Categories
Special Content

เปเล่กับภารกิจสุดท้ายก่อนแขวนสตั๊ด หว่านเมล็ดพันธุ์ฟุตบอลบนแผ่นดินอเมริกา

สหรัฐอเมริกาเมื่อสี่สิบปีที่แล้ว เด็กชายหญิงระดับไฮสคูล (มัธยมปลาย) เล่นกีฬาฟุตบอลที่พวกเขาเรียกว่า “ซอคเกอร์” ประมาณสองแสนคน, ยี่สิบปีต่อมา จำนวนเด็กอเมริกันเพิ่มขึ้นเป็นหกแสนคนที่เล่นฟุตบอล และเมื่อปีที่แล้ว ตัวเลขพุ่งทะลุหลักแปดแสนคน นั่นเท่ากับว่าฟุตบอลเติบโตเกือบสามร้อยเปอร์เซ็นต์ในเวลาสี่ทศวรรษ ไม่มีกีฬาชนิดไหนในอเมริกาที่มีอัตราเร่งสูงขนาดนี้

ปัจจุบันอเมริกามีลีกฟุตบอลอาชีพทั้งชายหญิงได้แก่ เมเจอร์ ลีก ซอคเกอร์ (เอ็มแอลเอส) 29 สโมสร และเนชันแนล วีเมนส์ ซอคเกอร์ ลีก (เอ็นดับเบิลยูเอสแอล) 12 สโมสร ปีที่แล้วมีรายงานไม่เป็นทางการระบุว่า เอ็มแอลเอสเป็นลีกกีฬาอาชีพยอดนิยมอันดับ 4 ของประเทศ แซงหน้าฮอคกีน้ำแข็ง เอ็นเอชแอล ซึ่งเคยเป็นหนึ่งใน “บิ๊ก โฟร์” เป็นรองเพียงอเมริกันฟุตบอล เอ็นเอฟแอล, บาสเกตบอล เอ็นบีเอ และเบสบอล เอ็มแอลบี

ปี 2026 อเมริกาจะจัดแข่งขันฟุตบอล “เวิลด์คัพ” ร่วมกับแคนาดาและเม็กซิโกหลังจากเคยเป็นเจ้าภาพเดี่ยวเมื่อปี 1994

มีหลายปัจจัยร่วมส่งเสริมให้ความนิยมที่คนอเมริกันมีต่อฟุตบอลพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วภายในเวลาสี่สิบปี หนึ่งในนั้นคือ “เปเล่” อดีตราชันลูกหนังโลกชาวบราซิล ผู้เปรียบเสมือนคนแรกๆที่หว่านเมล็ดพันธุ์ฟุตบอลลงบนแผ่นดินอเมริกาเมื่อเซ็นสัญญาค้าแข้งกับนิวยอร์ก คอสมอส ในนอร์ธ อเมริกัน ซอคเกอร์ ลีก (เอ็นเอเอสแอล) กลางปี 1975 หรือราว 47 ปีที่แล้ว

สร้างตำนานกับซานโตส แขวนสตั๊ดที่อเมริกา

เปเล่มีชื่อจริงว่า Edson Arantes do Nascimento เกิดวันที่ 23 ตุลาคม 1940 ที่ Três Corações ประเทศบราซิล, เสียชีวิตวันที่ 29 ธันวาคม 2022 ที่ São Paulo ประเทศบราซิล สิริอายุรวม 82 ปี เล่นฟุตบอลตำแหน่งกองหน้าและกองกลางตัวรุก

เปล่เป็นหนึ่งในนักฟุตบอลยอดเยี่ยมตลอดกาลของโลก, ได้รับการประทับคำว่า “The Greatest” จากฟีฟา, เป็นหนึ่งในสปอร์ตส์ไอคอนแห่งศตวรรษที่ 20, ได้รับการยกย่องจากคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี) ให้เป็น Athlete of the Century เมื่อปี 1999

ปี 2000 เปเล่ได้รับคะแนนเสียงให้รับตำแหน่ง World Player of the Century ของสหพันธ์ประวัติศาสตร์และสถิติฟุตบอลนานาชาติ (ไอเอฟเอฟเอชเอส) และยังเป็นหนึ่งในสองที่ครองตำแหน่ง the FIFA Player of the Century ร่วมกับดีเอโก มาราโดนา ขณะที่ผลงาน 1,279 ประตูจาก 1,363 นัดที่รวมแมตช์กระชับมิตรด้วย ถูกบันทึกเป็นสถิติโลกโดย Guinness World Record

เปเล่เริ่มต้นเส้นทางฟุตบอลระดับเยาวชนกับสโมสร Bauru ระหว่างปี 1953-1956 ประเดิมอาชีพค้าแข้งด้วยวัยเพียง 15 ปีกับสโมสรซานโตส และเล่นนัดแรกให้ทีมชาติบราซิลชุดใหญ่เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 1957 ที่สนามมาราคานา ซึ่งบราซิลเฉือนอาร์เจนตินา 2-1 เปเล่ทำสกอร์แรกขณะอายุ 16 ปี 9 เดือน ซึ่งทุกวันนี้ยังเป็นสถิติผู้เล่นอายุน้อยที่สุดที่ทำประตูให้ทีมชาติบราซิล

ระหว่างรับใช้ชาติในปี 1957 ถึง 1971 เปเล่พาบราซิลครองแชมป์โลก 3 สมัยในปี 1958, 1962 และ 1970 โดยหลังจบเวิลด์คัพ 1958 เปเล่ได้รับฉายาว่า O Rei หรือ The King

เปเล่ลงสนามให้ทีมชาติ 92 นัด ทำไป 77 ประตู เป็นสถิติสูงสุดในประวัติศาสตร์ทีมชาติบราซิลร่วมกับเนย์มาร์ จูเนียร์ (จาก 124 นัด) ส่วนระดับสโมสร เปเล่เล่นให้ซานโตสระหว่างปี 1956-1974 ทำ 643 ประตูจาก 659 นัดรวมทุกรายการ พาสโมสรชนะเลิศโกปา ลิเบอร์ตาโดเรส และอินเตอร์คอนติเนนตัล คัพ ในปี 1962 และ 1963

