออร์วินกลับถิ่นประมาณปลายปี 1992 แต่การเจรจาครั้งนั้นนำไปสู่การที่แมนฯยูไนเต็ดได้เพชรเม็ดงามจากเอลแลนด์ โรด เขาคือ เอริค คันโตนา

คันโตนาย้ายถิ่นฐานมาอยู่พรีเมียร์ลีกหลังประสบปัญหาวุ่นวายในฝรั่งเศส ก่อนพบบ้านใหม่ที่ลีดส์หลังทดสอบฝีเท้ากับเชฟฟิลด์ เวนสเดย์ เขาครองแชมป์ดิวิชันหนึ่งกับลีดส์ในซีซัน 1991-92 แต่กลับไม่สามารถแย่งตำแหน่งตัวจริง นั่นเปิดโอกาสให้เซอร์เฟอร์กูสันคว้าตัวไป

มีเรื่องเล่าวว่า ลีดส์อยากซื้อเออร์วินและถูกปฏิเสธ แต่ตอนนั้น เซอร์เฟอร์กูสันต้องการกองหน้าตัวใหม่ ข้อเสนอซื้อตัวเดวิด เฮิร์สต์, แมทท์ เลอ ทิสซิเยร์ และไบรอัน ดีน โดนปฏิเสธ การติดต่อกับลีดส์ทำให้ยอดกุนซือชาวสกอตต์เห็นโอกาสเซ็นสัญญากับคันโตนา เรื่องราวจากนั้นถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์เรียบร้อย

แม้คันโตนาอยู่กับแมนฯยูไนเต็ดไม่ถึงห้าปีเพราะตัดสินใจแขวนสตั๊ดหลังจบซีซัน 1996-97 แต่มีส่วนในความสำเร็จ แชมป์พรีเมียร์ลีก 4 สมัย และแชมป์เอฟเอ คัพ 2 สมัย แต่ที่สำคัญเป็นรากฐานสำคัญที่สร้างให้แมนฯยูไนเต็ดครองความยิ่งใหญ่นานถึงสองทศวรรษโดยสโมสรจ่ายเงินซื้อตัวจากลีดส์แค่ 1.2 ล้านปอนด์

Game of Thrones จุดเริ่มต้นของสงครามกุหลาบ

ประวัติศาสตร์ความเป็นคู่อริของลีดส์กับแมนฯยูไนเต็ด ต้องย้อนกลับไปไกลถึงกลางศตวรรษที่ 1500 เมื่อราชวงศ์แลงคัสเตอร์กับราชวงศ์ยอร์คสู้รบเพื่อแย่งความเป็นใหญ่ในอังกฤษ ทั้งสองต่างอ้างสิทธิ์ครองบัลลังก์เนื่องจากต่างสืบเชื้อสายมาจากพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 ที่ปกครองอังกฤษช่วงปี 1327 ถึง 1377

ราชวงศ์แลงคัสเตอร์มีสัญลักษณ์เป็นกุหลาบแดง ส่วนราชวงศ์ยอร์คมีสัญลักษณ์เป็นกุหลาบขาว สงครามชิงบัลลังก์ครั้งนั้นจึงถูกเรียกขานว่า The War of Roses และต้องเพิ่มข้อมูลด้วยว่า แมนเชสเตอร์เป็นดินแดนส่วนหนึ่งในแลงคัสเชียร์ แมนฯยูไนเต็ดใช้สีแดงเป็นสัญลักษณ์ ส่วนลีดส์ใช้สีขาวและอยู่ในยอร์คเชียร์

หลังหมดยุคสงครามที่ใช้ดาบและหอก การต่อสู้ระหว่างแมนเชสเตอร์กับลีดส์ยังดำเนินต่อไปในช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรมของอังกฤษ ทั้งสองเมืองใหญ่อยู่ใกล้กันและเป็นคู่แข่งกันโดยตรงเพื่อสร้างเสริมความมั่งคั่งของภูมิภาค บ่อยครั้งที่ความสำเร็จของเมืองหนึ่งหมายถึงความล้มเหลวของอีกเมือง

ในส่วนของฟุตบอล ถึงแม้สองสโมสรจะแข่งขันครั้งแรกเมื่อต้นปี 1923 ในดิวิชันสอง แต่สงครามบนสนามหญ้าจริง ๆ น่าจะเกิดขึ้นในอารมณ์แฟนบอลตอนที่มีผู้จัดการทีมชื่อ แมทท์ บัสบี และ ดอน เรวี

ทศวรรษที่ 1960 แมนฯยูไนเต็ดและลีดส์ถูกสร้างทีมโดยสุดยอดผู้จัดการทีม สองฝ่ายห่ำหั่นกันดุเดือดราวกับทำสงครามเมื่อเจอกัน หนึ่งในตำนานคือรอบรองชนะเลิศ เอฟเอ คัพ ปี 1965 เมื่อเกิดเหตุวิวาทระหว่างสองดาวดัง เดนิส ลอว์ และแจ็คกี ชาร์ลตัน ซึ่งหนังสือพิมพ์ยอร์คเชียร์ตีข่าวว่า “ทั้งสองฝ่ายทำตัวเหมือนสุนัขตะคอกและคำรามใส่กันเพื่อแย่งกระดูก”

