นาน ๆ ครั้งที่จะมีสองทีมแข่งติดกัน ส่วนใหญ่เป็นเพราะบังเอิญเกมบอลถ้วยถูกจัดแทรกใกล้บอลลีก แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่สองทีมจะเตะพรีเมียร์ลีกแบบ back-to-back แถมยังเป็น rivalry match ระดับห้าดาวอย่าง The War of Roses ระหว่าง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และ ลีดส์ ยูไนเต็ด ถือได้ว่าเป็นไปได้ยากที่สุดแต่ก็เป็นไปแล้วเมื่อทั้งคู่แข่งขันที่โอลด์ แทรฟฟอร์ด ในวันพุธที่ 8 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ก่อนเจอกันอีกครั้งในวันอาทิตย์ที่ 12 กุมภาพันธ์ที่เอลแลนด์ โรด ซึ่งตั้งอยู่ห่างโรงละครแห่งความฝันประมาณ 64 กิโลเมตร
ตามคิวเตะแรกเริ่ม แมตช์ที่โอลด์ แทรฟฟอร์ด ต้องแข่งช่วงเดือนกันยายนปีที่แล้ว แต่ถูกเลื่อนออกไปเนื่องจากการสวรรคตของสมเด็จพระราชินี อลิซาเบธที่สอง และเนื่องจากแมนฯยูไนเต็ด ยังอยู่บนเส้นทางลุ้นแชมป์ทั้งสี่รายการ พรีเมียร์ลีกจึงพยายามให้ทั้งคู่แข่งด้วยกันเร็วที่สุดเมื่อเข้าสู่ครึ่งหลังของซีซัน 2022-23
เดือนกุมภาพันธ์ 2023 แมนฯยูไนเต็ดต้องเล่นรอบ 16 ทีมสุดท้าย ยูโรปา ลีก กับบาร์เซโลนา มิดวีคสองสัปดาห์ติดกัน คั่นกลางด้วยบอลลีกกับเลสเตอร์ และต่อด้วยนัดชิงชนะเลิศคาราบาว คัพ กับนิวคาสเซิลในวันอาทิตย์ที่ 26 กุมภาพันธ์ ซึ่งทำให้เกมกับเบรนท์ฟอร์ดถูกเลื่อนออกไป ทีมปีศาจแดงยังต้องเตะรอบ 5 เอฟเอ คัพ กับเวสต์แฮมในวันที่ 1 มีนาคมอีก แมนฯยูไนเต็ดจึงเหลือคิวว่างเดียวกลางสัปดาห์ให้พรีเมียร์ลีกใส่โปรแกรมที่เลื่อนมาจากปีที่แล้ว ซึ่งเกมยังสนุกเข้มขัน ลีดส์ออกนำ 2-0 ก่อนเจ้าบ้านไล่ทันและยังเหลือเวลาร่วมยี่สิบนาทีให้ทั้งสองคลำเป้าหาประตูชัย แต่เกมลงเอยที่ผลเสมอ 2-2
ก่อนแมตช์สองที่เอลแลนด์ โรด สงครามกุหลาบเกิดขึ้น 112 ครั้งรวมทุกรายการ แมนฯยูไนเต็ดชนะ 49 นัด ลีดส์ชนะ 26นัด และเสมอกัน 37 นัด แต่ถ้าเฉพาะเกมลีก แมนฯยูไนเต็ดชนะ 40 นัด ลีดส์ชนะ 23 นัด และเสมอ 34 นัด โดยลีกคัพ แมนฯยูไนเต็ดชนะทั้ง 5 นัดที่เจอกัน ส่วนเอฟเอ คัพ แมนฯยูไนเต็ดชนะ 4 นัด ลีดส์ชนะ 3 นัด และเสมอ 3 นัด
สามแมตช์ความทรงจำ “สงครามกุหลาบ”
