Khaimukdam Group

SPECIAL CONTENT

Der Klassiker : ศึก 2 เสือแห่งเยอรมัน ที่ไม่มีวันอยู่ถ้ำเดียวกัน

Der Klassiker : ศึก 2 เสือแห่งเยอรมัน ที่ไม่มีวันอยู่ถ้ำเดียวกัน

บาเยิร์น มิวนิค และโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ 2 สโมสรฟุตบอลที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดของประเทศเยอรมนี ซึ่งความขัดแย้งของทั้งคู่ เกิดขึ้นจากการชิงดีชิงเด่นในสังเวียนลูกหนังล้วนๆ

ก่อนเกม “แดร์ กลาซิเกอร์” ที่จะเกิดขึ้นในวันเสาร์ที่ 1 เมษายนนี้ ยูเลี่ยน นาเกลส์มันน์ กลายเป็นอดีตโค้ชบาเยิร์นแบบสายฟ้าแลบ และคนที่เข้ามาสานต่อคือโธมัส ทูเคิ่ล อดีตโค้ชดอร์ทมุนด์

ทำให้ทูเคิ่ล กลายเป็นผู้จัดการทีมคนแรกในรอบ 25 ปี นับตั้งแต่อ๊อตมาร์ ฮิตช์เฟลด์ เมื่อปี 1998 ที่ขึ้นมาขี่หลังทั้ง “เสือเหลือง” และ “เสือใต้” ซึ่งเขาจะประเดิมคุมทีมนัดแรก พบกับทีมเก่าทันที

ด้วยความที่ระยะทางระหว่าง 2 เมือง (มิวนิค-ดอร์ทมุนด์) ห่างกันมากถึง 600 กิโลเมตร ทำให้ไม่ค่อยมีภูมิหลังความเกลียดชังรุนแรงตั้งแต่ยุคอดีต ซึ่งจะแตกต่างจากคู่ปรับคู่อื่นๆ ในโลกฟุตบอล

แม้ดีกรีความดุเดือดจะไม่มากเท่ากับบิ๊กแมตช์อื่น แต่เจอกันครั้งใดก็คลาสสิกอยู่เสมอ และนี่คือเรื่องราวที่อยู่ในความทรงจำ ตลอดเกือบ 6 ทศวรรษ ระหว่าง 2 เสือผู้ยิ่งใหญ่แห่งบุนเดสลีกา

สกอร์ 11 – 1 ชัยชนะขาดลอยที่สุดของ “เสือใต้”

บุนเดสลีกา ฟุตบอลลีกสูงสุดของเยอรมนี ก่อตั้งขึ้นในปี 1963 และอีก 2 ปีหลังจากนั้น บาเยิร์น มิวนิค และโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ได้พบกันเป็นครั้งแรกที่มิวนิค แต่เป็นดอร์ทมุนด์ที่บุกมาชนะ 2 – 0

พอเข้าสู่ยุค 1970s ได้ไม่นาน เกิดเหตุการณ์สำคัญในแมตช์ “แดร์ กลาซิเกอร์” ที่เอาชนะกันแบบขาดลอยที่สุดในประวัติศาสตร์ของบุนเดสลีกา เป็นบาเยิร์นเปิดบ้านถล่มดอร์ทมุนด์ 11 – 1 เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 1971

11 ประตูของ “เสือใต้” มาจากแกร์ด มุลเลอร์ คนเดียว 4 ประตู, อูลี เฮอเนส กับฟรานซ์ โรธ คนละ 2 ประตู, ฟรานซ์ เบคเค่นบาวเออร์, พอล ไบรท์เนอร์ และวิลไฮม์ ฮอฟมันน์ ส่วน “เสือเหลือง” ตีไข่แตกจากดีเทอร์ ไวน์คอฟฟ์

