Categories
Special Content

ตามรอยบทบาทใหม่ของ “จอร์จี ฮาจี” กับเป้าหมายพาโรมาเนียครองแชมป์โลก

ทีมชาติโรมาเนียไม่เคยผ่านเข้าไปเล่นฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายตั้งแต่ปี 1998 ถ้านับถึงเวิลด์คัพครั้งล่าสุดที่กาตาร์ก็เป็นเวลา 24 ปี ส่วนรายการชิงแชมป์แห่งชาติทวีปยุโรป ทีมสามสีหรือ The Tricolours ได้ลงสนามรอบสุดท้ายแค่สองครั้งนับจากปี 2000 แถมตกรอบแบ่งกลุ่มทั้งสองสมัย ตอนนี้พวกเขากำลังพยายามครั้งใหม่กับศึกลูกหนังยูโร 2024 รอบคัดเลือก กลุ่มไอ ประเดิมแข้งกับอันดอร์ราและเบลารุส

ผลงานดีที่สุดในเวิลด์คัพของโรมาเนียเกิดขึ้นเมื่อปี 1994 ที่สหรัฐอเมริกา จอร์จี ฮาจี (Gheorghe Hagi) เป็นผู้ส่องแสงสว่างนำทีมไปถึงรอบแปดทีมสุดท้าย ซึ่งเสมอสวีเดน 2-2 ก่อนแพ้ดวลจุดโทษหวุดหวิด 4-5 โดยรอบแรก โรมาเนียยืนแป้นอันดับหนึ่งกลุ่มเอ ชนะโคลอมเบีย 3-1, แพ้สวิตเซอร์แลนด์ 1-4 และเฉือนเจ้าภาพ 1-0 ส่วนรอบ 16 ทีมสุดท้าย โรมาเนียชนะอาร์เจนตินา รองแชมป์เก่า 3-2 ฮาจีทำสามประตูในทัวร์นาเมนท์นี้

ที่โรมาเนีย แฟนบอลพร้อมใจกันตะโกน “Hagi for President” ขณะส่งเสียงเชียร์ทีมชาติที่กำลังสร้างผลงานยิ่งใหญ่ในเวิลด์คัพ 1994 แม้ว่าสองปีต่อมา ฮาจีไม่ได้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีโรมาเนียในปี 1996 แต่เชื่อหรือไม่ ชาวโรมาเนียเขียนชื่อซูเปอร์สตาร์แห่งชาติลงบนบัตรเลือกตั้งประมาณ 2-3 พันคน มากกว่าผู้สมัครบางคนด้วยซ้ำ

แม้แขวนสตั๊ดอำลาวงการไปกว่าสองทศวรรษ ฮาจี ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งเจ้าของและผู้จัดการทีมของสโมสรฟารูล คอนสตันตา ใน Liga I หรือ SuperLiga ลีกสูงสุดประเทศโรมาเนีย กำลังสร้างนักเตะรุ่นใหม่เพื่อพาโรมาเนียไม่ใช่เพียงไปเล่นรอบสุดท้ายเวิลด์คัพ แต่ก้าวสู่เป้าหมายยิ่งใหญ่กว่า นั่นคือแชมป์ฟุตบอลโลก

ปฏิเสธโอกาสไปค้าแข้งในพรีเมียร์ลีกสองครั้ง

ราวสองทศวรรษบนถนนนักฟุตบอลอาชีพตั้งแต่ปี 1982 ที่เอฟซี คอนสตันตา ซึ่งฟูมฟักฮาจีในฐานะนักเตะเยาวชน จนกระทั่งแขวนสตั๊ดกับกาลาตาซรายในปี 2001 ฮาจีได้รับยกย่องให้เป็นหนึ่งในนักฟุตบอลยอดเยี่ยมของโลกช่วงทศวรรษ 1980 ถึง 1990 เขาเคยเล่นให้สองสโมสรยักษ์ใหญ่สเปน เรอัล มาดริด (1990 – 1992) และ บาร์เซโลนา (1994 – 1996) พร้อมรับใช้ชาติ 124 นัด ทำสกอร์รวม 35 ประตู เป็นดาวซัลโวสูงสุดตลอดกาลของโรมาเนียร่วมกับเอเดรียน มูตู

แฟนบอลกาลาตาซารายในตุรกีตั้งฉายาให้ฮาจีว่า Comandante หรือ The Commander ในภาษาอังกฤษ ส่วนที่โรมาเนีย เขาถูกเรียกขานว่า Regele หรือ The King และยังมีอีกหนึ่งสมญานาม The Maradona of the Carpathians (มาราโดนาแห่งคาร์พาเธียนส์) เนื่องจากฮาจีถนัดเท้าซ้ายและยืนตำแหน่งเบอร์ 10 เป็นเพลย์เมคเกอร์ระดับโลกที่ครบเครื่องทั้งการเลี้ยง เทคนิค สายตา จินตนาการ การจ่ายบอล และการยิง ผู้คนมักนำเขาไปเปรียบเทียบกับดีเอโก มาราโดนา ตลอดชีวิตค้าแข้ง ฮาจีเคยครองอันดับสี่ของบัลลงดอร์ประจำปี 1994 และเปเล่ได้ใส่ชื่อเขาไว้ในลิสต์ 125 สุดยอดนักเตะของโลกที่ยังมีชีวิตอยู่เมื่อปี 2004

ฮาจียอมรับว่าเคยมีโอกาสเล่นพรีเมียร์ลีกสองครั้ง “ผมเสียใจนะที่พลาดทั้งสองครั้ง ผมชอบประเทศอังกฤษและมั่นใจว่าแฟนบอลที่นั่นจะสนุกกับสไตล์การเล่นของผม”

