แฟนบอลพรีเมียร์ลีกและแชมเปี้ยนชิพของอังกฤษกำลังจะได้รับไฟเขียวให้กลับมายืนเชียร์อีกครั้งหลังโดนแบนเกือบสามทศวรรษซึ่งมีผลมาจากรัฐบาลอังกฤษสั่งให้สนามฟุตบอลทุกแห่งระดับเทียร์ 1-2 ปรับเป็นอัฒจันทร์สำหรับนั่งอย่างเดียวเพื่อไม่ให้เกิดเหตุซ้ำรอยโศกนาฏกรรมที่ฮิลล์สโบโรห์เมื่อปี 1989 ที่พรากชีวิตแฟนบอลลิเวอร์พูลไปถึง 97 คน
กฎหมายที่ระบุให้สโมสรพรีเมียร์ลีกและแชมเปี้ยนชิพปรับปรุงอัฒจันทร์ให้เป็นแบบนั่งชมทั้งสนาม (All-seater Stadium) เริ่มมีผลบังคับใช้ครั้งแรกในฤดูกาล 1994-95 หลังได้รับการพิจารณาสาเหตุของโศกนาฏกรรมฮิลล์สโบโรห์จาก “เทย์ลอร์ รีพอร์ต” ซึ่งเป็นรายงานการสอบสวนของคณะกรรมการที่รับผิดชอบโดย ลอร์ดจัสติน เทย์เลอร์ ที่ออกมาเผยแพร่ในเดือนมกราคม 1990
เกือบสามทศรรษที่อัฒจันทร์โซน “ยืนดูบอล” โดนแบนแต่ไม่ได้หมายความว่าแฟนบอลจะนั่งเชียร์ก้นติดเก้าอี้ตลอดแมตช์การแข่งขันเพราะบางช่วงที่เกมบนฟลอร์หญ้าสู้กันดุเดือดคู่คี่สูสี กองเชียร์ก็อดใจไม่ไหวต้องลุกขึ้นมากำหมัดชูแขนตะโกนเชียร์ตะเบงเสียงร้องเพลงเป็นระยะๆ ซึ่งเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยทำได้เพียงจับตามองอย่างเฝ้าระวัง ไม่กระทำการใดๆหากสถานการณ์ยังไม่ส่อแววเกิดอันตราย
แต่เชื่อว่าภายในอนาคต เกมลูกหนังพรีเมียร์ลีกและแชมเปี้ยนชิพจะได้รับอนุญาตให้แฟนๆยืนดูอย่างถูกกฎหมายในโซนsafe standing ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของอัฒจันทร์สนามที่ได้รับการปรับปรุงให้ดูบอลอย่างปลอดภัย
การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นสืบเนื่องจากผลลัพธ์ที่น่าพอใจทั้งความปลอดภัยและความสนุกสนานขณะเชียร์บอลผ่านโครงการทดลอง เซฟ สแตนดิ้ง เมื่อต้นปีที่แล้ว ซึ่งนำร่องโดยสี่สโมสรยักษ์ใหญ่พรีเมียร์ลีก แมนเชสเตอร์ ซิตี้, แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, เชลซี และ ท็อตแนม ฮ็อตสเปอร์ รวมถึง คาร์ดิฟฟ์ ซิตี้ อีกหนึ่งทีมจากแชมเปี้ยนชิพ ไม่รวมลิเวอร์พูลที่ลงมือทดลองกับสนามแอนฟิลด์ไปแล้ว
ทั้งห้าทีมได้ปรับปรุงพื้นที่ส่วนหนึ่งให้เป็นโซน “ยืนอย่างปลอดภัย” ก่อนประเดิมการใช้งานนัดแรกเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2021 ซึ่งเป็นช่วงที่มาตรการโควิด-19ได้รับการผ่อนปรน เป็นการแข่งขันที่สนามสแตมฟอร์ดบริดจ์ระหว่าง เชลซี กับ ลิเวอร์พูล ซึ่งเสมอกันไป 2-2 ตามด้วยวันต่อมา แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ต้อนรับ วูลฟ์แฮมป์ตัน ที่สนามโอลด์ แทรฟฟอร์ด
