Categories
Football Business

สรุป 4 ประเภทของ แรงจูงใจหลักในการซื้อ “สโมสรฟุตบอลอาชีพ”

ในปัจจุบัน สโมสรฟุตบอลในยุโรป ตกเป็นเป้าหมายทางธุรกิจของนักลงทุนมากมาย นับตั้งแต่นักธุรกิจท้องถิ่นที่มีชื่อเสียงไปจนถึงมหาเศรษฐีจากต่างประเทศ หรือไล่ตั้งแต่ บริษัทเงินทุนส่วนตัวไปจนถึงกลุ่มผู้สนับสนุน แม้ว่าแต่ละฝ่ายอาจจะมีเหตุผลส่วนตัวร่วมด้วยในการซื้อสโมสรฟุตบอล แต่แรงจูงใจในการซื้อสโมสรของพวกเขา อาจจะไม่ต่างกันมากนัก

บทความนี้ทีมไข่มุกดำ ได้รวบรวมข้อมูลมาจากทีม KPMG ที่ได้เก็บข้อมูล และแรงจูงใจซึ่งพบบ่อยที่สุดในการถูกหยิบยกมาใช้เพื่อซื้อสโมสรฟุตบอลอาชีพ โดยแบ่งออกเป็น 4 ประเภทใหญ่ ซึ่งทั้งหมดก็มีรายละเอียดของแต่ละหัวข้อต่อไปนี้ ได้แก่ ความเป็นเจ้าของทางการเมือง – ทุนยุทธศาสตร์ / ความเป็นเจ้าของทั่วโลก – ทุนทางเศรษฐกิจ / ความเป็นเจ้าของในท้องถิ่น – ทุนทางวัฒนธรรม /ความเป็นเจ้าของผู้สนับสนุน – ทุนทางสังคม

ความเป็นเจ้าของทางการเมือง – ทุนยุทธศาสตร์

1. การประชาสัมพันธ์เชิงบวกและการสร้างแบรนด์

สโมสรฟุตบอลเป็นสินทรัพย์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ มักจะเป็นที่รู้จักในวงกว้าง และ ดึงดูดความสนใจจากผู้คนจำนวนมากรวมไปถึงผู้ชมจำนวนมาก จึงเหมาะที่จะทำหน้าที่เป็นช่องทางการสื่อสารและแพลตฟอร์มสื่อ

พวกเขาไม่เพียงแต่ถ่ายทอดข้อมูลเกี่ยวกับความสำเร็จและกิจกรรมของทีมไปยังแฟน ๆ เท่านั้น แต่ยังสามารถถ่ายทอดข้อความของพันธมิตรทางการค้าและผู้สนับสนุนในลักษณะที่มีประสิทธิภาพ ดึงดูดความสนใจ ทั้งยังกระจายไปอย่างรวดเร็ว

ขอบคุณรูปภาพจาก FB : Manchester City

สโมสรฟุตบอลสามารถเป็นตัวขับเคลื่อนสำหรับประเทศ บริษัท หรือบุคคล เพื่อเพิ่มการรับรู้แบรนด์และปรับปรุงภาพลักษณ์สาธารณะได้ ตัวอย่างเช่น ปารีส แซงต์ แชร์กแมง และ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ มักถูกมองว่าเป็นทูตของประเทศกาตาร์และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ตามลำดับ อีกตัวอย่างหนึ่งคือ เอซี มิลาน ซึ่งมีอดีตเจ้าของเป็นนักธุรกิจและอดีตนายกรัฐมนตรีอิตาลีอย่าง ซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี มาเกือบ 30 ปี เป็นต้น

2. ความสามารถในการโฆษณาที่ไม่เหมือนใคร

ในทำนองเดียวกันกับแรงจูงใจก่อนหน้านี้ เจ้าของอาจเลือกที่จะใช้ประโยชน์จากโอกาสในการสร้างแบรนด์และการสนับสนุน เพื่อใช้ใน บริษัท หรือ ผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่พวกเขาเป็นเจ้าของหรือเกี่ยวข้องกัน ผ่านทางสโมสรฟุตบอลของตัวเอง

ตัวอย่างหนึ่งคือกรณีของ ไมค์ แอชลีย์ ที่เป็นเจ้าของทั้ง สปอร์ต ไดเร็ก และ ยังเป็นอดีตเจ้าของ นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด  และสามารถใช้ประโยชน์จากพื้นที่โฆษณาที่สำคัญของสโมสร เพื่อสร้างแบรนด์ของธุรกิจให้เติบโตได้

