Categories
Special Content

7 ปีที่ล้มเหลว : ย้อนรอยความผิดพลาด “เอฟเวอร์ตัน” ในยุคฟาฮัด โมชิริ

นับตั้งแต่ฟาฮัด โมชิริ นักธุรกิจชาวอังกฤษเชื้อสายอิหร่าน เข้ามาเทกโอเวอร์เอฟเวอร์ตันเมื่อช่วงต้นปี 2016 พร้อมกับความทะเยอทะยานที่จะพาสโมสรแห่งนี้ ประสบความสำเร็จในระดับสูงให้ได้

โมชิริได้ลงทุนไปมหาศาลในการดึงผู้จัดการทีมบิ๊กเนม และซื้อนักเตะคุณภาพเข้ามาหลายคนเพื่อหวังยกระดับเอฟเวอร์ตัน แต่ตลอด 7 ปีที่ผ่านมา กับโค้ช 7 คน กลับไม่ประสบความสำเร็จใด ๆ เลย

ช่วงเวลาดังกล่าว เอฟเวอร์ตันเปรียบเสมือนพายเรือในอ่างมานาน วนเวียนอยู่กับการซื้อนักเตะที่ล้มเหลว และเปลี่ยนตัวกุนซือ ยังหาทิศทางที่ถูกต้องไม่เจอเสียที ยิ่งไล่ตามยิ่งห่างไกลออกไปเรื่อย ๆ

ผลงานของทีมไม่ดี การเงินของสโมสรก็มีปัญหาอย่างหนัก เหตุผลส่วนหนึ่งก็มาจากโควิด-19 แต่การบริหารที่ผิดพลาดในยุคโมชิริ ก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้ “ทอฟฟี่สีน้ำเงิน” ตกอยู่ในความเลวร้ายเช่นนี้

วอลซ์ และคูมัน เข้ากันไม่ได้

โรแบร์โต้ มาร์ติเนซ คือผู้จัดการทีมเอฟเวอร์ตันคนแรก ภายใต้การบริหารของฟาฮัด โมชิริ ในช่วงครึ่งหลังของฤดูกาล 2015/16 แม้จะพาทีมไปถึงรอบรองชนะเลิศฟุตบอลถ้วย 2 รายการ แต่ผลงานในพรีเมียร์ลีกจบแค่อันดับที่ 11

และการตัดสินใจครั้งแรกของโมชิริ คือการปลดมาร์ติเนซออกจากตำแหน่งกุนซือ จากนั้นได้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารทีม ด้วยการดึงตัวสตีฟ วอลซ์ เป็นผู้อำนวยการสโมสร และโรนัลด์ คูมัน เป็นเฮดโค้ชคนใหม่

แม้ในซีซั่นแรกของคูมัน ทำผลงานได้ดีจบอันดับที่ 7 แต่ในซีซั่นที่สอง วอลซ์และคูมัน กลับมีความเห็นที่ไม่ตรงกันในเรื่องการเสริมผู้เล่นหลายเรื่อง เช่นการซื้อนักเตะ 3 คนมาเล่นมิดฟิลด์ คือกิลฟี่ ซิกูร์ดส์สัน, ดาวี่ คลาสเซ่น และเวย์น รูนี่ย์

ในช่วงซัมเมอร์ปี 2017 เอฟเวอร์ตันใช้เงินซื้อนักเตะมากถึง 140 ล้านปอนด์ ทว่าผลงานกลับย่ำแย่ในการออกสตาร์ท 9 นัดแรกของพรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 2017/18 จนเฮดโค้ชชาวดัตช์ถูกปลดออกจากตำแหน่ง

ตลาดนักเตะของเอฟเวอร์ตัน ในฤดูกาล 2016/17 และ 2017/18 ใช้เงินซื้อนักเตะร่วม 220 ล้านปอนด์ แต่ไม่ได้ใกล้เคียงการลุ้นแชมป์ และโควตายูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก สัญญาณแห่งความหายนะ ได้เริ่มขึ้นแล้ว

ปลดบิ๊กแซม หลังทำงานได้แค่ครึ่งปี

หลังจากหมดยุคของโรนัลด์ คูมัน การสรรหากุนซือใหม่ก็เกิดขึ้น ในตอนแรก ฟาฮัด โมชิริ อยากได้มาร์โก้ ซิลวา โค้ชวัยหนุ่มของวัตฟอร์ด แต่สตีฟ วอลซ์ กลับบอกให้เลือกแซม อัลลาไดซ์ กุนซือวัยเก๋า มารับหน้าที่แทน

ขอบคุณภาพ https://www.facebook.com/Everton

เอฟเวอร์ตันได้แต่งตั้งอัลลาไดซ์ มาสานต่อในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2017 เซ็นสัญญา 1 ปีครึ่ง และสามารถกอบกู้ผลงานที่ย่ำแย่ในยุคของคูมันได้อย่างยอดเยี่ยม เข็นเอฟเวอร์ตันจบในอันดับที่ 8 ของตาราง

อย่างไรก็ตาม แฟนบอลของทอฟฟี่สีน้ำเงิน กลับไม่ปลื้มกับสไตล์การทำทีมของบิ๊กแซม ทำให้เจ้าของทีมต้องตัดสินใจปลดออกจากตำแหน่ง ทั้งๆ ที่ทำงานได้แค่ 6 เดือน ส่วนวอลซ์ ผอ.สโมสร ก็ตกงานด้วยเช่นกัน

โมชิริ ต้องจ่ายค่าชดเชยให้กับอดีตกุนซือทีมชาติอังกฤษ และจ่ายค่าชดเชยอีก 4 ล้านปอนด์ให้กับวัตฟอร์ด จากกรณีที่มีการร้องเรียนว่าไปติดต่อมาร์โก้ ซิลวา ให้มารับงานกุนซือแบบผิดกฎ

แต่ในที่สุด ซิลวาก็เข้ามารับหน้าที่โค้ชคนใหม่ของเอฟเวอร์ตัน ดูเหมือนว่า แนวทางของสโมสรกำลังจะเปลี่ยนไป จากการทุ่มเงินเพื่อความสำเร็จครั้งใหญ่ มาเน้นการวางอนาคตในระยะยาวแทน

ดึงอันเชล็อตติเข้ามา จนผอ. สโมสรอยู่ไม่ได้

ในปี 2018 นอกจากเอฟเวอร์ตันจะแต่งตั้งมาร์โก้ ซิลวา เป็นกุนซือคนใหม่แล้ว ยังได้ดึงตัวมาร์เซล แบรนด์ มาเป็นผอ. สโมสรคนใหม่ด้วย ในการพยายามชดใช้ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจาก 2 ฤดูกาลที่ผ่านมา

การเสริมผู้เล่นในยุคของซิลวา และแบรนด์ ได้เน้นไปที่นักเตะอายุน้อย และเซ็นสัญญาแบบระยะยาว เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของสโมสร และสามารถทำกำไรมหาศาล เมื่อมีการขายนักเตะไปให้ทีมอื่น

ริชาร์ลิสัน, ลูคัส ดีญ และเยอร์รี่ มิน่า คือ 3 นักเตะดาวรุ่งที่เซ็นสัญญาเข้ามาช่วงตลาดซัมเมอร์ แน่นอนว่า แนวทางนี้ต้องใช้เวลาและความอดทนอย่างสูง ซึ่งเอฟเวอร์ตันก็ทำได้ดี จบอันดับที่ 8 ในซีซั่น 2018/19

แต่ในซีซั่นต่อมา จุดเปลี่ยนสำคัญก็เกิดขึ้น เมื่อซิลวาทำผลงานได้ย่ำแย่ และการแพ้ลิเวอร์พูล ในเมอร์ซี่ย์ไซด์ ดาร์บี้ ต้นเดือนธันวาคม 2019 พาทีมหล่นไปอยู่โซนตกชั้น นั่นคือฟางเส้นสุดท้าย นำไปสู่การตกงานของเขาในที่สุด

ซึ่งโมชิริ ก็ได้ทำเซอร์ไพรส์ให้กับแฟนๆ ทอฟฟี่สีน้ำเงิน ด้วยการดึงตัวคาร์โล อันเชล็อตติ กุนซือมากประสบการณ์ มาคุมทีมแทน และดึงตัวนักเตะค่าเหนื่อยแพงอย่างฮาเมส โรดริเกวซ มาร่วมทีมในช่วงซัมเมอร์ปี 2020

เมื่อแบรนด์รู้ว่า โมชิริได้กลับไปใช้นโยบายเดิม คือการใช้เงินมหาศาลเพื่อความสำเร็จอีกครั้ง ซึ่งขัดกับแนวทางของตัวเอง ที่เน้นการสร้างทีมในระยะยาว จึงตัดสินใจอำลาตำแหน่งผอ. สโมสร ในเดือนธันวาคม 2021

เล่นกับไฟด้วยการดึงราฟา เบนิเตซ คุมทีม

คาร์โล อันเชล็อตติ ขอลาออกจากเอฟเวอร์ตัน หลังจบฤดูกาล 2020/21 และฟาฮัด โมชิริ เจ้าของทีม ได้สร้างความฮือฮา ด้วยการแต่งตั้งราฟาเอล เบนิเตซ อดีตกุนซือลิเวอร์พูล ทีมคู่ปรับร่วมเมือง

แน่นอนว่า การเดิมพันของโมชิริในครั้งนี้ ทำให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้านอย่างหนักจากแฟนๆ เอฟเวอร์ตันว่า ทำไมสโมสรถึงเลือกโค้ชที่เคยมีประเด็นพูดหมิ่นทอฟฟี่สีน้ำเงินว่าเป็น “ทีมเล็ก” เมื่อปี 2007

ตลาดนักเตะทั้ง 2 รอบ ในฤดูกาล 2021/22 ยุคของเบนิเตซ เอฟเวอร์ตันได้ผู้เล่นใหม่ 10 คน แต่ใช้เงินรวมกันแค่ 30 ล้านปอนด์ ซึ่งถือเป็นยอดใช้จ่ายซื้อนักเตะที่น้อยที่สุด นับตั้งแต่โมชิริเป็นเจ้าของสโมสร

แม้จะเริ่มต้นซีซั่นในพรีเมียร์ลีกได้ดี ชนะ 4 จาก 6 เกมแรก ทำเอาแฟนๆ ทอฟฟี่สีน้ำเงินเริ่มฝันไกล แต่ความจริงที่โหดร้ายก็เข้ามา เพราะ 13 เกมหลังจากนั้น ชนะแค่เกมเดียว เสมอ 3 และแพ้ถึง 9 เกม

เกมสุดท้ายของ “เอล ราฟา” คือนัดแพ้นอริช ซิตี้ 1 – 2 เมื่อ 15 มกราคม 2022 อยู่อันดับที่ 15 มีแต้มมากกว่าโซนตกชั้นแค่ 6 แต้ม ท่ามกลางความสะใจของแฟนๆ “เดอะ ค็อป” ที่เขาไปทำให้เอฟเวอร์ตันเละเทะเข้าไปอีก

การตัดสินใจดึงตัวราฟา เบนิเตซ มารับงานที่เอฟเวอร์ตัน ผลลัพธ์ที่ออกมาล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง แสดงให้เห็นว่า ฟาฮัด โมชิริ มีความเข้าใจในเรื่องการบริหารจัดการทีม และเรียนรู้วัฒนธรรมของสโมสรที่ยังไม่มากพอ

คำพูดของโมชิริ ที่เรียกเสียงวิจารณ์อื้ออึง

ด้วยความที่ฟาฮัด โมชิริ มีแพสชั่นในการยกระดับเอฟเวอร์ตัน ให้ขึ้นมายิ่งใหญ่ทัดเทียมกับบิ๊ก 6 พรีเมียร์ลีก แต่บางคำพูด หรือการให้สัมภาษณ์ของเขา ก็สร้างความไม่พอใจให้กับหลาย ๆ คน ที่เกี่ยวข้อง

อย่างเช่น เมื่อเดือนมกราคม 2018 โมชิริได้กล่าวพาดพิงโรเมลู ลูกากู ดาวยิงเบลเยียม ที่ไม่ยอมต่อสัญญาในถิ่นกูดิสัน พาร์ค ทั้งๆ ที่ ตกลงรายละเอียดไปแล้ว โดยอ้างว่าสาเหตุมาจากเชื่อเรื่องไสยศาสตร์วูดู

หรือเมื่อเดือนมีนาคม 2019 โมชิริอ้างว่า เอฟเวอร์ตันก็มี “Fab 4” อย่างกิลฟี่ ซิกูร์ดส์สัน, เวย์น รูนี่ย์, ยานนิค โบลาซี่ และเซงค์ โทซุน เป็นคู่แข่งกับฟิลิปเป้ คูตินโญ่, ซาดิโอ มาเน่, โมฮัมเหม็ด ซาลาห์ และโรแบร์โต้ ฟีร์มีโน่ ของลิเวอร์พูล

และล่าสุด หลังเกมที่บุกแพ้เวสต์แฮม ยูไนเต็ด 0 – 2 เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา โมชิริได้ปฏิเสธที่จะตอบคำถามถึงอนาคตในตำแหน่งกุนซือของแฟรงค์ แลมพาร์ด โดยพูดเพียงสั้น ๆ ว่า “เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับผม”

ย้อนกลับไปเมื่อ 10 วันก่อนเกมกับเวสต์แฮม โมชิริยังให้คำมั่นว่าแลมพาร์ดจะยังคุมทีมต่อไป แต่เมื่อกระแสความไม่พอใจของแฟนบอลพุ่งขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ต้องตัดสินใจแยกทางกับตำนานมิดฟิลด์เชลซีในที่สุด

อนาคตของเอฟเวอร์ตันที่พอจะคาดหวังได้ อยู่ที่สนามเหย้าแห่งใหม่ในแบรมลีย์ มัวร์ ความจุ 52,888 ที่นั่ง ซึ่งคาดว่าน่าจะเปิดใช้งานภายในปี 2024 แม้แฟนบอลของสโมสรจะไม่เห็นด้วยกับการบริหารของโมชิริก็ตาม

