Categories
Special Content

สองเสือผู้ยิ่งใหญ่ : ดอร์ทมุนด์ vs บาเยิร์น ศัตรูที่รักแห่งบุนเดสลีกา

บาเยิร์น มิวนิค และโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ 2 สโมสรฟุตบอลที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดของประเทศเยอรมนี ซึ่งความขัดแย้งระหว่างคู่ปรับคู่นี้ เกิดขึ้นจากการชิงดีชิงเด่นในสังเวียนลูกหนังล้วน ๆ

นับตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมา การคว้าแชมป์บุนเดสลีกา ว่ากันแค่ “เสือใต้แห่งบาวาเรีย” กับ “เสือเหลืองแห่งรูห์” เท่านั้น ที่ผลัดกันฉลองโทรฟี่ลีกสูงสุด ไม่มีสโมสรอื่นเบียดขึ้นมาครองบัลลังก์ได้เลย

อย่างไรก็ตาม 11 ปีหลังสุด บาเยิร์น ผูกขาดแชมป์ลีกเยอรมันอยู่ทีมเดียว เมื่อฤดูกาลใหม่มาถึง ดอร์ทมุนด์ก็ยังถูกมองว่าเป็นผู้ท้าชิงอันดับหนึ่งเช่นเดิม และหมายมั่นปั้นมือที่จะโค่นยักษ์จากมิวนิคให้ได้

ด้วยความที่ระยะทางระหว่าง 2 เมือง (มิวนิค-ดอร์ทมุนด์) ห่างกันประมาณ 500 กิโลเมตร ทำให้ไม่ค่อยมีภูมิหลังความเกลียดชังรุนแรงตั้งแต่ยุคอดีต ซึ่งจะแตกต่างจากคู่ปรับคู่อื่นๆ ในโลกฟุตบอล

แม้ดีกรีความดุเดือดจะไม่มากเท่ากับบิ๊กแมตช์อื่น แต่เจอกันครั้งใดก็คลาสสิกอยู่เสมอ จนถูกเรียกว่า “Der Klassiker” และนี่คือเรื่องราวที่อยู่ในความทรงจำระหว่าง 2 เสือผู้ยิ่งใหญ่แห่งบุนเดสลีกา

สกอร์ 11 – 1 ชัยชนะขาดลอยที่สุดของ “เสือใต้”

บุนเดสลีกา ฟุตบอลลีกสูงสุดของเยอรมนี ก่อตั้งขึ้นในปี 1963 และอีก 2 ปีหลังจากนั้น บาเยิร์น มิวนิค และโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ได้พบกันเป็นครั้งแรกที่มิวนิค แต่เป็นดอร์ทมุนด์ที่บุกมาชนะ 2 – 0

พอเข้าสู่ยุค 1970s ได้ไม่นาน เกิดเหตุการณ์สำคัญในแมตช์ “แดร์ กลาซิเกอร์” ที่เอาชนะกันแบบขาดลอยที่สุดในประวัติศาสตร์ของบุนเดสลีกา เป็นบาเยิร์นเปิดบ้านถล่มดอร์ทมุนด์ 11 – 1 เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 1971

11 ประตูของ “เสือใต้” มาจากแกร์ด มุลเลอร์ คนเดียว 4 ประตู, อูลี เฮอเนส กับฟรานซ์ โรธ คนละ 2 ประตู, ฟรานซ์ เบคเค่นบาวเออร์, พอล ไบรท์เนอร์ และวิลไฮม์ ฮอฟมันน์ ส่วน “เสือเหลือง” ตีไข่แตกจากดีเทอร์ ไวน์คอฟฟ์

หลังจากสิ้นสุดฤดูกาล 1971/72 แกร์ด มุลเลอร์ ศูนย์หน้าบาเยิร์น คว้าตำแหน่งดาวซัลโวด้วยผลงาน 40 ประตู เป็นตัวเลขสูงสุดภายในซีซั่นเดียว (ก่อนจะถูกโรเบิร์ต เลวานดอฟสกี้ ทุบสถิติในซีซั่น 2020/21 ที่ทำได้ 41 ลูก)

ขณะที่ดอร์ทมุนด์ หนึ่งในสมาชิกผู้ก่อตั้งบุนเดสลีกาตั้งแต่ฤดูกาลแรก ตกชั้นไปเล่นลีกระดับดิวิชั่น 2 หลังจากอยู่ในบุนเดสลีกาได้เพียง 9 ฤดูกาล และใช้เวลานานถึง 4 ปี กว่าจะได้กลับสู่ลีกสูงสุดอีกครั้ง

นับตั้งแต่ช่วงกลางยุค 1960s จนถึงช่วงต้นยุค 1990s บาเยิร์นคว้าแชมป์บุนเดสลีกาได้ถึง 12 สมัย ดูเหมือนว่า “เสือใต้” กำลังจะผูกขาดความยิ่งใหญ่ไปเรื่อยๆ โดยที่ไม่มีทีมไหนเป็นคู่แข่งที่สมน้ำสมเนื้อเลย

ยุคทอง “เสือเหลือง” จากแชมป์เยอรมันสู่เจ้ายุโรป

หลังจากต้องมองดูบาเยิร์น มิวนิค ฉลองแชมป์ครั้งแล้วครั้งเล่า ก็ถึงทีของโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ที่ได้สร้างยุคสมัยที่ยิ่งใหญ่ขึ้นมาบ้าง โดยเริ่มจากการเข้ามาของกุนซืออ๊อตมาร์ ฮิตช์เฟลด์ ตั้งแต่ปี 1991

ซึ่งฤดูกาลแรกของฮิตช์เฟลด์กับดอร์ทมุนด์ ทำได้ดีมากในการลุ้นแย่งแชมป์บุนเดสลีกาจนถึงนัดสุดท้าย จบซีซั่นด้วยตำแหน่งรองแชมป์ มีคะแนนเท่ากับสตุ๊ดการ์ท แพ้เพียงแค่ผลต่างประตูได้-เสีย

แม้หลังจากนั้น ฮิตช์เฟลด์จะทำได้เพียงอันดับ 4 ในลีก 2 ซีซั่นติดต่อกัน แต่การคว้าตัวมัทธีอัส ซามเมอร์ มิดฟิลด์สตุ๊ดการ์ท ที่เคยหักอกดอร์ทมุนด์เมื่อปี 1992 มาร่วมทีม และกลายเป็นคีย์แมนคนสำคัญในยุคทองของสโมสร

ศึกบุนเดสลีกา นัดปิดฤดูกาล 1994/95 ดอร์ทมุนด์ ลุ้นแย่งแชมป์กับแวร์เดอร์ เบรเมน ซึ่งสถานการณ์ก่อนลงสนามเกมสุดท้าย “นกนางนวล” มีคะแนนนำอยู่ 1 แต้ม (สมัยนั้นยังใช้ระบบชนะได้ 2 แต้ม)

ผลปรากฏว่า ดอร์ทมุนด์ ชนะ ฮัมบวร์ก 2 – 0 และได้รับโชคชั้นที่ 2 เมื่อบาเยิร์น มิวนิค ทีมอันดับ 6ปล่อยทีเด็ด ถล่มเบรเมน 3 – 1 ช่วย “เสือเหลือง” แซงคว้าแชมป์ลีกสูงสุดหนแรกในยุค “บุนเดสลีกา”

ความสำเร็จจากแชมป์บุนเดสลีกาสมัยแรก ยังต่อยอดสู่การป้องกันถาดแชมป์ได้สำเร็จในซีซั่นถัดมา และก้าวสู่จุดสูงสุดของยุโรป ในการคว้าแชมป์ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ซีซั่น 1996/97 ที่มิวนิค

อย่างไรก็ตาม หลังจากคว้าแชมป์ยุโรป ฮิตช์เฟลด์ประกาศอำลาทีม ยุคทองของดอร์ทมุนด์ก็ได้สิ้นสุดลง และไปเข้าทางบาเยิร์น ที่ต้องการดึงตัวกุนซือรายนี้มาร่วมงาน หวังทวงความยิ่งใหญ่กลับคืน

“ท่านนายพล” ผู้ทำลายล้าง “เอฟซี ฮอลลีวูด”

ช่วงกลางยุค 1990s คือยุครุ่งเรืองของโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ อย่างแท้จริง แต่อีกด้านหนึ่ง บาเยิร์น มิวนิค ล้มเหลวแบบสุด ๆ เพราะนับตั้งแต่ปี 1995-1998 คว้าแชมป์บุนเดสลีกาได้เพียงสมัยเดียวเท่านั้น

สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะนักเตะบาเยิร์นหลายคน สนใจกอสซิปนอกสนาม ราวกับดาราฮอลลีวูด มากกว่าผลงานในสนาม ทำให้สื่อในเยอรมัน ตั้งฉายาให้กับทีมยักษ์ใหญ่แห่งมิวนิคว่า “เอฟซี ฮอลลีวูด”

บาเยิร์น ในฤดูกาล 1994/95 โจวานนี่ ตราปัตโตนี่ เทรนเนอร์ชาวอิตาลี ทำทีมจบแค่อันดับ 6 ถูกปลดออกไป แล้วอ็อตโต้ เรห์ฮาเกล เข้ามาสานต่อในฤดูกาลถัดมา แต่ก็โดนเชือดก่อนจบซีซั่นไม่กี่นัด

แม้ตราปัตโตนี่ จะรีเทิร์นอย่างยิ่งใหญ่ด้วยการพา “เสือใต้” คว้าถาดแชมป์ในฤดูกาล 1996/97 ทว่าในซีซั่นต่อมา กลับถูกไกเซอร์สเลาเทิร์น ทีมที่เพิ่งเลื่อนชั้น ปาดหน้าคว้าแชมป์ “อิล แทร็ป” ก็ไม่ได้ไปต่อ

ก่อนที่ฤดูกาล 1998/99 จะเริ่มขึ้น บาเยิร์นตัดสินใจเลือกอ๊อตมาร์ ฮิตช์เฟลด์ ผู้เคยพาดอร์ทมุนด์คว้าแชมป์บุนเดสลีกา 2 สมัย และแชมป์แชมเปี้ยนส์ ลีก 1 สมัย มาคุมบังเหียน เพื่อฟื้นฟูทีมให้แข็งแกร่งอีกครั้ง

และความเฮี้ยบของ “ท่านนายพล” ก็ช่วยปลุกเสือใต้ที่หมดสภาพในยุคเอฟซี ฮอลลีวูด ให้กลับมาเป็นเสือใต้ที่น่าเกรงขามเหมือนที่ทุกคนเคยรู้จักอีกครั้ง ด้วยแชมป์บุนเดสลีกา 4 สมัย จาก 6 ฤดูกาลที่คุมทีม

แถมด้วยการเข้าชิงชนะเลิศแชมเปี้ยนส์ ลีก ในฤดูกาล 1998/99 แพ้แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดแบบเจ็บปวด แต่ก็แก้ตัวคว้าแชมป์ได้ในอีก 2 ซีซั่นถัดมา พร้อมกับเอาคืน “ปิศาจแดง” ชนะทั้ง 2 นัด ในรอบ 8 ทีมสุดท้าย

เสือเหลืองกำลังจะจมน้ำ เสือใต้ยื่นมือเข้าช่วย

เข้าสู่ยุค Y2K มัทธีอัส ซามเมอร์ ที่เพิ่งแขวนสตั๊ดได้ไม่นาน เข้ารับตำแหน่งกุนซือคนใหม่ของโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ในปี 2000 และใช้เวลา 2 ซีซั่น พาทีมกลับมาคว้าแชมป์บุนเดสลีกาหนแรกในรอบ 6 ปี

ซามเมอร์ อดีตดาวเตะเจ้าของฉายา “เจ้าชายผมแดง” กลายเป็นคนแรกในประวัติศาสตร์ของดอร์ทมุนด์ ที่ได้ถาดแชมป์ทั้งในฐานะผู้เล่นและโค้ช ซึ่งนั่นคือโทรฟี่ใบเดียวของเขา ตลอดเวลา 4 ฤดูกาลที่คุมทีม

กระนั้น แชมป์บุนเดสลีกาปี 2002 ของ “เสือเหลือง” กลับไม่ช่วยอะไรพวกเขามากนัก เพราะสโมสรเริ่มที่จะเจอปัญหาทางการเงินอย่างหนัก จากการลงทุนขยายสนามเหย้า และการทุ่มเงินเพื่อสู้กับ “เสือใต้”

อีกทั้งการพลาดเข้ารอบแบ่งกลุ่มยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ฤดูกาล 2003/04 ทำให้ดอร์ทมุนด์ขาดรายได้ก้อนโต หนี้สินก็พอกพูนขึ้นเรื่อยๆ จึงจำเป็นต้องปล่อยนักเตะตัวหลักออกไปหลายคน เพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย

ด้วยหนี้สินที่ล้นพ้นตัว เสี่ยงต่อการถูกฟ้องล้มละลาย และการถูกปรับตกชั้น ทำให้ดอร์ทมุนด์ ต้องยอมให้บาเยิร์น มิวนิค คู่แข่งสำคัญ ยื่นมือเข้ามาช่วย ด้วยการให้ยืมเงินจำนวน 2 ล้านยูโร เพื่อเป็นเงินหมุนเวียน

เงิน 2 ล้านยูโรของบาเยิร์น มิวนิค แม้มันจะน้อยนิด เมื่อเทียบกับจำนวนหนี้สินของดอร์ทมุนด์ แต่ก็ช่วยให้ “Yellow Wall” รอดพ้นจากการล้มละลาย พร้อมกับได้รับบทเรียนสำคัญจากความผิดพลาดในครั้งนี้

การเข้ามาของคล็อปป์ เปลี่ยนชีวิตดอร์ทมุนด์

จุดเริ่มต้นการสร้างความสำเร็จของโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ในยุคใหม่ เกิดขึ้นในปี 2005 เมื่อฮานส์ โยฮาคิม วัตช์เก้ เข้ามารับตำแหน่งซีอีโอคนใหม่ ด้วยนโยบายที่จะช่วยให้สโมสรมีความยั่งยืนทางการเงิน

จากสโมสรที่เคยติดหนี้มากกว่า 100 ล้านยูโร ทำให้วัตช์เก้ ได้เปลี่ยนแนวคิดการบริหารสโมสรเสียใหม่ โดยเน้นการสร้างทีมด้วยนักเตะดาวรุ่งเป็นหลัก และผู้จัดการทีมคนหนุ่มที่กระหายความสำเร็จ

แน่นอนว่า นโยบายเช่นนี้ช่วยให้สถานะทางการเงินของสโมสรดีขึ้น แม้จะต้องแลกกับผลงานในสนามที่ตกต่ำลงจนกลายเป็นทีมระดับกลางตาราง และต้องหนีตกชั้นในฤดูกาล 2007/08 ที่จบอันดับ 13

และในซีซั่นต่อมา ดอร์ทมุนด์ ได้โค้ชวัยหนุ่มอย่างเจอร์เก้น คล็อปป์ อดีตกุนซือทีมเล็กๆ อย่าง ไมนซ์ 05เข้ามาเป็นผู้นำในการกอบกู้สโมสร พร้อมกับแพชชั่นที่สูงมากในการเปลี่ยนทีมให้เต็มไปด้วยพลัง

คล็อปป์ได้สร้างยุคทองครั้งใหม่ ด้วยการคว้าถาดแชมป์บุนเดสลีกา 2 สมัยติดต่อกัน ในปี 2011 และ 2012 พร้อมกับแชมป์เดเอฟเบ โพคาล อีก 1 ถ้วย ในปี 2012 ด้วยการถล่มบาเยิร์นขาดลอย 5 – 2

นอกจากความสำเร็จในสนามแล้ว นโยบายการเพิ่มรายได้ และลดรายจ่าย ก็ช่วยให้ดอร์ทมุนด์ประสบความสำเร็จทางธุรกิจด้วย หนิ้สินก็ลดลง จนกลายเป็นหนึ่งในสโมสรที่มีความมั่นคงทางการเงินสูง

ชีวิตการเป็นผู้จัดการทีม แขวนอยู่บนเส้นด้าย

บาเยิร์น มิวนิค และโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ 2 สโมสรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในเยอรมัน แต่ก็มาพร้อมกับความคาดหวังที่สูงมาก ส่งผลถึงอายุงานของกุนซือที่ไม่ยาวนานมากนัก พลาดเมื่อไหร่ มีสิทธิ์ตกงานได้ทุกเมื่อ

ยกตัวอย่างเช่น นิโก้ โควัช ถูกปลดจากกุนซือบาเยิร์น ในเดือนพฤศจิกายน 2019 หลังผลงานแย่ในบุนเดสลีกา แล้วฮันซี่ ฟลิค เข้ามาสานต่อ จบซีซั่นด้วย “เทรบเบิลแชมป์” เที่ยวที่ 2 ต่อจากซีซั่น 2012/13

กรณีของโควัช ก็คล้ายกับนาเกลส์มันน์ เมื่อซีซั่นที่แล้ว ที่ผู้บริหารบาเยิร์นประเมินแล้วว่า ถ้าพบแนวโน้มที่จะล้มเหลว มากกว่าจะประสบความสำเร็จ ก็จะแสดงความเด็ดขาด ด้วยการยื่นซองขาวให้กุนซือทันที

