ยูเวนตุส มหาอำนาจลูกหนังอิตาลีแห่งทศวรรษ 2010 ไม่สามารถครองตำแหน่งสคูเดตโตเป็นสมัยที่ 10 ติดต่อกันเมื่ออินเตอร์ มิลาน ขึ้นเถลิงบัลลังก์แทนในซีซัน 2020-21 ตามด้วยเอซี มิลาน ในซีซันต่อมา และทั้งสองฤดูกาล ทีมม้าลายจบด้วยอันดับสี่ของตารางกัลโช เซเรีย อา และซีซันนี้ สถานการณ์ของพวกเขายิ่งย่ำแย่ แต่แชมป์มีโอกาสสูงมากที่จะเปลี่ยนมือไปอยู่กับนาโปลี ซึ่งครองสคูเดตโตเพียงสองสมัย และครั้งหลังสุดคือปี 1990 หรือ 33 ปีที่แล้ว
นาโปลีเพิ่งผงาดเหนือแผ่นดินรูปท็อปบู๊ทช่วงกลางทศวรรษ 1980 เมื่อทุ่มเงินมหาศาลซื้อดีเอโก มาราโดนา มาจากบาร์เซโลนา เพียงเจ็ดปีที่มี G.O.A.T ชาวอาร์เจนไตน์อยู่ในทีม นาโปลีครองแชมป์เซเรีย อา 2 สมัย, แชมป์อิตาเลียน คัพ 1 สมัย และแชมป์ยูฟา คัพ 1 สมัย แต่หลังจากมาราโดนาโดนแบน 15 เดือนเพราะถูกตรวจพบสารโคเคน “เดอะ บลูส์” ไม่เพียงฟอร์มในสนามย่ำแย่ ฐานะการเงินยังตกต่ำถึงขั้นล้มละลาย ต้องลงไปเตะระดับเทียร์สามในซีซัน 2004-05 แต่โชคดีสโมสรได้ อูเรลิโอ เด ลอเรนติส พระเอกขี่ม้าขาวจากวงการภาพยนตร์เข้ามาช่วยกอบกู้วิกฤติทันที
นาโปลีใช้เวลาเพียงสามปีกลับขึ้นมาเซเรีย อา ในซีซัน 2007-08 แต่ยังต้องปรับตัวจูนทีมช่วง 2-3 ปีแรกก่อนผลงานดีขึ้นเรื่อยๆ มีโอกาสใกล้เคียงแชมป์ลีกมากที่สุดในซีซัน 2017-18 กับตำแหน่งรองแชมป์ ที่แม้ทำแต้มรวมสูงสุดในประวัติศาสตร์สโมสรคือ 91 คะแนน แต่ยังเป็นรองยูเวนตุสอยู่ 4 คะแนน
แน่นอน “สคูเดตโต” ย่อมเป็นเป้าหมายความสำเร็จของเด ลอเรนติส ที่มุ่งมั่นทำให้นาโปลียิ่งใหญ่สมฐานะทีมที่มีฐานแฟนบอลจำนวนมากที่สุดเป็นอันดับสี่ของอิตาลี และรั้งอันดับห้าของสโมสรเซเรีย อา ที่มีรายได้สูงสุดจากตัวเลข 182 ล้านเหรียญสหรัฐในซีซัน 2017-18
จุดเปลี่ยนแปลงสำคัญเกิดขึ้นเมื่อนาโปลีแต่งตั้ง ลูเซียโน สปัลเล็ตติ คุมทีมแทนเจนนาโร กัตตูโซ เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2021 สปัลเล็ตติพาทีมจบซีซันแรกด้วยอันดับ 3 บนตารางเซเรีย อา ตามหลังแชมป์ เอซี มิลาน 7 คะแนน แต่ทิ้งอันดับ 4-5 ยูเวนตุสและลาซิโอถึง 9 และ 15 คะแนนตามลำดับ
