Khaimukdam Group

SPECIAL CONTENT

อลเวงโลโก้สองทีมแมนเชสเตอร์ ปมดรามาภาพเรือ โยงค้าทาส

อลเวงโลโก้สองทีมแมนเชสเตอร์ ปมดรามาภาพเรือ โยงค้าทาส

พรีเมียร์ลีกกำลังเข้าสู่โค้งสุดท้ายของซีซัน 2022-23 การขับเคี่ยวอย่างดุเดือดกำลังเกิดขึ้นหลายโซนของตารางอันดับ ไม่ว่าจะเป็นการแย่งชิงแชมป์ระหว่างอาร์เซนอลกับแมนฯซิตี นั่นเท่ากับตั๋วยูฟา แชมเปียนส์ ลีก เหลือเพียงสองใบสำหรับอันดับ 3-4 แต่กลับมีทีมที่เข้าข่ายได้ลุ้นอย่างน้อยหกทีมคือ นิวคาสเซิล, แมนฯยูไนเต็ด, ท็อตแนม ฮอตสเปอร์, แอสตัน วิลลา, ลิเวอร์พูล และไบรท์ตัน ขณะที่ด้านล่างของตาราง เซาแธมป์ตัน, ฟอเรสต์, เอฟเวอร์ตัน, เลสเตอร์ และลีดส์ กำลังมีแต้มเบียดอยู่แถวโซนตกชั้น แม้แต่บอร์นมัธ, วูลฟ์แฮมป์ตัน และเวสต์แฮม ก็ยังชะล่าใจผ่อนคันเร่งไม่ได้

แต่แล้วเกิดเหตุนอกสนามที่ร้อนระอุไม่แพ้กันขึ้นกับสองทีมยักษ์ใหญ่แห่งเมืองแมนเชสเตอร์ แมนฯซิตี และแมนฯยูไนเต็ด ที่เกิดกระแสรณรงค์ให้สองสโมสรเปลี่ยนแปลงตราสัญลักษณ์ที่ใช้มายาวนานกว่าหนึ่งศตวรรษ โดยจุดที่เป็นปัญหาคือภาพเรือสำเภาสามเสากระโดงที่อยู่บนโลโก้ทีมเนื่องจากสื่อความหมายถึงการค้าทาสและการใช้แรงงานทาส ซึ่งสร้างความอึดอัดใจให้กับผู้รักความเท่าเทียมกันของมนุษย์ คล้ายคลึงกับกรณีที่เคยเกิดขึ้นกับทีมอเมริกันฟุตบอล วอขิงตัน เรดสกินส์ ซึ่งถูกสั่งให้ยกเลิกคำว่า “เรดสกินส์” และโลโก “อินเดียนแดง” เพราะนัยว่าเป็นการดูถูกเหยียดหยามชนพื้นเมืองอเมริกัน

ปฐมบทโยงเรือทาสอยู่ที่ผู้ก่อตั้ง นสพ.”เดอะ การ์เดียน”

จุดเริ่มต้นของการถกเถียงมาจากบทความที่เผยแพร่ช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมาของ “เดอะ การ์เดียน” สื่อคุณภาพของอังกฤษ ซึ่งจากการสืบเสาะหาข้อมูลของนักประวัติศาสตร์พบว่า ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ของตนเองและเครือข่ายมีความเกี่ยวข้องกับการค้าทาส ก่อนที่ ไซมอน แฮทเทนสโตน นักข่าวของเดอะ การ์เดียน จะนำมาขยายต่อกลางเดือนเมษายนและสร้างประเด็นดรามาขึ้นมาว่า สมควรไหมที่ แมนเชสเตอร์ ซิตี และแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด จะนำภาพเรือสำเภาสามเสากระโดงออกไปจากสัญลักษณ์สโมสรเพราะสื่อถึงการค้าและใช้แรงงานทาส

