ในยุคที่หลายสโมสรต้องดิ้นรนปรับตัวให้เข้ากับกฎการเงินของพรีเมียร์ลีก แต่วันอังคารที่ 2 เมษายน 2024 ที่ผ่านมา “ไบรท์ตัน แอนด์ โฮฟ อัลเบียน” สามารถประกาศผลกำไรประจำปีก้อนใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ลีกสูงสุดของอังกฤษ
ไบรท์ตันได้ประกาศตัวเลขผลกำไรหลังหักภาษีแล้วสำหรับซีซัน 2022-23 เป็นเงิน 122.8 ล้านปอนด์ กระโดดจาก 24.1 ล้านปอนด์สำหรับซีซัน 2021-22 ส่วนหนึ่งเนื่องจากได้เงินเป็นกอบเป็นกำจากการขายดาวดังของทีมอย่าง อเล็กซิส แมค อัลลิสเตอร์, อีฟส์ บิสซูมา, เลอันโดร ทรอสซาร์ และ มาร์ค กูกูเรยา รวมถึงได้รับเงินจากเชลซีที่ดึงตัวแกรห์ม พอตเตอร์ ไปคุมทีมเมื่อกันยายน 2022
แต่ตัวเลขดังกล่าวยังไม่รวมการขาย มอยเซส ไกเซโด และ โรเบิร์ต ซานเชซ ซึ่งย้ายไปเชลซีด้วยค่าตัว 115 และ 25 ล้านปอนด์ตามลำดับในตลาดซัมเมอร์ปีที่แล้ว เนื่องจากตัวเลขรายได้ถูกบันทึกสิ้นสุด ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2023
กระนั้นซีซันนี้ “เดอะ ซีกัลส์” ทำผลงานพรีเมียร์ลีกดร็อปลง กำลังลุ้นให้ติดท็อป-10 หลังจากซีซันที่แล้วจบด้วยอันดับ 6 ได้เล่นบอลถ้วยสโมสรยุโรป (ยูโรปา ลีก) เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ 123 ปีของสโมสร แต่ประเด็นที่นำเสนอไม่ใช่เรื่องในสนาม
โกยกำไรมหาศาลเพราะพอตเตอร์และขายนักเตะ
ทอตแนม ฮอตสเปอร์ เป็นเจ้าสถิติสูงสุดเดิม 113 ล้านปอนด์ ซึ่งทำไว้เมื่อซีซัน 2017-18 โดยแหล่งเงินหลักที่เพิ่มพูนขึ้นของ “เดอะ ลิลลีไวท์ส” มาจากรายได้เชิงพาณิชย์, ค่าเข้าชมนัดเหย้าที่เวมบลีย์ สเตเดียม ขณะที่สนามใหม่กำลังก่อสร้าง และเงินจากแชมเปียนส์ ลีก เมื่อเข้าถึงรอบน็อกเอาท์ แต่ไบรท์ตันมีแหล่งรายได้หลักผ่าต่างกัน
เริ่มจากเงินที่ขายผู้เล่น แมค อัลลิสเตอร์ไปลิเวอร์พูล, บิสซูมาไปสเปอร์ส, ทรอสซาร์ไปอาร์เซนอล และกูกูเรยาไปเชลซี ทั้งสี่สร้างกำไรรวมกันให้ไบรท์ตัน 121.4 ล้านปอนด์ สโมสรยังได้เงินชดเชยราว 21 ล้านปอนด์เมื่อเสียพอตเตอร์ให้ “เดอะ บลูส์” ขณะที่รายรับจากลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดเพิ่มขึ้นไม่มากนักจากซีซันก่อนหน้า 126.2 ล้าปอนด์เป็น 155.2 ล้านปอนด์
