Sacking Season เป็นศัพท์ที่ใช้เรียกฤดูหรือช่วงเวลาปลดผู้จัดการทีมในพรีเมียร์ลีก มักเริ่มจากเดือนกันยายนถึงปลายเดือนพฤศจิกายน บางปีอาจยาวไปถึงช่วงเปิดตลาดซื้อขายฤดูหนาวในเดือนมกราคม แต่โดยเฉลี่ยแล้ว กุนซือพรีเมียร์ลีกคนแรกจะตกงานหลังคุมทีมไปได้ 10.8 นัดของซีซัน
นับจากลีกสูงสุดของอังกฤษใช้ชื่อ “พรีเมียร์ลีก” ในฤดูกาล 1992-93 ผู้จัดการทีมคนแรกที่โดนไล่ออกคือ เอียน พอร์เตอร์ฟิลด์ ของเชลซี ซึ่งมีโอกาสคุมทีม 29 นัดก่อนพ้นตำแหน่งในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 1993 ส่วนกุนซือที่ตกเก้าอี้เร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ได้แก่ เคนนี เดลกลิช ซึ่งต้องเก็บข้าวของออกจากสโมสรนิวคาสเซิลในวันที่ 27 สิงหาคม 1998 หลังจากซีซัน 1998-99 เพิ่งเตะแค่สองนัด
ซีซันปัจจุบันมีผู้จัดการรับใบแดงจากสโมสรไปแล้วห้าคน เริ่มจากสกอตต์ พาร์คเกอร์ ของบอร์นมัธเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2022 ตามด้วยโธมัส ทูเคิล ของเชลซีในเดือนกันยายน, บรูโน ลาเก ของวูลฟ์แฮมป์ตัน และสตีเวน เจอร์ราร์ด ของแอสตัน วิลลา ทั้งคู่ตกงานในเดือนตุลาคม และราล์ฟ ฮาเซนฮึทเทิล ของเซาแธมป์ตันในเดือนพฤศจิกายนก่อนพรีเมียร์ลีกพักเบรกให้เวิลด์คัพราวหนึ่งสัปดาห์
พรีเมียร์ลีกกลับมาเตะใหม่เกือบหนึ่งเดือนยังไม่มีสโมสรไหนเปลี่ยนม้ากลางศึก รวมถึงแกรห์ม พอตเตอร์ ที่มีข่าวว่าเก้าอี้ตำแหน่งร้อนผ่าวที่เชลซี ซึ่งล่าสุด สกายเบต บริษัทรับพนันในอังกฤษ ให้เป็นแค่เต็งสี่ที่จะถูกปลด โดยมีแฟรงค์ แลมพาร์ด (เอฟเวอร์ตัน) เป็นเต็งหนึ่ง ตามด้วยเดวิด มอยส์ (เวสต์แฮม) และแกรี โอนีล (บอร์นมัธ) ซึ่งเพิ่งรับงานแทนพาร์คเกอร์ไม่ถึงห้าเดือน
แม้ว่าจะพ้น Sacking Season ไปแล้ว แต่เหตุการณ์ไล่ออก “หลงฤดู” ยังเกิดขึ้นได้โดยเฉพาะกับทีมที่เสี่ยงตกชั้น การหาผู้จัดการทีมใหม่มากู้วิกฤติช่วงครึ่งหลังของซีซันอาจเป็นคำตอบที่ใช่
สถานการณ์ไหนที่สโมสรเริ่มคิดปลดกุนซือใหญ่
เป็นเรื่องง่ายสำหรับแฟนบอลที่จะไล่ผู้จัดการทีมบนสื่อโซเชียลเพียงเพราะไม่พอใจผลแข่งขันไม่กี่นัด หรือแสดงอารมณ์ในสนามผ่านการตะโกนหรือทำป้าย แต่สำหรับผู้มีอำนาจตัดสินใจไม่ว่าจะเป็นประธานสโมสร บอร์ดบริหาร ซีอีโอ หรือผู้อำนวยการฝ่ายกีฬา มีตรรกะความคิดและขั้นตอนปฏิบัติมากเยอะ ทั้งปลดผู้จัดการทีมคนเก่าและหาผู้จัดการทีมคนใหม่
