Categories
Special Content

ทฤษฎีช้างตกต้นไม้ : ย้อนรอยทีมจ่าฝูงแพ้ภัยตัวเอง พลาดแชมป์แบบสุดช็อก

หลังเกมบิ๊กแมตช์พรีเมียร์ลีก ชี้ชะตาการลุ้นแชมป์ เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา แมนเชสเตอร์ ซิตี้ เปิดบ้านถล่ม อาร์เซน่อล 4 – 1 ส่งผลให้ “แชมป์เก่า” ทำคะแนนไล่จี้เหลือ 2 แต้ม แถมเตะน้อยกว่าถึง 2 นัด

แม้โมเมนตัมในการลุ้นคว้าแชมป์จะเอียงไปทาง “เรือใบสีฟ้า” มากขึ้น แต่เมื่อสถานการณ์ยังไม่ทิ้งห่างแบบขาดลอย “ปืนใหญ่” ก็มีหวังเล็ก ๆ ในการกลับมาคว้าโทรฟี่พรีเมียร์ลีกครั้งแรกในรอบเกือบ 20 ปี

มีเรื่องโจ๊กจากแฟนบอลในต่างประเทศ ที่เคยกล่าวไว้ว่า “อาร์เซน่อลที่อยู่ในอันดับ 1 ของตาราง เสมือนช้างที่อยู่บนต้นไม้ ไม่มีใครรู้ว่ามันปีนขึ้นไปได้อย่างไร แต่ทุกคนรู้ว่าสุดท้ายมันต้องตกลงมาอยู่ดี”

วลี “ช้างที่อยู่บนต้นไม้” คือการเปรียบเปรยถึงสิ่งที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ หรือสิ่งที่ผิดธรรมชาติ ทว่าเมื่อเวลาผ่านไป โลกแห่งความเป็นจริง ก็จะกระชากจากภวังค์ให้กลับมาอยู่กับสิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้าอีกครั้ง

ในรอบ 40 ปีที่ผ่านมา ได้มีเหตุการณ์ของทีมที่กำลังอยู่ในตำแหน่งจ่าฝูง แต่พอพลาดท่าแพ้เกมสำคัญระหว่างฤดูกาล ให้กับคู่แข่งที่แย่งแชมป์แบบโดยตรง กลายเป็นจุดพลิกผันสู่ความผิดหวังในที่สุด

1989 : ลิเวอร์พูล 0 – 2 อาร์เซน่อล (26 พฤษภาคม)

ศึกลูกหนังดิวิชั่น 1 ลีกสูงสุดของอังกฤษในขณะนั้น เมื่อฤดูกาล 1988/89 ลิเวอร์พูล กับ อาร์เซน่อล คือคู่ชิงแชมป์ประจำซีซั่น และมีโปรแกรมพบกันเองในนัดสุดท้าย ซึ่ง “หงส์แดง” กุมความได้เปรียบอยู่

สถานการณ์ก่อนลงเตะนัดตัดสินแชมป์ที่แอนฟิลด์ ลิเวอร์พูลนำอันดับ 1 มี 76 คะแนน ผลต่างประตูได้-เสีย +39 โดยมีอาร์เซน่อล ตามมาติด ๆ ในอันดับ 2 มี 73 คะแนน ผลต่างประตูได้-เสีย +35

ที่สำคัญ ลิเวอร์พูลกำลังอยู่ในช่วงฟอร์มที่ดี 18 เกมหลังสุดในลีก ไม่แพ้ใคร และเสียประตูในบ้านเพียง 2 ลูก โยนความกดดันไปให้อาร์เซน่อล ที่ต้องชนะด้วยผลต่าง 2 ประตูขึ้นไป ถึงจะแซงคว้าแชมป์

ครึ่งแรกยังยิงกันไม่ได้ แต่เริ่มครึ่งหลังได้ไม่ถึง 10 นาที อลัน สมิธ โขกให้อาร์เซน่อลขึ้นนำก่อน 1 – 0 อย่างไรก็ตาม ถ้าจบด้วยสกอร์นี้ ลิเวอร์พูลยังเป็นฝ่ายที่ได้แชมป์ เพราะผลต่างประตูได้-เสียดีกว่า

เจ้าบ้านพยายามบุกหนักหวังตีเสมอให้ได้ แต่จนแล้วจนรอดก็ยังทำไม่สำเร็จ เคนนี่ ดัลกลิช กุนซือลิเวอร์พูล ตัดสินใจเคาะบอลไปมาเพื่อเผาเวลาไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งเกิดฟ้าผ่ากลางแอนฟิลด์ขึ้นจนได้

ช่วงทดเวลาบาดเจ็บ ไมเคิล โธมัส ยิงประตู 2 – 0 ส่งอาร์เซน่อลคว้าแชมป์ลีกสูงสุดหนแรกในรอบ 18 ปี โดยมีแต้ม และผลต่างประตูได้เสียเท่ากัน แต่มีจำนวนประตูได้ที่มากกว่าลิเวอร์พูล (73 ต่อ 65)