พอล บาร์เบอร์ ซีอีโอของสโมสร ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว ESPN ว่า ไบรท์ตันไม่ได้อยู่ในจุดที่จะสร้างรายได้เหมือนทีมใหญ่ๆ สนามเอเมกซ์มีความจุเพียง 32K เทียบกับ 75K ของแมนฯยูไนเต็ด และ 60K ของสเปอร์สกับอาร์เซนอล นั่นทำให้สโมสรต้องมองหาแหล่งรายได้ด้วยรูปแบบอื่นเช่น สปอนเซอร์, การเพิ่มคุณค่าแบรนดิ้ง, จำหน่ายสินค้าที่ระลึก ฯลฯ แต่สิ่งที่ไบรท์ตันให้น้ำหนักเป็นพิเศษคือโมเดล player-trading ด้วยการใช้อะคาเดมีพัฒนานักเตะแววดีมีอนาคตจากท้องถิ่น ผสมผสานกับแหล่งอื่นๆจากต่างประเทศที่ไม่มีสโมสรไหนให้ความสนใจนัก นั่นเท่ากับเปิดโอกาสให้ “ไบรท์ตันตกปลาในบ่อคนเดียว”
ตัวอย่างเช่น ไบรท์ตันเซ็นสัญญากับแมค อัลลิสเตอร์ เมื่อครั้งเป็นผู้เล่นอาร์เจนติโนส จูเนียร์ส ในปี 2019 ด้วยราคาเพียง 7ล้านปอนด์ แต่ทำกำไร 48 ล้านปอนด์จากการขายให้ลิเวอร์พูลในปี 2023 ด้วยราคา 55 ล้านปอนด์ หรือรายที่ไม่ได้อยู่ในผลประกอบการซีซัน 2022-23 คือ ไกเซโด ซึ่งซื้อจากอินดิเพนเดียนเต เดล วัลเล แค่ 4.5 ล้านปอนด์ในปี 2021 แต่ฟันกำไรเละถึง 110.5 ล้านอีก 2 ปีต่อมาหลังจากเชลซียอมทุ่มเงิน 115 ล้านปอนด์คว้าตัวไป
เจมส์ ออลลีย์ นักข่าวอาวุโสของ ESPN FC ให้ความเห็นว่า ไบรท์ตันดำเนินนโยบายซื้อผู้เล่นอายุน้อยด้วยต้นทุนต่ำ นำมาพัฒนาเป็นเวลาหลายปี และสามารถปล่อยขายในราคาน่าทึ่ง โดยสามารถย้อนกลยุทธ์นี้กลับไปยังปี 2017 เมื่อครั้งเพิ่งขึ้นมาเล่นพรีเมียร์ลีกในฐานะรองแชมป์แชมเปียนชิพ ซีซัน 2016-17 เป็นการคัมแบ็คสู่ลีกสูงสุดนับจากปี 1983
จากเดิมที่เคยเซ็นสัญญากับผู้เล่นอายุมากในอังกฤษเป็นหลัก ไบรท์ตันเปลี่ยนแนวทางไปซื้อนักเตะอายุน้อยลงจากตลาดเกิดใหม่ในต่างประเทศ โดยอ้างอิงจากเว็บไซต์ Transfermarkt “เดอะ ซีกัลส์” ใช้เงินสุทธิ 171 ล้านปอนด์ขณะพยายามหลงหลักปักฐานอย่างมั่นคงในพรีเมียร์ลีก และปรับเปลี่ยนสไตล์ฟุตบอลไปเน้นการครองบอลมากขึ้นแบบสโมสรชั้นนำยุคใหม่ ซึ่งเห็นอย่างเป็นรูปธรรมช่วงพอตเตอร์ (2019 – 2022) และโรแบร์โต เด แซร์บี (2022 – ปัจจุบัน) เป็นผู้จัดการทีม
แม้ช่วงแรกดูเหมือนไม่ใช่กลยุทธ์ที่ดีในการสร้างผลกำไรให้ไบรท์ตัน แต่เวลาที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ มีความชัดเจนแล้วว่าเป็นรูปแบบที่ได้ผล
จุดหักเหเมื่อเซียนโป๊กเกอร์เทคโอเวอร์สโมสร
