Categories
KMD Opinion

ทำไมดีล “กัคโป” จึงดูดีในตลาดรอบ 2

สถิติ คือ “เรื่องหนึ่ง” นะครับในการวิเคราะห์ฟุตบอล อย่างไรก็ดี การเชื่อในประสบการณ์ ความรู้ และสัญชาตญาณในการรับชมฟุตบอลของแต่ละคนก็ให้ความรู้สึกเป็นส่วนใหญ่ว่า “ดีล – โคดี กัคโป” คือ ดีลที่ดีที่สุดดีลหนึ่งสำหรับตลาดการซื้อขายนักเตะรอบ 2 เดือนมกราคมแน่นอน

ไม่ใช่เฉพาะกับลิเวอร์พูล แต่คือ มองใน “ภาพรวม” การซื้อขายจากตลาดรอบนี้ได้เลย

เหตุผลหลัก คือ ตัวเลือกมีไม่เยอะ เพราะต้นสังกัดเดิม หรือนักเตะเองจะย้ายทีม “กลางศึก” ระหว่างซีซั่นมันต้องอาศัยการปรับตัวพอประมาณ

จริง ๆ แล้ว ทีมใหม่ หากไม่จำเป็นจริง ๆ ก็จะไม่ซื้อ เพราะนอกจากจะถูกมองได้ว่า เตรียมตัวไม่ดีตอนซัมเมอร์ตลาดรอบแรกแล้ว

มันยังเหมือน panic buy หรือ “ต้องซื้อ” เพื่อขายผ้าเอาหน้ารอดจากผลงานที่ไม่ดีกระทั่งธันวาคม หรือนักเตะหลักเจ็บจึงต้อง “ซ่อมด่วน”

ลิเวอร์พูลเองเป็นอย่างหลังสุดที่อย่างน้อย ดิโอโก โชตา เจ็บจนถึง ก.พ.และหลุยส์ ดิอาซ น่าจะยาวถึง เม.ย.- พ.ค. ทำให้ไม่มีทางเลือกกับการมองหาแนวรุกฝั่งซ้ายที่เกมล่าสุด อเล็กซ์ อ๊อกเลด-แชมเบอร์เลน ได้ลงตัวจริงในแมตช์ชนะแอสตัน วิลล่า 3-1 หรือฟาบิโอ คาร์วัลโญ่ ได้โชว์ฟอร์มบ้างประปรายช่วงก่อนบอลโลก

ไม่นับที่ยังคิดถึง ซาดิโอ มาเน อดีตตัวเลือกหลักฝั่งนี้อยู่เป็นระยะ ๆ

ฉะนั้น การคว้าตัว กัคโป นักเตะที่ “แจ้งเกิด” เต็มตัวในบอลโลกซึ่งหมายความว่า น่าจะอัพค่าตัวได้มากขึ้นมาร่วมทีมด้วยราคา 37 ล้านปอนด์ และจะแตะ 50 ล้านปอนด์หากรวม add-ons ต่าง ๆ เข้าไปกับค่าเหนื่อยสัปดาห์ละ 120,000 ปอนด์ 6 ปีเพื่อผู้เล่นระดับนี้วัย 23 ปี

พูดได้คำเดียว ณ อุณหภูมิตลาดแบบนี้ หรือแบบนี้ที่ เอนโซ เฟร์นันเดซ ซึ่งเพิ่งย้ายจากริเวอร์เพลทมาเบนฟิกาได้ 6 เดือน และเพิ่งสถาปนาตัวเองให้แชมป์โลก อาร์เจนตินา ได้เดี๋ยว ๆ นี้เองมีค่าฉีกสัญญา 105 ล้านปอนด์

กัคโป กับไม่ถึง 50 ล้านปอนด์ คือ ถูกเป็นขรี้! ไม่ต้องคิดอะไรมาก

ส่วนสูง ทะลุ 190 เซนติเมตร และทั้งใหญ่ ทั้งคล่อง และเร็ว แถมยิงประตูได้ “นิ่ง, เนียน” และเทคนิคดี จึงไม่น่าห่วงเหมือน ดาร์วิน นูนเญซ

