ในช่วงปลายทศวรรษ 1970s ฟุตบอลอังกฤษได้เปิดรับให้มีสปอนเซอร์บนหน้าอกเสื้อแข่งขันของสโมสร ซึ่งลิเวอร์พูล ถือเป็นสโมสรแรก ๆ ที่นำร่อง และเป็นภาพจำในแต่ละยุคสมัย
ท่ามกลางความไม่แน่นอนในเรื่องสปอนเซอร์บนหน้าอกเสื้อรายเดิมที่กำลังจะหมดสัญญา และมีการเจรจากับหลายราย แต่ในที่สุด “สแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด” ยังอยู่กับลิเวอร์พูลไปอีก 4 ปี
เรื่องราวของ “หงส์แดง” กับสปอนเซอร์บนหน้าอกเสื้อตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน กับการไปต่อของ “สแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด” วันนี้ SoccerSuck x ไข่มุกดำ จะมาขยายให้ฟังกันครับ
โลกฟุตบอลยุคเก่าถูกทำลายล้าง
24 มกราคม 1976 “เคทเทอริ่ง ทาวน์” สโมสรแรกในประวัติศาสตร์ลูกหนังเมืองผู้ดี ที่มีสปอนเซอร์บนเสื้อแข่ง โดยสวมเสื้อที่มีคำว่า “Kettering Tyres” ซึ่งเป็นบริษัททำธุรกิจศูนย์บริการยางรถยนต์ อยู่บนหน้าอกลงแข่งขัน
แต่ทางสมาคมฟุตบอลอังกฤษ หรือ เอฟเอ สั่งให้เคทเทอริ่ง ทาวน์ เอาสปอนเซอร์ “Kettering Tyres” ที่อยู่บนหน้าอกเสื้อออกไป เนื่องจากในเวลานั้น ยังไม่มีกฎที่อนุญาตให้ทีมฟุตบอลมีสปอนเซอร์เข้ามาสนับสนุน
ทางเคทเทอริ่ง ทาวน์ ก็พยายามที่จะเลี่ยงบาลี เปลี่ยนเป็น “Kettering T” ที่มาจากคำว่า Town แต่ทางเอฟเอบอกว่า จะปรับเงิน 1,000 ปอนด์ ถ้ายังฝ่าฝืนกฏ สุดท้ายแล้วเคทเทอริ่ง ทาวน์ ก็ยอมเอาออกแต่โดยดี
หลังจากเคสของเคทเทอริ่ง ทาวน์ ผ่านไปไม่นาน ดาร์บี้ เคาน์ตี้ สโมสรในดิวิชั่น 1 กับโบลตัน วันเดอเรอร์ส ทีมระดับดิวิชั่น 2 ตัดสินใจทำหนังสือไปยังเอฟเอ เพื่อขอให้มีสปอนเซอร์ทางธุรกิจ ไปอยู่บนเสื้อแข่งขัน
ที่สุดแล้ว ในเดือนมิถุนายน 1977 เอฟเอจึงอนุมัติให้สโมสรฟุตบอลมีสปอนเซอร์อยู่บนเสื้อได้ แต่ได้เพิ่มเงื่อนไขว่า ถ้ามีการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ ห้ามสวมชุดแข่งที่มีสปอนเซอร์บนหน้าอกลงแข่งขันโดยเด็ดขาด
ซึ่งสโมสรแรกในลีกสูงสุดเมืองผู้ดี ที่ประเดิมสวมชุดแข่งขันที่มีสปอนเซอร์อยู่บนหน้าอก คือ ดาร์บี้ เคาน์ตี้ ในฤดูกาล 1977/78 โดยมี “SAAB” บริษัทผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติสวีเดน เป็นผู้สนับสนุน
ย้อนรอยสปอนเซอร์บนเสื้อ “หงส์แดง”
ลิเวอร์พูล ได้เริ่มสวมเสื้อที่มีสปอนเซอร์อยู่บนหน้าอก ลงแข่งขันในแมตช์อย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก เมื่อปี 1979 ซึ่งรายชื่อแบรนด์สินค้าทั้งหมดตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีดังนี้
👉 Hitachi (1979-1982) : บริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้าชื่อดังของญี่ปุ่น สปอนเซอร์รายแรกที่อยู่บนหน้าอกเสื้อชุดแข่งของลิเวอร์พูล ในยุคที่เพิ่งเริ่มต้นสร้างความรุ่งเรือง ช่วงปลายยุค 1970s ถึงต้นยุค 1980s
👉 Crown Paints (1982-1988) : บริษัทผลิตสีทาบ้านจากอังกฤษ เข้ามาเป็นสปอนเซอร์หน้าอกเสื้อ ช่วงที่ลิเวอร์พูลยังครองความยิ่งใหญ่อย่างต่อเนื่อง ในปีแรกแยกเป็น 2 บรรทัด แต่หลังจากนั้นยุบเหลือบรรทัดเดียว
👉 Candy (1988-1992) : ไม่ได้เกี่ยวกับลูกอม แต่เป็นแบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าจากอิตาลี อยู่บนหน้าอกเสื้อในช่วงที่ลิเวอร์พูล เข้าสู่ช่วงท้ายๆ ของความยิ่งใหญ่ในยุค “บูทรูม สต๊าฟฟ์” ก่อนที่จะเผชิญกับขาลง