แฮทเทนสโตนยอมรับว่าเป็นแฟนบอลแมนฯซิตีกว่าครึ่งศตวรรษ สมัยเด็กชื่นชอบเรือสำเภาสีทองเป็นพิเศษเพราะทำให้จินตนาการถึงโจรสลัด ต่อมาปลายทศวรรษ 1990 มันถูกทดแทนด้วยนกอินทรีสีทองที่สามารถเชื่อมโยงถึงนาซี แต่สโมสรกลับไปใช้เรือสำเภาอีกครั้งในปี 2016 รวมถึงดอกกุหลาบสีแดง สัญลักษณ์ของแลงคาเชียร์ เขาไม่เคยตั้งคำถามอะไรกับเรือสำเภาจนกระทั่งอ่านบทความชิ้นนั้นที่เขียนโดย คาสแซนดรา กูปทาร์

แฮทเทนสโตนรู้สึกอึดอัดใจที่รู้ว่า จอห์น เอ็ดเวิร์ด เทย์เลอร์ พ่อค้าฝ้ายชาวอังกฤษและผู้ก่อตั้งเดอะ แมนเชสเตอร์ การ์เดียน เมื่อปี 1821 (ก่อนเปลี่ยนชื่อเป็นเดอะ การ์เดียน ในปี 1959) มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับหลายบริษัทที่นำเข้าฝ้ายดิบซึ่งเป็นผลผลิตของแรงงานทาสในอเมริกา และมีอย่างน้อย 9 จาก 11 กลุ่มทุนที่สนับสนุนเทย์เลอร์เกี่ยวข้องกับการขนส่งทาสข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก นอกจากนี้ เซอร์จอร์จ ฟิลิปส์ หนึ่งในนักลงทุนยุคก่อตั้ง ยังเป็นเจ้าของ(ร่วม)สวนอ้อยในจาเมกาที่ใช้แรงงานทาสด้วย 

แฮทเทนสโตนได้ข้อสรุปว่าทุกเรื่องราวในบทความไม่ว่าจะเป็นการค้าขาย การเกษตร และทาส ล้วนมีเรือเป็นศูนย์กลาง ขณะที่ธุรกิจฝ้ายในแมนเชสเตอร์บูมสุดขีดช่วงทศวรรษ 1850 มีจำนวนโรงงานมากถึง 108 แห่ง จนกระทั่งแมนเชสเตอร์ได้รับฉายา Cottonopolis

เดอะ แมนเชสเตอร์ การ์เดียน ฉบับปฐมฤกษ์วางจำหน่ายในปี 1821 หรือหลังจากสหราชอาณาจักรได้ยกเลิกระบบทาสไปแล้วสิบสี่ปี แต่พ่อค้าฝ้ายยังเก็บเกี่ยวผลกำไรที่ได้รับจากทาสอย่างต่อเนื่อง ฝ้ายดิบที่เกิดจากหงาดเหงื่อของทาสในอเมริกา แคริบเบียน และบราซิล ยังถูกลำเลียงมายังท่าเรือของสหราชอาณาจักร ก่อนแปรเปลี่ยนเป็นสิ่งทอสินค้ารูปแบบต่างๆในโรงงานแถบแลงคาเชียร์ แล้วกระจายไปขายทั่วโลก แฮทเทนสโตนมองว่า “เรือ” ไม่ได้เป็นเพียงสัญลักษณ์ของ “การค้าขาย” ของแมนเชสเตอร์ แต่ยังสื่อความหมายถึง “การเอารัดเอาเปรียบ” อีกด้วย

เพื่อนคนหนึ่งของแฮทเทนสโตนชี้ให้เห็นว่า รูปเรือบนโลโกของแมนฯซิตีคล้ายกับเรื่องราวที่เขาเคยอ่านเกี่ยวกับเรือเสาเสากระโดงที่แล่นไปทั่ว “เดอะ เซเวน ซีส์” (The Seven Seas) ได้แก่มหาสมุทรอาร์กติก, แอตแลนติกเหนือ, แอตแลนติกใต้, แปซิฟิกเหนือ, แปซิฟิกใต้, อินเดีย และมหาสมุทรใต้ เพื่อรับ ขนส่ง และฝากสินค้าที่ผลิตโดยแรงงานทาส แม้กระทั่งทาสเองก็เป็นสินค้า เหตุการณ์นี้ดำเนินมายาวนานจนกระทั่งอเมริกาเลิกทาสเมื่อปี 1865

