Categories
Football Tactics

เจาะการยิง “ลูกพร้อม” อันลือลั่น ครั้งนี้สาธิตให้ชมโดย ธิอาโก อัลคันทารา

ผมน่าจะได้ดู “ช็อตยิง” จังหวะนี้ของ ธิอาโก อัลคันทารา ประมาณ 100 ครั้ง และได้คุยกับยอดโค้ชเมืองไทยหลายคนว่าควรจะเรียกการยิง (ลูกวอลเลย์) ลักษณะนี้ว่าอย่างไรดี?

มองเร็ว ๆ มันเหมือนพวกเราสมัยเด็กน้อย หยิบก้อนหินแบน.ๆ หรือแผ่นกระเบื้องมาขว้างเฉือน ๆ ให้สัมผัสผิวน้ำแล้วกระดอน ๆ ๆ พุ่งไปข้างหน้านะครับ

สวยงาม เพราะหาก “ปาหิน” ได้จังหวะ ได้เหลี่ยมมุม ถูกต้อง วิถีการพุ่ง และลักษณะการสัมผัสผิวน้ำจะสะเทิ้นสะท้านสวยงาม รวดเร็ว พุ่งตรง

จังหวะวอลเลย์นี้ที่เรียกเป็นภาษาฟุตบอลว่า “Half Volley” หรือภาษาบ้าน ๆ หน่อยว่า “ลูกพร้อม” ก็ไม่ต่างกันครับ

กล่าวคือ จะต้องยิงทันทีที่บอลกระดอนขึ้นจากพื้นหญ้า ณ จุดที่ลูกบอลยังลอยไม่สูงมากนัก และจริง ๆ แล้วก็เป็น “เทคนิค” อันหนึ่งที่ผู้รักษาประตูชอบใช้ (จะเรียกว่า Drop Kick) เพราะบอลจะพุ่งเร็วสู่เป้าหมายได้ทันที และคำนวณได้ว่า จะเอา แรง+เร็ว ประมาณไหน (จะดีกว่า โยนแล้วเตะ แน่นอน)

อย่างไรก็ดี การยิงครั้งของ ธิอาโก ไม่ใช่แค่ยิงทันทีที่บอลกระดอนขึ้นมาเล็กน้อยแบบธรรมดา ๆ แต่ยังเป็นการใช้หลังเท้า “ยิงตัด” ลูกบอลครึ่งบนในลักษณะเฉือนสไลด์ติดไซด์นิด ๆ แล้วยังกดเท้าลงอีกด้วย (ไม่นับที่ว่า น่าจะมีเทคนิคการเปิดบอลแบบ Low Drive เข้ามาผสมด้วย – ไว้ผมจะมาพูดถึงภายหลัง)

หรือคือ ทำประมาณอย่างน้อย 3 – 4 เทคนิคกับเท้า และลูกบอล• นั่นคือ ความชำนาญที่ฝึกฝน และเป็นทั้งทักษะ และเทคนิคเฉพาะตัวที่เกิดขึ้นหลังจากทักษะเบื้องต้น นั่นคือ การต้องอ่านจังหวะบอลได้ดีมาก ๆ และคำนวณระยะการตก, การกระดอน, มุม-องศา-ทิศทาง ของลูกบอลตั้งแต่จังหวะสกัดแล้วลอยบนอากาศ แล้วตกลงพื้น แล้วมุมที่จะเล็งเพื่อปล่อยเท้าสู่เป้าหมาย

โอ้ววว แม่เจ้า! ต้องพูดดีเทลกันแบบนี้เลยจริง ๆ ครับ ไม่งั้นมันไม่เห็นภาพที่แท้จริง

เหมือนคนใกล้เหตุการณ์อย่าง เพื่อนร่วมทีม อิบู โคนาเต หรือโจเอล มาติป ปรากฎภาพในโซเชียลทำท่ากุมศรีษะอย่างไม่เชื่อสายตาในสิ่งที่ได้เห็น

ขอบคุณรูปภาพจาก : https://web.facebook.com/ThailandLiverpoolFC

ขณะที่นักเตะปอร์โต ต้องใช้คำว่า “stun” แน่นิ่ง ชะงักงันไปทั้งทีม

คำถามอื่น ๆ ยังมี เช่น บอลที่ยิงออกไปแท้จริงแล้วกระดอนโดนผืนหญ้าไหม? เพราะได้เห็นวิถีบอลพุ่งลง แล้วลอยสะเทิ้นขึ้นอีกครั้งก่อนเสียบโคนเสา ดิโอโก คอสตา ที่ไม่มีทางจะเซฟได้

ฟลุ๊ค หรือจังหวะพอดี หรืออย่างไร? เยอร์เกน คลอปป์ ก็ได้ตอบแล้วว่า เคยเห็นธิอาโก้ทำอยู่ในสนามซ้อม ในรายละเอียดอื่น ๆ ที่น่าสนใจก็ เช่น

ดาวเตะวัย 30 ปีจริง ๆ ยืนอยู่ไลน์สุดท้ายในเกมรับ (ถัดไปก็ อลิสซงแล้ว) นอกจอทีวีจากจังหวะเริ่มต้น ฟรีคิกทางฝั่งขวาของ อเล็กซ์ ออกซ์เลด-แชมเบอร์เลน แต่แบบที่บอกครับว่า “อ่านจังหวะ” โหม่งสกัดไม่ดีของปอร์โต้แล้วพุ่งเข้ามาจนเพื่อน ๆ รุ่นน้องที่อยู่ใกล้กว่า อย่าง เนโก วิลเลียมส์ และคอสตาส ซิมิกาส ต้องหลบกระเจิงให้

นั่นแสดงว่า “สมอง” ธิอาโก คำนวณ เลือกโหมดการเล่น และบันทึกภาพการทำประตูนี้ไว้ล่วงหน้าหมดแล้ว

ใครจะแสดงความชื่นชม หรือความเห็นเพิ่มเติมก็จัดมาได้เลยนะครับ

หรือจะ “ขยี้” อีกนิด คือ ธิอาโก ยังมี “เทคนิคพิเศษ” อื่น ๆ ที่ใช้ประจำอีกมาก เช่น ใช้เท้าเหยียบจับบอลแล้วแตะในจังหวะเดียวในลักษณะเดียวกับนักฟุตซอล, การใช้ข้างเท้าด้านนอกจ่ายบอลเสมอ ๆ (หลัง ๆ นักเตะหงส์คนอื่น ๆ ก็เล่นตามเยอะนะ), ลูกชิพเปิดบอลยาวหลากหลายรูปแบบ เช่น Low Drive (พอล ป๊อกบา เป็นอีกคนที่ใช้บ่อย), จังหวะ half turn ตอนจะรับบอล

ขอบคุณรูปภาพจาก : https://web.facebook.com/ThailandLiverpoolFC

อย่างไรก็ดี จะให้ดี ธิอาโก อัลคันทารา ต้องมีความสม่ำเสมอ และผสมผสานเทคนิค และทักษะอันงดงามเหล่านั้นให้เกิด “ผลลัพธ์” มากกว่านี้ และเจ็บให้น้อยลง

เพื่อ “ศักยภาพสูงสุด” ของเขาจะไม่พุ่งขึ้น และตกลงเหมือนพลุไฟ แต่จะเป็นเหมือน “ดาว” ที่ลอยค้างฟ้าเป็นตำนานสโมสรได้ต่อไปมากกว่าครับ

✍☕ณัฐวุฒิ ประเทืองศิลป์

🙏ขอบคุณข้อมูล : โค้ชน้อย อนันต์ อมรเกียรติ, โค้ชนพ นพพร เอกศาสตรา, โค้ชแดง ทรงยศ กลิ่นศรีสุข, โค้ชใหม่ เจตนิพัทธ์ รชตเฉลิมโรจน์ และโค้ชโจ ธีระศักดิ์ โพธิ์อ้น

Categories
Football Tactics

เจาะกลยุทธ์ Positional Play เบื้องหลังแท้จริงในชัยชนะของทีมสีฟ้า แห่งเมือง แมนเชสเตอร์

เหมือนเดิมทุก ๆ วันจันทร์ในช่วงนี้ ผมจะมีโอกาสได้คุยกับคุณวาว จารุวัฒน์ พริบไหว ทางเพจตุงตาข่าย ในเรื่องเกี่ยวกับแท็คติกส์ฟุตบอลที่เรา 2 คนเลือกมามองจากเกมสุดสัปดาห์ในมุมที่ “ย่อยง่าย” และสามารถอธิบายให้เข้าใจได้พอเป็นสังเขปซึ่งวีคนี้ คือ เรื่อง Positional Play ที่แมนเชสเตอร์ ซิตี้ กระทำการใส่ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ครับ >>> bit.ly/3sRqMiH

ขอบคุณรูปภาพจาก : https://web.facebook.com/mancity

ความหมายของ Positional Play ให้แปลแบบเป๊ะ ๆ อาจมองไม่เห็นภาพได้เท่ากับให้ผมอธิบายผ่านแท็คติกส์อย่างน้อย 3 – 4 ประการที่ เป๊ป กวาร์ดิโอลา และเด็ก ๆ แสดงให้เห็นในเกมนี้:

