Categories
Special Content

ติอาโก มอตตา กับปรัชญาลูกหนังล้ำสมัยที่ซ่อนอยู่ใน 2-7-2

ติอาโก มอตตา เทรนเนอร์ชาวบราซิลวัยเพียง 41 ปี เป็นหนึ่งในผู้จัดการทีมฟุตบอลคลื่นลูกใหม่ที่น่าจับตามองแม้ยังไม่เคยพาทีมประสบความสำเร็จใดๆ ผลงานดีที่สุดเพียงพาโบโลญญาจบซีซันด้วยเลขตัวเดียวเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ขึ้นมาเล่นกัลโช เซเรียอา ฤดูกาล 2015–16 และตอนนี้กำลังพารอสโซบลู (ทีมแดงน้ำเงิน) ลุ้นโควตาทัวร์นาเมนท์ยุโรป

ยิ่งกว่านั้น มอตตาเคยตกเป็นข่าวดังในสื่อฟุตบอลเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2018 มอตตา ซึ่งเพิ่งแขวนสตั๊ดราวครึ่งปีก่อนหน้า ให้สัมภาษณ์กับสื่อยักษ์อิตาลี ลา กัซเซตตา เดลโล สปอร์ต ขณะรับตำแหน่งโค้ชใหม่ของทีมปารีส แซงต์-แยร์กแมง รุ่นยู-19 ว่า เขาต้องการปฏิวัติฟุตบอลผ่านรูปแบบการเล่น 4-3-3 ด้วยการตีความใหม่เป็น 2-7-2 (ซึ่งบทความนี้จะขยายความและวิเคราะห์ทางแทคติกภายหลัง)

ต้นเมษายนที่ผ่านมามีรายงานว่า แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด สนใจที่จะดึงมอตตามาคุมทีมแทนเอริก เทน ฮาก เพราะพอใจผลงานและรูปแบบการเล่นนับตั้งแต่เป็นเทรนเนอร์ให้โบโลญญาในเดือนกันยายน 2022 มอตตาพารอสโซบลูจบซีซันแรกด้วยอันดับ 9 และมีลุ้นจบซีซันนี้ด้วยท็อป-4 

นอกจากแมนฯยูไนเต็ด ยูเวนตุสเป็นอีกทีมที่ต้องการอดีตมิดฟิลด์ทีมชาติบราซิล/อิตาลี ซึ่งกำลังจะหมดสัญญากับโบโลญญาหลังซีซันนี้จบลง ดาริโอ คาโนวี เอเยนต์ของมอตตาเคยกล่าวเมื่อไม่นานมานี้ว่า มอตตาปรารถนาจะคุมทีมลงแข่งแชมเปียนส์ ลีก สักวันหนึ่ง ซึ่งนั่นทำให้โอกาสของแมนฯยูไนเต็ดเป็นไปได้น้อยกว่ายูเวนตุส อย่างไรก็ตาม “เรด เดวิลส์” ยังมีข่าวเชื่อมโยงกับแกรห์ม พอตเตอร์ และแกเรธ เซาธ์เกต ในฐานะผู้จัดการทีมใหม่ด้วย แม้กระทั่งเทน ฮาก จะทำหน้าที่ต่อไปเป็นปีที่ 3 ยังไม่สามารถขีดทิ้งได้

มิดฟิลด์สารพัดประโยชน์ ชาญฉลาดเชิงเทคนิค

มอตตาเกิดวันที่ 28 สิงหาคม 1982 ที่เซา เบอร์นาโด ดู คัมโป ในรัฐเซา เปาโล ประเทศบราซิล ย้ายจากคลับ แอตเลติโก ยูเวนตุส ทีมลูกหนังในเซา เปาโล มาอยู่บาร์เซโลนาเมื่อปี 1999 ขณะอายุ 17 ปี แต่เริ่มกับทีมชุด บี มีสถิติ 12 ประตูจาก 84 นัดเฉพาะบอลลีก ก่อนถูกโปรโมทขึ้นชุดใหญ่ในปี 2001