แฮทเทนสโตนให้ความเห็นว่า แน่นอนเรือเหล่านั้นไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับฟุตบอล แต่ผลผลิตของทาสยังฝังแน่นอยู่ในวัฒนธรรมและผู้คนมีความสุขเฉลิมฉลองความสำเร็จผ่านตราสโมสรที่สื่อถึงความกดขี่โดยไม่รู้ตัว

มีคำกล่าวอ้างถึงเรือบนสัญลักษณ์สโมสรของแมนฯซิตีว่า เพื่อเฉลิมฉลอง คลองเดินเรือแมนเชสเตอร์ (The Manchester Ship Canal) ซึ่งเป็นเส้นทางน้ำภายในประเทศความยาว 36 ไมล์ เชื่อมเมืองแมนเชสเตอร์กับทะเลไอริช และเปิดใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 1894 ปีเดียวกับทีมอาร์ดวิค แอสโซซิเอชัน (Ardwick Association F.C.) เปลี่ยนชื่อเป็นแมนเชสเตอร์ ซิตี แต่แฮทเทนสโตนเชื่อว่าไม่ใช่เรื่องจริงเพราะแนวคิดภาพเรือนำมาจากตราแผ่นดินของแมนเชสเตอร์

แฮทเทนสโตนระบุเพิ่มเติมว่า มีสโมสรฟุตบอลอังกฤษไม่มีแห่งที่ใช้ภาพเรือในสัญลักษณ์ทีม และแต่ละทีมก็อธิบายที่มาที่ไปชัดเจนเช่น ทรานเมียร์ โรเวอร์ส เป็นเรือรบและบ่งบอกถึงประวัติศาสตร์ในฐานะเมืองแห่งการต่อเรือ, กริมสบี ทาวน์ เป็นเรือลากอวน ทีมมีฉายาว่า “เดอะ มาริเนอร์ส” และใช้กะลาสีเรือ “แฮร์รี เดอะ แฮดด็อค” เป็นตัวนำโชค, พลีมัธ อาร์ไกล์ ซึ่งโลโกเป็นเรือสำเภาขนาดใหญ่ แต่ถูกออกแบบเพื่อระลึกถึงเรือเมย์ฟลาวเวอร์ที่นำกลุ่มผู้แสวงบุญเดินทางจากอังกฤษไปยังโลกใหม่ (ทวีปอเมริกา) เมื่อปี 1620 ขณะที่สโมสรที่ตั้งอยู่ในเมืองท่าที่เกี่ยวข้องกับการค้าทาสโดยตรงอย่างลอนดอน บริสตอล และลิเวอร์พูล ล้วนหลีกเลี่ยงภาพเรือปรากฏบนตราสโมสร แม้ บริสตอล โรเวอร์ส ซึ่งสื่อใกล้เคียงเรือที่สุด ก็ใช้ภาพโจรสลัด

เรือเข้ามาในโลโกพร้อมเปลี่ยนชื่อเป็น “แมนฯยูไนเต็ด”

มาถึงประวัติศาสตร์ของสองสโมสรยักษ์ใหญ่ แมนฯยูไนเต็ดก่อตั้งสโมสรในปี 1878 ก่อนหน้าแมนฯซิตีสองปี จากการรวมตัวของพนักงานรถไฟแผนกขนส่งสายแลงคาเชียร์และยอร์กเชียร์ เดิมใช้ชื่อว่า “นิวตัน ฮีธ” (Newton Heath) ก่อนเปลี่ยนมาเป็น “แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด” ในปี 1902