ลีดส์ชนะสงครามกุหลาบนัดรีเพลย์ก่อนไปแพ้ลิเวอร์พูลในนัดชิงชนะเลิศ ขณะที่แมนฯยูไนเต็ดครองแชมป์ดิวิชั่นหนึ่งด้วยการเฉือนลีดส์เพียงผลต่างประตู

สงครามกุหลาบยังดำเนินต่อไป ทั้งสองทีมยังใส่กันเกินร้อยทุกครั้งที่พบกัน ไม่ว่าทศวรรษที่ 1970 ซึ่งลีดส์เป็นทีมชั้นนำของอังกฤษ แมนฯยูไนเต็ดได้ลุ้นเพียงบอลถ้วย หรือทศวรรษ 2000 ที่แมนฯยูไนเต็ดครองความยิ่งใหญ่ ลีดส์เจอวิกฤติการเงินและร่วงลงไปถึงเทียร์สาม

เรียบเรียง : ฐปน วันชูเพลา (Senior Football Writer) 

Categories
Football Business

ตลาดนักเตะพรีเมียร์ลีกหน้าหนาว 2023 ที่จ่ายหนักสุดในประวัติศาสตร์

การซื้อขายแลกเปลี่ยนนักฟุตบอลระหว่างสโมสร ถือเป็นกลยุทธ์สำคัญในการเปลี่ยนแปลงทีมให้มีผลงานที่ดีขึ้น และเป็นสิ่งที่แฟนฟุตบอลทั่วโลกจับตามอง ซึ่งระบบการซื้อขายผู้เล่น ก็เปลี่ยนไปตามยุคสมัย

ฤดูกาล 2022/23 ถือเป็นวาระคอบรอบ 20 ปี “Transfer Window” หรือตลาดซื้อขายนักเตะแบบ 2 ช่วง คือฤดูร้อน (เดือนกรกฎาคม-สิงหาคม) และฤดูหนาว (เดือนมกราคม ปีถัดไป) ที่ใช้กันในปัจจุบัน

เมื่อมาดูตลาดนักเตะวินเทอร์ของพรีเมียร์ลีก ปี 2023 ซึ่งปิดทำการไปเป็นที่เรียบร้อยเมื่อวันที่ 31มกราคมที่ผ่านมา สโมสรในลีกสูงสุดอังกฤษเกือบทุกสโมสร ได้มีการเสริมผู้เล่นใหม่ในรอบนี้อย่างคึกคัก

แม้ว่าตลาดนักเตะหน้าหนาว จะเปิดทำการแค่ 31 วัน แต่จำนวนเงินในการซื้อขายในตลาดนักเตะรอบนี้ สโมสรในพรีเมียร์ลีก อังกฤษ ใช้จ่ายรวมกันสูงถึง 815 ล้านปอนด์ มากที่สุดเป็นประวัติการณ์

ตลาดนักเตะทั้ง 2 รอบ ของซีซั่นนี้ มียอดการใช้จ่ายรวมประมาณ 2.8 พันล้านปอนด์ ซึ่งเป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับยอดรวมตลอด 20 ปี ในการซื้อขายเฉพาะเดือนมกราคม ที่มีเกือบ 3 พันล้านปอนด์

สุดยอดบิ๊กดีลฤดูหนาว ที่รอพิสูจน์ความคุ้มค่า

เชลซี สร้างความฮือฮาในตลาดนักเตะหน้าหนาวปีนี้ ด้วยการเซ็นสัญญาเอ็นโช่ เฟอร์นานเดซ จากเบนฟิก้า ด้วยค่าตัว 105 ล้านปอนด์ แพงที่สุดในประวัติศาสตร์ของสโมสร และวงการฟุตบอลอังกฤษ

เอ็นโซ่ เฟร์นานเดซ
ขอบคุณภาพ https://web.facebook.com/ChelseaFC

ก่อนหน้านี้เมื่อต้นเดือนที่แล้ว “สิงห์บลูส์” ได้ทุ่มเงินมหาศาลเพื่อคว้าตัวไคโล มูดริค กองหน้าดาวรุ่งยูเครนวัย 22 ปี ค่าตัวเบื้องต้น 62 ล้านปอนด์ บวกแอดออนอีก 27 ล้านปอนด์ รวม 89 ล้านปอนด์

นิวคาสเซิล เสริมความแกร่งด้วยแอนโธนี่ กอร์ดอน ปีกดาวรุ่งชาวอังกฤษวัย 21 ปี จากเอฟเวอร์ตัน ที่อาจมีค่าตัวสูงถึง 45 ล้านปอนด์ เพื่อหวังลุ้นโควตาไปยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก เป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี

ลิเวอร์พูล ที่ผลงานตกลงไปอย่างไม่น่าเชื่อในซีซั่นนี้ ตกลงเซ็นสัญญากับโคดี้ กักโป กองหน้าทีมชาติเนเธอร์แลนด์ ชุดฟุตบอลโลก ครั้งล่าสุด จากพีเอสวี ไอนด์โฮเฟ่น ด้วยค่าตัวราว 44 ล้านปอนด์

อาร์เซน่อล ดึงตัวเลอันโดร ทรอสซาร์ กองหน้าทีมชาติเบลเยียมจากไบรท์ตัน ด้วยค่าตัว 21 ล้านปอนด์ พร้อมกับยาคุบ กีเวียร์ เซ็นเตอร์แบ็กโปแลนด์ จากสเปเซีย ในอิตาลี ค่าตัว 17.6 ล้านปอนด์

