- รายได้ต่อปีของเอเย่นต์ในพรีเมียร์ลีก อังกฤษในปัจจุบัน อยู่ระหว่าง 2 หมื่นปอนด์ ถึง 26.8 ล้านปอนด์
- ฟีฟ่า กลับมาใช้กฎระเบียบการสอบใบอนุญาตเอย่นต์ฟุตบอลอีกครั้ง หลังยกเลิกไปตั้งแต่ปี 2015
- ในปัจจุบัน ผู้ที่ผ่านการสอบทั้ง 2 รอบ ในปี 2023 และผู้ที่มีใบอนุญาตเดิม มีประมาณ 4,500 คน
ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2023 เป็นต้นไป สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) ได้นำระบบ “FIFA Agent” กลับมาบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบอีกครั้ง เพื่อการจัดระเบียบเอเย่นต์ในวงการฟุตบอลที่เข้มงวดมากขึ้น
โดยผู้ที่สอบผ่านตามกฎ FIFA Agent Regulations ที่มีการปรับปรุงใหม่ จะได้รับใบอนุญาตให้ทำหน้าที่ตัวแทนของนักฟุตบอล รวมถึงผู้ฝึกสอน และสโมสรฟุตบอล ในการทำธุรกรรมต่างๆ ระหว่างประเทศ
วงการฟุตบอลในปัจจุบันที่มีความเป็นธุรกิจมากขึ้น และด้วยเม็ดเงินที่เพิ่มสูงขึ้น นำไปสู่การแข่งขันที่เข้มข้นกว่าเดิม จึงเป็นที่มาของอาชีพ “เอเย่นต์” ซึ่งเกิดขึ้นควบคู่ไปกับอาชีพอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับฟุตบอล
หลายๆ คน ที่ได้เข้ามาทำอาชีพนายหน้าในวงการกีฬา อาจได้แรงบันดาลใจจากภาพยนตร์ฮอลลีวูดเรื่อง “เจอร์รี่ แม็คไกวร์” ที่ทอม ครูซ พระเอกของเรื่อง รับบทเป็นเอเย่นต์นักกีฬาผู้มีความทะเยอทะยาน
ซูเปอร์เอเย่นต์ในวงการฟุตบอล ที่มีอิทธิพลอย่างมาก เช่น ฮอร์เก้ เมนเดส หรือมิโน่ ไรโอล่า (ผู้ล่วงลับ) ถือเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับบรรดาเอเย่นต์ในปัจจุบัน และผู้ที่ต้องการจะเข้าสู่อาชีพเอเย่นต์ในอนาคต
กว่าจะมาเป็น “นายหน้าค้านักเตะ”
ในวงการฟุตบอล เอเย่นต์ คือตัวแทนหรือคนกลางที่เป็นที่ปรึกษา และรับผิดชอบในด้านต่างๆ ของนักฟุตบอล หรือผู้ฝึกสอน เช่น การเจรจาสัญญา, การดูแลสิทธิประโยชน์, การดูแลภาพลักษณ์ เป็นต้น
คุณสมบัติที่สำคัญของเอเย่นต์ฟุตบอล จะต้องมีความรู้ความเข้าใจในด้านกฎหมาย, การจัดการธุรกิจฟุตบอลทั้งในและนอกสนาม รวมถึงสายสัมพันธ์กับนักฟุตบอลคนอื่น ๆ และผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น ครอบครัว, สื่อมวลชน ฯลฯ
การเป็นเอเย่นต์ฟุตบอล อาจเป็นบุคคลธรรมดาที่ต้องสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตเอเย่นต์ให้ผ่าน หรือจะจัดตั้งเป็นนิติบุคคล ที่ได้รับใบอนุญาตอย่างถูกกฎหมายจากฟีฟ่า โดยที่ผู้ก่อตั้งบริษัทไม่จำเป็นต้องสอบใบอนุญาตเอเย่นต์ก็ได้