ความเป็นมาของตราสโมสร นิวตัน ฮีธ ใช้ตราสโมสรสองแบบแต่ไม่เกี่ยวข้องกับเรือ ภาพเรือปรากฏครั้งแรกในปี 1902พร้อมเปลี่ยนชื่อทีมเป็นแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด แต่สัญลักษณ์แตกต่างจากที่แฟนบอลคุ้นตาอย่างสิ้นเชิง คือเป็นรูปสิงโตและแอนทิโลป (antelope) บนตัวมีกุหลาบสีแดง ถือโล่ที่มีเรือสามเสากระโดงอยู่ด้านบน ด้านล่างเป็นแถบสีเหลืองสามแถบคาดบนพื้นสีแดง แถบทั้งสามหมายถึงแม่น้ำสามสาย Irwell, Irk และ Medlock ที่ไหลผ่านตัวเมือง

เหนือโล่เป็นหมวกเหล็กที่มีลูกโลกตั้งอยู่ข้างบน แสดงถึงทักษะทางการค้าของชาวเมือง และเรือในโล่ยังหมายถึงการค้าทางเรืออีกด้วย ส่วนบริเวณด้านล่างของโล่และเท้าของสัตว์ทั้งสองเป็นคำจารึกภาษาลาติน “’Concilio Et Labore” แปลว่า “ปัญญาและความมานะ”

โดยรวมแล้ว การออกแบบตราของแมนฯยูไนเต็ดได้รับแรงบันดาลจากสัญลักษณ์ประจำเมือง บวกกับประวัติศาสตร์ในฐานะเมืองที่ประสบความสำเร็จด้านการค้าโลกระหว่างยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม

แมนฯยูไนเต็ดใช้ตราสโมสรนั้นนานกว่าสี่สิบปี ก่อนเปลี่ยนระหว่างทศวรรษ 1940 ซึ่งคล้ายกับปัจจุบันคือ แถบด้านบนเป็นชื่อ “แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด” และแถบด้านล่างเป็นคำว่า “ฟุตบอลคลับ” ตรงกลางเป็นโล่ที่มีเรืออยู่ด้านบนและปีศาจอยู่ด้านล่าง

โลโกใหม่สองครั้งต่อมาในปี 1958 และ 1970 ตัวปีศาจหายไป ถูกแทนที่ด้วยแถบสามเส้น ก่อนปีศาจกลับมาในเวอร์ชัน 1973, 1992 และ 1998 ซึ่งใช้จนถึงตอนนี้ อย่างไรก็ตาม เรือสำเภาไม่เคยหายไปจากโลโกทั้งหกแบบในยุคแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด

เรืออยู่ในโลโก “แมนฯซิตี” ก่อนทีมเพื่อนบ้านแปดปี

แมนฯซิตีก่อตั้งสโมสรในปี 1880 จากสมาชิกโบสถ์เซนต์มาร์คในเวสต์ กอร์ดอน, แมนเชสเตอร์ ใช้ชื่อแรกเริ่มว่า “เซนต์มาร์คส (เวสต์ กอร์ดอน)” (St. Mark’s (West Gorton)) ก่อนเปลี่ยนเป็น “อาร์ดวิค แอสโซซิเอชัน ฟุตบอล คลับ” (Ardwick Association Football Club) ในปี 1887 และ “แมนเชสเตอร์ ซิตี” ในปี 1894 หรือสองปีหลังเข้าร่วมฟุตบอลลีก

เช่นเดียวกับทีมเพื่อนบ้าน สัญลักษณ์ของแมนฯซิตีตอนใช้ชื่อเซนต์มาร์คสฯและอาร์ดวิคฯไม่มีรูปเรือ เรือปรากฏครั้งแรกในปี1894 พร้อมกับเปลี่ยนชื่อเป็นแมนเชสเตอร์ ซิตี โดยสัญลักษณ์ดังกล่าวก็คล้ายคลึงกับแมนฯยูไนเต็ดในปี 1902 แต่ความจริงคือ แมนฯซิตีเองก็ดัดแปลงจากตราประจำเมืองของแมนเชสเตอร์ที่มีตั้งแต่ปี 1842

แมนฯซิตีใช้สัญลักษณ์ดังกล่าวจนถึงปี 1960 จึงเปลี่ยนมาเป็นแบบใหม่ที่คล้ายกับโลโกตอนนี้ คือเป็นแถบวงกลมเขียนคำว่า “แมนเชสเตอร์ ซิตี เอฟ.ซี.” โดยมีโล่อยู่ข้างในวงกลม ด้านบนเป็นเรือสำเภาสามเสากระโดง ด้านล่างเป็นแถบสีเหลืองสามแถบหรือ Three Rivers

