Categories
Special Content

ย้อนรอยความสูญเสีย : 33 ปี “ฮิลส์โบโร่” โศกนาฎกรรมลูกหนังที่ไม่มีวันลืมเลือน

หากจะกล่าวถึงเหตุการณ์ที่สร้างความสูญเสียครั้งใหญ่ที่สุดของวงการฟุตบอลอังกฤษ หนึ่งในนั้นจะต้องเป็นเหตุการณ์ “ฮิลส์โบโร่” ระหว่างการแข่งขันฟุตบอลเอฟเอ คัพ ในวันนี้เมื่อ 33 ปีก่อน

นี่คือความทรงจำอันเจ็บปวดของผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์วันนั้น พร้อมทั้งได้เห็นการต่อสู้เพื่อคืนความยุติธรรมของครอบครัวผู้สูญเสีย และบทเรียนที่ได้รับหลังจากความหายนะที่เกิดขึ้น

และในโอกาสที่ลิเวอร์พูล มีโปรแกรมเตะเอฟเอ คัพ รอบรองชนะเลิศ พบกับแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ในวันรุ่งขึ้น จึงถือโอกาสนี้นำเหตุการณ์ที่เป็นหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ของสโมสรมาฝากกัน

เรื่องราวทั้งหมดตั้งแต่เริ่มต้น จนถึงบทสรุปเป็นอย่างไร ? วันนี้เพจ “ไข่มุกดำ” จะมาขยายให้ฟังกันครับ

ขอบคุณรูปภาพจาก : https://www.facebook.com/ThailandLiverpoolFC/

จุดเริ่มต้นแห่ง “หายนะ”

ข้ามเวลากลับไปในวันที่ 15 เมษายน 1989 การแข่งขันฟุตบอลเอฟเอ คัพ รอบรองชนะเลิศ ระหว่าง ลิเวอร์พูล VS น็อตติงแฮม ฟอเรสต์ ที่สนามฮิลส์โบโร่ บ้านของสโมสรเชฟฟิลด์ เวนส์เดย์

การแข่งขันแมตช์ดังกล่าว มีแฟนบอลจำนวนมากที่ต้องการเข้าชม โดยเฉพาะฝั่งลิเวอร์พูล ที่เข้ามาแบบกระจุกอยู่ที่บริเวณทางเข้าสนาม และเป็นความโชคไม่ดี ที่การจัดการเกิดความผิดพลาด

ความผิดพลาดแรก คือการจัดโซนที่นั่งบนอัฒจันทร์ให้แฟนบอลแต่ละทีม แฟนลิเวอร์พูลที่มีจำนวนมากกว่า กลับต้องไปนั่งในโซนที่จุผู้ชมได้น้อยกว่า และแฟนฟอเรสต์ ไปนั่งในโซนที่จุผู้ชมได้มากกว่า

และความผิดพลาดที่สอง คือปล่อยให้ผู้ชมในบางโซนแออัดจนแน่นพื้นที่ ยิ่งใกล้เวลาแข่งขัน แฟนบอลด้านหลังต่างก็พยายามผลักดันแฟนบอลด้านหน้า เพื่อจะได้เข้าสนามเร็วขึ้น

ขณะที่แฟนบอลบางคนที่ไม่มีตั๋วเข้าชมก็ถูกกันอยู่ตรงทางเข้า เมื่อเจ้าหน้าที่สนามเห็นฝูงชนที่แออัด จึงได้ตัดสินใจเปิดอีกโซนหนึ่งที่ไม่มีช่องเช็คตั๋ว ทำให้แฟนบอลต่างแห่กันเข้าไปช่องทางนั้นกันหมด

เมื่อแฟนบอลจำนวนมากที่ถูกอัดอยู่ด้านหน้าทางเข้าเริ่มทนไม่ไหว ได้พยายามดิ้นรนหนีตายกันอลหม่าน บ้างก็ถูกอัดติดกับรั้วลูกกรง ขยับไปไหนไม่ได้ เหยียบกันตาย หายใจไม่ออก