หลังจากสิ้นสุดฤดูกาล 1971/72 แกร์ด มุลเลอร์ ศูนย์หน้าบาเยิร์น คว้าตำแหน่งดาวซัลโวด้วยผลงาน 40 ประตู เป็นตัวเลขสูงสุดภายในซีซั่นเดียว (ก่อนจะถูกโรเบิร์ต เลวานดอฟสกี้ ทุบสถิติในซีซั่น 2020/21 ที่ทำได้ 41 ลูก)

ขณะที่ดอร์ทมุนด์ หนึ่งในสมาชิกผู้ก่อตั้งบุนเดสลีกาตั้งแต่ฤดูกาลแรก ตกชั้นไปเล่นลีกระดับดิวิชั่น 2 หลังจากอยู่ในบุนเดสลีกาได้เพียง 9 ฤดูกาล และใช้เวลานานถึง 4 ปี กว่าจะได้กลับสู่ลีกสูงสุดอีกครั้ง

นับตั้งแต่ช่วงกลางยุค 1960s จนถึงช่วงต้นยุค 1990s บาเยิร์นคว้าแชมป์บุนเดสลีกาได้ถึง 12 สมัย ดูเหมือนว่า “เสือใต้” กำลังจะผูกขาดความยิ่งใหญ่ไปเรื่อยๆ โดยที่ไม่มีทีมไหนเป็นคู่แข่งที่สมน้ำสมเนื้อเลย

ขอบคุณภาพ https://www.facebook.com/BVB

ยุคทอง “เสือเหลือง” จากแชมป์เยอรมันสู่เจ้ายุโรป

หลังจากต้องมองดูบาเยิร์น มิวนิค ฉลองแชมป์ครั้งแล้วครั้งเล่า ก็ถึงทีของโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ที่ได้สร้างยุคสมัยที่ยิ่งใหญ่ขึ้นมาบ้าง โดยเริ่มจากการเข้ามาของกุนซืออ๊อตมาร์ ฮิตช์เฟลด์ ตั้งแต่ปี 1991

ซึ่งฤดูกาลแรกของฮิตช์เฟลด์กับดอร์ทมุนด์ ทำได้ดีมากในการลุ้นแย่งแชมป์บุนเดสลีกาจนถึงนัดสุดท้าย จบซีซั่นด้วยตำแหน่งรองแชมป์ มีคะแนนเท่ากับสตุ๊ดการ์ท แพ้เพียงแค่ผลต่างประตูได้-เสีย

แม้หลังจากนั้น ฮิตช์เฟลด์จะทำได้เพียงอันดับ 4 ในลีก 2 ซีซั่นติดต่อกัน แต่การคว้าตัวมัทธีอัส ซามเมอร์ มิดฟิลด์สตุ๊ดการ์ท ที่เคยหักอกดอร์ทมุนด์เมื่อปี 1992 มาร่วมทีม และกลายเป็นคีย์แมนคนสำคัญในยุคทองของสโมสร

ศึกบุนเดสลีกา นัดปิดฤดูกาล 1994/95 ดอร์ทมุนด์ ลุ้นแย่งแชมป์กับแวร์เดอร์ เบรเมน ซึ่งสถานการณ์ก่อนลงสนามเกมสุดท้าย “นกนางนวล” มีคะแนนนำอยู่ 1 แต้ม (สมัยนั้นยังใช้ระบบชนะได้ 2 แต้ม)

ผลปรากฏว่า ดอร์ทมุนด์ ชนะ ฮัมบวร์ก 2 – 0 และได้รับโชคชั้นที่ 2 เมื่อบาเยิร์น มิวนิค ทีมอันดับ 6ปล่อยทีเด็ด ถล่มเบรเมน 3 – 1 ช่วย “เสือเหลือง” แซงคว้าแชมป์ลีกสูงสุดหนแรกในยุค “บุนเดสลีกา”

ความสำเร็จจากแชมป์บุนเดสลีกาสมัยแรก ยังต่อยอดสู่การป้องกันถาดแชมป์ได้สำเร็จในซีซั่นถัดมา และก้าวสู่จุดสูงสุดของยุโรป ในการคว้าแชมป์ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ซีซั่น 1996/97 ที่มิวนิค