ต้นเดือนกุมภาพันธ์เพื่อพรีวิวสงครามกุหลาบ สื่อฟุตบอลดัง 90min ได้จัดสามเกมแห่งความทรงจำระหว่างแมนฯยูไนเต็ดและลีดส์เอาไว้ ซึ่งเป็นการดวลสตั๊ดช่วงหลังที่แฟนบอลส่วนใหญ่ยังพอเชื่อมโยงกับการติดตามกีฬาลูกหนังได้
1998: แมนฯยูไนเต็ด 3 ลีดส์ 2
เป็นฤดูกาลที่แมนฯยูไนเต็ดทำทริปเปิลแชมป์ ซึ่งมีโมเมนต์ให้น่าจดจำมากมาย รวมถึงแมตช์หนึ่งที่หลายคนอาจลืมไปแล้วช่วงต้นซีซัน 1998-99 คือเฉือนชนะคู่อริเก่าแก่ในบ้าน เป็นเกมที่สองฝ่ายเปิดเกมบุกมอบความบันเทิงให้ผู้ชมทั้งในสนามและทางบ้าน เกมน่าจะลงเอยด้วยผลเสมอจกระทั่งนิคกี บัตต์ ส่งกองเชียร์ทีมเยือนกลับบ้านด้วยความผิดหวัง
2002: แมนฯยูไนเต็ด 4 ลีดส์ 3
ลีดส์เป็นทีมหนึ่งที่สร้างผลงานได้โดดเด่นขณะเปลี่ยนผ่านศตวรรษใหม่ ส่วนแมนฯยูไนเต็ดก็ครองความยิ่งใหญ่ภายใต้การกุมบังเหียนของเซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ทั้งสองเตะกันอย่างดุเดือดที่โอลด์ แทรฟฟอร์ด สกอร์ยันกันที่ 3-3 ก่อนโอเล กุนนาร์ โซลส์ชาร์ จะทำประตูชัยให้ทีมปีศาจแดง
2010: แมนฯยูไนเต็ด 0 ลีดส์ 1
ลีดส์เริ่มเจอวิกฤติการเงินราวปี 2001 แถมรายได้หดหายเพราะไม่ได้เล่นแชมเปียนส์ ลีก สองปี ถึงขนาดยอมขายริโอ เฟอร์ดินานด์ ให้แมนฯยูไนเต็ดในราคาเฉียด 30 ล้านปอนด์ ปัญหานอกสนามส่งผลต่อฟอร์มในสนามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ลีดส์ลงไปอยู่แชมเปียนชิพ ซีซัน 2004-05 และลีกวัน ซีซัน 2007-08 ก่อนกลับมาเล่นลีกสูงสุดในซีซัน 2020-21
เดือนมกราคม 2010 ลีดส์ ซึ่งเล่นอยู่ในลีกวันและได้แชมป์ซีซันนั้น ถูกจับสลากไปเยือนโอลด์ แทรฟฟอร์ด รอบสาม เอฟเอ คัพ แต่ลีดส์ล้มยักษ์ด้วยประตูเดียวของเยอร์เมน เบคฟอร์ด เป็นครั้งแรกที่เซอร์เฟอร์กูสันแพ้ทีมต่ำลีกกว่าในบอลถ้วยเก่าแก่รายการนี้ แต่แมนฯยูไนเต็ด ยังจบซีซัน 2009-10 ด้วยแชมป์ลีกคัพและรองแชมป์พรีเมียร์ลีก
สงครามกุหลาบยังเกี่ยวข้องกับสองพี่น้องตำนานทีมชาติอังกฤษ แจ็คกีและบ็อบบี ชาร์ลตัน ซึ่งอายุต่างกันสองปี แจ็คกีเป็นวันแมนคลับ เล่นให้ลีดส์ทีมเดียวระหว่างปี 1952 ถึง 1973 บ็อบบีเล่นให้แมนฯยูไนเต็ดระหว่างปี 1956 ถึง 1973 ก่อนย้ายไปเพรสตัน นอร์ธ เอนด์ และทีมอื่น ๆ