เกมในสนามเพิ่งเริ่มได้ไม่นาน ท่ามกลางสถานการณ์ที่โกลาหลอย่างมาก จนในที่สุดแมตช์นี้ดำเนินได้ไปแค่ 6 นาที ต้องยกเลิกการแข่งขัน จังหวะที่ปีเตอร์ เบียร์ดสลีย์ ยิงชนคาน คือช็อตสุดท้ายของเกม

เหตุการณ์นี้มีผู้เสียชีวิตทันทีในวันเกิดเหตุ 94 ราย แล้วเพิ่มเป็น 95 ในวันถัดมา และในปี 1993 แฟนบอลรายหนึ่ง ที่อาการโคม่า รักษาตัวมานานถึง 4 ปี ก็จบชีวิตลงเป็นรายที่ 96 บาดเจ็บกว่า 700 คน

หลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้น สมาคมฟุตบอลอังกฤษ (เอฟเอ) ได้สั่งให้ทุกสโมสรในลีกสูงสุด เปลี่ยนอัฒจันทร์ที่ให้แฟนบอลยืนชม ให้เป็นที่นั่งทั้งหมด และต้องรื้อรั้วเหล็กที่กั้นสนามออกทั้งหมดด้วย

เก้าอี้สีแดง 96 ตัว ภายในอัฒจันทร์สนามเวสต์บรอมฯ ได้ติดตั้ง เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้สียชีวิตเหตุการณ์ฮิลล์สโบโรห์ ขอบคุณรูปภาพจาก : https://www.facebook.com/ThailandLiverpoolFC/

ถูกใส่ร้าย… ตายทั้งเป็น ?

หลังเกิดเหตุร้ายที่สนามฮิลส์โบโร่ ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจและสื่อมวลชนบางราย ที่แสดงถึงความ “ไร้จรรยาบรรณ” ด้วยการโยนความผิดให้แฟนบอลลิเวอร์พูลว่า คือตัวต้นเหตุที่ทำให้เกิดโศกนาฏกรรมดังกล่าวขึ้น

ในวันรุ่งขึ้น “เดอะ ซัน” สื่อดังของอังกฤษ พาดหัวตัวโตว่า “The Truth” พร้อมด้วยข้อความกล่าวโทษ 96 ศพ ดังต่อไปนี้

“Some fans picked pockets of victims.

Some fans urinated on the brave cops.

Some fans beat up PC giving kiss of life.”

แปลเป็นไทย ความว่า… “นี่คือความจริง พวกเขาขโมยทรัพย์สินพวกเดียวกันเองที่บาดเจ็บ, ทำร้ายและปัสสาวะใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ, พยายามจะเปลื้องผ้าศพหญิงสาวที่ถูกเหยียบย่ำ

พอแฟนบอลหงส์แดง และชาวเมืองลิเวอร์พูลได้รับรู้การนำเสนอข่าวแบบนั้น แน่นอนว่าพวกเขาโกรธแค้นเป็นทวีคูณ ตัวเองเป็นผู้เสียหาย แล้วยังถูกยัดเยียดว่าเป็นฝ่ายผิดอีก

กระทั่งในปี 2012 แฟนบอลลิเวอร์พูล ที่รอคอยความยุติธรรมมาแล้ว 23 ปี ก็เริ่มมีความหวัง เมื่อมีรายงานฉบับหนึ่ง ความยาว 400 หน้า ถูกเผยแพร่ต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรก

ใจความสำคัญ อยู่ที่หน้า 394 ความว่า “เจ้าหน้าที่ตำรวจ และนักการเมืองบางคน ได้โยนความผิดให้กับ 96 ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนั้น ว่าเป็นต้นเหตุของโศกนาฏกรรมอันน่าเศร้าทั้งหมด”

นั่นทำให้ นายเดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ต้องออกมาขอโทษแฟนบอลลิเวอร์พูล ที่ปล่อยเรื่องนี้ให้เงียบหายไป พร้อมทั้งไม่มีการสอบสวนหาความจริง

นายคาเมรอน ยังยอมรับว่า เป็นความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่ละเลยหน้าที่ และปล่อยให้แฟนบอลเข้าไปเกินความจุ จนทำให้เกิดเหตุการณ์สะเทือนใจในครั้งนี้

