Categories
Football Business

อาณาจักรไร้พรมแดน : “มัลติ-คลับ” โมเดลที่กำลังเขย่าวงการลูกหนังเมืองผู้ดี ?

สโมสรฟุตบอล ถือเป็นสินทรัพย์ที่นักลงทุนระดับมหาเศรษฐีอยากจะครอบครองไว้ ด้วยเหตุผลหลายประการ อาจเพราะด้วยใจรักที่แท้จริง หวังมีชื่อเสียง กอบโกยผลประโชยน์ และอื่น ๆ

แต่ฟุตบอลในยุคสมัยใหม่นั้นไปไกลกว่าเมื่อก่อนมาก เพราะมีเจ้าของสโมสรฟุตบอลบางกลุ่ม ได้ “ต่อยอด” โดยการสร้างเครือข่ายกับสโมสรฟุตบอลอื่น ๆ ครอบคลุมทุกทวีปทั่วโลก หรือ “มัลติ-คลับ”

แล้วโมเดล “มัลติ-คลับ” จะสร้างแรงสั่นทะเทือนกับวงการฟุตบอลอังกฤษได้มากน้อยเพียงใด ? SoccerSuck x ไข่มุกดำ จะมาขยายให้ฟังกันครับ

จุดเริ่มต้นมาจาก “เบร็กซิต”

แนวคิดที่เจ้าของสโมสรในพรีเมียร์ลีก หรือลีกระดับรองของอังกฤษ ในการซื้อทีมฟุตบอลได้มากกว่า 1 ทีม เริ่มขึ้นในปี 2016 หลังจากสหราชอาณาจักร ลงประชามติขอออกจากสหภาพยุโรป หรือ “เบร็กซิต” (Brexit)

ซึ่งเบร็กซิต มีผลอย่างเป็นทางการแล้วตั้งแต่ปี 2021 เป็นต้นมา ทำให้ลีกฟุตบอลในสหราชอาณาจักร ต้องอยู่ภายใต้ระบบการคิดคะแนนเพื่อได้รับอนุญาตให้เข้ามาทำงาน หรือ GBE (Governing Body Endorsement)

สำหรับเกณฑ์การคิดคะแนน GBE นั้น จะดูจาก 3 หัวข้อ ประกอบด้วย สถิติการลงเล่นทีมชาติทั้งชุดใหญ่และชุดเยาวชน, สถิติการลงเล่นกับสโมสรทั้งในลีกและถ้วยยุโรป และเกรดของสโมสรที่ขายนักเตะให้

นักเตะที่เป็นเป้าหมายการซื้อตัว จะต้องได้คะแนนอย่างน้อย 15 คะแนนขึ้นไป จึงจะได้รับอนุญาตให้เป็นนักเตะใหม่ในเมืองผู้ดี ซึ่งถ้าหากเคยลงเล่นกับสโมสรใหญ่ใน 5 ลีกหลักของยุโรป จะได้เปรียบกว่าคนอื่น

แต่ถ้าหากนักเตะเป้าหมายได้คะแนนอยู่ในช่วง 10 – 14 คะแนน สโมสรมีสิทธิ์ยื่นอุทธรณ์ และต้องสามารถชี้แจงเหตุผลต่อคณะกรรมการได้ว่า นักเตะคนนั้นได้คะแนนไม่ถึง 15 คะแนน เพราะสาเหตุที่ควบคุมไม่ได้

จากผลกระทบของเบร็กซิต ทำให้เจ้าของสโมสรฟุตบอลในสหราชอาณาจักรบางกลุ่ม ได้ใช้วิธีแก้ปัญหาด้วยการซื้อทีมฟุตบอลมากกว่า 1 แห่ง ทั้งในและนอกยุโรป และอาจฝากเลี้ยงนักเตะดาวรุ่งจนกว่าจะอายุครบ 18 ปี

“คอนเน็คชั่น” ของทีมในอังกฤษ 

ใน 5 ลีกใหญ่ของยุโรป มีเจ้าของสโมสรฟุตบอลจำนวนคิดเป็น 32.7 เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมด ที่ใช้โมเดลการซื้อทีมฟุตบอลสะสมไว้ในเครือข่ายของตัวเอง โดยมีการเชื่อมโยงกันมากถึง 91 ทีม จาก 5 ทวีปทั่วโลก

การซื้อทีมฟุตบอลสะสมไว้ในเครือข่ายของตัวเอง จะเป็นการนำโครงสร้างพื้นฐานจากสโมสรแม่ ที่พิสูจน์แล้วว่าประสบความสำเร็จ ไปแชร์ให้กับสโมสรลูก เสมือนกับการไปเปิดสาขาธุรกิจแฟรนไชส์ข้ามชาติ

โดยพรีเมียร์ลีก อังกฤษ มี 9 สโมสรที่ใช้โมเดลมัลติ-คลับ ได้แก่ อาร์เซน่อล, เบรนท์ฟอร์ด, ไบรท์ตัน, คริสตัล พาเลซ, เลสเตอร์ ซิตี้, แมนเชสเตอร์ ซิตี้, น็อตติ้งแฮม ฟอเรสต์, เซาธ์แธมป์ตัน และเวสต์แฮม ยูไนเต็ด

ขณะที่ดิวิชั่นรองลงมาที่อยู่ภายใต้ EFL มีทีมที่ใช้โมเดลมัลติ-คลับ รวมกัน 9 ทีม ได้แก่คาร์ดิฟฟ์ ซิตี้, ควีนสปาร์ค เรนเจอร์ส, เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด, ซันเดอร์แลนด์, สวอนซี ซิตี้, วัตฟอร์ด, บาร์นสลี่ย์, อิปสวิช ทาวน์ และซัลฟอร์ด ซิตี้

สโมสรในพรีเมียร์ลีกที่มีพันธมิตรลูกหนังอยู่ในเครือข่ายของตัวเองมากที่สุด คือ แมนฯ ซิตี้ 10 ทีม ตามมาด้วยพาเลซ 8 ทีม ส่วนอีก 7 สโมสรที่เหลือ ต่างมีพันธมิตรสโมสรละ 1 ทีม รวมทั้งสิ้น 25 ทีม

ตัวอย่างจากแมนฯ ซิตี้ กับบริษัท City Football Group (CFG) ที่นอกจากจะมีเป้าหมายในการทำให้สโมสรนี้ครองความยิ่งใหญ่ในอังกฤษแล้ว ยังได้นำ “พิมพ์เขียว” ไปให้สโมสรอื่น ๆ ในเครือด้วย

วิธีการของ CFG คือ จะขอซื้อกิจการของสโมสรขนาดกลางหรือเล็ก ที่พิจารณาแล้วว่าสามารถเติบโตไปด้วยกันได้ จากนั้นจะปรับภาพลักษณ์สโมสรเหล่านั้นให้เข้ากับตัวตนของแมนฯ ซิตี้ ตามความเหมาะสม

จุดเด่นของการสร้างคอนเน็คชั่นแบบนี้ คือ สโมสรฟุตบอลจะสามารถแบ่งปัน หมุนเวียนทรัพยากรต่าง ๆ ที่มีอยู่ร่วมกัน ภายในเครือข่ายเดียวกัน เป็นการเพิ่มศักยภาพทั้งด้านฟุตบอล และธุรกิจไปพร้อมกัน

โดย CFG มีฐานข้อมูลขนาดใหญ่ สำหรับค้นหานักเตะอายุต่ำกว่า 18 ปี ซึ่งอาจส่งไปให้สโมสรลูกลงเล่นบนสนามแข่งขันจริงให้ได้มากที่สุด ถ้าฝีเท้าดี และอายุถึง 18 ปีเมื่อใด ก็เซ็นสัญญากับ “เรือใบสีฟ้า” ได้ทันที

และทีมฟุตบอลที่อยู่ภายใต้เครือข่าย CFG จะมีอำนาจในการตัดสินใจขายนักเตะเพื่อทำกำไรได้ ถึงแม้นักเตะจะไปไม่ถึงทีมชุดใหญ่ของแมนเชสเตอร์ ซิตี้ แต่อย่างน้อยที่สุดก็ได้ผ่านประสบการณ์จากสนามจริงมาแล้ว

ดาบสองคมของ “มัลติ-คลับ”

การสร้างอาณาจักรมัลติ-คลับ คือพลังที่มาพร้อมกับเม็ดเงินและโอกาสที่มากขึ้น อาจเป็นแนวทางที่ดีในปัจจุบันที่สโมสรอื่น ๆ อยากเลียนแบบบ้าง แต่อีกมุมหนึ่ง โมเดลนี้ก็อาจมีปัญหาที่ตามมาเช่นเดียวกัน

ประการแรก การที่สโมสรแม่ใช้แนวคิดแบบมัลติ-คลับ คือการดึงดูดสโมสรลูกให้เข้ามาเป็นพวกเดียวกันก็จริง แต่ต้องไม่ลืมว่า แต่ละสโมสรมีอัตลักษณ์ที่แตกต่างกัน และมีความเป็น “ท้องถิ่นนิยม” ที่สูงมาก

หากสโมสรแม่ไปปรับเปลี่ยนอะไรบางอย่างที่ไม่เข้าท่า หรือไม่ได้รับการยินยอมจากแฟนบอลของสโมสรท้องถิ่น อาจจะเกิดกระแสตีกลับ เปลี่ยนจากแรงสนับสนุน กลายเป็นแรงต่อต้านแบบคาดไม่ถึงก็เป็นได้

ฉะนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดของโมเดลฟุตบอลมัลติ-คลับ คือการรักษาสมดุลระหว่างผลประโยชน์ กับความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของแต่ละสโมสรเอาไว้ เพื่อช่วยให้สโมสรในเครือเดินหน้าไปด้วยกันได้อย่างราบรื่น

อีกประการหนึ่ง โมเดลมัลติ-คลับ จะประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับผลงานของสโมสรแม่ ถ้าช่วงเวลาหนึ่ง สโมสรแม่มาถึงช่วงไร้ความสำเร็จไปนาน ๆ อนาคตของสโมสรในเครือก็อาจจะไม่แน่นอนเช่นกัน

ไม่ว่าจะทำธุรกิจฟุตบอลแบบซิงเกิล-คลับ หรือมัลติ-คลับก็ตาม ต่างก็ต้องเจอกับปัญหา และอุปสรรคที่เข้ามาไม่ต่างกัน ซึ่งเจ้าของธุรกิจต้องใช้องค์ความรู้ที่มีอยู่ มาช่วยขับเคลื่อนวงการฟุตบอลอังกฤษให้เดินหน้าต่อไป

เรียบเรียง: จักรพันธ์ ภู่ทอง

อ้างอิง :

https://www.cityfootballgroup.com/

https://theathletic.com/3135274/2022/02/19/does-owning-multiple-clubs-actually-work/

https://theathletic.com/3610992/2022/09/21/multi-club-ownership-boehly-chelsea-city-football-group/

– https://theathletic.com/3554783/2022/09/06/brexit-transfers-clubs-work-permit/

– https://www.theguardian.com/news/2017/dec/15/manchester-city-football-group-ferran-soriano

https://www.independent.co.uk/sport/football/premier-league/inside-city-football-group-manchester-city-s-network-of-clubs-new-york-melbourne-girona-a7934436.html

Categories
Special Content

ก่อน “ซาน ซีโร สเตเดียม” เหลือเพียงเศษดินและความทรงจำ

ปลายศตวรรษที่ 20 ต่อต้นศตวรรษปัจจุบันน่าจะเป็นหนึ่งในช่วงเวลาสำคัญของประวัติศาสตร์สนามฟุตบอลเนื่องจากเกิดเหตุเปลี่ยนแปลงของหลายสนามสำคัญทั่วโลกจากความเสื่อมโทรมตามอายุขัยและเพื่อรองรับปริมาณความนิยมของแฟนๆที่เพิ่มขึ้น สนามอย่างซานติอาโก เบร์นาเบว, คัมป์นู, โอลด์ แทรฟฟอร์ด และแอนฟิลด์ เลือกที่จะต่อเติมปรับปรุงครั้งใหญ่ สนามอย่างไฮบิวรีเลือกที่จะทุบอัฒจันทร์และพื้นที่บางส่วนเพื่อเปลี่ยนแปลงเป็นส่วนหนึ่งโครงการที่พักอาศัย ไฮบิวรี สแควร์ พร้อมสร้างสนามใหม่คือ เอมิเรตส์ สเตเดียม

บางสนามถูกทำลายเหลือเพียงเศษอิฐเศษปูน เวมบลีย์ สเตเดียม รุ่นทวินทาวเวอร์ ที่เริ่มใช้งานในปี 1923 ไม่เหลือซากเพื่อให้เวมบลีย์ใหม่ถือกำเนิดบนพื้นที่เดิม ขณะที่เอฟเวอร์ตันจะย้ายไปเล่นที่สนามเหย้าใหม่ในฤดูกาล 2024-25 จากนั้นกูดิสัน ปาร์ค จะถูกทุบทิ้งหลังเริ่มใช้งานปี 1892

สนามเก่าแก่คลาสสิคแห่งล่าสุดที่เริ่มนับเวลาถอยหลังคือ ซาน ซีโร สตเดียม ซึ่งเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (23 ก.ย.) ทีมชาติอังกฤษเพิ่งลงเล่นและแพ้ต่ออิตาลี 0-1 ส่งผลให้ปีหน้าพวกเขาต้องร่วงไปเตะเนชันส์ ลีก บี

แผนทุบทิ้งบ้านของสองสโมสรยักษ์ใหญ่ เอซี มิลาน และอินเตอร์ มิลาน ได้รับการอนุมัติเมื่อสามปีก่อน แต่มีประเด็นใหม่เพิ่มเติมว่า งบสร้างสนามใหม่บานปลายแตะ 1 พันล้านปอนด์ และกว่าการก่อสร้างจะเสร็จสิ้นทั้งโครงการปาเข้าไปปี 2030แต่ประเด็นที่ถูกหยิบขึ้นมาถกเถียงในวงกว้างคือ Tower 11 หรือหอคอยที่สิบเอ็ด สัญลักษณ์ของสนามที่เคยคาดหมายว่าจะหลงเหลือให้เป็นอนุสรณ์แห่งความทรงจำของซาน ซีโร สเตเดียม โดนกดปุ่มไฟเขียวให้ทำลายลงเป็นที่เรียบร้อย

แม้อิตาลีจะได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในประเทศที่อบอวลด้วยสุนทรียภาพแห่งศิลปะแต่ … “ประเทศอิตาลีให้ความเคารพเพียงน้อยนิดต่อประวัติศาสตร์ของสโมสรกีฬา และการทำลาย จุยเซปเป มีอัซซา สเตเดียม ที่ซาน ซีโร แสดงให้เห็นถึงการขาดความใส่ใจต่อความมหัศจรรย์ของนครมิลานในเชิงสถาปัตยกรรม” อัลวิเซ แคคนัซโซ คอลัมนิสต์ฟุตบอล ได้เขียนไว้ในบทความที่เผยแพร่ในสื่ออังกฤษ เดลี เมล