นอกจากนี้ ออลลีย์ยังส่องลำแสงสปอตไลท์ไปยัง โทนี บลูม เจ้าของสโมสรวัย 54 ปี เจ้าของฉายา “The Lizard” ผู้เกิดในเมืองไบรท์ตัน เป็นเซียนไพ่โป๊กเกอร์ระดับอาชีพที่ผันตัวเองมาเป็นเจ้าพ่อวงการพนัน ซึ่งใช้การลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์และหุ้นเอกชนส่งตัวเองกลายเป็นมหาเศรษฐี
บลูมซื้อหุ้นไบรท์ตันสูงถึง 75% เมื่อปี 2009 และปล่อยสินเชื่อปลอดดอกเบี้ย 406.5 ล้านปอนด์ให้สโมสรนำไปใช้บริหารโดยปีนี้เพิ่งเป็นครั้งแรกที่ไบรท์ตันสามารถจ่ายหนี้คืนให้เจ้าของสโมสรได้ ซึ่งเป็นเงิน 32.2 ล้านปอนด์ ไม่เพียงไม่คิดดอกเบี้ยและไม่กำหนดระยะเวลาใช้หนี้ บลูมยังไม่มีข้อกำหนดเบื้องต้นเกี่ยวกับจำนวนผู้เล่นหรือตัวเลขเงินในการซื้อขายแต่ละตลาด
คีแรน แมคไกวร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินในวงการลูกหนัง ให้สัมภาษณ์กับ ESPN ว่า โทนี บลูม เป็นทรัพย์สินก้อนใหญ่ที่สุดของไบรท์ตัน ทุกคนที่เคยทำงานด้วยจะตระหนักดีว่าบลูมมีวิสัยทัศน์มากเพียงใด เขาจึงเป็นคนที่เข้าใจถึงคุณค่าและผลประโยชน์ของการลงทุนระยะยาว “สิ่งสำคัญคือ หนึ่ง บลูมเป็นแฟนบอลของสโมสร และสอง เขาเป็นทั้งอัจฉริยะและมหาเศรษฐี”
บริษัทพนัน/บริการข้อมูลอยู่เบื้องหลังความสำเร็จ
ก่อนหน้าเทคโอเวอร์ “เดอะ ซีกัลส์” บลูมยังก่อตั้ง Starlizard บริษัทรับพนันกีฬาเมื่อปี 2006 ซึ่งเวลาต่อมาได้เติบโตขึ้นมาเป็นฐานข้อมูลขนาดยักษ์ที่บรรจุข้อมูลนักฟุตบอลหลายพันคนทั่วโลก
เดวิด เวียร์ ผู้อำนวยการเทคนิคของไบรท์ตัน พูดถึงสตาร์ลิซาร์ดว่า ตัวเขาไม่รู้ตัวเลขของฐานข้อมูลแน่ชัดแต่เชื่อมั่นมันครอบคลุมนักเตะเกือบทั้งหมดที่เล่นระดับอาชีพในทุกลีกทั่วโลก และเช่นกัน เขาไม่รู้อัลกอรึธึมของสตาร์ลิซาร์ดทำงานอย่างไรในการแยกแยะจัดหมวดหมู่ผู้เล่นเพราะมันเป็นความลับ
เวียร์อธิบายต่อว่า มันเป็นเพียงตัวกรองที่ช่วยให้สโมสรสามารถเห็นตัวผู้เล่นที่มีความสามารถตามต้องการตั้งแต่เนิ่นๆ สิ่งสำคัญคือ output ซึ่งช่วยให้สโมสรสามารถทำงานกับกลุ่มผู้เล่นที่มีจำนวนไม่มากนัก
กลุ่มนักเตะที่ได้รับการคัดเลือกผ่านอัลกอรึธึมของสตาร์ลิซาร์ดไม่ได้เริ่มต้นที่ภูมิศาสตร์แต่เป็นตำแหน่งการเล่น แมวมองจะได้รับรายชื่อที่ต้องคอยเฝ้าจับตามองและส่งรายงานผลกลับไปยังสโมสร โดยใช้สีไฟสัญญาณจราจรเป็นตัวจำแนกว่าเป้าหมายคนไหนเข้ากับระบบของไบรท์ตันมากน้อยเพียงใด