ขอบคุณภาพ https://web.facebook.com/Arsenal

ส่วนทีมครึ่งล่างของตาราง ก็เสริมหนักไม่แพ้กัน อย่างเช่นลีดส์ ยูไนเต็ด ที่ดึงตัวจอร์จินิโอ รัทเทอร์ กองหน้าชาวฝรั่งเศสวัย 20 ปี จากฮอฟเฟ่นไฮม์ ด้วยค่าตัว 36 ล้านปอนด์ เป็นสถิติของสโมสร

บอร์นมัธ ดึงตัวดังโก้ อูอาตตารา กองหน้าบูร์กินาฟาโซจากลอริยองต์ ค่าตัวราว 20 ล้านปอนด์ ส่วนทางด้านเลสเตอร์ ซิตี้ จ่ายเงิน 17 ล้านปอนด์ ให้กับวิคตอร์ คริสเตียนเซ่น แบ็กซ้ายเดนมาร์ก จากโคเปนเฮเกน

เวสต์แฮม ยูไนเต็ด ซื้อแดนนี่ อิงส์ กองหน้าชาวอังกฤษจากแอสตัน วิลล่า ค่าตัว 15 ล้านปอนด์ และในขณะเดียวกัน วิลล่าก็ดึงตัวจอน ดูแรน กองหน้าดาวรุ่งโคลอมเบียจากชิคาโก ไฟร์ ค่าตัว 18 ล้านปอนด์

รวมดีลในวันเดดไลน์ ที่วุ่นวายไม่ต่างจากอดีต

ถ้านับเฉพาะการซื้อขายที่เกิดขึ้นในวันสุดท้ายของตลาดนักเตะรอบนี้ คือวันที่ 31 มกราคม 2023 จะพบว่ามีดีลที่น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว โดยมี 19 จาก 20 สโมสรพรีเมียร์ลีก ที่มีการปิดดีลในวันตลาดวาย

ดีลของเอ็นโช่ เฟอร์นานเดซ กองกลางดาวรุ่งวัย 22 ปี ของทีมชาติอาร์เจนติน่า ชุดแชมป์ฟุตบอลโลก 2022 ที่ย้ายจากเบนฟิกา ไปเชลซี คือหนึ่งในดีลที่เกิดขึ้นในวันสุดท้ายของตลาดนักเตะเดือนมกราคมปีนี้

อีกดีลที่เซอร์ไพรส์ไม่แพ้กัน คือแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ที่ตัดสินใจปล่อยเจา กานเซโล่ ไปให้บาเยิร์น มิวนิค ด้วยสัญญายืมตัวจนจบฤดูกาลนี้ ก่อนที่จะย้ายมาร่วมทีมอย่างถาวรในซัมเมอร์นี้ ค่าตัว 61 ล้านปอนด์

อาร์เซน่อล เสริมความแข็งแกร่งด้วยการซื้อจอร์จินโญ่ มิดฟิลด์อิตาลีจากเชลซี ค่าตัว 12 ล้านปอนด์ ในขณะที่แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ขอยืมตัวมาร์เซล ซาบิตเซอร์ กองกลางชาวออสเตรียจากบาเยิร์น มิวนิค

ท็อตแน่ม ฮอทสเปอร์ ประกาศเซ็นสัญญากับเปโดร ปอร์โร่ ฟูลแบ็กจากสปอร์ติ้ง ลิสบอน ด้วยสัญญายืมตัวจนจบฤดูกาลนี้ และมีออพชั่นซื้อขาดที่ 40 ล้านปอนด์ หวังช่วยทีมลุ้นท็อปโฟร์ในครึ่งซีซั่นหลัง

น็อตติ้งแฮม ฟอเรสต์ ยังเสริมต่อเนื่อง โดยคว้าตัวเฟลิเป้ กองหลังชาวบราซิลจากแอตเลติโก้ มาดริด, จอนโจ เชลวีย์ กองกลางจากนิวคาสเซิล รวมทั้งยืมตัวเคเลอร์ นาบาส ผู้รักษาประตูจากปารีส แซงต์-แชร์กแมง

เลสเตอร์ ซิตี้ ได้ดึงตัวแฮร์รี่ ซัตตาร์ กองหลังจากสโตค ซิตี้ ด้วยค่าตัวประมาณ 20 ล้านปอนด์ และคริสตัล พาเลซ ที่คว้าตัวนาอูอิรู อาฮามาด้า มิดฟิลด์ดาวรุ่งทีมชาติฝรั่งเศสจากสตุ๊ดการ์ท ค่าตัว 11 ล้านปอนด์

บอร์นมัธ เซ็นสัญญากับอิลเลีย ซาบาร์นยี่ เซ็นเตอร์แบ็กทีมชาติยูเครน ด้วยค่าตัว 24 ล้านปอนด์ และฮาเหม็ด ตราโอเร่ กองกลางไอเวอรี่โคสต์ ด้วยสัญญายืมตัวจนจบซีซั่น และย้ายอย่างถาวรช่วงซัมเมอร์ ค่าตัว 20 ล้านปอนด์

