Categories
Special Content

ฟอเรสต์ ของจริงหรือภาพลวงตา ย่ำรอยเท้าทีมเลสเตอร์ 2015-16

สัปดาห์เดียวกับที่แมนฯซิตีแพ้บอร์นมัธ 1-2 และอาร์เซนอลแพ้นิวคาสเซิล 0-1 ส่งผลให้ทั้งสองตามหลังจ่าฝูง ลิเวอร์พูล 2 และ 7 คะแนนตามลำดับ หลังจากพรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 2024-24 แข่งขัดนัดที่ 10

ทีมที่แทรกอยู่เป็นอันดับ 3 ตามแมนฯซิตี 4 คะแนน และนำอาร์เซนอล 1 คะแนน ไม่ใช่ “บิ๊ก 6” อย่างแมนฯยูไนเต็ด, เชลซี หรือสเปอร์ส แม้กระทั่งทีมที่มาแรงอย่างวิลลาหรือไบรท์ตัน แต่เป็น “นอตติงแฮม ฟอเรสต์” ซึ่งหนีการตกชั้นได้ฉิวเฉียดเมื่อซีซันที่ผ่านมา

เริ่มมีคำถามว่า ฟอเรสต์ ซึ่งกลับขึ้นมาเล่นลีกสูงสุดเป็นปีที่ 3 จะสร้างประวัติศาสตร์ได้เหมือน “เลสเตอร์ ซิตี” เมื่อปี 2016หรือไม่

ตอนนี้ ฟอเรสต์ยืนแป้นอันดับ 3 ซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดนับตั้งแต่ปี 1998 หลังจากชนะพรีเมียร์ลีกติดต่อกัน 3 นัดเป็นครั้งแรกนับจากปี 1999 โดยชนะพาเลซ 1-0, ชนะเลสเตอร์ 3-1 และชนะเวสต์แฮม 3-0

การลงสนาม 10 นัดแรกของฟอเรสต์เป็นเสมือนภาพเลสเตอร์บนกระจกเงาเมื่อครั้ง “เดอะ ฟอกซ์” คว้าแชมป์พรีเมียร์ลีก2015-16 ทั้งที่เคยถูกวางแต้มต่อ 5,000-1 โดยฟอเรสต์และเลสเตอร์ต่างออกสตาร์ทด้วยชัยชนะ 5 นัด, เสมอ 4 นัด และแพ้เพียง 1 นัด ต่างกันตรงที่ฟอเรสต์เก็บคลีนชีทได้มากกว่าทีมของเคลาดิโอ รานิเอรี ทำไว้เมื่อ 9 ปีที่แล้ว 3 นัด และมีผลต่างประตูได้เสียเหนือกว่า 7 ลูก

ขณะที่ คริส วูด กองหน้าวัย 32 ปี สวมร่างทรงของเจมี วาร์ดี ทำ 8 ประตูจาก 10 นัด รั้งอันดับ 2 ดาวซัลโวพรีเมียร์ลีกร่วมกับ ไบรอัน เอ็มเบอโม ของทีมเบรนท์ฟอร์ด เป็นรอง เออร์ลิ่ง ฮาลันด์ ทีมแมนฯซิตี 3 ประตู อีกทั้งฟอเรสต์ยังเสียแค่ 7ประตู น้อยเป็นอันดับ 2 รองจากลิเวอร์พูล 1 ประตู 

ขอบคุณภาพจาก  https://www.bbc.com/sport/football/articles/c8rxrg8n1j4o

วูดและมิเลนโควิชสร้างอิมแพค 2 ฝั่งสนาม

พรีเมียร์ลีก 2023-24 วูดทำ 14 ประตู เป็นดาวซัลโวสูงสุดของสโมสร นำอันดับ 2 คัลลัม ฮัดสัน-โอดอย 6 ประตู ถึงกระนั้นฟอเรสต์ยังพยายามเสริมเขี้ยวเล็บในแดนหน้าในตลาดซัมเมอร์ที่ผ่านมา แต่พลาด 2 เป้าหมายสำคัญได้แก่ เอดดี เอนเคเทียห์ ซึ่งย้ายจากอาร์เซนอลไปอยู่พาเลซ และ ซานติอาโก ฆิเมเนซ ซึ่งตัดสินใจอยู่เฟเยนูร์ดต่อไป

นูโน เอสปิริโต ซานโต ผู้จัดการทีม เคยให้สัมภาษณ์เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาว่า “ในตลาดซื้อขาย เรามองหาหลายตัวเลือกที่สามารถช่วยทีมได้ หัวใจหลักคือมองหานักเตะที่สามารถพัฒนาทีม และคนนั้นต้องการเล่นให้ทีมเราด้วย เป็น 2ประเด็นที่มีความสำคัญอย่างมาก”

แต่ฟอร์มต้นซีซันของวูดช่วยปัดเป่าความหวั่นวิตกของฟอเรสต์ให้หายไปได้ระดับหนึ่ง เพราะ 14 ประตูจากพรีเมียร์ลีก 10นัดแรก เป็นผลงานของสไตรเกอร์ทีมชาตินิวซีแลนด์ถึง 8 ประตู 

นับตั้งแต่ย้ายจากนิวคาสเซิลมาร่วมทีมฟอเรสต์อย่างถาวรในเดือนมิถุนายน 2023 วูดทำ 22 ประตูจาก 30 นัดที่ลงตัวจริงในพรีเมียร์ลีก ซึ่ง 19 ประตูจากจำนวนดังกล่าวเกิดขึ้นนับจากกุนซือโปรตุกีสเข้ามาคุมทีมเจ้าป่าในเดือนธันวาคม 2023 และมีเพียงฮาลันด์คนเดียวที่ทำสกอร์ที่ไม่ใช่ลูกโทษมากกว่า 18 ประตูที่วูดทำได้นับตั้งแต่วันที่ 23 ธันวาคม 2023

วูดยังมีสถิติ best conversion rate 32.8% สูงเป็นอันดับ 4 ในพรีเมียร์ลีกนับจากนูโนเข้าทำงานในซิตี กราวน์ และทำผลงานได้เหนือกว่าค่า xG หรือความเป็นไปได้ของประตูที่ควรเกิดขึ้น (14.04) เกือบ 5 ประตู

นอกจากให้นั่งเก้าอี้สำรองตลอดแมตช์ คาราบาว คัพ รอบ 2 ซึ่งแพ้จุดโทษต่อนิวคาสเซิล 4-5 นูโนส่งวูดลงเป็นตัวจริงทั้ง 10นัดแรกของพรีเมียร์ลีก แม้ยืนครบ 90 นาทีแค่ 2 นัด แต่มีเวลารวม 807 นาที หรืออยู่ในสนามเฉลี่ยนัดละ 80 นาที ถึงกระนั้นนูโนยังยืนกรานไม่ผ่อนปรนให้สตาร์วัย 32 ปีหลังกลับมาจากการเล่นให้ทีมชาติ เพราะมั่นใจวูดมีเลือดนักสู้และพร้อมเสมอที่จะลงสู้เพื่อสโมสร

ขณะที่วูดเป็นกำลังสำคัญของเกมบุก แต่ฝ่ายบริหารของฟอเรสต์มักเน้นย้ำเสมอในความเชื่อที่ว่า รากฐานของทีมต้องเริ่มต้นจากการป้องกัน

มัทซ์ เซลส์ นายทวารเบลเยียมวัย 32 ปี ซึ่งย้ายมาจากสตารส์บูร์กในตลาดฤดูหนาวที่ผ่านมา ทำหน้าที่อย่างดีเยี่ยม ทำคลีนชีทไปแล้ว 4 นัดในพรีเมียร์ลีกซีซันนี้ สูงเป็นอันดับ 1 ร่วมกับ อองเดร โอนานา ทีมแมนฯยูไนเต็ด และ อลีสซง เบคเกอร์ ทีมลิเวอร์พูล

แต่การเซ็นสัญญากับ นิโกลา มิเลนโควิช จากฟิออเรนตินาเมื่อกลางกรกฎาคม 2024 ด้วยราคาไม่ถึง 12 ล้านปอนด์ ถือเป็นการลงทุนที่เกินจุดคุ้มทุนไปแล้ว ด้วยการฟอร์มปราการหลังที่แข็งแกร่งคู่กับ มูริลโล เซ็นเตอร์แบ็คชาวบราซิล

เทียบกับซีซันที่แล้ว ซึ่งเสีย 23 ประตูจากลูกเซตพีซ มากกว่า 2 ทีมตกชั้น ลูตันและเชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด ทีมละ 4 ประตู แต่ซีซันนี้ ฟอเรสต์เพิ่งเสียไปเพียงประตูเดียว

ซีซันที่แล้ว ฟอเรสต์มีค่า xG จากลูกเซตพีซของคู่แข่ง 12.25 นั่นหมายถึงเสียจริงมากกว่าความน่าจะเป็นเกือบ 2 เท่า จุดอ่อนหนีไม่พ้นการป้องกันลูกเตะมุมและฟรีคิก ซึ่งต่างกับซีซันนี้ที่ตัวเลข xG against จากการตั้งเตะของคู่แข่งเท่ากับ 1.23 เท่านั้น

นิค มาชิเตอร์ ผู้สื่อข่าว บีบีซี สปอร์ตส์ มองว่าเป็นเพราะ “บิ๊กแมน” ทั้งในแดนหน้าและแดนหลัง ช่วยให้ฟอเรสต์เริ่มต้นฤดูกาล 2024-25 ได้อย่างยอดเยี่ยม

การปฏิวัติทีมฟอเรสต์เริ่มขึ้นในฤดูร้อนของปี 2022

แม้ดูเหมือนฟอเรสต์สามารถวิวัฒนาการขึ้นมาอย่างรวดเร็วจากทีมที่จบด้วยอันดับ 17 เมื่อซีซันที่แล้ว ซึ่งถูกลงโทษตัดแต้ม 4คะแนน (อุทธรณ์ไม่สำเร็จ) แต่มีผู้เล่น 7 คนที่เล่นนัดล่าสุด ชนะเวสต์แฮม 3-0 เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2024 ลงเป็นตัวจริงในการแข่งขันนัดปิดฤดูกาล 2023-24 ที่บ้านของเบิร์นลีย์

อีกทั้งตลาดซัมเมอร์ปี 2024 ที่ผ่านมา ฟอเรสต์เสริมผู้เล่นแค่ 6 คนเท่านั้น รวมถึงมิเลนโควิชและ เอลเลียต แอนเดอร์สันมิดฟิลด์จากนิวคาสเซิล ซึ่งสามารถเพิ่มคุณภาพให้ทีมชุดใหญ่ได้ทันที ขณะที่ตลาดซัมเมอร์ปี 2022 มีการซื้อนักเตะใหม่ถึง 22 คนหลังจากเพิ่งเลื่อนชั้นขึ้นมาอยู่พรีเมียร์ลีกในฐานะทีมชนะเลิศแชมเปียนชิพ เพลย์ออฟ

นิค มาชิเตอร์ ให้ความเห็นว่า สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้กับฟอเรสต์เป็นวิวัฒนาการไม่ใช่การปฏิบัติ แม้ทีมทำผลงานดีขึ้นผิดหูผิดตาในช่วง 11 เดือนที่ผ่านมานับตั้งแต่นูโนเข้ามารับตำแหน่งผู้จัดการทีมแทน สตีฟ คูเปอร์ เนื่องจากการปฏิวัติได้เกิดขึ้นเมื่อกว่า 2 ปีที่แล้ว

มีข้อตกลงภายในซิตี กราวน์ ก่อนเริ่มซีซัน 2024-25 ไว้ว่า บอร์ดบริหารหวังให้ฟอเรสต์เป็นทีมที่ไม่มีตัวตน และขอเพียงจบฤดูกาลด้วยอันดับกลางตารางพรีเมียร์ลีก เพื่อไม่ให้ทีมตกเป็นเป้าสนใจของสื่อมวลชนหลังจาก 2 ซีซันที่ผ่านมาเต็มไปด้วยบรรยากาศการดิ้นรนหนีตกชั้น ข้อโต้แย้ง ความวุ่นวาย และข่าวฉาวโฉ

ซีซันที่แล้ว ฟอเรสต์โดนหัก 4 คะแนนในเดือนมีนาคม 2024 เนื่องจากละเมิด “กฎเพื่อการทำกำไรและความยั่งยืน” หรือ Profitability and Sustainability Rules (PSR) แต่แต้มสะสมยังเหลือมากกว่าทีมอันดับ 18 ลูตัน ทาวน์ 6 คะแนน และ 1เดือนต่อมา สโมสรได้โพสต์บนสื่อโซเชียล กล่าวหาผู้ตัดสินวีเออาร์ว่าลำเอียงในการแข่งขันกับเอฟเวอร์ตัน ส่งผลให้ถูกปรับ 750,000 ปอนด์

อย่างไรก็ตาม ฟอเรสต์ยังไม่มีช่วงเวลาเงียบสงบสมความตั้งใจเมื่อ เอวานเจลอส มารินาคิส เจ้าของสโมสรชาวกรีซวัย 57ปี ทำความผิดในข้อหาประพฤติตัวไม่เหมาะสมจากการถ่มน้ำลายลงบนพื้นบริเวณใกล้ผู้ตัดสินใจหลังจบแมตช์แพ้ฟูแลม 0-1 เมื่อปลายกันยายนที่ผ่านมา และยื่นอุทธรณ์ไม่สำเร็จ ถูกแบน 5 นัด

นอกจากนี้ ฟอเรสต์ยังตกเป็นเป้าสนใจของสื่อมวลชนเมื่อทะยานขึ้นมาอยู่อันดับ 3 หลังพรีเมียร์ลีกเตะ 10 นัด

การกลับมาฟื้นคืนชีพในพรีเมียร์ลีกของนูโน

นูโนกลับมาทำงานพรีเมียร์ลีกหลังไปคุมทีมในซาอุดิ อาระเบีย ท่ามกลางแฟนบอลบางส่วนของฟอเรสต์ที่ไม่มั่นใจกับการทำหน้าที่แทนคูเปอร์เมื่อเดือนธันวาคม 2023 แม้พา อัล อิติตฮัต ครองแชมป์ซาอุดิ โปรลีก และซูเปอร์คัพ เนื่องจากก่อนหน้าน นูโนล้มเหลวกับการคุมทีมทอตแนม ฮอตสเปอร์ เพียง 17 นัดเมื่อปี 2021

อดีตกุนซือบาเลนเซียและปอร์โตสร้างชื่อเสียงขึ้นมาระหว่างเข้ามาคุมทีมวูลฟ์แฮมป์ตันเป็นเวลา 4 ปี แต่ต้องอำลาโมลินิวซ์เมื่อไม่สามารถรักษาระดับความคาดหวังหลังจากเคยพาทีมขึ้นมาจากแชมเปียนชิพ และเข้าถึงรอบก่อนรองชนะเลิศ ยูโรปา ลีก ถึงกระนั้นนูโนสามารถพัฒนาทีมที่ดีขึ้นมาได้ รวมถึงปลุกปั้น รูเบน เนเวส ซึ่งเคยร่วมงานกันที่ปอร์โต

นิค มาชิเตอร์ มั่นใจว่านูโนกำลังทำงานลักษณะเดียวกันอย่างช้าๆที่ซิตี กราวน์ หลังจากได้นักเตะซีเนียร์เข้ามา 6 คน รวมถึงมิเลนโควิช ซึ่งช่วยให้แผงหลังฟอเรสต์แข็งแกร่งขึ้น เสียไปแค่ 7 ประตู มากกว่าลิเวอร์พูลทีมเดียวในพรีเมียร์ลีกขณะนี้

นูโนได้รับการยกย่องด้านความสามารถในการวางแผนการเล่นอย่างพิถีพิถัน ซึ่งช่วยให้ผลงานของฟอเรสต์ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ส่วนหนึ่งกุนซือวัย 50 ปี ได้รับประโยชน์จากรากฐานที่คูเปอร์สร้างและทิ้งไว้ให้

คูเปอร์มีส่วนสำคัญในการเซ็นสัญญากับ มอร์แกน กิบบ์ส-ไวท์ ซึ่งอยู่ในทีมชาติอังกฤษชุดแชมป์โลก ยู17 ขณะที่คูเปอร์เป็นผู้จัดการทีม และยังเป็นคนพาวูดเข้าสู่สโมสร และช่วยรักษาดาวยิงทีมชาตินิวซีแลนด์ให้ยังค้าแข้งในพรีเมียร์ลีกต่อไป

ฟอเรสต์ตามรอยความสำเร็จของเลสเตอร์

แต่คำถามคือ ฟอเรสต์จะยังรักษาฟอร์มเก่งเพื่อกลายเป็น “ซินเดอเรลลา” เหมือนอย่างเลสเตอร์เมื่อปี 2016 หรือไม่ เพราะจาก 10 นัดแรก ทีมของนูโนแข่งขันกับกลุ่ม 7 อันดับท้ายตารางถึง 5 ทีม ขณะที่ 3 ทีมคู่แข่งล่าสุดคือ พาเลซ, เลสเตอร์ และเวสต์แฮม ต่างออกสตาร์ทซีซันไม่ดีนัก อย่างไรก็ตาม ฟอเรสต์เป็นทีมเดียวที่เอาชนะลิเวอร์พูลได้ รวมถึงเสมอในบ้านของเชลซีและไบรท์ตัน

หลังจบเบรกทีมชาติเดือนพฤศจิกายน ฟอเรสต์ต้องไปเยือนอาร์เซนอล, แมนฯซิตี และแมนฯยูไนเต็ด และต้องเปิดสนามซิตี กราวน์ ต้อนรับวิลลาและสเปอร์สช่วงท้ายปี

ข้อมูลจาก Opta ระบุว่า ฟอเรสต์เป็นทีมที่มีโปรแกรม 10 นัดแรกของพรีเมียร์ลีกซีซันนี้ง่ายที่สุดเป็นอันดับ 4 แต่ 10 นัดต่อไป โปรแกรมจะยกระดับเป็นความยากที่สุดอันดับ 4 เริ่มจากการไปเยือนบ้านของนิวคาสเซิล ซึ่งเคยชนะฟอเรสต์ที่ซิตี กราวน์ ในคาราบาว คัพ เมื่อเดือนสิงหาคม 2024 

แน่นอนเมื่อพ้นเทศกาลคริสต์มาส ภาพของฟอเรสต์จะชัดเจนขึ้นว่า ยังเป็นทีมที่ดีพอต่อการเป็นม้ามืดลุ้นแชมป์พรีเมียร์ลีกหรือไม่

เรียบเรียง : ฐปน วันชูเพลา (Senior Football Writer) 

Categories
Special Content

3 ปัญหาที่อาร์เตตาต้องเร่งแก้ไข พาอาร์เซนอลกลับเส้นทางลุ้นแชมป์

ก่อนการแข่งขันพรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 2024-25 เริ่มขึ้น หลายคนเชื่อว่าการแย่งถ้วยรางวัลจะเป็นการต่อสู้ระหว่าง แมนชสเตอร์ ซิตี กับ อาร์เซนอล แต่เมื่อแชมป์เก่าเสียโรดรีเพราะบาดเจ็บยาว ส่งผลให้ “เดอะ กันเนอร์ส” เลื่อนขึ้นมาเป็นเต็ง 1

แต่เมื่อผ่านไป 10 นัด อาร์เซนอลกลับหล่นมาอันดับ 5 อยู่ต่ำกว่า นอตติงแฮม ฟอเรสต์ และ เชลซี ตามหลังจ่าฝูง ลิเวอร์พูล 7 คะแนน และ แมนฯซิตี 5 คะแนน

สถานการณ์ตอนนี้สั่นคลอนความหวังของเหล่า “เดอะ กูนเนอร์ส” ที่จะได้สัมผัสแชมป์พรีเมียร์ลีกหลังห่างเหินกว่า 2ทศวรรษ บวกกับการลาออกของคีย์แมน เอดู ผู้อำนวยการฝ่ายกีฬาของสโมสร ทำให้อะไรดูแย่ลงไปอีก รวมถึงการเริ่มไม่มั่นใจต่อแผนการสร้างทีมระยะยาวและแทคติกของ มิเกล อาร์เตตา

ลี สกอตต์ และ โทนี โรเบิร์ตสัน ร่วมกันวิเคราะห์และมองปัญหาทางแทคติกของอาร์เตตาผ่านสื่อใหญ่อังกฤษ “เดอะ ซัน” ไว้ 3 ข้อ ซึ่งอาจช่วยพลักดันอาร์เซนอลกลับเข้าสู่เส้นทางลุ้นแชมป์ลีกเมืองผู้ดีอีกครั้ง

ขาดผู้เชี่ยวชาญในการพาบอลไปข้างหน้า

หากเปรียบเทียบกับแมนฯซิตีที่อ่อนลงเพราะไม่มีโรดรี อาร์เซนอลก็ประสบปัญหาเดียวกับเนื่องจากขาด มาร์ติน โอเดการ์ดที่ต้องหยุดพักรักษาข้อเท้า ไม่ต้องสงสัยเลยอาร์เตตาต้องคิดถึงการผ่านบอลและพาบอลไปข้างหน้าจากพื้นที่กลางสนามของโอเดการ์ดอย่างแน่นอน

ระหว่างนี้ มิดฟิลด์กลางสนามอยู่ในความรับผิดชอบของ เดแคลน ไรซ์ และ มิเกล เมริโน ซึ่งเพิ่งย้ายมาจาก เรอัล โซเซียดาด ในตลาดซัมเมอร์ที่ผ่านมา ทั้งสองเป็นกองกลางที่มีร่างกายแข็งแกร่ง แต่คุ้นเคยกับการอยู่หลังบอลในพื้นที่ที่สามารถรับและครองบอลต่อไป

ในพรีเมียร์ลีกฤดูกาล 2023-24 ที่เซนต์เจมส์ ปาร์ค ซึ่งอาร์เซนอลแพ้นิวคาสเซิล 0-1 เลอันโดร ทรอสซาร์ด ทำหน้าที่ผสมผสานระหว่างเบอร์ 10 กับกองหน้าตัวต่ำ (second striker) ในจังหวะบุกด้วยระบบ 4-2-4 โดยโอเดการ์ดเล่นตำแหน่งเบอร์8 ตัวขวา ซึ่งสามารถลงมารับบอล จ่ายบอลทะลุแนว และหาพื้นที่ว่างในแดนฝ่ายตรงข้าม ซึ่งช่วยให้ทีมพาบอลเข้าไปยังโซน final third ได้

โอเดการ์ดยังรับมือความกดดันได้ดี สามารถเอาชนะกองกลางคู่แข่งในสถานการณ์ตัวต่อตัว แต่ตอนนี้ อาร์เซนอลไม่มีนักเตะลักษณะดังกล่าว อาจยกเว้น อีธาน เอ็นวาเนรี ดาวรุ่งวัย 17 ซึ่งมีคุณภาพคล้ายคลึงกันที่สุด

ช่วงที่อาร์เซนอลไม่มีโอเดการ์ดอยู่ในสนาม จะพบว่าคู่ต่อสู้หลายทีมมักถอยลงไปลึกขึ้นและตั้งรับกระชับแน่นหนาขึ้นในแบบ mid-block ซึ่งบีบให้ “เดอะ กันเนอร์ส” ต้องพยายามเจาะแนวรับที่แข็งแกร่ง ซึ่งกลายเป็นงานหนักเมื่อขาดผู้เล่นที่โดดเด่นด้าน ball progression จากกลางสนาม นั่นเป็นสิ่งที่คู่แข่งต้องการเพราะง่ายต่อการเพรสซิ่งเมื่ออาร์เซนอลจำเป็นต้องเล่นบอลไดเร็คมากขึ้น หรือไม่ก็ออกบอลไปทางด้านข้างของสนาม

ด้วยเหตุนี้ อาร์เตตาต้องเร่งหาวิธีลำเลียงบอลไปข้างหน้ามากขึ้น และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำลายแนวรับฝ่ายตรงข้ามให้ได้

ไม่สามารถแนวรับแบบมิด-บล็อกของคู่แข่งขัน

กลางปี 2023 อาร์เซนอลทุ่มเงินกว่า 100 ล้านปอนด์ให้กับเวสต์แฮมเพื่อซื้อ เดแคลน ไรซ์ เข้ามายืนหน้าคู่เซ็นเตอร์แบ็ค วิลเลียม ซาลิบา และ กาเบรียล มากัลเญส เท่ากับอาร์เตตามีนักเตะ 3 คน ที่เพียบพร้อมด้วยร่างกายที่แข็งแกร่งและความคล่องตัวในการเล่นทรานซิชัน ซึ่งทำให้คู่แข่งพบความยากลำบากที่จะทะลวงโจมตีอาร์เซนอล ซึ่งไม่ใช่เพียงจังหวะบิลด์อัพปกติ แต่รวมถึงเมื่อมีโอกาสเคาน์เตอร์แอทแทคด้วย

ดีลดังกล่าวทำให้อาร์เซนอลถูกมองว่า เป็นทีมที่พยายามเสริมเขี้ยวเล็บให้เกมรุก และหวังพลักดันผู้เล่นขึ้นไปยังแดนหน้ามากขึ้น แต่ตลาดซัมเมอร์ที่ผ่านมา อาร์เซนอลกลับเซ็นสัญญากับกองกลางที่มีความเก่งฉกาจในการดวลปะทะ (duels) เข้ามาเพิ่มอย่าง มิเกล เมริโน ไม่ใช่ผู้เล่นที่สามารถขึ้นไปยังพื้นที่ข้างบนเพื่อทำลายเกมรับฝ่ายตรงข้าม

แน่นอนอาร์เซนอลอุดมด้วยนักเตะที่ได้เปรียบด้านสภาพร่างกาย เหนือกว่าในด้านดวลปะทะทั้งเมื่อมีและไม่มีบอล แต่อีกด้านหนึ่งเป็นการลดทอนไอเดียสร้างสรรค์เกมรุก ซึ่งหมายความว่า เมื่อคู่ต่อสู้ถอยลงไปปักหลักป้องกันแบบ medium blockยินยอมให้อาร์เซนอละครองบอลได้มากกว่า แต่อาร์เซนอลก็ไม่มีผู้เล่นที่ดีและมากพอที่จะเจาะทะลวงเข้าไปสร้างอันตรายในพื้นที่ final third หรือกรอบเขตโทษ

สิ่งที่ตามมาคือ อาร์เซนอลต้องพึ่งการเล่นที่รวดเร็วบริเวณริมสนาม เห็นได้ชัดจากบทบาทที่มากขึ้นของ บูกาโย ซากา ปีกขวาทีมชาติอังกฤษ ซึ่งเท่ากับช่วยให้คู่ต่อสู้รู้แผนของอาร์เซนอลล่วงหน้า และสามารถเตรียมตัวเพื่อรับมือ