แน่นอนว่า สถิติกับลีกดัตช์ สามารถเป็น “ภาพลวง” ได้เหมือนลีกเอิง

แต่มันก็ช่วยให้สบายใจขึ้นว่า ทั้ง 105 ประตู รวม assists จาก 159 นัดลงสนามให้พีเอสวี หรือ 21 ประตู 25 assists จาก 41 ดัตช์ลีกนับจากออกสตาร์ซ๊ซั่นก่อน คือ ดีย์ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ

แต่แบบที่ผมบอกไว้ครับ “สถิติ” คือ เรื่องหนึ่ง

แต่ผมเชื่อว่า ด้วยสถานการณ์ที่ตามเกริ่นไว้ข้างบนกับตลาดรอบนี้ เพิ่มเติม คือ เพราะพีเอสวี ไม่ได้เล่น UCL ทำให้ “ร้อนเงิน” ด้วย

กับภาพที่ได้เห็นในเวทีบอลโลกซึ่งเล่นได้แทบทุกตำแหน่งในแนวรุก บวกกับรูปร่าง ทักษะ ลีลาทรงบอลดัตช์แมน ชาวโลกจึงไม่น่าพลาด และ “ผิดหวัง” ในตัวดาวเตะวัย 23 ปีรายนี้

ที่มาที่ไปของดีล และบทจบที่น่าจะทราบกันแล้ว เพราะกำลังตรวจร่างกายระหว่างผมปั่นบทความนี้เมื่อคืนพุธ 28 ธ.ค.เวลาไทย คงไม่ต้องพูดกันเยอะ

หรือไม่ต้องพูดหรอก…ถึง จู๊ด เบลลิงแฮม ที่แบบที่บอกครับ ยากจะมาตอนนี้ ไว้ซัมเมอร์ค่อยว่ากัน

หรือเอนโซ ที่โคตรแพงตามสไตล์เด็กปั้นเบนฟิกา ที่ส่วนตัวผมเฉย ๆ เพราะนั่นคือ “ของดี” จากบอลโลกแท้ ๆ

แต่กับกัคโป คือ “พิสูจน์ทราบ” มาแล้วอย่างน้อย 2 ซีซั่น และตกเป็นข่าว เป็นเป้าอยู่ในเรดาร์ของ “บิ๊กทีม” ยุโรปโดยเฉพาะพรีเมียร์ลีกมาตลอด ไม่นับแค่แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด

เอาเป็นว่า ไม่มีอะไรจะพูดเลยนอกจาก ยินดีด้วยมาก ๆ กับพวกเราแฟน “หงส์แดง” ล่วงหน้า และ Look forward to watching our brand new attacking player กันได้เลย

Can’t wait ครับ

☕ณัฐวุฒิ ประเทืองศิลป์

📷The Anfield Talk

Categories
KMD Opinion

สื่อสารเพื่อไม่ให้เกิดข้อ “แก้ตัว” ในสนาม

เหมือนสัปดาห์ก่อนในเกมทีมชาติไทยกับอินโดนีเซียที่มี “ภาพไม่น่าจำ” แฟนบอลอินโดฯ กระทำการใส่ทัพนักเตะไทย และเกิดกระแสไวรัลประมาณหนึ่งตามมาถึงพฤติกรรมไม่ดีดังกล่าว บลา บลา จากทุกภาคส่วน

สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับผู้บริหาร ทีมงานโค้ช ก็คือ ต้องสื่อสารออกมาในทิศทางที่จะไม่ทำให้สิ่งกระทบเหล่านั้นสามารถกลายเป็นปัจจัย “แก้ตัว” (Excuse) หากผลงานในสนามไม่ดี

หรือยิ่งกว่านั้นคือ จะกลายเป็น mindset ให้ทีมรู้สึกเหมือนมีข้อแก้ตัวหากผลงานจะไม่ดี ตั้งแต่ยังไม่เตะ

ทิศทางการโต้ตอบก็เช่น “ให้เป็นเรื่องของกฎหมาย กฎระเบียบ เรามุ่งโฟกัสเฉพาะความปลอดภัย และเกมในสนาม” หรือ “เราจะควบคุมเฉพาะที่คุมได้ คือ เรื่องของทีมเราเอง เราไม่สนใจเรื่องอื่น ๆ และจะให้ประเด็นนอกสนามเข้ามากระทบผลงานในสนาม”

