Categories
KMD Opinion

ทำไมดีล “กัคโป” จึงดูดีในตลาดรอบ 2

สถิติ คือ “เรื่องหนึ่ง” นะครับในการวิเคราะห์ฟุตบอล อย่างไรก็ดี การเชื่อในประสบการณ์ ความรู้ และสัญชาตญาณในการรับชมฟุตบอลของแต่ละคนก็ให้ความรู้สึกเป็นส่วนใหญ่ว่า “ดีล – โคดี กัคโป” คือ ดีลที่ดีที่สุดดีลหนึ่งสำหรับตลาดการซื้อขายนักเตะรอบ 2 เดือนมกราคมแน่นอน

ไม่ใช่เฉพาะกับลิเวอร์พูล แต่คือ มองใน “ภาพรวม” การซื้อขายจากตลาดรอบนี้ได้เลย

เหตุผลหลัก คือ ตัวเลือกมีไม่เยอะ เพราะต้นสังกัดเดิม หรือนักเตะเองจะย้ายทีม “กลางศึก” ระหว่างซีซั่นมันต้องอาศัยการปรับตัวพอประมาณ

จริง ๆ แล้ว ทีมใหม่ หากไม่จำเป็นจริง ๆ ก็จะไม่ซื้อ เพราะนอกจากจะถูกมองได้ว่า เตรียมตัวไม่ดีตอนซัมเมอร์ตลาดรอบแรกแล้ว

มันยังเหมือน panic buy หรือ “ต้องซื้อ” เพื่อขายผ้าเอาหน้ารอดจากผลงานที่ไม่ดีกระทั่งธันวาคม หรือนักเตะหลักเจ็บจึงต้อง “ซ่อมด่วน”

ลิเวอร์พูลเองเป็นอย่างหลังสุดที่อย่างน้อย ดิโอโก โชตา เจ็บจนถึง ก.พ.และหลุยส์ ดิอาซ น่าจะยาวถึง เม.ย.- พ.ค. ทำให้ไม่มีทางเลือกกับการมองหาแนวรุกฝั่งซ้ายที่เกมล่าสุด อเล็กซ์ อ๊อกเลด-แชมเบอร์เลน ได้ลงตัวจริงในแมตช์ชนะแอสตัน วิลล่า 3-1 หรือฟาบิโอ คาร์วัลโญ่ ได้โชว์ฟอร์มบ้างประปรายช่วงก่อนบอลโลก

ไม่นับที่ยังคิดถึง ซาดิโอ มาเน อดีตตัวเลือกหลักฝั่งนี้อยู่เป็นระยะ ๆ

ฉะนั้น การคว้าตัว กัคโป นักเตะที่ “แจ้งเกิด” เต็มตัวในบอลโลกซึ่งหมายความว่า น่าจะอัพค่าตัวได้มากขึ้นมาร่วมทีมด้วยราคา 37 ล้านปอนด์ และจะแตะ 50 ล้านปอนด์หากรวม add-ons ต่าง ๆ เข้าไปกับค่าเหนื่อยสัปดาห์ละ 120,000 ปอนด์ 6 ปีเพื่อผู้เล่นระดับนี้วัย 23 ปี

พูดได้คำเดียว ณ อุณหภูมิตลาดแบบนี้ หรือแบบนี้ที่ เอนโซ เฟร์นันเดซ ซึ่งเพิ่งย้ายจากริเวอร์เพลทมาเบนฟิกาได้ 6 เดือน และเพิ่งสถาปนาตัวเองให้แชมป์โลก อาร์เจนตินา ได้เดี๋ยว ๆ นี้เองมีค่าฉีกสัญญา 105 ล้านปอนด์

กัคโป กับไม่ถึง 50 ล้านปอนด์ คือ ถูกเป็นขรี้! ไม่ต้องคิดอะไรมาก

ส่วนสูง ทะลุ 190 เซนติเมตร และทั้งใหญ่ ทั้งคล่อง และเร็ว แถมยิงประตูได้ “นิ่ง, เนียน” และเทคนิคดี จึงไม่น่าห่วงเหมือน ดาร์วิน นูนเญซ

แน่นอนว่า สถิติกับลีกดัตช์ สามารถเป็น “ภาพลวง” ได้เหมือนลีกเอิง

แต่มันก็ช่วยให้สบายใจขึ้นว่า ทั้ง 105 ประตู รวม assists จาก 159 นัดลงสนามให้พีเอสวี หรือ 21 ประตู 25 assists จาก 41 ดัตช์ลีกนับจากออกสตาร์ซ๊ซั่นก่อน คือ ดีย์ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ

แต่แบบที่ผมบอกไว้ครับ “สถิติ” คือ เรื่องหนึ่ง

แต่ผมเชื่อว่า ด้วยสถานการณ์ที่ตามเกริ่นไว้ข้างบนกับตลาดรอบนี้ เพิ่มเติม คือ เพราะพีเอสวี ไม่ได้เล่น UCL ทำให้ “ร้อนเงิน” ด้วย

กับภาพที่ได้เห็นในเวทีบอลโลกซึ่งเล่นได้แทบทุกตำแหน่งในแนวรุก บวกกับรูปร่าง ทักษะ ลีลาทรงบอลดัตช์แมน ชาวโลกจึงไม่น่าพลาด และ “ผิดหวัง” ในตัวดาวเตะวัย 23 ปีรายนี้

ที่มาที่ไปของดีล และบทจบที่น่าจะทราบกันแล้ว เพราะกำลังตรวจร่างกายระหว่างผมปั่นบทความนี้เมื่อคืนพุธ 28 ธ.ค.เวลาไทย คงไม่ต้องพูดกันเยอะ

หรือไม่ต้องพูดหรอก…ถึง จู๊ด เบลลิงแฮม ที่แบบที่บอกครับ ยากจะมาตอนนี้ ไว้ซัมเมอร์ค่อยว่ากัน

หรือเอนโซ ที่โคตรแพงตามสไตล์เด็กปั้นเบนฟิกา ที่ส่วนตัวผมเฉย ๆ เพราะนั่นคือ “ของดี” จากบอลโลกแท้ ๆ

แต่กับกัคโป คือ “พิสูจน์ทราบ” มาแล้วอย่างน้อย 2 ซีซั่น และตกเป็นข่าว เป็นเป้าอยู่ในเรดาร์ของ “บิ๊กทีม” ยุโรปโดยเฉพาะพรีเมียร์ลีกมาตลอด ไม่นับแค่แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด

เอาเป็นว่า ไม่มีอะไรจะพูดเลยนอกจาก ยินดีด้วยมาก ๆ กับพวกเราแฟน “หงส์แดง” ล่วงหน้า และ Look forward to watching our brand new attacking player กันได้เลย

Can’t wait ครับ

☕ณัฐวุฒิ ประเทืองศิลป์

📷The Anfield Talk

Categories
KMD Opinion

สื่อสารเพื่อไม่ให้เกิดข้อ “แก้ตัว” ในสนาม

เหมือนสัปดาห์ก่อนในเกมทีมชาติไทยกับอินโดนีเซียที่มี “ภาพไม่น่าจำ” แฟนบอลอินโดฯ กระทำการใส่ทัพนักเตะไทย และเกิดกระแสไวรัลประมาณหนึ่งตามมาถึงพฤติกรรมไม่ดีดังกล่าว บลา บลา จากทุกภาคส่วน

สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับผู้บริหาร ทีมงานโค้ช ก็คือ ต้องสื่อสารออกมาในทิศทางที่จะไม่ทำให้สิ่งกระทบเหล่านั้นสามารถกลายเป็นปัจจัย “แก้ตัว” (Excuse) หากผลงานในสนามไม่ดี

หรือยิ่งกว่านั้นคือ จะกลายเป็น mindset ให้ทีมรู้สึกเหมือนมีข้อแก้ตัวหากผลงานจะไม่ดี ตั้งแต่ยังไม่เตะ

ทิศทางการโต้ตอบก็เช่น “ให้เป็นเรื่องของกฎหมาย กฎระเบียบ เรามุ่งโฟกัสเฉพาะความปลอดภัย และเกมในสนาม” หรือ “เราจะควบคุมเฉพาะที่คุมได้ คือ เรื่องของทีมเราเอง เราไม่สนใจเรื่องอื่น ๆ และจะให้ประเด็นนอกสนามเข้ามากระทบผลงานในสนาม”

หาใช่ ตระหนก หรือกระพือกระแส ผสมโรงกันไปทุกภาคส่วน คือ รายงานหรือพูดตามจริงแบบที่รู้ ๆ ได้ แต่สุดท้ายเราต้อง “ตบกลับ” เข้ามาที่จุดยืนของเรา และของทีม

เช่นกันครับ เหมือนที่ เยอร์เกน คลอปป์ ได้กล่าวไว้ว่า “อะไรกัน ทำราวกับเราไม่มีทีมฟุตบอล” หลังแฟน ๆ ส่งเสียง “Who’s next?” ใครเป็นรายต่อไปหลังเซ็นสัญญา โคดี้ กัคโป มาร่วมทีม

ประมาณว่า เพิ่งเซ็นนักเตะใหม่มายังไม่ทันจะข้ามคืน ขอตัวใหม่ หรือตัวต่อ ๆ ไปกันแล้ว

จริง ๆ ในอีกมุมหนึ่ง และเหมือนที่เช้านี้มี trend ในทวิตเตอร์ #FSGOUT นั่นแหละครับว่า แฟนบอลก็แบบนี้อยู่แล้ว หรือพวกเรา ๆ ก็แบบนี้

ซึ่งบางทีก็พูด ๆ ไปก่อน ไม่ได้มีเจตนาอะไรใด ๆ รุนแรง (แต่ได้ก็ดี)

อันเป็นอะไรที่เข้าใจได้

อย่างไรก็ดีครับ ประเด็นของโพสต์สั้น ๆ วันนี้ ก็คือ respond จากคลอปป์ข้างต้นที่ set up mindset นักเตะ และทีม และแฟน ๆ ทั้งหลายทั้งปวง ทุกกลุ่มผู้เกี่ยวข้องทีมทั้งหมดให้อยู่ในจุดที่ถูกต้อง

แปลความได้ว่า “เฮ้ย! ใจเย็น ๆ เพื่อน เพิ่งเซ็นมา อย่าลืมว่า ทีมที่มีอยู่ก็มีดี”

แน่นอนว่า มุมของคลอปป์ยังหมายถึงแนวคิดเดิม ๆ ได้ “ตอกย้ำ” นั่นคือ จะไม่ซื้ออะไรโดยไม่จำเป็น ไม่เหมาะสม

และมันยังทำให้นักเตะชุดปัจจุบัน ยังเท้าติดดิน และไม่ไขว้เขว ไม่เอนเอียงกับกระแสอะไรใด ๆ อันเป็นสิ่งที่ดี

ไม่มีอะไรครับ ผมเองก็รอจังหวะเขียนถึง “มุมนี้” อยู่เช่นกัน และคิดว่า วันนี้เหมาะสมก่อนเกมทีมชาติไทยนัดสุดท้ายรอบแบ่งกลุ่มอาเซียน คัพ กับกัมพูชา และในช่วงกระแส #FSGOUT แอบแรงแต่เช้าเวลาไทย

ร่วมแตะหน้าจอพูดคุยด้วยตัวอักษรกันได้เหมือนเดิมครับ

☕ณัฐวุฒิ ประเทืองศิลป์

📷Sky Sports

Categories
KMD Opinion

วิเคราะห์จังหวะโคนาเตโดนเหลี่ยมกระแทก

สถานการณ์ “ปัญหา” และเป็นข้อ “ถกเถียง” ช่วงผ่านนาทีที่ 80 ที่เกิดโดย ไบรอัน เอ็มบูโม ใช้หัวไหล่กระแทกด้านหลัง อิบู โคนาเต แต่ถูกตีความว่า “ไหล่ชนไหล่” ทว่าด้วยส่วนสูงต่างกันเกิน 20 เซนติเมตร มันไม่มีทางไหล่ชนกันได้ นำมาซึ่งอิบู ล้มลง แล้วดาวเตะแคเมอรูน เลือกมุมยิงช้อยปิดฉาก 3-1 ให้เบรนท์ฟอร์ดปราบลิเวอร์พูล

เหตุการณ์นี้ มองอย่างไร และตีความอย่างไรได้บ้าง? (ในมุมของผม)

อันดับแรก มันคงไม่ใช่การตัดสินได้ง่าย ๆ ว่าถูก หรือผิด, ฟาล์ว หรือไม่ฟาล์ว เหมือนกรณี เมาแล้วขับ ซึ่งผิดแน่ ๆ แต่ขนาดผิดแน่ ๆ เคสนักเตะชลบุรีเมื่อไม่นานมานี้ปีก่อนยัง “ดรามา” ได้เลย

ดังนั้นกรณี “เสียงแตก” แบบนี้ ยังไงจึงไม่จบง่าย ๆ

ฉะนั้น อันดับสองที่ต้องอธิบายเพิ่ม คือ หากเกิดข้อครหาได้ หรือเสียงแตกได้ขนาดนี้กับการตัดสิน ผมจะเลือกให้ “ฟาล์ว” และไม่ให้ประตูเกิดขึ้นไว้ก่อน

