Categories
Special Content

5 นักเตะใหม่ที่น่าจับตามองในลาลีกา ซีซั่น 2022/23

ฟุตบอลลาลีกา ฤดูกาล 2022/23 ที่กำลังจะเริ่มขึ้นในคืนวันศุกร์ที่ 12 สิงหาคมนี้ ทั้ง 20 สโมสรได้มีการเสริมนักเตะใหม่กันอย่างคึกคักกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา มีทั้งการซื้อขายในลีกสเปน และการดึงนักเตะจากลีกต่างแดน

ซึ่งบางดีล ได้รับการคาดหมายว่า เป็นดีลที่โดดเด่น มีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก มาดูกันว่า 5 นักเตะใหม่ที่ย้ายทีมเข้ามาแล้ว มีแววจะทำผลงานได้ดี และน่าจับตามองในซีซั่นใหม่นี้ จะมีใครบ้าง

หลุยส์ ฟิลิปเป้ (ลาซิโอ ไป เรอัล เบติส)

เซ็นเตอร์แบ็กเชื้อสายบราซิล-อิตาลี วัย 25 ปี กับประสบการณ์ 5 ฤดูกาลที่ลาซิโอ น่าจะเข้ามาช่วยยกระดับเกมรับของเรอัล เบติสให้แกร่งมากขึ้น เพื่อเป้าหมายในการพาทีมเข้าร่วมศึกยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ให้ได้

สไตล์การเล่นของหลุยส์ ฟิลิปเป้ เป็นนักเตะที่สามารถเปลี่ยนการเล่นจากรับเป็นรุก ซึ่งเขาน่าจะเข้ากับทีมของมานูเอล เปเยกรินี่ ได้เป็นอย่างดี และช่วยให้ต้นสังกัดใหม่ประสบความสำเร็จในการติดอันดับท็อปโฟร์

ทาตี้ คาสเตลลานอส (นิวยอร์ก ซิตี้ ไป กิโรน่า)

กองหน้าชาวอาร์เจนติน่าวัย 23 ปี ที่ทำประตูให้กับนิวยอร์ก ซิตี้ 49 ประตู จาก 101 นัด สำหรับในซีซั่นสุดท้ายที่อเมริกา เขาคว้ารางวัลดาวซัลโวของเมเจอร์ลีก ซอคเกอร์ และพาทีมคว้าแชมป์ เอ็มแอลเอส คัพ ได้สำเร็จ

สไตล์การเล่นของทาตี้ คาสเตลลานอส เป็นนักเตะที่ทำประตูได้ดี ทั้งในและนอกเขตโทษ และมีความมุ่งมั่นที่จะพิสูจน์ตัวเองในลีกใหญ่ของยุโรป เพื่อพาทีมน้องใหม่อย่างกิโรน่า อยู่รอดในลีกสูงสุดแดนกระทิงดุ ซีซั่นนี้ให้ได้

โฆเซ่ หลุยส์ โมราเลส (เลบันเต้ ไป บียาร์เรอัล)

ดาวเตะชาวสเปนวัย 35 ปี มีช่วงเวลาที่ยอดเยี่ยมกับเลบันเต้ เขากลายเป็นดาวซัลโวสูงสุดตลอดกาลของสโมสร โดยยิงได้ถึง 62 ประตูในลาลีกา น่าเสียดายที่ซีซั่นสุดท้ายของเขา ไม่สามารถพาทีมอยู่รอดในลีกสูงสุดต่อไปได้

การที่โฆเซ่ หลุยส์ โมราเลส ย้ายมาร่วมทีมบียาร์เรอัลในฤดูกาลนี้ ทำให้มีโอกาสได้สัมผัสกับฟุตบอลถ้วยสโมสรยุโรปเป็นครั้งแรกในชีวิต ซึ่งถือเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ ที่แฟนลาลีกาอาจจะได้เห็นคุณภาพที่ดีที่สุดจากเขา

อักเซล วิตเซล (โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ไป แอตเลติโก มาดริด)

กองกลางมากประสบการณ์ของทีมชาติเบลเยียมวัย 33 ปี เคยผ่านทัวร์นาเมนต์ใหญ่ทั้งฟุตบอลโลก และฟุตบอลยูโร อย่างละ 2 สมัย รวมถึงเคยค้าแข้งนอกประเทศบ้านเกิด ทั้งโปรตุเกส, รัสเซีย, จีน และเยอรมัน

อักเซล วิตเซล น่าจะเข้ามาช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับแผงมิดฟิลด์ของแอตเลติโก มาดริดให้มากกว่าฤดูกาลที่แล้ว พร้อมอาวุธลับในการยิงประตูจากลูกเซตพีซ และลูกยิงระยะไกล ที่อาจทำให้ทีมคู่แข่งเจอกับฝันร้าย

ปาโบล ตอร์เร่ (ราซิ่ง ซานตานเดร์ ไป บาร์เซโลน่า)

มิดฟิลด์ตัวรุกวัย 19 ปี ที่ทำผลงานได้อย่างโดดเด่นกับราซิ่ง ซานตานเดร์ เมื่อฤดูกาลที่แล้ว โดยยิงได้ 10 ประตู พาทีมเลื่อนชั้นสู่ดิวิชั่น 2 ในซีซั่นถัดไป เขามีจุดเด่นในเรื่องการเลี้ยงบอลผ่านแนวรับคู่แข่งได้อย่างยอดเยี่ยม

การย้ายมาร่วมทีมบาร์เซโลน่าในฤดูกาลนี้ ถือเป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่สำหรับปาโบล ตอร์เร่ และมีโอกาสแจ้งเกิดแบบเดียวกับเปดรี้ ที่ย้ายจากลาส พัลมาส สู่บาร์ซ่า ในปี 2020 ได้อย่างแน่นอน ถ้าสามารถพิสูจน์ตัวเองได้ดีพอ

และนี่คือส่วนหนึ่งของดีลนักเตะใหม่ที่น่าสนใจในลาลีกา สเปน ใครจะสามารถแจ้งเกิดกับสโมสรใหม่ได้สำเร็จ หรือใครที่ย้ายมาแล้วล้มเหลวไม่เป็นท่า ตลอด 9 เดือนนับจากวันนี้ไป จะได้ทราบคำตอบอย่างแน่นอน

Categories
Special Content

ทำเนียบดาวซัลโวสูงสุดตลอดกาล ของ 20 สโมสรลาลีกา 2022/23

“การทำประตู” ถือเป็นหนึ่งในเหตุการณ์คลาสสิกที่เกิดขึ้นในการแข่งขันฟุตบอล และมีนักเตะบางคน ที่สร้างความมหัศจรรย์ ด้วยการยิงประตูเป็นกอบเป็นกำ จนถูกยกย่องให้เป็น “ตำนาน” ของสโมสรนั้น ๆ

ในประวัติศาสตร์ของลาลีกา สเปน ตลอด 91 ฤดูกาลที่ผ่านมา มีนักเตะทีทำประตูได้มากที่สุด 5 อันดับแรก ประกอบด้วยลิโอเนล เมสซี่,  คริสเตียโน่ โรนัลโด้, เทลโม ซาร์ร่า, อูโก้ ซานเชซ และราอูล กอนซาเลซ

นอกจากดาวซัลโวประจำการแข่งขันแล้ว ยังมีนักเตะที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่ทำประตูได้มากที่สุดของแต่ละสโมสรด้วย และนี่คือรายชื่อดาวยิงสูงสุดตลอดกาล ของทั้ง 20 ทีม ในลีกสูงสุดแดนกระทิงดุ ซีซั่น 2022/23

แอธเลติก บิลเบา : เทลโม ซาร์ร่า (251 ประตู)

เทลโม ซาร์ร่า อดีตเจ้าของสถิติดาวยิงสูงสุดตลอดกาลของลาลีกา 251 ประตู จาก 277 นัดกับบิลเบา และชื่อของเขา ถูกนำไปตั้งเป็นรางวัล “ซาร์ร่า โทรฟี่” ที่มอบให้กับดาวซัลโวชาวสเปนในแต่ละซีซั่น

แอตเลติโก มาดริด : อาเดรียน อเสคูเดโร่ (150 ประตู)

อาเดรียน อเสคูเดโร่ เคยค้าแข้งให้กับแอต.มาดริด ในช่วงทศวรรษที่ 1940s ถึง 1950s และทำไปได้ถึง 150 ประตู จากการลงเล่น 287 นัด เฉพาะในลีกสูงสุด และจนถึงปัจจุบัน ก็ยังไม่มีใครที่ทำลายสถิตินี้ได้

โอซาซูน่า : ซาบิโน่ อันโดเนกุย (57 ประตู)

ซาบิโน่ อันโดเนกุย ลงเล่นให้กับโอซาซูน่ามามากกว่า 10 ฤดูกาล ในช่วงทศวรรษที่ 1950s ถึง 1960s ยิงได้ 57 ประตู จาก 131 นัด ในลาลีกา และสถิติดาวซัลโวตลอดกาลของเขา ก็ยังคงอยู่จนถึงตอนนี้

กาดิซ : มากิโก้ กอนซาเลซ (41 ประตู)

ช่วงที่ค้าแข้งกับกาดิซ มากิโก้ กอนซาเลซ ทำได้ 41 ประตู จาก 149 นัดในลาลีกา ทำให้สหพันธ์ประวัติศาสตร์และสถิติฟุตบอลนานาชาติ (IFFHS) ยกให้เป็นผู้เล่นชาวเอล ซัลวาดอร์ที่ดีที่สุดเท่าที่เคยมีมา

เอลเช่ : ฮวน อังเคล โรเมโร่ อิซาซี่ (79 ประตู)

ฮวน อังเคล โรเมโร่ อิซาซี่ อดีตกองหน้าชาวปารากวัยของเอลเช่ ในช่วงทศวรรษที่ 1960s ถึง 1970sยังคงเป็นเจ้าของสถิติดาวยิงสูงสุดตลอดกาลของสโมสรแห่งนี้ ด้วยผลงาน 79 ประตู จาก 183 นัดในลาลีกา

บาร์เซโลน่า : ลิโอเนล เมสซี่ (474 ประตู)

เจ้าของสถิติดาวยิงสูงสุดตลอดกาลของบาร์เซโลน่า คงเป็นใครอื่นไปไม่ได้ นอกจากลิโอเนล เมสซี่ ซูเปอร์สตาร์ชาวอาร์เจนติน่า ลงเล่นตั้งแต่ปี 2004 – 2021 ถล่มตาข่ายได้ถึง 474 ลูก จาก 520 นัดเฉพาะในลีก

เกตาเฟ่ : มานู เดล โมราล (37 ประตู)

มานู เดล โมราล อดีตกองหน้าชาวสเปน ลงเล่นให้กับเกตาเฟ่ ตั้งแต่ซีซั่น 2006/07 ถึง 2010/11 ทำได้ 37 ประตู จาก 159 ในลาลีกา ซึ่งเขายังคงเป็นเจ้าของสถิติดาวยิงสูงสุดตลอดกาลของสโมสรจนถึงตอนนี้

กิโรน่า : คริสเตียน ซตูอานี่ (40 ประตู)

คริสเตียน ซตูอานี่ แม้จะเคยเล่นในลีกสูงสุดเพียงแค่ 2 ฤดูกาล แต่ยิงไปถึง 40 ประตู จาก 65 นัด และในฤดูกาลนี้ ก็หวังจะทำประตูเพิ่มอีก เพื่อครองสถิติดาวยิงสูงสุดตลอดกาลของสโมสรนี้ไว้ให้นานที่สุด

ราโย บาเยกาโน่ : อัลแบร์โต้ บูเอโน่ (28 ประตู)

อัลแบร์โต้ บูเอโน่ อดีตแข้งอคาเดมี่ของเรอัล มาดริด เคยค้าแข้งอยู่กับราโย บาเยกาโน่ 2 ซีซั่น ทำได้ 28 ประตู จาก 73 นัดในลีกสูงสุด ซึ่งทำให้เขาเป็นเจ้าของสถิติดาวซัลโวสูงสุดในประวัติศาสตร์ของสโมสรนี้

เซลต้า บีโก้ : ยาโก้ อัสปาส (133 ประตู)

8 ฤดูกาลในลาลีกาของยาโก้ อัสปาส กับเซลต้า บีโก้ ยิงได้ 133 ประตู จากการลงเล่น 269 นัด และแน่นอนว่า เขายังมีโอกาสเพิ่มสถิติไปได้เรื่อย ๆ ตราบใดที่สโมสรของเขา ยังคงโลดแล่นอยู่บนเวทีลีกสูงสุด

เอสปันญ่อล : ราอูล ตามูโด้ (130 ประตู)

ราอูล ตามูโด้ ตำนานกองหน้าชาวสเปน ช่วงปลายทศวรรษที่ 1990s ถึง 2000s ลงเล่นกับเอสปันญ่อล13 ฤดูกาล ทำได้ 130 ประตู จาก 340 นัด เฉพาะในลาลีกา ยึดอันดับ 1 ดาวยิงสูงสุดตลอดกาลของสโมสร

เรอัล มายอร์ก้า : ซามูเอล เอโต้ (54 ประตู)

ก่อนที่จะโด่งดังกับบาร์เซโลน่า ซามูเอล เอโต้ กองหน้าชาวแคเมอรูน เป็นนักเตะเจ้าของสถิติดาวยิงสูงสุดอันดับ 1 ในประวัติศาสตร์ของเรอัล มายอร์ก้า ด้วยผลงาน 54 ประตู จาก 133 นัดในลีกสูงสุดของสเปน

เรอัล เบติส : โปลี่ รินคอน (78 ประตู)

โปลี่ รินคอน อดีตกองหน้าเรอัล เบติส ในช่วงทศวรรษที่ 1980s ลงเล่น 8 ฤดูกาล ยิงได้ 78 ประตู จาก 223 นัดในลาลีกา และยังคงเป็นเจ้าของสถิติผู้ทำประตูสูงสุดตลอดกาลในประวัติศาสตร์สโมสร จนถึงปัจจุบันนี้

เรอัล มาดริด : คริสเตียโน่ โรนัลโด้ (311 ประตู)