รายได้ของเอเย่นต์ฟุตบอล จะขึ้นอยู่กับจำนวนนักฟุตบอลที่เป็นลูกค้าประจำตัว รวมถึงชื่อเสียงของนักฟุตบอลแต่ละคน ถ้าหากเป็นนักฟุตบอลระดับซูเปอร์สตาร์ ก็มีโอกาสที่จะได้รับส่วนแบ่งมหาศาลเลยทีเดียว
ตามกฎของฟีฟ่า เอเย่นต์จะได้ส่วนแบ่ง 10 เปอร์เซ็นต์ ของมูลค่าการเซ็นสัญญา แต่ก็มีบ้างที่มาจากค่าจ้าง หรือค่าตอบแทนที่ตกลงกับสโมสร แต่โดยรวมแล้วต้องไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ ของมูลค่าสัญญาทั้งหมดต่อปี
อ้างอิงจากข้อมูลในเว็บไซต์ของ Sports Management Worldwide ระบุว่า เอเย่นต์ของนักเตะในพรีเมียร์ลีก อังกฤษ จะมีรายได้ต่อปีอย่างน้อย 2 หมื่นปอนด์ แต่เอเยนต์บางคนอาจมีรายได้สูงถึง 26.8ล้านปอนด์
ฤดูกาล 2022/23 ทั้ง 20 สโมสรในพรีเมียร์ลีก ได้จ่ายเงินให้ “นายหน้าค้านักเตะ” รวมกัน 318.2 ล้านปอนด์ โดยทีมที่เสียเงินมากที่สุดคือ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ (51.5 ล้านปอนด์) และทีมที่เสียเงินน้อยที่สุดคือ น็อตติ้งแฮม ฟอเรสต์ (4.3 ล้านปอนด์)
ในปัจจุบันนี้ มีเอเย่นต์นักฟุตบอลมากกว่า 2,000 คน ที่ลงทะเบียนกับเอฟเอ เมื่อมีดีลย้ายสโมสร, ต่อสัญญา หรือยกเลิกสัญญา แต่จากนี้ไป ผู้ที่ยังไม่มีใบอนุญาตเอเย่นต์ต้องเข้ารับการสอบตามกฎระเบียบใหม่ของฟีฟ่า
จากระบบคนกลาง กลับสู่ระบบสอบ
ในอดีต ฟีฟ่าเคยมีการจัดสอบเอเยนต์นักฟุตบอลมาก่อน แต่ได้ยกเลิกไปในปี 2015 และนำระบบคนกลาง (Intermediaries) มาใช้แทน เนื่องจากพบปัญหาสำคัญในระบบเอเยนต์นักฟุตบอล 3 ประการ ได้แก่
– ความไม่มีประสิทธิภาพในการออกใบอนุญาตฟีฟ่า เอเย่นต์ ของสมาคมฟุตบอลในหลาย ๆ ประเทศ
– การโยกย้ายนักฟุตบอลที่กระทำโดยฟีฟ่า เอเย่นต์ มีปัญหาเรื่องความโปร่งใส ไม่สามารถตรวจสอบได้
– ความไม่ชัดเจนในเรื่องข้อบังคับระหว่างคนที่ทำหน้าที่เอเย่นต์ของนักฟุตบอล กับตัวแทนของสโมสรต่าง ๆ
สำหรับ “ระบบคนกลาง” มีเป้าหมายในการสร้างความโปร่งใส โดยคุณสมบัติของผู้ที่จะมาทำหน้าที่นี้ จะต้องลงทะเบียนกับฟีฟ่า และมีสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรกับสโมสร หรือนักฟุตบอลที่ตนเองเกี่ยวข้อง
ส่วนค่าตอบแทนของคนกลาง ฟีฟ่าแนะนำว่า ให้เรียกได้ไม่เกิน 3 เปอร์เซ็นต์ ของมูลค่าสัญญา หรือค่าจ้าง แต่ก็สามารถเรียกค่าตอบแทนเท่าที่ต้องการ และต้องเปิดเผยค่าตอบแทนที่ได้รับจากสัญญาให้ฟีฟ่าทราบด้วย
แต่ช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา ระบบคนกลางมีการกอบโกยผลประโยชน์อย่างไร้ขีดจำกัด ทำให้ฟีฟ่าตัดสินใจยกเครื่องอาชีพเอเย่นต์เสียใหม่ ด้วยการกลับมาใช้ระบบจัดสอบฟีฟ่า เอเยนต์อีกครั้งในรอบ 8 ปี