หลังจบฤดูแข่งขัน 1974 ซึ่งเป็นซีซันที่ 19 กับซานโตส เปเล่อำลาวงการลูกหนังบราซิลแต่ยังกลับมาสวมสตั๊ดเล่นให้ซานโตสเป็นบางโอกาส หนึ่งปีต่อมาเขาเซ็นสัญญากับนิวยอร์ก คอสมอส เพื่อลงแข่งขันนอร์ธ อเมริกัน ซอคเกอร์ ลีก (เอ็นเอเอสแอล) ฤดูกาล 1975 ก่อนประกาศแขวนสตั๊ดอย่างเป็นทางการในปี 1977 อย่างไรก็ตาม เปเล่ยังเล่นแมตช์พิเศษอีก 8 นัด ทำไป 3 ประตู และในปี 2010 คอสมอสแต่งตั้งเปเล่เป็นประธานสโมสรกิติมศักดิ์

เซ็นสัญญาสามปี 4.75 ล้านดอลลาร์กับคอสมอส

วันที่ 11 มิถุนายน 1975 นิวยอร์ก คอสมอส จัดงานแถลงข่าวเซ็นสัญญากับเปเล่ที่ห้อง Hunt Room ของ 21 Club บนถนนเวสต์ 52 ในมหานครบิ๊กแอปเปิ้ล ดึงดูดนักข่าว ตากล้อง และช่างภาพทีวี มารวมตัวกว่าสองร้อยคน

กำหนดงานเริ่มเวลา 11.00 น. แต่ไม่ปรากฏแม้เงาของเปเล่ ซึ่งควรมาอยู่ใน 21 คลับแล้วเพื่อเตรียมตัวลงนามบนสัญญาสามปีมูลค่า 4.75 ล้านเหรียญสหรัฐ กับบริษัทวอร์เนอร์ คอมมูนิเคชันส์ เจ้าของสโมสรคอสมอส ค่าเหนื่อยที่สตาร์ลูกหนังวัย 34 ปี (ขณะนั้น) ได้รับถือว่าสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ลูกหนังโลก (ขณะนั้นเช่นกัน)

เวลาเลยไปถึง 11:35 น. เปเล่ยังมาไม่ถึงฮันท์รูม สื่อเริ่มหงุดหงิดระคนสงสัยว่ามีอะไรผิดพลาดเกิดขึ้นแม้เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์อ้างว่าเปเล่กำลังเดินทางใกล้ถึงแล้ว แต่ความจริงคือเปเล่ยังอยู่ในโรงแรมที่เขาพักเนื่องจากทนายความเจอข้อความสำคัญบนสัญญา ซึ่งระบุว่าเปเล่เป็นนักฟุตบอล แต่เปเล่ไม่ต้องการเป็น “นักฟุตบอล” เพราะจะทำให้เขาต้องเสียภาษีก้อนใหญ่ให้กับรัฐบาลบราซิล

วอร์เนอร์ฯ บริษัทบันเทิงระดับโลก พบทางออกด้วยวิธีง่ายดายเพียงให้ แอตแลนติก เรคคอร์ดส์ ค่ายเพลงในเครือวอร์เนอร์ฯ ใส่ชื่อเปเล่ในฐานะศิลปินที่กำลังจะออกผลงานเพลง ซึ่งไม่ได้โกหกเพราะเปเล่เล่นกีตาร์ได้ และเพื่อนสนิทอย่างเซอร์จิโอ เมนเดส เพิ่งชวนเขาให้มาทำแผ่นเสียงด้วยกันก่อนหน้านี้ไม่นาน

หมายเหตุ : ปี 1977 เมนเดสและเปเล่ร่วมกันออกอัลบั้ม Pele ซึ่งเป็นซาวน์แทร็คของสารคดีชีวประวัติของเขา อัลบั้มยังเป็นการเปิดตัวเปเล่ในฐานะนักร้องและนักประพันธ์เพลง เขาร้องเองสองเพลงในอัลบั้มนี้คือ Meu Mundo É uma Bola (My World Is a Ball) และ Cidade Grande (Big City)

หวังจุดกระแสฟุตบอลให้เป็นที่นิยมในอเมริกา

ในที่สุด เปเล่ก็พร้อมแล้วที่จะเดินทางไปเซ็นสัญญา แต่กว่าถึงวันนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ไคลฟ์ ทอย ผู้จัดการทั่วไปของคอสมอส ใช้เวลาถึงสามปีเพื่อตามจีบเปเล่ไปทั่วโลก ว่ากันว่าเขาสะสมไมล์เดินทางได้มากถึงสามหมื่นไมล์ จ่ายค่าโทรศัพท์เฉลี่ยเดือนละกว่าแปดพันเหรียญสหรัฐ และต้องอาศัยความช่วยเหลือจากเฮนรี คิสซิงเจอร์ รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา ส่งโทรเลขไปยังเพื่อนบราซิลผู้ทรงอิทธิพลให้กดปุ่มไฟเขียวอนุญาตให้ “สมบัติของชาติที่ไม่สามารถส่งออกได้” มาเล่นให้ทีมคอสมอส

ด้านนอกของ 21 คลับ เปเล่ก้าวออกจากรถลิมูซีนสีดำในชุดสูทลำลองผ้าโบรเดดสีดำ มีเข็มกลัดแอปเปิ้ลสีแดงติดที่ปกเสื้อ ขณะนั้นเวลา 12:15 น. ช้ากว่ากำหนดการร่วม 75 นาที แต่เปเล่ยังไม่รีบเร่ง เขาแวะห้องครัวเพื่อเซ็นชื่อบนเมนูอาหารให้กับเชฟและจับมือทักทายพนักงานที่ส่วนใหญ่เป็นคนลาตินอเมริกัน

ในที่สุดเปเล่ก็ปรากฏตัวในฮันท์รูมท่ามกลางความชลมุนเล็กน้อยของสื่อมวลชนที่เบียดแย่งหาตำแหน่งทำงานดีๆ เปเล่ยืนที่โพเดียม ยิ้มอายๆ และชูแขนทำนิ้วสัญลักษณ์ V จากนั้นหยิบปากกาสีเงินและเซ็นชื่อท้ายสัญญา (ที่ถูกปรับเปลี่ยนข้อความเรียบร้อยแล้ว)