ขอบคุณภาพ https://web.facebook.com/afcbournemouth

ปิดท้ายด้วย เซาแธมป์ตัน เสริมทัพหวังอยู่รอด ด้วยการคว้าตัวกามัลดีน ซูเลมานา ปีกชาวกานาจากแรนส์ ค่าตัว 22 ล้านปอนด์ เป็นสถิติของสโมสร และปอล โอนูอาชู กองหน้าชาวไนจีเรียจากเกงค์ 18.5 ล้านปอนด์

ครองแชมป์ลีกลูกหนัง ช็อปบ้าคลั่งที่สุดในโลก

จากข้อมูลของดีลอยด์ (Deloitte) บริษัทที่ปรึกษาทางการเงินระดับโลก ระบุว่า ยอดใช้จ่ายเฉพาะตลาดหน้าหนาวปีนี้ สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ เพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่า จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว (295 ล้านปอนด์)

ตัวเลข 815 ล้านปอนด์ เป็นการทุบสถิติเดิมที่ทำไว้เมื่อปี 2018 (430 ล้านปอนด์) เมื่อนำไปรวมกับช่วงซัมเมอร์ปีที่ผ่านมา ก็จะเป็น 2 เท่า ของยอดใช้จ่ายในตลาดนักเตะช่วงซัมเมอร์ปี 2017 (1.4 พันล้านปอนด์)

และถ้านับเฉพาะวันปิดทำการซื้อขาย (31 มกราคม) สโมสรในพรีเมียร์ลีกใช้เงินรวมกันมากถึง 275 ล้านปอนด์ ทำลายสถิติเดิมของวันตลาดวายเมื่อปี 2018 ที่ทำไว้ 150 ล้านปอนด์ หรือเพิ่มขึ้น 83เปอร์เซ็นต์

เอฟเวอร์ตัน เป็นสโมสรเดียวในพรีเมียร์ลีก ที่ไม่เซ็นสัญญานักเตะใหม่ในตลาดซื้อขายรอบนี้เลยแม้แต่คนเดียว เนื่องจากกำลังเจอปัญหาทางการเงิน และอาจจะตัดสินใจขายสโมสรถ้ามีข้อเสนอที่เหมาะสม

พรีเมียร์ลีก เป็นลีกที่ใช้จ่ายในตลาดหน้าหนาวปีนี้ คิดเป็นสัดส่วนมากถึง 79 เปอร์เซนต์ ของยอดรวมทั้ง 5 ลีกใหญ่ยุโรป ซึ่งสวนทางกับอีก 4 ลีกที่เหลือ ที่สัดส่วนลดลงไป 35 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปรากฎการณ์ “ช็อปตลาดแตก” ของเชลซี ยุคที่ท็อดด์ โบห์ลี่ เข้ามาเป็นเจ้าของทีมในซีซั่นแรก ได้ใช้เงินไปมากกว่ายอดรวมของทุกสโมสรในบุนเดสลีกา, เซเรีย อา, ลาลีกา และลีก เอิง เสียอีก

ตลาดเดือนมกราคมปีนี้ เขลซีใช้เงินไปร่วม 300 ล้านปอนด์ คิดเป็นสัดส่วน 37 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนเงินที่สโมสรพรีเมียร์ลีกใช้จ่ายทั้งหมด แลกกับนักเตะใหม่อายุน้อย 8 คน และเซ็นสัญญาในระยะยาวทั้งสิ้น

ในจำนวนนี้คือ เอ็นโช่ เฟอร์นานเดซ นักเตะค่าตัว 105 ล้านปอนด์ แพงสุดในประวัติศาสตร์ของสโมสร และพรีเมียร์ลีก รวมทั้งจ่ายค่ายืมตัวเจา เฟลิกซ์ จากแอตเลติโก้ มาดริด เป็นเงินเกือบ 10 ล้านปอนด์

ขอบคุณภาพ https://web.facebook.com/ChelseaFC

ยอดใช้จ่ายของ “สิงห์บลูส์” ในตลาดนักเตะฤดูหนาว แซงหน้าฤดูร้อนที่ใช้เงินไป 270 ล้านปอนด์ ซึ่งเป็นยอดใช้จ่ายในช่วงซัมเมอร์ที่สูงสุดเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากเรอัล มาดริด ในปี (292 ล้านปอนด์) ในปี 2019

“ตลาดนักเตะเดือนมกราคมปีนี้ สโมสรในพรีเมียร์ลีกได้ใช้จ่ายมากที่สุดใน 5 ลีกใหญ่ยุโรป เป็นสัดส่วนที่แตกต่างกันเกือบ 4 เท่า มันไม่เคยมากขนาดนี้มาก่อน” ทิม บริดจ์ หัวหน้าฝ่ายธุรกิจการกีฬาของ Deloitte กล่าว

“อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสโมสรในพรีเมียร์ลีกจะมีการลงทุนมหาศาลในการยกระดับทีม แต่ก็ยังให้ความสำคัญในเรื่องของความสมดุลที่ดีทั้งเรื่องของความสำเร็จในสนาม และความยั่งยืนทางการเงิน”