บทเรียนแห่งความล้มเหลว ตลอด 7 ปีที่ผ่านมาของเอฟเวอร์ตัน ในยุคของฟาฮัด โมชิริ ทำให้เราได้เรียนรู้ว่า สิ่งที่ต้องทำเป็นลำดับแรก คือแผนงานที่ถูกต้อง ชัดเจน และตัดสินใจในเรื่องสำคัญแบบชาญฉลาด

เรียบเรียง : จักรพันธ์ ภู่ทอง

Categories
Football Business

ไล่ผู้จัดการทีม งานง่ายของแฟนบอล มองเส้นทางสโมสรปิดจ็อบ ปล่อยกุนซือเก่า หากุนซือใหม่

Sacking Season เป็นศัพท์ที่ใช้เรียกฤดูหรือช่วงเวลาปลดผู้จัดการทีมในพรีเมียร์ลีก มักเริ่มจากเดือนกันยายนถึงปลายเดือนพฤศจิกายน บางปีอาจยาวไปถึงช่วงเปิดตลาดซื้อขายฤดูหนาวในเดือนมกราคม แต่โดยเฉลี่ยแล้ว กุนซือพรีเมียร์ลีกคนแรกจะตกงานหลังคุมทีมไปได้ 10.8 นัดของซีซัน

นับจากลีกสูงสุดของอังกฤษใช้ชื่อ “พรีเมียร์ลีก” ในฤดูกาล 1992-93 ผู้จัดการทีมคนแรกที่โดนไล่ออกคือ เอียน พอร์เตอร์ฟิลด์ ของเชลซี ซึ่งมีโอกาสคุมทีม 29 นัดก่อนพ้นตำแหน่งในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 1993 ส่วนกุนซือที่ตกเก้าอี้เร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ได้แก่ เคนนี เดลกลิช ซึ่งต้องเก็บข้าวของออกจากสโมสรนิวคาสเซิลในวันที่ 27 สิงหาคม 1998 หลังจากซีซัน 1998-99 เพิ่งเตะแค่สองนัด 

ซีซันปัจจุบันมีผู้จัดการรับใบแดงจากสโมสรไปแล้วห้าคน เริ่มจากสกอตต์ พาร์คเกอร์ ของบอร์นมัธเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2022 ตามด้วยโธมัส ทูเคิล ของเชลซีในเดือนกันยายน, บรูโน ลาเก ของวูลฟ์แฮมป์ตัน และสตีเวน เจอร์ราร์ด ของแอสตัน วิลลา ทั้งคู่ตกงานในเดือนตุลาคม และราล์ฟ ฮาเซนฮึทเทิล ของเซาแธมป์ตันในเดือนพฤศจิกายนก่อนพรีเมียร์ลีกพักเบรกให้เวิลด์คัพราวหนึ่งสัปดาห์

พรีเมียร์ลีกกลับมาเตะใหม่เกือบหนึ่งเดือนยังไม่มีสโมสรไหนเปลี่ยนม้ากลางศึก รวมถึงแกรห์ม พอตเตอร์ ที่มีข่าวว่าเก้าอี้ตำแหน่งร้อนผ่าวที่เชลซี ซึ่งล่าสุด สกายเบต บริษัทรับพนันในอังกฤษ ให้เป็นแค่เต็งสี่ที่จะถูกปลด โดยมีแฟรงค์ แลมพาร์ด (เอฟเวอร์ตัน) เป็นเต็งหนึ่ง ตามด้วยเดวิด มอยส์ (เวสต์แฮม) และแกรี โอนีล (บอร์นมัธ) ซึ่งเพิ่งรับงานแทนพาร์คเกอร์ไม่ถึงห้าเดือน

แม้ว่าจะพ้น Sacking Season ไปแล้ว แต่เหตุการณ์ไล่ออก “หลงฤดู” ยังเกิดขึ้นได้โดยเฉพาะกับทีมที่เสี่ยงตกชั้น การหาผู้จัดการทีมใหม่มากู้วิกฤติช่วงครึ่งหลังของซีซันอาจเป็นคำตอบที่ใช่

สถานการณ์ไหนที่สโมสรเริ่มคิดปลดกุนซือใหญ่

เป็นเรื่องง่ายสำหรับแฟนบอลที่จะไล่ผู้จัดการทีมบนสื่อโซเชียลเพียงเพราะไม่พอใจผลแข่งขันไม่กี่นัด หรือแสดงอารมณ์ในสนามผ่านการตะโกนหรือทำป้าย แต่สำหรับผู้มีอำนาจตัดสินใจไม่ว่าจะเป็นประธานสโมสร บอร์ดบริหาร ซีอีโอ หรือผู้อำนวยการฝ่ายกีฬา มีตรรกะความคิดและขั้นตอนปฏิบัติมากเยอะ ทั้งปลดผู้จัดการทีมคนเก่าและหาผู้จัดการทีมคนใหม่

ทอร์-คริสเตียน คาร์ลเซน แมวมองชาวนอร์เวเจียน อดีตซีอีโอและผู้อำนวยการด้านกีฬาของอาแอส โมนาโก สโมสรแถวหน้าของลีกเอิง ประเทศฝรั่งเศส เล่าเรื่องราวหลังฉากที่นำไปสู่หนึ่งในสิ่งที่ไม่อยากทำมากที่สุดในสายงานของเขา เริ่มจากเหตุผลของการไล่ผู้จัดการทีม (หรือหัวหน้าโค้ชสำหรับหลายประเทศ)

ผลแข่งขันที่ย่ำแย่เป็นแรงกระตุ้นพื้นฐานที่สุดของเรื่องนี้ แต่ยังมีเหตุผลอื่นด้วยอย่างเช่นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารสโมสรอย่างที่เกิดขึ้นกับทูเคิลหลังจากทอดด์ โบห์ลีย์ เทคโอเวอร์เชลซีจากโรมัน อับราโมวิช ได้ไม่นาน หรืออย่างกรณีที่บอร์นมัธไล่พาร์คเกอร์หลังจากเขาวิจารณ์สโมสรไม่สนับสนุนเรื่องเสริมนักเตะมากเพียงพอ

การดิ้นรนหนีตกชั้นก็เป็นแรงกระตุ้นที่ดี เช่นเดียวกับผลกระทบที่ส่งต่อรายได้เช่น ไม่ได้โควตาฟุตวอลสโมสรยุโรป หรือตกรอบแบ่งกลุ่มแชมเปียนส์ลีก โดยเฉพาะฟุตบอลยุคปัจจุบันที่กลายเป็นธุรกิจเต็มตัวเป็นแหล่งรายได้มหาศาล จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าเหตุผลทางการเงินเศรษฐกิจมีส่วนอย่างมากต่อการตัดสินใจของผู้มีอำนาจในสโมสร

ในมุมมองคนนอก ผู้อำนวยการกีฬามีบทบาทสำคัญแต่ความจริงแล้ว น้อยคนที่จะมีอำนาจตัดสินใจเด็ดขาด แต่เป็นเจ้าของสโมสรหรือบอร์ดบริหารมากกว่าว่าจะทำอย่างไรกับความคิดเห็นของผู้อำนวยการกีฬา

สโมสรทำอะไรหลังมอบใบแดงแก่ผู้จัดการทีม

หลายครั้งการปลดก็ไม่ต้องรอให้ถึงฤดูกาลจบลง เพียงทีมโชว์ฟอร์มได้น่าผิดหวังดูไร้อนาคตแม้ไม่ตกชั้นหรืออยู่ครึ่งล่างของตารางอันดับ สโมสรอาจเริ่มมองหาทางปรับปรุงทีมสำหรับซีซันหน้าตั้งแต่ต้นกุมภาพันธ์หรือมีนาคม

ข่าวลือไล่ผู้จัดการทีมบนหน้าสื่อกับการต้องแยกทางกันจริงๆระหว่างสองฝ่ายเป็นอารมณ์ที่กดดัน อึดอัด และไม่สบายใจอย่างยิ่ง คาร์ลเซนเล่าขั้นตอนหลังมติของบอร์ดบริหารออกมาอย่างชัดเจนว่า ทีมงานด้านสื่อสารจะเป็นกลุ่มแรกที่รับรู้ข่าวนี้เพื่อร่างคำแถลงการณ์ที่เป็นมิตรและทำงานตามลำดับขั้นตอน แน่นอนต้องแจ้งเรื่องนี้แก่ตัวหลักๆของสโมสรก่อนข่าวถูกกดปุ่ม “ส่ง” ไปยังสื่อสำนักต่างๆ ไม่ใช่ปล่อยให้อ่านเจอเองในสื่อ

แล้วเมื่อใดที่ตัวละครสำคัญของเรื่องนี้จะรับรู้ข่าวนี้ อดีตซีอีโอและผู้อำนวยการกีฬาของโมนาโกบอกว่าสโมสรส่วนใหญ่มีลำดับเวลาที่เหมาะสมเพื่อแจ้งข่าวให้ผู้จัดการทีมทันทีที่มติการประชุมออกมาอยู่แล้ว แต่ก็เคยมีกรณีแปลกๆเกิดขึ้นเช่นกันอย่างส่งข้อความผ่านอีเมลหรือ WhatsApp หรือหากย้อนอดีตไปไกลๆ บางคนอ่านเจอจากประกาศบนบอร์ดสโมสร

น้อยครั้งที่ผู้จัดการทีมจะโดนปลดแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย เกือบทั้งหมดต่างสัมผัสความน่าจะเป็นที่เกิดขึ้นล่วงหน้าอยู่แล้ว จึงค่อนข้างทำใจได้แม้จะมีความสะเทือนใจก็ตาม บางคนยอมรับได้ บางคนอาจโล่งใจด้วยซ้ำ แต่มักไม่มีคำพูดหลุดจากปากของพวกเขาจนกว่าจะได้รับคำแนะนำจากที่ปรึกษากฎหมายส่วนตัว ซึ่งงานหลักคือทำข้อตกลงกับผู้บริหารสูงสุดของสโมสร แน่นอนเป็นเรื่องผลประโยชน์ด้านเงินทอง

ทั้งนี้ขึ้นกับเงื่อนไขการเลิกจ้างที่ระบุไว้ในสัญญา ซึ่งดูเหมือนควรเป็นเช่นนั้น แต่ความจริงคือไม่ได้เกิดขึ้นกับผู้จัดการทีมทุกคน บางคนต้องพึ่งพาที่ปรึกษาทางกฎหมายเพื่อเรียกร้องเงินชดเชยหรือยืนกรานที่จะรับเงินส่วนที่เหลือของสัญญา

สำหรับตัวอย่างเงินชดเชย แมนฯยูไนเต็ดต้องจ่ายให้โชเซ มูรินโญ ประมาณ 15 ล้านปอนด์หลังไล่ออกในเดือนธันวาคม 2018 หรือก่อนหน้านั้นปีเดียวกัน เชลซีได้จ่ายเงินประมาณ 26 ล้านปอนด์ให้กับอันโตนิโอ คอนเต และทีมงานของเขา ควบคู่ไปกับค่าใช้จ่ายด้านกฎหมาย แน่นอนว่า รายจ่ายส่วนนี้ก็มีน้ำหนักไม่น้อยที่บอร์ดบริหารนำมาชั่งตวงวัดเพื่อตัดสินใจปลดหรือไม่ปลดผู้จัดการทีม

มีอีกประเด็นที่น่าสนใจเพราะแฟนบอลอาจเคยรับรู้จากหน้าสื่อว่า นักเตะมีอิทธิพลต่ออนาคตของนายใหญ่ตัวเอง ซึ่งเรื่องนี้คาร์ลเซนตอบชัดเจนว่า ผู้เล่นไม่มีส่วนโดยตรงต่อการประเมินว่าผู้จัดการทีมจะอยู่หรือจะไป แต่มีผลทางอ้อมมากกว่าเพราะความสัมพันธ์ระหว่างผู้จัดการทีมกับนักฟุตบอลมักอยู่ในสายตาของผู้มีอำนาจ แต่ก็มีบางกรณีที่นักเตะหรือเอเยนต์ใกล้ชิดสนิทสนมกับบุคคลระดับบิ๊กในสโมสรที่สามารถนำไปสู่การปลดผู้จัดการทีม แต่เรื่องนี้มักอยู่ในสภาพคลุมเคลือไม่เคยมีความชัดเจน

ยุ่งยากซับซ้อนกว่าการปลดคือหาคนใหม่มาแทน


มาถึงขั้นตอนที่สำคัญยิ่งกว่าไล่คนเก่าออก คือหาคนใหม่มาแทนเพื่อพาทีมขึ้นไปสู่ระดับสูงขึ้น คำถามคือ ประธานสโมสร ซีอีโอ บอร์ดบริหาร หรือผู้อำนวยการกีฬา มีคนอยู่ในใจล่วงหน้าหรือไม่ คาร์ลเซนเฉลยว่าแน่นอนย่อมมีแต่ไม่ได้หมายความคนนั้นจะถูกเรียกเข้ามารับงานทันที แม้นักข่าวจะเชื่อเช่นนั้นก็ตามในบางกรณี แต่คาร์ลเซนให้ข้อมูลจากประสบการณ์ส่วนตัวว่า มักมีใบสมัครส่งเข้ามายังสโมสรมากมายทั้งจากเอเยนต์หรือผู้จัดการทีมที่ว่างงานเอง เวลาเร็วที่สุดที่ตัวเขารู้คือหกนาทีหลังข่าวไล่ผู้จัดการทีมถูกประกาศออกไป

อย่างไรก็ตามสโมสรต่างตระหนักดีว่า การเร่งรีบให้ขั้นตอนนี้จบลงเท่ากับเพิ่มความกดดันและความเสี่ยง แม้ว่าสโมสรชั้นนำส่วนใหญ่มักจับตาผู้จัดการทีมที่น่าสนใจให้อยู่ในเรดาร์อยู่แล้วแม้ทีมยังไม่ตกอยู่ในสถานการณ์น่าเป็นห่วงก็ตาม มันเป็นเรื่องปกติของการทำธุรกิจ เป็นการลดความเสี่ยงหรือเหตุปัจจัยอื่นๆเช่น ผู้จัดการทีมของพวกเขาอาจหันไปสนใจสโมสรที่ใหญ่กว่า รวยกว่า และดีกว่า การเตรียมพร้อมจึงเป็นสิ่งจำเป็น