“หอคอยที่สิบเอ็ด” มรดกสุดท้ายของสนามซาน ซีโร

จุยเซปเป มีอัซซา สเตเดียม เป็นชื่อใหม่ของซาน ซีโร สเตเดียม ที่ถูกเปลี่ยนเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 1980 ราวหนึ่งปีหลังการเสียชีวิตของจุยเซปเป มีอัซซา หนึ่งในบุคคลสำคัญของวงการฟุตบอลมิลาน เขาเคยเล่นให้ทั้งอินเตอร์ มิลาน (1927-1940, 1946-1947) และเอซี มิลาน (1940-42) จากนั้นเคยคุมทีมเนรัซซูรี 3 ช่วงสั้นๆ (1947-1948, 1955-1956, 1957)

ความจริงแล้วชื่อดั่งเดิมเมื่อครั้งก่อสร้างในทศวรรษที่ 1920 คือ Nuovo Stadio Calcistico San Siro (แปลว่า สนามฟุตบอลแห่งใหม่ในซาน ซีโร) แต่ผู้คนมักเรียกสั้นๆเพียงซาน ซีโร ตามชื่อเขตของมิลาน เมืองใหญ่ทางตอนเหนือของอิตาลี โดยซาน ซีโร อยู่ห่างจากใจกลางนครมิลานไปทางทิศตะวันตกเฉลียงเหนือประมาณห้ากิโลเมตร

11 Towers หรือหอคอยทั้งสิบเอ็ด เป็นสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นและถูกมองว่าเป็นสัญลักษณ์ของสนามซาน ซีโร เหตุผลไม่ใช่แค่รูปลักษณ์ที่เป็นแท่งทรงกระบอกขนาดยักษ์ แต่ยังมีจำนวนมากถึง 11 หอคอยที่ล้อมรอบตัวสนามเพื่อรองรับโครงสร้างของอัฒจันทร์แต่ละชั้นและหลังคา โดยแฟนบอลที่เดินทางมายังสนามซาน ซีโร สามารถมองเห็นหอคอยยืนตระหง่านได้แต่ไกลเป็นแท่งกระบอกยักษ์ที่มีเกลียวพัน ซึ่งเกลียวนี้เป็นทางลาดที่ใช้เดินภายในสนาม

ตามแผนเดิมหอคอยจะถูกรักษาไว้หนึ่งหอคอยหวังให้เป็นสัญลักษณ์แห่งการระลึกถึงการมีตัวตนของสนามระดับตำนานกีฬาลูกหนังโลก ซึ่งจะตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่ไม่ไกลนักจาก The Cathedral (มหาวิหาร) ชื่ออย่างไม่เป็นทางการของสนามใหม่ และเป็นระยะทางที่สามารถเดินถึงกันได้สบายๆ แต่เดือนกันยายนที่ผ่านมาได้มีการเปิดเผยจากแหล่งข่าวใกล้ชิดของสภาเมืองมิลานว่า “หอคอยที่สิบเอ็ด” จะถูกทุบทิ้งด้วย อย่างไรก็ตาม แฟนบอลทั่วโลกมีโอกาสเดินทางไปเที่ยวเก็บความทรงจำของสนามซาน ซีโร ได้ประมาณสี่ปีก่อนโดนรื้อทำลายหลังใช้จัดพิธีเปิดการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาวในปี 2026

สำหรับโปรเจ็กต์ “มหาวิหาร” นั้นจะเริ่มทำการก่อสร้างในเดือนมกราคม 2024 เป็นต้นไป โดยมีรายงานจากสื่อใหญ่เมืองมะกะโรนี คอร์เรียเร เดลลา เซรา ว่าล่าสุดงบประมาณได้พุ่งขึ้นเป็น 1.2 พันล้านปอนด์ เพิ่มจากเดิม 120 ล้านปอนด์ แบ่งเป็น 80 ล้านปอนด์สำหรับการสร้างสนาม และอีก 40 ล้านปอนด์สำหรับการตลาด

สนามฟุตบอลความจุผู้ชม 6 หมื่นที่นั่ง (เทียบกับ 7.5 หมื่นที่นั่งของซาน ซีโร สเตดียม) จะถูกล้อมรอบด้วยพื้นที่สีเขียว 22 เอเคอร์ ประกอบด้วยศูนย์ประชุมและศูนย์การค้าขนาดใหญ่ รวมถึงสวนสาธารณะเทศบาลที่อุดมด้วยบรรยากาศธรรมชาติ ภายในมียิมกลางแจ้ง พิพิธภัณฑ์ ลู่วิ่งและอื่นๆเพื่อให้คนท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวได้พักผ่อนหย่อนใจ คาดว่าเมกะโปรเจ็กต์นี้จะแล้วเสร็จประมาณปี 2030 แต่ในส่วนของสนามแข่งขันคาดว่าจะเสร็จทันเปิดฤดูกาล 2027-28

“มหาวิหาร” บ้านใหม่ของมิลานและอินเตอร์

ย้อนไปยังวันที่ 24 มิถุนายน 2019 เอซี มิลาน และอินเตอร์ มิลาน ออกแถลงการณ์ร่วมถึงแผนการสร้างสนามใหม่และคาดให้แล้วเสร็จทันเปิดใช้การแข่งขันซีซัน 2022-23 แต่จุยเซปเป ซาลา นายกเทศมนตรีมิลานและชาวเมืองเรียกร้องและกดดันให้สโมสรเก็บรักษาสนามซาน ซีโร อย่างน้อยถึงโอลิมปิกและพาราลิมปิกฤดูหนาวในปี 2026 ซึ่งมิลานและ Cortina d’Ampezzo เป็นเจ้าภาพ

บ้านใหม่ของสองสโมสรยักษ์ใหญ่วางการออกแบบด้วยการอ้างอิงเมอร์ซิเดส-เบนซ์ สเตเดียม สนามเหย้าของทีมอเมริกันฟุตบอล แอตแลนตา ฟาลคอนส์ และทีมฟุตบอล แอตแลนตา ยูไนเต็ด ในรัฐจอร์เจีย ประเทศสหรัฐอเมริกา และวันที่ 21ธันวาคม 2021 Populous บริษัทออกแบบสถาปัตย์ชั้นนำของโลก ซึ่งรับผิดชอบโครงการสร้างสนามเวมบลีย์ สเตเดียม, เอมิเรตส์ สเตเดียม และท็อตแนม ฮ็อตสเปอร์ สเตเดียม ได้รับเลือกให้ออกแบบสนามแห่งใหม่

สนามนี้ใช้ชื่อชั่วคราวว่า Nuovo Stadio Milano แต่ต่อมารู้จักกันดีในสมญานาม The Cathedral ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจาก Galleria Vittorio Emanuel II ศูนย์การค้าที่เก่าแก่ที่สุดในโลกซึ่งมีรูปแบบสถาปัตยกรรมฟื้นฟูเรอแนซ็องส์ และDuomo di Milano หรืออาสนวิหารมิลาน

การออกแบบอยู่ภายใต้แนวคิดต้องการให้เป็นสนามกีฬาที่ยั่งยืนที่สุดในยุโรป พร้อมโครงสร้างที่นั่งเอื้ออำนวยให้แฟนบอลอยู่ใกล้ชิดกับนักฟุตบอลและการแข่งขันมากที่สุด นอกจากนี้แสงภายในสนามยังสามารถปรับเปลี่ยนสีไปตามสโมสรที่ลงแข่งขัน สีแดงสำหรับเอซี มิลาน และสีน้ำเงินสำหรับอินเตอร์ มิลาน คล้ายกับอลิอันซ์ อารีนา ในนครมิวนิก ประเทศเยอรมนี

ย้อนทรงความจำเกือบร้อยปีของ “ซาน ซีโร สเตเดียม”

*** สนามซาน ซีโร มีความจุ 75,923 ที่นั่ง ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของทวีปยุโรป (ไม่รวมสนามกีฬานานาชาติอย่างเวมบลีย์และสตาด เดอ ฟรองส์) เป็นรองเพียง คัมป์นู ของบาร์เซโลนา, เวสท์ฟาเลินชตาดิโยน ของโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ และซานติอาโก เบร์นาเบว ของเรอัล มาดริด

*** สนามซาน ซีโร สร้างในเขตซาน ซีโร ก็เพราะปิเอโร พิเรลลี ประธานสโมสรขณะนั้นของเอซี มิลาน เป็นเจ้าของสนามแข่งม้าที่อยู่ในเขตนี้ จึงเป็นเรื่องสะดวกสำหรับเขาที่จะหาที่ดินสร้างสนามฟุตบอลใหม่เท่านั้นเอง

สนามเริ่มก่อสร้างในปี 1925 และเพียงปีเดียวก็เสร็จสมบูรณ์โดยมีค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น 5 ล้านลีร์ สนามถูกใช้เพื่อจัดแข่งขันฟุตบอลเท่านั้นเนื่องจากไม่มีลู่กรีฑา ช่วงแรกสามารถรองรับแฟนบอลได้ราว 35,000 คน 

ขอบคุณภาพจาก  https://stadiumfreak.com/facts-about-san-siro/

*** สนามเริ่มใช้แข่งขันฟุตบอลอย่างเป็นทางการนัดแรกในวันที่ 19 กันยายน 1926 ระหว่างสองสโมสรคู่อริในเมือง เอซี มิลาน กับ อินเตอร์ มิลาน โดยช่วงทศวรรษแรก เอซี มิลาน เป็นเจ้าของสนามซาน ซีโร จึงถือเป็นการลงสนามแมตช์เหย้าของพวกเขา ผลปรากฏว่าเจ้าถิ่นแพ้อย่างราบคาบ 3-6

*** ต่อมาเมืองมิลานเข้ามาซื้อสนามซาน ซีโร และลงมือขยายสนามเป็นครั้งแรกในปี 1935 อัฒจันทร์โค้งบริเวณหลังเสาธงทั้งสี่ด้านถูกสร้างเพิ่มเติม พร้อมต่อเติมหลังคาเหนืออัฒจันทร์บางด้าน ส่งผลให้ความจุสนามเพิ่มขึ้นเป็น 55,000 คน

*** ช่วงสองทศวรรษแรก อินเตอร์ มิลาน เล่นนัดเหย้าในสนาม อารีนา ซีวิกา ซึ่งตั้งอยู่ในย่านดาวน์ทาวน์ของมิลาน จึงต้องไปเล่นซาน ซีโร สเตเดียม ในฐานะทีมเยือน จนกระทั่งสโมสรเริ่มรู้สึกว่าสนามตัวเองเล็กเกินไปแล้วจึงย้ายไปใช้สนามซาน ซีโร ร่วมกับเอซี มิลาน ตั้งแต่ปี 1947

*** หลังสองสโมสรใช้สนามร่วมกัน ซาน ซีโร สเตเดียม กลายเป็นสถานที่คับแคบไปอีกครั้งนำไปสู่การขยายสนามครั้งใหญ่ช่วงต้นปี 1948 ซึ่งแผนแรกนั้น สถาปนิกวางเป้าหมายให้สนามรองรับแฟนบอลให้ได้มากถึง 150,000 คนจากจำนวนเดิม 55,000 คน หนึ่งในการออกแบบที่ร่างไว้คือเพิ่มอัฒจันทร์ชั้นที่สามอยู่เหนือทุกอัฒจันทร์ที่มีอยู่เดิม

แต่ภาพฝันที่จินตนาการไว้ไม่เกิดขึ้นจริง มีการเพิ่มเติมเพียงอัฒจันทร์ชั้นที่สองเท่านั้น ทำให้จำนวนลดเหลือ 100,000 คน แต่ต่อมาด้วยเหตุผลความปลอดภัยในปี 1955 จำนวนผู้ชมลดลงเหลือ 85,000 คน แบ่งเป็น 60,000 ที่นั่ง และแฟนบอล 25,000 คนที่ยืนเชียร์

ปี 1957 สนามทำการติดตั้งระบบไฟฟ้าเพื่อใช้งานเวลากลางคืน และปี 1967 ได้มีการนำสกอร์บอร์ดอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาใช้

*** ระหว่างปี 1987 ถึง 1990 เป็นช่วงเวลาปรับปรุงสนามครั้งสำคัญ อัฒจันทร์สามด้านได้มีการเสริมที่นั่งชั้นพิเศษอยู่เหนืออัฒจันทร์สองชั้นเดิม ภาพลักษณ์ของสนามเก่าถูกปรับโฉมให้ดูทันสมัยขึ้น โซนยืนเชียร์หายไปกลายเป็นสนามที่สามารถจุได้สูงสุด 85,700 ที่นั่ง

การรีโนเวทใหญ่นี้ก็เพื่อใช้เป็นสนามจัดการแข่งขันเวิลด์คัพ 1990 ที่อิตาลีเป็นเจ้าภาพ แม้ค่าใช้จ่ายสูงถึง 60 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ส่งผลให้ซาน ซีโร สเตเดียม เป็นสนามฟุตบอลที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก

นอกจากใช้เป็นสังเวียนฟุตบอลโลก 3 นัดในปี 1934 และ 6 นัดในปี 1990 สนามซาน ซีโร ยังถูกนำไปรองรับการแข่งขัน 3นัดของยูโร 1980 รวมถึงนัดชิงชนะเลิศยูโรเปียน คัพ ปี 1965 (อินเตอร์ มิลาน เป็นแชมป์) และปี 1970 (เฟเยนูร์ด เป็นแชมป์) ก่อนที่รายการนี้จะเปลี่ยนชื่อเป็น แชมเปียนส์ ลีก สนามเคยเป็นสังเวียนชิงชนะเลิศในปี 2001 (บาเยิร์น มิวนิก เป็นแชมป์) และปี 2016 (เรอัล มาดริด เป็นแชมป์)

*** มวยสากลและรักบี้เคยจัดขึ้นที่สนามซาน ซีโร ในปี 1960 และ 2009 ตามลำดับ แต่บ้านของสองทีมฟุตบอลเป็นที่คุ้นเคยดีของแฟนเพลง เป็นหนึ่งในสถานที่จัดคอนเสิร์ตแห่งใหญ่ของอิตาลีมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980 ประเดิมด้วยอัพไรซิ่ง ทัวร์ของศิลปินเร็กเกระดับตำนานอย่าง บ็อบ มาร์เลย์ และเดอะ เวลเลอร์ส เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 1980

