Categories
Special Content

สตีฟ คูเปอร์ ผู้บันดาล 2 ปี 2 ปาฎิหาริย์แก่ฟอเรสต์

วันเสาร์ที่ 20 พฤษภาคม 2023 เป็นหนึ่งในวันสำคัญของพรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 2022-23 เพราะการแข่งขันที่ซิตี กราวน์ ซึ่งน็อตติงแฮม ฟอเรสต์ เฉือนชนะอาร์เซนอล 1-0 จากประตูนาทีที่ 19 ของ ไตโว อโวนิยี โดยทีมเจ้าป่าครองบอลเพียง 18% เป็นเปอร์เซ็นต์ต่ำที่สุดสำหรับทีมชนะในเกมพรีเมียร์ลีกนับตั้งแต่ซีซัน 2003-04

นัดนี้นัดเดียวทำให้เกิด 3 เรื่องสำคัญคือ  1. อาร์เซนอลหมดโอกาสครองแชมป์ลีกสูงสุดสมัยแรกในรอบเกือบ 2 ทศวรรษนับตั้งแต่ชนะเลิศซีซัน 2003-04 แบบไร้พ่าย  2. แมนเชสเตอร์ ซิตี ครองแชมป์สมัยที่ 5 ในรอบ 6 ปี  3. ฟอเรสต์รอดพ้นจากการกลับไปอยู่แชมเปียนชิพหลังจากได้สิทธิ์เลื่อนชั้นพรีเมียร์ลีกโดยชนะฮัดเดอร์ฟิลด์ 1-0 นัดชิงชนะเลิศเพลย์-ออฟ เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2022

พรีเมียร์ลีก ซีซัน 2022-23 ถ้าไม่นับอันดับ 18 จากนัดเปิดสนามที่แพ้ 0-2 ในบ้านของนิวคาสเซิล “เดอะ เรดส์” เริ่มหล่นมาอยู่โซนตกชั้นตั้งแต่นัดที่ 6 ต้นเดือนกันยายนเมื่อแพ้บอร์นมัธ 2-3 ที่ซิตี กราวน์ ฟอเรสต์รั้งอันดับรองบ๊วยและวนเวียนอยู่ 3อันดับท้ายตารางจนปฏิทินเข้าสู่ปี 2023 จึงผุดขึ้นมาหายใจหายคอเหนือโซนสีแดงได้ตั้งแต่ออกไปเฉือนเซาแธมป์ตัน 1-0เมื่อวันที่ 4 มกราคม ขยับขึ้นมาอันดับ 15

แม้ติดทีมเต็งตกชั้นจากราคาต่อรองของบริษัทรับพนันแต่ฟอเรสต์ยังประคองตัวไม่ลงไปอยู่เขตอันตรายนาน 3 เดือน จนกระทั่งวันที่ 8 เมษายน แพ้แอสตัน วิลลา 0-2 (เยือน) ซึ่งเป็นความปราชัยบอลลีกนัดที่ 6 จาก 9 นัดล่าสุด ตกมาอยู่อันดับ 18

ฟอเรสต์ไม่มีแต้มเพิ่มต่ออีก 2 นัด แพ้แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด 0-2 (เหย้า) และแพ้ลิเวอร์พูล 2-3 (เยือน) ก่อนเถือไบรท์ตัน 3-1 (เหย้า) เมื่อวันที่ 29 เมษายน ขยับขึ้นมาอยู่อันดับ 17 ก่อนหล่นไปอยู่อันดับ 3 จากท้ายตารางอีกครั้งเมื่อแพ้เบรนท์ฟอร์ด 1-2 (เยือน)

เหมือนนักเตะฟอเรสต์งัดพลังสำรองขึ้นมาใช้ถูกที่ถูกเวลา เฉือนเซาแธมป์ตัน 4-3 (เหย้า), เสมอเชลซี 2-2 (เยือน) และชนะอาร์เซนอล 1-0 (เหย้า) เก็บเพิ่ม 7 แต้มจาก 3 นัด ได้รับการต่ออายุจากพรีเมียร์ลีกแม้ยังเหลือนัดปิดซีซันกับคริสตัล พาเลซ (เยือน) ในวันที่ 26 พฤษภาคม

สำหรับผลงานบอลถ้วย ฟอเรสต์สิ้นสุดเส้นทางเอฟเอ คัพ แค่ลงเตะนัดแรก แพ้แบล็คพูล 1-4 ในการแข่งขันรอบ 3 ส่วนอีเอฟแอล หรือ คาราบาว คัพ ทีมเจ้าป่าไปไกลถึงรอบรองชนะเลิศและแพ้แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ด้วยสกอร์รวม 0-5