เรียบเรียง: จักรพันธ์ ภู่ทอง

อ้างอิง :

https://www.bbc.com/sport/football/64473758

– https://www.premierleague.com/news/2891053

Categories
Special Content

เวาท์ เว็กฮอร์สต์ บนทางชีวิตที่ต้องสู้เพื่อลบคำสบประมาท

ตลาดนักเตะฤดูหนาวปี 2023 เมื่อวันที่ 13 มกราคมที่ผ่านมา แมนฯยูไนเต็ด เซ็นสัญญายืมเวาท์ เว็กฮอร์สต์ ศูนย์หน้าดัตช์หุ่นเสาโทรเลขจากเบิร์นลีย์เพื่อใช้งานครึ่งหลังของซีซัน ทดแทนการเสียคริสเตียโน โรนัลโด แต่หลายคนในวงการรวมถึงมาร์โก ฟาน บาสเทน และเวสลีย์ สไนจ์เดอร์ สองตำนานทีมชาติเนเธอร์แลนด์ ให้ข้อสังเกตว่าท้ายสุดแล้วดีลนี้ไม่น่าจะเวิร์ก

เว็กฮอร์สต์มีโอกาสพิสูจน์ตัวเองบนสังเวียนพรีเมียร์ลีกเป็นครั้งที่สองหลังล้มเหลวกับเบิร์นลีย์ในครึ่งหลังของฤดู 2021-22 หลังย้ายมาจากโวลฟ์สบวร์กในเดือนมกราคม 2022 เขาทำได้แค่ 2 ประตูจาก 20 นัด เดอะ คลาเรตส์ หล่นลงไปเล่นแชมเปียนชิพและปล่อยให้เบซิคตัสยืมตัวหนึ่งซีซันก่อนยกเลิกสัญญาเมื่อแมนฯยูไนเต็ดยื่นข้อเสนอเข้ามา

เว็กฮอร์สต์สร้างผลงานได้ดีในลีกตุรกี ทำ 8 ประตู 4 แอสซิสต์จาก 16 นัด ส่วนบอลถ้วยเล่น 2 นัด 1 ประตู แต่สำหรับพรีเมียร์ลีก ศูนย์หน้าส่วนสูง 197 เซนติเมตร ยังถูกตั้งเครื่องหมายคำถาม

เว็กฮอร์สต์เล่นบอลลีกให้แมนฯยูไนเต็ดไปแล้วสองนัดในฐานะตัวจริง เริ่มจากแมตช์เสมอคริสตัล พาเลซ 1-1 แม้เอริก เทน ฮาก เปลี่ยนตัวออกในนาทีที่ 69 แต่เว็กฮอร์สต์ยังได้รับคำชมจากกุนซือชาติเดียวกันในเรื่องประสานงานกับบรูโน แฟร์นานเดส ซึ่งเล่นตำแหน่งเบอร์ 10 และช่วยดึงกองหลังคู่แข่งให้หลุดตำแหน่ง

ส่วนบิ๊กแมตช์ที่แพ้อาร์เซนอล 2-3 เว็กฮอร์สต์ได้เล่นครบ 90 นาที แม้สัมผัสบอลในเขตโทษอาร์เซนอลแค่สองครั้ง และไม่มีโอกาสส่องลุ้นสกอร์เลย แต่ยังมีส่วนร่วมในเกมด้านอื่น ลงมาเชื่อมเกมแดนกลางและช่วยเกมรับ จ่ายบอล 22 ครั้ง คอมพลีท 63.6% สัมผัสบอล 22 ครั้ง แท็คเกิล 2 ครั้ง

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เว็กฮอร์สต์โดนสบประมาทไม่เชื่อมั่นในฝีเท้าเพราะศูนย์หน้าดัตช์วัย 30 ปี ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องพิสูจน์ตัวเองเกือบตลอดอาชีพค้าแข้ง ซึ่งความจริงแล้วย้อนกลับไปสมัยเป็นนักเตะเยาวชนด้วยซ้ำ

ถูกหยามฝีเท้าไม่มีทางได้เล่นฟุตบอลระดับอาชีพ

สองวันหลังเนเธอร์แลนด์แพ้อาร์เจนตินาและตกรอบแปดทีมสุดท้ายฟุตบอลโลกที่กาตาร์ เว็กฮอร์สต์ ซึ่งนัดนั้นลงสำรองทำสองประตู เดินทางกลับบ้านเกิดที่ Borne เมืองเล็กๆทางตะวันออกของเนเธอร์แลนด์ใกล้ชายแดนเยอรมนี เพื่อดูพี่ชาย ทเวน เว็กฮอร์สต์ ลงเตะให้ทีมสมัครเล่น RKSV NEO ซึ่งเป็นสโมสรแรกของเว็กฮอร์ตส์ ตอนนี้ทีมอยู่ในดิวิชั่น 5 ของฟุตบอลเมืองกังหันลม เขายังติดตามและสนับสนุนทีมเก่าในวัยเด็ก

เว็กฮอร์สต์เกิดวันที่ 7 สิงหาคม 1992 เริ่มเล่นฟุตบอลเยาวชนกับทีมท้องถิ่น RKSV NEO และ DETO Twenterand ก่อนย้ายไปอยู่สโมสรอาชีพ วิลเลม ทเว ในปี 2011 แต่ทำได้ดีที่สุดเพียงเล่นให้ทีมสำรองจนกระทั่งปีต่อมา เว็กฮอร์สต์เซ็นสัญญากับเอ็มเมินในดิวิชั่น 2 และได้ลงสนามให้ทีมชุดใหญ่ครั้งแรกตอนอายุ 20 ปี ซึ่งถือว่าช้าเมื่อเทียบกับนักเตะที่ไปได้ไกลถึงตัวทีมชาติ