ท็อตแนม ฮ็อตสเปอร์ และนิวคาสเซิล ยูไนเต็ด เคยพยายามเซ็นสัญญากับฮาจีช่วงทศวรรษ 1990 แต่โยฮัน ครัฟฟ์ และบาร์เซโลนา เข้ามาในปี 1994 และอีกสองปีต่อมา กาลาตาซารายยื่นเสนอโปรเจ็กต์ใหญ่ที่อยู่ใกล้บ้านเกิดของเขา

“สมัยเด็กผมชอบเควิน คีแกน เขาเป็นไอดอลคนหนึ่ง แน่นอนผมอยากเล่นให้ทีมของเขาที่นิวคาสเซิล แต่ครัฟฟ์โทรหาผมเป็นการส่วนตัวและชวนไปอยู่บาร์เซโลนา มันยากนะในการตอบปฏิเสธ ครัฟฟ์ยังบอกด้วยว่า ผมเป็นนักเตะเบอร์ 10 คนโปรดของเขาทีเดียว”

“จากนั้นคือกาลาตาซาราย พวกเขาต้องการสร้างทีมที่สามารถประสบความสำเร็จระดับทวีป แถมสโมสรยังอยู่ใกล้โรมาเนียอีก ผมคิดอยากกลับไปอยู่ประเทศบ้านเกิดเสมอหลังชีวิตนักฟุตบอล”

ฮาจีเลิกเล่นฟุตบอลอย่างเป็นทางการในวัย 36 ปี และได้รับเกียรติมีแมตช์อำลา “เทสติโมเนียล เกม” ที่ชื่อว่า Gala Hagi เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2001 ระหว่างทีมรวมดาราโรมาเนียกับทีมรวมดารานานาชาติ

คล้อยหลังไม่กี่เดือน ฮาจีกลับเข้าสู่วงการลูกหนังอีกครั้ง ไม่ใช่นักฟุตบอลแต่เป็นผู้จัดการทีม … ผู้จัดการทีมชาติโรมาเนีย !!!

บาดแผลจากความล้มเหลวงานกุนซือทีมชาติ

วันที่ 1 กันยายน 2001 ฮาจีรับตำแหน่งใหญ่แทน ลาสซ์โล โบโลนี ซึ่งลาออกไปคุมทีมสปอร์ติง ลิสบอน ในโปรตุเกส แต่โดนปลดพ้นตำแหน่งไม่กี่เดือนต่อมาหลังจากไม่สามารถพาโรมาเนียเข้าไปเล่นเวิลด์คัพ 2002 

งานแรกเป็นสองนัดสุดท้ายของรอบแบ่งกลุ่ม ฮาจีพาโรมาเนียบุกชนะฮังการี 2-0 และเสมอจอร์เจีย 1-1 ในบ้าน รั้งอันดับสอง กลุ่มแปด ตามหลังอิตาลี 4 คะแนน ได้สิทธิเตะรอบเพลย์ออฟแต่แพ้สโลเวเนียด้วยสกอร์รวม 2-3 แพ้นัดเยือน 1-2 และเสมอนัดเหย้า 1-1 เป็นสมัยแรกที่โรมาเนียไม่ได้ไปเวิลด์คัพนับตั้งแต่ปี 1986

ฮาจีกลับมาคุมทีมอีกครั้งหลังว่างเว้นเกือบสองปี เซ็นสัญญาเป็นโค้ชให้กับ บูร์ซาสปอร์ ทีมในลีกสูงสุดตุรกี ในเดือนกรกฎาคม 2003 แต่ทำงานไม่ถึงสิ้นปีก็แยกทางกับสโมสร มีสถิติชนะ 2 นัด เสมอ 4 นัด แพ้ 6 นัด

ฮาจีมีผลงานดีขึ้นที่สโมสรถัดไป กาลาตาซาราย ระหว่างเดือนมีนาคม 2004 ถึงพฤษภาคม 2005 พาทีมไปไกลถึงแชมป์ตุรกีช คัพ ปี 2005 ด้วยการถล่มเฟเนร์บาห์เช 5-1 แต่สโมสรไม่ต่อสัญญาใหม่เพราะจบได้เพียงอันดับสามบนตารางลีก ฤดูกาล 2004-05 ตามหลังแชมป์ เฟเนร์บาห์เช 4 คะแนน

สเตอัว บูคาเรสต์ ยักษ์ใหญ่โรมาเนีย พยายามดึงตัวฮาจีในฤดูร้อนปี 2005 แต่สู้ค่าจ้างไม่ไหว ฮาจีจึงเซ็นสัญญากับ โพลิเทคนิกา ตีมีซัวรา แทนในเดือนพฤศจิกายน แต่ทำงานได้ซีซันเดียวก็เลิกราเพราะผลงานไม่ดีแถมแนวคิดไม่ลงรอยกับฝ่ายบริหาร

ในที่สุด ฮาจีก็ลงเอยกับ สเตอัว บูคาเรสต์ กลางปี 2007 สามารถพาทีมเข้ารอบแบ่งกลุ่ม แชมเปียนส์ลีก หลังผ่านเกมควอลิฟายด์สองรอบ แต่ทำงานได้ไม่กี่เดือน เขาก็เปิดหมวกอำลาเนื่องจากขัดแย้งอย่างรุนแรงกับจีจี เบคาลี เจ้าของสโมสร โดยยื่นใบลาออกแค่ไม่กี่ชั่วโมงหลังแพ้สลาเวีย ปราก 1-2 ในนัดเยือนของแชมเปียนส์ลีก

ฮาจีกลับมาที่ กาลาตาซาราย อีกครั้งในเดือนตุลาคม 2010 ทำหน้าที่แทนแฟรงค์ ไรจ์การ์ด ซึ่งถูกไล่ออก เขาเซ็นสัญญาระยะสั้นเพียงหนึ่งปีครึ่ง แต่ก็อยู่ไม่ครบสัญญาเช่นเดิม โดนปลดในเดือนมีนาคม 2011 หลังกาลาตาซารายทำผลงานได้ย่ำแย่ในบอลลีก

