Categories
Special Content

Last Dance and Farewell “หลุยส์ ฟาน กัล” ผู้จัดการทีมโลกไม่ลืม

Last Dance ของหลุยส์ ฟาน กัล ปิดฉากการกลับมาคุมทีมชาติเนเธอร์แลนด์ครั้งที่สามด้วยสถิติไม่แพ้ใครทั้ง 20 นัดของเกม 90 นาทีและต่อเวลา  แต่ยอดกุนซือดัตช์วัย 71 ปี ไม่สามารถไปถึงฝั่งฝัน สิ้นสุดเส้นทางเวิลด์คัพ 2022 ที่กาตาร์เพียงรอบแปดทีมสุดท้าย กับหนึ่งแมตช์ที่ตื่นเต้นเร้าใจอุดมด้วยอารมณ์ดรามามากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ฟุตบอลโลก

หลุยส์ ฟาน กัล เข้ามาคุมทีมเนเธอร์แลนด์เมื่อต้นเดือนสิงหาคม 2021 แทนแฟรงค์ เดอ บัวร์ เพื่อกอบกู้ทีมฟลายอิ้งดัตช์เมนที่ล้มเหลวจากศึกลูกหนังยูโร 2020 กุนซือเจ้าของฉายา “ไอออน ทิวลิป” พาทีมเข้าไปเล่นฟุตบอลโลกได้สำเร็จ โดยรอบแรกชนะเซเนกัล 2-0, เสมอเอกัวดอร์ 1-1 และชนะเจ้าภาพ 2-0 ครองอันดับ 1 ก่อนชนะสหรัฐอเมริกา 3-1 ในรอบ 16 ทีมสุดท้าย ผ่านเข้าไปพบอาร์เจนตินาในรอบควอเตอร์ไฟนัล

อาร์เจนตินานำอยู่ 2-0 เมื่อเข้าสิบนาทีสุดท้ายจากสกอร์ของนาฮูเอล โมลินา นาทีที่ 35 และลิโอเนล เมสซี นาทีที่ 73 ขณะที่รูปเกมของเนเธอร์แลนด์แทบไม่มีโอกาสทำประตูตีไข่แตกได้เลย แต่ไม้เด็ดที่ถูกเปลี่ยนตัวลงมาในนาทีที่ 78 ก็สัมฤทธิ์ผล วูท เวกฮอร์สต์ ซึ่งเป็นแผนบีของฟาน กัล ที่ต้องการใช้ความสูงเป็นเป้าหมายทิ้งบอมบ์ในเขตโทษ ก็โขกบอลเด้งลงพื้นผ่านมือเอมิเลียโน มาร์ตีเนซ เข้าประตูนาทีที่ 83

ช่วงทดเวลาเจ็บทอดยาวร่วมสิบนาที เนเธอร์แลนด์ได้ลูกฟรีคิกระยะใกล้ แต่แทนปั่นให้ลอยข้ามกำแพงพุ่งสู่ประตู เตอัน คุปไมเนอร์ส กลับจ่ายเรียดทะลุกำแพงให้เวกฮอร์สต์พลิกตัวจับกลางเขตโทษ ยิงสวนนายทวารทีมฟ้าขาวเข้าไปอย่างเหลือเชื่อ ตีเสมอ 2-2 เกมต้องต่อเวลาอีกครึ่งชั่วโมง ไม่มีฝ่ายไหนทำสกอร์ได้ ต้องดวลลูกโทษตัดสิน

เวอร์กิล ฟาน ไดค์จ และสตีเฟน เบิร์กเฮาส์ ยิงไม่เข้าทำให้อาร์เจนตินานำ 2-0 ซึ่งดูเหมือนอดีตแชมป์โลกสองสมัยน่าชนะไม่ลำบากนัก แต่กลับต้องชี้ชะตาถึงผู้เล่นคนสุดท้าย ซึ่งเลาตาโร มาร์ตีเนซ ไม่พลาด อาร์เจนตินาชนะ 4-3 เข้าไปตัดเชือกกับโครเอเชีย รองแชมป์เก่าปี 2018

ภายหลังนักเตะอาร์เจนตินาถูกตำหนิอย่างมากเมื่อปรากฏภาพทำท่าเยาะเย้ยคู่แข่งหลังชนะจุดโทษ แต่มีข้อมูลเพิ่มเติม ผู้เล่นเนเธอร์แลนด์ไม่มีน้ำใจนักกีฬา เข้าไปพูดรบกวนสมาธิของเอ็นโซ เฟร์นันเดซ และเลาตาโร มาร์ตีเนซ ขณะกำลังเดินไปสังหารจุดโทษคนที่ 4-5

ระหว่างเกมทั้งสองฝ่ายปะทะสาดสตั๊ดใส่กันอย่างดุเดือด ทั้งลูกตุกติกลูกติดพัน มีการเตะบอลอัดใส่ม้านั่งสำรอง จนใบเหลืองปลิดว่อนรวม 18 ใบ สร้างสถิติฟุตบอลโลกขึ้นมาใหม่ ใบเหลืองที่ให้มีทั้งสตาฟฟ์โค้ช ผู้จัดการทีม ผู้เล่นสำรอง ทั้งในเกม 90 นาที, การต่อเวลา และช่วงยิงลูกโทษ ซึ่งเดนเซล ดุมฟรีส์ ได้ใบเหลือง 2 ใบติดกลายเป็นใบแดง จนแมตช์นี้ได้รับการขนานนามว่า Battle of Lusail ซึ่งเป็นชื่อของสนามแข่ง

36 ปีบนเส้นทางบริหารจัดการทีมฟุตบอล

ฟาน กัล ปิดฉากการคุมทีมชาติเนเธอร์แลนด์รอบที่สามด้วยสถิติ 20 นัด ชนะ 14 นัด เสมอ 5 นัด แพ้ 1 นัด (ถ้ารวมยิงจุดโทษ) ได้ 54 ประตู เสีย 21 ประตู ไม่สามารถพาทีมไปได้ไกลกว่าเวิลด์คัพ 2014 ที่บราซิล ซึ่งทีมอัศวินสีส้มได้เหรียญบรอนซ์ ส่วนผลงานครั้งแรก กรกฎาคม 2000 ถึงพฤศจิกายน 2001 คุม 14 นัด ชนะ 8 นัด เสมอ 4 นัด แพ้ 2 นัด ได้ 35ประตู เสีย 11 ประตู และครั้งที่สอง สิงหาคม 2012 ถึงกรกฎาคม 2014 คุม 29 นัด ชนะ 19 นัด เสมอ 7 นัด แพ้ 3 นัด ได้ 70 ประตู เสีย 27 ประตู

ฟาน กัล ยังเคยคุมทีมชาติรุ่นอายุไม่เกิน 20 ปี ในเดือนมิถุนายนและกรกฎาคม 2001 รวม 5 นัด ชนะ 2 นัด เสมอ 1 นัด แพ้ 2 นัด ได้ 8 ประตู เสีย 8 ประตู

ฟาน กัล มีชื่อจริงว่า Aloysius Paulus Maria van Gaal เกิดวันที่ 8 สิงหาคม 1951 ที่กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ เริ่มเล่นฟุตบอลกับ RKSV de Meer  ทีมสมัครเล่นในอัมสเตอร์ดัม อายุ 20 ปีเข้าร่วมทีมสำรองของอาแจ็กซ์แต่ไม่เคยติดชุดใหญ่ ซึ่งช่วงนั้นเป็นยุคทองของโยฮัน ครัฟฟ์ และโยฮัน นีสเกนส์ 

ฟาน กัล ซึ่งเล่นมิดฟิลด์ ถูกปล่อยยืมให้รอยัล แอนท์เวิร์ป มีส่วนช่วยต้นสังกัดเป็นรองแชมป์ดิวิชัน 1 เบลเยียมในปี 1974 และ 1975 ต่อมาย้ายกลับไปค้าแข้งในเนเธอร์แลนด์กับเทลสตาร์, สปาร์ตา ร็อตเตอร์ดัม และอาแซด อัลค์มาร์ ซึ่งเขามีโอกาสทำหน้าที่ผู้ช่วยโค้ชในปี 1986 ก่อนกลับมาคุมทีมเยาวชนของอาแจ็กซ์ และเลื่อนเป็นผู้ช่วยของลีโอ บีนฮัคเกอร์ ในทีมชุดใหญ่ จนได้เป็นผู้จัดการทีมอาแจ็กซ์เต็มตัวในปี 1991

36 ปีบนเส้นทางโค้ช นอกจากทีมชาติเนเธอร์แลนด์และสโมสรข้างต้น ฟาน กาล เคยเป็นผู้จัดการทีมบาร์เซโลนา (1997–2000, 2002-2003), อาแซด รอบสอง (2005–2009), บาเยิร์น มิวนิก (2009–2011) และแมนฯยูไนเต็ด (2014–2016) ซึ่งไล่เขาและทีมงานดัตช์ออกหลังพาทีมชนะเลิศเอฟเอ คัพ เพียงสองวัน

17 มกราคม 2017 มีรายงานข่าว ฟาน กัล อำลาวงการด้วยเหตุผลครอบครัว แต่ภายหลังเขาบอกว่าเป็นเพียงการพักผ่อนก่อนประกาศวางมืออย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2019 โดยมีเกียรติประวัติสำคัญระดับสโมสรดังนี้ อาแจ็กซ์ :แชมป์เอเรอดีวีซี 3 สมัย, แชมป์เคเอ็นวีบีคัพ 1993, แชมป์แชมเปียนส์ลีก 1995, แชมป์ยูฟาคัพ 1992 / บาร์เซโลนา :แชมป์ลาลีกา 2 สมัย, แชมป์โคปา เดล เรย์ 1998 / อาแซด : แชมป์เอเรอดีวีซี 1 สมัย / บาเยิร์น มิวนิก : แชมป์บุนเดสลีกา 1 สมัย, แชมป์เดเอฟเบ โพคาล 2010 / แมนฯยูไนเต็ด : แชมป์เอฟเอ คัพ 2016

ภารกิจสุดท้าย รวมนักเตะดัตช์ไปหนึ่งเดียวลุยบอลโลก

ประมาณสองปีครึ่งหลังอำลาวงการ ฟาน กัล กลับมารับงานผู้จัดการทีมชาติเนเธอร์แลนด์เป็นรอบที่สามเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2021 ประเดิมนัดแรกเสมอนอร์เวย์ 1-1 ในฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2021

