Khaimukdam Group

SPECIAL CONTENT

ถอดบทเรียนจากอดีต ก่อนตามหาแชมป์ “เวิลด์ คัพ 2022”

ฟุตบอลโลก 2022 ที่ประเทศกาตาร์ กำลังจะเริ่มต้นขึ้น ในวันอาทิตย์ที่ 20 พฤศจิกายนนี้ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ที่แข่งขันในช่วงปลายปี ไม่ใช่ช่วงกลางปีเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา

ที่สำคัญ “เวิลด์ คัพ” ในครั้งนี้ ก็จะเป็นครั้งสุดท้ายที่มี 32 ทีม หลังจากเริ่มใช้รูปแบบนี้มาตั้งแต่ปี 1998 ที่ฝรั่งเศส ก่อนที่ในอีก 4 ปีข้างหน้า จะมีการขยายทีมในรอบสุดท้ายเพิ่มเป็น 48 ทีม

จาก 1998 ถึง 2018 กับฟุตบอลโลก รอบสุดท้าย 6 ครั้ง ทีมที่คว้าแชมป์ในแต่ละครั้ง ไม่ว่าจะด้วยฟอร์มการเล่นที่สมบูรณ์แบบ หรือกระท่อนกระแท่น ยังไงพวกเขาก็ได้ชื่อว่าเป็น “ผู้ชนะ” อยู่ดี

ไม่จำเป็นต้องโชว์ฟอร์มสุดยอดตั้งแต่รอบแรก

ผลงานในรอบแบ่งกลุ่มของทีมแชมป์ฟุตบอลโลก 6 ครั้งหลังสุด มีเพียงฝรั่งเศส (1998) และบราซิล (2002) 2 ทีมนี้เท่านั้น ที่เก็บ 9 คะแนนเต็ม โดยยิงได้ 9 และ 11 ประตู ตามลำดับ

อิตาลี (2006) ชนะ 2 เสมอ 1 ยิงได้ 5 ประตู, สเปน (2010) แพ้ในนัดแรกของรอบแบ่งกลุ่ม ให้กับสวิตเซอร์แลนด์ 0 – 1 แต่อีก 2 นัดที่เหลือ แก้ตัวเก็บ 6 คะแนนเต็ม ยิงได้ 4 ประตู

เยอรมัน (2014) ก็ใช่ว่าจะฟอร์มดี นัดที่ถล่มโปรตุเกส 4 – 0 ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเปเป้ถูกไล่ออกตั้งแต่ครึ่งแรก ต่อด้วยเสมอกานา 2 – 2 ปิดท้ายด้วยการเฉือนสหรัฐอเมริกา 1 – 0

ฝรั่งเศส (2018) เก็บได้ถึง 7 แต้ม แต่ยิงรวมกันได้แค่ 3 ประตูเท่านั้น ซึ่งในจำนวนนี้ มี 2 ประตูที่มาจากลูกจุดโทษ และนักเตะคู่แข่งทำเข้าประตูตัวเอง ในนัดที่พบกับออสเตรเลีย

เมื่อถึงรอบน็อกเอาต์ ควรเสียประตูให้น้อยที่สุด

ทุกคนทราบดีว่า เมื่อเข้าสู่รอบน็อกเอาต์ หมายความว่า “ผู้แพ้” หมดสิทธิ์แก้ตัวอย่างแน่นอน ซึ่งหนทางที่ดีที่สุดในการช่วยเพิ่มโอกาสการคว้าแชมป์ คือต้องพยายามไม่เสียประตู

สเปน (2010) เป็นทีมเดียวที่ทำ “คลีนชีต” แบบ 100 เปอร์เซนต์ ตลอดรอบน็อกเอาต์ รองลงมาคือฝรั่งเศส (1998), บราซิล (2002) และอิตาลี (2006) ทำคลีนชีต 3 นัด เสีย 1 ประตู เท่ากันหมด