คริสเตียโน่ โรนัลโด้ ซูเปอร์สตาร์ชาวโปรตุเกส ผู้ที่เข้ามาเปลี่ยนประวัติศาสตร์ของเรอัล มาดริดไปตลอดกาล ด้วยการระเบิดตาข่าย 311 ประตู จาก 292 เกมในลาลีกา ขึ้นแท่นดาวยิงสูงสุดอันดับ 1 ของสโมสรเรียบร้อย

เรอัล โซเซียดัด : เฆซุส มาเรีย ซาทรูสเตกี (133 ประตู)

เฆซุส มาเรีย ซาทรูสเตกี ตำนานกองหน้าของเรอัล โซเซียดัด ในช่วงทศวรรษที่ 1970s ถึง 1980s เขาคือเจ้าของสถิติอันดับ 1 ดาวซัลโวตลอดกาลของสโมสรแห่งนี้ ด้วยการยิง 133 ประตู จาก 297 นัด เฉพาะในลาลีกา

เรอัล บายาโดลิด : อลัน ปีเตอร์แนค (55 ประตู)

อลัน ปีเตอร์แนค กองหน้าชาวโครเอเชีย ลงเล่นให้กับเรอัล บายาโดลิด ตั้งแต่ฤดูกาล 1995/96 ถึง 1999/2000 ทำได้ 55 ประตู จาก 153 นัด ในลีกสูงสุด และยังครองตำแหน่งดาวยิงสูงสุดตลอดกาลของสโมสรจนถึงปัจจุบัน

เซบีย่า : ฆวน อาร์ซ่า (181 ประตู)

ฆวน อาร์ซ่า สุดยอดดาวยิงของเซบีย่า ในช่วงทศวรรษที่ 1940s ถึง 1950s ลงเล่นให้กับเซบีย่าตั้งแต่อายุ 20 ปี ยิงได้ 181 ประตู จาก 347 นัด กลายเป็นเจ้าของสถิติดาวซัลโวสูงสุดตลอดกาลของสโมสร จนถึงปัจจุบันนี้

อัลเมเรีย : อัลบาโร่ เนเกรโด้ (32 ประตู)

อัลบาโร่ เนเกรโด้ ดาวยิงเลือดมาดริด เคยค้าแข้งกับอัลเมเรีย สมัยที่ทีมอยู่ในลีกสูงสุด 2 ฤดูกาล และเขาคือเจ้าของสถิติผู้ทำประตูสูงสุดตลอดกาลของสโมสรอยู่ในเวลานี้ โดยยิงไป 32 ประตู จาก 70 นัด

บาเลนเซีย : มุนโด้ (186 ประตู)

มุนโด้ อดีตตำนานนักเตะบาเลนเซีย ในช่วงทศวรรษที่ 1940s ถึง 1950s ยิงได้ถึง 186 ประตู จากการลงเล่น 208 นัด เฉพาะในลีกสูงสุด และครองอันดับ 1 ดาวยิงสูงสุดตลอดกาลของสโมสร จนถึงปัจจุบันนี้

บียาร์เรอัล : เคราร์ด โมเรโน่ (65 ประตู)

เคราร์ด โมเรโน่ กองหน้าเลือดคาตาลัน ลงเล่นกับบียาร์เรอัลเฉพาะในลีกสูงสุดมาแล้ว 5 ฤดูกาล ยิงได้ 65 ประตู จาก 146 นัด และยังคงเป็นหนึ่งในความหวังการทำประตูให้กับสโมสรแห่งนี้ เพื่อเพิ่มสถิติต่อไป

สำหรับลาลีกา สเปน 2022/23 ที่กำลังจะเริ่มขึ้นในสัปดาห์หน้า มีนักเตะเพียง 3 คนเท่านั้น ที่ยังลงเล่นให้กับสโมสรปัจจุบัน คือ คริสเตียน ซตูอานี่, ยาโก้ อัสปาส และเคราร์ด โมเรโน่

ในวงการฟุตบอล นอกจากจะวัดความสำเร็จของทีมแล้ว ความสำเร็จส่วนบุคคลก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะจะเป็นตัวชี้วัดที่บอกถึงระดับความสามารถ และมูลค่าของนักฟุตบอลคนนั้นๆ ได้เป็นอย่างดี

Categories
Special Content

ฟาบิโอ คาร์วัลโญ่ : เพชรเม็ดงามจากนอกลีก ว่าที่ “นิว คูตินโญ่” คนต่อไป ?

ฟาบิโอ คาร์วัลโญ่ คือนักเตะใหม่คนแรก ที่ลิเวอร์พูลเสริมเข้ามาในช่วงซัมเมอร์นี้ หลังจากจบภารกิจในการพาฟูแล่ม เลื่อนชั้นขึ้นสู่พรีเมียร์ลีก ในฤดูกาล 2022/23

และในนัดเปิดซีซั่นใหม่ที่จะเริ่มต้นขึ้นในสัปดาห์นี้ “หงส์แดง” มีโปรแกรมออกไปเยือนที่คราเวน ค็อทเทจ นั่นหมายความว่า มิดฟิลด์ดาวรุ่งวัย 20 ปีรายนี้ มีโอกาสเผชิญหน้ากับทีมเก่า

วันนี้ SoccerSuck x ไข่มุกดำ จะพาไปทำความรู้จักอดีตแข้งเยาวชนของ “เจ้าสัวน้อย” กับเส้นทางสู่การเป็นนักฟุตบอลของเขากันครับ

ประสบการณ์เฉียดตายในวัยเด็ก

ในวัยเด็ก ฟาบิโอ คาร์วัลโญ่ มีความสนใจในการเล่นฟุตบอลเป็นอย่างมาก แต่อุปสรรคสำคัญคือ พ่อแม่ห้ามไม่ให้ออกจากบ้าน เนื่องจากบ้านตั้งอยู่ใกล้กับถนน ซึ่งมีความเสี่ยงมาก ๆ ที่จะเกิดอันตราย

แต่ด้วยความมุ่งมั่นที่จะเล่นฟุตบอลให้ได้ เจ้าหนูคาร์วัลโญ่ได้อาศัยช่วงที่ทุกคนในครอบครัวออกจากบ้านทั้งหมด รอเวลาสักครู่ แล้วเขาค่อยออกจากบ้านไปข้ามถนน เพื่อไปยังสวนสาธารณะที่อยู่ใกล้บ้าน

ซึ่งเพื่อนบ้านคนหนึ่ง ได้เห็นเจ้าหนูคาร์วัลโญ่วิ่งข้ามถนน จึงออกมาเตือนว่าไม่ให้ทำแบบนี้อีก แต่เขาไม่ฟังคำเตือนจากเพื่อนบ้านคนนั้นเลย แล้ววันต่อ ๆ มา ก็ข้ามถนนเพื่อไปสวนสาธารณะอีก

ความคลั่งไคล้ในกีฬาลูกหนังของเจ้าหนูคาร์วัลโญ่ ทำให้เขาเกือบถูกรถบรรทุกชน เพื่อนบ้านจึงไปบอกให้ครอบครัวของเขาได้ทราบ ครอบครัวรู้สึกเป็นห่วงชีวิตของลูกชายมาก

อย่างไรก็ตาม ประสบการณ์เฉียดตายในครั้งนั้น ก็ไม่อาจฉุดรั้งความฝันของคาร์วัลโญ่ และได้เริ่มต้นฝึกวิชาฟุตบอลกับอคาเดมี่ของเบนฟิก้า ทีมยักษ์ใหญ่ในบ้านเกิดของเขา เมื่ออายุ 7 ขวบ

จนกระทั่งในปี 2013 เมื่อคาร์วัลโญ่อายุได้ 11 ขวบ โปรตุเกสประสบกับวิกฤติเศรษฐกิจในประเทศ ทำให้ครอบครัวของเขา ได้ตัดสินใจย้ายไปอาศัยอยู่ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

เข้าตาสโมสรระดับนอกลีกในลอนดอน

เมื่อฟาบิโอ คาร์วัลโญ่ เข้ามาที่ลอนดอน พร้อมพกความฝันในการเป็นนักฟุตบอล คุณแม่ของเขาได้พาไปที่สนามซ้อมของสโมสรบัลแฮม ทีมนอกลีกอาชีพ และได้พบกับเคร็ก ครัทเวลล์ ประธานสโมสร

ครัทเวลล์ กล่าวว่า “ฟาบิโอและคุณแม่ เพิ่งมาอยู่ลอนดอนได้ไม่นาน และคุณแม่กำลังมองหาทีมฟุตบอลให้ลูกชาย พอดีว่าทั้งคู่ได้มาที่สนามซ้อมของเรา ตอนนั้นผมกำลังดูนักเตะชุด ยู-11 ลงซ้อมอยู่”

“ในช่วง 30 วินาทีแรกของการซ้อม สต๊าฟฟ์ได้เปิดบอลระยะ 30 หลาไปให้ฟาบิโอ สิ่งที่เขาทำคือ เปิดบอลกลับคืนได้อย่างแม่นยำ ผมและโค้ชคนอื่น ๆ ต่างมองหน้ากัน ก่อนที่ผมจะตอบว่า โอเค!”

และเหตุการณ์ที่ทำให้ทุกคนต้องทึ่งในความสามารถของคาร์วัลโญ่ เป็นการแข่งขันฟุตบอล 6 คน ที่เมืองกิลด์ฟอร์ด เขาได้โชว์การทำ “ราโบนา” (Rabona) หรือการเปิดบอลแบบไขว้จากริมเส้น

ครัทเวลล์ กล่าวต่อว่า “สิ่งที่ผมได้เห็นจากตรงหน้า คือการไชว้บอลจากริมเส้น และโชว์ลูกเล่นสารพัด ซึ่งก่อนหน้านี้ผมได้รับการติดต่อจากฟูแล่มแล้ว แต่หลังจากนั้นสโมสรยักษ์ใหญ่ก็ติดต่อเข้ามา”

“เขามีคลาสฟุตบอลที่เหนือกว่าคนอื่นๆ แน่นอนว่าเขามีความทะเยอทะยาน แต่ยังถ่อมตัว ไม่เคยมองว่าตัวเองอยู่สูงกว่าคนอื่น ไม่เคยพูดโอ้อวดว่า ฉันจะไปเล่นพรีเมียร์ลีกให้ได้ อะไรประมาณนั้น”

หลังจากพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้ว ในท้ายที่สุด ครัทเวลล์ ประธานสโมสร และเปโดร โซอาเรส โค้ชผู้รักษาประตูของบัลแฮม ช่วยกันผลักดันให้คาร์วัลโญ่ ย้ายไปอยู่กับอคาเดมี่ของฟูแล่ม

“สโมสรใหญ่ต่างหยิบยกเหตุผลดีๆ มากมายเพื่อล่อใจ แต่ครอบครัวของเขามองว่า ไม่ได้ยึดติดกับการที่เขาต้องเป็นนักเตะดาวดัง ฟูแล่มคือสโมสรที่ใช่สำหรับเขาแล้ว” ครัทเวลล์ กล่าวปิดท้าย

แจ้งเกิดกับฟูแล่ม ช่วยคว้าแชมป์ลีกรอง

หลังจากใช้เวลา 2 ปี กับทีมนอกลีกอย่างบัลแฮม ในปี 2015 ฟาบิโอ คาร์วัลโญ่ ก็ได้ก้าวสู่สโมสรที่ใหญ่กว่าอย่างฟูแล่ม ซึ่งเป็นสโมสรที่ขึ้นชื่อเรื่องปั้นนักเตะเยาวชนระดับต้น ๆ ของวงการฟุตบอลอังกฤษ

ซึ่งก่อนหน้านี้ ฮาร์วีย์ เอลเลียตต์ มิดฟิลด์ดาวรุ่งของลิเวอร์พูล ก็เคยอยู่กับอคาเดมี่ของฟูแล่มมาแล้ว ก่อนที่จะย้ายเข้าสู่ถิ่นแอนฟิลด์ เมื่อปี 2019 (เคยถูกแบล็กเบิร์น โรเวร์ส ยืมตัวไปใช้งาน 1 ซีซั่น)

ขอบคุณภาพ https://www.facebook.com/FulhamFC

ช่วงเวลา 5 ปี ที่อยู่กับอคาเดมี่ของฟูแล่ม คาร์วัลโญ่มีพัฒนาการที่ดีขึ้นตามลำดับ จนได้ขึ้นมาอยู่ในทีมชุด ยู-18 ในปี 2018 ทำได้ 17 ประตู จาก 43 นัด และต่อด้วยทีมชุดสำรอง 39 นัด ยิง 16 ประตู

ฤดูกาล 2020/21 คาร์วัลโญ่ในวัย 18 ปี ได้รับสัญญานักเตะระดับอาชีพเป็นครั้งแรกกับฟูแล่ม และได้โอกาสลงเล่นในทีมชุดใหญ่ 6 นัด รวมทุกรายการ แต่ต้นสังกัดของเขา มีอันต้องตกชั้นจากพรีเมียร์ลีก

อย่างไรก็ตาม ในฤดูกาลถัดมา ถือเป็นซีซั่นที่แจ้งเกิดอย่างเต็มตัวของคาร์วัลโญ่ เมื่อยิงไป 10 ประตู 8 แอสซิสต์ จากการลงสนาม 36 นัด ช่วยให้ “เจ้าสัวน้อย” เสื่อนชั้นขึ้นสู่พรีเมียร์ลีก ในฐานะแชมป์ลีกรอง

นอกจากนี้ คาร์วัลโญ่ยังทำ 1 ประตู ในเกมเอฟเอ คัพ รอบ 4 เมื่อต้นปีที่ผ่านมา แม้ท้ายที่สุด ฟูแล่มจะถูกแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ถล่ม 4 – 1 แต่อย่างน้อย เขาก็มีชื่อเป็นผู้ยิงประตูใส่ยอดทีมอย่าง “เรือใบสีฟ้า”

คาร์วัลโญ่ เป็นนักเตะดาวรุ่งอายุย่างเข้าเลข 2 ที่มีทั้งพรสวรรค์และพรแสวง ทำให้หลายสโมสรในพรีเมียร์ลีกต่างจ้องที่จะล่าตัวมาให้ได้ และเป็นลิเวอร์พูล ที่ไม่ปล่อยให้เพชรเม็ดงามหลุดมือไป

แล้วตัวเขา จะให้อะไรกับลิเวอร์พูล ?