เพราะ 2-1 คือ เสียหายเท่าเดิม แต่ 3-1 คือ ไม่ใช่แล้ว

มันต้องแบบว่า 10 เสียง ชนะกัน 8 ต่อ 2 หรือ 7 ต่อ 3 ไม่ใช่แบบ 5 ต่อ 5 หรือ 4 ต่อ 6 หรือ 6 ต่อ 4 อะไรแบบสถานการณ์นี้

หรือที่กลายเป็นปัญหาตามมาได้แบบนี้มันก็ตอบในตัวเองอยู่แล้วว่า ลูกนี้ไม่ควรเป็นประตู และควรจะเป่าฟาล์วก่อน

อย่างไรก็ดีครับ อันดับสาม คือ โคนาเต (194 เซนติเมตร) ล้มง่ายไปจริง ๆ เหมือนกูรู และเพื่อน ๆ หลายคนว่าไว้เทียบกับ เอ็มบูโล (171 เซนติเมตร)

ฉะนั้น ต่อไปนี้ เวลาสอนผู้เล่นของเรา เราควรเน้นย้ำ stay on your feet ไว้ก่อน ไม่ใช่ล้ม (ง่ายไป) แล้วหวังลุ้นกรรมการตัดสินช่วย โดยเฉพาะสถานการณ์ที่นำสู่การเสียประตูได้แบบนี้

ถัดมา อันดับสี่ คือ อิบู มีชอยส์ในการเล่นได้เยอะ ตั้งแต่อ่านเกม แล้วตัดโหม่งก่อนจากบอลของ คริสเตียน นอร์การ์ด ซึ่งเปิดข้ามศีรษะแนวรับสุดท้าย หรือแทงทะลุช่องแนวรับสุดท้ายได้ดีเหลือเกิน

หรือบอลข้ามหัวแล้วแต่เข้าถึงก่อนเอ็มบูโล่ ก็ควรโหม่งกลับให้ อลิสซง หรือเอาลงแล้วเคลียร์ เอาลงแล้วคืนอาลี ฯลฯ

คือ ทำได้ไม่ต่ำกว่า 3-4 ทางเลือก แต่กลับไปเลือกทางออกที่ “สุ่มเสี่ยง” สำหรับปัญหา และปัญหาก็มาจริง ๆ

ครับ ไม่ได้ซ้ำเติม ไม่ได้อะไรใด ๆ เพราะ “ภาพรวม” ทุกคนเห็นกันอยู่แล้ว

เชียร์กันต่อไปครับ YNWA

☕ณัฐวุฒิ ประเทืองศิลป์

📷Football Tweet

Categories
KMD Opinion

ทำไมต้องเป็น “เปเล่” ?

ในขอบเขตของผม จากเด็กผู้ชายตัวน้อย จนถึงวันนี้ที่เป็นชายวัยครึ่งศตวรรษ ความ “แท้” หรือ Originality ของเปเล่ นักเตะบราซิลคนแรก (จาก 2 คน) ที่ผมท่องชื่อจริงเต็ม ๆ ยาว ๆ เอ็ดสัน อรันเตส โด นาสซิเมนโต ได้ตั้งแต่ประถมศึกษา (อีกคน คือ ซิโก้ – อาเธอร์ อันตูเนส โคอิมบรา) คือ “ที่สุด” เท่าที่ผมจำความได้ และพอจะหา reference เร็ว ๆ จากข้อมูล และภาพ “ไฮไลต์” ต่าง ๆ ได้

ตัวอย่างเช่น:

1.ผมเคยคุยกับพี่ตุ๊ก ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน ไอดอลส่วนตัวที่ทันดูแกเล่นจริง ๆ (แต่ไม่ทันได้ดูเกมไลฟ์ของเปเล่ – ได้แต่ชมไฮไลต์) กับการเล่น “ลูกไขว้” (Rabona) ของแก

“พี่เห็นจากเปเล่ เป็นคนแรก และเล่นตาม”

ขยายความต่อในบทสนทนาก็คือ พี่ตุ๊ก เห็น “ครั้งแรก” ลูกไขว้จากไฮไลต์การเล่นของเปเล่ ไม่ใช่ดิเอโก มาราโดนา หรือคนอื่น ๆ

2.โยฮัน ครอยฟ์ เทิร์น (Cruyff turn) ที่ส่วนตัว ผมเห็นจากคลิป VDO ของเปเล่ เป็นภาพขาวดำ ก่อนเห็นคลิป ครอยฟ์ ซึ่งเป็นภาพVDO สี (ส่วนตัวนะครับ)

และส่วนตัวอีกเช่นกันที่ตอนเด็ก ๆ เพราะเปเล่ ผมจึงมักเลือก และขอใส่ “เบอร์ 10” เสมอ ๆ กระทั่งตอนไปทำข่าว และได้เล่นฟุตบอลที่อังกฤษกับคนไทยที่นั่นระหว่าง 1997 – 2006 และเจอฝรั่ง เจอแอฟริกัน ฯลฯ ผมจึงเลิกใส่ เพราะคนเหล่านั้นไม่สนใจอะไร นอกจากคิดว่า “เบอร์ 10” เก่งสุดในทีม ทำให้โดนเตะ โดนจ้องประกบ ฯลฯ อย่างหนัก จนเลิกใส่เบอร์ 10 และหันมาใส่เบอร์อื่น ๆ ประปราย กระทั่งมาทำบริษัทตัวเองที่ใช้การสื่อสารเยอะ “เบอร์ 14” (ตามครอยฟ์) เขาว่ากันว่าดี (เลข 14 หรือ 41 จะดีสำหรับการเจรจา – เบอร์โทรศัพท์ของผมก็จะลงท้ายด้วยเลขนี้)

3.ลูกยิงตีลังกา หรือ bicycle kick ก็เห็นจากเปเล่ก่อนใคร ๆ ทำ ทั้งจากคลิป และจากหนังดังยุค 80s เรื่อง “เตะแหลกแล้วแหกค่าย” ที่คนรุ่น ๆ 40 กลางขึ้นไปน่าจะจำได้

4.ลูกดีดส่งบอลหันหน้าไปทางดีดบอลไปอีกทางในทิศตรงข้ามด้วยข้างเท้าด้านนอกจากด้านข้างแบบ โรนัลดินโญ่ จริง ๆ แล้วก็เป็น เปเล่ ใน VDO ขาวดำทำก่อน

5.เดาะบอลข้ามศีรษะคู่แข่งแล้วไปเอา หรือไปโหม่งเบา ๆ ส่งต่อให้เพื่อนเหมือน ซิเนอดีน ซีดาน ทำใส่ทีมชาติบราซิลในบอลโลก 2006 ก็เป็น เปเล่ ทำก่อน

6.เทคนิคการเลี้ยงบอล และกระชากบอลหนีคู่แข่งแบบต่าง ๆ เช่น หยุดแล้วไป, เลี้ยงลอดขา, เปลี่ยนทิศทางแบบต่าง ๆ หรือสลาลม ตบขวาตบซ้ายใน 1 จังหวะด้วยข้างเท้าด้านในผ่านคู่แข่ง (แบบ อันเดรส อิเนียสตา) ฯลฯ และ ฯลฯ ไปดูคลิป VDO ได้เลย เปเล่ ทำมาแล้วทั้งนั้น

7.ลูกยิงฟรีคิก ไซด์ก้อยแบบ banana kick เช่น โรแบร์โต คาร์ลอส ยิงใส่ ฟาเบียน บาร์เตซ, ฟรีคิกข้ามกำแพงแบบทั้งเบา หรือใช้พลัง หรือการยิง การผ่านบอลด้วยเทคนิคต่าง ๆ เช่น ใบไม้ร่วง, ไซด์โป้ง ฯลฯ เปเล่ สรรค์สร้างก่อนแล้วทั้งนั้น (ย้ำอีกที ผมแค่เห็นเปเล่ทำก่อนใครนะ แทรกจากไฮไลต์เก่า ๆ ตั้งแต่ภาพขาวดำ)

8.ฯลฯ และ ฯลฯ ทุกคนสามารถเสริมกันได้นะครับ ผมรีบเขียน รีบคิดหลังตื่นนอนคงเล่าได้ไม่มีทางครบ และรอยประทับของเปเล่ในใจทุกคนคงจะมีแตกต่างกัน

9.อย่างไรก็ดี หากถาม “ภาพจำ” ที่สุดภาพหนึ่งของเปเล่ กับผม มันกลับกลายเป็นประตูที่เค้าเรียกกันว่า “ประตูที่ไม่ได้ประตู” ในฟุตบอลโลก 1970 ที่เม็กซิโก ที่มักถูกเรียกว่า “The famous goal that never was” ในเกมรอบตัดเชือกกับอุรุกวัยที่เปเลวิ่งจะรับบอลจากทอสเทา แต่หลอกไม่รับ ไม่จับ ไม่แตะบอลเลย เรียกได้ว่า หลอกคนทั้งสนามรวมถึงนายทวารอุรุกวัยที่ลงไปนั่งจ้ำเบ้าแล้ววิ่งอ้อมไปยิงทันที แต่หลุดเสาไกล

ส่วนตัวแล้ว ในทุกโมเมนท์ของเปเล่ ผมชอบ และ “จดจำ” ภาพนี้ในสนามได้มากที่สุด มากกว่าภาพประตูสวย ๆ หรือภาพโหม่งจ่อ ๆ แล้ว กอร์ดอน แบงค์ โกล์ตำนานอังกฤษเซฟได้ ฯลฯ

10.ข้อสุดท้าย และสำหรับเพื่อน ๆ ทุกท่านที่อาจไม่ทราบก็คือ ที่มาที่ไปของชื่อบริษัท “ไข่มุกดำ” แท้จริง ๆ แล้วไม่ใช่แค่แปลมาจากคำว่า “Black Pearl” ในภาษาอังกฤษโต้ง ๆ ตรง ๆ

หรืออาจจะแบบที่หลายคนสงสัยว่า บริษัท Sport Services Specialist โดยเฉพาะเรื่องฟุตบอล ไฉนมาตั้งชื่อเหมือนบริษัทขายเครื่องประดับ “ไข่มุก” เพชร พลอย อะไร?

หรือก่อนหน้าจะมาเป็นบริษัท ค.ศ.2020 ผมได้ใช้นามปากกา “ไข่มุกดำ” นี้ตั้งแต่ ค.ศ.1999 สมัยอยู่เดลินิวส์, คิกออฟ, ฮอตสกอร์ (ก่อนหน้านี้ใช้ “Topman” ตั้งแต่ปี 1995 ตอนเริ่มงานใหม่ ๆ) เพราะอะไร?

หากอ่านถึงบรรทัดนี้ ผมเชื่อว่า ทุกคนน่าจะทราบเหตุผลแล้วนะครับ:)

ดังนั้น ส่วนตัว และในชีวิตฟุตบอลในสนาม หากไม่ใช่ ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน ก็ต้อง “เปเล่” ที่มีอิทธิพลต่อชีวิตของผมมากที่สุด และกล่าวได้ว่า ทำให้ผมมีวันนี้ได้

ครับ เปเล่ จากไปแล้วเมื่อประมาณตี 2 เวลาบ้านเราวันที่ 30 ธ.ค.2022 ด้วยวัย 82 ปี ผมขอใช้โพสต์นี้รำลึกถึงตำนานนักเตะผู้นี้จากก้นบึ้งที่สุดของหัวใจจริง ๆ

ขอขอบคุณ และ “ภูมิใจ” ที่สุดที่ได้ใช้ฉายา “ไข่มุกดำ” ของเปเล่เป็นชื่อนามปากา และชื่อบริษัท ที่ผม และทีมจะ “รักษา” และทำให้ดีที่สุดต่อไป

อย่างน้อยก็เพื่อทำให้ตัวเองได้ระลึกถึงยอดตำนานฟุตบอลตลอดกาลของโลกได้บ้าง ไม่มากก็น้อย…🙏

☕ณัฐวุฒิ ประเทืองศิลป์

📷Living Colour

Categories
Football Tactics

“แฮร์รี เคน” Lone Striker เบอร์ 9 + เบอร์ 10

ยังจำกันได้ไหม กับเรื่องราวที่ทำให้ทั่วโลกแซ่ซ้องถึง แฮร์รี เคน กับผลงานสุดฤทธิ์สุดเดชสุดลิ่มทิ่มประตูแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ไป 2 ดอกชนิดกูรู อาทิ แกรี่ ลินิเกอร์, อลัน เชียเรอร์, แกรี่ เนวิลล์, คริส ซัตตัน ฯลฯ สดุดี ฟอร์มเจ๋งสุดในฤดูกาลนี้ หรือตัวจบสกอร์ที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์พรีเมียร์ลีก บลา บลา

ขณะที่หัวหอกลักษณะใกล้กันสไตล์ Lone Striker หรือหน้าเป้าแบบเป็น target man ในราคาหลัก 100 ล้านปอนด์เหมือนกัน โรเมลู ลูคาคู ทำสถิติไม่น่าจดจำ