อะไรคือ “เซฟ สแตนดิ้ง” กับความสำเร็จของโครงการยืนเชียร์ปลอดภัย
โซนยืนเชียร์ปลอดภัยหรือ Safe Standing เป็นพื้นที่ที่อนุญาตให้แฟนบอลยืนดูการแข่งขันได้ตลอดทั้งแมตช์ อัฒจันทร์ส่วนนี้ได้รับการปรับปรุงให้เป็นที่นั่งแบบ Rail Seat คือมีเก้าอี้พับได้ให้แฟนบอลเลือกกางนั่งหรือพับเก็บเวลายืนเชียร์ก็ได้ โดยล็อคติดกับราวโลหะที่สูงระดับเอวเพื่อให้แฟนบอลยืนพิงได้สะดวกสบาย โครงที่นั่งถูกติดตั้งแบบถาวรและมีระยะห่างเท่ากับที่นั่งมาตรฐาน เฟรมเชื่อมต่อกันเพื่อสร้างรางที่มีความแข็งแรงสูงตลอดความยาวของแต่ละแถว
สโมสรแรกในสหราชอาณาจักรที่ได้ทำ Rail Seat ขึ้นได้แก่ กลาสโกว์ เซลติก ยักษ์ใหญ่ของสกอตแลนด์ ซึ่งเริ่มใช้งานพื้นที่เซฟสแตนดิ้ง ความจุ 2,600 ที่นั่งภายในสนามเซลติก พาร์ค เมื่อเดือนกรกฎาคม 2016 ขณะที่พื้นที่อื่นๆยังเป็นแบบนั่งดูตามปกติ
Rail Seat อาจยังไม่แพร่หลายในประเทศอังกฤษ ต่างกับประเทศเยอรมนีซึ่งเกือบครึ่งหนึ่งของสโมสรในบุนเดสลีกาได้จัดสรรพื้นที่เซฟสแตนดิ้งแล้ว รวมถึงโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ที่ทำจนกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะซึ่งผู้คนเรียกชื่อมันว่า Yellow Wall หรือกำแพงสีเหลือง
เจค โคเฮน แฟนบอลทีมเชลซี ได้กล่าวถึงการมีส่วนร่วมในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์เมื่อวันที่ 2 มกราคมปีที่แล้วว่า “ผมดีใจที่เชลซีได้เป็นทีมนำร่อง ผมตื่นเต้นที่ได้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับอัฒจันทร์เชดเอนด์ และแมทธิว ฮาร์ดดิ้ง ชั้นล่าง การยืนเชียร์บอลเป็นบรรยากาศที่ยิ่งใหญ่ ไม่ต้องสงสัยเลยโซนเซฟสแตนดิ้งช่วยเพิ่มความปลอดภัยและประสบการณ์ที่ดีในแมตช์เดย์”
ทางด้าน มาร์ติน เคลาเก้ ประธานร่วมของ ท็อตแนม ฮ็อตสเปอร์ ซัพพอร์ตเตอร์ส ทรัสต์ เปิดเผยว่า แฟนบอลทีมสเปอร์สให้การสนับสนุนอย่างล้มหลามเป็นเวลาหลายปีนับตั้งแต่แนวคิดนี้เริ่มถูกพลักดัน โดยจากรายงานประจำปีระบุว่ามีผู้เห็นด้วยสูงถึง 90 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้จากความจุ 62,850 คนของท็อตแนม ฮ็อตสเปอร์ สเตเดี้ยม ถูกจัดสรรให้เป็นเซฟสแตนดิ้ง 5,000 คนสำหรับเซาธ์สแตนด์ชั้นล่าง บวกชั้นบน 1,442 คน และเซ็คชั่นทีมเยือนอีก 3,000 คน