ส่วนเยอรมัน (2014) และฝรั่งเศส (2018) ทำคลีนชีตทีมละ 2 นัด ต่างกันตรงที่เยอรมัน เสียแค่ 2 ประตู ขณะที่ฝรั่งเศส เสียมากถึง 5 ประตู แต่ได้เกมรุกที่เฉียบขาดมาช่วยทดแทนไว้

การเสียประตูน้อยๆ ในรอบแรกๆ ไม่ได้หมายความว่าจะประสบความสำเร็จเสมอไป จากแชมป์เวิลด์ คัพ 6 ครั้งหลังสุด มีเพียงบราซิล และสเปน ที่เสียประตูในรอบแบ่งกลุ่ม มากกว่ารอบน็อกเอาต์

ยิ่งไปกว่านั้น เคยมีทีมที่ไม่เสียประตูเลยทั้ง 3 เกม ในรอบแบ่งกลุ่ม ได้แก่ อาร์เจนติน่า (1998), สวิตเซอร์แลนด์ (2006) และอุรุกวัย (2010, 2018) แต่ไปไม่ถึงดวงดาวเลยแม้แต่ทีมเดียว

แท็กติกในช่วงแรกยังไม่ลงตัว แต่มักจะน่ากลัวในรอบลึกๆ

การแข่งขันในรอบแบ่งกลุ่ม ไม่ว่าจะได้เป็นที่ 1 หรือที่ 2 ก็ถือว่า “เข้ารอบ” เหมือนกัน ทีมที่ระบบยังไม่ลงตัวในช่วงแรกๆ ไม่ควรวิตกกังวล แต่ระบบการเล่นที่ดีที่สุด จะต้องมาในช่วงเวลาที่สำคัญที่สุด

ฝรั่งเศส ในปี 1998 เธียร์รี่ อองรี ดาวรุ่งในขณะนั้น เล่นในตำแหน่งปีก แต่มาถึงรอบ 8 ทีมสุดท้าย เอเม่ ฌักเกต์ เทรนเนอร์ “เลอ เบลอส์” ได้จับไปเล่นหน้าต่ำร่วมกับซีเนอดีน ซีดาน และยูริ จอร์เกฟฟ์ โดยมีสเตฟาน กิวาร์ช เป็นหน้าเป้า

บราซิล ในปี 2002 กุนซือหลุยส์ ฟิลิปเป้ สโคลารี่ ใช้กิลแบร์โต้ ซิลวา เป็นกองกลางตัวรับใน 4 นัดแรก โดยให้จูนินโญ่ เปาลิสต้า คอยกดดันในแนวรุก และรอบ 8 ทีมสุดท้ายเป็นต้นไป ได้เปลี่ยนเคลเบอร์สันลงเล่นแทนเปาลิสต้า

อิตาลี ในปี 2006 มาร์เซโล่ ลิปปี้ เฮดโค้ชของทีมใช้แผนการเล่น 4-3-1-2 ถึง 3 จาก 4 เกมแรก แต่พอเข้าสู่รอบ 8 ทีมสุดท้าย จนถึงนัดชิงชนะเลิศ ได้เปลี่ยนแผนการเล่นเป็น 4-4-1-1

สเปน ในปี 2010 บิเซนเต้ เดล บอสเก้ ยึดแผนการเล่น 4-2-3-1 ในบางครั้งมีการขยับตำแหน่งให้ดาบิด บีย่า จากที่เล่นปีกฝั่งซ้าย มาเป็นกองหน้า โดยให้เปโดร โรดริเกซ มาเล่นปีกแทน

เยอรมัน ในปี 2014 โยฮัคคิม เลิฟ ใช้แผน 4-3-3 เป็นหลัก แต่มีความน่าสนใจตรงที่ตำแหน่งของฟิลิปป์ ลาห์ม 4 นัดแรก เล่นในตำแหน่งมิดฟิลด์ ก่อนที่ในรอบ 8 ทีมสุดท้ายเป็นต้นไป เขากลับไปประจำการในตำแหน่งแบ็กขวา 