1996 : นิวคาสเซิล 0 – 1 แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด (4 มีนาคม)

ฤดูกาล 1995/96 ลีกสูงสุดเมืองผู้ดี เปลี่ยนชื่อเป็น “พรีเมียร์ลีก” ได้ไม่นาน นิวคาสเซิล ทำผลงานได้อย่างโดดเด่น จนทำแต้มทิ้งห่างแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ไกลถึง 12 แต้มในเดือนมกราคม 1996

แต่หลังจากนั้น นิวคาสเซิลก็เริ่มฟอร์มแกว่ง จนถูกแมนฯ ยูไนเต็ด ไล่จี้เข้ามา และทั้ง 2 ทีม มีโปรแกรมพบกันเองที่เซนต์ เจมส์ปาร์ค ช่วงต้นเดือนมีนาคม ซึ่งก่อนลงสนาม “สาลิกาดง” นำอยู่ 4 แต้ม

นิวคาสเซิล มีโอกาสบุกมากกว่า แต่ยิงอย่างไรก็ไม่ผ่านมือปีเตอร์ ชไมเคิล นายทวารแมนฯ ยูไนเต็ด สุดท้ายแล้ว เอริค คันโตน่า พังประตูชัยให้ “ปิศาจแดง” บุกชนะ 1 – 0 ลดช่องว่างเหลือแค่แต้มเดียว

เมื่อระยะห่างแคบลงเรื่อย ๆ เซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน กุนซือแมนฯ ยูไนเต็ด จัดการเปิดสงครามจิตวิทยา และสุดท้าย เควิน คีแกน ก็ตกหลุมพรางจนสูญเสียความมั่นใจ และเริ่มรับมือกับความกดดันไม่ไหว

ช่วงที่เหลือของซีซั่น สถานการณ์ลุ้นแชมป์ก็กลับตาลปัตร นิวคาสเซิล ชนะ 5 เสมอ 2 แพ้ 3 สุดท้ายถูกแมนฯ ยูไนเต็ด ที่ชนะถึง 7 จาก 9 เกมสุดท้าย แซงคว้าแชมป์ด้วยการมีคะแนนมากกว่า 4 แต้ม

1998 : แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด 0 – 1 อาร์เซน่อล (14 มีนาคม)

ฤดูกาล 1997/98 แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ของเซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน หวังจะเป็นทีมแรกที่คว้าแชมป์พรีเมียร์ลีก 3 ซีซั่นติดต่อกัน แต่สำหรับอาร์เซน่อล นี่คือครั้งแรกที่อาร์แซน เวนเกอร์ คุมทีมแบบเต็มซีซั่น

ช่วงกลางเดือนมีนาคม 1998 แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด นำเป็นจ่าฝูง มีแต้มนำอาร์เซน่อล 9 แต้ม แต่ทีมของกุนซืออาร์แซน เวนเกอร์ ลงเตะน้อยกว่าถึง 3 เกม และทั้ง 2 ทีม มีนัดปะทะกันที่โอลด์ แทรฟฟอร์ด

เกมทำท่าว่าจะจบด้วยผลเสมอ แต่ในนาทีที่ 79 มาร์ค โอเวอร์มาร์ส วิ่งมาซัดด้วยขวาผ่านปีเตอร์ ชไมเคิล เป็นประตูชัยให้อาร์เซน่อล พร้อมกับลดช่องว่างเหลือ 6 แต้ม กับโปรแกรมที่ตกค้างในมือ 3 นัด

หลังบิ๊กแมตช์ที่โรงละคร “เดอะ กันเนอร์ส” กุมชะตากรรมไว้ในมือของตัวเองแล้ว โดยชนะถึง 8 จาก 10 เกมที่เหลือ ขณะที่แมนฯ ยูไนเต็ด ชนะ 5 จาก 7 เกมสุดท้าย แต่ไม่เพียงพอต่อการป้องกันแชมป์

อาร์เซน่อล การันตีตำแหน่งอันดับ 1 หลังถล่มเอฟเวอร์ตัน 4 – 0 เมื่อเหลือ 2 นัดสุดท้ายของฤดูกาล คว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกได้เป็นครั้งแรกในยุคของเวนเกอร์ โดยเฉือน “ปิศาจแดง” เพียงแต้มเดียวเท่านั้น

2010 : แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด 1 – 2 เชลซี (3 เมษายน)

หลังจากคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกมาแล้ว 3 ซีซั่นติดต่อกัน แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ในฤดูกาล 2009/10 หวังที่จะสร้างประวัติศาสตร์ใหม่ชนิดที่ไม่มีทีมใดเคยทำมาก่อน ด้วยการคว้าแชมป์ต่อเนื่องเป็นซีซั่นที่ 4

และผู้ท้าชิงของพวกเขาคือ เชลซี ของกุนซือคาร์โล อันเชล็อตติ ที่ทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยม จนถึงแมตช์ที่ต้องพบกับทีมของเซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ในเกมที่ 33 ของฤดูกาล ช่วงต้นเดือนเมษายน 2010

