เมื่อไม่นานมานี้มีข่าวเล็ก ๆ ที่อาจไม่น่าสนใจสำหรับแฟนบอลอังกฤษส่วนใหญ่ยกเว้นสาวกเจ้าป่า น็อตติงแฮม ฟอเรสต์ ซึ่งกำลังใจจดจ่อกับประเด็นปรับปรุบขุมกำลังต้อนรับการกลับขึ้นมายังลีกสูงสุดนับจากตกชั้นดิวิชั่น 1 (เดิม) เมื่อปี 1999 หรืออาจรวมถึงเดอะ ค็อป บางส่วนที่คลิกอ่านเพราะสะดุดตาคำว่า ex-Liverpool striker บนพาดหัวข่าวหรือท่อนโปรยนำ
กองเชียร์ที่กำลังรอฟอเรสต์ปิดดีลสัญญายืมตัว ดีน เฮนเดอร์สัน ผู้รักษาประตูจอมหนึบของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ซึ่งน่าจะช่วยให้ทีมมีโอกาสเสียประตูน้อยลง ต่างตื่นเต้นกับข่าวสโมสรสร้างสถิติซื้อผู้เล่นแพงที่สุดขึ้นมาใหม่ด้วยการทุ่มเงิน 17.5 ล้านปอนด์ คว้าตัว ไตโว อโวนิยี่ ศูนย์หน้าไนจีเรียวัย 24 ปีมาจากยูเนี่ยน เบอร์ลิน ทีมอันดับ 5 ในบุนเดสลีกา เพื่อทะลุทะลวงเกมรับท็อปคลาสของคู่แข่งร่วมลีก
อโวนิยี่เป็น “อดีต” สไตรคเกอร์ของลิเวอร์พูลและมีชื่อเป็นสมาชิกคนหนึ่งของแอนฟิลด์ยาวนานหกปี แต่เขาไม่เคยลงเล่นให้หงส์แดงสักนัดแม้กระทั่งเกมอุ่นเครื่องปรีซีซั่นก็ยังไม่มีโอกาส เพราะเกือบทันทีหลังซื้อตัวมาจาก อินพีเรียล ซอคเกอร์ อะคาเดมี่ ปลายเดือนสิงหาคม 2015 ลิเวอร์พูลได้ส่งเขาไปให้เอฟเอสเฟา แฟรงค์เฟิร์ต ยืมตัวในซีซั่น 2015-16
และเหมือนสัญญายืมตัวกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่อโวนิยี่ต้องเซ็นชื่อทุกซีซั่น เขาจึงกลายเป็นนักเตะพเนจรย้ายถิ่นทุกปี ไปให้เล่นให้ เอ็นอีซี ไนจ์เมเกน, รัวยา แล็กแซล มูครง, เคเอเอ เกนท์, ไมน์ซ 05 และ ยูเนี่ยน เบอร์ลิน ตามลำดับ
จนกระทั่งเกิดจุดเปลี่ยนของชีวิตอโวยินี่ เมื่อยูเนี่ยน เบอร์ลิน พอใจผลงานของศูนย์หน้าไนจีเรียระหว่างยืมตัวในซีซั่น 2020-21 จึงตัดสินใจซื้อขาดจากลิเวอร์พูลเป็นเงิน 6.5 ล้านปอนด์ ซึ่งอโวนิยี่ไม่ทำให้ต้นสังกัดผิดหวัง ช่วงสองปีที่ค้าแข้งในเมืองเบียร์ เขาทำผลงาน 25 ประตู 9 แอสซิสต์จาก 65 นัด ไม่มีเพื่อนร่วมทีมคนไหนทำสกอร์ได้มากเท่าเขาในช่วงเวลานั้น
