Categories
Football Tactics

“แฮร์รี เคน” Lone Striker เบอร์ 9 + เบอร์ 10

ยังจำกันได้ไหม กับเรื่องราวที่ทำให้ทั่วโลกแซ่ซ้องถึง แฮร์รี เคน กับผลงานสุดฤทธิ์สุดเดชสุดลิ่มทิ่มประตูแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ไป 2 ดอกชนิดกูรู อาทิ แกรี่ ลินิเกอร์, อลัน เชียเรอร์, แกรี่ เนวิลล์, คริส ซัตตัน ฯลฯ สดุดี ฟอร์มเจ๋งสุดในฤดูกาลนี้ หรือตัวจบสกอร์ที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์พรีเมียร์ลีก บลา บลา

ขณะที่หัวหอกลักษณะใกล้กันสไตล์ Lone Striker หรือหน้าเป้าแบบเป็น target man ในราคาหลัก 100 ล้านปอนด์เหมือนกัน โรเมลู ลูคาคู ทำสถิติไม่น่าจดจำ

จับบอล 7 ครั้ง (1 ครั้ง คือ การเขี่ยบอลเริ่มเกมครึ่งแรก! – 2 หนยิงเข้ากรอบ คือ ล้ำหน้า!!) ทั้งแมตช์ 90 + 5 นาที เป็นสถิติต่ำสุดนับจาก Opta เคยจับมาตั้งแต่ ค.ศ.2003 (เคน สัมผัสบอล 37 ครั้งทั้งที่สเปอร์สครองบอลไม่ถึง 30%)

ทั้งคู่อายุ 28 ปีเหมือนกัน เคนอ่อนเดือนกว่า 2 เดือนด้วยซ้ำ แต่สถานการณ์ต่างกันลิบลับ

ครับ ผมคงไม่พูดว่า ลูคาคู ต้องการความรัก ความเข้าใจ หรือการปฏิบัติแบบใดเป็นพิเศษเหมือนที่สื่อชอบวิเคราะห์กัน หรือเพื่อนร่วมทีม เฉพาะอย่างยิ่ง แอนโทนี โรดิเกอร์ ในเกมที่ผ่านมาที่มีหลายจังหวะผ่านให้ได้ แต่ไม่ผ่าน ควรจะเล่นอย่างไรกับหัวหอกเบลเยียม

ตรงกันข้าม หากขยับเป็นส่ง หรืออย่างน้อยมีคนรู้ใจ เช่น ซอน เฮือง-มิน ชีวิตของ เคน จึงดีขึ้นมาก และนัดนี้กับการไหลช่องเปิดให้ยิง 1 หน และอีก 1 หน เอแดร์ซอน ใช้เท้าซูเปอร์เซฟไว้ได้ทำให้สถิติการทำประตูรวมกันของ ซอน + เคน = 26 ประตูเทียบเท่า แลมพาร์ด + ดรอกบา ไปแล้ว (ถัดมา คือ อองรี + ปิแรส และ กุน + ดาวิด ซิลบา = 29)

เรื่องนี้สำคัญนะครับ กองหน้าโดยเฉพาะ Lone Striker จำเป็นต้องมีใครสักคน หรือมากกว่า 1 คนที่มีความสามารถมากพอจะ deliver บอลดี ๆ เข้ากรอบเขตโทษให้ได้

หลายครั้งในเกมนี้ ต้องยอมรับเช่นกันว่า ลูคาคู ตีรถเปล่า แต่น้อยครั้ง ไม่ว่าจะเกมนี้ หรือเกมไหน หากเคน ขยับรับรองว่า ซอน จะต้องให้ หรือเพื่อนคนอื่น ๆ ก็พร้อมจ่ายให้ โรนัลโด้ ก็จะมี บรูโน แฟร์นันเดซ คอยทำหน้าที่ซัพพอร์ตดังกล่าวเพื่อตอบสนองมูฟเมนต์สวย ๆ

หรืออีกตัวอย่าง หากทีมขาดการเปิดแบบ เฮนโด้ ทิ่มให้ ดิอาซ ยิง 3-1 แล้วเราจะมีแนวรุกดี ๆ ทำไม? หรือในที่นี้คือ เราจะมีกองหน้าตัวเป้า (Lone Striker) ทำไม?

