Categories
Special Content

กรณีศึกษาจากปรากฎการณ์ KvaraDONA ใช้เวลาไม่กี่เดือนไต่จากฐานสู่ยอดพีระมิด

ซีซัน 2022-23 นาโปลีมีโอกาสสูงมากที่จะครองตำแหน่งสคูเดตโตสมัยแรกในรอบ 33 ปีนับจากยุคดีเอโก มาราโดนา นักเตะที่ถูกกล่าวขวัญมากที่สุดหนีไม่พ้นวิคเตอร์ โอซิมเฮน ศูนย์หน้าทีมชาติไนจีเรีย ซึ่งทำไปแล้ว 21 ประตู 5 แอสซิสต์จาก 23นัดเฉพาะกัลโช เซเรีย อา ถ้าเปรียบโอซิมเฮนเป็นแบทแมน พระรองของมนุษย์ค้างคาวหรือโรบินก็คือ ควิชา ควารัตส์เชเลีย (Khvicha Kvaratskhelia) 

ควารัตส์เชเลีย หรือ ควารา (Kvara) ปีกซ้ายเจ้าของเบอร์เสื้อ 77 แจ้งเกิดอย่างรวดเร็ว กลายเป็นสตาร์ที่ร้อนแรงทั้งที่เพิ่งย้ายจากลีกจอร์เจียแบบเงียบๆ ไม่มีการตีข่าวคึกโครมตอนเข้าร่วมทีมนาโปลีในตลาดซัมเมอร์ปีที่แล้ว

เมื่อมองแนวรุกริมสนามฝีเท้าเวิลด์คลาสในซีซัน 2021-22 สปอตไลท์จับจ้องไปที่คีลิยัน เอ็มปัปเป ขณะที่ซาดิโอ มาเน และโมฮัมเหม็ด ซาลาห์ กำลังเล่นด้วยกันซีซันสุดท้ายที่ลิเวอร์พูล แล้วยังมีวีนิซิอุส จูเนียร์ ผู้กำลังเจิดจรัสในฐานะดาวดวงใหม่ของเรอัล มาดริด อย่างเต็มตัวเป็นปีแรก 

ทางด้านควารัตส์เชเลีย ซึ่งตอนนั้นยังไม่มีใครคาดคิดว่าอีกหนึ่งปีข้างหน้าจะเดินตามรอยเท้าทองคำของมาเน, ซาลาห์, เอ็มบัปเป และวีนิซิอุส เขาสุ่มเสี่ยงที่จะไม่ได้เล่นฟุตบอลแบบไม่มีกำหนดด้วยซ้ำเมื่อกองทัพรัสเซียบุกยึดครองยูเครน

เกือบเป็นนักเตะตกงานเมื่อทหารรัสเซียบุกยูเครน

วันที่ 7 มีนาคม 2022 ฟีฟาแถลงข่าวอนุญาตนักเตะต่างชาติในรัสเซียยกเลิกสัญญาและย้ายไปเล่นในประเทศอื่น จากนั้นประมาณสองสัปดาห์ รูบิน คาซาน ประกาศยุติสัญญากับควารัตส์เชเลียในวันที่ 24 มีนาคม ซึ่งวันเดียวกัน เขาก็เป็นนักเตะใหม่ของ ดีนาโม บูตามี ในลีกจอร์เจีย

ควารัตส์เชเลียเล่นบอลลีกให้ดีนาโม บูตามี 11 นัด ทำไป 8 ประตู 2 แอสซิสต์ ได้รับรางวัลนักเตะยอดเยี่ยมในการแข่งขันรอบสองของอีรอฟนูลี ลีกา ลีกสูงสุดประเทศจอร์เจีย ซึ่งมีโปรแกรมเตะช่วงเดือนเมษายนถึงกรกฎาคม 2022 