1. การเพิ่มจำนวนผู้เล่น หรือ overload จำนวนผู้เล่นเข้าไปในพื้นที่ฝั่งขวาของทีมปิศาจแดงฟาก แอรอน วาน บิสซากา ที่แม้ แอนโธนี เอลังกา จะถอยลงมาช่วย และมีสกอตต์ แม็คโทมิเนย์ กับวิคตอร์ ลินเดอเลิฟ ประจำการอยู่ก็ไม่ไหว เพราะฝั่งนี้ซิตี้เติมมาทั้ง แจ็ค กริลิช, แบร์นาโด ซิลวา, False 9 ฟิล โฟเดน ตามหลังโดย เจา คานเซโล ไม่นับ อายเมอริค ลาปอร์ต หรือโรดรี้ ที่ยืนประคองสถานการณ์

ขอบคุณรูปภาพจาก : https://web.facebook.com/mancity

การ overload ด้วยจำนวนผู้เล่นทำให้การรุก (ขณะมีบอล) ผู้เล่นซิตี้ที่ได้บอลจะมีชอยส์อย่างน้อย 2 (สามเหลี่ยม) หรือ 3 ชอยส์ (สี่เหลี่ยม – ไดมอนด์) เสมอ ๆ อันทำให้การจู่โจม เข้าทำ มีประสิทธิภาพ และได้เปรียบ

ไม่นับการเคลื่อนที่ของผู้เล่นที่ขยับตัวตลอดเวลา เป็นอิสระ และไม่เป็นเป้านิ่งให้เกิดการประกบตัว หรือคิดจะประกบตัวก็ยาก เพราะจำนวนคนน้อยกว่า

ประตู 1-0 หรือ 2-1 ตอบโจทย์สิ่งนี้เป็นอย่างดี และตัวเลขเกือบ 50% ของการขึ้นบอลเกิดจากฝั่งนี้ หรือเป็น 2 เท่าของการขึ้นเกมตรงกลาง และฝั่งขวาของสนามที่มี ริยาด มาห์เรซ ประจำการอยู่

2. อย่างไรก็ดี ไม่ได้หมายความว่า มาห์เรซ มีประโยชน์น้อย แต่นี่คืออีก แท็คติกส์สำคัญของการเล่น Postional Play นั่นคือ การใช้ตัวผู้เล่นที่มีความสามารถเผชิญกับคู่แข่งที่มีความสามารถน้อยกว่าโดยตรงไปเลย

กรณีนี้ เป๊ป อาจมองว่า อเล็กซ์ เทลเลส ไม่น่าจะ 1 v 1 ปะทะกับดาวเตะอัลจีเรียได้โดยตรง การ isolate มาห์เรซ ไว้ในพื้นที่ว่างฝั่งขวาเสียเลยจึงเป็นแท็คติกส์ที่วางไว้

ครับ จริง ๆ แล้ว หากแผน A หรือคือ การเจาะฝั่งซ้ายด้วยการ overload ผู้เล่นไม่ประสบความสำเร็จ หรือคือไม่สามารถเจาะไปถึงเส้นหลัง หรือเข้ากรอบเขตโทษฝั่งนั้นแล้วเปิด cut back หรือยิง หรือเปิดเสาสองกลับมาได้

การเปลี่ยนแกน switching play ไปจบอีกฝั่งกับมาห์เรซ ที่จะต้องว่าง หรือได้ปะทะตรงกับเทลเลสที่แม้เจ้าตัว กับเพื่อน ๆ จะเคลื่อนที่ตามมา ทว่าหากมาห์เรซ จับบอลแรกได้เยี่ยม หรือบอลถูกเปิดมาเพอร์เฟคต์

การป้องกันจะไม่ง่าย

หรือหากขยับมาป้องกันไม่ทัน มาห์เรซ ก็จะว่างให้สร้างสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ตลอดเวลาไม่เว้นแม้แต่ลูกตั้งเตะ เช่น คอร์เนอร์ที่ได้ประตู 3-1 หรือก่อนหน้านั้นฟรีคิกที่มีโอกาสยิงข้ามคาน

ขณะเดียวกัน หากมาห์เรซ เคลื่อนที่ไปเรื่อย ๆ และใช้ความสามารถ ความเข้าใจในการใช้พื้นที่ว่างทั้งระหว่างไลน์ และหลังไลน์ ประตูก็อาจเกิดขึ้นได้ เช่น 4-1 อันเป็นการเคลื่อนที่ไปรับบอลหลังไลน์ได้อย่างยอดเยี่ย

ขอบคุณรูปภาพจาก : https://web.facebook.com/mancity

3. การเคลื่อนที่แบบ “เข้าใจ” ในการใช้พื้นที่ว่าง เช่น ระหว่างไลน์, หลังไลน์, ระหว่างตัวผู้เล่น หรือไปบริเวณ half space คือ ศาสตร์ชั้นสูงของนักเตะที่ต้องเป็นระดับ elite players จริง ๆ และต้องเป็นนักเตะที่ได้รับการโค้ชอย่างถูกต้องดังที่ เป๊ป พูดล่าสุดหลังเกมถล่มปิศาจแดงนัดนี้ว่า ทักษะ ความสามารถโน่นนี่ มันมาจากท้องพ่อท้องแม่แล้ว แต่เขามีหน้าที่ทำให้นักเตะเหล่านี้เล่นได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดก็เท่านั้น

เควิน เดอ บรอย แมน ออฟ เดอะ แมตช์ เกมนี้ คือ เจ้าพ่อคนหนึ่งที่เข้าใจในพื้นที่ว่าง (แน่นอนว่าเขาจะต้องเข้าใจการเล่น positonal play อย่างถ่องแท้) และมีความสามารถเฉพาะตัวในการรับบอลไม่ว่าจะ half turn หรือรับแล้วไปทันที หรือไปกลับบอลอย่างรวดเร็ว หรือเปลี่ยนสปีด ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดเหล่านี้กับบอลจะเป็นการเจาะทะลุทะลวงพื้นที่ว่างในเกมรับของแมนฯยูฯทั้งนั้น และจะ disorganise เกมรับโดยรวมให้พังอย่างราบคาบได้

ขอบคุณรูปภาพจาก : https://web.facebook.com/mancity

แบร์นาโด ซิลวา ก็เก่งฉกาจเช่นกันในการลากเลื้อยเจาะพื้นที่ว่าง และครอบครองบอล ขณะที่เพื่อน ๆ ซึ่งรู้หน้าที่จะเคลื่อนตัวไปที่ว่างด้านหน้าเพื่อรับบอลตามหลักไปเพิ่มจำนวน หรือทยอยเติม (เพื่อเพิ่มจำนวนไปเรื่อย ๆ)

กรีลิช โดดเด่นมากในเกมนี้กับจังหวะเวลาที่ใช้แบบไม่มาก หรือน้อยไปกับลูกบอล และเล่น combination กับเพื่อน ๆ ทางฝั่งซ้ายได้ดี และนี่ถือเป็นนัดที่ดาวเตะ 100 ล้านปอนด์เล่นได้ดีที่สุดในฤดูกาลกับซิตี้ แม้จะยิง หรือ assist ไม่ได้ แต่ความเข้าใจใน positional play แบบที่เป๊ปต้องการนั้นมาแล้ว

คนอื่น ๆ คานเซโล, โฟเดน, วอลค์เกอร์, สโตนส์, ลาปอร์ต หรือกระทั่ง เอแดร์สัน ที่รายหลังจะเป็นตัวเลือกเสมอให้เซนเตอร์ฯ อยู่ในสถานการณ์ 3 v 2 ไม่ใช่ 2 v 2 เพราะสามารถขยับมาเล่นบอล รับบอล ออกบอล ด้วยเท้าได้ ต่างเข้าใจความหมาย และผ่านการฝึกซ้อม postional play มาจนภาพโซนต่าง ๆ ในสนามอยู่ในหัวหมดแล้ว และทราบว่าจะแก้ “หน้างาน” กันอย่างไรในภาวะต่าง ๆ

4. รวมแล้ว postional play ต้องเข้าใจพื้นที่, เข้าใจเรื่องการเพิ่มจำนวนผู้เล่นในพื้นที่ที่ต้องการ และต้องมีคุณภาพของผู้เล่นที่พร้อมจะทำได้

ความสมบูรณ์แบบที่สุดของการเล่นแบบนี้เกิดขึ้นในครึ่งหลังที่ซิตี้ครองบอลได้กว่า 70% และ 15 นาทีสุดท้ายที่ครองบอลได้ถึง 92%

ดังนั้น อย่าแปลกใจที่ สกอตต์ แม็คโทมิเนย์ โต้กลับ รอย คีน ประมาณว่า ไม่ได้ลงมาเล่นไม่รู้หรอกหลังโดนอดีตกัปตันทีมตนเองบ่นว่า ใจไม่สู้ ยอมยกธงขาว หรือมี 5-6 คนไม่คู่ควรจะใส่เสื้อสีแดง แมนฯยูฯ

ด้วยก็เพราะ postional play มันทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์จากการแก้เกมของเป๊ปในครึ่งหลัง