เปเล่วางปากกา เงยหน้ามองกลุ่มคนเบื้องหน้าและพูดว่า “ตอนนี้ พวกคุณสามารถบอกกับโลกได้แล้ว ในที่สุดฟุตบอลก็เดินทางมาถึงอเมริกา

เอ็นเอเอสแอล เป็นลีกฟุตบอลอาชีพที่ประสบความสำเร็จลีกแรกในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา เริ่มจัดแข่งขันในปี 1968(และสิ้นสุดในปี 1984) ถือเป็นรากฐานสำคัญที่ทำให้สหรัฐอเมริกาเป็นเจ้าภาพเวิลด์คัพ 1994 และเอ็มแอลเอส ถูกก่อตั้งในปี 1996 แต่ความนิยมตอนนั้นยังห่างจากกีฬาพี่เบิ้มทั้งสี่ หนังสือพิมพ์ไม่ให้ความสำคัญอะไรเลยกับข่าวฟุตบอล เช่นเดียวกับความสนใจของชาวอเมริกัน อย่างปี 1972 ที่คอสมอสครองแชมป์เอ็นเอเอสแอล มีผู้ชมในสนามแค่หกพันคน แถมครึ่งหนึ่งได้ตั๋วฟรีจากการซื้อแฮมเบอร์เกอร์ Double Whopper ของร้านเบอร์เกอร์คิง 

เปเล่เคยให้สัมภาษณ์ถึงเหตุผลที่เลือกใช้ชีวิตช่วงปลายกับคอสมอสว่า “เงินเป็นสิ่งจำเป็นแน่นอน แต่ไม่ใช่สิ่งสำคัญมากที่สุด ตอนที่วอร์เนอร์ฯเชิญผมให้มาที่นี่ ผมมองว่านี่เป็นโอกาสได้ทำอะไรที่ไม่เคยทำมาก่อน นั่นคือแนะนำกีฬาที่ผมรักให้กับประเทศใหม่ ผมได้รับข้อเสนอมากมายมากๆหลังรีไรท์ทีมซานโตส แต่ถ้าไปอิตาลี สเปน เม็กซิโก แล้วผมได้อะไรหรือ เงินเพิ่มขึ้น ซึ่งก็ดีนะ แต่ไม่เห็นมีอะไรใหม่เลย

ทำสิ่งที่ทำมาตลอดชีวิตคือ เอนเตอร์เทนคนดู

เปเล่มาที่คอสมอสด้วยร่างกายของชายวัย 34 ปี ไม่ได้ลงแข่งขันนานแปดเดือนนับจากบอกลาซานโตสในเดือนตุลาคม 1974 มีคำถามว่าเขาจะทำดีแค่ไหนเมื่อต้องลงสนามที่มีการแข่งขันแบบจริงจัง

ที่สนามซ้อมในแรนดัลล์ส ไอส์แลนด์ มาถึงวันแรกที่เปเล่จะได้เจอเพื่อนร่วมทีมใหม่ซึ่งมาจากหลายประเทศเช่น อังกฤษ ตรินิแดด โปแลนด์ อิสราเอล และอุรุกวัย รวมถึงชาวอเมริกันอีกเล็กน้อย ช่วงนั้นเอ็นเอเอสแอลเข้ากลางซีซัน คอสมอสดิ้นรนอยู่ด้านล่างของตารางคะแนน

เปเล่ยังมาไม่ถึงแม้เลยเวลานัดไปแล้วครึ่งชั่วโมง นักเตะบางส่วนกำลังวางเดิมพันว่ากอร์ดอน แบรดลีย์ โค้ชของพวกเขา จะปรับเงินเปเล่ 25 เหรียญสหรัฐโทษฐานมาซ้อมสายหรือไม่ แบรดลีย์เป็นอดีตกองหลังชาวอังกฤษ เคยแข่งกับเปเล่ในนัดพิเศษกลางทศวรรษ 1960 ตอนที่ซานโตสเดินสายทัวร์อเมริกา เขาพูดถึงลูกทีมคนใหม่ว่า “เปเล่เล่นฟุตบอลได้ดีกว่าทุกคนที่ผมเคยเห็นมา

ในที่สุดเปเล่ก็มาถึง แบรดลีย์ตะโกน “ขอต้อนรับสู่บ้านใหม่ของคุณ” ขณะที่ผู้เล่นเริ่มปรบมือต้อนรับ แต่เปเล่โบกมือห้าม “ได้โปรดอย่าทำแบบนั้น ผมเป็นผู้เล่นเหมือนพวกคุณ พวกเราเป็นทีมเดียวกัน” แต่นั่นไม่ได้ช่วยให้ผู้เล่นลดความตื่นเต้นเพราะหลายคนเติบโตพร้อมกับมีโปสเตอร์เปเล่ติดอยู่บนผนังห้องนอน

การแบ่งข้างซ้อมเริ่มขึ้น เปเล่พยายามซึบซัมสภาพแวดล้อใหม่ เขายังคงปราดเข้าไปในเขตโทษเพื่อรอบอลที่โยนเข้ามาจากปีกซ้าย มีจังหวะหนึ่งบอลควรลอยสูงเข้ามาข้างหน้าเพื่อเขาได้โหม่ง แต่กลับพุ่งไปข้างหลัง เปเล่ทำสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิด กระโดดตีลังกาใช้เท้าขวาซัดลูกด้วยท่าจักรยานอากาศ บอลพุ่งกระทบตาข่าย “นั่นมันอะไรน่ะ” Kirk Kuykendahl เคิร์ก คุยเคนดัลห์ ผู้รักษาประตู อุทาน

หลังการซ้อมมื้อแรก เปเล่พูดกับนักข่าวขณะเดินไปยังรถคาดิลแลคสีดำเพื่อเดินทางกลับแมนฮัตตันว่า “จักรยานอากาศไม่ได้ทำกันง่ายๆ แต่วันนี้ผมเพิ่งทำบางสิ่งที่ทำให้คนมีความสุข

แน่นอนเปเล่หมายถึงการเอนเตอร์เทนท์ผู้คน ซึ่งเขาเริ่มนำความบันเทิงมาสู่สายตาชาวโลกครั้งแรกในเวิลด์คัพ 1958 ขณะอายุเพิ่ง 17 ปี “ผมสัมผัสถึงความรับผิดชอบที่อยู่บนไหล่สองข้าง ผมรู้ว่าสาธารณชนคาดหวังไว้อย่างสูง ผมจะทำให้ดีที่สุด