ทอร์-คริสเตียน คาร์ลเซน แมวมองชาวนอร์เวเจียน อดีตซีอีโอและผู้อำนวยการด้านกีฬาของอาแอส โมนาโก สโมสรแถวหน้าของลีกเอิง ประเทศฝรั่งเศส เล่าเรื่องราวหลังฉากที่นำไปสู่หนึ่งในสิ่งที่ไม่อยากทำมากที่สุดในสายงานของเขา เริ่มจากเหตุผลของการไล่ผู้จัดการทีม (หรือหัวหน้าโค้ชสำหรับหลายประเทศ)
ผลแข่งขันที่ย่ำแย่เป็นแรงกระตุ้นพื้นฐานที่สุดของเรื่องนี้ แต่ยังมีเหตุผลอื่นด้วยอย่างเช่นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารสโมสรอย่างที่เกิดขึ้นกับทูเคิลหลังจากทอดด์ โบห์ลีย์ เทคโอเวอร์เชลซีจากโรมัน อับราโมวิช ได้ไม่นาน หรืออย่างกรณีที่บอร์นมัธไล่พาร์คเกอร์หลังจากเขาวิจารณ์สโมสรไม่สนับสนุนเรื่องเสริมนักเตะมากเพียงพอ
การดิ้นรนหนีตกชั้นก็เป็นแรงกระตุ้นที่ดี เช่นเดียวกับผลกระทบที่ส่งต่อรายได้เช่น ไม่ได้โควตาฟุตวอลสโมสรยุโรป หรือตกรอบแบ่งกลุ่มแชมเปียนส์ลีก โดยเฉพาะฟุตบอลยุคปัจจุบันที่กลายเป็นธุรกิจเต็มตัวเป็นแหล่งรายได้มหาศาล จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าเหตุผลทางการเงินเศรษฐกิจมีส่วนอย่างมากต่อการตัดสินใจของผู้มีอำนาจในสโมสร
ในมุมมองคนนอก ผู้อำนวยการกีฬามีบทบาทสำคัญแต่ความจริงแล้ว น้อยคนที่จะมีอำนาจตัดสินใจเด็ดขาด แต่เป็นเจ้าของสโมสรหรือบอร์ดบริหารมากกว่าว่าจะทำอย่างไรกับความคิดเห็นของผู้อำนวยการกีฬา
สโมสรทำอะไรหลังมอบใบแดงแก่ผู้จัดการทีม
หลายครั้งการปลดก็ไม่ต้องรอให้ถึงฤดูกาลจบลง เพียงทีมโชว์ฟอร์มได้น่าผิดหวังดูไร้อนาคตแม้ไม่ตกชั้นหรืออยู่ครึ่งล่างของตารางอันดับ สโมสรอาจเริ่มมองหาทางปรับปรุงทีมสำหรับซีซันหน้าตั้งแต่ต้นกุมภาพันธ์หรือมีนาคม
ข่าวลือไล่ผู้จัดการทีมบนหน้าสื่อกับการต้องแยกทางกันจริงๆระหว่างสองฝ่ายเป็นอารมณ์ที่กดดัน อึดอัด และไม่สบายใจอย่างยิ่ง คาร์ลเซนเล่าขั้นตอนหลังมติของบอร์ดบริหารออกมาอย่างชัดเจนว่า ทีมงานด้านสื่อสารจะเป็นกลุ่มแรกที่รับรู้ข่าวนี้เพื่อร่างคำแถลงการณ์ที่เป็นมิตรและทำงานตามลำดับขั้นตอน แน่นอนต้องแจ้งเรื่องนี้แก่ตัวหลักๆของสโมสรก่อนข่าวถูกกดปุ่ม “ส่ง” ไปยังสื่อสำนักต่างๆ ไม่ใช่ปล่อยให้อ่านเจอเองในสื่อ
แล้วเมื่อใดที่ตัวละครสำคัญของเรื่องนี้จะรับรู้ข่าวนี้ อดีตซีอีโอและผู้อำนวยการกีฬาของโมนาโกบอกว่าสโมสรส่วนใหญ่มีลำดับเวลาที่เหมาะสมเพื่อแจ้งข่าวให้ผู้จัดการทีมทันทีที่มติการประชุมออกมาอยู่แล้ว แต่ก็เคยมีกรณีแปลกๆเกิดขึ้นเช่นกันอย่างส่งข้อความผ่านอีเมลหรือ WhatsApp หรือหากย้อนอดีตไปไกลๆ บางคนอ่านเจอจากประกาศบนบอร์ดสโมสร