อย่างไรก็ดี สิ่งที่เคนมี และลูคาคู ไม่มีในเกมนี้ หรือไม่มีในสเปคการเล่นส่วนตัวก็คือ ความสามารถในการเป็นเบอร์ 9 และเบอร์ 10 ได้ในคนเดียวกัน

การดร็อปตัวลงมาเหมือนเบอร์ 10 หรือคือ False 9 ของเคน คือ ดีมากในเกมนี้ เช่น ประตู 1-0 ซึ่งดร็อปมารับบอลแล้วเปิดจังหวะเดียวให้ ซอน หลุดกับดักล้ำหน้าตรงกลางสนามของ รูเบน ดิอาซ ก่อนไปไหลให้ คูลูเชฟสกี้ แปนิ่ม ๆ เข้าไป 1-0

หลายจังหวะในเกมก็เป็นเช่นนั้นที่การดร็อปตัวลงมาพื้นที่ว่างระหว่างไลน์ทำให้เขาสามารถสร้างบทบาท False 9 หรือเพลย์เมคเกอร์ เบอร์ 10 ขึ้นมาได้ทั้งเชื่อม และ switching เปลี่ยนฝั่งได้ทั้งเท้าซ้าย และขวา

เหนือสิ่งใด วิธีการนี้จะทำได้ดีหากมีตัวพุ่งที่มีความเร็ว เช่น ซอน, เอเมอร์สัน รอยัล หรือไรอัน เซสเซยอง (2 ตัวหลังยังสอบไม่ผ่านทั้งคู่ แต่มีความเร็ว) ส่วนคูลูเชฟสกี้ ยังช้าไปกับเกมในพรีเมียร์ลีก แม้จะยิงได้ 1 จ่าย 1 ก็ตามที

จริง ๆ แล้วมันก็คล้ายกับบทบาท บ๊อบบี้ เฟียร์มิโน ที่ดร็อปตัวลงมาเชื่อมเกมแล้วจะมี ซาลาห์ กับมาเน่ เป็นตัวพุ่ง

แต่แค่บ๊อบบี้ คือ False 9 หรือเอียงมาทางเบอร์ 10 มากไป หรือก็คือ ยิงประตูได้ให้เหมือนเบอร์ 9 น้อยไป

ในเกมนี้ สิ่งที่เคน แตกต่างจาก เคน ที่เงียบเชียบในหลายเกมกับสเปอร์สซีซั่นนี้ หรือหลายนัดที่จะว่าไปแล้วเขาโดนวิจารณ์ก็คือ:

พอดร็อปแล้วยังหาจังหวะ และอ่านเกมด้วยสัญชาตญาณพุ่งเข้ากรอบเขตโทษเพื่อทำประตู เช่น ประตู 2-1 ชัดเจนที่สุด

ทั้งนี้หากเป็นแมตช์อื่น ๆ เคน จะเหมือนกับทิ้งตำแหน่ง และยืนในจุดที่ไม่มีโอกาสทำประตูได้ หรือขาดมูฟเมนต์ต่อเนื่องเหมือนเกมนี้ (ยืนนอกกรอบเขตโทษห่างไกล – เชื่อมอย่างเดียว แต่ไม่ไปต่อ!)

คงจะเพราะด้วยแรงจูงใจ ปัญหาภายในแคมป์ไก่ และอนาคตตัวเองกับทีม หรืออื่น ๆ ประกอบกัน

ทว่า เคน at his very best ต้องแบบนี้กับทีมที่ตกเป็นข่าวจะซื้อเขาซัมเมอร์ที่ผ่านมา คือ เบอร์ 9 + เบอร์ 10 ในคนเดียวกัน

ส่วนลูคาคู ผมคงพูดอะไรได้ไม่มากไปกว่า ให้ใช้สตั๊ดพูดแทนปาก และก้มหน้าก้มตาทำงานหนักต่อไป

สุดท้ายกับบทบาท Lone Striker ที่โลกยุคปัจจุบันไม่ได้มีเยอะนะ (วันก่อนก็เพิ่งเห็น เอดิน เชโก้ กับอินเตอร์ฯ นัดชนหงส์แดง) ยังไงพวกเขาก็มีคุณประโยชน์ และสำคัญต่อทีม

และเป็นอีกออฟชั่นที่มียังไงก็ดีกว่าไม่มี ผมเชื่อว่า หากเป๊ป ซึ่งปีนี้ไม่มีกองหน้าแท้ ๆ ในซีซั่นนี้จากการขาดหายไปของ กุน อเกวโร หรือเยอร์เกน คลอปป์ ที่อาจจะไม่นิยมกองหน้าแบบ “ตัวเป้า” หา Lone Striker ดี ๆ ได้สักตัว เช่น เออร์ลิง ฮาแลนด์ พวกเขาก็ต้องรับไว้แน่