หลังล้มเหลวมาตลอดหนึ่งทศวรรษในฐานะผู้จัดการทีม แต่จุดหักเหสำคัญกำลังจะเกิดขึ้นกับชีวิตของฮาจีที่ วิโตรูล คอนสตันตา (Viitorul Constanta) สโมสรใหม่ในโรมาเนียที่เพิ่งก่อตั้งเมื่อปี 2009 โดยตัวของฮาจีเอง

ก่อตั้งสโมสรเพื่อทำความฝันให้เป็นจริง

ฮาจีเคยให้สัมภาษณ์ว่า “ผมเป็นคนมีบุคลิกภาพและทัศนคติที่ดี ควบคุมลูกบอลได้ดี และยังมีความเร็วด้วย ผมเติบโตในยุคเรืองรองของทีมชาติเนเธอร์แลนด์ช่วงทศวรรษ 1970 ผมมีโยฮัน ครัฟฟ์ เป็นไอดอล ผมสวมเสื้อหมายเลข 10 เกือบตลอด ผมตระหนักดีว่านั่นหมายถึงการสร้างสรรประตูหรือทำสกอร์”

“ผมสวมเสื้อเบอร์ 10 ทั้งของเรอัล มาดริด และบาร์เซโลนา สองสโมสรที่ดีที่สุดในโลก ผมมีความทะเยอทะยานเสมอที่จะเป็นคนเก่งที่สุด และนั่นเป็นแรงจูงใจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตผม”

หลังประสบความสำเร็จในฐานะนักฟุตบอล ในตอนนี้เป้าหมาย “เดอะ เบสต์” ของฮาจีย้ายไปที่บทบาทผู้จัดการทีมและผู้บริหารสโมสร

ฮาจีก่อตั้งสโมสรวิโตรูล คอนสตันตา ช่วงฤดูร้อนปี 2009 ที่โอวิดิอู (Ovidiu) ในเมืองคอนสตันตา ซึ่งใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศ รองจากกรุงบูดาเปสต์ เป็นทั้งเมืองเก่าแก่ เมืองท่าสำคัญ และเมืองตากอากาศชายทะเล ตั้งอยู่ริมทะเลดำ

วิโตรูลเข้าร่วม Liga III ลีกเทียร์สามของโรมาเนีย ซีซัน 2009-10 ด้วยการสวมสิทธิ์แทนทีม CSO Ovidiu และเพียงปีเดียว ทีมฉายา Pustii lui Hagi หรือ Hagi’s Kids ก็ครองแชมป์ Liga III และเลื่อนชั้นขึ้นไปเล่น Liga II ซีซัน 2010-11 พวกเขาใช้เวลาแค่สองปีครองตำแหน่งรองชนะเลิศระดับเทียร์สอง ทะยานสู่ลีกสูงสุดโรมาเนียเป็นครั้งแรกในซีซัน 2012-13

วิโตรูลจบซีซันแรกบนตาราง Liga I ด้วยอันดับ 13 อยู่เหนือโซนตกชั้นถึง 36 คะแนน ก่อนตกอยู่ในสภาพหนีโซนสีแดงระหว่างสองปีต่อมา ทีมเด็ก ๆ ของฮาจีกลับมามีชีวิตชีวิตอีกครั้งในซีซัน 2015-16 รั้งอันดับ 5 ได้สิทธิควอลิฟายด์รอบสามของยูโรปาลีก

ความมหัศจรรย์เกิดขึ้นในซีซันต่อมา วิโตรูลชนะเลิศ Liga I ซีซัน 2016-17 หลังจากเฉือน CFR Cluj 1-0 ในเกมเหย้าเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2017 โดยเป็นแชมป์ลีกในยุโรปฤดูกาลนั้นที่นักเตะอายุเฉลี่ยน้อยที่สุดคือ 22.2 ปี ทีมเด็ก ๆ ของฮาจีได้เล่นควอลิฟายด์รอบสามของแชมเปียนส์ลีก ซีซัน 2017-18 แต่แพ้ต่อ APOEL สโมสรไซปรัส

ในเดือนมิถุนายน 2021 ฮาจี, จอร์จี โปเปสคู ประธานสโมสรวิโตรูล คอนสตันตา และ คีปรีอัน มาริกา เจ้าของสโมสรฟารูล คอนสตันตา (Farul Constanta) ในลีกเทียร์สอง แถลงข่าวรวมสโมสรกันโดย วิโตรูล คอนสตันตา เข้าไปรวมกับฟารูล คอนสตันตา สโมสรเก่าแก่ที่ก่อตั้งเมื่อปี 1920 และใช้สิทธิของทีมวิโตรูลลงแข่งขัน Liga I ซีซัน 2021-22

ฟารูล คอนสตันตา มีชื่อเดิมว่า เอฟซี คอนสตันตา สโมสรที่ฮาจีเริ่มฝึกปรือวิชาลูกหนังตั้งแต่อายุสิบขวบ และเลื่อนขึ้นอยู่ในทีมชุดใหญ่เมื่อปี 1982 นั่นเอง

ทุ่มเงินสร้างรากฐานที่มั่นคงจากอะคาเดมี

สามปีต่อมาในเดือนกันยายน 2014 ไม่เพียงควบตำแหน่งเจ้าของและประธานสโมสร (ขณะนั้น) ฮาจียังแต่งตั้งตัวเองเป็นผู้จัดการทีมของวิโตรูล คอนสตันตา เพิ่มอีกด้วย เพื่อลงไปคลุกคลีใกล้ชิดกับนักเตะหลังจากวางรากฐานสโมสรผ่านอะคาเดมีที่เขาลงทุนไปมากกว่าสิบล้านปอนด์

ทุกวันนี้ ฮาจียังสนุกสนานระหว่างฝึกซ้อมด้วยการเลี้ยงบอล เตะลูกฟรีคิก และโชว์สกิลผ่านบอล เขาเปรียบเสมือนราชันย์ในปราสาทที่มีเด็กๆเงยขึ้นไปมองความยิ่งใหญ่ในอดีตของเขาด้วยสายตาเลื่อมใสศรัทธา