ทางฝั่งดอร์ทมุนด์ ก็มีกรณีของเจอร์เก้น คล็อปป์ ในฤดูกาล 2014/15 ซีซั่นสุดท้ายในการทำงาน จบแค่อันดับที่ 7 เจ้าตัวแสดงความรับผิดชอบกับความล้มเหลว ด้วยการประกาศลาออกจากตำแหน่ง

เรื่องผลงานในสนาม อาจจะไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ทำให้กุนซือต้องแยกทาง อย่างเช่นในปี 2017 โธมัส ทูเคิ่ล มีปัญหากับบอร์ดบริหาร และนักเตะบางคน แม้จะพาดอร์ทมุนด์คว้าแชมป์เดเอฟเบ โพคาลก็ตาม

ในประวัติศาสตร์ 60 ฤดูกาลที่ผ่านมาของฟุตบอลบุนเดสลีกา บาเยิร์นมีการเปลี่ยนแปลงผู้จัดการทีมทั้งหมด 33 ครั้ง จาก 26 คน ขณะที่ดอร์ทมุนด์ มีการเปลี่ยนแปลงผู้จัดการทีมทั้งหมด 49 ครั้ง จาก 43 คน

อ๊อตมาร์ ฮิตช์เฟลด์ คือโค้ช “เสือใต้” ที่คุมทีมนานสุด (6 ปี) หลังจากนั้น โค้ชมีอายุงานเฉลี่ย 1.58 ปี ด้านเจอร์เก้น คล็อปป์ คือโค้ช “เสือเหลือง” ที่คุมทีมนานสุด (7 ปี) หลังจากนั้น โค้ชมีอายุงานเฉลี่ย 1.14 ปี

ฉากจบที่สุดแสนดราม่า เสือใต้ซิวแชมป์ 11 ปีซ้อน

ย้อนกลับไปในนัดสุดท้ายของฤดูกาล 2022/23 ดอร์ทมุนด์ มีโอกาสทองที่จะหยุดยั้งความยิ่งใหญ่ของบาเยิร์น มิวนิค ที่กินเวลายาว 1 ทศวรรษ เมื่อได้เป็นผู้กุมชะตากรรมด้วยตัวเอง ในการลุ้นแชมป์บุนเดสลีกา

สถานการณ์ก่อนลงเตะเกมปิดซีซั่น ดอร์ทมุนด์มีคะแนนนำบาเยิร์นอยู่ 2 แต้ม ถ้าพวกเขาเปิดบ้านชนะไมนซ์ 05 ได้ ก็จะคว้าแชมป์ทันที ส่วนเสือใต้ต้องบุกไปชนะโคโลญจน์ และลุ้นให้เสือเหลืองไม่ชนะด้วย

สกอร์ของทั้ง 2 สนาม หลังจบครึ่งแรก ดอร์ทมุนด์ ตามหลัง 0 – 2 ส่วนบาเยิร์น ขึ้นนำ 1 – 0 นั่นหมายความว่าใน 45 นาทีหลัง เสือเหลืองต้องยิง 3 ประตู หรือลุ้นให้เสือใต้ถูกตีเสมอ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายทั้ง 2 ทาง

เมื่อเข้าสู่ 10 นาทีสุดท้าย ดอร์ทมุนด์ ไล่ตามมาเป็น 1 – 2 ส่วนบาเยิร์น ถูกตีเสมอ 1 – 1 ถ้าจบด้วยสกอร์นี้ ทีมของเอดิน แทร์ซิซ จะคว้าแชมป์ทันที ทว่าก่อนถึงนาทีสุดท้าย จามาล มูเซียล่า ยิงให้เสือใต้ขึ้นนำ 2 – 1

เมื่อบาเยิร์นพลิกกลับมาเป็นฝ่ายที่ได้เปรียบ ความกดดันก็ตกไปอยู่ที่ดอร์ทมุนด์ ช่วงทดเวลาบาดเจ็บ นิคลาส ชูเล่ ยิงตีเสมอให้เสือเหลืองเป็น 2 – 2 ในนาทีที่ 90+6 ยังมีเวลาอีกเล็กน้อย เพื่อทำประตูสู่แชมเปี้ยน

แต่จนแล้วจนรอด ดอร์ทมุนด์ยิงเพิ่มไม่สำเร็จ และอีกสนาม จบลงด้วยชัยชนะ 2 – 1 ของบาเยิร์น ทำให้ทีมของโธมัส ทูเคิ่ล คว้าแชมป์ลีกเยอรมัน 11 ปีซ้อน โดยมี 71 คะแนนเท่ากัน แต่ผลต่างประตูได้เสียดีกว่า

เคน VS ฟุลล์ครุก ดวลความคมครั้งแรกในศึกใหญ่

ก่อนศึกใหญ่ที่ซิกนัล อิดูน่า พาร์ค ในสุดสัปดาห์นี้ ทั้งดอร์ทมุนด์ และบาเยิร์น มิวนิค ยังไม่แพ้ใคร มีคะแนนห่างกัน 2 แต้ม แต่ลูกได้เสีย เสือใต้ตุนไว้เยอะพอสมควร บวกถึง 27 ส่วนเสือเหลือง บวกแค่ 9

ศึก “แดร์ กลาซิเกอร์” 108 ครั้งที่ผ่านมา ยิงประตูเฉลี่ย 3.26 ประตูต่อเกม มีเพียง 5 เกมเท่านั้น ที่จบลงด้วยผลเสมอ 0 – 0 ซึ่งหนล่าสุดที่เสมอแบบไร้สกอร์ ต้องย้อนกลับไปในปี 2016 ที่ซิกนัล อิดูน่า พาร์ค

ซึ่งนักเตะที่ถูกยกให้เป็นความหวังสูงสุดในแนวรุกของทั้ง 2 ฝั่ง นั่นคือ นิคลาส ฟุลล์ครุก ของดอร์ทมุนด์ และแฮร์รี่ เคน ของบาเยิร์น มิวนิค ที่กำลังจะเผชิญหน้ากันในเกมใหญ่ที่สุดของฤดูกาลเป็นครั้งแรก

เคน ย้ายจากท็อตแน่ม ฮอทสเปอร์ ด้วยค่าตัว 100 ล้านยูโร แพงสุดในประวัติศาสตร์ของสโมสร เริ่มต้นฤดูกาลได้อย่างร้อนแรงสุดๆ กดไปแล้ว 12 ประตู กับ 5 แอสซิสต์ จาก 9 นัดแรก เฉพาะในบุนเดสลีกา

สไตล์การเล่นของดาวยิงทีมชาติอังกฤษวัย 30 ปี ไม่ได้มีดีแค่เรื่องทำประตูได้ทุกรูปแบบเท่านั้น เขายังลงมาต่ำเพื่อหาช่องว่าง และผ่านบอลไปให้ลีรอย ซาเน่ รวมถึงตัวรุกคนอื่นๆ เข้าไปยิงประตูได้อีกด้วย

ขณะที่ฟุลล์ครุก ย้ายจากแวร์เดอร์ เบรเมน พร้อมพกดีกรีดาวซัลโวร่วมบุนเดสลีกา เมื่อฤดูกาลที่แล้ว ด้วยผลงาน 16 ประตู กับ 5 แอสซิสต์ ส่วน 9 นัดแรกเฉพาะในลีก ซีซั่นนี้ เริ่มต้นด้วย 2 ประตู กับ 2 แอสซิสต์

กองหน้าทีมชาติเยอรมนี วัย 30 ปี ก็มีสไตล์การเล่นที่คล้ายคลึงกับเคน คือนอกเหนือจากยิงประตูแล้ว ยังสามารถเปิดบอลไปให้ผู้เล่นแนวรุกที่มีความเร็ว เช่นดอนเยลล์ มาเล็น และยูเลี่ยน บรันด์ท ลุ้นจบสกอร์

และพลาดไม่ได้ที่จะรับชมบิ๊กแมตช์นี้ ซึ่งทาง พีพีทีวี เอชดี 36 ยิงสด ศึกโค่นแชมป์! ที่ทุกคนรอคอย กับ บุนเดสลีกา “แดร์ คลาสสิเคอร์” โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ พบ บาเยิร์น มิวนิค วันเสาร์ที่ 4 พ.ย. นี้ เวลาเที่ยงคืนครึ่ง แฟน ๆ “เสือเหลือง” และ “เสือใต้” ห้ามพลาด

ทางสถานีโทรทัศน์ PPTV HD ช่อง 36
ทางออนไลน์ช่องที่ 1 >> https://www.pptvhd36.com/live
และ Application : PPTVHD36 สามารถดาวน์โหลดได้ที่
– iOS : http://goo.gl/Jt1qMA
– Android : http://goo.gl/nTWUS2

