Categories
Special Content

บิลลี่ เมเรดิธ : ตำนานแข้งแมนฯ ซิตี้ ผู้มีเอี่ยวคดีแหกกฎการเงินยุคโบราณ

ข่าวใหญ่ที่สุดของวงการฟุตบอลอังกฤษเมื่อสัปดาห์ก่อน คือกรณีของแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ที่ถูกทางพรีเมียร์ลีก ตั้งข้อหาทำผิดกฎการเงินมากกว่า 100 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2009 – 2018 จากการสืบสวนที่ใช้เวลานานถึง4 ปี

พรีเมียร์ลีกกล่าวหาว่า ตลอด 9 ปีดังกล่าว แมนฯ ซิตี้ ไม่ได้ให้ข้อมูลการเงินที่ถูกต้อง, ไม่ปฎิบัติตามกฎไฟแนนเชียล แฟร์เพลย์ (FFP) ของยูฟ่า และไม่ให้ความร่วมมือกับลีกสูงสุดเมืองผู้ดีในการสอบสวนอีกด้วย

ซึ่งบทลงโทษที่แมนฯ ซิตี้ จะได้รับจากพรีเมียร์ลีก มีตั้งแต่ปรับเงิน, ตัดแต้ม, ริบแชมป์ หรือร้ายแรงที่สุด อาจถึงขึ้นถูกขับพ้นจากลีกอาชีพ แต่บทสรุปของคดีนี้ คงต้องใช้เวลาหลายเดือน หรือนานนับปีกว่าจะรู้ผล

ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2020 แมนฯ ซิตี้ เคยถูกยูฟ่าลงโทษ จากกรณีผิดกฎ FFP ทำให้พวกเขาถูกแบนจากถ้วยยุโรป 2 ฤดูกาล แต่ขอยื่นอุทธรณ์ต่อสู้คดี จนได้รับโทษเพียงแค่ปรับเงิน 10 ล้านยูโรเท่านั้น

แต่มีเหตุการณ์หนึ่งในอดีต ที่หลายคนอาจไม่รู้มาก่อน คือ “เรือใบสีฟ้า” เคยทำผิดกฎการเงินในโลกลูกหนังยุคเก่าแก่ เมื่อกว่า 100 ปีที่แล้ว เรื่องราวจะเป็นอย่างไร ติดตามได้ที่ ไข่มุกดำ x SoccerSuck

ต้นตำรับ “ปีกพ่อมดแห่งเวลส์”

หากพูดถึงนักเตะที่มีฉายาว่า “The Welsh Wizard” หรือปีกพ่อมดแห่งเวลส์ แฟนฟุตบอลส่วนใหญ่จะนึกถึงไรอัน กิกส์ ตำนานดาวเตะแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด แต่บิลลี่ เมเรดิธ คือแข้งคนแรกของโลกที่ได้ฉายานี้

เมเรดิธ เกิดที่ย่านแบล็ก พาร์ค ในประเทศเวลส์ อาชีพแรกในชีวิตของเขา คือการเป็นคนงานเหมืองถ่านหินในบ้านเกิด แต่มีความสนใจในกีฬาฟุตบอล จึงได้รวมตัวกับเพื่อนคนงาน เล่นฟุตบอลในเวลาว่าง

ซึ่งฝีเท้าของเมเรดิธ ก็ไปเข้าตาหลายสโมสรในอังกฤษ อีกทั้งคุณแม่อยากให้เป็นนักฟุตบอลอาชีพ แม้ตัวเขาไม่ปรารถนาที่จะอยู่ห่างจากครอบครัวก็ตาม และได้รับโอกาสเซ็นสัญญากับแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ในปี 1894

เมเรดิธ ลงสนามเป็นครั้งแรกให้กับแมนฯ ซิตี้ ในเกมบุกแพ้นิวคาสเซิล 4 – 5 ก่อนที่จะเริ่มฉายแววเก่งด้วยการยิง 2 ประตู ใส่นิวตัน ฮีธ (ปัจจุบันคือแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด) ในศึกดาร์บี้แมตช์ แต่ทีมของเขาแพ้คาบ้าน 2 – 5

ด้วยสไตล์การเล่นที่เน้นการใช้ความเร็วสูง และวิ่งกระชากลากเลื้อยตัดเข้าในกรอบเขตโทษ จึงเป็นที่ชื่นชอบของแฟนบอลซิตี้ ซีซั่นแรกของเมเรดิธ ทำผลงานได้น่าประทับใจ ลงสนามแค่ 18 นัด แต่ยิงไปถึง 12 ประตู

ตลอด 5 ฤดูกาลแรกที่อยู่กับแมนฯ ซิตี้ เมเรดิธ เป็นดาวซัลโวของสโมสรถึง 3 ฤดูกาล โดยเฉพาะฤดูกาล 1898/99 เจ้าตัวยิงได้ถึง 30 ประตู มีส่วนพาทีมเลื่อนชั้นสู่ลีกสูงสุดของอังกฤษเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