สปัลเล็ตติประเดิมงานฤดูกาล 2021-22 ได้สวยหรูเก็บชัยชนะ 7 นัดรวด แต่เหมือนมีลางบอกเหตุก่อนนัดที่ 8 รถคันโปรด “เฟียต แพนดา” ของเขาโดนขโมย แม้ยังชนะนัดที่ 8 แต่สถิติหยุดแค่นั้นเพราะนัดต่อมา นาโปลีเสมอโรมา 0-0 ที่กรุงโรม ซ้ำร้ายต่อมาสปัลเล็ตติเจอปัญหานักเตะหลักเจ็บระนาวรวมถึงกองหน้า วิคเตอร์ โอซิมเฮน แถมผู้เล่นบางส่วนต้องไปแข่งขันแอฟริกา คัพ ออฟ เนชันส์ ทำให้ผลงานในสนามดร็อปลงจนแฟนบอลกลุ่มอัลตราทำป้ายขู่ว่า ถ้าอยากได้แพนดาที่หายไปคืนมา สปัลเล็ตติควรลาออกไปเสีย ซึ่งสื่อนำไปอำขำๆว่า เป็นตัวกระตุ้นให้สปัลเล็ตติรีดกึ๋นเค้นความสามารถของลูกทีมจนสถานการณ์ดีขึ้นจนปิดจ็อบปีแรกด้วยอันดับสาม
โมเมนตัมยังส่งผลต่อเนื่องถึงซีซันต่อมา ซึ่งขณะนี้เตะมา 23 จาก 38 นัด นาโปลีแพ้นัดเดียวเพราะโดนอินเตอร์ มิลาน เฉือน 0-1 เมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยเสมอ 2 นัด ชนะมากถึง 20 นัด มี 62 คะแนน ทิ้งห่างรองจ่าฝูง ทีมงูใหญ่ 15คะแนน อีกทั้งยังได้ 56 ประตู เสีย 15 ประตู ผลต่างบวก 41 ประตู ตัวเลขดีที่สุดในเซเรีย อา ทั้งสามหมวดหมู่
ล่าสุดนาโปลีถูกยกเป็นเต็งหนึ่งที่จะครองตำแหน่งสคูเดตโตเป็นสมัยที่สาม และมีโอกาสไม่น้อยที่จะเก็บแต้มทะลุหลักร้อย หรืออย่างน้อยควรทำลายสถิติสูงสุดเดิมของสโมสรคือ 91 คะแนน
ประวัติศาสตร์สโมสรเริ่มต้นที่กะลาสีเรืออังกฤษ
สโมสรนาโปลี มีชื่อเต็มว่า Società Sportiva Calcio Napoli (S.S.C. Napoli) ตั้งอยู่ในเมืองเนเปิลส์ (หรือนาโปลีในภาษาอิตาเลียน) เมืองหลวงของแคว้น Campania ทางตอนใต้ของอิตาลี เป็นเมืองใหญ่อันดับสามของประเทศรองจากโรมและมิลาน ถ้ามองอิตาลีเป็นรองเท้าบู๊ท เนเปิลส์จะตั้งอยู่บริเวณหน้าแข้ง นาโปลีมีฉายาว่า Gli Azzurri (The Blues), Ciucciarelli (The Little Donkeys)
นาโปลีมีจุดเริ่มต้นเมื่อเกือบ 120 ปีที่แล้วจาก Naples Foot-Ball & Cricket Club (Naples FBC) สโมสรฟุตบอลแห่งแรกในเนเปิลส์ ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี 1905 โดยวิลเลียม พอธส์ กะลาสีเรือชาวอังกฤษ กับเพื่อน เฮคเตอร์ เอ็ม เบยอน และคนท้องถิ่นกลุ่มหนึ่ง รวมถึงอเมดีโอ ซัลซี ที่เป็นประธานสโมสรคนแรก