เปเล่ยอมรับมีอาการเหนื่อยล้าจากการซ้อมมื้อแรก “ไม่มีใครหยุดเวลาได้ ผมก็ไม่ใช่นักเตะคนเดิมจากสิบปีที่แล้ว ผมคงทำเหมือนเดิมแต่คงไม่บ่อยนัก แต่ผมคงไม่เล่นฟุตบอลหรอกหากคิดว่าตัวเองไม่สามารถเล่นได้ดี ผมไม่ต้องการทำให้ตัวเองอับอายบนสนามฟุตบอล

เปเล่ตอกย้ำเป้าหมายที่จะพลักดันให้ฟุตบอลเป็นกีฬาระดับเมเจอร์ในสหรัฐอเมริกา “เมล็ดพันธุ์จะถูกโปรยบนดิน มันจะเติบโตกลายเป็นต้นไม้ใหญ่ ซึ่งขึ้นอยู่กับการดูแลเอาใจใส่เมล็ดพันธุ์เล็กๆเหล่านั้น แล้วเราจะได้เห็นกัน

ถ้าคอสมอสไร้แชมป์ ผู้คนย่อมมองเปเล่ไม่ดีพอ

วันที่ 15 มิถุนายน 1975 เปเล่เล่นนัดแรก คอสมอสแข่งกับดัลลัส ทอร์นาโด ที่ดาวนิ่ง สเตเดียม ในแรนดัลล์ส ไอส์แลนด์ บัตรเข้าชมขายดีอย่างไม่เคยเกิดมาก่อน ตั๋วผีถูกอัพเป็น 100 เหรียญสหรัฐจากราคาจริงแค่ 6 เหรียญสหรัฐ มีสื่อมวลชนเข้ามาปฏิบัติหน้าที่กว่า 300 คนจากทั่วโลก ภายในสนามมีแฟนบอลเข้ามาชม 21,278 คน มากกว่าแมตช์ที่แล้วของคอสมอสถึงสี่เท่า ทุกคนพร้อมใจลุกขึ้นปรบมือเมื่อเปเล่เดินออกมาจากอุโมงค์สนาม หลายคนโบกธงชาติบราซิลสีเขียว-ทอง พร้อมโชว์ป้ายใหญ่ที่เขียนว่า O Mais Grande (The Greatest) 

ครึ่งหลังผ่านไป 20 นาที ทอร์นาโดนำอยู่ 2-1 คอสมอสได้เตะมุม บอลลอยสูงและโค้งมาหน้าประตู ร่าง 5 ฟุต 8 นิ้วของเปเล่ กระโดดใช้แรงส่งจากร่างกายผ่านไปยังหน้าผากโขกเต็มแรง สกอร์เสมอ 2-2 เปเล่แสดงความดีใจด้วยการชกกำปั้นขึ้นไปบนอากาศ ภาพประวัติศาสตร์เกิดขึ้นต่อสายตาสื่อมวลชน เพื่อนร่วมทีม และแฟนบอล

เปเล่นำความตื่นเต้นเร้าใจมาให้ทีมคอสมอสแต่ไม่สามารถยกระดับการเล่นของเพื่อนขึ้นมาใกล้เคียงกับตัวเขาในฤดูกาลแรก รวมถึงปี 1976 ซีซันเต็มปีแรกที่เขาทำแอสซิสต์ 18 ครั้ง เป็นสถิติสูงสุดใหม่ของเอ็นเอเอสแอล และรับตำแหน่งผู้เล่นทรงคุณค่า (เอ็มวีพี) ของลีก เปเล่ทำได้ดีที่สุดเพียงพาคอสมอสเข้าใกล้รอบเพลย์ออฟยิ่งขึ้นเท่านั้น

แต่เรื่องความนิยม เปเล่ยังทำได้ดีเช่นเดิม หลายเมืองที่คอสมอสไปเยือน คนดูในสนามเพิ่มขึ้น 2-3 เท่าเสมออย่างเช่นชิคาโก เปเล่เรียกแฟนบอลเข้ามามากถึง 28,000 คน ก่อนลดเหลือ 3,500 คนในสัปดาห์ต่อมาที่คู่แข่งไม่ใช่คอสมอส

เปเล่ตระหนักดีว่าเขาไปไม่ถึงความฝันหากส่งมอบแชมป์ให้สโมสรไม่ได้ “เราต้องเป็นแชมป์ ทีมนี้ต้องเป็นทีมที่ดีที่สุด ทุกทีมที่ผมเล่นก็เพื่อสิ่งนี้ ถ้าทีมไม่ดี พวกเขาจะพากันพูดว่าเปเล่ไม่ดี

บริษัทวอร์เนอร์ฯไม่นิ่งนอนใจ ควักเงินร่วม 8 ล้านเหรียญสหรัฐเพื่อดึงสตาร์ลูกหนังเข้ามาเพิ่มเติมอย่างเช่น จอร์จิโอ ชินาเกลีย (เล่นให้คอสมอส ปี 1976-1983) กองหน้าทีมชาติอิตาลีที่เพิ่งช่วยลาซิโอครองแชมป์กัลโช เซเรีย อา สมัยแรกในซีซัน 1973-74, ฟรานซ์ เบคเคนบาวเออร์ (1977-1980) ยอดปราการหลังทีมชาติเยอรมนี และคาร์ลอส อัลแบร์โต (1977-1980)แบ็คขวาและกัปตันทีมชาติบราซิลชุดแชมป์โลก 1970 อดีตเพื่อนร่วมทีมซานโตสของเปเล่ ขณะที่ยังมีดาวดังอีกหลายคนเดินตามรอยเท้าเปเล่เข้ามาเล่นในสหรัฐอเมริกาด้วยอาทิ โยฮัน ครัฟฟ์, ยูเซบิโอ, บ็อบบี มัวร์, จอร์จ เบสต์ และกอร์ดอน แบงค์ส