น้อยครั้งที่ผู้จัดการทีมจะโดนปลดแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย เกือบทั้งหมดต่างสัมผัสความน่าจะเป็นที่เกิดขึ้นล่วงหน้าอยู่แล้ว จึงค่อนข้างทำใจได้แม้จะมีความสะเทือนใจก็ตาม บางคนยอมรับได้ บางคนอาจโล่งใจด้วยซ้ำ แต่มักไม่มีคำพูดหลุดจากปากของพวกเขาจนกว่าจะได้รับคำแนะนำจากที่ปรึกษากฎหมายส่วนตัว ซึ่งงานหลักคือทำข้อตกลงกับผู้บริหารสูงสุดของสโมสร แน่นอนเป็นเรื่องผลประโยชน์ด้านเงินทอง
ทั้งนี้ขึ้นกับเงื่อนไขการเลิกจ้างที่ระบุไว้ในสัญญา ซึ่งดูเหมือนควรเป็นเช่นนั้น แต่ความจริงคือไม่ได้เกิดขึ้นกับผู้จัดการทีมทุกคน บางคนต้องพึ่งพาที่ปรึกษาทางกฎหมายเพื่อเรียกร้องเงินชดเชยหรือยืนกรานที่จะรับเงินส่วนที่เหลือของสัญญา
สำหรับตัวอย่างเงินชดเชย แมนฯยูไนเต็ดต้องจ่ายให้โชเซ มูรินโญ ประมาณ 15 ล้านปอนด์หลังไล่ออกในเดือนธันวาคม 2018 หรือก่อนหน้านั้นปีเดียวกัน เชลซีได้จ่ายเงินประมาณ 26 ล้านปอนด์ให้กับอันโตนิโอ คอนเต และทีมงานของเขา ควบคู่ไปกับค่าใช้จ่ายด้านกฎหมาย แน่นอนว่า รายจ่ายส่วนนี้ก็มีน้ำหนักไม่น้อยที่บอร์ดบริหารนำมาชั่งตวงวัดเพื่อตัดสินใจปลดหรือไม่ปลดผู้จัดการทีม
มีอีกประเด็นที่น่าสนใจเพราะแฟนบอลอาจเคยรับรู้จากหน้าสื่อว่า นักเตะมีอิทธิพลต่ออนาคตของนายใหญ่ตัวเอง ซึ่งเรื่องนี้คาร์ลเซนตอบชัดเจนว่า ผู้เล่นไม่มีส่วนโดยตรงต่อการประเมินว่าผู้จัดการทีมจะอยู่หรือจะไป แต่มีผลทางอ้อมมากกว่าเพราะความสัมพันธ์ระหว่างผู้จัดการทีมกับนักฟุตบอลมักอยู่ในสายตาของผู้มีอำนาจ แต่ก็มีบางกรณีที่นักเตะหรือเอเยนต์ใกล้ชิดสนิทสนมกับบุคคลระดับบิ๊กในสโมสรที่สามารถนำไปสู่การปลดผู้จัดการทีม แต่เรื่องนี้มักอยู่ในสภาพคลุมเคลือไม่เคยมีความชัดเจน
ยุ่งยากซับซ้อนกว่าการปลดคือหาคนใหม่มาแทน
มาถึงขั้นตอนที่สำคัญยิ่งกว่าไล่คนเก่าออก คือหาคนใหม่มาแทนเพื่อพาทีมขึ้นไปสู่ระดับสูงขึ้น คำถามคือ ประธานสโมสร ซีอีโอ บอร์ดบริหาร หรือผู้อำนวยการกีฬา มีคนอยู่ในใจล่วงหน้าหรือไม่ คาร์ลเซนเฉลยว่าแน่นอนย่อมมีแต่ไม่ได้หมายความคนนั้นจะถูกเรียกเข้ามารับงานทันที แม้นักข่าวจะเชื่อเช่นนั้นก็ตามในบางกรณี แต่คาร์ลเซนให้ข้อมูลจากประสบการณ์ส่วนตัวว่า มักมีใบสมัครส่งเข้ามายังสโมสรมากมายทั้งจากเอเยนต์หรือผู้จัดการทีมที่ว่างงานเอง เวลาเร็วที่สุดที่ตัวเขารู้คือหกนาทีหลังข่าวไล่ผู้จัดการทีมถูกประกาศออกไป