เป็นเวลาห้าปีที่ ฟาน กัล วางมือจากงานโค้ช สมาคมฟุตบอลรอยัลดัตช์ได้ติดต่อเข้ามาเพื่อให้เขากอบกู้วิกฤตทีมฟลายอิ้งดัตช์เมนที่โชว์ฟอร์มได้น่าผิดหวังในยูโร 2020 ที่เลื่อนมาแข่งกลางปี 2021 เพราะการระบาดของไวรัสโควิด พวกเขาแพ้สาธารณรัฐเชก 0-2 ในรอบ 16 ทีมสุดท้ายหลังจากชนะรอบแรกทั้งสามนัด

ช่วงนั้น ฟาน กัล ใช้เวลาอย่างสุขสงบอยู่กับทรูสส์ ภรรยา ในอัลการ์วี ทางใต้ของประเทศโปรตุเกส ออกไปเล่นกอล์ฟเกือบทุกวัน แน่นอนทรูสส์ไม่ต้องการให้สามีรับงาน เหตุผลไม่ใช่เพราะอายุที่ใกล้ 70 ปี แต่รวมถึงเนื้อร้ายที่ต่อมลูกหมากซึ่งเวลานั้นยังเป็นความลับภายในครอบครัว อย่างไรก็ตามภายในใจเหมือนฟาน กัล มีงานที่ยังสานไม่เสร็จ การคุมทีมไปเล่นเวิลด์คัพมีแรงดึงดูดมากเกินกว่าที่เขาจะหักห้ามใจ เขายังค้างคาใจกับฟุตบอลโลก 2014 ที่แพ้อาร์เจนตินาในการดวลจุดโทษรอบรองชนะเลิศ แม้ชนะบราซิล 3-0 ในนัดชิงอันดับสา

ย้อนไปหลังเดอ บัวร์ พาทีมตกรอบยูโร 2020 ไม่นาน ซารินา เวียคมัน โค้ชทีมฟุตบอลหญิงเนเธอร์แลนด์ ได้โทรศัพท์ขอคำปรึกษาจากฟาน กัล ในการเตรียมทีมไปแข่งขันโอลิมปิกที่กรุงโตเกียว ต่อมาเขาให้ความเห็นผ่านสื่อว่า “ขอให้ดูทีมชายในฟุตบอลยูโรเปียน แชมเปียนชิพ คุณจะเห็นทีมที่เต็มไปด้วยสตาร์แต่ทำมันไม่สำเร็จ และที่ผ่านมา ผมเห็นเช่นเดียวกันกับทีมของซารินา ซึ่งมีทีมที่พร้อมลุยฝ่าอุปสรรค ดังนั้นจงทำให้มั่นใจในฐานะทีมๆหนึ่ง เดินทางไปยังโอลิมปิกและไปเพื่อเหรียญทอง”

สื่อมวลชนได้ตีความในคำพูดของฟาน กัล ว่า ทีมชาติเนเธอร์แลนด์ (ชุดยูโร 2020) เต็มไปด้วยผู้เล่นที่มีความสามารถแต่ไร้ซึ่งความสามัคคี ไม่อาจรวมน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และราวหนึ่งเดือนหลังให้สัมภาษณ์ ฟาน กัล ตอบรับงานและเริ่มสะสางปัญหาภายในทีมที่เขาเห็นทันที

โรนัลด์ เดอ บัวร์ อดีตมิดฟิลด์ทีมชาติเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นฝาแฝดของแฟรงค์ ให้สัมภาษณ์ถึงฟาน กัล ว่า “ภายในเวลาอันสั้น เขาสามารถรวมทีมเข้าด้วยกัน ทำให้นักเตะเชื่อถึงต้นสายปลายเหตุ”

คนใกล้ชิดของฟาน กัล เปิดเผยว่า ฟาน กัล มองทีมชาติเนเธอร์แลนด์ตอนนั้นเป็นเพียงการรวมกลุ่มบุคคลที่ฉลาดปราดเปรื่องแต่ยังไม่ใช่การรวมตัวเป็นหนึ่งเดียว ดังนั้นบนยอดสุดของ to-do list ฟาล กัล ต้องการสร้างซีรีส์สงครามเรื่อง Band of Brothers เวอร์ชันทีมฟุตบอล สร้างกลุ่มก้อนของบุคคลที่แข็งแกร่ง ซึ่งจะทำให้พวกเขาประสบความสำเร็จ

ในการแถลงข่าวครั้งแรกเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2021 ฟาน กัล เปิดเผยถึงการกลับมาคุมทีมชาติว่า “ผมไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง ผมทำเพื่อฟุตบอลดัตช์” ส่วนประเด็นขัดแย้งเรื่องระบบการเล่น ซึ่งพวกนักเตะชอบฟอร์แมท 4-3-3 แต่ฟาน กัล มีแผนยึดมั่นกับหลักการไฮบริดของ 3-5-2 โค้ชจอมเก๋าตอบว่า “ผมกับเวอร์กิล (ฟาน ไดจ์ค กัปตันทีม) ได้คุยเรื่องนี้ตอนพบกันครั้งแรก ผมถามเขาเรื่องนี้ ผมมองตรงไปที่ดวงตา และเขาตอบว่า ไม่ใช่ความจริง ดังนั้นประเด็นนี้ถือว่าจบ”

วัย 71, กระดูกสะโพกร้าว และมะเร็งต่อมลูกหมาก

วันที่ 14 พฤศจิกายน ฟาน กัล ตกจักรยานบาดเจ็บสะโพกถึงขั้นกระดูกร้าว เขาไปโรงพยาบาลทันทีและต้องนั่งเก้าอี้รถเข็น อุบัติเหตุเกิดขึ้นแค่สองวันก่อนนัดสำคัญกับนอร์เวย์ที่ร็อตเตอร์ดัม เขาหาทางออกโดยสั่งการการฝึกซ้อมบนรถกอล์ฟ และให้สัมภาษณ์พรีแมตช์ผ่านทางแอปซูมเพราะเก้าอี้รถเข็นเข้าประตูไม่ได้

ระหว่างแมตช์ ฟาน กัล นั่งวีลแชร์ดูการแข่งขันจากด้านบนของอัฒจันทร์ เนเธอร์แลนด์ชนะนอร์เวย์ 2-0 ผ่านไปเล่นเวิลด์คัพรอบสุดท้ายได้สำเร็จ เขาถึงกับหลั่งน้ำตาหลังการแข่งขัน พร้อมเล่าว่านักเตะขอให้เขาสัญญาจะอยู่ในแคมป์เก็บตัวแม้บาดเจ็บ “ใช่ ผมเป็นคนมีอารมณ์อ่อนไหว เมื่อนักเตะและสตาฟฟ์โค้ชบอกว่า พวกเขาต้องการให้คุณอยู่…” เสียงฟาน กัล สะอื้นชั่วคราวก่อนปรับอารมณ์แล้วผ่านไปยังคำถามต่อไป

ขอบคุณภาพจาก  https://www.bbc.com/sport/football/63648645

เรื่องราวทั้งหมดเกิดขึ้นก่อนความลับมะเร็งลูกหมากถูกเปิดเผยสู่สาธารณชน ฟาน กัล เคยมีประสบการณ์รับมือโรคร้ายนี้มาแล้วแม้ไม่ใช่โดยตรง ซึ่งทำให้เฟอร์นันดา ภรรยาคนแรกของเขา เสียชีวิตด้วยมะเร็งตับอ่อนในปี 1994 เขาผ่านมันร่วมกับลูกสาวสองคน เบรนดาและเรนาเต ความเจ็บปวดชัดเจนผ่านภาพของเฟอร์นันดาในห้องทำงานเขา

เมื่อได้รับผลวิเคราะห์ทางการแพทย์ ฟาน กัล ศึกษาอย่างละเอียดและโชคดีที่เป็นมะเร็งระยะต้นๆ มีโอกาสรักษาจนหายถึง 90 เปอร์เซ็นต์ ทรูสส์กลัวสูญเสียสามีไป ฟาน กัล ยังวางตัวปกติต่อหน้าสาธารณชนแต่หากสังเกตดีๆจะเห็นร่องรอยของอาการเจ็บปวด แต่เขายังอยู่สนามกอล์ฟเพราะช่วยลดความฟุ้งซ่านปลดปล่อยความคิดออกไป

“สามสัปดาห์แรกหลังการฉายรังสีรักษาคือหายนะ หลังฉายรังสีแต่ละครั้งเกิดผลข้างเคียงทุกแบบที่เป็นไปได้  แต่ไม่ได้เกิดจากการฉายรังสีเพียงอย่างเดียว ผมยังโดนฉีดยาลดฮอร์โมนเพศชาย ผมต้องเสียบสายสวน ซึ่งไม่ได้ช่วยอะไรเมื่ออยากมีเพศสัมพันธ์ ดังนั้นผมจึงขอเล่นกอล์ฟต่อไป”

ในที่สุด ฟาน กัล ได้เปิดเผยเรื่องนี้เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2022 ที่ผ่านมา “ผมมีระเบียบวินัยสูงและเปี่ยมด้วยความมุ่งมั่น ผมอยากทำงานนี้เพราะชอบมัน ผมชอบทำงานร่วมกับผู้เล่นชุดนี้ มันเปรียบเสมือนของขวัญช่วงปลายชีวิต นี่แหละคือสิ่งที่ผมคิด ผมไม่อยากบอกผู้เล่นเพราะมันสามารถส่งผลต่อฟอร์มการเล่นของพวกเขา”

ที่ผ่านมา ฟาน กัล พยายามเก็บงำความลับนี้เต็มที่ สายสวนและถุงเก็บน้ำปัสสาวะถูกซ่อนไว้ภายใต้ชุดวอร์ม ผลจากการฉายรังสีโดนกลบเกลื่อน เมื่อนักเตะเห็นเขาแก้มแดง เขาจะบอกว่านั่นเป็นสัญญาณของคนสุขภาพดี ทั้งที่เกิดจากการเผาไหม้ของการรักษามะเร็ง

คนรักเท่าผืนหนัง คนชังเท่าผืนเสื่อ ชายผู้แสนอบอุ่น

ด้วยบุคลิกขวานผ่าซากผ่านคำพูดที่ตรงไปตรงมาทำให้หลายคนไม่ชอบฟาน กัล โดยเฉพาะนักข่าว แต่เขาก็เป็นที่รักของหลายคนด้วยเช่นกัน ราฟาเอล ฟาน เดอร์ วาร์ท ซึ่งเคยร่วมงานกับฟาน กัล ในอาแจ็กซ์และทีมชาติ กล่าวถึงอดีตเจ้านายว่า “เป็นโค้ชที่เหลือเชื่อ ซื่อสัตย์ และยุติธรรม”