ฮาจีดึงดูดเด็กกว่าสองร้อยคนจากทั่วโรมาเนียเข้าร่วมอะคาเดมีตอนที่เพิ่งก่อตั้ง เขายังรับสตาฟฟ์เข้ามาทำงานประมาณร้อยคน และผู้เล่นจากอะคาเดมีก็เป็นนักเตะที่เล่นในนามวิโตรูล คอนสตันตา ตั้งแต่ Liga III จนกระทั่งคว้าแชมป์ Liga I ภายในเวลาเพียงแปดปี และสองปีต่อมายังครองแชมป์บอลถ้วยโรมาเนีย ซีซัน 2018-19 ตามด้วยแชมป์ซูเปอร์คัพโรมาเนีย ปี 2019

เงินส่วนใหญ่ที่ได้รับสมัยเป็นผู้เล่นของฮาจีถูกนำมาลงทุนกับสโมสร ฟารูล คอนสตันตา ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมที่อายุเฉลี่ยน้อยที่สุดในยุโรป และให้ความสำคัญอย่างสูงกับการพัฒนานักเตะเยาวชน ฮาจีถึงขนาดเปิดโอกาสในนักเตะอายุแค่ 14 ปี ลงแข่งขันในลีกสูงสุดได้

หลายปีที่ผ่านมา นักเตะวัยรุ่นของฟารูลได้รับความสนใจจากต่างชาติ ย้ายไปเล่นกับอาแจ็กซ์, ฟิออเรนตินา, ไบรท์ตัน และเรนเจอร์ส อีกทั้งเกือบครึ่งหนึ่งของทีมชาติโรมาเนียก็มาจากทีมเด็ก ๆ ของฮาจี 

ฮาจีวางเป้าหมายกับอะคาเดมีไว้ว่า แต่ละปีจะต้องมีนักเตะอย่างน้อยสองคนถูกโปรโมทขึ้นไปร่วมทีมชุดใหญ่ เขาไม่ให้ความสำคัญกับตัวเลขอายุของลูกทีม “ผมโชคดีที่เคยมีครูดี ๆ ช่วยเร่งพัฒนาการด้านฟุตบอล นั่นจึงเป็นสิ่งที่ผมต้องการทำด้วยมือตัวเองด้วย อะคาเดมีเป็นวิธีหนึ่งที่ผมสามารถตอบแทนวงการฟุตบอลที่ผมรู้สึกเป็นหนี้บุญคุญเสมอ”

อะคาเดมีของฟารูลตั้งอยู่นอกตัวเมืองคอนสตันตา สมัยก่อนเคยเป็นพื้นที่เกษตรกรรม เต็มไปด้วยฝูงวัวและแกะ นอกจากนี้ฮาจียังมีแผนสร้างสนามฟุตบอลใหม่ในคอนสตันตา ความจุราวสองหมื่นคน มากกว่าสนามปัจจุบันที่ตั้งอยู่ภายในอะคาเดมีถึงสี่เท่า โดยรัฐบาลโรมาเนียร่วมลงทุนด้วยเกือบร้อยล้านปอนด์โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2025

“ผมกลับมาเมืองคอนสตันตาเพราะผมเกิดที่นี่ นี่เป็นที่ที่ของผม ฟารูลสร้างผมขึ้นมา” ฮาจีกล่าว “ผมกำลังทำงานนี้เพื่อสร้างแชมป์ ผมต้องการสร้างแชมป์โลก ผมเชื่อในสิ่งนี้ ผมเชื่อมั่นในงานที่กำลังลงมือทำ รวมถึงทักษะฝีเท้าของนักฟุตบอลโรมาเนีย”

ขอบคุณภาพจาก  https://www.bbc.com/sport/football/64920773

“คุณจำเป็นต้องวางเป้าหมายให้ใหญ่ที่สุด พร้อมมีศรัทธาเชื่อมั่นอย่างแรงกล้า มิเช่นนั้นคุณจะไปไม่ได้ไกลเท่าไร”

เป้าหมายของฮาจีไม่ได้อยู่เพียงความสำเร็จของฟารูล แต่รวมถึงทีมชาติโรมาเนียที่เขาเคยมีบทบาทสำคัญ ยิงประตูที่สามของนัดเฉือนอาร์เจนตินา 3-2 ลอยลำเข้าถึงรอบก่อนรองชนะเลิศเวิลด์คัพที่สหรัฐอเมริกา

แน่นอน ฮาจีต้องการพาโรมาเนียขึ้นไปถึงบัลลังก์เวิลด์คัพ … เป้าหมายใหญ่เกินตัวไปไหม? … ใช่! ใหญ่ที่สุดสำหรับโรมาเนีย … แต่อย่างที่ฮาจีพูดไว้ “คุณจำเป็นต้องวางเป้าหมายให้ใหญ่ที่สุด พร้อมมีศรัทธาเชื่อมั่นอย่างแรงกล้า มิเช่นนั้นคุณจะไปไม่ได้ไกลเท่าไร”

เรียบเรียง : ฐปน วันชูเพลา (Senior Football Writer) 

Categories
Special Content

เรื่องเล่าตำนานเวิลด์ คัพ : วิตโตริโอ ปอซโซ่ โค้ชหนึ่งเดียว 2 แชมป์ฟุตบอลโลก

ฟุตบอลโลก 2022 เดินทางมาถึงนัดสุดท้ายของทัวร์นาเมนท์ ในวันที่ 18 ธันวาคมนี้ คู่ชิงชนะเลิศประจำการแข่งขันครั้งที่ 22 เป็นการพบกันระหว่าง อาร์เจนตินา กับ ฝรั่งเศส