จับบอล 7 ครั้ง (1 ครั้ง คือ การเขี่ยบอลเริ่มเกมครึ่งแรก! – 2 หนยิงเข้ากรอบ คือ ล้ำหน้า!!) ทั้งแมตช์ 90 + 5 นาที เป็นสถิติต่ำสุดนับจาก Opta เคยจับมาตั้งแต่ ค.ศ.2003 (เคน สัมผัสบอล 37 ครั้งทั้งที่สเปอร์สครองบอลไม่ถึง 30%)

ทั้งคู่อายุ 28 ปีเหมือนกัน เคนอ่อนเดือนกว่า 2 เดือนด้วยซ้ำ แต่สถานการณ์ต่างกันลิบลับ

ครับ ผมคงไม่พูดว่า ลูคาคู ต้องการความรัก ความเข้าใจ หรือการปฏิบัติแบบใดเป็นพิเศษเหมือนที่สื่อชอบวิเคราะห์กัน หรือเพื่อนร่วมทีม เฉพาะอย่างยิ่ง แอนโทนี โรดิเกอร์ ในเกมที่ผ่านมาที่มีหลายจังหวะผ่านให้ได้ แต่ไม่ผ่าน ควรจะเล่นอย่างไรกับหัวหอกเบลเยียม

ตรงกันข้าม หากขยับเป็นส่ง หรืออย่างน้อยมีคนรู้ใจ เช่น ซอน เฮือง-มิน ชีวิตของ เคน จึงดีขึ้นมาก และนัดนี้กับการไหลช่องเปิดให้ยิง 1 หน และอีก 1 หน เอแดร์ซอน ใช้เท้าซูเปอร์เซฟไว้ได้ทำให้สถิติการทำประตูรวมกันของ ซอน + เคน = 26 ประตูเทียบเท่า แลมพาร์ด + ดรอกบา ไปแล้ว (ถัดมา คือ อองรี + ปิแรส และ กุน + ดาวิด ซิลบา = 29)

เรื่องนี้สำคัญนะครับ กองหน้าโดยเฉพาะ Lone Striker จำเป็นต้องมีใครสักคน หรือมากกว่า 1 คนที่มีความสามารถมากพอจะ deliver บอลดี ๆ เข้ากรอบเขตโทษให้ได้

หลายครั้งในเกมนี้ ต้องยอมรับเช่นกันว่า ลูคาคู ตีรถเปล่า แต่น้อยครั้ง ไม่ว่าจะเกมนี้ หรือเกมไหน หากเคน ขยับรับรองว่า ซอน จะต้องให้ หรือเพื่อนคนอื่น ๆ ก็พร้อมจ่ายให้ โรนัลโด้ ก็จะมี บรูโน แฟร์นันเดซ คอยทำหน้าที่ซัพพอร์ตดังกล่าวเพื่อตอบสนองมูฟเมนต์สวย ๆ

หรืออีกตัวอย่าง หากทีมขาดการเปิดแบบ เฮนโด้ ทิ่มให้ ดิอาซ ยิง 3-1 แล้วเราจะมีแนวรุกดี ๆ ทำไม? หรือในที่นี้คือ เราจะมีกองหน้าตัวเป้า (Lone Striker) ทำไม?

อย่างไรก็ดี สิ่งที่เคนมี และลูคาคู ไม่มีในเกมนี้ หรือไม่มีในสเปคการเล่นส่วนตัวก็คือ ความสามารถในการเป็นเบอร์ 9 และเบอร์ 10 ได้ในคนเดียวกัน

การดร็อปตัวลงมาเหมือนเบอร์ 10 หรือคือ False 9 ของเคน คือ ดีมากในเกมนี้ เช่น ประตู 1-0 ซึ่งดร็อปมารับบอลแล้วเปิดจังหวะเดียวให้ ซอน หลุดกับดักล้ำหน้าตรงกลางสนามของ รูเบน ดิอาซ ก่อนไปไหลให้ คูลูเชฟสกี้ แปนิ่ม ๆ เข้าไป 1-0

หลายจังหวะในเกมก็เป็นเช่นนั้นที่การดร็อปตัวลงมาพื้นที่ว่างระหว่างไลน์ทำให้เขาสามารถสร้างบทบาท False 9 หรือเพลย์เมคเกอร์ เบอร์ 10 ขึ้นมาได้ทั้งเชื่อม และ switching เปลี่ยนฝั่งได้ทั้งเท้าซ้าย และขวา

เหนือสิ่งใด วิธีการนี้จะทำได้ดีหากมีตัวพุ่งที่มีความเร็ว เช่น ซอน, เอเมอร์สัน รอยัล หรือไรอัน เซสเซยอง (2 ตัวหลังยังสอบไม่ผ่านทั้งคู่ แต่มีความเร็ว) ส่วนคูลูเชฟสกี้ ยังช้าไปกับเกมในพรีเมียร์ลีก แม้จะยิงได้ 1 จ่าย 1 ก็ตามที

จริง ๆ แล้วมันก็คล้ายกับบทบาท บ๊อบบี้ เฟียร์มิโน ที่ดร็อปตัวลงมาเชื่อมเกมแล้วจะมี ซาลาห์ กับมาเน่ เป็นตัวพุ่ง

แต่แค่บ๊อบบี้ คือ False 9 หรือเอียงมาทางเบอร์ 10 มากไป หรือก็คือ ยิงประตูได้ให้เหมือนเบอร์ 9 น้อยไป

ในเกมนี้ สิ่งที่เคน แตกต่างจาก เคน ที่เงียบเชียบในหลายเกมกับสเปอร์สซีซั่นนี้ หรือหลายนัดที่จะว่าไปแล้วเขาโดนวิจารณ์ก็คือ:

พอดร็อปแล้วยังหาจังหวะ และอ่านเกมด้วยสัญชาตญาณพุ่งเข้ากรอบเขตโทษเพื่อทำประตู เช่น ประตู 2-1 ชัดเจนที่สุด

ทั้งนี้หากเป็นแมตช์อื่น ๆ เคน จะเหมือนกับทิ้งตำแหน่ง และยืนในจุดที่ไม่มีโอกาสทำประตูได้ หรือขาดมูฟเมนต์ต่อเนื่องเหมือนเกมนี้ (ยืนนอกกรอบเขตโทษห่างไกล – เชื่อมอย่างเดียว แต่ไม่ไปต่อ!)

คงจะเพราะด้วยแรงจูงใจ ปัญหาภายในแคมป์ไก่ และอนาคตตัวเองกับทีม หรืออื่น ๆ ประกอบกัน

ทว่า เคน at his very best ต้องแบบนี้กับทีมที่ตกเป็นข่าวจะซื้อเขาซัมเมอร์ที่ผ่านมา คือ เบอร์ 9 + เบอร์ 10 ในคนเดียวกัน

ส่วนลูคาคู ผมคงพูดอะไรได้ไม่มากไปกว่า ให้ใช้สตั๊ดพูดแทนปาก และก้มหน้าก้มตาทำงานหนักต่อไป

สุดท้ายกับบทบาท Lone Striker ที่โลกยุคปัจจุบันไม่ได้มีเยอะนะ (วันก่อนก็เพิ่งเห็น เอดิน เชโก้ กับอินเตอร์ฯ นัดชนหงส์แดง) ยังไงพวกเขาก็มีคุณประโยชน์ และสำคัญต่อทีม

และเป็นอีกออฟชั่นที่มียังไงก็ดีกว่าไม่มี ผมเชื่อว่า หากเป๊ป ซึ่งปีนี้ไม่มีกองหน้าแท้ ๆ ในซีซั่นนี้จากการขาดหายไปของ กุน อเกวโร หรือเยอร์เกน คลอปป์ ที่อาจจะไม่นิยมกองหน้าแบบ “ตัวเป้า” หา Lone Striker ดี ๆ ได้สักตัว เช่น เออร์ลิง ฮาแลนด์ พวกเขาก็ต้องรับไว้แน่

ทั้งนี้แม้ยุคสมัยจะเปลี่ยน ฟุตบอลก็ไม่ได้เปลี่ยนอะไรหรอกครับ แค่วิธีการอาจจะปรับไปบ้าง กองหน้าตัวเป้า หรือ Lone Striker หากปรับตัวได้สมบูรณ์ เช่น แฮร์รี เคน (ในเกมนี้) มันคือ ความพิเศษที่หาชมได้ยากจริง ๆ ครับ

☕ณัฐวุฒิ ประเทืองศิลป์

Categories
Football Tactics

เมื่อต้องเจอ Anti-football

เรื่อง “แท็คติกส์” และรูปแบบวิธีการเล่นของเอฟเวอร์ตันในดาร์บี้แมตช์ครั้งที่ 240 ที่แอนฟิลด์จัดได้ว่า แฟรงค์ แลมพาร์ด วางแผนได้ดีถึง “ดีมาก” เพื่อเป้าหมาย คือ หยุดการทำประตูของลิเวอร์พูล และเก็บแต้มข้ามสแตนลีย์ ปาร์ค กลับรัง

เวลารับ คือ “รับต่ำ” เต็มรูปแบบฟอร์เมชั่น 4-5-1 และแพ็คแน่นมากบริเวณพื้นที่ “โซน 14” หรือหน้ากรอบเขต โดย 5 มิดฟิลด์ตัวริมเส้นจะคอยป้องกันการทำเกมด้านข้างของหงส์แดง

อีกทั้ง มิดฟิลด์ และแผงหลังจะ “ถอนตัว” กลับพื้นที่รับผิดชอบของตนเองทันทีอย่างเร็วที่เสียบอลขณะทำเกมรุกที่แน่นอนใช้การโต้กลับ หรือบอลยาวข้ามแนวรับ high line ของลิเวอร์พูล

ขอบคุณภาพ : https://web.facebook.com/ThailandLiverpoolFC/

โดยเฉพาะครึ่งหลังซึ่งเยอร์เกน คลอปป์ สั่งเด็ก ๆ เดินหน้าเต็มสูบ หรือฟูลแบ็คเติมเต็มที่พร้อมกัน 2 ฝั่ง และ 3 ตัวบนหุบใน เสมือนรุกแถวบน 5 ตัว พื้นที่ด้านหลังยิ่งว่างมากขึ้น และแอนโธนี กอร์ดอน เด็กนรกเอฟเวอร์ตัน หลุดทะลุมาป่วนหลายหนช่วงต้นครึ่งหลังก่อนจะเรียกใบเหลืองได้จาก เทรนท์ ซึ่งตัดฟาล์วดับเครื่องสไลด์

จิม เบกลิน อดีตแบ็คซ้ายลิเวอร์พูลซึ่งทำหน้าที่บรรยายเกมนี้ พูด “คีย์เวิร์ด” ไว้ 2 คำ คือ:

1. นี่คือ anti-football ปะทะกับ football อันเป็นคำที่ผมคิดเช่นกัน แต่คำว่า “anti-football” นั้นมีความหมายทั้ง เนกาทีฟ และเซนซิทีฟ มาก ๆ จนอาจกระทบกระเทือนความรู้สึกแฟนบอล

anti-football หลัก ๆ คือ ทำอย่างไรก็ได้เพื่อ “หยุดยั้ง” ไม่ให้คู่แข่งเล่นฟุตบอลได้ หรือทำประตูได้ เช่น รับทั้งทีม, รับต่ำ, เล่นหนัก ดุดัน หรือต้องการ disrupt เกมฟุตบอล

2. การ disrupt ที่ว่ายังอาจนำมาซึ่งวิธีการ (ที่ไม่ผิด) แต่เป็นแท็คติกส์แบบ antic (อีกคำที่ เบกลิน กล่าวไว้) หรือบ้าบอ เช่น ถ่วงเวลา (จอร์แดน พิคฟอร์ด), แกล้งเจ็บ (ริชาร์ลิสัน), ล้มง่าย (กอร์ดอน)

เบกลิน ยังเอ่ยไว้ท้ายครึ่งแรกว่า เขานึกถึงทีมอย่าง แอตเลติโก มาดริด ซึ่งเป็นทีมยุโรป ไม่ใช่ทีมสไตล์อังกฤษที่ขึ้นชื่อเรื่องแนวทางการเล่นแบบนี้กับคู่แข่ง (ในเวที UCL หรือตอนเจอบาร์ซ่า, เรอัล มาดริด)

ส่วนผมเองก็จะนึกถึงบอลบ้านเราลีกรอง ๆ ที่ทีมเล็กมักจะทำใส่ทีมใหญ่เพื่อเอาแต้มทุกวิถีทาง

แต่ทั้งหลายทั้งปวง คือ ไม่คิดว่าจะได้เจอในเมอร์ซีย์ไซด์ ดาร์บี้ เฉพาะอย่างยิ่งกุนซือแฟรงค์ แลมพาร์ด ซึ่งเป็นนักเตะเกมรุกมาทำทีม

ประตู 1-0 หลัง ดิวอค โอริกี้ และลุยซ์ ดิอาซ ลงมาไม่นาน จากการโขกเสาสองของ รบส.ตอกย้ำให้เห็นว่า บอสส์ เอาจริง และพร้อม “เสี่ยงสูง” เข้าแลกในครึ่งหลังเพิ่มเติมจากการให้แบ็คเติมหนักหน่วงทั้ง 2 ข้างแม้จะแลกด้วย “โอกาส” เปิดให้เอฟเวอร์ตัน โดยเฉพาะฝั่งซ้ายจากกอร์ดอน ดังที่เรียนไว้ข้างต้นก็ตาม