อย่างไรก็ตาม หลังจากคว้าแชมป์ยุโรป ฮิตช์เฟลด์ประกาศอำลาทีม ยุคทองของดอร์ทมุนด์ก็ได้สิ้นสุดลง และไปเข้าทางบาเยิร์น ที่ต้องการดึงตัวกุนซือรายนี้มาร่วมงาน หวังทวงความยิ่งใหญ่กลับคืน

ขอบคุณภาพ https://www.facebook.com/fcbayern.en

“ท่านนายพล” ผู้ทำลายล้าง “เอฟซี ฮอลลีวูด”

ช่วงกลางยุค 1990s คือยุครุ่งเรืองของโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ อย่างแท้จริง แต่อีกด้านหนึ่ง บาเยิร์น มิวนิค ล้มเหลวแบบสุดๆ เพราะนับตั้งแต่ปี 1995-1998 คว้าแชมป์บุนเดสลีกาได้เพียงสมัยเดียวเท่านั้น

สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะนักเตะบาเยิร์นหลายคน สนใจกอสซิปนอกสนาม ราวกับดาราฮอลลีวูด มากกว่าผลงานในสนาม ทำให้สื่อในเยอรมัน ตั้งฉายาให้กับทีมยักษ์ใหญ่แห่งมิวนิคว่า “เอฟซี ฮอลลีวูด”

บาเยิร์น ในฤดูกาล 1994/95 โจวานนี่ ตราปัตโตนี่ เทรนเนอร์ชาวอิตาลี ทำทีมจบแค่อันดับ 6 ถูกปลดออกไป แล้วอ็อตโต้ เรห์ฮาเกล เข้ามาสานต่อในฤดูกาลถัดมา แต่ก็โดนเชือดก่อนจบซีซั่นไม่กี่นัด

แม้ตราปัตโตนี่ จะรีเทิร์นอย่างยิ่งใหญ่ด้วยการพา “เสือใต้” คว้าถาดแชมป์ในฤดูกาล 1996/97 ทว่าในซีซั่นต่อมา กลับถูกไกเซอร์สเลาเทิร์น ทีมที่เพิ่งเลื่อนชั้น ปาดหน้าคว้าแชมป์ “อิล แทร็ป” ก็ไม่ได้ไปต่อ

ก่อนที่ฤดูกาล 1998/99 จะเริ่มขึ้น บาเยิร์นตัดสินใจเลือกอ๊อตมาร์ ฮิตช์เฟลด์ ผู้เคยพาดอร์ทมุนด์คว้าแชมป์บุนเดสลีกา 2 สมัย และแชมป์แชมเปี้ยนส์ ลีก 1 สมัย มาคุมบังเหียน เพื่อฟื้นฟูทีมให้แข็งแกร่งอีกครั้ง

และความเฮี้ยบของ “ท่านนายพล” ก็ช่วยปลุกเสือใต้ที่หมดสภาพในยุคเอฟซี ฮอลลีวูด ให้กลับมาเป็นเสือใต้ที่น่าเกรงขามเหมือนที่ทุกคนเคยรู้จักอีกครั้ง ด้วยแชมป์บุนเดสลีกา 4 สมัย จาก 6 ฤดูกาลที่คุมทีม

แถมด้วยการเข้าชิงชนะเลิศแชมเปี้ยนส์ ลีก ในฤดูกาล 1998/99 แพ้แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดแบบเจ็บปวด แต่ก็แก้ตัวคว้าแชมป์ได้ในอีก 2 ซีซั่นถัดมา พร้อมกับเอาคืน “ปิศาจแดง” ชนะทั้ง 2 นัด ในรอบ 8 ทีมสุดท้าย