ชมไฮไลท์ บุนเดสลีกา และติดตามข่าวสาร ได้แล้วที่ >>
https://www.pptvhd36.com/sport/บุนเดสลีกา

เรียบเรียง : จักรพันธ์ ภู่ทอง

อ้างอิง :

– https://fcbayern.com/en/news/2021/12/11-1-50-years-ago-fc-bayern-celebrated-their-biggest-ever-bundesliga-win

– https://sqaf.club/why-bayern-munich-called-fc-hollywood/

https://bvbbuzz.com/2018/01/24/look-back-borussia-dortmunds-remarkable-financial-recovery/

https://en.wikipedia.org/wiki/Der_Klassiker

https://www.bundesliga.com/en/bundesliga/news/borussia-dortmund-1994-95-remembering-first-title-12164

https://www.bundesliga.com/en/bundesliga/news/fullkrug-harry-kane-tactical-comparison-klassiker-dortmund-bayern-25177

https://www.bundesliga.com/en/bundesliga/news/5-reasons-to-watch-der-klassiker-borussia-dortmund-bayern-munich-kane-neuer-21421

https://www.bundesliga.com/en/bundesliga/news/10-things-on-der-klassiker-bayern-munich-borussia-dortmund-lewandowski-haaland-7885

https://www.bundesliga.com/en/bundesliga/news/joy-and-despair-for-bayern-munich-and-borussia-dortmund-in-klassiker-campaign-like-no-other-25160

Categories
Our Work

Recap “เตะล่าฝัน” ภารกิจเฟ้นหา 17 แข้งเยาวชนไทย บินลัดฟ้าฝึกบอลที่เยอรมัน โดยความร่วมมือกันของ บุนเดสลีกา, กกท. และ PPTV

โครงการ “BDMS Presents Bundesliga Dream เตะ ล่า ฝัน” เกิดจากความร่วมมือระหว่าง การกีฬาแห่งประเทศไทย, บุนเดสลีกา, และ บริษัท บางกอก มีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ้ง จำกัด (PPTV) ร่วมด้วยผู้สนับสนุนอย่าง บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS, แบรนด์กีฬา IMANE, บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ไวไว, ขนมปังกรอบ ตราโฮมมี่ และผลิตภัณฑ์ Compact Brakes

โดยจะนำแข้งเยาวชน U16 ที่ผ่านการคัดเลือกทั้ง 17 คน บินลัดฟ้าไล่ล่าความฝันสู่เส้นทางการเป็นนักเตะอาชีพ กับโปรแกรมฝึกซ้อมสุดเข้นข้น พร้อมดวลแข้งกับอคาเดมีระดับแถวหน้าของเยอรมัน อันได้แก่ ไอน์ทรัคต์ แฟรงค์เฟิร์ต, โบรุสเซีย ดอร์ตมุนด์ และเอฟซี บาเยิร์น มิวนิคเป็นเวลากว่า 3 สัปดาห์ในเดือนพฤษภาคมนี้ ณ ประเทศเยอรมนี หลังจากนั้นจะมีการคัดให้เหลือเพียง 2 นักเตะไทยที่ดีที่สุด เพื่อแยกกันเดินทางไปเก็บประสบการณ์ต่อแบบนักเตะอาชีพ กับทั้งแฟรงค์เฟิร์ต และ ดอร์ตมุนด์ต่ออีก 1 สัปดาห์  ซึ่งตอนนี้ทั้ง 17 คน ได้เดินทางสู่เยอรมันและกำลังร่วมฝึกซ้อมแล้ว

โครงการนี้ นอกจากจะสานฝันและพัฒนานักเตะเยาวชนไทยให้ได้บินลัดฟ้าไปฝึกฟุตบอลที่ประเทศเยอรมันแล้ว ยังเป็นการสร้างโอกาสให้ทีมสตาฟฟ์โค้ชทีมชาติไทยได้เห็นแววของช้างเผือกจากทั่วประเทศที่จะคัดเข้าสู่รั้วทีมชาติอีกด้วย และแน่นอนว่า ปรากฏการณ์ของฟุตบอลไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีกระแสและเรื่องราวต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย นับว่าเป็นส่วนสำคัญของวงการฟุตบอลไทย ในการพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น และทำให้จากเกมกีฬากลายเป็นเกมธุรกิจที่หลายคนต่างจับตามอง 

ซึ่งสอดคล้องไปกับการพัฒนาวงการฟุตบอลไทย และหลักพื้นฐานของการตลาด เมื่อฟุตบอลมีความนิยมเพิ่มมากขึ้น องค์กรที่เกี่ยวข้อง สปอนเซอร์ และหลากหลายธุรกิจก็เดินหน้าเข้าหาฟุตบอลกัน เพราะสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างตรงจุด และมันอาจไม่ใช่แค่การทำ Sport Marketing ที่หลายคนมองแต่นี่คือ Community ขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้น

ในบทความนี้จะขออนุญาต Recap ถึงโครงการนี้ให้ได้อ่านกันสักเล็กน้อย โดยแบ่งออกเป็น 3 ช่วงหลัก ๆ คือ 

1) วันที่ 8 มีนาคม 2566 : งานแถลงข่าวเปิดโครงการ หรือ พิธีลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU)จัดขึ้น ณ ชั้น 25 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ การกีฬาแห่งประเทศไทย 

2) วันที่ 25-26 มีนาคม 2566 : วันคัดเลือก 17 แข้งเยาวชน ด้วยการปิดพื้นที่สนามราชมังคลากีฬาสถาน ปฏิบัติภารกิจเฟ้นหาแข้งอนาคตไทย บรรยากาศภายในงานตั้งแต่เช้ามีบรรดานักเตะเยาวชนรุ่นอายุไม่เกิน 16 ปี จำนวน 120 คน พกความมุ่งมั่นมาพร้อมผู้ปกครองที่ตามมาให้กำลังใจติดขอบสนาม ซึ่งต้องเกริ่นก่อนว่า แข้งเยาวชนทั้ง120 คนนี้ ผ่านการคัดเลือกด้วย Data Base ของ Talent ID มาจากทั่วประเทศ

สำหรับการคัดเลือกนักเตะจัดขึ้นแบบเข้มข้นทั้ง 2 วัน โดยแบ่งนักกีฬาเป็น 6 ทีม ทีมละ 20 คน และได้ลงทีมแข่งขันคนละ 5 แมตช์ โดยมีคณะโค้ชทีมชาติไทยจาก สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ และทีมสตาฟฟ์โค้ชจากเยอรมัน เป็นผู้ให้คะแนนนักเตะที่มีผลงานเข้าตา และทำคะแนนได้ดีที่สุด

โปรแกรมวันแรก ช่วงเช้าจะเป็น Physical Training การทดสอบสมรรถภาพร่างกาย ก่อนที่ช่วงบ่ายจะเป็นการลงทีม ซึ่งนักกีฬา จะได้เล่นคนละ 3 แมตช์ ส่วนโปรแกรมวันที่สอง นักกีฬา 120 คน จะถูกคละทีมไม่ซ้ำกับวันแรก แล้วลงทีมแข่งขัน และประกาศผลช่วงบ่าย โดยรายชื่อ 17 คนที่จะได้บินลัดฟ้าไปเยอรมนี จะประกาศอย่างเป็นทางการในวันที่ 3 เมษายน ต่อไป

สำหรับเกณฑ์การคัดเลือก ออกแบบโดย การ์เลส โรมาโกซา ผู้อำนวยการฝ่ายเทคนิคชาวสเปน ของสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย โดยมีโค้ชจากบุนเดสลีกา กำกับดูแลอีกขั้น เพื่อให้มั่นใจว่าการคัดเลือกครั้งนี้ เป็นไปตามมาตรฐานสากล ที่ยึดหลักเดียวกันทั่วโลก ดังนี้

หลักการคัดเลือกคือ T+MASC (ที+แมส)
T = Talent : ความสามารถพิเศษ ยกตัวอย่างนักเตะไทย “มุ้ย” ธีรศิลป์ แดงดา กับสัญชาตญาณจบสกอร์ หรือ การเคลื่อนที่หนีตัวประกอบของ “เนย์มาร์”
M = Motricity : ผู้เล่นที่มีการทำงานประสานกันของร่างกาย สามารถแก้ไขปัญหาอย่างถูกต้องในสถานการณ์ต่างกัน เช่น สุภโชค สารชาติ และ คริสเตียโน่ โรนัลโด้
A = Availability : ผู้เล่นที่มีทักษะสามารถสัมพันธ์กับลูกฟุตบอลได้เป็นอย่างดี ยกตัวอย่าง “เจ” ชนาธิป สรงกระสินธ์ และ ลิโอเนล เมสซี่
S = Smart : ผู้เล่นที่มีรอบรู้แท็กติกและความฉลาดในเชิงจิตวิทยา นักเตะตัวอย่าง ธีราทร บุญมาทัน และ ลูก้า โมดริช
C = Commitment : ผู้เล่นที่มีศักยภาพด้านจิตวิทยาและทัศนคติที่ดี ทีมเวิร์คดี อุทิศตนเพื่อทีม เช่น สารัช อยู่เย็น และ กฤษดา กาแมน 