ปาฏิหาริย์จากความศรัทธาและเชื่อมั่น

ความสำเร็จของ สตีฟ คูเปอร์ และลูกทีมฟอเรสต์ ทำให้ซีซันนี้เป็นครั้งที่ 4 ในประวัติศาสตร์พรีเมียร์ลีกที่ 3 ทีมน้องใหม่ไม่กลับลงไปเล่นแชมเปียนชิพ กุนซือวัย 43 เปิดใจว่าเขาไม่เคยสูญเสียความศรัทธาและความเชื่อมั่นที่มีต่อนักเตะของเขาแม้กระทั่งช่วงวิกฤติ 2 ครั้งคือ 2 เดือนจากกลางสิงหาคมถึงกลางตุลาคมที่ฟอเรสต์ไม่ได้สัมผัสชัยชนะสักนัด และกว่า 2 เดือนครึ่งจากวันที่ 5 กุมภาพันธ์ถึง 26 เมษายน ซึ่งได้มาแค่ 3 แต้มจาก 11 นัด และหล่นไปอยู่ตำแหน่งรองบ๊วยขณะเหลือ 6 เกม

แต่อดีตผู้จัดการทีมชาติอังกฤษ ยู-17 ชุดแชมป์โลก ไม่ยอมแพ้ พาฟอเรสต์ขึ้นมาจากโซนสีแดงได้สำเร็จ จึงไม่แปลกใจเลยเมื่อบรรยากาศในซิตี กราวน์ หลังชนะอาร์เซนอล ทั้งเจ้าของสโมสร บอร์ดบริหาร นักเตะ ทีมงานโค้ช สตาฟฟ์ฝ่ายต่างๆ และแฟนบอล จึงร่วมฉลองราวกับครองแชมป์ยูโรเปียน คัพ

คูเปอร์เปิดใจว่า “ไม่มีสักครั้งเลยที่ผมจะไม่รู้สึกศรัทธาและเชื่อมั่นในตัวนักเตะของผม มันมีช่วงเวลาที่ยากลำบาก เราผ่าน 2เดือนครึ่งโดยไม่ชนะใคร นี่เป็นปีที่ 4 ของผมในการคุมทีมชุดใหญ่ ผมรู้ดีว่ายังต้องสัมผัสประสบการณ์ความพ่ายแพ้มากกว่านี้ แต่ผมจำเป็นต้องซึมซับและผ่านเวลาที่ยากลำบากไปให้ได้ ผมคงต้องใช้เวลาอีกนานก่อนกลายเป็นผู้จัดการทีมที่เหมาะสม แต่ถ้าต้องแสดงให้เห็นว่าผมจริงจังกับการบริหารจัดการสโมสรแห่งนี้มากแค่ไหน ผมต้องทำให้เห็นในช่วงเวลาที่สาหัสสากรรจ์ด้วยเช่นกัน”

ทางด้าน อีวานเจลอส มารินาคิส เจ้าของสโมสรชาวกรีซ ยอมรับว่ามีความสุขมากที่ตัดสินใจสนับสนุนคูเปอร์ให้คุมทีมฟอเรสต์ต่อไป ทั้งนี้ต้นเดือนเมษายน แม้ฟอเรสต์โชว์ฟอร์มได้ย่ำแย่สุ่มเสี่ยงตกชั้นแต่มารินาคิสกล่าวกับนักข่าวว่า เขายังศรัทธาคูเปอร์แต่ผลแข่งขันและการเล่นจะต้องปรับปรุงอย่างรวดเร็ว

“เมื่อเทียบกับทีมอื่นๆ คงไม่มีทีมไหนสมควรเปลี่ยนสตาฟฟ์โค้ชมากไปกว่าฟอเรสต์อีกแล้ว แต่มันเป็นการตัดสินใจที่ซีเรียสมากๆหากต้องเปลี่ยนโค้ช ซึ่งหมายความว่าคุณต้องหาคนที่ดีกว่ามาทำงานแทน และเขายังต้องว่างตอนนั้นด้วย”

“ผมมองตัวเองว่าได้ให้การสนับสนุนเขามากเท่าที่ทำได้ และใช่ นั่นเป็นการตัดสินใจที่ฉลาด แต่ยอมรับว่ามีหลายครั้งที่ผมก็รู้สึกเห็นด้วยและเห็นต่างเหมือนกัน”

อนึ่งพรีเมียร์ลีก ซีซัน 2022-23 มีผู้จัดการถูกไล่ออกทั้งสิ้น 12 คนหลังจากเบรนแดน รอดเจอร์ส (เลสเตอร์) และแกรห์ม พอตเตอร์ (เชลซี) ตกงานวันเดียวกัน (2 เม.ย.) เป็นการทำลายสถิติสูงสุดเดิม 10 คน ที่เคยเกิดขึ้นห้าซีซัน (1994-95, 2008-09, 2013-14, 2017-18, 2021-22) ทั้งนี้ไม่นับกุนซือชั่วคราวและที่แยกทางกับสโมสรแบบสมัครใจทั้งสองฝ่าย โดยต้นเมษายนที่ผ่านมา คูเปอร์และเดวิด มอยส์ (เวสต์แฮม) ยังถูกมองว่าน่าจะเป็นกุนซือลำดับที่ 13 ที่จะตกงานปลายซีซัน