ขณะเดียวกัน สิ่งดีงามที่แฟนปิศาจแดง ควรจะ “ยืดอก” ยอมรับ และทำความเข้าใจก็คือ ในมุมของโค้ช เราได้เห็นสิ่งที่ ราล์ฟ รังนิค พยายามจะทำผ่านการจัดตัว และรูปแบบวิธีการเล่น โดยเฉพาะ 30 นาทีแรก

การใช้ พอล ปอกบา และบรูโน แฟร์นันเดซ ยืนเสมือนเป็นคู่หน้าตัวบน และรับสูง และเพรสซิ่งสูง คล้าย ๆ ระบบ 4-2-4 เพราะต้องการใช้ 4 ตัวบนเพรสซิ่งไม่ให้แมนฯซิตี้ออกบอลแรกจากแดนตัวเองได้ มันมีที่มาที่ไป และมี “เหตุผล” เพียงพอ

ส่วนตัว ผมจะพอใจมากกว่าที่ได้เห็นอะไรแบบนี้ คือ ได้เห็น แมนฯยูฯ กับรูปแบบพยายามบุก พยายามเล่นเพรสซิ่ง และโต้เร็ว โดยดันสูง รับสูง ตามแบบฉบับทีมใหญ่

และก็ต้องยอมรับว่าทำได้ดีแม้เพียงครึ่งชั่วโมง แต่ก็ทำให้เห็นถึงความพยายามอันนั้น

ดังนั้น ได้โปรด อย่า “ถอยหลัง” กลับไปไหน แพ้ก็แพ้ (เพราะยังไงก็ไม่ได้เจอซิตี้ทุกวีค) แต่มันคือ บทเรียน มันคือ จุดเริ่มต้น

ได้โปรดอย่าไปเล่นรับแล้วโต้ หรือเกมนี้เล่นแบบนั้น เกมนั้นจะเล่นแบบนี้ แต่ให้มุ่งไดเรกชั่นนี้ไปเลย หรือจะซื้อผู้เล่นใหม่ก็ต้องเป็นคาแรกเตอร์ที่เล่นแบบนี้ได้

เพราะหากมันจะเจ็บ มันก็ต้องเจ็บ และทั้งซิตี้เอง หรือลิเวอร์พูล ต่างผ่านช่วงเวลาแบบนี้มาแล้วเหมือนกัน

ครับ สรุปอีกที เกมนี้เราได้เห็นโคตรการเล่น positonal play ที่สมบูรณ์แบบในครึ่งหลังจากแมนฯซิตี้ และได้เห็น “แสงสว่าง” ในครึ่งแรกจากแมนฯยูไนเต็ดครับ

โชคดีนะ แฟน ๆ เมืองแมนเชสเตอร์ สีฟ้าแดง จากใจแฟนสีแดงจากเมืองลิเวอร์พูลครับ

🙏 ปล.ขอบคุณ โค้ชน้อย อนันต์ อมรเกียรติ อาจารย์ผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ฟุตบอลให้ผมมาต่อยอดนะครับ

☕ ณัฐวุฒิ ประเทืองศิลป์

Categories
Football Tactics

สรุป 4 วิธี การดูฟุตบอลขั้นพื้นฐานอย่างเข้าใจ

หัวข้อนี้เป็น 1 ในหัวข้อ Football Tactics ที่ผมให้น้ำหนักค่อนข้างมาก และมองว่าเป็น “เทมเพลท” สำคัญสำหรับทุก ๆ คนในการจับประเด็นเพื่อดูบอลในเชิงวิเคราะห์เกมการแข่งขันที่สามารถนำไปต่อยอดพัฒนาทักษะการอ่านเกมให้ได้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไปในอนาคตได้อีกด้วย

ข้อมูลครั้งนี้ ผม “เรียบเรียง” มาจากเนื้อหาโดย “โค้ชน้อย” อนันต์ อมรเกียรติ อดีตกุนซือทีมชาติไทย, สโมสรธนาคารกรุงเทพ, ผู้อำนวยการอคาเดมี สโมสรพัฒนา เอฟซี ฯลฯ ในอดีต ที่ได้เขียนบันทึกไว้ด้วยลายมือท่านเองมาฝากกันครับ

“โค้ชน้อย” อนันต์ อมรเกียรติ อดีตกุนซือทีมชาติไทย, สโมสรธนาคารกรุงเทพ, ผู้อำนวยการอคาเดมี สโมสรพัฒนา เอฟซี ฯล

โดยท่านอาจารย์ได้เรียบเรียงองค์ความรู้ไว้ 4 ข้อสำหรับการดูฟุตบอลเบื้องต้นให้เข้าใจได้ง่าย ๆ ไว้ดังนี้ :

1. ดูการเล่นเกมรุก

ข้อนี้ไม่ได้แปลว่า ได้บุก ได้ยิง ได้เลี้ยง ได้ส่ง ได้ครองบอลมากมาย ได้ฟรีคิก ฯลฯ เท่านั้น แต่โดยหลัก ๆ ที่ต้องดูแบบพื้นฐานประกอบด้วย : 

1.1 รูปแบบการรุก เช่น ถนัดเล่นลูกสั้น หรือยาว, ชอบเจาะตรงกลาง หรือริมเส้น, ค่อย ๆ สร้างเกม หรือเล่นเร็วทางลึกไปข้างหน้าทันที, มีโต้กลับ (เคาน์เตอร์แอทแทค) ด้วยไหม

1.2 การประสานงานของตำแหน่งต่าง ๆ เป็นอย่างไร ประมาณว่า มีชิ่งหนึ่งสอง, มีการเล่นสามเหลี่ยม/สี่เหลี่ยม หรือการทดแทนตำแหน่งกันหรือไม่ การวิ่งตัวเปล่า การวิ่งทะลุช่อง หรือใช้รูปแบบใดบ้างในการเคลื่อนบอลไปข้างหน้า

1.3 การเคลื่อนที่ของผู้สำคัญ เช่น เพลย์เมคเกอร์ หรือกองหน้า ว่ามีบทบาทอย่างไรในเกม อยู่ตรงไหนของสนาม มีแท็คติกส์อะไร เช่น False 9, Inverted Full Back, การใช้พื้นที่ half space ฯลฯ

1.4 เริ่มสร้างเกมรุกแบบไหน ตั้งแต่ผู้รักษาประตูแล้วค่อย ๆ บิ้วท์บอลแรกมาที่กองหลังขึ้นไปกองกลาง หรือกองหน้า หรือยาวไดเร็กต์จากหลังไปหน้าเลย ทำกันเร็ว หรือช้า, มีการเปลี่ยนสปีดหรือไม่ มีใครรวดเร็ว ทักษะดี เลี้ยงกินตัว หรือ 1 ต่อ 1 ได้ดีไหม

1.5 วางกำลังในแต่ละแดน หลัง กลาง หน้า อย่างไร? กี่คน? ระบบอะไร? และใช้ผู้เล่นรุกกี่คน? เคลื่อนตัวข้ามสู่แดนฝั่งตรงข้ามกี่คน? และไลน์รับสุดท้ายอยู่บริเวณใดของสนามขณะรุก

2. ดูการเล่นเกมรับ

เช่นกัน ไม่ใช่ว่า ดูแค่รับเหนียวแน่น สกัดเก่ง สไลด์แม่น โหม่งไกล เพราะพูดแบบนี้ก็จะง่ายไปหน่อย ทั้งนี้หลัก ๆ ที่ต้องมองคือ :

2.1 รับแบบคุมโซน (ดูแลพื้นที่) หรือประกบแมน ทู แมน (คุมคน)

2.2 มีการเช็คไลน์ออฟไซด์หรือไม่

2.3 มีการเพรสซิ่งไหม หรือหากมีต้องดุว่า เริ่มเพรสซิ่งตั้งแต่เมื่อไหร่ เช่น ตั้งแต่แดนหน้าเลยโดยกองหน้า หรือปล่อยมาเพรสซิ่งในแดนกลาง หรือค่อยมาไล่ในแดนหลัง และทำตลอดเวลา หรือเน้นบริเวณใดเป็นพิเศษไหม

2.4 ยืนรับต่ำขนาดไหน เช่น รับที่เส้นเขตโทษ 18 หลา หรือขยับมาเส้น 35 หลา (ระหว่างกลางสนาม และเส้นเขตโทษตัวเอง) และที่ว่างระหว่างไลน์กองกลัง กองกลาง และกองหน้า “สมดุล” หรือเท่ากันหรือไม่ และยังต้องพิจารณาด้วยว่า มีจำนวนผู้เล่นที่อยู่หน้าบอล หรือหลังบอลกี่คนในเวลาตั้งรับ

2.5 การคืนตำแหน่ง หรือรักษาสมดุลตำแหน่งเป็นอย่างไร ทำได้เร็ว หรือช้า ไม่ว่าจะเจอคู่แข่งใช้การรุกแบบใดก็ตามจากข้อ 1 

3. การเปลี่ยนจากรับเป็นรุก หรือรุกเป็นรับ (Transitional Play)