ทั้งนี้แม้ยุคสมัยจะเปลี่ยน ฟุตบอลก็ไม่ได้เปลี่ยนอะไรหรอกครับ แค่วิธีการอาจจะปรับไปบ้าง กองหน้าตัวเป้า หรือ Lone Striker หากปรับตัวได้สมบูรณ์ เช่น แฮร์รี เคน (ในเกมนี้) มันคือ ความพิเศษที่หาชมได้ยากจริง ๆ ครับ

☕ณัฐวุฒิ ประเทืองศิลป์

Categories
Football Tactics

เจาะกลยุทธ์ Positional Play เบื้องหลังแท้จริงในชัยชนะของทีมสีฟ้า แห่งเมือง แมนเชสเตอร์

เหมือนเดิมทุก ๆ วันจันทร์ในช่วงนี้ ผมจะมีโอกาสได้คุยกับคุณวาว จารุวัฒน์ พริบไหว ทางเพจตุงตาข่าย ในเรื่องเกี่ยวกับแท็คติกส์ฟุตบอลที่เรา 2 คนเลือกมามองจากเกมสุดสัปดาห์ในมุมที่ “ย่อยง่าย” และสามารถอธิบายให้เข้าใจได้พอเป็นสังเขปซึ่งวีคนี้ คือ เรื่อง Positional Play ที่แมนเชสเตอร์ ซิตี้ กระทำการใส่ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ครับ >>> bit.ly/3sRqMiH

ขอบคุณรูปภาพจาก : https://web.facebook.com/mancity

ความหมายของ Positional Play ให้แปลแบบเป๊ะ ๆ อาจมองไม่เห็นภาพได้เท่ากับให้ผมอธิบายผ่านแท็คติกส์อย่างน้อย 3 – 4 ประการที่ เป๊ป กวาร์ดิโอลา และเด็ก ๆ แสดงให้เห็นในเกมนี้:

1. การเพิ่มจำนวนผู้เล่น หรือ overload จำนวนผู้เล่นเข้าไปในพื้นที่ฝั่งขวาของทีมปิศาจแดงฟาก แอรอน วาน บิสซากา ที่แม้ แอนโธนี เอลังกา จะถอยลงมาช่วย และมีสกอตต์ แม็คโทมิเนย์ กับวิคตอร์ ลินเดอเลิฟ ประจำการอยู่ก็ไม่ไหว เพราะฝั่งนี้ซิตี้เติมมาทั้ง แจ็ค กริลิช, แบร์นาโด ซิลวา, False 9 ฟิล โฟเดน ตามหลังโดย เจา คานเซโล ไม่นับ อายเมอริค ลาปอร์ต หรือโรดรี้ ที่ยืนประคองสถานการณ์

ขอบคุณรูปภาพจาก : https://web.facebook.com/mancity

การ overload ด้วยจำนวนผู้เล่นทำให้การรุก (ขณะมีบอล) ผู้เล่นซิตี้ที่ได้บอลจะมีชอยส์อย่างน้อย 2 (สามเหลี่ยม) หรือ 3 ชอยส์ (สี่เหลี่ยม – ไดมอนด์) เสมอ ๆ อันทำให้การจู่โจม เข้าทำ มีประสิทธิภาพ และได้เปรียบ

ไม่นับการเคลื่อนที่ของผู้เล่นที่ขยับตัวตลอดเวลา เป็นอิสระ และไม่เป็นเป้านิ่งให้เกิดการประกบตัว หรือคิดจะประกบตัวก็ยาก เพราะจำนวนคนน้อยกว่า

ประตู 1-0 หรือ 2-1 ตอบโจทย์สิ่งนี้เป็นอย่างดี และตัวเลขเกือบ 50% ของการขึ้นบอลเกิดจากฝั่งนี้ หรือเป็น 2 เท่าของการขึ้นเกมตรงกลาง และฝั่งขวาของสนามที่มี ริยาด มาห์เรซ ประจำการอยู่

2. อย่างไรก็ดี ไม่ได้หมายความว่า มาห์เรซ มีประโยชน์น้อย แต่นี่คืออีก แท็คติกส์สำคัญของการเล่น Postional Play นั่นคือ การใช้ตัวผู้เล่นที่มีความสามารถเผชิญกับคู่แข่งที่มีความสามารถน้อยกว่าโดยตรงไปเลย

