โลกฟุตบอลยุคปัจจุบันเอ่อล้นไปด้วยข้อมูลสถิติที่เกิดจาก data point จำนวนหลายล้านต่อแมตช์ การสัมผัสบอลแต่ละครั้งและทุกการเคลื่อนไหวของนักฟุตบอลได้รับการจดบันทึก พรีเมียร์ลีกเป็นหนึ่งในสมรภูมิลูกหนังระดับอาชีพที่เป็นผู้นำด้านสถิติ เป็นลีกหนึ่งที่เก็บรวบรวมข้อมูลมากที่สุดในโลก
ดิวิชัน 1 ประเทศอังกฤษ เปลี่ยนชื่อเป็นพรีเมียร์ชิพ (ก่อนมาเป็นพรีเมียร์ลีก) ในฤดูกาล 1992-93 สถิติยุคนั้นถือว่าน้อยมากและเป็นสถิติพื้นฐานอย่างเช่น ใครทำประตู ใครเป็นคนแอสซิสต์ และใครได้รับใบเหลืองใบแดง ยังไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อการวิเคราะห์ฟอร์มการเล่นส่วนบุคคลหรือทีม ไม่มีสถานีโทรทัศน์ช่องไหนสนใจสถิติเชิงลึกดังเช่นปัจจุบัน
การเปลี่ยนแปลงมาถึงในซีซัน 1997-98 หรืออีก 5 ปีต่อมาเมื่อ Opta ได้เซ็นสัญญาเป็นบริษัทเก็บรวบรวมสถิติเชิงประสิทธิภาพของนักฟุตบอลให้กับพรีเมียร์ลีกอย่างเป็นทางการ โดย Opta บริษัทสัญชาติอังกฤษ เพิ่งก่อตั้งในปี 1996 สร้างชื่อเสียงขึ้นมาจากเป็นพันธมิตรของช่อง Sky Sports ในการถ่ายทอดสดพรีเมียร์ลีกทางโทรทัศน์ตั้งแต่ซีซั่น 1996-97
สถิติยุคแรกค่อนข้างเรียบง่ายพื้น ๆ จนกระทั่งซีซั่น 2006-07 Opta เริ่มเก็บรวบรวบสถิติหลากหลายและมีจำนวนเพิ่มขึ้น อาทิ key passes, tackle success, shooting accuracy สำหรับนักเตะ และ passes per match, errors leading to a goal, goals from counter attacks สำหรับทีม เป็นต้น
ตั้งแต่ซีซัน 2021-22 พรีเมียร์ลีกได้ร่วมงานกับ Oracle บริษัทเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ยักษ์ใหญ่จากอเมริกา ซึ่งให้บริการเมตริกชั้นสูง รวมถึงระบบยอดนิยมอย่าง Momentum Tracker ส่งผลให้พรีเมียร์ลีกมีข้อมูลสถิติที่สลับซับซ้อนกว่าลีกหลายประเทศที่ยังคงใช้เพียง event data เหมือน Opta เช่น การจ่าย การโหม่ง การเซฟ โดย Oracle ใช้เมตริกและโมเดลที่ซับซ้อนนำไปวัดปริมาณส่วนต่าง ๆ ของเกมการแข่งขัน จนได้ข้อมูลที่มีความลึกซึ้ง สามารถนำไปต่อยอดวิเคราะห์เกมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แม้ Opta เซ็นสัญญาเป็นพาร์ทเนอร์ของพรีเมียร์ลีกในปี 1997 แต่สโมสรต่างๆยังต้องใช้ระยะเวลาหนึ่งเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลสถิติของตัวเอง หนึ่งในยุคบุกเบิกคือ โบลตัน วันเดอเรอร์ส ยุคแซม อัลลาร์ไดซ์ ซึ่งคุมทีมทรอตเตอร์สระหว่างปี 1999 – 2007 โดยอัลลาร์ไดซ์เห็นประโยชน์ของข้อมูลสถิติในวงการกีฬาเมื่อครั้งเล่นฟุตบอลให้ทีมแทมปา เบย์ ราวดีส์ ที่อเมริการาวปี 1983 เขานำไปไอเดียมาใช้เพื่อพัฒนาการเล่นของนักเตะโบลตัน อัลลาร์ไดซ์ถึงขนาดสร้างสถานที่ที่เรียกว่า War Room ซึ่งเขาและสตาฟฟ์โค้ชใช้เป็นออฟฟิศเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลบนจอขนาดใหญ่ ซึ่งถูกใช้เพื่อวางแผนกลยุทธ์การเล่นอีกด้วย
สโมสรแรกที่ลงทุนด้านข้อมูลสถิติอย่างจริงจังได้แก่ ลิเวอร์พูล หลังจากเฟนเวย์ สปอร์ตส์ กรุ๊ป บริษัทกีฬาข้ามชาติสัญชาติอเมริกัน เข้ามาเทคโอเวอร์เมื่อปี 2010 เนื่องจากเฟนเวย์ฯ ตระหนักถึงศักยภาพของการวิเคราะห์ข้อมูลสถิติจากการเป็นเจ้าของทีมเบสบอล บอสตัน เรด ซอกซ์ ซึ่งความจริงแล้ว data analysis เป็นเรื่องธรรมดาสามัญมากสำหรับกีฬาเมืองลุงแซม
นับจากปี 2010 แผนกข้อมูลเป็นหน่วยงานที่เติบโตอย่างรวดเร็วและมีบทบาทสำคัญต่อความก้าวหน้าของสโมสรพรีเมียร์ลีก ได้ถูกใช้งานตั้งแต่การเลือกสรรผู้เล่นไปจนถึงการวางแท็คติก ข้อมูลเชิงลึกที่ถูกสร้างขึ้นมาส่งผลกระทบและสร้างสีสันให้กับเกมลูกหนังเป็นอย่างมาก
สถิติเว็บพรีเมียร์ลีก 4 กลุ่มใหญ่ 40 หมวดย่อย
ในส่วนของการรวบรวม event data ระหว่างการแข่งขันพรีเมียร์ลีกแต่ละนัด Opta ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ Stats Perform ใช้ทีมงานทั้งหมด 3 คน เจ้าหน้าที่ 2 คนมีหน้าที่ดูวิดีโอฟุตเตจและบันทึกข้อมูลทุกครั้งเมื่อเกิดการสัมผัสลูกบอล นักเตะคนไหนเข้ามาเกี่ยวข้อง และเกิดตรงตำแหน่งไหนของสนาม เจ้าหน้าที่คนที่ 3 เป็นผู้ควบคุมคุณภาพหรือ QC กรอกกลับวิดีโอฟุตเตจเพื่อตรวจสอบให้แน่ชัดว่าข้อมูลที่ถูกบันทึกไว้ถูกต้อง ทั้งนี้ live-match data จะถูกนำไปตรวจสอบอีกครั้งหลังการแข่งขันเพื่อให้มั่นใจว่าถูกต้อง 100 เปอร์เซ็นต์
อ้างอิงจากเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของพรีเมียร์ลีก ในหมวด stats แบ่งเป็น 4 ประเภทใหญ่ ได้แก่ สถิติทั่วไป, สถิติเกมบุก, สถิติเกมรับ และสถิติผู้รักษาประตู ซึ่งแต่ละประเภทจะมีแยกย่อยลงไปประกอบด้วย
GENERAL : Goals, Assists. Appearances. Minutes Played, Yellow Cards, Red Cards. Substituted On. Substituted Off
ATTACK : Shots, Shots On Target, Hit Woodwork, Goals From Header, Goals From Penalty, Goals From Freekick, Offsides, Touches, Passes, Through Balls, Crosses, Corners Taken