ทั้ง 2 ทีม ต่างเดิมพันแชมป์โลกสมัยที่ 3 และนักเตะหลายๆ คน ก็มีลุ้นทำสถิติส่วนตัวอีกมากมาย โดยลิโอเนล สกาโลนี่ ผู้จัดการทีม “ฟ้า-ขาว” หวังยุติการรอคอยโทรฟี่ใบนี้ที่ห่างหายไป 36 ปี

ด้านดิดิเย่ร์ เดอช็องส์ เทรนเนอร์ “เลอ เบลอส์” ก็มีลุ้นที่จะเป็นโค้ชคนแรกในรอบ 84 ปี ที่พาทีมเดิมคว้าแชมป์โลก 2 สมัยติดต่อกัน นับตั้งแต่วิตโตริโอ ปอซโซ่ อดีตตำนานโค้ชอิตาลีเคยทำไว้

ไข่มุกดำ x SoccerSuck จะพาไปย้อนเรื่องราวของปอซโซ่ ในการเป็นกุนซือคนแรก และคนเดียวในประวัติศาสตร์ลูกหนัง ที่สามารถป้องกันแชมป์ “เวิลด์ คัพ” ได้สำเร็จ

ผู้คิดค้นแผนการเล่นแบบ “เมโทโด”

ชีวิตในวงการฟุตบอลของวิตโตริโอ ปอซโซ่ เริ่มจากการเป็นนักเตะอาชีพของกราสฮอปเปอร์ ซูริค ในสวิตเซอร์แลนด์ และโตริโน่ ในอิตาลี ก่อนผันตัวมาเป็นกุนซือให้กับทีมชาติอิตาลี ซึ่งเขารับหน้าที่ถึง 4 รอบ

แรงบันดาลใจในการเป็นโค้ชของปอซโซ่ มาจากการเข้าไปชมเกมของสโมสรแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่ใช้แผนการเล่น 2-3-5 จนประสบความสำเร็จ อีกทั้งได้มีโอกาสพบกับชาร์ลี โรเบิร์ตส์ เซ็นเตอร์แบ็กของทีมด้วย

และในช่วงทศวรรษที่ 1930 ปอซโซ่ได้คิดค้นแผนการเล่น 2-3-2-3 ที่เรียกว่า “เมโทโด” (Metodo) มีลักษณะคล้ายตัวอักษร “WW” ที่พัฒนามาจากแผน 2-3-5 ของแมนฯ ยูไนเต็ด และแผน 3-2-2-3 ของอาร์เซน่อล

จุดเด่นของแท็กติกเมโทโด คือผู้เล่นตำแหน่ง “ฮาล์ฟแบ็ก” 3 คน ที่อยู่ตรงกลางระหว่างฟูลแบ็ก 2 คน และกองหน้าด้านใน (Inside forward) 2 คน ทำหน้าที่คอยช่วยดึงตัวประกบผู้เล่นฝ่ายตรงข้าม และเล่นเกมรุกด้วย

การเล่นแบบเมโทโด เหมาะสำหรับทีมที่มีนักเตะประเภทเทคนิคสูง ข้อดีคือช่วยให้เกมรับเหนียวแน่นขึ้นกว่าเดิม และมีประโยชน์ในการตั้งรับเพื่อรอโต้กลับ หรือเคาน์เตอร์-แอทแทค (Counter-attacks)

แผนการเล่นแบบเมโทโด กลายเป็นรากฐานในความสำเร็จของปอซโซ่ กับการคว้าแชมป์ฟุตบอลโลก 2 สมัยติดต่อกัน ในปี 1934 และ 1938 รวมถึงเป็นต้นแบบของแผนการเล่น 4-3-3 ที่รู้จักกันในปัจจุบัน

1934 ฟาสซิสต์ครอง (แชมป์) โลก

ฟุตบอลโลก ครั้งที่ 2 ในปี 1934 อิตาลี ภายใต้การปกครองของเบนิโต มุสโสลินี ผู้นำฟาสซิสต์ในยุคนั้น ได้รับเลือกจากฟีฟ่า ให้เป็นเจ้าภาพการแข่งขันเป็นประเทศแรกของทวีปยุโรป

มีการลือกันว่า มุสโสลินี ได้มีคำสั่งให้อิตาลีต้องคว้าแชมป์โลกมาให้ได้ เพื่อเป็นหน้าเป็นตาให้แก่ตนเองและประเทศชาติ แน่นอนว่าความกดดันทั้งหมดจึงตกมาที่ปอซโซ่อย่างเลี่ยงไม่ได้

เส้นทางของอิตาลีในเวิลด์ คัพ หนนี้ เริ่มจากรอบ 16 ทีมสุดท้าย ชนะ สหรัฐอเมริกา 7 – 1, รอบ 8 ทีมสุดท้าย เสมอ สเปน 1 – 1 ต้องเล่นนัดรีเพลย์ และชนะ 1 – 0 ก่อนที่ในรอบรองชนะเลิศ ชนะ ออสเตรีย 1 – 0

10 มิถุนายน 1934 การแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศ อิตาลี พบกับเชโกสโลวะเกีย จัดขึ้นที่สตาดิโอ นาซิโอนาเล่ พีเอ็นเอฟ ในกรุงโรม ท่ามกลางแฟนบอลในสนามกว่า 55,000 คน

เชโกสโลวาเกีย ยิงขึ้นนำไปก่อน แต่อิตาลีทำ 2 ประตูรวด แซงเอาชนะ 2 – 1 ไรมุนโด ออร์ซี และแองเจโล ชิอาวิโอ ทำคนละ 1 ประตู คว้าแชมป์สมัยแรกในถิ่นของตัวเอง ตามที่มุสโสลีนีต้องการได้สำเร็จ

แม้การจัดการแข่งขันครั้งนี้อาจเต็มไปด้วยข้อครหามากมาย แต่แท็กติก “เมโทโด” ของปอซโซ่ ก็พิสูจน์ให้หลายคนเห็นแล้วว่าประสบความสำเร็จ โดยยิงได้ 12 ประตู เสียไปเพียง 3 ประตู จาก 5 นัด