กรณีนี้ เป๊ป อาจมองว่า อเล็กซ์ เทลเลส ไม่น่าจะ 1 v 1 ปะทะกับดาวเตะอัลจีเรียได้โดยตรง การ isolate มาห์เรซ ไว้ในพื้นที่ว่างฝั่งขวาเสียเลยจึงเป็นแท็คติกส์ที่วางไว้

ครับ จริง ๆ แล้ว หากแผน A หรือคือ การเจาะฝั่งซ้ายด้วยการ overload ผู้เล่นไม่ประสบความสำเร็จ หรือคือไม่สามารถเจาะไปถึงเส้นหลัง หรือเข้ากรอบเขตโทษฝั่งนั้นแล้วเปิด cut back หรือยิง หรือเปิดเสาสองกลับมาได้

การเปลี่ยนแกน switching play ไปจบอีกฝั่งกับมาห์เรซ ที่จะต้องว่าง หรือได้ปะทะตรงกับเทลเลสที่แม้เจ้าตัว กับเพื่อน ๆ จะเคลื่อนที่ตามมา ทว่าหากมาห์เรซ จับบอลแรกได้เยี่ยม หรือบอลถูกเปิดมาเพอร์เฟคต์

การป้องกันจะไม่ง่าย

หรือหากขยับมาป้องกันไม่ทัน มาห์เรซ ก็จะว่างให้สร้างสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ตลอดเวลาไม่เว้นแม้แต่ลูกตั้งเตะ เช่น คอร์เนอร์ที่ได้ประตู 3-1 หรือก่อนหน้านั้นฟรีคิกที่มีโอกาสยิงข้ามคาน

ขณะเดียวกัน หากมาห์เรซ เคลื่อนที่ไปเรื่อย ๆ และใช้ความสามารถ ความเข้าใจในการใช้พื้นที่ว่างทั้งระหว่างไลน์ และหลังไลน์ ประตูก็อาจเกิดขึ้นได้ เช่น 4-1 อันเป็นการเคลื่อนที่ไปรับบอลหลังไลน์ได้อย่างยอดเยี่ย

ขอบคุณรูปภาพจาก : https://web.facebook.com/mancity

3. การเคลื่อนที่แบบ “เข้าใจ” ในการใช้พื้นที่ว่าง เช่น ระหว่างไลน์, หลังไลน์, ระหว่างตัวผู้เล่น หรือไปบริเวณ half space คือ ศาสตร์ชั้นสูงของนักเตะที่ต้องเป็นระดับ elite players จริง ๆ และต้องเป็นนักเตะที่ได้รับการโค้ชอย่างถูกต้องดังที่ เป๊ป พูดล่าสุดหลังเกมถล่มปิศาจแดงนัดนี้ว่า ทักษะ ความสามารถโน่นนี่ มันมาจากท้องพ่อท้องแม่แล้ว แต่เขามีหน้าที่ทำให้นักเตะเหล่านี้เล่นได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดก็เท่านั้น

เควิน เดอ บรอย แมน ออฟ เดอะ แมตช์ เกมนี้ คือ เจ้าพ่อคนหนึ่งที่เข้าใจในพื้นที่ว่าง (แน่นอนว่าเขาจะต้องเข้าใจการเล่น positonal play อย่างถ่องแท้) และมีความสามารถเฉพาะตัวในการรับบอลไม่ว่าจะ half turn หรือรับแล้วไปทันที หรือไปกลับบอลอย่างรวดเร็ว หรือเปลี่ยนสปีด ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดเหล่านี้กับบอลจะเป็นการเจาะทะลุทะลวงพื้นที่ว่างในเกมรับของแมนฯยูฯทั้งนั้น และจะ disorganise เกมรับโดยรวมให้พังอย่างราบคาบได้

ขอบคุณรูปภาพจาก : https://web.facebook.com/mancity

แบร์นาโด ซิลวา ก็เก่งฉกาจเช่นกันในการลากเลื้อยเจาะพื้นที่ว่าง และครอบครองบอล ขณะที่เพื่อน ๆ ซึ่งรู้หน้าที่จะเคลื่อนตัวไปที่ว่างด้านหน้าเพื่อรับบอลตามหลักไปเพิ่มจำนวน หรือทยอยเติม (เพื่อเพิ่มจำนวนไปเรื่อย ๆ)

กรีลิช โดดเด่นมากในเกมนี้กับจังหวะเวลาที่ใช้แบบไม่มาก หรือน้อยไปกับลูกบอล และเล่น combination กับเพื่อน ๆ ทางฝั่งซ้ายได้ดี และนี่ถือเป็นนัดที่ดาวเตะ 100 ล้านปอนด์เล่นได้ดีที่สุดในฤดูกาลกับซิตี้ แม้จะยิง หรือ assist ไม่ได้ แต่ความเข้าใจใน positional play แบบที่เป๊ปต้องการนั้นมาแล้ว