พี่น้องชาร์ลตันเป็นนักเตะที่เล่นเกม Pennines derby มากที่สุดของสองสโมสร แจ็คกี 27 นัดรวมทุกรายการเท่ากับพอล เรียนีย์ ซึ่งอยู่กับลีดส์ระหว่างปี 1962 ถึง 1978 ส่วนบ็อบบีลงสนาม 29 นัดรวมทุกรายการ และยังทำสกอร์ได้มากที่สุดคือ 9ประตู ส่วนเจ้าของสถิติสูงสุดฝั่งลีดส์ได้แก่ มิค โจนส์ 7 ประตู
สำหรับสถิติน่าสนใจอื่น ๆ ของสงครามกุหลาบ
พบกันครั้งแรก: 20 มกราคม 1923 ฟุตบอลดิวิชั่นสอง (หรือแชมเปียนชิพในปัจจุบัน) เจ้าบ้าน แมนฯยูไนเต็ดเสมอลีดส์ 0-0
ชนะมากที่สุดรวมทุกรายการ: ลีดส์ชนะแมนฯยูไนเต็ด 5-0 ฟุตบอลดิวิชั่นหนึ่ง ที่เอลแลนด์ โรด เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 1930 และแมนฯยูไนเต็ดชนะลีดส์ 6-0 ฟุตบอลดิวิชั่นหนึ่ง ที่โอลด์ แทรฟฟอร์ด เมื่อวันที่ 9 กันยายน 1959
คนดูในสนามมากที่สุด: ที่เอลแลนด์ โรด 52,368 คน ลีดส์แพ้แมนฯยูไนเต็ด 0-1 เมื่อวันที่ 17 เมษายน 1965 และที่โอลด์ แทรฟฟอร์ด 74,526 คน แมนฯยูไนเต็ด แพ้ลีดส์ 0-1 เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2010
คนดูในสนามน้อยที่สุด: ที่เอลแลนด์ โรด 10,596 คน ลีดส์ชนะแมนฯยูไนเต็ด 3-1 เมื่อวันที่ 26 เมษายน 1930 และที่โอลด์ แทรฟฟอร์ด 9,512 คน แมนฯยูไนเต็ดแพ้ลีดส์ 2-5 เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 1931
ทำประตูมากที่สุดในหนึ่งนัด (3 ประตู): มิค โจนส์ (ลีดส์) วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 1972, สแตน เพียร์สัน (แมนฯยูไนเต็ด) วันที่ 27 มกราคม 1951, เดนนิส ไวโอลเลต (แมนฯยูไนเต็ด) วันที่ 21 มีนาคม 1959, แอนดี ริทชี (แมนฯยูไนเต็ด) วันที่ 24 มีนาคม 1979, บรูโน แฟร์นานเดส (แมนฯยูไนเต็ด) วันที่ 14 สิงหาคม 2021
การย้ายทีมระหว่างคู่อริตะวันตกเฉียงเหนือ
เป็นที่รู้กันดีว่าแฟนบอลจะไม่พอใจมาก ๆ ถ้านักเตะย้ายไปเล่นให้ทีมคู่อริโดยเฉพาะย้ายแบบตรง ๆ ไม่แวะเล่นให้ทีมอื่นก่อน ตัวอย่างช่วงตลาดซัมเมอร์ปีที่แล้ว คัลวิน ฟิลลิปส์ มิดฟิลด์ตัวรับทีมชาติอังกฤษของลีดส์ ซึ่งเป็นเป้าหมายหนึ่งที่แมนฯยูไนเต็ดต้องการเอาไปแก้ปัญหากองกลาง แต่สื่อมองว่าเป็นไปได้ยากเพราะฟิลลิปส์ไม่ใช่เป็นนักเตะในทีมลีดส์ แต่ยังเกิดในเมืองลีดส์ และพัฒนาฝีเท้ากับอะคาเดมีของลีดส์ (2010-2014) ก่อนเล่นให้ทีมชุดใหญ่ครั้งแรกในปี 2015 และในที่สุด ฟิลลิปส์ก็เซ็นสัญญากับแมนฯซิตีด้วยค่าตัว 49 ล้านยูโร