ฝรั่งเศส ในปี 2018 ดิดิเยร์ เดอชองส์ ประเดิมนัดแรกใช้แผน 4-3-3 โดยมี 3 ประสานกองหน้ารุ่นใหม่ทั้งอองตวน กรีซมันน์, คิลิยัน เอ็มบัปเป้ และอุสมาน เดมเบเล่ แต่หลังจากนั้นเปลี่ยนมาเป็น 4-2-3-1 โอลิวิเย่ร์ ชิรูด์ เป็นหน้าเป้า ขยับเอ็มบัปเป้เป็นหน้าต่ำด้านขวา และให้แบลส มาตุยดี้ เป็นวิงแบ็กฝั่งซ้าย

ลงเล่นกับสโมสรมีปัญหา แต่กับทีมชาติเป็นคนละคน

ผู้จัดการทีมชาติโดยส่วนใหญ่ มักจะเลือกนักเตะติดทีมไปร่วมรายการสำคัญ โดยดูจากฟอร์มการเล่นในระดับสโมสร ดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล แต่นั่นก็ไม่ใช่สูตรสำเร็จเสมอไป

ฝรั่งเศส ในปี 1998 ซีเนอดีน ซีดาน เพิ่งอกหักจากนัดชิงชนะเลิศแชมเปี้ยนส์ ลีก กับยูเวนตุส พอเข้าสู่ฟุตบอลโลก ก็ถูกไล่ออกในเกมที่พบกับซาอุดิอารเบีย จนถูกแบน 2 นัด แต่เทรนเนอร์ เอเม่ ฌักเกต์ ยังคงไว้ใจเขา และตอบแทนด้วย 2 ประตูในนัดชิงชนะเลิศ พา “เลอ เบลอส์” คว้าแชมป์โลกสมัยแรกในบ้านตัวเอง

บราซิล ในปี 2002 โรนัลโด้ สมัยที่ค้าแข้งอยู่กับอินเตอร์ มิลาน เกือบไม่ติดทีมไปลุยบอลโลกฉบับเอเชีย หลังเพิ่งหายจากการบาดเจ็บที่นานร่วม 2 ปี แต่ความเชื่อใจของหลุยส์ ฟิลิปเป้ สโคลารี่ ผลลัพธ์ที่ตามมาคือ แชมป์โลกสมัยที่ 5

อิตาลี ในปี 2006 มาร์เชโล่ ลิปปี้ ตัดสินใจเรียกฟรานเชสโก้ ต็อตติ ติดทีม ทั้งๆ ที่เพิ่งหายจากอาการบาดเจ็บ แต่ประตูชัยช่วงทดเจ็บนาทีที่ 5 ในรอบ 16 ทีมสุดท้าย คือการตัดสินใจที่ถูกต้อง

สเปน ในปี 2010 บิเซนเต้ เดล บอสเก้ เรียกตัวอิเคร์ กาซิยาส ที่ฟอร์มไม่ดีกับสโมสร และอันเดรียส อิเนสต้า ที่มีอาการบาดเจ็บ แต่ท้ายที่สุด ทั้ง 2 คนคือกำลังสำคัญสู่แชมป์โลกสมัยแรก

เยอรมัน ในปี 2014 บาสเตียน ชไวน์สไตเกอร์ ลงเล่นฟุตบอลโลกครั้งที่ 3 ในวัย 30 ปี และไม่อยู่ในฟอร์มที่ดีกับการลงเล่นให้บาเยิร์น มิวนิค แต่เขาคือกองกลางที่พา “อินทรีเหล็ก” คว้าแชมป์สมัยที่ 4

และฝรั่งเศส เมื่อ 4 ปีที่แล้ว ปอล ป็อกบา ซึ่งฟอร์มการเล่นไม่อยู่กับร่องกับรอยที่แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด แต่พอมาเล่นให้ทีมชาติ เขาคือมิดฟิลด์คนสำคัญสู่การคว้าแชมป์โลกสมัยที่ 2 ในรอบ 20 ปี