ผู้ที่มีใบอนุญาตจากฟีฟ่าเท่านั้น ที่จะสามารถทำหน้าที่เอเย่นต์ได้ ทำให้สมาชิกในครอบครัวของนักฟุตบอล ที่เคยเป็นเอเย่นต์จากระบบคนกลาง จำเป็นจะต้องสอบฟีฟ่า เอเย่นต์ให้ผ่านตามกฎระเบียบใหม่ด้วย
เส้นทางที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ
เมื่อฟีฟ่ามีการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบใหม่สำหรับผู้ที่จะมาเป็นตัวแทนเจรจาในวงการฟุตบอล โดยใช้วิธีการสอบเพื่อให้ได้รับใบอนุญาต จึงไม่ใช่เรื่องง่ายของหลาย ๆ คน ที่ต้องการจะเข้าสู่อาชีพเอเย่นต์ในวงการลูกหนัง
วิธีการเตรียมตัวสอบ ยกตัวอย่างเช่น ดาวน์โหลดคู่มือการเป็นเอเย่นต์นักฟุตบอลที่มีความหนาประมาณ 500 หน้าจากเว็บไซต์มาศึกษาเอง หรือการเปิดติวสอบทั้ง Online และ On-site คิดค่าใช้จ่ายเป็นรายชั่วโมง เป็นต้น
ในวันสอบ ผู้เข้าสอบจะต้องทำข้อสอบในรูปแบบปรนัย หรือมีตัวเลือก ตามชุดข้อสอบที่ระบบสุ่มเลือกมาให้แต่ละคน จำนวน 20 ข้อ ภายในเวลา 1 ชั่วโมง และต้องตอบถูกอย่างน้อย 75 เปอร์เซ็นต์ หรือ 15 ข้อ จึงจะถือว่าสอบผ่าน
สำหรับในการสอบครั้งแรก เมื่อเดือนเมษายน 2023 มีผู้สมัครเข้ามาในระบบ 6,586 คน จาก 138 สมาคมฟุตบอลทั่วโลก ในจำนวนนี้ เข้ามาทำการสอบ 3,800 คน และสอบผ่าน 1,962 คน (คิดเป็น 52 เปอร์เซ็นต์)
และการสอบครั้งที่ 2 เมื่อเดือนกันยายน 2023 มีผู้สมัครเข้ามาในระบบ 10,383 คน จาก 157 สมาคมฟุตบอลทั่วโลก ซึ่งนับจนถึงปัจจุบัน มีผู้ที่ได้รับใบอนุญาตจากการสอบทั้ง 2 รอบ และผู้ที่มีใบอนุญาตอยู่ก่อนแล้ว รวมกันไม่น้อยกว่า 4,500 คน
ผู้ที่สอบไม่ผ่าน ก็สามารถสอบใหม่ได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง จนกว่าจะสอบผ่าน เพียงแต่ไม่ได้จัดสอบบ่อยๆ ในแต่ละปี ซึ่งพวกเขาต้องเตรียมตัวให้ดีกว่าเดิม เพราะคนที่จะเข้ามาทำงานด้านนี้ ต้องเป็นคนที่เจ๋งจริง ๆ เท่านั้น
เตรียมตัวให้พร้อม ก่อนลุยสนามสอบ
หลังจากการสอบ FIFA Football Agent Examination ในปี 2023 ได้ผ่านพ้นไปแล้ว และยังมีอีกหลายคนที่สนใจจะเข้าสู่อาชีพเอเย่นต์ในวงการฟุตบอล ซึ่งพวกเขาเหล่านี้จะต้องเตรียมตัวให้พร้อมที่สุด ก่อนเข้าสู่ห้องสอบ
สำหรับปี 2024 ก็จะมีการเปิดรับสมัคร และสอบ 2 ครั้งเช่นเดิม ครั้งที่ 1 รับสมัครระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 31 มีนาคม (สอบประมาณเดือนพฤษภาคม) ส่วนครั้งที่ 2 รับสมัครระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม – 30 กันยายน (สอบประมาณเดือนพฤศจิกายน)
เมื่อถึงช่วงเวลาที่เปิดรับสมัคร ให้สมัครผ่านเว็บไซต์ agents.fifa.com และจะแจ้งรายละเอียดในการสอบให้ทราบอีกครั้งผ่านอีเมลของผู้สมัครสอบ และระบบ FIFA Agent Platform ส่วนภาษาที่ใช้สอบ มีให้เลือกระหว่างอังกฤษ, สเปน หรือ ฝรั่งเศส