ที่จริงแล้ว ลิเวอร์พูลจะปิดดีลฟาบิโอ คาร์วัลโญ่ ได้ตั้งแต่ช่วงตลาดนักเตะเดือนมกราคมที่ผ่านมา แต่ไม่สามารถดำเนินการให้ทันวันเส้นตาย อย่างไรก็ตาม เขาก็ได้เป็นนักเตะใหม่ของ “หงส์แดง” ในท้ายที่สุด

สไตล์การเล่นของคาร์วัลโญ่ จะมีบทบาทคล้ายกับฟิลิปเป้ คูตินโญ่ คือเป็นมิดฟิลด์ตัวรุก หรือเพลย์เมกเกอร์หมายเลข 10 ที่มีไอเดียในการสร้างสรรค์เกม อีกทั้งมีสกิลในการครองบอล และเลี้ยงบอลที่ยอดเยี่ยม

พื้นที่ที่คาร์วัลโญ่โปรดปรานเป็นพิเศษคือ การเล่นบอลบริเวณหน้ากรอบเขตโทษ อาจจ่ายบอลแบบสั้น ๆ ให้เพื่อน ก่อนวิ่งเข้าเขตโทษเพื่อรอรับบอล เมื่อเข้าเขตโทษก็เลือกที่จะส่งให้เพื่อน หรือลุ้นยิงประตูในทันที

นอกจากจะเป็นเพลย์เมกเกอร์ หรือกองหน้าตัวต่ำในระบบ 4-2-3-1 คาร์วัลโญ่ ยังเป็นนักเตะที่สามารถโยกไปเล่นเป็นตัวริมเส้นฝั่งซ้ายในระบบ 4-3-3 ซึ่งเป็นแผนการเล่นหลักของเจอร์เก้น คล็อปป์

แต่ด้วยอายุที่ยังน้อย คาร์วัลโญ่จึงถูกวางตัวในการสร้างทีมสำหรับแผงกองกลางรุ่นใหม่ของลิเวอร์พูลในอนาคต เพื่อเข้ามาทดแทนมิดฟิลด์รุ่นพี่บางคน ที่กำลังจะเข้าสู่ช่วงบั้นปลายอาชีพกันแล้ว

ยังเร็วเกินไปที่จะพูดว่าฟาบิโอ คาร์วัลโญ่ จะก้าวขึ้นมาเป็น “นิว คูตินโญ่” แต่ด้วยสายตาอันแหลมคมในการดึงนักเตะของเจอร์เก้น คล็อปป์ ก็อาจจะมีเซอร์ไพรส์ที่ทำให้ “เดอะ ค็อป” คาดไม่ถึงก็เป็นได้

เรียบเรียง: จักรพันธ์ ภู่ทอง

อ้างอิง :

https://www.bbc.com/sport/football/61654325

https://www.dailymail.co.uk/sport/football/article-10846023/Fabio-Carvalho-tipped-thrive-Liverpools-superstars-starting-career-ninth-tier.html

https://theathletic.com/3251727/2022/04/24/what-fabio-carvalho-will-bring-to-liverpool/

https://lifebogger.com/fabio-carvalho-childhood-biography-story-facts/

Categories
Special Content

“ฌูลส์ กุนเด้” แนวรับคนใหม่บาร์ซ่า กับ 5 เรื่องที่คุณอาจไม่เคยรู้

ชื่อของ “ฌูลส์ กุนเด้” เป็นที่พูดถึงมากขึ้น หลังเข้ามามีบทบาทสำคัญในเกมรับของเซบีย่า จึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่บรรดาสโมสรยักษ์ใหญ่ ต่างหมายปองที่จะล่าลายเซ็นของปราการหลังรายนี้มาให้ได้

โดยเฉพาะเชลซี เป็นทีมที่มีข่าวให้ความสนใจดาวเตะวัย 23 ปี มากที่สุด เพื่อหวังที่จะเข้ามาแทนที่ของอันโตนิโอ รูดิเกอร์ ที่ตัดสินใจย้ายไปเรอัล มาดริด แต่เป็นบาร์เซโลน่า ที่ยื่นข้อเสนอเข้ามาอย่างจริงจัง

ในที่สุด ก็เป็นเจ้าบุญทุ่มแห่งสเปน ที่ปาดหน้าคว้าเซ็นเตอร์แบ็กทีมชาติฝรั่งเศส ไปร่วมทีมด้วยค่าตัว 50 ล้านยูโร บวกกับแอด-ออนอีกประมาณ 5-10 ล้านยูโร กลายเป็นนักเตะใหม่คนที่ 6 ในช่วงซัมเมอร์นี้

ตลอด 3 ฤดูกาลกับเซบีย่า ในยุคของกุนซือฆูเลน โลเปเตกี กุนเด้ได้แสดงให้เห็นถึงความคงเส้นคงวาที่ดีในการเล่นเกมรับ เสียรวม 97 ประตู น้อยสุดเป็นอันดับ 3 รองจากเรอัล มาดริด และแอตเลติโก้ มาดริด

กุนเด้ ต้องการที่จะย้ายไปสปอติฟาย คัมป์ นู แทนที่จะเป็นสแตมฟอร์ด บริดจ์ เพราะมองว่ามีความทะเยอทะยานมากกว่า และนี่คือ 5 เรื่องราวของเขา ที่คุณอาจยังไม่เคยรู้มาก่อน

ขอบคุณภาพ https://www.facebook.com/jkeey4

เติบโตกับอคาเดมี่ของบอร์กโดซ์

เมื่อปี 2013 กุนเด้ในวัย 15 ปี ได้เริ่มต้นฝึกวิชาฟุตบอลกับทีมเยาวชนของบอร์กโดซ์ ในฝรั่งเศส จากนั้นได้เลื่อนขึ้นสู่ทีมสำรอง ก่อนที่จะได้ลงสนามกับทีมชุดใหญ่ 70 นัด รวมทุกรายการ ตลอด 2 ซีซั่นกับบอร์กโดซ์

เคยเล่นตำแหน่งแบ็คขวามาก่อน

ในช่วงแรกที่อยู่กับบอร์กโดซ์ กุนเด้เล่นในตำแหน่งฟูลแบ็กฝั่งขวา แต่ในเวลาต่อมา กุสตาโว โปเยต์ กุนซือของทีมในเวลานั้น ขอให้เขาไปเล่นเซ็นเตอร์แบ็ก ซึ่งก็ทำได้ยอดเยี่ยม และกลายเป็นตำแหน่งการเล่นหลักในปัจจุบัน

อดีตเพื่อนร่วมทีมของชูอาเมนี่

กุนเด้ เคยเป็นเพื่อนร่วมสโมสรเดียวกับออเรเลียง ชูอาเมนี่ ตั้งแต่อยู่กับทีมเยาวชนของบอร์กโดซ์ และเมื่อชูอาเมนี่ย้ายไปเรอัล มาดริด ในซัมเมอร์นี้ นั่นหมายความว่า ทั้งคู่จะมีโอกาสพบกันในศึก “เอล กลาซิโก้” ซีซั่นนี้

เหตุผลที่สวมเสื้อหมายเลข 12

สมัยที่อยู่กับเซบีย่า กุนเด้เลือกสวมเสื้อหมายเลข 12 เพราะเป็นวันเกิดของเขา และได้แรงบันดาลใจจากเฟเดริก กานูเต้ ตำนานดาวยิงชาวมาลีที่เคยสร้างชื่อในถิ่นรามอน ซานเชซ ปิซฆวน ซึ่งสวมเสื้อหมายเลข 12

ขอบคุณภาพ https://www.facebook.com/jkeey4

แฟนพันธุ์แท้บาสเกตบอล NBA

กุนเด้ เป็นผู้ที่หลงใหลในกีฬาบาสเก็ตบอลเป็นอย่างมาก และเคยไปชมการแข่งขัน NBA ที่สหรัฐอเมริกามาแล้ว โดยเขาเป็นแฟนคลับของอัลเลน ไอเวอร์สัน ตำนานนักยัดห่วงชื่อดัง เนื่องจากชื่นชอบในทรงผมสุดเท่

ถึงแม้ว่ากุนเด้จะมีส่วนสูงแค่ 179 เซนติเมตร แต่มีสไตล์การเล่นที่ครบเครื่อง ทั้งความแข็งแกร่ง ยืนตำแหน่งได้ดี อ่านเกมได้ยอดเยี่ยม เข้าถึงบอลเร็ว เอาชนะในการดวลตัวต่อตัวได้บ่อยๆ แถมเล่นบอลได้ดีทั้ง 2 เท้า

บาร์เซโลน่า ดึงตัวฌูลส์ กุนเด้มาเสริมทัพ เพื่อหวังเพิ่มศักยภาพเกมรับของบาร์เซโลน่าให้ดีขึ้นกว่าเดิม และคาดว่าจะเป็นตัวแทนที่ดีของเคราร์ด ปิเก้ ที่เตรียมนับถอยหลังอาชีพค้าแข้งในอีกไม่นานนี้

Categories
Special Content

รู้จักที่มา “ฉายา” 20 สโมสรฟุตบอลในลาลีกา สเปน 2022/23

เมื่อพูดถึง “ฉายา” ในวงการฟุตบอล ก็เปรียบเสมือนชื่อเล่น ที่ใช้เรียกแทนชื่อจริงของสโมสรนั้น ๆ โดยในแต่ละสโมสร จะตั้งฉายาที่แตกต่างกันไป มีทั้งตั้งแบบเรียบง่าย หรือตั้งแบบแปลกประหลาดจนน่าตกใจ

เหตุผลในการตั้งฉายาของแต่ละสโมสรฟุตบอล ก็มีที่มาแตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะมาจากชื่อสถานที่ตั้ง, ชื่อบุคคลสำคัญ, สัญลักษณ์, ประวัติศาสตร์, ตำนานหรือความเชื่อในท้องถิ่น และอื่น ๆ อีกมากมาย

ลาลีกา จะพาไปทำความรู้จักกับฉายาของทั้ง 20 สโมสร ในลีกสูงสุดแดนกระทิงดุ ฤดูกาล 2022/23ว่ามีเรื่องราวความเป็นมาอย่างไรกันบ้าง

แอธเลติก บิลเบา : The Lions

ฉายา “The Lions” ของแอธเลติก บิลเบา มาจากชื่อของซาน มาเมส (San Mamés) นักบุญไบแซนไทน์ที่ถูกทรมานร่างกาย และกำลังจะกลายเป็นอาหารของสิงโต แต่ก็สามารถทำให้สิงโตเชื่อง และรอดพ้นจากการเป็นเหยื่อได้สำเร็จ

แอตเลติโก มาดริด : The Mattress Makers หรือ The Indians

ฉายาแรก “Mattress Makers” หมายถึง สีแดง-ขาวจากวัสดุที่ใช้ปูที่นอนในสมัยก่อน อีกฉายาคือ “Indians” มีที่มาจากในช่วงต้นทศวรรษที่ 1970s แอตเลติโก มาดริด นิยมดึงนักเตะจากอเมริกาใต้เข้าสู่ทีมหลายคน ซึ่งเป็นนักเตะผิวสี และไว้ผมยาว จนถูกแฟนบอลทีมคู่แข่งล้อเลียนว่าเป็นพวกอินเดียนแดง

โอซาซูน่า : The Rojillos (The Reds)

ฉายา “The Rojillos” ของโอซาซูน่า ในภาษาสเปน หมายถึง “The Reds” หรือ สีแดง ซึ่งมาจากสีพื้นหลังของธงแคว้นนาวาร์ (Navarre) ที่ตั้งของสโมสร นอกจากนี้ สีแดงยังปรากฎอยู่บนเสื้อแข่งขันชุดเหย้า และโลโก้ของสโมสรอีกด้วย

กาดิซ : The Yellow Submarine

มีฉายา “Yellow Submarine” เช่นเดียวกับบียาร์เรอัล แต่มีที่มาที่แตกต่างกัน โดยกาดิซได้รับฉายานี้ เพราะในช่วงปี 1980-1986 สถานะของสโมสรอยู่ในลีกดิวิชั่น 2 และลีกสูงสุด ขึ้น-ลงสลับกันไป คล้ายกับการเคลื่อนไหวของเรือดำน้ำ

เอลเช่ : The Green Stripes

ในยุคแรก เสิ้อแข่งขันของเอลเช่มีสีขาวล้วน แต่ในปี 1926 ได้เพิ่มแถบสีเขียวแนวขวางไว้ส่วนบนของเสื้อ ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากต้นปาล์ม ต้นไม้ที่นิยมปลูกกันมากในเมืองเอลเช่ จึงทำให้สโมสรฟุตบอลแห่งนี้ ได้รับฉายาว่า “Green Stripes”

บาร์เซโลน่า : The Culés

ในอดีต มีแฟนบอลบาร์เซโลน่าจำนวนหนึ่งที่อยู่ในสนาม “La Escopidora” สนามเหย้าแห่งแรกของสโมสรที่มีขนาดเล็กมาก นั่งเรียงกันเป็นแถวยาวด้านบนสุดของกำแพงบนอัฒจันทร์ ซึ่งคนที่เดินผ่านไปมาก็ได้เห็นแผ่นหลัง และก้นของพวกเขาเหล่านี้ จึงเป็นที่มาของฉายา “Culés” ที่แปลว่า กลุ่มคนที่ชอบโชว์แผ่นหลัง

ขอบคุณภาพ https://www.facebook.com/fcbarcelona

เกตาเฟ่ : The Dark Blues

ในยุคแรก สโมสรแห่งนี้ใช้ชื่อว่า “Club Getafe Deportivo” ใช้ชุดแข่งสีน้ำเงินเข้ม ก่อนถูกยุบทีมในปี 1982 และในปีต่อมา ได้ก่อตั้งสโมสรขึ้นมาใหม่ ใช้ชื่อว่า “Getafe Club de Fútbol” ใช้ชุดแข่งสีน้ำเงินเข้มเช่นเดิม จึงได้ฉายาว่า “Dark Blues”