บาร์เบอร์ ซีอีโอของไบรท์ตัน ขยายความส่วนนี้ว่า โดยภาพรวมทุกอย่างเริ่มต้นจากตำแหน่งการเล่น ไม่ใช่มองหานักเตะแววดีแต่ไม่เป็นที่ต้องการของสโมสร โดยจะโฟกัสนักเตะตามตำแหน่งที่ต้องการจริงๆ แมวมองจะตรวจสอบข้อมูล โปรไฟล์ และบุคลิกภาพส่วนตัว จากนั้นโค้ชจะเป็นผู้เลือก จัดอันดับว่าใครเป็นตัวเลือกแรกและคนสุดท้าย สโมสรจะไม่นำเข้านักเตะที่โค้ชไม่ต้องการหรือมองว่าไม่มีความจำเป็น เพราะจะเป็นการเสียเงินไปเปล่าๆหากได้มาแล้วไม่ได้เล่นหรือถูกใช้งาน
แต่ก็มีสถานการณ์ที่สโมสรลงทุนเพื่ออนาคต และโค้ชชุดใหญ่ยังไม่ต้องการ ก็สามารถใช้สิทธิ “คัดค้าน” ซึ่งผู้เล่นจะถูกปล่อยยืม 1-2 ปี เมื่อพร้อมกลับมาร่วมทีมชุดใหญ่ ก็มีโอกาสไม่น้อยที่หัวหน้าโค้ชจะให้ความสนใจกับพวกเขา
บาร์เบอร์กล่าวต่อว่า โมเดลของไบรท์ตันคือ ใช้แมวมองจำนวนน้อย แต่เน้นหนักด้านวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อระบุตัวผู้เล่นที่คุณสมบัติเหมาะสมและตรงกับสิ่งที่โค้ชร้องขอมากที่สุด แมวมองต้องพร้อมเดินทางไปทุกที่ที่เป้าหมายเล่นอยู่ และไม่จำเป็นต้องเป็นตลาดยอดนิยมของฟุตบอลสมัยใหม่ก็ได้อย่างอาร์เจนตินา, บราซิล, สเปน หรืออิตาลี เพราะสำหรับไบรท์ตันแล้วอาจเป็นเอกัวดอร์, ปารากวัย, เบลเยียม หรือชาติเล็กๆในลีกยุโรป
แมคไกวร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินในวงการลูกหนัง ให้มุมมองว่า รูปแบบการทำงานดังกล่าวทำให้ไบรท์ตันต้องทำงานด้วยความฉลาดขึ้นและทำการบ้านหนักขึ้น อีกทั้งต้องไม่ลืมว่าฟุตบอลเป็นอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันและลอกเลียนแบบสูง สโมสรอื่นๆจะสังเกตเห็นความสำเร็จของไบรทัตัน และพยายามมองหานักเตะแววดีที่ดิบเพื่อนำมาขัดเกลาด้วยโมเดลการทำงานที่เหมือนไบรท์ตัน แถมบ่อยครั้งสโมสรเหล่านั้นอยู่ในฐานะที่จะเสนอค่าจ้างที่สูงกว่า แม้ไม่สามารถนำเสนอเส้นทางพัฒนาฝีเท้าในแบบที่ไบรท์ตันมีก็ตาม
Succession planning ยืดเวลาความสำเร็จของไบรท์ตันโมเดล
อย่างไรก็ตาม สโมสรฟุตบอลไม่ใช่บริษัทเอกชนที่แสวงหาผลกำไรจากการซื้อมาขายไป แต่ความสำเร็จและความบันเทิงที่มอบให้กับแฟนบอลมีความสำคัญไม่แพ้กัน แล้วไบรท์ตันมีแนวคิดอย่างไรที่จะรักษามาตรฐานฟอร์มการเล่นบนสนามแข่งขันได้หลังจากเสียผู้เล่นสำคัญคนแล้วคนเล่า
ซีอีโอสโมสรเป็นผู้ให้คำตอบนี้ว่า “การวางแผนสืบทอดตำแหน่ง” (Succession planning) เป็นกุญแจดอกสำคัญ