3. แรงจูงใจทางภูมิรัฐศาสตร์

ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ อุตสาหกรรมฟุตบอลได้เห็นการขยายตัวอย่างมากของการลงทุนจากบรรดาภาคธุรกิจของจีน โดยส่วนใหญ่แล้วแม้ว่าการเข้าซื้อกิจการของทีมยุโรป จะมีเป้าหมายจากรัฐบาลของจีนในการใช้เพื่อพัฒนาฟุตบอลในประเทศ

แต่ในบางกรณี การซื้อสโมสรจากกลุ่มทุนจีนถูกใช้ในรูปแบบของ “ซอฟต์ พาเวอร์” เพื่อให้ได้มาซึ่งสถานะทางการเมืองหรือตำแหน่งทางธุรกิจ ที่ได้เปรียบมากขึ้นภายในเศรษฐกิจที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก

การใช้ “ซอฟต์ พาเวอร์” ของสโมสรฟุตบอลยังสามารถนำไปใช้เมื่อเข้าสู่ตลาดใหม่ในต่างประเทศ เช่น การเข้าซื้อกิจการของจีนล่าสุดของสโมสรมืออาชีพในเบอร์มิงแฮมสามแห่ง เป็นตัวอย่างของสิ่งนี้

4. Connection ทางธุรกิจ

การเป็นเจ้าของสโมสรมักจะนำเสนอบรรยากาศที่ไม่เหมือนใครสำหรับการพบปะกับผู้มีอิทธิพลสูง ความสัมพันธ์มากมายได้ถูกสร้างขึ้นผ่านการเข้าถึงห้องประชุมคณะกรรมการสโมสรฟุตบอลชั้นนำของโลก รวมถึงการมอบช่องทางการเสพความบันเทิงที่น่าประทับใจอย่างเกมฟุตบอล ให้กับคนดังและผู้ทรงอำนาจที่ต้องการเข้าร่วมการชมแข่งขัน

ความเป็นเจ้าของทั่วโลก – ทุนทางเศรษฐกิจ

1. การเพิ่มผลกำไรทางการเงินสูงสุด

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา รายได้จากลิขสิทธิ์ที่พุ่งสูงขึ้น (โดยเฉพาะในสหราชอาณาจักร) ทำให้ความยั่งยืนทางการเงินเพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยมี กฎ ไฟแนนเชียล แฟร์ เพลย์ เป็นข้อสนับสนุน ทำให้เหตุผลหลักที่อยู่เบื้องหลังการลงทุนของสโมสรฟุตบอลต่าง ๆ ถูกใช้เพื่อเป็นช่องทางดำเนินธุรกิจให้มีผลกำไร และทำให้เงินทุนของเจ้าของทีมที่ลงไปนั้นเติบโต

ขอบคุณรูปภาพจาก : The Guardian

ตัวอย่างของเหตุผลข้อนี้ ได้แก่ สโมสรฟุตบอล แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ซึ่งเป็นเจ้าของโดยตระกูลเกลเซอร์ ที่เป็นนักลงทุนทีมกีฬาที่มีชื่อเสียงในสหรัฐอเมริกา และเมื่อพวกเขาตัดสินใจลงทุนในพรีเมียร์ลีก พวกเขาเลือก แมนฯ ยูไนเต็ด เป็นเป้าหมายในการเข้าซื้อกิจการ เนื่องจากสโมสรมีโอกาสดีที่จะประสบความสำเร็จในเชิงพาณิชย์แล้ว เป็นแนวทางให้นักลงทุนชาวอเมริกันรายอื่น ๆ ได้เห็นตัวอย่างการเติบโตจากการลงทุนในทีมฟุตบอล และเข้ามาแสวงหากำไรหลังจากนั้นอีกหลายราย ทั้ง โครเอนเก และ เฟนเวย์ สปอร์ต กรุป

2. ศักยภาพในการเติบโตทั่วโลก

ความสนใจในฟุตบอลได้เติบโตขึ้นอย่างมากในระดับโลกในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา การเติบโตนี้ได้รับการเร่งความเร็วขึ้นโดยอินเทอร์เน็ตและการพัฒนาแพลตฟอร์มสื่อดิจิทัลในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

การเติบโตนี้น่าสนใจสำหรับเจ้าของที่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์นี้ หากนักลงทุนสามารถหาทีมที่ใช่ พร้อมใช้กลยุทธ์ที่ประสบความสำเร็จและค้นหาช่วงเวลาที่เหมาะสม อาจทำให้ทีมเติบโตอย่างรวดเร็วและให้ผลตอบแทนจากการลงทุน ทั้งยังสร้างผลกำไรได้มหาศาล

