ฟุตบอลโลก 2022 เดินทางมาถึงนัดสุดท้ายของทัวร์นาเมนท์ ในวันที่ 18 ธันวาคมนี้ คู่ชิงชนะเลิศประจำการแข่งขันครั้งที่ 22 เป็นการพบกันระหว่าง อาร์เจนตินา กับ ฝรั่งเศส
ทั้ง 2 ทีม ต่างเดิมพันแชมป์โลกสมัยที่ 3 และนักเตะหลายๆ คน ก็มีลุ้นทำสถิติส่วนตัวอีกมากมาย โดยลิโอเนล สกาโลนี่ ผู้จัดการทีม “ฟ้า-ขาว” หวังยุติการรอคอยโทรฟี่ใบนี้ที่ห่างหายไป 36 ปี
ด้านดิดิเย่ร์ เดอช็องส์ เทรนเนอร์ “เลอ เบลอส์” ก็มีลุ้นที่จะเป็นโค้ชคนแรกในรอบ 84 ปี ที่พาทีมเดิมคว้าแชมป์โลก 2 สมัยติดต่อกัน นับตั้งแต่วิตโตริโอ ปอซโซ่ อดีตตำนานโค้ชอิตาลีเคยทำไว้
ไข่มุกดำ x SoccerSuck จะพาไปย้อนเรื่องราวของปอซโซ่ ในการเป็นกุนซือคนแรก และคนเดียวในประวัติศาสตร์ลูกหนัง ที่สามารถป้องกันแชมป์ “เวิลด์ คัพ” ได้สำเร็จ
ผู้คิดค้นแผนการเล่นแบบ “เมโทโด”
ชีวิตในวงการฟุตบอลของวิตโตริโอ ปอซโซ่ เริ่มจากการเป็นนักเตะอาชีพของกราสฮอปเปอร์ ซูริค ในสวิตเซอร์แลนด์ และโตริโน่ ในอิตาลี ก่อนผันตัวมาเป็นกุนซือให้กับทีมชาติอิตาลี ซึ่งเขารับหน้าที่ถึง 4 รอบ
แรงบันดาลใจในการเป็นโค้ชของปอซโซ่ มาจากการเข้าไปชมเกมของสโมสรแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่ใช้แผนการเล่น 2-3-5 จนประสบความสำเร็จ อีกทั้งได้มีโอกาสพบกับชาร์ลี โรเบิร์ตส์ เซ็นเตอร์แบ็กของทีมด้วย
และในช่วงทศวรรษที่ 1930 ปอซโซ่ได้คิดค้นแผนการเล่น 2-3-2-3 ที่เรียกว่า “เมโทโด” (Metodo) มีลักษณะคล้ายตัวอักษร “WW” ที่พัฒนามาจากแผน 2-3-5 ของแมนฯ ยูไนเต็ด และแผน 3-2-2-3 ของอาร์เซน่อล
จุดเด่นของแท็กติกเมโทโด คือผู้เล่นตำแหน่ง “ฮาล์ฟแบ็ก” 3 คน ที่อยู่ตรงกลางระหว่างฟูลแบ็ก 2 คน และกองหน้าด้านใน (Inside forward) 2 คน ทำหน้าที่คอยช่วยดึงตัวประกบผู้เล่นฝ่ายตรงข้าม และเล่นเกมรุกด้วย
การเล่นแบบเมโทโด เหมาะสำหรับทีมที่มีนักเตะประเภทเทคนิคสูง ข้อดีคือช่วยให้เกมรับเหนียวแน่นขึ้นกว่าเดิม และมีประโยชน์ในการตั้งรับเพื่อรอโต้กลับ หรือเคาน์เตอร์-แอทแทค (Counter-attacks)
แผนการเล่นแบบเมโทโด กลายเป็นรากฐานในความสำเร็จของปอซโซ่ กับการคว้าแชมป์ฟุตบอลโลก 2 สมัยติดต่อกัน ในปี 1934 และ 1938 รวมถึงเป็นต้นแบบของแผนการเล่น 4-3-3 ที่รู้จักกันในปัจจุบัน
1934 ฟาสซิสต์ครอง (แชมป์) โลก
ฟุตบอลโลก ครั้งที่ 2 ในปี 1934 อิตาลี ภายใต้การปกครองของเบนิโต มุสโสลินี ผู้นำฟาสซิสต์ในยุคนั้น ได้รับเลือกจากฟีฟ่า ให้เป็นเจ้าภาพการแข่งขันเป็นประเทศแรกของทวีปยุโรป
มีการลือกันว่า มุสโสลินี ได้มีคำสั่งให้อิตาลีต้องคว้าแชมป์โลกมาให้ได้ เพื่อเป็นหน้าเป็นตาให้แก่ตนเองและประเทศชาติ แน่นอนว่าความกดดันทั้งหมดจึงตกมาที่ปอซโซ่อย่างเลี่ยงไม่ได้
เส้นทางของอิตาลีในเวิลด์ คัพ หนนี้ เริ่มจากรอบ 16 ทีมสุดท้าย ชนะ สหรัฐอเมริกา 7 – 1, รอบ 8 ทีมสุดท้าย เสมอ สเปน 1 – 1 ต้องเล่นนัดรีเพลย์ และชนะ 1 – 0 ก่อนที่ในรอบรองชนะเลิศ ชนะ ออสเตรีย 1 – 0
10 มิถุนายน 1934 การแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศ อิตาลี พบกับเชโกสโลวะเกีย จัดขึ้นที่สตาดิโอ นาซิโอนาเล่ พีเอ็นเอฟ ในกรุงโรม ท่ามกลางแฟนบอลในสนามกว่า 55,000 คน