หน่วยงานด้านความปลอดภัยของสนามกีฬาได้ตีพิมพ์รายงานผลการทดลองเบื้องต้นไว้ว่า การนั่งชมในโซนยืนดูไม่ถูกบดบังวิสัยทัศน์ของการมองเห็นเกมในสนาม, การดีใจหลังเกิดการทำประตูมีความปลอดภัย แฟนบอลไม่เคลื่อนไหวไปข้างหน้าหรือถอยหลังที่สุ่มเสี่ยงให้เกิดอันตราย, ราวกั้นช่วยให้แฟนบอลเดินบนอัฒจันทร์อย่างมีระเบียบ แม้กระทั่งคนที่เข้าสนามหลังเกมเริ่มไปแล้วยังสามารถเดินไปยังที่นั่งได้รวดเร็ว, ราวกั้นช่วยจัดแฟนบอลเป็นกลุ่มเป็นก้อนทำให้เจ้าหน้าที่สนามเฝ้าจับตาได้ง่าย
ในส่วนรายงานฉบับล่าสุดของคณะกรรมาธิการที่แต่งตั้งโดยรัฐบาลให้รับผิดชอบโครงการหลังดำเนินการทดลองเซฟสแตนดิ้งเป็นระยะเวลาหนึ่งปีครึ่ง ค่อนข้างออกไปทางบวกสำหรับแฟนบอลทั้งด้านปลอดภัยและประสบการณ์การชมที่ดีขึ้น ซึ่งคาดว่ารัฐมนตรีกระทรวงกีฬา ไนเจล ฮัดเดิลสตัน จะแถลงข่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ที่สนามเหย้าของท็อตแนม ฮ็อตสเปอร์ ซึ่งเขาเคยเดินทางมาชมการแข่งขันเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งสเปอร์สเฉือนชนะเบิร์นลีย์ 1-0
แหล่งข่าววงในของรัฐบาลเปิดเผยว่า “เราอยู่เคียงข้างแฟนบอลเสมอ และตั้งใจที่จะทำตามสัญญาในการนำการยืนดูบอลอย่างปลอดภัยไปยังสนามฟุตบอล และพัฒนาประสบการณ์ที่วิเศษสุดของการดูบอลให้กับพรีเมียร์ลีกและแชมเปี้ยนชิพ”
“รัฐบาลไม่เคยประนีประนอมหากเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย เราจะทำงานอย่างใกล้ชิดกับสโมสรฟุตบอล กลุ่มแฟนบอล และเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อส่งมอบ ‘เซฟ สแตนดิ้ง’ ซึ่งเราตระหนักดีว่าเป็นสิ่งที่ประชาชนต้องการ”
ดูเหมือนว่าในอนาคตอันใกล้ แฟนบอลทุกสนามแข่งขันของสองลีกสูงสุดของประเทศอังกฤษจะได้กลับมาสัมผัสบรรยากาศการเชียร์ที่ตื้นเต้นเร้าใจในอารมณ์ที่คอลูกหนังเมื่อกว่าสามสิบปีก่อนคุ้นเคยอีกครั้ง นั่นคือ “การยืนลุ้นบอลตลอดแมตช์”
“เยลโล่ วอลล์” ของดอร์ทมุนด์ สุดยอดบรรยากาศยืนเชียร์บอลยุคใหม่
“เซฟ สแตนดิ้ง” ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่สำหรับหลายประเทศในยุโรป รวมถึงสหรัฐอมริกาและออสเตรเลีย แต่หากใครต้องการสัมผัสบรรยากาศการยืนเชียร์บอล(แบบปลอดภัย)ที่สุดยอดที่สุดในโลกต้องเป็นที่สนาม “เวสท์ฟาเลินชตาดิโยน” ความจุ 81,365 คนของโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์