1938 ป้องกันแชมป์ที่แดนน้ำหอม

เวิลด์ คัพ ครั้งที่ 3 ในปี 1938 ที่ประเทศฝรั่งเศส ภารกิจสำคัญของวิตโตริโอ ปอซโซ่ ในการพาทีมป้องกันตำแหน่งแชมป์โลก ผู้เล่นตัวหลักจากเมื่อ 4 ปีก่อนหน้านั้น ยังคงติดทีมมาหลายคน

เส้นทางของอิตาลีในบอลโลกหนนี้ เริ่มจากรอบ 16 ทีมสุดท้าย ชนะ นอร์เวย์ 2 – 1 (หลังต่อเวลาพิเศษ), รอบ 8 ทีมสุดท้าย ชนะ ฝรั่งเศส 3 – 1 ต่อด้วยรอบรองชนะเลิศ ชนะ บราซิล 2 – 1

19 มิถุนายน 1938 การแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศ อิตาลี พบกับฮังการี จัดขึ้นที่สต๊าด โอลิมปิก เด โคลอมเบส ในกรุงปารีส ท่ามกลางแฟนบอลในสนามกว่า 45,000 คน

ก่อนที่นัดชิงดำจะเริ่มขึ้น มีเสียงลือเสียงเล่าอ้างว่า มุสโสลินี ได้ส่งโทรเลขไปยังทีมชาติอิตาลี ด้วยข้อความว่า “Vincere O Morire” ที่แปลแบบตรงตัวว่า “ชนะ หรือ ตาย” แต่ก็ไม่มีใครสามารถยืนยันได้ว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ในท้ายที่สุด “อัซซูรี่” ก็เอาชนะไปได้ 4 – 2 จากผลงานของจิโน่ โคลาอุสซี่ และซิลวิโอ ปิโอลา คนละ 2 ประตู ทำให้ปอซโซ่ กลายเป็นผู้จัดการทีมคนแรก ที่คว้าแชมป์ฟุตบอลโลกเป็นสมัยที่ 2

นอกจากนี้ ปอซโซ่ ยังเป็นเฮดโค้ชคนแรกในประวัติศาสตร์ ที่คว้าแชมป์ฟุตบอลโลกได้ในต่างประเทศ อาจจะทำให้ผู้คนคลายข้อสงสัยเรื่องความสามารถในตัวเขาไปได้ไม่มากก็น้อย

ผู้ยิ่งใหญ่ที่ไม่มีใครพูดถึง

ก่อนที่นัดชิงดำฟุตบอลโลก 2022 จะเริ่มขึ้น วิตโตริโอ ปอซโซ่ ยังคงเป็นโค้ชเพียงคนเดียว ที่คว้าแชมป์ฟุตบอลโลก 2 สมัยติดต่อกัน แต่ชื่อเสียงของเขา กลับไม่ได้เป็นที่รู้จักจนถูกพูดถึงในวงกว้างแต่อย่างใด

สาเหตุสำคัญคือ ช่วงที่อิตาลีคว้าแชมป์เวิลด์ คัพ ในปี 1934 และ 1938 ประเทศตกอยู่ภายใต้การปกครองของมุสโสลินี่ ผู้นำเผด็จการ จนถูกตั้งข้อสงสัยว่า ความสำเร็จดังกล่าวได้มาแบบใสสะอาดหรือไม่

“มันมีความผิดปกติเล็กน้อย และปอซโซ่ไม่ได้มีชื่อเสียงโด่งดังเท่าที่ควร อาจเป็นเพราะเขาคว้าแชมป์ฟุตบอลโลก ภายใต้ระบอบฟาสซิสต์” จอห์น ฟุต ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ฟุตบอล กล่าว

ขณะที่ ดร.อเล็กซ์ อเล็กซานดรู นักประวัติศาสตร์กีฬา กล่าวเสริมว่า “มีความพยายามให้ปอซโซ่เป็นที่รู้จักให้น้อยที่สุด เพราะเขามีความเชื่อมโยงกับเผด็จการ และเขาต้องเอาตัวรอดจากระบอบนั้น”

ปอซโซ่ เสียชีวิตในวันที่ 21 ธันวาคม 1968 ขณะมีอายุ 82 ปี แม้เรื่องราวความสำเร็จของเขาจะถูกลืมเลือนไป แต่อย่างน้อยที่สุด เจ้าตัวก็ได้ทิ้งมรดกที่ยิ่งใหญ่ให้กับโลกฟุตบอล และจะเป็นตำนานไปอีกนาน 

นัดชิงชนะเลิศเวิลด์ คัพ ในคืนวันนี้ กระแสส่วนใหญ่เทใจเชียร์ลิโอเนล เมสซี่ คว้าแชมป์ก่อนอำลาอย่างยิ่งใหญ่ แต่ดิดิเย่ร์ เดอช็องส์ ก็หวังที่จะสร้างประวัติศาสตร์เทียบเท่ากับวิตโตริโอ ปอซโซ่ ให้ได้เช่นกัน

เรียบเรียง : จักรพันธ์ ภู่ทอง

Categories
Special Content

เรื่องเล่าตำนานเวิลด์ คัพ : ย้อนวีรกรรม “มาราโดน่า” ที่ตราตรึงในฟุตบอลโลก

25 พฤศจิกายน คือวันครบรอบการเสียชีวิตของดิเอโก้ มาราโดน่า อดีตราชาลูกหนังทีมชาติอาร์เจนติน่า ถือเป็นหนึ่งในสุดยอดตำนานของวงการฟุตบอลที่สร้างเรื่องราวต่างๆ ไว้มากมาย

สุดยอดนักฟุตบอลอัจฉริยะอย่างมาราโดน่า ที่มีชีวิตเต็มไปด้วยสีสันทั้งในและนอกสนาม ไม่เคยใช้ชีวิตแบบครึ่งๆ กลางๆ สุดขั้วทั้งด้านขาวและดำ เป็นทั้งที่รัก และถูกเกลียดชังในเวลาเดียวกัน