อย่างไรก็ตามสโมสรต่างตระหนักดีว่า การเร่งรีบให้ขั้นตอนนี้จบลงเท่ากับเพิ่มความกดดันและความเสี่ยง แม้ว่าสโมสรชั้นนำส่วนใหญ่มักจับตาผู้จัดการทีมที่น่าสนใจให้อยู่ในเรดาร์อยู่แล้วแม้ทีมยังไม่ตกอยู่ในสถานการณ์น่าเป็นห่วงก็ตาม มันเป็นเรื่องปกติของการทำธุรกิจ เป็นการลดความเสี่ยงหรือเหตุปัจจัยอื่นๆเช่น ผู้จัดการทีมของพวกเขาอาจหันไปสนใจสโมสรที่ใหญ่กว่า รวยกว่า และดีกว่า การเตรียมพร้อมจึงเป็นสิ่งจำเป็น
โดยทั่วไป ซีอีโอหรือผู้อำนวยการกีฬาจะคัดกรองประวัติย่อหรือซีวี (curriculum vitae) จนเหลือผู้สมัครจำนวนน้อยที่สุดที่เข้าสู่ขั้นตอนสัมภาษณ์ก่อนคัดเลือกจนเหลือชอร์ตลิสต์ประมาณ 2-3 คนเพื่อนำเสนอต่อเจ้าของหรือคณะกรรมการบริหารของสโมสร แต่มีประธานสโมสรบางคนชอบลงลึกในรายละเอียด ต้องการขับเคลื่อนกระบวนการตั้งแต่แรกเริ่ม
การนัดสัมภาษณ์แบบไม่มีข้อผูกมัด ทีมงานต้องวางแผน ประสานงาน และจัดเตรียมอย่างพิถีพิถัน สถานที่ต้องเหมาะสำหรับการสัมภาษณ์หลายครั้งอย่างห้องสวีทหรือห้องประชุมในโรงแรม ซึ่งต้องทำให้มั่นใจว่าผู้สมัครจะไม่เจอกันเองบริเวณล็อบบี (แต่ยังมีเรื่องแบบนี้เกิดบ่อย) รวมถึงการดูแลเรื่องพาหนะและเส้นทางเดินทางที่แตกต่างกัน
ประเด็นการพูดคุยหลักๆ ผู้จัดการทีมที่พอมีประสบการณ์จะรู้ดีอยู่แล้ว สามารถเตรียมคำตอบล่วงหน้าได้อาทิ เงื่อนไขทางการเงิน แนวคิดด้านกลยุทธ์และแท็คติก แนวทางการฝึกสอนบริหารจัดการ เป็นต้น สิ่งสำคัญคือต้องสั้นแต่ชัดเจน ผู้จัดการทีมบางคนรับมือการสัมภาษณ์ได้ดี สร้างความประทับใจเมื่อแรกพบทั้งนิสัยใจคอความเป็นมิตร บรรยากาศการพูดคุยมีส่วนสำคัญต่อการตัดสินใจไม่ใช่น้อย ทั้งนี้ผู้อำนวยการกีฬามักมีข้อมูลอ้างอิงพื้นฐานที่ผ่านการตรวจสอบอย่างละเอียดของผู้สมัครแต่ละคนดีอยู่แล้ว ตระหนักดีก่อนเรียกตัวว่าคนนั้นเหมาะกับสโมสรหรือไม่
การสนทนาแม้เพียงสั้นๆแต่ผู้อำนวยการกีฬาจะพยายามมองให้ออกว่า ผู้สมัครต้องการทำงานมากน้อยแค่ไหน มีความแข็งแกร่งเป็นพิเศษหรือไม่ในสนามฝึกซ้อมและการจัดการเกมโดยเฉพาะกับสโมสรแถวหน้า ทักษะด้านมนุษยสัมพันธ์ มีโอกาสก่อให้เกิดความขัดแย้งหรือได้รับการร่วมมือร่วมใจ การรับมือกับแรงกดดันมหาศาล สามารถเป็นหน้าตาของสโมสรเมื่ออยู่ต่อหน้าสื่อมวลชนและสาธารณชน เผชิญหน้ากับวัฒนธรรมการทำงานในสโมสรที่แต่ละแห่งไม่เหมือนกัน หรือแม้กระทั่งความเก่งหลายภาษายังถูกนำมาพิจารณา