ใครที่มีโอกาสสัมผัส “กำแพงเหลือง” (Yellow Wall) หรืออัฒจันทร์ฝั่งเซาธ์แบงค์ของกองเชียร์ดอร์ทมุนด์ คงอดขนลุกขนชันไม่ได้กับภาพแฟนบอลกว่า 24,000 คนที่ยืนตะโกนร้องเพลงเชียร์บนพื้นที่ที่เปรียบเสมือนระเบียงที่ใหญ่ที่สุดในทวีปยุโรปพร้อมด้วยทะเลธงสีเหลืองดำ
รูเบน ดรัคเกอร์ หนึ่งในแฟนบอลดอร์ทมุนด์ผู้ถือตั๋วปีโซนกำแพงเหลืองที่สนนราคาไม่ถึง 200 ปอนด์ กล่าวว่า “เดอะ วอลล์ เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้ยากเพราะแสดงถึงการเชื่อมโยงระหว่างแฟนบอลเกือบ 25,000 คนที่ยืนเคียงข้างกันแบบไหล่ชนไหล่ อาจเรียกได้ว่าเป็นส่วนผสมที่บ้าคลั่งของคนกลุ่มหนึ่ง”
“แฟนบอลทุกเพศทุกวัยสามารถเข้ามาเชียร์บอลตรงนี้ได้ จะมาคนเดียวหรือมาทั้งครอบครัว ผู้ชายผู้หญิง คนรายได้ต่ำหรือสูง ตอนแรกพวกเขาอาจเข้าสนามเพราะการชักชวนของคุณพ่อ พี่ชาย หรือเพื่อนฝูง แต่เมื่อมาเป็นส่วนหนึ่งของเดอะวอลล์ มันก็เสมือนสายใยที่เชื่อมโยงกับคนอื่นๆผ่านทางร่างกายที่ใกล้ชิด เป็นการมอบประสบการณ์ใหม่ที่เหลือเชื่อให้แก่พวกเขา”
ฟลอเรียน โธมัส แฟนบอลทีมเสือเหลืองวัย 31 ปี ซึ่งซื้อตั๋วปีมาตั้งแต่ซีซั่น 2008-09 สมัยที่ เยอร์เกน คล็อปป์ เพิ่งก้าวขึ้นคุมทีมดอร์ทมุนด์ เล่าให้ฟังว่า “ผมยังจำครั้งแรกที่ไปดูการแข่งขันกับพ่อตอนอายุสิบสอง เราได้ที่นั่งฝังเวสต์สแตนด์ ประตูอยู่ขวามือผม มีผู้คนเต็มไปหมดและอยู่ชิดกันมาก บรรยากาศแบบนั้นสถานที่แบบนั้น ไม่มีอะไรเหมือนแล้ว”
“ผมเคยพาเพื่อนจากอังกฤษไปดูเกมหนึ่งของเรา พวกเขาตื่นตาตื่นใจเพราะมันต่างจากประสบการณ์ในพรีเมียร์ลีก ช่วงโควิดระบาดผมไม่ได้ไปดูแมตช์เหย้าเลยเพราะคนน้อย มันไม่เหมือนเดิมหากปราศจากเยลโล่วอลล์ที่อัดแน่นและไม่มีพวกแฟนบอลอัลตร้า ผมรู้ดีว่าเพื่อนๆก็คิดอย่างเดียวกัน”
“ถึงเป็นตั๋วยืนและคุณไปอยู่ตรงไหนก็ได้(ภายในเซ็คชั่นที่กำหนด) แต่แฟนบอลมักยืนตรงที่ประจำ มันแปลกมากที่ผู้คนหลากหลายแตกต่างมารวมตัวกันเพื่อสนับสนุนสโมสร พวกเขาไม่มีความสัมพันธ์กันนอกสนามบอลแต่กลับร้องเพลงร่วมกันกระโดดกอดกัน”
“ผมเจอผู้คนใหม่ๆในสนามที่อยากบอกเลยว่าเราเป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน แต่ต่างคนต่างรู้เรื่องชีวิตนอกสนามกันน้อยมาก นี่เป็นสถานที่เดียวที่พวกเรามีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน”