การมีไรซ์และเมริโนช่วยให้อาร์เซนอลมีฐานที่มั่นคง มีความแข็งแกร่งของร่างกาย และเหนือกว่าคู่แข่งในการเข้าดวลปะทะ แต่อีกมุมหนึ่งกลายเป็นว่าอาร์เตตาได้สร้างทีมที่ลดน้อยถอยลงทั้งความคล่องตัวและความหลากหลาย ไม่สามารถขับเคลื่อนทีมไปยังโซน advanced attacking ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ “เดอะ กันเนอร์ส” ไม่สามารถเก็บชัยชนะอย่างต่อเนื่องเหมือนมีโอเดการ์ดอยู่ในสนาม

คู่ต่อสู้ต่างเตรียมแผนรับมือการโจมตีทางขวา

บูกาโย ซากา มีทักษะความสามารถระดับโลก แต่บางครั้งก็เล่นได้แย่มาก แม้ซีซันนี้ ปีกขวาวัย 23 ปี มีผลงาน 4 ประตู 7แอสซิสต์จากการเล่น 12 นัดในพรีเมียร์ลีกและแชมเปียนส์ ลีก

ซากาเป็นกำลังสำคัญให้กับการโจมตีของอาร์เซนอล และสามารถทำให้หลายทีมพ่ายแพ้ด้วยตัวของเขาเอง ขณะเดียวกันคู่แข่งต่างตระหนักดีกว่า การคุมคามที่อันตรายของอาร์เซนอลมักมาจากฝั่งขวาของสนาม อาร์เซนอลจะพบปัญหาขึ้นทันทีเมื่อเจอทีมที่มีการโค้ชและวางระเบียบจัดการที่ดี พวกเขาสามารถปล่อยพื้นที่ด้านนั้นให้โดดเดี่ยว แล้วหันไปมุ่งกับการตัดช่องทางส่งบอลไปยังซากา คือไม่ปล่อยให้บอลไปถึงซากานั่นเอง

ดังนั้นเมื่ออาร์เซนอลได้บอลทางฝั่งขวา คู่แข่งมักอาศัยผู้เล่น 2 คน แม้กระทั่ง 3 คน เข้าเพรสซิ่ง และปิดกั้นช่องทางของซากา ขณะที่ฝั่งซ้าย กาเบรียล มาร์ติเนลลี เล่นแบบบอลไดเร็คมากกว่า แต่มีประสิทธิภาพน้อยกว่าขณะครองบอลเมื่อนำไปเทียบกับซากา

ส่วนพื้นที่ตรงกลาง อาร์เซนอลก็ไม่มีผู้เล่นที่สามารถวิ่งขึ้นมาจากแนวลึกเพื่อสนับสนุนช่วยให้การรุกเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว นั่นทำให้ง่ายที่ฝ่ายตรงข้ามเข้าเพรสทางฝั่งขวาของอาร์เซนอล เป็นการจำกัดบทบาทของซากา

อาร์เตตาจึงจำเป็นต้องหาทางสร้างสรรค์การโจมตีจากตรงกลางและด้านซ้ายให้มากขึ้น เพื่อเป็นการปลดล็อกให้กับซากาโจมตีในพื้นที่อันตรายของตัวเขา

บทสรุป

ลี สกอตต์ และ โทนี โรเบิร์ตสัน ให้ความคิดเห็นร่วมกันตอนท้ายว่า อาร์เซนอลยังไม่หลุดพ้นการแข่งขันเพื่อลุ้นแชมป์พรีเมียร์ลีก แต่เห็นได้ชัดว่ามีปัญหาบางอย่างที่ต้องเร่งแก้ไข เพราะปัญหาเหล่านั้นทำให้ “เดอะ กันเนอร์ส” ตกอยู่ในความเสี่ยงมากจนเกินไป จากการยอมให้ผู้เล่นต้องเฝ้าระวังและป้องกันการคุกคามจากการสวนกลับเร็วของฝ่ายตรงข้าม แทนที่จะมอบอิสระให้ขึ้นไปมีส่วนร่วมกับการโจมตี

เรียบเรียง : ฐปน วันชูเพลา (Senior Football Writer) 

Categories
Special Content

พรีเมียร์ลีก ซีซัน 2023-24 กับบทสรุปหลากหลายประเด็น

พรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 2023-24 ได้ปิดฉากอย่างสมบูรณ์หลังจากแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เฉือนชนะแมนเชสเตอร์ ซิตี 2-1 ครองแชมป์เอฟเอ คัพ เป็นสมัยที่ 13 ในประวัติศาสตร์สโมสร ขณะที่แมนฯซิตี ชนะเลิศพรีเมียร์ลีกเป็นสมัยที่ 4 ติดต่อกัน และลิเวอร์พูละครองแชมป์อีเอฟแอล คัพ

ในส่วนของโควตาฟุตบอลสโมสรยุโรป ทีมท็อป 4 แมนฯซิตี, อาร์เซนอล, ลิเวอร์พูล และแอสตัน วิลลา ได้ไปแข่งขันแชมเปียนส์ ลีก, ทีมอันดับ 5 ทอตแนม ฮอตสเปอร์ และแชมป์เอฟเอ คัพ แมนฯยูไนเต็ด ได้ไปเล่นยูโรปา ลีก ส่วนทีมอันดับ 6เชลซี จากที่ควรได้สิทธิยูโรปา ลีก แต่เพราะ “เรด เดวิลส์” ได้ชูถ้วยใบเก่าแก่อายุกว่า 150 ปีของเมืองผู้ดี “เดอะ บลูส์” จึงต้องลงสนามรอบเพลย์ออฟของคอนเฟอเรนซ์ ลีก แทน

ภายหลังศึกลูกหนังเทียร์ 1 ของอังกฤษ รูดม่านลง Sky Sports สื่อกีฬาคุณภาพเมืองผู้ดี ได้ประมวลเหตุการณ์ที่น่าสนใจที่เกิดขึ้นในพรีเมียร์ลีก ซีซัน 2023-24 ในหลายหลายประเด็น ซึ่งทีมงานไข่มุกดำได้คัดเลือกบางหัวข้อ นำมาแปลและเรียบเรียงนำเสนอต่อคอลูกหนังบ้านเราดังต่อไปนี้

ประตูมากขึ้น ผู้เล่นอังกฤษทำสกอร์สูงขึ้น

นับตั้งแต่ซีซัน 2020-21 การทำประตูในพรีเมียร์ลีกเพิ่มขึ้นติดต่อกัน 3 ปีติดต่อกัน นับจากค่าเฉลี่ย 2.69 ประตูต่อนัด เพิ่มเป็น 2.82 ประตูในซีซัน 2021-22, 2.85 ประตูในซีซัน 2022-23 และ 3.28 ประตูในซีซัน 2023-24 แต่ที่น่าสังเกตเป็นพิเศษคือ ฤดูกาลที่เพิ่งจบไปเพิ่มขึ้นจากซีซันก่อนหน้าถึง 15%

ตัวแปรที่น่าให้ความสำคัญคือ ค่าเฉลี่ยการเกิดสกอร์ต่อนัดยังสูงกว่าช่วงก่อนฤดูกาล 1995-96 ซึ่งมีจำนวนสโมสร 22 ทีม รวมการแข่งขันทั้งโปรแกรม 420 นัดต่อซีซัน ก่อนลดจำนวนเหลือ 20 ทีมหรือ 380 นัดต่อซีซัน โดยซีซัน 2023-24 แฟนบอลได้เห็นบอลวิ่งซุกก้นตาข่ายรวมแล้ว 1,246 ครั้ง ช่างเป็นลีกที่น่าตื่นเต้นเร้าใจจริงๆ

Sky Sports ยังโฟกัสผู้เล่นอังกฤษเป็นพิเศษ แม้รางวัลรองเท้าทองคำยังตกเป็นของ เออร์ลิ่ง ฮาลันด์ ดาวซัลโวทีมชาตินอร์เวย์ของแมนฯซิตี เป็นปีที่ 2 ติดต่อกันด้วยตัวเลข 31 นัด 27 ประตู แต่อันดับท็อป 10 ซีซันนี้มีนักเตะเมืองผู้ดีติดเข้ามาถึง 6 คน นำโดย โคล พาลเมอร์ (เชลซี, 34 นัด 22 ประตู) รั้งอันดับ 2 ตามด้วยอันดับ 4 (ร่วม) 19 ประตู มี 3 คนเท่ากันคือ โดมินิค โซลันกี (บอร์นมัธ, 38 นัด), โอลลี วัตกินส์ (วิลลา, 37 นัด), ฟิล โฟลเดน นักฟุตบอลแห่งปีของ FWA (แมนฯซิตี, 35 นัด) และอันดับ 9 (ร่วม) 16 ประตู มี 2 คนเท่ากันคือ บูกาโย ซากา (อาร์เซนอล, 35 นัด) กับ จาร์รอด โบเวน (เวสต์แฮม, 36 นัด)

ถือเป็นปีทองของวัตกินส์กับพาลเมอร์ก็ว่าได้จนได้รับเลือกจากแกเรธ เซาธ์เกต ใส่ไว้ในรายชื่อทีมชาติอังกฤษ 33 คนแรกของชุดยูโร 2024 โดยกองหน้าวิลลาทำแอสซิสต์ได้ 13 ครั้ง สูงเป็นอันดับ 1 ในพรีเมียร์ลีก พาลเมอร์ตามเป็นอันดับ 2แบบติดๆ 11 ครั้ง

Sky Sports ยังรายงานว่า นักเตะอังกฤษในพรีเมียร์ลีกทำสกอร์รวมกันซีซันนี้ 369 ประตู เป็นจำนวนมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2002 เป็นต้นมา ซึ่งหากดูข้อมูลตั้งแต่ซีซัน 1995-96 ซึ่งมีตัวเลขสูงถึง 597 ประตู จากนั้นก็ค่อยๆลดจำนวนลงเรื่อยๆจนต่ำระดับหลัก 400 ตั้งแต่ซีซัน 2001-02 คือ 392 ประตู

ตัวเลขยังอยู่โซน 300 จนกระทั่งซีซัน 2012-13 หลุดลงไปที่ 296 ประตู และขยับขึ้นมาเป็น 325 ประตูในซีซัน 2013-14ก่อนกลับลงไปสู่หลัก 200 ติดต่อกัน 5 ฤดูกาล และฟื้นขึ้นหลัก 300 ติดต่อกัน 5 ฤดูกาล ก่อนมาพีคสุดที่ซีซัน 2023-24 คือ 369 ประตู

Sky Sports ให้ข้อสังเกตว่า นักเตะท้องถิ่นผลิตสกอร์ได้เป็นกอบเป็นกำขนาดนี้ทั้งที่มีเวลาอยู่ในสนามหรือ game-time รวมกัน 224,730 นาที ซึ่งเกือบเป็นตัวเลขน้อยที่สุดนับตั้งแต่ซีซัน 1998-99 สำหรับลีกที่ประกอบด้วยนักเตะต่างชาติเก่งๆมากมายที่เข้ามาสร้างสีสันบนเกาะอังกฤษ จนดูเหมือนบดบังราศีของนักเตะท้องถิ่น สิ่งที่เกิดขึ้นนับว่าเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับวงการลูกหนังอังกฤษ

โควตาตัวสำรอง 5 คน ส่งผลอย่างไร

เริ่มที่ 2022-23 พรีเมียร์ลีกอนุญาตให้แต่ละทีมเปลี่ยนผู้เล่นได้นัดละ 5 คน หลังจากโดนตั้งคำถามเรื่องสวัสดิภาพการทำงานและความอ่อนล้าทั้งร่างกายและจิตใจของผู้เล่นอยู่หลายปี ผลลัพธ์ของกฎใหม่นี้ทำให้เกมสนุกสนานขึ้นเพราะเอื้ออำนวยให้ผู้จัดการทีมได้ส่งนักเตะลงมาเพื่อแก้เกมปรับเปลี่ยนแทคติก อีกทั้งยังได้ความสดใหม่จากผู้เล่นม้านั่งสำรอง

กฎดังกล่าวทำให้จำนวนตัวสำรองที่ลงสนามสูงขึ้นอย่างมีนัยยะใน 2 ปีล่าสุดคือ 2,985 คนในซีซัน 2022-23 และ 3,024 คนในซีซัน 2023-24 มากที่สุดนับตั้งแต่ซีซัน 2010-11 ซึ่งมีการเปลี่ยนตัวผู้เล่นเพียง 1,995 คนเท่านั้นพรีเมียร์ลีกซีซัน 2023-24 ที่ผ่านมา ไบรท์ตันเป็นทีมที่ใช้โควตาดังกล่าวมากที่สุดคือ 176 คน ส่วนอันดับ 2 (ร่วม) มี 4 ทีมที่ใช้ผู้เล่นสำรอง 170 คนเท่ากันคือ เบรนท์ฟอร์ด, บอร์นมัธ, สเปอร์ส และฟูแลม ตามด้วยอันดับ 5 ลิเวอร์พูล 166 คน โดยเวสต์แฮมกับแมนฯซิตีเปลี่ยนผู้เล่นน้อยที่สุดคือ 109 คน และ 115 คน ตามลำดับ

การส่งตัวสำรองลงมายังช่วยให้เปลี่ยนโมเมนตัมโดยเฉพาะช่วงเวลาที่มีอิทธิพลต่อการแข่งขันมากที่สุดคือท้ายเกม ซึ่งสถิติระบุว่า พรีเมียร์ลีกซีซันล่าสุดเกิดการทำประตูหลังนาทีที่ 75 รวมแล้ว 307 ประตู โดย 25 นาทีสุดท้ายของเวลาแข่งขันปกติบวกทดเวลา ยังเป็นช่วงที่ผู้จัดการทีมเปลี่ยนตัวผู้เล่นมากที่สุดด้วย

Sky Sports เสริมข้อมูลที่น่าสนใจคือ ลิเวอร์พูล ทีมอันดับ 3 ของพรีเมียร์ลีก ทำสกอร์ได้ถึง 27 ประตูระหว่างนาทีที่ 76 ถึง 90+ นำโด่งอันดับ 2 “แชมป์” แมนฯซิตี ซึ่งทำได้ 21 ประตู ขณะที่ “รองแชมป์” อาร์เซนอล ก็ทำผลงานไม่น้อยหน้าคือ 20ประตูเท่ากับลูตันและนิวคาสเซิล

Comeback Wins ฟื้นคืนชีพขึ้นมาจากหลุม

นอกเหนือการเกิดสกอร์ท้ายเกมแล้ว การพลิกสถานการณ์กลับมาเป็นฝ่ายชนะหลังเสียประตูก่อน เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สร้างสีสันความเร้าใจให้กับแฟนบอล ซึ่งซีซัน 2023-24 เกิดเหตุการณ์ comeback wins ทั้งสิ้น 63 นัด เป็นสถิติสูงสุดใหม่ของพรีเมียร์ลีก อย่างเช่น 2 กันยายน 2023 สเปอร์สชนะเบิร์นลีย์ 5-2 และ 27 เมษายน 2024 นิวคาสเซิลชนะเชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด 5-1

Comeback Kings เป็นคุณสมบัติหรือตำแหน่งที่ควรคู่กับแคแรกเตอร์ของแมนฯซิตี แชมป์พรีเมียร์ลีก 4 สมัยติดต่อกัน ทีมเรือใบสีฟ้าสามารถเปลี่ยนจากแพ้เป็นชนะได้ 7 นัดเท่ากับลิเวอร์พูลและสเปอร์ส ขณะที่รองแชมป์ 2 สมัยซ้อนอย่างอาร์เซนอล กลับทำได้แค่ 3 นัด รวมถึงนัดปิดซีซันที่เฉือนชนะเอฟเวอร์ตัน 2-1 นั่นมองได้ว่า ทีมปืนใหญ่แทบไม่ตกอยู่ในสถานการณ์สกอร์เป็นรองระหว่างฤดูการแข่งขัน

พรีเมียร์ลีก ลีกที่รวดเร็วที่สุดในโลกลูกหนัง

ไม่เพียงการทำประตูเยอะๆ การเกิดสกอร์ท้ายเกม และการพลิกกลับไปมาของตัวเลขบนสกอร์บอร์ด ความเร็วของเกมยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สร้างความนิยมแก่พรีเมียร์ลีก ซึ่งมีแฟนบอลทั่วโลกติดตามมากที่สุด

รายงานเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาของ Football Observatory ช่วยยืนยันว่า พรีเมียร์ลีกเป็นลีกที่มีความเร็วที่สุดในโลก โดยอ้างอิงจากดัชนีการให้คะแนน ลีกสูงสุดเมืองผู้ดีได้รับคะแนนเต็ม 100 ทั้งการวิ่งเต็มฝีเท้าหรือด้วยความเร็วสูงสุด (sprints), ความเร็ว (speed) และความเร่งหรืออัตราการเปลี่ยนแปลงความเร็ว (accelerations)

ขอบคุณภาพจาก  https://x.com/goal/status/1175975415174848514/photo/1

ลีกที่มีความเร็วสูงเป็นอันดับ 2 คือ แชมเปียนชิพ หรือเทียร์ 2 ของอังกฤษ มีค่าดัชนีเฉลี่ย 85.5 แบ่งเป็น sprints 84, speed 79 และ accelerations 100 ตามด้วย กัลโช เซเรีย อา อิตาลี มีค่าดัชนีเฉลี่ย 75.1 แบ่งเป็น sprints 81, speed 80 และ accelerations 73 ส่วนลีกท็อป 5 ของยุโรปที่เหลืออีก 3 ลีกได้แก่ ลีกเอิง ฝรั่งเศส อยู่อันดับ 8 (เทียบกับลีกเดอซ์หรือระดับเทียร์ 2 อยู่อันดับ 6), ลา ลีกา สเปน อยู่อันดับ 10 และบุนเดสลีกา เยอรมนี อยู่อันดับ 15

รายงานฉบับดังกล่าวยังระบุว่า พรีเมียร์ลีกซีซันที่จบไปมีค่าเฉลี่ยของการวิ่งเต็มฝีเท้า 139.63 ครั้งต่อนัด สูงที่สุดนับตั้งแต่สถิตินี้ถูกบันทึกในซีซัน 2020-21 แต่ความจริงแล้ว averaging sprints ก็เพิ่มขึ้นทุกปีตลอดระยะเวลา 4 ปีคือ 127.44 ครั้ง, 129.4 ครั้ง, 133.68 ครั้ง และ 139.63 ครั้ง ตามลำดับ

Sky Sports ให้ความเห็นเสริมว่า การทำประตูที่เพิ่มขึ้น บวกกับความเร็วของการเล่น แสดงให้เห็นว่าสโมสรในพรีเมียร์ลีกยกระดับ risk and reward หรืออัตราความเสี่ยงต่อผลตอบแทนให้สูงขึ้น ด้วยการดันนักเตะขึ้นไปโจมตีบนพื้นที่สูงขึ้น ขณะที่กองหลังก็เตรียมพร้อมที่จะใช้ความรวดเร็วรุกโต้กลับหรือเคาน์เตอร์แอทแทคเมื่อแย่งบอลมาจากฝ่ายตรงข้าม ตัวอย่างในการแข่งขันกับเบรนท์ฟอร์ดในเดือนมกราคมที่ผ่านมา มิกกี ฟาน เดอ เวน เซ็นเตอร์แบ็คของสเปอร์ส เคยใช้ความเร็วเฉลี่ย 37.38 กิโลเมตร/ชั่วโมง ซึ่งถือเป็น top speed ของพรีเมียร์ลีก ซีซัน 2023-24

พรีเมียร์ลีกลดอายุเฉลี่ยนักเตะตัวจริง

อีกเรื่องหนึ่งที่ซีซัน 2023-24 สร้างความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในพรีเมียร์ลีกนั่นคือ อายุเฉลี่ยของนักเตะตัวจริงลดลงเหลือ 26.74 ปี หรือ 26 ปี 269 วันเท่านั้น ซึ่งเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ซีซัน 2010-11 ที่ตัวเลขเฉลี่ยต่ำกว่า 27 ปี โดยระหว่าง 13 ปีก่อนหน้านี้ ตัวเลขอายุเฉลี่ยน้อยที่สุดของผู้เล่น 11 คนแรกคือ 27.05 ปี ซึ่งเคยเกิดขึ้นในซีซัน 2019-20 และ 2020-21 ขณะที่ซีซัน 2022-23 ก็มีอายุเฉลี่ยต่ำเช่นกันคือ 27.08 ปี

ทีมที่มีอายุเฉลี่ยผู้เล่นตัวจริงน้อยที่สุดในพรีเมียร์ลีกซีซันล่าสุดคือ เชลซี 24.64 ปี หรือ 24 ปี 233 วัน ซึ่งเป็นสถิติน้อยที่สุดอันดับ 4 ในประวัติศาสตร์พรีเมียร์ลีก นอกจาก “เดอะ บลูส์” มีอีก 3 ทีมที่อายุเฉลี่ยตัวจริงน้อยกว่า 26 ปีได้แก่ ทีมอันดับรองบ๊วยของลีก เบิร์นลีย์ 24.68 ปี ซึ่งมากกว่าเชลซีเพียง 10 วันเท่านั้น ตามด้วยอาร์เซนอล 25.43 ปี และสเปอร์ส 25.53 ปี ขณะที่ทีมที่อายุเฉลี่ยมากที่สุด 2 อันดับแรกคือ ฟูแลม 28.87 ปี และเวสต์แฮม 28.82 ปี ซึ่งเป็น 2 สโมสรที่มีอายุเฉลี่ยสูงกว่า 28 ปี

นักฟุตบอลบาดเจ็บระนาวจนเป็นสถิติใหม่

ผู้เล่นบาดเจ็บเป็นสถิติอีกหมวดที่เกิด new all-time high ของพรีเมียร์ลีก ทั้ง 20 สโมสรมีจำนวนวันที่นักเตะของตัวเองลงแข่งไม่ได้เนื่องจากบาดเจ็บรวมทั้งสิ้น 25,886 วัน เป็นตัวเลขสูงที่สุดนับตั้งแต่เว็บไซต์ Premier Injuries ได้บันทึกสถิตินี้ในฤดูกาล 2020-21 ซึ่งเท่ากับ 18,405 วัน ตามด้วย 19,475 วันในซีซัน 2021-22 และ 21,163 วันในซีซัน 2022-23

ในมุมมองของสโมสร นิวคาสเซิลเป็นทีมที่ไม่สามารถใช้งานผู้เล่นเพราะบาดเจ็บรวมเป็นจำนวนวันมากที่สุดในพรีเมียร์ลีก รองลงมาได้แก่ เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด และเชลซี

สโมสรช็อปปิงถล่มทลาย 2 ตลาดซัมเมอร์ติด

มาถึงเรื่องการลงทุนเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แต่ละทีมในพรีเมียร์ลีก ถ้ามองเพียงตลาดซัมเมอร์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อทีมมากกว่าตลาดฤดูหนาว กลางปี 2023 หรือตลาดซัมเมอร์ครั้งหลังสุด สโมสรเทียร์ 1 อังกฤษใช้เงินซื้อผู้เล่นรวมกันสูงถึง 2.44 พันล้านปอนด์ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากตัวเลข 2.14 พันล้านปอนด์ในปี 2022 โดย 7 ปีก่อนหน้านี้ 20 สโมสรจับจ่ายใช้สอยประมาณ 1.20 – 1.30 พันล้านปอนด์ ยกเว้นปี 2017 ที่ตัวเลขพุ่งถึง 1.49 พันล้านปอนด์ และลดลงเหลือ 1.12 พันล้านปอนด์ในปี 2021

แน่นอนอย่างที่ทราบถ้วนกันผ่านสื่อมวลชน ตลาดซัมเมอร์ปีที่แล้ว เชลซีทุ่มเงินลงไปถึง 434.5 ล้านปอนด์ และเมื่อรวมกับตลาดกลางปี 2022 ตัวเลขพุ่งสูงทะลุ 1 พันล้านปอนด์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ทอดด์ โบห์ลีย์ มหาเศรษฐีชาวอเมริกัน เข้ามาเทคโอเวอร์สโมสรแห่งกรุงลอนดอน

Sky Sports ยังชี้ให้เห็นว่า มิดฟิลด์เป็นตำแหน่งผู้เล่นที่สโมสรพรีเมียร์ลีกให้ความสนใจเสริมแกร่งมากที่สุดในตลาดซัมเมอร์ปี 2023 เชลซีสร้างสถิติใหม่ของสหราชอาณาจักรด้วยค่าทุ่มเงิน 115 ล้านปอนด์ ซื้อมอยเซส ไกเซโด มาจากไบรท์ตัน ทั้งที่ตลาดเดือนมกราคมปีเดียวกันเพิ่งได้ เอ็นโซ เฟร์นานเดซ มาจากเบนฟิกาด้วยค่าตัว 106.8 ล้านปอนด์

สำหรับตลาดฤดูร้อนรอบล่าสุด นอกจากไกเซโด ผู้เล่นที่ค่าตัวสูงสุดติดท็อป 5 อีก 4 คนได้แก่ เดแคลน ไรซ์ 105 ล้านปอนด์ จากเวสต์แฮมไปอาร์เซนอล, ยอสโก กวาร์ดิโอล 77.6 ล้านปอนด์ จากไลป์ซิกไปแมนฯซิตี, ราสมุส ฮอยลุนด์ 72 ล้านปอนด์ จากอตาลันตาไปแมนฯยูไนเต็ด และ ไค ฮาแวร์ตซ์ 65 ล้านปอนด์ จากเชลซีไปอาร์เซนอล

เก้าอี้เหนียว ผู้จัดการทีมส่วนใหญ่ทำหน้าที่ครบเทอม

ทิ้งท้ายด้วยเรื่องของผู้จัดการทีม เป็นสถิติต่ำที่สุดนับตั้งแต่ดิวิชัน 1 เปลี่ยนชื่อเป็นพรีเมียร์ลีก ซึ่งมีการเปลี่ยนผู้จัดการทีมถาวรก่อนหน้าและระหว่างฤดูกาลแข่งขันเพียงแค่ 4 คน เทียบเท่าที่เคยเกิดขึ้นในซีซัน 2005-06