บาร์เบอร์ล่าว่า บนเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนตัว เขามีเอกสารเพียงฉบับเดียว ซึ่งบรรจุรายชื่อของผู้ที่จะเข้ามาทำหน้าที่ตำแหน่งสำคัญๆในสโมสร เจ้าของสโมสรเคยบอกว่า การแต่งตั้งตำแหน่งหรือการตัดสินใจครั้งสำคัญของเขามีเพียงเรื่องเดียวคือ ไล่หัวหน้าโค้ชออก ซึ่งเขาจะเป็นคนรับผิดชอบเอง “ส่วนอีก 25 ตำแหน่งรองลงมาอยู่ในความรับผิดชอบของผม”
ไบรท์ตันใช้การวางแผนสืบทอดตำแหน่งกับผู้เล่นด้วย บาร์เบอร์ขยายความว่า มีการจัดทำแผนผังนักเตะชุดใหญ่ 25 คน และมีนักเตะชุด ยู-21 อยู่ข้างล่าง ถ้าเสียกูกูเรายา แล้วใครจะมาแทน … เปร์บิส เอสตูปิญญัน, ถ้าเสียทรอสซาร์ ทีมมีคาโอรุ มิโตมะ รองรับ ถ้าเสียบอสซูมา ทีมมีไกเซโด ถ้าเสียไกเซโด ทีมมีคาร์ลอส บาเลบา
Succession planning เป็นแนวคิดที่ไบรท์ตันกระจายใช้ทุกภาคส่วนของสโมสร ซึ่งซีอีโอ “เดอะ ซีกัลส์” มองว่ามันไม่ได้สลับซับซ้อนยุ่งยากเหมือนแผนการสร้างจรวด แล้วก็ไม่ได้เลอเลิศถึงขั้นได้รับรางวัลโนเบล มันเป็นเพียงแผนทางธุรกิจธรรมดาๆ องค์กรหรือหน่วยงานดีๆนอกวงการฟุตบอลต่างใช้มัน แต่พอกับแวดวงฟุตบอล กลับไม่ใช่เรื่องปกติธรรมดา ซึ่งบาร์เบอร์ยอมรับว่าเขาไม่เข้าใจเหมือนกันว่าเพราะอะไร
แมคไกวร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินในวงการลูกหนัง ให้ทรรรศนะถึงความต่อเนื่องของทีมฟุตบอลหลังสูญเสียผู้เล่นดีๆไป โมเดลของไบรท์ตันก็เป็นการกระทำซ้ำแนวทางของสโมสรอื่นๆเช่นกัน อย่างเช่นเซาแธมป์ตันเมื่อ 1 ทศวรรษที่แล้ว ทีมนักบุญมีแกเรธ เบล, อดัม ลัลลานา, เวอร์จิล ฟาน ไดค์ และคนอื่นๆ ซึ่งย้ายไปเล่นให้ทีมอื่น
แต่เซาแธมป์ตันปล่อยนักเตะพรสวรรค์ออกไปแล้วไม่สามารถแทนที่ด้วยนักเตะระดับเดียวกันภายในช่วงเวลาหนึ่ง ในที่สุด “เดอะ เซนต์ส” ก็ต้องตกชั้นในปี 2023 อย่างไรก็ตามแมคไกวร์มองว่า สิ่งที่ไบรท์ตันแตกต่างจากเซาแธมป์ตันคือ โทนี บลูม และประโยนชน์ที่ได้รับจากสตาร์ลิซาร์ด ซึ่งเป็นบริการภายในของสโมสร หากรูปแบบนี้ยังดำเนินต่อไป อาจทำให้ไบรท์ตันได้เปรียบในการแข่งขันระยะยาว ถึงกระนั้นไม่ได้หมายความว่าสิ่งนี้จะไม่มีจุดสิ้นสุด
ผลกระทบหลังเสียแมค อัลลิสเตอร์และไกเซโด
เวลาจะเป็นตัวเฉลบคำตอบ เช่นเดียวกับไบรท์ตันตัดสินใจขายแมค อัลลิสเตอร์ และไกเซโดออกไปเมื่อฤดูร้อน 2023 ซึ่งไม่ต้องสงสัยเลย มันทำให้ทีมของเด แซร์บี อ่อนแอลง ไม่สามารถซ้ำรอยความสำเร็จในฤดูกาล 2022-23 ได้ ผลงานเป็นตัวชี้ชัด