ศึกลูกหนังบุนเดสลีกา ฤดูกาล 2021-22 ที่ผ่านมา อโวนิยี่ส่งลูกหนังซุกก้นตาข่าย 15 ประตูจาก 31 นัด แถมยังถูกเรียกตัวติดทีมชาติไนจีเรีย 4 นัด ทำ 1 ประตูนับตั้งแต่ประเดิมยูนิฟอร์มอินทรีมรกตในเดือนตุลาคม 2021 ซึ่งด้วยฟอร์มร้อนแรง เขาจึงถูกดึงให้เป็นชิ้นส่วนหนึ่งในการสร้างทีมของ สตีฟ คูเปอร์ กุนซือเวลส์วัย 42 ปี ด้วยค่าตัวที่แพงที่สุดในประวัติศาสตร์น็อตติงแฮม ฟอเรสต์
ฤดูกาลหน้า อโวนิยี่จะได้รับโอกาสพิสูจน์ตัวเองบนสังเวียนพรีเมียร์ลีกเป็นครั้งแรก และแน่นอนจะได้เผชิญหน้ากับทีมเก่า ลิเวอร์พูล ในวันเสาร์ที่ 22 ตุลาคมที่สนามซิตี้ กราวน์ เป็นนัดแรก
สไตล์การเล่นของอโวยินี่ถูกนำไปเปรียบเทียบกับ ราชิดี เยกินี่ ตำนานผู้ทำประตูรวมได้มากที่สุดตลอดกาลของไนจีเรีย ขณะที่ เยอร์เกน คล็อปป์ ก็เคยชื่นชมการยิงที่เฉียบคมและพละกำลังของศูนย์หน้าวัย 24 ปีจากกาฬทวีปรายนี้
“หงส์แดง” ทำเงินเฉียดแปดล้านปอนด์จากนักเตะที่ไม่เคยใช้งาน
หาก ไตโว อโวนิยี่ เป็นการลงทุนก็ถือว่าสร้างผลกำไรงามให้กับลิเวอร์พูลถึงแม้ไม่เคยถูกใช้งานในฐานะนักเตะเลยสักนัดเดียว เชื่อหรือไม่ว่า “เดอะ เรดส์” มีรายได้เข้ากองคลังเกือบ 8 ล้านปอนด์จากศูนย์หน้าไนจีเรียผู้นี้
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2010 ขณะอายุ 13 ปี อโวนิยี่ได้รับตำแหน่งเอ็มวีพีหรือผู้เล่นทรงคุณค่าของการแข่งขันฟุตบอลระดับเยาวชนรายการหนึ่งที่กรุงลอนดอน ซึ่งมี โคคา-โคลา เป็นสปอนเซอร์ บวกกับฟอร์มฉายแววจึงถูกเชิญเข้าร่วมฝึกซ้อมและลงแข่งขันให้กับ อินพีเรียล ซอคเกอร์ อะคาเดมี่
อีกห้าปีต่อมา อโวนิยี่เซ็นสัญญาอาชีพกับลิเวอร์พูลเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2015 หลังจากหงส์แดงเคาะราคาซื้อจากอิมพีเรียล ซอคเกอร์ อะคาเดมี่ เป็นเงินประมาณ 400,000 ปอนด์ แต่ถูกปล่อยให้ เอฟเอสเฟา แฟรงค์เฟิร์ต ยืมตัวทันที และคล้อยหลังไม่กี่เดือน เยอร์เกน คล็อปป์ ได้เข้ามาเริ่มงานผู้จัดการทีมในแอนฟิลด์
ตลอดหกฤดูกาล อโวนิยี่ต้องไปเล่นที่อื่นด้วยสัญญายืมตัวทั้งหมด 6 สโมสรไม่ซ้ำกัน ก่อนยูเนี่ยน เบอร์ลิน ขอซื้อขาดในราคา 6.5 ล้านปอนด์ ทำกำไรให้กับลิเวอร์พูลถึง 6.1 ล้านปอนด์ แต่ “ดิ ไอรอน วันส์” ใช้งานศูนย์หน้าไนจีเรียแค่ปีเดียวก็ขายต่อให้น็อตติงแฮม ฟอเรสต์ 17.5 ล้านปอนด์ ฟันกำไรเหนาะ ๆ 11 ล้านปอนด์ แต่สโมสรต้องแบ่งเงินส่วนหนึ่งไปให้ลิเวอร์พูล