วันที่ 9 สิงหาคม 2023 หรือ 2 วันก่อนซีซัน 2023-24 คิกออฟ วูลฟ์แฮมป์ตันได้แต่งตั้งแกรี โอ’นีล เป็นผู้จัดการทีมแทนจูเลน โลเปเตกี ซึ่งพ้นตำแหน่งเพราะมีปัญหาขัดแย้งกับบอร์ดบริหาร และระหว่างซีซัน พรีเมียร์ลีกมีการเปลี่ยนผู้จัดการทีมถาวร 3คนคือ พอล เฮคกิงบอตทอม ทีมเชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด, สตีฟ คูเปอร์ ทีมนอตติงแฮม ฟอเรสต์ และรอย ฮอดจ์สัน ทีมคริสตัล พาเลซ ซึ่งยื่นใบลาออกเองเนื่องจากมีปัญหาสุขภาพ

นอกจากนี้ เยอร์เกน คลอปป์ ทีมลิเวอร์พูล, โรแบร์โต เด แซร์บี ทีมเชลซี และเดวิด มอยส์ ทีมเวสต์แฮม ได้ยุติบทบาทผู้จัดการทีมหลังปฏิบัติหน้าที่จนถึงนัดปิดซีซัน

สำหรับพรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 2024-25 จะเริ่มทำการแข่งขันวันที่ 17 สิงหาคม 2024 จนถึง 25 พฤษภาคม 2025 เป็นการแข่งขันครั้งที่ 33 ในชื่อนี้ และเป็นครั้งที่ 126 ในฐานะลีกฟุตบอลเทียร์ 1 ของอังกฤษ โดยโปรแกรมแข่งขันแบ่งเป็นแมตช์สุดสัปดาห์ 33 นัด, แมตช์กลางสัปดาห์ 4 นัด และแมตช์วันหยุดธนาคาร 1 นัด

ในส่วนของการซื้อขายผู้เล่น ตลาดฤดูร้อนของพรีเมียร์ลีกจะเปิดทำการตั้งแต่วันศุกร์ที่ 14 มิถุนายน 2024 จนถึง 5 ทุ่มของวันศุกร์ที่ 30 สิงหาคม 2024 ตามเวลาท้องถิ่น ส่วนตลาดฤดูหนาวจะมีขึ้นตั้งแต่วันพุธที่ 1 มกราคม 2025 จนถึง 5 ทุ่มของวันจันทร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ 2025 

เรียบเรียง : ฐปน วันชูเพลา (Senior Football Writer) 

Categories
Football Business

ไบรท์ตัน โมเดล เบื้องหลังการบินสูงของเจ้านกนางนวล

ในยุคที่หลายสโมสรต้องดิ้นรนปรับตัวให้เข้ากับกฎการเงินของพรีเมียร์ลีก แต่วันอังคารที่ 2 เมษายน 2024 ที่ผ่านมา “ไบรท์ตัน แอนด์ โฮฟ อัลเบียน” สามารถประกาศผลกำไรประจำปีก้อนใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ลีกสูงสุดของอังกฤษ

ไบรท์ตันได้ประกาศตัวเลขผลกำไรหลังหักภาษีแล้วสำหรับซีซัน 2022-23 เป็นเงิน 122.8 ล้านปอนด์ กระโดดจาก 24.1 ล้านปอนด์สำหรับซีซัน 2021-22 ส่วนหนึ่งเนื่องจากได้เงินเป็นกอบเป็นกำจากการขายดาวดังของทีมอย่าง อเล็กซิส แมค อัลลิสเตอร์, อีฟส์ บิสซูมา, เลอันโดร ทรอสซาร์ และ มาร์ค กูกูเรยา รวมถึงได้รับเงินจากเชลซีที่ดึงตัวแกรห์ม พอตเตอร์ ไปคุมทีมเมื่อกันยายน 2022

แต่ตัวเลขดังกล่าวยังไม่รวมการขาย มอยเซส ไกเซโด และ โรเบิร์ต ซานเชซ ซึ่งย้ายไปเชลซีด้วยค่าตัว 115 และ 25 ล้านปอนด์ตามลำดับในตลาดซัมเมอร์ปีที่แล้ว เนื่องจากตัวเลขรายได้ถูกบันทึกสิ้นสุด ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2023

กระนั้นซีซันนี้ “เดอะ ซีกัลส์” ทำผลงานพรีเมียร์ลีกดร็อปลง กำลังลุ้นให้ติดท็อป-10 หลังจากซีซันที่แล้วจบด้วยอันดับ 6 ได้เล่นบอลถ้วยสโมสรยุโรป (ยูโรปา ลีก) เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ 123 ปีของสโมสร แต่ประเด็นที่นำเสนอไม่ใช่เรื่องในสนาม

โกยกำไรมหาศาลเพราะพอตเตอร์และขายนักเตะ

ทอตแนม ฮอตสเปอร์ เป็นเจ้าสถิติสูงสุดเดิม 113 ล้านปอนด์ ซึ่งทำไว้เมื่อซีซัน 2017-18 โดยแหล่งเงินหลักที่เพิ่มพูนขึ้นของ “เดอะ ลิลลีไวท์ส” มาจากรายได้เชิงพาณิชย์, ค่าเข้าชมนัดเหย้าที่เวมบลีย์ สเตเดียม ขณะที่สนามใหม่กำลังก่อสร้าง และเงินจากแชมเปียนส์ ลีก เมื่อเข้าถึงรอบน็อกเอาท์ แต่ไบรท์ตันมีแหล่งรายได้หลักผ่าต่างกัน

เริ่มจากเงินที่ขายผู้เล่น แมค อัลลิสเตอร์ไปลิเวอร์พูล, บิสซูมาไปสเปอร์ส, ทรอสซาร์ไปอาร์เซนอล และกูกูเรยาไปเชลซี ทั้งสี่สร้างกำไรรวมกันให้ไบรท์ตัน 121.4 ล้านปอนด์ สโมสรยังได้เงินชดเชยราว 21 ล้านปอนด์เมื่อเสียพอตเตอร์ให้ “เดอะ บลูส์” ขณะที่รายรับจากลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดเพิ่มขึ้นไม่มากนักจากซีซันก่อนหน้า 126.2 ล้าปอนด์เป็น 155.2 ล้านปอนด์

ขอบคุณภาพจาก  https://www.bbc.com/sport/articles/c98eg8pq43jo

พอล บาร์เบอร์ ซีอีโอของสโมสร ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว ESPN ว่า ไบรท์ตันไม่ได้อยู่ในจุดที่จะสร้างรายได้เหมือนทีมใหญ่ๆ สนามเอเมกซ์มีความจุเพียง 32K เทียบกับ 75K ของแมนฯยูไนเต็ด และ 60K ของสเปอร์สกับอาร์เซนอล นั่นทำให้สโมสรต้องมองหาแหล่งรายได้ด้วยรูปแบบอื่นเช่น สปอนเซอร์, การเพิ่มคุณค่าแบรนดิ้ง, จำหน่ายสินค้าที่ระลึก ฯลฯ แต่สิ่งที่ไบรท์ตันให้น้ำหนักเป็นพิเศษคือโมเดล player-trading ด้วยการใช้อะคาเดมีพัฒนานักเตะแววดีมีอนาคตจากท้องถิ่น ผสมผสานกับแหล่งอื่นๆจากต่างประเทศที่ไม่มีสโมสรไหนให้ความสนใจนัก นั่นเท่ากับเปิดโอกาสให้ “ไบรท์ตันตกปลาในบ่อคนเดียว”

ตัวอย่างเช่น ไบรท์ตันเซ็นสัญญากับแมค อัลลิสเตอร์ เมื่อครั้งเป็นผู้เล่นอาร์เจนติโนส จูเนียร์ส ในปี 2019 ด้วยราคาเพียง 7ล้านปอนด์ แต่ทำกำไร 48 ล้านปอนด์จากการขายให้ลิเวอร์พูลในปี 2023 ด้วยราคา 55 ล้านปอนด์ หรือรายที่ไม่ได้อยู่ในผลประกอบการซีซัน 2022-23 คือ ไกเซโด ซึ่งซื้อจากอินดิเพนเดียนเต เดล วัลเล แค่ 4.5 ล้านปอนด์ในปี 2021 แต่ฟันกำไรเละถึง 110.5 ล้านอีก 2 ปีต่อมาหลังจากเชลซียอมทุ่มเงิน 115 ล้านปอนด์คว้าตัวไป

เจมส์ ออลลีย์ นักข่าวอาวุโสของ ESPN FC ให้ความเห็นว่า ไบรท์ตันดำเนินนโยบายซื้อผู้เล่นอายุน้อยด้วยต้นทุนต่ำ นำมาพัฒนาเป็นเวลาหลายปี และสามารถปล่อยขายในราคาน่าทึ่ง โดยสามารถย้อนกลยุทธ์นี้กลับไปยังปี 2017 เมื่อครั้งเพิ่งขึ้นมาเล่นพรีเมียร์ลีกในฐานะรองแชมป์แชมเปียนชิพ ซีซัน 2016-17 เป็นการคัมแบ็คสู่ลีกสูงสุดนับจากปี 1983

จากเดิมที่เคยเซ็นสัญญากับผู้เล่นอายุมากในอังกฤษเป็นหลัก ไบรท์ตันเปลี่ยนแนวทางไปซื้อนักเตะอายุน้อยลงจากตลาดเกิดใหม่ในต่างประเทศ โดยอ้างอิงจากเว็บไซต์ Transfermarkt “เดอะ ซีกัลส์” ใช้เงินสุทธิ 171 ล้านปอนด์ขณะพยายามหลงหลักปักฐานอย่างมั่นคงในพรีเมียร์ลีก และปรับเปลี่ยนสไตล์ฟุตบอลไปเน้นการครองบอลมากขึ้นแบบสโมสรชั้นนำยุคใหม่ ซึ่งเห็นอย่างเป็นรูปธรรมช่วงพอตเตอร์ (2019 – 2022) และโรแบร์โต เด แซร์บี (2022 –  ปัจจุบัน) เป็นผู้จัดการทีม

แม้ช่วงแรกดูเหมือนไม่ใช่กลยุทธ์ที่ดีในการสร้างผลกำไรให้ไบรท์ตัน แต่เวลาที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ มีความชัดเจนแล้วว่าเป็นรูปแบบที่ได้ผล

จุดหักเหเมื่อเซียนโป๊กเกอร์เทคโอเวอร์สโมสร

นอกจากนี้ ออลลีย์ยังส่องลำแสงสปอตไลท์ไปยัง โทนี บลูม เจ้าของสโมสรวัย 54 ปี เจ้าของฉายา “The Lizard” ผู้เกิดในเมืองไบรท์ตัน เป็นเซียนไพ่โป๊กเกอร์ระดับอาชีพที่ผันตัวเองมาเป็นเจ้าพ่อวงการพนัน ซึ่งใช้การลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์และหุ้นเอกชนส่งตัวเองกลายเป็นมหาเศรษฐี

บลูมซื้อหุ้นไบรท์ตันสูงถึง 75% เมื่อปี 2009 และปล่อยสินเชื่อปลอดดอกเบี้ย 406.5 ล้านปอนด์ให้สโมสรนำไปใช้บริหารโดยปีนี้เพิ่งเป็นครั้งแรกที่ไบรท์ตันสามารถจ่ายหนี้คืนให้เจ้าของสโมสรได้ ซึ่งเป็นเงิน 32.2 ล้านปอนด์ ไม่เพียงไม่คิดดอกเบี้ยและไม่กำหนดระยะเวลาใช้หนี้ บลูมยังไม่มีข้อกำหนดเบื้องต้นเกี่ยวกับจำนวนผู้เล่นหรือตัวเลขเงินในการซื้อขายแต่ละตลาด

คีแรน แมคไกวร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินในวงการลูกหนัง ให้สัมภาษณ์กับ ESPN ว่า โทนี บลูม เป็นทรัพย์สินก้อนใหญ่ที่สุดของไบรท์ตัน ทุกคนที่เคยทำงานด้วยจะตระหนักดีว่าบลูมมีวิสัยทัศน์มากเพียงใด เขาจึงเป็นคนที่เข้าใจถึงคุณค่าและผลประโยชน์ของการลงทุนระยะยาว “สิ่งสำคัญคือ หนึ่ง บลูมเป็นแฟนบอลของสโมสร และสอง เขาเป็นทั้งอัจฉริยะและมหาเศรษฐี”

บริษัทพนัน/บริการข้อมูลอยู่เบื้องหลังความสำเร็จ

ก่อนหน้าเทคโอเวอร์ “เดอะ ซีกัลส์” บลูมยังก่อตั้ง Starlizard บริษัทรับพนันกีฬาเมื่อปี 2006 ซึ่งเวลาต่อมาได้เติบโตขึ้นมาเป็นฐานข้อมูลขนาดยักษ์ที่บรรจุข้อมูลนักฟุตบอลหลายพันคนทั่วโลก

เดวิด เวียร์ ผู้อำนวยการเทคนิคของไบรท์ตัน พูดถึงสตาร์ลิซาร์ดว่า ตัวเขาไม่รู้ตัวเลขของฐานข้อมูลแน่ชัดแต่เชื่อมั่นมันครอบคลุมนักเตะเกือบทั้งหมดที่เล่นระดับอาชีพในทุกลีกทั่วโลก และเช่นกัน เขาไม่รู้อัลกอรึธึมของสตาร์ลิซาร์ดทำงานอย่างไรในการแยกแยะจัดหมวดหมู่ผู้เล่นเพราะมันเป็นความลับ

เวียร์อธิบายต่อว่า มันเป็นเพียงตัวกรองที่ช่วยให้สโมสรสามารถเห็นตัวผู้เล่นที่มีความสามารถตามต้องการตั้งแต่เนิ่นๆ สิ่งสำคัญคือ output ซึ่งช่วยให้สโมสรสามารถทำงานกับกลุ่มผู้เล่นที่มีจำนวนไม่มากนัก

ขอบคุณภาพจาก  https://www.starlizardintegrity.com/

กลุ่มนักเตะที่ได้รับการคัดเลือกผ่านอัลกอรึธึมของสตาร์ลิซาร์ดไม่ได้เริ่มต้นที่ภูมิศาสตร์แต่เป็นตำแหน่งการเล่น  แมวมองจะได้รับรายชื่อที่ต้องคอยเฝ้าจับตามองและส่งรายงานผลกลับไปยังสโมสร โดยใช้สีไฟสัญญาณจราจรเป็นตัวจำแนกว่าเป้าหมายคนไหนเข้ากับระบบของไบรท์ตันมากน้อยเพียงใด

บาร์เบอร์ ซีอีโอของไบรท์ตัน ขยายความส่วนนี้ว่า โดยภาพรวมทุกอย่างเริ่มต้นจากตำแหน่งการเล่น ไม่ใช่มองหานักเตะแววดีแต่ไม่เป็นที่ต้องการของสโมสร โดยจะโฟกัสนักเตะตามตำแหน่งที่ต้องการจริงๆ แมวมองจะตรวจสอบข้อมูล โปรไฟล์ และบุคลิกภาพส่วนตัว จากนั้นโค้ชจะเป็นผู้เลือก จัดอันดับว่าใครเป็นตัวเลือกแรกและคนสุดท้าย สโมสรจะไม่นำเข้านักเตะที่โค้ชไม่ต้องการหรือมองว่าไม่มีความจำเป็น เพราะจะเป็นการเสียเงินไปเปล่าๆหากได้มาแล้วไม่ได้เล่นหรือถูกใช้งาน

แต่ก็มีสถานการณ์ที่สโมสรลงทุนเพื่ออนาคต และโค้ชชุดใหญ่ยังไม่ต้องการ ก็สามารถใช้สิทธิ “คัดค้าน” ซึ่งผู้เล่นจะถูกปล่อยยืม 1-2 ปี เมื่อพร้อมกลับมาร่วมทีมชุดใหญ่ ก็มีโอกาสไม่น้อยที่หัวหน้าโค้ชจะให้ความสนใจกับพวกเขา

บาร์เบอร์กล่าวต่อว่า โมเดลของไบรท์ตันคือ ใช้แมวมองจำนวนน้อย แต่เน้นหนักด้านวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อระบุตัวผู้เล่นที่คุณสมบัติเหมาะสมและตรงกับสิ่งที่โค้ชร้องขอมากที่สุด แมวมองต้องพร้อมเดินทางไปทุกที่ที่เป้าหมายเล่นอยู่ และไม่จำเป็นต้องเป็นตลาดยอดนิยมของฟุตบอลสมัยใหม่ก็ได้อย่างอาร์เจนตินา, บราซิล, สเปน หรืออิตาลี เพราะสำหรับไบรท์ตันแล้วอาจเป็นเอกัวดอร์, ปารากวัย, เบลเยียม หรือชาติเล็กๆในลีกยุโรป

แมคไกวร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินในวงการลูกหนัง ให้มุมมองว่า รูปแบบการทำงานดังกล่าวทำให้ไบรท์ตันต้องทำงานด้วยความฉลาดขึ้นและทำการบ้านหนักขึ้น อีกทั้งต้องไม่ลืมว่าฟุตบอลเป็นอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันและลอกเลียนแบบสูง สโมสรอื่นๆจะสังเกตเห็นความสำเร็จของไบรทัตัน และพยายามมองหานักเตะแววดีที่ดิบเพื่อนำมาขัดเกลาด้วยโมเดลการทำงานที่เหมือนไบรท์ตัน แถมบ่อยครั้งสโมสรเหล่านั้นอยู่ในฐานะที่จะเสนอค่าจ้างที่สูงกว่า แม้ไม่สามารถนำเสนอเส้นทางพัฒนาฝีเท้าในแบบที่ไบรท์ตันมีก็ตาม

Succession planning ยืดเวลาความสำเร็จของไบรท์ตันโมเดล

อย่างไรก็ตาม สโมสรฟุตบอลไม่ใช่บริษัทเอกชนที่แสวงหาผลกำไรจากการซื้อมาขายไป แต่ความสำเร็จและความบันเทิงที่มอบให้กับแฟนบอลมีความสำคัญไม่แพ้กัน แล้วไบรท์ตันมีแนวคิดอย่างไรที่จะรักษามาตรฐานฟอร์มการเล่นบนสนามแข่งขันได้หลังจากเสียผู้เล่นสำคัญคนแล้วคนเล่า

ซีอีโอสโมสรเป็นผู้ให้คำตอบนี้ว่า “การวางแผนสืบทอดตำแหน่ง” (Succession planning) เป็นกุญแจดอกสำคัญ

บาร์เบอร์ล่าว่า บนเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนตัว เขามีเอกสารเพียงฉบับเดียว ซึ่งบรรจุรายชื่อของผู้ที่จะเข้ามาทำหน้าที่ตำแหน่งสำคัญๆในสโมสร เจ้าของสโมสรเคยบอกว่า การแต่งตั้งตำแหน่งหรือการตัดสินใจครั้งสำคัญของเขามีเพียงเรื่องเดียวคือ ไล่หัวหน้าโค้ชออก ซึ่งเขาจะเป็นคนรับผิดชอบเอง “ส่วนอีก 25 ตำแหน่งรองลงมาอยู่ในความรับผิดชอบของผม”

ไบรท์ตันใช้การวางแผนสืบทอดตำแหน่งกับผู้เล่นด้วย บาร์เบอร์ขยายความว่า มีการจัดทำแผนผังนักเตะชุดใหญ่ 25 คน และมีนักเตะชุด ยู-21 อยู่ข้างล่าง ถ้าเสียกูกูเรายา แล้วใครจะมาแทน … เปร์บิส เอสตูปิญญัน, ถ้าเสียทรอสซาร์ ทีมมีคาโอรุ มิโตมะ รองรับ ถ้าเสียบอสซูมา ทีมมีไกเซโด ถ้าเสียไกเซโด ทีมมีคาร์ลอส บาเลบา

Succession planning เป็นแนวคิดที่ไบรท์ตันกระจายใช้ทุกภาคส่วนของสโมสร ซึ่งซีอีโอ “เดอะ ซีกัลส์” มองว่ามันไม่ได้สลับซับซ้อนยุ่งยากเหมือนแผนการสร้างจรวด แล้วก็ไม่ได้เลอเลิศถึงขั้นได้รับรางวัลโนเบล มันเป็นเพียงแผนทางธุรกิจธรรมดาๆ องค์กรหรือหน่วยงานดีๆนอกวงการฟุตบอลต่างใช้มัน แต่พอกับแวดวงฟุตบอล กลับไม่ใช่เรื่องปกติธรรมดา ซึ่งบาร์เบอร์ยอมรับว่าเขาไม่เข้าใจเหมือนกันว่าเพราะอะไร

แมคไกวร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินในวงการลูกหนัง ให้ทรรรศนะถึงความต่อเนื่องของทีมฟุตบอลหลังสูญเสียผู้เล่นดีๆไป โมเดลของไบรท์ตันก็เป็นการกระทำซ้ำแนวทางของสโมสรอื่นๆเช่นกัน อย่างเช่นเซาแธมป์ตันเมื่อ 1 ทศวรรษที่แล้ว ทีมนักบุญมีแกเรธ เบล, อดัม ลัลลานา, เวอร์จิล ฟาน ไดค์ และคนอื่นๆ ซึ่งย้ายไปเล่นให้ทีมอื่น 

แต่เซาแธมป์ตันปล่อยนักเตะพรสวรรค์ออกไปแล้วไม่สามารถแทนที่ด้วยนักเตะระดับเดียวกันภายในช่วงเวลาหนึ่ง ในที่สุด “เดอะ เซนต์ส” ก็ต้องตกชั้นในปี 2023 อย่างไรก็ตามแมคไกวร์มองว่า สิ่งที่ไบรท์ตันแตกต่างจากเซาแธมป์ตันคือ โทนี บลูม และประโยนชน์ที่ได้รับจากสตาร์ลิซาร์ด ซึ่งเป็นบริการภายในของสโมสร หากรูปแบบนี้ยังดำเนินต่อไป อาจทำให้ไบรท์ตันได้เปรียบในการแข่งขันระยะยาว ถึงกระนั้นไม่ได้หมายความว่าสิ่งนี้จะไม่มีจุดสิ้นสุด

ผลกระทบหลังเสียแมค อัลลิสเตอร์และไกเซโด

เวลาจะเป็นตัวเฉลบคำตอบ เช่นเดียวกับไบรท์ตันตัดสินใจขายแมค อัลลิสเตอร์ และไกเซโดออกไปเมื่อฤดูร้อน 2023 ซึ่งไม่ต้องสงสัยเลย มันทำให้ทีมของเด แซร์บี อ่อนแอลง ไม่สามารถซ้ำรอยความสำเร็จในฤดูกาล 2022-23 ได้ ผลงานเป็นตัวชี้ชัด

บาร์เบอร์ให้เหตุผลถึงเรื่องนี้ว่า “การขาย ณ เวลาที่เหมาะสมต้องอาศัยความกล้าหาญระดับหนึ่ง บางครั้งมันก็ง่าย ซัมเมอร์ที่แล้วเป็นตัวอย่างที่ดี ไกเซโดและแมค อัลลิสเตอร์ เป็นผู้เล่นสำคัญที่ช่วยให้ไบรท์ตันจบอันดับ 6 และผ่านเข้าไปเล่นยูโรปา ลีก นั่นส่งให้มูลค่าของนักเตะ ณ เวลานั้นพุ่งขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ความสนใจจากทีมอื่นๆก็เช่นกัน ดังนั้นเราจึงตัดสินใจกระทำการลงไป”

มองไปยังซัมเมอร์ปีนี้ บิ๊กทีมกำลังให้ความสนใจผลผลิตของไบรท์ตันอย่างกองหน้า อีวาน เฟอร์กูสัน และกองกลาง บาเลบา ซึ่งอย่างน้อยก็มีจำนวนเพียง 2 คน ขณะที่เด แซร์บี ตกเป็นข่าวเชื่อมโยงกับบาเยิร์นและแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด รวมถึงเป็นบุคคลหนึ่งที่อาจคุมทีมแมนเชสเตอร์ ซิตี ต่อจากเป๊ป กวาร์ดิโอลา แต่กระนั้น “เดอะ ซีกัลส์” ยังมั่นใจว่าโค้ชมือดีชาวอิตาเลียนยังจะทำงานให้สโมสรต่ออีกระยะหนึ่ง ซีซันหน้าเป็นอย่างน้อย

ขณะเดียวกัน อะคาเดมีพยายามรักษามาตรฐานการทำงานในการส่งต่อความหวังอย่างเฟอร์กูสัน, กองหลัง แจค ฮินเชลวูด, กองหน้า มาร์ก มาโฮนีย์, กองกลาง คาเมรอน พีปิออน และกองหลัง โอเดลูกา ออฟฟิอาห์ ซึ่งล้วนแต่ได้รับการโปรโมทขึ้นไปเล่นให้ทีมซีเนียร์แล้ว รวมถึงเบน ไวท์ อดีตผลผลิตของไบรท์ตัน เป็นกำลังสำคัญของอาร์เซนอลตอนนี้

เวียร์ ผู้อำนวยการเทคนิคของไบรท์ตัน ให้สัมภาษณ์ทิ้งท้ายว่า “ทีมชุดใหญ่พัฒนาตัวอย่างไปอย่างรวดเร็วมาก ดังนั้นอะคาเดมีจะต้องไล่ตามรุ่นพี่ๆให้ทัน การดูแลช่องว่างระหว่างทั้งสองถือเป็นงานท้าทาย  เรามีสิ่งอำนวยความสะดวกที่วิเศษเหลือเชื่อ เราต่างลงเรือลำเดียวกัน และเปี่ยมด้วยความทะเยอะทะยานสู่สิ่งนั้นไ นั่นทำให้ผมเชื่อว่า บางสิ่งจะเกิดขึ้นในที่สุดผ่านกระบวนการออสโมซิส

หมายเหตุ : ออสโมซิส (osmosis) เป็นกระบวนการแพร่โมเลกุลของเหลวหรือน้ำผ่านเยื่อเลือกผ่าน จากบริเวณที่มีความเข้มข้นของน้ำมาก ไปยังบริเวณที่มีความเข้มข้นของน้ำน้อย และกระจายไปจนกว่าโมเลกุลของน้ำจะเท่ากัน ออสโมซิสก่อให้เกิดพลังงาน และสามารถสร้างแรงได้

เรียบเรียง : ฐปน วันชูเพลา (Senior Football Writer) 