อันเดร ออยเยอร์ ซึ่งติดทีมชาติช่วงที่ฟาน กัล คุมทีมเนเธอร์แลนด์ช่วงแรก ย้อนอดีตว่า “ตอนหนุ่มๆเพิ่งติดทีมชุดใหญ่ คุณต้องเกรงกลัวเขาแน่ แต่ไม่สำคัญหรอกว่าคุณอายุ 17 หรือ 37 เขาจะคาดหวังจากคุณเหมือนกัน ผมเข้าใจดีว่าเขาเป็นคนตรงทำให้บางคนทำงานด้วยยาก แต่นั่นแหละเขา เขาพูดในสิ่งที่เขาคิด และผมรักที่ได้ทำงานกับเขา”

ฝาแฝดเดอ บวร์ ทั้งโรนัลด์และแฟรงค์ รู้จักฟาน กัล ก่อนเข้าทำงานอะคาเดมีทีมอาแจ็กซ์ โรนัลด์พูดถึงประสบการณ์ตอนนั้นว่า “เขาจะยื่นหน้าเข้ามาใกล้หน้าคุณแค่ 10 เซนติเมตร แล้วถามว่า ‘แกกำลังจะเป็นนักฟุตบอลที่ยิ่งใหญ่ใช่ไหม’ คุณต้องกลัวมากที่จะตอบว่าไม่หรือแม้กระทั่งบางทีนะ จะพยายามทำ ตอนนั้นคุณไม่อยากตอบผิดๆออกไปแน่ ผมจึงตอบว่า ‘แน่นอนครับโค้ช’ แล้วเขาก็ตอบกลับมาว่า ‘ดี เพราะฉันกำลังจะเป็นผู้จัดการทีมที่ยิ่งใหญ่เช่นกัน’ ความเชื่อมั่นของเขาสูงกว่าผมมาก เขาเชื่อในสิ่งที่พูดและเชื่อมั่นในตัวเองจริงๆ”

ด้วยความสัมพันธ์ที่ยาวนานทำให้ฟาน กัล และฝาแฝดเดอ บัวร์ เป็นเหมือนเพื่อนสนิท “เขาเหมือนพ่อคนที่สองของผม เขาเป็นคนอบอุ่นแม้คนส่วนใหญ่มองไม่เห็น ตัวอย่างซูเซ แฟนผม เธอไม่รู้อะไรเกี่ยวกับฟุตบอลเลย เธอไม่รู้จักใครและไม่สนด้วย เราเคยดินเนอร์กับหลุยส์ 2-3 ครั้ง แล้วเธอก็รักหลุยส์ เธอมองเขาในฐานะคนธรรมดาคนหนึ่ง คนที่อบอุ่นและใส่ใจสนใจชีวิตคนอื่น เขาไม่คุยเรื่องตัวเอง เขาเพียงรับฟัง”

ฟาน ไดค์จ กัปตันทีมชาติเนเธอร์แลนด์ ยอมรับว่าได้แรงบันดาลใจจากนายใหญ่ และยังพูดถึงความรู้สึกเมื่อรู้ข่าวมะเร็งต่อมลูกหมากของฟาน กัล ว่า “แน่นอนนั่นช่วยให้เราต่อสู้และขับเคลื่อนมากยิ่งขึ้น เราล้วนเป็นมนุษย์ เราตกใจมากเมื่อรู้ข่าวนั้น แต่มันเป็นสิ่งสำคัญที่เราต้องแสดงให้เห็นถึงการสนับสนุนเขา ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่เขาต้องรับมือสถานการณ์แบบนี้ แต่เขาก็รับมือได้วิเศษมหัศจรรย์เอามากๆ เขาเป็นผู้จัดการทีมของเรา เราจะรวมใจสู้เพื่อเขาแน่นอน ซึ่งเราต้องทำอะไรมากเป็นพิเศษเพราะตระหนักดีว่านี่เป็นฟุตบอลโลกครั้งสุดท้ายของเขา”

แม้เนเธอร์แลนด์สิ้นสุดเส้นทางฟุตบอลโลกที่รอบแปดทีมสุดท้าย แพ้ต่อคู่แข่งที่ชนะพวกเขาในรอบรองชนะเลิศเมื่อปี 2014พร้อมการลงจากตำแหน่งของฟาน กัล แต่นั่นไม่ได้ลดทอนความยิ่งใหญ่ของยอดผู้จัดการทีมระดับตำนานที่ชื่อว่า “หลุยส์ ฟาน กัล” ลงแม้แต่น้อย

เรียบเรียง : ฐปน วันชูเพลา (Senior Football Writer) 

Categories
Column

10 นักเตะลาลีกา คว้าแชมป์โลก 2022 กับ “ฟ้า-ขาว”

นักฟุตบอลในลาลีกา สเปน 83 คน ที่มีชื่อติดทีมเข้าร่วมแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 ที่ประเทศกาตาร์ ต่างได้ร่วมกันสร้างสีสันให้กับแฟนบอลทั่วโลกตลอด 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา

ฟุตบอลโลก 2022 รอบชิงชนะเลิศ ที่เพิ่งจบลงไป ถือเป็นหนึ่งในแมตช์ที่น่าจดจำที่สุดเท่าที่เคยมีมา เพราะเต็มไปด้วยคุณภาพ รวมถึงเหตุการณ์ดราม่าสุดระทึกตลอดทั้งเกม

ท้ายที่สุดเป็นทีมชาติอาร์เจนติน่า ที่ดวลจุดโทษเอาชนะทีมชาติฝรั่งเศส 4 – 2 หลังเสมอกัน 3 – 3 ใน 120 นาที คว้าแชมป์ได้เป็นสมัยที่ 3 ยุติการรอคอยโทรฟี่ฟุตบอลโลกไว้ที่ 36 ปี

⚽️ อาร์เจนติน่า กับ 10 ผู้เล่นจากลีกสเปน

ในบรรดาผู้เล่นอาร์เจนติน่า 10 คน ที่ค้าแข้งอยู่ในลาลีกา มีเพียง เกโรนิโม รุลลี ผู้รักษาประตูมือ 3 คนเดียวเท่านั้น ที่ไม่ได้ลงเล่นเลยในเวิลด์ คัพ ที่กาตาร์ ส่วนผู้เล่นคนอื่นๆ ต่างก็มีส่วนร่วมในความสำเร็จครั้งนี้

ยกตัวอย่างเช่น โรดริโก เด ปอล กองกลางจากแอตเลติโก มาดริด ที่ถือเป็นหัวใจสำคัญในแผงมิดฟิลด์ โดยเป็นผู้เปิดทางให้ลิโอเนล เมสซี่ เล่นเกมรุกได้อย่างอิสระ ซึ่งในนัดชิงชนะเลิศ เขาเรียกฟาวล์ได้มากถึง 6 ครั้ง

นาฮูเอล โมลินา แบ็กขวาเพื่อนร่วมสโมสรเดียวกับเด ปอล ที่ลงเล่นครบทุกนัด และยิง 1 ประตู ในเกมที่พบกับเนเธอร์เลนด์ ส่วนกอนซาโล่ มอนเทียล จากเซบีย่า ที่ลงเล่นเป็นตัวสำรองของโมลินาในตำแหน่งเดียวกัน

สำหรับกอนซาโล่ มอนเทียล แบ็กขวาวัย 26 ปี เขาคือผู้ยิงจุดโทษคนที่ 4 ให้กับ “ฟ้า-ขาว” ซึ่งถ้าหากยิงเข้า เกมจบทันที และเจ้าตัวได้ยิงไปทางซ้ายมือของตัวเองเข้าประตูไป โดยที่อูโก้ โยริส พุ่งผิดทาง คว้าแชมป์ในที่สุด

⚽️ รายชื่อผู้เล่นจากลาลีกา ที่อยู่ในทีมชาติอาร์เจนติน่า ชุดแชมป์ฟุตบอลโลก 2022

✅ แอตเลติโก้ มาดริด : นาฮูเอล โมลินา, โรดริโก เด ปอล, อังเคล กอร์เรอา

✅ เซบีย่า : กอนซาโล่ มอนเทรียล, มาร์กอส อาคูญา, อเลฮานโดร ปาปู โกเมซ

✅ เรอัล เบติส : เจอร์มัน เปซเซลล่า, กุยโด โรดริเกซ

✅ บียาร์เรอัล :  ฮวน ฟอยธ์, เกโรนิโม รุลลี

⚽️ 5 แข้งฝรั่งเศส รองแชมป์ที่น่าภาคภูมิใจ

น่าเสียดายสำหรับฝรั่งเศส ที่ไม่สามารถป้องกันแชมป์โลกได้สำเร็จ แต่อย่างน้อยที่สุดก็สู้ได้อย่างสมศักดิ์ศรี ฌูลส์ กุนเด้, อองตวน กรีซมันน์ ออเรเลียง ชูอาเมนี่ รวมถึงอุสมาน เดมเบเล่ ต่างออกสตาร์ตเป็นตัวจริงในนัดชิงชนะเลิศ และต้องไม่ลืมเอดูอาร์โด้ คามาวิงก้า ตัวสำรองที่ช่วยพลิกเกมในช่วงครึ่งหลัง แม้จะได้ลงเล่นในตำแหน่งแบ็กซ้ายที่ไม่ถนัดก็ตาม

⚽️ “โมดริช” ที่ 3 กับโครเอเชีย และ Bronze Ball

นักเตะลาลีกา ชุดคว้าที่ 3 กับทีมชาติโครเอเชีย ในเวิลด์คัพ ครั้งนี้ นำโดย ลูก้า โมดริช กัปตันทีมวัย 37 ปี ที่คว้ารางวัล Bronze Ball หรือนักเตะยอดเยี่ยมอันดับ 3 ประจำการแข่งขัน ร่วมด้วยอิโว กรูบิช, และอันเต้ บูดิเมียร์

⚽️ “โบโน & เอ็น-เนซีรี” ช่วยสร้างตำนานให้โมร็อกโก

โมร็อกโก สร้างประวัติศาสตร์เป็นทีมแรกจากทวีปแอฟริกา ที่คว้าอันดับ 4 เวิลด์ คัพ ต้องให้เครดิตยาสซีน บูนู ผู้รักษาประตูจอมหนึบ, ยูสเซฟ เอ็น-เนซีรี กับ 2 ประตูในทัวร์นาเมนท์นี้, จาวาด เอล-ยามิค และเอเซ อเบเด้

สรุปผลงานของผู้เล่นจากลาลีกา มีนักเตะที่อยู่ใน 3 อันดับแรก ของฟุตบอลโลก ครั้งล่าสุด รวมทั้งสิ้น 18 คน มาจาก 7 สโมสร ประกอบด้วย เรอัล มาดริด, บาร์เซโลน่า, แอตเลติโก้ มาดริด, เซบีย่า, เรอัล เบติส บียาร์เรอัล และโอซาซูน่า