มอตตาค้าแข้งที่บาร์เซโลนาระหว่างปี 2001 – 2007  ทำ 9 ประตูจาก 139 นัดรวมทุกรายการ โชคร้ายที่บาดเจ็บเป็นระยะๆ รวมถึงเอ็นเข่าซ้ายจากเกมกับเซบีญา วันที่ 11 กันยายน 2004 ต้องพักรักษาตัวถึง 7 เดือน นอกจากนี้ยังเคยตกเป็นข่าวใหญ่บนหน้าสื่อจากยูฟา คัพ รอบ 4 นัดแรก วันที่ 11 มีนาคม 2004 ซึ่งบาร์เซโลนาแพ้ 0-1 ในบ้านเซลติก เมื่อเขาและโรเบิร์ต ดักลาส นายทวารเจ้าบ้าน ได้รับใบแดงจากเหตุทะเลาะวิวาทในอุโมงค์ขณะพักครึ่ง

หลังถอดยูนิฟอร์มบาร์ซา มอตตาย้ายไปเล่นให้อัตเลติโก มาดริด ซีซัน 2007-08 และเจนัว ซีซัน 2008-09 ตามด้วยอีก 2 ซีซันครึ่งกับอินเตอร์ มิลาน ก่อนย้ายไปอยู่ปารีส แซงต์-แยร์กแมง ด้วยค่าตัวประมาณ 10 ล้านยูโรในตลาดฤดูหนาวปี 2012 มอตตาเล่นให้เปแอสเช 6 ซีซันครึ่ง ทำ 12 ประตูจาก 232 นัดรวมทุกรายการ และคว้าแชมป์กับยักษ์ใหญ่แห่งปารีสถึง 19รายการ รวมถึงแชมป์ลีกเอิง 5 สมัย ก่อนแขวนสตั๊ดหลังจบซีซัน 2017-18 และผันตัวเองไปเป็นโค้ช ยู-19 ของสโมสร

ตลอดอาชีพค้าแข้ง มอตตาชนะเลิศถึง 27 รายการ รวมถึงแชมป์ลา ลีกา 2 สมัยซ้อน และชนะเลิศแชมเปียนส์ ลีก ปี 2006 กับบาร์เซโลนา และอยู่ในทีมอินเตอร์ มิลาน ชุดทริปเปิล แชมป์ ซีซัน 2009-10 (เซเรีย อา, โคปปา อิตาเลีย และแชมเปียนส์ ลีก)

สำหรับทีมชาติ มอตตาเคยเล่นให้ทีมบราซิล ยู-17 และ ยู-23 ก่อนติดชุดใหญ่ไปแข่งขันคอนคาเคฟ โกลด์ คัพ ปี 2003 ซึ่งได้ลงสำรอง 2 นัดกับเม็กซิโกและฮอนดูรัสในรอบแบ่งกลุ่มรวมเพียง 71 นาที 

หลายปีต่อมา มีข่าวระบุว่ามอตตาอาจถูกทีมชาติอิตาลีเรียกตัวและอาจได้ไปเล่นเวิลด์คัพ 2010 เนื่องจากเขาถือ 2 สัญชาติ (dual nationality)  โดยปู่ของเขาเป็นชาวอิตาเลียนเนื่องจากปู่ทวดย้ายถิ่นฐานจาก Polesella ในอิตาลีมาอยู่ทวีปอเมริกาใต้ช่วงต้นทศวรรษ 1900

มอตตาเล่นให้อิตาลีนัดแรก วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2011 ถูกเปลี่ยนลงมานาทีที่ 63 ของเกมกระชับมิตรที่เสมอเยอรมนี 1-1 รวมแล้วเขาแข่งขันให้ทีมอัซซูรี 30 นัด ทำ 1 ประตูระหว่างปี 2011 – 2016 และได้รับเหรียญรองแชมป์ยูโร 2012 รวมถึงติดทีมชาติไปแข่งเวิลด์ คัพ 2014