*** วันที่ 22 พฤษภาคม 2020 หน่วยงานดูแลมรดกวัฒนธรรมของอิตาลีอนุมัติให้ทำลายสนามซาน ซีโร ซึ่งเริ่มใช้งานเมื่อปี 1926 โดยสนามจะถูกใช้งานครั้งสุดท้ายในโอลิมปิกฤดูหนาวปี 2026 ซึ่งหาก Nuovo Stadio Calcistico San Siro ยังอยู่ คงมีการจัดงานฉลองครบหนึ่งร้อยปีให้กับสนามแทนที่จะเริ่มทุบทิ้ง

เรียบเรียง : ฐปน วันชูเพลา

Categories
Column

15 ดาวเด่นลาลีกา ช่วงต้นฤดูกาล 2022/23

ผ่านไปแล้ว 6 นัด สำหรับลาลีกา สเปน ฤดูกาล 2022/23 ได้มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นมากมาย ทั้งจังหวะทำประตู และแอสซิสต์ของนักเตะ รวมถึงผู้จัดการทีมบางคนที่เริ่มต้นคุมทีมด้วยผลงานที่ดี

และนี่คือ 15 รายชื่อที่มีการรวบรวมมาแล้วว่าทำผลงานได้โดดเด่นที่สุด ในช่วงออกสตาร์ท 6 เกมแรก ที่อาจจะพาทีมประสบความสำเร็จ หรือคว้ารางวัลส่วนบุคคลหลังจบซีซั่นนี้ก็เป็นได้

️ โรเบิร์ต เลวานดอฟสกี้

เลวานดอฟสกี้ ประเดิมลงสนามในลาลีกาเป็นเกมแรก ในนัดเปิดซีซั่นที่พบกับราโย บาเยกาโน่ แต่อีก 5 นัดหลังจากนั้น ศูนย์หน้าทีมชาติโปแลนด์ ยิงได้ทุกนัด รวม 8 ประตู ขึ้นนำดาวซัลโวแบบเดี่ยว ๆ อีกทั้งกดแฮตทริกแรกในสีเสื้อของบาร์เซโลน่า ในเกมยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ที่เอาชนะวิคตอเรีย พิลเซ่น

️ วินิซิอุส จูเนียร์

ในช่วงที่คาริม เบนเซม่า ดาวยิงหมายเลข 1 ของเรอัล มาดริด ประสบกับปัญหาอาการบาดเจ็บ วินิซิอุส คือความหวังคนสำคัญในแนวรุก ที่พกสถิติยิงประตู 4 นัดติดต่อกันในลาลีกา ซีซั่นนี้ และล่าสุดในเกม “มาดริด ดาร์บี้” เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา จัด 1 แอสซิสต์ให้เฟเดริโก้ บัลเบร์เด้ ยิงประตู

️ อเล็กซ์ บาเอน่า

บาเอน่า ถือเป็นสุดยอด “ซูเปอร์ซับ” ของบียาร์เรอัลอย่างแท้จริง 3 ประตูในลาลีกา ซีซั่นนี้ ทำได้ในฐานะตัวสำรองทั้งหมด นอกจากนี้ ปีกดาวรุ่งชาวสเปน วัย 21 ปี ยังทำได้ 3 ประตู กับ 1 แอสซิสต์ จาก 2 นัดแรก ในถ้วยยูโรป้า คอนเฟอเรนซ์ ลีก

️ ยาโก้ อัสปาส

อัสปาส ยังคงเป็นความหวังอันดับ 1 ในการทำประตูให้กับเซลต้า บีโก้ ดาวยิงชาวสเปนวัย 35 ปี เริ่มต้นลาลีกาซีซั่นนี้ ด้วยการยิงได้ 5 ประตู จากการลงเล่น 6 นัดแรก ถือเป็นหนึ่งในผู้ท้าชิงรางวัลส่วนบุคคลทั้ง “ปิชิชี่ โทรฟี่” และ “ซาร์ร่า โทรฟี่”

️ นิโก้ วิลเลียมส์

วิลเลียมส์ ปีกดาวรุ่งวัย 20 ปี เริ่มต้นซีซั่นนี้ด้วยฟอร์มการเล่นที่ดีกับแอธเลติก บิลเบา ผลงาน 2 ประตู กับ 2 แอสซิสต์ จากลาลีกา 6 นัดแรก ก็เพียงพอที่จะทำให้หลุยส์ เอ็นริเก้ เรียกติดทีมชาติสเปน ชุดลุยศึกยูฟ่า เนชั่นส์ ลีก 2 นัด ในเดือนนี้ 

️ ออเรเลียง ชูอาเมนี่

ผลงานของชูอาเมนี่ ในช่วงออกสตาร์ทซีซั่นกับเรอัล มาดริด ทำ 2 แอสซิสต์ในเกมที่พบกับเอสปันญ่อล และแอตเลติโก้ มาดริด นอกจากนี้ มิดฟิลด์วัย 22 ปี ยังได้รับเลือกให้เป็น “แมน ออฟ เดอะ แมตช์” ในเกมที่พบกับเรอัล เบติสอีกด้วย

️ อุสมาน เดมเบเล่

ลาลีกาออกสตาร์ทในซีซั่นนี้ไปแล้ว 6 นัด เดมเบเล่มีส่วนร่วมทั้งหมด 4 ประตู (2 ประตู กับ 2 แอสซิสต์) นอกจากนี้ ปีกทีมชาติฝรั่งเศสวัย 25 ปี ของบาร์เซโลน่า ยังทำ 2 แอสซิสต์ ในเกมยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ที่ชนะวิคตอเรีย พิลเซ่นอีกด้วย

️ บอร์ฆา อิเกลเซียส

อิเกลเซียส ศูนย์หน้าวัย 29 ปี ของเรอัล เบติส ทำไป 6 ประตู เป็นดาวซัลโวอันดับที่ 2 หลังผ่านไป 6 นัดในลาลีกา ซีซั่นนี้ เป็นอีกหนึ่งนักเตะที่มีลุ้นรางวัล “ปิชิชี่ โทรฟี่” และล่าสุด ถูกเรียกติดทีมชาติสเปนเป็นครั้งแรก เช่นเดียวกับนิโก้ วิลเลียมส์ 

️ ชิมี่ อาบีล่า

อาบีล่า กองหน้าชาวอาร์เจนติน่าวัย 28 ปี ทำได้ 3 ประตู จาก 6 นัดแรกในลาลีกา ฤดูกาลนี้ โดยยิงใส่เซบีย่า, กาดิซ และอัลเมเรีย นัดละ 1 ประตู ช่วยให้โอซาซูน่าออกสตาร์ตซีซั่นได้ดีเกินคาด และหวังทำอันดับไปเล่นฟุตบอลยุโรปให้ได้

️ เกโรนิโม่ รุลลี่

รุลลี่ ผู้รักษาประตูชาวอาร์เจนติน่าวัย 30 ปีของบียาร์เรอัล เสียไปเพียง 2 ประตู จาก 6 นัดแรกในลาลีกา ซีซั่นนี้ มีลุ้นก้าวขึ้นมาท้าชิงรางวัลนายทวารยอดเยี่ยม “ซาโมร่า โทรฟี่” โดยเฉพาะจังหวะเซฟมหัศจรรย์ในนัดที่พบกับแอตเลติโก้ มาดริด

️ เวดาต มูริกี

มูริกี ดาวยิงทีมชาติโคโซโววัย 28 ปี ที่เป็นดาวซัลโวสูงสุดกับเรอัล มายอร์ก้า เมื่อฤดูกาลที่แล้ว และได้รางวัลนักเตะยอดเยี่ยมของลาลีกา ประจำเดือนพฤษภาคม ส่วนในซีซั่นนี้เขาเริ่มต้นได้ดีเกินคาด ยิงได้ 3 ประตู จาก 6 นัดแรกในลาลีกา

️ อิซี่ ปาลาซอน

ปาลาซอน ปีกชาวสเปนวัย 27 ปี ทำได้ 2 ประตู จากการลงสนาม 5 นัดในลาลีกา ฤดูกาลนี้ โดยยิงใส่เอสปันญ่อล และบาเลนเซีย นัดละ 1 ลูก ช่วยให้ราโย บาเยกาโน่ ต้นสังกัดของเขา เริ่มต้นซีซั่นได้อย่างยอดเยี่ยม เช่นเดียวกับเมื่อซีซั่นที่แล้ว

️ อองตวน กรีซมันน์

แม้ว่ากรีซมันน์จะไม่ได้อยู่ในสนามช่วยแอตเลติโก้ มาดริด แบบเต็ม 90 นาที ครบทุกนัด แต่ดาวยิงชาวฝรั่งเศสวัย 31 ปี ยังถือเป็นนักเตะคนสำคัญของทีม ด้วยผลงาน 2 ประตู และจัด 1 แอสซิสต์ ให้มาริโอ เอร์โมโซ่ ยิงตีไข่แตกในมาดริด ดาร์บี้

️ ทาเคฟุสะ คุโบะ

คุโบะ ดาวเตะทีมชาติญี่ปุ่นวัย 21 ปี ย้ายมาค้าแข้งกับเรอัล โซเซียดัดในซีซั่นนี้ 6 นัดแรกในลาลีกา ยิง 1 ประตู ในนัดเปิดซีซั่นกับกาดิซ และ 1 แอสซิสต์ ในนัดล่าสุดกับเอสปันญ่อล ต้องดูกันต่อว่าจะสามารถรักษาฟอร์มที่ดีในระยะยาวได้หรือไม่

️ เจนนาโร่ กัตตูโซ่

ผู้จัดการทีมเพียงหนึ่งเดียวที่ติดอยู่ในลิสต์นี้ เฮดโค้ชคนใหม่ของบาเลนเซีย ทำทีมสไตล์เกมรุก มีความกล้าได้กล้าเสียมากขึ้น ผลงานคุมทีมในช่วงต้นซีซั่นถือว่าไม่เลวเลยทีเดียว ชนะ 3 แพ้ 3 จาก 6 นัดแรก ตามหลังท็อปโฟร์เพียง 4 แต้มเท่านั้น

การที่นักเตะและผู้จัดการทีมหลายคน เริ่มต้นฤดูกาลได้ดีเกินความคาดหมายจนได้รับคำชื่นชมมากมาย แต่จะสามารถรักษาผลงานที่ดีอย่างสม่ำเสมอไปจนจบซีซั่นได้หรือไม่ เวลาเท่านั้นจะเป็นผู้ให้คำตอบ

Categories
Special Content

เรื่องที่คุณอาจยังไม่รู้ ? : ราชวงศ์อังกฤษ กับการเชียร์ทีมฟุตบอลในดวงใจ

ชาวอังกฤษในเวลานี้ ยังอยู่ในช่วงของการไว้ทุกข์ หลังจากสมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 2 เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 8 กันยายนที่ผ่านมา ซึ่งเกมฟุตบอลในสุดสัปดาห์นี้ แข่งขันตามปกติ

แต่มีบางแมตช์ที่ต้องเลื่อนการแข่งขันออกไป ด้วยเหตุผลเรื่องกำลังตำรวจที่ไม่เพียงพอ เนื่องจากจะต้องไปดูแลความปลอดภัย ในวันประกอบพระราชพิธีพระบรมศพ วันจันทร์ที่ 19 กันยายนนี้

เมื่อพูดถึงสมาชิกราชวงศ์ของอังกฤษ หลายคนอาจยังไม่เคยทราบมาก่อนว่า ได้เลือกสนับสนุนทีมฟุตบอลที่แต่ละพระองค์ชื่นชอบ ซึ่งเป็นสิทธิที่สามารถทำได้ เช่นเดียวกับประชาชนคนธรรมดา

วันนี้ SoccerSuckไข่มุกดำ จะมาเล่าให้ฟังว่า สมาชิกราชวงศ์ของอังกฤษ เลือกเชียร์ทีมฟุตบอลทีมใดกันบ้าง ซึ่งอาจจะตรงใจกับทีมเชียร์ของแต่ละคนก็เป็นได้

สมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 2 : อาร์เซน่อล หรือ เวสต์แฮม ยูไนเต็ด

อดีตประมุขแห่งสหราชอาณาจักร ที่ครองราชบัลลังก์ยาวนานถึง 70 ปี ไม่เคยเปิดเผยต่อสาธารณชนอย่างชัดเจนว่า เลือกเชียร์ทีมฟุตบอลทีมใด แต่สันนิษฐานว่า อาจจะเป็นอาร์เซน่อล หรือ เวสต์แฮม

ด้านหนึ่ง มีการวิเคราะห์ว่า ควีนอลิซาเบธที่ 2 ได้สนับสนุนอาร์เซน่อล เพราะเป็นสโมสรเดียวในอังกฤษ ที่เปิดโอกาสให้นักเตะ และผู้จัดการทีม ได้เข้าเฝ้าพระองค์ที่พระราชวังบักกิงแฮม เมื่อปี 2007

นอกจากนี้ “เดอะ ซัน” สื่อดังของอังกฤษ เคยอ้างคำพูดของควีนอลิซาเบธที่ 2 ขึ้นหน้าหนึ่งมาแล้วว่าเป็นกองเชียร์ของอาร์เซน่อล ตามพระมารดา รวมถึงมีการเอ่ยชื่อเชส ฟาเบรกาส ที่ขณะนั้นเป็นนักเตะของทีมด้วย 

อนึ่ง เมื่อปี 2006 เจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ พระราขสวามี (สิ้นพระชนม์เมื่อเดือนเมษายน ปี 2021) เคยเสด็จแทนพระองค์ในพิธีเปิดสนามเอมิเรตส์ สเตเดี้ยม รังเหย้าแห่งใหม่ของ “เดอะ กันเนอร์ส”

แต่มีอีกด้านหนึ่งที่ระบุว่า ควีนอลิซาเบธที่ 2 เป็นแฟนเวสต์แฮม เนื่องจากชื่นชอบรอน กรีนวู้ด อดีตผู้จัดการทีมของ “เดอะ แฮมเมอร์ส” เป็นการส่วนพระองค์ และเคยมอบยศอัศวินให้เมื่อปี 1981 ด้วย

จากการที่ควีนอลิซาเบธที่ 2 ไม่บอกให้คนภายนอกรู้ว่า พระองค์ชื่นชอบทีมฟุตบอลทีมใดเป็นพิเศษ เพราะต้องการวางตัวเป็นกลาง และคงเป็นความลับที่จะไม่ถูกเปิดเผยไปตลอดกาล

สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 : เบิร์นลี่ย์

กษัตริย์พระองค์ใหม่แห่งสหราชอาณาจักร พระชนมายุ 73 พรรษา ทีมฟุตบอลที่ทรงชื่นชอบคือ เบิร์นลี่ย์ ทีมที่เพิ่งตกชั้นจากพรีเมียร์ลีก เมื่อฤดูกาลที่แล้ว หลังอยู่ในลีกสูงสุดมา 6 ซีซั่นติดต่อกัน