จากรับเป็นรุกหลัก ๆ ก็เพื่อจะทำการเคาน์เตอร์แอทแทค โดยต้องดูว่า บอลแย่งได้แล้วส่งให้ใครคนแรก, บอลสองไปหาใคร, ใครเป็นตัวเป้า ใครเป็นตัวพักบอล ใครเป็นตัวที่มีความเร็วสูงสุด

ทำกันเร็วไหม เพราะการโต้กลับที่สมบูรณ์ เช่น ประตู 4-1 โดยคิเลียน เอ็มบับเป้ ยิงให้ฝรั่งเศสออกนำอาร์เจนติน่าใช้เวลาประมาณ 10 วินาทีอันเป็นเวลาเฉลี่ยของการทำเคาน์เตอร์แอทแทคที่ดี หรือ 9.8 วิ.ประตูที่เบลเยียมยิงดับฝัน 3-2 ทีมชาติญี่ปุ่นตกรอบ 16 ทีมสุดท้ายในวินาทีสุดท้าย (ผมเขียนครั้งแรก ขณะมีบอลโลก 2018) นอกจากนี้ก็ต้องมองว่า ใครเป็นผู้เล่นสำคัญซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้เล่นที่มีความเร็ว จากรุกเป็นรับ หรือก็คือหลังจากบุกแล้วเสียการครองบอล สิ่งที่ต้องมองคือ เสียบอลแล้วมีการเพรสซิ่งเอาบอลคืนทันที หรือไม่เพรสซิ่ง แต่ใช้วิธีรีบคืนตัวกลับมาเล่นรับในตำแหน่งตัวเอง

ที่สำคัญ คือ หากไม่เพรสจะสามารถกลับมาเล่นรับในตำแหน่งได้ทันเวลาหรือไม่ เพราะแน่นอนว่า หากทำได้ไม่ดี โอกาสโดนโต้กลับจนเสียประตูย่อมเกิดขึ้นได้

4. ลูกตั้งเตะต่าง ๆ

ไม่ว่าจะเป็นไดเร็กต์ฟรีคิก คือ ยิงได้เลยในระยะหวังผล หรือจุดโทษ (ที่ต้องศึกษาวิธียิงของมือสังหาร หรือวิธีรับของนายทวาร) หรือโดยอ้อม เช่น อาจจะผ่านลูกเตะมุม ลูกเปิดกินเปล่าจากระยะไกลเข้ากรอบเขตโทษ

สิ่งที่ต้องมองคือ ใครเป็นผู้เล่นหลักในกรอบเขตโทษ, ใครคนเปิดฟรีคิกประจำ ถนัดเท้าใด และใช้เทคนิคการเปิดแบบใด รูปแบบการป้องกัน และโจมตี, ลักษณะการประกบเป็นคุมพื้นที่ หรือคุมคน

การสื่อสารในกรอบเขตโทษเป็นอย่างไร ผุ้รักษาประตูถนัดกับการออกมาตัดลูกกลางอากาศแค่ไหน ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่า แม้จะสามารถทำการรุก หรือรับ หรือมีฝึกจังหวะ Transition ได้ดีแล้ว แต่หากไม่เก่งฉกาจ และเชี่ยวชาญในลูกตั้งเตะ การเสียประตูโดยไม่จำเป็นก็จะเกิดขึ้นอย่างน่าเสียดาย

ในทางกลับกัน โอกาสทำประตูมากมายก็เกิดขึ้นจากลูกตั้งเตะนี่เอง

ครับ ทั้งหมดนี้ 4 หัวข้อ: รุก, รับ, รุกเป็นรับ/รับเป็นรุก และลูกฟรีคิกต่าง ๆ คือ 4 ประเด็นหลักที่สามารถใช้วิเคราะห์รูปแบบวิธีการเล่น วิธีคิดทำให้อ่านกลยุทธ์ กลวิธี รวมถึงแบบแผนการเล่นของคู่แข่ง หรือใช้วิเคราะห์ทีมตัวเองด้วยก็ได้

โดยในเกมฟุตบอลปัจจุบัน การ “แมวมอง” (Scouting) คู่แข่งขันแล้วประเมินความสามารถ เจาะวิเคราะห์วิธีการเล่น วิธีคิดของฝั่งตรงข้ามออกได้ คือ สิ่งสำคัญ เหมือนรู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง

ฟุตบอลสมัยใหม่จึงมีอาชีพ นักวิเคราะห์แมตช์แข่งขัน และเท่าที่ทราบมา ลีกไทยเราเอง บรรดาทีมชั้นนำน่าจะมีบุคคลากรตำแหน่งนี้กันทั้งสิ้นในทีมใหญ่ ๆ แต่ส่วนใหญ่อาจจะเป็นชาวต่างชาติ บุคคลในตำแหน่งนี้ที่อาจเรียกว่าเป็นฝ่าย “เทคนิค” ของทีมที่จะช่วยแบ่งเบาภาระโค้ชตัวจริงได้มาก

เพราะลำพังโค้ชคนเดียวไม่สามารถทำหน้าที่ทุกอย่างโดยลำพังได้แล้วในฟุตบอลอาชีพที่เป็นมาตรฐานสูงแบบปัจจุบัน หลายทีมอาจใช้ทีมสตาฟฟ์ค่าตัวถูกกว่า แต่ต้องอาศัยเครื่องมือ เครื่องวัดอื่น ๆ มาช่วย เช่น อัดวิดีโอ ไว้ศึกษาวิเคราะห์แต่ละเกม แล้วขึ้นหน้าจอให้ผู้เล่นดู หรือซื้อบริการข้อมูลสำเร็จรูปในการวิเคราะห์เกมนัดต่อนัดมาประกอบการวางแผนการเล่นในทุกนัด

แต่หากเป็นทีมที่พร้อมจริง ๆ แต่ละนัดผู้ที่ทำหน้าที่นี้จะมองออกอย่างเร็วภายใน 15 นาที และเตรียมวิดีโอไว้เปิดให้ผู้เล่น กับโค้ชได้แก้เกมทันควันระหว่างพักครึ่งเวลาได้เลย

รายละเอียดจริง ๆ ของมืออาชีพจะมีเยอะกว่านี้มาก แต่เบื้องต้น 4 ข้อในวันนี้ คือ อย่างน้อย “พื้นฐาน” การมองฟุตบอลแบบพอจะมี “ครู” และหลักการพื้นฐานให้จับได้บ้างในการชมเกมฟุตบอล 90 นาทีในแต่ละนัดที่ผมหวังว่าจะช่วยยกระดับอรรถรสการชมฟุตบอลของทุก ๆ คนได้นะครับ

(ปรับปรุงข้อมูลจากเพจช้างศึก 6 ก.ค.2018)

ณัฐวุฒิ ประเทืองศิลป์

Categories
Football Tactics

ทุกมิติกับบทบาทของกองหน้า “False 9”

ก่อนจะพักเบรกทีมชาติ “ฟีฟ่าเดย์” รอบนี้ มีคำพูดหนึ่งที่ยังก้องติดหูผมอยู่ก็คือ เควิน เดอ บรอย พูดเกี่ยวกับเกมบุกชนะ 2-0 ของแมนฯซิตี้เหนือแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ในโอลด์ แทรฟฟอร์ด ทำนองว่า เป๊ป กวาร์ดิโลนา ไม่แน่ใจทีมปิศาจแดงจะมาไม้ไหน เล่นแบบใด ก็เลยไม่ได้เตรียมการอะไรพิเศษในการรับมือ

แต่ผมก็เชื่อว่า ลึก ๆ ในการเปลี่ยนไป เปลี่ยนมาของ โอเล กุนนาร์ โซลชา มันไม่ได้มีอะไรใหม่ หรือเกินความคาดหมาย แต่มันแค่ ไม่มีอะไรแน่นอนเท่านั้นเองในรูปแบบการเล่นไม่กี่แบบ และยิ่งน้อยรูปแบบเข้าไปอีกหากจะมองว่า รูปแบบไหนทำงานได้เวิร์กกับทีมชุดนี้

สุดท้าย แมนฯยูฯ ใช้ระบบ “แบ็คทรี” เหมือนที่ชนะสเปอร์ส แต่ต่างตรงไม่มี ราฟาเอล วาราน ซึ่งเป็น “คาแรกเตอร์” สำคัญที่สุดของผู้เล่นตำแหน่งนี้ เนื่องจากอ่านเกมดี (ทำให้ตัดสินใจได้ดี) มีความเร็ว และออกบอลด้วยเท้าได้

แมนฯซิตี้ ปรับทั้ง “หน้างาน” และก่อนเกมหลังทราบแผนการนี้ได้ดีมากด้วยการใช้บริการแท็คติกส์ False 9 แบร์นาโด ซิลวา ขนาบด้วย ฟิล โฟเดน และกาเบรียล เฆซุส

ประเด็น คือ โซลชา ใช้เซนเตอร์ฮาล์ฟ 3 คน: บาญี่-ลินเดอเลิฟ-แม็คไกวร์ เรียงจากขวาไปซ้าย แต่ปรากฎว่า ทั้ง 3 หน่อไม่มีกองหน้าให้ประกบเนื่องจาก ซิลวา ไม่ได้ยืนแบบ “Lone Striker” หรือกองหน้าตัวเป้า ขณะที่โฟเดน และเฆซุส ก็ไม่ได้หุบในเข้ามาหาพื้น Half Space ที่ควบคุมโดย บาญี่ และแม็คไกวร์