สไตล์การเล่นของมอตตาเป็นประเด็นน่าสนใจเพราะอาจส่งผลต่อแนวคิดในฐานะเทรนเนอร์ มอตตาได้รับนิยามว่าเป็น combative player หรือนักเตะแนวนักสู้พันธุ์ดุ เล่นได้ทั้ง defensive midfielder และ central midfielder แต่ความจริงเล่นได้หลากหลายหน้าที่ในกองกลางด้วยความเฉลียวฉลาดเชิงเทคนิคและสารพัดประโยชน์

กับทีมชาติอิตาลี โค้ชเซซาเร ปรานเดลลี ให้เล่นเป็น deep-lying playmaker หรือ attacking midfielder เพราะมองว่ามอตต้าสามารถจ่ายบอลเพื่อเซตจังหวะการเล่นในแดนกลางได้ดี หรือในยูโร 2012 มอตตาทำหน้าที่ใหม่เป็น false attacking midfielder ในฟอร์เมชัน 4–3–1–2 ของปรานเดลลี บทบาทของเขาเปรียบเสมือน metodista ในภาษาอิตาเลียนหรือเซ็นเตอร์ฮาล์ฟนั่นเอง เนื่องจากเป็นตัวควบคุมการเล่นในกองกลางและช่วยเหลือแนวรับของทีม

แม้ได้รับเสียงชื่นชมเรื่องแทคเกิล, การอ่านเกม และคุณสมบัติเกมรับอย่างเช่น ball winner แต่จุดเด่นที่สุดของมอตตาเป็นการคอนโทรลบอล, เทคนิค, วิสัยทัศน์ และระยะการจ่ายบอล อีกทั้งมอตตายังมีสรีระแข็งแกร่ง, ลูกโหม่งดี และสามารถวิ่งตัดหลังเข้าไปในเขตโทษ จึงเป็นตัวโจมตีทางอากาศที่อันตราย รวมถึงการซัดบอลจากระยะไกล แต่มักโดนวิจารณ์เรื่องความก้าวร้าวในสนามและขาดความเร็ว

ประกาศปฏิวัติฟุตบอลแม้ยังไม่มีโปร ไลเซนซ์

ปารีส แซงต์-แยร์กแมงให้มอตตาคุมทีมยู-19 หลังแขวนสตั๊ดไม่กี่เดือน มอตตาสมัครเข้าเรียนคอร์สยูฟา โปร ไลเซนซ์ ที่ Centro Tecnico Federale di Coverciano ในเดือนสิงหาคม 2019 และได้รับใบอนุญาตเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2020 แต่ระหว่างนั้นในเดือนตุลาคม 2019 เจนัว ซึ่งรั้งอันดับรองบ๊วยของเซเรีย อา ได้แต่งตั้งมอตตาเป็นผู้จัดการทีมแทนออเรลิโอ อันเดรียสโซลี แต่ไล่ออกอย่างรวดเร็วปลายธันวาคมหลังคุมทีมเพียง 10 นัด เจนัวชนะ 2 นัด เสมอ 3 นัด แพ้ 5 นัด

กรกฎาคม 2021 มอตตาได้รับตำแหน่งผู้จัดการทีมของสเปเซียแทนวินเซนโซ อิตาเลียโน ซึ่งลาออกไปคุมทีมฟิออเรนตินา เขาทำงานเต็มซีซัน มีผลงานชนะ 11 นัด เสมอ 6 นัด แพ้ 23 นัด, เคยได้รับรางวัลเทรนเนอร์ยอดเยี่ยมของเซเรีย อา ประจำเดือนมกราคม 2022 เมื่อสเปเซียชนะ 3 นัดรวด และท้ายสุดช่วยให้ทีมรอดตกชั้นหวุดหวิด 