เป็นอันว่า นักเตะทั้ง 83 คน จากลีกสูงสุดของสเปน ได้เสร็จสิ้นภารกิจในฟุตบอลโลก 2022 เป็นที่เรียบร้อย และจะกลับมาเตรียมความพร้อมสำหรับลาลีกา ที่จะกลับมารีสตาร์ทอีกครั้งในช่วงสุดสัปดาห์หน้า

Categories
Special Content

World Cup Therapy แชมป์โลกกับการเยียวยาชีวิตคนอาร์เจนไตน์

เมื่ออาร์เจนตินาชนะโครเอเชีย 3-0 รอบรองชนะเลิศเวิลด์คัพ กาตาร์ 2022 ซลาตัน อิบราฮิโมวิช อดีตกองหน้าทีมชาติสวีเดนที่ยังโลดแล่นบนฟลอร์หญ้าในวัย 41 ปี ได้ปล่อยวลีเด็ดว่า บทถูกเขียนไว้แล้วว่า ลิโอเนล เมสซี จะครองแชมป์ฟุตบอลโลกสมัยแรก โดยก่อนหน้านี้ “ลา อัลบิเซเลสเต” (แปลว่าลายขาวฟ้าในภาษาสเปน) แพ้เยอรมนี 0-1 ในช่วงต่อเวลาพิเศษของนัดชิงชนะเลิศปี 2014 ที่บราซิล

คำทำนายของอิบราฮิโมวิช สตาร์ทีมเอซี มิลาน เป็นจริงในค่ำคืนวันอาทิตย์ที่ 18 ธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งหากเป็นการเขียนบทจริงๆก็เป็นฝีมือร่ายเรื่องราวของมือระดับเทพ ลองจิตนาการอารมณ์ของแฟนบอลหากอาร์เจนตินาชนะฝรั่งเศส 2-0 ในเวลาปกติจากลูกจุดโทษนาทีที่ 23 ของเมสซี และสกอร์นาทีที่ 36 ของอังเคล ดิ มาเรีย เทียบกับเหตุการณ์จริงที่คีลิยัน เอ็มบัปเป ใช้เวลาไม่ถึงสองนาทีตีเสมอ 2-2 ก่อนหมดเวลาราวสิบนาที ส่งให้เกมยืดเยื้ออีกครึ่งชั่วโมง ซึ่งเมสซียิงขึ้นนำอีกครั้งในนาทีที่ 108 แต่สิบนาทีให้หลัง เอ็มบัปเปตีเสมอ 3-3 ต้องไปวัดดวงด้วยลูกจุดโทษ ซึ่งอาร์เจนตินาเป็นฝ่ายชนะ 4-2 ครองแชมป์เวิลด์คัพเป็นสมัยที่สาม

ก่อนหน้านี้ไม่มีใครปฏิเสธความเป็นยอดนักฟุตบอลเวิลด์คลาสของเมสซี ซึ่งการันตีด้วยบัลลงดอร์ 7 สมัย และได้รับการยกย่องให้เป็น G.O.A.T. หนึ่งในนักเตะยอดเยี่ยมตลอดกาล เขาครองแชมป์ลาลีกา 10 สมัย และชนะแชมเปียนส์ลีก 4สมัยร่วมกับบาร์เซโลนา แต่กลับไม่ประสบความสำเร็จบนเวทีนานาชาติยกเว้นโทรฟีที่ได้สัมผัสตอนเป็นดาวรุ่งอย่างแชมป์เยาวชนโลก (ยู -20) ปี 2005 และแชมป์โอลิมปิก (ยู-23) ปี 2008 แม้สามารถนำอาร์เจนตินาล้มบราซิล ชนะเลิศโกปาอเมริกา ปี 2021 หลังพบความผิดหวังในปี 2007, 2015 และ 2016 แต่เมสซีอาจต้องแขวนสตั๊ดโดยไร้เหรียญตราขั้นสูงสุดของกีฬาลูกหนัง

เวิลด์คัพที่กาตาร์จึงเป็นโอกาสสุดท้าย เมสซีเริ่มทัวร์นาเมนท์ด้วยสกอร์ช็อกโลกแพ้ซาอุดิอาระเบีย 1-2 ซึ่งว่ากันว่ากลับส่งผลดีต่ออาร์เจนตินาที่ต่อมาชนะเม็กซิโก 2-0, ชนะโปแลนด์ 2-0, ชนะออสเตรเลีย 2-1, ชนะเนเธอร์แลนด์ด้วยจุดโทษ 4-3 (120 นาทีเสมอ 2-2) และชนะโครเอเชีย 3-0 นำมาสู่นัดสุดท้ายของทัวร์นาเมนท์กับแชมป์เก่าปี 2018

ความปลื้มปีติอย่างล้นเหลือของชาวอาร์เจนไตน์ที่แสดงออกมาไม่ใช่เพียงเพราะเป็นแชมป์ที่รอคอยมานาน 36 ปีนับจากยุคทองของดีเอโก มาราโดนา หรือต้องการให้เมสซีเป็นราชันย์ที่มีมงกุฎประดับบนศีรษะอย่างสมเกียรติ

ฟุตบอลช่วยเยียวยาชีวิตขัดสนของคนอาร์เจนไตน์

กิลเลม บาลากุย คอลัมนิสต์ของบีบีซี สื่อใหญ่ในอังกฤษ เคยเขียนไว้ว่า สำหรับอาร์เจนตินาแล้ว เวิลด์คัพคือทุกสิ่ง ฟุตบอลคือทุกสิ่ง ทุกสิ่งหมุนรอบกีฬาชนิดนี้เพราะนั่นเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะแสดงให้โลกรับรู้ว่า อาร์เจนตินามีความพิเศษอย่างไร

ย้อนกลับไปยังทศวรรษ 1970 ญี่ปุ่นและอาร์เจนตินาต่างเป็นประเทศที่ร่ำรวย แต่จากนั้น อาร์เจนตินากลายเป็นชาติที่สร้างความสับสนและยากต่อความเข้าใจในเชิงเศรษฐศาสตร์ ไซมอน คุซเนตส์ นักเศรษฐศาสตร์เจ้าของรางวัลโนเบล เคยกล่าวประโยคลือลั่นว่า มีกลุ่มประเทศอยู่สี่ประเภทในโลกคือ ประเทศพัฒนาแล้ว ประเทศด้อยพัฒนา ญี่ปุ่น และอาร์เจนตินา ซึ่งเคยเป็นประเทศที่ร่ำรวยมากในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

ปัจจุบัน อาร์เจนตินายังคงระส่ำระสายและขาดความมั่นควในการเงินของประเทศ เงินเฟ้อสูงลิ่ว ประชากรเกินครึ่งถือว่ายากจน นักการเมืองแบ่งแยกผู้คนออกเป็นสองขั้วที่ไม่สามารถหาจุดร่วมกันได้ มีเพียงฟุตบอลเท่านั้นที่ยังคงเป็นสิ่งเดียวที่สามารถรวมใจคนทั้งชาติ ซึ่งสามารถสัมผัสได้ตลอดการแข่งขันฟุตบอลโลกทั้งบรรยากาศในกรุงบัวโนสไอเรสต์และเมืองใหญ่น้อยทั่วประเทศ รวมถึงที่ประเทศกาตาร์ สิ่งเดียวที่มีค่าสำหรับชาวอาร์เจนไตน์คือชัยชนะ ดังนั้นเมสซีและพลพรรคอัลบิเซเลสเตกำลังทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่ไม่สามารถประเมินค่าได้ให้กับเพื่อนร่วมชาติ

ลิโอเนล สกาโลนี เฮดโค้ชวัย 44 ปี ให้สัมภาษณ์หลังชนะฝรั่งเศสว่า ตัวเขาภูมิใจมากที่มอบความสุขความรื่นเริงให้กับประเทศบ้านเกิดที่ต้องทุกข์ทรมานจากปัญหาเศรษฐกิจที่เลวร้าย “มันเป็นเกมที่บ้าเอามากๆ เราควรเป็นฝ่ายชนะในเวลา 90 หรือ 120 นาที เราสมควรได้รับชัยชนะครั้งนี้ ผมมีความสุขมากที่เห็นชาวอาร์เจนไตน์สนุกสนาน”

“สำหรับพวกเราในอาร์เจนตินา ฟุตบอลไม่ใช่แค่ฟุตบอล แต่ชีวิตยังคงดำเนินต่อไป ปัญหาของพวกเราก็ไม่ได้หนีหายไปไหน แต่ความสุขที่เราส่งต่อไปยังผู้คนนั้นเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่อย่างมาก”

มีการประเมินว่า ชาวอาร์เจนไตน์ราวสี่หมื่นติดตามเชียร์ทีมชาติของพวกเขาที่ประเทศกาตาร์ เป็นหนึ่งในกองเชียร์ที่ทรงพลังและสร้างสีสันมากที่สุดให้กับทุกสนามที่เมสซีและเพื่อนลงแข่งขันตั้งแต่นัดแรกที่พ่ายซาอุดิอาระเบีย หากใครมีโอกาสอยู่ร่วมสนามกับกองเชียร์ทีมฟ้าขาวจะได้ยินเสียงเพลงๆหนึ่งที่พวกเขาตะโกนร้องด้วยความฮึกเหิม จนถูกเปรียบเปรยนี่คือเพลงชาติสำหรับอาร์เจนตินาในศึกลูกหนังเวิลด์คัพ กาตาร์ 2022 ซึ่งไม่ใช่แค่แฟนบอลแต่ตัวนักเตะเองก็ร้องเพลงนี้อยู่บ่อยครั้งในห้องพักนักกีฬาหลังชนะ เมสซีเคยให้สัมภาษณ์ก่อนเริ่มทัวร์นาเมนท์ว่า Muchachos, ahora nos volvimos a ilusiona เป็นเพลงโปรดของเขา

Muchachos บทเพลงที่รวมใจคนทั้งชาติเพื่อแชมป์โลก

ชื่อเพลงเป็นภาษาสเปนแปลเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า Guys, now we have hope once again หรือ “พรรคพวก ตอนนี้พวกเรามีความหวังขึ้นมาอีกครั้ง” ซึ่ง กิลแลร์โม โนเวลลิส (Guillermo Novellis) ฟรอนท์แมนของวง ลา มอสกา (La Mosca) ขึ้นต้นเพลงว่า “ฉันเกิดในอาร์เจนตินา ดินแดนของดีเอโกและลิโอเนล ของเด็กๆมัลบินาส ซึ่งฉันไม่เคยลืมเลือน