หาใช่ ตระหนก หรือกระพือกระแส ผสมโรงกันไปทุกภาคส่วน คือ รายงานหรือพูดตามจริงแบบที่รู้ ๆ ได้ แต่สุดท้ายเราต้อง “ตบกลับ” เข้ามาที่จุดยืนของเรา และของทีม

เช่นกันครับ เหมือนที่ เยอร์เกน คลอปป์ ได้กล่าวไว้ว่า “อะไรกัน ทำราวกับเราไม่มีทีมฟุตบอล” หลังแฟน ๆ ส่งเสียง “Who’s next?” ใครเป็นรายต่อไปหลังเซ็นสัญญา โคดี้ กัคโป มาร่วมทีม

ประมาณว่า เพิ่งเซ็นนักเตะใหม่มายังไม่ทันจะข้ามคืน ขอตัวใหม่ หรือตัวต่อ ๆ ไปกันแล้ว

จริง ๆ ในอีกมุมหนึ่ง และเหมือนที่เช้านี้มี trend ในทวิตเตอร์ #FSGOUT นั่นแหละครับว่า แฟนบอลก็แบบนี้อยู่แล้ว หรือพวกเรา ๆ ก็แบบนี้

ซึ่งบางทีก็พูด ๆ ไปก่อน ไม่ได้มีเจตนาอะไรใด ๆ รุนแรง (แต่ได้ก็ดี)

อันเป็นอะไรที่เข้าใจได้

อย่างไรก็ดีครับ ประเด็นของโพสต์สั้น ๆ วันนี้ ก็คือ respond จากคลอปป์ข้างต้นที่ set up mindset นักเตะ และทีม และแฟน ๆ ทั้งหลายทั้งปวง ทุกกลุ่มผู้เกี่ยวข้องทีมทั้งหมดให้อยู่ในจุดที่ถูกต้อง

แปลความได้ว่า “เฮ้ย! ใจเย็น ๆ เพื่อน เพิ่งเซ็นมา อย่าลืมว่า ทีมที่มีอยู่ก็มีดี”

แน่นอนว่า มุมของคลอปป์ยังหมายถึงแนวคิดเดิม ๆ ได้ “ตอกย้ำ” นั่นคือ จะไม่ซื้ออะไรโดยไม่จำเป็น ไม่เหมาะสม

และมันยังทำให้นักเตะชุดปัจจุบัน ยังเท้าติดดิน และไม่ไขว้เขว ไม่เอนเอียงกับกระแสอะไรใด ๆ อันเป็นสิ่งที่ดี

ไม่มีอะไรครับ ผมเองก็รอจังหวะเขียนถึง “มุมนี้” อยู่เช่นกัน และคิดว่า วันนี้เหมาะสมก่อนเกมทีมชาติไทยนัดสุดท้ายรอบแบ่งกลุ่มอาเซียน คัพ กับกัมพูชา และในช่วงกระแส #FSGOUT แอบแรงแต่เช้าเวลาไทย

ร่วมแตะหน้าจอพูดคุยด้วยตัวอักษรกันได้เหมือนเดิมครับ

☕ณัฐวุฒิ ประเทืองศิลป์

📷Sky Sports

Categories
KMD Opinion

วิเคราะห์จังหวะโคนาเตโดนเหลี่ยมกระแทก

สถานการณ์ “ปัญหา” และเป็นข้อ “ถกเถียง” ช่วงผ่านนาทีที่ 80 ที่เกิดโดย ไบรอัน เอ็มบูโม ใช้หัวไหล่กระแทกด้านหลัง อิบู โคนาเต แต่ถูกตีความว่า “ไหล่ชนไหล่” ทว่าด้วยส่วนสูงต่างกันเกิน 20 เซนติเมตร มันไม่มีทางไหล่ชนกันได้ นำมาซึ่งอิบู ล้มลง แล้วดาวเตะแคเมอรูน เลือกมุมยิงช้อยปิดฉาก 3-1 ให้เบรนท์ฟอร์ดปราบลิเวอร์พูล

เหตุการณ์นี้ มองอย่างไร และตีความอย่างไรได้บ้าง? (ในมุมของผม)

อันดับแรก มันคงไม่ใช่การตัดสินได้ง่าย ๆ ว่าถูก หรือผิด, ฟาล์ว หรือไม่ฟาล์ว เหมือนกรณี เมาแล้วขับ ซึ่งผิดแน่ ๆ แต่ขนาดผิดแน่ ๆ เคสนักเตะชลบุรีเมื่อไม่นานมานี้ปีก่อนยัง “ดรามา” ได้เลย