“การยืนดูบอลสร้างความแตกต่างให้ผมในเรื่องของสาเหตุที่เข้ามาดูเกมในสนาม ผมยืนเพื่อสนับสนุนสโมสร บางครั้งก็ไม่ได้ยืนอยู่ในจุดที่เห็นเกมสนามชัดเจนนัก บางครั้งก็มีธงบัง มีหัวมีแขนบังสายตา แต่ผมยอมรับมันได้ มันเป็นเรื่องของความใกล้ชิดซึ่งเอื้ออำนวยให้ร่วมตะโกนร้องเพลงตะโกนเชียร์เป็นธรรมชาติ”
“บอกตามตรง ผมไม่ชอบดูการแข่งขันของดอร์ทมุนด์ในสนามหากไม่ได้อยู่ในเซ็คชั่นยืน แต่มีอยู่ 2-3 ครั้งที่เป็นแบบนั้น ซึ่งผมรู้สึกทำผิดพลาดมาก”
ถึงเวลาต้อง “มูฟ ออน” จากโศกนาฏกรรมที่ฮิลล์สโบโรห์
แนวคิดที่อยากให้แฟนบอลในพรีเมียร์ลีกและแชมเปี้ยนชิพกลับไปยืนเชียร์บอลเริ่มก่อตัวอย่างช้าๆ จนกระทั่งเกิดเป็นรูปธรรมช่วงก่อนการเลือกตั้งในปี 2019 เมื่อทั้งพรรคอนุรักษ์นิยมและพรรมแรงงานต่างให้คำมั่นสัญญากับประชาชนว่าจะดำเนินการเพื่อพิจารณาความเป็นไปได้ของนโยบาย “เซฟ สแตนดิ้ง” จนกระทั่งวันที่ 22 กันยายน 2020 ไนเจล ฮัดเดิลสตัน รัฐมนตรีกระทรวงกีฬา ได้ประกาศอนุญาตให้ห้าสโมสรจัดทำโซนยืนดูบอลอย่างถูกกฎหมายขึ้น
แม้การทดลองของ แมนเชสเตอร์ ซิตี้, แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, เชลซี, ท็อตแนม ฮ็อตสเปอร์ และคาร์ดิฟฟ์ ซิตี้ จะประสบความสำเร็จในระดับน่าพอใจ แต่ยังมีขั้นตอนสำคัญในการแก้ไขกฎหมาย รวมถึงแต่ละสโมสรต้องลงทุนปรับปรุงสภาพสนามเพื่อให้ตรงกับข้อระเบียบของเซฟ สแตนดิ้ง ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องใช้ระยะเวลาพอสมควรกว่าที่แฟนบอลอังกฤษในสองดิวิชั่นแรกจะได้กลับไปสัมผัสยืนเชียร์กันทั่วทุกสนาม
มาร์กาเรต แอสพินอลล์ ซึ่งสูญเสียลูกชายเจมส์จากเหตุการณ์ในสนามฮิลล์สโบโรห์ ให้ความคิดเห็นว่า “มุมมองของฉันเปลี่ยนไปจากเมื่อ 2-3 ปีก่อน”
“ความปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ฉันหวังว่าเราได้เรียนรู้จากบทเรียนครั้งนั้น แฟนบอลจะต้องไม่ถูกกระทำเหมือนยุค 1970และ 1980 ที่ถูกต้อนเหมือนวัวควายอยู่ในคอก ทุกสิ่งเปลี่ยนไปและถึงเวลาที่เราต้องก้าวไปข้างหน้าเสียที มีแฟนบอลรุ่นใหม่และรุ่นเก่าที่ชอบยืนดูการแข่งขัน แต่ยังจำเป็นที่จะต้องจัดสรรที่นั่งให้กับทุกคน”
“เราต้องดำเนินการเรื่องนี้ไปอย่างช้าๆ ต้องมั่นใจเรื่องความปลอดภัยและเห็นความก้าวหน้าเกิดขึ้นอย่างชัดเจน สิ่งสำคัญที่สุดคือแฟนบอลและความปลอดภัยของพวกเขา ตราบใดที่มันยังถูกตระหนัก ฉันก็โอเคกับมัน”
เรียบเรียง : ฐปน วันชูเพลา (Senior Football Editor)
Senior Football Editor