สุดท้าย แลมพ์เติม เดลี อัลลี, ซาโมมอน รอนดอน ลงมาหวังลุ้นประตูคืนจากแถวสองที่อัลลีทำได้ดี หรือลูกตั้งเตะจากรอนดอน

โดยรวมเกมนี้ ต้องชื่นชมสปิริตเพื่อนบ้าน(น่ารำคาญ) เอฟเวอร์ตัน ซึ่งมาเล่นอย่างตั้งใจ และหวังผล และโทษกันไม่ได้แม้จะดู “เกินเบอร์” ไปด้วยวิธีการ และแนวทาง antic ของ anti-football เต็มขั้นไปหน่อย

ทว่า อยู่ bottom three จะตกชั้นอยู่แล้ว ทุกวิธี ทุกวิถีทาง แลมพ์ต้องทำจนอดคิดไม่ได้ว่า “ทำไมทอฟฟี่ไม่เล่นแบบนี้ทุกนัด” หรือเล่นราวกับว่า นี่คือนัดสุดท้ายของฤดูกาลแบบนี้ทุก ๆ นัดโดยไม่ต้องรอจะมาเล่นกับลิเวอร์พูล

ขอบคุณภาพ : https://web.facebook.com/ThailandLiverpoolFC/

โอริกี้ ซัดประตูได้อีกครั้ง (ประตูที่ 6 ของตนเอง) ในดาร์บี้ 2-0 นาทีที่ 85 ตอกย้ำภาพว่าการจะเล่นกับฟุตบอลแบบนี้ต้อง “อดทน” และอดทนมาก ๆ ที่จะไม่ตะบะแตกพลาดเอง หรือลนลานจนทำประตูคู่แข่งไม่ได้

บอสส์เองกับการแก้เกมเริ่มจาก “เสี่ยงเพิ่ม” หลังพักครึ่ง และการเปลี่ยนตัวก็ถือว่า เจอการบ้านยากกว่าที่คิดไว้

สุดท้าย ฟุตบอลควรจะเป็นแบบนี้ครับ football จริง ๆ ยังไงก็ควรชนะ anti-football ไม่ว่าจะเป็นทีมใด หรือด้วยเหตุผลใด

ปล.เผื่อยังไม่ได้อ่านกันนะครับ >>> ถ้าเอฟเวอร์ตัน ตกชั้น การเงิน ฯลฯ จะเป็นอย่างไร? https://bit.ly/3K7IBiV

☕ ณัฐวุฒิ ประเทืองศิลป์

📷 : ESPN UK

Categories
Football Tactics

วิเคราะห์ทุกมิติเกมหยุดโลก ลิเวอร์พูล – แมนฯซิตี้ เกมที่มอบทั้งความสุข และบทเรียนลูกหนังชั้นเลิศ ให้แฟนบอลทั่วโลกได้เสพชนิดหาได้ยากยิ่ง

โปรดใช้วิจารณญาณอย่างลึกซึ้งระหว่างอ่านบทความนี้นะครับ ผมไม่ได้มีเจตนาจะ “ชี้นำ” แต่อยากจะบาลานซ์ความคิด และนำเสนอมุมมองฟุตบอลจากเกมนัดหนึ่งที่ถึงตอนนี้ 72 ชั่วโมงหลังแมตช์ไปแล้ว เรา ๆ ท่าน ๆ ก็ยังแอบ “อมยิ้ม” ถึงศึกลิเวอร์พูล 2 – 2 แมนฯซิตี้ จากแอนฟิลด์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมากันอยู่

ความยาวบทความ 2,500 คำ ใช้เวลาอ่าน 10 นาที

  • อันดับแรก

ทำความเข้าใจก่อนว่า ลิเวอร์พูล ของเยอร์เกน คลอปป์ เป็น “บอลบุก” และเล่นด้วยความเข้มข้น หรือ intensity เกมที่สูง ประมาณว่า ชอบเดินหน้าฆ่ามัน หรือถอยหลังหกล้ม

หงส์แดงจะชอบ “เพรสซิ่ง” คู่ต่อสู้ขณะที่มีบอลด้วยรูปแบบวิธีหลากหลายทั้งทางตรง และทางอ้อม แต่ที่เห็นบ่อยหน่อย คือ ทำกันอย่างเป็นระบบ เป็น unit และร่วมด้วยช่วยกัน collective ตั้งแต่แดนบน

และจะมีการ “ไล่ล่า” (Chasing) คู่แข่งขันเพื่อแย่งบอลกลับคืน โดยส่วนใหญ่ก็นั่นแหละครับในแดนคู่แข่งตั้งแต่พวกเขาพยายามจะเปิดเกมรุก หรือหลังจากเราเสียการครองบอลแล้วเกิด transition จากรับเป็นรุก

การไล่ล่าจะทำด้วยการ “กดดัน” เข้าพื้นที่ที่คู่แข่งมีบอลด้วยตัวใกล้สุด และอาจจะเพิ่มจำนวนกลายเป็นไล่ล่า หรือเพรสซิ่งเป็นกลุ่มก้อนในพื้นที่ที่คู่แข่งมีบอล

ครั้นชนะ แย่งบอลได้ก็จะ transition จากรับเป็นรุกด้วยความรวดเร็วเข้าสู่แดนสุดท้าย หรือ Final Third ของคู่แข่งขัน

ทั้งนี้หากว่าแพ้ คู่แข่งแกะบอลออกมาได้ ลิเวอร์พูลจะอาศัยความสามารถเฉพาะตัวที่ยอดเยี่ยม และความรวดเร็วของคู่เซนเตอร์ฮาล์ฟคอย “เก็บกิน” 

ขอบคุณภาพจาก : https://web.facebook.com/ThailandLiverpoolFC

ดังนั้น มันจึงยากในระบบ Lone Striker หรือกองหน้าคนเดียวผ่านระบบหลักฟุตบอลในตอนนี้ไม่ว่าจะ 4-2-3-1, 4-5-1, 4-3-3, 3-4-3 จะเอาชนะ เวอร์จิล ฟานไดต์ หรือโจเอล มาติป ไปได้จากแค่บอลข้ามศรีษะไปหลังไลน์ที่ “รับสูง” แบบ high line

หรือเราก็จะมี อลิสซง เบคเกอร์ คอยอ่านเกมเสมือนเป็นเซนเตอร์ฯ คนที่ 3 คอยออกมาตัดบอลอีกด้วย นั้นคือ ในภาวะปกติ

แต่หากในภาวะไม่ปกติ เช่น เกมนี้กับซิตี้ หรือก่อนหน้านี้กับ เบรนท์ฟอร์ด ที่ยอดทีมลอนดอน ตะวันตก ใช้กองหน้าคู่ พักผ่อน เก็บบอล และประสานงานกันได้ดี “หน้าไลน์” เพราะตัวใหญ่ (อีวาน โทนีย์) เล่นกับบอลดี และรวดเร็ว ไบรอัน เอมบูโม เราก็ลำบากเหมือนกัน

ไม่นับ เฟส 2 จากการครองบอล และบุก โธมัส แฟรงค์ ยังใช้บอลโยนทะแยง (อันเป็นอีกจุดอ่อนของหงส์แดง) ครอสส์จากฝั่งซ้ายไปตก และรุมแบ็คขวา เทรนท์ อเล็กซานเดอร์-อาร์โนลด์ เป็นต้น

(เกมกับเชลซี โรเมลู ลูคาคู และเพื่อน ๆ ก็ทำอะไรเราไม่ได้)

ขอบคุณภาพจาก : https://web.facebook.com/mancity

ส่วนเกมนี้ เป๊ป กวาร์ดิโอลา ฉลาด ช่างคิด สมกับเป็นนักนวัตกรลูกหนัง ตามสไตล์ด้วยการอ่านเรื่อง “ความเร็ว” ของ ฟิล โฟเดน ว่าจะมีผลต่อ เจมส์ มิลเนอร์ มากกว่าจับ แจ็ค กรีลิช ไปยืนตามที่คาดการณ์ไว้

หรือเอาโฟเดน ไปยืนฝั่งขวาให้เผชิญหน้าแบ็คซ้าย แอนดรูว์ โรเบิร์ตสัน ที่เคยโดนโฟเดน “เผา” มาแล้วเมื่อ ก.พ.ชนะ 4-1 คาแอนฟิลด์

แต่กลับไปใช้ กาเบรียล เฆซุส ที่ก็มีความเร็วชน รบส. และโฟเดน ชน ท่านรอง โดยให้ กรีลิช ยืนเล่นช่องว่างระหว่างมิดฟิลด์ของเรา และไลน์รับ (อันเป็นอีก 1 จุดอ่อน) เป็นครั้งแรกตามหลังเพื่อน ๆ อย่าง แฟร์รัน ตอร์เรส, ราฮีม สเตอร์ลิง หรือแม้แต่ โฟเดน เองที่เคยลิ้มลองการเป็น False 9 มาแล้วทั้งสิ้น

นั่นคือ “ภาพกว้าง ๆ” และแผนเบื้องต้นที่เป๊ป คิดเอาไว้นะครับ

_ _ _

  • อันดับ 2

คงจะต้อง “ยอมรับ” นะครับว่า การคำนึงถึงคู่ต่อสู้ แล้วปรับแผนที่ไม่ใช่ปรับ “ตัวตน” เป๊ป เรียนรู้เยอะจากการเจอกับเรา และเจอกับคู่แข่งใน UCL กุนซือสแปนิช จึง “ปรับทีม” เสมอเพื่อสิ่งที่มองว่า ดีที่สุดสำหรับทีมตนเอง

หลายครั้งการปรับกลยุทธ์ และแท็คติกส์ ของเป๊ป ถึงกับถูกมองได้ว่า “มากไป” หรือ “คิดเยอะ” ได้เช่นกัน ตัวอย่างเช่น ใน UCL Final ที่แพ้เชลซี เพราะ (ว่ากันว่า) ไม่ส่งมิดฟิลด์ตัวรับแท้ ๆ ลง โดยมีเหตุผลว่า ต้องการ “คอนโทรล” มิดฟิลด์ และเอาชนะแดนกลางให้ได้ 100% และกดใส่เชลซี ที่จะต้องมารับเต็มตัว

แต่กับเกมนี้ เป็นตัวอย่างที่ดีในอีกด้าน เพราะเป๊ปปรับแล้ว ทีมทำผลงานได้ดีตั้งแต่ประมาณนาทีที่ 15 ของครึ่งแรก จนจบ 45 นาทีแรก

และครึ่งหลัง แม้หงส์แดงจะ “be brave” (อ่านปาก คลอปป์ สิครับ “be brave” ในระหว่างเกมจากข้างสนาม) มากขึ้นจากที่แดนหน้าทั้ง 3 กรูลงมาช่วยเกมรับต่ำ หรือมิดฟิลด์เองก็ไม่กล้าดันขึ้นเพรสซิ่งในพื้นที่สูงกว่า เช่น ในแดนคู่แข่ง ตามสไตล์ถนัด หรือไม่กล้าเล่น “The Extra pass” อันเป็นคำที่ คลอปป์ อธิบายหลังเกมที่น่าจะหมายถึง กล้าเล่นบอล ที่แปลว่า กล้าส่ง กล้าครองบอล กล้าเลี้ยง หรือคือ ไม่รีบเตะทิ้งยาวออกไป แล้วก็จะโดนระลอกคลื่นสีฟ้าถาโถมกลับมาครั้งแล้วครั้งเล่า ที่ครึ่งหลังทำได้ดีขึ้นทันที

ประตู 1-0 แน่นอน “ตอบโจทย์” ทุกคีย์เวิร์ดของ คลอปป์ ไม้ว่าจะ be brave, the extra pass, compact (การเล่นแน่นร่วมกันเป็นกลุ่ม เช่น 3 เหลี่ยมในพื้นที่ต่าง ๆ)

ขอบคุณภาพจาก : https://web.facebook.com/ThailandLiverpoolFC

ประตู 2-1 ที่เคอร์ติส โจนส์ คงอายกับการได้ชื่อว่า assist เพราะ โม ซาลาห์ โซโล่ซะขนาดนั้น ก็เกิดจากความกล้า ความมั่นใจที่ยังมีอีกหลายเพลย์ “ฉายภาพ” นี้ออกมาในครึ่งหลังแม้จังหวะเหล่านั้นจะไม่ได้ประตู

หรือแม้กระทั่งท้ายเกมหลังเสมอ 2-2 หงส์แดงก็ยัง be brave กล้าลุยจนเกือบได้ประตูจาก ฟาบินโญ่ หรือแน่นอนเกือบเสียจากจังหวะวอลเลย์ของ เฆซุส ที่ไปโดนตัว รบส.บล็อกเอาไว้

กล่าวคือ คลอปป์ และเด็ก เลือกจะ “เล่นรับ” แบบนี้

หรือคือ ใช้แดนหน้า และกลาง “เพรส” เข้าหาคู่ต่อสู้ที่มีบอลทันทีอย่างรวดเร็ว

ลิเวอร์พูล ไม่ได้ “เลือกรับ” ด้วยการรีบ “ถอยร่น” มายืนแพ็คเกมรับระหว่างไลน์กลาง และหลังแบบ compact อย่างรวดเร็ว (อาจทำได้หลังแดนบนเพรสซิ่งไม่สำเร็จ เช่น ตามกฎ 6 วินาที หรือไม่ต้องเพรสเลย คือ ตัดสินใจถอยมากระชับพื้นที่เลยหลังเสียการครองบอล)