ความชื่นชอบในสโมสรเบิร์นลี่ย์ ของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 มีจุดเริ่มต้นเมื่อปี 2005 พระองค์ได้เสด็จไปเยือนเมืองเบิร์นลี่ย์ เพื่อติดตามโครงการ Prince’s Trust และเยี่ยมชมสนามเทิร์ฟ มัวร์

ฤดูกาล 2009/10 เบิร์นลีย์เลื่อนชั้นขึ้นสู่ลีกสูงสุดในยุค “พรีเมียร์ลีก” เป็นครั้งแรก แต่หลังจากนั้นผลงานไม่สม่ำเสมอเท่าที่ควร เคยตกชั้นไป 2 ครั้ง ก่อนกลับมาอยู่พรีเมียร์ลีกแบบต่อเนื่องถึง 6 ซีซั่น

ซึ่งเมื่อทราบข่าวว่า สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ชื่นชอบ “เดอะ คลาเร็ตส์” และติดตามผลการแข่งขันของทีมอยู่เสมอ ทางสโมสรจึงมอบตั๋วปีแบบวีไอพีให้กับพระองค์เป็นการตอบแทน

เจ้าชายวิลเลียมส์ : แอสตัน วิลล่า

พระราชโอรสพระองค์โต ในสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 พระชันษา 40 ปี ปัจจุบันทรงดำรงตำแหน่งประธานกิตติมศักดิ์ สมาคมฟุตบอลอังกฤษ (เอฟเอ) เลือกแอสตัน วิลล่า เป็นทีมที่ทรงโปรด

เมื่อปี 2015 เจ้าชายวิลเลียมส์ เคยให้สัมภาษณ์กับแกรี่ ลินิเกอร์ พิธีกรของ BBC ว่า “เพื่อน ๆ ของผมที่เรียนหนังสือมาด้วยกัน พวกเขาจะเชียร์แมนฯ ยูไนเต็ด หรือเชลซี แต่ผมไม่อยากทำแบบนั้น”

“ผมเลือกเชียร์ทีมที่อยู่กลางตารางมากกว่า เพราะทำให้รู้สึกตื่นเต้นกับผลการแข่งขันที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ ทีมนั้นคือแอสตัน วิลล่า สโมสรฟุตบอลที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน”

“นัดแรกที่ผมได้ไปดู คือเกมที่วิลล่า เจอโบลตัน ในเอฟเอ คัพ รอบรองชนะเลิศ ปี 2000 วิลล่าผ่านเข้าชิงชนะเลิศกับเชลซี บรรยากาศมันวิเศษมาก รู้สึกได้เลยว่าวิลล่าคือทีมที่ใช่สำหรับผม”

ฤดูกาล 2018/19 วิลล่าได้เลื่อนชั้นกลับสู่พรีเมียร์ลีกอีกครั้ง หลังตกชั้นไปเล่นลีกรองอยู่ 3 ซีซั่น เจ้าชายวิลเลี่ยมได้เข้าไปกอดกับยอห์น คาริว ดาวยิงตัวเก่งด้วยความดีใจแบบสุดเหวี่ยงเลยทีเดียว

ส่วนเจ้าชายจอร์จ พระโอรสองค์โตวัย 9 ขวบ ได้เคยไปชมเกมที่แอสตัน วิลล่า ชนะนอริช ซิตี้ 5 – 1 เมื่อปี 2019 แต่เจ้าชายวิลเลียมส์ก็จะให้อิสระอย่างเต็มที่ ในการเลือกทีมฟุตบอลที่เขาชื่นชอบ

เจ้าหญิงแคเธอรีน : เชลซี

พระชายาของเจ้าชายวิลเลียมส์ เจ้าชายแห่งเวลส์ พระชันษา 40 ปี เท่ากัน ทรงชื่นชอบกีฬาตั้งแต่วัยเยาว์ และเคยเป็นอดีตกัปตันทีมฮอกกี้ระดับมัธยมศึกษา ทรงประกาศพระองค์ว่าเชียร์เชลซี

เรื่องราวความคลั่งไคล้เชลซีนั้น เกิดขึ้นในปี 2015 เจ้าหญิงแคเธอรีน ได้ไปงานการกุศลที่แอนนา ฟรอยด์ เซนเตอร์ ศูนย์ดูแลสุขภาพจิตสำหรับเด็กและเยาวชน และได้สนทนากับรีเจย์ ไบรอัน เด็กชายวัย 8 ขวบ

เจ้าหนูรีเจย์ ก็ได้ทักทายแบบเป็นมิตร เพราะทราบว่าเจ้าหญิงแคเธอรีน เชียร์เชลซีเช่นเดียวกับเขา นอกจากนี้ แกรี่ โกลด์สมิธ คุณลุงแท้ ๆ ของเจ้าหญิงแคเธอรีน ก็เป็นแฟนตัวยงของ “สิงห์บูลส์” เช่นกัน

และยังมีอีกเหตุผลหนึ่งที่มีความเป็นไปได้ คือ พ่อแม่ของเจ้าหญิงแคเธอรีน ได้ซื้อบ้านหลังหนึ่งมูลค่ากว่า 1 ล้านปอนด์ ที่อยู่ใกล้กับสนามสแตมฟอร์ด บริดจ์ รังเหย้าชองเชลซี

เจ้าชายแฮร์รี่ : อาร์เซน่อล

พระราชโอรสพระองค์เล็ก ในสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 และเป็นพระสวามีของเมแกน ดัชเชสแห่งซัสเซกซ์ พระชันษา 38 ปี ทรงชื่นชอบอาร์เซน่อล สโมสรที่มีความใกล้ชิดกับราชวงศ์อังกฤษมากที่สุด

เมื่อปี 2017 “เดอะ ซัน” สื่อชื่อดังของอังกฤษ รายงานว่า เจ้าชายแฮร์รี่ เดินทางไปชมการซ้อมของทีมรักบี้ทีมชาติอังกฤษ และได้สนทนากับแจ็ค แกร์ หนึ่งในทีมสต๊าฟฟ์โค้ช เกี่ยวกับเรื่องการเชียร์ฟุตบอล

เจ้าชายแฮร์รี่ ถามว่า คุณเชียร์ทีมอะไร ? แจ็ค แกร์ตอบว่า “แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด” แล้วถามเจ้าชายแฮร์รี่กลับไปว่า คุณเชียร์ทีมไหนล่ะ ? ก็ได้คำตอบว่า “อาร์เซน่อล… แต่ตอนนี้อย่าไปพูดถึงมันดีกว่า”

สาเหตุที่เจ้าชายแฮร์รี่ พูดประโยคดังกล่าวออกมา เป็นเพราะว่า “เดอะ กันเนอร์ส” เพิ่งถูกบาเยิร์น มิวนิค ถล่ม 5 – 1 ในยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก และหลังจากนั้น ทีมก็ห่างหายจากถ้วยใหญ่ยุโรปมาแล้ว 6 ปี

ไม่ว่าจะเป็นราชวงศ์ หรือครอบครัวสามัญชนทั่วไป ย่อมมีรสนิยมความชื่นชอบที่แตกต่างกัน แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การยอมรับความคิดที่แตกต่างกันให้ได้ เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข

เรียบเรียง: จักรพันธ์ ภู่ทอง

อ้างอิง : 

– https://www.mirror.co.uk/news/uk-news/royals-favourite-football-teams-williams-24519087

https://www.mirror.co.uk/sport/football/news/prince-william-explains-supports-aston-22435558

https://www.mirror.co.uk/sport/football/news/watch-prince-william-reveal-supports-5778761

https://www.mirror.co.uk/news/uk-news/the-queens-a-west-ham-fan-416997

https://www.dailystar.co.uk/sport/football/king-charles-supports-burnley-queen-27946146

https://www.dailystar.co.uk/sport/football/prince-harry-royal-football-arsenal-24347305

https://www.thesun.co.uk/sport/football/2892012/prince-harry-reveals-he-is-an-arsenal-fan/

– https://www.telegraph.co.uk/sport/football/9085234/Prince-of-Wales-supports-Burnley-football-club.html

https://www.lancashiretelegraph.co.uk/news/4781705.prince-charles-pledges-support-burnley-fc/

Categories
Special Content

“อิวาน โทนีย์” ทีมชาติอังกฤษป้ายแดงในวัย 26 เพชฌฆาตจุดโทษและศูนย์หน้าผู้แข็งแกร่งในเกมรับ

ท่ามกลางกระแสถกเถียงรายชื่อ 28 นักเตะทีมชาติอังกฤษที่แกเรธ เซาธ์เกต ออกมาเพื่อส่งลุยดงแข้งยูฟา เนชันส์ คัพ สองนัดสุดท้ายของกลุ่ม 3 ช่วงปลายเดือนกันยายน อิวาน โทนีย์ ศูนย์หน้าวัย 26 ปีของเบรนท์ฟอร์ด เป็นชื่อแปลกใหม่ป้ายแดงที่หลุดเข้ามา

กุนซือวัย 52 ปีจากเมืองวัตฟอร์ด พูดถึงการเรียกตัวโทนีย์ร่วมทีมสิงโตคำรามเป็นครั้งแรกว่า “เราติดตามเขามานานแล้ว ฟอร์มการเล่นและคุณภาพของเขาไม่ได้มีเพียงการทำประตูแต่รวมถึงทักษะเทคนิค การสร้างเกม และลูกกลางอากาศ ซึ่งจะสร้างการทะลุทะลวงที่แตกต่างให้กับทีมเรา”

โทนีย์ย้ายจากปีเตอร์โบโรห์ในลีกวันและเซ็นสัญญาห้าปีกับเบรนท์ฟอร์ด ซึ่งขณะนั้นอยู่ในเดอะ แชมเปียนชิพ เมื่อวันที่ 31สิงหาคม 2020 ด้วยค่าตัวเบื้องต้น 5 ล้านปอนด์ และสามารถเพิ่มขึ้นสูงสุด 10 ล้านปอนด์หากบรรลุเงื่อนไขโบนัสแอดออนครบ

หากเซาธ์เกตส่งโทนีย์ลงสนามไม่ว่าจะเป็นตัวจริงตัวสำรอง ไม่ว่าเป็นแมตช์กับอิตาลี (23 ก.ย.) หรือเยอรมนี (26 ก.ย.) “เดอะ บีส์” จะต้องจ่ายโบนัสให้ปีเตอร์โบโรห์อีก 1 ล้านปอนด์ ทำให้ค่าตัวรวมของศูนย์หน้าวัย 26 ปีเพิ่มเป็น 8 ล้านปอนด์ ขณะที่โทนีย์จะเป็นนักเตะรายที่สามในประวัติศาสตร์สโมสรเบรนท์ฟอร์ดที่ติดทีมชาติอังกฤษ

บิลลี สกอตต์ กองหน้าตัวใน เป็นนักเตะคนแรกของเบรนท์ฟอร์ดที่เล่นให้ทีมชาติอังกฤษจากนัดชนะเวลส์ 2-1 เมื่อวันที่ 17ตุลาคม 1936 ตามมาด้วย เลส สมิธ แนวรุกฝั่งซ้ายที่ถูกเปลี่ยนลงมาแทนสแตนลีย์ แมทธิวส์ ที่บาดเจ็บระหว่างเกมกับโรเมเนียเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 1939 แต่ไม่กี่เดือนต่อมาสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ระเบิดขึ้น จากครั้งนั้นเวลาผ่านไปนานถึง 83ปี โทนีย์มีโอกาสสร้างประวัติศาสตร์ครั้งที่สามให้เบรนท์ฟอร์ด

ทวิตเตอร์ของเบรนท์ฟอร์ดไม่รอช้าโพสต์แสดงความยินดีกับโทนีย์ทันที “Huge congratulations to Ivan on his first #ThreeLions call-up” พร้อมแท็คบัญชี @IvanToney24 และ @England

ขอบคุณภาพจาก  https://www.bbc.com/sport/football/62918723

ทางด้าน โธมัส แฟรงค์ ผู้จัดการทีมเบรนท์ฟอร์ด ร่วมแสดงความยินดีกับลูกทีม “นี่เป็นช่วงเวลาแห่งการโอบกอดของสโมสร”

“นี่เป็นวันที่วิเศษสุดโดยเฉพาะสำหรับอิวาน แต่รวมถึงทุกคนที่เบรนท์ฟอร์ดด้วย เครดิตส่วนใหญ่ต้องมอบให้อิวานที่สร้างผลงานอย่างเหลือเชื่อบนสนามนับตั้งแต่ย้ายมาร่วมทีมเรา และแสดงให้เห็นว่าเขามีศักยภาพที่สามารถเล่นให้ทีมชาติอังกฤษ”

“เขาเป็นหนึ่งในผู้นำทีมเรา เขายอดเยี่ยมทั้งในฐานะนักฟุตบอลและมนุษย์คนหนึ่ง ทุกนัดแฟนบอลเบรนท์ฟอร์ดจะเห็นว่าเขานำอะไรมาสู่ทีมบ้าง ผมหวังว่าแฟน ๆ ทีมชาติอังกฤษจะมีโอกาสเห็นด้วยตาตนเองเช่นเดียวกัน ความสำเร็จนี้ขอมอบให้กับครอบครัวของอิวานและทุกคนที่เคยทำงานกับเขาที่สโมสรก่อนหน้านี้ที่ร่วมพัฒนาตัวเขาขึ้นมา”

ถูกยกให้เป็นนักเตะที่สังหารจุดโทษที่ดีที่สุดในโลก

เมื่อสามปีที่แล้ว โทนีย์ยังเล่นอยู่ในลีกวันก่อนย้ายจากปีเตอร์โบโรห์มายังถิ่นลอนตะวันตกช่วงที่เบรนท์ฟอร์ดอยู่ในเดอะ แชมเปียนชิพ แต่โทนีย์แสดงให้เห็นถึงศักยภาพที่สามารถต่อกรบนสังเวียนพรีเมียร์ลีกได้อย่างไม่ลำบาก

2020-21 ฤดูกาลแรกในสีเสื้อลายขาวแดง โทนีย์ลงแข่งแชมเปียนชิพ 45 นัด ทำไป 31 ประตู พาทีมผึ้งมหากาฬเลื่อนขึ้นมาอยู่ลีกสูงสุดเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ซีซัน 1946-47 เขาทำไป 12 ประตู 5 แอสซิสต์จากพรีเมียร์ลีก 33 นัด ทีมจบด้วยอันดับ 13 บนตาราง ส่วนซีซันปัจจุบัน โทนีย์ลงตัวจริงและอยู่ในสนามตลอด 6 นัดแรก ทำ 5 ประตู 2 แอสซิสต์ที่เกิดขึ้นในแมตช์ถลุงแมนฯ ยูไนเต็ด 4-0 และล่าสุดเขายังทำแฮททริกในนัดต้อนลีดส์ 5-2