ผู้จัดการทีมบางคนโดยเฉพาะไฮ-โปรไฟล์ มักอยากนำสตาฟฟ์ที่คุ้นเคยเข้ามาทำงาน ซึ่งตรงนี้ ผู้อำนวยการกีฬาต้องพิจารณาว่ามีผลต่องบประมาณและทีมงานชุดปัจจุบันหรือไม่ หากมีโอกาสนำไปสู่ความวุ่นวายภายใน การตอบปฏิเสธเป็นทางเลือกอันดับหนึ่ง
คาร์ลเซนตบท้ายว่า ผู้สมัครที่สมบูรณ์แบบในเชิงอุดมคติไม่มีอยู่จริง การตัดสินใจจึงขึ้นอยู่กับการจัดลำดับความสำคัญ บวกข้อดีข้อเสียว่า สโมสรให้น้ำหนักปัจจัยข้อไหนมากน้อยกว่ากัน บางครั้งอาจจำเป็นต้องขอความเห็นจากแหล่งข้อมูลภายนอกที่เชื่อถือได้
หลังสิ้นสุดการสัมภาษณ์ ผู้อำนวยการกีฬาจะเสนอบทสรุปของการสัมภาษณ์ให้กับเจ้าของหรือบอร์ดบริหาร ซึ่งบางสโมสรอาจเชื่อมั่นในการตัดสินใจของผู้อำนวยการกีฬาและปล่อยให้ดำเนินการขั้นตอนต่อไปเอง แต่ปกติแล้วจะมีการนัดสัมภาษณ์รอบสุดท้ายอีกครั้ง ซึ่งส่วนใหญ่จะเน้นไปพูดคุยเรื่องอื่น รายละเอียดทางเทคนิคหรือแท็คติกเล็กๆน้อยๆ วิสัยทัศน์ในภาพรวมของสโมสร ความทะเยอทะยาน เป้าหมายร่วมกัน และการใช้จ่ายเงินในตลาดซื้อขาย
และเช่นเดียวกับการสัมภาษณ์ครั้งแรกๆ บรรยากาศในวงสนทนาครั้งสุดท้ายยังมีความสำคัญสูงสุด ผู้สมัครแม้เป็นตัวเต็งอันดับหนึ่งจำเป็นต้องทำให้เจ้าของและบอร์ดบริหารรู้สึกสบายใจ สัมผัสถึงความสัมพันธ์อันดีเมื่อต้องทำงานด้วยกัน
สโมสรเริ่มต้นช่วงฮันนีมูนครั้งใหม่กับผู้จัดการทีมใหม่
มาถึงจุดนี้สโมสรจะเหลือผู้สมัครเพียงคนเดียวหรือว่าที่ผู้จัดการทีมคนใหม่ ผู้อำนวยการกีฬาหรือซีอีโอจะติดต่อเอเยนต์ของผู้สมัครเพื่อคุยในรายละเอียด ส่วนใหญ่มีขึ้นที่โรงแรม ร้านอาหารหรู หรือสำนักงานของสโมสร การนัดหมายจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ระยะเวลาของสัญญาถูกกำหนดไว้แล้ว แต่ยังมีบางส่วนต้องหารือให้เข้าใจตรงกันเช่น เงินเดือน โบนัส ผลกระทบทางภาษี และผลประโยชน์ด้านอื่นอาทิ ที่พักอาศัย ยานพาหนะ
เมื่อทั้งสองฝ่ายได้ข้อสรุปร่วมกัน ทีมงานฝ่ายสื่อสารจะกลับเข้ามาอีกครั้งเพื่อรับช่วงต่อ ผู้จัดการทีมคนใหม่จะถูกพาไปแนะนำให้รู้จักกับเจ้าหน้าที่สโมสรฝ่ายต่างๆ ตามด้วยการประกาศแต่งตั้งอย่างเป็นทางการและการแถลงข่าวเบื้องต้น
แม้ผ่านช่วงที่ชลมุนฝุ่นตลบแต่คลุมเครือไปแล้ว ผู้อำนวยการกีฬายังต้องอยู่ใกล้ชิดคอยช่วยเหลือผู้มาใหม่ให้สามารถปรับตัวกับสโมสรได้ จากนั้นปล่อยให้ผู้จัดการทีมทำงานกับนักเตะของเขาก่อนจะกลับมาทำงานใกล้ชิดกันอีกครั้งในตลาดซื้อขายรอบถัดไป
เรียบเรียง : ฐปน วันชูเพลา (Senior Football Writer)
Senior Football Editor