แต่รับแบบนั้น ไม่ใช่ลิเวอร์พูล และไม่ใช่คลอปป์

ไม่งั้น จะได้ยินคลอปป์พูดแบบนั้นหรือครับหลังเกมว่า ครึ่งแรกเราไม่กล้า เราไม่เพรสซิงในพื้นที่ในเวลาเหมาะสม และทำให้ได้เห็นซิตี้ ต่อบอลง่ายไปมา หรือเลือกเปิดทะแยง เปิดบอลยาวได้ง่ายที่สุดครั้งหนึ่งเท่าที่บอสส์เคยดูซิตี้มาหลายเกม (จริง ๆ คือ ดูนับครั้งไม่ถ้วนนั่นแหละ)

_ _ _

ขอบคุณภาพจาก : https://web.facebook.com/ThailandLiverpoolFC
  • อันดับ 3

ผมไม่ได้ “แก้ตัว” แทนจอร์แดน เฮนเดอร์สัน, เคอร์ติส โจนส์ หรือกระทั่ง ฟาบินโญ ในแดนกลางที่โดน “ทัวร์ลง” พอควร เช่น เฮนโด ไม่ช่วยมิลเนอร์, โจนส์ ตัดบอลไม่ได้ เล่นรับไม่ดี หรือฟาบินโญ่ ยืนห่างจากไลน์รับเกินไป ฯลฯ

ในโพสต์ LIVE กับพี่กบ Captain No.12 หรือโพสต์ Teaser ของโพสต์นี้ (https://www.facebook.com/khaimukdam/photos/a.174800505908163/4342449355809903/) ผมก็มีโอกาสได้พูดสิ่งเหล่านั้นไปเช่นกัน

ซึ่งแน่นอนว่า นั่นเป็นสิ่งที่เรา ๆ ท่าน ๆ เห็น และแบบที่ผมเคยเรียนไว้ต้องมาเห็นด้วยภาพนิ่งแบบ Freeze frame ด้วย เพราะดูไฮไลต์มองไม่ทันได้จับอะไร

หรือมาอ่านบทวิเคราะห์ อะไรต่อมิอะไรหลังเกมแล้วทำให้เห็นภาพว่า มันมี “ช่องห่าง” ระหว่างไลน์ที่ห่างเกินไปจริง ๆ (เกิน 7-8 หลา – อ้างอิง โค้ชน้อย อนันต์ อมรเกียรติ)

ขณะที่มองไว ๆ คือ “ไลน์รับ” ยืนเรียงสวย 4 คนอยู่ในแนวเดียวกัน และระยะใกล้กันอยู่แล้ว แบบไม่น่ามีปัญหาอะไร

หรือ เดอ บรอย กับแบร์นาโด ซิลบา ยังสามารถแกะตัว แกะบอล ออกมาเปิดไปเล่นหลังฟูลแบ็คเราได้ก่อนจู่โจมแบบรวดเร็ว

(โดยเราต้องเข้าใจตรงกันก่อนว่า ลิเวอร์พูล ไม่ได้เสียประตูจากการโดน “เจาะตรง” เข้าใจกลางเซนเตอร์ฮาล์ฟ หรือเข้าพื้น half spaces แต่จะโดนบอลทะแยงจากขวาไปซ้าย หรือเลี้ยงตัดจากขวาไปซ้ายเข้าทำลายพื้นที่บริเวณโซน 13 และ 16 ของมิลเนอร์ และโจ โก — นั่นแปลว่า งานป้องกันเบื้องต้น คือ ถูกต้องแล้ว แต่เราโดนบอลทะแยง และการเลี้ยง การเปิดบอลเร็วหน้าไลน์จากฝั่งขวา ไปฝั่งซ้ายบริเวณแบ็คขวาของเรา)

ประเด็นนี้ ผมไม่อยากใช้คำว่า “แหม…ก็บอสส์ ไม่ได้ลงมาวิ่งในสนาม จะรู้ได้อย่างไร?”

ครับ ด้วยความเคารพ นักบอลไทย บ่นแบบนั้นแน่ ๆ หากโค้ชสั่งให้ be brave และรุกลุย ลักษณะนี้ เพราะอะไร?

นี่คือ แมนฯซิตี้ และขอโทษ วอล์คเกอร์ กับการตีรถด่วนทางตรงยาว ๆ, กานเซโล กับบทบาทเพลย์เมคเกอร์ (แต่ขอโทษ เกมรับก็ห่วย ship หายจาก 2 จังหวะเบื้องต้นที่พลาดง่ายไปให้ ซาลาห์), แบร์นาโด ซิลวา แกะตัวจากการโดนรุมได้อย่างไร เช่น นาทีที่ 20 ครึ่งแรกเริ่มจาก เฮนโด พลาดเสียบอลแล้วรวมตัวกับเพื่อน 4-5 คนรวมถึง VvD กับภาพลงไปก้นจ้ำเบ้า หรือประตู 2-2 จากบอลทุ่มข้างสนามธรรมดาของกานเซโล ให้โฟเดน ต่อไปที่แบร์นาโด ที่สามารถครองบอล และแกะการเพรสซิงลิเวอร์พูลได้ โดยมี เดอ บรอย ที่ภาษาฟุตบอลเรียกว่า “ซื้อใจ” เพื่อน หรือคือ หากมรึงเก่งจริง มรึงหลุดได้ กรูก็หลุดยาว และพวกมันจะพินาศ

ขอบคุณภาพจาก : https://web.facebook.com/mancity

เฆซุส, โฟเดน และเดอ บรอย รวมกันแล้วสุด ๆ ครับ เฉพาะอย่างยิ่งหากดัน shape เกมรุกมาเข้าข่าย 2-3-5 และดันสูงขึ้นมาได้เมื่อไหร่ อย่าว่าแต่เราเลย ทุกทีมเหนื่อยหมด

เขียนถึงตรงนี้ แท้จริงแล้ว คลอปป์ แทนที่จะสั่ง be brave แต่สั่งแบบ เมาริซิโอ โปเช็ตติโน หรือโธมัส ทูเคิล ว่า be cautious เราอาจได้ผลการแข่งขันอีกแบบ

เพราะหลัง เปแอสเช ออกนำเร็วแมนฯซิตี้ ในบ้านตัวเอง ปารีส แท้ ๆ พวกเขา “รับเต็ม” และรอโต้ให้ เอ็มบับเป, เนย์มาร์, เมสซี, ดิ มาเรีย เล่นกันแค่ 4 ตัว และแบ็ค เช่น ฮาคิมี เติมบ้าง ไรบ้าง แค่นี้ซิตี้ก็ยิงไม่ได้ และโดนอีกลูกจากเมสซี แพ้ 0-2 แต่นั่นไม่ใช่ลิเวอร์พูลไงครับ!

เหนือสิ่งอื่นใด เปแอสเช หากต้องบุกบ้าง ก็โดน แรนส์ ship หายไปเช่นกัน 0-2 หรือซิตี้ เจอทีมมารับจัด ๆ แล้วโต้เร็ว ๆ อย่างที่แพ้ สเปอร์ส หรือเจอแบบ เลสเตอร์, เชลซี ก็ไม่เคยเป็นอะไรที่ง่ายอยู่แล้ว ไม่นับ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด

ดังนั้น อย่า “แปลกใจ” ที่สัมภาษณ์หลังเกม เป๊ปเองแทบจะลืมเรื่อง “ใบเหลือง 2 ใบ” ของเจมส์ มิลเนอร์ ไปเลย เพราะสบถแต่ The best league in the world ๆ 

คลอปป์ กับบทวิเคราะห์นำมาซึ่งบทความนี้ และบอกตรง ๆ ว่า บทสัมฯของคลอปป์ และการเล่นแบบ toe-to-toe ตามภาษามวย หรือเท้าชนเท้า ทำให้ผม และพวกเราได้ “เข้าใจ” ฟุตบอลขึ้นอีกมากทีเดียว

ครับ ไอ้ ship หาย (ครั้งที่ 3 แล้ว!) จะมีกี่ครั้งในโลกที่เราได้ยินโค้ชมา “ยอมรับ” ว่า ทำอะไรได้ดี ไม่ได้ดี ในครึ่งแรก หรือครึ่งหลัง หรือต้องการจะทำอะไร และทำได้ หรือทำไม่ได้ หลังจบเกมให้ชาวโลกได้ฟัง

แต่นี่คือ คลอปป์ และตัวเขาได้กระทำ และได้พูดในสิ่งเหล่านี้

_ _ _

  • อันดับสุดท้าย

(พูดแบบคนพอมีประสบการณ์นะ) หากผมเป็นเฮนโด และนักเตะลิเวอร์พูล สิ่งที่ผมจะมองตัวผมเองก่อน คือ หากบอสส์ให้ be brave ด้วยวิธีการเล่น และแท็คติกส์ ต่าง ๆ ผมจะต้องพิจารณา “หน้างาน” และอ่านสถานการณ์ให้ชัดเจนด้วยเช่นกัน

คือ ผมจะพูดว่า หากโค้ช หรือผู้มีพระคุณสั่งให้ผมทำอะไร แล้วผมทราบว่า ผมจะ “ไปตาย” ผมจะทำทำไม?

ดังนั้น มิดฟิลด์ของเรา “กล้า” ได้ แต่ในเวลาเดียวกัน พวกคุณต้องมองคน มองสถานการณ์รอบด้านด้วย เช่น การจะเข้ารุมแบร์นาโด แต่ด้านหลังแมร่งมี เดอ บรอย ยืนถือมีดดาบอยู่

คุณต้องประเมินสถานการณ์เองแล้ว ถูกไหม?

คือ เข้าได้ be brave ได้ แต่หากไม่ได้ (ห้าม commit เช่น สไลด์ล้มตัว หรือพรวด ฯลฯ หรือจะแลกก็ต้องฟาล์วเลย) ต้องทราบว่า ด้านหลังมรึงมีใคร แล้วต้องรีบถอนตัว หากปฏิบัติการแรกล้มเหลว

ไม่ใช่ เชียะอะไร เค้าสั่งให้กระโดดน้ำ พวกมรึงก็กระโดด แล้วจมลงไปโดยไม่ได้ดูเลยว่า “น้ำลึก” แค่ไหน? ห่างฝั่งแค่ไหน? มีห่วงยางหรือเปล่า? น้ำเย็นขนาดไหน?

หรือ มิลเนอร์ หรือโจ โก พวกคุณต้องรู้ว่า โฟเดน มันเร็วแค่ไหน?

การที่ยืนใกล้มาติป ถูกต้องแล้ว เพราะพื้นที่ “ตรงกลาง” โซน 14 คือ “ไข่แดง” ที่พวกคุณห้ามโดนเจาะ แต่หากคุณจะขยับมาใกล้แล้วไล่ตามคู่แข่งริมเส้นไม่ทัน (ผมไม่ได้หมายถึงในทุกจังหวะ หรือตอนโดน 2v1 นะ เช่น จังหวะใบเหลือง 1 v 1 มิลเนอร์ พลาดไปจริง เสียเหลี่ยมให้โฟเดน) มันก็ไม่ใช่

กล่าวคือ ผู้เล่น สามารถหารือกับโค้ชได้ คุยกันได้

แต่เหนือสิ่งอื่นใด ไม่ว่าจะเลือกวิธีไหน มิดฟิลด์ลิเวอร์พูล ต้องรู้สถานการณ์รอบข้างดีกว่าในเกมนี้ และทรานซิชั่นเร็วกว่าในเกมนี้ และสื่อสารกับทั้งแดนบน เรื่องจะเพรสซิ่ง ไม่เพรสซิ่ง เพรสใคร ยังไง และต้องทำด้วยกัน รวมถึงกับแนวรับที่เขายืนจัดระเบียบได้ดีแล้ว แต่อาจยืนห่างไปให้ดีกว่านี้ว่าจะทำอย่างไร เช่น ให้เขาดันขึ้นมา หรือตัวเองสักคนไปยืนโคเวอร์ไว้หน้าคู่เซนเตอร์ฯ (มิลเนอร์ หรือโจ โก ก็จะได้ถ่างห่างออกไปหาโฟเดน ได้มากขึ้น เป็นต้น)

ทั้งหมด คือ การเรียนรู้ของทีม และของพวกเราไปด้วย “พร้อม ๆ กัน”

สุดท้าย ผมขอกล่าวอีกครั้งว่า ฟุตบอลแบบเกมนี้ทั้งก่อน, ระหว่างแข่ง และหลังเกม มันเป็นเกมที่ครบทุกอรรถรส ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย ๆ 

ผมต้องขอขอบคุณ โค้ชน้อย อนันต์ อมรเกียรติ, โค้ชนพ นพพร เอกศาสตรา, โค้ชแดง ทรงยศ กลิ่นศรีสุข, โค้ชใหม่ เจตนิพัทธ รัชตเฉลิมโรจน์ และโค้ชโจ ธีระศักดิ์ โพธิ์อ้น ที่ได้ร่วมสนทนาธรรมเกมนี้กับผม และก็พี่กบ Captain No.12 และแน่นอนพวกเราทุกคนในเพจแห่งนี้

That’s why we do love the beautiful game ครับ

☕ ณัฐวุฒิ ประเทืองศิลป์

Categories
Football Tactics

เจาะการยิง “ลูกพร้อม” อันลือลั่น ครั้งนี้สาธิตให้ชมโดย ธิอาโก อัลคันทารา

ผมน่าจะได้ดู “ช็อตยิง” จังหวะนี้ของ ธิอาโก อัลคันทารา ประมาณ 100 ครั้ง และได้คุยกับยอดโค้ชเมืองไทยหลายคนว่าควรจะเรียกการยิง (ลูกวอลเลย์) ลักษณะนี้ว่าอย่างไรดี?