พาทีมชาติอังกฤษครองแชมป์โลก ยู-17

สตีฟ คูเปอร์ เป็นชาวเวลส์ เกิดวันที่ 10 ธันวาคม 1979 ที่เมืองพอนตีพริดด์ ประเทศเวลส์ เป็นบุตรชายของคีธ คูเปอร์ อดีตผู้ตัดสินฟุตบอล คูเปอร์ ซึ่งสมัยเด็กเป็นแฟนบอลลิเวอร์พูล เล่นตำแหน่งกองหลังแต่ไม่มีประวัติในฐานะนักฟุตบอลให้พูดถึงนัก ปลายทศวรรษ 1990 เคยร่วมทีมเร็กซ์แฮมแต่ไม่มีโอกาสลงสนาม ก่อนย้ายไปอยู่กับสโมสรในเวลส์ ฟุตบอล ลีก อย่าง Total Network Solutions, Rhyl, Bangor City และ Portmadog ระหว่างปี 1999 ถึง 2003 โดยบังกอร์ ซิตี เป็นทีมที่คูเปอร์ได้เล่นมากที่สุดแต่ก็แค่ 57 นัดบอลลีก มีผลงาน 3 ประตู และโมเมนต์ที่น่าจดจำคือลงเตะยูฟา คัพ กับ FK Sartid Smederevo เมื่อปี 2002

ช่วงอยู่เร็กซ์แฮมในปี 1998 – 1999 ไบรอัน ฟลินน์ ผู้จัดการทีมขณะนั้น แนะนำให้คูเปอร์ ซึ่งอายุแค่ 19-20 ปี เบนเข็มชีวิตไปเป็นโค้ช  ประวัติระบุว่า คูเปอร์เริ่มร่ำเรียนวิชาโค้ชตามระบบขณะยังมีอาชีพค้าแข้งจนได้รับเลือกเข้าไปทำงานในอะคาเดมีของเร็กซ์แฮม เขายังได้รับยูฟา โปร ไลเซนซ์ ขณะอายุแค่ 27 ปี

หลังใช้เวลาหลายปีกับเร็กซ์แฮม สโมสรได้โปรโมทคูเปอร์ขึ้นเป็นหัวหน้าฝ่ายพัฒนาเยาวชน ก่อนย้ายไปทำงานในสตาฟฟ์โค้ชทีมเยาวชนลิเวอร์พูลในเดือนกันยายน 2008 ช่วงแรกได้รับมอบหมายให้คุมทีม ยู-12

18 กรกฏาคม 2011 คูเปอร์ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการอะคาเดมีของลิเวอร์พูล และคุมทีม ยู-18 ในซีซัน 2012-13 ซึ่งสามารถตะลุยเข้าถึงรอบรองชนะเลิศ เอฟเอ ยูธ คัพ แต่แพ้ต่อเซลซี

10 ตุลาคม 2014 สมาคมฟุตบอลอังกฤษแต่งตั้งคูเปอร์เป็นผู้จัดการทีมชาติ ยู-16 ก่อนขยับไปคุมรุ่น ยู-17 ในเดือนกรกฎาคม 2015 มีโอกาสร่วมงานกับเจดอน ซานโช, ฟิล โฟเดน และคัลลัม ฮัดสัน-โอดอย คูเปอร์พาทีมเยาวชนสิงโตคำรามผ่านเข้าชิงแชมป์แห่งชาติทวีปยุโรป ยู-17 เมื่อปี 2017 แต่ได้เพียงรองแชมป์เมื่อแพ้ดวลจุดโทษสเปน 1-4 หลังจากเสมอกัน 2-2 ก่อนประสบความสำเร็จสูงสุด ครองแชมป์โลก ยู-17 ในเดือนตุลาคม 2017 โดยรอบตัดเชือก อังกฤษชนะบราซิล 3-1 ส่วนรอบชิง อังกฤษชนะสเปน 5-2

คูเปอร์ยังคุมทีม ยู-17 ของอังกฤษต่อไป โดยผลงานศึกลูกหนังยูโร 2018 ในฐานะแชมป์เก่า อังกฤษแพ้ดวลจุดโทษเนเธอร์แลนด์ในรอบรองชนะเลิศ ส่วนปี 2019 ไม่ผ่านเข้ารอบก่อนรองชนะเลิศแม้ชนะสวีเดน 3-1 ในนัดสุดท้ายรอบแบ่งกลุ่ม เขาพ้นตำแหน่งกลางปี 2019 มีผลงานคุมทีมอังกฤษ ยู-17 รวม 66 นัด ชนะ 45 นัด เสมอ 11 นัด แพ้ 10 นัด

เริ่มคุมทีมซีเนียร์ระดับสโมสรกลางปี 2019

13 มิถุนายน 2019 คูเปอร์เซ็นสัญญา 3 ปี เป็นผู้จัดการของ สวอนซี ซิตี ทีมในแชมเปียนชิพ ออกสตาร์ทงานกุนซือระดับสโมสรได้สวยงาม รับรางวัลผู้จัดการยอดเยี่ยมประจำเดือนสิงหาคม 2019 ของแชมเปียนชิพ โดย “เดอะ สวอนส์” ทีมลูกหนังเวลส์ ไม่แพ้ใครในการออกสตาร์ทซีซัน 2019-20 ยืนแป้นจ่าฝูงของลีก เก็บมาได้ 16 คะแนนจาก 6 นัด เป็นการเริ่มต้นฤดูใหม่ที่เยี่ยมที่สุดในรอบ 41 ปีของสโมสร