วันที่ 28 สิงหาคม 1977 เปเล่ปิดฉากกับคอสมอสได้สวยหรูและสมหวัง พาทีมลงแข่งนัดชิงแชมป์เอ็นเอเอสแอลหรือ”ซอคเกอร์ โบว์ล” เอาชนะซีแอตเติล ซาวน์เดอร์ส 2-1 ที่ซีวิค สเตเดียม ในพอร์ตแลนด์ รัฐโอเรกอน และเป็นแชมป์ลีกสมัยที่สองของสโมสร

ปาร์ตีฉลองแชมป์ซอคเกอร์ โบว์ล ปี 1977 นักเตะและทีมงานสนุกสุดเหวี่ยงรวมถึงเบคเคนบาวเออร์ที่เดินไปตบไหล่เปเล่แล้วเอ่ยปากว่า “ขอสักครั้ง ฉันอยากเต้นรำกับนาย” ตำนานยอดนักฟุตบอลสองคนโยกย้ายส่ายสะโพกด้วยลีลาแซมบาและหัวเราะหยอกเอินกันอย่างมีความสุข

วันที่ 1 ตุลาคม 1977 เปเล่ลงสนามอีกครั้งเป็นเกมนัดพิเศษระหว่างคอสมอสกับซานโตสที่ไจแอนท์ส สเตเดียม ตั๋วขายเกลี้ยงให้กับแฟนบอลเกือบ 77,000 คน คุณพ่อของเปเล่, ภรรยาของเปเล่, บ็อบบี มัวร์ และโมฮัมเหม็ด อาลี ก็อยู่ในสนามด้วย

เปเล่เล่นครึ่งแรกให้คอสมอส ครึ่งหลังให้ซานโตส เกมจบลงด้วยชัยชนะของคอสมอส 2-1 เปเล่ยิงฟรีคิกระยะ 30 หลาให้คอสมอส เป็นประตูสุดท้ายในชีวิตนักฟุตบอลของ O Rei ระหว่างเกมครึ่งหลังมีฝนตก หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งในบราซิลพาดหัวข่าววันต่อมาว่า “Even The Sky Was Crying.”

ท้องฟ้าร้องไห้พร้อมส่งเม็ดฝนลงมาให้กับเมล็ดพันธุ์ที่เปเล่โปรยหว่านไว้บนแผ่นดินสหรัฐอเมริกานับตั้งแต่ย่างเท้าเข้ามาในปี1975 เวลาผ่านไปกว่าสี่ทศวรรษ แม้คนอเมริกันยังเรียกกีฬานี้ว่าซอคเกอร์ แต่ความนิยมของฟุตบอลก็ได้เติบโตขึ้นเรื่อยๆอย่างที่เปเล่ตั้งใจไว้

เรียบเรียง : ฐปน วันชูเพลา (Senior Football Writer) 

Categories
KMD Opinion

ทำไมต้องเป็น “เปเล่” ?

ในขอบเขตของผม จากเด็กผู้ชายตัวน้อย จนถึงวันนี้ที่เป็นชายวัยครึ่งศตวรรษ ความ “แท้” หรือ Originality ของเปเล่ นักเตะบราซิลคนแรก (จาก 2 คน) ที่ผมท่องชื่อจริงเต็ม ๆ ยาว ๆ เอ็ดสัน อรันเตส โด นาสซิเมนโต ได้ตั้งแต่ประถมศึกษา (อีกคน คือ ซิโก้ – อาเธอร์ อันตูเนส โคอิมบรา) คือ “ที่สุด” เท่าที่ผมจำความได้ และพอจะหา reference เร็ว ๆ จากข้อมูล และภาพ “ไฮไลต์” ต่าง ๆ ได้

ตัวอย่างเช่น:

1.ผมเคยคุยกับพี่ตุ๊ก ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน ไอดอลส่วนตัวที่ทันดูแกเล่นจริง ๆ (แต่ไม่ทันได้ดูเกมไลฟ์ของเปเล่ – ได้แต่ชมไฮไลต์) กับการเล่น “ลูกไขว้” (Rabona) ของแก

“พี่เห็นจากเปเล่ เป็นคนแรก และเล่นตาม”

ขยายความต่อในบทสนทนาก็คือ พี่ตุ๊ก เห็น “ครั้งแรก” ลูกไขว้จากไฮไลต์การเล่นของเปเล่ ไม่ใช่ดิเอโก มาราโดนา หรือคนอื่น ๆ

2.โยฮัน ครอยฟ์ เทิร์น (Cruyff turn) ที่ส่วนตัว ผมเห็นจากคลิป VDO ของเปเล่ เป็นภาพขาวดำ ก่อนเห็นคลิป ครอยฟ์ ซึ่งเป็นภาพVDO สี (ส่วนตัวนะครับ)

และส่วนตัวอีกเช่นกันที่ตอนเด็ก ๆ เพราะเปเล่ ผมจึงมักเลือก และขอใส่ “เบอร์ 10” เสมอ ๆ กระทั่งตอนไปทำข่าว และได้เล่นฟุตบอลที่อังกฤษกับคนไทยที่นั่นระหว่าง 1997 – 2006 และเจอฝรั่ง เจอแอฟริกัน ฯลฯ ผมจึงเลิกใส่ เพราะคนเหล่านั้นไม่สนใจอะไร นอกจากคิดว่า “เบอร์ 10” เก่งสุดในทีม ทำให้โดนเตะ โดนจ้องประกบ ฯลฯ อย่างหนัก จนเลิกใส่เบอร์ 10 และหันมาใส่เบอร์อื่น ๆ ประปราย กระทั่งมาทำบริษัทตัวเองที่ใช้การสื่อสารเยอะ “เบอร์ 14” (ตามครอยฟ์) เขาว่ากันว่าดี (เลข 14 หรือ 41 จะดีสำหรับการเจรจา – เบอร์โทรศัพท์ของผมก็จะลงท้ายด้วยเลขนี้)

3.ลูกยิงตีลังกา หรือ bicycle kick ก็เห็นจากเปเล่ก่อนใคร ๆ ทำ ทั้งจากคลิป และจากหนังดังยุค 80s เรื่อง “เตะแหลกแล้วแหกค่าย” ที่คนรุ่น ๆ 40 กลางขึ้นไปน่าจะจำได้

4.ลูกดีดส่งบอลหันหน้าไปทางดีดบอลไปอีกทางในทิศตรงข้ามด้วยข้างเท้าด้านนอกจากด้านข้างแบบ โรนัลดินโญ่ จริง ๆ แล้วก็เป็น เปเล่ ใน VDO ขาวดำทำก่อน