หลังลีกจอร์เจียปิดซีซัน 2021-22 ควารัตส์เชเลียได้ย้ายไปอยู่กับนาโปลีด้วยค่าตัวเพียง 11.5 ล้านยูโร และเซ็นสัญญาถึงปี 2027 เขาเปิดตัวกับ “กลี อัซซูรี” ในวันที่ 15 สิงหาคม 2022 เป็นเกมเปิดฤดูกาลใหม่ของกัลโช เซเรีย อา นาโปลีชนะเวโรนาอย่างสบาย 5-2 “ควารา” จัดไปหนึ่งประตูกับหนึ่งแอสซิสต์ ก่อนทำได้สองประตูในเกมต่อมา ซึ่งนาโปลีขยี้มอนซา 2-0เขาจึงเป็นนักเตะคนแรกในประวัติศาสตร์นาโปลีที่ทำสามประตูจากบอลลีกสองนัดแรกของซีซัน ปีกซ้ายหน้าใหม่ยังได้รับเลือกให้เป็นนักฟุตบอลยอดเยี่ยมประจำเดือนสิงหาคม 2022 ของเซเรีย อา อีกด้วย

ควารัตส์เชเลียเริ่มได้รับความสนใจอย่างรวดเร็วจากแฟนบอลและสื่อมวลชน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะชื่อนามสกุลที่อ่านยาก อีกส่วนเป็นเพราะลีลาที่น่าทึ่งบนสนามยามสัมผัสลูกฟุตบอล ควารากลายเป็นผู้เล่นคนแรกที่ทำได้ 10 ประตู 10 แอสซิสต์ จากการลงสนามเซเรีย อา ปีแรก แต่ตัวเลขเดินหน้าต่อไปโดย ณ เดือนมีนาคม 2023 เขาขยับผลงานขึ้นเป็น 12 ประตู 12 แอสซิสต์จาก 23 นัดบอลลีก ส่วนแชมเปียนส์ลีก ปีกซ้ายวัย 22 ปี เล่น 7 นัด ทำได้ 2 ประตู 4 แอสซิสต์ แถมยังไม่เคยได้รับใบเหลืองทั้งสองรายการ

จนถึงตอนนี้ ควารัตส์เชเลียกลายเป็นนักเตะดังที่มีชื่อเล่นเรียกหลากหลายทั้ง ควารา, ควาราโดนา, ควาราวัคคิโอ หรือแม้กระทั่ง เช ควารา

อาจกล่าวได้ว่า ยุคนี้เป็นยุคของซูเปอร์สตาร์นักเตะอายุน้อย เรอัล มาดริด จ่ายเงินหลายสิบล้านยูโรต่อปีเพื่อลงทุนกับนักบอลวัยรุ่นจากบราซิล มิดฟิลด์ตัวจริงหลายคนของบาร์เซโลนามีอายุไม่ถึง 20 ปี ปารีส แซงต์-แยร์แมง ยอมจ่ายเงินก้อนโต 180 ล้านยูโร เพื่อซื้อเอ็มบัปเปในวัยเพียง 18 ปีมาจากโมนาโกเมื่อปี 2018 ขณะที่ในพรีเมียร์ลีก บูกาโย ซากา และเทรนท์ อเล็กซานเดอร์-อาร์โนลด์ กลายเป็นว่าที่ตำนานนักเตะของสโมสรทั้งที่อายุยังไม่ถึง 25 ปี ล่าสุดควารัตส์เชเลียได้รับคาดหมายว่าจะก้าวสู่ปีกซ้ายระดับโลกทั้งที่ย้อนกลับไปเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว เขายังเล่นในลีกจอร์เจียให้กับดีนาโม บูตามี ทีมอันดับ 543 ของทวีปยุโรปจากการจัดอันดับของ ClubElo

จากเรื่องราวข้างต้น นี่ถือเป็นปรากฎการณ์ในกีฬาลูกหนังอาชีพ และเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ เราสามารถเรียนรู้หรือได้แง่คิดอะไรจากควารัตส์เชเลียบ้าง “ควารา” เป็นนักเตะที่มีพรสวรรค์แน่นอน แต่เป็นแค่คนหนึ่งในบรรดานักบอลโนเนมมากมายบนแผ่นดินยุโรป เขามีอะไรดีที่แมวมองเห็น ทีมใหญ่อย่างนาโปลีคิดอย่างไรจึงจิ้มเลือกเขา ทำไมควารัตส์เชเลียสามารถปรับตัวได้เร็วบนสังเวียนลีกระดับบิ๊ก-5 และที่สำคัญ ทำไมเขาจึงฉายแสงออกมาได้มากและเร็วชนิดไม่น่าเป็นไปได้