กิโรน่า : The White and Reds

ฉายา “White and Reds” หรือสีขาว-แดง มีที่มาจากสีของชุดแข่งชัน และโลโก้ของสโมสรที่มีลักษณะคล้ายหยดน้ำเรียงสลับกันสีละ 4 แถว สื่อถึงเมืองกิโรน่า จุดที่มีแม่น้ำ 4 สาย ไหลมาบรรจบกัน ซึ่งอยู่บนธง และตราประจำเมืองกิโรน่าด้วย

ราโย บาเยกาโน่ : The Red Sashes

ก่อนหน้านี้ เสื้อแข่งขันของราโย บาเยกาโน่ มีสีขาวล้วน จนกระทั่งในช่วงกลางทศวรรษที่ 1940s ได้เพิ่มแถบสีแดงทแยงพาดผ่าน ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากสโมสรฟุตบอลริเวอร์เพลท ในประเทศอาร์เจนติน่า จึงได้รับฉายาว่า “Red Sashes”

เซลต้า บีโก้ : The Sky Blues หรือ The Olívicos

ฉายา “Sky Blues” มาจากสีของท้องฟ้าที่อยู่บนเสื้อแข่งขัน ส่วนฉายา “Olívicos” ในภาษาสเปนหมายถึง Olive หรือต้นมะกอกที่ปลูกไว้ในโบสถ์แห่งหนึ่ง สื่อความหมายถึงสันติภาพและความสามัคคี ซึ่งอยู่บนธง และตราประจำเมืองบีโก้ด้วย

เอสปันญ่อล : The Parakeets

คำว่า “Parakeet” แปลตรงตัวว่า นกแก้ว มีที่มาจากฝูงนกแก้วที่มาทำรังบนต้นไม้รอบ ๆ สนาม Estadio de Sarriá ซึ่งเคยถูกใช้เป็นสนามเหย้าของเอสปันญ่อล ตั้งแต่ปี 1923 ถึง 1997 ก่อนจะย้ายมาใช้สนาม “อาร์ซีดีอี สเตเดี้ยม” ในปัจจุบัน

ขอบคุณภาพ https://www.facebook.com/RCDEspanyol

เรอัล มายอร์ก้า : The Vermilions

ฉายาของเรอัล มายอร์ก้าคือ “Vermilion” ที่แปลว่า สีแดงสด ซึ่งเป็นสีชุดแข่งหลักของสโมสร เริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 1922 โดยก่อนหน้านั้นได้ใช้ชุดแข่งสีดำมาก่อน และสีแดงสด ยังเป็นส่วนหนึ่งที่อยู่ในตราสัญลักษณ์ หรือโลโก้ของสโมสรอีกด้วย

เรอัล เบติส : The Béticos หรือ The Green and Whites หรือ The Heliopolitanos

นอกจากฉายา “Béticos” ที่หมายถึงชื่อสโมสรเรอัล เบติสแล้ว ยังมีฉายา “Green and Whites” หรือสีเขียว-ขาว สีของชุดแข่งขัน และฉายา “Heliopolitanos” มีที่มาจากชื่อย่าน Heliópolis ย่านที่อยู่ในแคว้นอันดาลูเซีย ซึ่งเป็นที่ตั้งของสโมสร

เรอัล มาดริด : The Meringues หรือ The Vikings

ฉายาแรก “Meringues” มาจากชุดแข่งขันสีขาว ส่วนอีกฉายาคือ “Vikings” มาจากพาดหัวของหนังสือพิมพ์ The Times ของอังกฤษ หลังจาก “โลส บลังโกส” คว้าแชมป์ยูโรเปี้ยน คัพ สมัยที่ 5 ติดต่อกันในปี 1960 ความว่า “เรอัล มาดริด ออกอาละวาดไปทั่วยุโรปเหมือนพวกไวกิ้ง ทำลายล้างทุกอย่างที่ขวางหน้า”

เรอัล โซเซียดัด : The Txuri-Urdin

ฉายาของเรอัล โซเซียดัด มาจากเพลงประจำสโมสร คำว่า “Txuri-Urdin” ในภาษาบาสก์หมายถึง “White and Blues” หรือสีขาว-น้ำเงิน ซึ่งเป็นสีธงประจำเมืองซาน เซบาสเตียน ที่ตั้งของสโมสร และกลายเป็นสีชุดแข่งของสโมสรตั้งแต่ปี 1909

เรอัล บายาโดลิด : The Pucelanos (Pucela)

คำว่า “Pucela” สันนิษฐานว่ามีที่มาจาก Joan of Arc หญิงสาวที่ได้ต่อสู้ในสงครามร้อยปี ซึ่งเรียกตัวเองว่า “Maid of Orleans” ซึ่งคำว่า maid ในภาษาสเปนยุคโบราณ จะเรียกว่า pucela และถูกนำไปตั้งเป็นฉายาของบายาโดลิดในที่สุด

เซบีย่า : The Washbasins

คำว่า “Washbasin” แปลตรงตัวว่า อ่างล้างหน้า มีที่มาจากเสื้อแข่งของเซบีย่าในช่วงกลางทศวรรษที่1970s ซึ่งเป็นเสื้อสีขาวล้วน มีเส้นขอบสีแดงเล็ก ๆ ที่บริเวณแขนเสื้อ และบนปกคอเสื้อ มีลักษณะคล้ายกับอ่างล้างหน้าที่เป็นที่นิยมในยุคนั้น

อัลเมเรีย : The Indálicos

ฉายา “Indálicos” มาจากสัญลักษณ์ Indalo เป็นภาพวาดลักษณะคล้ายกับมนุษย์ ถูกค้นพบในถ้ำลอสเลเตรอส (Los Letreros) ที่เมืองอัลเมเรีย ซึ่งได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลก และสัญลักษณ์ดังกล่าว ก็อยู่ภายในโลโก้ของสโมสรด้วย

บาเลนเซีย : The Che

ฉายาในภาษาสเปนคือ “Los Che” ซึ่งเป็นคำอุทานที่ชาวเมืองบาเลนเซียใช้เรียกกัน มีลักษณะคล้ายกับการอุทาน “hey” ในภาษาอังกฤษ เป็นการแสดงออกถึงความเป็นชาวเมืองบาเลนเซียโดยเฉพาะ และกลายเป็นชื่อเรียกที่ติดปากในที่สุด

บียาร์เรอัล : The Yellow Submarine

มีฉายา “Yellow Submarine” เหมือนกับกาดิซ มีที่มาจากชื่อเพลง “Yellow Submarine” ของเดอะ บีทเทิลส์ วงดนตรีร็อกชื่อดังของอังกฤษ ที่เปิดตัวเมื่อปี 1966 และแฟนบอลได้นำเพลงของวงเดอะ บีทเทิลส์ มาเปิดให้ฟังในสนามนับแต่นั้นมา

ฉายาของสโมสรฟุตบอล ตั้งขึ้นมาเพื่อให้ชื่อนั้นติดหู จดจำง่าย พร้อมกับเสริมความน่าเกรงขามเพื่อข่มขวัญคู่ต่อสู้ไปในตัวด้วย ถือเป็นสีสัน และช่วยเพิ่มอรรถรสในการติดตามเกมลูกหนังมากยิ่งขึ้น

Categories
Special Content

เออร์ลิง ฮาแลนด์ : ลูกชาวสวนผู้เดินตามรอยพ่อที่ “แมนฯ ซิตี้”

เออร์ลิง ฮาแลนด์ กองหน้าวัย 22 ปี ย้ายจากโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ มาร่วมทีมแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ด้วยค่าตัว 51 ล้านปอนด์ เซ็นสัญญา 5 ปี รับค่าเหนื่อย 375,000 ปอนด์ต่อสัปดาห์

ล่าสุด ดาวยิงชาวนอร์เวย์รายนี้ ได้โอกาสลงสนามเป็นตัวจริงให้กับ “เรือใบสีฟ้า” ในเกมอุ่นเครื่องพรี-ซีซั่น ที่สหรัฐอเมริกา โดยเฉือนเอาชนะบาเยิร์น มิวนิค 1 – 0 เมื่อเช้าวันอาทิตย์ที่ 24 ก.ค. ที่ผ่านมา

ประตูชัยในเกมนี้ เกิดขึ้นตั้งแต่ 12 นาทีแรก และฮาแลนด์ก็เป็นผู้สังหารเข้าไป ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี หลังจากดาร์วิน นูนเญซ เพิ่งยิงคนเดียว 4 ประตูให้กับลิเวอร์พูล เมื่อไม่กี่วันก่อนหน้านั้น

การมาของฮาแลนด์ และนูนเญซ สร้างความตื่นเต้นให้กับฟุตบอลอังกฤษเป็นอย่างมาก ที่อยากจะเห็นฟอร์มของดาวยิงวัยรุ่นทั้ง 2 คนนี้ โดยเริ่มต้นจากศึก “คอมมูนิตี้ ชิลด์” วันเสาร์นี้

วันนี้ ไข่มุกดำ x SoccerSuck จะมาเล่าเรื่องราวของดาวเตะหมายเลข 9 กับเส้นทางสู่การเป็นนักเตะแมนฯ ซิตี้ ตามรอยคุณพ่ออัลฟ์-อิงเก้ มาให้ฟังกันครับ

ขอบคุณภาพ https://web.facebook.com/mancity

เกิดในครอบครัวนักกีฬา และเกษตรกร

เออร์ลิง ฮาแลนด์ เกิดที่เมืองลีดส์ ประเทศอังกฤษ เป็นลูกชายของคุณพ่ออัลฟ์-อิงเก้ ฮาแลนด์ ที่เคยค้าแข้งกับ 3 สโมสรพรีเมียร์ลีก ทั้งน็อตติ้งแฮม ฟอเรสต์, ลีดส์ ยูไนเต็ด และแมนเชสเตอร์ ซิตี้

ส่วนคุณแม่ของเขา ก็เคยเป็นอดีตนักกรีฑาที่มีชื่อเสียงในช่วงทศวรรษ 1990s โดยเคยลงแข่งขันในประเภทสัตตกรีฑา ซึ่งเป็นการแข่งขันที่ต้องใช้ความพยายาม และความทรหดเป็นอย่างมาก

เมื่อฮาแลนด์อายุได้ 3 ขวบ คุณพ่ออัลฟ์-อิงเก้ ตัดสินใจยุติชีวิตค้าแข้งในเมืองผู้ดี พร้อมพาครอบครัวกลับบ้านเกิดที่เมืองไบรน์ ประเทศนอร์เวย์ ซึ่งเป็นเมืองแห่งเกษตรกรรม

ฮาแลนด์เริ่มต้นเส้นทางลูกหนังในวัย 5 ขวบ หลังจากเข้ามาเป็นนักเตะเยาวชนกับสโมสรไบรน์ ซึ่งตัวเขามีฝีเท้า พรสวรรค์ และรูปร่างสูงใหญ่ โดดเด่นกว่าเพื่อน ๆ ในวัยเดียวกัน

หลังจากใช้เวลาอยู่กับอคาเดมี่นานถึง 11 ปี ในปี 2016 ฮาแลนด์ในวัย 16 ปี ก็ได้ประเดิมลงสนามกับทีมชุดใหญ่ของไบรน์เป็นนัดแรก โดยเริ่มเล่นในตำแหน่งปีก ก่อนถูกโยกมาเล่นกองหน้าตัวเป้า

กระทั่งปีต่อมา โอเล่ กุนนาร์ โซลชา อดีตตำนานกองหน้าแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่รับงานผู้จัดการทีมโมลด์ในเวลานั้น ได้เห็นฝีเท้าที่ยอดเยี่ยมของฮาแลนด์ จึงได้ดึงตัวเขามาปลุกปั้นต่อ

ซึ่งแมตช์ที่สร้างชื่อให้กับฮาแลนด์ คือเกมที่โมลด์ บุกไปถล่มบรานน์ถึงถิ่น 4 – 0 เมื่อเดือนกรกฎาคม 2018 เจ้าตัวเหมาทั้ง 4 ประตูในครึ่งแรก โดยใช้เวลาเพียงแค่ 17 นาทีเท่านั้น

ค่าเฉลี่ยนัดละ 1 ลูกในลีกออสเตรีย และเยอรมัน

หลังผ่านการพิสูจน์ตัวเองในลีกนอร์เวย์กับไบรน์ และโมลด์ เออร์ลิง ฮาแลนด์ก็ได้ไปค้าแข้งในลีกที่ใหญ่กว่าเดิม เพื่อโอกาสสร้างชื่อในการเป็นหนึ่งในสุดยอดดาวยิงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกลูกหนัง

ขอบคุณภาพ https://web.facebook.com/FCRedBullSalzburg

เดือนมกราคม 2019 ซัลซ์บวร์ก ทีมดังในบุนเดสลีกา ออสเตรีย จ่ายเงินให้โมลด์ 8 ล้านยูโร ในการดึงฮาแลนด์มาร่วมทีม และได้สร้างประวัติศาสตร์ไว้มากมายในถิ่นเรดบูลล์ อารีน่า

ตลอด 1 ปี กับซัลซ์บวร์ก ฮาแลนด์ ลงเล่น 27 นัดรวมทุกรายการ ทำได้ 29 ประตู หนึ่งในนั้นคือการยิงประตูลิเวอร์พูลที่แอนฟิลด์ ในเกมยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก รอบแบ่งกลุ่ม เมื่อเดือนตุลาคม 2019

และการลงเล่นถ้วยใหญ่สุดของยุโรปนี่เอง ฮาแลนด์ได้สร้างสถิติขึ้นมาอีกอย่างหนึ่ง คือเป็นนักเตะคนที่ 6 ในประวัติศาสตร์ ที่ยิงประตูในรายการแชมเปี้ยนส์ ลีก 5 นัดติดต่อกัน

จากนั้นในเดือนมกราคม ปีถัดมา โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ สโมสรยักษ์ใหญ่จากบุนเดสลีกา เยอรมัน ตัดสินใจทุ่มเงิน 20 ล้านยูโร เพื่อเป็นค่าตัวของฮาแลนด์ ท่ามกลางความสนใจจากหลายทีมในยุโรป

นัดแรกของฮาแลนด์ ในสีเสื้อของ “เสือเหลือง” ถูกเปลี่ยนลงมาเป็นตัวสำรอง และทำแฮตทริกได้ทันที โดยใช้เวลาเพียงแค่ 34 นาทีเท่านั้น ในเกมที่บุกไปเอาชนะเอาก์สบวร์กถึงถิ่น 5 – 3

2 ซีซั่นครึ่งในถิ่นซิกนัล อิดูน่า พาร์ค ฮาแลนด์ได้ตอบแทนความคุ้มค่าให้กับดอร์ทมุนด์ ด้วยการเป็นตัวผลิตสกอร์เป็นกอบเป็นกำเช่นเดียวกับตอนเล่นให้ซัลซ์บวร์ก โดยทำได้ 86 ประตู จากการลงสนาม 89 นัด

ผลงานของฮาแลนด์ กับทั้งซัลซ์บวร์ก และดอร์ทมุนด์ ยิงได้ 115 ประตู จาก 116 นัด คิดแบบง่าย ๆ คือ การันตี 1 ประตูทุกนัด ด้วยสถิติสุดโหดแบบนี้ ทำให้แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ตัดสินใจดึงตัวไปร่วมทีมในที่สุด

บทบาทในเกมรุกของแมนฯ ซิตี้ จะเป็นอย่างไร ?