คนอื่น ๆ คานเซโล, โฟเดน, วอลค์เกอร์, สโตนส์, ลาปอร์ต หรือกระทั่ง เอแดร์สัน ที่รายหลังจะเป็นตัวเลือกเสมอให้เซนเตอร์ฯ อยู่ในสถานการณ์ 3 v 2 ไม่ใช่ 2 v 2 เพราะสามารถขยับมาเล่นบอล รับบอล ออกบอล ด้วยเท้าได้ ต่างเข้าใจความหมาย และผ่านการฝึกซ้อม postional play มาจนภาพโซนต่าง ๆ ในสนามอยู่ในหัวหมดแล้ว และทราบว่าจะแก้ “หน้างาน” กันอย่างไรในภาวะต่าง ๆ

4. รวมแล้ว postional play ต้องเข้าใจพื้นที่, เข้าใจเรื่องการเพิ่มจำนวนผู้เล่นในพื้นที่ที่ต้องการ และต้องมีคุณภาพของผู้เล่นที่พร้อมจะทำได้

ความสมบูรณ์แบบที่สุดของการเล่นแบบนี้เกิดขึ้นในครึ่งหลังที่ซิตี้ครองบอลได้กว่า 70% และ 15 นาทีสุดท้ายที่ครองบอลได้ถึง 92%

ดังนั้น อย่าแปลกใจที่ สกอตต์ แม็คโทมิเนย์ โต้กลับ รอย คีน ประมาณว่า ไม่ได้ลงมาเล่นไม่รู้หรอกหลังโดนอดีตกัปตันทีมตนเองบ่นว่า ใจไม่สู้ ยอมยกธงขาว หรือมี 5-6 คนไม่คู่ควรจะใส่เสื้อสีแดง แมนฯยูฯ

ด้วยก็เพราะ postional play มันทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์จากการแก้เกมของเป๊ปในครึ่งหลัง

ขณะเดียวกัน สิ่งดีงามที่แฟนปิศาจแดง ควรจะ “ยืดอก” ยอมรับ และทำความเข้าใจก็คือ ในมุมของโค้ช เราได้เห็นสิ่งที่ ราล์ฟ รังนิค พยายามจะทำผ่านการจัดตัว และรูปแบบวิธีการเล่น โดยเฉพาะ 30 นาทีแรก

การใช้ พอล ปอกบา และบรูโน แฟร์นันเดซ ยืนเสมือนเป็นคู่หน้าตัวบน และรับสูง และเพรสซิ่งสูง คล้าย ๆ ระบบ 4-2-4 เพราะต้องการใช้ 4 ตัวบนเพรสซิ่งไม่ให้แมนฯซิตี้ออกบอลแรกจากแดนตัวเองได้ มันมีที่มาที่ไป และมี “เหตุผล” เพียงพอ

ส่วนตัว ผมจะพอใจมากกว่าที่ได้เห็นอะไรแบบนี้ คือ ได้เห็น แมนฯยูฯ กับรูปแบบพยายามบุก พยายามเล่นเพรสซิ่ง และโต้เร็ว โดยดันสูง รับสูง ตามแบบฉบับทีมใหญ่

และก็ต้องยอมรับว่าทำได้ดีแม้เพียงครึ่งชั่วโมง แต่ก็ทำให้เห็นถึงความพยายามอันนั้น

ดังนั้น ได้โปรด อย่า “ถอยหลัง” กลับไปไหน แพ้ก็แพ้ (เพราะยังไงก็ไม่ได้เจอซิตี้ทุกวีค) แต่มันคือ บทเรียน มันคือ จุดเริ่มต้น

ได้โปรดอย่าไปเล่นรับแล้วโต้ หรือเกมนี้เล่นแบบนั้น เกมนั้นจะเล่นแบบนี้ แต่ให้มุ่งไดเรกชั่นนี้ไปเลย หรือจะซื้อผู้เล่นใหม่ก็ต้องเป็นคาแรกเตอร์ที่เล่นแบบนี้ได้

เพราะหากมันจะเจ็บ มันก็ต้องเจ็บ และทั้งซิตี้เอง หรือลิเวอร์พูล ต่างผ่านช่วงเวลาแบบนี้มาแล้วเหมือนกัน

