Categories
Football Business

วิลเลียม สเปียร์แมน : ตัวละครลับ ช่วย “ลิเวอร์พูล” คว้าแชมป์พรีเมียร์ลีก

#SSxKMD | 25 มิถุนายน 2020 การรอคอยอันแสนยาวนานของสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูล สิ้นสุดลงเสียที เมื่อคว้าแชมป์ลีกสูงสุดของอังกฤษเป็นสมัยที่ 19 และเป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปี

เมื่อทีมฟุตบอลที่ตัวเองตามเชียร์ประสบความสำเร็จ ก็มักจะยกความดีความชอบให้นักเตะและโค้ช แต่ความจริงแล้วยังมีทีมงานหลังบ้านอีกจำนวนหนึ่ง คอยปิดทองหลังพระอยู่เบื้องหลัง

ซึ่งมีบุคคลหนึ่งที่เรียกตัวเองว่า “นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล” ที่หลายคนอาจไม่เคยได้ยินอาชีพนี้มาก่อน แต่นั่นคือฟันเฟืองสำคัญ ที่ทำให้หงส์แดงคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีก ในวันนี้ เมื่อ 2 ปีก่อน

แล้ว “ข้อมูล” มีบทบาทสำคัญที่ช่วยให้ลิเวอร์พูลกลับมายิ่งใหญ่ได้อย่างไร ? วันนี้ SoccerSuckไข่มุกดำ จะมาขยายให้ฟังกันครับ

ทำความรู้จัก “วิทยาศาสตร์ข้อมูล”

คำว่า “วิทยาศาสตร์ข้อมูล” (Data Science) หมายถึงการนำข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) มาวิเคราะห์ตามกระบวนการตั้งสมมติฐาน ทดลอง และหาผลลัพธ์ที่กลั่นกรองออกมาเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป

โดยผู้ที่ทำอาชีพด้าน Data Science จะเรียกว่า “นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล” (Data Scientist) ซึ่งจะต้องมีองค์ความรู้หลากหลายแขนง ทั้งด้านคอมพิวเตอร์, คณิตศาสตร์/สถิติ และธุรกิจ

มีการคาดการณ์กันว่า ในปี 2030 สายงาน Data Scientist ในอุตสาหกรรมกีฬา จะมีมูลค่าสูงถึง 1,850 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้น 20 เปอร์เซ็นต์จากปัจจุบัน ถึงแม้จะเกิดวิกฤตโควิด-19 ก็ตาม

สำหรับวงการฟุตบอลในยุคสมัยใหม่ ก็ได้มีการออกแบบการจัดเก็บ “ข้อมูล” ที่ละเอียดและหลากหลายมากกว่าในอดีต ซึ่งใครก็ตามที่มีข้อมูลหรือเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำกว่า ก็แทบจะมีชัยไปมากกว่าครึ่งแล้ว

แต่การมีข้อมูลเยอะ ๆ มันจะไม่มีประโยชน์อะไรเลย ถ้าไม่ได้นำมาผ่านกระบวนการวิเคราะห์ให้ตกผลึก และผู้บริหารสูงสุด รวมทั้งเจ้าหน้าที่ระดับสูงไม่เปิดใจที่จะรับฟัง ทำให้ข้อมูลไม่ได้ถูกใช้งานจริง ๆ

สโมสรฟุตบอลในปัจจุบัน ต่างก็มีทีมวิเคราะห์ข้อมูลอยู่แล้ว แต่สำหรับลิเวอร์พูล ในยุคที่กลุ่มเฟนเวย์ สปอร์ต กรุ๊ป (FSG) เข้ามาบริหารทีม ได้นำข้อมูลมาใช้อย่างจริงจัง จนสร้างความแตกต่างที่โดดเด่น

วิสัยทัศน์ที่กว้างไกลของผู้บริหาร

เมื่อปี 2002 จอห์น ดับเบิ้ลยู เฮนรี่ ที่ในขณะนั้นเป็นเจ้าของทีมเบสบอล บอสตัน เรด ซ็อกซ์ เคยใช้เงิน 12.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ดึงตัวบิลลี่ บีน ผู้จัดการทีมเจ้าของคอนเซปต์ “Moneyball” ที่ใช้ข้อมูลในการสร้างทีมให้ยิ่งใหญ่