ไม่จำเป็นต้องเป็นดาวซัลโว ก็ช่วยทีมคว้าแชมป์ได้

แชมป์ฟุตบอลโลก 6 ครั้งหลังสุด มีเพียงบราซิล ในปี 2002 ทีมเดียวเท่านั้นที่คว้าแชมป์ และมีนักเตะในทีมได้ตำแหน่งดาวซัลโวประจำทัวร์นาเมนท์ นั่นคือ โรนัลโด้ ที่ทำไป 8 ประตู

อิตาลี ในปี 2006 ลูก้า โทนี่ และมาร์โก มาเตรัซซี่ เป็นนักเตะที่ยิงได้มากที่สุดในทีม คนละ 2 ประตู โดยโทนี่ เหมาเบิ้ลในรอบ 8 ทีมสุดท้าย ส่วนมาเตรัซซี่ ยิงได้ในรอบแรก และนัดชิงชนะเลิศ

กรณีของสเปน ในปี 2010 ดาบิด บีย่า ยิงไป 5 ประตู เท่ากับโทมัส มุลเลอร์, เวสลี่ย์ ชไนเดอร์ และดิเอโก้ ฟอร์ลัน แต่มุลเลอร์ แอสซิสต์ให้เพื่อนมากที่สุด จึงได้รางวัลโกลเด้น บูท ไปครอง

เยอรมัน ในปี 2014 โธมัส มุลเลอร์ ยิงในรอบแบ่งกลุ่มถึง 4 ประตู แต่รอบน็อกเอาต์ยิงเพิ่มได้แค่ประตูเดียว โดยนักเตะที่ยิงประตูมากที่สุดในรอบน็อกเอาต์ คือ อังเดร ชูร์เล่ ที่ทำได้ 3 ประตู

ฝรั่งเศส ในปี 1998 และ 2018 ก็ไม่มีนักเตะในทีมได้รางวัลดาวซัลโวประจำทัวร์นาเมนท์ทั้ง 2 ครั้ง โดยผู้ทำประตูสูงสุดคือเธียร์รี่ อองรี (3 ประตู) และอองตวน กรีซมันน์ (4 ประตู) ตามลำดับ

หลายทีมที่ได้แชมป์ ต้องเจอเกมยืดเยื้อระหว่างทาง

จากรายชื่อทีมแชมป์ฟุตบอลโลก 6 ครั้งหลังสุด จะพบว่า บราซิล ในปี 2002 เป็นทีมเดียวที่ทำสถิติแบบ “เพอร์เฟกต์” ชนะในเวลาปกติ 90 นาที ครบทั้ง 7 นัด ตลอดทัวร์นาเมนท์

อีกหนึ่งทีมที่ชนะคู่แข่งใน 90 นาที ทั้ง 4 เกมในรอบน็อกเอาต์ นั่นคือฝรั่งเศส ในปี 2018 ส่วนอีก 4 ทีมที่เหลือ ล้วนต้องเจอกับแมตช์ที่ยืดเยื้อ ลงเล่นมากกว่าเวลาปกติอย่างน้อย 1 เกม

ฝรั่งเศส ในปี 1998 กับอิตาลี ในปี 2006 ต่างชนะในช่วงต่อเวลาพิเศษ ต่อด้วยชนะดวลจุดโทษในนัดต่อมาเหมือนกัน ส่วนสเปน ในปี 2010 และเยอรมัน ในปี 2014 ลงเล่นนัดชิงชนะเลิศมากกว่า 90 นาที

ทั้งหมดนี้คือกรณีศึกษาจากอดีต ของทีมที่เคยประสบความสำเร็จระดับแชมป์ฟุตบอลโลกมาแล้ว แต่ไม่ว่าระหว่างทางจะเป็นอย่างไร การเอาชนะในนัดชิงชนะเลิศ คือสิ่งที่สำคัญที่สุด

เรียบเรียง : จักรพันธ์ ภู่ทอง

Facebook
Twitter
Pinterest
Email

Comments are closed.