ครับ สรุปอีกที เกมนี้เราได้เห็นโคตรการเล่น positonal play ที่สมบูรณ์แบบในครึ่งหลังจากแมนฯซิตี้ และได้เห็น “แสงสว่าง” ในครึ่งแรกจากแมนฯยูไนเต็ดครับ

โชคดีนะ แฟน ๆ เมืองแมนเชสเตอร์ สีฟ้าแดง จากใจแฟนสีแดงจากเมืองลิเวอร์พูลครับ

🙏 ปล.ขอบคุณ โค้ชน้อย อนันต์ อมรเกียรติ อาจารย์ผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ฟุตบอลให้ผมมาต่อยอดนะครับ

☕ ณัฐวุฒิ ประเทืองศิลป์

Categories
Football Tactics

สรุป 4 วิธี การดูฟุตบอลขั้นพื้นฐานอย่างเข้าใจ

หัวข้อนี้เป็น 1 ในหัวข้อ Football Tactics ที่ผมให้น้ำหนักค่อนข้างมาก และมองว่าเป็น “เทมเพลท” สำคัญสำหรับทุก ๆ คนในการจับประเด็นเพื่อดูบอลในเชิงวิเคราะห์เกมการแข่งขันที่สามารถนำไปต่อยอดพัฒนาทักษะการอ่านเกมให้ได้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไปในอนาคตได้อีกด้วย

ข้อมูลครั้งนี้ ผม “เรียบเรียง” มาจากเนื้อหาโดย “โค้ชน้อย” อนันต์ อมรเกียรติ อดีตกุนซือทีมชาติไทย, สโมสรธนาคารกรุงเทพ, ผู้อำนวยการอคาเดมี สโมสรพัฒนา เอฟซี ฯลฯ ในอดีต ที่ได้เขียนบันทึกไว้ด้วยลายมือท่านเองมาฝากกันครับ

“โค้ชน้อย” อนันต์ อมรเกียรติ อดีตกุนซือทีมชาติไทย, สโมสรธนาคารกรุงเทพ, ผู้อำนวยการอคาเดมี สโมสรพัฒนา เอฟซี ฯล

โดยท่านอาจารย์ได้เรียบเรียงองค์ความรู้ไว้ 4 ข้อสำหรับการดูฟุตบอลเบื้องต้นให้เข้าใจได้ง่าย ๆ ไว้ดังนี้ :

1. ดูการเล่นเกมรุก

ข้อนี้ไม่ได้แปลว่า ได้บุก ได้ยิง ได้เลี้ยง ได้ส่ง ได้ครองบอลมากมาย ได้ฟรีคิก ฯลฯ เท่านั้น แต่โดยหลัก ๆ ที่ต้องดูแบบพื้นฐานประกอบด้วย : 

1.1 รูปแบบการรุก เช่น ถนัดเล่นลูกสั้น หรือยาว, ชอบเจาะตรงกลาง หรือริมเส้น, ค่อย ๆ สร้างเกม หรือเล่นเร็วทางลึกไปข้างหน้าทันที, มีโต้กลับ (เคาน์เตอร์แอทแทค) ด้วยไหม

1.2 การประสานงานของตำแหน่งต่าง ๆ เป็นอย่างไร ประมาณว่า มีชิ่งหนึ่งสอง, มีการเล่นสามเหลี่ยม/สี่เหลี่ยม หรือการทดแทนตำแหน่งกันหรือไม่ การวิ่งตัวเปล่า การวิ่งทะลุช่อง หรือใช้รูปแบบใดบ้างในการเคลื่อนบอลไปข้างหน้า

1.3 การเคลื่อนที่ของผู้สำคัญ เช่น เพลย์เมคเกอร์ หรือกองหน้า ว่ามีบทบาทอย่างไรในเกม อยู่ตรงไหนของสนาม มีแท็คติกส์อะไร เช่น False 9, Inverted Full Back, การใช้พื้นที่ half space ฯลฯ

1.4 เริ่มสร้างเกมรุกแบบไหน ตั้งแต่ผู้รักษาประตูแล้วค่อย ๆ บิ้วท์บอลแรกมาที่กองหลังขึ้นไปกองกลาง หรือกองหน้า หรือยาวไดเร็กต์จากหลังไปหน้าเลย ทำกันเร็ว หรือช้า, มีการเปลี่ยนสปีดหรือไม่ มีใครรวดเร็ว ทักษะดี เลี้ยงกินตัว หรือ 1 ต่อ 1 ได้ดีไหม