5.เดาะบอลข้ามศีรษะคู่แข่งแล้วไปเอา หรือไปโหม่งเบา ๆ ส่งต่อให้เพื่อนเหมือน ซิเนอดีน ซีดาน ทำใส่ทีมชาติบราซิลในบอลโลก 2006 ก็เป็น เปเล่ ทำก่อน

6.เทคนิคการเลี้ยงบอล และกระชากบอลหนีคู่แข่งแบบต่าง ๆ เช่น หยุดแล้วไป, เลี้ยงลอดขา, เปลี่ยนทิศทางแบบต่าง ๆ หรือสลาลม ตบขวาตบซ้ายใน 1 จังหวะด้วยข้างเท้าด้านในผ่านคู่แข่ง (แบบ อันเดรส อิเนียสตา) ฯลฯ และ ฯลฯ ไปดูคลิป VDO ได้เลย เปเล่ ทำมาแล้วทั้งนั้น

7.ลูกยิงฟรีคิก ไซด์ก้อยแบบ banana kick เช่น โรแบร์โต คาร์ลอส ยิงใส่ ฟาเบียน บาร์เตซ, ฟรีคิกข้ามกำแพงแบบทั้งเบา หรือใช้พลัง หรือการยิง การผ่านบอลด้วยเทคนิคต่าง ๆ เช่น ใบไม้ร่วง, ไซด์โป้ง ฯลฯ เปเล่ สรรค์สร้างก่อนแล้วทั้งนั้น (ย้ำอีกที ผมแค่เห็นเปเล่ทำก่อนใครนะ แทรกจากไฮไลต์เก่า ๆ ตั้งแต่ภาพขาวดำ)

8.ฯลฯ และ ฯลฯ ทุกคนสามารถเสริมกันได้นะครับ ผมรีบเขียน รีบคิดหลังตื่นนอนคงเล่าได้ไม่มีทางครบ และรอยประทับของเปเล่ในใจทุกคนคงจะมีแตกต่างกัน

9.อย่างไรก็ดี หากถาม “ภาพจำ” ที่สุดภาพหนึ่งของเปเล่ กับผม มันกลับกลายเป็นประตูที่เค้าเรียกกันว่า “ประตูที่ไม่ได้ประตู” ในฟุตบอลโลก 1970 ที่เม็กซิโก ที่มักถูกเรียกว่า “The famous goal that never was” ในเกมรอบตัดเชือกกับอุรุกวัยที่เปเลวิ่งจะรับบอลจากทอสเทา แต่หลอกไม่รับ ไม่จับ ไม่แตะบอลเลย เรียกได้ว่า หลอกคนทั้งสนามรวมถึงนายทวารอุรุกวัยที่ลงไปนั่งจ้ำเบ้าแล้ววิ่งอ้อมไปยิงทันที แต่หลุดเสาไกล

ส่วนตัวแล้ว ในทุกโมเมนท์ของเปเล่ ผมชอบ และ “จดจำ” ภาพนี้ในสนามได้มากที่สุด มากกว่าภาพประตูสวย ๆ หรือภาพโหม่งจ่อ ๆ แล้ว กอร์ดอน แบงค์ โกล์ตำนานอังกฤษเซฟได้ ฯลฯ

10.ข้อสุดท้าย และสำหรับเพื่อน ๆ ทุกท่านที่อาจไม่ทราบก็คือ ที่มาที่ไปของชื่อบริษัท “ไข่มุกดำ” แท้จริง ๆ แล้วไม่ใช่แค่แปลมาจากคำว่า “Black Pearl” ในภาษาอังกฤษโต้ง ๆ ตรง ๆ

หรืออาจจะแบบที่หลายคนสงสัยว่า บริษัท Sport Services Specialist โดยเฉพาะเรื่องฟุตบอล ไฉนมาตั้งชื่อเหมือนบริษัทขายเครื่องประดับ “ไข่มุก” เพชร พลอย อะไร?

หรือก่อนหน้าจะมาเป็นบริษัท ค.ศ.2020 ผมได้ใช้นามปากกา “ไข่มุกดำ” นี้ตั้งแต่ ค.ศ.1999 สมัยอยู่เดลินิวส์, คิกออฟ, ฮอตสกอร์ (ก่อนหน้านี้ใช้ “Topman” ตั้งแต่ปี 1995 ตอนเริ่มงานใหม่ ๆ) เพราะอะไร?

หากอ่านถึงบรรทัดนี้ ผมเชื่อว่า ทุกคนน่าจะทราบเหตุผลแล้วนะครับ:)

ดังนั้น ส่วนตัว และในชีวิตฟุตบอลในสนาม หากไม่ใช่ ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน ก็ต้อง “เปเล่” ที่มีอิทธิพลต่อชีวิตของผมมากที่สุด และกล่าวได้ว่า ทำให้ผมมีวันนี้ได้

ครับ เปเล่ จากไปแล้วเมื่อประมาณตี 2 เวลาบ้านเราวันที่ 30 ธ.ค.2022 ด้วยวัย 82 ปี ผมขอใช้โพสต์นี้รำลึกถึงตำนานนักเตะผู้นี้จากก้นบึ้งที่สุดของหัวใจจริง ๆ

ขอขอบคุณ และ “ภูมิใจ” ที่สุดที่ได้ใช้ฉายา “ไข่มุกดำ” ของเปเล่เป็นชื่อนามปากา และชื่อบริษัท ที่ผม และทีมจะ “รักษา” และทำให้ดีที่สุดต่อไป

อย่างน้อยก็เพื่อทำให้ตัวเองได้ระลึกถึงยอดตำนานฟุตบอลตลอดกาลของโลกได้บ้าง ไม่มากก็น้อย…🙏

☕ณัฐวุฒิ ประเทืองศิลป์

📷Living Colour

Categories
Special Content

ย้อนรอยชีวิต “เปเล่” ราชาผู้ยิ่งใหญ่ ไอคอนแห่งวงการลูกหนังโลก

คืนวันที่ 29 ธันวาคมที่ผ่านมา เป็นอีกครั้งที่โลกลูกหนังได้สูญเสียนักฟุตบอลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดไปอีกราย นั่นคือ เปเล่ ตำนานทีมชาติบราซิล เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งลำไส้ ในวัย 82 ปี

