Categories
Football Business

อาณาจักรไร้พรมแดน : “มัลติ-คลับ” โมเดลที่กำลังเขย่าวงการลูกหนังเมืองผู้ดี ?

สโมสรฟุตบอล ถือเป็นสินทรัพย์ที่นักลงทุนระดับมหาเศรษฐีอยากจะครอบครองไว้ ด้วยเหตุผลหลายประการ อาจเพราะด้วยใจรักที่แท้จริง หวังมีชื่อเสียง กอบโกยผลประโชยน์ และอื่น ๆ

แต่ฟุตบอลในยุคสมัยใหม่นั้นไปไกลกว่าเมื่อก่อนมาก เพราะมีเจ้าของสโมสรฟุตบอลบางกลุ่ม ได้ “ต่อยอด” โดยการสร้างเครือข่ายกับสโมสรฟุตบอลอื่น ๆ ครอบคลุมทุกทวีปทั่วโลก หรือ “มัลติ-คลับ”

แล้วโมเดล “มัลติ-คลับ” จะสร้างแรงสั่นทะเทือนกับวงการฟุตบอลอังกฤษได้มากน้อยเพียงใด ? SoccerSuck x ไข่มุกดำ จะมาขยายให้ฟังกันครับ

จุดเริ่มต้นมาจาก “เบร็กซิต”

แนวคิดที่เจ้าของสโมสรในพรีเมียร์ลีก หรือลีกระดับรองของอังกฤษ ในการซื้อทีมฟุตบอลได้มากกว่า 1 ทีม เริ่มขึ้นในปี 2016 หลังจากสหราชอาณาจักร ลงประชามติขอออกจากสหภาพยุโรป หรือ “เบร็กซิต” (Brexit)

ซึ่งเบร็กซิต มีผลอย่างเป็นทางการแล้วตั้งแต่ปี 2021 เป็นต้นมา ทำให้ลีกฟุตบอลในสหราชอาณาจักร ต้องอยู่ภายใต้ระบบการคิดคะแนนเพื่อได้รับอนุญาตให้เข้ามาทำงาน หรือ GBE (Governing Body Endorsement)

สำหรับเกณฑ์การคิดคะแนน GBE นั้น จะดูจาก 3 หัวข้อ ประกอบด้วย สถิติการลงเล่นทีมชาติทั้งชุดใหญ่และชุดเยาวชน, สถิติการลงเล่นกับสโมสรทั้งในลีกและถ้วยยุโรป และเกรดของสโมสรที่ขายนักเตะให้

นักเตะที่เป็นเป้าหมายการซื้อตัว จะต้องได้คะแนนอย่างน้อย 15 คะแนนขึ้นไป จึงจะได้รับอนุญาตให้เป็นนักเตะใหม่ในเมืองผู้ดี ซึ่งถ้าหากเคยลงเล่นกับสโมสรใหญ่ใน 5 ลีกหลักของยุโรป จะได้เปรียบกว่าคนอื่น

แต่ถ้าหากนักเตะเป้าหมายได้คะแนนอยู่ในช่วง 10 – 14 คะแนน สโมสรมีสิทธิ์ยื่นอุทธรณ์ และต้องสามารถชี้แจงเหตุผลต่อคณะกรรมการได้ว่า นักเตะคนนั้นได้คะแนนไม่ถึง 15 คะแนน เพราะสาเหตุที่ควบคุมไม่ได้

จากผลกระทบของเบร็กซิต ทำให้เจ้าของสโมสรฟุตบอลในสหราชอาณาจักรบางกลุ่ม ได้ใช้วิธีแก้ปัญหาด้วยการซื้อทีมฟุตบอลมากกว่า 1 แห่ง ทั้งในและนอกยุโรป และอาจฝากเลี้ยงนักเตะดาวรุ่งจนกว่าจะอายุครบ 18 ปี

“คอนเน็คชั่น” ของทีมในอังกฤษ 

ใน 5 ลีกใหญ่ของยุโรป มีเจ้าของสโมสรฟุตบอลจำนวนคิดเป็น 32.7 เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมด ที่ใช้โมเดลการซื้อทีมฟุตบอลสะสมไว้ในเครือข่ายของตัวเอง โดยมีการเชื่อมโยงกันมากถึง 91 ทีม จาก 5 ทวีปทั่วโลก

การซื้อทีมฟุตบอลสะสมไว้ในเครือข่ายของตัวเอง จะเป็นการนำโครงสร้างพื้นฐานจากสโมสรแม่ ที่พิสูจน์แล้วว่าประสบความสำเร็จ ไปแชร์ให้กับสโมสรลูก เสมือนกับการไปเปิดสาขาธุรกิจแฟรนไชส์ข้ามชาติ

โดยพรีเมียร์ลีก อังกฤษ มี 9 สโมสรที่ใช้โมเดลมัลติ-คลับ ได้แก่ อาร์เซน่อล, เบรนท์ฟอร์ด, ไบรท์ตัน, คริสตัล พาเลซ, เลสเตอร์ ซิตี้, แมนเชสเตอร์ ซิตี้, น็อตติ้งแฮม ฟอเรสต์, เซาธ์แธมป์ตัน และเวสต์แฮม ยูไนเต็ด

ขณะที่ดิวิชั่นรองลงมาที่อยู่ภายใต้ EFL มีทีมที่ใช้โมเดลมัลติ-คลับ รวมกัน 9 ทีม ได้แก่คาร์ดิฟฟ์ ซิตี้, ควีนสปาร์ค เรนเจอร์ส, เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด, ซันเดอร์แลนด์, สวอนซี ซิตี้, วัตฟอร์ด, บาร์นสลี่ย์, อิปสวิช ทาวน์ และซัลฟอร์ด ซิตี้