มันจึงไม่ต่างอะไรกับการที่ทีมปิศาจแดง “พ่ายแพ้” ตั้งแต่ยังไม่เตะด้วยแท็คติกส์ 3 เซนเตอร์ฯเสียฟรี ไม่มีตัวประกบ หรือไม่ได้ถูกวางแผนมาว่า จะยอมเสียใครสัก 1 ใน 3 เซนเตอร์ฯเพื่อตาม ซิลวา

ขณะที่วิงก์แบ็ค ฟาน บิสซากา และชอว์ ที่ควรจะต้องเติมก็โดนขึงไว้โดยโฟเดน กับเฆซุส

ดังนั้นแดนกลาง 3 คน: แฟร์นันเดซ-แม็คโทฯ-เฟรด จึงโดนรุมกระจายสิครับโดยอย่างน้อย 3 มิดฟิลด์ซิตี้พ่วงด้วย แบ็คหุบใน (Inverted Full Back) ทั้งกานเซโล กับวอล์คเกอร์

รวมแล้ว ทุกพื้นที่ในแดนปิศาจแดงถูก overload โดยนักเตะแมนฯซิตี้ทุกหย่อมหญ้า

สุดท้ายทันทีในครึ่งหลัง เจดอน ซานโช ก็ต้องลงมาแทน เอริค บาญี่ และทัพปิศาจแดงปรับเป็น “แบ็คโฟร์” อันแสดงให้เห็นว่า สูตรที่ใช้ได้ดีกับสเปอร์ส ใช้อะไรไม่ได้เลยกับแมนฯซิตี้

ด้วยเพราะ “บทบาท” หรือ job description ของนักเตะกองหน้า False 9 ที่จะเล่นบนพื้นที่ระหว่าง “ไลน์รับ” (ในที่นี้ คือ “แบ็คทรี” แมนฯยูฯ กับ 2 ฟูลแบ็คที่โดนกดจนกลายเป็น “แบ็คไฟว์”) กับ “ไลน์มิดฟิลด์” อันเป็นอาณาเขตต้องห้ามกว้างประมาณ 8-10 หลาทำให้มิดฟิลด์ไม่กล้าทิ้งพื้นที่ตัวเองลงไปประกบ ขณะที่เซนเตอร์ฯ ก็ไม่กล้าหนีตำแหน่งทำให้ไลน์รับยืนเพี้ยนจากเพื่อนเช่นกันไม่ว่าจะแบ็คโฟร์ หรือแบ็คทรี

แบร์นาโด ซิลวา ได้แมน ออฟ เดอะ แมตช์ ครับเกมนี้จากหลายสำนัก

ทีนี้ ผมได้ให้ทีมเรียบเรียงบทบาทเรื่อง False 9 ที่มีการแปลเป็นไทยไว้บ้างว่า “กองหน้าตัวหลอก” แต่ผมไม่ชินนักจาก coachesvoice และโค้ชน้อย อนันต์ อมรเกียรติ เอาไว้มาฝากกันพอสังเขป เป็นอีกหนึ่งคอนเทนท์ Football Tactics จากทางเพจนะครับ ลองไปติดตามกันครับ

อะไรคือ False 9

False 9 คือ กองหน้าตัวกลางที่เคลื่อนตัวต่ำลงเพื่อเข้าหาบอลจากตำแหน่งที่อยู่สูงกว่าในแดนบน (แนวรุก) และเป็นการเคลื่อนตัวลงต่ำเพื่อรับบอลตรงกลางแบบนี้บ่อยครั้ง โดยจุดประสงค์หลักของการเคลื่อนตัว คือ การหนีเซนเตอร์แบ็คเข้ารับบอลในพื้นที่ว่างระหว่างไลน์ และในการทำเช่นนั้น ก็เพื่อดึงผู้เล่นฝั่งตรงข้ามอาจจะเซนเตอร์แบ็ค หรือมิดฟิลด์ออกจากตำแหน่ง และปั่นป่วนการเล่นเกมรับของคู่ต่อสู้ รวมถึงสร้างประโยชน์ให้ทีมตัวเองจากการกระทำนั้น

คำว่า False 9 มาจากไหน?

เชื่อกันว่าตำแหน่ง False 9 ถูกใช้ครั้งแรกโดยสโมสรโครินเธียนส์ (ไม่ใช่สโมสรบราซิลนะครับ แต่เป็นทีมสมัครเล่นที่โด่งดังที่สุดในยุคนั้นของเกาะอังกฤษ) ในช่วงปลายทศวรรษ 1890 ตอนนั้น จีโอ สมิธ กองหน้าตัวเป้า (ชาวอังกฤษ) มักจะออกบอลทะลุให้ปีก และช่วยสร้างโอกาสให้ปีก หรือตัวริมเส้นมีบทบาทเข้าทำมากขึ้น นั่นจึงเป็นการเปลี่ยนแปลงธรรมเนียมการเล่นของกองหน้าจากการยืนในตำแหน่งที่สูงที่สุดไว้ก่อนเป็นมีบทบาทช่วยเหลือเพื่อนร่วมทีมในแนวรุกมากขึ้น

ตัวอย่างเพิ่มเติม ได้แก่ ริเวอร์เพลท ในทศวรรษ 1920 ซึ่งกองหน้าตัวเป้าทำหน้าที่เป็น “ผู้ควบคุมเกม” ในแดนหน้า 5 คนในขณะนั้น ในช่วงทศวรรษที่ 1930s มัตธิอัส ซินเดอลาร์ ถูกใช้เป็นศูนย์หน้าที่ “ดร็อปตัวเอง” ลงต่ำในทีมชาติออสเตรีย ต่อมา นันเดอร์ ไฮเด็กกูติ และ ปีเตอร์ ปาโทลาส ถูกใช้ในลักษณะเดียวกันกับทีมฮังการีที่มีชื่อเสียงในช่วงทศวรรษ 1950s

อย่างไรก็ตาม ‘ฟอลต์ ไนน์’ เป็นคำที่ใช้ในยุคปัจจุบันเท่านั้น แนวความคิดคือกองหน้าอาจมีหมายเลข 9 อยู่บนหลังเสื้อก็จริง แต่กลับย้ายตัวเองไปเล่นอยู่ในตำแหน่งเหมือนไม่มีกองหน้าที่แท้จริงอยู่ตรงนั้น นั่นคือพื้นที่ที่มักจะไม่พบหมายเลข 9 (พื้นที่ระหว่างไลน์)

ความรับผิดชอบในการเล่น ‘ฟอลต์ ไนน์’ คืออะไร?

ความรับผิดชอบที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งสำหรับ False 9 คือ การเคลื่อนตัวออกจากเซ็นเตอร์แบ็คฝั่งตรงข้ามเพื่อรับบอลระหว่างแนวรับ กับมิดฟิลด์ ทั้งในช่วงที่ครองบอลต่อเนื่อง หรือระหว่างทีมครอบครองเกม หรือเป็นตัวเชื่อมไปยังกองหน้าระหว่างการโต้กลับ (Transition จากไม่มีบอล หรือรับ เป็นรุก) การเคลื่อนที่ไปสู่ตำแหน่งที่ต่ำกว่านั้นอาจทำให้กองหลังของฝ่ายตรงข้ามมีปัญหาว่าจะตามไปประกบ หรือปล่อยให้พวกเขาอยู่ในช่องว่างนั้นต่อไป ดังนั้น หากผู้เล่นในตำแหน่ง False 9 ทำเกมได้ในจังหวะที่ถูกต้องก็อาจทำให้เกิดความหายนะในเกมรับฝั่งตรงข้ามได้ เพราะเขามักจะฟรีจากการโดนประกบนั่นเอง

False 9 ระดับท็อป จำเป็นต้องมีความตื่นตัวเป็นพิเศษ และมีความสามารถในการสแกนพื้นที่ว่างระหว่างไลน์ หรืออาจจะ pocket (พื้นที่ระหว่างผู้เล่นด้วยกัน) ในสนาม ด้วยวิธีนี้ พวกเขาจะรู้ว่าต้องสัมผัสบอลครั้งแรกที่ไหนเพื่อหลีกเลี่ยงการโดนเพรสซิ่งจากฝ่ายตรงข้าม โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากด้านหลัง สิ่งนี้จะช่วยให้พวกเขาย้ายเข้าไปอยู่ในพื้นที่ว่างได้อย่างสะดวกสบายเพื่อเชื่อมต่อบอลทำเกมกับเพื่อนร่วมทีมได้สะดวกโยธิน• นอกจากนี้ยังเป็นสิ่งสำคัญสำหรับ ผู้เล่น False 9 ที่จะทำงานได้หลากหลาย และมีทักษะในการครองบอล เช่น การเลี้ยงเปลี่ยนทิศทาง หลอกล่ออย่างรวดเร็ว ทักษะการไปกับบอลที่ยอดเยี่ยม และต้องมีทักษะการจบสกอร์ด้วย

False 9 นั้นแตกต่างจากศูนย์หน้าจริง ๆ แบบดั้งเดิมในเวลาที่ทีมครอบครองบอล แต่ขณะไม่มีบอล หรือเล่นเกมรับ False 9 และศูนย์หน้าแบบดั้งเดิมนั้นทำหน้าที่คล้ายกัน

ยามรับ คือการต้อง เคาน์เตอร์ เพรสซิ่ง หรือกดดันเพื่อแย่งชิงบอลกลับมาด้วยการเสมือนเพิ่มจำนวนผู้เล่นมิดฟิลด์เพื่อ overload ให้ทีมมีประสิทธิภาพในการเพรสซิ่งดีขึ้น และช่วยบีบให้ฝ่ายตรงข้ามเล่นบอลได้เฉพาะด้านกว้าง

หรือต้องเป็นฝ่ายตั้งรับค่อนข้างเยอะ False 9 (เช่น เลอันโดร ทรอสซาร์ด ในเกมกับไบร์ทตัน กับลิเวอร์พูล) ยังสามารถช่วยสกรีนไม่ให้บอลจ่ายไปถึงมิดฟิลด์ หรือคอยทำหน้ากดดันเซนเตอร์แบ็คที่จะออกบอลแรก ได้ด้วย

ใครคือตัวอย่าง False 9 ที่ดีที่สุดบ้าง?