จากปีกกลางแถวในรัสเซีย พุ่งสู่สตาร์ลีกอิตาลี

คงไม่ตรงกับความเป็นจริงถ้าบอกว่า ควารัตส์เชเลียปรากฏตัวแบบไร้ร่องรอยเนื่องจากอย่างน้อยในปี 2018 สื่อคุณภาพของอังกฤษอย่าง เดอะ การ์เดียน ใส่ชื่อเขาไว้ในลิสต์ 60 นักเตะหนุ่มที่มีทักษะดีที่สุดในโลก แต่อย่างที่ทราบกัน ส่วนใหญ่ไม่สามารถพัฒนาตัวเองถึงขั้นเป็นดาวลูกหนัง บางคนก็มีช่วงเวลาในอาชีพนักฟุตบอลแสนสั้น

ควารัตส์เชเลียเกิดวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2001 ที่เมืองติฟลิส (หรือทบิลิซิในปัจจุบัน) ประเทศจอร์เจีย เริ่มต้นชีวิตนักฟุตบอลที่อะคาเดมีของ ดินาโม ทบิลิซี ตั้งแต่ปี 2012 ก่อนมีชื่อขึ้นทีมชุดใหญ่ในปี 2017 แต่มีโอกาสลงสนามรวมทุกรายการแค่ 5นัด ก่อนย้ายไปอยู่กับ เอฟซี รัสตาวี ซึ่งปล่อยเขาไปให้ โลโกโมทีฟ มอสโก ยืมตัวช่วงสั้นๆ ยูริ เซมิ ผู้จัดการทีมโลโกโมทีฟขณะนั้น เปิดใจว่า “ผมอยากร้องไห้ที่เสียเด็กหนุ่มที่มีทักษะความสามารถสูงลิ่วไป” โดยฤดูร้อนปี 2019 ควารัตส์เชเลียกลายเป็นสมาชิกใหม่ของ รูบิน คาซาน ซึ่งเขาได้เล่นบอลลีกมากถึง 69 นัด ทำได้ 9 ประตู ก่อนที่รัสเซียก่อสงครามกับยูเครน

ตัดภาพมาช่วงค้าแข้งกับนาโปลี ควารัตส์เชเลียมีสถิติทำประตูและแอสซิสต์ที่ไม่เกี่ยวข้องจุดโทษ 1.04 ครั้งต่อ 90 นาที ซึ่งตัวเลขนี้ถ้านำไปเปรียบเทียบในกลุ่มนักเตะที่เล่นอย่างน้อย 1,500 นาทีในลีกบิ๊ก-5 พบว่ามีแค่สี่คนเท่านั้นที่เหนือกว่าเขาได้แก่ เนย์มาร์, เออร์ลิ่ง ฮาลันด์, โอซิมเฮน และลิโอเนล เมสซี

ขนาดลีกแข็งอย่างเซเรีย อา ควารัตส์เชเลียยังทำได้ดีขนาดนี้ ลีกที่ถูกมองว่าอ่อนกว่าอย่างรัสเซียน พรีเมียร์ลีก เขาควรทำสถิติได้ระเบิดระเบิง แต่ความจริงคือ สี่ซีซันกับโลโกโมทีฟ มอสโก และรูบิน คาซาน ควาราทำผลงานได้แค่ 10 ประตู 10แอสซิสต์ คิดเป็นค่าเฉลี่ยประตูกับแอสซิสต์เพียง 0.38 ครั้งต่อ 90 นาทีเท่านั้น ซึ่งในฐานะตำแหน่งปีก ถือเป็นผลผลิตที่อยู่ระดับกลางๆของเมเจอร์ลีก หากวัดตามเรตติ้งของ ClubElo ลีกเทียร์หนึ่งของรัสเซียเทียบเท่าเซเรีย บี ของอิตาลี