Categories
Special Content

พรีเมียร์ลีกกับปรากฎการณ์ Goal Explosion ในซีซั่น 2023-24

เกมพรีเมียร์ลีกนัดตกค้างเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2024 ที่วิทาลิตี สเตเดียม ลูตัน ทาวน์ ทีมเยือนที่อยู่เหนือโซนตกชั้น ขึ้นนำบอร์นมัธ 3-0 เมื่อจบครึ่งแรก แต่ครึ่งหลังเริ่มไปได้เพียง 5 นาที เจ้าบ้านก็ตีไข่แตก ตามด้วยประตูที่ 2-3 นาทีที่ 62 และ 64ก่อนแซงนำนาทีที่ 83 และเป็นฝ่ายชนะลูตัน 4-3 เป็นอีกหนึ่งนัดที่ถูกบันทึกฐานะ the greatest comebacks ในประวัติศาสตร์พรีเมียร์ลีก

หากวางเงินข้างบอร์นมัธ 10 เหรียญสหรัฐระหว่างพักครึ่ง จะได้เงินตอบแทนถึง 150 เหรียญสหรัฐจากการแข่งขัน ซึ่งเป็นนัดแรกในรอบ 21 ปี ของพรีเมียร์ลีกที่ทีมพลิกสถานการณ์กลับมาเป็นฝ่ายชนะหลังตามอยู่ 0-3 เมื่อจบครึ่งแรก และยังเป็นครั้งที่ 5 เท่านั้นในประวัติศาสตร์พรีเมียร์ลีก

ขอบคุณภาพจาก  https://www.premierleague.com/news/3930809

4 ทีมที่ทำสำเร็จก่อนหน้านี้ได้แก่ ลีดส์ (ชนะดาร์บี ในเดือนพฤศจิกายน 1997), วิมเบิลดัน (ชนะเวสต์แฮม ในเดือนกันยายน 1998), แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด (ชนะทอตแนม ฮอทสเปอร์ส ในเดือนกันยายน 2001) และวูลฟ์แฮมป์ตัน (ชนะเลสเตอร์ ในเดือนตุลาคม 2003)

ไรอัน โอ‘แฮนลอน นักข่าวของเว็บไซต์ ESPN.com ยกเกมระหว่างบอร์นมัธกับลูตันเป็นตัวอย่างเพื่อจะบอกว่า การทำสกอร์กันมากมายไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับพรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 2023-24 ยืนยันด้วยสถิติย้อนหลังกลับไป 15 ปีถึงซีซัน 2008-09

แนวโน้มพรีเมียร์ลีกยิง 200 ประตูเพิ่มจากซีซัน 2022-23

จากกราฟแสดงค่าการทำประตูเฉลี่ยต่อนัดในพรีเมียร์ลีกช่วง 15 ปีที่ผ่านมา จำนวนค่อนข้างใกล้เคียงกันระหว่าง 1.24ประตู ถึง 1.43 ประตูต่อนัด ไม่สามารถเบรกหรือทะลุแนว 1.5 ประตูได้เลย จนกระทั่งซีซันนี้ (นับจนถึงก่อนเบรกฟุตบอลทีมชาติในเดือนมีนาคม 2024) พบว่าตัวเลขพุ่งถึง 1.63 ประตูต่อนัด 

เราสามารถมองปรากฏการณ์ Goal Explosion ได้อีกรูปแบบหนึ่งด้วยการคำนวณค่าเฉลี่ยตลอด 15 ซีซันที่ผ่านมา ซึ่งเท่ากับ 1.37 ประตูต่อนัด หรืออีกนัยหนึ่ง ทีมๆหนึ่งจะทำสกอร์ได้ 52 ประตูจากการลงสนาม 1 ซีซัน 38 นัด ดังนั้นซีซันปัจจุบันใช้ตัวเลข 1.63 ประตูมาคำนวณ ทีมๆหนึ่งจะทำสกอร์ได้ประมาณ 62 ประตูเมื่อแข่งครบโปรแกรม 38 นัด

เมื่อนำ 52 ลบจาก 62 จะได้ว่า ทีมๆหนึ่งสามารถทำสกอร์ในซีซันนี้ได้มากกว่าค่าเฉลี่ย 15 ปีที่ผ่านมาเป็นจำนวน 10 ประตู และเมื่อพรีเมียร์ลีกมี 20 สโมสร เท่ากับว่าฤดูกาล 2023-24 แฟนบอลอังกฤษจะได้เห็นการทำประตูเพิ่มขึ้นถึง 200 ลูกทีเดียว!!! ลองนึกภาพว่ามันมากมายขนาดไหนหากนำจังหวะการทำสกอร์ทั้งหมดรวมเป็นวิดิโอไฮไลท์ 1 คลิป ซึ่งสามารถอธิบายให้เห็นภาพ Goal Explosion ได้ชัดเจนขึ้น

จริงหรือประตูเพิ่มเพราะสิงห์เชิ้ตดำเพิ่มเวลาทดเจ็บ

หนึ่งในเหตุผลที่จำนวนประตูในพรีเมียร์ลีกเพิ่มเป็นเพราะเวลาแข่งขันเพิ่มขึ้น หรือ More time equals more goalsเนื่องจากฟุตบอลลีกอังกฤษตัดสินใจทำตามฟีฟาในฤดูกาล 2023-24 หลังจากมีการทดลองเพิ่มเวลาให้กับช่วงทดเวลาเจ็บในศึกลูกหนังเวิลด์คัพ 2022 ที่กาตาร์ 

ฮาวเวิร์ด เวบบ์ ประธานของคณะกรรมการผู้ตัดสินฟุตบอลอาชีพในอังกฤษ (PGMOL) เคยให้สัมภาษณ์ก่อนเปิดซีซันนี้ว่า เวลาที่เพิ่มขึ้นจะโฟกัสจากจังหวะการทำประตู การเปลี่ยนตัวผู้เล่น การให้ใบแดงและการลงโทษใดๆ ทุกอย่างยังเป็นไปเหมือนเดิมยกเว้นแทคติกถ่วงเวลาจะได้รับการเฝ้ามองแบบเข้มข้นขึ้น โดยซีซันที่แล้ว พรีเมียร์ลีกทดเวลาเจ็บประมาณ 8.5นาที แต่หากนำวิธีการใหม่เข้าไปใช้ ช่วงเวลาเจ็บซีซันที่แล้วน่าจะอยู่ที่ 11.5 นาที หรือเพิ่มขึ้นราว 3 นาที

ณ เวลาที่โอ’แฮนลอน เขียนบทความชิ้นนี้ พรีเมียร์ลีกฤดูกาล 2023-24 แข่งขันถึงแมตช์วีคที่ 28 ซึ่งพบว่า กรรมการได้เพิ่มเวลาพิเศษเข้าไปเฉลี่ย 11.9 นาทีต่อนัด ซึ่งถือได้ว่าเวบบ์ประมาณการได้ใกล้เคียงความจริงมาก

11.9 นาทีต่อเกมที่เพิ่มจากเวลาแข่งขันปกติ เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยตลอด 15 ซีซันก่อนหน้านี้  เส้นกราฟที่สร้างจะเข้าข่าย Added-Time Explosion ได้เช่นกัน เพราะระหว่างซีซัน 2008-09 ถึง 2021-22 ค่าเฉลี่ยของเวลาทดเจ็บอยู่ในกรอบ 6-8 นาที ก่อนจะทะลุเพดานขึ้นไปเกือบ 9 นาทีในซีซัน 2022-23 ที่ผ่านมา และเฉียด 12 นาทีในซีซันปัจจุบันที่ยังแข่งไม่จบโปรแกรม

สถิติพรีเมียร์ลีกซีซันนี้ระบุว่า มีสกอร์เกิดขึ้นรวมแล้ว 119 ประตูระหว่างช่วงทดเวลาเจ็บของครึ่งแรกและครึ่งหลัง เทียบกับ 84 ประตูที่เกิดขึ้นเต็มซีซัน 2022-23 และมากกว่าค่าเฉลี่ยจาก 15 ซีซันที่ผ่านมา 16 ประตู โดยสถิติสูงสุดเท่ากับ 103 ประตู ซึ่งเกิดขึ้นในซีซัน 2016-17 และอย่าลืมว่าซีซันนี้ยังเหลือการแข่งขันเกือบ 100 นัด

ดูเหมือนเป็นความจริงที่ว่า More time equals more goals เพราะเทียบกับ 15 ซีซันก่อนหน้า การทดเวลาเจ็บซีซันนี้เพิ่มขึ้น 73% ขณะที่ค่าเฉลี่ยที่ประตูเกิดขึ้นระหว่างทดเวลาเจ็บยังเพิ่มจากนัดละ 0.11 ประตูเป็น 0.21 ประตู หรือประมาณ 90% ทีเดียว

อย่างไรก็ตาม ไมเคิล เคลีย์ นักวิเคราะห์เกม ได้แสดงความเห็นผ่านจดหมายข่าว Expecting Goals ของเขาว่า อย่างที่ทราบกัน ประตูไม่ได้เกิดขึ้นกระจายไป ณ เวลาต่างๆอย่างเท่าเทียมกัน ประเมินอย่างหยาบๆ 56% ของประตูทั้งหมดเกิดขึ้นในครึ่งหลัง โดยความน่าจะเป็นของประตูจะเพิ่มขึ้นทันทีเมื่อเริ่มคิกออฟครึ่งหลัง แต่ค่าจะทรงตัวเกือบตลอดเวลาที่ผ่านไป ก่อนขึ้นถึงค่าสูงสุดระหว่างการทดเวลาเจ็บ

นั่นจึงไม่แปลกเลยหากสรุปว่า เวลาที่เพิ่มขึ้นของครึ่งหลัง จะช่วยเพิ่มความเป็นไปได้ของการเกิดประตูหรือ Expecting Goals ในแต่ละนัด แต่คงไม่มีใครคาดหวังว่า เวลา 73% ที่เพิ่มขึ้นจาก 15 ซีซันก่อนหน้า จะส่งผลให้จำนวนประตูเพิ่มขึ้น 73% เช่นกัน

ไม่ใช่เพียงช่วงทดเวลาเจ็บ แต่สกอร์ยังเกิดเพิ่มขึ้นในเวลาแข่งขันปกติด้วย จากค่าเฉลี่ย 15 ซีซันก่อนหน้านี้คือนัดละ 1.26ประตู กลายเป็น 1.41 ประตูซีซันนี้ เทียบกับ 1.32 ประตูในซีซัน 2022-23 ถือว่าเพิ่มขึ้นพอสมควร นั่นเท่ากับว่าทีมๆหนึ่งสามารถทำสกอร์เพิ่ม 5.7 ประตูต่อซีซัน หรือ 114 ประตูเมื่อรวมทั้งพรีเมียร์ลีก

เมื่อเวลาแข่งปกติยังคงเป็น 90 นาที แล้วอะไรทำให้ประตูเพิ่มขึ้น สัญชาตญาณแรกของโอ’แฮนลอน บอกว่า “จุดโทษ”

เนื่องจาก VAR โฟกัสการฟาวล์ที่ถูกกรรมการมองข้ามหรือไม่เห็น VAR ย่อมทำให้การยิงจุดโทษเพิ่มขึ้น แต่สถิติก็ชี้ว่าผู้เล่นในพรีเมียร์ลีกยิงแม่นขึ้นเช่นกัน โดย 10 ซีซันนับจากปี 2008 มีเพียง 3 ซีซันที่ conversion rate สูงกว่า 80% ส่วนใหญ่อยู่แถวๆ 78% แต่ 5 ซีซันที่ผ่านมา มีการเบรก 80% เกิดขึ้น 3 ซีซัน ขณะที่ซีซันนี้ ผู้เล่นยิงลูกโทษสำเร็จ 88.5%

อย่างไรก็ตามแม้นักเตะพรีเมียร์ลีกจบสกอร์จาก 12 หลาด้วย conversion rate ที่ดีขึ้น แต่ความจริงแล้วในซีซันนี้ penalty goals เกิดขึ้นในเวลาแข่งปกติเพียงนัดละ 0.11 ประตูเท่านั้น เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยจาก 0.09 ประตู ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยจาก 15 ซีซันก่อนหน้านี้ นั่นหมายความว่า จุดโทษไม่ใช่ตัวแปรที่ทำให้พรีเมียร์มีประตูเพิ่มขึ้นมากมายอย่างมีนัยยะ

ถ้าตัดจุดโทษออกไป สัญชาตญาณที่ 2 ของโอ’แฮนลอนบอกว่าอาจเป็น “ลูกเซตพีช” พิจารณาจากสโมสรต่างๆเริ่มให้ความสำคัญกับโค้ชที่เชี่ยวชาญลูกตั้งเตะมากกว่า แต่สถิติปฏิเสธการสันนิษฐานข้อนี้เพราะความจริงแล้ว ประตูส่วนใหญ่ที่เพิ่มขึ้นมาจากโอเพน เพลย์

แทคติกเพรสสูงเพิ่มโอกาสรุกทำสกอร์ให้ทั้ง 2 ฝั่ง

นักข่าวของ ESPN.com ยกเครดิตให้กับ เยอร์เกน คลอปป์ และเป๊ป กวาร์ดิโอลา เป็นผู้ส่งอิทธิพลให้ทีมต่างๆในพรีเมียร์ลีกจ่ายบอลและเพรสซิ่งได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ผลที่ตามมาคือ เพรสซิ่งช่วยให้ทีมมีโอกาสทำประตูหลังจากแย่งบอลกลับมาครองบนพื้นที่ด้านบนหรือฝั่งของคู่แข่ง แต่อีกความเป็นไปได้หนึ่ง ทีมที่สามารถแก้เพรสได้แล้วสวนกลับอย่างรวดเร็ว ทะลวงผ่านแนวรับที่ดันตัวเองขึ้นสูง นำไปสู่การทำประตูเช่นกัน

พรีเมียร์ลีกซีซันนี้ จากความพยายามยิงลุ้นประตูทั้งหมดเป็นจำนวน shots ในเขตโทษถึง 67.1% สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2008เทียบกับ 59% ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยช่วง 15 ซีซันก่อนหน้า อีกทั้งยังระยะการยิงเฉลี่ยยังใกล้โกล์มากที่สุดด้วย รวมถึงค่าเฉลี่ย xG ที่สูงขึ้นเช่นกัน

big chances หรือโอกาสทองที่จะเป็นประตู เป็นอีกสถิติที่เพิ่มขึ้นโดยมีผลจากประสิทธิภาพของเพรสซิ่งและการแก้เพรสซิ่งแล้วสวนกลับ แม้ข้อมูลอาจไม่มากนักเมื่อเทียบกับสถิติอื่นๆเพราะการรวบรวมสถิติ big chances เพิ่งเริ่มขึ้นเมื่อปี 2010 

พรีเมียร์ลีกซีซันนี้ ทีมๆหนึ่งสร้างโอกาสทองที่ไม่รวมจุดโทษ (non-penalty big chances) เฉลี่ยนัดละ 1.8 เทียบกับ 1.54 ในซีซันที่แล้ว ขณะที่ค่าเฉลี่ยจาก 12 ซีซันก่อนหน้าเท่ากับ 1.33 ซึ่งมองหยาบๆได้ว่า ซีซันนี้เกิด extra big chance ต่อนัดราว 0.5 ประตู

โอ’แฮนลอน ประมวลปรากฎการณ์ Goal Explosion ทั้งหมดและขมวดปมตบท้ายว่า “สถานการณ์พิเศษ” (extra situation) ที่เกิดขึ้นในพรีเมียร์ลีกช่วง 1-2 ปีล่าสุด ต่างส่งผลต่อจำนวนประตู ไม่ว่าเป็นการเพิ่มเวลาของแต่ละครึ่ง รวมถึงประสิทธิภาพการเพรสซิ่งและครอบครองบอล ล้วนส่งผลกระทบต่อมิติต่างๆของเกมฟุตบอลตามทฤษฏี “ผีเสื้อขยับปีก” (Butterfly Effect) 

นั่นทำให้พรีเมียร์ลีกเป็นการแข่งขันฟุตบอลที่สร้างความตื่นเต้นเร้าใจให้กับแฟนบอลทั่วโลก เพราะท้ายที่สุดแล้ว ระดับอารมณ์ของผู้ชมจะขึ้นสู่จุดสูงเมื่อได้เห็นจังหวะเข้าทำประตูและการส่งลูกหนังซุกก้นตาข่าย

เรียบเรียง : ฐปน วันชูเพลา (Senior Football Writer) 

Categories
Special Content

“แชงคลีย์ vs บัสบี้” รักในรอยแค้น กับสงครามสีแดงที่ดีที่สุดตลอดกาล

ในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมช่วงศตวรรษที่ 18 ลิเวอร์พูล และแมนเชสเตอร์ 2 เมืองใหญ่ของอังกฤษ ที่มีระยะทางห่างกันเกือบ 60 กิโลเมตร ต่างพึ่งพาอาศัยช่วยเหลือกัน และไม่มีแนวโน้มว่าจะมีปัญหากันเลย

ทว่าในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 จุดแตกหักของทั้งคู่ เกิดขึ้นเพราะผลประโยชน์เรื่องค้าขายที่ไม่ลงตัว จนกระทั่งลามไปถึงเรื่องของกีฬาฟุตบอล และกลายเป็นคู่แค้นที่ไม่มีทางกลับมาลงเอยด้วยดีอีกต่อไป

แม้ว่าลิเวอร์พูล และแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ทีมลูกหนังที่เป็นตัวแทนแห่งปฏิปักษ์ของ 2 เมือง จะชิงดีชิงเด่นในสนามมาตลอด แต่ในความขัดแย้ง มักมีมุมโรแมนติกแอบซ่อนอยู่ที่หลายคนอาจไม่เคยรู้มาก่อน

ซึ่งหนึ่งในประเด็น “รักในรอยแค้น” นั่นคือ บิลล์ แชงคลีย์ กับเซอร์แมตต์ บัสบี้ 2 ตำนานกุนซือผู้ล่วงลับที่มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน และช่วยสร้างยุคสมัยที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์ศึกแดงเดือดของ 2 สโมสร

ลิเวอร์พูลคือขวัญใจ แมนเชสเตอร์คือตำนาน

แมตต์ บัสบี้ เกิดในหมู่บ้านทำเหมืองถ่านหินที่สกอตแลนด์ คุณพ่อเป็นคนงานเหมืองที่ถูกเรียกไปช่วยชาติในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 และเสียชีวิตในสงคราม ส่วนคุณแม่อพยพมาจากไอร์แลนด์ช่วงปลายศตวรรษที่ 19

แต่ด้วยความมุ่งมั่นที่จะเป็นนักฟุตบอลให้ได้ บัสบี้ได้ใช้เวลาว่างจากงานประจำมาเล่นฟุตบบอล ต่อมาเขาขอปฏิเสธไปใช้ชีวิตกับคุณแม่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา และเลือกที่จะออกจากบ้านเกิดไปตามหาความฝันที่อังกฤษ

บัสบี้ เริ่มต้นการเป็นนักเตะระดับอาชีพกับแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ในปี 1928 ได้รับค่าจ้างสัปดาห์ละ 5 ปอนด์ โชว์ฟอร์มได้อย่างยอดเยี่ยม และหลายสโมสรได้ให้ความสนใจในตัวเขา แต่ก็ต้องผิดหวัง เนื่องจากค่าตัวที่แพงเกินไป

จนกระทั่งในปี 1936 ลิเวอร์พูลทุ่มเงิน 8,000 ปอนด์ กระชากตัวบัสบี้มาอยู่ในรั้วแอนฟิลด์ เก่งกาจจนกลายเป็นดาวเด่นในทีม จนได้รับการยกย่องจากสื่อว่า เขาคือเซ็นเตอร์ฮาล์ฟที่ยิ่งใหญ่ที่สุด และสง่างามที่สุดของอังกฤษ

ต่อมาในปี 1939 บัสบี้ ในฐานะกัปตันทีมหงส์แดง ได้ต้อนรับเพื่อนร่วมทีมคนใหม่ที่ชื่อ บ็อบ เพสลี่ย์ ที่ย้ายมาจากสโมสรบิช็อป โอ๊คแลนด์ ซึ่งไม่มีใครล่วงรู้เลยว่า เพสลี่ย์จะได้ทำงานเป็นกุนซือลิเวอร์พูลในอีกหลายสิบปีต่อมา

กัปตันบัสบี้ อยู่ค้าแข้งในถิ่นแอนฟิลด์จนกระทั่งเลิกเล่นในปี 1945 เขาคือบุคคลเพียงไม่กี่คนที่เป็นขวัญใจของลิเวอร์พูล ก่อนจะเป็นตำนานตลอดกาลที่แมนเชสเตอร์ ส่วนเพสลี่ย์รีไทร์จากอาชีพนักเตะในอีก 9 ปีหลังจากนั้น

หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 บัสบี้ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการทีมแมนฯ ยูไนเต็ดแบบเต็มตัว ได้เข้ามาฟื้นฟูสโมสรที่ได้รับความเสียหายจากสงคราม แถมติดหนี้ธนาคาร พร้อมกับสร้างทีมจนประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่

คนงานเหมืองถ่านหิน ที่วาดฝันอยากเป็นนักเตะ

บิลล์ แชงคลีย์ เป็นชาวสกอตแลนด์เช่นเดียวกับแมตต์ บัสบี้ เมื่ออายุ 14 ปี เขาจำเป็นต้องลาออกจากโรงเรียน เพื่อไปเป็นคนงานในเหมืองถ่านหินซึ่งเต็มไปด้วยมลพิษ สิ่งสกปรก และอันตรายจากเครื่องจักรกล

แชงคลีย์เคยเขียนไว้ในหนังสืออัตชีวประวัติของตัวเองว่า “สมัยยังเด็ก ผมกับเพื่อนๆ เคยขโมยผัก ขนมปัง หรือแม้แต่ผลไม้เน่าๆ จากเกวียนที่อยู่ในเหมือง ผมยอมรับว่ามันผิด แต่จำเป็นต้องทำเพราะความหิวโหย”

“ผมได้เจอปัญหามากมายที่เหมือง เช่น งานหนัก หนู ความยากลำบากในการกินและดื่ม และที่แย่ที่สุดคือความสกปรก เพราะคนงานในเหมืองไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองสะอาด แม้จะได้ล้างตัวหลังออกจากกะแต่ละครั้งก็ตาม”

ในขณะที่แชงคลีย์เป็นคนงานในเหมือง มักจะใช้เวลาว่างเพื่อเล่นฟุตบอลให้ได้บ่อยที่สุด ที่จริงแล้วการทำงานในเหมืองเป็นเพียงแค่การฆ่าเวลาเท่านั้น เพราะความฝันสูงสุดของเขาคือการได้เป็นนักฟุตบอลอาชีพ

ความมุ่งมั่นบวกกับแพสชั่นในกีฬาลูกหนัง แชงคลีย์ก็ผลักดันตัวเองจนได้เป็นนักเตะอาชีพในที่สุด โดยเล่นตำแหน่งกองหลัง เขาเริ่มจากการเซ็นสัญญากับคาร์ไลส์ ยูไนเต็ด สโมสรระดับดิวิชั่น 3 ของอังกฤษ ในปี 1932

แต่ด้วยความสามารถที่ไม่ธรรมดา ทำให้ในปีต่อมา เพรสตัน นอร์ท เอนด์ ตัดสินใจดึงแชงคลีย์เข้ามาด้วยเงิน 500 ปอนด์ เป็นกำลังสำคัญที่พาทีมขึ้นสู่ดิวิชั่น 1 ตั้งแต่ซีซั่นแรกที่ลงเล่น แถมคว้าแชมป์เอฟเอ คัพ ในปี 1938

หลังจากเลิกเล่นฟุตบอลอาชีพ แชงคลีย์ผันตัวมาเป็นผู้จัดการทีมให้กับคาร์ไลส์ ยูไนเต็ด, กริมสบี้ ทาวน์, เวิร์กคิงตัน และฮัดเดอร์ฟิลด์ ทาวน์ หลังจากนั้นไม่นาน ชายคนนี้ก็กลายเป็นสุดยอดกุนซือผู้ยิ่งใหญ่ที่ลิเวอร์พูล

ความรักที่ลึกลับซับซ้อน ซ่อนในความเป็นคู่อริ

ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 1958 เกิดเหตุโศกนาฏกรรมเครื่องบินตกที่สนามบินในเมืองมิวนิค ประเทศเยอรมนี ทำให้มีเจ้าหน้าที่และนักเตะชุด “บัสบี้ เบ็บส์” ของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้รวม 23 คน

เมื่อลิเวอร์พูลได้รับทราบถึงความสูญเสียของฟากแมนเชสเตอร์ ก็ได้ยื่นข้อเสนอให้ยืมตัวผู้เล่นไปใช้งาน แต่ทางยูไนเต็ดปฏิเสธ และขอสู้ด้วยนักเตะที่มีอยู่ ในสถานการณ์ที่ต้องใช้เวลาไม่น้อยในการฟื้นฟูสโมสรขึ้นมาใหม่

หลังจากคืนฟ้าโศกที่มิวนิคผ่านไปเกือบ 2 ปี บิลล์ แชงคลีย์ ที่กำลังคุมทีมฮัดเดอร์ฟิลด์ ได้รับการแนะนำจากคนสนิทอย่างบัสบี้ ให้เข้ามารับงานที่ลิเวอร์พูล และในที่สุดแชงคลีย์ก็ตอบรับโอกาสนี้ในเดือนธันวาคม 1959

ลิเวอร์พูลในขณะนั้น มีแต่ปัญหารุมเร้าทั้งในและนอกสนาม แชงคลีย์ต้องใช้เวลาและความอดทนอย่างสูงเพื่อเปลี่ยนแปลงทีมให้ดีขึ้น รวมถึงเป็นผู้ที่เปลี่ยนชุดแข่งขันให้เป็นสีแดง ซึ่งกลายเป็นสีประจำสโมสรจนถึงทุกวันนี้

แชงคลีย์ ใช้เวลา 2 ฤดูกาลครึ่ง ในการพาลิเวอร์พูลเลื่อนชั้นขึ้นสู่ดิวิชั่น 1 เป็นครั้งแรกในรอบ 8 ปี จบซีซั่น 1962/63 ในอันดับที่ 8 ด้านแมนฯ ยูไนเต็ดของเซอร์แมตต์ บัสบี้ คว้าแชมป์เอฟเอ คัพ และรอดตกชั้นอย่างฉิวเฉียด

จนกระทั่งในช่วงปี 1964 – 1967 คือช่วงเวลาที่ 2 สโมสรคู่ปรับสีแดง ยึดครองความยิ่งใหญ่ สลับกันคว้าแชมป์ลีกทีมละ 2 สมัย โดยลิเวอร์พูลได้ฉลองในปี 1964 กับ 1966 ส่วนทางฝั่งยูไนเต็ด สุขสมหวังในปี 1965 และ 1967