โดยทั่วไป ซีอีโอหรือผู้อำนวยการกีฬาจะคัดกรองประวัติย่อหรือซีวี (curriculum vitae) จนเหลือผู้สมัครจำนวนน้อยที่สุดที่เข้าสู่ขั้นตอนสัมภาษณ์ก่อนคัดเลือกจนเหลือชอร์ตลิสต์ประมาณ 2-3 คนเพื่อนำเสนอต่อเจ้าของหรือคณะกรรมการบริหารของสโมสร แต่มีประธานสโมสรบางคนชอบลงลึกในรายละเอียด ต้องการขับเคลื่อนกระบวนการตั้งแต่แรกเริ่ม

การนัดสัมภาษณ์แบบไม่มีข้อผูกมัด ทีมงานต้องวางแผน ประสานงาน และจัดเตรียมอย่างพิถีพิถัน สถานที่ต้องเหมาะสำหรับการสัมภาษณ์หลายครั้งอย่างห้องสวีทหรือห้องประชุมในโรงแรม ซึ่งต้องทำให้มั่นใจว่าผู้สมัครจะไม่เจอกันเองบริเวณล็อบบี (แต่ยังมีเรื่องแบบนี้เกิดบ่อย) รวมถึงการดูแลเรื่องพาหนะและเส้นทางเดินทางที่แตกต่างกัน

ประเด็นการพูดคุยหลักๆ ผู้จัดการทีมที่พอมีประสบการณ์จะรู้ดีอยู่แล้ว สามารถเตรียมคำตอบล่วงหน้าได้อาทิ เงื่อนไขทางการเงิน แนวคิดด้านกลยุทธ์และแท็คติก แนวทางการฝึกสอนบริหารจัดการ เป็นต้น สิ่งสำคัญคือต้องสั้นแต่ชัดเจน ผู้จัดการทีมบางคนรับมือการสัมภาษณ์ได้ดี สร้างความประทับใจเมื่อแรกพบทั้งนิสัยใจคอความเป็นมิตร บรรยากาศการพูดคุยมีส่วนสำคัญต่อการตัดสินใจไม่ใช่น้อย ทั้งนี้ผู้อำนวยการกีฬามักมีข้อมูลอ้างอิงพื้นฐานที่ผ่านการตรวจสอบอย่างละเอียดของผู้สมัครแต่ละคนดีอยู่แล้ว ตระหนักดีก่อนเรียกตัวว่าคนนั้นเหมาะกับสโมสรหรือไม่

การสนทนาแม้เพียงสั้นๆแต่ผู้อำนวยการกีฬาจะพยายามมองให้ออกว่า ผู้สมัครต้องการทำงานมากน้อยแค่ไหน มีความแข็งแกร่งเป็นพิเศษหรือไม่ในสนามฝึกซ้อมและการจัดการเกมโดยเฉพาะกับสโมสรแถวหน้า ทักษะด้านมนุษยสัมพันธ์ มีโอกาสก่อให้เกิดความขัดแย้งหรือได้รับการร่วมมือร่วมใจ การรับมือกับแรงกดดันมหาศาล สามารถเป็นหน้าตาของสโมสรเมื่ออยู่ต่อหน้าสื่อมวลชนและสาธารณชน เผชิญหน้ากับวัฒนธรรมการทำงานในสโมสรที่แต่ละแห่งไม่เหมือนกัน หรือแม้กระทั่งความเก่งหลายภาษายังถูกนำมาพิจารณา

ผู้จัดการทีมบางคนโดยเฉพาะไฮ-โปรไฟล์ มักอยากนำสตาฟฟ์ที่คุ้นเคยเข้ามาทำงาน ซึ่งตรงนี้ ผู้อำนวยการกีฬาต้องพิจารณาว่ามีผลต่องบประมาณและทีมงานชุดปัจจุบันหรือไม่ หากมีโอกาสนำไปสู่ความวุ่นวายภายใน การตอบปฏิเสธเป็นทางเลือกอันดับหนึ่ง

คาร์ลเซนตบท้ายว่า ผู้สมัครที่สมบูรณ์แบบในเชิงอุดมคติไม่มีอยู่จริง การตัดสินใจจึงขึ้นอยู่กับการจัดลำดับความสำคัญ บวกข้อดีข้อเสียว่า สโมสรให้น้ำหนักปัจจัยข้อไหนมากน้อยกว่ากัน บางครั้งอาจจำเป็นต้องขอความเห็นจากแหล่งข้อมูลภายนอกที่เชื่อถือได้

หลังสิ้นสุดการสัมภาษณ์ ผู้อำนวยการกีฬาจะเสนอบทสรุปของการสัมภาษณ์ให้กับเจ้าของหรือบอร์ดบริหาร ซึ่งบางสโมสรอาจเชื่อมั่นในการตัดสินใจของผู้อำนวยการกีฬาและปล่อยให้ดำเนินการขั้นตอนต่อไปเอง แต่ปกติแล้วจะมีการนัดสัมภาษณ์รอบสุดท้ายอีกครั้ง ซึ่งส่วนใหญ่จะเน้นไปพูดคุยเรื่องอื่น รายละเอียดทางเทคนิคหรือแท็คติกเล็กๆน้อยๆ วิสัยทัศน์ในภาพรวมของสโมสร ความทะเยอทะยาน เป้าหมายร่วมกัน และการใช้จ่ายเงินในตลาดซื้อขาย

และเช่นเดียวกับการสัมภาษณ์ครั้งแรกๆ บรรยากาศในวงสนทนาครั้งสุดท้ายยังมีความสำคัญสูงสุด ผู้สมัครแม้เป็นตัวเต็งอันดับหนึ่งจำเป็นต้องทำให้เจ้าของและบอร์ดบริหารรู้สึกสบายใจ สัมผัสถึงความสัมพันธ์อันดีเมื่อต้องทำงานด้วยกัน

สโมสรเริ่มต้นช่วงฮันนีมูนครั้งใหม่กับผู้จัดการทีมใหม่

มาถึงจุดนี้สโมสรจะเหลือผู้สมัครเพียงคนเดียวหรือว่าที่ผู้จัดการทีมคนใหม่ ผู้อำนวยการกีฬาหรือซีอีโอจะติดต่อเอเยนต์ของผู้สมัครเพื่อคุยในรายละเอียด ส่วนใหญ่มีขึ้นที่โรงแรม ร้านอาหารหรู หรือสำนักงานของสโมสร การนัดหมายจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ระยะเวลาของสัญญาถูกกำหนดไว้แล้ว แต่ยังมีบางส่วนต้องหารือให้เข้าใจตรงกันเช่น เงินเดือน โบนัส ผลกระทบทางภาษี และผลประโยชน์ด้านอื่นอาทิ ที่พักอาศัย ยานพาหนะ

เมื่อทั้งสองฝ่ายได้ข้อสรุปร่วมกัน ทีมงานฝ่ายสื่อสารจะกลับเข้ามาอีกครั้งเพื่อรับช่วงต่อ ผู้จัดการทีมคนใหม่จะถูกพาไปแนะนำให้รู้จักกับเจ้าหน้าที่สโมสรฝ่ายต่างๆ ตามด้วยการประกาศแต่งตั้งอย่างเป็นทางการและการแถลงข่าวเบื้องต้น

แม้ผ่านช่วงที่ชลมุนฝุ่นตลบแต่คลุมเครือไปแล้ว ผู้อำนวยการกีฬายังต้องอยู่ใกล้ชิดคอยช่วยเหลือผู้มาใหม่ให้สามารถปรับตัวกับสโมสรได้ จากนั้นปล่อยให้ผู้จัดการทีมทำงานกับนักเตะของเขาก่อนจะกลับมาทำงานใกล้ชิดกันอีกครั้งในตลาดซื้อขายรอบถัดไป

เรียบเรียง : ฐปน วันชูเพลา (Senior Football Writer) 

Categories
Football Business

นโยบาย “อายุน้อย สัญญายาว” ของเชลซี ในยุคท็อดด์ โบห์ลี่ย์

ตลาดซื้อขายนักเตะเดือนมกราคม ปี 2023 เริ่มมาได้เพียง 1 สัปดาห์ ก็มีข่าวที่น่าฮือฮาของ “เชลซี” หลังคว้าตัว เบอนัวต์ บาเดียชิล กองหลังดาวรุ่งวัยย่าง 22 ปี จากโมนาโก ด้วยค่าตัว 35 ล้านปอนด์

โดยประเด็นสำคัญอยู่ที่ บาเดียชิล ตกลงเซ็นสัญญายาวถึง 7 ปีครึ่ง หรือสิ้นสุดช่วงซัมเมอร์ปี 2030 ท่ามกลางคำถามที่ตามมาว่า คุ้มเสี่ยงหรือไม่ กับการที่สโมสรเลือกที่จะผูกมัดสัญญานักเตะยาวๆ แบบนี้

บาเดียชิล เป็นหนึ่งในนักเตะใหม่ “สิงห์บูลส์” ที่เซ็นสัญญามากกว่า 5 ปี ซึ่ง ท็อดด์ โบห์ลี่ย์ เจ้าของทีม ได้นำแนวคิดเรื่องสัญญากีฬาอาชีพในสหรัฐอเมริกามาใช้ ไข่มุกดำ จะมาขยายประเด็นนี้ให้ฟัง

โมเดลอเมริกัน แก้ปัญหา FFP

โดยทั่วไปแล้ว สัญญาของนักฟุตบอลอาชีพในลีกอังกฤษ มักจะกำหนดระยะเวลาสูงสุดไม่เกิน 5 ปี แต่เมื่อท็อดด์ โบห์ลี่ย์ เข้ามาเป็นเจ้าของสโมสรเชลซี ก็ได้วางนโยบายใหม่เรื่องสัญญาทั้งนักเตะใหม่ และนักเตะเก่า

นโยบายใหม่ของโบห์ลี่ย์ คือ “ให้ผู้เล่นที่อายุไม่เกิน 25 ปี ทำสัญญากัน 6 – 7 ปี” ซึ่งเป็นการนำแนวคิดเรื่องสัญญาระยะยาวของกีฬาอาชีพในสหรัฐอเมริกามาใช้ เพื่อรั้งนักเตะอายุน้อยฝีเท้าดีให้อยู่กับสโมสรไปนานๆ

ตลาดนักเตะเชลซี ในยุคของโบห์ลี่ย์ ได้คว้าตัวแข้งอายุต่ำกว่า 25 ปี และมอบสัญญายาว 6 – 7 ปี มาแล้ว 5 คน คือ มาร์ค คูคูเรย่า, คาร์นี่ย์ ชุควูเมก้า, เวสลี่ย์ โฟฟาน่า, เซซาเร่ คาซาเด และเบอนัวต์ บาเดียชิล คือรายล่าสุด

ขอบคุณภาพ https://web.facebook.com/ChelseaFC

เมื่อรวมกับนักเตะรายอื่นๆ ในฝั่งขาเข้า ทำให้โบห์ลี่ย์ ใช้เงินรวม 2 รอบตลาด ทะลุ 300 ล้านปอนด์เรียบร้อยแล้ว ซึ่งยอดใช้จ่ายที่มากขนาดนี้ อาจสุ่มเสี่ยงต่อการผิดกฎไฟแนนเชียล แฟร์เพลย์ (FFP)

อย่างไรก็ตาม ฝั่งขาออกก็ได้ปล่อยนักเตะไปมากกว่า 10 ราย เพื่อปรับสมดุลของงบการเงิน โดยไม่ให้ขัดกับกฎไฟแนนเชียล แฟร์เพลย์ อย่างเช่น ติโม แวร์เนอร์, เอเมอร์สัน, บิลลี่ กิลมัวร์ เป็นต้น

โมเดลสัญญาระยะยาวของโบห์ลี่ย์ ช่วยให้เชลซีลดต้นทุนในการเซ็นสัญญานักเตะใหม่ และต่อสัญญานักเตะเก่า ซึ่งอาจช่วยให้สโมสรใช้เงินซื้อนักเตะใหม่ได้มากขึ้น โดยไม่ผิดกฎไฟแนนเชียล แฟร์เพลย์

รู้ว่าเสี่ยง แต่เป็นผลดีกับนักเตะ

ก่อนที่จะเข้ามาเทกโอเวอร์เชลซี ท็อดด์ โบห์ลี่ย์เคยมีประสบการณ์การบริหารทีมกีฬา ด้วยการเป็นหุ้นส่วนของสโมสรเบสบอลลอสแอนเจลิส ดอดเจอร์ส ในลีก MLS เมื่อปี 2013 ซึ่งก็ประสบความสำเร็จอย่างมาก

ในยุคที่โบห์ลี่ย์เข้ามาบริหารลอสแอนเจลิส ดอดเจอร์ส ได้พลิกฟื้นทีมจากความตกต่ำให้กลับมายิ่งใหญ่ ด้วยการคว้าแชมป์กลุ่มตะวันตก 8 ครั้ง, แชมป์เนชั่นแนล ลีก 3 ครั้ง และแชมป์เวิลด์ ซีรี่ส์ ในปี 2020

ดร. แดน พลัมลี่ย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน วิเคราะห์ว่า แม้แนวคิดสัญญาระยะยาวของเจ้าของทีมสิงห์บูลส์จะมีความเสี่ยง แต่ก็จะทำให้นักเตะลดความกังวลเกี่ยวกับอนาคตการค้าแข้งในสโมสรได้ไม่น้อย

“สำหรับนักฟุตบอลดาวรุ่งแล้ว พวกเขาจะให้ความสำคัญกับสิ่งนี้มากที่สุด มันทำให้นักเตะอายุน้อยหลายๆ คน มีโอกาสพิสูจน์ตัวเองในระยะเวลาที่นานขึ้น” ดร. พลัมลี่ย์ กล่าวกับ Football Insider

“ด้วยโมเดลสัญญานักกีฬาแบบอเมริกัน เป็นการชี้ให้เห็นถึงภูมิหลังของโบห์ลี่ ในกีฬาอเมริกัน เขาสามารถใช้กลยุทธ์นี้ ในการลงทุนเพื่อพัฒนานักเตะดาวรุ่ง ซึ่งเป็นผลดีอย่างแท้จริงสำหรับเชลซี”

“แต่สิ่งที่ต้องคิดสำหรับเชลซีคือ วงการฟุตบอลในยุคปัจจุบัน ทุกสิ่งทุกอย่างต้องเกิดขึ้นเดี๋ยวนี้ คำถามคือ พวกเขาจะจัดการผลลัพธ์ระยะสั้น ให้สอดคล้องกับเป้าหมายระยะยาวได้อย่างไร ?”

แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมดที่เห็นว่าดี

นโยบายที่ให้นักเตะอยู่กับสโมสรใดสโมสรหนึ่งในระยะยาว มีมุมบวกอย่างที่ได้กล่าวไปแล้ว กระนั้น ก็มีอีกมุมหนึ่งที่ออกมาชี้ให้เห็นว่า การเสี่ยงเซ็นสัญญานักเตะยาวหลายปี อาจไม่ใด้เป็นเรื่องที่ดีเสมอไป

เมื่อเชลซี ประกาศคว้าตัวเบอนัวต์ บาเดียชิล ได้มีความเห็นส่วนหนึ่งของแฟนบอลบนโลกออนไลน์ ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การเซ็นสัญญานักเตะรายนี้ ในทำนองว่า “สัญญา 7 ปีครึ่ง มันบ้าเกินไปแล้ว”

ส่วนแฟนบอลทีมอื่นๆ อย่างเช่นแฟนบอลแอตเลติโก้ มาดริดรายหนึ่ง คอมเมนท์ว่า “ซาอูล นิเกซ เซ็นสัญญาใหม่นาน 9 ปี ตอนแรกยังเล่นดีอยู่เลย ตอนนี้เหลือสัญญาอีกถึง 3 ปีครึ่ง ยังต้องเจอกับความเสี่ยงต่อไป”

ด้านแฟนบอลเวสต์แฮม ยูไนเต็ดรายหนึ่ง เสริมว่า “เราเคยทำแบบนี้มาแล้วในอดีตกับแอนดี้ แคร์โรลล์ และวินสตัน รีด ทั้งคู่ต่อสัญญายาวคนละ 6 ปี แต่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จสักเท่าไหร่”

และไม่ใช่แค่ผู้เล่นเท่านั้น ยังมีผู้จัดการทีมอย่างอลัน พาร์ดิว เมื่อปี 2012 ที่ประกาศต่อสัญญาคุมทีมนิวคาสเซิล ยูไนเต็ด ยาวถึง 8 ปี แต่อยู่ได้เพียง 2 ปี ก็ลาออกไปคุมทีมคริสตัล พาเลซ

การนำแนวคิดสไตล์อเมริกันของท็อดด์ โบห์ลี่ย์ จะพาเชลซีไปในทิศทางไหน และผลงานในสนามซีซั่นแรกของการเป็นเจ้าของทีมจะเป็นอย่างไร นี่คือคำถามที่แฟนบอลจะได้ทราบคำตอบในอีกไม่นานนี้

เรียบเรียง : จักรพันธ์ ภู่ทอง

อ้างอิง :

– https://www.dailymail.co.uk/sport/football/article-11116957/New-Chelsea-owner-Todd-Boehly-looking-implement-style-contract-policy-club.html

– https://www.dailymail.co.uk/sport/football/article-11603161/Chelseas-decision-hand-Benoit-Badiashile-seven-half-year-deal-called-absolutely-INSANE.html

– https://www.cityam.com/heres-why-chelsea-could-benefit-from-handing-33m-signing-badiashile-a-mammoth-seven-year-contract/

– https://www.footballinsider247.com/chelsea-stars-thrilled-as-seven-year-deal-on-the-cards-finance-guru/

– https://boardroom.tv/benoit-badiashile-chelsea-contract/

Categories
KMD Opinion

สื่อสารเพื่อไม่ให้เกิดข้อ “แก้ตัว” ในสนาม

เหมือนสัปดาห์ก่อนในเกมทีมชาติไทยกับอินโดนีเซียที่มี “ภาพไม่น่าจำ” แฟนบอลอินโดฯ กระทำการใส่ทัพนักเตะไทย และเกิดกระแสไวรัลประมาณหนึ่งตามมาถึงพฤติกรรมไม่ดีดังกล่าว บลา บลา จากทุกภาคส่วน

สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับผู้บริหาร ทีมงานโค้ช ก็คือ ต้องสื่อสารออกมาในทิศทางที่จะไม่ทำให้สิ่งกระทบเหล่านั้นสามารถกลายเป็นปัจจัย “แก้ตัว” (Excuse) หากผลงานในสนามไม่ดี

หรือยิ่งกว่านั้นคือ จะกลายเป็น mindset ให้ทีมรู้สึกเหมือนมีข้อแก้ตัวหากผลงานจะไม่ดี ตั้งแต่ยังไม่เตะ

ทิศทางการโต้ตอบก็เช่น “ให้เป็นเรื่องของกฎหมาย กฎระเบียบ เรามุ่งโฟกัสเฉพาะความปลอดภัย และเกมในสนาม” หรือ “เราจะควบคุมเฉพาะที่คุมได้ คือ เรื่องของทีมเราเอง เราไม่สนใจเรื่องอื่น ๆ และจะให้ประเด็นนอกสนามเข้ามากระทบผลงานในสนาม”

หาใช่ ตระหนก หรือกระพือกระแส ผสมโรงกันไปทุกภาคส่วน คือ รายงานหรือพูดตามจริงแบบที่รู้ ๆ ได้ แต่สุดท้ายเราต้อง “ตบกลับ” เข้ามาที่จุดยืนของเรา และของทีม

เช่นกันครับ เหมือนที่ เยอร์เกน คลอปป์ ได้กล่าวไว้ว่า “อะไรกัน ทำราวกับเราไม่มีทีมฟุตบอล” หลังแฟน ๆ ส่งเสียง “Who’s next?” ใครเป็นรายต่อไปหลังเซ็นสัญญา โคดี้ กัคโป มาร่วมทีม

ประมาณว่า เพิ่งเซ็นนักเตะใหม่มายังไม่ทันจะข้ามคืน ขอตัวใหม่ หรือตัวต่อ ๆ ไปกันแล้ว

จริง ๆ ในอีกมุมหนึ่ง และเหมือนที่เช้านี้มี trend ในทวิตเตอร์ #FSGOUT นั่นแหละครับว่า แฟนบอลก็แบบนี้อยู่แล้ว หรือพวกเรา ๆ ก็แบบนี้

ซึ่งบางทีก็พูด ๆ ไปก่อน ไม่ได้มีเจตนาอะไรใด ๆ รุนแรง (แต่ได้ก็ดี)

อันเป็นอะไรที่เข้าใจได้

อย่างไรก็ดีครับ ประเด็นของโพสต์สั้น ๆ วันนี้ ก็คือ respond จากคลอปป์ข้างต้นที่ set up mindset นักเตะ และทีม และแฟน ๆ ทั้งหลายทั้งปวง ทุกกลุ่มผู้เกี่ยวข้องทีมทั้งหมดให้อยู่ในจุดที่ถูกต้อง

แปลความได้ว่า “เฮ้ย! ใจเย็น ๆ เพื่อน เพิ่งเซ็นมา อย่าลืมว่า ทีมที่มีอยู่ก็มีดี”

แน่นอนว่า มุมของคลอปป์ยังหมายถึงแนวคิดเดิม ๆ ได้ “ตอกย้ำ” นั่นคือ จะไม่ซื้ออะไรโดยไม่จำเป็น ไม่เหมาะสม

และมันยังทำให้นักเตะชุดปัจจุบัน ยังเท้าติดดิน และไม่ไขว้เขว ไม่เอนเอียงกับกระแสอะไรใด ๆ อันเป็นสิ่งที่ดี

ไม่มีอะไรครับ ผมเองก็รอจังหวะเขียนถึง “มุมนี้” อยู่เช่นกัน และคิดว่า วันนี้เหมาะสมก่อนเกมทีมชาติไทยนัดสุดท้ายรอบแบ่งกลุ่มอาเซียน คัพ กับกัมพูชา และในช่วงกระแส #FSGOUT แอบแรงแต่เช้าเวลาไทย

ร่วมแตะหน้าจอพูดคุยด้วยตัวอักษรกันได้เหมือนเดิมครับ

☕ณัฐวุฒิ ประเทืองศิลป์

📷Sky Sports

Categories
KMD Opinion

วิเคราะห์จังหวะโคนาเตโดนเหลี่ยมกระแทก

สถานการณ์ “ปัญหา” และเป็นข้อ “ถกเถียง” ช่วงผ่านนาทีที่ 80 ที่เกิดโดย ไบรอัน เอ็มบูโม ใช้หัวไหล่กระแทกด้านหลัง อิบู โคนาเต แต่ถูกตีความว่า “ไหล่ชนไหล่” ทว่าด้วยส่วนสูงต่างกันเกิน 20 เซนติเมตร มันไม่มีทางไหล่ชนกันได้ นำมาซึ่งอิบู ล้มลง แล้วดาวเตะแคเมอรูน เลือกมุมยิงช้อยปิดฉาก 3-1 ให้เบรนท์ฟอร์ดปราบลิเวอร์พูล

เหตุการณ์นี้ มองอย่างไร และตีความอย่างไรได้บ้าง? (ในมุมของผม)

อันดับแรก มันคงไม่ใช่การตัดสินได้ง่าย ๆ ว่าถูก หรือผิด, ฟาล์ว หรือไม่ฟาล์ว เหมือนกรณี เมาแล้วขับ ซึ่งผิดแน่ ๆ แต่ขนาดผิดแน่ ๆ เคสนักเตะชลบุรีเมื่อไม่นานมานี้ปีก่อนยัง “ดรามา” ได้เลย

ดังนั้นกรณี “เสียงแตก” แบบนี้ ยังไงจึงไม่จบง่าย ๆ

ฉะนั้น อันดับสองที่ต้องอธิบายเพิ่ม คือ หากเกิดข้อครหาได้ หรือเสียงแตกได้ขนาดนี้กับการตัดสิน ผมจะเลือกให้ “ฟาล์ว” และไม่ให้ประตูเกิดขึ้นไว้ก่อน

เพราะ 2-1 คือ เสียหายเท่าเดิม แต่ 3-1 คือ ไม่ใช่แล้ว

มันต้องแบบว่า 10 เสียง ชนะกัน 8 ต่อ 2 หรือ 7 ต่อ 3 ไม่ใช่แบบ 5 ต่อ 5 หรือ 4 ต่อ 6 หรือ 6 ต่อ 4 อะไรแบบสถานการณ์นี้

หรือที่กลายเป็นปัญหาตามมาได้แบบนี้มันก็ตอบในตัวเองอยู่แล้วว่า ลูกนี้ไม่ควรเป็นประตู และควรจะเป่าฟาล์วก่อน

อย่างไรก็ดีครับ อันดับสาม คือ โคนาเต (194 เซนติเมตร) ล้มง่ายไปจริง ๆ เหมือนกูรู และเพื่อน ๆ หลายคนว่าไว้เทียบกับ เอ็มบูโล (171 เซนติเมตร)

ฉะนั้น ต่อไปนี้ เวลาสอนผู้เล่นของเรา เราควรเน้นย้ำ stay on your feet ไว้ก่อน ไม่ใช่ล้ม (ง่ายไป) แล้วหวังลุ้นกรรมการตัดสินช่วย โดยเฉพาะสถานการณ์ที่นำสู่การเสียประตูได้แบบนี้

ถัดมา อันดับสี่ คือ อิบู มีชอยส์ในการเล่นได้เยอะ ตั้งแต่อ่านเกม แล้วตัดโหม่งก่อนจากบอลของ คริสเตียน นอร์การ์ด ซึ่งเปิดข้ามศีรษะแนวรับสุดท้าย หรือแทงทะลุช่องแนวรับสุดท้ายได้ดีเหลือเกิน

หรือบอลข้ามหัวแล้วแต่เข้าถึงก่อนเอ็มบูโล่ ก็ควรโหม่งกลับให้ อลิสซง หรือเอาลงแล้วเคลียร์ เอาลงแล้วคืนอาลี ฯลฯ

คือ ทำได้ไม่ต่ำกว่า 3-4 ทางเลือก แต่กลับไปเลือกทางออกที่ “สุ่มเสี่ยง” สำหรับปัญหา และปัญหาก็มาจริง ๆ

ครับ ไม่ได้ซ้ำเติม ไม่ได้อะไรใด ๆ เพราะ “ภาพรวม” ทุกคนเห็นกันอยู่แล้ว

เชียร์กันต่อไปครับ YNWA

☕ณัฐวุฒิ ประเทืองศิลป์

📷Football Tweet

Categories
Football Business

ว่าด้วยเรื่อง “อาร์เซน่อล” กับการเงินที่ติดลบต่อเนื่อง

วันคริสต์มาส ในปี 2022 แฟนบอลอาร์เซน่อลคงจะมีความสุขไม่น้อย ที่ได้เห็นทีมรักนำเป็นจ่าฝูงพรีเมียร์ลีก ซึ่งต้องรอดูว่าหลังจากเบรกฟุตบอลโลก จะยังสานต่อความยอดเยี่ยมไว้ได้หรือไม่

อย่างไรก็ตาม ยักษ์ใหญ่จากนอร์ธ ลอนดอนทีมนี้ ได้ประกาศผลประกอบการรอบล่าสุด ประจำปีงบประมาณ 2021-22 พบว่าขาดทุน 45.5 ล้านปอนด์ ทำสถิติขาดทุนต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 ติดต่อกันแล้ว

เรื่องราวเบื้องหลังการเงินของ “เดอะ กันเนอร์ส” ที่ผลประกอบการติดลบอย่างต่อเนื่องหลายปี จะเป็นอย่างไร ติดตามได้ที่ ไข่มุกดำ x SoccerSuck

เปิดเบื้องหลังการเงิน “เดอะ กันเนอร์ส”