มอตตาตกลงยกเลิกสัญญากับสเปเซีย วันที่ 28 มิถุนายน 2022 ก่อนรับตำแหน่งผู้จัดการทีมโบโลญญา วันที่ 12 กันยายน 2022 แทนซินิซา มิไฮจ์โลวิช สามารถพาทีมรอซโซบลูจบซีซันด้วยอันดับ 9 เป็นเลขตัวเดียวครั้งแรกนับตั้งแต่ขึ้นมาเล่นเซเรียอา ฤดูกาล 2015–16 และยังได้รางวัลเทรนเนอร์ยอดเยี่ยมประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2023

มอตตาเป็นหนึ่งในเทรนเนอร์คลื่นลูกใหม่ที่น่าจับตามองจากไอเดียการทำทีม เคยเรียกเสียงฮือฮาเมื่อให้สัมภาษณ์กับลา กัซเซตตา เดลโล สปอร์ต ในเดือนพฤศจิกายน 2018 ทั้งที่เพิ่งรับงานโค้ชครั้งแรกในชีวิตกับทีมยู-19 ของเปแอสเช และยังไม่ได้ยูฟา โปร ไลเซนซ์ ด้วยซ้ำ เมื่อเขาประกาศว่ามีเป้าหมายปฏิวัติฟุตบอลผ่านรูปแบบการเล่น 4-3-3 ด้วยการตีความใหม่เป็น 2-7-2

“ความคิดของผมคือ เล่นเกมบุก คอนโทรลเกมได้ ไฮ-เพรสซิ่ง และเต็มไปด้วยการเคลื่อนที่ทั้งขณะมีและไม่มีบอล ผมต้องการให้ลูกทีมที่กำลังครองบอลมีวิธีแก้เกมอยู่ในหัว 3-4 รูปแบบเสมอ พร้อมทั้งมีเพื่อนร่วมทีม 2 คนอยู่ใกล้ๆเพื่อช่วยเหลือ”

“ผมไม่ชอบตัวเลขในสนาม (ฟอร์เมชันต่างๆ) เพราะมันหลอกคุณได้ บางทีทีมสามารถเปิดเกมรุกได้สุดๆด้วยระบบการเล่น 5–3–2 และสามารถตั้งรับได้เหนียวแน่นจาก 4–3–3 ทั้งนี้มันขึ้นอยู่กับคุณภาพของนักฟุตบอล”

“ผมมีแมตช์หนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ที่ฟูลแบ็ค 2 คนลงเอยด้วยการเล่นตำแหน่งเบอร์ 9 และ 10 แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าผมไม่ชอบนักเตะอย่างซามูเอลและคิเอลลินีที่เป็นกองหลังธรรมชาติ ถ้าอย่างนั้นมันควรเป็นฟอร์เมชัน 2–7–2 หรือเปล่า ผู้รักษาประตูถูกนับเป็นหนึ่งในกองกลาง 7 คน สำหรับผมแล้ว กองหน้าคือกองหลังคนแรก และผู้รักษาประตูเป็นกองหน้าคนแรก ผู้รักษาประตูเป็นคนเริ่มการเล่นด้วยเท้า กองหน้าเป็นคนแรกที่เข้ากดดันเพื่อแย่งบอลกลับคืนมา”

ตีความปรัชญาฟุตบอลของมอตตาผ่านฟอร์เมชัน 2-7-2

โทนี โรเบิร์ตสัน นักข่าวดิจิตอลของ The Sun อธิบายปรัชญาฟุตบอลของกุนซือวัย 41 ปีว่า ตัวเลข 2-7-2 ดูแปลกเป็นอย่างยิ่งโดยเฉพาะมอตตามองผู้รักษาประตูเป็นเหมือนผู้เล่นมิดฟิลด์คนหนึ่งของเขา