ลิโอเนล เมสซี

ลิโอเนล เมสซี ถูกใช้อย่างโด่งดังในฐานะ False 9 สมัยการคุมบาร์เซโลนาของ เป๊ป กวาร์ดิโอลา เนื่องมาจากความสามารถของเขาในการรับ-จ่ายบอล ระหว่างพื้นที่แดนกลาง และแดนหลังฝั่งตรงข้าม เขาสามารถพลิกตัว และแทงทะลุ รวมถึงการไปกับบอลด้วยการเลี้ยงบอลอันยอดเยี่ยม เมสซีเก่งฉกาจในการรับบอลแบบ ฮาล์ฟเทิร์น นั่นทำให้เขาสามารถสร้างตัวตนในพื้นที่ด้วยการถอยตัวเองลงมาต่ำแล้วพลิก และสามารถพาบอลจี้ไปที่เซ็นเตอร์แบ็คได้ อีกทางหนึ่ง ถ้าเขาถูกตามด้วย 1 ในเซ็นเตอร์แบ็ค เขาก็เลี้ยงบอลหนีความกดดัน และมองหาปีกซึ่งมักจะอยู่ในแนวหน้าที่ขึ้นไปทดแทนตำแหน่งหมายเลข 9 ที่ว่างลงไปได้ ปีกเหล่านี้ออกสตาร์ทในตำแหน่งริมเส้นเสมอ ก่อนจะวิ่งเข้าไปในพื้นที่ว่างระหว่างกองหลังเพื่อทำเกมบุก

เชส ฟาเบรกาส

เชส ฟาเบรกาส ได้ถูกใช้เป็น False 9 กับบาร์เซโลนาภายใต้การคุมทีมของ ตาตา มาร์ติโน และในทีมสเปน ชุดคว้าแชมป์ ยูโร 2012 ภายใต้ บิเซนเต เดล บอสเก โดยฟาเบรกาสถูกใช้เป็นส่วนใหญ่ เพราะความสามารถในการเล่นบอลภายใต้ความกดดันในพื้นที่ระหว่างไลน์ อีกทั้งตำแหน่งของฟาเบรกาสยังทำให้กองกลางฝ่ายตรงข้ามมักจะตามมาประกบ หรือพยายามสกัดกั้นการจ่ายบอลให้เขาจนเกิดช่องว่างให้เพื่อนร่วมทีมอย่าง เซร์คิโอ บุสเกสต์, ชาบี เอร์นานเดซ และ อันเดรียส อิเนียสตา – ทั้งในระดับสโมสร และประเทศ – เล่นได้ง่ายขึ้น คอนโทรลเกมได้เนียนขึ้น โดยเฉพาะการเจาะเข้าแดนสุดท้ายคู่แข่ง

คาริม เบนเซมา

คาริม เบนเซมา ได้แสดงให้เห็นคุณลักษณะของ ฟอลต์ ไนน์ ในบางครั้งตลอดอาชีพค้าแข้งของเขาที่เรอัล มาดริด แต่โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้การคุมทีมของ ซีเนอดีน ซีดาน การดร็อปตัวไปยังตำแหน่งด้านข้าง เปิดโอกาสให้นักเตะอย่าง คริสเตียโน โรนัลโด หรือแกเร็ธ เบล ได้พุ่งไปรับบอลบนในพื้นที่ที่สูงกว่าเพื่อเข้าทำได้อย่างตื่นตาตื่นใจบ่อยครั้ง

ใครอีกบ้างที่เป็นตัวอย่างของ False 9?

แฮร์รี เคน ภายใต้การคุมทีมของ โชเซ มูรินโญ่ แห่ง ท็อตแนม ฮอตสเปอร์ และภายใต้ แกเร็ธ เซาธ์เกต แห่งทีมชาติอังกฤษ

โรแบร์โต ฟีร์มิโน ที่เล่นให้ ลิเวอร์พูล ภายใต้ เจอร์เกน คล็อปป์

ฟรานเชสโก ต็อตติ เล่นให้กับ อาแอส โรมา ภายใต้การคุมทีมของ ลูเซียโน สปัลเล็ตติ

คาร์ลอส เตเบซ เล่นให้กับ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ภายใต้การคุมทีมของ เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน

ไมเคิล เลาดรูป ภายใต้การทำทีมของ โยฮันน์ ครอยฟ์ ที่บาร์เซโลนา

โยฮันน์ ครอยฟ์ ภายใต้การทำทีมของ ไรนุส มิเชล ที่ อาแจ็กซ์ อัมสเตอร์ดัม

ราฮีม สเตอร์ลิง, แฟร์รัน ตอร์เรส, แบร์นาร์โด ซิลวา, เควิน เดอ บรอยน์ และ อิลกาย กุนโดกัน ฯลฯ ล้วนเล่นบทบาทนี้ให้กับแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ภายใต้ เป๊ป กวาร์ดิโอลา

ประโยชน์ของการเล่น False 9 คืออะไร?

การดร็อปตัวลงของ False 9 จะช่วยสร้างพื้นที่ในแนวรับฝ่ายตรงข้ามให้เกิดขึ้น เพราะหากเซนเตอร์ฮาล์ฟตามมาเพรส พื้นที่ก็จะเกิดขึ้นด้านหลังให้เพื่อนร่วมทีมของเรา โดยปกติแล้วก็จะเป็นกองหน้าริมเส้น หรือมิดฟิลด์ตัวรุก ที่จะวิ่งพุ่งเข้าไป

หรือถ้าฟูลแบ็คหุบเข้ามา เพราะเซนเตอร์ฯ ตาม False 9 ไป พื้นด้านข้างก็จะว่างให้มิดฟิลด์ หรือกองหน้าตัวริมเส้นได้เล่นโดยง่าย

หรือหากไม่มีใครตามมา กองหน้า False 9 ก็จะจับบอล ครองบอล และเล่นกับบอลได้โดยง่ายในพื้นที่ระหว่างไลน์นั้น

หรือมิดฟิลด์ดร็อปตัวลงไปช่วยประกบ False 9 ผู้เล่นมิดฟิลด์ของเราก็จะเข้าไปครอบครองแดนกลางฝ่ายตรงข้ามได้ รวมความแล้ว หากมีนักเตะที่เข้าอกเข้าใจในหน้าที่นี้ False 9 จะมีคุณประโยชน์ในหลากหลายมิติการเล่นที่ยากจะป้องกัน

อะไรคือข้อเสียในการเล่น ฟอลต์ ไนน์?

การเล่น False 9 จำเป็นต้องมีกองหน้าคนทำหน้าที่นี้ที่ครองบอลได้อย่างดีเยี่ยม และไปกับบอลได้ดีภายใต้ความกดดันระหว่างพื้นที่แนวรับ และแนวมิดฟิลด์คู่แข่ง หากปราศจาก (ความเข้าใจ และความสามารถ) นั้น False 9 ก็จะไร้ประโยชน์ นอกจากนี้ การมี False 9 หมายความว่าจะไม่มีการโจมตีหลังไลน์รับของฝ่ายตรงข้ามทันทีจากตรงกลาง ดังนั้น กองหลังฝั่งตรงข้ามอาจจะมีความกดดันที่ลดลง

นอกจากนี้การดร็อปตัวของ False 9 ยังอาจทำให้ เชนเตอร์แบค ฝั่งตรงข้ามมีงานที่เบาลงตามไปด้วย เพราะบอลครอสส์จากด้านข้างเข้าตรงกลางจะไม่มีหน้าเป้าเข้าทำโดยตรง (เช่น เฟียร์มิโน ดังนั้นจึงต้องชมเชยว่า โชตา แก้ปัญหานี้ได้ดี)

และหากฝ่ายตรงข้ามตั้งกองหลังไว้สามคน พวกเขามักจะสามารถจัดการพื้นที่ตรงกลางได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นเมื่อเผชิญหน้ากับ False 9 เพราะกองหลังคนใดคนหนึ่งจะตามไปประกบได้โดยทิ้งอีก 2 คนไว้แบบไม่เสียหาย (ยกเว้น เคส แมนฯยูไนเต็ด 0 – 2 แมนฯซิตี้ ที่ผ่านมา!!!)