เสือเหลืองกำลังจะจมน้ำ เสือใต้ยื่นมือเข้าช่วย

เข้าสู่ยุค Y2K มัทธีอัส ซามเมอร์ ที่เพิ่งแขวนสตั๊ดได้ไม่นาน เข้ารับตำแหน่งกุนซือคนใหม่ของโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ในปี 2000 และใช้เวลา 2 ซีซั่น พาทีมกลับมาคว้าแชมป์บุนเดสลีกาหนแรกในรอบ 6 ปี

ขอบคุณภาพ https://www.facebook.com/BVB

ซามเมอร์ อดีตดาวเตะเจ้าของฉายา “เจ้าชายผมแดง” กลายเป็นคนแรกในประวัติศาสตร์ของดอร์ทมุนด์ ที่ได้ถาดแชมป์ทั้งในฐานะผู้เล่นและโค้ช ซึ่งนั่นคือโทรฟี่ใบเดียวของเขา ตลอดเวลา 4 ฤดูกาลที่คุมทีม

กระนั้น แชมป์บุนเดสลีกาปี 2002 ของ “เสือเหลือง” กลับไม่ช่วยอะไรพวกเขามากนัก เพราะสโมสรเริ่มที่จะเจอปัญหาทางการเงินอย่างหนัก จากการลงทุนขยายสนามเหย้า และการทุ่มเงินเพื่อสู้กับ “เสือใต้”

อีกทั้งการพลาดเข้ารอบแบ่งกลุ่มยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ฤดูกาล 2003/04 ทำให้ดอร์ทมุนด์ขาดรายได้ก้อนโต หนี้สินก็พอกพูนขึ้นเรื่อยๆ จึงจำเป็นต้องปล่อยนักเตะตัวหลักออกไปหลายคน เพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย

ด้วยหนี้สินที่ล้นพ้นตัว เสี่ยงต่อการถูกฟ้องล้มละลาย และการถูกปรับตกชั้น ทำให้ดอร์ทมุนด์ ต้องยอมให้บาเยิร์น มิวนิค คู่แข่งสำคัญ ยื่นมือเข้ามาช่วย ด้วยการให้ยืมเงินจำนวน 2 ล้านยูโร เพื่อเป็นเงินหมุนเวียน

เงิน 2 ล้านยูโรของบาเยิร์น มิวนิค แม้มันจะน้อยนิด เมื่อเทียบกับจำนวนหนี้สินของดอร์ทมุนด์ แต่ก็ช่วยให้ “Yellow Wall” รอดพ้นจากการล้มละลาย พร้อมกับได้รับบทเรียนสำคัญจากความผิดพลาดในครั้งนี้

การเข้ามาของคล็อปป์ กับฟ้าหลังฝนที่สวยงาม

จุดเริ่มต้นการสร้างความสำเร็จของโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ในยุคใหม่ เกิดขึ้นในปี 2005 เมื่อฮานส์ โยฮาคิม วัตช์เก้ เข้ามารับตำแหน่งซีอีโอคนใหม่ ด้วยนโยบายที่จะช่วยให้สโมสรมีความยั่งยืนทางการเงิน

จากสโมสรที่เคยติดหนี้มากกว่า 100 ล้านยูโร ทำให้วัตช์เก้ ได้เปลี่ยนแนวคิดการบริหารสโมสรเสียใหม่ โดยเน้นการสร้างทีมด้วยนักเตะดาวรุ่งเป็นหลัก และผู้จัดการทีมคนหนุ่มที่กระหายความสำเร็จ

แน่นอนว่า นโยบายเช่นนี้ช่วยให้สถานะทางการเงินของสโมสรดีขึ้น แม้จะต้องแลกกับผลงานในสนามที่ตกต่ำลงจนกลายเป็นทีมระดับกลางตาราง และต้องหนีตกชั้นในฤดูกาล 2007/08 ที่จบอันดับ 13

และในซีซั่นต่อมา ดอร์ทมุนด์ ได้โค้ชวัยหนุ่มอย่างเจอร์เก้น คล็อปป์ อดีตกุนซือทีมเล็กๆ อย่าง ไมนซ์ 05เข้ามาเป็นผู้นำในการกอบกู้สโมสร พร้อมกับแพชชั่นที่สูงมากในการเปลี่ยนทีมให้เต็มไปด้วยพลัง