การระบาดของไวรัสโควิดทำให้แชมเปียนชิพพักแข่งขันชั่วคราว สวอนซีอยู่อันดับ 11 ของตาราง มีแต้มต่ำกว่าโซนเพลย์ออฟ 3 คะแนน จากนั้นบอลลีกกลับมาเตะและนัดสุดท้าย สวอนซีชนะเรดดิง 4-1 ทะยานขึ้นอันดับ 6 เบียดชนะฟอเรสต์ด้วยผลต่างประตู คว้าตั๋วเพลย์ออฟใบสุดท้าย แต่ทีมหงส์ขาวแพ้เบรนท์ฟอร์ดด้วยสกอร์รวม 2-3 ในรอบรองชนะเลิศ

ซีซันที่สอง 2020-21 คูเปอร์พาสวอนซีเล่นเพลย์ออฟอีกครั้งขณะยังเหลือคิวเตะ 2 นัดแม้โดนวิจารณ์เรื่องสไตล์การเล่นและฟอร์มที่กระท่อนกระแท่น สวอนซีจบด้วยอันดับ 4 แต่นัดชิงชนะเลิศแพ้เบรนท์ฟอร์ด 0-2 คูเปอร์และสโมสรประกาศแยกทางกันในเดือนกรกฎาคม 2021

21 กันยายน 2021 งานใหม่ของคูเปอร์ยังอยู่ในแชมเปียนชิพ เขาเซ็นสัญญาเป็นผู้จัดการทีมฟอเรสต์แทนคริส ฮิวจ์ตัน ที่ได้แต้มเดียวจาก 7 นัดแรกและรั้งอันดับบ๊วยของตาราง

คูเปอร์ลงมือปรับปรุงรูปแบบการเล่นของฟอเรสต์ทันที กระตุ้นให้นักเตะมีความมั่นใจมากขึ้นยามครองบอลและเพิ่มเปอร์เซ็นต์ในการบุก เขายังมีอิทธิพลต่อสภาพจิตใจให้มีทีมเวิร์คเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน พร้อมปลูกฝังแนวคิด “big club mentality” เน้นย้ำประวัติศาสตร์ของฟอเรสต์ที่เคยครองความยิ่งใหญ่โดยเฉพาะปลายทศวรรษ 1970 ซึ่งฟอเรสต์ชนะเลิศดิวิชัน 1 ซีซัน 1977-78 ตามด้วยแชมป์ยูโรเปียน คัพ 2 สมัยติดต่อกัน

ฟอเรสต์จบซีซันด้วยอันดับ 4 และเฉือนฮัดเดอร์ฟิลด์ 1-0 นัดชิงชนะเลิศเพลย์ออฟ วันที่ 29 พฤษภาคม 2022 กลับขึ้นมาเล่นพรีเมียร์ลีกนับตั้งแต่รั้งอันดับ 20 ในซีซัน 1998-99 ซึ่งระหว่างนี้ ฟอเรสต์เคยลงไปอยู่เทียร์ 3 หรือลีกวัน 3 ฤดูกาล ฟอเรสต์ตอบแทนคูเปอร์ในเดือนตุลาคมด้วยการขยายสัญญาจนถึงปี 2005

รวมหลายหัวใจเป็นหนึ่งเดียวที่น็อตติงแฮม

อะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้กุนซือผู้มีประสบการณ์คุมสโมสรไม่ถึง 4 ปีเต็ม พาฟอเรสต์ผ่านวิกฤติรุนแรงได้ราวกับผู้จัดการทีมมากประสบการณ์ หนึ่งในทักษะที่คูเปอร์แสดงออกมาได้ชัดเจนคือ “จิตวิทยา”

ตลาดซัมเมอร์ปีที่แล้ว บอร์ดบริหารสนับสนุนคูเปอร์สำหรับการคืนสู่พรีเมียร์ลีกในรอบ 23 ปี ด้วยการเซ็นสัญญานักเตะใหม่ถึง 22 คน บวกอีก 7 คนในตลาดเดือนมกราคม ซึ่งดูเหมือนเป็นเรื่องดีแต่อีกด้านหนึ่งทำให้ขุมกำลังฟอเรสต์เปลี่ยนโฉมหน้าไปอย่างมากเทียบกับซีซันก่อนในแชมเปียนชิพ จำนวนนักเตะมากมายจากหลายเชื้อชาติและต่างลีก แต่คูเปอร์ใช้เวลาอันสั้นสร้างอัตลักษณ์ จิตวิญญาณ และวัฒนธรรมขึ้นมาเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันเหมือนฟอเรสต์เป็นทีมที่ร่วมหัวจมท้ายมานาน