“โดยส่วนใหญ่ (สโมสรฟุตบอล) มักมองว่ากำไรจะมาในรูปแบบของถ้วยรางวัล ตราบใดที่สโมสรฟุตบอลยังคงทำผลงานได้ดีในสนามในระดับเดียวกับที่คุณซื้อสโมสรนั้นมา สโมสรจะคงคุณค่าและมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มมูลค่าได้ เป็นทรัพย์สินระยะยาวที่คุณน่าจะทำกำไรได้ไม่ยาก” รอรี มิลเลอร์ จากมหาวิทยาลัยลิเวอร์พูลกล่าว

3. ข้อควรพิจารณาด้านภาษี

สำหรับเจ้าของบางคน สโมสร อาจจะมาในรูปแบบของบริษัทที่อาจจะช่วยให้เขาไม่ต้องเสียภาษีมากเกินไป หากนำเงินมาลงในปริมาณที่คำนวนแล้วทำให้สโมสรขาดทุนในรายปี นอกจากจะทำให้เจ้าของทีมไม่เสียภาษีแล้ว สิ่งที่แลกมาจากเม็ดเงินที่ลงไป อาจจะเป็นการประสบความสำเร็จในบั้นปลายฤดูกาล ซึ่งสิ่งนี้จะเพิ่มมูลค่าให้สโมสรโดยลดตัวเลขทางภาษีที่เขาต้องจากไปพร้อม ๆ กัน

4. การเก็งกำไรในอนาคต (การเลื่อนชั้น)

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอังกฤษ หนึ่งในเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังการลงทุนระดับสูงในสโมสรระดับล่างคือ รางวัลสำคัญอย่างการเลื่อนชั้นไปเล่นในพรีเมียร์ลีก สิ่งนี้สามารถถูกมองว่าเป็นการเก็งกำไรได้เลย

โดยส่วนใหญ่ การลงทุนในทีมฟุตบอลระดับสูง อย่างการซื้อนักเตะชั้นนำ และการจ่ายค่าจ้างผู้เล่น จะต้องบรรลุเป้าหมายที่ทีมตั้งไว้ และส่วนใหญ่มักจะส่งผลให้สโมสรประสบภาวะขาดทุน การจบอันดับสูง ๆ ในตารางพรีเมียร์ลีกอาจสามารถชดเชยสิ่งเหล่านี้ได้

แต่การไต่เต้าจากสโมสรชั้นล่างและเลื่อนชั้นขึ้นมาได้ในเวลาอันสั้น คือการลงทุนที่อาจจะมีความเสี่ยงน้อยกว่า ด้วยเหตุผลที่ว่า การแข่งขันอาจจะไม่สูงเท่า และผลตอบแทนเกินกว่าคำว่าคุ้มค่า ถ้าพาทีมขึ้นชั้นได้จริง

“การซื้อสโมสรใน เดอะ แชมเปี้ยนชิพ จึงเปรียบเสมือนการเก็งกำไรอสังหาริมทรัพย์ในเมืองที่กำลังเติบโต” บีบีซี กล่าว

5. ใช้ ‘สโมสร’ ต่อยอดไปยังสโมสรอื่น 

ความเชี่ยวชาญในการจัดการสโมสรฟุตบอลเป็นทักษะที่สามารถนำมาใช้เพื่อบริหารสโมสรอื่น ๆ ในแต่ละภาคส่วนในโลกได้ ตัวอย่างที่ดีที่สุดของข้อนี้คือ City Football Group กลุ่มเจ้าของที่อยู่เบื้องหลัง แมนเชสเตอร์ ซิตี้ เพราะพวกเขาประสบความสำเร็จอย่างที่สุด ไม่ใช่แค่กับ ซิตี้ เท่านั้น พวกเขายังต่อยอดการลงทุนไปยังสโมสรอื่น ๆ ทั่วโลก โดยมีสัดส่วนการถือหุ้นในสโมสรฟุตบอลทั้งใน อังกฤษ สเปน สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น อุรุกวัย จีน และอินเดีย

ความเป็นเจ้าของในท้องถิ่น – ทุนทางวัฒนธรรม และ ความเป็นเจ้าของผู้สนับสนุน – ทุนทางสังคม

1. สายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับชุมชน

สโมสรฟุตบอลเป็นส่วนสำคัญในการเชื่อมโยงกับท้องถิ่นของด้วย สโมสรบางแห่งเป็นหัวใจของชุมชนขนาดเล็ก เป็นสถานที่ที่ขับเคลื่อนการจ้างงานและดำเนินโครงการ ที่มีความคิดริเริ่มที่จะรับผิดชอบต่อสังคม ดังนั้น บุคคลในท้องถิ่น (ผู้มั่งคั่ง) จึงสามารถมองสโมสรเป็นเวทีในที่กว้างขึ้น และใช้มันเพื่อตอบแทนแก่ชุมชน