แล้วทำไม ควารัตส์เชเลียใช้เวลาไม่กี่เดือนเปลี่ยนจากแนวรุกที่มีผลงานกลางๆในเซเรีย บี กลายเป็นซูเปอร์สตาร์ของเซเรีย อา ได้

ทิม คีช หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง MRKT Insights บริษัทผู้ให้บริการด้านข้อมูลและสเกาท์ ซึ่งทำงานร่วมกับหลายสโมสรทั่วโลก ให้ความเห็นว่า “ผมเชื่อว่าคงไม่มีใครคิดหรอกว่า ควารัตส์เชเลียจะทำผลงานในเซเรีย อา ได้ดีเลิศขนาดนี้ รวมถึงใช้เวลาปรับตัวได้เร็วขนาดนี้”

ที่ดินแดนหมีขาว ควารัตส์เชเลียเป็นนักเตะประเภทลีลาสวยงามเปี่ยมทักษะ ชั้นเชิงยามครองบอลทำให้แมวมองและโค้ชประทับใจได้ไม่ยาก แต่เขาก็เหมือนนักเตะหนุ่มจอมเลี้ยงมากมายที่ไม่ได้ช่วยให้ทีมชนะ เขาช้าลงเวลาเผชิญหน้าตัวประกบ หลายครั้งที่การเข้าโจมตีในพื้นที่สุดท้ายลงเอยด้วยการส่องยิงระยะไกลที่แทบเปลี่ยนเป็นสกอร์ไม่ได้

อะไรที่ทำให้ควารัตส์เชเลียเปลี่ยนเป็นคนละคนที่นาโปลี … ไรอัน โอ’แฮนลอน คอลัมนิสต์ของสื่อยักษ์ อีเอสพีเอ็น ให้มุมมองว่า ตัวแปรหนึ่งเกิดจากการกลับไปเล่นที่จอร์เจีย

ช่วงสองเดือนกับทีมดีนาโม บูตามี ข้อมูลสถิติจากการรวบรวมของ MRKT Insights ระบุว่า ควารัตส์เชเลียแปรสภาพเป็นเมสซีที่มีความสูง 183 เซนติเมตร เขากล้าเลี้ยงบอลหลบหลีกคู่ต่อสู้อย่างเพลิดเพลิน จ่ายบอลไปทั้งซ้ายและขวา ตะลุยเข้าไปรับบอลในกรอบเขตโทษ มีค่าเฉลี่ยเกือบหนึ่งประตูต่อนัด ทั้งหมดล้วนเป็นภาพของควารัตส์เชเลียที่แตกต่างจากตอนอยู่พรีเมียร์ลีกของรัสเซีย

เคยมีข่าวว่านาโปลีได้เฝ้าติตตามการเล่นของควารัตส์เชเลียนานสองปี แต่โอ’แฮนลอนเชื่อว่า การตัดสินใจขั้นเด็ดขาดจนยอมจ่ายเงิน 11.5 ล้านยูโร มาจากฟอร์มช่วงสั้นๆบนแผ่นดินบ้านเกิดนั่นเอง

ส่วนตัวแปรที่สองมาจากทิม คีช ซึ่งระบุว่าเพราะเขาได้เล่นกับทีมที่ดี ผู้ร่วมก่อตั้ง MRKT Insights หมายถึงพัฒนาการของควารัตส์เชเลียเกิดขึ้นอย่างก้าวกระโดดเพราะนาโปลี

เปลี่ยนทีม เปลี่ยนสไตล์การเล่น พัฒนาผลงาน

เราสามารถเปรียบการมองหาซูเปอร์สตาร์ที่ซุกซ่อนอยู่ในโลกฟุตบอกได้กับการงมเข็มในมหาสมุทร ลองนึกลีกทวีปยุโรปเป็นพีระมิด ฐานล่างสุดเป็นอะไรที่ใกล้เคียงกับลีกจอร์เจีย ช่วงกลางๆน่าจะเป็นลีกรัสเซีย เหนือขึ้นไปเป็นโปรตุเกส, เนเธอร์แลนด์ และเบลเยียม ยอดบนได้แก่ลีกใหญ่ทั้งห้า พีระมิดสามารถนำไปโยงเข้ากับประสิทธิภาพของนักเตะ ซึ่งนำไปสู่การวินิจฉัยที่คาดเคลื่อน