ดังนั้นกรณี “เสียงแตก” แบบนี้ ยังไงจึงไม่จบง่าย ๆ

ฉะนั้น อันดับสองที่ต้องอธิบายเพิ่ม คือ หากเกิดข้อครหาได้ หรือเสียงแตกได้ขนาดนี้กับการตัดสิน ผมจะเลือกให้ “ฟาล์ว” และไม่ให้ประตูเกิดขึ้นไว้ก่อน

เพราะ 2-1 คือ เสียหายเท่าเดิม แต่ 3-1 คือ ไม่ใช่แล้ว

มันต้องแบบว่า 10 เสียง ชนะกัน 8 ต่อ 2 หรือ 7 ต่อ 3 ไม่ใช่แบบ 5 ต่อ 5 หรือ 4 ต่อ 6 หรือ 6 ต่อ 4 อะไรแบบสถานการณ์นี้

หรือที่กลายเป็นปัญหาตามมาได้แบบนี้มันก็ตอบในตัวเองอยู่แล้วว่า ลูกนี้ไม่ควรเป็นประตู และควรจะเป่าฟาล์วก่อน

อย่างไรก็ดีครับ อันดับสาม คือ โคนาเต (194 เซนติเมตร) ล้มง่ายไปจริง ๆ เหมือนกูรู และเพื่อน ๆ หลายคนว่าไว้เทียบกับ เอ็มบูโล (171 เซนติเมตร)

ฉะนั้น ต่อไปนี้ เวลาสอนผู้เล่นของเรา เราควรเน้นย้ำ stay on your feet ไว้ก่อน ไม่ใช่ล้ม (ง่ายไป) แล้วหวังลุ้นกรรมการตัดสินช่วย โดยเฉพาะสถานการณ์ที่นำสู่การเสียประตูได้แบบนี้

ถัดมา อันดับสี่ คือ อิบู มีชอยส์ในการเล่นได้เยอะ ตั้งแต่อ่านเกม แล้วตัดโหม่งก่อนจากบอลของ คริสเตียน นอร์การ์ด ซึ่งเปิดข้ามศีรษะแนวรับสุดท้าย หรือแทงทะลุช่องแนวรับสุดท้ายได้ดีเหลือเกิน

หรือบอลข้ามหัวแล้วแต่เข้าถึงก่อนเอ็มบูโล่ ก็ควรโหม่งกลับให้ อลิสซง หรือเอาลงแล้วเคลียร์ เอาลงแล้วคืนอาลี ฯลฯ

คือ ทำได้ไม่ต่ำกว่า 3-4 ทางเลือก แต่กลับไปเลือกทางออกที่ “สุ่มเสี่ยง” สำหรับปัญหา และปัญหาก็มาจริง ๆ

ครับ ไม่ได้ซ้ำเติม ไม่ได้อะไรใด ๆ เพราะ “ภาพรวม” ทุกคนเห็นกันอยู่แล้ว

เชียร์กันต่อไปครับ YNWA

☕ณัฐวุฒิ ประเทืองศิลป์

📷Football Tweet

Categories
KMD Opinion

ทำไมต้องเป็น “เปเล่” ?

ในขอบเขตของผม จากเด็กผู้ชายตัวน้อย จนถึงวันนี้ที่เป็นชายวัยครึ่งศตวรรษ ความ “แท้” หรือ Originality ของเปเล่ นักเตะบราซิลคนแรก (จาก 2 คน) ที่ผมท่องชื่อจริงเต็ม ๆ ยาว ๆ เอ็ดสัน อรันเตส โด นาสซิเมนโต ได้ตั้งแต่ประถมศึกษา (อีกคน คือ ซิโก้ – อาเธอร์ อันตูเนส โคอิมบรา) คือ “ที่สุด” เท่าที่ผมจำความได้ และพอจะหา reference เร็ว ๆ จากข้อมูล และภาพ “ไฮไลต์” ต่าง ๆ ได้

ตัวอย่างเช่น:

1.ผมเคยคุยกับพี่ตุ๊ก ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน ไอดอลส่วนตัวที่ทันดูแกเล่นจริง ๆ (แต่ไม่ทันได้ดูเกมไลฟ์ของเปเล่ – ได้แต่ชมไฮไลต์) กับการเล่น “ลูกไขว้” (Rabona) ของแก

“พี่เห็นจากเปเล่ เป็นคนแรก และเล่นตาม”

ขยายความต่อในบทสนทนาก็คือ พี่ตุ๊ก เห็น “ครั้งแรก” ลูกไขว้จากไฮไลต์การเล่นของเปเล่ ไม่ใช่ดิเอโก มาราโดนา หรือคนอื่น ๆ

2.โยฮัน ครอยฟ์ เทิร์น (Cruyff turn) ที่ส่วนตัว ผมเห็นจากคลิป VDO ของเปเล่ เป็นภาพขาวดำ ก่อนเห็นคลิป ครอยฟ์ ซึ่งเป็นภาพVDO สี (ส่วนตัวนะครับ)

และส่วนตัวอีกเช่นกันที่ตอนเด็ก ๆ เพราะเปเล่ ผมจึงมักเลือก และขอใส่ “เบอร์ 10” เสมอ ๆ กระทั่งตอนไปทำข่าว และได้เล่นฟุตบอลที่อังกฤษกับคนไทยที่นั่นระหว่าง 1997 – 2006 และเจอฝรั่ง เจอแอฟริกัน ฯลฯ ผมจึงเลิกใส่ เพราะคนเหล่านั้นไม่สนใจอะไร นอกจากคิดว่า “เบอร์ 10” เก่งสุดในทีม ทำให้โดนเตะ โดนจ้องประกบ ฯลฯ อย่างหนัก จนเลิกใส่เบอร์ 10 และหันมาใส่เบอร์อื่น ๆ ประปราย กระทั่งมาทำบริษัทตัวเองที่ใช้การสื่อสารเยอะ “เบอร์ 14” (ตามครอยฟ์) เขาว่ากันว่าดี (เลข 14 หรือ 41 จะดีสำหรับการเจรจา – เบอร์โทรศัพท์ของผมก็จะลงท้ายด้วยเลขนี้)

3.ลูกยิงตีลังกา หรือ bicycle kick ก็เห็นจากเปเล่ก่อนใคร ๆ ทำ ทั้งจากคลิป และจากหนังดังยุค 80s เรื่อง “เตะแหลกแล้วแหกค่าย” ที่คนรุ่น ๆ 40 กลางขึ้นไปน่าจะจำได้

4.ลูกดีดส่งบอลหันหน้าไปทางดีดบอลไปอีกทางในทิศตรงข้ามด้วยข้างเท้าด้านนอกจากด้านข้างแบบ โรนัลดินโญ่ จริง ๆ แล้วก็เป็น เปเล่ ใน VDO ขาวดำทำก่อน

5.เดาะบอลข้ามศีรษะคู่แข่งแล้วไปเอา หรือไปโหม่งเบา ๆ ส่งต่อให้เพื่อนเหมือน ซิเนอดีน ซีดาน ทำใส่ทีมชาติบราซิลในบอลโลก 2006 ก็เป็น เปเล่ ทำก่อน

6.เทคนิคการเลี้ยงบอล และกระชากบอลหนีคู่แข่งแบบต่าง ๆ เช่น หยุดแล้วไป, เลี้ยงลอดขา, เปลี่ยนทิศทางแบบต่าง ๆ หรือสลาลม ตบขวาตบซ้ายใน 1 จังหวะด้วยข้างเท้าด้านในผ่านคู่แข่ง (แบบ อันเดรส อิเนียสตา) ฯลฯ และ ฯลฯ ไปดูคลิป VDO ได้เลย เปเล่ ทำมาแล้วทั้งนั้น

7.ลูกยิงฟรีคิก ไซด์ก้อยแบบ banana kick เช่น โรแบร์โต คาร์ลอส ยิงใส่ ฟาเบียน บาร์เตซ, ฟรีคิกข้ามกำแพงแบบทั้งเบา หรือใช้พลัง หรือการยิง การผ่านบอลด้วยเทคนิคต่าง ๆ เช่น ใบไม้ร่วง, ไซด์โป้ง ฯลฯ เปเล่ สรรค์สร้างก่อนแล้วทั้งนั้น (ย้ำอีกที ผมแค่เห็นเปเล่ทำก่อนใครนะ แทรกจากไฮไลต์เก่า ๆ ตั้งแต่ภาพขาวดำ)