ก่อนเกมบิ๊กแมตช์ที่โอลด์ แทร็ฟฟอร์ด “ปิศาจแดง” อยู่ในตำแหน่งจ่าฝูง มีคะแนนนำหน้าเชลซี 1 แต้ม ต้องการชัยชนะเพื่อทำแต้มทิ้งห่างออกไป และถือเป็นการล้างแค้นจากเกมนัดแรกที่บุกไปแพ้ 0 – 1

เชลซี ออกนำก่อน 2 ประตู จากโจ โคล และดิดิเยร์ ดร็อกบา แม้เฟเดริโก้ มาเคด้า จะยิงตีตื้นให้แมนฯ ยูไนเต็ด ไล่มาเป็น 1 – 2 แต่ “สิงห์บูลส์” ก็ยันสกอร์นี้ไว้ได้จนจบเกม แซงขึ้นจ่าฝูง เมื่อเหลือ 5 นัดสุดท้าย

ซึ่งโปรแกรมที่เหลือของทั้ง 2 ทีม ต่างฝ่ายต่างชนะทีมละ 4 เกมเท่ากัน ส่งผลให้เชลซี เป็นฝ่ายที่คว้าแชมป์ไปครองได้สำเร็จ ดับฝันแมนฯ ยูไนเต็ด ในการเป็นทีมแรกที่คว้าแชมป์พรีเมียร์ลีก 4 สมัยติดต่อกัน

2012 : แมนเชสเตอร์ ซิตี้ 1 – 0 แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด (30 เมษายน)

ฤดูกาล 2011/12 ช่วงต้นเดือนเมษายน แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ยืนอยู่ในตำแหน่งจ่าฝูง มีแต้มนำแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ถึง 8 แต้ม เมื่อเหลืออีก 6 เกม ทำให้หลายคนมองว่า “ปิศาจแดง” น่าจะเข้าวินได้ไม่ยาก

ทว่า 3 นัดหลังจากนั้น แมนฯ ซิตี้ ชนะรวด สวนทางกับแมนฯ ยูไนเต็ด ที่ออกอาการสะดุดครั้งใหญ่ เมื่อบุกไปแพ้วีแกน แบบพลิกล็อก 0 – 1 และถูกเอฟเวอร์ตันไล่ตามตีเสมอ 4 – 4 คาโอลด์ แทร็ฟฟอร์ด

ก่อนเกมแมนเชสเตอร์ ดาร์บี้ ที่เอติฮัด สเตเดี้ยม ถิ่นของ “เรือใบสีฟ้า” ในวันสิ้นเดือนเมษายน 2012 ยูไนเต็ดมีแต้มนำซิตี้เพียง 3 แต้ม นั่นหมายความว่า ถ้า “ปิศาจแดง” แพ้ จะหล่นมาเป็นอันดับ 2 ทันที

ในช่วงทดเจ็บครึ่งแรก แว็งซองต์ กอมปานี ทำประตูชัยให้กับแมนฯ ซิตี้ เก็บ 3 คะแนนสำคัญ แซงแมนฯ ยูไนเต็ด ขึ้นนำเป็นจ่าฝูง มี 83 แต้มเท่ากัน แต่ผลต่างประตูได้-เสีย ดีกว่าอยู่ 8 ลูก เมื่อเหลืออีก 2 เกม

นัดรองสุดท้าย 2 ทีมเมืองแมนเชสเตอร์ ชนะทั้งคู่ ส่วนผลแข่งในเกมที่ 38 แมนฯ ยูไนเต็ด ที่แข่งจบไปก่อน บุกชนะซันเดอร์แลนด์ 1 – 0 ขณะที่แมนฯ ซิตี้ ยังเสมอกับควีนสปาร์ค เรนเจอร์ส 2 – 2 ช่วงท้ายเกม

และนัดปิดซีซั่น คือหนึ่งในเหตุการณ์การคว้าแชมป์ที่ดราม่าที่สุดตลอดกาล กับประตูชัยของกุน อเกวโร่ นาทีที่ 93.20 ซึ่งเป็นโมเมนต์ที่ทำเอาแฟนๆ “เรด อาร์มี่” อยากจะลบออกจากความทรงจำเลยทีเดียว

2019 : แมนเชสเตอร์ ซิตี้ 2 – 1 ลิเวอร์พูล (3 มกราคม)

ฤดูกาล 2018/19 แมนเชสเตอร์ ซิตี้ และลิเวอร์พูล เป็นคู่ชิงแชมป์พรีเมียร์ลีกที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์ฟุตบอลอังกฤษ แฟนบอลของทั้ง 2 ทีม ต่างลุ้นกันนัดต่อนัด ตั้งแต่เริ่มต้นไปจนถึงนัดสุดท้ายของฤดูกาล

สิ้นปี 2018 ลิเวอร์พูล มีคะแนนนำแมนฯ ซิตี้ อยู่ 7 แต้ม หลังผ่านไป 20 เกม และเกมต่อมา คือเกมแรกของปี 2019 ทั้งคู่ต้องห้ำหั่นกันเอง ที่เอติฮัด สเตเดี้ยม ถือเป็นนัดสำคัญที่มีผลต่อการลุ้นแชมป์โดยตรง