บางคนอาจสงสัยว่า ทำไมลีดส์ไม่เป็นคู่อริกับแมนฯซิตี เพื่อนบ้านของแมนฯยูไนเต็ด ซึ่งมีคำตอบจากฝั่งแฟนบอลลีดส์ว่า “ศัตรูของศัตรูคือมิตร” และอีกอย่างสีเสื้อของแมนฯยูไนเต็ดเป็นปัจจัยที่สร้างประวัติศาสตร์สงครามกุหลาบขึ้นมา
อลัน สมิธ เป็นกรณีศึกษาที่ชัดเจน เขาเกิดในรอธเวลล์ เมืองทางตะวันออกเฉียงใต้ของซิตี ออฟ ลีดส์ เติบโตจากอะคาเดมีของลีดส์ และเล่นทีมชุดใหญ่ในปี 1998 แถมเปิดตัวได้แจ๋วในวัยเพียง 18 ปี สามารถทำประตูลิเวอร์พูลได้ด้วย สมิธจบซีซันแรกด้วย 9 ประตูจาก 26 นัดรวมทุกรายการ
ปี 2002 นักข่าวถามสมิธว่าถ้ามีสักสโมสรที่ไม่คิดอยากเล่นให้บ้างไหม เขาตอบว่า “มีซิ แมนฯยูไนเต็ด ไงล่ะ” และกระทั่งลีดส์ตกพรีเมียร์ลีกในปี 2004 สมิธยังให้สัมภาษณ์ว่าเขาจะลงเล่นแชมเปียนชิพเพื่อกอบกู้สโมสรขึ้นมาใหม่ แต่ไม่กี่สัปดาห์ต่อมา สมิธเซ็นสัญญาย้ายไปสวมยูนิฟอร์มปีศาจแดง ทำให้แฟนบอลโกรธมากเหมือนถูกนักเตะขวัญใจทรยศ
จากข้อมูลที่ถูกบันทึกไว้ นักเตะลีดส์ที่ย้ายไปอยู่โอลด์ แทรฟฟอร์ด โดยตรงมีจำนวน 6 คน เริ่มจากโจ จอร์แดน วันที่ 4มกราคม 1978 ค่าตัว 350,000 ปอนด์ ตามด้วยกอร์ดอน แม็คควีน วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 1978 ค่าตัว 500,000 ปอนด์, อาร์เธอร์ เกรแฮม วันที่ 1 สิงหาคม 1983 ค่าตัว 65,000 ปอนด์, เอริค คันโตนา วันที่ 12 พฤศจิกายน 1992 ค่าตัว 1.2 ล้านปอนด์, ริโอ เฟอร์ดินานด์ วันที่ 22 กรกฎาคม 2002 ค่าตัว 29.1 ล้านปอนด์ และอลัน สมิธ วันที่ 26 พฤษภาคม 2004 ค่าตัว 7 ล้านปอนด์
ส่วนที่ย้ายจากแมนฯยูไนเต็ดไปอยู่เอลแลนด์ โรด มีจำนวน 10 คน คนแรกคือ เฟรดดี กู้ดวิน วันที่ 16 มีนาคม 1960 ค่าตัว 10,000 ปอนด์ ตามด้วยจอห์นนี กิลส์ วันที่ 1 สิงหาคม 1963 ค่าตัว 33,000 ปอนด์, ไบรอัน กรีนฮอฟฟ์ วันที่ 1 สิงหาคม 1979 ค่าตัว 350,000 ปอนด์, กอร์ดอน สตรัคคัน วันที่ 2 มีนาคม 1989 ค่าตัว 300,000 ปอนด์, ลี ชาร์ป วันที่ 14 สิงหาคม 1996 ค่าตัว 4.5 ล้านปอนด์, แดนนี พัคห์ วันที่ 27 พฤษภาคม 2004 เป็นส่วนในดีลของอลัน สมิธ, เลียม มิลเลอร์ วันที่ 4พฤศจิกายน 2005 ยืมตัว, สกอตต์ วูตตัน วันที่ 21 กันยายน 2013 ไม่เปิดเผยข้อมูล, แคเมรอน บอร์ธวิก-แจ็คสัน วันที่ 7สิงหาคม 2017 ยืมตัว และดาเนียล เจมส์ วันที่ 31 สิงหาคม 2021 ค่าตัว 25 ล้านปอนด์