การคว้าแชมป์ฟุตบอลโลก 3 สมัย และสถิติส่วนตัวต่างๆ ที่สร้างไว้นับไม่ถ้วน ก็เพียงพอแล้ว ที่เปเล่จะได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในนักเตะที่ดีที่สุดตลอดกาล โดยไม่มีข้อโต้แย้งใด ๆ

ไข่มุกดำ x SoccerSuck ขอร่วมรำลึกถึงการจากไปของ “ราชาลูกหนัง” ด้วยการนำเรื่องราวที่เคยสร้างสีสันให้กับวงการฟุตบอล และเป็นที่พูดถึงของผู้คนทั่วโลกมาฝากกัน

เปิดตำนาน “ไข่มุกดำ” สมบัติแห่งแซมบ้า

เอ็ดสัน อรันเตส โด นาสซิเมนโต เกิดมาในครอบครัวที่ยากจนสุดๆ แต่ด้วยความที่รักในฟุตบอล เขาจึงแก้ปัญหาด้วยการใช้หนังสือพิมพ์ยัดใส่ลงไปในถุงเท้า หรืออะไรก็ได้ที่สามารถทำให้เป็นลูกบอล

ส่วนชื่อ “เปเล่” นั้น ได้มาจากการเรียกชื่อของ บิเล่ (Bilé) อดีตผู้รักษาประตูของวาสโก ดา กาม่า ที่ผิดเพี้ยนเป็น ปิเล่ ทำให้เพื่อนๆ ต้องตั้งชื่อให้ใหม่ว่า เปเล่ และใช้เรียกแทน “ดิโก้” ซึ่งเป็นชื่อเล่นเดิมในที่สุด

แม้แฟนบอลโดยส่วนใหญ่ จะเรียกว่า “เปเล่” แต่ยังมีอีกฉายาหนึ่งที่แฟนบอลในบราซิลมอบให้ คือ “Pérola Negra” ซึ่งคำนี้มาจากภาษาโปรตุกีส ที่แปลว่า “Black Pearl” หรือ “ไข่มุกดำ” นั่นเอง

ตลอดชีวิตการค้าแข้ง เปเล่ยิงประตูรวมกันทั้งหมด 757 ประตู ตามข้อมูลที่ฟีฟ่าได้รับรองสถิติ ถึงแม้เจ้าตัวจะเคยบอกว่า เขายิงได้ทั้งหมด 1,283 ประตู โดยอ้างข้อมูลจากสมาพันธ์ฟุตบอลอเมริกาใต้ก็ตาม

เปเล่ ไม่เคยได้สัมผัสชีวิตการเล่นฟุตบอลสโมสรยุโรปเลย เนื่องจากรัฐบาลบราซิลยกให้เป็น “สมบัติของชาติ” เพราะไม่ต้องการให้เขาอ่อนล้าจากการเดินทางไกล หรือไม่สะดวกบินกลับมาช่วยทีมชาติได้

แต่ภายหลัง เมื่อสถานะ “สมบัติของชาติ” ไม่มีอีกต่อไป เปเล่จึงได้โอกาสย้ายไปค้าแข้งต่างทวีปกับนิวยอร์ก คอสมอส ในสหรัฐอเมริกาช่วงสั้นๆ เมื่อปี 1975 และแขวนสตั๊ดเลิกเล่นฟุตบอลอาชีพ ในอีก 2 ปีต่อมา

นักเตะผู้สร้างปรากฏการณ์ในเวิลด์ คัพ

เปเล่ ติดทีมชาติบราซิลชุดใหญ่เป็นครั้งแรก เมื่อปี 1957 และเป็นที่รู้จักของแฟนบอลมากขึ้น เมื่อเขาได้โอกาสรับใช้ทีมแซมบ้า เข้าร่วมแข่งขันฟุตบอลโลก ปี 1958 ที่ประเทศสวีเดน

และประวัติศาสตร์ของเขาได้เริ่มต้นขึ้นในรอบ 8 ทีมสุดท้าย เขาเป็นผู้ทำประตูชัย เอาชนะเวลส์ 1 – 0สร้างสถิติเป็นนักเตะอายุน้อยสุดที่ทำประตูได้ในฟุตบอลโลก ในวัย 17 ปี 239 วัน

อีก 5 วันต่อมา ในรอบรองชนะเลิศที่ถล่มฝรั่งเศสขาดลอย 5 – 2 เปเล่ยิงคนเดียว 3 ประตู สถิติอย่างที่ 2 ก็ตามมา โดยเป็นนักเตะอายุน้อยสุดที่ทำแฮตทริกได้ในฟุตบอลโลก (17 ปี 244 วัน)

ปิดท้ายด้วยนัดชิงชนะเลิศ ที่ชนะเจ้าภาพ 5 – 2 เช่นเดียวกัน เปเล่ ในวัย 17 ปี 249 วัน กลายนักเตะอายุน้อยสุดที่ได้ลงเล่นนัดชิงชนะเลิศ ทำประตูได้ (2 ประตู) และคว้าแชมป์ฟุตบอลโลก

ความสำเร็จในการคว้าแชมป์เวิลด์ คัพ สมัยแรกกับบราซิล ทำให้เปเล่ได้รับการยกย่องให้เป็น “O Rei” ซึ่งคำนี้มาจากภาษาโปรตุกีส ที่แปลว่า “The King” หรือ “ราชา” ในวงการลูกหนัง

หลังจากนั้น เปเล่ ได้ลงเล่นฟุตบอลโลก รอบสุดท้ายอีก 3 สมัย และคว้าแชมป์เพิ่มได้ 2 สมัย ในปี 1962 และ 1970 โดยเฉพาะครั้งหลังสุด เขายิงได้ 1 ประตู ในนัดชิงชนะเลิศที่ถล่มอิตาลี 4 – 1

แชมป์โลกหนที่ 3 ของบราซิล ส่งให้เปเล่ได้รับการจารึกชื่อว่า เป็นนักเตะคนแรกในประวัติศาสตร์ ที่คว้าแชมป์ฟุตบอลโลกได้ 3 สมัย และยังไม่มีนักเตะคนใด ทำได้เทียบเท่าเขาจนถึงปัจจุบัน