สโมสรในพรีเมียร์ลีกที่มีพันธมิตรลูกหนังอยู่ในเครือข่ายของตัวเองมากที่สุด คือ แมนฯ ซิตี้ 10 ทีม ตามมาด้วยพาเลซ 8 ทีม ส่วนอีก 7 สโมสรที่เหลือ ต่างมีพันธมิตรสโมสรละ 1 ทีม รวมทั้งสิ้น 25 ทีม

ตัวอย่างจากแมนฯ ซิตี้ กับบริษัท City Football Group (CFG) ที่นอกจากจะมีเป้าหมายในการทำให้สโมสรนี้ครองความยิ่งใหญ่ในอังกฤษแล้ว ยังได้นำ “พิมพ์เขียว” ไปให้สโมสรอื่น ๆ ในเครือด้วย

วิธีการของ CFG คือ จะขอซื้อกิจการของสโมสรขนาดกลางหรือเล็ก ที่พิจารณาแล้วว่าสามารถเติบโตไปด้วยกันได้ จากนั้นจะปรับภาพลักษณ์สโมสรเหล่านั้นให้เข้ากับตัวตนของแมนฯ ซิตี้ ตามความเหมาะสม

จุดเด่นของการสร้างคอนเน็คชั่นแบบนี้ คือ สโมสรฟุตบอลจะสามารถแบ่งปัน หมุนเวียนทรัพยากรต่าง ๆ ที่มีอยู่ร่วมกัน ภายในเครือข่ายเดียวกัน เป็นการเพิ่มศักยภาพทั้งด้านฟุตบอล และธุรกิจไปพร้อมกัน

โดย CFG มีฐานข้อมูลขนาดใหญ่ สำหรับค้นหานักเตะอายุต่ำกว่า 18 ปี ซึ่งอาจส่งไปให้สโมสรลูกลงเล่นบนสนามแข่งขันจริงให้ได้มากที่สุด ถ้าฝีเท้าดี และอายุถึง 18 ปีเมื่อใด ก็เซ็นสัญญากับ “เรือใบสีฟ้า” ได้ทันที

และทีมฟุตบอลที่อยู่ภายใต้เครือข่าย CFG จะมีอำนาจในการตัดสินใจขายนักเตะเพื่อทำกำไรได้ ถึงแม้นักเตะจะไปไม่ถึงทีมชุดใหญ่ของแมนเชสเตอร์ ซิตี้ แต่อย่างน้อยที่สุดก็ได้ผ่านประสบการณ์จากสนามจริงมาแล้ว

ดาบสองคมของ “มัลติ-คลับ”

การสร้างอาณาจักรมัลติ-คลับ คือพลังที่มาพร้อมกับเม็ดเงินและโอกาสที่มากขึ้น อาจเป็นแนวทางที่ดีในปัจจุบันที่สโมสรอื่น ๆ อยากเลียนแบบบ้าง แต่อีกมุมหนึ่ง โมเดลนี้ก็อาจมีปัญหาที่ตามมาเช่นเดียวกัน

ประการแรก การที่สโมสรแม่ใช้แนวคิดแบบมัลติ-คลับ คือการดึงดูดสโมสรลูกให้เข้ามาเป็นพวกเดียวกันก็จริง แต่ต้องไม่ลืมว่า แต่ละสโมสรมีอัตลักษณ์ที่แตกต่างกัน และมีความเป็น “ท้องถิ่นนิยม” ที่สูงมาก

หากสโมสรแม่ไปปรับเปลี่ยนอะไรบางอย่างที่ไม่เข้าท่า หรือไม่ได้รับการยินยอมจากแฟนบอลของสโมสรท้องถิ่น อาจจะเกิดกระแสตีกลับ เปลี่ยนจากแรงสนับสนุน กลายเป็นแรงต่อต้านแบบคาดไม่ถึงก็เป็นได้

ฉะนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดของโมเดลฟุตบอลมัลติ-คลับ คือการรักษาสมดุลระหว่างผลประโยชน์ กับความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของแต่ละสโมสรเอาไว้ เพื่อช่วยให้สโมสรในเครือเดินหน้าไปด้วยกันได้อย่างราบรื่น

อีกประการหนึ่ง โมเดลมัลติ-คลับ จะประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับผลงานของสโมสรแม่ ถ้าช่วงเวลาหนึ่ง สโมสรแม่มาถึงช่วงไร้ความสำเร็จไปนาน ๆ อนาคตของสโมสรในเครือก็อาจจะไม่แน่นอนเช่นกัน

ไม่ว่าจะทำธุรกิจฟุตบอลแบบซิงเกิล-คลับ หรือมัลติ-คลับก็ตาม ต่างก็ต้องเจอกับปัญหา และอุปสรรคที่เข้ามาไม่ต่างกัน ซึ่งเจ้าของธุรกิจต้องใช้องค์ความรู้ที่มีอยู่ มาช่วยขับเคลื่อนวงการฟุตบอลอังกฤษให้เดินหน้าต่อไป

เรียบเรียง: จักรพันธ์ ภู่ทอง

อ้างอิง :

https://www.cityfootballgroup.com/

https://theathletic.com/3135274/2022/02/19/does-owning-multiple-clubs-actually-work/

https://theathletic.com/3610992/2022/09/21/multi-club-ownership-boehly-chelsea-city-football-group/

– https://theathletic.com/3554783/2022/09/06/brexit-transfers-clubs-work-permit/

– https://www.theguardian.com/news/2017/dec/15/manchester-city-football-group-ferran-soriano

https://www.independent.co.uk/sport/football/premier-league/inside-city-football-group-manchester-city-s-network-of-clubs-new-york-melbourne-girona-a7934436.html