หลายคนแสดงถึงพัฒนาการตลอดซีซัน ไตโว อโวนิยี ซึ่งช่วง 2-3 เดือนแรกดูเหมือนก้อนคาร์บอนที่ยังไม่ได้เจียระไนเป็นเพชร เป็นเจ้าของประตูสำคัญในชัยชนะเหนืออาร์เซนอล ซึ่งเป็น 5 ประตูจาก 3 นัดล่าสุด, สามฮีโรจากซีซันที่แล้ว เบรนแนน จอห์นสัน, ไรอัน เยตส์ และโจ วอร์รัลล์ ต่างพิสูจน์ตัวเองว่าสมควรอยู่ในพรีเมียร์ลีก, มอร์แกน กิบส์-ไวท์ เป้าหมายเบอร์ 1 ของคูเปอร์ในตลาดกลางปีที่แล้ว สมควรได้รับตำแหน่งนักเตะยอดเยี่ยมแห่งปีของฟอเรสต์และถึงเวลาสำหรับทีมชาติอังกฤษ

ขณะที่เอฟเวอร์ตัน, ลีดส์ และเลสเตอร์ ต่างเจอวิกฤติทั้งในและนอกสนาม แต่บรรยากาศที่ซิตี กราวน์ กลับสงบเงียบราวกับอยู่กลางตารางอันดับ แฟนบอลไม่เคยสงสัยความทุ่มเทมุ่งมั่นของนักเตะและการสนับสนุนจากบอร์ดบริหาร

“เดอะ เรดส์” ได้รับกำลังใจจากแรงเชียร์ที่น่าทึ่งเสมอของแฟนบอลทั้งเกมเหย้าและเยือน สังเกตจากความทุ่มเทเกินร้อยในแมตช์กับบิ๊กทีมอย่างเสมอแมนฯซิตี 1-1 (เหย้า), แพ้ลิเวอร์พูล 2-3 (เยือน) และแน่นอน ชนะอาร์เซนอล 1-0 (เหย้า) สิ่งเดียวกันพวกเขาได้มอบให้ระหว่างช่วงเวลาที่เลวร้ายเช่น แพ้เลสเตอร์ -0-4 (เยือน) ยังมีเสียงตะโกนเรียกชื่อคูเปอร์เพื่อให้กำลังใจ และแทบไม่มีเสียงโห่ไล่ให้ได้ยินจากอัฒจันทร์ช่วงฟอเรสต์แพ้ 4 นัดรวดหรือไร้ชัยชนะติดต่อกัน 11 นัด

หนึ่งในเวทมนตร์ของคูเปอร์เห็นได้จากสนามฝึกซ้อม ซึ่งนักเตะและสตาฟฟ์โค้ชรวมหัวใจเป็นหนึ่งเดียว คูเปอร์ให้ความสำคัญกับการสื่อสารและสนับสนุนให้ผู้เล่นแสดงความคิดเห็นออกมา ซึ่งเป็นหนึ่งใน “พฤติกรรมประจำวัน” ของทีมขณะฝึกซ้อม ไม่สำคัญว่าพวกเขาเป็นใครมาจากไหนแต่ทุกคนคือครอบครัวเดียวกัน ดีน เฮนเดอร์สัน ผู้รักษาประตูที่บาดเจ็บ และสตีฟ คุ๊ก กองหลังที่หลุดจากรายชื่อ 25 นักเตะ ยังร่วมเดินทางไปให้กำลังใจเพื่อนๆในแมตช์เยือน

คูเปอร์ไม่ยอมให้ใครมาทำลายจิตวิญญาณของทีม เราจึงเห็นมุมเด็ดขาดจากกุนซือเวลส์ ตัวอย่างเช่น จอนโจ เชลวีย์ กองกลางที่ถูกตัดชื่อออกจากแมตช์เดย์หลังมีปฏิกิริยาแย่ๆไม่ได้อยู่ในทีมที่ไปเยือนแอนฟิลด์ หรืออนาคตของอดีตแนวรุกแมนฯยูไนเต็ด เจสซี ลินการ์ด หายวับไปหลังแสดงอาการไม่ทุ่มเทในครึ่งแรกของแมตช์เยือนที่แพ้ท็อตแนม ฮ็อตสเปอร์

ความละเอียดอ่อนของคูเปอร์ยังพบเห็นกับบุคคลนอกสโมสรด้วย เขาเชิญอดีตผู้เล่นชุดแชมป์ยูโรเปียน คัพ อย่างเช่น จอห์น แม็คโกเวิร์น และแกร์รี เบอร์เทิลส์ มาเยี่ยมชมการฝึกซ้อมบ่อยครั้ง หรือในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ลีห์ วู้ด นักมวยดังที่เป็นแฟนทีมฟอเรสต์ เสียเข็มขัดแชมป์โลกรุ่นเฟเธอร์เวทของสมาคมมวยโลก (WBA) คูเปอร์ได้เชิญมาที่ออฟฟิศของเขาเพื่อให้กำลังใจใน 2-3 วันต่อมา