ต่อมา กลุ่มชาวต่างชาติได้แยกตัวออกจากสโมสรในปี 1911 และก่อตั้งสโมสรใหม่ชื่อว่า Unione Sportiva Internazionale Napoli (U.S. Internazionale Napoli) แต่ช่วงกลางปี 1914 ได้เกิดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และหลังจากฟุตบอลกลับมาแข่งต่อ สภาพเศรษฐกิจและวิกฤติการเงินทำให้สองสโมสรยุบรวมกันในชื่อ Foot-Ball Club Internazionale-Naples หรือ FBC Internaples เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 1922 โดยสีชุดแข่งเป็นส่วนผสมระหว่างเสื้อสีฟ้าของเนเปิลส์และกางเกงสีขาวของนาโปลี
สโมสรได้เปลี่ยนชื่อเป็น Associazione Calcio Napoli เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 1926 ในยุคจิออร์จิโอ อัสคาเรลลี เป็นประธานสโมสร ซึ่งเชื่อว่าถูกกดดันจากรัฐบาลฟาสซิสต์ใหม่ที่ต้องการให้สโมสรมีชื่อแสดงความเป็นอิตาเลียน ก่อนเปลี่ยนอีกครั้งเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 1964 เป็น Società Sportiva Calcio Napoli จวบจนปัจจุบัน
ครึ่งศตวรรษแรกบนถนนลูกหนังเซเรีย อา-บี
ยุคแรกเริ่ม นาโปลีไม่ประสบความสำเร็จอะไร ต้องรอถึงปี 1962 จึงสามารถคว้าถ้วยโคปปา อิตาเลีย ซึ่งเพิ่งจัดแข่งขันเป็นปีที่ 15 หลังจากเฉือนสปาล 2-1 ในนัดชิงชนะเลิศ ส่วนสคูเดตโตต้องรอถึงปี 1987
ในส่วนของประวัติศาสตร์ฟุตบอลลีกหากเริ่มจากยุคกัลโช เซเรีย อาและบี ซึ่งเริ่มฤดูกาล 1929-30 เป็นปีแรกเมื่อนำ Divisione Nazionale ซึ่งแบ่งเป็นสองกลุ่มๆละ 16 ทีม นำผลอันดับตารางคะแนนฤดูกาล 1928-29 มาจัดทีมลงแข่งขัน Divisione Nazionale Serie A (เทียร์หนึ่ง) และ Divisione Nazionale Serie B (เทียร์สอง) โดยนาโปลีจบอันดับ 8 ร่วมกับลาซิโอ ทั้งคู่เตะเพลย์ออฟเสมอ 2-2 หลังต่อเวลา แต่แมตช์เป็นโมฆะเนื่องจากสหพันธ์ฟุตบอลอิตาลี (เอฟไอจีซี) ให้ทั้งสองเข้าไปเล่นเซเรีย อา เพื่อเพิ่มโควตาให้กับสโมสรจากภาคใต้
แม้ไม่เคยสัมผัสแชมป์แต่นาโปลีทำผลงานในเซเรีย อา ได้ไม่เลว เคยขึ้นสูงสุดอันดับสามในซีซัน 1933–34 ดาวเด่นของยุคนี้คือ อัตติลา ซาลลุสโตร ซึ่งเล่นให้นาโปลีระหว่างปี 1926 – 1937 สถิติรวมทุกรายการ 266 นัด 108 ประตู ปัจจุบันรั้งอันดับ 5 ดาวซัลโวสูงสุดตลอดกาลของสโมสร