แดน ลอง นักข่าวของสกาย สปอร์ตส์ เขียนถึงโทนีย์ว่า “เขาไม่เคยกลัวที่จะอยู่บนจุดไหนของสนามและบ่อยครั้งที่คู่ต่อสู้ไม่ทันสังเกตเขาด้วยซ้ำ แม้เป็นกองหน้า แต่เขาเป็นคนสำคัญในการป้องกันลูกตั้งเตะ ตอนนี้มีสถิติชนะการแย่งบอลบนอากาศรวมแล้ว 20 ครั้ง”

“สถิติยิงจุดโทษของโทนีย์เป็นมุมที่น่าสนใจทีเดียวสำหรับแผนการเล่นของทีมชาติอังกฤษ เขาเป็นตัวเลือกแรกของเบรนท์ฟอร์ดตั้งแต่ย้ายเข้ามาใหม่ ๆ เขาไม่เคยพลาดเป้าตลอด 18 ครั้งที่ผ่านมา ย้อนไปเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โธมัส แฟรงค์ เคยกล่าวว่า โทนีย์เป็นตัวสังหารจุดโทษที่ดีที่สุดในโลก ณ ขณะนี้”

แบร์รี ฟราย ผู้อำนวยการด้านฟุตบอลวัย 77 ของปีเตอร์โบโรห์ ตั้งข้อสังเกตว่า “ผมไม่อยากเชื่อเลยว่าทีมที่ต้องการศูนย์หน้าอย่างเชลซีและแมนฯ ยูไนเต็ด ไม่เสนอซื้ออิวานด้วยจำนวนเงิน 60-70 ล้านปอนด์ พวกเขาพลาดโอกาสทองไปแล้ว”

ฟราย ซึ่งเคยนั่งเก้าอี้ผู้จัดการทีมปีเตอร์โบโรห์ระหว่างปี 1996 – 2005 ยกย่องโทนีย์ต่อว่า “เขาครองบอลได้เหนียวแน่น นำเพื่อนร่วมทีมเข้าสู่ระบบการเล่น สร้างสรรค์โอกาสและจบสกอร์ แล้วก็เหมือนที่เคยเป็นที่ปีเตอร์โบโรห์ เขาเป็นหนึ่งในกองหลังที่ดีที่สุดของเบรนท์ฟอร์ดยามที่ถอยลงไปตั้งเกมรับ”

ปฏิเสธทีมชาติจาเมกาเพื่อรอวันสวมเสื้อ “ทรี ไลออนส์”

โทนีย์รอเวลาจนถึงช่วงกลางอาชีพค้าแข้งเพื่อถูกเรียกตัวร่วมทีมชาติทั้งที่เขาสามารถลงแข่งขันแมตช์นานาชาติได้ก่อนหน้านี้ โทนีย์ปฏิเสธคำเชิญของทีมชาติจาเมกาที่พยายามโน้มน้าวหลายครั้งให้เปลี่ยนใจ แต่ “อิวาน เบนจามิน เอไลญาห์ โทนีย์”ซึ่งเกิดในเมืองนอร์ทแธมป์ตันเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 1996 มีความตั้งใจเด็ดเดี่ยวที่จะสวมเสื้อที่ปะสัญลักษณ์ “สิงโตสามตัว” บนหน้าอกเสื้อเท่านั้น

ถ้านั่นเป็นความเสี่ยง โทนีย์ก็เป็นฝ่ายชนะในวัย 26 ปี แม้ต้องรอชัยชนะที่สมบูรณ์แบบจากการลงสนามนัดแรก

โทนีย์รู้ดีตลอดมาว่าเขามีดีเพียงพอสำหรับทีมชาติอังกฤษแม้การตอบรับทีมชาติจาเมกาจะช่วยให้เขาลงสังเวียนระดับอินเตอร์ฯได้ไวขึ้น และแน่นอนเขาสามารถยึดตำแหน่งตัวจริงได้อย่างสบาย แต่ลึก ๆ แล้ว สำหรับเขามีเพียงทีมชาติอังกฤษเท่านั้น

อย่าเพิ่งเข้าใจผิดมองว่าโทนีย์เป็นคนขี้โม้โอ่อวด แต่ทั้งหมดแสดงออกผ่านภาษากายไม่ใช่คำพูด คนใกล้ชิดจะอธิบายตัวตนของเขาว่าเป็นคนจำพวกเจียมตัวถ่อมตน เงียบขรึมจนเกือบจะโดดเดียว

นัดเปิดสนามพรีเมียร์ลีกซีซันที่แล้ว เบรนท์ฟอร์ดในฐานะทีมน้องใหม่บุกชนะอาร์เซนอล 2-0 โทนีย์โพสต์หลังแมตช์บนทวิตเตอร์ส่วนตัวเพียงแค่ “’Nice kick about with the boys”

เมื่อไปถามกับบุคลากรต่างๆที่สโมสรเบรนท์ฟอร์ดตั้งแต่พ่อครัวจนถึงพนักงานทำความสะอาด ก็จะได้รับคำตอบใกล้เคียงกันว่า โทนีย์เป็นคนที่ให้ความเคารพต่อผู้อื่นและถ่อมตน แต่หากเป็นเรื่องความเชื่อมั่นในความสามารถของตัวเอง เขาก็เป็นอย่างนั้นชัดเจนร้อยเปอร์เซ็นต์

บางทีเราอาจรู้แนวคิดการดำเนินชีวิตของโทนีย์ได้จากรอยสักบนหน้าอกที่มีประโยคว่า “’Suffer the pain of discipline or suffer the pain of regret” หรือ “ระทมทุกข์จากความเจ็บปวดของระเบียบวินัยหรือความเศร้าโศก”

เพราะปีเตอร์โบโรห์จึงมีวันนี้หลังโดนนิวคาสเซิลเมิน

โทนีย์เริ่มต้นเส้นทางนักฟุตบอลระดับเยาวชนที่สโมสรในบ้านเกิด นอร์ทแธมป์ตัน ทาวน์ และประเดิมทีมชุดใหญ่ของ “เดอะ คอบเบลอร์ส” ซึ่งตอนนั้นเล่นอยู่ในลีกสอง ในเอฟเอ คัพ รอบแรก เสมอแบรดฟอร์ด ซิตี 3-3 1เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2012 สร้างสถิติผู้เล่นอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์สโมสร

ฤดูกาล 2012-13 โทนีย์มีโอกาสเพียงนัดนั้นนัดเดียวแต่สองซีซันต่อมา เขาได้เล่น 59 นัดรวมทุกรายการและทำได้ 13ประตู ส่งผลให้แมวมอง นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด ดึงตัวเข้าทีมในเดือนสิงหาคม 2015 โดยซีซันแรก โทนีในวัย 19 ปี ลงสนามพรีเมียร์ลีก 2 นัดและลีกคัพ 2 นัด ก่อนถูกปล่อยตัวให้ไปเล่นในลีกวันกับบาร์นสลีย์ช่วงครึ่งหลังของซีซัน โทนีย์ทำได้ 1 ประตูจาก 15 นัด

แม้ปีเตอร์ เบียร์ดสลีย์ ตำนานนักเตะนิวคาสเซิล ซึ่งเป็นโค้ชทีมอะคาเดมีตอนนั้น เห็นแววรุ่งโรจน์ของโทนีย์ แต่สองซีซันต่อมา ทีมสาลิกาดง ซึ่งมีสตีฟ แม็คลาเรน และราฟา  เบนิเตซ เป็นผู้จัดการทีมในช่วงนั้น ส่งโทนีย์ไปสะสมเลเวลในลีกวันกับ บาร์นสลีย์, ชรูว์สบิวรี, สคันธอร์พ และวีแกน

จนกระทั่งวันที่ 9 สิงหาคม 2018 ปีเตอร์โบโรห์ ทีมในลีกวัน ซื้อขาดโทนีย์มาจากนิวคาสเซิลแต่ไม่เปิดเผยค่าตัว แต่เชื่อว่าราคาน่าจะอยู่ที่ 650,000 ปอนด์ และเพียงสองวันต่อมา โทนีย์ก็เล่นให้ปีเตอร์โบโรห์ในชัยชนะ 4-1 ที่โรชเดล เมื่อถูกเปลี่ยนลงมาในนาทีที่ 72 แทนเจสัน คัมมิงส์ ที่จบสกอร์ไปแล้ว 2 ประตู และวันที่ 8 กันยายน โทนีย์ทำประตูแรกในเกมบุกไปเฉือนเซาธ์เอนด์ 3-2

สองซีซันกับยูนิฟอร์ม “เดอะ พอช” โทนีย์ทำไป 49 ประตูจาก 94 นัดรวมทุกรายการ รวมถึงลีกวัน 40 ประตูจาก 76 นัด ซึ่งมากเกินพอที่ เบรนท์ฟอร์ด ทีมที่อยู่สูงขึ้นไปหนึ่งดิวิชัน มอบสัญญาห้าปีให้กับโทนีย์เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2020 พร้อมจ่ายค่าตัวก้อนแรก 5 ล้านปอนด์ ซึ่งสามารถเพิ่มเป็น 10 ล้านปอนด์เป็นสถิติสูงสุดใหม่ของปีเตอร์โบโรห์ มีรายงานว่า ท็อตแนม ฮ็อตสเปอร์ ต้องการลายเซ็นของโทนีย์เพื่อเป็นตัวสำรองของแฮร์รี เคน และเพียงซีซันแรก เขาก็พาเบรนท์ฟอร์ดขึ้นไปเล่นพรีเมียร์ลีกได้สำเร็จ

โทนีย์อาจไม่มีวันนี้หากไม่ได้ผู้เฒ่าแบร์รี ฟราย ที่ยืนกรานเสียงแข็งถึงขั้นสร้างความไม่พอใจให้โทนีย์และคนใกล้ขิด

“ทั้งนักเตะ พ่อของเขา และตัวแทน แทบวิงวอนขอให้ผมอนุญาตให้เขาเซ็นสัญญากับบาร์นสลีย์ตอนที่สโมสรติดต่อทาบทามเขา ผมบอกเขาว่า แกต้องไล่เอเยนต์ออกไปเลยเพราะนายดีเกินไปหลายไมล์แล้วสำหรับบาร์นสลีย์ ฉันจะทำให้แกเป็นเศรษฐี”

“และผมกล้าพนันได้เลยว่าตอนนี้เขา โค-ตะ-ระ ดีใจเลย อย่างน้อยทุกครั้งที่ผมไปเบรนท์ฟอร์ด ผมจะเห็นพ่อเขาเต็มไปด้วยรอยยิ้ม”

แม้ไม่มีคำยืนยันหลุดจากปากของโทนีย์ แต่จะมีใครกล้าวางเงินเดิมพนันไหมว่าศูนย์หน้าป้ายแดงของทีมชาติอังกฤษไม่อยู่ในอารมณ์ดีใจแบบสุด ๆตอนนี้ แต่จะสุดยิ่งกว่าสุด ๆ ถ้าเซาธ์เกตส่งเขาลงแข่งขันกับอิตาลีและ/หรือเยอรมนี

เรียบเรียง : ฐปน วันชูเพลา

Categories
Special Content

โธมัส มุลเลอร์ เดอะ ซีรีส์ มหัศจรรย์ของชายผู้อยู่ถูกที่ถูกเวลาเสมอ

โธมัส มุลเลอร์ กองหน้าจอมเก๋าทีมชาติเยอรมนี เพิ่งฉลองวันเกิดปีที่ 33 ไปเมื่อวันอังคารที่ 13 กันยายนที่ผ่านมา พร้อมลงสนามนัดที่ 2 แชมเปียนส์ลีก รอบแบ่งกลุ่ม ที่จบลงด้วยชัยชนะ 2-0 ของบาเยิร์น มิวนิก ที่มีต่อบาร์เซโลนา

บุนเดสลีกาฤดูกาล 2022-23 เริ่ม 6 นัดแรก มุลเลอร์อยู่ในรายชื่อผู้เล่น 11 คนแรก 5 นัด ลงสนามในฐานะตัวสำรอง 1 นัด มีผลงาน 1 ประตู 2 แอสซิสต์ แม้เป็นหัวใจของทีมแต่ด้วยวัยช่วงปลายอาชีพ ยูเลียน นาเกลส์มันน์ กุนซือรุ่นพี่ที่อายุแก่กว่าสองปี เลี่ยงไม่ได้ที่ต้องจัดสรรเวลาใช้งานมุลเลอร์ในสัปดาห์ที่ต้องเตะควบทั้งบุนเดสลีกาและบอลถ้วยยุโรป

เกมเยือนยูเนียน เบอร์ลิน (3 ก.ย.) มุลเลอร์ลงเล่น 28 นาทีสุดท้าย เกมเสมอ 1-1, เกมเยือนอินเตอร์ มิลาน (7 ก.ย.) มุลเลอร์เล่นทั้งแมตช์ เสือใต้ชนะ 2-0, เกมเหย้ากับสตุ๊ตการ์ท (10 ก.ย.) มุลเลอร์ถูกเปลี่ยนออกนาทีที่ 69 เกมเสมอ 2-2 และล่าสุดเล่นในบ้านกับบาร์ซา นาเกลส์มันน์กลับไปใช้งานมุลเลอร์ 90 นาทีอีกครั้ง ทีมชนะ 2-0

นาเกลส์มันน์มีลูกทีมที่สามารถมองว่าเป็นชุดที่แข็งแกร่งที่สุดในลีกเมืองเบียร์ การโรเตชันนักเตะจึงสมเหตุสมผล แต่ลึก ๆ เขาตระหนักดีว่าการขาดมุลเลอร์ส่งผลต่อบาเยิร์นอย่างไร การเคลื่อนบอลไปข้างหน้าบางจังหวะไม่เร็วไปก็ช้าไป การหาพื้นที่ว่างไม่ดีเหมือนเคย

มุลเลอร์มีตำแหน่งการเล่นที่หลากหลายแม้ transfermarkt ระบุว่าตำแหน่งหลักของเขาคือกองหน้าตัวต่ำ แต่สามารถขยับไปเล่นมิดฟิลด์ตัวรุกและปีกขวาได้ด้วย แต่ความจริงหลายนัด สตาร์วัย 33 ปี ถูกจับให้ยืนเป็นศูนย์หน้าตัวเป้า คือเล่นได้ทั้งตำแหน่งเบอร์ 10, 9 หลอก, 9 แท้ และ 7 จึงอาจยกให้มุลเลอร์เป็นหนึ่งในกองหน้าอัจฉริยะก็ว่าได้ เพียงแต่ความโด่งดังของเขาในทีมบาเยิร์นถูกบดบังด้วยจำนวนประตูที่มากมายของโรเบิร์ต เลวานดอฟสกี ยอดดาวซัลโววัย 34 ปี ซึ่งเล่นด้วยกันนานแปดปี (2014-2022) ก่อนสตาร์ทีมขาติโปแลนด์ย้ายไปร่วมทีมบาร์เซโลนา