ในปี 1968 เมื่อปิศาจแดงผ่านเข้าชิงชนะเลิศยูโรเปี้ยน คัพ Liverpool Echo สื่อประจำเมืองลิเวอร์พูล ได้ออกมาเขียนชื่นชมในความยอดเยี่ยมของคู่แข่ง และทุกคนจะยินดี หากพวกเขาเป็นทีมแรกของอังกฤษที่ทำสำเร็จ

และสิ่งมหัศจรรย์ก็เกิดขึ้นกับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดจริงๆ ด้วยการล้มยักษ์อย่างเบนฟิกา จากโปรตุเกส ในช่วงต่อเวลาพิเศษ แน่นอนว่าความสำเร็จครั้งนี้ ได้อุทิศให้กับผู้วายชนม์จากเหตุการณ์เมื่อ 10 ปีก่อนหน้านั้น

ปิศาจแดงเสื่อมถอย หงส์แดงก้าวสู่ยุคยิ่งใหญ่

เมื่อช่วงเวลาของการต่อสู้เพื่อแย่งแชมป์ลีกที่เข้มข้นที่สุดในประวัติศาสตร์ได้ผ่านพ้นไปแล้ว เซอร์แมตต์ บัสบี้ กับบิลล์ แชงคลีย์ ก็เข้าสู่ช่วงท้ายของอาชีพผู้จัดการทีม ซึ่งจุดสิ้นสุดของทั้งคู่นั้น แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

บัสบี้ หลังพาแมนฯ ยูไนเต็ด คว้าแชมป์ยูโรเปี้ยน คัพ ฤดูกาล 1967/68 อย่างยิ่งใหญ่ แต่ในซีซั่นถัดมา เขาทำทีมจบแค่อันดับที่ 11 และตัดสินใจอำลาสโมสรหลังจบซีซั่น ยุติช่วงเวลา 24 ปี ที่คุมทีมในถิ่นโอลด์ แทร็ฟฟอร์ด

ซึ่งผู้ที่เข้ามาสานต่ออย่างวิลฟ์ แม็คกินเนสส์ ก็ทำหน้าที่ได้ไม่ดีนัก อยู่ในตำแหน่งแค่ 1 ฤดูกาลครึ่ง ทำให้ยูไนเต็ดต้องเรียกบัสบี้ กลับมากู้วิกฤตชั่วคราวอีกครึ่งฤดูกาล ก่อนเข็นทีมปิศาจแดงให้จบซีซั่น 1970/71 ในอันดับที่ 8

การคุมทีมนัดสุดท้ายในชีวิตของบัสบี้ เกิดเหตุการณ์ที่ไม่น่าเชื่อ เมื่อมีแฟนบอลฮูลิแกนเข้ามาปามีดลงมาตกที่อัฒจันทร์ฝั่งทีมเยือน ทำให้ยูไนเต็ดถูกลงโทษห้ามเล่นที่โอลด์ แทร็ฟฟอร์ด 2 เกม ในช่วงต้นฤดูกาล 1971/72

สำหรับ 2 เกมที่แมนฯ ยูไนเต็ดต้องใช้สนามอื่นลงเตะนัดเหย้า คือเกมพบกับเวสต์บรอมวิช อัลเบี้ยน ที่วิคตอเรีย กราวด์ ของทีมสโตค ซิตี้ และดวลกับอาร์เซน่อลที่แอนฟิลด์ รังเหย้าของลิเวอร์พูล ทีมคู่ปรับตลอดกาล

ยูไนเต็ด หลังยุคของบัสบี้ ก็ไม่ยิ่งใหญ่เหมือนเดิม สโมสรก็เข้าสู่ขาลงเรื่อยๆ จนกระทั่งร่วงตกชั้นจากดิวิชั่น 1 ฤดูกาล 1973/74 หลังถูกอดีตนักเตะเก่าอย่างเดนิส ลอว์ ยิงประตูชัยให้แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ที่โอลด์ แทร็ฟฟอร์ด

ฟากแชงคลีย์ ต้องใช้เวลาถึง 7 ปี ในการพาลิเวอร์พูลกลับมาทวงแชมป์ลีกอีกครั้งในปี 1973 พ่วงด้วยแชมป์ยูฟ่า คัพ และรีไทร์อาชีพกุนซือด้วยแชมป์เอฟเอ คัพ ในปีถัดมา ก่อนส่งไม้ต่อให้กับอดีตมือขวาคู่ใจอย่างบ็อบ เพสลี่ย์

ในปี 1977 ปิศาจแดงดับฝันเทรบเบิลแชมป์ของหงส์แดง ในนัดชิงชนะเลิศเอฟเอ คัพ แต่แฟนๆ เรด อาร์มี่ ที่เวมบลีย์ ได้ร่วมกันตะโกนเชียร์ศัตรูที่รักก่อนไปชิงชนะเลิศยูโรเปี้ยน คัพ พร้อมกับอวยพรว่า “โชคดีนะ ลิเวอร์พูล”

ท้ายที่สุด ลิเวอร์พูลของเพสลี่ย์ เอาชนะโบรุสเซีย มึนเช่นกลัคบัค คว้าแชมป์ถ้วยใหญ่สุดของยุโรปเป็นสมัยแรก รากฐาน “บูทรูม สตาฟฟ์” ที่แชงคลีย์ได้สร้างไว้ ตอบแทนด้วยแชมป์ลีกสูงสุด 11 สมัย และยูโรเปี้ยน คัพ 4 สมัย

อีกด้านหนึ่งของประวัติศาสตร์ที่แปลกประหลาด

แม้ลิเวอร์พูล และแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด จะเป็น 2 ทีมที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดของอังกฤษ แต่ก็น่าประหลาดใจไม่น้อย ที่ทั้งคู่ไม่ค่อยอยู่ในช่วงพีคที่สุดแบบพร้อมกัน ส่วนใหญ่จะต้องมีฝั่งหนึ่งขาขึ้น และอีกฝั่งหนึ่งขาลง

หลังสิ้นสุดยุคของแชงคลีย์และบัสบี้ 2 คู่ปรับสีแดง จบฤดูกาลอยู่ใน 2 อันดับแรก แค่ 3 ครั้งเท่านั้น ได้แก่ฤดูกาล 1979/80, 1987/88 และ 2008/09 แถมเข้าชิงชนะเลิศฟุตบอลถ้วยกันเองเพียง 3 ครั้ง ในรอบ 40 ปีหลังสุด

เจมี่ คาราเกอร์ คอลัมนิสต์ของ The Telegraph ได้เขียนบทวิเคราะห์ถึงหงส์แดง และปิศาจแดง คู่ปรับที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในวงการลูกหนังเมืองผู้ดี แต่มีโมเมนต์แย่งแชมป์ลีกโดยตรงเพียงไม่กี่ครั้งตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา

คาราเกอร์ ระบุว่า ประการแรก “ปกป้องเกียรติประวัติมากเกินไป” เช่น เมื่อยูไนเต็ดหมดหนทางคว้าแชมป์ลีก แฟนบอลก็เอาจำนวนแชมป์ 20 สมัยมาข่ม ราวกับถากถางเดอะ ค็อปว่า พวกเขาคือทีมเดียวที่อยู่เหนือกว่า

อดีตตำนานหงส์แดงรายนี้ ยังได้พูดถึงเซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน สมัยที่ยังคุมปิศาจแดงว่า เป็นกุนซือที่ให้ความสำคัญที่สุดกับการไปเยือนแอนฟิลด์ในทุกๆ ฤดูกาล ไม่ว่ายักษ์ใหญ่แห่งเมอร์ซี่ย์ไซด์จะอยู่ในอันดับไหนของตารางก็ตาม

ประการต่อมา “ชี้ชะตาอนาคตทั้งผู้ชนะและผู้แพ้” เช่น เกมที่แอนฟิลด์เมื่อต้นปี 2020 แฟนลิเวอร์พูลต่างร้องเพลง ‘พวกเราจะเป็นแชมป์ลีก’ เพราะเริ่มมั่นใจแล้วว่าใกล้ปลดล็อกคว้าแชมป์ครั้งแรกในรอบ 30 ปี

แถมในบางครั้ง ชัยชนะของลิเวอร์พูล ก็ทำให้กุนซือยูไนเต็ดบางคน หมดความชอบธรรมในหน้าที่การงาน แต่ลิเวอร์พูลเองก็เคยมีปัญหาในยุคของรอย ฮ็อดจ์สัน ความพ่ายแพ้ที่โอลด์ แทร็ฟฟอร์ด ทำให้เดอะ ค็อป ไม่เชื่อมั่นในตัวเขา

ย้อนกลับไปเมื่อเดือนสิงหาคม ปีที่แล้ว เอริค เทน ฮาก อยู่ภายใต้ความกดดัน หลังจากแพ้ 2 นัดแรกของฤดูกาล แต่พอเอาชนะในศึกแดงเดือด โมเมนตัมก็เข้าทางยูไนเต็ด สวนทางกับลิเวอร์พูลที่เจอกับอุปสรรคตลอดทั้งซีซั่น

และสุดท้าย “แอนฟิลด์คือนรกของยูไนเต็ด” เพราะไม่ว่าลิเวอร์พูลจะอยู่ในช่วงที่ยิ่งใหญ่หรือตกต่ำ แต่การที่ยูไนเต็ดมาเยือนแอนฟิลด์ พวกเขาจะต้องเจอความยากลำบากเป็นพิเศษในการที่จะเก็บชัยชนะกลับออกไป

เรียบเรียง : จักรพันธ์ ภู่ทอง

อ้างอิง :

https://en.wikipedia.org/wiki/Bill_Shankly

https://en.wikipedia.org/wiki/Matt_Busby

https://en.wikipedia.org/wiki/Liverpool_F.C.%E2%80%93Manchester_United_F.C._rivalry

https://www.dailymail.co.uk/sport/football/article-9098701/Man-United-challenge-Liverpool-title-look-rivalry.html

https://www.liverpoolecho.co.uk/sport/football/football-news/matt-busby-manchester-liverpool-star-8816963

https://www.liverpoolfc.com/news/features/374742-story-of-bill-shankly-journey-to-liverpool

https://www.telegraph.co.uk/football/2018/03/08/manchester-united-vs-liverpool-anatomy-rivalry1/

https://www.nbcsports.com/bayarea/soccer/why-liverpool-fc-manchester-united-rivalrys-glory-days-seem-far-away

https://www.telegraph.co.uk/football/2023/03/03/man-utd-liverpool-englands-two-greatest-clubs-why-dont-compete/

Categories
Special Content

วันฟ้าหม่นของ “เอฟเวอร์ตัน” หลังถูกตัดแต้มจากกฎการเงินพรีเมียร์ลีก

  • กฎ Profitability and Sustainability (P&S) เป็นกฎการเงินที่บังคับใช้กับสโมสรในพรีเมียร์ลีก และเดอะ แชมเปี้ยนชิพ 
  • งบการเงิน 4 ปีหลังสุด เอฟเวอร์ตัน ขาดทุนสูงถึง 417.3 ล้านปอนด์ หรือเกินกว่าที่พรีเมียร์ลีกกำหนดไว้เกือบ 4 เท่า
  • เอฟเวอร์ตัน เป็นสโมสรที่ 3 ในประวัติศาสตร์พรีเมียร์ลีก ที่ถูกลงโทษตัดแต้ม ต่อจากมิดเดิลสโบรช์ และพอร์ทสมัธ

เมื่อวันศุกร์ที่ 17 พฤศจิกายนที่ผ่านมา สื่อทุกสำนักพาดหัวข่าวใหญ่ เอฟเวอร์ตัน ถูกพรีเมียร์ลีกสั่งตัด 10 คะแนน จากกรณีละเมิดกฎการเงินที่เรียกว่า Profitability and Sustainability หรือ P&S

แน่นอนว่า ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับสโมสร ต่างแสดงความผิดหวัง และไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินที่ออกมา แม้จะรับรู้มาตลอดว่าสักวันหนึ่งทีมจะต้องถูกลงโทษ ซึ่งพวกเขาจะขอต่อสู้ด้วยการยื่นอุทธรณ์ต่อไป

หากอุทธรณ์ไม่สำเร็จ สโมสรก็ต้องก้มหน้ายอมรับชะตากรรม กลับมามุ่งมั่นในสนามเพื่อเก็บชัยไปเรื่อยๆ และหลีกเลี่ยงการร่วงตกชั้นจากลีกบนยอดพีระมิดเมืองผู้ดี ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมานานกว่า 7 ทศวรรษ

สิ่งที่เกิดขึ้นกับ “ทอฟฟี่สีน้ำเงิน” ถูกมองว่าเป็นบรรทัดฐานสำคัญในการตัดสินคดีละเมิดกฎการเงินในอนาคต และต่อไปนี้คือเรื่องราวเบื้องลึกสู่การลงโทษหักแต้มที่หนักที่สุดในประวัติศาสตร์ของพรีเมียร์ลีก

ขอบคุณภาพ : https://www.facebook.com/Everton

รู้จักกับ P&S กฎคุมการเงินลูกหนังเมืองผู้ดี

กฎ Profitability and Sustainability หรือเรียกย่อๆ ว่า P&S คือกฎที่ว่าด้วยเรื่องความสามารถในการทำกำไรและความยั่งยืน เพื่อควบคุมการเงินของ 20 สโมสรในพรีเมียร์ลีก และ 24 สโมสรในเดอะ แชมเปี้ยนชิพ

สำหรับกฎ P&S เริ่มใช้ครั้งแรกเมื่อปี 2016 ซึ่งในฤดูกาลปัจจุบัน กฎดังกล่าวจะระบุไว้ในหมวด E. ข้อ 47-52 ของระเบียบการแข่งขัน (PL Handbook) โดยทุกสโมสรจะต้องส่งงบการเงินให้พรีเมียร์ลีกตรวจสอบทุกปี

หัวใจสำคัญข้อหนึ่งของกฎ P&S คือ “สโมสรในพรีเมียร์ลีก จะได้รับอนุญาตให้ขาดทุนสูงสุดได้ไม่เกิน105 ล้านปอนด์ ภายในระยะเวลา 3 รอบปีบัญชีหลังสุด หากมีสโมสรใดขาดทุนเกินกำหนดจะต้องถูกลงโทษ”

ซึ่งคำว่า “ขาดทุนสูงสุดได้ไม่เกิน 105 ล้านปอนด์” ความจริงแล้วมีเพดานอยู่ที่ 15 ล้านปอนด์เท่านั้น ส่วนอีก 90 ล้านปอนด์ที่เหลือ ทางพรีเมียร์ลีกอนุโลมให้เจ้าของสโมสรนำเงินส่วนนี้มาช่วยเหลือทางอ้อมได้

อย่างไรก็ตาม ถ้าสโมสรใดตกชั้นลงไปเล่นลีกแชมเปี้ยนชิพ กฎ P&S จะเข้มงวดมากกว่าพรีเมียร์ลีก เพราะจะทำให้ลิมิตการขาดทุน ลดลงเหลือเพียง 39 ล้านปอนด์ ในระยะเวลา 3 รอบปีบัญชีหลังสุดเช่นกัน

นับตั้งแต่กฎ P&S หรือไฟแนนเชียล แฟร์เพลย์ฉบับพรีเมียร์ลีก บังคับใช้มาแล้ว 7 ปี ยังไม่มีสโมสรใดเคยถูกลงโทษมาก่อน แต่ในที่สุด เอฟเวอร์ตัน ก็กลายเป็นสโมสรแรกที่ได้รับผลกรรมจากการละเมิดกฎดังกล่าว

ตรวจสุขภาพการเงินเอฟเวอร์ตัน 3 งวดล่าสุด

จากรายงานงบการเงินของเว็บไซต์ Company House ระบุว่า รอบปีบัญชี 2021/22 สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2022 เอฟเวอร์ตันมีรายได้จากสื่อ, การค้า และแมตช์เดย์ รวม 181 ล้านปอนด์ ขาดทุน 44.7 ล้านปอนด์

และเมื่อบวกกับยอดขาดทุนใน 3 ปีบัญชีก่อนหน้า เริ่มจากปี 2019 จำนวน 111.8 ล้านปอนด์, ปี 2020 จำนวน 139.9 ล้านปอนด์ และปี 2021 จำนวน 120.9 ล้านปอนด์ รวม 4 ปีหลังสุด เท่ากับ 417.3 ล้านปอนด์

แต่ในปี 2020 และ 2021 เป็นช่วงเกิดวิกฤตโควิด-19 ทางพรีเมียร์ลีกอนุญาตให้รวบเป็นงวดเดียวกัน โดยการนำยอดมารวมกัน แล้วหารด้วย 2 นั่นเท่ากับว่า เอฟเวอร์ตันขาดทุนโดยเฉลี่ย 130.4 ล้านปอนด์ต่อปี

นั่นหมายความว่า การคำนวณหายอดขาดทุนตามกฎ P&S ใน 3 งวดบัญชีล่าสุด คือ 2019, 2020-21และ 2022 “ทอฟฟี่สีน้ำเงิน” ติดลบ 287 ล้านปอนด์ ยังเกินกว่าที่ทางพรีเมียร์ลีกกำหนดไว้ถึง 182 ล้านปอนด์

ในส่วนของค่าจ้างนักเตะ เฉพาะ 4 ปีบัญชีหลังสุด เอฟเวอร์ตันจ่ายเงินสูงถึง 582 ล้านปอนด์ เป็นรองสโมสรบิ๊ก 6 พรีเมียร์ลีก แต่ไม่สามารถคว้าแชมป์รายการใดๆ แม้กระทั่งโควตายูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ก็ไม่เคยสัมผัส

เมื่อนำค่าจ้างมาคำนวณสัดส่วนเมื่อเทียบกับรายได้รวมในช่วงเวลาเดียวกัน (746 ล้านปอนด์) จะพบว่าเอฟเวอร์ตันจ่ายค่าจ้างคิดเป็น 78 เปอร์เซ็นต์ ของรายรับ ซึ่งนี่คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้สโมสรมีปัญหาการเงิน

ขอบคุณภาพ : https://www.facebook.com/Everton

สแกนกรรมทอฟฟี่สีน้ำเงิน ทำการเงินเข้าขั้นวิกฤต

จุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ที่นำมาสู่การลงโทษหัก 10 คะแนน ก็คือการที่เอฟเวอร์ตันขาดทุนเกินกว่ากำหนดในรอบ 3 ปีหลังสุด ซึ่งพวกเขารอดตกชั้นในฤดูกาล 2021/22 และ 2022/23 แต่กลับไม่ถูกลงโทษใดๆ เลย

นั่นทำให้บรรดาทีมคู่แข่งสำคัญที่สูญเสียผลประโยชน์จากการตกชั้น ทั้งเบิร์นลีย์ (2021/22), เลสเตอร์ ซิตี้ และลีดส์ ยูไนเต็ด (2022/23) รวมตัวกันไปร้องเรียนพรีเมียร์ลีก เพื่อหวังเอาผิดกับทีมทอฟฟี่สีน้ำเงินให้ได้

ต่อมาในช่วงกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการอิสระของพรีเมียร์ลีก ได้ใช้เวลาไต่สวนนานถึง 5 วัน และตรวจสอบพบความผิดอีกข้อหาหนึ่ง นอกเหนือจากการมียอดติดลบเกินกว่าที่ทางลีกเมืองผู้ดีกำหนด

ความผิดปกติที่ว่านั้นคือ เอฟเวอร์ตันส่งข้อมูลงบการเงินอันเป็นเท็จในรอบปีบัญชี 2021/22 โดยแจ้งว่าขาดทุนเพียง 44.7 ล้านปอนด์ แต่ยอดขาดทุนจริงที่ P&S คำนวณได้คือ 124.7 ล้านปอนด์ ต่างกันถึง 80 ล้านปอนด์

ทางคณะกรรมการอิสระของพรีเมียร์ลีก ชี้แจงว่า เอฟเวอร์ตันได้มีการผ่องถ่ายรายจ่ายบางส่วนออกไปกับการสร้างสนามเหย้าแห่งใหม่ที่แบรมลีย์ มัวร์ ที่คาดว่าน่าจะเปิดใช้งานภายในปี 2024 ถือเป็นการกระทำที่ไม่สุจริต

เหตุผลสำคัญที่ทำให้การเงินของเอฟเวอร์ตันเข้าขั้นวิกฤต ประการแรก จ่ายเงินซื้อนักเตะจำนวนมาก แต่รายรับจากการขายนักเตะ รวมถึงค่าลิขสิทธิ์ และส่วนแบ่งรายได้จากผลงานในตารางคะแนน ได้กลับมาไม่มาก

อีกประการหนึ่งคือ การสูญเสียโอกาสในการสร้างรายได้มหาศาลจากการขายสิทธิ์ชื่อสนามให้กับกลุ่มทุน USM ของอลิเซอร์ อุสมานอฟ นักธุรกิจชาวรัสเซีย อันเนื่องมาจากรัสเซียถูกคว่ำบาตรจากการรุกรานยูเครน

ชดใช้ความผิดพลาด มองปัจจุบันและอนาคต

จากคำตัดสินของคณะกรรมการอิสระ ทำให้เอฟเวอร์ตัน เป็นสโมสรที่ 3 ในประวัติศาสตร์พรีเมียร์ลีก ที่ได้รับบทลงโทษด้วยการตัดคะแนน และมีผลทันที ทำให้เหลือ 4 คะแนน หล่นไปอยู่อันดับรองสุดท้ายของตาราง

ก่อนหน้านี้ มิดเดิลสโบรช์ ในฤดูกาล 1996/97 เคยถูกตัด 3 แต้ม เนื่องจากไม่ลงแข่งขันกับแบล็กเบิร์น โรเวอร์ส และพอร์ทสมัธ เมื่อซีซั่น 2009/10 ที่โดนหัก 9 แต้ม จากกรณีที่สโมสรถูกควบคุมกิจการ ท้ายที่สุดก็ตกชั้นทั้งคู่

นักวิเคราะห์สถิติจาก Opta ประเมินว่า ทีมของกุนซือฌอน ไดซ์ มีโอกาสตกชั้นในซีซั่นนี้ 34 เปอร์เซ็นต์ (เพิ่มขึ้น 10 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงก่อนถูกหัก 10 คะแนน) แต่ก็ยังน้อยกว่าเบิร์นลีย์, เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด และลูตัน ทาวน์

ย้อนกลับไปเมื่อฤดูกาล 1994/95 เอฟเวอร์ตันก็มีแค่ 4 แต้ม จาก 12 เกมแรก เช่นเดียวกับซีซั่นนี้ แต่ก็เอาตัวรอดด้วยการจบอันดับที่ 15 พร้อมกับคว้าแชมป์เอฟเอ คัพ มาครอง ซึ่งอาจจะเป็นลางดีของพวกเขาก็ได้

ขณะเดียวกัน เอฟเวอร์ตันกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านเจ้าของทีมรายใหม่ จากฟาฮัด โมชิริ นักธุรกิจชาวอังกฤษเชื้อสายอิหร่าน มาเป็น 777 Partners กลุ่มทุนจากสหรัฐอเมริกา หลังเข้าซื้อหุ้น 94.1 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา

สำหรับ 777 Partners เป็นบริษัทด้านการลงทุนที่มีกีฬาเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลัก โดยได้เข้าไปลงทุนกับทีมฟุตบอลชื่อดังในยุโรป เช่น เซบีย่า (สเปน), เจนัว (อิตาลี), แฮร์ธ่า เบอรฺลิน (เยอรมนี) และสตองดาร์ด ลีแอช (เบลเยียม)

ซึ่งขั้นตอนการเทคโอเวอร์ อยู่ระหว่างรอทางพรีเมียร์ลีกอนุมัติอยู่ ซึ่งคาดว่าไม่เกินสิ้นปี 2023 แต่หลังจากเอฟเวอร์ตันถูกตัด 10 แต้ม และสุ่มเสี่ยงต่อการตกชั้น โมชิริอาจจะมีการทบทวนดีลการซื้อกิจการอีกครั้ง

ขอบคุณภาพ : https://www.facebook.com/Everton

เชือดท็อฟฟี่ สะเทือนถึงแมนฯ ซิตี้ และเชลซี

เมื่อเอฟเวอร์ตันได้รับบทลงโทษตัดแต้มหนักที่สุดนับตั้งแต่ก่อตั้งพรีเมียร์ลีก คำถามที่ตามมาก็คือ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ และเชลซี 2 สโมสรยักษ์ใหญ่ที่กำลังถูกกล่าวหาเรื่องละเมิดกฎการเงิน จะโดนลงโทษหรือไม่ อย่างไร

กรณีของแมนฯ ซิตี้ ถูกตั้งข้อหาทำผิดกฎการเงิน 115 กระทง ตั้งแต่ปี 2009 – 2018 เช่น แจ้งข้อมูลการเงินไม่ถูกต้อง, ไม่ปฎิบัติตามกฎไฟแนนเชียล แฟร์เพลย์ ของยูฟ่า อีกทั้งไม่ให้ความร่วมมือกับพรีเมียร์ลีกในการสอบสวน

ขณะที่เชลซี เป็นข้อกล่าวหาเรื่องการใช้เงินที่ไม่โปร่งใสในช่วงปี 2012-2019 สมัยที่โรมัน อบราโมวิช ยังเป็นเจ้าของสโมสร เช่น ค่าจ้างอันโตนิโอ คอนเต้, ค่าตัวเอแดน อาซาร์,ที่ถูกโอนไปยังแหล่งฟอกเงินที่บริติช เวอร์จิ้นส์ เป็นต้น

ความเป็นไปได้ของบทลงโทษที่แมนฯ ซิตี้ และเชลซี จะได้รับจากพรีเมียร์ลีก มีตั้งแต่ปรับเงิน, ตัดแต้มสถานหนัก, ปรับตกชั้น หรือร้ายแรงที่สุด อาจถึงขั้นถูกขับพ้นจากลีกอาชีพ เหมือนที่สโมสรในลีกล่างเคยเจอมาแล้ว

ในประวัติศาสตร์ของวงการฟุตบอลอังกฤษ ลูตัน ทาวน์ คือทีมที่ถูกตัดแต้มมากที่สุดถึง 30 แต้ม เมื่อฤดูกาล 2008/09 สมัยที่อยู่ในลีก ทู (ดิวิชั่น 4) หลังถูกตรวจพบความผิดปกติทางการเงิน และตกชั้นเมื่อจบซีซั่น