ตัวอย่างนี้คือ แอคคริงตัน สแตนลีย์ ซึ่ง แอนดี โอลต์ นักธุรกิจจาก แลงคาเชียร์เข้าซื้อกิจการในปี 2015 โดย โฮลต์ไม่ได้มองว่าสโมสรเป็นธุรกิจเหมือนเจ้าของทีมส่วนมาก แต่ระหว่างที่เขาดำรงตำแหน่ง สโมสรเหมือนจุดศูนย์รวมของชุมชนมากกว่า

2. ความผูกพันกับสโมสรและแฟนคลับ

บุคคลหรือกลุ่มที่เป็นแฟนของทีมอาจมีแรงจูงใจที่ชัดเจนที่สุด ที่จะมีส่วนร่วมในการดำเนินงานของสโมสร สโมสรที่มีชื่อเสียงหลายแห่ง รวมทั้ง เรอัล มาดริด และ บาร์เซโลนา ยังคงมีเจ้าของทีมเป็นกลุ่มแฟนบอลมาจนถึงทุกวันนี้ ขณะที่ในเยอรมนี มีกฎ 50 + 1 หมายความว่าแทบทุกสโมสรอาชีพในประเทศนี้ มีโครงสร้างการเป็นเจ้าของที่แฟน ๆ ถือหุ้นเป็นส่วนใหญ่

The largest stadium of Barcelona from helicopter. Catalonia, Spain

ทั้งนี้ และทั้งนั้น สิ่งหนึ่งที่ควรตระหนักก่อนจะก้าวขาเข้ามาในธุรกิจฟุตบอล ไม่ต้องถึงขั้นเป็นเจ้าของก็คือ ลักษณะพิเศษของฟุตบอลลีกอาชีพ (The ‘peculiar’ economics of professional football leagues) ที่ควรมีความเข้าใจอย่างถ่องแท้

เฉพาะอย่างยิ่งในมุมที่ฟุตบอลเป็น “เกม” หรือเป็น “ธุรกิจ” ที่แตกต่างจากธุรกิจอื่น ๆ เพราะจะมีจุดมุ่งหมายพร้อม ๆ กัน 2 ประการ นั่นคือ ชนะในสนาม และ “ไม่แพ้” หรืออยู่ได้โดยไม่ขาดทุนนอกสนาม
“จุดมุ่งหมาย” 2 ประการนี้จะขัดแย้งกันเองโดยธรรมชาติ เพราะหากต้องการจะประสบความสำเร็จในสนาม สโมสรฟุตบอลก็ต้องใช้เงิน “ลงทุน” กับการซื้อตัวผู้เล่น หรือไม่ก็เป็นค่าเหนื่อยผู้เล่นที่ส่วนมากแล้วจะใช้เต็มจำนวนงบประมาณที่มี

ไม่นับการปรับปรุง “สาธารณูปโภค” ต่าง ๆ สำหรับทีม และแฟนบอล เช่น สนามซ้อม, ที่นั่งสนามแข่ง, ห้องน้ำ, สนามหญ้า ฯลฯ เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อการเล่นทีม และเพื่ออรรถรสในการชมฟุตบอลของแฟน ๆ ขยับจากนั้นอีกขั้นก็คือ หน้าที่เพื่อสังคม ดังจะได้เห็นกิจกรรม CSR (Corporate Social Responsibilities) ต่าง ๆ มากมาย และเป็น “ภาคบังคับ” ที่ต้องกระทำ โดยเฉพาะโปรแกรมเพื่อเยาวชน และชุมชนที่สโมสรฟุตบอลก่อตั้ง

ที่สุดแล้ว “กำไร” อย่าว่าแต่จะไม่เหลือเลย การทำงบดุลไม่ให้ติด “ตัวแดง” ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายแล้ว ฉะนั้นในทาง “อุดมคติ” ฟุตบอลจึงไม่ใช่ธุรกิจที่ผู้ถือหุ้นไม่ว่าจะในฐานะบุคคล, นิติบุคคล หรือบริษัทมหาชนจะ “นั่งรอ” ผลกำไรปลายปีเฉกเช่น ธุรกิจในอุตสาหกรรมอื่น ๆ

แม้ความจริงที่เราทราบ “เจ้าของทีม” ทุกวันนี้จะไม่ใช่แบบนั้นก็ตาม

Author : สมศักดิ์ จันทวิชชประภา

อ้างอิง:

– https://footballbenchmark.com/library/key_motivations_behind_buying_a_professional_football_clubs