หลังได้อันดับ 15 รองบ๊วยฤดูกาล 1941-42 นาโปลีก็ตกไปเล่นเซเรีย บี หนึ่งซีซัน ก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง ส่วนซีซันแรกที่กลับมาหลังสงตราม ฟุตบอลลีกอิตาลี ซีซัน 1945-46 ถูกแบ่งใหม่เป็นสองกลุ่มคือ ภาคเหนือ เซเรีย อา และ ภาคกลาง-ภาคใต้ เซเรีย อา-บี ซึ่งนาโปลีจบอันดับหนึ่งของกลุ่มร่วมกับบารี ได้เตะเซเรีย อา ซีซัน 1946-47 โดยอัตโนมัติ
เล่นได้เพียงสองซีซัน นาโปลีก็ตกไปอยู่เซเรีย บี แต่ใช้เวลาสองซีซันเช่นกันกลับขึ้นมาอยู่เซเรีย อา หลังจากครองแชมป์เซเรีย บี ซีซัน 1949-50 ซึ่งเป็นความสำเร็จครั้งแรกในประวัติศาสตร์สโมสรหากไม่นับ Campionato Centro-Sud Serie A-Bทัวร์นาเมนท์พิเศษหลังสงครามที่ครองร่วมกับบารี
นับจากนั้น นาโปลีก็อยู่ในลีกสูงสุดเป็นส่วนใหญ่ (ยกเว้นซีซัน 1961-62, 1963-64 และ 1964-65 ที่ร่วงไปลีกรอง) จนถึงยุคทองเมื่อได้ดีเอโก มาราโดนา เข้ามากลางทศวรรษ 1980
ยุคทองกับมาราโดนา เจ็ดปี ห้าแชมป์
ก่อนหน้าการมาถึงของดีเอโก มาราโดนา กลางปี 1984 นาโปลีครองแชมป์อิตาเลียน คัพ สองสมัยในปี 1962 และ 1976แต่เพียงเจ็ดปีที่มีมาราโดนา “เดอะ บลูส์” ครองตำแหน่งสคูเดตโต ซึ่งรอคอยมานาน 61 ปี ในซีซัน 1986-87, 1989-90 แชมป์โคปปา อิตาเลีย ซีซัน 1986-87 แชมป์ยูฟา คัพ ซีซัน 1988-89 และแชมป์ซูเปอร์โคปปา อิตาเลีย ปี 1990
ช่วงสองปีที่บาร์เซโลนา แม้มีปัญหาบาดเจ็บรบกวน มาราโดนายังมีผลงาน 38 ประตูจาก 58 นัด แต่ด้วยความขัดแย้งกับฝ่ายบริหารโดยเฉพาะโจเซป หลุยส์ นูนเนซ ประธานสโมสร ทำให้เขาขอย้ายออกจากทีม และเป็นนาโปลีที่ยอมทุ่มเงินราว 10.48 ล้านปอนด์ ซื้อไปเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 1984 โดยมาราโดนาเดินทางถึงเมืองเนเปิลส์และปรากฏตัวต่อสายตาคนทั้งโลกในฐานะนักเตะนาโปลีครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม มีแฟนบอลมากถึง 75,000 คน รอต้อนรับเขาที่สนามซาน เปาโล
ไม่เพียงมาราโดนา นาโปลียังสร้างทีมใหม่ผ่านนักเตะอย่างซีโร แฟร์รารา, ซัลวาตอเร บาญนี และแฟร์นานโด เด นาโปลี จนทีมลาน้อยทะยานขึ้นอันดับสามของซีซัน 1985-86 แต่สิ่งที่เหนือกว่ายังมาไม่ถึง ด้วยมาราโดนา, บรูโน กีออร์ดาโน และกาเรกา สามแนวรุกที่ถูกตั้งฉายาว่า Ma-Gi-Ca (มนต์วิเศษ) พานาโปลีไปถึงจุดพีคของประวัติศาสตร์สโมสร เป็นทีมที่สามที่ทำ “ดับเบิลแชมป์” สำเร็จในซีซัน 1986-87 ชนะเลิศเซเรีย อา ห่างยูเวนตุส 3 แต้ม และถลุงอตาลันตา 4-0 ในนัดแชมป์โคปปา อิตาเลีย