กระทั่งการเข้ามาซื้อสโมสรลิเวอร์พูลของกลุ่ม FSG จอห์น เฮนรี่ ไม่ได้แค่เข้ามากอบกู้ซากปรักหักพัง ที่เจ้าของทีมในอดีตทิ้งไว้เท่านั้น ยังได้นำแนวคิดเรื่อง “ข้อมูล” มาใช้บริหารทีม จนประสบความสำเร็จ

จอห์น เฮนรี่ ได้ดึงตัวเอียน เกรแฮม มารับตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายวิจัยข้อมูล และยังมีทีมงานที่อยู่ภายใต้แกรแฮมอีก 6 คน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ดร.วิลเลียม สเปียร์แมน ผู้จบปริญญาเอกด้านฟิสิกส์ ด้านอนุภาคพลังงานสูง

ดร. สเปียร์แมน เคยทำงานวิจัยเรื่องการวัดขนาดและความกว้างของสนามพลังฮิกส์ ที่องค์การวิจัยนิวเคลียร์ยุโรป (CERN) ก่อนที่ในปี 2015 จะได้มาเป็นนักวิเคราะห์ข้อมูลด้านกีฬาให้กับฮูเดิ้ล (Hudl) ที่สหรัฐอเมริกา

และที่ Hudl นี่เอง ที่ทำให้ดร. สเปียร์แมน ได้มีความสนใจในเรื่องราวของกีฬา “ฟุตบอล” ที่มีจังหวะการเล่นต่อเนื่อง และมองว่าข้อมูลที่ซับซ้อนในเกมลูกหนัง ยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากเท่าใดนัก

กระทั่งในเดือนมีนาคม 2018 ดร. สเปียร์แมน ได้เข้ามาเป็นทีมงานในฝ่ายวิเคราะห์ข้อมูลของลิเวอร์พูล หน้าที่ของเขาคือ เก็บข้อมูลเพื่อใช้วิเคราะห์การแข่งขันของผู้เล่นในสนาม และการสรรหาผู้เล่นใหม่

ดร. สเปียร์แมน ได้นำโมเดลจาก Hudl ซึ่งเป็นโมเดลที่ใช้ติดตามการเคลื่อนที่ของผู้เล่นทั้ง 22 คน และลูกฟุตบอล ด้วยการใช้กล้องที่ติดตั้งไว้รอบ ๆ สนาม จับภาพในอัตรา 25 เฟรมต่อวินาที

เครื่องมือดังกล่าว ทำให้สามารถประเมินระยะห่างระหว่างผู้เล่นกับลูกฟุตบอล และคำนวณเปอร์เซ็นต์การครองบอลที่แท้จริง ซึ่งเป็นประโยชน์กับแท็กติก “เกเก้นเพรสซิ่ง” ของเจอร์เก้น คล็อปป์

ตัวอย่างจากโมเดล Pitch Control

ตัวอย่างการใช้ “วิทยาศาสตร์ข้อมูล” ของลิเวอร์พูล ที่ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวาง โดยดร.วิลเลียม สเปียร์แมน และ ดร.ทิม วาสเกตต์ ได้ร่วมกันอธิบายโมเดลการคุมพื้นที่ในขณะที่ครอบครองบอล หรือ Pitch Control

ดร. สเปียร์แมน ได้นิยาม Pitch Control ไว้ว่า “มันคือการที่ผู้เล่นคนหนึ่ง หรือเพื่อนร่วมทีมคนอื่น ๆ ได้ควบคุมพื้นที่ในบริเวณหนึ่งของสนาม ดังนั้นต้องผ่านบอลในจุดที่ได้เปรียบ เพื่อรักษาการครองบอลของทีมไว้”

ส่วน ดร.วาสเกตต์ กล่าวเสริมว่า “เราได้วิเคราะห์การเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา เพื่อหาช่องว่างที่ผู้เล่นสามารถแย่งพื้นที่จากอีกฝั่งไว้ได้ และจะส่งผลถึงโอกาสการทำประตู ณ จุดหนึ่งบนสนาม ในอีก 15 วินาทีข้างหน้า”

ซึ่งข้อมูลทั้งหมดจากทีมนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล จะถูกส่งไปให้เจอร์เก้น คล็อปป์ เพื่อใช้ประกอบในการฝึกซ้อม และการวางแท็กติก ควบคู่กับมันสมองในเกมลูกหนังที่ยอดเยี่ยมของกุนซือชาวเยอรมันวัย 55 ปี

หากจะยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัด ๆ อย่างเช่นในเกมที่ลิเวอร์พูล บุกชนะท็อตแน่ม ฮอทสเปอร์ 1 – 0 เมื่อเดือนมกราคม 2020 ลิเวอร์พูลยิงขึ้นนำก่อนตั้งแต่ครึ่งแรก พอถึงช่วงท้ายเกมสเปอร์พยายามจะตีเสมอให้ได้