3) วันที่ 03 เมษายน 2566 : วันแถลงข่าวเปิดตัว 17 แข้งเยาวชนไทยอย่างเป็นทางการ ณ ลานอีเดน ชั้น 3 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ท่ามกลางแขกผู้มีเกียรติจากสถานเอกอัครราชทูตเยอรมันประจำประเทศไทย การกีฬาแห่งประเทศไทย ตัวแทนจากสโมสรฟุตบอลในบุนเดสลีกา ผู้สนับสนุน และสื่อมวลชน รวมถึง “โค้ชเฮง” วิทยา เลาหกุล อดีตนักเตะไทยคนแรกที่เคยไปร่วมทีมสโมสรบุนเดสลีกา และ “ตอง” กวินทร์ ธรรมสัจจานันท์ นักเตะไทย ที่เคยไปค้าแข้งในลีกสโมรยุโรป ร่วมเป็นสักขีพยานในการประกาศผล

รายชื่อ 17 เยาวชนไทยที่ได้รับเลือกเดินทางไปฝึกฟุตบอลที่ประเทศเยอรมัน ได้แก่

1) นายพิจักษณ์ ดอนวิไทย จากสโมสรเจแฟม ยูไนเต็ด 
2) นาย นภัทร สกุลจันทร์ จากโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี 
3) นายพิชชากร จันทร์เจียม จากคลองโคน-โปลิศเทโร อคาเดมี 
4) นายมิราโก้ อินอร่าม จากโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี
5) นายสิรภพ นิลแสง จากสโมสรบีจี ปทุม ยูไนเต็ด 
6) นายชัยรัตน์ พุ่มรอด จากโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี 
7) นายรังสรรค์ กากแก้ว จากคลองโคน-โปลิศเทโร อคาเดมี 
8) นายชนสรณ์ โชคลาภ จากโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี 
9) นายนที ตามประดับ จากคลองโคน-โปลิศเทโร อคาเดมี 
10) นายธีรภัทร น้อยลา จากสโมสรอุดร ยูไนเต็ด 
11) นายจิรภาส ด้วงเผือก จากโรงเรียนดรุณาราชบุรี  12) นายกฤตกานต์ รุ่งโรจน์เบญจพล จากโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี 
13) นายทาวิน อาจจินดา จากโรงเรียนดรุณาราชบุรี 
14) นายชนมภูมิ ชูพยัคฆ์ จากสโมสรบีจี ปทุม ยูไนเต็ด 
15) นายณัฐวุฒิ แสงอุทัย จากสโมสรเชียงใหม่ ยูไนเต็ด 
16) นายสุรชัย ชาภักดี จากสโมสรเจแฟม ยูไนเต็ด 

17) นายธนทัต คมสัน จากสโมสรบีจี ปทุม ยูไนเต็ด

โดยทั้ง 17 คนเดินทาง ไปฝึกซ้อมที่ประเทศเยอรมนี ภายใต้ชื่อทีม U17 Thailand Dream Team และแน่นอนว่า โครงการนี้ทาง PPTVHD36 ได้ตามไปเก็บภาพบรรยากาศการฝึกซ้อมสุดเข้มข้นคลิดทั้งโครงการอย่างใกล้ชิด พร้อมนำเสนอเรียลิตี้ซีรีย์ BUNDESLIGA DREAM “เตะ ล่า ฝัน” เส้นทางความฝันของแข้งเยาวชนไทย จากจุดเริ่มต้นที่ประเทศไทย ไปจนถึงการฝึกฝนฝีเท้าที่ประเทศเยอรมัน

โดยรายการจะออกอากาศให้ได้รับชมผ่านทางหน้าทางพีพีทีวี เอชดี ช่อง 36 จำนวน 12 ตอน ทุกวันเสาร์ เวลา 12.45 – 13.15 น. ซึ่งเทปแรกได้ออนแอร์ไปแล้วเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม ที่ผ่านมา รับชมย้อนหลังที่นี่ได้เลยค่ะ http://pptv36.tv/1a29

Categories
Special Content

อูนิโอน เบอร์ลิน คลื่นลูกใหญ่จากตะวันออก กับความหวัง..สี่ปีสู่แชมป์บุนเดสลีกาสมัยแรก

Footballing Fairytale ช่วยเพิ่มสีสันความสวยงามและเสน่ห์ให้กับกีฬาลูกหนัง ที่แฟนบอลจะได้เห็นทีมเล็ก ๆ ทีมรองบ่อนประสบความสำเร็จอย่างเช่น เดนมาร์กกับแชมป์ยูโร 1992 และกรีซในรายการเดียวกันอีก 12 ปีต่อมา

ปอร์โตกับถ้วยบิ๊กเอียร์ปี 2004 ถือเป็นเทพนิยายเรื่องหนึ่งก็ได้แม้ “เดอะ ดรากอนส์” จะเป็นมหาอำนาจลูกหนังในโปรตุเกส แต่บนสังเวียนระดับทวีป พวกเขาเป็นเพียงม้านอกสายตา ส่วนเอฟเอ คัพ บอลถ้วยเก่าแก่อายุ 152 ปี ช่วงศตวรรษใหม่ ก็มีตัวอย่างให้เห็นสองครั้ง ปี 2008 พอร์ตสมัธ ซึ่งเล่นในพรีเมียร์ลีกตอนนั้น ชนะคาร์ดิฟ คู่แข่งจากแชมเปียนชิพ1-0 และปี 2013 วีแกนเฉือนแมนฯซิตี 1-0 ได้สิทธิเล่นยูโรปาลีกแต่ตกชั้นเพราะจบพรีเมียร์ลีกด้วยอันดับ 18

บอลถ้วยและทัวร์นาเมนท์ที่ใช้เวลาแข่งขันสั้นๆราวหนึ่งเดือน ว่ายากแล้วที่จะเกิดเรื่องเล่าชวนฝัน กลับยากขึ้นไปอีกกับฟุตบอลลีกที่ต้องรักษาฟอร์มให้สม่ำเสมอนานถึง 8-9 เดือน ซึ่งหากทีมไหนทำสำเร็จ สามารถใช้คำว่า “ปฏิหาริย์” ได้ไม่เกินจริงดังที่เคยเกิดขึ้นกับ เวโรนา แชมป์เซเรีย อา ซีซัน 1984-85, ซามพ์โดเรีย เจ้าของสคูเดตโต ซีซัน 1990-91, โวล์ฟส์บวร์ก แชมป์บุนเดสลีกา ซีซัน 2008-09, มงต์เปลลิเยร์ แชมป์ลีกเอิง ซีซัน 2011-12 และเลสเตอร์ ซิตี แชมป์พรีเมียร์ลีก ซีซัน 2015-16 ซึ่งเป็นตำนานที่ถูกหยิบขึ้นมาอ้างบ่อยครั้งที่สุดในฟุตบอลต้นศตวรรษที่ 21

เลสเตอร์เป็นเทพนิยายลูกหนังที่ใกล้ชิดคนไทยมากที่สุดเพราะก่อนหน้านั้นหกปี กลุ่มทุน Asian Football Investments ซึ่งนำโดยบริษัทคิง พาวเวอร์ กรุ๊ป เข้าเทคโอเวอร์สโมสรในเดือนสิงหาคม 2010 และสื่อไทยได้ตั้งฉายา “เดอะ ฟ็อกซ์” ว่า “จิ้งจอกสยาม”

ซีซัน 2009-10 เลสเตอร์เพิ่งเลื่อนจากลีกวันขึ้นมาอยู่แชมเปียนชิพเป็นปีแรก ใช้เวลาห้าปีครองแชมป์ลีกเทียร์สองในฤดูกาล 2013-14 และจบพรีเมียร์ลีก ซีซัน 2014-15 ด้วยอันดับ 14 ก่อนที่ฤดูกาลต่อมา เคลาดิโอ รานิเอรี ซึ่งเพิ่งรับตำแหน่งผู้จัดการทีมปีแรก พาลูกทีมจิ้งจอกสยามสร้างประวัติศาสตร์ ชนะเลิศลีกสูงสุดสมัยแรก โกยแต้มทิ้งรองแชมป์ อาร์เซนอล 10คะแนน