เรียบเรียง: ณัฐวุฒิ ประเทืองศิลป์ และสมศักดิ์ จันทวิชชประภา

ข้อมูล: อนันต์ อมรเกียรติ และ Coachesvoice

Categories
Football Tactics

คลอปป์ถึงพอตเตอร์ : เขามีครบทุกอย่างที่ยอดโค้ชจะต้องมี เป็นนักคิดค้น และนักแสวงหา

คลอปป์ใช้คำว่า พอตเตอร์ มี all you need หรือมีครบ และเลือกคำได้สวยว่า innovator ที่ผมแปลว่า นักคิดค้น แทนนวัตกร และ advanturous ผมไม่ได้แปลว่า ผจญภัย แต่เลือกคำว่า แสวงหา (หนทางใหม่ ๆ ในการทำทีม)

คู่ควร และเหมาะสมครับกับ 2 เกมดี ๆ ผ่านแมนฯซิตี้ ที่ขนาดแพ้ 1-4 ยังได้รับชื่นชม และเกมนี้ที่ยันเสมอหงส์แดงได้ 2-2 ทั้งที่ตามหลัง 0-2 ในแอนฟิลด์

สิ่งที่ควรสังเกต คือ เฮนโด้ ไม่ได้ยืนตำแหน่ง “เบอร์ 6” สกรีนหน้าไลน์รับ (ไม่ได้บอกว่า ผิด นะครับ เพราะด้วยเหตุนี้ กัปตันเลยเติมรุก เล่นสามเหลี่ยม และสร้าง combination กับเพื่อนได้ รวมถึงยิง 1-0 ได้ – เคอร์ติส โจนส์ ยืนต่ำกว่าด้วยซ้ำ)

แต่ทว่า เกรแฮม พอตเตอร์ น่าจะทราบดีว่า ฟาบินโญ เจ็บ และเฮนโด จะเล่นอย่างไร ดังนั้นจึงส่ง เลอันโดร ทรอสซาร์ด ลงมาเป็น False 9 และเล่นหน้าแทน นีล โมเปย์

ทรอสซาร์ด ในภาพเรียกได้ว่า มีพื้นที่รับบอลระหว่างผู้เล่น (pocket) แบบสบาย ณ จุดที่ นาบี้ เกอิตา ยังอยู่ในสนาม

จะเห็นได้ว่า เลอันโดร ทรอสซาร์ด ดร็อปตัวลงเพิ่มจำนวน และสร้างโจทย์ให้เกมรับหงส์แดงซึ่งในภาพ อิบู โคนาเต ไม่ได้แย่กับการตัดสินใจตามลงประชิด แต่หากจะดีต้องไม่ให้ดาวเตะเบลเยียมพลิกเล่นได้ เพราะในภาพ ยาคุป โมเดอร์ กำลังวิ่งพาเทรนท์ ไปหาที่ว่างเพื่อรับบอลแล้ว

ปล.จะเห็นเช่นกันว่า เฮนเดอร์สัน ยังอยู่สูงกว่า อ๊อกซ์เลด และทำหน้าที่รุกขึ้นไปต่อสู้ เพื่อตัดเกมแดนบนที่นัดนี้เรามีคนแบบกัปตันในแดนกลางน้อยไป

นี่คือ ตำแหน่งคลาสสิค False 9 เพราะ เลอันโดร ทรอสซาร์ด ยืนทั้งระหว่างคู่เซนเตอร์ฮาล์ฟ อิบู และ VvD และยืนต่ำกว่าไลน์รับเล็กน้อย เรียกได้ว่า พร้อม และเชื้อเชิญให้มิดฟิลด์นกนางนวลประเคนบอลให้เหลือเกิน

ขณะที่จะเห็นว่า “ช่องวาง” ระหว่างไลน์รับ กับมิดฟิลด์นั้นมีซึ่งพอรับได้ แต่ปัญหา คือ ไบร์ทตันไม่ควรได้โอกาสออกบอลง่ายเกินไปสู่ False 9 ของพวกเขาเช่นกัน

ที่ว่างด้านหลังเทรนท์ที่ตอนนี้กลายเป็น อิบู รับผิดชอบแทนคือ ประเด็น และจะเห็นถึงความเสี่ยงเนื่องจากทั้ง เลอันโดร ทรอสซาร์ด, ยาคุป โมเดอร์ และมาร์ก กูกูเรยา พร้อมเติมพร้อม ๆ กัน ขณะที่หงส์แดงมีตัวพร้อมรับมือเพียงคนเดียว

ครึ่งหลังเกิดสถานการณ์ลักษณะนี้บ่อย หรือคือ กูกูเรยา ได้บอลแบบไม่มีตัวประกบ และผ่านให้ ทรอสซาร์ด ในพื้นที่หน้าไลน์ หรือ pocket ระหว่างผู้เล่นไปสร้างสรรค์เกมต่อ หรือทำประตูได้ (รับบอลจาก ลัลลานา หลุดไปยิง 2-2)

Categories
Football Tactics

Inverted Full-back

พอดีเห็น “อึน ๆ” กันจากเกม แอตเลติโก มาดริด – ลิเวอร์พูล นะครับ ผมซึ่งได้คุยหลังเกมกับโค้ชบ้านเราหลาย ๆ ท่านเป็นประจำหลังแมตช์ใหญ่ ๆ อยู่แล้วให้บังเอิญว่าได้รับสิ่งนี้จากอีกเกม คลับ บรู๊ก – แมนฯซิตี้ มาฝากจาก “โค้ชน้อย” อนันต์ อมรเกียรติ

เรื่อง Inverted Full-back หรือแบ็คหุบใน

แน่นอนครับ เจา กานเซโล หรือไคล์ วอล์คเกอร์ ภายใต้แท็คติกส์ เป๊ป กวาร์ดิโอลา ใช้แท็คติกนี้เป็นประจำอยู่แล้ว จะว่าไป เทรนท์ อเล็กซานเดอร์-อาร์โนลด์ ก็ด้วยอ่ะนะครับในบางจังหวะของเกม

แบ็คหุบใน หรือ Inverted Full-back คืออะไร? ติดตามอ่านกันได้เลยครับ ง่าย ๆ 3 ภาพ หวังว่าคงจะชอบ และหวังใจว่าจะช่วยให้พวกเรา “เข้าใจ” The beautiful game มาก ๆ ยิ่งขึ้น และมีความสุขมากขึ้นกับการชมฟุตบอลนะครับ

เจา กานเซโล ในบทบาท Inverted Full Back วิ่งตัวเปล่าจากบริเวณที่หุบในเข้ามากลางสนามเข้าสู่กรอบเขตโทษโดย “ไทม์มิ่ง” อย่างยอดเยี่ยมกับบอลชิพตักโด่งหลังไลน์ของ ฟิล โฟเดน

ดาวเตะโปรตุกีส ยังเฟิร์สทัช “พักอก” ได้งดงาม และสะกิดบอลผ่านลอดขา ซิมง มิโญเลต์ เข้าประตูไป จบบทบาทพิเศษของฟูลแบ็คหุบในที่ทั้งช่วยเติมโดยโพสิชั่นนิ่งตัวเองเกมกลางสนาม และยังหาจังหวะขึ้นมาทำประตูได้อีกด้วย

ไคล์ วอล์คเกอร์ ก็เช่นเดียวกันที่อาศัยความรวดเร็วทั้งเคลื่อนที่ (วิ่ง) และรับบอลจากจุดเริ่มต้นที่ไม่ได้อยู่ริมเส้นเหมือนแบ็คทั่วไป และหุบมาด้านในเสมือนมิดฟิลด์ ประสานงานกับเพื่อน และเลี้ยงบอลทะลวงเข้าสู่พื้นที่ half space ก่อนยิงประตูซึ่งไว้โอกาสหน้าจะมาพูดถึงเรื่องพื้นที่ Half Space กันครับ

แน่นอนว่า ใน Shape ปกติจะเห็นแมนฯซิตี้ในระบบ 4-3-3 ตามหน้ากระดาษสร้าง Shape ได้สวยขณะรุกได้คล้ายกับ 2-3-2-3 หรือจะเรียกว่า 2-3-5 ก็สุดแล้วแต่

อย่างไรก็ดีจะเห็นบทบาทในพื้นที่ระหว่างไลน์รับ และแดนกลางคู่แข่งของ “2” เควิน เดอ บรอย และแบร์นาโด ซิลวา ที่จะสนับสนุน “3” ตัวบนได้อย่างน่าสนใจ

แน่นอนเช่นกัน ในที่นี้ กานเซโล และวอล์คเกอร์ จะหุบในเข้ามาเสมือนอีกไลน์ยืนร่วมกับมิดฟิลด์ตัวรับแท้ ๆ โรดรี้ โดยมี ลาปอร์ต และดิอาส เป็น “2” สุดท้าย