ปีงบประมาณ 2021-22 อาร์เซน่อลขาดทุน 45.5 ล้านปอนด์ เป็นการติดลบ 4 ปีติดต่อกัน นับตั้งแต่ปี 2018-19 (27.1 ล้านปอนด์), ปี 2019-20 (47.8 ล้านปอนด์) และปี 2020-21 (107.3 ล้านปอนด์)

ปี 2020-21 ที่อาร์เซน่อลขาดทุนระดับหลักร้อยล้านปอนด์ สาเหตุสำคัญคือผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ไม่สามารถเปิดให้แฟนบอลเข้าชมการแข่งขันในสนามได้ตามปกติ

ขณะที่ในปี 2021-22 อาร์เซน่อลไม่ได้เข้าร่วมฟุตบอลสโมสรยุโรปรายการใดๆ เลย เป็นครั้งแรกในรอบ 25 ปี แต่ยอดขาดทุนลดลงอย่างมากจากงวดปี 2020-21 เพราะมีรายได้จากแมตช์เดย์มากขึ้น

อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้อาร์เซน่อลมีปัญหาการเงิน คือการใช้เงินซื้อนักเตะไปมากกว่า 200 ล้านปอนด์ ใน 2 ซีซั่นหลังสุด รวมถึงการผ่องถ่ายนักเตะทั้งการขายขาดและปล่อยยืมตัว ทำได้ไม่ดีพอ และได้ราคาไม่ดีเท่าที่ควรจะเป็น

ในส่วนของเงินทุนหมุนเวียน อาร์เซน่อลได้กู้ยืมเงิน 70 ล้านปอนด์กับธนาคารในอังกฤษ รวมกับเงินที่ได้จากการรีไฟแนนซ์ จาก Kroenke Sports & Entertainment (KSE) ของสแตน โครเอ็นเก้ อีกประมาณ 32 ล้านปอนด์

สำหรับเงินกู้ยืมของอาร์เซน่อล จะนำไปปรับปรุงสนามเอมิเรตส์ สเตเดี้ยม รังเหย้าของสโมสรครั้งใหญ่สุด นับตั้งแต่สร้างสนามมาเมื่อปี 2006 เช่น เพดานสนาม รวมถึงจุดทางเข้าสนามเพื่อให้แฟนบอลเข้าไปได้อย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม เงินที่โครเอ็นเก้ ในนามของ KSE ให้มานั้น ไม่ใช่เงินให้เปล่า แต่เป็นเงินกู้ที่มีระยะเวลาในการกู้นานขึ้น และอัตราดอกเบี้ยน้อยกว่ากู้ธนาคาร ถือเป็นการพิสูจน์ฝีมือในการบริหารหนี้สินของอาร์เซน่อลได้เป็นอย่างดี

กลับสู่การพึ่งตัวเองเพื่อความยั่งยืน

เมื่อการเงินของอาร์เซน่อล ไม่ได้แข็งแกร่งมากเหมือนกับสโมสรยักษ์ใหญ่อื่นๆ ทางที่ดีที่สุดที่จะทำให้พวกเขาอยู่ได้อย่างยั่งยืน คือการกลับไปใช้วิธีพึ่งพาตัวเอง เหมือนที่เคยทำมาแล้วเมื่อหลายปีก่อน

การไม่ได้เข้าร่วมยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก และผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้รายได้ของอาร์เซน่อลหายไปอย่างมาก จึงต้องเปลี่ยนแปลงการบริหารสโมสร โดยวางแผนทางการเงินอย่างเข้มงวด

ประการแรก อาร์เซน่อลได้ลดจำนวนพนักงานของสโมสร ในฤดูกาล 2021/22 จาก 624 คน เหลือ 595 คน ช่วยประหยัดเงินได้ 34 ล้านปอนด์ และได้จ่ายค่าชดเชยพนักงานที่ถูกเลิกจ้างทั้งหมด 6.7 ล้านปอนด์

และอีกประการหนึ่ง คือการปรับเปลี่ยนโครงสร้างนักเตะทีมชายชุดใหญ่ของสโมสร โดยเน้นการลงทุนไปที่นักเตะอายุน้อย ค่าเหนื่อยไม่สูงเป็นหลัก เพื่อเป็นรากฐานสำหรับการเงินที่แข็งแกร่งในอนาคต

ยกตัวอย่างเช่น การเสริมทีมในช่วงซัมเมอร์ปี 2021 อาร์เซน่อลใช้เงินไป 125.8 ล้านปอนด์ แลกกับนักเตะหลายคน เช่น เบน ไวท์, มาร์ติน โอเดการ์ด, อารอน แรมสแดล, ทาเคฮิโระ โทมิยาสุ, อัลเบิร์ต ซามบี โลก็องก้า และนูโน่ ตาวาเรส

ถึงแม้กาเบรียล เชซุส ได้รับบาดเจ็บหนักต้องพักยาว ก็ยังสามารถซื้อผู้เล่นในตลาดเดือนมกราคมได้ตามปกติ แต่ต้องเป็นการซื้อเพื่อใช้งานในระยะยาวจริงๆ ไม่ใช่ซื้อเพื่อเป็นตัวแทนของเชซุสเพียงชั่วคราว

เป็นที่รู้กันแล้วว่า อนาคตของอาร์เซน่อล ขึ้นอยู่กับการได้สิทธิ์ไปเล่นยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ซึ่งพวกเขาตั้งเป้าที่จะไปให้ถึงจุดนั้น เพื่อแลกกับความมั่นคงทางการเงินของสโมสรในระยะยาว

“ถ้วยใหญ่ยุโรป” คือความหวัง

จากการที่อาร์เซน่อล ห่างหายจากการเข้าร่วมแข่งขันยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก รายการที่เปรียบดั่งขุมทรัพย์ของทีมฟุตบอลมานาน 6 ปีติดต่อกัน ทำให้การเงินของสโมสรไม่คล่องตัวเท่าที่ควร

แน่นอนว่า การเข้าร่วมแชมเปี้ยนส์ ลีก คือเป้าหมายสำคัญที่ “ปืนใหญ่” จำเป็นต้องทำให้ได้เป็นอันดับแรก เพื่อช่วยแก้ไขเรื่องรายรับ และรายจ่ายของสโมสร ให้กลับมาเป็นปกติโดยเร็ว

ถ้าทีมของมิเกล อาร์เตต้า สามารถคว้าโควตาไปแชมเปี้ยนส์ ลีก ในฤดูกาล 2023/24 จะได้รับเงินรางวัลการันตี 13.48 ล้านปอนด์ และมีสิทธิ์ได้เงินเพิ่มอีก 2.4 ล้านปอนด์ ต่อการชนะในเกมรอบแบ่งกลุ่ม 1 นัด

และถ้าหากผ่านเข้ารอบน็อกเอาต์ถ้วยใหญ่ยุโรปได้ จะได้เงินเพิ่มอีก 8.2 ล้านปอนด์ อีกทั้งยังมีรายได้จากค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด และรายได้ในแต่ละแมตช์เดย์ อย่างน้อยที่สุด อาร์เซน่อลจะได้รับเงินประมาณ 50 ล้านปอนด์

โดยกลุ่มแฟนบอลของอาร์เซน่อล ในนาม Arsenal Supporters’ Trust ได้ออกมาแสดงความเชื่อมั่นว่า ผลงานที่ยอดเยี่ยมในฤดูกาลนี้ น่าจะทำให้สโมสรที่พวกเขารัก กลับมามีผลประกอบการที่ดีขึ้นในเร็ววัน

“ด้วยนักเตะที่อายุยังน้อย และการกลับสู่ฟอร์มการเล่นที่ดีของทีม ทำให้รายได้ในสนามเพิ่มขึ้น ถือเป็นรากฐานที่ดีสำหรับอาร์เซน่อล ที่จะต่อยอดในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ดังนั้นเราต้องได้ไปแชมเปี้ยนส์ ลีก ในซีซั่นถัดไป เพื่อทำให้เรามั่นใจมากขึ้น”

คาดว่าผลประกอบการในปีงบประมาณ 2022-23 ที่จะสิ้นสุดในเดือนพฤษภาคมปีหน้า อาร์เซน่อลจะมีผลประกอบการที่ดีขึ้น จากการได้เล่นถ้วยสโมสรยุโรป และปล่อยนักเตะค่าเหนื่อยแพงออกไปหลายคน

เรียบเรียง : จักรพันธ์ ภู่ทอง

อ้างอิง :

https://theathletic.com/3965749/2022/12/04/arsenal-45m-loss-january-gabriel-jesus/

https://www.mirror.co.uk/sport/football/news/champions-league-winner-prize-money-27910360

https://editorial.uefa.com/resources/0277-158b0bea495a-ba6c18158cd3-1000/20220704_circular_2022_47_en.pdf

Categories
Football Tactics

ผ่าแท็กติก “อาร์เซน่อล” กับการเริ่มต้นซีซั่นที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์

อาร์เซน่อล ออกสตาร์ท 10 เกมแรกของพรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 2022/23 ด้วยผลงานที่สุดยอด ชนะ 9 และแพ้ 1 นำเป็นจ่าฝูงของตาราง เป็นสถิติที่ดีที่สุดนับตั้งแต่ก่อตั้งสโมสรมา 136 ปี

ส่วนในยูฟ่า ยูโรป้า ลีก ก็เก็บชัยชนะทั้ง 4 เกม โดยเกมล่าสุดเมื่อคืนวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา เปิดบ้านชนะพีเอสวี ไอนด์โฮเฟ่น 1 – 0 และจะพบกับยอดทีมจากเนเธอร์แสนด์ทีมนี้อีกครั้งในสัปดาห์หน้า

SoccerSuck x ไข่มุกดำ จะมาอธิบายถึงเหตุผลในเชิง “แท็กติก” ที่ทำให้ทีมของมิเกล อาร์เตต้า สร้างสถิติการเริ่มต้นซีซั่นที่ยอดเยี่ยมที่สุดในประวัติศาสตร์ของ “เดอะ กันเนอร์ส”

⚽️ เกมรับที่ดูดี และมีประสิทธิภาพ

ก่อนที่พรีเมียร์ลีกจะทำการแข่งขันในสุดสัปดาห์นี้ อาร์เซน่อล เสียไป 10 ประตู จาก 10 นัด น้อยสุดเป็นอันดับ 2 ร่วมกับแมนเชสเตอร์ ซิตี้ และเชลซี ซึ่งเป็นรองนิวคาสเซิล (9 ประตู) เพียงทีมเดียวเท่านั้น

2 นัดหลังสุดที่พบกับลิเวอร์พูล และลีดส์ ยูไนเต็ด แผงแนวรับของอาร์เซน่อล ประกอบด้วยฟูลแบ็ก 2 ข้าง ทาเคฮิโร่ โทมิยาสุ (ซ้าย), เบน ไวท์ (ขวา) และเซ็นเตอร์แบ็ก วิลเลี่ยม ซาลีบา คู่กับกาเบรียล มากัลเญส

โดยเฉพาะนัดที่เปิดบ้านชนะลิเวอร์พูล 3 – 2 แบ็กซ้ายอย่างโทมิยาสุ สามารถจัดการโมฮัมเหม็ด ซาลาห์ จนแทบจะไม่มีส่วนร่วมกับเกม และทำให้ดาวเตะอียิปต์ถูกเปลี่ยนตัวออกในช่วง 20 นาทีสุดท้าย

ส่วนคู่เซ็นเตอร์แบ็กทั้งซาลีบา และมากัลเญส ที่ต่างสไตล์แต่เข้ากันได้อย่างลงตัว มีความแข็งแกร่ง ดุดัน ครองบอลได้ดีและสามารถดันขึ้นไปช่วยทำเกมรุกได้ แต่มากัลเญสดูเหมือนจะครบเครื่องกว่า

แท็กติก “ไฮไลน์ ดีเฟนซ์” ของอาร์เตต้า ได้ผลดีเป็นส่วนใหญ่ ยกเว้นเกมที่แพ้แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เพียงเกมเดียวเท่านั้น ที่แนวรับเสียสมาธิแค่ไม่กี่วินาที เปิดช่องให้ “ปิศาจแดง” ฉวยโอกาสพังประตูจนได้

ขอบคุณภาพ : https://web.facebook.com/Arsenal

⚽️ เริ่มต้นเกมได้ดี มีชัยไปกว่าครึ่ง

จาก 14 เกมรวมทุกรายการ มีถึง 10 เกมที่อาร์เซน่อล ไม่เสียประตู แถมยิงประตูขึ้นนำคู่แข่งก่อนภายใน 30 นาทีแรกของการแข่งขัน อีกทั้งยังรักษาสกอร์นำได้นานที่สุดในพรีเมียร์ลีก คิดเป็น 59 เปอร์เซ็นต์จากทั้งหมด

มิเกล อาร์เตต้า กุนซือเดอะ กันเนอร์ส กล่าวว่า “โค้ชทุกคนต้องการเห็นทีมทำประตูตั้งแต่นาทีแรก แน่นอนว่ามันคงไม่เกิดขึ้นทุกนัด แต่เป้าหมายของเราคือพาบอลบุกไปข้างหน้าให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้”

นอกจากนี้ การที่อาร์เตต้าได้แต่งตั้งมาร์ติน โอเดการ์ด มิดฟิลด์เลือดนอร์เวย์ เป็นกัปตันทีมคนใหม่ ทำให้แนวทางของทีมเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น ซึ่งกรานิต ซาก้า อดีตกัปตันทีม ก็ข่วยหนุนหลังอย่างเต็มที่

ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด คือเกมที่พบกับท็อตแน่ม ฮอทสเปอร์ เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา อาร์เซน่อล ผ่านบอลจากแผงหลังอย่างรวดเร็ว ระหว่างเบน ไวท์ โทมัส ปาร์เตย์, มาร์ติน โอเดการ์ด และกาเบรียล เชซุส

อาร์เซน่อล ขึงเกมรุกกดดันในแดนของคู่แข่งอยู่พักใหญ่ ทำให้สเปอร์เสียฟาวล์บริเวณกลางสนาม ก่อนที่ปาร์เตย์จะยิงขึ้นนำตั้งแต่ 20 นาทีแรก แม้จะเสียประตูตีเสมอจากจุดโทษ แต่ก็กลับมาเอาชนะได้