คุณสมบัติของผู้ที่จะสมัครสอบเพื่อขอใบอนุญาตการเป็นเอเย่นต์ฟุตบอลตามระเบียบของ FIFA (Eligibility Requirement)
a) คุณสมบัติ ณ วันที่ยื่นใบสมัคร
– กรอกใบสมัครตามความจริงอย่างครบถ้วนทุกประการ
– ไม่เคยได้รับโทษในคดีอาญา
– ไม่เคยถูกลงโทษห้ามยุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมกีฬาจากองค์กรกีฬาใดเป็นเวลามากกว่า 2 ปี อันเนื่องมาจากละเมิดกฎระเบียบและจริยธรรมทางวิชาชีพ
– ไม่เป็นพนักงานของ FIFA, สหพันธ์ฟุตบอลของทวีป, สมาคมกีฬาฟุตบอลของประเทศต่างๆ, ฟุตบอลลีก, สโมสรฟุตบอล รวมถึง องค์กรใดๆ ก็ตาม ที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานข้างต้นทั้งทางตรงและทางอ้อม
– ไม่เป็นผู้ที่มีผลประโยชน์ใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับ สโมสร, อคาเดมี และ ฟุตบอลลีก
b) ไม่เคยตรวจพบว่าทำหน้าที่เอเยนต์โดยไม่มีใบอนุญาตในช่วง 24 เดือนที่ผ่านมาก่อนยื่นใบสมัคร
c) ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย หรือ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ หรือ กรรมการบริษัทขององค์กรที่ถูกฟ้องล้มละลาย ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
d) ไม่เป็นผู้ที่มีผลประโยชน์หรือส่วนเกี่ยวข้องกับการพนันกีฬาทุกชนิดในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา
ผู้ที่สอบผ่าน จะต้องจ่ายค่าใบอนุญาตเป็นจำนวนเงิน 600 ฟรังก์สวิส (คิดเป็นเงินไทย ประมาณ 24,000บาท) ภายใน 90 วัน หลังจากสอบผ่าน และเป็นค่าใช้จ่ายแบบรายปี เมื่อได้รับใบอนุญาตแล้ว ก็สามารถทำงานได้ทันที
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เอเย่นต์คือกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฟุตบอลให้เดินหน้าต่อไป อีกทั้งเป็นช่องทางสำหรับผู้มีความฝันที่ต้องการจะทำงานในวงการฟุตบอล เพื่อกอบโกยรายได้มหาศาลจากอาชีพนี้
เรียบเรียง: จักรพันธ์ ภู่ทอง
อ้างอิง :
– https://thaipublica.org/2016/04/tpl-10/
– https://fathailand.org/news-detail/w0Jv6
– https://theathletic.com/4420448/2023/04/19/agents-exams-fifa/
– https://www.thefa.com/news/2023/mar/31/publication-of-payments-and-transactions-310323
– https://digitalhub.fifa.com/m/1e7b741fa0fae779/original/FIFA-Football-Agent-Regulations.pdf
– https://digitalhub.fifa.com/m/1c21b25b00c6dec8/original/FIFA-Football-Agent-Exam-Study-Materials.pdf
Football Editor