ฤดูกาลนี้เชื่อว่าแฟนบอลทั่วโลกกำลังจับตามองไปที่ลีกเยอรมนีว่า จะเกิดเทพนิยายเรื่องใหม่ขึ้นหรือไม่ แต่ไม่ใช่คู่แข่งเจ้าประจำอย่างโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ที่มีสิทธิ์โค่นบาเยิร์น มิวนิก ลงจากบัลลังก์บุนเดสลีกาที่ครองยาวนานหนึ่งทศวรรษติดต่อกัน แต่ทีมนั้นเป็นแค่อดีตสโมสรจากเยอรมนีตะวันออก เพิ่งเข้ามาอยู่ระบบฟุตบอลลีกเมืองเบียร์ในปี 1990 และลงแข่งสังเวียนบุนเดสลีกาครั้งแรกในซีซัน 2019-20 แถมทำเซอร์ไพรส์จบด้วยอันดับ 11 ก่อนพัฒนาขึ้นเป็นอันดับ 7, อันดับ 5 และซีซันนี้เป็นการแข่งขันบุนเดสลีกาปีที่ 4 ของพวกเขาในประวัติศาสตร์สโมสรที่มีอายุเพียง 57 ปี (นับเฉพาะช่วงที่ใช้ชื่อทีมปัจจุบัน)

ทีมนั้นคือ “อูนิโอน เบอร์ลิน” ซึ่งเคยยืนแป้นจ่าฝูงบุนเดสลีกาครั้งแรกในประวัติศาสตร์หลังชนะโคโลญจน์ ซึ่งเป็นแมตช์เดย์ที่ 6 ของซีซัน 2022-23 สามารถรักษาอันดับหนึ่งต่อเนื่องถึงนัดที่ 13 และล่าสุดนัดที่ 22 พวกเขาแพ้บาเยิร์น 0-3 ที่มิวนิก รั้งอันดับสาม มี 43 คะแนน ตามหลังแชมป์เก่าและดอร์ทมุนด์ทีมละสามคะแนน ส่วนยูโรปาลีก “ดิ ไอออน วันส์” เข้าถึงรอบ 16 ทีมสุดท้ายแล้ว เจอโรยัล ยูเนียน แซงต์-กิลลัวส์ จากเบลเยียม

งบทำทีมน้อย ใช้สอยประหยัดและชาญฉลาด

เว็บไซต์ข้อมูลสถิติสัญชาติเยอรมัน Transfermarkt เคยประเมินมูลค่านักเตะของสองทีมม้ามืดที่กำลังมาแรง อูนิโอน เบอร์ลิน กับ ไฟร์บวร์ก รวมกันอยู่ที่ 294 ล้านเหรียญสหรัฐ เทียบกับเหล่ายักษ์ใหญ่เมืองเบียร์ บาเยิร์น มิวนิก (967 ล้าน), อาร์เบ ไลป์ซิก (533 ล้าน), โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ (531 ล้าน) และไบเออร์ เลเวอร์คูเซน (517 ล้าน)

อูนิโอน เบอร์ลิน เป็นเพียงแจ็คท่ามกลางเหล่าโกไลแอธ โอลิเวอร์ รูห์เนิร์ต ผู้อำนวยการด้านกีฬาของสโมสร ไม่มีงบมากพอจะซื้อผู้เล่นระดับแชมเปียนส์ลีกหรือยูโรปาลีก และแทบไม่เคยเซ็นสัญญากับนักเตะหนุ่มๆอายุน้อยกว่า 23 ปีเลย เขาวางเป้าไปที่ลีกยุโรประดับรองๆอย่างเบลเยียม, โปแลนด์ และเนเธอร์แลนด์

เก้าปีที่แล้ว เซรัลโด เบ็คเกอร์ ไม่สามารถพาตัวเองจากอะคาเดมีของอาแจ็กซ์ขึ้นมาอยู่ทีมชุดใหญ่ เขาต้องใช้เวลากับทีม PEC Zwolle และ ADO Den Haag จนกระทั่งซัมเมอร์ปี 2019 รูห์เนิร์ตได้เบ็คเกอร์มาแบบฟรีๆ โดยบอลลีกซีซันนี้ กองหน้าวัย 28 ปี ทำ 7 ประตู 4 แอสซิสต์จาก 21 นัด (สถิติก่อนนัดที่ 22 กับบาเยิร์น) ตอนนี้เบ็คเกอร์ถูกตีค่าตัวไว้ราว 16 ล้านเหรียญสหรัฐ

ซัมเมอร์ปีที่แล้ว จอร์แดน ซีบาตรเชอ ย้ายจากยัง บอยส์ เบิร์น ในสวิตเซอร์แลนด์ด้วยค่าตัว 6 ล้านเหรียญสหรัฐ ศูนย์หน้าอเมริกันวัย 26 ปี ที่มีส่วนสูง 191 เซนติเมตรลงสนามบุนเดสลีกา 19 นัด ทำ 4 ประตู 3 แอสซิสต์

เควิน แบห์เรนส์ กองหน้าวัย 32 ปี เล่นในลีกเทียร์สี่จนถึงปี 2018 ก่อนย้ายมาเอสเฟา ซานด์เฮาเซ่น ในบุนเดสลีกา 2 และเซ็นสัญญากับอูนิโอน เบอร์ลิน กลางปี 2021 โดยซีซันนี้ เขาลงบอลลีก 21 นัด ทำไป 4 ประตู 1 แอสซิสต์

“ดิ ไอออน วันส์” ยังเก็บรักษาผู้เล่นเก่าทรงคุณค่าด้วย หนึ่งในนั้นคือ คริสโตเฟอร์ ทริมเมล กัปตันทีมวัย 35 ปี ที่เล่นได้ทั้งแบ็คและวิงแบ็คฝั่งขวา เขาอยู่ราปิด เวียนนา ในลีกบ้านเกิด ออสเตรีย นานหกปีก่อนย้ายมาเล่นให้อูนิโอน เบอร์ลิน ในซีซัน 2014-15 สมัยยังอยู่บุนเดสลีกา 2 ปัจจุบันทริมเมลรับใช้สโมสรรวมทุกรายการ 287 นัด สำหรับบอลลีกซีซันนี้ เขาทำ 5แอสซิสต์จาก 17 นัด

กลางปีที่แล้ว อูนิโอน เบอร์ลิน ยังจ่ายราคาเบาๆได้สองมิดฟิลด์ใหม่เพื่อรับบทกองหนุนสำคัญคือ ยานิค ฮาเบเรอร์ จากไฟร์บวร์ก ที่ลงสนามบุนเดสลีก 19 นัด 1,351 นาที ทำ 5 ประตู 1 แอสซิสต์ และ มอร์เตน ธอร์สบี จากซามพ์โดเรีย ที่โชคร้ายบาดเจ็บ จำกัดผลงานไว้เพียง 14 นัด 452 นาที 1 ประตู 1 แอสซิสต์

อูนิโอน เบอร์ลิน ยังเซ็นยืมตัวหนึ่งปี ดีโอโก ไลเต กองหลังวัย 23 ปีจากปอร์โต มาช่วยเสริมแกร่งให้เกมรับ เขาเล่นบอลลีกไปแล้ว 17 นัด 1,459 นาที จ่ายให้เพื่อนจบหนึ่งสกอร์

โค้ชโลว์โปรไฟล์ ยึดหลัก “ทำงาน ทำงาน ทำงาน”

อีกหนึ่งบุคคลสำคัญโดยตำแหน่งที่พาทีมมาถึงจุดนี้ได้แก่ อูร์ส ฟิสเชอร์ โค้ชชาวสวิสวัย 57 ปี ซึ่งเซ็นสัญญาสองปีกับอูนิโอน เบอร์ลิน เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2018 และเพียงปีเดียวเขาก็พาทีมจากบุนเดสลีกา 2 ขึ้นมาลีกเทียร์หนึ่ง อีกทั้งยังทำเซอร์ไพรส์จบซีซัน 2019-20 ด้วยอันดับ 11 

ยูเลียน เยอร์สัน แบ็คขวาชาวนอร์เวเจียน ที่ร่วมทีมสมัยอยู่ในบุนเดสลีกา 2 ก่อนย้ายไปเล่นกับดอร์ทมุนด์ในตลาดฤดูหนาวที่ผ่านมา ย้อนถึงการเล่นของอูนิโอน เบอร์ลิน ว่า “ทุกนัดเราทำเหมือนกับที่เคยๆทำนั่นแหละ ยึดมั่นในสิ่งที่เราทำได้ดี ยึดมั่นกับแผน เล่นด้วยความกล้าหาญ การจัดระเบียบเกมรับที่อยู่ระดับต้นๆ การโต้กลับฉับพลันที่เราใช้ได้ผลมาตลอด และแน่นอน เราทำงานกันหนัก”