เออร์ลิง ฮาแลนด์ เลือกวันที่ 12 มิถุนายน เป็นวันเปิดตัวนักเตะใหม่กับแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่อัลฟ์-อิงเก้  คุณพ่อของเขา เปิดตัวกับเรือใบสีฟ้า หลังย้ายจากลีดส์ ยูไนเต็ด เมื่อ 22 ปีก่อน

ขอบคุณภาพ https://web.facebook.com/mancity

การเข้ามาของฮาแลนด์ ถือเป็นการเติมเต็มสิ่งที่ขาดหายไปในตำแหน่งกองหน้าตัวเป้า หลังจากหมดยุคของเซร์คิโอ กุน อเกวโร่ และไม่แน่ว่า อาจจะทำได้ดีกว่าอดีตดาวยิงชาวอาร์เจนไตน์ก็เป็นได้

สไตล์การเล่นของฮาแลนด์ มักจะเป็นกองหน้ารอจบสกอร์ในเขตโทษ มากกว่าช่วยเพื่อนร่วมทีมขึ้นเกม ซึ่งจะต่างจากแฮร์รี่ เคน กองหน้าสเปอร์ส ที่แมนฯ ซิตี้เคยตามจีบอย่างหนัก แต่สุดท้ายก็พลาดหวัง

สำหรับแท็กติกที่เป๊ป กวาร์ดิโอล่า กุนซือสมองเพชรของซิตี้ ที่คาดว่าน่าจะนำมาใช้ เพื่อรองรับการมาถึงของดาวยิงทีมชาตินอร์เวย์ วัย 22 ปี รายนี้ มีความเป็นไปได้ทั้ง 4-3-3, 4-2-3-1 หรือ 4-4-2

แผน 4-3-3 สูตรถนัดของเป๊ป ฮาแลนด์จะเป็นกองหน้าตัวกลาง ยืนสูงกว่าด้านข้างทั้งริยาดห์ มาเรซ และฟิล โฟเด้น ส่วนแผงมิดฟิลด์ เควิน เดอ บรอยน์ จะทำหน้าที่คอยปั้นเกม

ส่วนแผน 4-2-3-1 แน่นอนว่าฮาแลนด์ยืนหน้าตัวเป้าแบบเดี่ยว ๆ ส่วนมิดฟิลด์ที่จะขึ้นเกมรุก อาจจะให้เดอ บรอยน์ หรือโฟเด้น รับบทเป็นเพลย์เมกเกอร์ ทำเกมอยู่ด้านหลังฮาแลนด์

ขณะที่แผน 4-4-2 ที่หลายคนอาจปรามาสว่า “ตกยุค” แต่เป๊ปอาจจะหยิบนำมาใช้ได้เช่นกัน ฮาแลนด์จะยืนเป็นกองหน้าคู่ ซึ่งจับคู่ได้ทั้งโฟเด้น, มาเรซ หรือกองหน้าตัวใหม่อย่างยูเลี่ยน อัลวาเรซ

ขอบคุณภาพ https://web.facebook.com/mancity

อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่แมนฯ ซิตี้อาจจะมีความกังวลในตัวฮาแลนด์ คืออาการบาดเจ็บที่เริ่มจะบ่อยขึ้นในระยะหลังอย่างเห็นได้ชัด โดย 2 ฤดูกาลหลังสุดกับดอร์ทมุนด์ เขาพลาดลงสนามรวมกันถึง 26 นัด

การมาของเออร์ลิ่ง ฮาแลนด์ ทำให้เกมรุกของแมนเชสเตอร์ ซิตี้ น่ากลัวขึ้นอีกระดับ และหลังจากลิเวอร์พูลได้ตัวดาร์วิน นูนเญซ น่าสนใจว่าพรีเมียร์ลีก ฤดูกาลใหม่ จะเพิ่มดีกรีความเดือดอย่างมากเลยทีเดียว

เรียบเรียง: จักรพันธ์ ภู่ทอง

อ้างอิง :

https://lifebogger.com/erling-braut-haaland-childhood-story-plus-untold-biography-facts/

https://theathletic.com/3279312/2022/05/11/erling-haaland-boy-from-bryne-who-didnt-like-school-or-losing-but-loves-scoring-and-kebab-pizza/

– https://theathletic.com/3368776/2022/06/17/haaland-de-bruyne-foden-grealish/

– https://www.skysports.com/football/news/11679/12609616/erling-haaland-to-man-city-why-striker-role-in-pep-guardiolas-team-suits-norwegians-temperament-and-skill-set

Categories
Special Content

แนะนำ 20 กุนซือลาลีกา ซีซั่น 2022/23

ผู้ฝึกสอน หรือโค้ช ถือเป็นคนสำคัญคนหนึ่งในการแข่งขันฟุตบอล เพราะต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ ในการหลอมรวมนักเตะแต่ละคนที่มีสไตล์ที่แตกต่างกัน ให้ทำงานด้วยกันเป็นทีม เพื่อนำไปสู่ชัยชนะ

ศึกลูกหนัง ลาลีกา สเปน ฤดูกาล 2022/23 จะเริ่มต้นขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนสิงหาคมนี้ กุนซือของทุกสโมสร กำลังเตรียมความพร้อมอย่างเต็มที่ เพื่อสู้กับศึกหนักที่รออยู่ตลอด 9 เดือน

สำหรับในซีซั่นใหม่ มีกุนซือชาวสเปน 14 คน ที่ต้องมาดวลกึ๋นกับกุนซือชาวต่างชาติอีก 6 คน และนี่คือภาพรวมของโค้ชทั้ง 20 ทีม ที่แฟน ๆ ลูกหนังลีกกระทิงดุ ต่างรอดูผลงานของพวกเขาเหล่านี้

โค้ชที่ผ่านประสบการณ์ระดับสูง

ในบรรดา 20 สโมสรของลาลีกา ซีซั่นใหม่ มีผู้จัดการทีมบางคน ที่ผ่านประสบการณ์ทั้งในสเปน และยุโรป เริ่มจากคาร์โล อันเชล็อตติ เทรนเนอร์เรอัล มาดริด แชมป์เก่าลาลีกา และยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก จากซีซั่นที่แล้ว

ขอบคุณภาพ https://www.facebook.com/RealMadrid

เทรนเนอร์ชาวอิตาเลียนวัย 63 ปี กับประสบการณ์คุมทีมคว้าแชมป์ 23 โทรฟี่ (7 โทรฟี่ กับเรอัล มาดริด) และเป็นโค้ชที่มีอายุมากสุดเป็นอันดับ 2 เท่ากับฮาเวียร์ อากีร์เร่ กุนซือชาวเม็กซิกันของเรอัล มายอร์ก้า

ส่วนกุนซือที่มีอายุมากที่สุดในลาลีกา คือ มานูเอล เปเยกรินี่ วัย 68 ปี ที่เคยคว้าแชมป์ 3 โทรฟี่ กับแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ในอังกฤษ และล่าสุดเพิ่งพาเรอัล เบติส คว้าแชมป์โคปา เดล เรย์ เป็นครั้งแรกในรอบ 17 ปี

และอีกคนที่มีโปรไฟล์น่าสนใจ คือ อูไน เอเมรี่ กุนซือวัย 50 ปี แม้อายุจะยังน้อย แต่ผลงานที่สร้างชื่อให้กับเขา คือการคว้าแชมป์ยูฟ่า ยูโรป้า ลีก ได้ถึง 4 ครั้ง (3 ครั้งกับเซบีย่า และ 1 ครั้งกับบียาร์เรอัล)

โค้ชที่มีอายุงานยาวนานที่สุด

ดิเอโก้ ซิเมโอเน่ เป็นโค้ชที่มีอายุงานในลาลีกายาวนานที่สุด โดยได้มาคุมทีมแอตเลติโก้ มาดริด ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2011 จนถึงปัจจุบันนี้ เทรนเนอร์ชาวอาร์เจนไตน์ อยู่กับ “ตราหมี” มาแล้ว 10 ปี 7 เดือน

ขอบคุณภาพ https://www.facebook.com/AtleticodeMadrid

อันดับ 2 เป็นของยาโกบา อาราซาเต้ ที่พาโอซาซูน่า เลื่อนชั้นขึ้นสู่ลีกสูงสุดตั้งแต่ซีซั่นแรกที่คุมทีม และจบอันดับกลางตารางมา 3 ซีซั่นติดต่อกัน ซึ่งในซีซั่นนี้ จะเป็นซีซั่นที่ 5 ในการทำงานของเขา

ตามมาด้วย อิมานอล อัลกูอาซิล ที่คุมเรอัล โซเซียดัด มาแล้ว 3 ฤดูกาลครึ่ง และเคยพาทีมคว้าแชมป์โคปา เดล เรย์ ฤดูกาล 2019/20 เป็นการได้แชมป์ระดับเมเจอร์ครั้งแรกในรอบ 34 ปี ของสโมสร

ฆูเลน โลเปเตกี มาเป็นอันดับ 4 กับระยะเวลา 3 ฤดูกาลที่คุมทีมเซบีย่า ผลงานเด่นคือการคว้าแชมป์ยูฟ่า ยูโรป้า ลีก ฤดูกาล 2019/20 และจบซีซั่นในอันดับท็อปโฟร์มาแล้ว 3 ซีซั่นติดต่อกัน

รอดตายเพราะเปลี่ยนโค้ชระหว่างซีซั่น

ฤดูกาลที่แล้ว มีกุนซือ 4 คน ที่เข้ามาคุมทีมระหว่างซีซั่น และช่วยให้ทีมรอดตกชั้น เริ่มจากเอลเช่ ที่อยู่อันดับ 18 ในเดือนพฤศจิกายน พอเปลี่ยนโค้ชมาเป็นฟรานซิสโก้ โรดริเกซ ก็ไม่เคยอยู่ในโซนสีแดงอีกเลย

เกตาเฟ่ ทีมที่ออกสตาร์ทซีซั่น 7 นัดแรก ไม่มีคะแนนเลย จนต้องเปลี่ยนกุนซือมาเป็นกิเก้ ซานเชซ ฟลอเรส ในช่วงต้นเดือนตุลาคม หลังจากนั้นผลงานดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จบซีซั่นในอันดับที่ 15 ของตาราง

เรอัล มายอร์ก้า ครึ่งซีซั่นแรกดูเหมือนไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง แต่พอช่วงครึ่งซีซั่นหลัง ฟอร์มหลุดแบบไม่น่าเชื่อ จนร่วงลงไปอยู่โซนตกชั้น ทำให้ฮาเวียร์ อากีร์เร่ เข้ามารับช่วงต่อใน 9 นัดสุดท้าย และเอาตัวรอดได้ในที่สุด

กาดิซ ก็เป็นอีกทีมที่อยู่ในโซนสีแดงช่วงครึ่งซีซั่นแรก และในเดือนมกราคม เซร์คิโอ กอนซาเลซ ก็ได้เข้ามากู้สถานการณ์ของทีม โดยต้องดิ้นรนหนีตายจนถึงนัดสุดท้าย ก่อนจบในอันดับที่ 17 รอดตกชั้นแบบฉิวเฉียด

เปลี่ยนกุนซือใหม่ก่อนเริ่มต้นซีซั่น

ลาลีกา ในซีซั่นใหม่ มี 3 สโมสร ที่มีการเปลี่ยนแปลงในตำแหน่งเฮดโค้ช เริ่มที่เอสปันญ่อล ได้แต่งตั้งดิเอโก้ มาร์ติเนซ อดีตโค้ชกรานาด้า ในช่วงปี 2018 – 2021 เข้ามารับหน้าที่แทนหลุยส์ บลังโก้ โค้ชรักษาการ

บาเลนเซีย ได้ตัดสินใจปลดโฆเซ่ บอร์ดัลอาส ออกจากตำแหน่งหลังจบซีซั่น และเลือกเจนนาโร่ กัตตูโซ่ อดีตเทรนเนอร์ของเอซี มิลาน และนาโปลี มาเป็นกุนซือคนใหม่ หวังลุ้นโควตาไปฟุตบอลยุโรปให้ได้

ขอบคุณภาพ https://www.facebook.com/valenciacf.en

ปิดท้ายที่แอธเลติก บิลเบา มาร์เชลิโน่ ประกาศลาออกเมื่อจบซีซั่นที่ผ่านมา หลังล้มเหลวในการคว้าตั๋วไปฟุตบอลยุโรป และได้โค้ชคนใหม่แต่หน้าเก่าอย่างเออร์เนสโต้ บัลเบร์เด้ ที่กลับมาคุมทีมเดิมเป็นรอบที่ 3 แล้ว

โค้ชที่น่าจับตามองในซีซั่นใหม่

เริ่มจากซาบี้ เอร์นานเดซ เทรนเนอร์บาร์เซโลน่า ที่ใช้เวลาเพียงแค่ 6 เดือน พลิกสถานการณ์ของทีมจากอันดับที่ 9 สู่อันดับที่ 2 และซีซั่นใหม่ที่กำลังจะเริ่มขึ้น จะเป็นการคุมทีมแบบเต็มซีซั่นเป็นครั้งแรกของเขา