จีราร์ด โบส อดีตหัวหน้าโค้ชของ NEO พูดถึงเว็กฮอร์สต์ตอนเป็นวัยรุ่นว่า “คุณคงไม่คิดหรอกว่าเวาท์ เว็กฮอร์สต์ จะได้เล่นฟุตบอลอาชีพ แต่เขาเชื่อมั่นในตัวเองเสมอและพร้อมทุ่มเททำงานหนัก เขาไม่ใช่ผู้เล่นที่มีเทคนิคอะไร แมวมองมักมองข้ามเขาเสมอ แต่ถึงเป็นแบบนั้น แต่เขายังก้าวหน้าไปเรื่อยๆ ทำให้คนที่เคลือบแคลงสงสัยเขารู้สึกฉงน”

โบสยังย้อนถึงเมื่อครั้งเว็กฮอร์สต์ซ้อมกับทีมชุดใหญ่ของ NEO รุ่นอายุ 15 ปีว่า “เขาเป็นตัวแสบของฝ่ายตรงข้าม ไม่ใช่ทุกคนหรอกที่ชอบเขา แต่นั่นแหละเขาสมัยวัยรุ่น เวาท์มีแรงขับเพื่อประสบความสำเร็จในกีฬาฟุตบอลเสมอ แม้บางเรื่องที่เขาทำจะสร้างความหงุดหงิดให้คนอื่น เขาเป็นคนหยิ่งยะโสในสนาม แต่ก็เฉพาะตอนเล่นฟุตบอลเท่านั้น เขาไม่ได้เป็นแบบนั้นเลยนอกสนาม”

เยอร์เกน บรูกเกมาน เทรนเนอร์ที่สอนผู้เล่นเยาวชนระดับ C1 (อายุต่ำกว่า 15 ปี) และ D1 (อายุต่ำกว่า 13 ปี) เป็นอีกคนที่เคยทำงานกับเว็กฮอร์สต์สมัยนั้น “ผมจำได้ในการเดินทางไปต่างประเทศครั้งหนึ่ง ผู้เล่นบางคนฉวยโอกาสหนีไปข้างนอกตอนกลางคืน แต่เวาท์ยอมรับอะไรแบบนั้นไม่ได้”

พออายุ 19 ปี เว็กฮอร์สต์ย้ายไปอยู่ DETO Twenterand ก่อนเข้าร่วมระบบอะคาเดมีของวิลเลม ทเว (2011-2012) และเอ็มเมิน (2012-2014) ตามด้วย เฮราเคิลส์ อัลมีโร (2014-2016) และอาแซด อัลค์มาร์ (2016-2018) จนกระทั่งออกไปค้าแข้งนอกเนเธอร์แลนด์เป็นครั้งแรก เซ็นสัญญาสี่ปีกับโวลฟ์สบวร์กในเดือนมิถุนายน 2018 เขาจบซีซั่นแรกด้วยสถิติ 34 นัด 17 ประตู ครองอันดับ 3 (ร่วม) บนตารางดาวซัลโวบุนเดสลีกาฤดูกาล 2018-19 ซึ่งต้องบันทึกด้วยว่าเมื่อวันที่ 16มีนาคม 2019 ในเกมลีกที่โวลฟ์สบวร์กชนะฟอร์ตูนา ดุสเซลดอร์ฟ 5-2 เว็กฮอร์ตส์ทำแฮททริกได้

เว็กฮอร์ตส์ค้าแข้งในลีกเมืองเบียร์สามซีซั่นครึ่ง ลงสนามรวมทุกรายการ 144 นัด ทำ 70 ประตูให้กับโวลฟ์สบวร์ก ก่อนย้ายไปสวมเสื้อเบิร์นลีย์

เมินคำสบประมาท ทุ่มเทเกินร้อยพุ่งชนเป้าหมาย

เยอรูน เวลด์มาเต อดีตเพื่อนร่วมทีมที่เฮราเคิลส์ อัลมีโร เป็นอีกคนที่ยืนยันความมุ่งมั่นที่จะลบคำสบประมาทของคนรอบตัว “ผมยังจำการซ้อมครั้งหนึ่งได้ เราอยู่ฝ่ายตรงข้างกัน เขาพูดกับผมว่า ‘นี่นายรับมือกับเกมระดับนี้ไม่ได้เหรอ’ เฮ้ย! เขาเพิ่งมาจากสโมสรดิวิชั่น 2 และนั่งเก้าอี้สำรองด้วย แต่เวาท์มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาตัวเองในระดับที่ไม่ธรรมดาเลย เขามักถามเทรนเนอร์ว่ามีแผนอะไรบ้างที่จะช่วยให้เขาเก่งขึ้น เขาไม่เคยกลัวอะไร ตรงนี้แหละที่ผมนับถือเวาท์จริงๆ”

วันที่ 13 กันยายน 2014 เว็กฮอร์สต์ทำประตูแรกในเกมเอเรอดีวีซีได้สำเร็จ แม้เฮราเคิลส์เป็นฝ่ายแพ้อาแจ็กซ์ 1-2 แต่ถือว่าเว็กฮอร์สต์บรรลุความฝันที่ขึ้นชื่อบนสกอร์บอร์ดในลีกสูงสุดประเทศเนเธอร์แลนด์