หรือกรณีของบิวรี่ สโมสรในลีก วัน (ดิวิชั่น 3) ถูกขับออกจากลีกอาชีพของอังกฤษ หลังจากไม่สามารถหากลุ่มทุนมาเทคโอเวอร์ เพื่อเคลียร์หนี้สิน 2.7 ล้านปอนด์ ได้ทันตามกำหนดเวลา ทั้งที่เพิ่งเริ่มต้นซีซั่น 2019/20 ไปไม่กี่นัด

การตัดคะแนนเอฟเวอร์ตัน 10 แต้ม เสมือนเป็นการส่งสัญญานเตือนเรือใบสีฟ้า และสิงห์บูลส์ ให้เตรียมรับมือกับข่าวร้ายระดับสะเทือนวงการลูกหนัง ซึ่ง “มีโอกาสเป็นไปได้” ตามที่ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายได้วิเคราะห์ไว้

เรื่องราวการถูกลงโทษของเอฟเวอร์ตัน ถือเป็นกรณีศึกษาที่จะถูกนำไปเปรียบเทียบกับแมนเชสเตอร์ ซิตี้ และเชลซี ต้องจับตาดูว่าพรีเมียร์ลีก จะใช้กฎไฟแนนเชียล แฟร์เพลย์ อย่างเป็นธรรมและเท่าเทียมหรือไม่

เรียบเรียง : จักรพันธ์ ภู่ทอง

อ้างอิง :

– https://www.bbc.com/sport/football/67448714

https://www.telegraph.co.uk/football/2023/11/17/everton-deducted-10-points-premier-league-financial-rules/

https://theathletic.com/5072039/2023/11/17/everton-points-deduction-punishment-written-reasons/

https://theathletic.com/5071224/2023/11/18/everton-10-point-penalty-explained/

https://theathletic.com/5072612/2023/11/18/everton-ffp-chelsea-manchester-city/

https://resources.premierleague.com/premierleague/document/2023/08/31/132475d9-6ce7-48f3-b168-0d9f234c995a/PL_Handbook_2023-24_DIGITAL_29.08.23.pdf

– https://swissramble.substack.com/p/financial-fair-play-202122

https://swissramble.substack.com/p/everton-finances-202122

https://www.financialfairplay.co.uk/financial-fair-play-explained.php

– https://find-and-update.company-information.service.gov.uk/company/00036624/filing-history

Categories
Football Business

เปิดแหล่งขุมทรัพย์ 24 เจ้าของทีมลีกแชมเปี้ยนชิพ 2023/24

  • สัญชาติของเจ้าของทีม มาจาก 12 สัญชาติ อังกฤษมีจำนวนมากที่สุด 9 ทีม ตามด้วยสหรัฐอเมริกา 7 ทีม
  • ประเภทการถือหุ้น ทีมที่เป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียว และทีมที่เป็นเจ้าของร่วม (แบ่งเปอร์เซ็นต์การถือหุ้น) มีอย่างละ 12 ทีม
  • ในซีซั่นปัจจุบัน มี 5 ทีมที่ไม่เคยสัมผัสเวทีพรีเมียร์ลีก คือ บริสตอล ซิตี้, มิลล์วอลล์, พลีมัธ, เปรสตัน และร็อตเตอร์แฮม

เดอะ แชมเปี้ยนชิพ ลีกระดับที่ 2 ของระบบพีระมิดฟุตบอลอังกฤษ แม้ระดับการแข่งขันจะเป็นรายการรองจากพรีเมียร์ลีก แต่นี่คือลีกลูกหนังที่สู้กันอย่างเข้มข้น และไม่สามารถคาดเดาผลการแข่งขันได้เลย

การขึ้นสู่จุดสุงสุดของพีระมิดฟุตบอลอังกฤษ คือสิ่งที่หลายๆ ทีม ต้องการจะเอื้อมให้ถึง แต่การจะไปถึงเป้าหมายนั้น ต้องใช้ทั้งแรงกายแรงใจของทุกคนในสโมสร รวมถึงทุนทรัพย์ที่เจ้าของสโมสรได้ลงทุนไป

เมื่อพูดถึงการเป็นเจ้าของทีมฟุตบอลในลีกแชมเปี้ยนชิพ มีแนวโน้มไปในทางเดียวกับพรีเมียร์ลีก กล่าวคือนักธุรกิจท้องถิ่น ถูกแทนที่ด้วยนายทุนจากต่างชาติมากขึ้น เช่น สหรัฐอเมริกา, มาเลเซีย, ไทย เป็นต้น

มีบางสโมสร ที่มีข้อได้เปรียบในเรื่องเงินทุนที่มีไม่อั้น ซึ่งมากกว่าเจ้าของสโมสรหลายสโมสรในพรีเมียร์ลีกด้วยซ้ำ และยินดีที่จะจ่ายเงินก้อนโตต่อเนื่องทุกปี เพื่อแลกกับผลตอบแทนมหาศาลจากการได้เลื่อนชั้น

แหล่งเงินทุนของเจ้าของทีมลูกหนัง ก็มีที่มาแตกต่างกันออกไป ซึ่งหลายๆ คน อาจยังไม่เคยรู้มาก่อน และต่อไปนี้คือเบื้องหลังขุมทรัพย์ของทั้ง 24 สโมสร ในการแข่งขันลีกรองเมืองผู้ดี ฤดูกาล 2023/24

เบอร์มิงแฮม ซิตี้ – บริษัทด้านการลงทุน

ผู้ถือหุ้นใหญ่สุดของเบอร์มิงแฮม ซิตี้ ในปัจจุบัน คือ Birmingham Sports Holdings ที่เข้ามาเทคโอเวอร์สโมสรต่อจากคาร์สัน หยาง นักธุรกิจชาวฮ่องกง ที่ถูกศาลตัดสินให้มีความผิดในคดีฟอกเงิน จนต้องยุติบทบาทการเป็นเจ้าของทีม

ในเวลาต่อมา ทอม วากเนอร์ มหาเศรษฐีชาวอเมริกัน ผู้ร่วมก่อตั้ง Shelby Companies Limited เข้ามาซื้อหุ้นเป็นจำนวน 45.6 เปอร์เซนต์ ได้สิทธิ์บริหารสโมสรอย่างเต็มรูปแบบ และมีทอม เบรดี้ ยอดตำนานควอเตอร์แบ็ก NFL เป็นหุ้นส่วนด้วย

วากเนอร์ เคยทำงานที่ Goldman Sachs ธนาคารชื่อดังระดับโลก ก่อนจะมาก่อตั้ง Shelby Companies Limited ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ Knighthead Capital Management ทำธุรกิจด้านการลงทุน และดูแลสินทรัพย์ของเบอร์มิงแฮม ซิตี้

ล่าสุดเมื่อเร็วๆ นี้ “เดอะ บูลส์” เพิ่งแต่งตั้งเวย์น รูนีย์ อดีตตำนานดาวยิงพรีเมียร์ลีก และทีมชาติอังกฤษ เป็นผู้จัดการทีมคนใหม่ เพื่อเป้าหมายพาทีมกลับคืนสู่พรีเมียร์ลีกในฤดูกาลหน้าทันที หลังจากห่างหายไปนานถึง 13 ปี

แบล็กเบิร์น โรเวอร์ส – ฟาร์มเลี้ยงไก่ และวัคซีนสำหรับไก่

อดีตแชมป์พรีเมียร์ลีก เมื่อซีซั่น 1994/95 ปัจจุบันบริหารงานโดย Venkateshwara Hatcheries Groupของตระกูลราโอ จากอินเดีย เข้ามาซื้อกิจการของแบล็คเบิร์น โรเวอร์ส ต่อจากครอบครัวของแจ็ค วอล์คเกอร์ เมื่อปี 2010

แหล่งเงินทุนของราโอ แฟมิลี่ มาจากธุรกิจค้าไก่, อาหารแปรรูปจากไก่ รวมถึงวัคซีนป้องกันโรคในไก่ที่ใหญ่ที่สุดในอินเดีย มีการขยายกิจการไปในหลายๆ ทวีปทั่วโลก อีกทั้งยังมีรายได้เพิ่มเติมจากการทำธุรกิจผลิตเครื่องจักรอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม การบริหารสโมสรของครอบครัวราโอ สร้างความไม่พอใจให้กับแฟนบอลแบล็คเบิร์นเป็นอย่างมาก ถึงขั้นสร้างตำนานด้วยการขว้างไก่สดลงมาในสนามเพื่อประท้วงเจ้าของทีม ในเกมที่พบกับวีแกน เมื่อปี 2012

หลังตกชั้นจากลีกสูงสุดเมื่อฤดูกาล 2011/12 “เดอะ ริเวอไซเดอร์ส” ไม่เคยกลับมาอยู่บนยอดพีระมิดอีกเลย แม้กระทั่งเพลย์ออฟเพื่อลุ้นเลื่อนชั้น พวกเขาก็ไม่เคยสัมผัสแม้แต่ครั้งเดียว แถมเคยลงลึกไปสู่ลีกดิวิชั่น 3 เมื่อ 6 ปีก่อน

บริสตอล ซิตี้ – บริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน

เจ้าของทีมบริสตอล ซิตี้ คนปัจจุบันคือ สตีเฟ่น แลนสดาวน์ นักธุรกิจชาวเมืองบริสตอล และผู้บริหาร Hargreaves Lansdown เข้ามาเทคโอเวอร์เมื่อปี 2007 และจอน แลนสดาวน์ ลูกชายของเขา ดำรงตำแหน่งประธานสโมสร

ในเดือนเมษายน 2009 สตีเฟ่นขายหุ้น 4.7 เปอร์เซ็นต์ของบริษัท Hargreaves Lansdown เพื่อเป็นทุนในการสร้างสนามใหม่ของ “เดอะ โรบินส์” ชื่อว่า Ashton Gate ปัจจุบันนี้เขาอาศัยอยู่ในเกิร์นซีย์ ในหมู่เกาะแชนแนลส์ 

แหล่งทำเงินของครอบครัวแลนสดาวน์ มาจากการก่อตั้ง Hargreaves Lansdown บริษัทการจัดการกองทุนและการวางแผนภาษี เมื่อปี 1981 ก่อนที่สตีเฟ่นจะลาออกในปี 2012 เพื่อมาเปิดบริษัทที่ปรึกษาทางการเงินอิสระ

สตีเฟ่น แลนสดาวน์ เป็นหนึ่งในมหาเศรษฐีไม่กี่คนในลีกแชมเปี้ยนชิพ จากการจัดอันดับของ Sunday Times Rich List ระบุว่าเขาร่ำรวยที่สุดเป็นอันดับที่ 152 ของสหราชอาณาจักร โดยมีสินทรัพย์สุทธิ 1.18 พันล้านปอนด์

คาร์ดิฟฟ์ ซิตี้ – เจ้าของแฟรนไชส์, อสังหาริมทรัพย์, โรงแรม และโทรคมนาคม

เมื่อปี 2010 วินเซนต์ ตัน มหาเศรษฐีขาวมาเลเซีย ในนามของ Berjaya Group ได้เข้าซื้อหุ้นของคาร์ดิฟฟ์ ซิตี้ เป็นจำนวน 30 เปอร์เซ็นต์ จากนั้นค่อยๆ ซื้อหุ้นจากรายย่อย จนถึง 51 เปอร์เซ็นต์ ก้าวขึ้นมาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สุดของสโมสร

เงินทุนของวินเซนต์ ตัน มีที่มาจากการเป็นเจ้าของธุรกิจแฟรนไชส์ทั้งแมคโดนัลด์, สตาร์บักส์, เซเว่น อีเลฟเว่น และร้านหนังสือในมาเลเซีย อีกทั้งก่อตั้งบริษัท Berjaya Corporation เพื่อลงทุนในอสังหาริมทรัพย์, โรงแรม และโทรคมนาคม

นอกจากลงทุนในธุรกิจแฟรนไชส์ฟาสต์ฟู้ด และบริษัทโฮลดิ้งแล้ว วินเซนต์ ตัน ยังเป็นเจ้าของเอฟเค ซาราเยโว สโมสรฟุตบอลในลีกสูงสุดของบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา รวมถึงลอส แอนเจลิส เอฟซี ในเมเจอร์ลีก ซอคเกอร์ ของสหรัฐอเมริกา

ในยุคที่วินเซนต์ ตัน เป็นเจ้าของทีม “เดอะ บลูเบิร์ดส์” เคยได้ขึ้นไปอยู่ในพรีเมียร์ลีกแค่ 2 ครั้งเท่านั้น คือฤดูกาล 2013/14 และ 2018/19 ขณะที่เมื่อฤดูกาลที่แล้ว พวกเขาจบในอันดับที่ 21 รอดพ้นการตกชั้นสู่ลีก วัน อย่างหวุดหวิด

โคเวนทรี ซิตี้ – น้ำมันพืช และอาหารสัตว์

เมื่อเดือนมกราคม 2023 ที่ผ่านมา โคเวนทรี ซิตี้ ได้เจ้าของทีมรายใหม่ หลังจากดั๊ก คิง นักธุรกิจชาวอังกฤษ เข้ามาเทคโอเวอร์สโมสรต่อจากกองทุนเอสไอเอสยู (SISU) ที่ถูกต่อต้านอย่างรุนแรงจากแฟนบอลของสโมสร

แหล่งทำเงินของคิง มาจาก Yelo Enterprises ที่เขาดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทำธุรกิจด้านอุตสาหกรรมอาหาร และการเกษตรในอังกฤษ มีผลิตภัณฑ์หลักคือน้ำมันพืชจากเรพซีด (คาโนลา) รวมถึงอาหารสัตว์

ในช่วง 3 – 4 ปีที่ผ่านมา โคเวนทรีประสบปัญหาเรื่องสนามเหย้าบ่อยครั้ง เนื่องจากมีข้อพิพาททางกฎหมายกับเจ้าของสนาม รวมถึงถูกใช้จัดแข่งรักบี้คอมมอนเวลธ์ เกมส์ จึงต้องย้ายไปเล่นที่นอร์ทแธมป์ตัน และเบอร์มิงแฮม

สำหรับ “เดอะ สกายบลูส์” เป็นหนึ่งในสโมสรผู้ร่วมก่อตั้งพรีเมียร์ลีก ก่อนที่จะตกชั้นในซีซั่น 2000/01 โดยเมื่อซีซั่นที่แล้ว พวกเขาเกือบคัมแบ็กสู่ลีกสูงสุด แต่พ่ายให้กับลูตัน ทาวน์ ในเกมเพลย์ออฟ รอบชิงชนะเลิศ

ฮัดเดอร์ฟิสด์ ทาวน์ – สุขภาพและเวชกรรม, บริษัทร่วมลงทุน และทีมกีฬา

ฮัดเดอร์ฟิสด์ ทาวน์ คือทีมล่าสุดที่มีการเปลี่ยนแปลงเจ้าของสโมสร หลังจากเควิน นาเกิล นักธุรกิจชาวสหรัฐอเมริกา ได้เข้ามาเทคโอเวอร์ต่อจากดีน ฮอยล์ นักธุรกิจชาวอังกฤษ เมื่อเดือนมิถุนายน 2023 ที่ผ่านมา

แหล่งทำเงินของนาเกิล มาจากธุรกิจด้านดูแลสุขภาพและเวชกรรม โดยเริ่มจากการก่อตั้ง HMN Health Services เมื่อปี 1999 ก่อนที่อีก 2 ปีต่อมา จะเป็นผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอของ Envision Pharmaceutical Holdings

นอกจากนี้ นาเกิลยังก่อตั้งบริษัทร่วมลงทุนในธุรกิจสุขภาพและอสังหาริมทรัพย์หลายแห่ง เช่น The Nagle Company, Moneta Ventures และ Jaguar Ventures อีกทั้งยังเป็นเจ้าของ Sacramento Republic FCทีมฟุตบอลในลีกรองของอเมริกา

ช่วงเวลาที่ดีที่สุดของ “เดอะ เทอร์ริเออส์” คือการได้เลื่อนชั้นสู่พรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 2017/18 แต่ตกชั้นในฤดูกาลต่อมา ซึ่งแฟนๆ ของสโมสรต่างคาดหวังถึงยุคสมัยของนาเกิล ในการพาทีมคัมแบ็กสู่ลีกสูงสุดอีกครั้ง

ฮัลล์ ซิตี้ – สื่อโทรทัศน์ และสตรีมมิ่ง

หลังจากอาสเซ็ม อัลลาม มหาเศรษฐีชาวอียิปต์ เสียชีวิตเมื่อเดือนธันวาคม 2022 และครอบครัวของอัลลามตัดสินใจไม่ไปต่อ ฮาคาน อิลคาลี่ เจ้าพ่อธุรกิจทีวีจากตุรกี ได้กลายเป็นเจ้าของทีมรายใหม่ของฮัลล์ ซิตี้

อิลคาลี่ สร้างรายได้จากสื่อโทรทัศน์ในตุรกี ผู้เป็นทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังรายการดัง เช่น Deal or No Deal, Fear Factor, Survivor และ MasterChef นอกจากนี้ยังเป็นเจ้าของฟรีทีวีช่อง TV8 และ Exxenบริษัทผู้ให้บริการสตรีมมิ่ง

นอกจากนี้ อิลคาลี่เป็นผู้ถือหุ้นของฟอร์ทูน่า ซิททาร์ด สโมสรฟุตบอลในเนเธอร์แลนด์ และล่าสุดได้เข้าไปซื้อหุ้นของเชลบอร์น ทีมลูกหนังในไอร์แลนด์ ที่มีเดเมียน ดัฟฟ์ อดีตปีกชื่อดังของพรีเมียร์ลีก เป็นผู้จัดการทีม

หนล่าสุดที่ “เดอะ ไทเกอร์ส” อยู่ในพรีเมียร์ลีก คือฤดูกาล 2016/17 แถมเคยร่วงลงไปไกลถึงระดับดิวิชั่น 3 เมื่อซีซั่น 2020/21 การเปลี่ยนแปลงผู้บริหารในครั้งนี้ จะทำให้แฟนบอลของสโมสรมีความหวังมากขึ้น

อิปสวิช ทาวน์ – กองทุนบำเหน็จบำนาญ

แบรตต์ จอห์นสัน, เบิร์ก บาร์เคย์ และมาร์ค เดตเมอร์ บอร์ดบริหารของ Phoenix Rising ทีมฟุตบอลในลีกรองของอเมริกา ได้เข้ามาเทคโอเวอร์อิปสวิช ทาวน์ ต่อจากมาร์คัส อีแวนส์ นักธุรกิจชาวอังกฤษ เมื่อเดือนเมษายน 2021

แหล่งเงินทุนที่มาเป็นท่อน้ำเลี้ยงให้กับสโมสร คือ Gamechanger 2020 กลุ่มการลงทุนจากรัฐโอไฮโอ ซึ่งดูแลกองทุนบำเหน็จบำนาญรายใหญ่ในสหรัฐอเมริกา โดยเริ่มจากซื้อหุ้นบางส่วน ก่อนที่จะเป็นเจ้าของทีมแบบเด็ดขาด

ผลงานดีที่สุดในยุคพรีเมียร์ลีกของอิปสวิช ทาวน์ คือการจบในอันดับที่ 5 เมื่อฤดูกาล 2000/01 แต่ฤดูกาลถัดมาทรุดลงแบบไม่น่าเชื่อ ตกชั้นหลังจบในอันดับที่ 18 และจนถึงเวลานี้ก็ไม่เคยกลับคืนสู่ยอดพีระมิดอีกเลย

อย่างไรก็ตาม หาก “เดอะ แทร็กเตอร์ บอยส์” ภายใต้การคุมทีมของคีแรน แม็คเคนน่า กุนซือผู้พาทีมจบอันดับที่ 2 ในลีกวัน เมื่อซีซั่นที่แล้ว มีความสม่ำเสมอ ก็มีโอกาสที่จะยุติช่วงเวลาที่ห่างหายจากลีกสูงสุดในซีซั่นนี้

ลีดส์ ยูไนเต็ด – บริษัทด้านการลงทุน และทีมกีฬา

มาเรีย เดนิเซ่ เดบาร์โตโล่ ยอร์ค นักธุรกิจสุภาพสตรีขาวอเมริกัน ในนามของกลุ่ม 49ers Enterprises บรรลุดีลซื้อกิจการของลีดส์ ยูไนเต็ด จากอันเดรีย ราดริซซานี่ เจ้าสัวชาวอิตาลี เมื่อเดือนมิถุนายน 2023 ที่ผ่านมา

เมื่อปี 2018 49ers Enterprises เข้ามาซื้อหุ้นลีดส์จำนวน 15 เปอร์เซ็นต์ ก่อนที่ในปี 2021 จะเพื่มสัดส่วนเป็น 44 เปอร์เซ็นต์ ก่อนที่ราดริซซานี่ตกลงขายหุ้นทั้งหมดที่เหลือ และกลายเป็นเจ้าของสโมสรรายใหม่ในที่สุด

แหล่งเงินทุนของ 49ers Enterprises มาจากการก่อตั้ง DeBartolo Corporation บริษัทที่ลงทุนในกิจการที่ไม่ใช่กีฬา และเป็นเจ้าของซานฟรานซิสโก โฟร์ตี้ไนน์เนอร์ส ทีมดังในศึกอเมริกันฟุตบอล (NFL) ของสหรัฐอเมริกา

ในฤดูกาล 2020/21 “เดอะ พีค็อกส์” ได้รีเทิร์นสู่พรีเมียร์ลีกอีกครั้ง หลังห่างหายไป 16 ปี แต่อยู่ได้เพียง 3 ฤดูกาล ก็กระเด็นตกชั้นแบบน่าผิดหวัง ทำให้ในฤดูกาลนี้ พวกเขาหวังที่จะแก้ตัวเพื่อกลับมาอยู่ในลีกสูงสุดให้ได้

เลสเตอร์ ซิตี้ – สินค้าดิวตี้ ฟรี

วิชัย ศรีวัฒนประภา และครอบครัว ในนามของกลุ่มบริษัท King Power ประเทศไทย เข้ามาซื้อกิจการของเลสเตอร์ ซิตี้ เมื่อปี 2010 ต่อจากมิลาน แมนดาริช มหาเศรษฐีชาวอเมริกันเชื้อสายเซอร์เบีย ด้วยมูลค่า 39 ล้านปอนด์

แหล่งรายได้หลักของตระกูลศรีวัฒนประภา มาจากสินค้าปลอดภาษีในสนามบิน (Duty Free) นอกจากนี้ยังมีการลงทุนในภาคส่วนอื่นๆ เช่น โรงแรม, การบิน และยังเป็นเจ้าของสโมสร OH Leuven ในลีกสูงสุดของเบลเยียม

ภายใต้การบริหารงานของครอบครัวนักธุรกิจชาวไทย ได้สร้างตำนานเทพนิยายคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกแบบช็อกโลก เมื่อปี 2016 แต่อีก 2 ปีต่อมา วิชัยเสียชีวิตจากเหตุโศกนาฏกรรมเฮลิคอปเตอร์ตกนอกสนามคิง เพาเวอร์ สเตเดี้ยม

ในเวลาต่อมา อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา ลูกชายของวิชัย ก็ได้สานต่องานของคุณพ่อ และสร้างความสำเร็จเพิ่มเติมจากการคว้าแชมป์เอฟเอ คัพ เมื่อปี 2021 ส่วนในซีซั่นปัจจุบัน “เดอะ ฟ็อกซ์” ตั้งเป้ากลับคืนสู่ลีกสูงสุดอีกครั้ง

มิดเดิลสโบรช์ – ขนส่งของเหลว, ก๊าซ, ผงแป้ง และโรงแรม

สตีฟ กิ๊บสัน เจ้าสัวชาวอังกฤษ ได้เข้ามาเป็นบอร์ดบริหารของมิดเดิลสโบรช์ สโมสรในบ้านเกิดตั้งแต่ปี 1986 พร้อมกับการซื้อหุ้นส่วนน้อย จากนั้นในปี 1994 เพิ่มสัดส่วนเป็น 90 เปอร์เซ็นต์ กลายเป็นเจ้าของทีมรายใหม่ในที่สุด

กิ๊บสัน ติดอยู่ใน 500 อันดับแรกนักธุรกิจรวยที่สุดของ Sunday Times Rich List เขาทำเงินจากการก่อตั้งบริษัท Bulkhaul Limited เมื่อปี 1981 ขนส่งของเหลว, ก๊าซ รวมถึงผงแป้ง และเป็นเจ้าของโรงแรม Rockliffe Hall

ในฤดูกาล 2008/09 มิดเดิลสโบรช์ถูกหยุดสถิติสถานะทีมระดับพรีเมียร์ลีกไว้ที่ 11 ฤดูกาลติดต่อกัน หลังจากนั้นพวกเขากลับขึ้นมายอดพีระมิดลีกเมืองผู้ดีได้แค่ครั้งเดียว จาก 15 ฤดูกาลหลังสุด ในซีซั่น 2016/17

ส่วนเมื่อฤดูกาลที่แล้ว ไมเคิล คาร์ริก เข้ามาคุมทีม “เดอะ โบโร่” ช่วงปลายเดือนตุลาคม ไต่จากท้ายตาราง ขึ้นมาจบในอันดับที่ 4 คว้าสิทธิ์ลุ้นเลื่อนชั้น ก่อนจะแพ้โคเวนทรี ในเกมเพลย์ออฟ รอบรองชนะเลิศ

มิลล์วอลล์ – การลงทุนในหุ้นนอกตลาด

จอห์น เบริลสัน มหาเศรษฐีจากสหรัฐอเมริกา ในนามของ Chestnut Hill Ventures ร่วมกับริชาร์ด สมิธ ลูกเขยของเขา เข้ามาเทคโอเวอร์มิลล์วอลล์ ในปี 2007 และเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ด้วยสัดส่วน 93 เปอร์เซ็นต์

สำหรับ Chestnut Hill Ventures แหล่งทำเงินของเบริลสัน เป็นบริษัทร่วมลงทุนสัญชาติอเมริกัน มีมูลค่าทรัพย์สินประมาณ 95 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มุ่งเน้นลงทุนในหุ้นที่อยู่นอกตลาดหลักทรัพย์ เช่น การเงิน, สื่อ และโทรคมนาคม

เบริลสัน เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2023 ด้วยวัย 70 ปี และทายาทของครอบครัวเบริลสัน ได้เข้ามาสานต่อการบริหาร “เดอะ ไลออนส์” แต่ก็ไม่ปิดโอกาสที่จะขายสโมสรให้กับนักลงทุนที่สนใจ

ตลอด 16 ปีของเบริลสัน แฟมิลี่ ในการเป็นเจ้าของสโมสร ผลงานของทีมสิงโตแห่งลอนดอน ขึ้น-ลงระหว่างเดอะ แชมเปี้ยนชิพ กับลีก วัน สลับกันเป็นช่วงๆ ส่วนการแข่งขันเมื่อฤดูกาลที่แล้ว จบในอันดับที่ 8 ของตาราง