คนต่อมา อันโดนี่ อิราโอล่า กุนซือของราโย บาเยกาโน่ ที่ทำผลงานได้ยอดเยี่ยมในฐานะทีมน้องใหม่จากซีซั่นก่อน และได้รับประสบการณ์อันล้ำค่า ในการที่จะปรับปรุงผลงานสำหรับซีซั่นใหม่ให้ดีขึ้นกว่าเดิม

อีกคนที่น่าจับตาไม่แพ้กัน คือ เอดูอาร์โด กูเดต์ โค้ชของเซลต้า บีโก้ ที่มีสไตล์การเล่นเกมรุกบุกแหลกแบบไม่กลัวใคร และความหวังอันดับ 1 ในการทำประตูให้กับทีม ก็ยังคงเป็นยาโก้ อัสปาส เช่นเดิม

3 กุนซือทีมน้องใหม่ลาลีกา

สำหรับผู้จัดการทีมของ 3 สโมสรที่เลื่อนชั้นขึ้นมาสู่เวทีลีกสูงสุด ซีซั่นใหม่ เริ่มจากรูบี้ กุนซืออัลเมเรีย ที่เคยมีประสบการณ์อันเลวร้าย หลังไม่สามารถพาสปอร์ติ้ง กิฆอน รอดพ้นจากการตกชั้น เมื่อ 5 ปีที่แล้ว

ปาเชต้า ก็เคยเจอชะตากรรมเดียวกันกับรูบี้ หลังทำทีมอูเอสก้า ตกชั้นจากลีกสูงสุด เมื่อฤดูกาล 2020/21 และคงต้องทำงานอย่างหนัก เพื่อหวังพาเรอัล บายาโดลิด อยู่เหนือโซนสีแดงหลังจบซีซั่นให้ได้

คนสุดท้ายคือมิเกล ซานเชซ มูนญอซ โค้ชของกิโรน่า ที่เคยพาราโย บาเยกาโน่ และอูเอสก้า เลื่อนชั้นสู่ลีกสูงสุดในฐานะแชมป์ลีกรองมาแล้ว แต่ภารกิจเอาตัวรอดในลาลีกา ถือเป็นความท้าทายครั้งสำคัญของเขา

แม้ว่าโค้ชแต่ละคน จะมีองค์ความรู้ที่แตกต่างกัน แต่โค้ชทุกคนก็พยายามที่จะพัฒนาทีมของตัวเองให้ไปสู่เป้าหมาย ซึ่งผลงานของโค้ชแต่ละคน จะบอกถึงระดับความสามารถและมูลค่าได้ดีที่สุด

รายชื่อผู้จัดการทีมในลาลีกา สเปน ประจำฤดูกาล 2022/23

👉 อัลเมเรีย – รูบี้

👉 แอธเลติก บิลเบา – เออร์เนสโต้ บัลเบร์เด้

👉 แอตเลติโก มาดริด – ดิเอโก้ ซิเมโอเน่

👉 บาร์เซโลน่า – ซาบี้ เอร์นานเดซ

👉 กาดิซ – เซร์คิโอ กอนซาเลซ

👉 เซลต้า บีโก้ – เอดูอาร์โด กูเดต์

👉 เอลเช่ – ฟรานซิสโก้ โรดริเกซ

👉 เอสปันญ่อล – ดิเอโก มาร์ติเนซ

👉 เกตาเฟ่ – กิเก้ ซานเชซ ฟลอเรส

👉 กิโรน่า – มิเกล ซานเชซ มูนญอซ

👉 โอซาซูน่า – ยาโกบา อาราซาเต้

👉 ราโย บาเยกาโน่ – อันโดนี่ อิราโอล่า

👉 เรอัล มายอร์ก้า – ฮาเวียร์ อากีร์เร่

👉 เรอัล เบติส – มานูเอล เปเยกรินี่

👉 เรอัล มาดริด – คาร์โล อันเชล็อตติ

👉 เรอัล โซเซียดัด – อิมานอล อัลกูอาซิล

👉 เรอัล บายาโดลิด – ปาเชต้า

👉 เซบีย่า – ฆูเลน โลเปเตกี

👉 บาเลนเซีย – เจนนาโร่ กัตตูโซ่

👉 บียาร์เรอัล – อูไน เอเมรี่

Categories
Special Content

ดาร์วิน นูนเญซ : จากเด็กยากจน สู่แข้งค่าตัวแพงสุดของลิเวอร์พูลที่ยังต้องต่อสู้กับคำครหา

ดาร์วิน นูนเญซ กองหน้าวัย 23 ปี ย้ายจากเบนฟิก้า มาร่วมทีมลิเวอร์พูล ด้วยค่าฉีกสัญญา 64 ล้านปอนด์ บวกกับแอด-ออน อีก 21 ล้านปอนด์ รวมเป็น 85 ล้านปอนด์ 

แต่กว่าจะเป็นนักเตะค่าตัวแพงสุดในประวัติศาสตร์ของ “หงส์แดง” นูนเญซต้องต่อสู้กับชีวิตที่ยากลำบากในวัยเด็ก แถมเคยได้รับบาดเจ็บอย่างหนัก จนเกือบต้องเลิกเล่นฟุตบอลมาแล้ว

และล่าสุด เมื่อคืนวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ดาวยิงชาวอุรุกวัยได้โอกาสโชว์ฝีเท้าในเกมอุ่นเครื่อง นัดที่บุกไปถล่มแอร์แบ ไลป์ซิก 5 – 0 โดยเจ้าตัวถูกเปลี่ยนลงมาในครึ่งหลัง และยิงคนเดียว 4 ประตูลบคำปรามาสก่อนหน้านี้ที่ลงเตะพรีซีซั่นให้หงส์แดงแล้วฟอร์มยังไม่เข้าตาไปได้

“นี่เป็นวิธีที่ดีที่สุดแล้วในหยุดแว่วเสียงวิจารณ์ต่าง ๆ มันเป็นคืนที่เพอร์เฟคต์สำหรับเขา” เยอร์เก้น คลอปป์ กล่าวถึงลูกทีมเบอร์ 27

ฉะนั้นหลังกด 4 ประตูแรก และซัดแฮทตริกใน 12 นาทีได้สำเร็จ SoccerSuck x ไข่มุกดำ จะมาเล่าเรื่องเส้นทางสู่การเป็นนักฟุตบอลของนูนเญซ ก่อนที่ศึก “คอมมูนิตี ชิลด์” จะมาถึงในสัปดาห์หน้า ให้ฟังกันครับ

ครอบครัวที่แสนลำเค็ญ และเคยคิดเลิกเล่นฟุตบอล

ดาร์วิน นูนเญซ เกิดที่เมืองอาร์ติกาส ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอุรุกวัย ครอบครัวของเขาอาศัยอยู่ติดแม่น้ำ ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะเกิดอุทกภัยในช่วงฤดูฝน ต้องเฝ้าระวังทรัพย์สินที่อาจจะสูญหายได้ทุกเวลา

ชีวิตในวัยเด็กของดาร์วิน ต้องเผชิญกับความลำเค็ญอย่างมาก เนื่องจากมีฐานะยากจน คุณพ่อเป็นคนงานก่อสร้าง ส่วนคุณแม่ต้องเดินเก็บขวดขายแลกเงิน เพื่อนำมาเลี้ยงดูตัวเขา และจูเนียร์ พี่ชายของเขา

สิ่งเดียวที่จะขับเคลื่อนชีวิตของดาร์วิน และครอบครัว ให้หลุดพ้นจากความยากลำบากคือ “ฟุตบอล” เมื่ออายุ 6 ขวบ ได้เข้ามาเป็นนักเตะเยาวชน ใช้เวลาฝึกฝนทักษะกีฬาลูกหนังจนเป็นที่ยอมรับของอคาเดมี่

ปี 2013 ดาร์วินในวัย 14 ปี ได้เข้าสู่ทีมเยาวชนของเพนารอล สโมสรยักษ์ใหญ่แห่งเมืองหลวงพร้อมกับพี่ชาย แต่เกิดอาการคิดถึงครอบครัวที่อาร์ติกาส จึงขออนุญาตกับทางสโมสร กลับไปใช้ชีวิตที่บ้าน 1 ปี

ปีต่อมา ดาร์วินกลับไปที่เพนารอลอีกครั้ง แต่ชีวิตการค้าแข้งของเขา เกือบหยุดชะงัก เนื่องจากได้รับบาดเจ็บที่เอ็นหัวเข่าและบริเวณสะบ้า พักยาวเกือบ 2 ปี จนเจ้าตัวคิดอยากจะเลิกเป็นนักฟุตบอลเลยทีเดียว

เดือนพฤศจิกายน 2017 ดาร์วินได้ประเดิมลงสนามนัดแรกกับทีมชุดใหญ่ของเพนารอล แต่เหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัด เขาได้รับบาดเจ็บเอ็นหัวเข่าจุดเดิมเป็นครั้งที่ 2 พักนาน 7 เดือน ก่อนกลับมาลงสนามได้อีกครั้ง

ตลอด 2 ปี ในทีมชุดใหญ่ของเพนารอล ดาร์วินต้องเจอกับอุปสรรคทั้งร่างกายและจิตใจ แต่จูเนียร์ พี่ชายของเขา คือผู้เสียสละที่แท้จริง ด้วยการเปิดทางให้น้องชายได้ไปต่อในเส้นทางนักฟุตบอลอาชีพ

สู่เส้นทางค้าแข้งที่ยุโรป ก่อนเข้าตาเจอร์เก้น คล็อปป์ 

ดาร์วิน นูนเญซ เติบโตในครอบครัวที่ยากลำบาก แต่ด้วยความเป็นนักสู้ ฝ่าฟันกับอุปสรรคต่างๆ อีกทั้งแสดงความสามารถออกมาให้ทุกคนเห็น จนได้รับโอกาสในการไปเล่นฟุตบอลอาชีพที่ต่างแดน

ปี 2019 อัลเมเรีย สโมสรระดับลีกดิวิชั่น 2 ของสเปนในเวลานั้น จ่ายเงิน 6 ล้านยูโร ให้กับเพนารอล เพื่อเป็นค่าตัวในการย้ายไปค้าแข้งในลีกยุโรปเป็นครั้งแรก โดยได้รับค่าจ้างที่ไม่ได้สูงมากนัก

1 ฤดูกาลกับอัลเมเรีย นูนเญซปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว จากตำแหน่งเพลย์เมกเกอร์ แล้วเปลี่ยนมาเป็นกองหน้า ทำได้ 16 ประตู จาก 30 นัด กลายเป็นดาวยิงสูงสุดของสโมสรในซีซั่น 2019/20

ต่อมาในซีซั่น 2020/21 นูนเญซได้รับโอกาสครั้งสำคัญ ในการย้ายไปค้าแข้งกับทีมที่ใหญ่ขึ้นอย่างเบนฟิกา สโมสรดังในลีกโปรตุเกส ด้วยค่าตัว 24 ล้านยูโร และมีโอกาสลงเล่นในยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก

ฤดูกาลแรกที่อยู่กับ “เหยี่ยวลิสบอน” นูนเญซมีอาการบาดเจ็บที่หัวเข่าอยู่บ้าง แต่ด้วยหัวจิตหัวใจที่ไม่เคยยอมแพ้ เจ้าตัวก็ยังทำผลงานได้ดี ยิงได้ 16 ประตู จากการลงสนาม 44 นัด รวมทุกรายการ

จนกระทั่งในฤดูกาล 2021/22 ลิเวอร์พูล มีโปรแกรมพบกับเบนฟิก้า ในยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก รอบ 8 ทีมสุดท้าย ถึงแม้ว่าทีมของนูนเญซจะแพ้ด้วยสกอร์รวม 4 – 6 แต่เจ้าตัวทำประตูได้ทั้ง 2 นัดที่พบกัน

ฟอร์มการเล่นที่โดดเด่นของนูนเญซ เรียกได้ว่าสร้างความประทับใจให้กับเจอร์เก้น คล็อปป์ กุนซือชาวเยอรมันของ “หงส์แดง” ที่ได้มาเห็นด้วยตาตัวเอง และมักจะชื่นชอบนักเตะสไตล์ “นักสู้” อยู่แล้วด้วย

ซีซั่นที่ 2 ของนูนเญซ ก้าวกระโดดกว่าซีซั่นแรกอย่างชัดเจน ยิงไป 32 ประตู จาก 41 นัดรวมทุกรายการ ฟอร์มการเล่นที่จัดจ้านด้วยอายุที่ยังน้อย ทำให้บรรดาสโมสรยักษ์ใหญ่ ต่างจ้องที่จะล่าตัวมาให้ได้

เหตุใดลิเวอร์พูลถึงต้องจ่ายเงินเป็นสถิติสโมสร ?