ขณะที่ยังเสมอกันอยู่ 0 – 0 ในนาทีที่ 20 ซาดิโอ มาเน่ ดาวยิงลิเวอร์พูล ซัดบอลไปชนเสา จอห์น สโตนส์ แนวรับแมนฯ ซิตี้ สกัดบอลโดนเอแดร์ซอน นายทวารเพื่อนร่วมทีม ก่อนที่สโตนส์จะเคลียร์บอลออกจากเส้น ขาดเพียง 11 มิลลิเมตร จะข้ามเส้นประตู

ซึ่งนั่นคือจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้แมนฯ ซิตี้ เก็บ 3 คะแนนสุดล้ำค่า ด้วยชัยชนะ 2 – 1 ลดช่องว่างลงมาเหลือ 4 แต้ม แถมเป็นการยัดเยียดความปราชัยนัดแรก และนัดเดียวตลอดทั้งฤดูกาลชองลิเวอร์พูลด้วย

แมนเชสเตอร์ ซิตี้ เก็บชัย 2 นัดติด ก่อนบุกไปแพ้นิวคาสเซิล 1 – 2 และหลังจากนั้น สร้างสถิติสุดโหด ชนะ 14 นัดติดต่อกัน ฮึดแซงคว้าแชมป์ได้แบบน่าเหลือเชื่อ โดยเฉือนลิเวอร์พูลแค่แต้มเดียว (98 ต่อ 97)

และในฤดูกาล 2022/23 ทีมของเป๊ป กวาร์ดิโอล่า ก็มีโอกาสทำสถิติชนะ 14 นัดรวด เหมือนเมื่อ 4 ซีซั่นก่อน หลังจากชัยชนะในเกมกับอาร์เซน่อลเมื่อกลางสัปดาห์ พวกเขาเก็บชัยชนะมาแล้ว 7 นัดติดต่อกัน

อย่างไรก็ตาม จากลิสต์นี้ ทีมที่นำจ่าฝูงแต่วืดแชมป์เมื่อจบฤดูกาล สามารถกลับมายืนแป้นอันดับ 1 ทันทีในซีซั่นถัดมาได้ถึง 5 ครั้ง แสดงให้เห็นถึงการนำบทเรียนจากความผิดหวัง เป็นแรงขับสู่ความสำเร็จ

เรียบเรียง : จักรพันธ์ ภู่ทอง

อ้างอิง :

– https://www.dailymail.co.uk/sport/football/article-12010655/The-pivotal-title-deciders-Man-City-host-Arsenal-Premier-League.html

– https://thearsenalelephant.com/the-arsenal-elephant-blog/f/the-elephant-that-never-fell-from-the-tree

Categories
Football Business

ว่าด้วยเรื่อง “อาร์เซน่อล” กับการเงินที่ติดลบต่อเนื่อง

วันคริสต์มาส ในปี 2022 แฟนบอลอาร์เซน่อลคงจะมีความสุขไม่น้อย ที่ได้เห็นทีมรักนำเป็นจ่าฝูงพรีเมียร์ลีก ซึ่งต้องรอดูว่าหลังจากเบรกฟุตบอลโลก จะยังสานต่อความยอดเยี่ยมไว้ได้หรือไม่

อย่างไรก็ตาม ยักษ์ใหญ่จากนอร์ธ ลอนดอนทีมนี้ ได้ประกาศผลประกอบการรอบล่าสุด ประจำปีงบประมาณ 2021-22 พบว่าขาดทุน 45.5 ล้านปอนด์ ทำสถิติขาดทุนต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 ติดต่อกันแล้ว

เรื่องราวเบื้องหลังการเงินของ “เดอะ กันเนอร์ส” ที่ผลประกอบการติดลบอย่างต่อเนื่องหลายปี จะเป็นอย่างไร ติดตามได้ที่ ไข่มุกดำ x SoccerSuck

เปิดเบื้องหลังการเงิน “เดอะ กันเนอร์ส”

ปีงบประมาณ 2021-22 อาร์เซน่อลขาดทุน 45.5 ล้านปอนด์ เป็นการติดลบ 4 ปีติดต่อกัน นับตั้งแต่ปี 2018-19 (27.1 ล้านปอนด์), ปี 2019-20 (47.8 ล้านปอนด์) และปี 2020-21 (107.3 ล้านปอนด์)

ปี 2020-21 ที่อาร์เซน่อลขาดทุนระดับหลักร้อยล้านปอนด์ สาเหตุสำคัญคือผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ไม่สามารถเปิดให้แฟนบอลเข้าชมการแข่งขันในสนามได้ตามปกติ

ขณะที่ในปี 2021-22 อาร์เซน่อลไม่ได้เข้าร่วมฟุตบอลสโมสรยุโรปรายการใดๆ เลย เป็นครั้งแรกในรอบ 25 ปี แต่ยอดขาดทุนลดลงอย่างมากจากงวดปี 2020-21 เพราะมีรายได้จากแมตช์เดย์มากขึ้น

อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้อาร์เซน่อลมีปัญหาการเงิน คือการใช้เงินซื้อนักเตะไปมากกว่า 200 ล้านปอนด์ ใน 2 ซีซั่นหลังสุด รวมถึงการผ่องถ่ายนักเตะทั้งการขายขาดและปล่อยยืมตัว ทำได้ไม่ดีพอ และได้ราคาไม่ดีเท่าที่ควรจะเป็น

ในส่วนของเงินทุนหมุนเวียน อาร์เซน่อลได้กู้ยืมเงิน 70 ล้านปอนด์กับธนาคารในอังกฤษ รวมกับเงินที่ได้จากการรีไฟแนนซ์ จาก Kroenke Sports & Entertainment (KSE) ของสแตน โครเอ็นเก้ อีกประมาณ 32 ล้านปอนด์

สำหรับเงินกู้ยืมของอาร์เซน่อล จะนำไปปรับปรุงสนามเอมิเรตส์ สเตเดี้ยม รังเหย้าของสโมสรครั้งใหญ่สุด นับตั้งแต่สร้างสนามมาเมื่อปี 2006 เช่น เพดานสนาม รวมถึงจุดทางเข้าสนามเพื่อให้แฟนบอลเข้าไปได้อย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม เงินที่โครเอ็นเก้ ในนามของ KSE ให้มานั้น ไม่ใช่เงินให้เปล่า แต่เป็นเงินกู้ที่มีระยะเวลาในการกู้นานขึ้น และอัตราดอกเบี้ยน้อยกว่ากู้ธนาคาร ถือเป็นการพิสูจน์ฝีมือในการบริหารหนี้สินของอาร์เซน่อลได้เป็นอย่างดี

กลับสู่การพึ่งตัวเองเพื่อความยั่งยืน

เมื่อการเงินของอาร์เซน่อล ไม่ได้แข็งแกร่งมากเหมือนกับสโมสรยักษ์ใหญ่อื่นๆ ทางที่ดีที่สุดที่จะทำให้พวกเขาอยู่ได้อย่างยั่งยืน คือการกลับไปใช้วิธีพึ่งพาตัวเอง เหมือนที่เคยทำมาแล้วเมื่อหลายปีก่อน

การไม่ได้เข้าร่วมยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก และผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้รายได้ของอาร์เซน่อลหายไปอย่างมาก จึงต้องเปลี่ยนแปลงการบริหารสโมสร โดยวางแผนทางการเงินอย่างเข้มงวด

ประการแรก อาร์เซน่อลได้ลดจำนวนพนักงานของสโมสร ในฤดูกาล 2021/22 จาก 624 คน เหลือ 595 คน ช่วยประหยัดเงินได้ 34 ล้านปอนด์ และได้จ่ายค่าชดเชยพนักงานที่ถูกเลิกจ้างทั้งหมด 6.7 ล้านปอนด์

และอีกประการหนึ่ง คือการปรับเปลี่ยนโครงสร้างนักเตะทีมชายชุดใหญ่ของสโมสร โดยเน้นการลงทุนไปที่นักเตะอายุน้อย ค่าเหนื่อยไม่สูงเป็นหลัก เพื่อเป็นรากฐานสำหรับการเงินที่แข็งแกร่งในอนาคต

ยกตัวอย่างเช่น การเสริมทีมในช่วงซัมเมอร์ปี 2021 อาร์เซน่อลใช้เงินไป 125.8 ล้านปอนด์ แลกกับนักเตะหลายคน เช่น เบน ไวท์, มาร์ติน โอเดการ์ด, อารอน แรมสแดล, ทาเคฮิโระ โทมิยาสุ, อัลเบิร์ต ซามบี โลก็องก้า และนูโน่ ตาวาเรส

ถึงแม้กาเบรียล เชซุส ได้รับบาดเจ็บหนักต้องพักยาว ก็ยังสามารถซื้อผู้เล่นในตลาดเดือนมกราคมได้ตามปกติ แต่ต้องเป็นการซื้อเพื่อใช้งานในระยะยาวจริงๆ ไม่ใช่ซื้อเพื่อเป็นตัวแทนของเชซุสเพียงชั่วคราว

เป็นที่รู้กันแล้วว่า อนาคตของอาร์เซน่อล ขึ้นอยู่กับการได้สิทธิ์ไปเล่นยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ซึ่งพวกเขาตั้งเป้าที่จะไปให้ถึงจุดนั้น เพื่อแลกกับความมั่นคงทางการเงินของสโมสรในระยะยาว

“ถ้วยใหญ่ยุโรป” คือความหวัง

จากการที่อาร์เซน่อล ห่างหายจากการเข้าร่วมแข่งขันยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก รายการที่เปรียบดั่งขุมทรัพย์ของทีมฟุตบอลมานาน 6 ปีติดต่อกัน ทำให้การเงินของสโมสรไม่คล่องตัวเท่าที่ควร