สองปีต่อมา เว็กฮอร์สต์ย้ายไปอยู่กับอาแซด อัลค์มาร์ ด้วยค่าตัวราว 1.5 ล้านยูโร และเขายังเป็นคนเดิม หนึ่งในเรื่องที่ถูกเล่าขานในสโมสรคือ เว็กฮอร์สต์ไม่ยอมออกจากสนามซ้อมหากไม่ได้ก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเองแม้นั่นหมายถึงเคี่ยวตัวเองถึงขั้นอาเจียนก็ตาม “จากชีวิตที่ผ่านมา ผมได้เรียนรู้ว่า ต้องทำงานหนักมากๆเท่านั้นเพื่อจะได้สิ่งที่ต้องการ” เว็กฮอร์สต์เคยให้สัมภาษณ์กับอีเอสพีเอ็น

สองปีต่อมา เว็กฮอร์สต์ย้ายไปอยู่กับอาแซด อัลค์มาร์ ด้วยค่าตัวราว 1.5 ล้านยูโร และเขายังเป็นคนเดิม หนึ่งในเรื่องที่ถูกเล่าขานในสโมสรคือ เว็กฮอร์สต์ไม่ยอมออกจากสนามซ้อมหากไม่ได้ก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเองแม้นั่นหมายถึงเคี่ยวตัวเองถึงขั้นอาเจียนก็ตาม “จากชีวิตที่ผ่านมา ผมได้เรียนรู้ว่า ต้องทำงานหนักมากๆเท่านั้นเพื่อจะได้สิ่งที่ต้องการ” เว็กฮอร์สต์เคยให้สัมภาษณ์กับอีเอสพีเอ็น

เว็กฮอร์สต์ได้เล่นทีมชาติในยุคโรนัลด์ คูมัน เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2018 ขณะอายุ 25 ปี 7 เดือน 16 วัน เป็นแมตช์อุ่นเครื่อง เนเธอร์แลนด์แพ้อังกฤษ 0-1 แม้เขาถูกเปลี่ยนตัวลงมาแทนปราการหลัง สเตฟาน เดอ ฟรีจ์ ในนาทีที่ 89 สามเดือนต่อมาเขาย้ายจากอาแซดไปโวลฟ์สบวร์กด้วยค่าตัว 10.5 ล้านยูโร ซึ่งเงินส่วนหนึ่งไหลเข้าคลังของทีม NEO ตามสัญญาที่เคยเซ็นไว้ และเมื่อบวกกับส่วนแบ่งจากค่าตัว 14 ล้านปอนด์ที่โวลฟ์สบวร์กได้รับจากเบิร์นลีย์ ทำให้ NEO ได้เงินก้อนโตนำไปติดตั้งแผงโซลาร์และระบบไฟแอลอีดี รวมถึงปรับปรุงโรงอาหาร

เส้นทางฟุตบอลอาชีพของเว็กฮอร์สต์ดูเหมือนดีขึ้นเรื่อยๆ แต่ความล้มเหลวที่เบิร์นลีย์ทำให้เขาถูกตั้งข้อสงสัยว่าฝีเท้าดีพอสำหรับพรีเมียร์ลีกหรือไม่ โดยเฉพาะกับสโมสรยักษ์ใหญ่อย่างแมนฯยูไนเต็ด ซึ่งสองตำนานกองหน้ารุ่นพี่ร่วมชาติ รุด ฟาน นิสเตอรอย และโรบิน ฟาน เพอร์ซี เคยตั้งมาตรฐานไว้

ราล์ฟ พี่ชายอีกคนหนึ่งของเว็กฮอร์สต์ ให้สัมภาษณ์กับอีเอสพีเอ็นว่า “พวกเราภูมิใจในตัวเวาท์มาก นี่จะเป็นอีกครั้งหนึ่งที่เขาต้องพลักดันตัวเองให้ขึ้นไปทะลุเพดาน แน่นอนเขาต้องพยายามหยุดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อีกครั้ง เวาท์แค่ทำงานของตัวเองไปเรื่อยๆ”

ลูกเศรษฐีธุรกิจน้ำมันที่พ่อแม่ไม่ยอมให้ยึดอาชีพนักฟุตบอล

ไม่เพียงต้องต่อสู้กว่าสิบปีเพื่อให้เป็นที่ยอมรับในฐานะนักฟุตบอลอาชีพ หากย้อนไปสมัยเด็ก เว็กฮอร์สต์ยังต้องต่อสู้กับความคิดของพ่อแม่ที่อยากให้ลูกชายคนที่สามของครอบครัวทำอาชีพอะไรที่ดูมั่นคงกว่านักฟุตบอล

เว็กฮอร์สต์มีพี่ชายสองคนคือ ทเวนกับราล์ฟ และมีน้องชายหนึ่งคนคือ เนียค ทั้งสี่เป็นลูกของฟรานส์ (พ่อ) และแอสตริด (แม่) ที่มีฐานะร่ำรวยจากธุรกิจน้ำมันและแก๊สทั้งขายส่งขายปลีกโดยตัวเลขเมื่อปี 2021 บริษัท Avia ของครอบครัวเว็กฮอร์สต์มีปั้มน้ำมันราว 130 แห่งในเนเธอร์แลนด์