จากนั้นเป็นเวอร์ชันปี 1970 ที่ใกล้เคียงรูปแบบเดิมเปลี่ยนเพียงโทนสี, ปี 1972 ใช้กุหลาบสีแดงแทนสามแถบ, ปี 1976 เปลี่ยนโทนสี, ปี 1997 ถือเป็นการปฏิวัติครั้งใหญ่ ภาพพญาอินทรีผงาดเหนือโล่ที่ข้างในเป็นเรือ, ตัวหนังสือ M.C.F.C. และแถบสีขาวสามแถบบนพื้นสีฟ้า เหนือนกอินทรีเป็นดาวห้าแฉกสามดวง ข้างล่างโล่เป็นคำขวัญภาษาลาติน “Superb in Proelio” แปลว่า “ความภาคภูมิใจในสนามรบ” โดยนกอินทรีสื่อความหมายถึงอุตสาหกรรมการบิน ซึ่งสนามบินแมนเชสเตอร์เปรียบเสมือนหัวใจของประเทศอังกฤษตอนเหนือ

อย่างไรก็ตาม โลโกนี้ไม่ได้รับความนิยมในหมู่แฟนบอลและถูกเปลี่ยนใหม่ในปี 2016 ซึ่งคล้ายกับเวอร์ชัน 1972 แต่ปรับดีไซน์และสีให้ชัดเจนทันสมัย พร้อมใส่ปี 1894 ซึ่งเป็นปีแรกที่ใช้ชื่อ แมนเชสเตอร์ ซิตี ลงไปในแถบวงกลม สโมสรยังใช้สัญลักษณ์นี้จวบจนปัจจุบัน

จากประวัติศาสตร์กว่าหนึ่งศตวรรษในช่วงที่ใช้ชื่อ แมนฯยูไนเต็ด (120 ปี) และแมนฯซิตี (129 ปี) เรือสำเภาถือเป็นส่วนสำคัญของสัญลักษณ์สโมสรมาตลอดเพื่อสื่อถึงความยิ่งใหญ่ในการค้าขายทางเรือของเมืองแมนเชสเตอร์

หลายเสียงยืนยัน “เรือ” เป็นประตูสู่การค้าขายทั่วโลก

เปรียบเทียบตราสโมสรของสองทีม เรือของแมนฯซิตีมีขนาดใหญ่กว่า กินพื้นที่ครึ่งหนึ่งของโล่เท่ากับส่วนที่เป็นกุหลาบสีแดง ขณะที่เรือของแมนฯยูไนเต็ดจะอยู่หนึ่งส่วนสามของพื้นที่โล่ อีกสองส่วนสามเป็นปีศาจแดง

อย่างไรก็ตามตอนที่แมนฯซิตีเปลี่ยนจากพญาอินทรีกลับไปใช้รูปแบบเดิมเมื่อปี 2016 สโมสรได้ออกแถลงการณ์ว่า “ตราใหม่เป็นเสมือนต้นฉบับดั่งเดิมที่ดูทันสมัยขึ้น หวนกลับไปสู่รูปทรงกลมในอดีต พร้อมชุดสัญลักษณ์อันเป็นเอกลักษณ์ของแมนเชสเตอร์ได้แก่ เรือ แม่น้ำสามสาย และดอกกุหลาบสีแดง อีกทั้งยังเป็นครั้งแรกที่สโมสรได้ใส่ตัวเลข 1894 ซึ่งเป็นปีก่อตั้งสโมสรไว้ด้วย เพื่อเป็นการเคารพแก่ประวัติศาสตร์อันยาวนานของชุมชนแมนเชสเตอร์

โจนาธาน สโคฟิลด์ นักประวัติศาสตร์ เปรียบเรือเป็นเสมือนลมหายใจของเมือง “มันคือสัญลักษณ์ของการค้าเสรี ภายใต้แนวคิดมนุษย์ในโลกใบนี้ต่างมีความเท่าเทียมกัน เพราะทุกคนล้วนมีสิทธิเท่าเทียมซึ่งกันและกันในการประกอบธุรกิจ และนี่แหละเป็นความหมายของเรือ”