มองเร็ว ๆ มันเหมือนพวกเราสมัยเด็กน้อย หยิบก้อนหินแบน.ๆ หรือแผ่นกระเบื้องมาขว้างเฉือน ๆ ให้สัมผัสผิวน้ำแล้วกระดอน ๆ ๆ พุ่งไปข้างหน้านะครับ

สวยงาม เพราะหาก “ปาหิน” ได้จังหวะ ได้เหลี่ยมมุม ถูกต้อง วิถีการพุ่ง และลักษณะการสัมผัสผิวน้ำจะสะเทิ้นสะท้านสวยงาม รวดเร็ว พุ่งตรง

จังหวะวอลเลย์นี้ที่เรียกเป็นภาษาฟุตบอลว่า “Half Volley” หรือภาษาบ้าน ๆ หน่อยว่า “ลูกพร้อม” ก็ไม่ต่างกันครับ

กล่าวคือ จะต้องยิงทันทีที่บอลกระดอนขึ้นจากพื้นหญ้า ณ จุดที่ลูกบอลยังลอยไม่สูงมากนัก และจริง ๆ แล้วก็เป็น “เทคนิค” อันหนึ่งที่ผู้รักษาประตูชอบใช้ (จะเรียกว่า Drop Kick) เพราะบอลจะพุ่งเร็วสู่เป้าหมายได้ทันที และคำนวณได้ว่า จะเอา แรง+เร็ว ประมาณไหน (จะดีกว่า โยนแล้วเตะ แน่นอน)

อย่างไรก็ดี การยิงครั้งของ ธิอาโก ไม่ใช่แค่ยิงทันทีที่บอลกระดอนขึ้นมาเล็กน้อยแบบธรรมดา ๆ แต่ยังเป็นการใช้หลังเท้า “ยิงตัด” ลูกบอลครึ่งบนในลักษณะเฉือนสไลด์ติดไซด์นิด ๆ แล้วยังกดเท้าลงอีกด้วย (ไม่นับที่ว่า น่าจะมีเทคนิคการเปิดบอลแบบ Low Drive เข้ามาผสมด้วย – ไว้ผมจะมาพูดถึงภายหลัง)

หรือคือ ทำประมาณอย่างน้อย 3 – 4 เทคนิคกับเท้า และลูกบอล• นั่นคือ ความชำนาญที่ฝึกฝน และเป็นทั้งทักษะ และเทคนิคเฉพาะตัวที่เกิดขึ้นหลังจากทักษะเบื้องต้น นั่นคือ การต้องอ่านจังหวะบอลได้ดีมาก ๆ และคำนวณระยะการตก, การกระดอน, มุม-องศา-ทิศทาง ของลูกบอลตั้งแต่จังหวะสกัดแล้วลอยบนอากาศ แล้วตกลงพื้น แล้วมุมที่จะเล็งเพื่อปล่อยเท้าสู่เป้าหมาย

โอ้ววว แม่เจ้า! ต้องพูดดีเทลกันแบบนี้เลยจริง ๆ ครับ ไม่งั้นมันไม่เห็นภาพที่แท้จริง

เหมือนคนใกล้เหตุการณ์อย่าง เพื่อนร่วมทีม อิบู โคนาเต หรือโจเอล มาติป ปรากฎภาพในโซเชียลทำท่ากุมศรีษะอย่างไม่เชื่อสายตาในสิ่งที่ได้เห็น

ขอบคุณรูปภาพจาก : https://web.facebook.com/ThailandLiverpoolFC

ขณะที่นักเตะปอร์โต ต้องใช้คำว่า “stun” แน่นิ่ง ชะงักงันไปทั้งทีม

คำถามอื่น ๆ ยังมี เช่น บอลที่ยิงออกไปแท้จริงแล้วกระดอนโดนผืนหญ้าไหม? เพราะได้เห็นวิถีบอลพุ่งลง แล้วลอยสะเทิ้นขึ้นอีกครั้งก่อนเสียบโคนเสา ดิโอโก คอสตา ที่ไม่มีทางจะเซฟได้

ฟลุ๊ค หรือจังหวะพอดี หรืออย่างไร? เยอร์เกน คลอปป์ ก็ได้ตอบแล้วว่า เคยเห็นธิอาโก้ทำอยู่ในสนามซ้อม ในรายละเอียดอื่น ๆ ที่น่าสนใจก็ เช่น

ดาวเตะวัย 30 ปีจริง ๆ ยืนอยู่ไลน์สุดท้ายในเกมรับ (ถัดไปก็ อลิสซงแล้ว) นอกจอทีวีจากจังหวะเริ่มต้น ฟรีคิกทางฝั่งขวาของ อเล็กซ์ ออกซ์เลด-แชมเบอร์เลน แต่แบบที่บอกครับว่า “อ่านจังหวะ” โหม่งสกัดไม่ดีของปอร์โต้แล้วพุ่งเข้ามาจนเพื่อน ๆ รุ่นน้องที่อยู่ใกล้กว่า อย่าง เนโก วิลเลียมส์ และคอสตาส ซิมิกาส ต้องหลบกระเจิงให้

นั่นแสดงว่า “สมอง” ธิอาโก คำนวณ เลือกโหมดการเล่น และบันทึกภาพการทำประตูนี้ไว้ล่วงหน้าหมดแล้ว

ใครจะแสดงความชื่นชม หรือความเห็นเพิ่มเติมก็จัดมาได้เลยนะครับ

หรือจะ “ขยี้” อีกนิด คือ ธิอาโก ยังมี “เทคนิคพิเศษ” อื่น ๆ ที่ใช้ประจำอีกมาก เช่น ใช้เท้าเหยียบจับบอลแล้วแตะในจังหวะเดียวในลักษณะเดียวกับนักฟุตซอล, การใช้ข้างเท้าด้านนอกจ่ายบอลเสมอ ๆ (หลัง ๆ นักเตะหงส์คนอื่น ๆ ก็เล่นตามเยอะนะ), ลูกชิพเปิดบอลยาวหลากหลายรูปแบบ เช่น Low Drive (พอล ป๊อกบา เป็นอีกคนที่ใช้บ่อย), จังหวะ half turn ตอนจะรับบอล

ขอบคุณรูปภาพจาก : https://web.facebook.com/ThailandLiverpoolFC

อย่างไรก็ดี จะให้ดี ธิอาโก อัลคันทารา ต้องมีความสม่ำเสมอ และผสมผสานเทคนิค และทักษะอันงดงามเหล่านั้นให้เกิด “ผลลัพธ์” มากกว่านี้ และเจ็บให้น้อยลง

เพื่อ “ศักยภาพสูงสุด” ของเขาจะไม่พุ่งขึ้น และตกลงเหมือนพลุไฟ แต่จะเป็นเหมือน “ดาว” ที่ลอยค้างฟ้าเป็นตำนานสโมสรได้ต่อไปมากกว่าครับ

✍☕ณัฐวุฒิ ประเทืองศิลป์

🙏ขอบคุณข้อมูล : โค้ชน้อย อนันต์ อมรเกียรติ, โค้ชนพ นพพร เอกศาสตรา, โค้ชแดง ทรงยศ กลิ่นศรีสุข, โค้ชใหม่ เจตนิพัทธ์ รชตเฉลิมโรจน์ และโค้ชโจ ธีระศักดิ์ โพธิ์อ้น

Categories
Football Tactics

เจาะกลยุทธ์ Positional Play เบื้องหลังแท้จริงในชัยชนะของทีมสีฟ้า แห่งเมือง แมนเชสเตอร์

เหมือนเดิมทุก ๆ วันจันทร์ในช่วงนี้ ผมจะมีโอกาสได้คุยกับคุณวาว จารุวัฒน์ พริบไหว ทางเพจตุงตาข่าย ในเรื่องเกี่ยวกับแท็คติกส์ฟุตบอลที่เรา 2 คนเลือกมามองจากเกมสุดสัปดาห์ในมุมที่ “ย่อยง่าย” และสามารถอธิบายให้เข้าใจได้พอเป็นสังเขปซึ่งวีคนี้ คือ เรื่อง Positional Play ที่แมนเชสเตอร์ ซิตี้ กระทำการใส่ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ครับ >>> bit.ly/3sRqMiH

ขอบคุณรูปภาพจาก : https://web.facebook.com/mancity

ความหมายของ Positional Play ให้แปลแบบเป๊ะ ๆ อาจมองไม่เห็นภาพได้เท่ากับให้ผมอธิบายผ่านแท็คติกส์อย่างน้อย 3 – 4 ประการที่ เป๊ป กวาร์ดิโอลา และเด็ก ๆ แสดงให้เห็นในเกมนี้:

1. การเพิ่มจำนวนผู้เล่น หรือ overload จำนวนผู้เล่นเข้าไปในพื้นที่ฝั่งขวาของทีมปิศาจแดงฟาก แอรอน วาน บิสซากา ที่แม้ แอนโธนี เอลังกา จะถอยลงมาช่วย และมีสกอตต์ แม็คโทมิเนย์ กับวิคตอร์ ลินเดอเลิฟ ประจำการอยู่ก็ไม่ไหว เพราะฝั่งนี้ซิตี้เติมมาทั้ง แจ็ค กริลิช, แบร์นาโด ซิลวา, False 9 ฟิล โฟเดน ตามหลังโดย เจา คานเซโล ไม่นับ อายเมอริค ลาปอร์ต หรือโรดรี้ ที่ยืนประคองสถานการณ์

ขอบคุณรูปภาพจาก : https://web.facebook.com/mancity

การ overload ด้วยจำนวนผู้เล่นทำให้การรุก (ขณะมีบอล) ผู้เล่นซิตี้ที่ได้บอลจะมีชอยส์อย่างน้อย 2 (สามเหลี่ยม) หรือ 3 ชอยส์ (สี่เหลี่ยม – ไดมอนด์) เสมอ ๆ อันทำให้การจู่โจม เข้าทำ มีประสิทธิภาพ และได้เปรียบ

ไม่นับการเคลื่อนที่ของผู้เล่นที่ขยับตัวตลอดเวลา เป็นอิสระ และไม่เป็นเป้านิ่งให้เกิดการประกบตัว หรือคิดจะประกบตัวก็ยาก เพราะจำนวนคนน้อยกว่า

ประตู 1-0 หรือ 2-1 ตอบโจทย์สิ่งนี้เป็นอย่างดี และตัวเลขเกือบ 50% ของการขึ้นบอลเกิดจากฝั่งนี้ หรือเป็น 2 เท่าของการขึ้นเกมตรงกลาง และฝั่งขวาของสนามที่มี ริยาด มาห์เรซ ประจำการอยู่

2. อย่างไรก็ดี ไม่ได้หมายความว่า มาห์เรซ มีประโยชน์น้อย แต่นี่คืออีก แท็คติกส์สำคัญของการเล่น Postional Play นั่นคือ การใช้ตัวผู้เล่นที่มีความสามารถเผชิญกับคู่แข่งที่มีความสามารถน้อยกว่าโดยตรงไปเลย

กรณีนี้ เป๊ป อาจมองว่า อเล็กซ์ เทลเลส ไม่น่าจะ 1 v 1 ปะทะกับดาวเตะอัลจีเรียได้โดยตรง การ isolate มาห์เรซ ไว้ในพื้นที่ว่างฝั่งขวาเสียเลยจึงเป็นแท็คติกส์ที่วางไว้

ครับ จริง ๆ แล้ว หากแผน A หรือคือ การเจาะฝั่งซ้ายด้วยการ overload ผู้เล่นไม่ประสบความสำเร็จ หรือคือไม่สามารถเจาะไปถึงเส้นหลัง หรือเข้ากรอบเขตโทษฝั่งนั้นแล้วเปิด cut back หรือยิง หรือเปิดเสาสองกลับมาได้

การเปลี่ยนแกน switching play ไปจบอีกฝั่งกับมาห์เรซ ที่จะต้องว่าง หรือได้ปะทะตรงกับเทลเลสที่แม้เจ้าตัว กับเพื่อน ๆ จะเคลื่อนที่ตามมา ทว่าหากมาห์เรซ จับบอลแรกได้เยี่ยม หรือบอลถูกเปิดมาเพอร์เฟคต์

การป้องกันจะไม่ง่าย

หรือหากขยับมาป้องกันไม่ทัน มาห์เรซ ก็จะว่างให้สร้างสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ตลอดเวลาไม่เว้นแม้แต่ลูกตั้งเตะ เช่น คอร์เนอร์ที่ได้ประตู 3-1 หรือก่อนหน้านั้นฟรีคิกที่มีโอกาสยิงข้ามคาน