ก่อนเข้าเรียนระดับปริญญาตรี เว็กฮอร์สต์ทำให้พ่อแม่มึนงงระคนเป็นห่วงเมื่อบอกว่าอยากเป็นนักฟุตบอลอาชีพ แน่นอนฟรานส์และแอสตริดขอให้เขาทบทวนหรือมองอาชีพอื่นเหมือนทเวนที่ต้องการเป็นนักบินและราล์ฟเป็นสถาปนิก ขณะที่เนียค ต่อมาเลือกเรียนเพื่อสืบทอดธุรกิจของครอบครัว

เว็กฮอร์สต์ยืนกรานหนักแน่นที่จะเล่นฟุตบอลเป็นอาชีพ แต่ให้คำมั่นกับพ่อแม่ว่าไม่ทิ้งเรื่องเรียน ซึ่งเขาทำตามสัญญา คว้าปริญญาตรีมาได้สองใบ ส่วนเส้นทางของกีฬาลูกหนังนั้น เว็กฮอร์สต์เริ่มต้นกับสโมสร NEO ด้วยทักษะความสามารถที่อยู่ลำดับท้ายๆของเพื่อนร่วมรุ่น แต่เขายังเชื่อมั่นว่าตนเองต้องทำความฝันได้สำเร็จ ว่ากันว่าเขาเหมือนเดนเซล ดุมฟรีย์ส สมัยวัยรุ่น ทั้งสองมีความมุ่งมั่นปรารถนาสูงแต่ไร้ซึ่งฝีเท้า

เว็กฮอร์สต์ดูเหมือนเป็นนักเตะไม่มีอนาคตทั้งที่ NEO, DETO และอะคาเดมีของวิลเลม ทเว ซึ่งบังเอิญแม่ของเขาเป็นเพื่อนกับภรรยาของเยน ฟาน เอช ผู้อำนวยการสโมสรในขณะนั้น ท้ายที่สุด ฟาน เอข ได้ส่งแมวมองไปดูการเล่นของเว็กฮอร์สต์ ซึ่งสร้างความประทับใจและได้ร่วมทีมวิลเลม ทเว ในเอเรอดีวีซี แต่ไม่สามารถไต่เต้าจนเล่นให้ทีมชุดใหญ่ก่อนถูกขายให้เอ็มเมินในดิวิชั่น 2 ซึ่งเขามีโอกาสเล่นเกมระดับซีเนียร์เป็นครั้งแรก

เว็กฮอร์สต์กล่าวถึงช่วงชีวิตหัวเลี้ยวหัวต่อว่า “เป้าหมายของผมคือ พลักดันตัวเองอย่างหนักเพื่อเป็นนักฟุตบอลอาชีพ ซึ่งมันไม่ง่ายเลย แต่ผมไม่เคยคิดว่าตนเองจะทำไม่ได้ พ่อแม่มักพูดว่า ลูกควรมองหาอะไรทำแทนถ้ามันไม่เป็นไปตามเป้า แต่ผมตอบกลับไปเสมอ ไม่ครับ ผมทำได้แน่และจะเป็นนักเตะอาชีพที่ดีด้วย”

แม้กระทั่งช่วงค้าแข้งกับอาแซด อัลค์มาร์ เว็กฮอร์สต์ก็ไม่เป็นที่ชื่นชอบของแฟนบอลเพราะสไตล์การเล่นที่ดุดันและอาศัยพละกำลังไม่ใช่กองหน้าแบบที่พวกเขาต้องการคือผู้เล่นที่คล่องแคล่วรวดเร็วและมีลูกเล่นอย่างเดนนิส เบิร์กแคมป์ แม้ระหว่างปี 2016-2018 เว็กฮอร์สต์จะทำ 31 ประตูจาก 60 นัดบอลลีกให้อาแซดก็ตาม

ชีวิตถัดจากนั้นของเว็กฮอร์สต์ยังถูกตั้งคำถามเป็นระยะๆตามผลงานกับสโมสร … ที่โวลฟ์สบวร์ก ดี, ที่เบิร์นลีย์ แย่, ที่เบซิคตัส ดี และล่าสุด แมนฯยูไนเต็ด ยังไม่มีคำตอบ

ฟาน นิสเตอรอย ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้จัดการทีมของพีเอสวี ไอน์ดโฮเฟน เป็นคนหนึ่งที่เชื่อมั่นในตัวเว็กฮอร์สต์ “ผมคิดว่า เวาท์เพียบพร้อมทั้งบุคลิกภาพและคุณภาพมากพอสำหรับยูไนเต็ด ผมเคยทำงานกับเขาในทีมชาติ เขาเป็นคนที่เยี่ยมมากๆ เปี่ยมไปด้วยจิตใจต่อสู้แข่งขันที่สูงเหลือเชื่อ เราเห็นอะไรแบบนั้นมาแล้วในฟุตบอลโลก ผมเชื่อมั่นเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ในเรื่องนี้ว่า เขามีคุณสมบัติที่จะสร้างอิมแพ็คให้กับยูไนเต็ด”

เรียบเรียง : ฐปน วันชูเพลา (Senior Football Writer)