ฤดูกาลต่อมา นาโปลีได้เพียงรองแชมป์เซเรีย อา ตามหลังเอซี มิลาน 3 คะแนน และผ่านไปเล่นยูฟา คัพ ซีซัน 1988-89 ซึ่งมาราโดนาและผองเพื่อนสามารถปักธงบนสังเวียนยุโรปได้สำเร็จ ผ่านพีเอโอเค, โลโกโมทีฟ ไลปซิก, บอร์กโดซ์, ยูเวนตุส และบาเยิร์น มิวนิก เข้าไปชิงแชมป์กับซตุ๊ตการ์ตในเดือนพฤษภาคม 1989 นาโปลีชนะด้วยสกอร์รวม 5-4 ขณะที่เซเรีย อา นาโปลีได้รองแชมป์เป็นปีที่สองติดต่อกัน ถูกอินเตอร์ มิลาน ทิ้งขาด 11 แต้ม
นาโปลีครองสคูเดตโตสมัยที่สองในฤดูกาล 1989-90 โดยเฉือนมิลานเพียงสองคะแนน แต่ในปี 1991 มาราโดนาถูกตรวจพบว่าใช้โคเคน โดนโทษแบนนานถึง 15 เดือน ตั้งแต่เมษายน 1991 ถึงมิถุนายน 1992 ซึ่งมาราโดนาอ้างว่าเป็นการแก้แค้นของเอฟไอจีซี ที่เขาและอาร์เจนตินาเขี่ยอิตาลีตกรอบรองชนะเลิศ ฟุตบอลโลก 1990 ที่เมืองเนเปิลส์ โดยก่อนหน้าลงสนาม มาราโดนาขอร้องแฟนบอลเจ้าถิ่นช่วยเชียร์อาร์เจนตินา
นับจากถูกตัดสินโทษแบนครั้งนั้น มาราโดนาก็ไม่ได้เล่นให้นาโปลีอีกเลยก่อนย้ายไปเล่นให้เซบีญาในซีซัน 1992-93 แม้มีข่าวว่าเรอัล มาดริด และมาร์กเซย์ ต้องการตัวเขา มาราโดนาใช้เวลาอาชีพค้าแข้งที่เหลือในอาร์เจนตินากับนีเวลส์ โอลด์บอยส์ (1993 – 1994) และโบคา จูเนียร์ส (1995 – 1997)
ไร้มาราโดนา ทีมเสื่อมถอยทั้งการเล่นและการเงิน
ยุคโพสต์-มาราโดนา เริ่มในซีซัน 1991-92 นาโปลียังจบด้วยอันดับสี่บนตารางเซเรีย อา ก่อนเข้าช่วงขาลงจนกระทั่งรั้งก้นตารางของซีซัน 1997-98 ร่วงไปเล่นเซเรีย บี สองปี และกลับขึ้นมาอยู่ลีกสูงสุดในซีซัน 2000-01 แต่จบด้วยอันดับรองโหล่ ตกไปลีกรองอีกครั้งแถมรอบนี้ไหลลงไปถึงเทียร์สาม
หลังฤดูกาลแรกที่ไม่มีมาราโดนา นาโปลีเริ่มเสื่อมถอยทั้งผลงานในสนามและสภาพการเงิน นักเตะแกนหลักอย่างจิอันฟรังโก โซลา, ดาเนียล ฟอนเซกา, ซีโร แฟร์รารา และกาเรกา ต่างจากไปช่วงปี 1993 – 1994 แฟนๆพอมีรอยยิ้มบ้างกับบอลถ้วย เข้ารอบสามยูฟา คัพ ซีซัน 1994-95, เข้าชิงโคปปา อิตาเลียน ซีซัน 1996-97 แต่แพ้วิเซนซา 1-3 ต่างกับฟุตบอลลีกที่ย่ำแย่จนกระทั่งฤดูกาล 1997-98 นาโปลีชนะแค่สองนัด ร่วงลงไปเซเรีย บี สองซีซัน กลับขึ้นมาเซเรีย อา หนึ่งซีซัน และลงไปอีกครั้งในซีซัน 2001-02