***ที่น่าสนใจมาก ๆ คือ การยืนตรงกลางเหมือนมิดฟิลด์ และริมเส้นนั้น ใช้ทักษะ เทคนิค และความถนัดต่างกัน ทว่าทั้งวอล์คเกอร์ และกานเซโล สามารถยืน 2 พื้นที่ได้อย่างไม่เคอะเขิน และหาใช่ฟูลแบ็คทุกคนจะคิดหลบในเข้ามายืนได้อย่างสะดวกสบาย***

อย่างไรก็ดีจะเห็นบทบาทของ เอแดร์ซอน ที่สามารถ +1 กลายเป็น “3” ร่วมเซ็ตบอลแรกกับ ดิอาส และลาปอร์ต ได้เช่นกัน

การได้เห็นเชฟแบบนี้ และหากแฟนทีมที่บอลบาลานซ์ไม่สมดุล หรือไม่สม่ำเสมออย่าง แมนฯยูไนเต็ด ได้มาเห็น ท่านก็อาจจะพอมองได้ว่า จริง ๆ แล้ว หากยืนได้ดี มิดฟิลด์ตัวรับอาจไม่จำเป็น และไม่ใช่ทางออกเสมอไป

ฟุตบอลต้องรับ และรุกเป็นทีม มิดฟิลด์ทั้ง 6, 7, 8 คนที่ยูไนเต็ดมีอยู่ไม่ได้แย่ แต่แค่จะเล่นอย่างไรเท่านั้นเอง

สรุป: แมนฯซิตี้ ใช้ กานเซโล่ และวอล์คเกอร์ มาช่วยประคอง และดัน high line รุกสูงทำให้สะดวกเวลารุกแล้วพลาดแล้วจะได้ pressing คืน หรือเวลารุกที่จำนวนตัวผู้เล่นในแดนคู่แข่งก็จะมากเช่นกันครับ

วันหน้า ผมจะนำแท็คติกส์อะไรแบบนี้จากโค้ชบอลมาฝากกันอีก ช่วยไลค์ ช่วยแชร์ให้เกิดประโยชน์กับวงการก็จะเป็นพระคุณมากนะครับ• ลิงก์นี้เป็น Podcast ที่ผมเคยทำไว้กับอาจารย์ >>> https://www.facebook.com/watch/174800352574845/3001521610107874 ลองติดตามดูครับปล.ภาพ และคำอธิบายในภาพอาจไม่ชัดนัก เพราะเพิ่งทำนะครับ แต่ผมได้เขียนคำอธิบายไว้ใน caption แต่ละภาพเพิ่มเติมแล้ว

☕ณัฐวุฒิ ประเทืองศิลป์

✍📷 อนันต์ อมรเกียรติ

Categories
Football Tactics

Prime Target Area (PTA)

ก่อนเกม “แดงเดือด” แมนฯ ยูไนเต็ด – ลิเวอร์พูล ภาคนี้ ผมมี “มิติ” การครอสส์บอล และจุดนัดพบที่เรียกว่า Prime Target Area (PTA) มาฝากนะครับ โดยต้องขอบคุณ “โค้ชน้อย” อนันต์ อมรเกียรติ กับข้อมูลเหมือนเดิม

ก่อนอื่น คำถาม คือ ทำไมต้องโยนจากด้านข้าง หรือครอสส์บอลจากด้านข้างสนามเข้าสู่กรอบเขตโทษ?

คำตอบกำปั้นทุบดินที่สุด คือ หากเจาะเข้า “ไข่แดง” ตรงกลาง หรือที่เรียกว่า Zone 14 ซึ่งก็คือ บริเวณเซนเตอร์ฮาล์ฟ ทะลุผ่านหัวกะโหลกกรอบเขตโทษไม่ได้ หรือคือ เล่น “หน้าไลน์” ตรงกลางพื้นที่แนวรับไม่ได้ เพราะคู่แข่งนักษาอาณาเขตสำคัญนี้ได้ดี หรืออีกนัยคือ บีบให้เราต้องเล่นบอลจากพื้นที่ด้านข้าง

การเล่น หรือทำเกมรุกในส่วน Final Third แดนคู่แข่งจากด้านข้างจึงเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การที่ต้องโยนจากด้านข้าง คือ แนวทางหนึ่งของการรุกจากบริเวณริมเส้น เช่น เทรนท์ อเล็กซานเดอร์-อาร์โนลด์ โยนจากในภาพ คือ Deep area แบบที่เรานิยมเรียกว่า early cross (หากทำด้วยความรวดเร็วก่อนแนวรับจะตั้งกระบวนทาาได้ และทำด้วยจังหวะเวลาเหมาะสม) ก็เพราะพื้นที่ตรงกลางแนวรับนั้นแน่นหนา

ความแน่นหนา เกิดได้จากปัจจัย อาทิ กองหลังฝ่ายตรงข้ามรับแบบ compact ยืนเป็นรถบัส 2 ชั้น และเน้นรับพิเศษบริเวณไข่แดงตรงช่องว่างระหว่างเซนเตอร์แบ็ค หรือช่องระหว่างเซนเตอร์ฯ กับฟูลแบ็ค (Half space) หรือคือ Zone 14 ทั้งหมด ที่เห็นในภาพคือ central area

งานนี้ ฝ่ายรุก จึงต้องหันไปเจาะเกมจากด้านข้างแทน เทรนท์เอง ไม่ได้ถนัดพาบอลไปถึง Wide area และ Goal line area ได้ สุดท้ายก็ต้องรีบโยนจากจุด Deep area เป็นออฟชั่นหลักของตนเอง แต่หากมี จอร์แดน เฮนเดอร์สัน มาช่วยเกมรุกฝั่งขวา หลายครั้งจะเห็น เฮนโด้ สามารถไปได้ถึง Wide area แล้วโยน ได้ หรือจะให้เด็ดกว่านั้น โม ซาลาห์ หรือซาดิโอ มาเน ซึ่งมีความสามารถ และความเร็วในการลากกระชากกินตัวสามารถไปได้ถึง Goal line area ได้ และเด็ดกว่านั้น คือ ซาลาห์ ทำประตูกับแมนฯซิตี้ และวัตฟอร์ด ได้จากการเข้าไปดังกล่าว เป็น 2 ประตู talk of the town โดยไม่จำเป็นต้องเปิดเข้ากลางด้วยซ้ำ

วกมาตอบคำถาม เมื่อเจาะตรงกลางไม่ได้ จึงต้องเจาะจากด้านข้าง และหากใช้แท็คติกส์การโยนเข้าไป การโยนก็ต้องครอสส์เข้าไปในเขตโทษไปสู่จุดที่เป็นประเด็นวันนี้ คือ PTA

PTA ตามนิยามของปรมาจารย์ลูกหนัง ชาร์ลส ฮิวจ์ส (Charles Huges – ลองเสิร์ชชื่อดูนะครับ) และที่โค้ชน้อย ร่วมทำสรุปมาเป็นภาพ และคำอธิบายประกอบก็คือ พื้นที่เข้าไปในกรอบ 6 หลาประมาณ 2 หลา (1.8 เมตร) และลากออกมาจากเส้นกรอบ 6 หลาจนถึงจุดโทษ หรือคืออีกประมาณ 6 หลา (5.3 เมตร) รวมเป็นยาว 8 หลา และกว้างเท่ากับความยาวกรอบ 6 หลา (ตามภาพ)

ครับ บริเวณ PTA คือ พื้นที่ที่ควรครอสส์ หรือทำเกมจากด้านข้างเข้าสู่กรอบเขตโทษ เพราะเป็นพื้นที่ระหว่างไลน์รับคู่แข่งกับผู้รักษาประตู

คำถาม คือ เทรนท์ หรือใคร ทีมใดก็แล้วแต่ โยนเข้าจุดดังกล่าวไหม? และหากเข้า ทำไมไม่เกิดประสิทธิภาพ

คำตอบมีได้หลากหลาย เช่น คู่แข่งรับต่ำ รับด้วยจำนวนมาก หรือนายทวารออกมากำกับจัดการได้ดี เฉพาะอย่างยิ่ง ลูกโยนจาก Deep area ที่ป้องกันได้ง่ายกว่า

นอกจากนี้ เทคนิคการครอสส์ก็สำคัญ ผมขอยกตัวอย่าง เดวิด เบคแคม หรือคอสตาส ซิมิกาส ที่โยนลักษณะ Whipped cross ซึ่งเร็ว แรง โค้ง แต่ไม่สูง ทำให้กองหลังตัวโตไม่มีประโยชน์ แต่นักเตะแนวรุกจะสามารถพุ่งเข้าชาร์จได้เลย

ไม่ได้บอกว่า เทรนท์ หรือคนอื่น ๆ ครอสส์ไม่ดี แต่การครอสส์ก็เหมือนการเปิดบอลที่มีหลายเทคนิค ฝากไว้เบา ๆ เป็นน้ำจิ้มก่อน “แดงเดือด” และประกอบการรับชมบอลให้สนุก มีความสุขนะครับ

☕ณัฐวุฒิ ประเทืองศิลป์

📷✍อนันต์ อมรเกียรติ