ส่วนหนึ่งในสัญญาเมื่อปี 2021 ระหว่างลิเวอร์พูลกับยูเนี่ยน เบอร์ลิน เป็นเงื่อนไขส่วนแบ่งการขายหรือ Sell-on Clause ทำให้สโมสรเมืองเบียร์ต้องแบ่ง 10 เปอร์เซ็นต์ของค่าตัวที่ขายได้ให้กับทีมหงส์แดง ซึ่งเท่ากับ 1.75 ล้านปอนด์นั่นเอง
นั่นเท่ากับว่า ลิเวอร์พูลได้เงินจากอโวยินี่ทั้งทางตรงทางอ้อมรวมกัน 7.85 ล้านปอนด์ ซึ่งยังไม่รวมรายได้จากการปล่อยยืมให้กับ 6 สโมสรเข้าไปด้วย ลิเวอร์พูลสามารถนำเงินจำนวนนี้ไปซื้อนักเตะดาวรุ่งแววดีที่ผ่านการพิสูจน์ผลงานแล้วได้หนึ่งคน หรือเก็บสะสมเพื่อเอาไปทุ่มซื้อ จู้ด เบลลิงแฮม มิดฟิลด์ว่าที่ซูเปอร์สตาร์ของโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ในตลาดซัมเมอร์รอบหน้าก็ยังได้
เงื่อนไข “เซลล์-ออน” แหล่งรายได้ส้มหล่นของเหล่าสโมสรเล็ก
เซลล์-ออน มักเป็นแหล่งรายได้ของสโมสรเล็ก ๆ จากการขายนักเตะที่พวกเขามองว่าน่าจะไปได้ไกลในอนาคต ตัวอย่างที่เกิดขึ้นประมาณสองปีที่แล้วกับ แมทท์ โดเฮอร์ตี้ ฟูลแบ็คชาวไอริช ซึ่งย้ายจากวูลฟ์แฮมป์ตัน วันเดอร์เรอร์ส ไปอยู่กับท็อตแนม ฮ็อตสเปอร์ ช่วงปลายเดือนสิงหาคม 2020 ด้วยค่าตัวระหว่าง 18-21 ล้านปอนด์หลังจากเล่นให้กับวูลฟ์สยาวนานหนึ่งทศวรรษ ลงสนาม 260 นัด
วูลฟ์แฮมป์ตันค้นพบโดเฮอร์ตี้ระหว่างเตะอุ่นเครื่องปรีซีซั่นกับ โบฮีเมี่ยนส์ เอฟซี ทีมในลีกไอร์แลนด์ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2010 แม้โดเฮอร์ตี้ไม่เคยเล่นทีมชุดใหญ่ของโบฮีเมี่ยนส์เลยสักนัด แต่ถูกเรียกตัวเข้ามาทดสอบฝีเท้าและได้เซ็นสัญญาสองปีกับทีมหมาป่า ซึ่งจ่ายค่าตัวให้ต้นสังกัดไปครั้งนั้น 75,000 ปอนด์
โดเฮอร์ตี้ย้ายไปค้าแข้งในพรีเมียร์ลีกกับวูลฟ์สและแฟนบอลโบฮีเมี่ยนส์อาจลืมชื่อเขาไปแล้วจนกระทั่งตกเป็นข่าวย้ายไปทีมสเปอร์สด้วยค่าตัว 18-21 ล้านปอนด์ เนื่องจากสัญญาเมื่อสิบปีที่แล้วระหว่างโบฮีเมี่ยนส์กับวูลฟ์สมีเงื่อนไขเซลล์-ออน 10เปอร์เซ็นต์รวมอยู่ด้วย ทำให้โบฮีเมี่ยนส์รับส่วนแบ่งไป 1.8-2.1 ล้านปอนด์ ซึ่งจำนวนอาจดูเล็กน้อยแต่มันคือรายได้ก้อนใหญ่มากของสโมสรไอริชแห่งนี้ที่มีแฟนบอลเป็นเจ้าของ และเมื่อปี 2016 มีรายได้รวมทั้งปีแค่ 945,000 ปอนด์ (ยังไม่หักหนี้สิน)