เดือนสิงหาคม 2004 นาโปลีถูกประกาศล้มละลาย อูเรลิโอ เด ลอเรนติส มหาเศรษฐีโปรดิวเซอร์หนังคนดัง ขี่ม้าขาวกอบกู้วิกฤติช่วยไม่ให้นาโปลีกลายเป็นตำนานทีมลูกหนังแห่งเนเปิลส์ แม้ต้องเปลี่ยนไปใช้ชื่อ “นาโปลี ซอคเกอร์” ชั่วคราวและโดนปรับตกไปอยู่เซเรีย ซี1/บี แม้ฤดูกาล 2003-04 จะจบด้วยอันดับ 13 ของเซเรีย บี ก็ตาม
ถึงตกไปอยู่เทียร์สาม นาโปลียังมีแฟนๆติดตามให้กำลังใจอย่างเหนียวแน่น มีคนดูเฉลี่ยต่อนัดมากกว่าทีมส่วนใหญ่ในเซเรีย อา เคยสร้างสถิติคนดูสูงสุดในประวัติศาสตร์เซเรีย ซี ถึง 51,000 คนในหนึ่งนัด
แฟนบอลให้กำลังใจ “เด ลอเรนติส” ให้กำลังเงิน
นาโปลีครองแชมป์เซเรีย ซี1/บี ฤดูกาล 2005-06 ใช้เวลาเพียงสองปีขึ้นมาเซเรีย บี และกลับไปใช้ชื่อสโมสร Società Sportiva Calcio Napoli อีกครั้งในเดือนพฤษภาคม 2006 “เดอะ บลูส์” จบซีซัน 2006-07 ด้วยอันดับสอง กลับขึ้นมาอยู่บนเซเรีย อา อีกครั้งหลังใช้เวลาอยู่ในลีกรองนานหกปี
ลีกสูงสุดสามซีซันแรก นาโปลีจบด้วยอันดับ 8,12 และ 6 ซึ่งได้สิทธิแข่งยูโรปา ลีก ซีซัน 2010-11 แม้หยุดเส้นทางรอบ 32 ทีมสุดท้าย แต่ภายใต้การคุมทีมของวอลเตอร์ มาซซาร์รี นาโปลีรั้งอันดับสามบนตารางเซเรีย อา
ซีซัน 2011-12 นาโปลีได้อันดับห้าของเซเรีย อา แต่ตะลุยถึงนัดชิงโคปปา อิตาเลีย เจอกับยูเวนตุส เจ้าของตำแหน่งสคูเดตโตไร้พ่ายปีนั้น นาโปลีชนะ 2-0 ครองแชมป์รายการนี้เป็นสมัยที่สี่ ซึ่งรอคอยมานาน 25 ปี ทีมลาน้อยยังชนะเลิศเพิ่มอีกสองครั้งในซีซัน 2013-14 ชนะฟิออเรนตินา 3-1 และซีซัน 2019-20 เสมอยูเวนตุส 0-0 ก่อนชนะดวลจุดโทษ 4-2
สำหรับเซเรีย อา นาโปลีเป็นรองแชมป์ ฤดูกาล 2012-13 ตามหลังยูเวนตุส 9 คะแนน และนับจากนั้นเป็นเวลาเก้าปี นาโปลีหลุดอันดับท็อป-5 แค่ปีเดียว โดยเป็นรองแชมป์ 3 ครั้ง, อันดับสาม 3 ครั้ง, อันดับห้า 2 ครั้ง และอันดับเจ็ด 1 ครั้ง
เครดิตต้องยกให้เต็มๆสำหรับการบริหารงานและเงินของเด ลอเรนติส ที่ไม่ใช่มหาเศรษฐีสายเปย์ แถมยังวางแผนและคิดรอบคอบเสียจนแฟนบอลมองว่าเป็นเจ้าของทีมที่มัธยัสถ์(หรือขี้เหนียว)เกินเหตุ