กำลังใจล้นและเสียงโห่เบาบางในซิตี กราวน์

ซิตี กราวน์ สนามความจุ 30,332 คน ซึ่งเปิดใช้มาตั้งแต่ปี 1898 มีส่วนสำคัญต่อการต่ออายุพรีเมียร์ลีกเพราะก่อนหน้าเตะปิดท้ายในบ้านของพาเลซ จากทั้งหมด 37 คะแนนที่ฟอเรสต์เก็บได้ เป็นแมตช์เหย้าถึง 30 คะแนน แต่ละนัดให้บรรยากาศเหมือนจัดอีเวนท์ไม่ใช่เกมฟุตบอล ทำให้หวนรำลึกถึงยุคทองของสโมสรที่ผงาดเหนือทวีปยุโรป โดยเฉพาะแมตช์กลางคืนที่แสงไฟสะท้อนขึ้นมาจากแม่น้ำเทรนท์

น้ำหนึ่งใจเดียวกันที่คูเปอร์สร้างขึ้นมาแสดงให้เห็นอีกครั้งที่ซิตี กราวน์ วันเสาร์ที่ 20 พฤษภาคม ลินการ์ด ซึ่งลงตัวจริงบอลลีกแค่ 12 นัด และไม่อยู่ในรายชื่อตัวสำรองนัดนี้ด้วยซ้ำ ลงไปโชว์แดนซ์สเต็ปกับแซร์จ ออริเยร์ ก่อนเข้าไปสวมกอดจอห์นสัน และถ่ายรูปกับเพื่อนร่วมทีม

เฮนเดอร์สัน นายทวารที่ยืมมาจากแมนฯยูไนเต็ด เดินโขยกเขยกด้วยไม้เท้า โบกไม้โบกมือให้กองเชียร์, ฌูเลียง เบียงโกเน ซึ่งแทบไม่ได้ลงสนามเพราะบาดเจ็บ เข้ามาดีใจในห้องพักนักกีฬา, คุ๊ก ซึ่งอาจตัดสินใจอำลาฟอเรสต์หลังหลุดจากรายชื่อ 25 ผู้เล่นของทีม ยังเข้ามาสวมกอดคูเปอร์, เคย์เลอร์ นาวาส นายทวารมือ 2 ซึ่งได้เล่นบอลลีก 17 นัดเพราะเฮนเดอร์สันบาดเจ็บ ถ่ายรูปกับก๊วนผู้รักษาประตูและโค้ช แดนนี อัลค็อก, เรแนน โรดี ซึ่งยืมตัวจากแอตเลติโก มาดริด และลงตัวจริงบอลลีก 25 นัด ถึงกับหลั่งน้ำตาด้วยความปลาบปลื้ม

ขอบคุณภาพจาก  https://www.bbc.com/sport/football/65660335

ฟอเรสต์ใช้เวลากว่า 2 ทศวรรษเพื่อขึ้นมาเล่นพรีเมียร์ลีกและได้รับรู้ว่า การเลื่อนชั้นว่ายากแล้ว แต่ที่ยากกว่าคือรักษาตัวให้อยู่รอดปลอดภัยจากการตกชั้น คูเปอร์ ซึ่งเพิ่งมีประสบการณ์คุมทีมซีเนียร์ระดับสโมสรเมื่อกลางปี 2019 อาจไม่ได้รับรางวัลผู้จัดการยอดเยี่ยมแห่งปี แต่การจบพรีเมียร์ลีกซีซันแรกด้วยอันดับ 16 เป็นความสำเร็จใหญ่หลวงที่มองข้ามไม่ได้

เรียบเรียง : ฐปน วันชูเพลา (Senior Football Writer) 

Categories
Special Content

ไทโว อโวนิยี่ : เริ่มต้นนับหนึ่ง กับชัยชนะของ “เจ้าป่า” ที่รอคอยมา 23 ปี

น็อตติงแฮม ฟอเรสต์ หนึ่งในทีมระดับตำนานของวงการฟุตบอลอังกฤษ ต้อนรับกลับคืนสู่พรีเมียร์ลีกเป็นครั้งแรกในรอบ 23 ปี ด้วยการเสริมทัพนักเตะแบบจัดหนัก จัดเต็ม มากกว่า 10 คน เข้าไปแล้ว

และหนึ่งในดีลสำคัญช่วงซัมเมอร์นี้ คือการดึงตัว ไทโว อโวนิยี่ ที่ไม่เคยลงเล่นทีมชุดใหญ่กับลิเวอร์พูลเลยแม้แต่นัดเดียว มาร่วมทีมด้วยค่าตัว 17.5 ล้านปอนด์ ทุบสถิตินักเตะค่าตัวแพงสุดในประวัติศาสตร์สโมสร

จนกระทั่ง 14 สิงหาคม 2022 อโวนิยี่เป็นผู้ทำประตูชัย พาฟอเรสต์เฉือนชนะเวสต์แฮม 1 – 0 นับเป็นประตูแรกของเขา และชัยชนะนัดแรกของทีม “เจ้าป่า” ในลีกสูงสุด ที่รอคอยมานานนับตั้งแต่ฤดูกาล 1998/99

SoccerSuck x ไข่มุกดำ จะพาไปทำความรู้จักกับศูนย์หน้าชาวไนจีเรีย ที่เพิ่งฉลองวันเกิดอายุครบเบญจเพส ไปเมื่อเร็วๆ นี้กันครับ