แต่ความจริงแล้ว มอตตาอ่านแผนผัง 2-7-2 จากข้างสนามด้านหนึ่งไปยังอีกด้านหนึ่ง ไม่ใช่จากกรอบประตูของทีมตัวเองไปยังฝั่งตรงข้ามเหมือนมุมมองปกติ ดังนั้นตัวเลข 2 จึงเป็นแบ็คขวาและปีกขวา กับแบ็คซ้ายกับปีกซ้าย โดยกองกลาง 7 คนประกอบด้วยผู้รักษาประตู, เซ็นเตอร์แบ็ค 2 คน, ดีเฟนซีพ มิดฟิลด์, เซ็นทรัล มิดฟิลด์ 2 คน และศูนย์หน้า

โรเบิร์ตสันสรุปว่า อีกนัยหนึ่ง 2-7-2 สำหรับมอตตาก็เป็นฟอร์เมชันปกติของ 4-3-3 หรือ 4-2-3-1 นั่นเอง หากวิเคราะห์จากรูปแบบการเล่นซีซันนี้ของโบโลญญา เห็นได้ชัดตรงกับปรัชญาข้อหนึ่งที่มอตตาพูดไว้เมื่อปี 2018 คือ โดดเด่นเรื่องการครองบอล รอสโซบลูจ่ายบอลแม่นยำสูงถึง 85.2% มากเป็นอันดับ 2 ของเซเรีย อา ณ ต้นเดือนเมษายน 2024 

การบิลด์อัพเพลย์ของโบโลญญาเริ่มที่ 1-3-2-5 แต่สามารถปรับเปลี่ยนเป็น 2-3-5 ตามด้วยอะไรที่คล้ายกับ 4-3-3 ซึ่งมิดฟิลด์เบอร์ 8 สองคนจะออกด้านข้างเพื่อสนับสนุนปีกและฟูลแบ็ค แต่โบโลญญามีจำนวนครอสบอลเข้ากรอบเขตโทษอยู่อันดับท้ายๆของลีกเมืองมะกะโรนี มอตตาชอบให้ลูกทีมเล่นกับพื้นที่ว่างและสร้างสรรค์จากตำแหน่งการยืนที่แคบๆ ซึ่งจะเห็นจากกองหน้าอย่างโจชัว ซีร์กเซ ถอยลงไปในพื้นที่ว่างเพื่อช่วยลำเลียงบอลจาก box midfield ของทีม

สำหรับเกมรับ โบโลญญาจะใช้แทคติกไฮ-เพรส ก่อนปรับรูปแบบเป็น 4-1-4-1 mid-block นั่นทำให้ทีมของโบโลญญามีสไตล์การเล่นที่ค่อนข้างสลับซับซ้อนและทำให้คู่แข่งงุนงงสับสนได้

วิเคราะห์รูปแบบการเล่นที่สลับซับซ้อนของทีมโบโลญญา

เว็บไซต์ The Football Analyst ได้จัดทำบทความวิเคราะห์แทคติกของมอตตาไว้อย่างน่าสนใจ เริ่มจากการสร้างเกมที่แบ่งออกเป็น low build-up และ high build-up

มอตตาจะวางฟอร์เมชัน 4-2-5 สำหรับ low build-up โดยให้เซ็นเตอร์แบ็ค 2 คนยืนด้านข้าง ผู้รักษาประตูจะยืนบริเวณเสาข้างหนึ่ง อีกข้างมีผู้เล่นคนหนึ่ง โดยมีผู้เล่นอีก 2 คนอยู่ด้านหน้า ทำให้ฟอร์มตัวเป็น box-midfield ตรงกลางบริเวณกรอบเขตโทษ บ่อยครั้งมิดฟิลด์ตัวรุกจะถอยลงมาร่วมด้วยเพื่อเพิ่มจำนวนผู้เล่นที่สามารถร่วมช่วยกันแก้เพรสของฝ่ายตรงข้าม

ส่วน high build-up รูปแบบจะเปลี่ยนเป็น 1-3-2-5 คล้ายกับ low build-up ต่างกันเพียงผู้รักษาประตูยืนหน้าโกล์คนเดียวเหมือนปกติ เซ็นเตอร์แบ็ค 2 คนกับผู้เล่นอีก 1 คนดันตัวขึ้นไปข้างหน้า 