นอริช ซิตี้ – หนังสือตำราอาหาร

ผู้ถือหุ้นหลักของนอริช ซิตี้ในปัจจุบัน ประกอบด้วยคู่สามี-ภรรยาอย่างไมเคิล วินน์-โจนส์ กับเดเลีย สมิธ มีสัดส่วนมากที่สุดถึง 53 เปอร์เซ็นต์ รวมถึงมาร์ค แอตตานาสโอ นักธุรกิจชาวอเมริกัน ที่ซื้อหุ้น 18 เปอร์เซ็นต์ เมื่อปี 2022

วินน์-โจนส์ ได้นำประสบการณ์ในการเป็นเชฟทางโทรทัศน์ของสมิธ มาเขียน ตีพิมพ์ และจำหน่ายหนังสือสอนทำอาหาร ที่ขายดีเป็นเวลากว่า 20 ปี ขณะที่แอตตานาสโอ เป็นเจ้าของทีม Milwaukee Brewers ในเมเจอร์ลีกเบสบอล

นอริช คือหนึ่งในสโมสรผู้ก่อตั้งพรีเมียร์ลีก เมื่อฤดูกาล 1992/93 ก่อนตกชั้นรอบแรกในอีก 3 ปีต่อมา หลังจากนั้นพวกเขาก็ใช้ชีวิตอยู่ในลีกรองเสียเป็นส่วนใหญ่ และเคยตกต่ำถึงขั้นลงไปอยู่ในลีก วัน เมื่อฤดูกาล 2009/10 

ถ้านับเฉพาะ 5 ฤดูกาลหลังสุด “เดอะ คานารีส์” ขึ้นลงระหว่างพรีเมียร์ลีก กับลีกแชมเปี้ยนชิพ สลับกันไป ส่วนผลงานฤดูกาลที่แล้ว จบแค่อันดับที่ 13 ถ้าจะหวังลุ้นเลื่อนชั้นในซีซั่นนี้ คงต้องพยายามให้มากขึ้นกว่าเดิม

พลีมัธ อาร์ไกล์ – บริษัทการจัดการกองทุน

เมื่อปี 2019 ไซม่อน ฮัลเลียตต์ ได้สิทธิ์ในการบริหารสโมสรพลีมัธ อาร์ไกล์ หลังเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นเป็น 97 เปอร์เซ็นต์ ก่อนขายหุ้น 20 เปอร์เซนต์ให้ Argyle Green LLC บริษัทการจัดการกองทุนของอเมริกา เมื่อปี 2020

สำหรับกลุ่ม Argyle Green LLC มีไมเคิล มินค์เบิร์ก เป็นผู้จัดการกองทุน นอกจากนี้ยังมีจอน เฮิร์สท์ ผู้บริหารลีกบาสเกตบอล NBA รวมถึงวิคเตอร์ เฮดแมน อดีตนักกีฬาฮอกกี้ NHL ของอเมริกา ดีกรีแชมป์ออล สตาร์ 4 สมัย

ฮัลเลียตต์ เป็นขาวเมืองพลีมัธโดยกำเนิด แต่ได้ย้ายไปอาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกาตั้งแต่อายุยังน้อย และสร้างรายได้จากการก่อตั้ง Harding Loevner บริษัทการจัดการกองทุนในรัฐนิวเจอร์ซีย์ จนได้รับสัญชาติอเมริกัน

ผลงานของ “เดอะ พิลกริมส์” เมื่อฤดูกาลที่แล้ว คว้าแชมป์ลีก วัน ด้วยคะแนนทะลุ 100 แต้ม ได้กลับสู่ลีกแชมเปี้ยนชิพเป็นครั้งแรกในรอบ 13 ปี แต่ยังต้องรอเวลาสั่งสมความแข็งแกร่งก่อนลุ้นขึ้นพรีเมียร์ลีกในอนาคตต่อไป

เปรสตัน นอร์ทเอนด์ – ที่ดินเชิงพาณิชย์, ผับ และโรงแรม

เทรเวอร์ เฮมมิ่งส์ นักธุรกิจที่เกิดในกรุงลอนดอน แต่ไปเติบโตที่แลงคาเชียร์ ได้ซื้อกิจการของเปรสตัน นอร์ทเอนด์ ในปี 2010 ก่อนที่จะเสียชีวิตในวัย 86 ปี เมื่อปี 2021 ปัจจุบันนี้ เคร็ก ลูกชายของเขาเข้ามาบริหารงานแทน

แหล่งความมั่งคั่งหลักของครอบครัวเฮมมิ่งส์ มาจาก Northern Trust บริษัททำธุรกิจที่ดินเชิงพาณิชย์ พื้นที่กว่า 5,000 เอเคอร์ ทั่วสหราชอาณาจักร ซึ่งในปัจจุบันมีร้านค้า และสำนักงานมาเช่าพื้นที่แล้วกว่า 183 เอเคอร์

นอกจากนี้ Northern Trust ยังได้เข้าไปลงทุนใน Trust Inns บริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับสถานบันเทิง ซึ่งมีจำนวนหลายร้อยแห่งในสหราชอาณาจักร และ Classic Lodges บริษัทที่ทำธุรกิจโรงแรม มีทั้งหมด 12สาขา ทั่วยูเค 

ในศตวรรษที่ 21 (นับตั้งแต่ปี 2001 เป็นต้นมา) “เดอะ ลิลลี่ไวส์” เคยเข้าชิงชนะเลิศ เกมเพลย์ออฟลุ้นเลื่อนชั้นสู่พรีเมียร์ลีกมาแล้ว 2 ครั้ง และจบลงด้วยความผิดหวังทั้งหมด ซึ่งพวกเขาก็หวังที่จะปลดล็อกให้ได้ในซีซั่นนี้

ควีนส์พาร์ค เรนเจอร์ส – บริษัทผลิตเหล็ก, ขนส่ง และบริษัทโฮลดิ้ง

ผู้ถือหุ้นหลักของควีนส์พาร์ค เรนเจอร์สในปัจจุบัน คือรูเบน เกนานาลิงแกม เจ้าสัวชาวมาเลเซีย และลาคซมี มิททาล มหาเศรษฐีชาวอินเดีย ซึ่งนำอามิต พาเทีย ลูกเขยของมิททาล เข้ามาเป็นประธานสโมสรตั้งแต่ปี 2018

เกนานาลิงแกม ผู้ถือหุ้นรายใหญ่สุดของควีนส์พาร์ค สร้างรายได้จากธุรกิจในมาเลเซีย ทั้ง Westports Malaysia บริษัทที่ทำธุรกิจท่าเรือขนส่งสินค้ารายใหญ่ และ Total Soccer Growth บริษัทโฮลดิ้งที่ลงทุนด้านกีฬา

ขณะที่มิททาล ทำรายได้จากการก่อตั้ง ArcelorMittal บริษัทผลิตเหล็กในประเทศลักเซมเบิร์ก และเป็นเจ้าของทรัพย์สิน 1.6 หมื่นล้านปอนด์ รวยสุดเป็นอันดับที่ 6 จากการจัดอันดับของ Sunday Times Rich List

แต่ความมั่งคั่งของเกนานาลิงแกม และมิททาล ไม่อาจช่วยให้ “คิวพีอาร์” กลับคืนสู่พรีเมียร์ลีกได้เลย นับตั้งแต่ตกชั้นเมื่อซีซั่น 2014/15 สมัยที่โทนี่ เฟอร์นานเดส ผู้ก่อตั้งสายการบิน AirAsia ยังเป็นเจ้าของสโมสร

ร็อตเตอร์แฮม ยูไนเต็ด – อุปกรณ์ให้แสงสว่าง

เมื่อปี 2008 โทนี่ สจ๊วต และโจน สจ๊วต นักธุรกิจชาวอังกฤษ ได้ช่วยให้ร็อตเตอร์แฮม ยูไนเต็ด หลุดพ้นจากการถูกควบคุมกิจการ ด้วยการเข้ามาเทคโอเวอร์สโมสร พร้อมกับถือหุ้นจำนวน 49 และ 46 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ

โทนี่ สจ๊วต เริ่มต้นจากการเป็นช่างไฟฟ้าฝึกหัด ก่อนจะสร้างรายได้จากการก่อตั้ง ASD Lighting บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์ให้แสงสว่างในเมืองร็อตเตอร์แฮม มีผลิตภัณฑ์หลักคือ หลอดไฟฟ้าที่ใช้ตามบ้าน, สำนักงาน และถนน

ในยุคการบริหารของ 2 นักธุรกิจเมืองผู้ดี ร็อตเตอร์แฮมเริ่มต้นจากระดับลีก ทู หรือ ดิวิชั่น 4 ใช้เวลานานถึง 5 ฤดูกาล เลื่อนชั้นสู่ดิวิชั่น 3 ตามมาด้วยการเลื่อนชั้นสู่ลีกระดับที่ 2 ด้วยการชนะเกมเพลย์ออฟ รอบชิงชนะเลิศ

ผลงาน 7 ฤดูกาลหลังสุดของ “เดอะ มิลเลอร์ส” คือโย-โย่ คลับ ขึ้นลงสลับกันระหว่างลีกแชมเปี้ยนชิพ กับลีก วัน มาโดยตลอด ซึ่งเมื่อฤดูกาลที่แล้ว พวกเขาต้องลุ้นหนีตกชั้นจนถึงช่วงท้ายของซีซั่น ก่อนเอาตัวรอดได้สำเร็จ

เชฟฟิลด์ เวนส์เดย์ – อาหารสำเร็จรูปแช่แข็งและบรรจุกระป๋อง

เดชพล จันศิริ ประธานกรรมการบริษัทไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) เข้ามาเทคโอเวอร์เชฟฟิลด์ เวนส์เดย์ เมื่อปี 2015 ต่อจากมิลาน แมนดาริช มหาเศรษฐีชาวอเมริกันเชื้อสายเซอร์เบีย ด้วยมูลค่า 37.5 ล้านปอนด์

แหล่งรายได้หลักของกลุ่มไทยยูเนี่ยน คือธุรกิจผลิตและส่งออกอาหารสำเร็จรูปแช่แข็งและบรรจุกระป๋องรายใหญ่ที่สุดของโลก โรงงานของบริษัทตั้งอยู่ที่จังหวัดสมุทรสาคร มีผลิตภัณฑ์อย่างเช่น ปลาทูน่ากระป๋อง, อาหารทะเลแปรรูป

เชฟฯ เวนส์เดย์ ในยุคของเดชพล จันศิริ แพ้เพลย์ออฟเลื่อนชั้นขึ้นสู่พรีเมียร์ลีกมาแล้ว 2 ครั้ง แถมหล่นไปเล่นลีก วัน (ดิวิชั่น 3) อยู่ 2 ฤดูกาล ก่อนจะได้กลับคืนสู่ลีกแชมเปี้ยนชิพอีกครั้งในฤดูกาลนี้ หลังชนะเกมเพลย์ออฟ รอบชิงชนะเลิศ

แต่การออกสตาร์ทซีซั่นนี้ของ “เดอะ เอาส์” ทำได้อย่างน่าผิดหวัง ส่งผลให้แฟนบอลกลุ่มหนึ่งของสโมสรได้แสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ทำให้หัวเรือใหญ่ไทยยูเนี่ยน ออกมาประกาศไม่ให้เงินเพื่อสนับสนุนสโมสรอีกต่อไป

เซาแธมป์ตัน – เคเบิลทีวี และรายการโทรทัศน์

ทีมอันดับสุดท้ายของพรีเมียร์ลีก เมื่อฤดูกาลที่แล้ว ปัจจุบันบริหารงานโดย ดราแกน โซลัค นักธุรกิจชาวเซอร์เบีย ที่ได้เข้ามาซื้อกิจการของสโมสรเซาแธมป์ตัน ต่อจากเกา จื้อเฉิง นักธุรกิจชาวจีน เมื่อเดือนมกราคม2022

โซลัค เข้าไปลงทุนใน Sport Republic บริษัทด้านการลงทุนในกรุงลอนดอน กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ด้วยสัดส่วน 80 เปอร์เซ็นต์ และแคทเธอรีน่า เลียบเฮอร์ นักธุรกิจสุภาพสตรีชาวสวิตเซอร์แลนด์ ถือหุ้นอีก 20 เปอร์เซนต์

รายได้หลักของโซลัค มาจากการขายลิขสิทธิ์รายการทีวีและภาพยนตร์ ต่อมาได้เปิดตัวธุรกิจเคเบิลทีวีในเซอร์เบีย และจากนั้นได้ก่อตั้ง United Group บริษัทผู้ขายลิขสิทธิ์รายการทีวีในหลายประเทศแถบยุโรปตะวันออก

สำหรับ “เดอะ เซนต์ส” เคยอยู่ในพรีเมียร์ลีก 24 ฤดูกาล มากที่สุดในบรรดาสมาชิก 24 ทีมของลีกแชมเปี้ยนชิพ ซีซั่นนี้ แน่นอนว่า รุสเซลล์ มาร์ติน ผู้จัดการทีม ขอตั้งเป้าหมายพาทีมเลื่อนชั้นกลับมาภายในซีซั่นเดียว

สโตค ซิตี้ – บริษัทรับพนันออนไลน์ถูกกฎหมาย

ครอบครัวของปีเตอร์ โคตส์ มหาเศรษฐีชาวอังกฤษ ผู้ร่ำรวยที่สุดเป็นอันดับที่ 16 จากการจัดอันดับของ Sunday Times Rich List ซึ่งมีสินทรัพย์สุทธิ 8.8 พันล้านปอนด์ ได้เข้ามาเทคโอเวอร์สโมสรสโตค ซิตี้ เมื่อปี 2006

เงินทุนของปีเตอร์ โคตส์ มาจาก Bet365 บริษัทรับพนันออนไลน์ถูกกฎหมาย ซึ่งก่อตั้งโดยเดนิส ลูกสาวของเขา เมื่อปี 2000 เพราะมองเห็นโอกาสที่ว่าอินเตอร์เน็ตจะเปลี่ยนโลกของการพนัน ซึ่งก็เป็นจริงตามที่คาดไว้

ช่วงเวลาที่โคตส์ แฟมิลี่ เข้ามาครอบครองสโตค ซิตี้ พวกเขาได้เลื่อนขั้นสู่พรีเมียร์ลีกเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของสโมสร เมื่อฤดูกาล 2008/09 และรักษาสถานะบนยอดพีระมิด 10 ฤดูกาลติดต่อกัน จนถึงฤดูกาล 2017/18

หลังตกชั้นจากพรีเมียร์ลีก “เดอะ พอตเตอร์ส” ไม่เคยกลับมาอยู่ในลีกสูงสุดอีกเลย จบซีซั่นในลีกรองระหว่างอันดับที่ 14, 15 และ 16 มาโดยตลอด แต่พวกเขาก็ไม่ยอมแพ้ในการต่อสู้เพื่อกลับมาอยู่บนยอดพีระมิดในสักวันหนึ่ง

ซันเดอร์แลนด์ – การเกษตร และอาหารแปรรูป

คีริล หลุยส์-เดรย์ฟุส นักธุรกิจชาวฝรั่งเศสเชื้อสายสวิตเซอร์แลนด์ เข้ามาซื้อหุ้นส่วนน้อยของซันเดอร์แลนด์เมื่อปี 2021 ด้วยวัยเพียง 24 ปี ปัจจุบันกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สุด ด้วยสัดส่วนการถือหุ้น 64 เปอร์เซ็นต์

สำหรับแหล่งรายได้ของหลุยส์-เดรย์ฟุส มาจากการสืบทอดกิจการของ Louis-Dreyfus Group ทำธุรกิจการเกษตร และอาหารแปรรูปรายใหญ่ของฝรั่งเศส โดยมีมาการิต้า คุณแม่ของคีริล ดำรงตำแหน่งประธานบริษัท

ซันเดอร์แลนด์ เคยทำสถิติอยู่ในพรีเมียร์ลีก 10 ฤดูกาลติดต่อกัน ตั้งแต่ฤดูกาล 2007/08 จนถึงฤดูกาล 2016/17 และเคยดำดิ่งลงไปอยู่ในลีกวัน นานถึง 4 ปี ก่อนที่ในซีซั่น 2021/22 ชนะเพลย์ออฟคัมแบ็กลีกแชมเปี้ยนชิพ

ส่วนผลงานเมื่อฤดูกาลที่แล้ว “เดอะ แบล็กแคตส์” จบในอันดับที่ 6 แต่พลาดการเลื่อนชั้น หลังแพ้ลูตัน ทาวน์ ในเกมเพลย์ออฟ รอบรองชนะเลิศ ซึ่งในฤดูกาลนี้พวกเขาขอทุ่มสุดตัว เพื่อกลับสู่ลีกสูงสุดอีกครั้งให้ได้

สวอนซี ซิตี้ – เอเย่นต์นักกีฬา และทีมกีฬา

เมื่อเดือนกรกฎาคม 2016 สติเฟ่น แคปเลน และเจสัน เลวีน 2 นักธุรกิจชาวอเมริกัน ซื้อหุ้นสวอนซี ซิตี้ จำนวน 68 เปอร์เซ็นต์ ขึ้นมาเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ และมี Swansea City Supporters Trust ที่ถือหุ้นอยู่ 21 เปอร์เซ็นต์

แคปเลน มีรายได้จากการเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง Oaktree Capital Management บริษัทจัดการสินทรัพย์ระดับโลกในสหรัฐอเมริกา ซึ่งบริษัทของเขา ยังได้เข้าไปซื้อหุ้นส่วนน้อยของเมมฟิส กริซลี่ส์ ทีมบาสเกตบอล NBA ด้วย

ทางด้านเลวีน มีเงินทุนจากกการเปิดบริษัทเอเย่นต์กีฬา ซึ่งดูแลนักกีฬาในวงการอเมริกันเกมส์หลายคน พร้อมกับเป็นเจ้าของ DC United ทีมฟุตบอลในศึกเมเจอร์ลีก ซอคเกอร์ (MLS) ของอเมริกา ร่วมกับแคปเลน

สำหรับ “เดอะ สวอน” เคยอยู่ในพรีเมียร์ลีก 7 ฤดูกาลติดต่อกัน ตั้งแต่ฤดูกาล 2011/12 ถึง 2017/18 หลังจากนั้น พวกเขาเคยเฉียดเลื่อนชั้นขึ้นสู่ลีกสูงสุดในซีซั่น 2020/21 แต่แพ้เบรนท์ฟอร์ด ในเกมเพลย์ออฟ รอบชิงชนะเลิศ

วัตฟอร์ด – เครื่องมือไฟฟ้า และทีมฟุตบอล

ครอบครัวปอซโซ่ เจ้าสัวจากประเทศอิตาลี ได้เข้ามาเทคโอเวอร์วัตฟอร์ด ต่อจากลอเรนซ์ บาสซินี่ นักธุรกิจชาวอังกฤษ เมื่อช่วงซัมเมอร์ปี 2012 โดยจิโน่ ปอซโซ่ ลูกชายของจามเปาโล ปอซโซ่ รับหน้าที่เป็นเจ้าของสโมสร

จามเปาโล ปอซโซ่ เริ่มต้นสร้างรายได้จากการก่อตั้ง Freud บริษัทผลิตโลหะและวิศวกรรมเครื่องกลในอิตาลี เมื่อปี 1960 ก่อนจะควบรวมกิจการกับ Bosch บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเครื่องมือไฟฟ้าของเยอรมนี ตั้งแต่ปี 2008

ต่อมา ปอซโซ่ แฟมิลี่ ได้หันมาลงทุนในสโมสรฟุตบอล โดยก่อนที่จะมาซื้อวัตฟอร์ด ได้ซื้ออูดิเนเซ่ ในอิตาลี เมื่อปี 1986 และกรานาด้า ในสเปน เมื่อปี 2009 แต่ในภายหลังได้ขายกิจการของอูดิเนเซ่ และกรานาด้าไปแล้ว

ในยุคที่จิโน่ ปอซโซ่ เป็นเจ้าของ “เดอะ ฮอร์เนตส์” เคยโลดแล่นอยู่ในพรีเมียร์ลีก 6 ฤดูกาล แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงผู้จัดการทีมไม่น้อยกว่า 10 คนก็ตาม ซึ่งหนล่าสุดที่พวกเชาได้เล่นในลีกสูงสุด คือฤดูกาล 2020/21

เวสต์บรอมวิช อัลเบี้ยน – การออกแบบและก่อสร้าง

เมื่อปี 2016 ไล่ กั๋วฉวน มหาเศรษฐีจากประเทศจีน ได้เข้ามาซื้อกิจการของเวสต์บรอมวิช อัลเบี้ยน สโมสรระดับพรีเมียร์ลีกในเวลานั้น ต่อจากเจเรมี่ เพียร์ซ นักธุรกิจชาวอังกฤษ ด้วยมูลค่าราว 175 ล้านปอนด์

แหล่งทำรายได้ของไล่ กั๋วฉวน มาจากการเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน Palm Eco Town Development บริษัทด้านการออกแบบและก่อสร้าง ก่อนที่อีกไม่กี่ปีต่อมา จีนได้เกิดภาวะฟองสบู่แตกในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

ตลอด 7 ปี ภายใต้นายทุนจากแดนมังกร มีประเด็นที่ถูกวิจารณ์อยู่หลายเรื่อง แถมผลงานในสนามก็น่าผิดหวัง ตกชั้นในซีซั่น 2017/18 แม้จะกลับขึ้นพรีเมียร์ลีกในซีซั่น 2020/21 แต่อยู่ได้แค่ซีซั่นเดียวก็กลับสู่ลีกรองอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม “เดอะ แบ็กกีส์” อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงเจ้าของทีมในอีกไม่ช้า หลังมีข่าวว่า โมฮัมเหม็ด เอลกาชาชี่ นักธุรกิจชาวอียิปต์ กำลังเจรจาซื้อหุ้นบางส่วน ก่อนจะเทคโอเวอร์เต็มรูปแบบในอนาคต

ทั้ง 24 สโมสรในลีกแชมเปี้ยนชิพ ต่างอยู่ห่างจากยอดบนสุดของพีระมิดฟุตบอลอังกฤษเพียงก้าวเดียวเท่านั้น การเลื่อนชั้นขึ้นสู่พรีเมียร์ลีก คือขุมทรัพย์ที่จะทำให้การเงินสโมสรมีความมั่นคงไปอีกหลายปี

เรียบเรียง : จักรพันธ์ ภู่ทอง

อ้างอิง :

– https://theathletic.com/4667669/2023/07/17/championship-owners-money/

– https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_owners_of_English_football_clubs

https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_Premier_League_clubs

– https://en.wikipedia.org/wiki/Sunday_Times_Rich_List_2023

Categories
Football Business

การกลับมาของ “ฟีฟ่า เอเย่นต์” เพื่อจัดระเบียบนายหน้าลูกหนังครั้งใหม่

  • รายได้ต่อปีของเอเย่นต์ในพรีเมียร์ลีก อังกฤษในปัจจุบัน อยู่ระหว่าง 2 หมื่นปอนด์ ถึง 26.8 ล้านปอนด์
  • ฟีฟ่า กลับมาใช้กฎระเบียบการสอบใบอนุญาตเอย่นต์ฟุตบอลอีกครั้ง หลังยกเลิกไปตั้งแต่ปี 2015
  • ในปัจจุบัน ผู้ที่ผ่านการสอบทั้ง 2 รอบ ในปี 2023 และผู้ที่มีใบอนุญาตเดิม มีประมาณ 4,500 คน

ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2023 เป็นต้นไป สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) ได้นำระบบ “FIFA Agent” กลับมาบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบอีกครั้ง เพื่อการจัดระเบียบเอเย่นต์ในวงการฟุตบอลที่เข้มงวดมากขึ้น

โดยผู้ที่สอบผ่านตามกฎ FIFA Agent Regulations ที่มีการปรับปรุงใหม่ จะได้รับใบอนุญาตให้ทำหน้าที่ตัวแทนของนักฟุตบอล รวมถึงผู้ฝึกสอน และสโมสรฟุตบอล ในการทำธุรกรรมต่างๆ ระหว่างประเทศ

วงการฟุตบอลในปัจจุบันที่มีความเป็นธุรกิจมากขึ้น และด้วยเม็ดเงินที่เพิ่มสูงขึ้น นำไปสู่การแข่งขันที่เข้มข้นกว่าเดิม จึงเป็นที่มาของอาชีพ “เอเย่นต์” ซึ่งเกิดขึ้นควบคู่ไปกับอาชีพอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับฟุตบอล

หลายๆ คน ที่ได้เข้ามาทำอาชีพนายหน้าในวงการกีฬา อาจได้แรงบันดาลใจจากภาพยนตร์ฮอลลีวูดเรื่อง “เจอร์รี่ แม็คไกวร์” ที่ทอม ครูซ พระเอกของเรื่อง รับบทเป็นเอเย่นต์นักกีฬาผู้มีความทะเยอทะยาน

ซูเปอร์เอเย่นต์ในวงการฟุตบอล ที่มีอิทธิพลอย่างมาก เช่น ฮอร์เก้ เมนเดส หรือมิโน่ ไรโอล่า (ผู้ล่วงลับ) ถือเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับบรรดาเอเย่นต์ในปัจจุบัน และผู้ที่ต้องการจะเข้าสู่อาชีพเอเย่นต์ในอนาคต

กว่าจะมาเป็น “นายหน้าค้านักเตะ”

ในวงการฟุตบอล เอเย่นต์ คือตัวแทนหรือคนกลางที่เป็นที่ปรึกษา และรับผิดชอบในด้านต่างๆ ของนักฟุตบอล หรือผู้ฝึกสอน เช่น การเจรจาสัญญา, การดูแลสิทธิประโยชน์, การดูแลภาพลักษณ์ เป็นต้น

คุณสมบัติที่สำคัญของเอเย่นต์ฟุตบอล จะต้องมีความรู้ความเข้าใจในด้านกฎหมาย, การจัดการธุรกิจฟุตบอลทั้งในและนอกสนาม รวมถึงสายสัมพันธ์กับนักฟุตบอลคนอื่น ๆ และผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น ครอบครัว, สื่อมวลชน ฯลฯ