DEFENCE : Interceptions. Blocks, Tackles, Last Man Tackles, Clearances, Headed Clearances, Aerial Battles Won, Own Goals, Errors Leading To Goal, Penalties Conceded, Aerial Battles Lost
GOALKEEPER : Clean Sheets, Goals Conceded, Saves, Penalties Saved, Punches, High Claims, Sweeper Clearances, Throw Outs, Goal Kicks
จากสถิติข้างบนเป็นเพียง event data ซึ่งสามารถสังเกตเห็นได้ง่าย ๆ ด้วยสายตามนุษย์ ยังมีมากมายขนาดนี้ ไหนจะมีสถิติที่เกิดจากการคำนวณ และสถิติได้จากระบบเมตริกและโมเดลที่ซับซ้อน จนหลายคนอาจตั้งคำถามในใจว่า คิดวิเคราะห์ให้มันยุ่งยากวุ่นวายเกินไปหรือเปล่าเพื่อนำไปสู่การวิเคราะห์ฟอร์มการเล่นของตัวนักเตะและทีมว่าดีหรือแย่เพียงใด
ดังนั้น จึงมีผู้คิดแบบสุดขั้วอย่าง ไรอัน โอ’แฮนลอน นักข่าวของอีเอสพีเอ็น ดอท คอม สื่อกีฬาระดับโลกจากอเมริกา ตั้งคำถามกับตัวเองว่า ถ้าต้องเลือกใช้ตัวเลขสถิติเพียงชนิดเดียวเพื่อจัดทีมฟุตบอลรวมดาราจากการแข่งขันยูฟา แชมเปียนส์ ลีก และลีกท็อป-5 ของยุโรป (พรีเมียร์ลีก, บุนเดสลีกา, กัลโช เซเรีย อา, ลา ลีกา, ลีกเอิง) ประจำฤดูกาล 2022-23 ที่เพิ่งจบไป สถิติไหนจะจัดทีม Best XI ได้ดีหรือใกล้เคียงกับสุดยอดทีมในโลกแห่งความเป็นจริงมากที่สุด ทั้งนี้เป็นการจัดทีมด้วยแผนการเล่น 4-3-3 และจัดเฉพาะผู้เล่นเอาท์ฟิลด์ ไม่รวมผู้รักษาประตูที่มีการบันทึกสถิติเฉพาะตัว ต่างจากผู้เล่น 10ตำแหน่งที่เหลือ
SHOTS คัดกรองฟอร์มนักเตะแม่นกว่า GOALS
ฟุตบอลตัดสินแพ้ชนะกันที่จำนวนประตู โอ’แฮนลอนจึงเลือก GOALS เป็นสถิติเดี่ยวในการฟอร์มทีมรวมดาราชุดแรก นักเตะแต่ละตำแหน่งในระบบ 4-3-3 จะคัดเลือกจากผู้เล่นที่ทำสกอร์รวมมากที่สุดในฟุตบอลลีกและแชมเปียนส์ ลีกฤดูกาลที่แล้ว
ศูนย์หน้า : เออร์ลิ่ง ฮาลันด์ (แมนฯซิตี)
ปีกซ้าย : คีลิยัน เอ็มบัปเป (เปแอสเช)
ปีกขวา : โมฮัมเหม็ด ซาลาห์ (ลิเวอร์พูล)
มิดฟิลด์กลาง : มาร์ติน โอเดการ์ด (อาร์เซนอล)
มิดฟิลด์กลาง : จูด เบลลิ่งแฮม (ดอร์ทมุนด์)
มิดฟิลด์ตัวรับ : ปาสกาล กรอสส์ (ไบรท์ตัน)
แบ็คซ้าย : ราฟาเอล เกร์เรโร (ดอร์ทมุนด์)
เซ็นเตอร์แบ็ค : ชานเซล เอ็มเบมบา (มาร์กเซย์)
เซ็นเตอร์แบ็ค : เอแดร์ มิลิเตา (เรอัล มาดริด)
แบ็คขวา : สเตฟาน พอสช์ (โบโลญา)