เลวานดอฟสกีเล่นให้บาเยิร์นรวมทุกรายการ 375 นัด ทำสกอร์มากถึง 344 ประตู เฉลี่ยเกือบนัดละหนึ่งประตู แต่ในบรรดาเพื่อนร่วมทีมเสือใต้ ไม่มีใครแอสซิสต์ให้เขามากไปกว่ามุลเลอร์ “ทุก ๆ วินาที(ของการแข่งขัน) โธมัสรู้ดีว่าผมอยู่ตรงไหนและเคลื่อนที่ไปอย่างไร” เลวานดอฟสกีกล่าวถึงอดีตคู่หูคนรู้ใจ

เลวานดอฟสกีเป็นหนึ่งในปรากฎการณ์ของวงการลูกหนังโลกอย่างไม่ต้องสงสัย แต่ เยอร์เกน คลินส์มันน์ อดีตผู้จัดการทีมบาเยิร์น ยกย่องให้มุลเลอร์มีส่วนในความสำเร็จนั้นอย่างมาก “ทั้งสองประสานงานกันได้อย่างเหลือเชื่อเป็นเวลาหลายปี เหมือนทั้งคู่มีสัญชาตญาณที่เชื่อมต่อถึงกันและกัน พวกเขารู้ดีว่าอีกคนกำลังอยู่ตรงไหน(ของสนามแข่งขัน)”

“ผมมองว่านั่นเป็นบทบาทที่เหมาะกับโธมัสดีมาก ๆ เพราะเขาไม่มีความจำเป็นอะไรเลยที่ต้องเล่นในพื้นที่แถวหน้าสุด เขาสามารถเคลื่อนตัวมาจากด้านหลังหรือไม่ก็ด้านข้าง เขามีคุณสมบัติที่สามารถปรับเปลี่ยนตัวเองให้เข้ากับสถานการณ์หรือใครก็ตามที่อยู่ใกล้ตัวเขา”

เมื่อกองหน้าคนสำคัญอย่างเลวานดอฟสกีย้ายออกไปจากนครมิวนิก ซึ่งคงไม่มีใครแปลกใจหากเห็นมุลเลอร์ไม่ใช่คนเดิมแต่ความเป็นจริงคือไม่ใช่ มุลเลอร์ยังเป็นนักเตะที่สร้างโอกาสจากโอเพนเพลย์ได้มากที่สุดในทีมบาเยิร์นฤดูกาลนี้

มุลเลอร์พูดถึงสถานการณ์ปัจจุบันว่า “สิ่งที่ผมทำก็มีเพียงมองหาผู้เล่นอีกคนเท่านั้นเอง (เช่นสองแอสซิสต์ที่ทำได้ในการแข่งขันกับไอน์ทรัค แฟรงเฟิร์ต) หรืออาจเป็นตัวผมเองที่ต้องวิ่งไปรับการจ่ายบอล (เช่นหนึ่งประตูที่ทำได้ในเกมกับโวล์ฟสบวร์ก)”

เวลาเปลี่ยน เพื่อนร่วมทีมเปลี่ยน แต่มุลเลอร์ยังเป็นมุลเลอร์คนเดิม

เป๊ป กวาร์ดิโอลา ซึ่งเคยคุมทีมบาเยิร์นระหว่างปี 2013-2016 พูดถึงจุดแข็งของมุลเลอร์ว่าอยู่ที่ “การมองโลกในแง่ดีและการมองหาโอกาส” ซึ่งเป็นคุณภาพในแง่จิตใจมากกว่าร่างกายที่ทำให้มุลเลอร์เหนือกว่าและสร้างความปวดหัวให้กับกองหลังฝ่ายตรงข้าม

เยอร์เกน คล็อปป์ ซึ่งเคยพาทีมโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ปะทะแข้งกับมุลเลอร์และพลพรรคเสือใต้ ชี้ไปที่ความเฉลียวฉลาดของมหาเทพแห่งการแอสซิสต์ “การเคลื่อนที่ของเขาบางครั้งก็ดูเหมือนเป็นอะไรที่ง่าย ๆ แต่ผลลัพธ์ที่ออกมากลับถูกต้อง แม่นยำ และแยบยลอย่างไม่น่าเชื่อ เขาเป็นนักเตะที่ชาญฉลาดและเปี่ยมประสิทธิภาพแบบสุด ๆ”

ทักษะที่สูงสุดหรืออาจใช้คำว่าอัจฉริยะของมุลเลอร์ บางครั้งนำความปวดเศียรเวียนเกล้ามาให้กับกวาร์ดิโอลาเมื่อครั้งคุมทีมบาเยิร์น เพราะขณะที่ยอดกุนซือขึ้นชื่อเรื่องเป็นโค้ชที่หมกหมุ่นกับการวางตำแหน่งที่ลูกทีมต้องเป็นไปตามนั้นแบบเป๊ะ ๆ แต่มุลเลอร์ก็เป็นนักเตะประเภทพริ้วไหวมีความอิสระเสรี หลายครั้งออกแนวเล่นแร่แปรธาตุประหนึ่งนักมายากล ซึ่งแน่นอนวิถีทางของทั้งสองต่างกันคนละขั้ว

ลักษณะเฉพาะตัวของมุลเลอร์อาจมองว่าเป็นนักฟุตบอลที่มีความคิดสร้างสรรค์ระดับสูงได้เหมือนกัน โดยอ้างอิงจากสถิติข้อมูลที่บุนเดสลีกาบันทึกไว้ได้ข้อสรุปว่า มุลเลอร์เป็นนักเตะที่ทำแอสซิสต์จากโอเพนเพลย์ได้มากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งในฤดูกาล 2021-22 หรือหากนับเฉพาะลีกระดับเมเจอร์ในทวีปยุโรป มีลิโอเนล เมสซี เพียงคนเดียวที่ผ่านบอลให้เพื่อนทำสกอร์ได้มากกว่ามุลเลอร์

นอกจากแอสซิสต์อันดับหนึ่งแล้ว มุลเลอร์ยังสร้างโอกาสจากโอเพนเพลย์มากกว่าใครในบุนเดสลีกาซีซันที่ผ่านมา ด้วยจำนวนที่ทิ้งห่างเพื่อนร่วมอาชีพอย่างมาก

⚽️ ว่าที่ตำนานนักเตะ “วัน-แมน-คลับ” ของบาเยิร์น

ด้วยวัย 33 ปี มุลเลอร์ยังไม่มีทีท่าต้องการเก็บสตั๊คไปค้าแข้งกับสโมสรอื่นขณะที่ยังเหลือสัญญากับบาเยิร์นถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2024 ซึ่งต่างกับเลวานดอฟสกีที่ประกาศเจตนารมณ์ชัดเจนว่าต้องการให้สโมสรปล่อยเขาไปในตลาดซัมเมอร์ที่ผ่านมา จึงมีความเป็นไปได้สูงที่มุลเลอร์อาจอำลาวงการด้วยการเป็น วัน-แมน-คลับ เพลเยอร์

มุลเลอร์เริ่มต้นเส้นทางนักฟุตบอลระดับเยาวชนที่สโมสร TSV Pähl จนกระทั่งอายุ 10 ขวน เขาเดินทางห่างจากบ้าน 50กิโลเมตรเพื่อร่วมทีมบาเยิร์นเมื่อปี 2000 เขาพัฒนาฝีเท้าผ่านระบบเยาวชนของสโมสรและเป็นส่วนหนึ่งของทีมที่คว้าตำแหน่งรองแชมป์บุนเดสลีกา รุ่นอายุต่ำกว่า 19 ปี เมื่อปี 2007

มุลเลอร์ลงสนามให้ทีมสำรองของบาเยิร์นครั้งแรกในเดือนมีนาคม 2008 และทำประตูได้ทันที พร้อมลงสนามให้ทีม ยู-19ไปด้วย และซีซันต่อมา 2008-09 ทีมสำรองของบาเยิร์นได้รับคัดเลือกให้เล่นลีกา 3 ที่ก่อตั้งขึ้นใหม่ มุลเลอร์สถาปนาเป็นนักเตะหลักของทีม เล่น 32 นัดจากโปรแกรมทั้งหมด 38 นัด ทำสกอร์ได้ 15 ประตู ครองอันดับ 5 ของตารางดาวซัลโวลีก

ฤดูกาลเดียวกัน เยอร์เกน คลินส์มันน์ ดึงเจ้าหนุ่มมุลเลอร์มาร่วมฝึกซ้อมปรีซีซันกับทีมชุดใหญ่ของบาเยิร์น และได้สัมผัสบรรยากาศบุนเดสลีกานัดแรกในวันที่ 15 สิงหาคม 2008 โดยลงมาแทนมิโรสลาฟ โคลเซ ช่วงสิบนาทีสุดท้ายของการแข่งขันกับทีมฮัมบวร์ก 

มุลเลอร์ยังได้เล่นบุนเดสลีกาลีกอีกสามนัดในซีซันนั้น และยังได้ลงแข่งแชมเปียนส์ลีกเป็นครั้งแรกในวันที่ 10 มีนาคม 2009 เมื่อได้เปลี่ยนตัวกับบาสเตียน ชไวซไตเกอร์ นาทีที่ 72 ของเกมที่ถล่มสปอร์ติง ลิสบอน 7-1 และยังเป็นคนทำประตูปิดท้ายแมตช์ด้วย

เดือนกุมภาพันธ์ 2009 มุลเลอร์ได้เซ็นสัญญาอาชีพกับทีมชุดใหญ่ของบาเยิร์น มีระยะเวลาสองปี เริ่มจากฤดูกาล 2009-10 เป็นต้นไป และชีวิตถัดจากนั้นก็ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว มุลเลอร์มีโอกาสลงสนามถึง 52 นัดรวมทุกรายการในซีซันแรก หลุยส์ ฟาน กัล ซึ่งคุมทีมบาเยิร์นระหว่างปี 2009-2011 เคยหลุดประโยคสำคัญว่า “มุลเลอร์จะได้ลงเล่นเสมอ”

คลินส์มันน์กล่าวถึงนักเตะที่เขาให้โอกาสลงเล่นกับชุดใหญ่นัดแรกเมื่อปี 2008 ว่า “โธมัส มุลเลอร์ เป็นนักฟุตบอลที่พิเศษมาก ๆ”

“เขาเติบโตผ่านช่วงเวลามาหลายปีจนเป็นไอคอนของบาเยิร์นเคียงข้างมานูเอล นอยเออร์ แม้ตอนนี้เรามี โยชัว คิมมิช ที่ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำกลุ่มนักเตะ แต่โธมัสยังมีบุคลิกโดดเด่นและส่งอิทธิพลทางบวกในการสร้างเคมีที่ลงตัวให้กับทีมของเรา”

“นั่นแหละเป็นบทบาทหน้าที่ของเขา เขายังคงยิ่งใหญ่มาก ๆ เสมอ มันไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญอะไรเลยว่าเขาจะทำสกอร์และแอสซิสต์ได้มากแค่ไหน แต่เป็นความเป็นผู้นำของเขาต่างหากที่ถูกพัฒนาขึ้นมาพร้อมกับสโมสรบาเยิร์น มิวนิก ซึ่งเป็นเรื่องราวแสนมหัศจรรย์ ทุกช่วงเวลาในอาชีพนักฟุตบอลของเขาได้สร้างเรื่องราวแสนมหัศจรรย์ขึ้นมา”

รวมถึงเกียรติประวัติความสำเร็จทั้งหลายอันได้แก่ แชมป์บุนเดสลีกา 11 สมัย, แชมป์แชมเปียนส์ลีก 2 สมัย รางวัลรองเท้าทองคำในการลงสนามฟุตบอลโลกสมัยแรก (ปี 2010) และเหรียญทองในเวิลด์คัพสมัยที่สอง (ปี 2014) 

“เขาสามารถภาคภูมิใจในตัวเองได้แบบสุด ๆ ไปเลย และผมหวังว่าเขาจะเพิ่มโทรฟี่อีกสักสองรางวัล แน่นอนเป้าหมายใหญ่ของเขาตอนนี้คือ เวิลด์คัพ เดินทางสู่ประเทศกาตาร์ และสร้างผลงานยอดเยี่ยมให้กับทีมชาติเยอรมนี”

“ทั้งหมดทั้งปวงเป็นวัตถุดิบมากมายเพียงพอที่จะถูก NETFLIX นำไปสร้างเป็นซีรีส์เรื่องเยี่ยมในวันข้างหน้า” คลินส์มันน์ตบท้ายการให้สัมภาษณ์ด้วยเสียงหัวเราะว่า “โธมัส มุลเลอร์ เดอะ ซีรีส์ เป็นชื่อหนังเรื่องนั้น”

เรียบเรียง : ฐปน วันชูเพลา (Senior Football Writer)

Categories
Special Content

แยกทางหรือไปต่อ..อนาคต “ฟีร์มีโน” กับสี่นักเตะสัญญาปีสุดท้าย

ดูเหมือนใคร ๆ ต่างโฟกัสมิดฟิลด์คนใหม่ที่จะเข้ามาในสองตลาดปีหน้า รวมถึงโปรเจ็คต์ของเยอร์เกน คล็อปป์ ที่ค่อย ๆ เปลี่ยนถ่ายเลือดเพื่อสร้างลิเวอร์พูลรุ่นสองแทนเหล่าขุนพลที่ร่วมกันสร้างความสำเร็จช่วงชีวิตการทำงานเจ็ดปีแรกที่แอนฟิลด์ของเจเค

อีกด้านหนึ่งยังมีนักเตะห้าคนที่กำลังรับใช้สโมสรในซีซันสุดท้ายของสัญญา ซึ่งบอร์ดและสตาฟฟ์โค้ชต้องตัดสินใจอนาคตของพวกเขารวมถึง โรแบร์โต ฟีร์มีโน ที่สโมสรยังค้างคำตอบให้กับสตาร์แซมบาหลังจากเคาะเส้นทางของสองฟรอนท์ทรีร่วมยุคไปแล้ว ขายซาดิโอ มาเน ให้กับบาเยิร์น มิวนิค และขยายสัญญาสามปีกับโมฮัมเหม็ด ซาลาห์ พร้อมเพิ่มค่าเหนื่อยขึ้นเป็น 3.5 แสนปอนด์ต่อสัปดาห์