แกรห์ม สตริงเกอร์ ส.ส.เขต Blackley และ Broughton จากพรรคแรงงาน ให้ความเห็นว่า “เมืองแมนเชสเตอร์ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับการค้าทาสเลย จริงๆแล้วประชาชนที่นี่ในสมัยอเมริกาเกิดสงครามกลางเมืองเมื่อปี 1861 เคยรวมตัวประท้วงระบบทาสด้วยซ้ำ การรณรงค์เรื่องนี้ (เรือเป็นสัญลักษณ์ของการค้าและการใช้ทาส) เป็นสิ่งที่บ้าบอคอแตกเรื่องหนึ่งที่ผมเคยเจอมา”

แคเธอรีน เฟลทเชอร์ ส.ส.จากพรรคอนุรักษ์นิยม ซึ่งถือตั๋วปีของแมนฯยูไนเต็ด เป็นคนหนึ่งที่ไม่พอใจรายงานพิเศษชิ้นนั้นของเดอะ การ์เดียน “ผู้คนในเมืองแมนเชสเตอร์เป็นเจ้าบ้านที่ให้การต้อนรับผู้มาเยือนได้อบอุ่นมากที่สุดกลุ่มหนึ่งในโลก ดังนั้นเรือไม่สามารถนำไปใช้เป็นสัญลักษณ์แทนอะไรแบบนั้นแน่นอน”

เจพี โอ’นีล ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ของแมนฯยูไนเต็ด และเขียนหนังสือชื่อ “Red Rebels: United and the FC Revolution” ถึงขนาดระบุว่า ตรรกะของแฮทเทนสโตนเป็นเรื่องตลกเพราะมันย้อนแย้งกันเอง 

“ไม่ใช่แค่ตราสัญลักษณ์ของสโมสรเกิดขึ้นหลังการประกาศเลิกทาสนานมาก ตัวสโมสรเองยังก่อตั้งหลังระบบทาสสิ้นสุดลงหลายสิบปี แล้วต้องไม่ลืมว่าเรือลำแรกเดินทางมาถึงแมนเชสเตอร์ในปี 1894 พร้อมการเปิดคลองเรือ และที่แมนเชสเตอร์ คนงานโรงงานฝ้ายในยุคสงครามกลางเมืองอเมริกา พร้อมใจไม่ยอมทำงานยุ่งเกี่ยวกับฝ้ายดิบที่ได้มาจากแรงงานทาส แม้นั่นทำให้ชีวิตของพวกเขาสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายก็ตาม”

ทางด้านความคิดเห็นของแฟนบอล ไมค์ โกลด์สตีน นักบินวัย 57 ปี ซึ่งเริ่มดูการแข่งขันแมนฯซิตีในสนามตั้งแต่อายุแปดขวบ กล่าวว่า “ไร้สาระด้วยประการทั้งปวง คุณเอาแต่ย้อนเวลากลับไปแบบนั้นไม่ได้หรอก มันคล้ายกับคนอิตาเลียนยังบ้าคลั่งอาณาจักรโรมัน”

ปีเตอร์ ชอว์ แฟนบอลวัย 34 ปีของแมนฯยูไนเต็ด “ช่างไร้สาระจริงๆถ้าจะเอา(ภาพเรือ)ออกไป มันเกี่ยวข้องกับการฉลองเปิดคลองเรือ ไม่มีอะไรยุ่งกับการค้าทาสแม้แต่นิดเดียว”

เจมี พาร์คเฮาส์ พ่อครัวแฟนบอลแมนฯยูไนเต็ดวัย 37 ปี “เป็นเรื่องถูกต้องแล้วที่ผู้คนจะตั้งคำถามเรื่องการค้าทาสใช้แรงงานทาส แต่ไม่ใช่เรื่องนี้ (ภาพเรือ) ตราสัญลักษณ์สื่อถึงคลองเรือแมนเชสเตอร์ไม่ใช่ทาส การโยงโลโกสโมสรกับค้าขายเป็นอะไรที่มากจนเกินเลยไป”