การเป็นเอเย่นต์ฟุตบอล อาจเป็นบุคคลธรรมดาที่ต้องสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตเอเย่นต์ให้ผ่าน หรือจะจัดตั้งเป็นนิติบุคคล ที่ได้รับใบอนุญาตอย่างถูกกฎหมายจากฟีฟ่า โดยที่ผู้ก่อตั้งบริษัทไม่จำเป็นต้องสอบใบอนุญาตเอเย่นต์ก็ได้

รายได้ของเอเย่นต์ฟุตบอล จะขึ้นอยู่กับจำนวนนักฟุตบอลที่เป็นลูกค้าประจำตัว รวมถึงชื่อเสียงของนักฟุตบอลแต่ละคน ถ้าหากเป็นนักฟุตบอลระดับซูเปอร์สตาร์ ก็มีโอกาสที่จะได้รับส่วนแบ่งมหาศาลเลยทีเดียว

ขอบคุณภาพ : https://fathailand.org/news-detail/w0Jv6

ตามกฎของฟีฟ่า เอเย่นต์จะได้ส่วนแบ่ง 10 เปอร์เซ็นต์ ของมูลค่าการเซ็นสัญญา แต่ก็มีบ้างที่มาจากค่าจ้าง หรือค่าตอบแทนที่ตกลงกับสโมสร แต่โดยรวมแล้วต้องไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ ของมูลค่าสัญญาทั้งหมดต่อปี

อ้างอิงจากข้อมูลในเว็บไซต์ของ Sports Management Worldwide ระบุว่า เอเย่นต์ของนักเตะในพรีเมียร์ลีก อังกฤษ จะมีรายได้ต่อปีอย่างน้อย 2 หมื่นปอนด์ แต่เอเยนต์บางคนอาจมีรายได้สูงถึง 26.8ล้านปอนด์

ฤดูกาล 2022/23 ทั้ง 20 สโมสรในพรีเมียร์ลีก ได้จ่ายเงินให้ “นายหน้าค้านักเตะ” รวมกัน 318.2 ล้านปอนด์ โดยทีมที่เสียเงินมากที่สุดคือ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ (51.5 ล้านปอนด์) และทีมที่เสียเงินน้อยที่สุดคือ น็อตติ้งแฮม ฟอเรสต์ (4.3 ล้านปอนด์)

ในปัจจุบันนี้ มีเอเย่นต์นักฟุตบอลมากกว่า 2,000 คน ที่ลงทะเบียนกับเอฟเอ เมื่อมีดีลย้ายสโมสร, ต่อสัญญา หรือยกเลิกสัญญา แต่จากนี้ไป ผู้ที่ยังไม่มีใบอนุญาตเอเย่นต์ต้องเข้ารับการสอบตามกฎระเบียบใหม่ของฟีฟ่า

จากระบบคนกลาง กลับสู่ระบบสอบ

ในอดีต ฟีฟ่าเคยมีการจัดสอบเอเยนต์นักฟุตบอลมาก่อน แต่ได้ยกเลิกไปในปี 2015 และนำระบบคนกลาง (Intermediaries) มาใช้แทน เนื่องจากพบปัญหาสำคัญในระบบเอเยนต์นักฟุตบอล 3 ประการ ได้แก่

– ความไม่มีประสิทธิภาพในการออกใบอนุญาตฟีฟ่า เอเย่นต์ ของสมาคมฟุตบอลในหลาย ๆ ประเทศ

– การโยกย้ายนักฟุตบอลที่กระทำโดยฟีฟ่า เอเย่นต์ มีปัญหาเรื่องความโปร่งใส ไม่สามารถตรวจสอบได้

– ความไม่ชัดเจนในเรื่องข้อบังคับระหว่างคนที่ทำหน้าที่เอเย่นต์ของนักฟุตบอล กับตัวแทนของสโมสรต่าง ๆ

สำหรับ “ระบบคนกลาง” มีเป้าหมายในการสร้างความโปร่งใส โดยคุณสมบัติของผู้ที่จะมาทำหน้าที่นี้ จะต้องลงทะเบียนกับฟีฟ่า และมีสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรกับสโมสร หรือนักฟุตบอลที่ตนเองเกี่ยวข้อง

ส่วนค่าตอบแทนของคนกลาง ฟีฟ่าแนะนำว่า ให้เรียกได้ไม่เกิน 3 เปอร์เซ็นต์ ของมูลค่าสัญญา หรือค่าจ้าง แต่ก็สามารถเรียกค่าตอบแทนเท่าที่ต้องการ และต้องเปิดเผยค่าตอบแทนที่ได้รับจากสัญญาให้ฟีฟ่าทราบด้วย

แต่ช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา ระบบคนกลางมีการกอบโกยผลประโยชน์อย่างไร้ขีดจำกัด ทำให้ฟีฟ่าตัดสินใจยกเครื่องอาชีพเอเย่นต์เสียใหม่ ด้วยการกลับมาใช้ระบบจัดสอบฟีฟ่า เอเยนต์อีกครั้งในรอบ 8 ปี

ผู้ที่มีใบอนุญาตจากฟีฟ่าเท่านั้น ที่จะสามารถทำหน้าที่เอเย่นต์ได้ ทำให้สมาชิกในครอบครัวของนักฟุตบอล ที่เคยเป็นเอเย่นต์จากระบบคนกลาง จำเป็นจะต้องสอบฟีฟ่า เอเย่นต์ให้ผ่านตามกฎระเบียบใหม่ด้วย

เส้นทางที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

เมื่อฟีฟ่ามีการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบใหม่สำหรับผู้ที่จะมาเป็นตัวแทนเจรจาในวงการฟุตบอล โดยใช้วิธีการสอบเพื่อให้ได้รับใบอนุญาต จึงไม่ใช่เรื่องง่ายของหลาย ๆ คน ที่ต้องการจะเข้าสู่อาชีพเอเย่นต์ในวงการลูกหนัง

วิธีการเตรียมตัวสอบ ยกตัวอย่างเช่น ดาวน์โหลดคู่มือการเป็นเอเย่นต์นักฟุตบอลที่มีความหนาประมาณ 500 หน้าจากเว็บไซต์มาศึกษาเอง หรือการเปิดติวสอบทั้ง Online และ On-site คิดค่าใช้จ่ายเป็นรายชั่วโมง เป็นต้น

ในวันสอบ ผู้เข้าสอบจะต้องทำข้อสอบในรูปแบบปรนัย หรือมีตัวเลือก ตามชุดข้อสอบที่ระบบสุ่มเลือกมาให้แต่ละคน จำนวน 20 ข้อ ภายในเวลา 1 ชั่วโมง และต้องตอบถูกอย่างน้อย 75 เปอร์เซ็นต์ หรือ 15 ข้อ จึงจะถือว่าสอบผ่าน

สำหรับในการสอบครั้งแรก เมื่อเดือนเมษายน 2023 มีผู้สมัครเข้ามาในระบบ 6,586 คน จาก 138 สมาคมฟุตบอลทั่วโลก ในจำนวนนี้ เข้ามาทำการสอบ 3,800 คน และสอบผ่าน 1,962 คน (คิดเป็น 52 เปอร์เซ็นต์)

และการสอบครั้งที่ 2 เมื่อเดือนกันยายน 2023 มีผู้สมัครเข้ามาในระบบ 10,383 คน จาก 157 สมาคมฟุตบอลทั่วโลก ซึ่งนับจนถึงปัจจุบัน มีผู้ที่ได้รับใบอนุญาตจากการสอบทั้ง 2 รอบ และผู้ที่มีใบอนุญาตอยู่ก่อนแล้ว รวมกันไม่น้อยกว่า 4,500 คน

ผู้ที่สอบไม่ผ่าน ก็สามารถสอบใหม่ได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง จนกว่าจะสอบผ่าน เพียงแต่ไม่ได้จัดสอบบ่อยๆ ในแต่ละปี ซึ่งพวกเขาต้องเตรียมตัวให้ดีกว่าเดิม เพราะคนที่จะเข้ามาทำงานด้านนี้ ต้องเป็นคนที่เจ๋งจริง ๆ เท่านั้น

ขอบคุณภาพ : https://fathailand.org/news-detail/w0Jv6

เตรียมตัวให้พร้อม ก่อนลุยสนามสอบ

หลังจากการสอบ FIFA Football Agent Examination ในปี 2023 ได้ผ่านพ้นไปแล้ว และยังมีอีกหลายคนที่สนใจจะเข้าสู่อาชีพเอเย่นต์ในวงการฟุตบอล ซึ่งพวกเขาเหล่านี้จะต้องเตรียมตัวให้พร้อมที่สุด ก่อนเข้าสู่ห้องสอบ

สำหรับปี 2024 ก็จะมีการเปิดรับสมัคร และสอบ 2 ครั้งเช่นเดิม ครั้งที่ 1 รับสมัครระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 31 มีนาคม (สอบประมาณเดือนพฤษภาคม) ส่วนครั้งที่ 2 รับสมัครระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม – 30 กันยายน (สอบประมาณเดือนพฤศจิกายน)

เมื่อถึงช่วงเวลาที่เปิดรับสมัคร ให้สมัครผ่านเว็บไซต์ agents.fifa.com และจะแจ้งรายละเอียดในการสอบให้ทราบอีกครั้งผ่านอีเมลของผู้สมัครสอบ และระบบ FIFA Agent Platform ส่วนภาษาที่ใช้สอบ มีให้เลือกระหว่างอังกฤษ, สเปน หรือ ฝรั่งเศส

คุณสมบัติของผู้ที่จะสมัครสอบเพื่อขอใบอนุญาตการเป็นเอเย่นต์ฟุตบอลตามระเบียบของ FIFA (Eligibility Requirement)

a) คุณสมบัติ ณ วันที่ยื่นใบสมัคร

– กรอกใบสมัครตามความจริงอย่างครบถ้วนทุกประการ

– ไม่เคยได้รับโทษในคดีอาญา

– ไม่เคยถูกลงโทษห้ามยุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมกีฬาจากองค์กรกีฬาใดเป็นเวลามากกว่า 2 ปี อันเนื่องมาจากละเมิดกฎระเบียบและจริยธรรมทางวิชาชีพ

– ไม่เป็นพนักงานของ FIFA, สหพันธ์ฟุตบอลของทวีป, สมาคมกีฬาฟุตบอลของประเทศต่างๆ, ฟุตบอลลีก, สโมสรฟุตบอล รวมถึง องค์กรใดๆ ก็ตาม ที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานข้างต้นทั้งทางตรงและทางอ้อม

– ไม่เป็นผู้ที่มีผลประโยชน์ใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับ สโมสร, อคาเดมี และ ฟุตบอลลีก

b) ไม่เคยตรวจพบว่าทำหน้าที่เอเยนต์โดยไม่มีใบอนุญาตในช่วง 24 เดือนที่ผ่านมาก่อนยื่นใบสมัคร

c) ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย หรือ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ หรือ กรรมการบริษัทขององค์กรที่ถูกฟ้องล้มละลาย ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

d) ไม่เป็นผู้ที่มีผลประโยชน์หรือส่วนเกี่ยวข้องกับการพนันกีฬาทุกชนิดในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา 

ผู้ที่สอบผ่าน จะต้องจ่ายค่าใบอนุญาตเป็นจำนวนเงิน 600 ฟรังก์สวิส (คิดเป็นเงินไทย ประมาณ 24,000บาท) ภายใน 90 วัน หลังจากสอบผ่าน และเป็นค่าใช้จ่ายแบบรายปี เมื่อได้รับใบอนุญาตแล้ว ก็สามารถทำงานได้ทันที

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เอเย่นต์คือกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฟุตบอลให้เดินหน้าต่อไป อีกทั้งเป็นช่องทางสำหรับผู้มีความฝันที่ต้องการจะทำงานในวงการฟุตบอล เพื่อกอบโกยรายได้มหาศาลจากอาชีพนี้

เรียบเรียง: จักรพันธ์ ภู่ทอง

อ้างอิง :

– https://thaipublica.org/2016/04/tpl-10/

https://fathailand.org/news-detail/w0Jv6

– https://theathletic.com/4420448/2023/04/19/agents-exams-fifa/

https://www.thefa.com/news/2023/mar/31/publication-of-payments-and-transactions-310323

– https://www.dailymail.co.uk/sport/football/article-11987207/Agents-futures-line-sit-FIFA-exam-fears-80-cent-fail.html

https://digitalhub.fifa.com/m/1e7b741fa0fae779/original/FIFA-Football-Agent-Regulations.pdf

https://digitalhub.fifa.com/m/1c21b25b00c6dec8/original/FIFA-Football-Agent-Exam-Study-Materials.pdf

Categories
Football Business

เมื่อ “ลิเวอร์พูล” จับมือพาร์ทเนอร์ใหม่ ช่วยเพิ่มสภาพคล่องทางการเงิน

นับตั้งแต่กลุ่มเฟนเวย์ สปอร์ต กรุ๊ป (FSG) เข้ามาซื้อกิจการของลิเวอร์พูล เมื่อปี 2010 ในช่วงที่สโมสรเกือบจะล้มละลาย แต่ด้วยการบริหารที่ชาญฉลาด ทำให้สถานการณ์ทางการเงินดีขึ้นเรื่อยๆ ตามลำดับ

แต่จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ลิเวอร์พูลสูญเสียรายได้ราว 100 ล้านปอนด์ แถมมีการลงทุนเพื่อพัฒนาสโมสรในเรื่องที่จำเป็นอยู่หลายเรื่อง ทำให้พวกเขาต้องการหาเงินทุนเพิ่มเติม

ล่าสุด เมื่อช่วงปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา หงส์แดงได้รับข่าวดี เมื่อตกลงขายหุ้นส่วนน้อยให้กับไดนาสตี้ อิควิตี้ (Dynasty Equity) บริษัทลงทุนด้านกีฬาระดับโลก ซึ่งมีมูลค่าอยู่ระหว่าง 82-164 ล้านปอนด์

หากคำนวณจากมูลค่าของลิเวอร์พูล อ้างอิงจากการประเมินของ Forbes ซึ่งอยู่ที่ 4.3 พันล้านปอนด์ (5.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) พบว่าหุ้นส่วนน้อยคิดเป็น 2 – 4 เปอร์เซ็นต์ ของมูลค่าสโมสรในปัจจุบัน

ส่องสถานะการเงินลิเวอร์พูล

เมื่อต้นปี 2023 ที่ผ่านมา Company House เว็บไซต์ที่รวบรวมข้อมูลการจดทะเบียนบริษัทในอังกฤษ ได้เผยแพร่เอกสารงบการเงินของ 20 สโมสรพรีเมียร์ลีก รอบปีบัญชี 2021/22 สิ้นสุดวันที่ 31 พฤษภาคม 2022

ลิเวอร์พูล มีรายได้รวมทั้งสิ้น 594.3 ล้านปอนด์ มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยแบ่งเป็นรายได้จากสื่อ 260.8 ล้านปอนด์, รายได้เชิงพาณิชย์ 246.7 ล้านปอนด์ และรายได้จากแมตช์เดย์ 86.8 ล้านปอนด์

รายได้รวมของฤดูกาล 2021/22 เพิ่มขึ้นจากฤดูกาล 2020/21 ถึง 107 ล้านปอนด์ ส่วนหนึ่งมาจากการที่แฟนบอลสามารถกลับเข้าชมเกมในสนามได้ตลอดทั้งซีซั่น หลังจากต้องแข่งขันแบบปิดสนามในซีซั่นก่อนหน้า

ขณะที่ต้นทุนขาย, ค่าใช้จ่ายในการบริหาร และดอกเบี้ยจ่าย มียอดรวมทั้งหมด 615.8 ล้านปอนด์ ซึ่งเมื่อรวมกับผลประโยชน์อื่นๆ ที่ได้รับทั้งในและนอกสนาม ทำให้เหลือกำไรก่อนหักภาษี 7.5 ล้านปอนด์

ในส่วนของการจ้างงานภายในสโมสร ลิเวอร์พูลมีพนักงานประจำ 1,005 คน แบ่งเป็นพนักงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับฟุตบอล 713 คน, ผู้เล่น ผู้จัดการทีม สต๊าฟโค้ช 225 คน และเจ้าหน้าที่สนามดูแลสนามอีก 67 คน

ด้านพนักงานพาร์ท-ไทม์ ซึ่งมักจะทำงานเฉพาะวันที่มีการแข่งขัน มีทั้งหมด 1,930 คน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากฤดูกาล 2020/21 ที่มีเพียง 945 คน หรือคิดเป็น 51 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากไม่มีการล็อกดาวน์ในช่วงโควิด-19

แต่การเพิ่มขึ้นของพนักงาน ก็ส่งผลถึงค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน โดยลิเวอร์พูล ได้จ่ายค่าจ้างรวมกัน 366 ล้านปอนด์ เมื่อมาคำนวณสัดส่วนของค่าจ้างเมื่อเทียบกับรายได้ จะคิดเป็น 62 เปอร์เซ็นต์ ของรายได้

มีการคาดการณ์ว่า ในรอบปีบัญชี 2022/23 ที่จะประกาศในช่วงต้นปี 2024 ค่าจ้างของลิเวอร์พูล จะเพิ่มขึ้นจากฤดูกาลก่อนหน้าราว 50 ล้านปอนด์ สวนทางกับรายได้รวมที่ลดลง จากผลงานในสนามที่ล้มเหลว

แม้ว่าในซีซั่น 2023/24 สนามแอนฟิลด์มีความจุมากขึ้น ส่งผลต่อรายได้ที่เพิ่มขึ้น แต่ก็มีรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม ผลงานในสนามของลิเวอร์พูล 2.0 มีทิศทางที่ดีขึ้นมากกว่าซีซั่นที่แล้วอย่างเห็นได้ชัด

เพราะฉะนั้น หนทางเดียวที่การเงินของลิเวอร์พูลจะกลับมาดีขึ้นอีกครั้ง คือการได้สิทธิ์ไปยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ในฤดูกาลหน้า ซึ่งมีการเปลี่ยนรูปแบบการแข่งขันใหม่ ที่จะมีรายได้เข้าสู่สโมสรมากขึ้นกว่าเดิม

ขอบคุณภาพ : https://www.facebook.com/ThailandLiverpoolFC

ทำความรู้จัก “ไดนาสตี้ อิควิตี้” 

สำหรับประวัติของไดนาสตี้ อิควิตี้ เป็นบริษัทด้านการลงทุนในกีฬาระดับโลก มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่นิวยอร์ก ในสหรัฐอเมริกาถือกำเนิดขึ้นเมื่อปี 2022 โดยมีโจนาธาน เนลสัน และดอน คอร์นเวลล์ เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง

เนลสัน มีประสบการณ์การบริหารงานมาไม่น้อยกว่า 35 ปี เป็นผู้ก่อตั้ง Providence Equity Partners ที่ได้ลงทุนกับ Yankees Entertainment and Sports Network (YES) และยังทำงานร่วมกับเมจอร์ลีก ซอคเกอร์ด้วย

ทางด้านคอร์นเวลล์ อดีตหัวหน้าฝ่ายวาณิชธนกิจของ Morgan Stanley บริษัทการเงินระดับโลก และมีประสบการณ์ในการทำข้อตกลงด้านกีฬาหลายประเภทในสหรัฐอเมริกา เช่น อเมริกันฟุตบอล, บาสเก็ตบอล และอื่นๆ

นอกจากนี้ ยังมีเดวิด กินส์เบิร์ก รองประธานของเฟนเวย์ สปอร์ต กรุ๊ป (เอฟเอสจี) ที่เคยช่วยวิเคราะห์การหาเงินทุน เพื่อเจรจาการเทคโอเวอร์สโมสรลิเวอร์พูล เมื่อปี 2010 มาเป็นที่ปรึกษาอาวุโสให้กับไดนาสตี้ อิควิตี้

ในเว็บไซต์ของไดนาสตี้ อิควิตี้ ได้อธิบายถึงแนวทางการดำเนินงาน ภายใต้เสาหลัก 4 ประการ ได้แก่

– ความซื่อสัตย์ : สร้างความร่วมมือที่ยั่งยืน โดยรักษาไว้ซึ่งความซื่อสัตย์, ความไว้วางใจ อีกทั้งมีความเคารพในทุกด้านของกระบวนการ และการโต้ตอบกับปัญหา

– ความรอบคอบ : ลงทุนด้วยความรอบคอบ เน้นวินัยในด้านการประกันความเสี่ยง, เปิดใจเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ, การวิเคราะห์ที่เข้มงวด, และการตัดสินใจที่ชาญฉลาด

– ความหลากหลาย : นำประสบการณ์และภูมิหลังที่หลากหลาย มาสู่การลงทุนด้านกีฬา ทำให้สามารถประเมินโอกาสและสถานการณ์จากมุมมองที่หลากหลาย

– การทำงานเป็นทีม : เชื่อว่าผลลัพธ์ที่ดีที่สุดจะเกิดขึ้นได้ เมื่อยอมรับในจิตวิญญาณในการเป็นผู้ประกอบการ และแนวทางการดำเนินกิจการที่เน้นการทำงานเป็นทีม

หลังจากบรรลุข้อตกลงในการร่วมทุน เนลสัน เปิดเผยว่า “เรารู้สึกเป็นเกียรติที่ได้เป็นพันธมิตรกับเอฟเอสจี และสนับสนุนเกียรติประวัติอันน่าทึ่งของลิเวอร์พูล เพื่อเป็นการต่อยอดความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งระหว่างเรากับสโมสร”

ขณะที่คอร์นเวลล์ กล่าวเสริมว่า “ลิเวอร์พูลคือหนึ่งในสโมสรฟุตบอลที่โดดเด่นที่สุดในโลก ซึ่งมีฐานแฟนบอลทั่วโลกที่หลงใหลในสโมสร เราจะทำงานร่วมกับเอฟเอสจี เพื่อโอกาสในการเติบโตที่ยิ่งใหญ่สำหรับอนาคต”

ขอบคุณภาพ : https://www.facebook.com/ThailandLiverpoolFC

ไม่ได้ใช้ซื้อนักเตะและขายทีม

ก่อนหน้านี้ ในเดือนพฤศจิกายน 2022 มีข่าวลือว่า เฟนเวย์ สปอร์ต กรุ๊ป จะพิจารณาหานักลงทุนรายใหม่เพื่อเข้ามาเทคโอเวอร์สโมสร แต่ผ่านไป 3 เดือน เอฟเอสจีแถลงว่าเป็นเพียงการหาผู้ร่วมทุนรายใหม่เท่านั้น

การสูญเสียรายได้ในช่วงโควิด-19 ระบาด คือเหตุผลที่ไดนาสตี้ อิควิตี้ ได้เข้ามาเป็นผู้ร่วมทุนรายใหม่ เพื่อนำเงินไปชำระหนี้สิน แต่ไม่เกี่ยวข้องกับการซื้อนักเตะใหม่ และไม่ใช่การส่งสัญญาณสู่การขายสโมสร

จากรายงานงบการเงินของ Company House ในรอบปีบัญชีล่าสุด (2021/22) ระบุว่า ลิเวอร์พูลมีหนี้สินจากสถาบันการเงิน 87.1 ล้านปอนด์ ลดลงจากรอบปีบัญชี 2020/21 ที่มีหนี้สิน 126.9 ล้านปอนด์

อย่างไรก็ตาม เงินจำนวน 50 ล้านปอนด์ ที่ใช้ในการสร้างเคิร์กบี้ สนามซ้อมแห่งใหม่ รวมถึง 12 ล้านปอนด์ ที่ซื้อเมลวูด สนามซ้อมเดิมเพื่อให้ทีมฟุตบอลหญิงได้ใช้งานนั้น ไม่ได้ถูกนับรวมอยู่ในหนี้สินแต่อย่างใด

ส่วนการซื้อผู้เล่นใหม่ในตลาดนักเตะช่วงซัมเมอร์ ปี 2023 ทีมของเจอร์เก้น คลอปป์ ใช้เงินไป 145 ล้านปอนด์ กับมิดฟิลด์ใหม่ 4 คน คือ โดมินิค โซบอสซไล, อเล็กซิส แม็คอลิสเตอร์, ไรอัน กราเวนเบิร์ช และวาตารุ เอ็นโด

ปัจจุบันนี้ ลิเวอร์พูลมีภาระค่าใช้จ่ายราว 80 ล้านปอนด์ ในการขยายอัฒจันทร์ฝั่งแอนฟิลด์ โร้ด ซึ่งเดิมทีจะต้องเสร็จสิ้นภายในเดือนตุลาคม แต่ต้องล่าช้าออกไปเพราะ Buckingham Group บริษัทคู่สัญญาเกิดล้มละลาย

ไมค์ กอร์ดอน ประธานของเอฟเอสจี ยังคงยึดมั่นกับการมีส่วนร่วมในการบริหารลิเวอร์พูลเหมือนที่เคยเป็นมากว่า 13 ปี พร้อมมองว่า ไดนาสตี้ อิควิตี้ คือพาร์ตเนอร์ที่เหมาะสมกับการเข้ามาร่วมลงทุนในระยะยาว

“คำมั่นสัญญาในระยะยาวของเรากับลิเวอร์พูล ยังคงเหมือนเดิม เราพูดอยู่เสมอว่า หากมีหุ้นส่วนที่เหมาะสมสำหรับสโมสร เราก็จะตามหาโอกาสเพื่อความคล่องตัวทางการเงินในระยะยาว และการเติบโตในอนาคต”

“เราเฝ้ารอที่จะสร้างความสัมพันธ์อันยาวนานกับไดนาสตี้ อิควิตี้ เพื่อเสริมสร้างสถานะทางการเงินให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น และรักษาความทะเยอทะยานเพื่อสร้างความสำเร็จทั้งในและนอกสนาม” กอร์ดอน กล่าวปิดท้าย

แม้แฟนบอลบางส่วนจะผิดหวังที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเจ้าของสโมสร แต่การปลดภาระหนี้สิน ก็ถือเป็นสิ่งสำคัญในการช่วยให้ลิเวอร์พูลมีสถานะทางการเงินที่มั่นคง และความสำเร็จในสนามที่จะเดินหน้าต่อไป

เรียบเรียง: จักรพันธ์ ภู่ทอง

อ้างอิง :

– https://theathletic.com/4909947/2023/09/28/liverpool-investment-explained-fsg-dynasty-equity/

– https://www.telegraph.co.uk/football/2023/09/28/liverpool-us-investment-dynasty-equity-jurgen-klopp/

https://www.liverpoolecho.co.uk/sport/football/football-news/who-dynasty-equity-fsg-sell-27804761

https://find-and-update.company-information.service.gov.uk/company/00035668/filing-history

https://swissramble.substack.com/p/liverpool-finances-202122

– https://find-and-update.company-information.service.gov.uk/company/00035668/filing-history