👉 Carlsberg (1992-2010) : แบรนด์เครื่องดื่มจากประเทศเดนมาร์ก ถึงแม้ในช่วงเวลานั้น ลิเวอร์พูลได้ห่างหายแชมป์ลีกสูงสุดเป็นเวลานาน แต่สปอนเซอร์รายนี้ก็ยังจงรักภักดีกับสโมสรยาวนานถึง 18 ปี
👉 Standard Chartered (2010-ปัจจุบัน) : ธนาคารชื่อดังระดับโลก ที่เข้ามาเป็นสปอนเซอร์ในยุคที่ลิเวอร์พูล ค่อย ๆ กลับคืนสู่ความรุ่งเรืองอีกครั้ง โดยเฉพาะยุคของเจอร์เก้น คล็อปป์ ที่คว้าแชมป์รายการใหญ่ 6 โทรฟี่
สปอนเซอร์หน้าอกเสื้อแข่งขัน ถือเป็นสิ่งที่บันทึกเรื่องราวในแต่ละช่วงเวลาของสโมสรฟุตบอลนั้น ๆ ว่า ได้ผ่านเหตุการณ์อะไรมาบ้าง ซึ่งทั้งสปอนเซอร์และสโมสร ต่างก็ได้รับผลประโยชน์ร่วมกันตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป
ตัดสินใจต่อสัญญากับเจ้าเดิมอีก 4 ปี
เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา มีรายงานว่า ลิเวอร์พูลพยายามเจรจากับบริษัทคริปโตเคอเรนซี่ เพื่อมาเป็นสปอนเซอร์บนหน้าอกเสื้อของสโมสรรายใหม่ แทนที่รายเดิมที่จะหมดสัญญาในปีหน้า
แต่ในที่สุด ยักษ์ใหญ่แห่งเมอร์ซีย์ไซด์ทีมนี้ ตัดสินใจต่อสัญญากับธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด ออกไปอีก 4 ปี มีผลถึงปี 2027 คาดว่าได้รับเงินปีละ 50 ล้านปอนด์ รวมทั้งสิ้น 200 ล้านปอนด์
บิลล์ วินเทอร์ส ซีอีโอของสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด กล่าวว่า “ตอนที่เราเริ่มสนับสนุนลิเวอร์พูลมาตั้งแต่ปี 2010 นึกไม่ถึงเลยว่าลิเวอร์พูลจะประสบความสำเร็จมากขนาดนี้ และยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะได้ร่วมมือกันต่ออีก 4 ปี”
ขณะที่ บิลลี่ โฮแกน ซีอีโอของลิเวอร์พูล กล่าวว่า “การเข้ามาสนับสนุนของสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด เป็นกุญแจสำคัญของความสำเร็จทั้งในและนอกสนามช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา และเราหวังว่าจะได้ร่วมกันสนับสนุนแฟน ๆ ต่อไป”
ส่วนประเด็นที่มีการเจรจากับบริษัทคริปโตเคอเรนซี่ ในการเป็นสปอนเซอร์ใหม่นั้น โฮแกนมองว่า วงการคริปโตเคอเรนซี่ ยังไม่มีการควบคุมที่ชัดเจน และมีความเสี่ยงสูง จึงยังไม่ถึงเวลาที่จะเจรจาเรื่องนี้
“สำหรับคริปโตเคอเรนซี่แล้ว มันเป็นอะไรที่ค่อนข้างกว้าง มีองค์ประกอบต่างๆ มากมาย ที่อยู่ในนั้น มันยังเป็นเรื่องใหม่ เพิ่งเริ่มต้นได้ไม่นาน ซึ่งตอนนี้กำลังเผชิญกับช่วงเวลาที่ยากลำบาก”
“ผมไม่ได้พูดว่า จะไม่สนใจอุตสาหกรรมคริปโตเคอเรนซี่ แต่ผมคิดว่ามันยังไม่ใช่ตอนนี้ ถ้าในอนาคตได้พบกับพันธมิตรที่เหมาะสมในอุตสาหกรรมนั้น ผมจะดูเรื่องนี้อย่างแน่นอน” โฮแกน กล่าวปิดท้าย
การมีสปอนเซอร์บนหน้าอกเสื้อ นอกจากจะเป็นการหารายได้เข้าสู่สโมสรแล้ว ยังเป็นสัญลักษณ์ที่ช่วยให้แฟนฟุตบอลจดจำ และกลายเป็นภาพที่ติดตาจนไม่สามารถลบเลือนออกจากความทรงจำของแฟนฟุตบอลได้
เรียบเรียง: จักรพันธ์ ภู่ทอง
อ้างอิง :
– https://sportslens.com/news/on-this-day-jan-24/
– https://www.liverpoolfc.com/news/history-liverpools-shirt-sponsors
– https://theathletic.com/3422768/2022/07/14/liverpool-standard-chartered-crypto/
Football Editor