Malvinas kids ถูกนำมาอ้างในบทเพลงเพื่ออุทิศและเชิดชูเหล่าทหารเกณฑ์หนุ่มที่ต้องออกไปสู้รบและเสียชีวิตในสงครามเกาะฟอล์กแลนด์ระหว่างอาร์เจนตินาและสหราชอาณาจักร ที่กินเป็นเวลาสิบสัปดาห์ ตั้งแต่วันที่ 2 เมษายนถึง 14 มิถุนายน1982 ท้ายสุดอาร์เจนตินายอมแพ้และส่งคืนเกาะให้อยู่ในความควบคุมของสหราชอาณาจักร โดยทหารอาร์เจนตินาเสียชีวิต 649 คน ทหารฝ่ายบริติชเสียชีวิต 255 คน และชาวเกาะฟอล์กแลนด์เสียชีวิตอีกสามคน

สี่ปีต่อมา ความทรงจำที่เจ็บปวดจากสงครามเกาะฟอล์กแลนด์ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาในฤดูร้อนปี 1986 เมื่ออาร์เจนตินาและอังกฤษโคจรมาพบกันในรอบก่อนรองชนะเลิศฟุตบอลโลกที่เม็กซิโก ซึ่งทีมฟ้าขาวเฉือนชนะ 2-1 จากสองประตูที่โด่งดังของมาราโดนาจาก “หัตถ์พระเจ้า” และการเลี้ยงหลบนักเตะอังกฤษร่วมครึ่งทีม

ปี 1990 ที่อิตาลี มาราโดนาพาอาร์เจนตินาถึงรอบชิงชนะเลิศแต่แพ้เยอรมนี 0-1 ก่อนมาถึงโอกาสครั้งแรกของเมสซีในปี2014 ที่บราซิล ซึ่งอาร์เจนตินาแพ้ต่อทีมอินทรีเหล็กด้วยสกอร์เดียวกัน จนกระทั่งปีนี้ที่กาตาร์ จะเป็นโอกาสสุดท้ายของซูเปอร์สตาร์ในวัย 35 ปี

ท่อนคอรัสของเพลงระบุอย่างชัดเจนว่านี่เป็นโอกาสที่จะชนะเลิศเวิลด์คัพสมัยที่สามของอาร์เจนตินา “พรรคพวก ตอนนี้พวกเรามีความหวังขึ้นมาอีกครั้ง ฉันต้องการชนะเลิศสมัยที่สาม ฉันต้องการครองแชมป์โลก และดีเอโก พวกเราเห็นคุณอยู่บนท้องฟ้า พร้อมกับดอน ดีเอโก และลา โตตา ร่วมกันเปล่งเสียงเชียร์ลิโอเนล เพื่อที่เราสามารถครองแชมป์โลกอีกครั้งหนึ่ง

บทเพลง Muchachos, ahora nos volvimos a ilusiona ได้เชื่อมโยงมาราโดนา ซึ่งเสียชีวิตในเดือนพฤศจิกายน 2020และเมสซี สองวีรบุรุษนักฟุตบอลของประเทศ โดยเชื่อว่ามาราโดนากำลังเชียร์เมสซีอยู่บนสวรรค์พร้อมกับพ่อแม่ของเขาคือ ดีเอโก “ชิโตโร” (1927–2015) และดัลมา “ดอนา โตตา” (1930–2011)

ช่วงกลางของเพลงเขียนไว้ว่า “ฉันไม่สามารถอธิบาย(ความรู้สึก)ได้เพราะคุณคงไม่เข้าใจมัน เราพ่ายแพ้ในรอบชิงชนะเลิศ นานหลายปีที่ฉันต้องร้องไห้ แต่นั่นได้สิ้นสุดลงแล้วเพราะ(การแข่งขัน)ที่สนามมารากานา นัดชิง(โกปาอเมริกา)กับพวกบราซิล และ Daddy ชนะอีกครั้ง

สิ้นสุดการเปรียบเทียบแข่งขันของเมสซีกับมาราโดนา

เมื่อปี 2021 เฟร์นานโด โรเมโร ครูวัย 30 ปี ได้ลงมือเขียนเนื้อเพลงขึ้นมาบรรยายความรู้สึกที่มีต่อมาราโดนาและแชมป์โกปาอเมริกา ซึ่งเป็นชัยชนะเมเจอร์รายการแรกของทีมฟ้าขาวในรอบ 28 ปี โดยแปลงเนื้อร้องจากเพลง Muchachos, esta noche me emborracho ซึ่งแปลว่า “พรรคพวก คืนนี้ฉันจะดื่มให้เมาไปเลย” เพลงฮิตเมื่อปี 2003 ของลา มอสกา 

ลา มอสกา มีชื่อเต็มว่า La Mosca Tse-Tse (เซทซี หรือ ซีทซี เป็นแมลงวันชนิดหนึ่งในทวีปแอฟริกา มีขนาดใหญ่ประมาณ 6-15 มิลลิเมตร ใหญ่กว่าแมลงวันในเมืองไทยมาก กัดเจ็บและสามารถกินเลือดคนหรือสัตว์ได้) ลา มอสกา เป็นวงดนตรีเก้าชิ้นแนวพังก์กับสกา-เร็กเก้ ผสมผสานซัลซาและป๊อปร็อก จากกรุงบัวโนสไอเรสต์ เริ่มโด่งดังช่วงทศวรรษ 1990 

ก่อนหน้าโรเมโร เพลงนี้เคยถูกนำไปแปลงเนื้อเพลงเป็น football chant ใช้ร้องอย่างแพร่หลายกับหลายสโมสรหลายสนามในอาร์เจนตินา ซึ่งกาเบรียล กาซาซซา นักข่าวฟุตบอลชาวอาร์เจนไตน์ ให้สัมภาษณ์ว่า เพลงนี้ของลา มอสกา ถูกนำไปดัดแปลงมานานหลายปี สโมสรแรกน่าจะเป็นเรซิ่งคลับ ก่อนได้รับความนิยมแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว แฟนบอลแต่ละสโมสรในอาร์เจนตินาจะมีเพลงเวอร์ชันของตัวเอง มีเนื้อเพลงเฉพาะตัว

แต่โรเมโรเป็นคนทำให้เพลงนี้กลายเป็นเพลงชาติของทีมฟุตบอลอาร์เจนตินาในเวิลด์คัพ 2022 มีจุดเริ่มต้นจากชัยชนะเหนือบราซิลที่สนามมารากานาในกรุงริโอเดจาเนโร เริ่มแรกโรเมโรกับกลุ่มเพื่อนตั้งใจปล่อยเพลงนี้ในสนามเอสตาดิโอ โมนูเมนตัล ดาบิด อาเรญาโน กรุงบัวโนสไอเรสต์ เกมที่ทีมฟ้าขาวเตะฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกกับโบลิเวีย แต่พวกเขาซื้อบัตรเข้าชมไม่ได้เลยต้องร้องเพลงนี้นอกสนาม ซึ่งบังเอิญทีวีช่องกีฬา TyC เห็นเข้าจึงบันทึกเทปและนำไปเผยแพร่ เพียงท่อนแรก “ฉันเกิดในอาร์เจนตินา ดินแดนของดีเอโกและลิโอเนล ของเด็กๆมัลบินาส ซึ่งฉันไม่เคยลืมเลือน” ก็จับใจทุกคนที่ได้ฟังเป็นอย่างมากจนกลายเป็นไวรัลอย่างรวดเร็ว

ราวหนึ่งปีต่อมา โนเวลลิสเริ่มตระหนักถึงอิทธิพลของบทเพลงเมื่อเห็นนักเตะอาร์เจนตินาร้องเพลงนี้หลังจากชนะอิตาลี 3-0 ที่สนามเวมบลีย์ในเดือนมิถุนายน ในเกมฟินาลิสซิมา 2022 ซึ่งเป็นแมตช์ระหว่างแชมป์แห่งชาติของทวีปยุโรปกับอเมริกาใต้ นักร้องนำของลา มอสกา จึงขออนุญาตโรเมโรเพื่อนำไปบันทึกเสียงปล่อยเป็นซิงเกิลอย่างเป็นทางการก่อนหน้าฟุตบอลโลกที่กาตาร์เริ่มขึ้นไม่นานนัก

โรเมโรกล่าวถึงบทเพลงของเขาว่า “เดิมทีผมฝันแค่ร้องในกลุ่มเพื่อน ซึ่งเป็นอะไรที่โดดเดี่ยวมากๆ แต่ผมเกิดอารมณ์ร่วมมากตอนได้ยินเด็กๆร้องบนถนนหลังแมตช์กับออสเตรเลีย ซึ่งเป็นอารมณ์เดียวกับเมื่อได้ยินกลางจัตุรัส งานปาร์ตี และแน่นอนรวมถึงตอนนักเตะร้องเพลงนี้”

ครูวัย 30 ปี เปิดใจถึงอีกเหตุผลที่เขียนเพลงนี้ว่า เพื่อละทิ้งการนำเมสซีและมาราโดนามาเปรียบเทียบแข่งขันกันที่เป็นมายาวนาน เพราะทั้งคู่ต่างเป็นของชาวอาร์เจนไตน์

มาร์ติน มาเซอร์ นักข่าวที่เกาะติดทีมอาร์เจนตินาที่กาตาร์ พูดถึงเพลงนี้ว่า “เนื้อเพลงไม่เหมือนเพลงฟุตบอล (football chant) ทั่วไป เพลงนี้ไม่ได้เกิดมาจาก(การร้อง)บนอัฒจันทร์ แต่เป็นโซเชียลมีเดียที่พาดังเป็นไวรัล มันควรได้เกรด A+สำหรับการเล่าเรื่องหากดูจากวิธีที่ถูกสร้างสรรขึ้นมา”

แฟนบอลสามารถคลิกฟังมิวสิกวิดีโอเพลง Muchachos, ahora nos volvimos a ilusiona ได้ที่ลิงก์  https://youtu.be/i4t1bGD-j9M

เรียบเรียง : ฐปน วันชูเพลา (Senior Football Writer) 

Categories
Special Content

เรื่องเล่าตำนานเวิลด์ คัพ : วิตโตริโอ ปอซโซ่ โค้ชหนึ่งเดียว 2 แชมป์ฟุตบอลโลก

ฟุตบอลโลก 2022 เดินทางมาถึงนัดสุดท้ายของทัวร์นาเมนท์ ในวันที่ 18 ธันวาคมนี้ คู่ชิงชนะเลิศประจำการแข่งขันครั้งที่ 22 เป็นการพบกันระหว่าง อาร์เจนตินา กับ ฝรั่งเศส

ทั้ง 2 ทีม ต่างเดิมพันแชมป์โลกสมัยที่ 3 และนักเตะหลายๆ คน ก็มีลุ้นทำสถิติส่วนตัวอีกมากมาย โดยลิโอเนล สกาโลนี่ ผู้จัดการทีม “ฟ้า-ขาว” หวังยุติการรอคอยโทรฟี่ใบนี้ที่ห่างหายไป 36 ปี