เล่นฟุตบอลสุดปัง แต่ทำนายสุดพัง

เรื่องของฝีเท้า ไม่มีใครสงสัยเลยว่า เปเล่ทำได้สุดยอดมากๆ แต่เมื่อเขาออกมาทำนายเหตุการณ์อะไรบางอย่างในวงการฟุตบอล ผลลัพธ์ที่ออกมาตรงกันข้ามแทบจะทุกครั้ง จนเป็นกลายเป็นภาพจำ

ตำนานการทำนายผิดพลาดของเปเล่ เริ่มต้นในปี 1977 เขาให้สัมภาษณ์ว่า “ทีมจากทวีปแอฟริกา จะคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกก่อนปี 2000” แต่จนถึงเวิลด์ คัพ ปี 2022 ชาวกาฬทวีปก็ยังไม่สมหวังเสียที

ต่อไปนี้คือคำทำนายที่ผิดพลาดของเปเล่ ใน “เวิลด์ คัพ” แต่ละครั้ง ตั้งแต่ปี 1990 – 2022

– 1990 : “อิตาลี เป็นทีมที่ดี คือเต็ง 1 ที่จะคว้าแชมป์”

ผลลัพธ์ : อิตาลี ตกรอบรองชนะเลิศ แพ้จุดโทษอาร์เจนติน่า

– 1994 : “โคลัมเบียจะเข้าถึงรอบรองชนะเลิศเป็นอย่างน้อย และอาจถึงขั้นคว้าแชมป์ เยอรมันจะไปถึงรอบชิงชนะเลิศ บราซิลจะไปไม่ถึงแชมป์แม้จะมีนักเตะที่ดี”

ผลลัพธ์ : โคลัมเบียตกรอบแรก, เยอรมันตกรอบ 8 ทีมสุดท้าย, บราซิลคว้าแชมป์สมัยที่ 4

– 1998 : “สเปนคือเต็งหนึ่งในทัวร์นาเมนท์นี้ อังกฤษมีผู้จัดการทีมที่ดี สไตล์การเล่นที่ดี และมีนักเตะที่แข็งแกร่งมาก จะไปถึงรอบลึกๆ ได้แน่นอน”

ผลลัพธ์ : สเปนตกรอบแรก, อังกฤษตกรอบ 16 ทีมสุดท้าย

– 2002 : “บราซิลจะตกรอบแรก นักเตะชุดนี้มันห่วยมาก ทีมเวิร์กไม่มี, อาร์เจนติน่า กับ ฝรั่งเศส คือตัวเต็งคว้าแชมป์ ส่วนจีนจะผ่านรอบแรกได้แน่นอน”

ผลลัพธ์ บราซิลคว้าแชมป์สมัยที่ 5 ส่วนอาร์เจนติน่า, ฝรั่งเศส และจีน ตกรอบแรกทั้งหมด

– 2006 : “4 ทีมสุดท้ายในครั้งนี้ บราซิล, อาร์เจนติน่า, อังกฤษ และฝรั่งเศส”

ผลลัพธ์ ฝรั่งเศส เป็นทีมเดียวที่ไปถึงรอบชิงชนะเลิศ ส่วนอีก 3 ทีมที่เหลือ ตกรอบ 8 ทีมสุดท้ายทั้งหมด

– 2014 : “อังกฤษอยู่ในกลุ่มที่ยาก แต่คิดว่าผ่านเข้ารอบน็อกเอาต์ได้ และสเปนคือเต็งแชมป์ เพราะใช้นักเตะชุดเดิม”

ผลลัพธ์ อังกฤษตกรอบแรก จบอันดับสุดท้ายของกลุ่ม ส่วนสเปนได้ที่ 3 ของกลุ่ม ตกรอบแรกเช่นกัน

– 2018 : “บราซิลจะคว้าแชมป์ และเนย์มาร์จะเป็นผู้เล่นคนสำคัญในการลุ้นดาวซัลโวกับคริสเตียโน่ โรนัลโด้ และลิโอเนล เมสซี่”

ผลลัพธ์ บราซิลตกรอบ 8 ทีมสุดท้าย ส่วนเนย์มาร์ยิงได้แค่ 2 ประตู

– 2022 : “ตอนนี้บราซิลมีดาวประดับอยู่บนตรา 5 ดวงแล้ว และรอไม่ไหวแล้วที่จะได้เพิ่มดวงที่ 6 รู้สีกมั่นใจในทีมชุดนี้”

ผลลัพธ์ ขุนพลเซเลเซา ไปได้ไกลเพียงแค่รอบ 8 ทีมสุดท้าย แพ้จุดโทษโครเอเชีย

อย่างไรก็ตาม มีเพียงครั้งเดียวที่เปเล่ทำนายแชมป์ฟุตบอลโลกได้ถูกต้อง เกิดขึ้นเมื่อปี 2010 โดยเจ้าตัวบอกว่า “บราซิล และสเปน คือเต็งแชมป์” ซึ่งท้ายที่สุด สเปนคว้าแชมป์สมัยแรกได้สำเร็จ

ทุกเรื่องราวที่เกิดขึ้นบนเส้นทางลูกหนัง ทำให้เปเล่ กลายเป็นไอคอนของผู้คนทั่วโลก ซึ่งชายคนนี้ จะเป็นที่จดจำไปตลอดกาล และจะเป็นหนึ่งในตำนานที่ยิ่งใหญ่เกินกว่าจะหาใครมาเทียบได้

เรียบเรียง : จักรพันธ์ ภู่ทอง

อ้างอิง :

https://www.theguardian.com/football/2010/jun/05/world-cup-2010-pele-predictions

https://www.sportskeeda.com/sports/peles-predictions

https://www.thefa.com/news/2014/jun/10/pele-backs-england-to-get-out-of-group-100614

https://www.express.co.uk/sport/football/971839/World-Cup-2018-Brazil-Neymar-Portugal-Cristiano-Ronaldo-Argentina-Lionel-Messi-Pele

https://en.as.com/soccer/why-did-they-call-pele-o-rei-where-did-it-originate-what-does-it-mean-n/

https://www.marca.com/en/world-cup/2022/12/18/639eebbf46163fe3878b45f8.html

https://en.wikipedia.org/wiki/Pel%C3%A9