SoccerSuck x ไข่มุกดำ จะพาย้อนกลับไปดูเหตุการณ์สำคัญที่อยู่ในความทรงจำ ตลอดการลงเล่นเวิลด์ คัพ ทั้ง 4 สมัย ของสุดยอดตำนาน “ฟ้า-ขาว” หมายเลข 10 ที่ดีที่สุดตลอดกาล

1982 ครั้งแรกที่เจ็บปวด

ดิเอโก้ มาราโดน่า ลงเล่นฟุตบอลโลก รอบสุดท้ายเป็นครั้งแรกในปี 1982 ที่ประเทศสเปน ในวัย 21 ปี เป็นนักเตะร่างเล็กที่แม้จะมีส่วนสูงเพียง 165 เซนติเมตร แต่มีเทคนิค และความคล่องตัวสูง

รอบแบ่งกลุ่ม รอบแรก เปิดหัวแพ้เบลเยียม 0 – 1 แต่อีก 2 นัดถัดมา เก็บ 6 คะแนนเต็ม จากการเอาชนะฮังการี 4 – 1 มาราโดน่า เหมาคนเดียว 2 ลูก และชนะเอล ซัลวาดอร์ 2 – 0 เข้ารอบเป็นที่ 2 ของกลุ่ม

เข้าสู่รอบแบ่งกลุ่ม รอบสอง แบ่งเป็น 4 กลุ่ม กลุ่มละ 3 ทีม แชมป์ของกลุ่มเท่านั้น ที่จะได้เข้ารอบรองชนะเลิศ ซึ่งอาร์เจนติน่า อยู่ในกลุ่มสุดโหด เพราะต้องอยู่ร่วมสายกับ 2 ตัวเต็งทั้งบราซิล และอิตาลี

นัดแรก อาร์เจนติน่า พบกับอิตาลี มาราโดน่า ต้องเผชิญหน้ากับปราการหลังสายมืดของอัซซูรี่ ที่ชื่อว่า เคลาดิโอ เจนติเล่ ซึ่งมีชื่อเสียงในด้านการหยุดนักเตะคู่แข่งด้วยสไตล์ฮาร์ดคอร์ ไม่เกรงใจใครทั้งนั้น

และมาราโดน่า ก็ได้ลิ้มรสชาติความโหดร้ายของเจนติเล่ เพราะถูกทำฟาวล์ใส่แทบจะตลอดทั้งเกม แถม “เสือเตี้ย” ยังโดนใบเหลืองในนาทีที่ 35 ข้อหาโวยใส่ผู้ตัดสิน ช่วยทีมไม่สำเร็จ แพ้ไป 1 – 2

นัดที่ 2 พบกับบราซิล ก็เป็นอีกเกมที่มาราโดน่าทำอะไรไม่ได้ อีกทั้งเจ้าตัวโดนไล่ออกในช่วง 5 นาทีสุดท้ายของเกม หลังไปเล่นนอกเกมใส่บาติสต้า มิดฟิลด์แซมบ้า สุดท้ายทีมแพ้ 1 – 3 ตกรอบชนิดที่ไม่มีแต้ม

1986 ซาตานและฮีโร่ใน 4 นาที

ฟุตบอลโลก 1986 ที่เม็กซิโก ถือเป็นทัวร์นาเมนท์สร้างชื่อให้กับดิเอโก้ มาราโดน่าอย่างแท้จริง ด้วยวีรกรรม “หัตถ์พระเจ้า” ที่โด่งดังไปทั่วโลก และท้ายที่สุดก็ชูโทรฟี่เวิลด์ คัพในฐานะกัปตันทีม

ผลงานของมาราโดน่าใน 4 นัดแรก เหมาแอสซิสต์คนเดียว ในนัดที่ชนะเกาหลีใต้ 3 – 1, นัดต่อมายิงตีเสมออิตาลี 1 – 1, จัด 1 แอสซิสต์ นัดที่ชนะบัลแกเรีย 2 – 0 และพาทีมชนะอุรุกวัย 1 – 0 ในรอบ 16 ทีมสุดท้าย

พอมาถึงรอบ 8 ทีมสุดท้าย อาร์เจนติน่า ต้องโคจรมาพบกับอังกฤษ มาราโดน่ารับบททั้งซาตานกับฮีโร่ในเกมเดียวกัน ภายในช่วงเวลาห่างกันแค่ 4 นาที และกลายเป็นเหตุการณ์ที่โลกลูกหนังจะไม่มีวันลืม

นาทีที่ 51 จังหวะที่บอลลอยโด่งกำลังจะเข้าหาประตู มาราโดน่า และปีเตอร์ ชิลตัน นายทวารสิงโตคำราม ต่างเทคตัวขึ้นหาบอลพร้อมกัน มาราโดน่าถึงบอลก่อน และใช้มือปัดเข้าประตูหน้าตาเฉย

มาราโดน่า ให้สัมภาษณ์ภายหลังจบเกมว่า “ส่วนหนึ่งเกิดจากหัวของผม และอีกส่วนหนึ่งเกิดจากหัตถ์ของพระเจ้า” แน่นอนว่าชาวอังกฤษคงจะแค้นฝังหุ่น ชนิดที่ผีไม่เผา เงาไม่เหยียบไปอีกนาน

ต่อมาในนาทีที่ 55 คราวนี้มาราโดน่าได้โชว์ทักษะสุดยอด ด้วยการโซโล่ลากหลบผู้เล่นอังกฤษ 5 คน ก่อนปิดท้ายด้วยการล็อกหลบชิลตัน และยิงเข้าไปชนิดที่แฟนฟุตบอลทั่วโลกถึงกับตกตะลึงตาค้าง