ยังมีสโมสรเล็กๆอีกหลายทีมที่ได้รับประโยชน์จากเงินส่วนแบ่งการขายอย่างเช่นเมื่อครั้ง อายเมริค ลาปอร์เต้ เซ็นเตอร์แบ็คชาวฝรั่งเศส ย้ายจากแอธเลติค บิลเบา ไปแมนเชสเตอร์ ซิตี้ เมื่อปี 2018 ด้วยค่าตัว 57 ล้านปอนด์
ขณะอายุ 12 ปี ลาปอร์เต้เข้าร่วมทีมเยาวชนอะคาเดมี่ของ อาแฌ็ง ซึ่งแข่งขันในดิวิชั่น 8 ของลีกฝรั่งเศส และใช้เวลาที่นั้นนานสี่ปีก่อนย้ายไปอยู่กับอะคาเดมี่ของแอธเลติก บิลเบา เมื่อปี 2010 ด้วยวัย 16 ปี โดยอาแฌ็งจะได้รับส่วนแบ่ง 1เปอร์เซ็นต์ของการขยายลาปอร์เต้ในอนาคต
เซ็นเตอร์แบ็คดาวรุ่งจากเมืองน้ำหอมสามารถแจ้งเกิดได้สำเร็จบนแผ่นดินกระทิงดุ ลาปอร์เต้เล่นให้ทีมชุดใหญ่ของบิลเบาระหว่างปี 2012-2018 ลงสนาม 116 นัด ก่อนถูกแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ซื้อตัวไปในตลาดหน้าหนาวปี 2018 ด้วยราคา 57 ล้านปอนด์ ทำให้เงินเกือบหกแสนปอนด์ถูกโอนเข้าบัญชีของอาแฌ็ง ช่วยให้สโมสรรอดพ้นจากการล้มละลายได้
“หงส์แดง” ลุ้นรอรับเงินจาก “เซลล์-ออน” ในสัญญาอีกหลายราย
เซลล์-ออน ไม่ได้คำนวณจากเปอร์เซ็นต์ของเงินขายนักเตะเท่านั้น แต่อาจคิดจากผลกำไรได้อีกด้วยอย่างเช่น ดาร์วิน นูนเยซ กองหน้าดาวรุ่งทีมชาติอุรุกวัยที่เพิ่งย้ายไปอยู่ลิเวอร์พูลด้วยค่าตัวเมื่อรวมเงื่อนไขแอด-ออนแล้วตก 85 ล้านปอนด์ เคยมีเงื่อนไขเซลล์-ออนที่กำหนดว่า เบนฟิก้าต้องจ่าย 20 เปอร์เซ็นต์ของกำไรการขายให้กับ อัลเมเรีย ต้นสังกัดเก่าของนูนเยซในสเปนก่อนย้ายเข้าเบนฟิก้าเมื่อปี 2020
สัญญาซื้อขายนักฟุตบอลก็คือเอกสารทางกฎหมายอย่างหนึ่งแต่มีเงื่อนไขผูกมัดหลายประเด็น แต่ข้อมูลที่ปรากฏบนหน้าสื่อมักเป็นเพียงค่าตัว ค่าเหนื่อย และระยะเวลา ช่วงหลังๆจะพบอ็อปชั่นซื้อขาด, อ็อปชั่นต่อสัญญา และโบนัสแอด-ออน ซึ่งเป็นเงินที่ต้องจ่ายเพิ่มตามผลงานของนักเตะหรือสโมสรใหม่ แต่ความจริงแล้วยังมีเงื่อนไขปลีกย่อยอื่นๆอีกดังเช่น เซลล์-ออน ที่ถูกหยิบมาพูดถึงจากกรณีของ ไตโว อโวนิยี่
ในอนาคต ลิเวอร์พูลอาจได้เงินส้มหล่นลักษณะนี้อีกเพื่อนำไปใช้จ่ายซื้อนักเตะใหม่เพื่อเสริมเขี้ยวเล็บไล่ล่าแชมป์พรีเมียร์และยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก สองเป้าหมายใหญ่ของสโมสร เพราะเท่าที่ได้รับการเปิดเผยยังมีอดีตผู้เล่นของลิเวอร์พูลมีพันธะเซลล์-ออนกับสโมสรที่ซื้อไปรวม 15 คนคือ