ช่วงเวลาที่เรือใบสีฟ้า โลดแล่นอยู่ในลีกสูงสุด เมเรดิธ และบิลลี่ กิลเลสพี ถูกยกให้เป็นดาวเด่นของทีม อย่างไรก็ตาม สโมสรตกชั้นกลับสู่ดิวิชั่น 2 ในฤดูกาล 1901/02 แต่ก็คว้าแชมป์ลีกรองได้ในฤดูกาลถัดมา

หลังเลื่อนชั้นกลับมาแค่ซีซั่นเดียว แมนฯ ซิตี้ สร้างความตื่นตะลึงเมื่อจบตำแหน่งรองแชมป์ดิวิชั่น 1 และคว้าแชมป์เอฟเอ คัพ เอาชนะโบลตัน วันเดอเรอร์ส ในนัดชิงชนะเลิศ 1 – 0 ซึ่งเมเรดิธ คือผู้ทำประตูชัยของเกมนี้

เงิน 10 ปอนด์ พาซวยครั้งใหญ่

ฟุตบอลดิวิชั่น 1 (เดิม) ฤดูกาล 1904/05 แมนเชสเตอร์ ซิตี้ เป็นหนึ่งในทีมที่มีลุ้นแชมป์ในนัดปิดซีซั่น แต่ท้ายที่สุดพวกเขาแพ้แอสตัน วิลล่า 2 – 3 ไม่เพียงแค่ชวดแชมป์เท่านั้น เพราะมีเรื่องฉาวโฉ่ตามมาด้วย

โดยหลังจบเกม อเล็กซ์ ลีค กัปตันทีมวิลล่า บอกว่า บิลลี่ เมเรดิธ จ้างวานให้ล้มบอลด้วยเงิน 10 ปอนด์ แม้ได้ต่อสู้คดีถึงที่สุด แต่เอฟเอก็สั่งแบนเมเรดิธ ห้ามลงเล่น 1 ซีซั่น ส่วนแมนฯ ซิตี้ ถูกปรับเงิน

คดีล้มบอลของเมเรดิธ เป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่คดีใหญ่ของแมนฯ ซิตี้ ในปี 1906 ทอม ฮินเดิล นักบัญชีที่ได้รับการว่าจ้างจากเอฟเอ ได้มาตรวจสอบการเงินที่น่าสงสัยของสโมสร และพบความผิดปกติจนได้

สาระสำคัญคือ แมนฯ ซิตี้ ได้มีการถ่ายเทเงินผ่านบัญชีลับ เพื่อหลีกเลี่ยงกฎการเงินของเอฟเอ ที่กำหนดไว้ว่า ห้ามไม่ให้บุคคลใดนำเงินเข้ามาสู่สโมสรด้วยวิธีที่ไม่ถูกต้อง ที่อาจจะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำกับทีมอื่นๆ

จากการสืบสวนของเอฟเอ พบว่า แมนฯ ซิตี้เจอข้อกล่าวหาติดสินบน กรณีได้แชมป์เอฟเอ คัพ ในฤดูกาล 1903/04 รวมทั้งการจ่ายเงินโบนัสให้กับนักเตะรวม 681 ปอนด์ ซึ่งเป็นจำนวนที่มากผิดปกติ

โดยในช่วงที่เมเรดิธชดใช้โทษแบน ได้รับค่าจ้างมากกว่าเพดานเงินเดือนสูงสุดอีก 50% จากเดิม 4 ปอนด์ เป็น 6 ปอนด์ แต่เจ้าตัวไม่เชื่อว่า มีนักเตะเพื่อนร่วมทีมคนอื่นๆ ได้รับค่าจ้างน้อยกว่าเขาแน่นอน

นอกจากนี้ เรือใบสีฟ้ายังถูกตรวจพบว่า มียอดเงินจำนวนมากเข้าไปในบัญชีส่วนตัวของผู้อำนวยการสโมสร ที่มีการกระจายไว้หลายบัญชี และมีการโยกย้ายเงินส่วนนี้ไปยังบัญชีของนักเตะในสโมสรด้วย

จากรายงานของเอฟเอ สรุปได้ว่า “ตอนนี้ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า สโมสรทำผิดกฎอย่างต่อเนื่องมาหลายปี ด้วยวิธีการที่ไม่ชอบมาพากลอย่างมาก” ซึ่งคำซัดทอดของเมเรดิธ ก็ได้นำไปสู่การลงโทษแมนฯ ซิตี้ในที่สุด

บทสรุปของคดีนี้ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ถูกลงโทษด้วยการปรับเงิน ขณะที่บอร์ดบริหาร สตาฟโค้ช รวมถึงเจ้าหน้าที่ของสโมสรที่เกี่ยวข้อง โดนแบนห้ามยุ่งเกี่ยวกับฟุตบอล และถูกบีบให้ออกจากสโมสร