สำหรับที่มาที่ไปของค่าตัว 85 ล้านปอนด์ ที่ลิเวอร์พูลจ่ายไปนั้น ข้อแรกคือ “กลไกตลาด” เนื่องจากดาร์วิน นูนเญซ ได้รับความสนใจจากทีมยักษ์ใหญ่เป็นอย่างมาก ทั้งลิเวอร์พูล แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และอื่นๆ

เมื่อพูดถึงลีกโปรตุเกส สิ่งที่ผู้คนส่วนใหญ่มักจะนึกถึงคือ เป็นลีกที่บ่มเพาะนักเตะฝีเท้าดี แล้วส่งออกไปยังลีกยักษ์ใหญ่มาแล้วหลายราย โดยเฉพาะ 3 สโมสรชื่อดัง ได้แก่ เบนฟิก้า, ปอร์โต้ และสปอร์ติ้ง สิสบอน

สโมสรเหล่านี้ ได้รับทั้งชื่อเสียง และเครดิต ในการทำกำไรจากการขายนักเตะอย่างมหาศาล แม้จะต้องเสียนักเตะออกไปคนแล้วคนเล่า แต่กลับยิ่งตั้งใจค้นหา และสร้างดาวดวงใหม่ประดับวงการอยู่เสมอ

นอกเหนือจากเหตุผลเรื่องความต้องการแล้ว อีกเหตุผลหนึ่งคือ “ของดีที่อยู่ในตัว” ถึงแม้ว่านูนเญซ จะมีรูปร่างสูงใหญ่ แต่มีความเร็วจัดจ้าน สร้างความลำบากใจให้แนวรับฝ่ายตรงข้ามได้แน่นอน

ที่สำคัญ นูนเญซยังเป็นนักเตะที่สามารถเล่นได้ทุกพื้นที่ในเกมรุก โดยเฉพาะฝั่งซ้าย และสามารถเข้าได้กับหลายแท็กติก ไม่ว่าจะเป็น 3-4-3, 4-4-2 หรือ 4-2-3-1 โดยไม่ส่งผลกระทบต่อผลงานของเขา

เท่านั้นยังไม่พอ นูนเญซไม่ได้จำกัดตัวเองในการเล่นแค่ตำแหน่งกองหน้าเท่านั้น ยังเล่นในตำแหน่งกลางตัวรุก หรือปีกซ้าย แถมเล่นเกมโต้กลับได้ดี โดยเฉพาะในเกมถ้วยยุโรปที่ต้องเจอกับทีมยักษ์ใหญ่

จากผลงานในอดีต สถิติที่การันตีถึงความยอดเยี่ยม ครบเครื่องทั้งในและนอกเขตโทษ และด้วยวัยเพียงแค่ 23 ปี ถ้าลิเวอร์พูลต้องการจะจ่ายเงินชนิดที่ไม่เกรงใจการคลังของสโมสร ก็ถือเป็นความเสี่ยงที่น่าลอง

อย่างไรก็ตาม แฟนฟุตบอลหลายๆ คน ได้ออกมาตั้งคำถามที่ว่า การที่ลิเวอร์พูลกล้าที่จะทุ่มเงินมหาศาลระดับ 85 ล้านปอนด์ กับนักเตะดาวรุ่งที่เพิ่งแจ้งเกิดกับลีกโปรตุเกสได้ไม่นาน มันเสี่ยงเกินไปหรือไม่

เรื่องราวของ ดาร์วิน นูนเญซ ถือเป็นแรงบันดาลใจสำหรับคนสู้ชีวิต เพื่ออนาคตที่สุขสบาย และเขากำลังจะเริ่มต้นพิสูจน์ตัวเอง เพื่อแสดงให้เห็นว่าค่าตัว 85 ล้านปอนด์ ไม่แพงเกินไปเลยสำหรับลิเวอร์พูล

เรียบเรียง: จักรพันธ์ ภู่ทอง

อ้างอิง :

https://theathletic.com/3362218/2022/06/14/darwin-nunez-liverpool-klopp-scouting/

https://www.dailymail.co.uk/sport/football/article-10915553/Liverpool-Darwin-Nunez-QUIT-football-17-Montevideo-hes-85m-star.html

https://www.telegraph.co.uk/football/2022/06/08/liverpool-want-make-darwin-nunez-record-signing/

https://www.marca.com/en/football/liverpool/2022/06/13/62a71591e2704ee6258b4567.html

https://lifebogger.com/darwin-nunez-childhood-biography-untold-story-facts/

Categories
Special Content

“เลวานดอฟสกี้” ดาวยิงคนใหม่บาร์ซ่า กับ 5 เรื่องที่คุณอาจยังไม่เคยรู้

โรเบิร์ต เลวานดอฟสกี้ ถือเป็นหนึ่งในสุดยอดกองหน้าจอมถล่มประตูที่โดดเด่นและดีที่สุดในศตวรรษที่ 21 การันตีด้วยผลงาน 8 ฤดูกาลกับบาเยิร์น มิวนิค 344 ประตู จาก 375 นัด และคว้าแชมป์ 19 โทรฟี่

แต่ทว่า ดาวยิงทีมชาติโปแลนด์รายนี้ ได้ออกมาประกาศว่า ไม่ขออยู่ค้าแข้งกับบาเยิร์นต่อไป ทั้ง ๆ ที่ยังเหลือสัญญาอยู่อีก 1 ปี ซึ่งทางยักษ์ใหญ่แห่งมิวนิค ก็พยายามที่จะรั้งตัวเขาอย่างสุดความสามารถแล้ว

และในที่สุด เจ้าของรางวัลนักเตะยอดเยี่ยมของฟีฟ่า 2 สมัยซ้อน ตัดสินใจลงจากหลังเสือใต้ที่บาวาเรีย มาเป็นนักเตะคนใหม่ของบาร์เซโลน่าเป็นที่เรียบร้อย ด้วยค่าตัว 45 ล้านยูโร เซ็นสัญญา 4 ปี

ขอบคุณภาพ https://web.facebook.com/rl9official

เลวานดอฟสกี้ เริ่มต้นเส้นทางนักฟุตบอลตั้งแต่อายุ 8 ขวบ กับทีมเยาวชนของปาร์ติซาน เลซโน่ และวาร์โซเวีย วอร์ซอ ก่อนที่ในปี 2005 จะได้เซ็นสัญญาในระดับอาชีพกับเดลต้า วอร์ซอ, และลีเกีย วอร์ซอ ทีมสำรอง

ปีถัดมา เลวานดอฟสกี้ ย้ายไปค้าแข้งกับซนิคซ์ พรูสซ์คอฟ ลงเล่น 59 นัด ยิง 36 ประตู และอีก 2 ปีให้หลัง ได้ย้ายไปค้าแข้งกับเลช พอซนาน ก็ยังรักษามาตรฐานการจบสกอร์ได้ดี ลงเล่น 58 นัด ยิง 32ประตู

ต่อมาในปี 2010 เลวานดอฟสกี้ ได้เริ่มต้นหาประสบการณ์ค้าแข้งนอกประเทศบ้านเกิด กับโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ สโมสรชั้นนำในบุนเดสลีกา เยอรมนี ที่จ่ายเงินค่าตัว 4.5 ล้านยูโร ให้กับเลซ พอซนาน

ตลอด 4 ปี ของเลวานดอฟสกี้กับดอร์ทมุนด์ ยิงได้ 103 ประตู จากการลงสนาม 187 นัด คว้าแชมป์ได้ 5 รายการ ก่อนที่จะย้ายมาค้าแข้งกับทีมคู่ปรับอันดับ 1 อย่างบาเยิร์น มิวนิค แบบไม่มีค่าตัวในปี 2014

เดือนกันยายน ปี 2015 เลวานดอฟสกี้ ได้สร้างสถิติที่ใครยากจะเทียบได้ ด้วยการยิงคนเดียว 5 ประตู ภายในเวลา 9 นาที เร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ลีกสูงสุดเยอรมัน พาบาเยิร์น แซงเอาชนะโวล์ฟบวร์ก 5 – 1

และอีกสถิติหนึ่งที่สำคัญ เกิดขึ้นในซีซั่น 2020/21 เลวานดอฟสกี้ ทำประตูในบุนเดสลีกาได้ 41 ประตู ทุบสถิติเดิมของแกร์ด มุลเลอร์ อดีตตำนานดาวยิงเสือใต้ ที่ทำไว้ 40 ประตู ในซีซั่น 1971/72

ขอบคุณภาพ https://web.facebook.com/rl9official

ในส่วนของการรับใช้ทีมชาติ เลวานดอฟสกี้ ลงเล่นให้กับโปแลนด์มาตั้งแต่ปี 2008 เป็นเจ้าของสถิติอันดับ 1 ตลอดกาล ทั้งการลงสนามมากที่สุด 132 นัด และเป็นดาวซัลโวสูงสุด โดยยิงไป 76 ประตู

เลวานดอฟสกี้ ปิดฉากกับบาเยิร์นอย่างเป็นทางการ พร้อมที่จะเริ่มต้นการเดินทางครั้งใหม่กับบาร์ซ่า และนี่คือ 5 เรื่องราวของเขา ที่คุณอาจยังไม่เคยรู้มาก่อน

เป็นครอบครัวนักกีฬาแบบยกบ้าน

ครอบครัวของโรเบิร์ต เลวานดอฟสกี้ ถือเป็นครอบครัวนักกีฬาอย่างแท้จริง เริ่มจากคุณพ่อคริสตอฟ เป็นอดีตแชมป์ยูโด, คุณแม่อีโวน่า เป็นนักวอลเลย์บอล, มิลีน่า น้องสาว เป็นนักวอลเลย์บอลทีมชาติโปแลนด์รุ่นอายุไม่เกิน 21 ปี แม้กระทั่งแอนนา เลวานดอฟสก้า ภรรยาของเขา เป็นอดีตนักคาราเต้ดีกรีเหรียญทองแดง ในการแข่งขันชิงแชมป์โลก เมื่อปี 2009

 ไม่ได้ไปอังกฤษ เพราะภัยธรรมชาติ

เมื่อปี 2010 เลวานดอฟสกี้ มีแผนที่จะเดินทางไปที่ประเทศอังกฤษ เพื่อเยี่ยมชมสโมสรแบล็คเบิร์น โรเวอร์ส และอาจจะตัดสินใจเซ็นสัญญาค้าแข้งกับ “กุหลาบไฟ” แต่ไม่สามารถเดินทางได้ เนื่องจากเกิดเหตุภูเขาไฟระเบิดที่ประเทศไอซ์แลนด์ เป็นอุปสรรคในเส้นทางการบินของยุโรปเป็นเวลาหลายสัปดาห์ ทำให้โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ได้ตัวเขาไปร่วมทีมในที่สุด

เคยยิง “ราชันชุดขาว” คนเดียว 4 ประตู

เลวานดอฟสกี้ เป็นนักเตะที่รู้จักคุ้นเคยกับเรอัล มาดริดเป็นอย่างดี เพราะได้เผชิญหน้าในยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ถึง 8 นัดด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพบกันในรอบรองชนะเลิศ นัดแรก ฤดูกาล 2012/13 เขายิงคนเดียว 4 ประตู ในเกมที่ดอร์ทมุนด์ เปิดบ้านชนะ 4 – 1 ถึงแม้ในนัดสอง “เสือเหลือง” จะบุกไปแพ้ 0 – 2 แต่ยังได้ผ่านเข้าชิงชนะเลิศ ด้วยสกอร์รวม 4 – 3

ขอบคุณภาพ https://web.facebook.com/rl9official

เป็นนักเตะที่ดูแลตัวเองได้ดีเยี่ยม

ซีซั่นสุดท้ายกับบาเยิร์น มิวนิค เลวานดอฟสกี้ ในวัยย่างเข้า 34 ปี ลงเล่น 46 นัด ยิงได้ 50 ประตู ฆาบี มาร์ติเนซ อดีตเพื่อนร่วมทีมของเลวานดอฟสกี้ สมัยที่ค้าแข้งกับ “เสือใต้” เปิดเผยว่า “ในช่วงพรี-ซีซั่น ผมพยายามนำขนมที่เอามาจากสเปน ไปให้เลวานดอฟสกี้ทาน แต่เขาปฎิเสธมาตลอด แม้กระทั่งการเลือกท่านอนหลับ เพื่อรักษาสภาพร่างกายที่ดีไว้”

ชื่นชอบ “ฟอร์มูล่า วัน” ตั้งแต่ยังเด็ก

นอกจากความสนใจในกีฬาฟุตบอลแล้ว เลวานดอฟสกี้ ยังติดตามกีฬาที่เกี่ยวกับความเร็วอย่างฟอร์มูล่า วัน และมีโอกาสได้ไปชมการแข่งขันที่โมนาโก กรังปรีซ์ เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยเจ้าตัวให้สัมภาษณ์ว่า “ผมติดตามฟอร์มูล่า วัน มาตั้งแต่เด็ก และผมยังจดจำมิชาเอล ชูมัคเกอร์ ได้เสมอ สิ่งที่เขาประสบความสำเร็จ มันเป็นอะไรที่เหลือเชื่อจริง ๆ”

บาร์เซโลน่า ได้อาวุธหนักอย่างเลวานดอฟสกี้มาเสริมแนวรุก วัดความคมกับคาริม เบนเซม่า ดาวเตะเรอัล มาดริด เชื่อว่าศึก “เอล กลาซิโก้” ในซีซั่น 2022/23 จะเพิ่มดีกรีความเดือดมากขึ้นอย่างแน่นอน

Categories
Special Content

ที่มาโลโก้ 20 สโมสรลาลีกา ฤดูกาล 2022/23

ตราสัญลักษณ์ หรือโลโก้ของสโมสรฟุตบอล ถือเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างหนึ่ง ที่ส่งผลถึงการรับรู้ และการจดจำของแฟนลูกหนัง อีกทั้งเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มได้ในระยะยาว นับว่าเป็นผลดีต่อสโมสรต่อไป

การออกแบบโลโก้ทีมฟุตบอลที่ดี ไม่ใช่แค่มีความสวยงามเท่านั้น แต่ต้องโดดเด่น สะดุดตา มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และที่สำคัญต้องสามารถสื่อสารคอนเซปท์ สะท้อนถึงตัวตนของแบรนด์ได้อย่างชัดเจนด้วย

และนี่คือเรื่องราวเบื้องหลังการออกแบบ และความหมายของตราประจำสโมสรทั้ง 20 ทีม ในลีกสูงสุดของสเปน ซีซั่นใหม่

อัลเมเรีย

ตราของสโมสร มีโครงสร้างที่เรียบง่าย ประกอบด้วยพื้นหลังแถบสีขาว-แดง หมายถึงสีประจำสโมสร พร้อมกับลูกฟุตบอลที่อยู่บนพื้นหลัง และตัวอักษร U กับ D ที่ย่อมาจาก “Unión Deportiva”

นอกจากนี้ ยังมีสัญลักษณ์ “Indalo” ที่อยู่ตรงกลางระหว่างตัวอักษร U กับ D มีลักษณะคล้ายกับมนุษย์ที่ถูกค้นพบในถ้ำ Los Letreros ในเมืองอัลเมเรีย นำมาดัดแปลง และผสมรวมอยู่ในโลโก้อย่างลงตัว