ฉายแววเก่งที่อิมพีเรียล ซอคเกอร์ อคาเดมี่

ครอบครัวของไทโว อโวนิยี่ มีฐานะยากจน พ่อแม่จึงไม่สามารถหาซื้อรองเท้าฟุตบอลให้กับลูกชายได้ ทำให้ไทโวต้องแก้ปัญหาด้วยการนำรองเท้าเก่า ๆ ที่เหลือทิ้งจากกองขยะ มาซ่อมแล้วใช้เป็นของตัวเอง

แต่ความยากลำบาก ก็ไม่อาจฉุดรั้งความฝันของอโวนิยี่ในการเป็นนักฟุตบอล เขาเริ่มต้นฝึกวิชาลูกหนังครั้งแรก กับกวารา ฟุตบอล อคาเดมี่ ซึ่งก่อตั้งโดยบูโกลา ซารากี อดีตผู้ว่าการรัฐกวารา ประเทศไนจีเรีย

ในปี 2010 อโวนิยี่ในวัย 13 ปี ได้เข้าร่วมแข่งขันฟุตบอลเยาวชนของโคคา-โคลา ในกรุงลอนดอน และได้รับเลือกให้เป็นผู้เล่นทรงคุณค่า (MVP) จนถูกเชิญเข้าร่วมฝึกวิชาลูกหนังกับ อิมพีเรียล ซอคเกอร์ อคาเดมี่

อีก 3 ปีต่อมา อโวนิยี่ ได้ลงเล่นให้กับทีมชาติไนจีเรียชุดเยาวชน เริ่มจากชุดยู-17 (8 นัด 4 ประตู) ต่อด้วยชุดยู-20 (9 นัด 5 ประตู) และชุดยู-23 (7 นัด 2 ประตู) จนได้รับโอกาสให้ติดทีมชาติชุดใหญ่เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2021

ผลงานการยิงประตูในทีมชาติชุดเยาวชนของอโวนิยี่ ทำให้เขาถูกนำไปเปรียบเทียบกับ ราชิดี เยกินี่ เจ้าของสถิติดาวยิงสูงสุดตลอดกาลของทีมชาติไนจีเรียในช่วงทศวรรษที่ 1980s ถึง 1990s (62 นัด 37ประตู)

ฟอร์มการเล่นของไทโว อโวนิยี่ ในทีมชาติไนจีเรียชุดเยาวชนทุกชุด โดดเด่นมาก จนได้รับโอกาสครั้งสำคัญกับการค้าแข้งในลีกใหญ่ยุโรป เป็นการยุติช่วงเวลา 5 ปี กับอิมพีเรียล ซอคเกอร์ อคาเดมี่ ที่ยอดเยี่ยม

6 ปีในแอนฟิลด์ กับช่วงเวลาที่ไม่เคยเป็นใจ

วันสุดท้ายของตลาดซื้อขายนักเตะช่วงซัมเมอร์ปี 2015 ไทโว อโวนิยี่ ได้เริ่มต้นเส้นทางค้าแข้งระดับอาชีพที่อังกฤษ กับลิเวอร์พูล ในยุคที่แบรนแดน ร็อดเจอร์ส เป็นผู้จัดการทีม ด้วยค่าตัว 400,000ปอนด์

แต่ทว่า เขาไม่สามารถลงเล่นให้กับ “หงส์แดง” ได้ เนื่องจากยังไม่มีใบอนุญาตการทำงานในอังกฤษ (เวิร์ก เพอร์มิต) จึงต้องปล่อยให้สโมสรในต่างแดนยืมตัวไปใช้งาน รวม 7 สโมสร ตลอดระยะเวลา 6 ปี

ขอบคุณภาพ https://web.facebook.com/1.FCUnionBerlin

ซึ่งสโมสรสุดท้ายที่ยืมตัวอโวนิยี่ คือ ยูนิโอน เบอร์ลิน ในฤดูกาล 2020/21 ซึ่งหลังจากจบซีซั่นดังกล่าว อโวนิยี่ได้รับเวิร์ก เพอร์มิต จากรัฐบาลอังกฤษเป็นที่เรียบร้อย โอกาสโชว์ฝีเท้าในเมืองผู้ดี ได้เปิดกว้างแล้ว

ความฝันของอโวนิยี่ที่จะได้ลงเล่นกับลิเวอร์พูล ทำท่าว่าจะเป็นจริง แต่เหมือนโชคชะตาจะไม่เข้าข้างอีกครั้ง เมื่อยูนิโอน เบอร์ลิน ตัดสินใจซื้อตัวไปร่วมทีมแบบถาวรในในซีซั่น 2021/22 ด้วยค่าตัว 6.5 ล้านปอนด์

และในซัมเมอร์นี้ ยูนิโอน เบอร์ลิน ขายอโวนิยี่ไปให้ฟอเรสต์ ด้วยค่าตัว 17.5 ล้านปอนด์ ทำให้สโมสรจากเมืองหลวงของเยอรมันทีมนี้ ต้องแบ่งเงินค่าตัว 10 เปอร์เซ็นต์ให้ลิเวอร์พูล ตามที่ระบุไว้สัญญาเมื่อปี 2021