พิจารณารายชื่อ Best XI ที่เลือกจากสถิติการทำประตู โอ’แฮนลอนมองว่าไม่เลวนัก แต่มีบางจุดที่ไม่เห็นด้วย คำว่าเบสต์ใช้ได้กับฮาลันด์และซาลาห์ รวมถึงโอเดการ์ดและเบลลิ่งแฮม แต่เอ็มบัปเปยังไม่ใช่ถ้าหมายถึงซีซั่นที่แล้ว ทีมนี้อาจทำสกอร์ได้เยอะแต่อาจเสียประตูไม่น้อย ฟอร์มของกรอสส์ไม่ค่อยได้รับคำชมเท่าไร เช่นเดียวกับเกร์เรโร เอ็มเบมบาก็ไม่ใกล้เคียงคำว่าเบสต์ไม่ว่าเป็นสายตาใคร มิลิเตาอาจโอเค แต่แฟนบอลนอกลีกอิตาลีเคยได้ยินชื่อพอสช์บ้างไหม
กูรูจากเว็บไซต์อีเอสพีเอ็น มองว่า GOALS ยังไม่สามารถจัดทีมรวมดาราได้ใกล้เคียงความจริง โดยเฉพาะแนวรับ ประตูที่ทำได้แปรเปลี่ยนได้แต่ละซีซั่น และสถิติยังรวมประตูจากจุดโทษด้วย ดังนั้นโอ’แฮนลอนจึงลองเปลี่ยนตัวคัดกรองที่ 2 เป็น SHOTS หรือจำนวนรวมของลูกยิงและลูกโหม่งที่พุ่งไปยังกรอบประตู ใครทำได้มากที่สุดของแต่ละตำแหน่งจะเข้าไปอยู่ในทีมรวมดารา
ศูนย์หน้า : ฮาลันด์
ปีกซ้าย : เอ็มบัปเป
ปีกขวา : ซาลาห์
มิดฟิลด์กลาง : โอเดการ์ด
มิดฟิลด์กลาง : บรูโน แฟร์นันเดส (แมนฯยูไนเต็ด)
มิดฟิลด์ตัวรับ : โรดรี (แมนฯซิตี)
แบ็คซ้าย : เตโอ แอร์กน็องเดซ (เอซี มิลาน)
เซ็นเตอร์แบ็ค : ฟาเบียน ชาร์ (นิวคาสเซิล)
เซ็นเตอร์แบ็ค : คอนสแตนตินอส มาฟโรปานอส (สตุ๊ตการ์ท)
แบ็คขวา : เทรนท์ อเล็กซานเดอร์-อาร์โนลด์ (ลิเวอร์พูล)
เมื่อผลการคัดเลือกด้วยการยิงหรือโหม่งเข้ากรอบออกมา โอ’แฮนลอนมองว่าพัฒนาตัวผู้เล่นดีขึ้น กองหน้ายอดเยี่ยม มิดฟิลด์ดีทีเดียวแม้ขัดใจชื่อของแฟร์นันเดสที่เขารู้สึกว่ายังไม่ถึงขั้นดีมาก ต่างกับโรดรีที่เป็นมิดฟิลด์ตัวรับที่อยู่อันดับสูงสุดของ “เอฟซี 100” ซึ่งเป็นการจัดแรงกิ้งนักเตะของอีเอสพีเอ็น
ฟูลแบ็คสองฝั่งมีฝีเท้าระดับเวิลด์คลาสในสายตาของโอ’แฮนลอน ชาร์เป็นแกนหลักของหนึ่งในทีมที่มีเกมรับดีที่สุดในพรีเมียร์ลีกซีซันที่ผ่านมา ส่วนมาฟโรปานอสเป็นเซ็นเตอร์แบ็คที่ดีพอใช้ แต่เล่นให้ทีมครึ่งล่างของบุนเดสลีกา และเคยถูกอาร์เซนอลปล่อยหลังลงตัวจริงบอลลีกแค่ 3 นัด แต่ความจริงแล้ว จำนวนการยิงไม่สามารถประเมินคุณค่าที่แท้จริงของเซ็นเตอร์แบ็คอยู่แล้ว
PASSING เป็นสถิติที่มีนัยยะสำคัญทั้งเกมบุกและรับ