ขณะเดียวกัน หากมาห์เรซ เคลื่อนที่ไปเรื่อย ๆ และใช้ความสามารถ ความเข้าใจในการใช้พื้นที่ว่างทั้งระหว่างไลน์ และหลังไลน์ ประตูก็อาจเกิดขึ้นได้ เช่น 4-1 อันเป็นการเคลื่อนที่ไปรับบอลหลังไลน์ได้อย่างยอดเยี่ย

ขอบคุณรูปภาพจาก : https://web.facebook.com/mancity

3. การเคลื่อนที่แบบ “เข้าใจ” ในการใช้พื้นที่ว่าง เช่น ระหว่างไลน์, หลังไลน์, ระหว่างตัวผู้เล่น หรือไปบริเวณ half space คือ ศาสตร์ชั้นสูงของนักเตะที่ต้องเป็นระดับ elite players จริง ๆ และต้องเป็นนักเตะที่ได้รับการโค้ชอย่างถูกต้องดังที่ เป๊ป พูดล่าสุดหลังเกมถล่มปิศาจแดงนัดนี้ว่า ทักษะ ความสามารถโน่นนี่ มันมาจากท้องพ่อท้องแม่แล้ว แต่เขามีหน้าที่ทำให้นักเตะเหล่านี้เล่นได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดก็เท่านั้น

เควิน เดอ บรอย แมน ออฟ เดอะ แมตช์ เกมนี้ คือ เจ้าพ่อคนหนึ่งที่เข้าใจในพื้นที่ว่าง (แน่นอนว่าเขาจะต้องเข้าใจการเล่น positonal play อย่างถ่องแท้) และมีความสามารถเฉพาะตัวในการรับบอลไม่ว่าจะ half turn หรือรับแล้วไปทันที หรือไปกลับบอลอย่างรวดเร็ว หรือเปลี่ยนสปีด ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดเหล่านี้กับบอลจะเป็นการเจาะทะลุทะลวงพื้นที่ว่างในเกมรับของแมนฯยูฯทั้งนั้น และจะ disorganise เกมรับโดยรวมให้พังอย่างราบคาบได้

ขอบคุณรูปภาพจาก : https://web.facebook.com/mancity

แบร์นาโด ซิลวา ก็เก่งฉกาจเช่นกันในการลากเลื้อยเจาะพื้นที่ว่าง และครอบครองบอล ขณะที่เพื่อน ๆ ซึ่งรู้หน้าที่จะเคลื่อนตัวไปที่ว่างด้านหน้าเพื่อรับบอลตามหลักไปเพิ่มจำนวน หรือทยอยเติม (เพื่อเพิ่มจำนวนไปเรื่อย ๆ)

กรีลิช โดดเด่นมากในเกมนี้กับจังหวะเวลาที่ใช้แบบไม่มาก หรือน้อยไปกับลูกบอล และเล่น combination กับเพื่อน ๆ ทางฝั่งซ้ายได้ดี และนี่ถือเป็นนัดที่ดาวเตะ 100 ล้านปอนด์เล่นได้ดีที่สุดในฤดูกาลกับซิตี้ แม้จะยิง หรือ assist ไม่ได้ แต่ความเข้าใจใน positional play แบบที่เป๊ปต้องการนั้นมาแล้ว

คนอื่น ๆ คานเซโล, โฟเดน, วอลค์เกอร์, สโตนส์, ลาปอร์ต หรือกระทั่ง เอแดร์สัน ที่รายหลังจะเป็นตัวเลือกเสมอให้เซนเตอร์ฯ อยู่ในสถานการณ์ 3 v 2 ไม่ใช่ 2 v 2 เพราะสามารถขยับมาเล่นบอล รับบอล ออกบอล ด้วยเท้าได้ ต่างเข้าใจความหมาย และผ่านการฝึกซ้อม postional play มาจนภาพโซนต่าง ๆ ในสนามอยู่ในหัวหมดแล้ว และทราบว่าจะแก้ “หน้างาน” กันอย่างไรในภาวะต่าง ๆ

4. รวมแล้ว postional play ต้องเข้าใจพื้นที่, เข้าใจเรื่องการเพิ่มจำนวนผู้เล่นในพื้นที่ที่ต้องการ และต้องมีคุณภาพของผู้เล่นที่พร้อมจะทำได้

ความสมบูรณ์แบบที่สุดของการเล่นแบบนี้เกิดขึ้นในครึ่งหลังที่ซิตี้ครองบอลได้กว่า 70% และ 15 นาทีสุดท้ายที่ครองบอลได้ถึง 92%

ดังนั้น อย่าแปลกใจที่ สกอตต์ แม็คโทมิเนย์ โต้กลับ รอย คีน ประมาณว่า ไม่ได้ลงมาเล่นไม่รู้หรอกหลังโดนอดีตกัปตันทีมตนเองบ่นว่า ใจไม่สู้ ยอมยกธงขาว หรือมี 5-6 คนไม่คู่ควรจะใส่เสื้อสีแดง แมนฯยูฯ

ด้วยก็เพราะ postional play มันทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์จากการแก้เกมของเป๊ปในครึ่งหลัง

ขณะเดียวกัน สิ่งดีงามที่แฟนปิศาจแดง ควรจะ “ยืดอก” ยอมรับ และทำความเข้าใจก็คือ ในมุมของโค้ช เราได้เห็นสิ่งที่ ราล์ฟ รังนิค พยายามจะทำผ่านการจัดตัว และรูปแบบวิธีการเล่น โดยเฉพาะ 30 นาทีแรก

การใช้ พอล ปอกบา และบรูโน แฟร์นันเดซ ยืนเสมือนเป็นคู่หน้าตัวบน และรับสูง และเพรสซิ่งสูง คล้าย ๆ ระบบ 4-2-4 เพราะต้องการใช้ 4 ตัวบนเพรสซิ่งไม่ให้แมนฯซิตี้ออกบอลแรกจากแดนตัวเองได้ มันมีที่มาที่ไป และมี “เหตุผล” เพียงพอ

ส่วนตัว ผมจะพอใจมากกว่าที่ได้เห็นอะไรแบบนี้ คือ ได้เห็น แมนฯยูฯ กับรูปแบบพยายามบุก พยายามเล่นเพรสซิ่ง และโต้เร็ว โดยดันสูง รับสูง ตามแบบฉบับทีมใหญ่

และก็ต้องยอมรับว่าทำได้ดีแม้เพียงครึ่งชั่วโมง แต่ก็ทำให้เห็นถึงความพยายามอันนั้น

ดังนั้น ได้โปรด อย่า “ถอยหลัง” กลับไปไหน แพ้ก็แพ้ (เพราะยังไงก็ไม่ได้เจอซิตี้ทุกวีค) แต่มันคือ บทเรียน มันคือ จุดเริ่มต้น

ได้โปรดอย่าไปเล่นรับแล้วโต้ หรือเกมนี้เล่นแบบนั้น เกมนั้นจะเล่นแบบนี้ แต่ให้มุ่งไดเรกชั่นนี้ไปเลย หรือจะซื้อผู้เล่นใหม่ก็ต้องเป็นคาแรกเตอร์ที่เล่นแบบนี้ได้

เพราะหากมันจะเจ็บ มันก็ต้องเจ็บ และทั้งซิตี้เอง หรือลิเวอร์พูล ต่างผ่านช่วงเวลาแบบนี้มาแล้วเหมือนกัน

ครับ สรุปอีกที เกมนี้เราได้เห็นโคตรการเล่น positonal play ที่สมบูรณ์แบบในครึ่งหลังจากแมนฯซิตี้ และได้เห็น “แสงสว่าง” ในครึ่งแรกจากแมนฯยูไนเต็ดครับ

โชคดีนะ แฟน ๆ เมืองแมนเชสเตอร์ สีฟ้าแดง จากใจแฟนสีแดงจากเมืองลิเวอร์พูลครับ

🙏 ปล.ขอบคุณ โค้ชน้อย อนันต์ อมรเกียรติ อาจารย์ผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ฟุตบอลให้ผมมาต่อยอดนะครับ

☕ ณัฐวุฒิ ประเทืองศิลป์

Categories
Football Business

สรุป 4 ประเภทของ แรงจูงใจหลักในการซื้อ “สโมสรฟุตบอลอาชีพ”

ในปัจจุบัน สโมสรฟุตบอลในยุโรป ตกเป็นเป้าหมายทางธุรกิจของนักลงทุนมากมาย นับตั้งแต่นักธุรกิจท้องถิ่นที่มีชื่อเสียงไปจนถึงมหาเศรษฐีจากต่างประเทศ หรือไล่ตั้งแต่ บริษัทเงินทุนส่วนตัวไปจนถึงกลุ่มผู้สนับสนุน แม้ว่าแต่ละฝ่ายอาจจะมีเหตุผลส่วนตัวร่วมด้วยในการซื้อสโมสรฟุตบอล แต่แรงจูงใจในการซื้อสโมสรของพวกเขา อาจจะไม่ต่างกันมากนัก

บทความนี้ทีมไข่มุกดำ ได้รวบรวมข้อมูลมาจากทีม KPMG ที่ได้เก็บข้อมูล และแรงจูงใจซึ่งพบบ่อยที่สุดในการถูกหยิบยกมาใช้เพื่อซื้อสโมสรฟุตบอลอาชีพ โดยแบ่งออกเป็น 4 ประเภทใหญ่ ซึ่งทั้งหมดก็มีรายละเอียดของแต่ละหัวข้อต่อไปนี้ ได้แก่ ความเป็นเจ้าของทางการเมือง – ทุนยุทธศาสตร์ / ความเป็นเจ้าของทั่วโลก – ทุนทางเศรษฐกิจ / ความเป็นเจ้าของในท้องถิ่น – ทุนทางวัฒนธรรม /ความเป็นเจ้าของผู้สนับสนุน – ทุนทางสังคม

ความเป็นเจ้าของทางการเมือง – ทุนยุทธศาสตร์

1. การประชาสัมพันธ์เชิงบวกและการสร้างแบรนด์

สโมสรฟุตบอลเป็นสินทรัพย์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ มักจะเป็นที่รู้จักในวงกว้าง และ ดึงดูดความสนใจจากผู้คนจำนวนมากรวมไปถึงผู้ชมจำนวนมาก จึงเหมาะที่จะทำหน้าที่เป็นช่องทางการสื่อสารและแพลตฟอร์มสื่อ

พวกเขาไม่เพียงแต่ถ่ายทอดข้อมูลเกี่ยวกับความสำเร็จและกิจกรรมของทีมไปยังแฟน ๆ เท่านั้น แต่ยังสามารถถ่ายทอดข้อความของพันธมิตรทางการค้าและผู้สนับสนุนในลักษณะที่มีประสิทธิภาพ ดึงดูดความสนใจ ทั้งยังกระจายไปอย่างรวดเร็ว

ขอบคุณรูปภาพจาก FB : Manchester City

สโมสรฟุตบอลสามารถเป็นตัวขับเคลื่อนสำหรับประเทศ บริษัท หรือบุคคล เพื่อเพิ่มการรับรู้แบรนด์และปรับปรุงภาพลักษณ์สาธารณะได้ ตัวอย่างเช่น ปารีส แซงต์ แชร์กแมง และ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ มักถูกมองว่าเป็นทูตของประเทศกาตาร์และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ตามลำดับ อีกตัวอย่างหนึ่งคือ เอซี มิลาน ซึ่งมีอดีตเจ้าของเป็นนักธุรกิจและอดีตนายกรัฐมนตรีอิตาลีอย่าง ซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี มาเกือบ 30 ปี เป็นต้น

2. ความสามารถในการโฆษณาที่ไม่เหมือนใคร

ในทำนองเดียวกันกับแรงจูงใจก่อนหน้านี้ เจ้าของอาจเลือกที่จะใช้ประโยชน์จากโอกาสในการสร้างแบรนด์และการสนับสนุน เพื่อใช้ใน บริษัท หรือ ผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่พวกเขาเป็นเจ้าของหรือเกี่ยวข้องกัน ผ่านทางสโมสรฟุตบอลของตัวเอง

ตัวอย่างหนึ่งคือกรณีของ ไมค์ แอชลีย์ ที่เป็นเจ้าของทั้ง สปอร์ต ไดเร็ก และ ยังเป็นอดีตเจ้าของ นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด  และสามารถใช้ประโยชน์จากพื้นที่โฆษณาที่สำคัญของสโมสร เพื่อสร้างแบรนด์ของธุรกิจให้เติบโตได้

3. แรงจูงใจทางภูมิรัฐศาสตร์

ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ อุตสาหกรรมฟุตบอลได้เห็นการขยายตัวอย่างมากของการลงทุนจากบรรดาภาคธุรกิจของจีน โดยส่วนใหญ่แล้วแม้ว่าการเข้าซื้อกิจการของทีมยุโรป จะมีเป้าหมายจากรัฐบาลของจีนในการใช้เพื่อพัฒนาฟุตบอลในประเทศ

