การนำชื่อขององค์กรทางธุรกิจ ไปปรากฏอยู่ในชื่อสนามแข่งขันของทีมกีฬา มีจุดเริ่มต้นจากวงการกีฬาอเมริกันเกมส์ ในสหรัฐอเมริกา ก่อนที่โมเดลดังกล่าว จะเข้าสู่วงการฟุตบอลยุโรปในเวลาต่อมา
อย่างไรก็ตาม การนำชื่อแบรนด์สินค้าไปผูกติดกับชื่อสนามฟุตบอล ยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก เนื่องจากสนามฟุตบอล ถือเป็นวัฒนธรรม ที่ยึดโยงกับชุมชน และแฟนลูกหนังมายาวนานหลายสิบปี
แต่วงการฟุตบอลในยุคสมัยใหม่ ที่กลายเป็นธุรกิจแบบเต็มตัว หลาย ๆ สโมสรเริ่มมองหาวิธีใหม่ ๆ ที่จะเพิ่มรายได้ให้มากขึ้น นอกเหนือจากรายได้ในวันแข่งขัน และค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์
ในฤดูกาล 2022/23 มี 3 สโมสรจากลีกสูงสุดแดนกระทิงดุ (LaLiga Santander) ที่มีการนำชื่อสปอนเซอร์ทางธุรกิจ มารวมอยู่ในชื่อสนามเหย้า ได้แก่ บาร์เซโลน่า, แอตเลติโก มาดริด และอัลเมเรีย
นอกจากนี้ ยังมีสโมสรอีบิซ่า จากลีกดิวิชั่น 2 (LaLiga SmartBank) ที่เปลี่ยนชื่อรังเหย้าเป็น “พาลาเดียม แคน มิสเซส” ตามชื่อของ Palladium แบรนด์ธุรกิจโรงแรมจากเกาะอีบิซ่า ในสเปน เป็นเวลา 3 ฤดูกาล
ก่อนหน้านี้ เคยมีสโมสรในลาลีกา ที่มีการเปลี่ยนแปลงชื่อสนามตามสปอนเซอร์มาแล้ว อย่างเช่น เซลต้า บีโก้ ที่เปลี่ยนชื่อเป็น “อาบังก้า บาลาอิโดส” ตามชื่อของ Abanca บริษัทการเงินของสเปน
หรือกรณีของเรอัล โซเซียดัด ที่มีชื่อสนามว่า “เรอาเล่ อารีน่า” มาจาก Reale Seguros บริษัทประกันภัยของสเปน รวมถึงเรอัล มายอร์ก้า ที่เปลี่ยนชื่อเป็น “บิซิต มายอร์ก้า เอสตาดี้” เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว
บาร์เซโลน่า : สปอติฟาย คัมป์ นู
เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา บาร์เซโลน่า ได้บรรลุข้อตกลงกับ Spotify แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งชื่อดังจากประเทศสวีเดน ในการเข้ามาเป็นสปอนเซอร์ให้กับสโมสร เซ็นสัญญาระยะยาวถึง 12 ปี หรือสิ้นสุดในปี 2034
ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของบาร์ซ่า ที่จะใช้ชื่อสปอนเซอร์รวมกับชื่อสนาม นั่นคือ “สปอติฟาย คัมป์ นู” โดยจะนำเงินทุนไปดำเนินโครงการ Espai Barca ในการปรับปรุงสนามแข่งขัน และพื้นที่โดยรอบ
โจน ลาปอร์ต้า ประธานสโมสร “เจ้าบุญทุ่ม” เปิดเผยว่า “นี่คือดีลครั้งประวัติศาสตร์ของเรา ความร่วมมือในครั้งนี้ จะทำให้แฟน ๆ ใกล้ชิดกับสโมสรมากยิ่งขึ้น ด้วยการผสมผสานระหว่างความบันเทิงกับฟุตบอล”
แอตเลติโก มาดริด : ซิบิตาส เมโทรโปลิตาโน่
ช่วงปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา แอตเลติโก มาดริด ได้มีสปอนเซอร์รายใหม่เข้ามาสนับสนุน คือ Cívitas บริษัทด้านพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชื่อดังในประเทศสเปน เซ็นสัญญาเป็นระยะเวลา 10 ปี
ทำให้สนามแข่งขันของแอต. มาดริด ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ซิบิตาส เมโทรโปลิตาโน่” ตามชื่อของผู้สนับสนุนใหม่ พร้อมกับการดำเนินโครงการสร้างศูนย์ฝึกซ้อมแห่งใหม่ รวมถึงรังเหย้าของทีมสำรอง ความจุ 6,000 ที่นั่ง
อเลฮานโดร อยาล่า ประธานของ “ซิบิตาส” กล่าวว่า “เราจะร่วมมือกับแอตเลติโก มาดริด ในการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัย มาใช้เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับผู้คน ทั้งด้านสุขภาพ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม”
อัลเมเรีย : เพาเวอร์ ฮอร์ส สเตเดี้ยม
อัลเมเรีย ทีมน้องใหม่ที่ได้เลื่อนชั้นขึ้นสู่ลีกสูงสุด ในฤดูกาลนี้ ได้เปลี่ยนชื่อสนามเหย้าเป็น “เพาเวอร์ ฮอร์ส สเตเดี้ยม” โดยมาจากชื่อของ “Power Horse” แบรนด์เครื่องดื่มชูกำลังจากประเทศออสเตรีย
โมฮัมเหม็ด เอล อาสซี่ ซีอีโอของ “เดอะ อินดาลิกอส” กล่าวว่า “เรารู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่เพาเวอร์ ฮอร์ส ได้ให้ความไว้วางใจในการเข้ามาสนับสนุนสโมสร เพื่อบรรลุเป้าหมายที่ยอดเยี่ยมนับจากนี้ไป”
การนำชื่อแบรนด์สินค้า ไปอยู่บนชื่อสนามฟุตบอล ถือเป็นทางออกแบบ “วิน-วิน” เพราะแบรนด์สินค้า จะได้พื้นที่ประชาสัมพันธ์ธุรกิจของตัวเอง ขณะที่ทีมกีฬาก็จะได้เงินไปลงทุนต่อยอดตามที่ต้องการ
แม้ว่า การขายลิขสิทธิ์ชื่อสนาม อาจจะกระทบถึงความรู้สึกของแฟนบอลอยู่ไม่น้อย แต่สำหรับทีมฟุตบอลแล้ว ก็อาจจะเป็นวิธีแก้ปัญหาที่ง่ายที่สุด ในการนำเงินเข้ามาบริหารสโมสรให้อยู่รอดต่อไป
Football Editor