8.ฯลฯ และ ฯลฯ ทุกคนสามารถเสริมกันได้นะครับ ผมรีบเขียน รีบคิดหลังตื่นนอนคงเล่าได้ไม่มีทางครบ และรอยประทับของเปเล่ในใจทุกคนคงจะมีแตกต่างกัน

9.อย่างไรก็ดี หากถาม “ภาพจำ” ที่สุดภาพหนึ่งของเปเล่ กับผม มันกลับกลายเป็นประตูที่เค้าเรียกกันว่า “ประตูที่ไม่ได้ประตู” ในฟุตบอลโลก 1970 ที่เม็กซิโก ที่มักถูกเรียกว่า “The famous goal that never was” ในเกมรอบตัดเชือกกับอุรุกวัยที่เปเลวิ่งจะรับบอลจากทอสเทา แต่หลอกไม่รับ ไม่จับ ไม่แตะบอลเลย เรียกได้ว่า หลอกคนทั้งสนามรวมถึงนายทวารอุรุกวัยที่ลงไปนั่งจ้ำเบ้าแล้ววิ่งอ้อมไปยิงทันที แต่หลุดเสาไกล

ส่วนตัวแล้ว ในทุกโมเมนท์ของเปเล่ ผมชอบ และ “จดจำ” ภาพนี้ในสนามได้มากที่สุด มากกว่าภาพประตูสวย ๆ หรือภาพโหม่งจ่อ ๆ แล้ว กอร์ดอน แบงค์ โกล์ตำนานอังกฤษเซฟได้ ฯลฯ

10.ข้อสุดท้าย และสำหรับเพื่อน ๆ ทุกท่านที่อาจไม่ทราบก็คือ ที่มาที่ไปของชื่อบริษัท “ไข่มุกดำ” แท้จริง ๆ แล้วไม่ใช่แค่แปลมาจากคำว่า “Black Pearl” ในภาษาอังกฤษโต้ง ๆ ตรง ๆ

หรืออาจจะแบบที่หลายคนสงสัยว่า บริษัท Sport Services Specialist โดยเฉพาะเรื่องฟุตบอล ไฉนมาตั้งชื่อเหมือนบริษัทขายเครื่องประดับ “ไข่มุก” เพชร พลอย อะไร?

หรือก่อนหน้าจะมาเป็นบริษัท ค.ศ.2020 ผมได้ใช้นามปากกา “ไข่มุกดำ” นี้ตั้งแต่ ค.ศ.1999 สมัยอยู่เดลินิวส์, คิกออฟ, ฮอตสกอร์ (ก่อนหน้านี้ใช้ “Topman” ตั้งแต่ปี 1995 ตอนเริ่มงานใหม่ ๆ) เพราะอะไร?

หากอ่านถึงบรรทัดนี้ ผมเชื่อว่า ทุกคนน่าจะทราบเหตุผลแล้วนะครับ:)

ดังนั้น ส่วนตัว และในชีวิตฟุตบอลในสนาม หากไม่ใช่ ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน ก็ต้อง “เปเล่” ที่มีอิทธิพลต่อชีวิตของผมมากที่สุด และกล่าวได้ว่า ทำให้ผมมีวันนี้ได้

ครับ เปเล่ จากไปแล้วเมื่อประมาณตี 2 เวลาบ้านเราวันที่ 30 ธ.ค.2022 ด้วยวัย 82 ปี ผมขอใช้โพสต์นี้รำลึกถึงตำนานนักเตะผู้นี้จากก้นบึ้งที่สุดของหัวใจจริง ๆ

ขอขอบคุณ และ “ภูมิใจ” ที่สุดที่ได้ใช้ฉายา “ไข่มุกดำ” ของเปเล่เป็นชื่อนามปากา และชื่อบริษัท ที่ผม และทีมจะ “รักษา” และทำให้ดีที่สุดต่อไป

อย่างน้อยก็เพื่อทำให้ตัวเองได้ระลึกถึงยอดตำนานฟุตบอลตลอดกาลของโลกได้บ้าง ไม่มากก็น้อย…🙏

☕ณัฐวุฒิ ประเทืองศิลป์

📷Living Colour