ข้างต้นเป็นสถิติในส่วนของเกมบุก ซึ่งเห็นได้ชัดว่า SHOTS เป็นตัวคัดกรองที่ดีกว่า GOALS แต่ยังไม่สามารถจัดผู้เล่นได้สมเหตุสมผลอยู่ดีแม้ดึงมิดฟิลด์ตัวรับดีที่สุดติดทีมเข้ามาได้ แต่กลับได้แผงหลังที่อ่อนยวบ โอ’แฮนลอนจึงเปลี่ยนมาใช้PASSING เป็นเงื่อนไขบ้างเพราะเป็นคุณสมบัติสำคัญของทั้งผู้เล่นเกมรุกเกมรับ แต่ตัดตัวเลขในส่วนของแอสซิสต์ออกไปเพื่อหลีกเลี่ยงการให้น้ำหนักกับผู้เล่นเกมบุก
ศูนย์หน้า : อองตวน กรีซมันน์ (แอตฯมาดริด)
ปีกซ้าย : แจ็ค กรีลีช (แมนฯซิตี)
ปีกขวา : ลิโอเนล เมสซี (เปแอสเช)
มิดฟิลด์กลาง : เควิน เดอ บรอยน์ (แมนฯซิตี)
มิดฟิลด์กลาง : บรูโน แฟร์นันเดส
มิดฟิลด์ตัวรับ : โยซัว คิมมิช (บาเยิร์น)
แบ็คซ้าย : คริสเตียโน บิรากี (ฟิออเรนตินา)
เซ็นเตอร์แบ็ค : อเลสซานโดร บาสโตนี (อินเตอร์ มิลาน)
เซ็นเตอร์แบ็ค : ดาวิด อลาบา (เรอัล มาดริด)
แบ็คขวา : คีแรน ทริปเปียร์ (นิวคาสเซิล)
โอ’แฮนลอนให้ความเห็นถึง Best XI ทีมที่ 3 ว่า อาจดูแปลก ๆ ไปบ้างสำหรับฟรอนท์ไลน์ แต่ทั้งสามมีศักยภาพเพียงพอที่จะสร้างเกมรุกน่าสะพรึงกลัว แผงมิดฟิลด์อาจเน้นความปลอดภัยมากเกินไปแทนที่จะสร้างสรรค์เกมรุกหรือดอดขึ้นไปลุ้นทำประตู แต่เดอ บรอยน์ และแฟร์นันเดส น่าจะช่วยให้บาเยิร์นอุ่นใจกว่าเมื่อเทียบกับสองคนที่อยู่ข้างหน้าคิมมิชในเกมสโมสร
สำหรับแบ็คไลน์ โอ’แฮนลอนมองว่า บิรากีอาจไม่ใช่แบ็คซ้ายดีที่สุดในโลกแต่ไม่ใช่แบ็คซ้ายที่แย่เช่นกัน อย่างน้อยมีประสบการณ์ตัวจริงเกือบ 250 นัดในเซเรีย อา บาสโตนีกับอลาบาเป็นการจับคู่ปราการหลังที่เวิร์ก ทริปเปียร์เพิ่งผ่านช่วงเวลาที่ดีที่สุดในชีวิตแบ็คขวาของตัวเอง
PASSING ช่วยให้การจัดทีมมีสมดุลขึ้น แต่โอ’แฮนลอนอยากปรับเงื่อนไขที่เน้นเกมรับขึ้นมาอีกเล็กน้อย ตัวกรองที่สามารถเชื่อมโยงระหว่างผลงานโจมตีกับการแย่งบอลคืนมา ซึ่งได้แก่ TACKLES + INTERCEPTIONS และผลลัพธ์ที่ได้คือ
ศูนย์หน้า : กรีซมันน์
ปีกซ้าย : จาค็อบ แรมเซย์ (แอสตัน วิลลา)
ปีกขวา : เฟลิเป อันแดร์สัน (ลาซิโอ)
มิดฟิลด์กลาง : วาล็องแต็ง รงชีเยร์ (มาร์กเซย์)
มิดฟิลด์กลาง : มอร์เทน ฮูลมันด์ (เลชเช)
มิดฟิลด์ตัวรับ : ชูเอา ปาลินญา (ฟูแลม)
แบ็คซ้าย : แมลแว็ง บาร์ (นีซ)
เซ็นเตอร์แบ็ค : อันเดร จิรอตโต (นองต์ส)
เซ็นเตอร์แบ็ค : เลโอนาร์โด บาเลร์ดี (มาร์กเซย์)
แบ็คขวา : โมฮาเหม็ด ยูซซุฟ (อฌักซิโอ)
หลังทราบรายชื่อทีมรวมดาราเวอร์ชันที่ 4 ซึ่งมีกรีซมันน์คนเดียวที่มาจาก 3 ทีมแรก ที่เหลือเป็นหน้าใหม่และครึ่งหนึ่งมาจากลีกเอิง นั่นทำให้กูรูอีเอสพีเอ็น ดอท คอม ถึงกับอุทานว่า I, uh, yeah, no.