⚽️ สร้างโอกาสทำประตูได้มากขึ้น

การเซ็นสัญญากาเบรียล เชซุส จากแมนเชสเตอร์ ซิตี้ มีส่วนสำคัญที่ทำให้แนวทางการเล่นเกมรุกของอาร์เซน่อล เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด และช่วยให้แนวรุกคนอื่น ๆ สร้างโอกาสลุ้นประตูได้มากขึ้น

เชซุส เข้ามาเพิ่มความคล่องตัว และสร้างความอันตรายในเกมบุกของอาร์เซน่อลได้ดีกว่าอเล็กซองดร์ ลากาแซตต์ ดาวยิงคนเก่า โดยอดีตดาวเตะแมนฯ ซิตี้ รับบอลจากเพื่อนร่วมทีมได้ถึง 91 ครั้ง มากที่สุดในลีก

ขอบคุณภาพ : https://web.facebook.com/Arsenal

บูกาโย่ ซาก้า กับกาเบรียล มาร์ติเนลลี่ มีโอกาสซัดประตูภายในกรอบเขตโทษถึง 20 ครั้ง (มากที่สุดเท่ากับโมฮัมเหม็ด ซาลาห์) และมาร์ติน โอเดการ์ด อาจโผล่ขึ้นมาระหว่างไลน์เพื่อสอดบอลเข้าไปด้านหลัง

ขณะที่กรานิต ซาก้า หลังจากเล่นในตำแหน่งกลางตัวรับที่ไม่ถนัดมานาน ก็ได้รับบทบาทใหม่ที่มีส่วนช่วยในการขึ้นเกมรุกมากขึ้น และมักจะสอดเข้าไปในกรอบเขตโทษพร้อมยิงประตูได้ตลอดเวลา

จากข้อมูลชอง fbref.com ระบุว่า แนวรุก 4 จาก 5 คนของอาร์เซน่อล ติดอันดับนักเตะที่มีส่วนในการสร้างโอกาสเพื่อทำประตู (Shot-Creating Actions : SCA) ในพรีเมียร์ลีกมากที่สุด 10 อันดับแรก

ซาก้า กับมาร์ติเนลลี่ มีส่วนร่วม 38 ครั้งเท่ากัน อยู่อันดับ 3, เชซุส 36 ครั้ง อยู่อันดับ 8 ร่วม และชาก้า35 ครั้ง อยู่อันดับ 10 ร่วม ขณะที่โอเดการ์ด ทำได้ 32 ครั้ง ซึ่งเป็นตัวเลขที่ถือว่าใกล้เคียงกันมาก

⚽️ พร้อมลุ้นแชมป์พรีเมียร์ลีกหรือยัง ?

อีกสิ่งหนึ่งที่อาร์เซน่อล ทำผลงานได้ดีสม่ำเสมอขนาดนี้ คือนับตั้งแต่ฤดูกาลที่แล้ว จนถึงตอนนี้ มิเกล อาร์เตต้า ใช้ผู้เล่น 11 ตัวจริงหน้าเดิมถึง 11 นัด มากที่สุดเมื่อเทียบกับทีมอื่นๆ ในพรีเมียร์ลีก

ภาพรวมฟอร์มการเล่นนับตั้งแต่เปิดซีซั่น ตำแหน่งที่อาร์เซน่อลพัฒนาขึ้นมามากในฤดูกาลนี้ คือฟูลแบ็กทั้ง 2 ข้าง รวมถึงแนวรุกที่เล่นได้อย่างลื่นไหล ขณะที่แดนกลางแม้จะไม่โดดเด่นมากนัก แต่ถือว่ายังทำได้ดี

โดยอาร์เซน่อล มีค่าเฉลี่ยความเป็นไปได้ที่จะมีประตูเกิดขึ้นต่อเกม (Expect Goal : xG) อยู่ที่ 1.0 หมายความว่า 1 นัด การันตี 1 ประตู ซึ่งดีสุดเป็นอันดับ 2 รองจากแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ที่มีค่า xG ต่อเกมอยู่ที่ 1.4

ในประวัติศาสตร์ 30 ปี ของพรีเมียร์ลีก ทีมที่ทำสถิติชนะ 9 จาก 10 นัดแรก เคยเกิดขึ้นทั้งหมด 5 ครั้ง และคว้าแชมป์เมื่อจบซีซั่นได้ 4 ครั้ง คือ เชลซี (2005/06), แมนฯ ซิตี้ (2011/12, 2017/18) และลิเวอร์พูล (2019/20)

ขอบคุณภาพ : https://web.facebook.com/Arsenal

อย่างไรก็ตาม 10 นัดแรกของซีซั่นที่แล้ว แมนฯ ซิตี้ ตามหลังเชลซี จ่าฝูงในขณะนั้นอยู่ 5 แต้ม แต่ก็แซงคว้าแชมป์ในบั้นปลาย เฉือนชนะลิเวอร์พูลแค่แต้มเดียว ส่วน “สิงห์บูลส์” ได้แค่ที่ 3 และมีแต้มน้อยกว่าถึง 19 แต้ม

ส่วนเกมที่อาร์เซน่อล จะดวลกับทีมของเป๊ป กวาร์ดิโอล่านั้น เดิมทีต้องลงเตะเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ถูกเลื่อนออกไป เนื่องจาก “เดอะ กันเนอร์ส” ติดโปรแกรมยูโรป้า ลีก กว่าจะได้เจอกันต้องรอถึงช่วงหลังปีใหม่

เป้าหมายแรกของอาร์เซน่อลที่ต้องทำให้ได้ก่อน คือการกลับเข้าร่วมแชมเปี้ยนส์ ลีก ส่วนเรื่องลุ้นแชมป์พรีเมียร์ลีก คงต้องยืนระยะให้ได้แบบยาว ๆ ซึ่งจะเป็นบทพิสูจน์ชั้นดีว่ามิเกล อาร์เตต้า เจ๋งจริงหรือไม่

เรียบเรียง : จักรพันธ์ ภู่ทอง

อ้างอิง :

https://theathletic.com/3704476/2022/10/20/arsenal-arteta-data-tactics-analysis/

https://theathletic.com/3638949/2022/09/30/arsenal-tottenham-tactical-preview/

https://theathletic.com/3633401/2022/09/28/arsenal-control-mikel-arteta-passes-request/

https://theathletic.com/3555797/2022/09/01/arsenal-villa-gabriel-martinelli-responding/

https://theathletic.com/3527556/2022/08/24/arsenal-press-jesus-martinelli-saka/

https://theathletic.com/3524139/2022/08/21/zinchenko-arsenal-xhaka/

https://fbref.com/en/squads/18bb7c10/Arsenal-Stats

Categories
Football Tactics

เรียนรู้จากสุดยอดโค้ช : แรงบันดาลใจของ “ซาคคี่” ที่อาจช่วย “คล็อปป์” คืนชีพลิเวอร์พูล

เจอร์เก้น คล็อปป์ ที่กำลังจะครบรอบ 7 ปี ในการคุมทีมลิเวอร์พูล ทำผลงานช่วงออกสตาร์ทฤดูกาลนี้ได้แบบกระท่อนกระแท่น ทำเอาแฟนๆ หงส์แดง ผิดหวังไม่น้อยเลยทีเดียว

เชื่อว่ากุนซือชาวเยอรมัน ขวัญใจ “เดอะ ค็อป” ได้ใช้ช่วงหยุดพักที่ยาวนานถึง 2 สัปดาห์กว่าๆ ทบทวนถึงความพังพินาศที่เกิดขึ้นในช่วงต้นฤดูกาล และพร้อมที่จะสู้กันใหม่กับซีซั่นที่ไม่ปกติ

หลังกลับมาจากพักเบรกโปรแกรมทีมชาติ ลิเวอร์พูลจะเข้าสู่ช่วงโปรแกรมหฤโหด เพราะต้องลงเตะถึง 13 นัด ในช่วงเดือนตุลาคม และพฤศจิกายน ก่อนหลีกทางให้ฟุตบอลโลกที่กาตาร์

บางที คล็อปป์อาจจะต้องศึกษาแนวทางของอาร์ริโก้ ซาคคี่ อดีตตำนานโค้ชผู้ยิ่งใหญ่ของเอซี มิลาน ซึ่งทาง SoccerSuck x ไข่มุกดำ จะมาขยายประเด็นนี้ให้ฟังกันครับ

วิธีคิดของซาคคี่ พลิกจากดำดิ่งสู่ยิ่งใหญ่

“ถ้าทีมฟุตบอลทีมหนึ่งไม่มีอะไรบางอย่าง เช่นการเพรสซิ่ง และการเคลื่อนที่ ศักยภาพจะหายไปครึ่งหนึ่ง ทีมที่ผมเคยเป็นโค้ช ก็ต่อสู้เพื่อชัยชนะ พวกเขาประสบความสำเร็จมาตลอดเมื่อมีแคแร็กเตอร์ที่ชัดเจนและดุดัน”

“พวกเราไม่มีความสุข เพราะความมุ่งมั่นที่ลดลงอย่างชัดเจน พวกเรากำลังละเลยอะไรหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการเพรสซิ่ง, การหาช่อง และความเร็ว พวกเราต้องทบทวนเกี่ยวกับความคิดของเราใหม่อีกครั้ง”

“พวกเราไม่มีความหนักแน่น หย่อนยาน และเต็มไปด้วยความกลัว ตอนนี้พวกเราคือปืนที่หละหลวม มีนักเตะเพียงไม่กี่คนที่พยายามเคลื่อนไหวสู้กับนักเตะคนอื่น ๆ ความวุ่นวายกำลังครอบงำพวกเขาอยู่”

ทั้งหมดที่กล่าวมา คือคำพูดของอาร์ริโก้ ซาคคี่ อดีตผู้จัดการทีมเอซี มิลาน ชุดคว้าแชมป์ยูโรเปี้ยน คัพ 2 สมัยติดต่อกัน ที่ได้บอกเล่าผ่านหนังสือ The Immortals หรือชื่อภาษาไทยคือ “ตำนานไม่มีวันตาย”

ซาคคี่ ถือเป็นกุนซือผู้ริเริ่มแนวคิด “เพรสซิ่ง ฟุตบอล” ที่เข้ามาปฏิวัติวงการลูกหนังอิตาลีในช่วงปลายทศวรรษ 1980s ด้วยสไตล์การเล่นที่ใช้พละกำลังสูง ไล่กดดันคู่แข่งตั้งแต่แดนหน้า และต้องเคลื่อนที่ตลอดเวลา

ในฤดูกาล 1987/88 ซาคคี่เข้ามาเป็นเทรนเนอร์ให้กับมิลาน และคว้าแชมป์สคูเด็ตโต้ตั้งแต่ซีซั่นแรกที่คุมทีม แล้วในซีซั่นถัดมา ออกสตาร์ท 5 นัดแรกแบบไร้พ่าย แต่ในเวลาต่อมา ทีมต้องเจอกับช่วง “ดำดิ่ง” สุดๆ

เพราะอีก 7 นัดหลังจากนั้น “รอสโซเนรี่” ชนะแค่เกมเดียว แพ้ไปถึง 4 เกม ให้กับอตาลันต้า, นาโปลี, อินเตอร์ และเชเชน่า ซึ่งซาคคี่ ก็ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า “ในเรื่องของสมาธิ พวกเราไม่ได้อยู่กับมันเลย”

ทำให้ซาคคี่ ต้องแก้ปัญหาด้วยการให้ลูกทีมฝึกซ้อมเข้มข้นกว่าเดิม เช่น การซ้อมครองบอลในพื้นที่ขนาด 35 x 35 เมตร เป็นเวลา 15 นาที และการเข้าสกัดบอลจากผู้เล่น 4 คน นับจำนวนครั้งต่อนาที

หลังจากนั้น ผลงานของมิลานก็ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ไร้พ่าย 22 เกมติดต่อกันในลีก แม้จะได้แค่อันดับ 3 แต่พวกเขาปิดซีซั่นอย่างยิ่งใหญ่ ด้วยแชมป์ยูโรเปี้ยน คัพ และป้องกันแชมป์ได้อีกครั้งในซีซั่นถัดมา

เก่งกาจมาจากไหน ก็ต้องเจอความมืดมน

อาร์ริโก้ ซาคคี่ คือสุดยอดผู้จัดการทีมฟุตบอลที่เจอร์เก้น คล็อปป์ ยกให้เป็น “ไอดอล” และนำมาเป็นแรงบันดาลใจในการทำทีมลิเวอร์พูลให้ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ตลอด 7 ปีที่ผ่านมา

นับตั้งแต่ฤดูกาล 2018/19 เป็นต้นมา ที่คล็อปป์ได้แชมป์รายการแรกกับลิเวอร์พูล เขามีสถิติการคุมทีมในพรีเมียร์ลีกนับจนถึงปัจจุบันไปแล้ว 158 นัด ชนะ 112 เสมอ 30 และแพ้แค่ 16 นัดเท่านั้น

คล็อปป์ พาลิเวอร์พูลคว้าแชมป์รายการใหญ่ครบทุกรายการ โดยเฉพาะเมื่อฤดูกาลที่แล้ว ที่สร้างประวัติศาสตร์เป็นสโมสรแรกของอังกฤษ ที่ใกล้เคียงกับการลุ้น “ควอดรูเพิล” ลงเล่นครบทุกนัดทั้ง 4 ถ้วย

อดีตเฮดโค้ชปีศาจแดง-ดำ วัย 75 ปี กล่าวว่า “ลิเวอร์พูลคือทีมมหัศจรรย์ คือทีมที่แท้จริงที่ไม่มีซูเปอร์สตาร์ ทีมหนึ่งมีนักเตะ 1 คน ทำเพื่ออีก 11 คน แต่ทีมอื่น มีนักเตะ 11 คน ที่ต่างเล่นเพื่อตัวเอง”

“ผมคิดว่ามีนักเตะประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ ที่จะเคลื่อนที่ไปพร้อมกันเวลามีบอล หากเปรียบเป็นวงออร์เคสตร้า พวกเขาก็บรรเลงได้อย่างสมบูรณ์แบบ และมีจังหวะเวลาที่เหมาะสมเสมอ”

อย่างไรก็ตาม คล็อปป์ ก็เหมือนกับสุดยอดผู้จัดการทีมที่ยิ่งใหญ่ในตำนานคนอื่นๆ ที่ต้องเจอช่วงเวลามืดมนเช่นเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่นเมื่อ 2 ฤดูกาลก่อน ที่เจอวิกฤตแนวรับตัวหลักบาดเจ็บยกแผง

กุนซือชาวเยอรมัน สร้างสถิติอันเลวร้ายที่ไม่น่าจดจำ แพ้ในบ้าน 6 นัดติด แถมอันดับร่วงลงไปอยู่กลางตาราง แต่ด้วยจิตใจที่ไม่ยอมแพ้ ทำให้ทีมฮึดสู้จนคว้าตั๋วไปแชมเปี้ยนส์ ลีก ได้แบบฉิวเฉียด

13 เกมก่อนเวิลด์ คัพ ได้เวลาฟื้นหรือยัง ?