ด้านดิดิเย่ร์ เดอช็องส์ เทรนเนอร์ “เลอ เบลอส์” ก็มีลุ้นที่จะเป็นโค้ชคนแรกในรอบ 84 ปี ที่พาทีมเดิมคว้าแชมป์โลก 2 สมัยติดต่อกัน นับตั้งแต่วิตโตริโอ ปอซโซ่ อดีตตำนานโค้ชอิตาลีเคยทำไว้

ไข่มุกดำ x SoccerSuck จะพาไปย้อนเรื่องราวของปอซโซ่ ในการเป็นกุนซือคนแรก และคนเดียวในประวัติศาสตร์ลูกหนัง ที่สามารถป้องกันแชมป์ “เวิลด์ คัพ” ได้สำเร็จ

ผู้คิดค้นแผนการเล่นแบบ “เมโทโด”

ชีวิตในวงการฟุตบอลของวิตโตริโอ ปอซโซ่ เริ่มจากการเป็นนักเตะอาชีพของกราสฮอปเปอร์ ซูริค ในสวิตเซอร์แลนด์ และโตริโน่ ในอิตาลี ก่อนผันตัวมาเป็นกุนซือให้กับทีมชาติอิตาลี ซึ่งเขารับหน้าที่ถึง 4 รอบ

แรงบันดาลใจในการเป็นโค้ชของปอซโซ่ มาจากการเข้าไปชมเกมของสโมสรแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่ใช้แผนการเล่น 2-3-5 จนประสบความสำเร็จ อีกทั้งได้มีโอกาสพบกับชาร์ลี โรเบิร์ตส์ เซ็นเตอร์แบ็กของทีมด้วย

และในช่วงทศวรรษที่ 1930 ปอซโซ่ได้คิดค้นแผนการเล่น 2-3-2-3 ที่เรียกว่า “เมโทโด” (Metodo) มีลักษณะคล้ายตัวอักษร “WW” ที่พัฒนามาจากแผน 2-3-5 ของแมนฯ ยูไนเต็ด และแผน 3-2-2-3 ของอาร์เซน่อล

จุดเด่นของแท็กติกเมโทโด คือผู้เล่นตำแหน่ง “ฮาล์ฟแบ็ก” 3 คน ที่อยู่ตรงกลางระหว่างฟูลแบ็ก 2 คน และกองหน้าด้านใน (Inside forward) 2 คน ทำหน้าที่คอยช่วยดึงตัวประกบผู้เล่นฝ่ายตรงข้าม และเล่นเกมรุกด้วย

การเล่นแบบเมโทโด เหมาะสำหรับทีมที่มีนักเตะประเภทเทคนิคสูง ข้อดีคือช่วยให้เกมรับเหนียวแน่นขึ้นกว่าเดิม และมีประโยชน์ในการตั้งรับเพื่อรอโต้กลับ หรือเคาน์เตอร์-แอทแทค (Counter-attacks)

แผนการเล่นแบบเมโทโด กลายเป็นรากฐานในความสำเร็จของปอซโซ่ กับการคว้าแชมป์ฟุตบอลโลก 2 สมัยติดต่อกัน ในปี 1934 และ 1938 รวมถึงเป็นต้นแบบของแผนการเล่น 4-3-3 ที่รู้จักกันในปัจจุบัน

1934 ฟาสซิสต์ครอง (แชมป์) โลก

ฟุตบอลโลก ครั้งที่ 2 ในปี 1934 อิตาลี ภายใต้การปกครองของเบนิโต มุสโสลินี ผู้นำฟาสซิสต์ในยุคนั้น ได้รับเลือกจากฟีฟ่า ให้เป็นเจ้าภาพการแข่งขันเป็นประเทศแรกของทวีปยุโรป

มีการลือกันว่า มุสโสลินี ได้มีคำสั่งให้อิตาลีต้องคว้าแชมป์โลกมาให้ได้ เพื่อเป็นหน้าเป็นตาให้แก่ตนเองและประเทศชาติ แน่นอนว่าความกดดันทั้งหมดจึงตกมาที่ปอซโซ่อย่างเลี่ยงไม่ได้

เส้นทางของอิตาลีในเวิลด์ คัพ หนนี้ เริ่มจากรอบ 16 ทีมสุดท้าย ชนะ สหรัฐอเมริกา 7 – 1, รอบ 8 ทีมสุดท้าย เสมอ สเปน 1 – 1 ต้องเล่นนัดรีเพลย์ และชนะ 1 – 0 ก่อนที่ในรอบรองชนะเลิศ ชนะ ออสเตรีย 1 – 0

10 มิถุนายน 1934 การแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศ อิตาลี พบกับเชโกสโลวะเกีย จัดขึ้นที่สตาดิโอ นาซิโอนาเล่ พีเอ็นเอฟ ในกรุงโรม ท่ามกลางแฟนบอลในสนามกว่า 55,000 คน

เชโกสโลวาเกีย ยิงขึ้นนำไปก่อน แต่อิตาลีทำ 2 ประตูรวด แซงเอาชนะ 2 – 1 ไรมุนโด ออร์ซี และแองเจโล ชิอาวิโอ ทำคนละ 1 ประตู คว้าแชมป์สมัยแรกในถิ่นของตัวเอง ตามที่มุสโสลีนีต้องการได้สำเร็จ

แม้การจัดการแข่งขันครั้งนี้อาจเต็มไปด้วยข้อครหามากมาย แต่แท็กติก “เมโทโด” ของปอซโซ่ ก็พิสูจน์ให้หลายคนเห็นแล้วว่าประสบความสำเร็จ โดยยิงได้ 12 ประตู เสียไปเพียง 3 ประตู จาก 5 นัด

1938 ป้องกันแชมป์ที่แดนน้ำหอม

เวิลด์ คัพ ครั้งที่ 3 ในปี 1938 ที่ประเทศฝรั่งเศส ภารกิจสำคัญของวิตโตริโอ ปอซโซ่ ในการพาทีมป้องกันตำแหน่งแชมป์โลก ผู้เล่นตัวหลักจากเมื่อ 4 ปีก่อนหน้านั้น ยังคงติดทีมมาหลายคน

เส้นทางของอิตาลีในบอลโลกหนนี้ เริ่มจากรอบ 16 ทีมสุดท้าย ชนะ นอร์เวย์ 2 – 1 (หลังต่อเวลาพิเศษ), รอบ 8 ทีมสุดท้าย ชนะ ฝรั่งเศส 3 – 1 ต่อด้วยรอบรองชนะเลิศ ชนะ บราซิล 2 – 1

19 มิถุนายน 1938 การแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศ อิตาลี พบกับฮังการี จัดขึ้นที่สต๊าด โอลิมปิก เด โคลอมเบส ในกรุงปารีส ท่ามกลางแฟนบอลในสนามกว่า 45,000 คน

ก่อนที่นัดชิงดำจะเริ่มขึ้น มีเสียงลือเสียงเล่าอ้างว่า มุสโสลินี ได้ส่งโทรเลขไปยังทีมชาติอิตาลี ด้วยข้อความว่า “Vincere O Morire” ที่แปลแบบตรงตัวว่า “ชนะ หรือ ตาย” แต่ก็ไม่มีใครสามารถยืนยันได้ว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ในท้ายที่สุด “อัซซูรี่” ก็เอาชนะไปได้ 4 – 2 จากผลงานของจิโน่ โคลาอุสซี่ และซิลวิโอ ปิโอลา คนละ 2 ประตู ทำให้ปอซโซ่ กลายเป็นผู้จัดการทีมคนแรก ที่คว้าแชมป์ฟุตบอลโลกเป็นสมัยที่ 2

นอกจากนี้ ปอซโซ่ ยังเป็นเฮดโค้ชคนแรกในประวัติศาสตร์ ที่คว้าแชมป์ฟุตบอลโลกได้ในต่างประเทศ อาจจะทำให้ผู้คนคลายข้อสงสัยเรื่องความสามารถในตัวเขาไปได้ไม่มากก็น้อย

ผู้ยิ่งใหญ่ที่ไม่มีใครพูดถึง

ก่อนที่นัดชิงดำฟุตบอลโลก 2022 จะเริ่มขึ้น วิตโตริโอ ปอซโซ่ ยังคงเป็นโค้ชเพียงคนเดียว ที่คว้าแชมป์ฟุตบอลโลก 2 สมัยติดต่อกัน แต่ชื่อเสียงของเขา กลับไม่ได้เป็นที่รู้จักจนถูกพูดถึงในวงกว้างแต่อย่างใด

สาเหตุสำคัญคือ ช่วงที่อิตาลีคว้าแชมป์เวิลด์ คัพ ในปี 1934 และ 1938 ประเทศตกอยู่ภายใต้การปกครองของมุสโสลินี่ ผู้นำเผด็จการ จนถูกตั้งข้อสงสัยว่า ความสำเร็จดังกล่าวได้มาแบบใสสะอาดหรือไม่

“มันมีความผิดปกติเล็กน้อย และปอซโซ่ไม่ได้มีชื่อเสียงโด่งดังเท่าที่ควร อาจเป็นเพราะเขาคว้าแชมป์ฟุตบอลโลก ภายใต้ระบอบฟาสซิสต์” จอห์น ฟุต ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ฟุตบอล กล่าว

ขณะที่ ดร.อเล็กซ์ อเล็กซานดรู นักประวัติศาสตร์กีฬา กล่าวเสริมว่า “มีความพยายามให้ปอซโซ่เป็นที่รู้จักให้น้อยที่สุด เพราะเขามีความเชื่อมโยงกับเผด็จการ และเขาต้องเอาตัวรอดจากระบอบนั้น”

ปอซโซ่ เสียชีวิตในวันที่ 21 ธันวาคม 1968 ขณะมีอายุ 82 ปี แม้เรื่องราวความสำเร็จของเขาจะถูกลืมเลือนไป แต่อย่างน้อยที่สุด เจ้าตัวก็ได้ทิ้งมรดกที่ยิ่งใหญ่ให้กับโลกฟุตบอล และจะเป็นตำนานไปอีกนาน 

นัดชิงชนะเลิศเวิลด์ คัพ ในคืนวันนี้ กระแสส่วนใหญ่เทใจเชียร์ลิโอเนล เมสซี่ คว้าแชมป์ก่อนอำลาอย่างยิ่งใหญ่ แต่ดิดิเย่ร์ เดอช็องส์ ก็หวังที่จะสร้างประวัติศาสตร์เทียบเท่ากับวิตโตริโอ ปอซโซ่ ให้ได้เช่นกัน