ทิม คีช กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า “หนึ่งในงานหลักที่นักวิเคราะห์มักทำกันคือ พยายามชั่งน้ำหนักตัวเลขสถิติแบบหยาบๆ แล้วนำไปเปรียบเทียบกับลีกต่างๆ มุมมองยอดฮิตเลยจะประมาณกองหน้าจากเนเธอร์แลนด์มีโอกาสทำประตูได้น้อยในพรีเมียร์ลีก ซึ่งเป็นไปได้จริงและไม่จริง ยังมีอีกหลายตัวแปรที่ทำให้การซื้อขายนักเตะประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว”

ไรอัน โอ’แฮนลอน ให้ความเห็นเพิ่มเติมถึงผลงานที่แตกต่างระหว่างสองลีกว่า “บางทีเป็นเพราะควารัตส์เชเลียอาจถูกขอให้เล่นแบบหนึ่งที่รัสเซีย บางทีเป็นเรื่องคุณภาพของเพื่อนร่วมทีมอีกสิบคน ทำให้แม้เขามองเห็นพื้นที่ว่างแต่ไม่มีใครให้เขาจ่ายบอลไปยังโซน final third ทางเลือกเดียวของเขาคือเลี้ยงเข้าไปเอง ลงท้ายด้วยการยิงแย่ๆ แต่ที่นาโปลี เขาได้เล่นกับหนึ่งในกองหน้าที่เก่งที่สุดในโลก (โอซิมเฮน) รวมถึงกลุ่มมิดฟิลด์เชิงสูง แล้วยังมีผู้จัดการทีมที่ประสบความสำเร็จอย่างลูชาโน สปัลเล็ตติ”

ทิม คีช เห็นด้วย “การเล่นกับทีมที่ดีขึ้นช่วยให้คุณมองเกมได้กว้างขึ้น เข้าไปอยู่ใกล้ประตูฝ่ายตรงข้ามมากขึ้น คุณไม่จำเป็นต้องพยายามทำอะไรด้วยตัวคนเดียว ซึ่งเห็นได้ชัดจากสถิติที่นาโปลี ควารัตส์เชเลียจ่ายบอลเพิ่มขึ้น 50% เมื่อเทียบกับรูบิน คาซาน แถมยังเลี้ยงบอลน้อยลง 50% เขายังมีโอกาสยิงจากตรงกลางใกล้ประตูมากขึ้นด้วย”

ความจริงแล้ว การยิงระยะไกลไม่ได้หายไปไหนและเปอร์เซ็นต์เปลี่ยนเป็นสกอร์ยังต่ำ แต่ปีกหุบในหรือปีกตัวในวัย 22 ยังยิงลักไก่อยู่ก็เพื่อกดดันกองหลัง ที่เพิ่มเติมคือ ควารัตส์เชเลียทะลวงเข้าไปในกรอบเขตโทษด้วย

การเลี้ยงบอลลดลงแต่จำนวนยังถือว่ามาก ถ้าเทียบสถิติผู้เล่นปีกในลีกพี่ใหญ่ทั้งห้า ควารัตส์เชเลียอยู่อันดับ 91 ของเปอร์เซ็นต์คอมพลีทเมื่อเลี้ยงฝ่าตัวต่อตัว และอันดับ 97 ของการเลี้ยงเข้าไปในกรอบเขตโทษ 3.08 ครั้งต่อเกม 90 นาที เขามีส่วนร่วมการทำประตูมากขึ้นในสีเสื้อนาโปลี ไม่ใช่สักแต่เลี้ยงแบบไร้จุดหมายเหมือนที่ผ่านมา

ข้อมูลช่วยงมเข็มในมหาสมุทร การลงทุนแบบกระจายความเสี่ยง

หากพิจารณาความสามารถเฉพาะตัวจากคลิปแต่ละสัปดาห์ที่รัสเซีย เกือบทุกคนต้องพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ควารัตส์เชเลียเป็นนักเตะที่แมวมองต้องชักชวนให้ต้นสังกัดเซ็นสัญญา แต่กับลีกจอร์เจียที่อยู่ฐานพีระมิด ว่าที่ซูเปอร์สตาร์จะถูกพบเจอได้อย่างไร