อย่างไรก็ตาม โบโลญญาของมอตตามักโรเตชันรูปแบบบิลด์อัพเพื่อสร้างความสับสนให้คู่แข่งขัน หรือปรับตัวเองไปตามฟอร์เมชันของฝ่ายตรงข้ามเพื่อให้จำนวนผู้เล่นมีความได้เปรียบตามพื้นที่หรือโซนต่างๆ หวังผลในการทำลายเกมรับและเข้าไปทำประตูได้มากขึ้น แต่การปรับเปลี่ยนที่ใช้บ่อยที่สุดเป็นการดันเซ็นเตอร์แบ็คคนหนึ่งขึ้นไปยังกองกลางเป็นรูปแบบ 1-2-3-5 

สำหรับการเข้าโจมตี โบโลญญาเป็นทีมหนึ่งที่ยอดเยี่ยมในพื้นที่ final third มักสร้างโอกาสได้เสมอ หลักๆคือโจมตีพื้นที่ว่างของคู่แข่งระหว่างเซ็นเตอร์แบ็คกับฟูลแบ็คหรือ half-space นั่นเอง ลูกทีมของมอตตามักโจมตีบริเวณด้านข้างของสนามด้วยการโอเวอร์แลปของผู้เล่นมิดฟิลด์

นอกเหนือโจมตี half-space แล้ว มอตตายังมีแทคติกเกมบุกอีกอย่างที่เป็นเอกลักษณ์คือผู้เล่นในแดนกลางให้มีจำนวนเหนือกว่าคู่แข่ง ซึ่งปกติมักวางผู้เล่น 4 คนเพื่อต่อกรกับ box-midfield ของรอสโซบลู โดยมอตตาจะแก้เกมด้วยการให้กองหน้าถอยลงมา สร้างความได้เปรียบในจำนวนผู้เล่นกองกลาง และมักจะประสบความสำเร็จในการทำลายแนวรับของคู่แข่ง ซึ่งเป็นไปได้ที่เซ็นเตอร์แบ็คจะตามไปประกบกองหน้า นั่นเป็นโอกาสให้โบโลญญาเข้าไปทะลวงพื้นที่ว่างที่อยู่ข้างหลัง

The Football Analyst มองว่าการเล่นของโบโลญญาเป็นไปในลักษณะที่มอตตาเคยให้สัมภาษณ์ปลายปี 2018 คือ เล่นเกมบุก คอนโทรลเกมได้ ไฮ-เพรสซิ่ง และเต็มไปด้วยการเคลื่อนที่ทั้งขณะมีหรือไม่มีบอล ส่วนใหญ่จะทำเช่นนั้นไม่ว่าฝ่ายตรงข้ามจะใช้รูปแบบไหนมาต่อกร หลักการสำคัญข้อหนึ่งที่มอตตาทำได้สำเร็จคือ สร้างความไหลเวียนภายในระบบของทีมผ่านinterchanges และ rotations หลายรูปแบบ

ตัวอย่างเช่น มอตตาต้องการให้เซ็นเตอร์แบ็คของโฮลดิ้งมิดฟิลด์โรเตทและเปลี่ยนตำแหน่งกันเพื่อทำให้ฝ่ายตรงข้ามสับสน บ่อยครั้งที่มิดฟิลด์ตัวรับถอยลงเพื่อลากกองกลางคู่แข่งขันตามมา ซึ่งจะเปิดพื้นที่ว่างตรงกลาง เซ็นเตอร์แบ็คจะวิ่งเข้าไปใน open space นั้นเพื่อรับบอลและลำเลียงขึ้นไปข้างหน้า

อย่างไรก็ตาม การเล่นลักษณะนี้ได้ต้องอาศัยทักษะเชิงแทคติกและเทคนิคจากนักเตะเป็นอันมาก การไหลเวียนภายในระบบจะสร้างไดนามิกใหม่และหลากหลายให้กับเกมบุกของโบโลญญา อีกทั้งยังช่วยเพิ่มทางออกใหม่ๆในการเอาชนะเพรสซิ่งของทีมคู่แข่งด้วย