เรียบเรียง : จักรพันธ์ ภู่ทอง

Categories
Column

สำรวจแข้งลาลีกา ที่ยังอยู่รอดใน “เวิลด์ คัพ 2022”

บรรดานักเตะที่มีโอกาสลงเล่นในฟุตบอลโลก รอบสุดท้าย ต่างพร้อมที่จะโชว์ฝีเท้าอันน่าตื่นตาตื่นใจให้กับแฟนบอลทั่วโลกได้เห็น สมกับเป็นตัวแทนของทีมชาติ และลีกฟุตบอลของแต่ละประเทศด้วย

ฟุตบอลโลก 2022 ที่ประเทศกาตาร์ ได้ 8 ทีมสุดท้าย ที่ยังอยู่ในเส้นทางลุ้นแชมป์เป็นที่เรียบร้อย โดยลาลีกา สเปน เป็นลีกลูกหนังที่มีจำนวนผู้เล่นเหลืออยู่มากที่สุดเป็นอันดับ 2 จาก 5 ลีกใหญ่ยุโรป

จาก 83 คนในรอบแรก เหลืออีกเกือบ 60 คน ในรอบที่สอง และหลังจากการแข่งขันในรอบ 16 ทีมสุดท้ายเสร็จสิ้นลงเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา มีนักเตะที่ยังอยู่ในการแข่งขันทั้งหมด 32 คน จาก 8 สโมสร

ลาลีกา เป็นลีกที่มีนักเตะเหลืออยู่ในรอบ 8 ทีมสุดท้ายเวิลด์ คัพ ปีนี้ มากสุดเป็นอันดับ 2 เป็นรองเพียงแค่พรีเมียร์ลีก (64 คน) และมากกว่าอีก 3 ลีกใหญ่ยุโรปที่เหลือ (เซเรีย อา, ลีกเอิง, บุนเดสลีกา)

และถ้ามองในด้านการถูกคัดออกจากทัวร์นาเมท์ ลีกสเปนก็ยังครองอันดับ 2 ที่สูญเสียนักเตะจากการตกรอบน้อยที่สุด โดยคิดเป็น -61.4 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนนักเตะเดิมทั้งหมดก่อนเริ่มการแข่งขัน

โดยลีกที่เสียนักเตะน้อยที่สุด คือ พรีเมียร์ลีก (-52.2 เปอร์เซ็นต์) ส่วนอีก 3 ลีกใหญ่ยุโรปที่เหลือ ได้แก่เซเรีย อา (-63.9 เปอร์เซ็นต์), ลีก เอิง (-64.8 เปอร์เซ็นต์) และบุนเดสลีกา (-76.3 เปอร์เซ็นต์)

“เราภูมิใจที่ผู้เล่นชั้นนำมากมายจากลีกของเรา ยังอยู่ในการแข่งขันฟุตบอลโลกจนถึงช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้นเช่นนี้ เรามั่นใจว่าสิ่งนี้จะคงอยู่ต่อไปจนจบการแข่งขัน” ฆาเบียร์ เตบาส ประธานลาลีกา กล่าว

สำหรับนัดชิงชนะเลิศ ฟุตบอลโลก 2022 จะมีขึ้นที่สนามลูเซล สเตเดี้ยม ในวันอาทิตย์ที่ 18 ธันวาคม ต้องมาติดตามกันว่า จะมีนักเตะจากลาลีกา สเปน คว้าแชมป์กลับไปหรือไม่

⚽️ รายชื่อผู้เล่นจากลาลีกา ในฟุตบอลโลก 2022 รอบ 8 ทีมสุดท้าย

👉 โครเอเชีย : อิโว เกอร์บิช (แอตเลติโก มาดริด), ลูก้า โมดริช (เรอัล มาดริด), อันเต้ บูดิเมียร์ (โอซาซูน่า)

👉 บราซิล : เอแดร์ มิลิเตา (เรอัล มาดริด), อเล็กซ์ เตลเลส (เซบีย่า), วินิซิอุส จูเนียร์ (เรอัล มาดริด), ราฟินญา (บาร์เซโลน่า), โรดริโก (เรอัล มาดริด)

👉 เนเธอร์แลนด์ : แฟรงกี้ เดอ ยอง (บาร์เซโลน่า), เมมฟิส เดปาย (บาร์เซโลน่า)

👉 อาร์เจนตินา : เกโรนิโม รุลลี (บียาร์เรอัล), นาฮูเอล โมลินา (แอตเลติโก มาดริด), กอนซาโล่ มอนเทรียล (เซบีย่า), เจอร์มัน เปซเซลล่า (เรอัล เบติส), มาร์กอส อาคูญา (เซบีย่า), ฮวน ฟอยธ์ (บียาร์เรอัล), โรดริโก เด ปอล (แอตเลติโก มาดริด), กุยโด โรดริเกซ (เรอัล เบติส), อเลฮานโดร ปาปู โกเมซ (เซบีย่า), อังเคล กอร์เรอา (แอตเลติโก มาดริด)

👉 โมร็อกโก : ยาสซีน โบโน่ (เซบีย่า), จาวาด เอล-ยามิค (เรอัล บายาโดลิด), ยูสเซฟ เอ็น-เนซีรี (เซบีย่า), เอเซ อเบเด้ (โอซาซูน่า)

👉 โปรตุเกส : วิลเลียม คาร์วัลโญ่ (เรอัล เบติส), เจา เฟลิกซ์ (แอตเลติโก มาดริด)

👉 ฝรั่งเศส : ฌูลส์ กุนเด้ (บาร์เซโลน่า), เอดูอาร์โด้ คามาวิงก้า (เรอัล มาดริด), ออเรเลียง ชูอาเมนี่ (เรอัล มาดริด), อุสมาน เดมเบเล่ (บาร์เซโลน่า), อองตวน กรีซมันน์ (แอตเลติโก มาดริด), คาริม เบนเซม่า (เรอัล มาดริด)

Categories
Special Content

ถอดบทเรียนจากอดีต ก่อนตามหาแชมป์ “เวิลด์ คัพ 2022”

ฟุตบอลโลก 2022 ที่ประเทศกาตาร์ กำลังจะเริ่มต้นขึ้น ในวันอาทิตย์ที่ 20 พฤศจิกายนนี้ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ที่แข่งขันในช่วงปลายปี ไม่ใช่ช่วงกลางปีเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา

ที่สำคัญ “เวิลด์ คัพ” ในครั้งนี้ ก็จะเป็นครั้งสุดท้ายที่มี 32 ทีม หลังจากเริ่มใช้รูปแบบนี้มาตั้งแต่ปี 1998 ที่ฝรั่งเศส ก่อนที่ในอีก 4 ปีข้างหน้า จะมีการขยายทีมในรอบสุดท้ายเพิ่มเป็น 48 ทีม

จาก 1998 ถึง 2018 กับฟุตบอลโลก รอบสุดท้าย 6 ครั้ง ทีมที่คว้าแชมป์ในแต่ละครั้ง ไม่ว่าจะด้วยฟอร์มการเล่นที่สมบูรณ์แบบ หรือกระท่อนกระแท่น ยังไงพวกเขาก็ได้ชื่อว่าเป็น “ผู้ชนะ” อยู่ดี

ไม่จำเป็นต้องโชว์ฟอร์มสุดยอดตั้งแต่รอบแรก

ผลงานในรอบแบ่งกลุ่มของทีมแชมป์ฟุตบอลโลก 6 ครั้งหลังสุด มีเพียงฝรั่งเศส (1998) และบราซิล (2002) 2 ทีมนี้เท่านั้น ที่เก็บ 9 คะแนนเต็ม โดยยิงได้ 9 และ 11 ประตู ตามลำดับ

อิตาลี (2006) ชนะ 2 เสมอ 1 ยิงได้ 5 ประตู, สเปน (2010) แพ้ในนัดแรกของรอบแบ่งกลุ่ม ให้กับสวิตเซอร์แลนด์ 0 – 1 แต่อีก 2 นัดที่เหลือ แก้ตัวเก็บ 6 คะแนนเต็ม ยิงได้ 4 ประตู

เยอรมัน (2014) ก็ใช่ว่าจะฟอร์มดี นัดที่ถล่มโปรตุเกส 4 – 0 ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเปเป้ถูกไล่ออกตั้งแต่ครึ่งแรก ต่อด้วยเสมอกานา 2 – 2 ปิดท้ายด้วยการเฉือนสหรัฐอเมริกา 1 – 0

ฝรั่งเศส (2018) เก็บได้ถึง 7 แต้ม แต่ยิงรวมกันได้แค่ 3 ประตูเท่านั้น ซึ่งในจำนวนนี้ มี 2 ประตูที่มาจากลูกจุดโทษ และนักเตะคู่แข่งทำเข้าประตูตัวเอง ในนัดที่พบกับออสเตรเลีย

เมื่อถึงรอบน็อกเอาต์ ควรเสียประตูให้น้อยที่สุด

ทุกคนทราบดีว่า เมื่อเข้าสู่รอบน็อกเอาต์ หมายความว่า “ผู้แพ้” หมดสิทธิ์แก้ตัวอย่างแน่นอน ซึ่งหนทางที่ดีที่สุดในการช่วยเพิ่มโอกาสการคว้าแชมป์ คือต้องพยายามไม่เสียประตู

สเปน (2010) เป็นทีมเดียวที่ทำ “คลีนชีต” แบบ 100 เปอร์เซนต์ ตลอดรอบน็อกเอาต์ รองลงมาคือฝรั่งเศส (1998), บราซิล (2002) และอิตาลี (2006) ทำคลีนชีต 3 นัด เสีย 1 ประตู เท่ากันหมด

ส่วนเยอรมัน (2014) และฝรั่งเศส (2018) ทำคลีนชีตทีมละ 2 นัด ต่างกันตรงที่เยอรมัน เสียแค่ 2 ประตู ขณะที่ฝรั่งเศส เสียมากถึง 5 ประตู แต่ได้เกมรุกที่เฉียบขาดมาช่วยทดแทนไว้

การเสียประตูน้อยๆ ในรอบแรกๆ ไม่ได้หมายความว่าจะประสบความสำเร็จเสมอไป จากแชมป์เวิลด์ คัพ 6 ครั้งหลังสุด มีเพียงบราซิล และสเปน ที่เสียประตูในรอบแบ่งกลุ่ม มากกว่ารอบน็อกเอาต์

ยิ่งไปกว่านั้น เคยมีทีมที่ไม่เสียประตูเลยทั้ง 3 เกม ในรอบแบ่งกลุ่ม ได้แก่ อาร์เจนติน่า (1998), สวิตเซอร์แลนด์ (2006) และอุรุกวัย (2010, 2018) แต่ไปไม่ถึงดวงดาวเลยแม้แต่ทีมเดียว