ขณะที่ “เดอะ ซัน” ที่ถึงแม้จะออกมาแถลงขอโทษอย่างเป็นทางการ แต่เป็นที่น่าเสียดาย ที่ชาวเมืองลิเวอร์พูล ปิดประตูล็อกตาย ไม่ต้อนรับสำนักข่าวแห่งนี้อีกตลอดไป

ขอบคุณรูปภาพจาก : https://www.facebook.com/ThailandLiverpoolFC/

ความยุติธรรมที่กลับคืน

ครอบครัวผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ “ฮิลส์โบโร่” ได้เพียรพยายามต่อสู้เพื่อค้นหาความจริง และคืนความยุติธรรมให้กับผู้ล่วงลับทั้งหมด จนในที่สุดวันที่พวกเขารอคอยมาอย่างยาวนาน ก็มาถึงจนได้

เดือนเมษายน 2016 คณะลูกขุนในศาล ได้ลงมติด้วยคะแนนเสียงส่วนใหญ่ 7 ต่อ 2 ตัดสินให้ 96 ศพ ในเหตุการณ์ฮิลส์โบโร่ เป็นผู้บริสุทธิ์ สาเหตุเกิดจากความผิดพลาดของฝ่ายจัดการแข่งขัน รวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจ

ผลการตัดสินของศาล ทำให้แฟนบอลลิเวอร์พูล รวมไปถึงครอบครัวของผู้เสียชีวิต ต่างน้ำตาคลอยินดีที่พวกเขา “ปลดแอก” ได้เสียที หลังจากต้องต่อสู้เพื่อทวงคืนความยุติธรรมมานานถึง 27 ปี

ต่อมาในเดือนกรกฎาคม 2021 แอนดรูว์ เดอไวน์ แฟนบอลที่เข้าชมการแข่งขันที่ฮิลส์โบโร่ เสียชีวิตเป็นรายที่ 97 หลังจากได้รับบาดเจ็บที่สมองอย่างรุนแรง จนไม่สามารถกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกเลยนับจากนั้น

ทำให้สโมสรลิเวอร์พูล ได้ดำเนินการเปลี่ยนชื่อบริเวณนอกสนามจาก 96 Avenue เป็น 97 Avenue พร้อมทั้งเปลี่ยนตัวเลขที่บริเวณท้ายทอยของเสื้อจาก 96 เป็น 97 ตั้งแต่ฤดูกาล 2022-23 เป็นต้นไป

ล่าสุดเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา น็อตติงแฮม ฟอเรสต์ มีโปรแกรมพบกับลิเวอร์พูล ในเอฟเอ คัพ รอบ 8 ทีมสุดท้าย ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 33 ปี ที่ทั้งคู่พบกันในรายการนี้ นับตั้งแต่เหตุการณ์ฮิลส์โบโร่

โดยสนามซิตี้ กราวน์​ รังเหย้าของฟอเรสต์ ได้จัดการเว้นว่างที่นั่งเอาไว้ 97 ที่ เพื่อ​ให้ดวงวิญญาณของแฟนบอลทั้ง 97 คนที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์หายนะที่ฮิลส์โบโร่ ได้มาร่วมนั่งชมเกมลูกหนังที่พวกเขารัก

โศกนาฎกรรม “ฮิลส์โบโร่” ที่เกิดขึ้น ทำให้ได้เรียนรู้จากความผิดพลาด เป็นเหมือนแรงกระตุ้นที่ทำให้เกิดการจัดการต่างๆ ที่มีประสิทธิภาพ และการรักษาความปลอดภัยในสนามที่เข้มงวดมากขึ้น

และอีกอย่างที่ต้องจารึกไว้คือ การไม่ยอมแพ้ในการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมเป็นเวลาถึง 27 ปี ไม่ได้หมายถึงเพียงเพื่อคนที่จากไป แต่มันยังมีความหมายถึงคนที่ยังอยู่ด้วยเช่นกัน

You’ll Never Walk Alone…

Author : จักรพันธ์ ภู่ทอง

Photo : BBC

อ้างอิง :

– https://www.bbc.com/news/uk-england-merseyside-58005871

https://www.bbc.com/news/uk-england-nottinghamshire-60812866