แต่แล้ว ลิเวอร์พูลได้ใช้เทคนิคให้ผู้เล่นเอาต์ฟิลด์ทั้ง 10 คน ยืนแพ็คกันอยู่บริเวณกลางสนามด้วยระยะห่างกันไม่ถึง 20 หลา บีบให้สเปอร์ทำได้แค่ส่งบอลไปรอบ ๆ ไม่สามารถเจาะช่องเข้าไปได้จนจบการแข่งขัน

นอกจากนี้ ฟูลแบ็ก 2 ฝั่งทั้งแอนดรูว์ โรเบิร์ตสัน (ซ้าย) และเทรนท์ อเล็กซานเดอร์-อาโนลด์ (ขวา) มีการส่งบอลข้ามฝากให้กันในเปอร์เซ็นต์ที่สูงอย่างไม่น่าเชื่อ ซึ่งก็มาจากโมเดล Pitch Control เช่นเดียวกัน

ความลับจากวิทยาศาสตร์ข้อมูล ที่ทรงพลังจนเห็นผลของจริงในสนาม มีส่วนช่วยให้ลิเวอร์พูลคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีก ในฤดูกาล 2019/20 ต่อยอดจากแชมป์ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก เมื่อ 1 ซีซั่นก่อนหน้านั้น

“ข้อมูล” เบื้องหลังความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่

ลิเวอร์พูล เป็นสโมสรแรก ๆ ของพรีเมียร์ลีก ที่เห็นความสำคัญของ “ข้อมูลขนาดใหญ่” ที่นำมากลั่นกรองจนตกผลึก และเป็นเบื้องหลังความสำเร็จกับแชมป์ 6 รายการ ในยุคของกุนซือเจอร์เก้น คล็อปป์

จาก Data Science สู่การนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในการวิเคราะห์ข้อมูล อย่างบริษัท Zone7 ที่ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการวิเคราะห์ความเสี่ยงเรื่องปัญหาการบาดเจ็บของผู้เล่นในทีม

และยังมีเครื่องมือจาก Neuro11 ที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูลการทำงานของสมองสำหรับนักเตะในการเล่นลูกนิ่ง เช่น ความเครียดในการเล่นจังหวะหนึ่ง, ท่าที่เหมาะสมที่สุดเมื่อต้องยิงฟรีคิก เตะมุม หรือจุดโทษ

เมื่อลิเวอร์พูลพิสูจน์ให้เห็นแล้วในช่วงปี 2019-2020 ทีมคู่แข่งสำคัญอย่างแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ก็ได้แต่งตั้งลอรี่ ชอว์ อดีตนักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ มาเป็นทีมงานข้อมูลหลังบ้าน เมื่อช่วงต้นปี 2021

รวมถึงแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ในยุคที่เปลี่ยนโครงสร้างการบริหารใหม่ ก็เริ่มที่จะแสดงความก้าวหน้า ด้วยการดึงโดมินิค จอร์แดน มาเป็นผู้อำนวยการฝ่าย Data Scientist คนแรกของสโมสร เมื่อปลายปีที่แล้ว

จะเห็นได้ว่า ผู้ที่นำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ก่อนคนอื่น จะเป็นผู้ที่ได้เปรียบ เพราะในโลกธุรกิจยุคสมัยใหม่ จะเป็น “ปลาเร็วกินปลาช้า” ไม่ใช่ “ปลาใหญ่กินปลาเล็ก” เหมือนในอดีตอีกต่อไป

เรียบเรียง: จักรพันธ์ ภู่ทอง

อ้างอิง :

– https://www.liverpoolfc.com/news/cern-lfc-weird-journey-william-spearman-liverpools-lead-data-scientist

– https://www.liverpool.com/liverpool-fc-news/features/liverpool-transfer-news-jurgen-klopp-17569689

– https://theathletic.com/2041669/2020/09/09/meet-william-spearman-liverpools-secret-weapon-15-seconds/

– https://www.liverpoolecho.co.uk/sport/football/football-news/harvard-physicist-opens-up-role-22959333

– https://zone7.ai/how-physicists-are-taking-on-the-challenge-of-interpreting-football-data/

https://www.bbc.com/news/business-56164159

– https://medium.com/the-spekboom/how-math-and-data-science-made-liverpool-the-best-team-on-the-planet-a72d50b325