ดูเหมือนฟีร์มีโน ซึ่งจะมีอายุ 31 ปีในวันที่ 2 ตุลาคม ควรนับเวลาถอยหลังได้แล้วหลังมีปัญหาบาดเจ็บทำให้ลงสนามพรีเมียร์ลีกซีซันที่แล้วได้เพียง 20 นัดทั้งที่หกซีซันก่อนหน้า ตัวเลขต่ำสุดคือ 31 นัดในซีซัน 2015-16 ฤดูกาลแรกในแอนฟิลด์ บวกกับการเข้ามาของ ลุยซ์ ดิอาซ และ ดาร์วิน นูเญซ ว่าที่สามประสานแดนหน้าแห่งอนาคต

มีกระแสข่าวช่วงตลาดซัมเมอร์ว่า ยูเวนตุสสนใจดึงฟีร์มิโนไปสวมเสื้อลายขาวดำ แต่คล็อปป์มีความชัดเจนว่าสตาร์บราซิลยังอยู่ในแผนงานของเขา โดยเฉพาะฟีร์มีโนกลับมาฟิตสมบูรณ์และฝึกซ้อมได้เต็มโปรแกรมปรีซีซัน ส่วนอนาคตจะเป็นอย่างไร กุนซือเยอรมันเลี่ยงที่ตอบตรง ๆ แต่ยืนยันว่า ฟีร์มีโนยังมีประโยชน์กับทีม ยังเป็นหัวใจและจิตวิญญาณของทีม

สถิติพรีเมียร์ลีกซีซันนี้ ฟีร์มีโนเล่น 5 นัด 344 นาที ทำ 3 ประตู 3 แอสซิสต์ เทียบกับซีซันที่แล้ว 20 นัด 985 นาที 5 ประตู 4 แอสซิสต์ จึงน่าสนใจทีเดียว่าคล็อปป์คิดอย่างไรกับว่าที่ตำนานกองหน้าหากยังรักษาสภาพร่างกายได้ดี แต่โอกาสต่ำมากที่สโมสรจะปล่อยให้ฟีร์มีโนเป็นฟรีเอเยนต์ และน่าจะเป็นต่อสัญญา 1-3 ปี เพื่อประคับประคองฟรอนท์ทรีรุ่นน้อง แถมยังสามารถขายได้เงินเข้ากองคลังบ้าง ซึ่ง transfermarkt ประเมินราคาตอนนี้ไว้ที่ 28 ล้านปอนด์

แต่สิ่งที่บอร์ดบริหารต้องขบคิดอย่างหนักคือ ค่าเหนื่อยของฟีร์มีโนที่เคยเรียกร้องเพิ่มขึ้นอย่างต่ำสองเท่าช่วงมีข่าวสโมสรเตรียมเสนอสัญญาใหม่ อีกทั้งยังมีตัวเลขของซาลาห์เป็นบรรทัดฐานให้เทียบอีก

⚽️ “นาบี เกอิตา”

มิดฟิลด์วัย 27 ปี โดนตั้งความคาดหวังไว้สูงมากเมื่อย้ายมาจากเรดบูลล์ ไลป์ซิก ด้วยค่าตัว 48 ล้านปอนด์ในปี 2018 แต่เจออาการบาดเจ็บเรื้อรังทำให้พัฒนาการขาดตอน เป็นเพียงตัวเลือกถัดจากฟาบินโญ, จอร์แดน เฮนเดอร์สัน และติเอโก อัลคันตารา โดยซีซันนี้ คิเอตาเพิ่งได้เล่นแค่ห้านาทีกับคอมมูนิตีชิลด์ คาดว่าเขาจะรักษาต้นขาและลงสนามได้ราวเดือนพฤศจิกายน

ท่ามกลางกระแสข่าวลือเรื่องคิเอตาอยากย้ายทีม ดิ แอธเลติค ระบุว่าลิเวอร์พูลพยายามเสนอสัญญาใหม่ แต่สกาย สปอร์ตส์ เยอรมนี รายงานว่าโต๊ะเจรจาถูกพับไปแล้วและยังไม่มีการยื่นข้อเสนอใดๆ

⚽️ “อเล็กซ์ ออกซ์เลด-แชมเบอร์เลน”

โชคร้ายเอ็นไขว้เข่าเสียหายในเดือนเมษายน 2018 ทั้งที่เพิ่งย้ายจากอาร์เซนอลด้วยค่าตัว 35 ล้านปอนด์ไม่ถึงหนึ่งปี และซีซัน 2021-22 เขาลงตัวจริงบอลลีกแค่ 9 นัด พร้อมข่าวว่าลิเวอร์พูลเสนอขายในราคา 10 ล้านปอนด์ในตลาดล่าสุด แต่ไม่มีทีมไหนยื่นข้อเสนอมาจริงจัง หนำซ้ำมิดฟิลด์วัย 29 ปียังบาดเจ็บแฮมสตริงช่วงปรีซีซันและไม่มีแววคืนสนามเมื่อใด

มีความเป็นไปได้สูงที่ออกซ์เลด-แชมเบอร์เลนจะถูกปล่อยให้หมดสัญญา หรือหากเรียกความฟิตกลับมาภายใน 1-2 เดือนข้างหน้า ลิเวอร์พูลอาจได้เงินบ้างหากมีสโมสรไหนสนใจเขาในตลาดเดือนมกราคมปีหน้า

⚽️ “เจมส์ มิลเนอร์”

มิดฟิลด์วัย 36 ปี ยังตกอยู่ในสปอตไลท์เสมอนับตั้งแต่ลิเวอร์พูลได้มาฟรีๆจากแมนฯ ซิตี กลางปี 2015 และใกล้จะลงสนามให้หงส์แดงครบ 300 นัด มิลเนอร์ยังอยู่ในแผนของคล็อปป์แม้ถูกสงสัยเรื่องฟอร์มและสังขาร แต่ที่แน่ ๆ เขามีบทบาทสำคัญต่อบรรยากาศในห้องแต่งตัว

มิลเนอร์หมดสัญญาฉบับเก่าหลังซีซันที่แล้ว แต่ลิเวอร์พูลเลือกต่อสัญญาหนึ่งปี ส่วนเขาก็ปฏิเสธข้อเสนอที่ได้รับจากบางสโมสรพรีเมียร์ลีก สำหรับอนาคตหลังวันที่ 30 มิถุนายนปีหน้า ยัง 50-50 กับโอกาสที่หงส์แดงต่อสัญญาอีกหนึ่งปีหรือปล่อยมิลเนอร์เป็นฟรีเอเยนต์

⚽️ “เอเดรียน”

นายทวารวัย 35 ปีโบกมือลาเวสต์แฮมเพื่อมาเป็นตัวสำรองของอลิสซอง เบคเกอร์ ในปี 2019 โดยชีวิตปีแรกที่แอนฟิลด์เป็นช่วงที่เอเดรียนได้เฝ้าประตูมากที่สุดคือ 18 นัดรวมทุกรายการ (11 นัดบอลลีก) ส่วนซีซันที่แล้ว เขาลงทำหน้าที่เพียงคาราบาวคัพ รอบสี่ และซีซันนี้คล็อปป์ใช้งานเขาในเกมคอมมูนิตีชิลด์

ปัจจุบัน นายด่านชาวสเปนเป็นมือสามของทีมต่อจากควีวีน เคลเลเฮอร์ เขาคงเริ่มมองหาความท้าทายใหม่หลังจบฤดูกาลนี้

📝 KMD Content Team

🙏 EUROsport France

Categories
Special Content

เมื่อฟุตบอลอังกฤษเลือก “หยุดนิ่ง” หลังสูญเสียควีนอลิซาเบธที่ 2

สมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 2 ประมุขแห่งสหราชอาณาจักร เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 8 กันยายนที่ผ่านมา นั่นหมายถึงการสิ้นสุดรัชสมัยของพระองค์ ที่ครองราชย์มายาวนานกว่า 70 ปี

และหลังจากการสูญเสียควีนอลิซาเบธที่ 2 ทำให้โปรแกรมการแข่งขันฟุตบอลในอังกฤษ และทั่วทั้งสหราชอาณาจักร ที่จะจัดขึ้นในสุดสัปดาห์นี้ (10 – 12 กันยายน) ถูกเลื่อนออกไปทั้งหมด

แต่การที่องค์กรลูกหนังเมืองผู้ดี ตัดสินใจเลื่อนการแข่งขันฟุตบอลในครั้งนี้ ได้มีผู้คนบางส่วนแสดงความไม่เห็นด้วย พร้อมทั้งแนะวิธีที่เหมาะสม ในการแสดงออกเพื่อไว้อาลัยควีนอลิซาเบธที่ 2

SoccerSuck x ไข่มุกดำ จะมาพูดถึงการจัดการของฟุตบอลอังกฤษ จากเหตุการณ์สำคัญในอดีต รวมถึงการเลื่อนเตะในสัปดาห์นี้ จะทำให้โปรแกรมเตะในช่วงที่เหลือของซีซั่นเป็นอย่างไร

กรณีศึกษาจากการสูญเสียบุคคลสำคัญ

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 1952 สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 พระราชบิดาของสมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 2 เสด็จสวรรคต แต่โปรแกรมฟุตบอลเอฟเอ คัพ 4 คู่ในวันดังกล่าว ยังแข่งขันตามปกติ

ต่อมาในวันที่ 31 สิงหาคม 1997 เจ้าหญิงไดอานา สิ้นพระชนม์ด้วยอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่ประเทศฝรั่งเศส ทำให้โปรแกรมพรีเมียร์ลีก คู่ระหว่างลิเวอร์พูล กับนิวคาสเซิล ที่ตรงกับวันดังกล่าว ถูกยกเลิก

วันรุ่งขึ้น (1 กันยายน 1997) เกม “โอลด์เฟิร์ม ดาร์บี้” แห่งสกอตแลนด์ เซลติก กับ เรนเจอร์ส ถูกยกเลิกเช่นกัน แต่เกมพรีเมียร์ลีก คู่ระหว่างโบลตัน วันเดอเรอร์ส กับเอฟเวอร์ตัน แข่งขันตามโปรแกรมเดิม

ในวันที่ 6 กันยายน 1997 มีการจัดงานพระศพของเจ้าหญิงไดอาน่า การแข่งขันฟุตบอลในยูเคถูกงดทั้งหมด ทำให้เกมฟุตบอลโลก รอบคัดเลือก ระหว่างสกอตแลนด์ กับเบลารุส ต้องเลื่อนไปแข่งในวันถัดมา

ขณะที่อังกฤษ ที่มีโปรแกรมพบกับเบลารุส ก็ถูกเลื่อนไปอีก 4 วัน หลังจากงานพระศพของเจ้าหญิงไดอาน่า ซึ่งในวันแข่งขัน นักเตะ “สิงโตคำราม” พร้อมใจกันสวมปลอกแขนสีดำ และยืนสงบนิ่ง 1 นาที

และล่าสุด การเสด็จสวรรคตของควีนอลิซาเบธที่ 2 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, อาร์เซน่อล และเวสต์แฮม ยูไนเต็ด ร่วมกันแสดงความไว้อาลัย ก่อนเริ่มการแข่งขันฟุตบอลถ้วยยุโรป

ขอบคุณภาพ : https://web.facebook.com/ThailandLiverpoolFC

การจัดงานศพครั้งใหญ่ของอังกฤษ ไม่ได้เกิดขึ้นมานานถึง 57 ปีแล้ว นับตั้งแต่งานศพของอดีตนายกรัฐมนตรีวินสตัน เชอร์ชิล เมื่อวันที่ 30 มกราคม 1965 แต่ฟุตบอลเอฟเอ คัพในวันนั้น ไม่ถูกเลื่อนออกไป

ไม่มีการตัดสินใจครั้งใดที่สมบูรณ์แบบ

การเสด็จสู่สวรรคาลัยของควีนอลิซาเบธที่ 2 แน่นอนว่าเป็นข่าวใหญ่ของชาวอังกฤษ แต่การจัดการกับเหตุการณ์ความสูญเสีย คือสิ่งที่สำคัญที่สุด ในการทำให้การแข่งขันกีฬาได้ไปต่อแบบไม่มีสะดุด

รัฐบาลอังกฤษ ออกมายืนยันว่าไม่มีการบังคับให้เลื่อน หรือยกเลิกกิจกรรมกีฬาต่าง ๆ ในช่วงเวลา 10 วัน แห่งการไว้ทุกข์ โดยองค์กรต่าง ๆ สามารถตัดสินใจด้วยตัวเองได้เลยว่า จะเดินหน้าจัดแข่งขันหรือไม่

ในที่สุด การประชุมของพรีเมียร์ลีก, อีเอฟเอล, เอฟเอ ร่วมกับกรมดิจิทัลวัฒนธรรมสื่อและกีฬาของอังกฤษ (DCMS) ได้ตัดสินใจ “เลื่อนการแข่งขัน” ฟุตบอลทุกระดับในสุดสัปดาห์นี้ออกไปก่อน

แต่กีฬาอื่น ๆ เช่น รักบี้, วิ่งฮาล์ฟมาราธอน, คริกเก็ต, ฮอกกี้น้ำแข็ง และแข่งม้า ในสุดสัปดาห์นี้ ยังดำเนินไปตามปกติ โดยให้ผู้จัดการแข่งขันและนักกีฬา สวมปลอกแขนสีดำเป็นการไว้ทุกข์แทน

นั่นทำให้ปีเตอร์ เคราช์ อดีตดาวเตะทีมชาติอังกฤษ แสดงความไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจเลื่อนการแข่งขันฟุตบอล พร้อมชี้ว่า มีวิธีอื่นที่ดีกว่านี้ ในการแสดงความเคารพสูงสุดต่อควีนอลิซาเบธที่ 2

เคราช์ กล่าวว่า “ผมรู้ว่าเป็นแค่ฟุตบอลเกมหนึ่ง และบางเรื่องมันใหญ่กว่ามาก แต่ลองมองภาพว่าถ้าฟุตบอลแข่งตามปกติ แล้วมีการสวมปลอกแขนสีดำ, ยืนสงบนิ่ง, ร้องเพลงชาติ, เล่นดนตรี และอื่น ๆ ให้ผู้คนทั่วโลกได้ดู แบบนั้นไม่ดีกว่าหรือ” 

การที่โปรแกรมการแข่งขันพรีเมียร์ลีกสัปดาห์นี้ถูกเลื่อนออกไปนั้น ทำให้หลายฝ่ายแสดงความกังวลถึงตารางการแข่งขันในช่วงครึ่งซีซั่นหลัง ที่จะอัดแน่นจนอาจจะส่งผลต่อร่างกายของนักเตะได้

โปรแกรมที่ถูกเลื่อนมา จะเอาลงตรงไหน ?

พรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 2022/23 เป็นฤดูกาลที่ไม่ปกติ เนื่องจากจะต้องหยุดพักการแข่งขันในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน ถึงกลางเดือนธันวาคม เป็นเวลา 5 สัปดาห์ เพื่อหลีกทางให้ฟุตบอลโลก ที่ประเทศกาตาร์

ผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ 7 ทีมพรีเมียร์ลีก ที่เข้าร่วมฟุตบอลถ้วยยุโรป จะไม่มีที่ว่างในช่วงกลางสัปดาห์เลย เพราะมีโปรแกรมทั้งสโมสรและทีมชาติ ยาวไปตั้งแต่เดือนกันยายน จนถึงสิ้นปี 2022

เมื่อจบรอบแบ่งกลุ่มของฟุตบอลถ้วยยุโรปแล้ว จะมีโปรแกรมพรีเมียร์ลีก อีก 2 นัด และคาราบาว คัพ รอบ 32 ทีมสุดท้าย อีก 1 นัด ก่อนจะเว้นว่าง 1 สัปดาห์ เพื่อให้นักเตะเดินทางไปแข่งขันเวิลด์ คัพ

หลังจากนัดชิงชนะเลิศฟุตบอลโลก วันที่ 18 ธันวาคม ถ้าทีมที่ได้ไปต่อในถ้วยยุโรป ผ่านเข้ารอบ 16ทีมสุดท้ายคาราบาว คัพ จะต้องลงเตะในช่วงก่อนคริสต์มาส ต่อด้วยพรีเมียร์ลีกช่วงบ็อกซิ่ง เดย์ ถึงปีใหม่

เพราะฉะนั้น โปรแกรมพรีเมียร์ลีกในสัปดาห์นี้ที่ถูกเลื่อนออกไป มีความเป็นไปได้ว่าจะลงในช่วงกลางเดือนมกราคม ปีหน้า แต่ถ้าเกิดทีมใดผ่านเข้ารอบลึก ๆ ของฟุตบอลถ้วย โปรแกรมเตะก็จะเพิ่มขึ้นไปอีก

แล้วโปรแกรมเตะในสัปดาห์หน้า (17-18 กันยายน) ก็มีความเสี่ยงที่จะถูกเลื่อนด้วย เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวนไม่น้อย จะต้องไปดูแลความปลอดภัยในงานพระราชพิธีพระบรมศพ วันที่ 19กันยายนนี้

การตัดสินใจกับบางเรื่องที่ใหญ่มากๆ และมีผลกระทบในวงกว้าง คงไม่มีทางที่จะถูกใจทุกคนไปเสียหมด ผู้ที่มีอำนาจการตัดสินใจ ต้องพยายามรักษาความสมดุลให้ได้ เพื่อทำให้ทุกอย่างผ่านไปได้ด้วยดี

เรียบเรียง: จักรพันธ์ ภู่ทอง

อ้างอิง : 

https://theathletic.com/3579593/2022/09/09/football-calendar-queen-elizabeth/

https://theathletic.com/3580783/2022/09/10/football-matches-postponed-premier-league/

https://www.dailymail.co.uk/sport/football/article-11197111/Piers-Morgan-Gary-Neville-criticse-Premier-Leagues-postponement-matches.html

Categories
Column

แข้งดาวรุ่งพุ่งแรงที่น่าจับตามองในลาลีกา 2022/23

แม้ว่าบรรดาทีมยักษ์ใหญ่ จะทุ่มเงินมหาศาลเพื่อดึงนักเตะชื่อดัง โปรไฟล์เด่นมาร่วมทีมมากแค่ไหน แต่ในขณะเดียวกัน พวกเขาก็ลงทุนกับนักเตะอายุน้อย ที่คอยขึ้นมาทดแทนนักเตะรุ่นใหญ่อยู่เสมอ

ฤดูกาล 2022/23 สโมสรในลาลีกา สเปน ได้มีนักฟุตบอลอายุไม่เกิน 23 ปี ที่มีพรสวรรค์สูง พร้อมที่จะก้าวขึ้นมาเป็นกำลังหลักของทีม หรือบางคนสามารถโชว์ผลงานได้อย่างโดดเด่น เป็นที่น่าจับตามอง

นักเตะต่างชาติที่ลงเล่นในลาลีกา เช่น 3 ดาวรุ่งจากฝรั่งเศส เอดูอาร์โด้ คามาวิงก้า (19 ปี), ออเรเลียง ชูอาเมนี่ (22 ปี) และ ฌูลส์ กุนเด้ (23 ปี) อีกทั้ง 3 แข้งวัยทีนจากบราซิล วินิซิอุส จูเนียร์ (19 ปี), โรดริโก้ (22 ปี) และมัทเธอุส คุนญ่า (23 ปี)

นอกจากนี้ ยังมีวันเดอร์คิดต่างชาติคนอื่น ๆ อย่างเข่นโรนัลด์ อเราโฆ่ เซ็นเตอร์แบ็กอนาคตไกล ที่ติดทีมชาติอุรุกวัยชุดใหญ่ไปแล้ว 11 นัด และเจา เฟลิกซ์ ดาวเตะโปรตุเกส ซึ่งทั้งคู่อายุ 23 ปีเท่ากัน

แต่ลาลีกา ไม่ได้มีแค่เยาวชนจากต่างชาติเท่านั้น เพราะยังมีนักเตะดาวรุ่งสัญชาติสเปน ที่มีโอกาสแจ้งเกิดในลีกสูงสุดแดนกระทิงดุ และทีมชาติชุดใหญ่ อย่างเช่น 5 ดาวเตะจากบาร์เซโลน่า กาบี้ (18 ปี), เปดรี้ (19 ปี), อันซู ฟาติ (19 ปี), เอริก การ์เซีย (21 ปี) และ เฟร์ราน ตอร์เรส (22 ปี)

ทีมอื่น ๆ อาทิ บาเลนเซีย ที่มี 4 ดาวรุ่งอย่าง ยูนุส มูซ่าห์ (19 ปี), นิโก้ กอนซาเลซ (20 ปี), อูโก้ กิลลาม่อน (22 ปี), และจัสติน ไคลเวิร์ต (23 ปี) รวมถึง 2 แข้งจากบียาร์เรอัล เยเรมี ปิโน่ (19 ปี ) และ ซามูเอล ชุควูเซ่ (23 ปี)

ขณะที่เรอัล โซเซียดัด มี 3 แข้งคลื่นลูกใหม่ โมฮาเหม็ด อาลี-โช (18 ปี), ทาเคฟุสะ คุโบะ (21 ปี) และ มาร์ติน ซูบีเมนดี้ (23 ปี) เช่นเดียวกับ 3 นักเตะแอธเลติก บิลเบา นิโก้ วิลเลี่ยมส์ (20 ปี), อูไน เบนเซดอร์ (21 ปี) และ โออิฮาน ซานเซต (22 ปี)

หลังจากลาลีกา ในซีซั่นนี้ ผ่านไป 4 นัด ได้มีนักเตะดาวรุ่งบางคน เริ่มโชว์ผลงานได้น่าประทับใจ อย่างเช่น ไอมาร์ โอรอซ มิดฟิลด์วัย 20 ปี จากโอซาซูน่า ที่ยิง 2 ประตู มีส่วนช่วยให้ทีมอยู่ในอันดับท็อป 5 ของตาราง

คนอื่นๆ ได้แก่ อเล็กซ์ บาเอน่า วัย 21 ปี ที่ทำคนเดียว 2 ลูกให้บียาร์เรอัล ในนัดเปิดซีซั่น, อเลฮอานโดร บัลเด้ วัย 18 ปี แบ็กซ้ายอนาคตไกลของบาร์เซโลน่า และกาบรี้ เบอิก้า วัย 20 ปี ของเซลต้า บีโก้ กับ 1 แอสซิสต์ ในเกมล่าสุดกับกาดิซ

นับตั้งแต่เข้าสู่ยุคทศวรรษ 2020s มีดาวรุ่งบางคนประสบความสำเร็จแล้ว เช่น เจา เฟลิกซ์ ที่พาแอตเลติโก้ มาดริด คว้าแชมป์ลาลีกา 2020/21 และวินิซิอุส จูเนียร์ ที่คว้า 2 แชมป์กับเรอัล มาดริด เมื่อซีซั่น 2021/22

และยังมีนักเตะวัยเยาว์บางคน ที่ได้รับรางวัลส่วนบุคคล คือ เปดรี้ เจ้าของรางวัลโกลเด้น บอย ปี 2021 ส่วนกาบี้ ของบาร์เซโลน่า และเอดูอาร์โด้ คามาวิงก้า ของเรอัล มาดริด ถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลโกลเด้น บอย ในปีนี้

จากรายชื่อที่กล่าวมาทั้งหมด ต้องให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า ใครจะเป็นนักเตะที่สามารถเบียดขึ้นมาเป็นตัวหลักของทีมในระยะยาว จนกลายเป็นสุดยอดแข้งดาวดังระดับหัวแถวของวงการฟุตบอลได้บ้าง

Categories
Special Content

ทำไมหงส์แดงฟอร์มร่วง! ส่อง 20 Top Comment แฟนบอลชาว KMD หลัง “ลิเวอร์พูล” ยอดทีมแดนผู้ดี ฟอร์มยังไม่เข้าที่ ล่าสุดถูกนาโปลีไล่ต้อน 4-1 ศึกแชมเปียนส์ลีกรอบแบ่งกลุ่ม

ภาพการลงเล่นในสนามแบบดุดัน เร้าใจ ยืนกองหลังสูงแบบ high line และไล่บี้เล่นเพรสซิ่งหนักหน่วงกันตั้งแต่แดนบนของลิเวอร์พูลที่แฟนบอลคุ้นเคยตอนนี้ดูเหมือนกลายเป็นปัญหาเสียแล้ว โดยในเกมล่าสุด แชมเปียนส์ลีก คือ แมตช์ขยี้บาดแผลที่กำลังเจ็บให้ยิ่งเจ็บแบบไม่มีข้อแก้ตัวใด ๆ ทั้งสิ้น

สาเหตุของฟอร์มการเล่นอันน่าผิดหวัง คือ อะไร?

โลกโซเชียลยังคงประโคมโหมคำตอบกันไม่หยุด โดยทางเพจ KMD ได้เปิดโพสต์ตั้งประเด็น และได้คำตอบจากลูกเพจมากมายร่วม 100 คอมเมนต์ในเวลา 3-4 ชั่วโมงตอนบ่ายหลังเกม 8 ก.ย.ที่ผ่านมา

คอมเมนต์มองว่าอย่างไรกันบ้าง หลังทีมรักฟอร์มตก มาดูกันสัก 20 เมนท์ โดยที่เหลือก็คลิ๊กไปดูอัพเดทในโพสต์ได้เลยค่ะ https://bit.ly/3Bmapim หรือเราคัดมาให้ส่วนหนึ่ง 20 เมนท์ตามนี้:

1. ต่างคนต่างเล่น เหมือนจะเก่งกองหลังเรา ไม่ส่งน้องแนท ผมลงบ้าง เปิดบอลไม่เคยเข้าเป้าเลยสำหลับ ผม(กองหลัง) 

2. การปรับจูน ของผู้เล่นเก่ากับใหม่ยังไม่เข้าที่ แรงจูงใจของนักเตะเก่าที่ใกล้หมดสัญญา โดยรวมผมว่าสภาพจิตใจครับ

3. การลองยิงไกลนอกเขต นอกจากดิอาซกับคาร์วัลโญ่แล้ว แทบไม่เหนใครกล้าลองยิงเลย … จ่ายบอลเพื่อให้ยิงจ่อๆตลอด มันก้อไม่ง่ายแล้วอ่า

4. หมด Passion กันแล้วครับ แกนหลักผ่านจุดสูงสุดไปหมด น่าจะต้องทำใจโละยกทีม แล้วสร้างทีมใหม่มาแทน

5. สงสัยต้องให้วิ่ง 14 กม.แบบเทนฮาก หยอกๆๆ

6. สร้างมาตรฐานไว้สูงเกินไป ผู้คนเลยคาดหวังสูง พอมีปัญหาคนจะรับไม่ค่อยได้ ใจร้อน สรุปแก้ที่ตัวกองเชียร์เองก่อน ส่วนตัวผมก็เชียร์โง่ๆแบบเดิมไป ผมเชื่อว่าบอสแก้ได้ #YNWA

7. ระบบการเล่นที่เดิมๆ

8. ฝั่งขวาทั้งแถบบอดสนิท

9. แท็กติก แผนการเล่นเดิม ไม่เหมาะกับชุดนี้แล้ว ให้ดู รีลมาดริดเล่นจะช่วยได้ เหนียวแน่นและคม ครองบอลไม่เยอะ ร่างกายไม่ล้า

10. ใจ คับ ตอนนี้ ดูไม่มั่นใจอย่างชัดเจน

11. ความหลากหลายและแม่นยำของเกมส์รุกในพื้นที่ที่ 3

12. ฟูลแบ๊ค 2 ข้าง ไปไม่ถึงเส้นหลังครับ ไม่ว่าจะด้วยแผนที่เปลี่ยนไป หรือจากการเสียเซ็ตบอล

13. ความกระหายในการเล่น…ถึงผู้เล่นจะไม่พร้อมและส่งผลถึงระบบการเล่น แต่ถ้ายังมีความกระหาย มันจะต้องช่วยกันเล่นช่วยกันวิ่ง

14. ไม่ยอมเปลี่ยนวิธีการเล่น ทั้งที่คู่แข่งเริ่มจับทางได้ รู้วิธีที่จะเอาชนะลิเวอร์พูล

15. อายุเฉลี่ยนักเตะในทีมสูงเกินกว่าจะเล่นเพลสซิ่งทั้งเกมส์ได้แล้วค่ะ

16. อิ่มตัวครับ การแข่งขันแต่ละตำแหน่งไม่มี เลยเล่นไปเรื่อยๆ

17. อิ่มตัวครับ นักเตะชุดนี้อยู่ด้วยกันมานาน กวาดมาหมดทุกแชมป์ ความกระหายหรือที่เรียกว่าแพสชั่นก็ลดลงเป็นธรรมดา

18. คิดว่าอาการล้ามาจากฤดูกาลก่อนและนักเตะเจ็บเยอะเกินความสมดุลในทีมเลยขาดๆเกินๆ

19. แผนกลางที่ยังไม่ลงตัว ติอาโก้ ฟาบิญโญ่ เฮนเดอร์ซั่น คนอื่นยังทำแทนไม่ได้

20. สำหรับผมให้เป็น โม ซาลาห์ละกัน ตัวซาลาห์ดูดร็อบลงไปตั้งแต่ไปเตะแอฟฟิกันคัพออฟเนชั่นแล้ว และยังยื่นสัญญาให้ใหม่อีก ตอนนี้ผมมองว่าเป็น โอบาเมยอง โมเดลไปแล้ว ยิ่งดูการจับบอลโล่งๆ การอะไรเมื่อคืน และหลายต่อนัด มันยิ่งเห็นชัด

.

เรียบเรียง: ภาวินีย์ สูญสิ้นภัย (แนน)