ลีดส์หวังซื้อเออร์วิน แต่กลับเสียคันโตนา
มีนักเตะคนหนึ่งที่น่าพูดถึงแม้ไม่ได้อยู่ในลิสต์ 16 คนแต่เคยเล่นทั้งลีดส์และแมนฯยูไนเต็ดเพียงไม่ได้ย้ายทีมโดยตรง แถมเป็นผู้เล่นที่ประสบสำเร็จสูง ได้รับการยกย่องในฝีเท้า เขาคือ เดนิส เออร์วิน ซึ่งว่ากันว่าเป็นหนึ่งในฟูลแบ็คยอดเยี่ยมตลอดกาลของพรีเมียร์ลีก แต่ขณะเดียวกัน เขาถูกประเมินค่าต่ำกว่าความเป็นจริงมาก
เออร์วินเคยอยู่ในทีมเยาวชนของลีดส์เมื่อปี 1983 และขึ้นชุดใหญ่ปีเดียวกัน เล่นให้ลีดส์ 72 นัดในบอลดิวิชันสอง ก่อนย้ายไปอยู่โอลด์แฮมแบบฟรีค่าตัวในปี 1986 เขาช่วยทีมเข้าถึงรอบชิงชนะเลิศลีกคัพปี 1990 แต่แพ้ฟอเรสต์ 0-1 ซึ่งปีเดียวกัน แมนฯยูไนเต็ดซื้อแบ็คชาวไอริชด้วยรคา 625,000 ปอนด์
เออร์วินเป็นนักเตะปีศาจแดง 12 ปี ลงเล่นพรีเมียร์ลีก 296 นัด คว้าแชมป์ 7 สมัย, แชมป์เอฟเอ คัพ 2 สมัย, แชมป์ลีก คัพ 1 สมัย และแชมป์แชมเปียนส์ลีก ปี 1999 ลีดส์เคยพยายามซื้อตัวเออร์วินกลับถิ่นประมาณปลายปี 1992 แต่การเจรจาครั้งนั้นนำไปสู่การที่แมนฯยูไนเต็ดได้เพชรเม็ดงามจากเอลแลนด์ โรด เขาคือ เอริค คันโตนา
คันโตนาย้ายถิ่นฐานมาอยู่พรีเมียร์ลีกหลังประสบปัญหาวุ่นวายในฝรั่งเศส ก่อนพบบ้านใหม่ที่ลีดส์หลังทดสอบฝีเท้ากับเชฟฟิลด์ เวนสเดย์ เขาครองแชมป์ดิวิชันหนึ่งกับลีดส์ในซีซัน 1991-92 แต่กลับไม่สามารถแย่งตำแหน่งตัวจริง นั่นเปิดโอกาสให้เซอร์เฟอร์กูสันคว้าตัวไป
มีเรื่องเล่าวว่า ลีดส์อยากซื้อเออร์วินและถูกปฏิเสธ แต่ตอนนั้น เซอร์เฟอร์กูสันต้องการกองหน้าตัวใหม่ ข้อเสนอซื้อตัวเดวิด เฮิร์สต์, แมทท์ เลอ ทิสซิเยร์ และไบรอัน ดีน โดนปฏิเสธ การติดต่อกับลีดส์ทำให้ยอดกุนซือชาวสกอตต์เห็นโอกาสเซ็นสัญญากับคันโตนา เรื่องราวจากนั้นถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์เรียบร้อย
แม้คันโตนาอยู่กับแมนฯยูไนเต็ดไม่ถึงห้าปีเพราะตัดสินใจแขวนสตั๊ดหลังจบซีซัน 1996-97 แต่มีส่วนในความสำเร็จ แชมป์พรีเมียร์ลีก 4 สมัย และแชมป์เอฟเอ คัพ 2 สมัย แต่ที่สำคัญเป็นรากฐานสำคัญที่สร้างให้แมนฯยูไนเต็ดครองความยิ่งใหญ่นานถึงสองทศวรรษโดยสโมสรจ่ายเงินซื้อตัวจากลีดส์แค่ 1.2 ล้านปอนด์
Game of Thrones จุดเริ่มต้นของสงครามกุหลาบ