1.5 วางกำลังในแต่ละแดน หลัง กลาง หน้า อย่างไร? กี่คน? ระบบอะไร? และใช้ผู้เล่นรุกกี่คน? เคลื่อนตัวข้ามสู่แดนฝั่งตรงข้ามกี่คน? และไลน์รับสุดท้ายอยู่บริเวณใดของสนามขณะรุก

2. ดูการเล่นเกมรับ

เช่นกัน ไม่ใช่ว่า ดูแค่รับเหนียวแน่น สกัดเก่ง สไลด์แม่น โหม่งไกล เพราะพูดแบบนี้ก็จะง่ายไปหน่อย ทั้งนี้หลัก ๆ ที่ต้องมองคือ :

2.1 รับแบบคุมโซน (ดูแลพื้นที่) หรือประกบแมน ทู แมน (คุมคน)

2.2 มีการเช็คไลน์ออฟไซด์หรือไม่

2.3 มีการเพรสซิ่งไหม หรือหากมีต้องดุว่า เริ่มเพรสซิ่งตั้งแต่เมื่อไหร่ เช่น ตั้งแต่แดนหน้าเลยโดยกองหน้า หรือปล่อยมาเพรสซิ่งในแดนกลาง หรือค่อยมาไล่ในแดนหลัง และทำตลอดเวลา หรือเน้นบริเวณใดเป็นพิเศษไหม

2.4 ยืนรับต่ำขนาดไหน เช่น รับที่เส้นเขตโทษ 18 หลา หรือขยับมาเส้น 35 หลา (ระหว่างกลางสนาม และเส้นเขตโทษตัวเอง) และที่ว่างระหว่างไลน์กองกลัง กองกลาง และกองหน้า “สมดุล” หรือเท่ากันหรือไม่ และยังต้องพิจารณาด้วยว่า มีจำนวนผู้เล่นที่อยู่หน้าบอล หรือหลังบอลกี่คนในเวลาตั้งรับ

2.5 การคืนตำแหน่ง หรือรักษาสมดุลตำแหน่งเป็นอย่างไร ทำได้เร็ว หรือช้า ไม่ว่าจะเจอคู่แข่งใช้การรุกแบบใดก็ตามจากข้อ 1 

3. การเปลี่ยนจากรับเป็นรุก หรือรุกเป็นรับ (Transitional Play)

จากรับเป็นรุกหลัก ๆ ก็เพื่อจะทำการเคาน์เตอร์แอทแทค โดยต้องดูว่า บอลแย่งได้แล้วส่งให้ใครคนแรก, บอลสองไปหาใคร, ใครเป็นตัวเป้า ใครเป็นตัวพักบอล ใครเป็นตัวที่มีความเร็วสูงสุด

ทำกันเร็วไหม เพราะการโต้กลับที่สมบูรณ์ เช่น ประตู 4-1 โดยคิเลียน เอ็มบับเป้ ยิงให้ฝรั่งเศสออกนำอาร์เจนติน่าใช้เวลาประมาณ 10 วินาทีอันเป็นเวลาเฉลี่ยของการทำเคาน์เตอร์แอทแทคที่ดี หรือ 9.8 วิ.ประตูที่เบลเยียมยิงดับฝัน 3-2 ทีมชาติญี่ปุ่นตกรอบ 16 ทีมสุดท้ายในวินาทีสุดท้าย (ผมเขียนครั้งแรก ขณะมีบอลโลก 2018) นอกจากนี้ก็ต้องมองว่า ใครเป็นผู้เล่นสำคัญซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้เล่นที่มีความเร็ว จากรุกเป็นรับ หรือก็คือหลังจากบุกแล้วเสียการครองบอล สิ่งที่ต้องมองคือ เสียบอลแล้วมีการเพรสซิ่งเอาบอลคืนทันที หรือไม่เพรสซิ่ง แต่ใช้วิธีรีบคืนตัวกลับมาเล่นรับในตำแหน่งตัวเอง

ที่สำคัญ คือ หากไม่เพรสจะสามารถกลับมาเล่นรับในตำแหน่งได้ทันเวลาหรือไม่ เพราะแน่นอนว่า หากทำได้ไม่ดี โอกาสโดนโต้กลับจนเสียประตูย่อมเกิดขึ้นได้

4. ลูกตั้งเตะต่าง ๆ

ไม่ว่าจะเป็นไดเร็กต์ฟรีคิก คือ ยิงได้เลยในระยะหวังผล หรือจุดโทษ (ที่ต้องศึกษาวิธียิงของมือสังหาร หรือวิธีรับของนายทวาร) หรือโดยอ้อม เช่น อาจจะผ่านลูกเตะมุม ลูกเปิดกินเปล่าจากระยะไกลเข้ากรอบเขตโทษ