ส่วนนักฟุตบอล 17 คนที่เกี่ยวข้องกับคดีทำผิดกฎการเงิน ถูกแบนยาว และไม่สามารถลงเล่นให้กับสโมสรได้อีกต่อไป บิลลี่ เมเรดิธ ได้ทิ้งผลงาน 147 ประตู จาก 338 นัด ให้แฟนบอลซิติเซนส์ได้จดจำ

สลับขั้วสู่ยูไนเต็ด และรีเทิร์นที่ซิตี้

หลังจากที่แมนเชสเตอร์ ซิตี้ เจอมรสุมคดีแหกกฎการเงิน บิลลี่ เมเรดิธ ก็ได้ย้ายสู่อีกฟากของเมือง ในการไปค้าแข้งให้กับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ทีมน้องใหม่ที่ได้เลื่อนชั้นขึ้นสู่ลีกสูงสุด ฤดูกาล 1906/07

ในช่วงครึ่งซีซั่นแรก เมเรดิธ และแซนดี้ เทิร์นบูลส์ อดีตนักเตะซิตี้อีกคนที่ย้ายมาด้วยกัน ยังอยู่ในช่วงชดใช้โทษแบน กระทั่งเข้าสู่ศักราชใหม่ ในปี 1907 ทั้งคู่ได้ลงสนามเป็นนัดแรก ในเกมที่พบกับแอสตัน วิลล่า

เมเรดิธ แอสซิสต์ให้เทิร์นบูลส์ ยิงประตูเดียวของเกม เฉือนเอาชนะวิลล่า 1 – 0 เปิดตัวกับสโมสรใหม่ได้อย่างสวยงามทั้งคู่ และกลายมาเป็นผู้เล่นกำลังสำคัญของปีศาจแดง ช่วยทีมจบในอันดับที่ 8 ของตาราง

ขณะที่สโมสรเก่าของเมเรดิธ หลังจากทีมแตกสลาย ผลงานก็ร่วงลงไปอย่างน่าใจหาย จากอันดับ 3 เมื่อ 1 ฤดูกาลก่อน มาอยู่อันดับ 17 แม้ในซีซั่นถัดมาจะขึ้นสูงในอันดับ 3 อีกครั้ง แต่ก็มีอันต้องตกชั้นในซีซั่น1908/09

ตลอดช่วงเวลาที่สวมเสื้อแมนฯ ยูไนเต็ด เมเรดิธ และเทิร์นบูลส์ คว้าแชมป์ลีกสูงสุด 2 สมัย และแชมป์เอฟเอ คัพ 1 สมัย ก่อนที่เทิร์นบูลส์ จะถูกแบนตลอดชีวิต จากคดีล้มบอลในเกมแดงเดือดกับลิเวอร์พูล เมื่อปี 1915

ส่วนเมเรดิธ ตัดสินใจย้ายกลับไปแมนฯ ซิตี้ เป็นคำรบสอง ในฤดูกาล 1921/22 แต่ไม่ประสบความสำเร็จเหมือนรอบแรก ทำได้แค่ 2 ประตู ตลอด 3 ปีที่ลงเล่น และประกาศแขวนสตั๊ดหลังจบซีซั่น 1923/24 ขณะอายุ 49 ปี

เมเรดิธ เสียชีวิตเมื่อ 19 เมษายน 1958 ด้วยวัย 83 ปี และหลังจากที่เขาเสียชีวิตไปหลายปี สโมสรแมนฯ ซิตี้, แมนฯ ยูไนเต็ด และสมาคมฟุตบอลเวลส์ ได้ร่วมกันทำป้ายสุสาน เพื่อระลึกถึงผลงานที่ยิ่งใหญ่ในวงการฟุตบอล

การที่แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ถูกพรีเมียร์ลีกตั้งข้อกล่าวหาละเมิดกฎการเงิน ถือเป็นเรื่องอื้อฉาวร้ายแรงที่สุดนับตั้งแต่ก่อตั้งสโมสร ซึ่งพวกเขาขอต่อสู้ด้วยพลังทั้งหมดที่มี เพื่อหวังหลุดพ้นจากวิบากกรรมในครั้งนี้ให้ได้

เรียบเรียง: จักรพันธ์ ภู่ทอง

อ้างอิง :

https://www.theguardian.com/football/2020/feb/26/manchester-city-falling-foul-of-ffp-in-1906-forgotten-story

https://playupliverpool.com/1906/06/01/the-billy-meredith-case/

– https://playupliverpool.com/1906/05/31/suspensions-of-manchester-city-players-and-officials/

https://www.manchestereveningnews.co.uk/news/nostalgia/billy-meredith-manchester-city-united-7409284

https://en.wikipedia.org/wiki/Billy_Meredith