ประวัติศาสตร์ความเป็นคู่อริของลีดส์กับแมนฯยูไนเต็ด ต้องย้อนกลับไปไกลถึงกลางศตวรรษที่ 1500 เมื่อราชวงศ์แลงคัสเตอร์กับราชวงศ์ยอร์คสู้รบเพื่อแย่งความเป็นใหญ่ในอังกฤษ ทั้งสองต่างอ้างสิทธิ์ครองบัลลังก์เนื่องจากต่างสืบเชื้อสายมาจากพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 ที่ปกครองอังกฤษช่วงปี 1327 ถึง 1377
ราชวงศ์แลงคัสเตอร์มีสัญลักษณ์เป็นกุหลาบแดง ส่วนราชวงศ์ยอร์คมีสัญลักษณ์เป็นกุหลาบขาว สงครามชิงบัลลังก์ครั้งนั้นจึงถูกเรียกขานว่า The War of Roses และต้องเพิ่มข้อมูลด้วยว่า แมนเชสเตอร์เป็นดินแดนส่วนหนึ่งในแลงคัสเชียร์ แมนฯยูไนเต็ดใช้สีแดงเป็นสัญลักษณ์ ส่วนลีดส์ใช้สีขาวและอยู่ในยอร์คเชียร์
หลังหมดยุคสงครามที่ใช้ดาบและหอก การต่อสู้ระหว่างแมนเชสเตอร์กับลีดส์ยังดำเนินต่อไปในช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรมของอังกฤษ ทั้งสองเมืองใหญ่อยู่ใกล้กันและเป็นคู่แข่งกันโดยตรงเพื่อสร้างเสริมความมั่งคั่งของภูมิภาค บ่อยครั้งที่ความสำเร็จของเมืองหนึ่งหมายถึงความล้มเหลวของอีกเมือง
ในส่วนของฟุตบอล ถึงแม้สองสโมสรจะแข่งขันครั้งแรกเมื่อต้นปี 1923 ในดิวิชันสอง แต่สงครามบนสนามหญ้าจริง ๆ น่าจะเกิดขึ้นในอารมณ์แฟนบอลตอนที่มีผู้จัดการทีมชื่อ แมทท์ บัสบี และ ดอน เรวี
ทศวรรษที่ 1960 แมนฯยูไนเต็ดและลีดส์ถูกสร้างทีมโดยสุดยอดผู้จัดการทีม สองฝ่ายห่ำหั่นกันดุเดือดราวกับทำสงครามเมื่อเจอกัน หนึ่งในตำนานคือรอบรองชนะเลิศ เอฟเอ คัพ ปี 1965 เมื่อเกิดเหตุวิวาทระหว่างสองดาวดัง เดนิส ลอว์ และแจ็คกี ชาร์ลตัน ซึ่งหนังสือพิมพ์ยอร์คเชียร์ตีข่าวว่า “ทั้งสองฝ่ายทำตัวเหมือนสุนัขตะคอกและคำรามใส่กันเพื่อแย่งกระดูก”
ลีดส์ชนะสงครามกุหลาบนัดรีเพลย์ก่อนไปแพ้ลิเวอร์พูลในนัดชิงชนะเลิศ ขณะที่แมนฯยูไนเต็ดครองแชมป์ดิวิชั่นหนึ่งด้วยการเฉือนลีดส์เพียงผลต่างประตู
สงครามกุหลาบยังดำเนินต่อไป ทั้งสองทีมยังใส่กันเกินร้อยทุกครั้งที่พบกัน ไม่ว่าทศวรรษที่ 1970 ซึ่งลีดส์เป็นทีมชั้นนำของอังกฤษ แมนฯยูไนเต็ดได้ลุ้นเพียงบอลถ้วย หรือทศวรรษ 2000 ที่แมนฯยูไนเต็ดครองความยิ่งใหญ่ ลีดส์เจอวิกฤติการเงินและร่วงลงไปถึงเทียร์สาม
เรียบเรียง : ฐปน วันชูเพลา (Senior Football Writer)
Senior Football Editor