แน่นอนว่า การเข้าร่วมแชมเปี้ยนส์ ลีก คือเป้าหมายสำคัญที่ “ปืนใหญ่” จำเป็นต้องทำให้ได้เป็นอันดับแรก เพื่อช่วยแก้ไขเรื่องรายรับ และรายจ่ายของสโมสร ให้กลับมาเป็นปกติโดยเร็ว

ถ้าทีมของมิเกล อาร์เตต้า สามารถคว้าโควตาไปแชมเปี้ยนส์ ลีก ในฤดูกาล 2023/24 จะได้รับเงินรางวัลการันตี 13.48 ล้านปอนด์ และมีสิทธิ์ได้เงินเพิ่มอีก 2.4 ล้านปอนด์ ต่อการชนะในเกมรอบแบ่งกลุ่ม 1 นัด

และถ้าหากผ่านเข้ารอบน็อกเอาต์ถ้วยใหญ่ยุโรปได้ จะได้เงินเพิ่มอีก 8.2 ล้านปอนด์ อีกทั้งยังมีรายได้จากค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด และรายได้ในแต่ละแมตช์เดย์ อย่างน้อยที่สุด อาร์เซน่อลจะได้รับเงินประมาณ 50 ล้านปอนด์

โดยกลุ่มแฟนบอลของอาร์เซน่อล ในนาม Arsenal Supporters’ Trust ได้ออกมาแสดงความเชื่อมั่นว่า ผลงานที่ยอดเยี่ยมในฤดูกาลนี้ น่าจะทำให้สโมสรที่พวกเขารัก กลับมามีผลประกอบการที่ดีขึ้นในเร็ววัน

“ด้วยนักเตะที่อายุยังน้อย และการกลับสู่ฟอร์มการเล่นที่ดีของทีม ทำให้รายได้ในสนามเพิ่มขึ้น ถือเป็นรากฐานที่ดีสำหรับอาร์เซน่อล ที่จะต่อยอดในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ดังนั้นเราต้องได้ไปแชมเปี้ยนส์ ลีก ในซีซั่นถัดไป เพื่อทำให้เรามั่นใจมากขึ้น”

คาดว่าผลประกอบการในปีงบประมาณ 2022-23 ที่จะสิ้นสุดในเดือนพฤษภาคมปีหน้า อาร์เซน่อลจะมีผลประกอบการที่ดีขึ้น จากการได้เล่นถ้วยสโมสรยุโรป และปล่อยนักเตะค่าเหนื่อยแพงออกไปหลายคน

เรียบเรียง : จักรพันธ์ ภู่ทอง

อ้างอิง :

https://theathletic.com/3965749/2022/12/04/arsenal-45m-loss-january-gabriel-jesus/

https://www.mirror.co.uk/sport/football/news/champions-league-winner-prize-money-27910360

https://editorial.uefa.com/resources/0277-158b0bea495a-ba6c18158cd3-1000/20220704_circular_2022_47_en.pdf

Categories
Football Tactics

ผ่าแท็กติก “อาร์เซน่อล” กับการเริ่มต้นซีซั่นที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์

อาร์เซน่อล ออกสตาร์ท 10 เกมแรกของพรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 2022/23 ด้วยผลงานที่สุดยอด ชนะ 9 และแพ้ 1 นำเป็นจ่าฝูงของตาราง เป็นสถิติที่ดีที่สุดนับตั้งแต่ก่อตั้งสโมสรมา 136 ปี

ส่วนในยูฟ่า ยูโรป้า ลีก ก็เก็บชัยชนะทั้ง 4 เกม โดยเกมล่าสุดเมื่อคืนวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา เปิดบ้านชนะพีเอสวี ไอนด์โฮเฟ่น 1 – 0 และจะพบกับยอดทีมจากเนเธอร์แสนด์ทีมนี้อีกครั้งในสัปดาห์หน้า

SoccerSuck x ไข่มุกดำ จะมาอธิบายถึงเหตุผลในเชิง “แท็กติก” ที่ทำให้ทีมของมิเกล อาร์เตต้า สร้างสถิติการเริ่มต้นซีซั่นที่ยอดเยี่ยมที่สุดในประวัติศาสตร์ของ “เดอะ กันเนอร์ส”

⚽️ เกมรับที่ดูดี และมีประสิทธิภาพ

ก่อนที่พรีเมียร์ลีกจะทำการแข่งขันในสุดสัปดาห์นี้ อาร์เซน่อล เสียไป 10 ประตู จาก 10 นัด น้อยสุดเป็นอันดับ 2 ร่วมกับแมนเชสเตอร์ ซิตี้ และเชลซี ซึ่งเป็นรองนิวคาสเซิล (9 ประตู) เพียงทีมเดียวเท่านั้น

2 นัดหลังสุดที่พบกับลิเวอร์พูล และลีดส์ ยูไนเต็ด แผงแนวรับของอาร์เซน่อล ประกอบด้วยฟูลแบ็ก 2 ข้าง ทาเคฮิโร่ โทมิยาสุ (ซ้าย), เบน ไวท์ (ขวา) และเซ็นเตอร์แบ็ก วิลเลี่ยม ซาลีบา คู่กับกาเบรียล มากัลเญส