บาร์เบอร์ให้เหตุผลถึงเรื่องนี้ว่า “การขาย ณ เวลาที่เหมาะสมต้องอาศัยความกล้าหาญระดับหนึ่ง บางครั้งมันก็ง่าย ซัมเมอร์ที่แล้วเป็นตัวอย่างที่ดี ไกเซโดและแมค อัลลิสเตอร์ เป็นผู้เล่นสำคัญที่ช่วยให้ไบรท์ตันจบอันดับ 6 และผ่านเข้าไปเล่นยูโรปา ลีก นั่นส่งให้มูลค่าของนักเตะ ณ เวลานั้นพุ่งขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ความสนใจจากทีมอื่นๆก็เช่นกัน ดังนั้นเราจึงตัดสินใจกระทำการลงไป”
มองไปยังซัมเมอร์ปีนี้ บิ๊กทีมกำลังให้ความสนใจผลผลิตของไบรท์ตันอย่างกองหน้า อีวาน เฟอร์กูสัน และกองกลาง บาเลบา ซึ่งอย่างน้อยก็มีจำนวนเพียง 2 คน ขณะที่เด แซร์บี ตกเป็นข่าวเชื่อมโยงกับบาเยิร์นและแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด รวมถึงเป็นบุคคลหนึ่งที่อาจคุมทีมแมนเชสเตอร์ ซิตี ต่อจากเป๊ป กวาร์ดิโอลา แต่กระนั้น “เดอะ ซีกัลส์” ยังมั่นใจว่าโค้ชมือดีชาวอิตาเลียนยังจะทำงานให้สโมสรต่ออีกระยะหนึ่ง ซีซันหน้าเป็นอย่างน้อย
ขณะเดียวกัน อะคาเดมีพยายามรักษามาตรฐานการทำงานในการส่งต่อความหวังอย่างเฟอร์กูสัน, กองหลัง แจค ฮินเชลวูด, กองหน้า มาร์ก มาโฮนีย์, กองกลาง คาเมรอน พีปิออน และกองหลัง โอเดลูกา ออฟฟิอาห์ ซึ่งล้วนแต่ได้รับการโปรโมทขึ้นไปเล่นให้ทีมซีเนียร์แล้ว รวมถึงเบน ไวท์ อดีตผลผลิตของไบรท์ตัน เป็นกำลังสำคัญของอาร์เซนอลตอนนี้
เวียร์ ผู้อำนวยการเทคนิคของไบรท์ตัน ให้สัมภาษณ์ทิ้งท้ายว่า “ทีมชุดใหญ่พัฒนาตัวอย่างไปอย่างรวดเร็วมาก ดังนั้นอะคาเดมีจะต้องไล่ตามรุ่นพี่ๆให้ทัน การดูแลช่องว่างระหว่างทั้งสองถือเป็นงานท้าทาย เรามีสิ่งอำนวยความสะดวกที่วิเศษเหลือเชื่อ เราต่างลงเรือลำเดียวกัน และเปี่ยมด้วยความทะเยอะทะยานสู่สิ่งนั้นไ นั่นทำให้ผมเชื่อว่า บางสิ่งจะเกิดขึ้นในที่สุดผ่านกระบวนการออสโมซิส”
หมายเหตุ : ออสโมซิส (osmosis) เป็นกระบวนการแพร่โมเลกุลของเหลวหรือน้ำผ่านเยื่อเลือกผ่าน จากบริเวณที่มีความเข้มข้นของน้ำมาก ไปยังบริเวณที่มีความเข้มข้นของน้ำน้อย และกระจายไปจนกว่าโมเลกุลของน้ำจะเท่ากัน ออสโมซิสก่อให้เกิดพลังงาน และสามารถสร้างแรงได้
เรียบเรียง : ฐปน วันชูเพลา (Senior Football Writer)
Senior Football Editor