แอธเลติก บิลเบา

เป็นรูปทรงคล้ายโล่สามเหลี่ยม ภาพที่อยู่ในสามเหลี่ยมด้านใน คือสัญลักษณ์ประจำท้องถิ่น ได้แก่ โบสถ์แอนโธนี่, สะพานแอนโธนี่, หมาป่า, ต้นโอ๊กเกร์นิกา และไม้กางเขน ส่วนแถบขาว-แดง มาจากสีธงของแคว้นบาสก์

สำหรับชื่อสโมสรที่อยู่ล้อมรอบโล่นั้น เริ่มแรกใช้ชื่อในภาษาอังกฤษว่า “Athletic Club” แต่ถูกบังคับให้เปลี่ยนเป็นภาษาสเปน คือ “Athlétic de Bilbao” ก่อนกลับไปใช้ชื่อเดิม หลังจากนายพลฟรังโก้หมดอำนาจ

แอตเลติโก มาดริด

ก่อตั้งโดยชาวบาสก์ที่อาศัยอยู่ในกรุงมาดริด ใช้ตราสโมสรคล้ายกับแอธเลติก บิลเบา ก่อนจะเปลี่ยนมาใช้ตราสโมสรในแบบของตัวเอง โดยมีลักษณะเป็นรูปทรงห้าเหลี่ยม และเพิ่มสีน้ำเงิน ร่วมกับแถบขาว-แดง 

สัญลักษณ์ที่อยู่ในตราสโมสร ประกอบด้วยหมี กับต้นสตรอเบอรี่ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของกรุงมาดริด รวมทั้งมีดาว 7 ดวงอยู่ในกรอบสามเหลี่ยมสีน้ำเงิน ซึ่งหมายถึงแคว้นทั้ง 7 ที่อยู่ในกรุงมาดริด

บาร์เซโลน่า

ในปี 1910 โยอัน กัมเปร์ ผู้ก่อตั้งสโมสร ได้จัดการประกวดตราสโมสรขึ้นมาใหม่ ซึ่งตราสโมสรที่ชนะการประกวด มีลักษณะคล้ายกับที่ใช้ในปัจจุบัน โดยได้ผ่านการปรับเปลี่ยนรายละเอียดเล็กน้อยอยู่หลายครั้ง 

ตราสโมสรประกอบด้วย 3 ส่วน มุมบนซ้าย คือไม้กางเขนสีแดงบนพื้นสีขาว หมายถึงนักบุญจอร์จ นักบุญองค์อุปถัมภ์ของแคว้นคาตาลัน, มุมบนขวา คือสีธงของแคว้นคาตาลัน และครึ่งล่าง คือสีประจำสโมสร และลูกฟุตบอลสีเหลือง

เรอัล เบติส

ตราสัญลักษณ์ประกอบด้วย แถบสีขาว-เขียว มาจากสีของธงของแคว้นอันดาลูเซีย อยู่ภายในรูปสามเหลี่ยมหลับหัว พร้อมทั้งตัวอักษร BB ในวงกลมตรงกลาง ย่อมาจากคำว่า Betis Balompié

ส่วนมงกุฎที่อยู่ด้านบน มาจากการอุปถัมภ์ของกษัตริย์อัลฟรอนโซ่ที่ 8 แต่ในช่วงปี 1931-1940 ได้มีการนำมงกุฎออกไป เนื่องจากอยู่ภายใต้การปกครองของนายพลฟรังโก้ ผู้นำเผด็จการในเวลานั้น

กาดิซ

ตราสโมสรเป็นรูปสามเหลี่ยมกลับหัวสีเหลือง-น้ำเงิน ซึ่งเป็นสีประจำสโมสร ด้านในมีเทพเจ้าเฮอร์คิวลิส และสิงโต 2 ตัว ขนาบข้างด้วยเสาหิน 2 เสา ผูกด้วยแผ่นผ้าที่มีคำขวัญประจำชาติสเปน “Plvs Vltra”

ส่วนมงกุฎที่อยู่ด้านบนของตราสโมสร ไม่ใช่มงกุฎของกษัตริย์ เหมือนกับสโมสรที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า “เรอัล” (Real) แต่เป็นมงกุฎของดยุค เนื่องจากในอดีต เมืองกาดิซเคยถูกปกครองโดยดยุคตั้งแต่ศตวรรษที่ 15

ขอบคุณภาพ https://web.facebook.com/rccelta

เซลต้า บีโก้

ลักษณะของตราสโมสร เป็นรูปกากบาทสีแดงปลายแหลม หมายถึงไม้กางเชนของนักบุญซานติอาโก้ และมีโล่สีฟ้า ซึ่งมาจากสีบนธงประจำแคว้นกาลีเซีย บนโล่มีตัวอักษร CC ซึ่งย่อมาจาก “Club Celta”

ส่วนมงกุฎที่อยู่เหนือโล่สีฟ้า มาจากการอุปถัมภ์ของกษัตริย์อัลฟรอนโซ่ที่ 13 โดยชื่อสโมสรมีชื่อเต็มว่า “Real Club Celta de Vigo” แต่ได้มีการเอามงกุฎออกไป ในยุคที่นายพลฟรังโก้ปกครองอยู่

เอลเช่

ตราของสโมสร มาจากส่วนหนึ่งของตราประจำเมืองเอลเช่ แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ส่วนบนเป็นรูปผู้หญิงในชุดโรมัน ถือใบปาล์มสีทอง มีที่มาจากเมืองเอลเช่ เป็นเมืองที่นิยมปลูกต้นปาล์มเป็นจำนวนมาก

ส่วนตรงกลางเป็นรูปประตูเมืองเอลเช่ และส่วนล่างเป็นรูปแท่นโรมัน ล้อมรอบด้วยตัวอักษร C I I A ซึ่งย่อมาจาก Colonia Iulia Illice Augusta ตำนานดาบของจักรพรรดิโรมันออกัสตัส

ขอบคุณภาพ https://web.facebook.com/RCDEspanyol

เอสปันญ่อล

ตราสัญลักษณ์ของสโมสรในปัจจุบัน เริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 2005 ประกอบด้วยวงกลมด้านนอกสีแดง มีชื่อสโมสรตัวอักษรสีเหลืองกำกับ และวงกลมด้านใน มีแถบสีขาว-น้ำเงิน สีประจำสโมสร 

ส่วนมงกุฎที่ประดับอยู่ด้านบน ได้ถูกเพิ่มเข้ามาหลังจากกษัตริย์อัลฟรอนโซ่ที่ 13 ได้ให้การอุปถัมภ์สโมสร โดยชื่อเต็มของสโมสรในภาษาคาตาลัน คือ Reial Club Deportiu Espanyol de Barcelona

เกตาเฟ่

ตราสัญลักษณ์ของสโมสรในปัจจุบัน ประกอบด้วยวงแหวนสีน้ำเงินที่มีการไล่ระดับความเข้มขึ้นเล็กน้อย เพื่อให้รู้สึกเหมือนมีการเคลื่อนไหว มีเส้นขอบสีเงิน และมีลูกฟุตบอลอยู่ด้านบน

ด้านใน เป็นตราประจำเมืองเกตาเฟ่ ฝั่งซ้ายคือไม้กางเขนแบบละติน มีรูปหัวใจอยู่บนกางเขน ที่สื่อถึงหัวใจอันศักดิ์สิทธิ์ของพระเยซู ส่วนฝั่งขวาเป็นพื้นหลังสีเขียวมีรูปเครื่องบิน สื่อถึงฐานทัพอากาศ

กิโรน่า

ตราสัญลักษณ์ใหม่ของสโมสร เน้นไปที่สีขาว-แดง ซึ่งเป็นสีประจำสโมสร ส่วนรูปสี่เหลี่ยมที่อยู่ด้านในวงกลม มีแถบสีเหลือง-แดง ซึ่งเป็นสีธงประจำแคว้นคาตาลัน และรูปที่อยู่ด้านในสี่เหลี่ยม มีลักษณะคล้ายหยดน้ำเรียงสลับกันสีละ 4 แถว เป็นตัวแทนของเมืองกิโรน่า ซึ่งเป็นจุดที่มีแม่น้ำ 4 สาย ไหลมาบรรจบกัน

เรอัล มายอร์ก้า

มงกุฎที่ประดับอยู่ด้านบน ได้ถูกเพิ่มเข้ามาหลังจากกษัตริย์อัลฟรอนโซ่ที่ 13 ได้ให้การอุปถัมภ์สโมสรโดยชื่อเต็มของสโมสร คือ Real Club Deportivo Mallorca และฉายาของพวกเขาคือ “Vermilion” ที่แปลว่า สีแดงสด ซึ่งเป็นสีประจำทีม และเป็นส่วนหนึ่งที่อยู่ในตราสัญลักษณ์ของสโมสรอีกด้วย

เรอัล มาดริด

ตัวอักษร 3 ตัว MCF ที่อยู่ด้านในของตราสโมสร ย่อมาจาก Madrid Club de Fútbol ก่อนที่กษัตริย์อัลฟรอนโซ่ที่ 13 จะเข้ามาให้การอุปถัมภ์สโมสร จึงเพิ่มคำว่า “เรอัล” (Real) นำหน้าชื่อสโมสร พร้อมกับมงกุฎที่ประดับไว้ด้านบนของตราสโมสร ส่วนพื้นหลังมีสีขาว ซึ่งเป็นสีประจำสโมสร คาดด้วยแถบสีน้ำเงินเพื่อความสวยงาม

โอซาซูน่า

ตราสโมสรมีลักษณะคล้ายสามเหลี่ยมกลับหัว แบ่งเป็นพื้นสีแดงและสีน้ำเงิน ซึ่งเป็นสีประจำสโมสร มงกุฎที่อยู่ด้านบน และตรงกลางที่เป็นพื้นสีขาวล้อมรอบด้วยโซ่สีทอง มาจากตราของแคว้นนาวาร์ ส่วนรูปสิงโตด้านใน เป็นตัวแทนของคำว่า “Osasuna” ซึ่งในภาษาบาสก์แปลว่า “สุขภาพ” หรือสามารถสื่อถึง “ความแข็งแกร่ง” ได้ด้วย

ราโย บาเยกาโน่

ตราสโมสรเป็นพื้นสีขาว ซึ่งเป็นสีประจำสโมสร ด้านในประกอบด้วยตราประจำแคว้นบาเยกาส ย่านชนชั้นแรงงานในกรุงมาดริด ตามด้วยสายฟ้าสีแดงทแยงพาดผ่าน ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากสโมสรฟุตบอลริเวอร์เพลท ในประเทศอาร์เจนติน่า และตัวอักษร 3 ตัว RVM ย่อมาจากชื่อเต็มของสโมสรคือ “Rayo Vallecano de Madrid”

เรอัล โซเซียดัด

ส่วนประกอบของตราสโมสร ได้แก่ ธงประจำเมืองซาน เซบาสเตียน (สีน้ำเงิน-ขาว) บนธงมีตัวอักษร SS ซึ่งย่อมาจากชื่อเมืองที่ตั้งของสโมสร (San Sebastián) และมงกุฎที่ประดับอยู่บนลูกฟุตบอล ได้ถูกเพิ่มเข้ามาหลังจากกษัตริย์อัลฟรอนโซ่ที่ 13 ได้ให้การอุปถัมภ์สโมสร จึงเพิ่มคำว่า “เรอัล” (Real)นำหน้าชื่อสโมสร

ขอบคุณภาพ https://web.facebook.com/sevillafc.eng

เซบีย่า

ตราสโมสรประกอบไปด้วย 3 ส่วน มุมบนซ้าย คือตราประจำเมืองเซบิลล์ เป็นรูปของกษัตริย์เฟอร์ดินานที่ 3 แห่งอาณาจักรกาสติย่า ขนาบข้างด้วยอัครมุขนายกอิสิดอร์และนักบุญเลอันเดร์, มุมบนขวา คือตัวอักษร SFC ย่อมาจากชื่อสโมสร และครึ่งล่างมีแถบสีขาว-แดง ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากสีธงของกษัตริย์เฟอร์ดินานที่ 3

บาเลนเซีย

สิ่งที่อยู่ในตราสโมสร ได้แก่ สีธงประจำแคว้นบาเลนเซีย (เหลือง-แดง-น้ำเงิน), และค้างคาว ที่มาจากตำนานของกษัตริย์เจมส์ที่ 1 แห่งอารากอน ที่ต่อสู้เพื่อปลดปล่อยแคว้นบาเลนเซียจนได้รับชัยชนะ จากนั้นได้มีค้างคาวตัวหนึ่งบินลงมาขณะเดินเข้าเมือง ซึ่งมองว่าเป็นการให้พร และกลายเป็นสัญลักษณ์ของเมืองตั้งแต่นั้นมา

เรอัล บายาโดลิด

เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เพิ่งมีการเปลี่ยนแปลงตราสโมสรใหม่ให้เรียบง่ายกว่าเดิม โดยตราสโมสรประกอบด้วย สีเหลือง-แดง สื่อถึงเปลวเพลิง เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ไฟไหม้ครั้งใหญ่ในเมืองบายาโดลิด เมื่อปี 1561, สีม่วง-ขาว มาจากสีประจำสโมสร ส่วนมงกุฎที่อยู่ด้านบน แสดงถึงความเกี่ยวข้องกับราชสำนัก

บียาร์เรอัล

ตราสโมสรในปัจจุบัน ถูกใช้เป็นครั้งแรก เมื่อปี 1966 ประกอบด้วย สีน้ำเงิน มาจากการย้อมเสื้อสีขาว เพื่อสวมใส่คู่กับกางเกงสีดำ ชุดแข่งในอดีต, สีเหลือง-แดง มาจากสีธงของแคว้นบาเลนเซีย และมงกุฎที่อยู่ด้านบน คือต้นกำเนิดราชวงศ์ของเมือง ซึ่งก่อตั้งโดยกษัตริย์เจมส์ที่ 1 แห่งอารากอน เมื่อปี 1274

ตราประจำสโมสรฟุตบอล ถ้าดีไซน์ออกมาแล้วช่วยสร้างการรับรู้ที่ดีให้กับแฟนบอล จะทำให้เกิดความภาคภูมิใจต่อความเป็นท้องถิ่นนิยมของตนเอง และช่วยสร้างความผูกพันให้เกิดขึ้นต่อทีมฟุตบอลด้วย