สไตล์ทำทีมของฟิสเชอร์สามารถนิยามด้วยสองคำคือ defending และ transition ภายใต้การรักษาระเบียบวินัยอย่างเข้มข้น อูนิโอน เบอร์ลิน ใช้ฟอร์แมทพื้นฐาน 3-5-2 หรือ 5-3-2 พร้อมหาจังหวะจู่โจมด้วยเคาน์เตอร์แอ็ทแท็ค ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญพาทีมจบซีซันที่แล้วด้วยอันดับห้า พลาดโควตาแชมเปียนส์ลีกเพียงคะแนนเดียว ส่วนซีซันปัจจุบัน ทีมยังไม่เคยหลุดท็อป-5 ของบุนเดสลีกาเลย แต่กระนั้น ฟิสเชอร์ยังให้สัมภาษณ์ว่าเขาแค่ทำงานไปสัปดาห์ต่อสัปดาห์ด้วยเป้าหมายให้ทีมยังได้เล่นในลีกสูงสุดต่อไป

คำพูดกับสื่ออธิบายตัวตนในการทำงานของฟิสเชอร์ได้ดี เขาบริหารจัดการทีมแบบไม่เปิดเผยต่อสาธารณชน ชอบโรเตชันผู้เล่น 11 คนแรกบ่อยครั้ง ซึ่งสร้างความงุนงงต่อเฮดโค้ชคู่แข่ง กุนซือสวิสยังรักษาบรรยากาศแข่งขันที่เข้มข้นในสนามฝึกซ้อม แต่ทำให้ห้องแต่งตัวนักกีฬาอบอวลไปด้วยความสุข

คริสโตเฟอร์ บีเออร์มานน์ นักเขียนเยอรมันเจ้าของหนังสือ Football Hackers: The Science and Art of a Data Revolution พูดถึงฟิสเชอร์ว่า “เขาเป็นโค้ชระดับท็อปแต่คนไม่ค่อยรู้จักเขานัก”

ตามประวัติ ฟิสเชอร์ไม่เคยออกจากสวิตเซอร์แลนด์ทั้งฐานะนักเตะและโค้ชจนกระทั่งบาเซิลไม่ต่อสัญญาใหม่กับเขาแม้เพิ่งพาทีมชนะเลิศสวิส คัพ ปี 2017 เขาว่างงานปีเศษก่อนเดินทางออกนอกประเทศเพื่อคุมทีมอูนิโอน เบอร์ลิน

บีเออร์มานน์เล่าต่อว่า “คนไม่รู้จักอูร์สเพราะเขาไม่ค่อยเก่งเรื่องทำการตลาดให้ตัวเอง เขามักปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ บางครั้งก็ให้ทีมงานรับหน้าที่แทน ขณะที่เยอร์เกน คล็อปป์ เป็นอีกปลายด้านหนึ่งของลำแสง เขามักมีวลีเด็ดๆนำมาอธิบายสถานการณ์เรื่องราวต่างๆได้ดี แต่อูร์สเป็นคนฝั่งตรงข้าม เขาดูน่าเบื่อกว่าที่ตัวเองเป็นจริงๆ สิ่งที่เขาทำคือเรื่องในสนามซ้อมและห้องแต่งตัวนักกีฬา”

บีเออร์มานน์ ซึ่งทำงานให้นิตยสารฟุตบอล 11Freunde เกาะติดอูนิโอน เบอร์ลิน มาตั้งแต่เลื่อนชั้นจากบุนเดสลีกา 2 “อูร์สมีอิทธิพลต่อนักเตะของเขามากดูอย่างเคดีรา เคยเป็นแค่นักเตะที่พอเล่นได้ แต่ฝีเท้าตอนนี้ยกระดับอยู่ในบุนเดสลีกาคลาสไปแล้วเพราะทำงานร่วมกับอูรส์”

รานี เคดีรา มิดฟิลด์ตัวรับวัย 26 ปี เล่นอยู่กับเอาส์บวร์กนานสี่ปีก่อนเซ็นสัญญากับอูนิโอน เบอร์ลิน เมื่อปี 2021 ซีซันนี้เขาเล่นบุนเดสลีกา 20 นัด และยูโรปาลีก 8 นัด เป็นกำลังสำคัญคนหนึ่งของทีม

“อูร์สและสตาฟฟ์โค้ชเปิดวิดีโอเทปอธิบายให้เคดีรารู้ว่าพวกเขาต้องการอะไรในฐานะมิดฟิลด์ จากนั้นเขาก็ปรับการเล่นให้ได้ คุณจะเห็นพัฒนาการของผู้เล่นเกือบทุกคนที่ทำงานกับอูร์ส เพราะถ้าทำไม่ได้ ก็ต้องออกจากทีม”

“อูนิโอน เบอร์ลิน เป็นทีมที่มีการจัดวางเกมรับดีมาก คู่ต่อสู้ที่ครองบอลจะถูกกดดันเสมอ ทุกคนในทีมจะคอยช่วยเหลือซึ่งกันและกันไม่ให้เกิดช่องว่าง ไม่มีทีมไหนในบุนเดสลีกาที่จัดระบบเกมรับได้ดีแบบนี้อีกแล้ว นี่เป็นทีมที่ดีที่เปี่ยมไปด้วยความเชื่อมั่น พวกเขาเป็นนักเตะมีคุณภาพแต่ใช่ว่าจะมีสโมสรในพรีเมียร์ลีกเข้าคิวหวังซื้อพวกเขาหรอกนะ แต่พวกเขาล้วนมีทัศนคติที่ดี แล้วแฟนๆก็ไม่โห่นักเตะตัวเองในวันที่เล่นแย่ด้วย”

ความรักของเรา ทีมของเรา ความภูมิใจของเรา สโมสรของเรา

“Unsere liebe. Unsere mannschaft. Unser stolz. Unser verein.” เป็นเพลงเชียร์ประจำเพื่อให้กำลังใจนักเตะ ซึ่งแปลเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า “Our love. Our team. Our pride. Our club.”

ยูเลียน เยอร์สันเปิดใจถึงการสนับสนุนที่ได้รับจากแฟนๆตลอดสี่ปีครึ่งที่อยู่กับอูนิโอน เบอร์ลิน ว่า “มันมอบพลังงานให้กับเรามากเลย คุณสัมผัสมันได้ตั้งแต่ตอนลงวอร์มอัพ การได้เล่นโดยมีแฟนบอลคอยหนุนหลังช่วยเราได้เยอะ เราจึงมีความเชื่อมั่นเสมอว่าสามารถเอาชนะใครก็ได้โดยเฉพาะที่นี่”

ที่นี่ก็คือ “สตาดิโอน อัน แดร์ อัลเทน เฟิร์สเตอร์ไอ” (Stadion An der Alten Försterei) ซึ่งมีความหมายว่า Stadium at the old forester’s house อยู่ในเมือง Köpenick ในเบอร์ลิน

สนามแห่งนี้เปิดใช้เมื่อปี 1920 สมัยทีมยังใช้ชื่อ SC Union Oberschöneweide เคยได้รับการปรับปรุงสามครั้งในปี 1955, 2000, 2009 ซึ่งสองครั้งหลังสุดเกิดขึ้นหลังการรวมประเทศเยอรมนีตะวันออกกับตะวันตก ซึ่งอูนิโอน เบอร์ลิน ถูกจัดให้เล่นเทียร์สามของลีกเมืองเบียร์ และสนามเหย้าที่เก่าคร่ำคร่าตกยุคเป็นปัจจัยหนึ่งที่ขวางไม่ให้ทีมเลื่อนชั้นทั้งที่ทำผลงานได้ดี

กลางปี 2008 สโมสรตัดสินใจปรับปรุงสนามครั้งใหญ่แต่ขาดงบประมาณ นั่นทำให้เกิด “ปรากฎการณ์” แฟนบอล 2,333คนร่วมกันลงแรงทำงานนับ 140,000 ชั่วโมง เพื่อสร้างสนามฟุตบอลที่ใหญ่ที่สุดในนครเบอร์ลินตั้งแต่ปี 2009 และมีการจัดงานฉลองเปิดใช้งานครั้งแรกเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2013 ทีมเตะนัดพิเศษกับเซลติก แชมป์ลีกสกอตแลนด์ สนามมีความจุ 22,012 คน แบ่งเป็น 3,617 คนที่มีเก้าอี้ให้นั่ง ส่วนที่เหลือยืนบนเทอร์เรซ