แต่ในบางกรณี การซื้อสโมสรจากกลุ่มทุนจีนถูกใช้ในรูปแบบของ “ซอฟต์ พาเวอร์” เพื่อให้ได้มาซึ่งสถานะทางการเมืองหรือตำแหน่งทางธุรกิจ ที่ได้เปรียบมากขึ้นภายในเศรษฐกิจที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก

การใช้ “ซอฟต์ พาเวอร์” ของสโมสรฟุตบอลยังสามารถนำไปใช้เมื่อเข้าสู่ตลาดใหม่ในต่างประเทศ เช่น การเข้าซื้อกิจการของจีนล่าสุดของสโมสรมืออาชีพในเบอร์มิงแฮมสามแห่ง เป็นตัวอย่างของสิ่งนี้

4. Connection ทางธุรกิจ

การเป็นเจ้าของสโมสรมักจะนำเสนอบรรยากาศที่ไม่เหมือนใครสำหรับการพบปะกับผู้มีอิทธิพลสูง ความสัมพันธ์มากมายได้ถูกสร้างขึ้นผ่านการเข้าถึงห้องประชุมคณะกรรมการสโมสรฟุตบอลชั้นนำของโลก รวมถึงการมอบช่องทางการเสพความบันเทิงที่น่าประทับใจอย่างเกมฟุตบอล ให้กับคนดังและผู้ทรงอำนาจที่ต้องการเข้าร่วมการชมแข่งขัน

ความเป็นเจ้าของทั่วโลก – ทุนทางเศรษฐกิจ

1. การเพิ่มผลกำไรทางการเงินสูงสุด

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา รายได้จากลิขสิทธิ์ที่พุ่งสูงขึ้น (โดยเฉพาะในสหราชอาณาจักร) ทำให้ความยั่งยืนทางการเงินเพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยมี กฎ ไฟแนนเชียล แฟร์ เพลย์ เป็นข้อสนับสนุน ทำให้เหตุผลหลักที่อยู่เบื้องหลังการลงทุนของสโมสรฟุตบอลต่าง ๆ ถูกใช้เพื่อเป็นช่องทางดำเนินธุรกิจให้มีผลกำไร และทำให้เงินทุนของเจ้าของทีมที่ลงไปนั้นเติบโต

ขอบคุณรูปภาพจาก : The Guardian

ตัวอย่างของเหตุผลข้อนี้ ได้แก่ สโมสรฟุตบอล แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ซึ่งเป็นเจ้าของโดยตระกูลเกลเซอร์ ที่เป็นนักลงทุนทีมกีฬาที่มีชื่อเสียงในสหรัฐอเมริกา และเมื่อพวกเขาตัดสินใจลงทุนในพรีเมียร์ลีก พวกเขาเลือก แมนฯ ยูไนเต็ด เป็นเป้าหมายในการเข้าซื้อกิจการ เนื่องจากสโมสรมีโอกาสดีที่จะประสบความสำเร็จในเชิงพาณิชย์แล้ว เป็นแนวทางให้นักลงทุนชาวอเมริกันรายอื่น ๆ ได้เห็นตัวอย่างการเติบโตจากการลงทุนในทีมฟุตบอล และเข้ามาแสวงหากำไรหลังจากนั้นอีกหลายราย ทั้ง โครเอนเก และ เฟนเวย์ สปอร์ต กรุป

2. ศักยภาพในการเติบโตทั่วโลก

ความสนใจในฟุตบอลได้เติบโตขึ้นอย่างมากในระดับโลกในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา การเติบโตนี้ได้รับการเร่งความเร็วขึ้นโดยอินเทอร์เน็ตและการพัฒนาแพลตฟอร์มสื่อดิจิทัลในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

การเติบโตนี้น่าสนใจสำหรับเจ้าของที่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์นี้ หากนักลงทุนสามารถหาทีมที่ใช่ พร้อมใช้กลยุทธ์ที่ประสบความสำเร็จและค้นหาช่วงเวลาที่เหมาะสม อาจทำให้ทีมเติบโตอย่างรวดเร็วและให้ผลตอบแทนจากการลงทุน ทั้งยังสร้างผลกำไรได้มหาศาล

“โดยส่วนใหญ่ (สโมสรฟุตบอล) มักมองว่ากำไรจะมาในรูปแบบของถ้วยรางวัล ตราบใดที่สโมสรฟุตบอลยังคงทำผลงานได้ดีในสนามในระดับเดียวกับที่คุณซื้อสโมสรนั้นมา สโมสรจะคงคุณค่าและมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มมูลค่าได้ เป็นทรัพย์สินระยะยาวที่คุณน่าจะทำกำไรได้ไม่ยาก” รอรี มิลเลอร์ จากมหาวิทยาลัยลิเวอร์พูลกล่าว

3. ข้อควรพิจารณาด้านภาษี

สำหรับเจ้าของบางคน สโมสร อาจจะมาในรูปแบบของบริษัทที่อาจจะช่วยให้เขาไม่ต้องเสียภาษีมากเกินไป หากนำเงินมาลงในปริมาณที่คำนวนแล้วทำให้สโมสรขาดทุนในรายปี นอกจากจะทำให้เจ้าของทีมไม่เสียภาษีแล้ว สิ่งที่แลกมาจากเม็ดเงินที่ลงไป อาจจะเป็นการประสบความสำเร็จในบั้นปลายฤดูกาล ซึ่งสิ่งนี้จะเพิ่มมูลค่าให้สโมสรโดยลดตัวเลขทางภาษีที่เขาต้องจากไปพร้อม ๆ กัน

4. การเก็งกำไรในอนาคต (การเลื่อนชั้น)

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอังกฤษ หนึ่งในเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังการลงทุนระดับสูงในสโมสรระดับล่างคือ รางวัลสำคัญอย่างการเลื่อนชั้นไปเล่นในพรีเมียร์ลีก สิ่งนี้สามารถถูกมองว่าเป็นการเก็งกำไรได้เลย

โดยส่วนใหญ่ การลงทุนในทีมฟุตบอลระดับสูง อย่างการซื้อนักเตะชั้นนำ และการจ่ายค่าจ้างผู้เล่น จะต้องบรรลุเป้าหมายที่ทีมตั้งไว้ และส่วนใหญ่มักจะส่งผลให้สโมสรประสบภาวะขาดทุน การจบอันดับสูง ๆ ในตารางพรีเมียร์ลีกอาจสามารถชดเชยสิ่งเหล่านี้ได้

แต่การไต่เต้าจากสโมสรชั้นล่างและเลื่อนชั้นขึ้นมาได้ในเวลาอันสั้น คือการลงทุนที่อาจจะมีความเสี่ยงน้อยกว่า ด้วยเหตุผลที่ว่า การแข่งขันอาจจะไม่สูงเท่า และผลตอบแทนเกินกว่าคำว่าคุ้มค่า ถ้าพาทีมขึ้นชั้นได้จริง

“การซื้อสโมสรใน เดอะ แชมเปี้ยนชิพ จึงเปรียบเสมือนการเก็งกำไรอสังหาริมทรัพย์ในเมืองที่กำลังเติบโต” บีบีซี กล่าว

5. ใช้ ‘สโมสร’ ต่อยอดไปยังสโมสรอื่น 

ความเชี่ยวชาญในการจัดการสโมสรฟุตบอลเป็นทักษะที่สามารถนำมาใช้เพื่อบริหารสโมสรอื่น ๆ ในแต่ละภาคส่วนในโลกได้ ตัวอย่างที่ดีที่สุดของข้อนี้คือ City Football Group กลุ่มเจ้าของที่อยู่เบื้องหลัง แมนเชสเตอร์ ซิตี้ เพราะพวกเขาประสบความสำเร็จอย่างที่สุด ไม่ใช่แค่กับ ซิตี้ เท่านั้น พวกเขายังต่อยอดการลงทุนไปยังสโมสรอื่น ๆ ทั่วโลก โดยมีสัดส่วนการถือหุ้นในสโมสรฟุตบอลทั้งใน อังกฤษ สเปน สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น อุรุกวัย จีน และอินเดีย

ความเป็นเจ้าของในท้องถิ่น – ทุนทางวัฒนธรรม และ ความเป็นเจ้าของผู้สนับสนุน – ทุนทางสังคม

1. สายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับชุมชน

สโมสรฟุตบอลเป็นส่วนสำคัญในการเชื่อมโยงกับท้องถิ่นของด้วย สโมสรบางแห่งเป็นหัวใจของชุมชนขนาดเล็ก เป็นสถานที่ที่ขับเคลื่อนการจ้างงานและดำเนินโครงการ ที่มีความคิดริเริ่มที่จะรับผิดชอบต่อสังคม ดังนั้น บุคคลในท้องถิ่น (ผู้มั่งคั่ง) จึงสามารถมองสโมสรเป็นเวทีในที่กว้างขึ้น และใช้มันเพื่อตอบแทนแก่ชุมชน

ตัวอย่างนี้คือ แอคคริงตัน สแตนลีย์ ซึ่ง แอนดี โอลต์ นักธุรกิจจาก แลงคาเชียร์เข้าซื้อกิจการในปี 2015 โดย โฮลต์ไม่ได้มองว่าสโมสรเป็นธุรกิจเหมือนเจ้าของทีมส่วนมาก แต่ระหว่างที่เขาดำรงตำแหน่ง สโมสรเหมือนจุดศูนย์รวมของชุมชนมากกว่า

2. ความผูกพันกับสโมสรและแฟนคลับ

บุคคลหรือกลุ่มที่เป็นแฟนของทีมอาจมีแรงจูงใจที่ชัดเจนที่สุด ที่จะมีส่วนร่วมในการดำเนินงานของสโมสร สโมสรที่มีชื่อเสียงหลายแห่ง รวมทั้ง เรอัล มาดริด และ บาร์เซโลนา ยังคงมีเจ้าของทีมเป็นกลุ่มแฟนบอลมาจนถึงทุกวันนี้ ขณะที่ในเยอรมนี มีกฎ 50 + 1 หมายความว่าแทบทุกสโมสรอาชีพในประเทศนี้ มีโครงสร้างการเป็นเจ้าของที่แฟน ๆ ถือหุ้นเป็นส่วนใหญ่

The largest stadium of Barcelona from helicopter. Catalonia, Spain

ทั้งนี้ และทั้งนั้น สิ่งหนึ่งที่ควรตระหนักก่อนจะก้าวขาเข้ามาในธุรกิจฟุตบอล ไม่ต้องถึงขั้นเป็นเจ้าของก็คือ ลักษณะพิเศษของฟุตบอลลีกอาชีพ (The ‘peculiar’ economics of professional football leagues) ที่ควรมีความเข้าใจอย่างถ่องแท้

เฉพาะอย่างยิ่งในมุมที่ฟุตบอลเป็น “เกม” หรือเป็น “ธุรกิจ” ที่แตกต่างจากธุรกิจอื่น ๆ เพราะจะมีจุดมุ่งหมายพร้อม ๆ กัน 2 ประการ นั่นคือ ชนะในสนาม และ “ไม่แพ้” หรืออยู่ได้โดยไม่ขาดทุนนอกสนาม
“จุดมุ่งหมาย” 2 ประการนี้จะขัดแย้งกันเองโดยธรรมชาติ เพราะหากต้องการจะประสบความสำเร็จในสนาม สโมสรฟุตบอลก็ต้องใช้เงิน “ลงทุน” กับการซื้อตัวผู้เล่น หรือไม่ก็เป็นค่าเหนื่อยผู้เล่นที่ส่วนมากแล้วจะใช้เต็มจำนวนงบประมาณที่มี

ไม่นับการปรับปรุง “สาธารณูปโภค” ต่าง ๆ สำหรับทีม และแฟนบอล เช่น สนามซ้อม, ที่นั่งสนามแข่ง, ห้องน้ำ, สนามหญ้า ฯลฯ เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อการเล่นทีม และเพื่ออรรถรสในการชมฟุตบอลของแฟน ๆ ขยับจากนั้นอีกขั้นก็คือ หน้าที่เพื่อสังคม ดังจะได้เห็นกิจกรรม CSR (Corporate Social Responsibilities) ต่าง ๆ มากมาย และเป็น “ภาคบังคับ” ที่ต้องกระทำ โดยเฉพาะโปรแกรมเพื่อเยาวชน และชุมชนที่สโมสรฟุตบอลก่อตั้ง

ที่สุดแล้ว “กำไร” อย่าว่าแต่จะไม่เหลือเลย การทำงบดุลไม่ให้ติด “ตัวแดง” ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายแล้ว ฉะนั้นในทาง “อุดมคติ” ฟุตบอลจึงไม่ใช่ธุรกิจที่ผู้ถือหุ้นไม่ว่าจะในฐานะบุคคล, นิติบุคคล หรือบริษัทมหาชนจะ “นั่งรอ” ผลกำไรปลายปีเฉกเช่น ธุรกิจในอุตสาหกรรมอื่น ๆ

แม้ความจริงที่เราทราบ “เจ้าของทีม” ทุกวันนี้จะไม่ใช่แบบนั้นก็ตาม

Author : สมศักดิ์ จันทวิชชประภา

อ้างอิง:

– https://footballbenchmark.com/library/key_motivations_behind_buying_a_professional_football_clubs