โดยเฉพาะนัดที่เปิดบ้านชนะลิเวอร์พูล 3 – 2 แบ็กซ้ายอย่างโทมิยาสุ สามารถจัดการโมฮัมเหม็ด ซาลาห์ จนแทบจะไม่มีส่วนร่วมกับเกม และทำให้ดาวเตะอียิปต์ถูกเปลี่ยนตัวออกในช่วง 20 นาทีสุดท้าย

ส่วนคู่เซ็นเตอร์แบ็กทั้งซาลีบา และมากัลเญส ที่ต่างสไตล์แต่เข้ากันได้อย่างลงตัว มีความแข็งแกร่ง ดุดัน ครองบอลได้ดีและสามารถดันขึ้นไปช่วยทำเกมรุกได้ แต่มากัลเญสดูเหมือนจะครบเครื่องกว่า

แท็กติก “ไฮไลน์ ดีเฟนซ์” ของอาร์เตต้า ได้ผลดีเป็นส่วนใหญ่ ยกเว้นเกมที่แพ้แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เพียงเกมเดียวเท่านั้น ที่แนวรับเสียสมาธิแค่ไม่กี่วินาที เปิดช่องให้ “ปิศาจแดง” ฉวยโอกาสพังประตูจนได้

ขอบคุณภาพ : https://web.facebook.com/Arsenal

⚽️ เริ่มต้นเกมได้ดี มีชัยไปกว่าครึ่ง

จาก 14 เกมรวมทุกรายการ มีถึง 10 เกมที่อาร์เซน่อล ไม่เสียประตู แถมยิงประตูขึ้นนำคู่แข่งก่อนภายใน 30 นาทีแรกของการแข่งขัน อีกทั้งยังรักษาสกอร์นำได้นานที่สุดในพรีเมียร์ลีก คิดเป็น 59 เปอร์เซ็นต์จากทั้งหมด

มิเกล อาร์เตต้า กุนซือเดอะ กันเนอร์ส กล่าวว่า “โค้ชทุกคนต้องการเห็นทีมทำประตูตั้งแต่นาทีแรก แน่นอนว่ามันคงไม่เกิดขึ้นทุกนัด แต่เป้าหมายของเราคือพาบอลบุกไปข้างหน้าให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้”

นอกจากนี้ การที่อาร์เตต้าได้แต่งตั้งมาร์ติน โอเดการ์ด มิดฟิลด์เลือดนอร์เวย์ เป็นกัปตันทีมคนใหม่ ทำให้แนวทางของทีมเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น ซึ่งกรานิต ซาก้า อดีตกัปตันทีม ก็ข่วยหนุนหลังอย่างเต็มที่

ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด คือเกมที่พบกับท็อตแน่ม ฮอทสเปอร์ เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา อาร์เซน่อล ผ่านบอลจากแผงหลังอย่างรวดเร็ว ระหว่างเบน ไวท์ โทมัส ปาร์เตย์, มาร์ติน โอเดการ์ด และกาเบรียล เชซุส

อาร์เซน่อล ขึงเกมรุกกดดันในแดนของคู่แข่งอยู่พักใหญ่ ทำให้สเปอร์เสียฟาวล์บริเวณกลางสนาม ก่อนที่ปาร์เตย์จะยิงขึ้นนำตั้งแต่ 20 นาทีแรก แม้จะเสียประตูตีเสมอจากจุดโทษ แต่ก็กลับมาเอาชนะได้

⚽️ สร้างโอกาสทำประตูได้มากขึ้น

การเซ็นสัญญากาเบรียล เชซุส จากแมนเชสเตอร์ ซิตี้ มีส่วนสำคัญที่ทำให้แนวทางการเล่นเกมรุกของอาร์เซน่อล เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด และช่วยให้แนวรุกคนอื่น ๆ สร้างโอกาสลุ้นประตูได้มากขึ้น

เชซุส เข้ามาเพิ่มความคล่องตัว และสร้างความอันตรายในเกมบุกของอาร์เซน่อลได้ดีกว่าอเล็กซองดร์ ลากาแซตต์ ดาวยิงคนเก่า โดยอดีตดาวเตะแมนฯ ซิตี้ รับบอลจากเพื่อนร่วมทีมได้ถึง 91 ครั้ง มากที่สุดในลีก

ขอบคุณภาพ : https://web.facebook.com/Arsenal

บูกาโย่ ซาก้า กับกาเบรียล มาร์ติเนลลี่ มีโอกาสซัดประตูภายในกรอบเขตโทษถึง 20 ครั้ง (มากที่สุดเท่ากับโมฮัมเหม็ด ซาลาห์) และมาร์ติน โอเดการ์ด อาจโผล่ขึ้นมาระหว่างไลน์เพื่อสอดบอลเข้าไปด้านหลัง

ขณะที่กรานิต ซาก้า หลังจากเล่นในตำแหน่งกลางตัวรับที่ไม่ถนัดมานาน ก็ได้รับบทบาทใหม่ที่มีส่วนช่วยในการขึ้นเกมรุกมากขึ้น และมักจะสอดเข้าไปในกรอบเขตโทษพร้อมยิงประตูได้ตลอดเวลา