จาค็อบ สวีทแมน นักข่าวชาวอังกฤษที่ย้ายมาอยู่นครเบอร์ลินตั้งแต่ปี 2007 กล่าวว่า “ผมไม่เคยเห็นอะไรแบบนั้นมาก่อนในชีวิต มันสำเร็จได้อย่างน่าอัศจรรย์ด้วยน้ำมือของแฟน ๆ”

“ผมอยู่ในแมตช์สุดท้ายของสนามเก่าด้วย ผู้คนต่างกอดกันและกัน ผมไม่อยากขยับตัวออกไปจากที่นั่นเลย มันเป็นอะไรที่โรแมนติกมาก”

“ที่นี่ให้บรรยากาศเหมือนชุมชน แฟนบอลยืนตำแหน่งเดิมบนเทอร์เรซที่พวกเขายืนมาเกือบสามสิบปี ยืนข้าง ๆ คนเดิม จากรุ่นสู่รุ่น นั่นจึงเป็นเรื่องเศร้าเมื่อผมเข้าทำงานที่ออฟฟิศสโมสร เพราะนั่นทำให้ผมเสียตำแหน่งที่เคยยืนไป”

“พนักงานทุกคนในออฟฟิศสโมสรล้วนเป็นแฟนบอล ตั้งแต่ฝ่ายการตลาดยันคนขายตั๋ว คนเหล่านี้ใช้ชีวิตที่นี่มาทั้งชีวิต แปดสิบเปอร์เซ็นต์อยู่ในเมือง Kopenick รวมถึงเดิร์ค ซิงค์เลอร์ ก็สืบทอดตำแหน่งประธานสโมสรมาจากคุณปู่ ทั้งหมดทำให้สโมสรแห่งนี้มีความพิเศษ”

“ความรักของเรา ทีมของเรา ความภูมิใจของเรา สโมสรของเรา” จึงประโยคที่ฝังอยู่ในจิตวิญญาณของทุกคนเกี่ยวข้องกับอูนิโอน เบอร์ลิน

แจ็คจากตะวันออก หาญท้าล้มยักษ์แห่งตะวันตก

อูนิโอน เบอร์ลิน มีจุดกำเนิดมาจาก FC Olympia Oberschöneweide ที่ก่อตั้งสโมสรเมื่อปี 1906 (เยอรมนีแบ่งแยกดินแดนตะวันตกและตะวันออกระหว่างปี 1949 ถึง 1990) ใน Oberschöneweide ซึ่งสมัยนั้นเป็นชานเมืองเบอร์ลิน ก่อนเปลี่ยนชื่อเป็น SC Union 06 Oberschöneweide ในปี 1910 อูนิโอนเป็นหนึ่งในทีมแกร่งของเบอร์ลินตอนนั้น ครองแชมป์ระดับท้องถิ่นหลายสมัย และยังเข้าถึงรอบชิงแชมป์แห่งชาติเยอรมนี ปี 1923 แต่แพ้ฮัมบวร์ก เอสเฟา 0-3

สโมสรเปลี่ยนชื่ออีกหลายครั้งด้วยหลายเหตุผลโดยเฉพาะระหว่างทศวรรษ 1940 ถึง 1950 ก่อนมาเป็น TSC Berlin ในปี 1963 และ 1. FC Union Berlin (ชื่อเต็มอย่างเป็นทางการ) ในปี 1966 ซึ่งถูกใช้ยาวนานถึงปัจจุบัน แต่อูนิโอน เบอร์ลิน ไม่มีผลงานน่าประทับใจนัก ขึ้นๆลงๆระหว่างฟุตบอลลีกเทียร์ 1-2 ของเยอรมนีตะวันออก DDR-Oberliga และ DDR-Ligaส่วนบอลถ้วย อีสต์ เยอรมัน คัพ “ดิ ไอออน วันส์” เข้าถึงรอบชิงชนะเลิศสองครั้งคือ ปี 1968 ชนะ FC Carl Zeiss Jena 2-1 และปี 1986 แพ้ FC Lokomotive Leipzig 1-5

หลังจากสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (เยอรมนีตะวันตก) รวมประเทศกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยเยอรมนี (เยอรมนีตะวันออก) เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 1990 อูนิโอน เบอร์ลิน เข้าเป็นส่วนหนึ่งของระบบฟุตบอลลีกเยอรมนี เริ่มแข่งในลีกภูมิภาคNOFV-Oberliga Mitte ซึ่งเป็นระดับเทียร์สาม ก่อนถูกย้ายไปเล่นลีก Regionalliga Nordost และ Regionalliga Nord โดยทีมมนุษย์เหล็กชนะเลิศถึงห้าสมัยระหว่างปี 1991 ถึง 2001 แต่ไม่สามารถเลื่อนชั้นขึ้นไปแข่งขันในบุนเดสลีกา 2 เนื่องจากสโมสรมีปัญหาทางการเงินโดยเฉพาะปี 1997 ที่เจอวิกฤติถึงขั้นเกือบล้มละลาย

ในที่สุดก็ถึงวันสดใส อูนิโอน เบอร์ลินได้เล่นบุนเดสลีกา 2 หลังจากครองแขมป์ Regionalliga Nord ซีซัน 2000-01 แถมปีนั้นยังได้ชิงชนะเลิศ เยอรมัน คัพ กับชาลเก 04 แต่แพ้ 0-2 อย่างไรก็ตาม พวกเขาอยู่เทียร์สองได้แค่สามปีก็ตกไปอยู่ Regionalliga Nord (เทียร์สาม) ในซีซัน 2004-05 ตามด้วย NOFV-Oberliga Nord (เทียร์สี่) ซีซัน 2005-06 ซึ่งท้ายสุด อูนิโอน เบอร์ลิน เข้าวินและกลับขึ้นมาอยู่เทียร์สามอีกครั้งในซีซัน 2006-07

ฤดูกาล 2008-09 ลีกา 3 ถูกจัดตั้งขึ้นเป็นปีแรกในฐานะลีกเทียร์สามที่อยู่ระหว่าง 2. Bundesliga กับ Regionalliga (ที่กลายเป็นเทียร์สี่) โดยอูนิโอน เบอร์ลิน ซึ่งรั้งอันดับ 4 ของ Regionalliga Nord ในซีซันก่อนหน้านี้ ได้รับคัดเลือกให้ขึ้นมาเล่นลีกา 3 ด้วย

อูนิโอน เบอร์ลิน กลายเป็นแชมป์ทีมแรกในประวัติศาสตร์ลีกเทียร์สามใหม่เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2009 เลื่อนขึ้นมาอยู่บุนเดสลีกา 2 อย่างสง่างาม แต่พวกเขาต้องใช้เวลาถึงสิบปีจึงได้สัมผัสลีกสูงสุดเป็นครั้งแรกหลังจบบุนเดสลีกา 2 ซีซัน 2018-19 ด้วยอันดับสาม ได้สิทธิเตะเพลย์ออฟกับซตุ๊ตการ์ต ทีมจากโซนตกชั้น (อันดับ 16) ของบุนเดสลีกา ผลเสมอกัน 2-2 แต่ทีมมนุษย์เหล็กชนะด้วยกฎการยิงประตูของทีมเยือน ส่งให้ทีมม้าขาวหล่นลงมาเทียร์สองแทน

นั่นทำให้ อูนิโอน เบอร์ลิน เป็นสโมสรจากเบอร์ลินตะวันออกทีมแรกที่ได้แข่งขันบุนเดสลีกา และเป็นทีมที่หกจากเยอรมนีตะวันออกต่อจาก ดีนาโม เดรสเดน, ฮันซา รอสต็อก, วีเอฟเบ ไลป์ซิก, เอเนอร์ยี คอตต์บัส และอาร์เบ ไลป์ซิก

ในการเตรียมทีมเพื่อร่วมสมรภูมิลีกสูงสุด ฤดูกาล 2019-20 อูนิโอน เบอร์ลิน คว้าตัว เนเวน ซูโบติซ ปราการหลังจากแซงต์ เอเตียน, แอนโธนี อูจาห์ กองหน้าจากไมน์ซ 05 และคริสเตียน เกนท์เนอร์ มิดฟิลด์จากซตุ๊ตการ์ต รวมถึงต่อสัญญากับมาร์วิน ฟรีดริช ผู้ยิงประตูสำคัญในเกมเพลย์ออฟกับซตุ๊ตการ์ต

อูนิโอน เบอร์ลิน พัฒนาผลงานในบุนเดสลีกตลอดสามซีซันแรก จบโปรแกรมแข่งด้วยอันดับ 11, 7, 5 ตามลำดับ และกำลังมีโอกาสคว้าแชมป์สมัยแรกในการแข่งขันบุนเดสลีกาเพียงฤดูกาลที่สี่ของพวกเขา

เรียบเรียง : ฐปน วันชูเพลา (Senior Football Writer)