เทียบ “เรดสกินส์” เปลี่ยนชื่อ-โลโกเพราะด้อยค่าอินเดียนแดง

ไม่กี่ปีที่แล้วเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ขึ้นกับ “วอชิงตัน เรดสกินส์” (Washington Redskins) ทีมอเมริกันฟุตบอลเก่าแก่ของเนชันแนล ฟุตบอล ลีก (เอ็นเอฟแอล) ในสหรัฐอเมริกา

เมื่อปี 2020 เอ็นเอฟแอล มีมติให้ตัดคำว่า “เรดสกินส์” ออกจากชื่อ และยกเลิกตราสโมสรที่มีภาพอินเดียนแดง หลังจากถูกวิจารณ์มายาวนานเนื่องจากสื่อถึงชนพื้นเมืองอเมริกันอย่างไม่เหมาะสม ส่วนหนึ่งเป็นเพราะแรงกดดันจากบริษัทสปอนเซอร์ใหญ่อย่าง เฟดเอ็กซ์, ไนกี้, เป๊ปซี่ และธนาคารแห่งอเมริกา

ระหว่างหาชื่อถาวร ทีมเลือกใช้ชื่อ “วอชิงตัน ฟุตบอล ทีม” (Washington Football Team) เป็นการชั่วคราว ส่วนสัญลักษณ์ของทีมบนหมวกอเมริกันฟุตบอลจะใช้ตัวอักษร W จนกระทั่งต้นปี 2022 ทีมได้ประกาศใช้ชื่อใหม่ว่า “วอชิงตัน คอมมานเดอร์ส” (Washington Commanders) อย่างเป็นทางการ ขณะที่โลโก W ถูกออกแบบใหม่

วอชิงตัน โพสต์ สื่อยักษ์ใหญ่ในอเมริกา ระบุว่าการเปลี่ยนชื่อทีมและตราสัญลักษณ์จะใช้ค่าใช้จ่ายกว่า 10 ล้านเหรียญสหรัฐในการดำเนินงานด้านต่างๆอาทิ การผลิตสินค้าของที่ระลึก ชุดแข่งขัน สนามแข่งขัน ฯลฯ แต่ในระยะยาวเชื่อว่าจะส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ของทีมวอชิงตัน ทำให้ได้รับการสนับสนุนจากแฟนอเมริกันฟุตบอลมากขึ้น

อย่างไรก็ตามกรณีของวอชิงตันถือว่าแตกต่างกับแมนฯยูไนเต็ดและแมนฯซิตีอย่างเห็นได้ชัดทั้งประเด็นการสื่อความหมายและแรงกดดันจากสังคม

ไนเจล เคอร์รี ผู้ชำนาญการด้านแบรนดิ้ง ให้สัมภาษณ์ว่าการปรับเปลี่ยนตราสโมสรจะต้องใช้เงินหลายล้านปอนด์เช่นกัน “นี่จะเป็นการดำเนินงานใหญ่มากครั้งหนึ่งและต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงมากในการเปลี่ยนตราสโมสรของแมนฯยูไนเต็ดและแมนฯซิตี”

“ความเชื่อมโยงเรื่องทาสไม่ได้ชัดเจนหรือแข็งแกร่ง แต่มันมีศักยภาพที่จะทำลายสร้างความเสียหายให้กับประวัติศาสตร์ด้านต่างๆที่เชื่อมโยงสโมสร  เหตุผลในการเปลี่ยนแปลงก็ดูไม่มีน้ำหนัก แน่นอนย่อมมีการถกเถียงกันต่อไปว่าแท้จริงแล้ว เรือเป็นตัวแทนของอะไรกันแน่ การอภิปรายจะดำเนินต่อไป แต่โดยส่วนตัวแล้ว ผมเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงไม่น่าจะเกิดขึ้น”

เรียบเรียง : ฐปน วันชูเพลา (Senior Football Writer) 

Facebook
Twitter
Pinterest
Email

Comments are closed.