ถึงแม้เจอร์เก้น คล็อปป์ เคยวิจารณ์เรื่องโปรแกรมทีมชาติที่มาคั่นเกมระดับสโมสรว่า “ไร้สาระ” แต่ช่วงเวลาที่ได้หยุดพักไปนานถึงครึ่งเดือน เชื่อว่ายอดกุนซือวัย 55 ปี คงจะได้รับประโยชน์ไปไม่น้อยเลย

เริ่มจากสถานการณ์อาการบาดเจ็บของนักเตะในทีมเริ่มที่จะดีขึ้นตามลำดับ อีกทั้งนักเตะที่รับใช้ทีมชาติในช่วง “ฟีฟ่า เดย์” ที่ผ่านมา ต่างโชว์ฟอร์มได้ดี และพร้อมสำหรับการลงเตะ 13 นัด ก่อนฟุตบอลโลก

ช่วงโปรแกรมหฤโหดของ “หงส์แดง” เริ่มจากเดือนตุลาคม พรีเมียร์ลีก 6 เกม ในการพบกับไบรท์ตัน ต่อด้วยศึกใหญ่ 2 นัดติด ทั้งอาร์เซน่อล, แมนเชสเตอร์ ซิตี้ จากนั้นพบกับเวสต์แฮม, ฟอเรสต์ และลีดส์

ส่วนในยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก จะพบกับกลาสโกว์ เรนเจอร์ส 2 นัดติด ต้องเก็บ 6 แต้มเต็มสถานเดียว เพราะส่งผลถึงเกมที่จะบุกไปเยือนอาแจ็กซ์ อัมสเตอร์ดัม ช่วงปลายเดือน ซึ่งมีผลโดยตรงกับการลุ้นเข้ารอบ

เดือนพฤศจิกายน เปิดบ้านพบนาโปลี ที่อาจจะเป็นเกมตัดสินว่าจะได้เข้ารอบน็อกเอาต์ยูซีแอลหรือไม่ จากนั้นเจอศึกหนักกับสเปอร์สในพรีเมียร์ลีก, คาราบาว คัพ กับดาร์บี้ เคาน์ตี้ และปิดท้ายกับเซาธ์แธมป์ตันในลีก

ซึ่งสถานการณ์ของลิเวอร์พูลในเวลานี้ ถ้าให้มองในด้านบวก คือการมองเห็นจุดบกพร่องตั้งแต่ตอนต้นซีซั่น ยังมีเวลาอีกมากให้แก้ไข ซึ่งแฟนๆ ลิเวอร์พูลต่างหวังว่า นี่คือโอกาสที่ดีในการเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง

เรียบเรียง : จักรพันธ์ ภู่ทอง

อ้างอิง :

https://theathletic.com/3583294/2022/09/12/jurgen-klopp-liverpool-ac-milan/

https://theathletic.com/3640643/2022/09/29/liverpool-schedule-world-cup/

https://punditarena.com/football/matt-gault/jurgen-klopp-arrigo-sacchi-influence/

https://www.liverpoolecho.co.uk/sport/football/football-news/arrigo-sacchi-liverpool-milan-22009281

https://www.dailymail.co.uk/sport/football/article-10145959/Jurgen-Klopps-Liverpool-perfect-without-real-superstars-says-Sacchi.html

https://www.si.com/soccer/liverpool/interviews/a-masterpiece-ac-milan-legend-arrigo-sacchi-on-jurgen-klopps-liverpool

https://en.wikipedia.org/wiki/1988%E2%80%9389_A.C._Milan_season

Categories
Football Business

อาณาจักรไร้พรมแดน : “มัลติ-คลับ” โมเดลที่กำลังเขย่าวงการลูกหนังเมืองผู้ดี ?

สโมสรฟุตบอล ถือเป็นสินทรัพย์ที่นักลงทุนระดับมหาเศรษฐีอยากจะครอบครองไว้ ด้วยเหตุผลหลายประการ อาจเพราะด้วยใจรักที่แท้จริง หวังมีชื่อเสียง กอบโกยผลประโชยน์ และอื่น ๆ

แต่ฟุตบอลในยุคสมัยใหม่นั้นไปไกลกว่าเมื่อก่อนมาก เพราะมีเจ้าของสโมสรฟุตบอลบางกลุ่ม ได้ “ต่อยอด” โดยการสร้างเครือข่ายกับสโมสรฟุตบอลอื่น ๆ ครอบคลุมทุกทวีปทั่วโลก หรือ “มัลติ-คลับ”

แล้วโมเดล “มัลติ-คลับ” จะสร้างแรงสั่นทะเทือนกับวงการฟุตบอลอังกฤษได้มากน้อยเพียงใด ? SoccerSuck x ไข่มุกดำ จะมาขยายให้ฟังกันครับ

จุดเริ่มต้นมาจาก “เบร็กซิต”

แนวคิดที่เจ้าของสโมสรในพรีเมียร์ลีก หรือลีกระดับรองของอังกฤษ ในการซื้อทีมฟุตบอลได้มากกว่า 1 ทีม เริ่มขึ้นในปี 2016 หลังจากสหราชอาณาจักร ลงประชามติขอออกจากสหภาพยุโรป หรือ “เบร็กซิต” (Brexit)

ซึ่งเบร็กซิต มีผลอย่างเป็นทางการแล้วตั้งแต่ปี 2021 เป็นต้นมา ทำให้ลีกฟุตบอลในสหราชอาณาจักร ต้องอยู่ภายใต้ระบบการคิดคะแนนเพื่อได้รับอนุญาตให้เข้ามาทำงาน หรือ GBE (Governing Body Endorsement)

สำหรับเกณฑ์การคิดคะแนน GBE นั้น จะดูจาก 3 หัวข้อ ประกอบด้วย สถิติการลงเล่นทีมชาติทั้งชุดใหญ่และชุดเยาวชน, สถิติการลงเล่นกับสโมสรทั้งในลีกและถ้วยยุโรป และเกรดของสโมสรที่ขายนักเตะให้

นักเตะที่เป็นเป้าหมายการซื้อตัว จะต้องได้คะแนนอย่างน้อย 15 คะแนนขึ้นไป จึงจะได้รับอนุญาตให้เป็นนักเตะใหม่ในเมืองผู้ดี ซึ่งถ้าหากเคยลงเล่นกับสโมสรใหญ่ใน 5 ลีกหลักของยุโรป จะได้เปรียบกว่าคนอื่น

แต่ถ้าหากนักเตะเป้าหมายได้คะแนนอยู่ในช่วง 10 – 14 คะแนน สโมสรมีสิทธิ์ยื่นอุทธรณ์ และต้องสามารถชี้แจงเหตุผลต่อคณะกรรมการได้ว่า นักเตะคนนั้นได้คะแนนไม่ถึง 15 คะแนน เพราะสาเหตุที่ควบคุมไม่ได้

จากผลกระทบของเบร็กซิต ทำให้เจ้าของสโมสรฟุตบอลในสหราชอาณาจักรบางกลุ่ม ได้ใช้วิธีแก้ปัญหาด้วยการซื้อทีมฟุตบอลมากกว่า 1 แห่ง ทั้งในและนอกยุโรป และอาจฝากเลี้ยงนักเตะดาวรุ่งจนกว่าจะอายุครบ 18 ปี

“คอนเน็คชั่น” ของทีมในอังกฤษ 

ใน 5 ลีกใหญ่ของยุโรป มีเจ้าของสโมสรฟุตบอลจำนวนคิดเป็น 32.7 เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมด ที่ใช้โมเดลการซื้อทีมฟุตบอลสะสมไว้ในเครือข่ายของตัวเอง โดยมีการเชื่อมโยงกันมากถึง 91 ทีม จาก 5 ทวีปทั่วโลก

การซื้อทีมฟุตบอลสะสมไว้ในเครือข่ายของตัวเอง จะเป็นการนำโครงสร้างพื้นฐานจากสโมสรแม่ ที่พิสูจน์แล้วว่าประสบความสำเร็จ ไปแชร์ให้กับสโมสรลูก เสมือนกับการไปเปิดสาขาธุรกิจแฟรนไชส์ข้ามชาติ

โดยพรีเมียร์ลีก อังกฤษ มี 9 สโมสรที่ใช้โมเดลมัลติ-คลับ ได้แก่ อาร์เซน่อล, เบรนท์ฟอร์ด, ไบรท์ตัน, คริสตัล พาเลซ, เลสเตอร์ ซิตี้, แมนเชสเตอร์ ซิตี้, น็อตติ้งแฮม ฟอเรสต์, เซาธ์แธมป์ตัน และเวสต์แฮม ยูไนเต็ด

ขณะที่ดิวิชั่นรองลงมาที่อยู่ภายใต้ EFL มีทีมที่ใช้โมเดลมัลติ-คลับ รวมกัน 9 ทีม ได้แก่คาร์ดิฟฟ์ ซิตี้, ควีนสปาร์ค เรนเจอร์ส, เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด, ซันเดอร์แลนด์, สวอนซี ซิตี้, วัตฟอร์ด, บาร์นสลี่ย์, อิปสวิช ทาวน์ และซัลฟอร์ด ซิตี้

สโมสรในพรีเมียร์ลีกที่มีพันธมิตรลูกหนังอยู่ในเครือข่ายของตัวเองมากที่สุด คือ แมนฯ ซิตี้ 10 ทีม ตามมาด้วยพาเลซ 8 ทีม ส่วนอีก 7 สโมสรที่เหลือ ต่างมีพันธมิตรสโมสรละ 1 ทีม รวมทั้งสิ้น 25 ทีม

ตัวอย่างจากแมนฯ ซิตี้ กับบริษัท City Football Group (CFG) ที่นอกจากจะมีเป้าหมายในการทำให้สโมสรนี้ครองความยิ่งใหญ่ในอังกฤษแล้ว ยังได้นำ “พิมพ์เขียว” ไปให้สโมสรอื่น ๆ ในเครือด้วย

วิธีการของ CFG คือ จะขอซื้อกิจการของสโมสรขนาดกลางหรือเล็ก ที่พิจารณาแล้วว่าสามารถเติบโตไปด้วยกันได้ จากนั้นจะปรับภาพลักษณ์สโมสรเหล่านั้นให้เข้ากับตัวตนของแมนฯ ซิตี้ ตามความเหมาะสม

จุดเด่นของการสร้างคอนเน็คชั่นแบบนี้ คือ สโมสรฟุตบอลจะสามารถแบ่งปัน หมุนเวียนทรัพยากรต่าง ๆ ที่มีอยู่ร่วมกัน ภายในเครือข่ายเดียวกัน เป็นการเพิ่มศักยภาพทั้งด้านฟุตบอล และธุรกิจไปพร้อมกัน

โดย CFG มีฐานข้อมูลขนาดใหญ่ สำหรับค้นหานักเตะอายุต่ำกว่า 18 ปี ซึ่งอาจส่งไปให้สโมสรลูกลงเล่นบนสนามแข่งขันจริงให้ได้มากที่สุด ถ้าฝีเท้าดี และอายุถึง 18 ปีเมื่อใด ก็เซ็นสัญญากับ “เรือใบสีฟ้า” ได้ทันที

และทีมฟุตบอลที่อยู่ภายใต้เครือข่าย CFG จะมีอำนาจในการตัดสินใจขายนักเตะเพื่อทำกำไรได้ ถึงแม้นักเตะจะไปไม่ถึงทีมชุดใหญ่ของแมนเชสเตอร์ ซิตี้ แต่อย่างน้อยที่สุดก็ได้ผ่านประสบการณ์จากสนามจริงมาแล้ว

ดาบสองคมของ “มัลติ-คลับ”

การสร้างอาณาจักรมัลติ-คลับ คือพลังที่มาพร้อมกับเม็ดเงินและโอกาสที่มากขึ้น อาจเป็นแนวทางที่ดีในปัจจุบันที่สโมสรอื่น ๆ อยากเลียนแบบบ้าง แต่อีกมุมหนึ่ง โมเดลนี้ก็อาจมีปัญหาที่ตามมาเช่นเดียวกัน

ประการแรก การที่สโมสรแม่ใช้แนวคิดแบบมัลติ-คลับ คือการดึงดูดสโมสรลูกให้เข้ามาเป็นพวกเดียวกันก็จริง แต่ต้องไม่ลืมว่า แต่ละสโมสรมีอัตลักษณ์ที่แตกต่างกัน และมีความเป็น “ท้องถิ่นนิยม” ที่สูงมาก

หากสโมสรแม่ไปปรับเปลี่ยนอะไรบางอย่างที่ไม่เข้าท่า หรือไม่ได้รับการยินยอมจากแฟนบอลของสโมสรท้องถิ่น อาจจะเกิดกระแสตีกลับ เปลี่ยนจากแรงสนับสนุน กลายเป็นแรงต่อต้านแบบคาดไม่ถึงก็เป็นได้

ฉะนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดของโมเดลฟุตบอลมัลติ-คลับ คือการรักษาสมดุลระหว่างผลประโยชน์ กับความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของแต่ละสโมสรเอาไว้ เพื่อช่วยให้สโมสรในเครือเดินหน้าไปด้วยกันได้อย่างราบรื่น