- หลุยส์ อัลแบร์โต้ (ลาซิโอ) – 30 เปอร์เซ็นต์
- แดนนี่ วอร์ด (เลสเตอร์) – 20 เปอร์เซ็นต์
- ไรอัน เคนท์ (เรนเจอร์ส) – 20 เปอร์เซ็นต์
- ราฟา คามาโช (สปอร์ติ้ง ลิสบอน) – 20 เปอร์เซ็นต์
- โดมินิค โซแลงเก้ (บอร์นมัธ) – 20 เปอร์เซ็นต์ จากกำไร
- อัลแลน โรดริเกวส (แอตเลติโก ไมเนียโร) – 10 เปอร์เซ็นต์
- ไรอัน บริวสเตอร์ (เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด) – 15 เปอร์เซ็นต์
- ไค-จานา ฮูเวอร์ (วูลฟ์แฮมป์ตัน) – 15 เปอร์เซ็นต์
- โอวี่ อียาเรีย (เรดดิ้ง) – 20 เปอร์เซ็นต์
- เฮอร์บี เคน (บาร์สลีย์) – 15 เปอร์เซ็นต์
- คามิล กราบารา (โคเปนเฮเกน) – 20 เปอร์เซ็นต์
- เลียม มิลลาร์ (บาเซิล) – 20 เปอร์เซ็นต์
- แฮร์รี่ วิลสัน (ฟูแลม) – 15 เปอร์เซ็นต์
- มาร์โก กรูซิช (ปอร์โต) – 10 เปอร์เซ็นต์
ในอดีต ลิเวอร์พูลเคยได้รับประโยชน์ทั้งจากส่วนแบ่งการขายและเงื่อนไขเซลล์-ออนหมดอายุมาแล้วกับกรณีของ ไอบ์, เซอร์ไก คานอส, แบรด สมิธ, ติอาโก อิลอรี, บ็อบบี้ ดันแคน และ มาริโอ บาโลเตลลี่
ลิเวอร์พูลยังมีช่องทางใช้ประโยชน์จากเงื่อนไขเซลล์-ออนที่เคยทำไว้กับหลายทีม รวมถึงตัวอย่างที่ไม่ได้พบบ่อยกับการซื้อตัวกลับมาเช่น รายของแฮร์รี่ วิลสัน ปีกชาวเวลส์ ซึ่งฟูแลมเพิ่งซื้อขาดหลังประทับใจผลงานช่วงยืมตัว สมมุติว่าวันหนึ่ง ท็อตแนม ฮ็อตสเปอร์ เจรจาขอซื้อจากฟูแลมที่ค่าตัว 25 ล้านปอนด์ ลิเวอร์พูลสามารถขอซื้อด้วยราคาหลังหักส่วนลด 15เปอร์เซ็นต์ หรือ 21.25 ล้านปอนด์ เพื่อเซ็นสัญญากับอดีตผู้เล่นที่ไม่เคยได้เล่นกับทีมเลยระหว่างมีสัญญาในแอนฟิลด์ระหว่างปี 2015-2022 เพราะถูกปล่อยยืมตลอดเหมือนกับอโวนิยี่ หรือถ้าไม่ต้องการตัวกลับ ลิเวอร์พูลก็ยังได้ส่วนแบ่ง 15เปอร์เซ็นต์เมื่อฟูแล่มขายให้สเปอร์ส
บางทีการซื้อขายนักเตะสักคนหนึ่งใช้เวลาเนิ่นนานเยิ่นเย้อไม่ใช่เพราะตกลงค่าตัวค่าเหนื่อยกันไม่ได้ แต่อาจเป็นเงื่อนไขเล็กๆน้อยๆที่แทรกอยู่ในสัญญาก็เป็นได้
เรียบเรียง : ฐปน วันชูเพลา
Senior Football Editor