ฟาบริซิโอ โรมาโน นักข่าวคนดังเคยให้สัมภาษณ์ว่า เด ลอเรนติส และผู้อำนวยการ คริสเตียโน จิอันโตลี ร่วมกันตัดสินใจขายนักเตะที่เป็นขวัญใจของแฟนบอลและว่าที่ตำนานสโมสร ซึ่งเป็นความเสี่ยงอย่างเช่น อเรนโซ อินซิเญ, คาลิดู คูลิบาลี, ดรีส์ เมอร์เทนส์ และฟาเบียน รูอิซ
สำหรับฝั่งขาเข้าเนื่องจากนาโปลีเป็นทีมระดับกลางของยุโรป จึงไม่มีแรงดึงดูดสตาร์ดังด้วยเงินและชื่อเสียง กลุ่มนักเตะใหม่จึงได้แก่ คิม มิน-แจ เซ็นเตอร์แบ็ควัย 26 ทีมชาติเกาหลีใต้ ซึ่งเล่นสามปีในจีนก่อนย้ายมาอยู่เฟเนอร์บาห์เช, มาเธียส โอลิเวรา แบ็คซ้ายทีมชาติอุรุกวัยที่ข่วยให้เตกาเฟรอดตกชั้นลาลีกา, เลโอ ออสติการ์ด เซ็นเตอร์แบ็คชาวนอร์เวย์ของไบรท์ตัน ซึ่งสร้างผลงานได้ดีระหว่างที่เจนัวเซ็นยืมหกเดือนครึ่ง รวมถึงยืมตัวต็องกี อึนดอมเบเล จากสเปอร์ส, โจวานนี ซิเมโอเน จากเวโรนา และจีอาโกโม รัสปาโดรี จากซาสซูโอโล โดยตัวความหวังใหม่จริงๆคือ ควิชา ควารัทสเคเลีย ปีกดาวรุ่งทีมชาติจอร์เจีย ซึ่งซื้อจากดีนาโม บาตูมิ ด้วยสนนราคาเพียง 10 ล้านยูโร ส่วนหนึ่งเพราะสงครามในยูเครน
นั่นทำให้ตลาดซัมเมอร์ปีที่แล้ว นาโปลีสามารถลดค่าเหนื่อยผู้เล่นลงได้ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ และทำกำไรได้ 13 ล้านยูโร แต่ที่สำคัญกว่าคือ การบริหารตลาดนักเตะรอบใหญ่ครั้งนั้นทำให้สปัลเล็ตติได้นักเตะที่ใช่สำหรับแนวทางของเขา ซึ่งชื่นชอบเกมบุกที่มีการครองบอลเป็นรากฐาน โดยกุนซือวัย 63 ปี ชอบระบบ 4-2-3-1 หรือ 4-3-3 ที่มี inverted wingers โดยปีกตัวในทั้งสองฝั่งคือ ควารัทสเคเลีย และมัตเตโอ โปลิตาโน ถือเป็นกุญแจสำคัญที่นำความสำเร็จมาสู่นาโปลีในซีซันนี้ และต้องไม่ลืม วิคเตอร์ โอซิมเฮน ศูนย์หน้าเนื้อหอมทีมชาติไนจีเรีย ซึ่งเฉพาะบอลลีกทำไป 18 ประตู 4 แอสซิสต์จาก 19 นัด
ถ้าเปรียบมาราโดนาเป็นคนนำนาโปลีไปสู่ยุคโชติช่วงชัชวาล เด ลอเรนติส ถือเป็นบุคคลที่กอบกู้สโมสรขึ้นมาจากซากปรักหักพังนับจากล้มละลายในปี 2004 ไม่เพียงพากลับเซเรีย อา อย่างรวดเร็วเพียงสามปี แต่ยังบริหารนาโปลีจนใกล้ที่จะครองสคูเดตโตสมัยที่สามที่รอนานกว่าสามทศวรรษ
เรียบเรียง : ฐปน วันชูเพลา (Senior Football Writer)
Senior Football Editor