อีกประการหนึ่ง โมเดลมัลติ-คลับ จะประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับผลงานของสโมสรแม่ ถ้าช่วงเวลาหนึ่ง สโมสรแม่มาถึงช่วงไร้ความสำเร็จไปนาน ๆ อนาคตของสโมสรในเครือก็อาจจะไม่แน่นอนเช่นกัน

ไม่ว่าจะทำธุรกิจฟุตบอลแบบซิงเกิล-คลับ หรือมัลติ-คลับก็ตาม ต่างก็ต้องเจอกับปัญหา และอุปสรรคที่เข้ามาไม่ต่างกัน ซึ่งเจ้าของธุรกิจต้องใช้องค์ความรู้ที่มีอยู่ มาช่วยขับเคลื่อนวงการฟุตบอลอังกฤษให้เดินหน้าต่อไป

เรียบเรียง: จักรพันธ์ ภู่ทอง

อ้างอิง :

https://www.cityfootballgroup.com/

https://theathletic.com/3135274/2022/02/19/does-owning-multiple-clubs-actually-work/

https://theathletic.com/3610992/2022/09/21/multi-club-ownership-boehly-chelsea-city-football-group/

– https://theathletic.com/3554783/2022/09/06/brexit-transfers-clubs-work-permit/

– https://www.theguardian.com/news/2017/dec/15/manchester-city-football-group-ferran-soriano

https://www.independent.co.uk/sport/football/premier-league/inside-city-football-group-manchester-city-s-network-of-clubs-new-york-melbourne-girona-a7934436.html

Categories
Special Content

เรื่องที่คุณอาจยังไม่รู้ ? : ราชวงศ์อังกฤษ กับการเชียร์ทีมฟุตบอลในดวงใจ

ชาวอังกฤษในเวลานี้ ยังอยู่ในช่วงของการไว้ทุกข์ หลังจากสมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 2 เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 8 กันยายนที่ผ่านมา ซึ่งเกมฟุตบอลในสุดสัปดาห์นี้ แข่งขันตามปกติ

แต่มีบางแมตช์ที่ต้องเลื่อนการแข่งขันออกไป ด้วยเหตุผลเรื่องกำลังตำรวจที่ไม่เพียงพอ เนื่องจากจะต้องไปดูแลความปลอดภัย ในวันประกอบพระราชพิธีพระบรมศพ วันจันทร์ที่ 19 กันยายนนี้

เมื่อพูดถึงสมาชิกราชวงศ์ของอังกฤษ หลายคนอาจยังไม่เคยทราบมาก่อนว่า ได้เลือกสนับสนุนทีมฟุตบอลที่แต่ละพระองค์ชื่นชอบ ซึ่งเป็นสิทธิที่สามารถทำได้ เช่นเดียวกับประชาชนคนธรรมดา

วันนี้ SoccerSuckไข่มุกดำ จะมาเล่าให้ฟังว่า สมาชิกราชวงศ์ของอังกฤษ เลือกเชียร์ทีมฟุตบอลทีมใดกันบ้าง ซึ่งอาจจะตรงใจกับทีมเชียร์ของแต่ละคนก็เป็นได้

สมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 2 : อาร์เซน่อล หรือ เวสต์แฮม ยูไนเต็ด

อดีตประมุขแห่งสหราชอาณาจักร ที่ครองราชบัลลังก์ยาวนานถึง 70 ปี ไม่เคยเปิดเผยต่อสาธารณชนอย่างชัดเจนว่า เลือกเชียร์ทีมฟุตบอลทีมใด แต่สันนิษฐานว่า อาจจะเป็นอาร์เซน่อล หรือ เวสต์แฮม

ด้านหนึ่ง มีการวิเคราะห์ว่า ควีนอลิซาเบธที่ 2 ได้สนับสนุนอาร์เซน่อล เพราะเป็นสโมสรเดียวในอังกฤษ ที่เปิดโอกาสให้นักเตะ และผู้จัดการทีม ได้เข้าเฝ้าพระองค์ที่พระราชวังบักกิงแฮม เมื่อปี 2007

นอกจากนี้ “เดอะ ซัน” สื่อดังของอังกฤษ เคยอ้างคำพูดของควีนอลิซาเบธที่ 2 ขึ้นหน้าหนึ่งมาแล้วว่าเป็นกองเชียร์ของอาร์เซน่อล ตามพระมารดา รวมถึงมีการเอ่ยชื่อเชส ฟาเบรกาส ที่ขณะนั้นเป็นนักเตะของทีมด้วย 

อนึ่ง เมื่อปี 2006 เจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ พระราขสวามี (สิ้นพระชนม์เมื่อเดือนเมษายน ปี 2021) เคยเสด็จแทนพระองค์ในพิธีเปิดสนามเอมิเรตส์ สเตเดี้ยม รังเหย้าแห่งใหม่ของ “เดอะ กันเนอร์ส”

แต่มีอีกด้านหนึ่งที่ระบุว่า ควีนอลิซาเบธที่ 2 เป็นแฟนเวสต์แฮม เนื่องจากชื่นชอบรอน กรีนวู้ด อดีตผู้จัดการทีมของ “เดอะ แฮมเมอร์ส” เป็นการส่วนพระองค์ และเคยมอบยศอัศวินให้เมื่อปี 1981 ด้วย

จากการที่ควีนอลิซาเบธที่ 2 ไม่บอกให้คนภายนอกรู้ว่า พระองค์ชื่นชอบทีมฟุตบอลทีมใดเป็นพิเศษ เพราะต้องการวางตัวเป็นกลาง และคงเป็นความลับที่จะไม่ถูกเปิดเผยไปตลอดกาล

สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 : เบิร์นลี่ย์

กษัตริย์พระองค์ใหม่แห่งสหราชอาณาจักร พระชนมายุ 73 พรรษา ทีมฟุตบอลที่ทรงชื่นชอบคือ เบิร์นลี่ย์ ทีมที่เพิ่งตกชั้นจากพรีเมียร์ลีก เมื่อฤดูกาลที่แล้ว หลังอยู่ในลีกสูงสุดมา 6 ซีซั่นติดต่อกัน

ความชื่นชอบในสโมสรเบิร์นลี่ย์ ของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 มีจุดเริ่มต้นเมื่อปี 2005 พระองค์ได้เสด็จไปเยือนเมืองเบิร์นลี่ย์ เพื่อติดตามโครงการ Prince’s Trust และเยี่ยมชมสนามเทิร์ฟ มัวร์

ฤดูกาล 2009/10 เบิร์นลีย์เลื่อนชั้นขึ้นสู่ลีกสูงสุดในยุค “พรีเมียร์ลีก” เป็นครั้งแรก แต่หลังจากนั้นผลงานไม่สม่ำเสมอเท่าที่ควร เคยตกชั้นไป 2 ครั้ง ก่อนกลับมาอยู่พรีเมียร์ลีกแบบต่อเนื่องถึง 6 ซีซั่น

ซึ่งเมื่อทราบข่าวว่า สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ชื่นชอบ “เดอะ คลาเร็ตส์” และติดตามผลการแข่งขันของทีมอยู่เสมอ ทางสโมสรจึงมอบตั๋วปีแบบวีไอพีให้กับพระองค์เป็นการตอบแทน

เจ้าชายวิลเลียมส์ : แอสตัน วิลล่า

พระราชโอรสพระองค์โต ในสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 พระชันษา 40 ปี ปัจจุบันทรงดำรงตำแหน่งประธานกิตติมศักดิ์ สมาคมฟุตบอลอังกฤษ (เอฟเอ) เลือกแอสตัน วิลล่า เป็นทีมที่ทรงโปรด

เมื่อปี 2015 เจ้าชายวิลเลียมส์ เคยให้สัมภาษณ์กับแกรี่ ลินิเกอร์ พิธีกรของ BBC ว่า “เพื่อน ๆ ของผมที่เรียนหนังสือมาด้วยกัน พวกเขาจะเชียร์แมนฯ ยูไนเต็ด หรือเชลซี แต่ผมไม่อยากทำแบบนั้น”

“ผมเลือกเชียร์ทีมที่อยู่กลางตารางมากกว่า เพราะทำให้รู้สึกตื่นเต้นกับผลการแข่งขันที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ ทีมนั้นคือแอสตัน วิลล่า สโมสรฟุตบอลที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน”

“นัดแรกที่ผมได้ไปดู คือเกมที่วิลล่า เจอโบลตัน ในเอฟเอ คัพ รอบรองชนะเลิศ ปี 2000 วิลล่าผ่านเข้าชิงชนะเลิศกับเชลซี บรรยากาศมันวิเศษมาก รู้สึกได้เลยว่าวิลล่าคือทีมที่ใช่สำหรับผม”

ฤดูกาล 2018/19 วิลล่าได้เลื่อนชั้นกลับสู่พรีเมียร์ลีกอีกครั้ง หลังตกชั้นไปเล่นลีกรองอยู่ 3 ซีซั่น เจ้าชายวิลเลี่ยมได้เข้าไปกอดกับยอห์น คาริว ดาวยิงตัวเก่งด้วยความดีใจแบบสุดเหวี่ยงเลยทีเดียว

ส่วนเจ้าชายจอร์จ พระโอรสองค์โตวัย 9 ขวบ ได้เคยไปชมเกมที่แอสตัน วิลล่า ชนะนอริช ซิตี้ 5 – 1 เมื่อปี 2019 แต่เจ้าชายวิลเลียมส์ก็จะให้อิสระอย่างเต็มที่ ในการเลือกทีมฟุตบอลที่เขาชื่นชอบ

เจ้าหญิงแคเธอรีน : เชลซี

พระชายาของเจ้าชายวิลเลียมส์ เจ้าชายแห่งเวลส์ พระชันษา 40 ปี เท่ากัน ทรงชื่นชอบกีฬาตั้งแต่วัยเยาว์ และเคยเป็นอดีตกัปตันทีมฮอกกี้ระดับมัธยมศึกษา ทรงประกาศพระองค์ว่าเชียร์เชลซี

เรื่องราวความคลั่งไคล้เชลซีนั้น เกิดขึ้นในปี 2015 เจ้าหญิงแคเธอรีน ได้ไปงานการกุศลที่แอนนา ฟรอยด์ เซนเตอร์ ศูนย์ดูแลสุขภาพจิตสำหรับเด็กและเยาวชน และได้สนทนากับรีเจย์ ไบรอัน เด็กชายวัย 8 ขวบ

เจ้าหนูรีเจย์ ก็ได้ทักทายแบบเป็นมิตร เพราะทราบว่าเจ้าหญิงแคเธอรีน เชียร์เชลซีเช่นเดียวกับเขา นอกจากนี้ แกรี่ โกลด์สมิธ คุณลุงแท้ ๆ ของเจ้าหญิงแคเธอรีน ก็เป็นแฟนตัวยงของ “สิงห์บูลส์” เช่นกัน

และยังมีอีกเหตุผลหนึ่งที่มีความเป็นไปได้ คือ พ่อแม่ของเจ้าหญิงแคเธอรีน ได้ซื้อบ้านหลังหนึ่งมูลค่ากว่า 1 ล้านปอนด์ ที่อยู่ใกล้กับสนามสแตมฟอร์ด บริดจ์ รังเหย้าชองเชลซี

เจ้าชายแฮร์รี่ : อาร์เซน่อล

พระราชโอรสพระองค์เล็ก ในสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 และเป็นพระสวามีของเมแกน ดัชเชสแห่งซัสเซกซ์ พระชันษา 38 ปี ทรงชื่นชอบอาร์เซน่อล สโมสรที่มีความใกล้ชิดกับราชวงศ์อังกฤษมากที่สุด

เมื่อปี 2017 “เดอะ ซัน” สื่อชื่อดังของอังกฤษ รายงานว่า เจ้าชายแฮร์รี่ เดินทางไปชมการซ้อมของทีมรักบี้ทีมชาติอังกฤษ และได้สนทนากับแจ็ค แกร์ หนึ่งในทีมสต๊าฟฟ์โค้ช เกี่ยวกับเรื่องการเชียร์ฟุตบอล

เจ้าชายแฮร์รี่ ถามว่า คุณเชียร์ทีมอะไร ? แจ็ค แกร์ตอบว่า “แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด” แล้วถามเจ้าชายแฮร์รี่กลับไปว่า คุณเชียร์ทีมไหนล่ะ ? ก็ได้คำตอบว่า “อาร์เซน่อล… แต่ตอนนี้อย่าไปพูดถึงมันดีกว่า”

สาเหตุที่เจ้าชายแฮร์รี่ พูดประโยคดังกล่าวออกมา เป็นเพราะว่า “เดอะ กันเนอร์ส” เพิ่งถูกบาเยิร์น มิวนิค ถล่ม 5 – 1 ในยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก และหลังจากนั้น ทีมก็ห่างหายจากถ้วยใหญ่ยุโรปมาแล้ว 6 ปี

ไม่ว่าจะเป็นราชวงศ์ หรือครอบครัวสามัญชนทั่วไป ย่อมมีรสนิยมความชื่นชอบที่แตกต่างกัน แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การยอมรับความคิดที่แตกต่างกันให้ได้ เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข

เรียบเรียง: จักรพันธ์ ภู่ทอง

อ้างอิง : 

– https://www.mirror.co.uk/news/uk-news/royals-favourite-football-teams-williams-24519087

https://www.mirror.co.uk/sport/football/news/prince-william-explains-supports-aston-22435558

https://www.mirror.co.uk/sport/football/news/watch-prince-william-reveal-supports-5778761

https://www.mirror.co.uk/news/uk-news/the-queens-a-west-ham-fan-416997

https://www.dailystar.co.uk/sport/football/king-charles-supports-burnley-queen-27946146

https://www.dailystar.co.uk/sport/football/prince-harry-royal-football-arsenal-24347305

https://www.thesun.co.uk/sport/football/2892012/prince-harry-reveals-he-is-an-arsenal-fan/

– https://www.telegraph.co.uk/sport/football/9085234/Prince-of-Wales-supports-Burnley-football-club.html

https://www.lancashiretelegraph.co.uk/news/4781705.prince-charles-pledges-support-burnley-fc/