แม้เป็นเรื่องยากแต่ไบรท์ตันเป็นกรณีศึกษาที่ดี มอยเซส ไกเซโด ดาวมิดฟิลด์ ถูกคว้าตัวมาจากเอกวาดอร์ตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น หรือคาโอรุ มิโตมะ ผู้เล่นปีก เพิ่งเดินทางข้ามทวีปจากญี่ปุ่นตอนอายุ 24 ปี และไบรท์ตันปล่อยให้ยูนิยง แซงต์ กิลลุส สโมสรเบลเยียม ยืมใช้งาน ตอนนั้นทั้งคู่มีค่าตัวรวมกันไม่ถึง 8 ล้านยูโร เทียบกับ 77 ล้านยูโรที่เป็นราคาประเมินของ transfermarkt ตอนนี้

ทิม คีช ขยายความว่า “ไบรท์ตันเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ มิโตมะมีข้อมูลที่ญี่ปุ่นในลักษณะเดียวกับควารัตส์เชเลียที่จอร์เจีย เขาปรับตัวได้ดีและเร็วที่เบลเยียม” 

เทคโนโลยีช่วยลดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างสโมสรเล็กใหญ่ คงแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่ทีมอย่างไบรท์ตันจะส่งแมวมองหาเพชรในหลายประเทศ 

“ทุกวันนี้จะมีคนคอยบันทึกข้อมูลสถิติว่าผู้เล่นทำอะไรบ้างในทุกเกมระดับอาชีพ นี่แหละเป็นประโยชน์ของข้อมูล ซึ่งสามารถเข้าถึงได้ง่ายและได้รับการเผยแพร่อย่างทั่วถึง” ผู้ร่วมก่อตั้ง MRKT Insights กล่าวพร้อมยกตัวอย่างของ อาอิซา ลาอิดูนี มิดฟิลด์ทีมอูนิโอน เบอร์ลิน ที่เคยมีสถิติน่าประทับใจกับทีมโนเนมที่โรมาเนีย หรือยาคุบ กีวียอร์ เซ็นเตอร์แบ็คดาวรุ่งของอาร์เซนอล ก็เคยเล่นในลีกสโลวาเกีย ข้อมูลเป็นเสมือนแสงสว่างที่ทำให้ทั้งสองถูกจับตาจากลีกใต้ดิน

แม้โลกธุรกิจฟุตบอลยังมีสโมสรพร้อมทุ่มเงินสูงขึ้นเรื่อยๆเพื่อเซ็นสัญญากับนักเตะคนเดียว แต่ยังมีอีกด้านหนึ่งในตลาดนักเตะ

“ช่วง 2-3 ปี ค่าตัวผู้เล่นแพงขึ้นเรื่อยๆ แต่ยังมีสโมสรใช้วิธีลองซื้อนักเตะจากลีกล่างๆพีระมิด คงต้องยกไบรท์ตันมาอ้างอิงเช่นเดิม พวกเขาเลือกซื้อผู้เล่นห้าคนในราคา 8 ล้านปอนด์ แทนจ่าย 40 ล้านปอนด์กับคนๆเดียว ใช่บางทีมันก็ล้มเหลว แต่อีกด้านหนึ่งวิธีนี้เป็นการกระจายความเสี่ยง” ทิม คีช แห่ง MRKT Insights กล่าวทิ้งท้าย

ทุกวันนี้มีนักเตะโนเนมจากลีกครึ่งล่างของยุโรปแจ้งเกิดในอังกฤษ เยอรมนี อิตาลี สเปน และฝรั่งเศส เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แต่คนที่สร้างอิมแพ็คอย่างสูงหลังย้ายทีมไม่กี่เดือนอย่าง “ควาราโดนา” ถือว่าเป็นปรากฎการณ์ที่นานๆจะพบสักคนหนึ่ง

เรียบเรียง : ฐปน วันชูเพลา (Senior Football Writer)