คล็อปป์ได้สร้างยุคทองครั้งใหม่ ด้วยการคว้าถาดแชมป์บุนเดสลีกา 2 สมัยติดต่อกัน ในปี 2011 และ 2012 พร้อมกับแชมป์เดเอฟเบ โพคาล อีก 1 ถ้วย ในปี 2012 ด้วยการถล่มบาเยิร์นขาดลอย 5 – 2

นอกจากความสำเร็จในสนามแล้ว นโยบายการเพิ่มรายได้ และลดรายจ่าย ก็ช่วยให้ดอร์ทมุนด์ประสบความสำเร็จทางธุรกิจด้วย หนิ้สินก็ลดลง จนกลายเป็นหนึ่งในสโมสรที่มีความมั่นคงทางการเงินสูง

ชีวิตการเป็นผู้จัดการทีม แขวนอยู่บนเส้นด้าย

บาเยิร์น มิวนิค และโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ 2 สโมสรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในเยอรมัน แต่ก็มาพร้อมกับความคาดหวังที่สูงมาก ส่งผลถึงอายุงานของกุนซือที่ไม่ยาวนานมากนัก พลาดเมื่อไหร่ มีสิทธิ์ตกงานได้ทุกเมื่อ

ยกตัวอย่างเช่น นิโก้ โควัช ถูกปลดจากกุนซือบาเยิร์น ในเดือนพฤศจิกายน 2019 หลังผลงานแย่ในบุนเดสลีกา แล้วฮันซี่ ฟลิค เข้ามาสานต่อ จบซีซั่นด้วย “เทรบเบิลแชมป์” เที่ยวที่ 2 ต่อจากซีซั่น 2012/13

กรณีของโควัช ก็คล้ายกับนาเกลส์มันน์ เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ผู้บริหารบาเยิร์นประเมินแล้วว่า ถ้าพบแนวโน้มที่จะล้มเหลว มากกว่าจะประสบความสำเร็จ ก็จะแสดงความเด็ดขาด ด้วยการยื่นซองขาวให้กุนซือทันที

ขอบคุณภาพ https://www.facebook.com/BVB

ทางฝั่งดอร์ทมุนด์ ก็มีกรณีของเจอร์เก้น คล็อปป์ ในฤดูกาล 2014/15 ซีซั่นสุดท้ายในการทำงาน จบแค่อันดับที่ 7 เจ้าตัวแสดงความรับผิดชอบกับความล้มเหลว ด้วยการประกาศลาออกจากตำแหน่ง

เรื่องผลงานในสนาม อาจจะไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ทำให้กุนซือต้องแยกทาง อย่างเช่นในปี 2017 โธมัส ทูเคิ่ล มีปัญหากับบอร์ดบริหาร และนักเตะบางคน แม้จะพาดอร์ทมุนด์คว้าแชมป์เดเอฟเบ โพคาลก็ตาม

ในประวัติศาสตร์ 60 ฤดูกาลของฟุตบอลบุนเดสลีกา เยอรมนี บาเยิร์นมีการเปลี่ยนแปลงผู้จัดการทีมทั้งหมด 33 ครั้ง จาก 26 คน ขณะที่ดอร์ทมุนด์ มีการเปลี่ยนแปลงผู้จัดการทีมทั้งหมด 49 ครั้ง จาก 43 คน

อ๊อตมาร์ ฮิตช์เฟลด์ คือโค้ช “เสือใต้” ที่คุมทีมนานสุด (6 ปี) หลังจากนั้น โค้ชมีอายุงานเฉลี่ย 1.58 ปี ด้านเจอร์เก้น คล็อปป์ คือโค้ช “เสือเหลือง” ที่คุมทีมนานสุด (7 ปี) หลังจากนั้น โค้ชมีอายุงานเฉลี่ย 1.14 ปี