สิ่งที่ต้องมองคือ ใครเป็นผู้เล่นหลักในกรอบเขตโทษ, ใครคนเปิดฟรีคิกประจำ ถนัดเท้าใด และใช้เทคนิคการเปิดแบบใด รูปแบบการป้องกัน และโจมตี, ลักษณะการประกบเป็นคุมพื้นที่ หรือคุมคน

การสื่อสารในกรอบเขตโทษเป็นอย่างไร ผุ้รักษาประตูถนัดกับการออกมาตัดลูกกลางอากาศแค่ไหน ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่า แม้จะสามารถทำการรุก หรือรับ หรือมีฝึกจังหวะ Transition ได้ดีแล้ว แต่หากไม่เก่งฉกาจ และเชี่ยวชาญในลูกตั้งเตะ การเสียประตูโดยไม่จำเป็นก็จะเกิดขึ้นอย่างน่าเสียดาย

ในทางกลับกัน โอกาสทำประตูมากมายก็เกิดขึ้นจากลูกตั้งเตะนี่เอง

ครับ ทั้งหมดนี้ 4 หัวข้อ: รุก, รับ, รุกเป็นรับ/รับเป็นรุก และลูกฟรีคิกต่าง ๆ คือ 4 ประเด็นหลักที่สามารถใช้วิเคราะห์รูปแบบวิธีการเล่น วิธีคิดทำให้อ่านกลยุทธ์ กลวิธี รวมถึงแบบแผนการเล่นของคู่แข่ง หรือใช้วิเคราะห์ทีมตัวเองด้วยก็ได้

โดยในเกมฟุตบอลปัจจุบัน การ “แมวมอง” (Scouting) คู่แข่งขันแล้วประเมินความสามารถ เจาะวิเคราะห์วิธีการเล่น วิธีคิดของฝั่งตรงข้ามออกได้ คือ สิ่งสำคัญ เหมือนรู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง

ฟุตบอลสมัยใหม่จึงมีอาชีพ นักวิเคราะห์แมตช์แข่งขัน และเท่าที่ทราบมา ลีกไทยเราเอง บรรดาทีมชั้นนำน่าจะมีบุคคลากรตำแหน่งนี้กันทั้งสิ้นในทีมใหญ่ ๆ แต่ส่วนใหญ่อาจจะเป็นชาวต่างชาติ บุคคลในตำแหน่งนี้ที่อาจเรียกว่าเป็นฝ่าย “เทคนิค” ของทีมที่จะช่วยแบ่งเบาภาระโค้ชตัวจริงได้มาก

เพราะลำพังโค้ชคนเดียวไม่สามารถทำหน้าที่ทุกอย่างโดยลำพังได้แล้วในฟุตบอลอาชีพที่เป็นมาตรฐานสูงแบบปัจจุบัน หลายทีมอาจใช้ทีมสตาฟฟ์ค่าตัวถูกกว่า แต่ต้องอาศัยเครื่องมือ เครื่องวัดอื่น ๆ มาช่วย เช่น อัดวิดีโอ ไว้ศึกษาวิเคราะห์แต่ละเกม แล้วขึ้นหน้าจอให้ผู้เล่นดู หรือซื้อบริการข้อมูลสำเร็จรูปในการวิเคราะห์เกมนัดต่อนัดมาประกอบการวางแผนการเล่นในทุกนัด

แต่หากเป็นทีมที่พร้อมจริง ๆ แต่ละนัดผู้ที่ทำหน้าที่นี้จะมองออกอย่างเร็วภายใน 15 นาที และเตรียมวิดีโอไว้เปิดให้ผู้เล่น กับโค้ชได้แก้เกมทันควันระหว่างพักครึ่งเวลาได้เลย

รายละเอียดจริง ๆ ของมืออาชีพจะมีเยอะกว่านี้มาก แต่เบื้องต้น 4 ข้อในวันนี้ คือ อย่างน้อย “พื้นฐาน” การมองฟุตบอลแบบพอจะมี “ครู” และหลักการพื้นฐานให้จับได้บ้างในการชมเกมฟุตบอล 90 นาทีในแต่ละนัดที่ผมหวังว่าจะช่วยยกระดับอรรถรสการชมฟุตบอลของทุก ๆ คนได้นะครับ

(ปรับปรุงข้อมูลจากเพจช้างศึก 6 ก.ค.2018)

ณัฐวุฒิ ประเทืองศิลป์