แท็กติกในช่วงแรกยังไม่ลงตัว แต่มักจะน่ากลัวในรอบลึกๆ

การแข่งขันในรอบแบ่งกลุ่ม ไม่ว่าจะได้เป็นที่ 1 หรือที่ 2 ก็ถือว่า “เข้ารอบ” เหมือนกัน ทีมที่ระบบยังไม่ลงตัวในช่วงแรกๆ ไม่ควรวิตกกังวล แต่ระบบการเล่นที่ดีที่สุด จะต้องมาในช่วงเวลาที่สำคัญที่สุด

ฝรั่งเศส ในปี 1998 เธียร์รี่ อองรี ดาวรุ่งในขณะนั้น เล่นในตำแหน่งปีก แต่มาถึงรอบ 8 ทีมสุดท้าย เอเม่ ฌักเกต์ เทรนเนอร์ “เลอ เบลอส์” ได้จับไปเล่นหน้าต่ำร่วมกับซีเนอดีน ซีดาน และยูริ จอร์เกฟฟ์ โดยมีสเตฟาน กิวาร์ช เป็นหน้าเป้า

บราซิล ในปี 2002 กุนซือหลุยส์ ฟิลิปเป้ สโคลารี่ ใช้กิลแบร์โต้ ซิลวา เป็นกองกลางตัวรับใน 4 นัดแรก โดยให้จูนินโญ่ เปาลิสต้า คอยกดดันในแนวรุก และรอบ 8 ทีมสุดท้ายเป็นต้นไป ได้เปลี่ยนเคลเบอร์สันลงเล่นแทนเปาลิสต้า

อิตาลี ในปี 2006 มาร์เซโล่ ลิปปี้ เฮดโค้ชของทีมใช้แผนการเล่น 4-3-1-2 ถึง 3 จาก 4 เกมแรก แต่พอเข้าสู่รอบ 8 ทีมสุดท้าย จนถึงนัดชิงชนะเลิศ ได้เปลี่ยนแผนการเล่นเป็น 4-4-1-1

สเปน ในปี 2010 บิเซนเต้ เดล บอสเก้ ยึดแผนการเล่น 4-2-3-1 ในบางครั้งมีการขยับตำแหน่งให้ดาบิด บีย่า จากที่เล่นปีกฝั่งซ้าย มาเป็นกองหน้า โดยให้เปโดร โรดริเกซ มาเล่นปีกแทน

เยอรมัน ในปี 2014 โยฮัคคิม เลิฟ ใช้แผน 4-3-3 เป็นหลัก แต่มีความน่าสนใจตรงที่ตำแหน่งของฟิลิปป์ ลาห์ม 4 นัดแรก เล่นในตำแหน่งมิดฟิลด์ ก่อนที่ในรอบ 8 ทีมสุดท้ายเป็นต้นไป เขากลับไปประจำการในตำแหน่งแบ็กขวา 

ฝรั่งเศส ในปี 2018 ดิดิเยร์ เดอชองส์ ประเดิมนัดแรกใช้แผน 4-3-3 โดยมี 3 ประสานกองหน้ารุ่นใหม่ทั้งอองตวน กรีซมันน์, คิลิยัน เอ็มบัปเป้ และอุสมาน เดมเบเล่ แต่หลังจากนั้นเปลี่ยนมาเป็น 4-2-3-1 โอลิวิเย่ร์ ชิรูด์ เป็นหน้าเป้า ขยับเอ็มบัปเป้เป็นหน้าต่ำด้านขวา และให้แบลส มาตุยดี้ เป็นวิงแบ็กฝั่งซ้าย

ลงเล่นกับสโมสรมีปัญหา แต่กับทีมชาติเป็นคนละคน

ผู้จัดการทีมชาติโดยส่วนใหญ่ มักจะเลือกนักเตะติดทีมไปร่วมรายการสำคัญ โดยดูจากฟอร์มการเล่นในระดับสโมสร ดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล แต่นั่นก็ไม่ใช่สูตรสำเร็จเสมอไป

ฝรั่งเศส ในปี 1998 ซีเนอดีน ซีดาน เพิ่งอกหักจากนัดชิงชนะเลิศแชมเปี้ยนส์ ลีก กับยูเวนตุส พอเข้าสู่ฟุตบอลโลก ก็ถูกไล่ออกในเกมที่พบกับซาอุดิอารเบีย จนถูกแบน 2 นัด แต่เทรนเนอร์ เอเม่ ฌักเกต์ ยังคงไว้ใจเขา และตอบแทนด้วย 2 ประตูในนัดชิงชนะเลิศ พา “เลอ เบลอส์” คว้าแชมป์โลกสมัยแรกในบ้านตัวเอง

บราซิล ในปี 2002 โรนัลโด้ สมัยที่ค้าแข้งอยู่กับอินเตอร์ มิลาน เกือบไม่ติดทีมไปลุยบอลโลกฉบับเอเชีย หลังเพิ่งหายจากการบาดเจ็บที่นานร่วม 2 ปี แต่ความเชื่อใจของหลุยส์ ฟิลิปเป้ สโคลารี่ ผลลัพธ์ที่ตามมาคือ แชมป์โลกสมัยที่ 5

อิตาลี ในปี 2006 มาร์เชโล่ ลิปปี้ ตัดสินใจเรียกฟรานเชสโก้ ต็อตติ ติดทีม ทั้งๆ ที่เพิ่งหายจากอาการบาดเจ็บ แต่ประตูชัยช่วงทดเจ็บนาทีที่ 5 ในรอบ 16 ทีมสุดท้าย คือการตัดสินใจที่ถูกต้อง

สเปน ในปี 2010 บิเซนเต้ เดล บอสเก้ เรียกตัวอิเคร์ กาซิยาส ที่ฟอร์มไม่ดีกับสโมสร และอันเดรียส อิเนสต้า ที่มีอาการบาดเจ็บ แต่ท้ายที่สุด ทั้ง 2 คนคือกำลังสำคัญสู่แชมป์โลกสมัยแรก

เยอรมัน ในปี 2014 บาสเตียน ชไวน์สไตเกอร์ ลงเล่นฟุตบอลโลกครั้งที่ 3 ในวัย 30 ปี และไม่อยู่ในฟอร์มที่ดีกับการลงเล่นให้บาเยิร์น มิวนิค แต่เขาคือกองกลางที่พา “อินทรีเหล็ก” คว้าแชมป์สมัยที่ 4

และฝรั่งเศส เมื่อ 4 ปีที่แล้ว ปอล ป็อกบา ซึ่งฟอร์มการเล่นไม่อยู่กับร่องกับรอยที่แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด แต่พอมาเล่นให้ทีมชาติ เขาคือมิดฟิลด์คนสำคัญสู่การคว้าแชมป์โลกสมัยที่ 2 ในรอบ 20 ปี

ไม่จำเป็นต้องเป็นดาวซัลโว ก็ช่วยทีมคว้าแชมป์ได้

แชมป์ฟุตบอลโลก 6 ครั้งหลังสุด มีเพียงบราซิล ในปี 2002 ทีมเดียวเท่านั้นที่คว้าแชมป์ และมีนักเตะในทีมได้ตำแหน่งดาวซัลโวประจำทัวร์นาเมนท์ นั่นคือ โรนัลโด้ ที่ทำไป 8 ประตู

อิตาลี ในปี 2006 ลูก้า โทนี่ และมาร์โก มาเตรัซซี่ เป็นนักเตะที่ยิงได้มากที่สุดในทีม คนละ 2 ประตู โดยโทนี่ เหมาเบิ้ลในรอบ 8 ทีมสุดท้าย ส่วนมาเตรัซซี่ ยิงได้ในรอบแรก และนัดชิงชนะเลิศ

กรณีของสเปน ในปี 2010 ดาบิด บีย่า ยิงไป 5 ประตู เท่ากับโทมัส มุลเลอร์, เวสลี่ย์ ชไนเดอร์ และดิเอโก้ ฟอร์ลัน แต่มุลเลอร์ แอสซิสต์ให้เพื่อนมากที่สุด จึงได้รางวัลโกลเด้น บูท ไปครอง

เยอรมัน ในปี 2014 โธมัส มุลเลอร์ ยิงในรอบแบ่งกลุ่มถึง 4 ประตู แต่รอบน็อกเอาต์ยิงเพิ่มได้แค่ประตูเดียว โดยนักเตะที่ยิงประตูมากที่สุดในรอบน็อกเอาต์ คือ อังเดร ชูร์เล่ ที่ทำได้ 3 ประตู

ฝรั่งเศส ในปี 1998 และ 2018 ก็ไม่มีนักเตะในทีมได้รางวัลดาวซัลโวประจำทัวร์นาเมนท์ทั้ง 2 ครั้ง โดยผู้ทำประตูสูงสุดคือเธียร์รี่ อองรี (3 ประตู) และอองตวน กรีซมันน์ (4 ประตู) ตามลำดับ

หลายทีมที่ได้แชมป์ ต้องเจอเกมยืดเยื้อระหว่างทาง

จากรายชื่อทีมแชมป์ฟุตบอลโลก 6 ครั้งหลังสุด จะพบว่า บราซิล ในปี 2002 เป็นทีมเดียวที่ทำสถิติแบบ “เพอร์เฟกต์” ชนะในเวลาปกติ 90 นาที ครบทั้ง 7 นัด ตลอดทัวร์นาเมนท์

อีกหนึ่งทีมที่ชนะคู่แข่งใน 90 นาที ทั้ง 4 เกมในรอบน็อกเอาต์ นั่นคือฝรั่งเศส ในปี 2018 ส่วนอีก 4 ทีมที่เหลือ ล้วนต้องเจอกับแมตช์ที่ยืดเยื้อ ลงเล่นมากกว่าเวลาปกติอย่างน้อย 1 เกม

ฝรั่งเศส ในปี 1998 กับอิตาลี ในปี 2006 ต่างชนะในช่วงต่อเวลาพิเศษ ต่อด้วยชนะดวลจุดโทษในนัดต่อมาเหมือนกัน ส่วนสเปน ในปี 2010 และเยอรมัน ในปี 2014 ลงเล่นนัดชิงชนะเลิศมากกว่า 90 นาที

ทั้งหมดนี้คือกรณีศึกษาจากอดีต ของทีมที่เคยประสบความสำเร็จระดับแชมป์ฟุตบอลโลกมาแล้ว แต่ไม่ว่าระหว่างทางจะเป็นอย่างไร การเอาชนะในนัดชิงชนะเลิศ คือสิ่งที่สำคัญที่สุด

เรียบเรียง : จักรพันธ์ ภู่ทอง