จากข้อมูลชอง fbref.com ระบุว่า แนวรุก 4 จาก 5 คนของอาร์เซน่อล ติดอันดับนักเตะที่มีส่วนในการสร้างโอกาสเพื่อทำประตู (Shot-Creating Actions : SCA) ในพรีเมียร์ลีกมากที่สุด 10 อันดับแรก

ซาก้า กับมาร์ติเนลลี่ มีส่วนร่วม 38 ครั้งเท่ากัน อยู่อันดับ 3, เชซุส 36 ครั้ง อยู่อันดับ 8 ร่วม และชาก้า35 ครั้ง อยู่อันดับ 10 ร่วม ขณะที่โอเดการ์ด ทำได้ 32 ครั้ง ซึ่งเป็นตัวเลขที่ถือว่าใกล้เคียงกันมาก

⚽️ พร้อมลุ้นแชมป์พรีเมียร์ลีกหรือยัง ?

อีกสิ่งหนึ่งที่อาร์เซน่อล ทำผลงานได้ดีสม่ำเสมอขนาดนี้ คือนับตั้งแต่ฤดูกาลที่แล้ว จนถึงตอนนี้ มิเกล อาร์เตต้า ใช้ผู้เล่น 11 ตัวจริงหน้าเดิมถึง 11 นัด มากที่สุดเมื่อเทียบกับทีมอื่นๆ ในพรีเมียร์ลีก

ภาพรวมฟอร์มการเล่นนับตั้งแต่เปิดซีซั่น ตำแหน่งที่อาร์เซน่อลพัฒนาขึ้นมามากในฤดูกาลนี้ คือฟูลแบ็กทั้ง 2 ข้าง รวมถึงแนวรุกที่เล่นได้อย่างลื่นไหล ขณะที่แดนกลางแม้จะไม่โดดเด่นมากนัก แต่ถือว่ายังทำได้ดี

โดยอาร์เซน่อล มีค่าเฉลี่ยความเป็นไปได้ที่จะมีประตูเกิดขึ้นต่อเกม (Expect Goal : xG) อยู่ที่ 1.0 หมายความว่า 1 นัด การันตี 1 ประตู ซึ่งดีสุดเป็นอันดับ 2 รองจากแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ที่มีค่า xG ต่อเกมอยู่ที่ 1.4

ในประวัติศาสตร์ 30 ปี ของพรีเมียร์ลีก ทีมที่ทำสถิติชนะ 9 จาก 10 นัดแรก เคยเกิดขึ้นทั้งหมด 5 ครั้ง และคว้าแชมป์เมื่อจบซีซั่นได้ 4 ครั้ง คือ เชลซี (2005/06), แมนฯ ซิตี้ (2011/12, 2017/18) และลิเวอร์พูล (2019/20)

ขอบคุณภาพ : https://web.facebook.com/Arsenal

อย่างไรก็ตาม 10 นัดแรกของซีซั่นที่แล้ว แมนฯ ซิตี้ ตามหลังเชลซี จ่าฝูงในขณะนั้นอยู่ 5 แต้ม แต่ก็แซงคว้าแชมป์ในบั้นปลาย เฉือนชนะลิเวอร์พูลแค่แต้มเดียว ส่วน “สิงห์บูลส์” ได้แค่ที่ 3 และมีแต้มน้อยกว่าถึง 19 แต้ม

ส่วนเกมที่อาร์เซน่อล จะดวลกับทีมของเป๊ป กวาร์ดิโอล่านั้น เดิมทีต้องลงเตะเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ถูกเลื่อนออกไป เนื่องจาก “เดอะ กันเนอร์ส” ติดโปรแกรมยูโรป้า ลีก กว่าจะได้เจอกันต้องรอถึงช่วงหลังปีใหม่

เป้าหมายแรกของอาร์เซน่อลที่ต้องทำให้ได้ก่อน คือการกลับเข้าร่วมแชมเปี้ยนส์ ลีก ส่วนเรื่องลุ้นแชมป์พรีเมียร์ลีก คงต้องยืนระยะให้ได้แบบยาว ๆ ซึ่งจะเป็นบทพิสูจน์ชั้นดีว่ามิเกล อาร์เตต้า เจ๋งจริงหรือไม่

เรียบเรียง : จักรพันธ์ ภู่ทอง

อ้างอิง :

https://theathletic.com/3704476/2022/10/20/arsenal-arteta-data-tactics-analysis/

https://theathletic.com/3638949/2022/09/30/arsenal-tottenham-tactical-preview/

https://theathletic.com/3633401/2022/09/28/arsenal-control-mikel-arteta-passes-request/

https://theathletic.com/3555797/2022/09/01/arsenal-villa-gabriel-martinelli-responding/

https://theathletic.com/3527556/2022/08/24/arsenal-press-jesus-martinelli-saka/

https://theathletic.com/3524139/2022/08/21/zinchenko-arsenal-xhaka/

https://fbref.com/en/squads/18bb7c10/Arsenal-Stats