การแยกทางของอโวนิยี่ ทำให้ลิเวอร์พูลได้รับเงิน 2 ต่อ จากกำไรในการขายนักเตะ 6.1 ล้านปอนด์ บวกกับส่วนแบ่งค่าตัวที่ได้จากยูนิโอน เบอร์ลิน อีก 1.75 ล้านปอนด์ รวมทั้งสิ้น 7.85 ล้านปอนด์

ไทโว อโวนิยี่ ไม่มีโอกาสได้สัมผัสพื้นหญ้าที่สนามแอนฟิลด์กับทีมชุดใหญ่ของลิเวอร์พูลเลยแม้แต่เกมเดียว แต่ชีวิตยังต้องดำเนินต่อไป กับต้นสังกัดใหม่ที่เพิ่งเลื่อนชั้นขึ้นพรีเมียร์ลีกครั้งแรกในรอบกว่า 2 ทศวรรษ

ปลดล็อกประตูแรก สู่ชัยชนะที่รอคอยมานาน

เมื่อพูดถึงน็อตติงแฮม ฟอเรสต์ ก็ถือเป็นสโมสรที่เคยสร้างความรุ่งเรืองในช่วงปลายยุค 1970s ด้วยการคว้าแชมป์ยูโรเปี้ยนคัพ 2 สมัยติดต่อกัน มากกว่าแชมป์ลีกสูงสุด ที่ได้เพียงครั้งเดียวเสียอีก

และฟอเรสต์ ก็เป็น 1 ใน 22 ทีม ที่ร่วมก่อตั้ง “พรีเมียร์ลีก” ในฤดูกาล 1992/93 แม้จะเปิดซีซั่นด้วยการเอาชนะลิเวอร์พูล 1 – 0 แต่ท้ายที่สุด พวกเขาก็ตกชั้นจากลีกสูงสุดโฉมใหม่ ตั้งแต่ซีซั่นแรก

หลังจากนั้น ฟอเรสต์ก็กลายเป็น “โย-โย่ ทีม” ขึ้น ๆ ลง ๆ หาความสม่ำเสมอไม่ได้เลย จนมาถึงฤดูกาล 1998/99 คือฤดูกาลสุดท้ายของพวกเขาในลีกสูงสุด และไม่เคยกลับไปอยู่ในจุดนั้นอีกเลย

กระทั่งสตีฟ คูเปอร์ อดีตกุนซือสวอนซี ที่เข้ามาคุมทีมแทนคริส ฮิวจ์ตัน ช่วงต้นซีซั่น 2021/22 และกลายเป็นจุดเปลี่ยนที่พาฟอเรสต์ ชนะเพลย์ออฟ เลื่อนชั้นสู่พรีเมียร์ลีกได้เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1999

ฟอเรสต์ เริ่มต้นซีซั่นใหม่ด้วยการแพ้นิวคาสเซิล 0 – 2 ไทโว อโวนิยี่ ลงเป็นตัวสำรอง และเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ดาวเตะวัย 25 ปี ประเดิมตัวจริงเป็นนัดแรก ในนัดเปิดบ้านเฉือนชนะเวสต์แฮม 1 – 0

ลูกยิงของอโวนิยี่ ในช่วงทดเจ็บครึ่งแรก แม้ว่าจะเป็นจังหวะที่มาแบบไม่ตั้งใจในระยะเผาขน แต่กลายเป็นประตูสุดล้ำค่า ที่ช่วยให้ “เจ้าป่า” เก็บชัยชนะเป็นนัดแรก ในการคัมแบ็กสู่ลีกสูงสุดที่ห่างหายไปนาน

อโวนิยี่ กล่าวว่า “ผมใช้เวลาอยู่นานในการกลับสู่พรีเมียร์ลีก เป็นความฝันของผมที่ยิงประตูได้ และทำให้ทีมชนะ ในฐานะกองหน้า ต้องพร้อมอยู่เสมอเวลาอยู่รอบๆ ประตู ไม่ว่าจะเป็นตัวจริงหรือตัวสำรอง”

ประตูแรกของไทโว อโวนิยี่ ถือเป็นจุดเริ่มที่ดีของน็อตติงแฮม ฟอเรสต์ แต่อีก 36 นัดที่เหลือของฤดูกาล ยังคงต้องเจอกับบททดสอบที่โหดหินอีกมาก เพื่อเอาตัวรอดในสมรภูมิพรีเมียร์ลีกให้ได้

เรียบเรียง: จักรพันธ์ ภู่ทอง

อ้างอิง :

https://www.skysports.com/football/news/11095/12671455/taiwo-awoniyi-from-sewing-his-own-football-boots-through-seven-liverpool-loans-to-nottingham-forest

https://theathletic.com/3373758/2022/06/25/nottingham-forest-taiwo-awoniyi-liverpool/

https://firsttimefinish.co.uk/2021/01/12/story-taiwo-awoniyi-nigerian-liverpools-doorstep/