ลุ้นแชมป์ลีกเยอรมันซีซั่นนี้ ไม่ได้มีแค่ 2 เสือ

สถานการณ์แย่งแชมป์บุนเดสลีกา 2022/23 เรียกได้ว่าลุ้นสนุกมากกว่าหลายๆ ฤดูกาลที่ผ่านมา เพราะไม่ได้มีเพียงบาเยิร์น กับดอร์ทมุนด์เท่านั้น แต่มีอีก 2-3 ทีม ที่ยังอยู่ในวิสัยพอจะมีลุ้นได้เช่นกัน

ก่อนศึกใหญ่ที่อัลลิอันซ์ อารีน่า ในสุดสัปดาห์นี้ ดอร์ทมุนด์อยู่ในตำแหน่งจ่าฝูง มีคะแนนมากกว่าบาเยิร์นแค่แต้มเดียวเท่านั้น แต่ยักษ์ใหญ่จากบาวาเรีย ได้เปรียบตรงที่มีผลต่างประตูได้-เสีย ที่ตุนไว้เยอะ

อย่างไรก็ตาม ถ้านับเฉพาะผลงานในลีกนับตั้งแต่เข้าสู่ปี 2023 เอดิน แทร์ซิซ เทรนเนอร์ของดอร์ทมุนด์ พาทีมชนะได้ถึง 9 เกม หลุดเสมอกับชาลเก้ 04 ในดาร์บี้แมตช์เมืองถ่านหินเพียงแค่เกมเดียวเท่านั้น

ขณะที่บาเยิร์น แม้ผลงานในยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ชนะทุกนัด ในจำนวนนี้คลีนชีต 7 นัด และเสียแค่ 2 ประตู แต่ผลงานในลีกไม่สม่ำเสมอ จนเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้ยูเลี่ยน นาเกลส์มันน์ ตกเก้าอี้กุนซือ

สถิติการพบกันในยุค “บุนเดสลีกา” บาเยิร์น ชนะ 52 ครั้ง ดอร์ทมุนด์ ชนะ 25 ครั้ง เสมอกัน 30 ครั้ง ส่วนจำนวนแชมป์ลีกสูงสุดทั้งหมด เมื่อนับรวมยุคก่อนบุนเดสลีกาด้วย เสือใต้ 32 สมัย และเสือเหลือง 8 สมัย

นับตั้งแต่บุนเดสลีกา จัดแข่งขันครั้งแรก ในซีซั่น 1963/64 มี 12 สโมสรที่เคยคว้าแชมป์ โดยทีมล่าสุดที่ไม่ใช่บาเยิร์น และดอร์ทมุนด์ ที่สามารถยืนแป้นอันดับ 1 ของลีก นั่นคือโวล์ฟส์บวร์ก ในฤดูกาล 2008/09

ยูนิโอน เบอร์ลิน, ไฟร์บวร์ก และแอร์เบ ไลป์ซิก ที่แม้จะมีคะแนนตามหลังจ่าฝูง 5, 7 และ 8 แต้ม ตามลำดับ แต่ทั้ง 3 ทีมนี้ ก็ยังมีสิทธิ์คว้าแชมป์สมัยแรกในประวัติศาสตร์เช่นกัน กับโปรแกรมอีก 9 นัดที่เหลือ

เรียบเรียง : จักรพันธ์ ภู่ทอง

อ้างอิง :

– https://fcbayern.com/en/news/2021/12/11-1-50-years-ago-fc-bayern-celebrated-their-biggest-ever-bundesliga-win

– https://sqaf.club/why-bayern-munich-called-fc-hollywood/

https://www.bundesliga.com/en/bundesliga/news/borussia-dortmund-1994-95-remembering-first-title-12164

https://bvbbuzz.com/2018/01/24/look-back-borussia-dortmunds-remarkable-financial-recovery/

https://en.wikipedia.org/wiki/Der_Klassiker

Facebook
Twitter
Pinterest
Email

Comments are closed.