MINUTES PLAYED ถ้าฟอร์มดี โค้ชย่อมเลือกใช้งานบ่อย
บางคนอาจมองข้ามความจริงข้อหนึ่งไป ถึงสถิติจะถูกบันทึกในฐานะผลงานของคนๆเดียว แต่เพื่อนร่วมทีมมีส่วนทำให้ event data เหล่านั้นเกิดขึ้น ทุกการยิงหรือโหม่งเพื่อหวังประตู จะมาจากการผ่านหรือเหตุการณ์สักอย่างที่ทำให้ลูกบอลเดินทางมาถึง ทุกการผ่านบอลล้วนมีต้นทางมาจากการผ่านบอลก่อนหน้าหรือไม่ก็เทิร์นโอเวอร์หรือฟาวล์ ไม่มีแทคเกิลหรืออินเตอร์เซปท์เกิดขึ้นหากเพื่อนร่วมทีมไม่เสียบอลแล้วจากนั้นมีใครสักคนของทีมคู่แข่งเห็นโอกาสที่จะเข้าไปแย่งบอลหรือเสียบสกัด
เกือบทุกสถิติมีลักษณะเช่นนั้น หนึ่งในข้อยกเว้นคือ จำนวนนาทีที่ลงสนาม ซึ่งหากไม่มีเงื่อนไขด้านสุขภาพความฟิต ตัวเลขที่เกิดขึ้นมาจากวิจารณญาณของผู้จัดการทีมหรือหัวหน้าโค้ช ซึ่งเห็นนักเตะทุกครั้งที่สนามฝึกซ้อม มีนักวิเคราะห์เกมคนหนึ่งกล่าวว่า “ถ้าคุณดีพอ ผู้จัดการทีมก็จะใช้งานคุณบ่อยเอง” และแน่นอนว่า MINUTES PLAYED จึงเป็นสถิติที่รวบรวมสถิติอื่น ๆ ไว้ด้วยกัน
แต่ซีซั่นที่แล้วมีฟุตบอลโลกที่กาตาร์คั่นกลางฤดูแข่งขัน อาจส่งผลต่อเวลารวมของนักเตะฝีเท้าเยี่ยม ๆ ดังนั้นโอ’แฮนลอนจึงเพิ่มเงื่อนไขพิเศษเข้าไปเล็กน้อยด้วยการใช้สถิติของ 2 ซีซันที่ผ่านมาแทนซีซันเดียว
ศูนย์หน้า : แฮร์รี เคน (สเปอร์ส)
ปีกซ้าย : วินิซีอุส จูเนียร์ (เรอัล มาดริด)
ปีกขวา : ซาลาห์
มิดฟิลด์กลาง : ดาเนียล ปาเรโฆ (บีญาร์เรอัล)
มิดฟิลด์กลาง : นิโกโล บาเรลลา (อินเตอร์ มิลาน)
มิดฟิลด์ตัวรับ : โรดรี
แบ็คซ้าย : เตโอ แอร์กน็องเดซ
เซ็นเตอร์แบ็ค : ฟาน ไดจ์ค
เซ็นเตอร์แบ็ค : เอแดร์ มิลิเตา
แบ็คขวา : เทรนท์ อเล็กซานเดอร์-อาร์โนลด์
6 คนมาจากทีมรวมดาราชุดก่อน ๆ เคนกับวินิซีอุสที่เข้ามาใหม่ในแผงหน้า ไม่มีใครกล้าค้านว่าทั้งคู่เป็นนักเตะเวิลด์คลาส ปาเรโฆกับบาเรลลาเป็นคู่มิดฟิลด์เบอร์ 8 ที่โค้ชคนไหนก็น่าจะพอใจ ดังนั้นเวลารวมในสนาม ซึ่งผ่านการคิดวิเคราะห์ของบุคคลผู้อยู่ใกล้ชิดนักเตะมากที่สุด จึงเป็นตัวเลือกสมเหตุสมผลหากจะอ้างอิงสถิติเพียงข้อเดียวเพื่อนำมาสร้างทีมรวมดารา
เรียบเรียง : ฐปน วันชูเพลา (Senior Football Writer)
Senior Football Editor