ก่อนที่ในรอบรองชนะเลิศ มาราโดน่าจะยิง 2 ประตูใส่เบลเยียม และมีส่วนสำคัญในการเอาชนะเยอรมันตะวันตก 3 – 2 ภาพที่มาราโดน่า ชูถ้วยแชมป์เวิลด์ คัพ กลายเป็นภาพประวัติศาสตร์ที่จดจำไปตลอดกาล

1990 น้ำตาจากพระเจ้า

ฟุตบอลโลก 1990 ที่ประเทศอิตาลี ดิเอโก้ มาราโดน่า กับภารกิจนำอาร์เจนติน่าป้องกันแชมป์เวิลด์ คัพให้ได้อีกครั้ง โดยคาร์ลอส บิลาร์โด้ เฮดโค้ชจากชุดคว้าแชมป์โลกเมื่อ 4 ปีก่อนหน้านั้น ยังคุมทีมเช่นเดิม

นัดแรก แพ้แคเมอรูนแบบพล็กล็อก 0 – 1 ก่อนที่นัดต่อมาจะชนะสหภาพโซเวียต 2 – 0 และปิดท้ายรอบแรก เสมอกับโรมาเนีย 1 – 1 ที่ซาน เปาโล รังเหย้าของนาโปลี สโมสรที่มาราโดน่าค้าแข้งอยู่ในเวลานั้น

อาร์เจนติน่า จบรอบแบ่งกลุ่มด้วย 3 คะแนน (สมัยนั้นใช้ระบบชนะได้ 2 แต้ม) ได้ผ่านเข้ารอบน็อกเอาต์ในฐานะ 1 ใน 4 ทีมอันดับ 3 ที่ผลงานดีที่สุด แต่รอบ 16 ทีมสุดท้าย ต้องไปชนกับบราซิล คู่ปรับตลอดกาลแห่งอเมริกาใต้

ขณะที่ยังเสมอกัน 0 – 0 จนถึงช่วง 10 นาทีสุดท้าย เหตุการณ์สำคัญก็เกิดขึ้น เมื่อมาราโดน่า แอสซิสต์ให้เคลาดิโอ คานิกเกีย ยิงเข้าไป เป็นประตูเดียวที่เกิดขึ้นในเกมนี้ “ฟ้า-ขาว” ดับ “แซมบ้า” ผ่านเข้ารอบต่อไป

รอบ 8 ทีมสุดท้าย เสมอยูโกสลาเวีย 0 – 0 ใน 120 นาที ต้องดวลจุดโทษตัดสิน มาราโดน่ายิงไม่เข้า แต่อาร์เจนติน่ายังได้เข้ารอบรองชนะเลิศ พบกับเจ้าภาพ ต่อหน้าแฟนๆ ที่ซาน เปาโล เสมอกัน 1 – 1 หลังต่อเวลาพิเศษ

ช่วงการดวลจุดโทษ “เสือเตี้ย” ยิงจุดโทษเป็นคนที่ 4 ให้อาร์เจนติน่า แต่คราวนี้เจ้าตัวสังหารไม่พลาดเหมือนรอบที่แล้ว และคนสุดท้ายของอัซซูรี่ โรแบร์โต้ โดนาโดนี่ ยิงพลาด ส่ง “ฟ้า-ขาว” เข้าชิงกับเยอรมันตะวันตก คู่ปรับเก่า

แต่การที่อาร์เจนติน่า ต้องขาดผู้เล่น 4 คน ที่ติดโทษแบนจากรอบตัดเชือก แถมโดนไล่ออกอีก 2 คนในนัดชิงชนะเลิศ ที่สุดก็ต้านเยอรมันตะวันตกไม่ไหว แพ้ไป 0 – 1 ทำเอามาราโดน่าถึงกับร่ำไห้หลังจบเกมแบบไม่อายใคร

1994 พระเจ้าตกสวรรค์

ฟุตบอลโลก 1994 ที่สหรัฐอเมริกาเป็นเจ้าภาพ ดิเอโก้ มาราโดน่า ลงเล่นรอบสุดท้ายเป็นสมัยที่ 4 ในเกมแรก อาร์เจนติน่า ถล่มกรีซ 4 – 0 เจ้าตัวยิง 1 ประตู และนัดต่อมาจัด 1 แอสซิสต์ เอาชนะไนจีเรีย 2 – 1

แต่หลังจากจบเกมกับ “อินทรีมรกต” เจ้าหน้าที่ได้มีการตรวจสารเสพติดนักเตะทั้ง 2 ทีม ปรากฏว่ามาราโดน่าถูกพบว่าตรวจโด๊ปไม่ผ่าน จึงถูกขับออกจากทัวร์นาเมนท์ และถูกส่งตัวกลับประเทศทันที

ในเวลาต่อมา “เสือเตี้ย” ประกาศยุติการรับใช้ทีมชาติในวัย 33 ปี และ “ฟ้า-ขาว” ที่ไม่มีพระเจ้าอยู่ในทีม ก็ต้องจบเส้นทางเวิลด์ คัพ เพียงแค่รอบ 16 ทีมสุดท้าย โดยแพ้ให้กับโรมาเนีย 2 – 3

ภายหลังจบทัวร์นาเมนท์บอลโลก ที่อเมริกา มาราโดน่าออกมาเปิดเผยว่า สารที่พบในร่างกายของเขา เป็นสารที่มาจากเครื่องดื่มชูกำลังที่ผสมสารต้องห้าม ทว่าก็ไม่ได้มีการขยายผลเรื่องนี้แต่อย่างใด

แม้ตัวของดิเอโก้ มาราโดน่า จะไม่อยู่บนโลกนี้แล้ว แต่วีรกรรมทั้งในและนอกสนาม ยังเป็นเรื่องราวที่จะถูกเล่าต่อกันไปแบบไม่รู้จบ สมกับเป็นสุดยอดนักฟุตบอลที่เกิดมาเพื่อเป็นตำนานอย่างแท้จริง

เรียบเรียง : จักรพันธ์ ภู่ทอง