ในส่วนของเกมรับก็ไม่แตกต่างจากบิลด์อัพและเกมบุก โบโลญญาจะมีทั้ง high press และ low press ทีมของมอตตาจะดูดุดันแม้ทั้งจังหวะไม่มีบอลเช่น high press มอตตาต้องการให้นักเตะตามประกบคู่แข่งแบบ man-to-man และเข้าเพรสซิ่งอย่างเข้มข้น ทีมรอสโซบลูมักจะแย่งบอลได้บริเวณพื้นที่ด้านบนของสนามเสมอ แน่นอนบ่อยครั้งที่พวกเขาได้ประตูจากไฮเพรส

สำหรับ low press โบโลญญาจะปรับฟอร์เมชันเป็น 1-4-5-1 สร้าง mid-block เพื่อปิดพื้นที่บริเวณกลางสนาม บีบให้คู่แข่งออกบอลไปด้านข้าง มอตตาต้องการให้ลูกทีมประกบมิดฟิลด์ฝ่ายตรงข้ามแบบ man-mark อย่างไรก็ตามโบโลญญามีเกมรับที่ไดนามิกสูง แปรเปลี่ยนไปตามการเล่นของคู่แข่ง นอกจาก 1-4-5-1 ยังอาจเป็น 1-4-1-4-1 หรือ 1-4-2-3-1 ได้อีกด้วย

2-7-2 อาจเป็นการจิกกัดด้วยอารมณ์ขันของโค้ชหัวก้าวหน้า

อ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ transfermarkt ในการแข่งขันฤดูกาล 2023-24 ฟอร์เมชันที่โบโลญญาใช้เป็นหลักคือ 4-2-3-1รองลงมาคือ 4-1-4-1 บางครั้งเป็น 4-3-3 Attacking ซึ่งก็ตรงอย่างที่มอตตาพยายามสื่อปรัชญาฟุตบอลของเขากับลา กัซเซตตา เดลโล สปอร์ต เมื่อกว่า 5 ปีที่แล้วว่า เขาเพียงต้องการตีความฟอร์เมชันให้แตกต่างจากลักษณะเดิมๆที่ไม่ได้ชี้ให้เห็นถึงลักษณะการเล่นที่แท้จริงเลย เขาจึงอ่านฟอร์เมชันด้วยวิธีใหม่คือจากด้านข้างของสนาม ซึ่งเมื่อเวลาผ่านเลยจนถึงตอนนี้ 2-7-2 อาจเป็นเพียงอารมณ์ขันเชิงจิกกัดตามประสาโค้ชใหม่ไฟแรงที่มีความเป็นศิลปินซุกซ่อนอยู่

เราสามารถมองอีกมุมหนึ่งได้ว่า แนวคิดที่ให้สัมภาษณ์ปลายปี 2018 ถือเป็นไอเดียหัวก้าวหน้าเพราะทุกวันนี้ ไฮเพรสซิ่ง, การให้ความสำคัญกับเปอร์เซ็นต์การครองบอล, โรเตชันและทรานซิชันตำแหน่งระหว่างผู้เล่น ถือเป็นแทคติกปกติและได้รับความนิยมในหมู่สโมสรชั้นนำไปแล้ว

ดังที่ The Football Analyst ได้สรุปบทวิเคราะห์แทคติกของโบโลญญาว่า เห็นได้ชัดมอตตามีกลยุทธ์ที่ซับซ้อน ซึ่งสามารถยกให้เป็นวิวัฒนาการของปรัชญาฟุตบอลก็ไม่ผิดความจริงนัก สร้างสรรค์ให้เกิดรูปแบบการเล่นใหม่ๆที่ทันสมัยและมีชีวิตชีวา นำไปสู่เกมฟุตบอลที่สวยงามมอบแก่ผู้ชม

เรียบเรียง : ฐปน วันชูเพลา (Senior Football Writer)