เชโกสโลวาเกีย ยิงขึ้นนำไปก่อน แต่อิตาลีทำ 2 ประตูรวด แซงเอาชนะ 2 – 1 ไรมุนโด ออร์ซี และแองเจโล ชิอาวิโอ ทำคนละ 1 ประตู คว้าแชมป์สมัยแรกในถิ่นของตัวเอง ตามที่มุสโสลีนีต้องการได้สำเร็จ
แม้การจัดการแข่งขันครั้งนี้อาจเต็มไปด้วยข้อครหามากมาย แต่แท็กติก “เมโทโด” ของปอซโซ่ ก็พิสูจน์ให้หลายคนเห็นแล้วว่าประสบความสำเร็จ โดยยิงได้ 12 ประตู เสียไปเพียง 3 ประตู จาก 5 นัด
1938 ป้องกันแชมป์ที่แดนน้ำหอม
เวิลด์ คัพ ครั้งที่ 3 ในปี 1938 ที่ประเทศฝรั่งเศส ภารกิจสำคัญของวิตโตริโอ ปอซโซ่ ในการพาทีมป้องกันตำแหน่งแชมป์โลก ผู้เล่นตัวหลักจากเมื่อ 4 ปีก่อนหน้านั้น ยังคงติดทีมมาหลายคน
เส้นทางของอิตาลีในบอลโลกหนนี้ เริ่มจากรอบ 16 ทีมสุดท้าย ชนะ นอร์เวย์ 2 – 1 (หลังต่อเวลาพิเศษ), รอบ 8 ทีมสุดท้าย ชนะ ฝรั่งเศส 3 – 1 ต่อด้วยรอบรองชนะเลิศ ชนะ บราซิล 2 – 1
19 มิถุนายน 1938 การแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศ อิตาลี พบกับฮังการี จัดขึ้นที่สต๊าด โอลิมปิก เด โคลอมเบส ในกรุงปารีส ท่ามกลางแฟนบอลในสนามกว่า 45,000 คน
ก่อนที่นัดชิงดำจะเริ่มขึ้น มีเสียงลือเสียงเล่าอ้างว่า มุสโสลินี ได้ส่งโทรเลขไปยังทีมชาติอิตาลี ด้วยข้อความว่า “Vincere O Morire” ที่แปลแบบตรงตัวว่า “ชนะ หรือ ตาย” แต่ก็ไม่มีใครสามารถยืนยันได้ว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่
อย่างไรก็ตาม ในท้ายที่สุด “อัซซูรี่” ก็เอาชนะไปได้ 4 – 2 จากผลงานของจิโน่ โคลาอุสซี่ และซิลวิโอ ปิโอลา คนละ 2 ประตู ทำให้ปอซโซ่ กลายเป็นผู้จัดการทีมคนแรก ที่คว้าแชมป์ฟุตบอลโลกเป็นสมัยที่ 2
นอกจากนี้ ปอซโซ่ ยังเป็นเฮดโค้ชคนแรกในประวัติศาสตร์ ที่คว้าแชมป์ฟุตบอลโลกได้ในต่างประเทศ อาจจะทำให้ผู้คนคลายข้อสงสัยเรื่องความสามารถในตัวเขาไปได้ไม่มากก็น้อย
ผู้ยิ่งใหญ่ที่ไม่มีใครพูดถึง
ก่อนที่นัดชิงดำฟุตบอลโลก 2022 จะเริ่มขึ้น วิตโตริโอ ปอซโซ่ ยังคงเป็นโค้ชเพียงคนเดียว ที่คว้าแชมป์ฟุตบอลโลก 2 สมัยติดต่อกัน แต่ชื่อเสียงของเขา กลับไม่ได้เป็นที่รู้จักจนถูกพูดถึงในวงกว้างแต่อย่างใด
สาเหตุสำคัญคือ ช่วงที่อิตาลีคว้าแชมป์เวิลด์ คัพ ในปี 1934 และ 1938 ประเทศตกอยู่ภายใต้การปกครองของมุสโสลินี่ ผู้นำเผด็จการ จนถูกตั้งข้อสงสัยว่า ความสำเร็จดังกล่าวได้มาแบบใสสะอาดหรือไม่
“มันมีความผิดปกติเล็กน้อย และปอซโซ่ไม่ได้มีชื่อเสียงโด่งดังเท่าที่ควร อาจเป็นเพราะเขาคว้าแชมป์ฟุตบอลโลก ภายใต้ระบอบฟาสซิสต์” จอห์น ฟุต ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ฟุตบอล กล่าว
ขณะที่ ดร.อเล็กซ์ อเล็กซานดรู นักประวัติศาสตร์กีฬา กล่าวเสริมว่า “มีความพยายามให้ปอซโซ่เป็นที่รู้จักให้น้อยที่สุด เพราะเขามีความเชื่อมโยงกับเผด็จการ และเขาต้องเอาตัวรอดจากระบอบนั้น”
ปอซโซ่ เสียชีวิตในวันที่ 21 ธันวาคม 1968 ขณะมีอายุ 82 ปี แม้เรื่องราวความสำเร็จของเขาจะถูกลืมเลือนไป แต่อย่างน้อยที่สุด เจ้าตัวก็ได้ทิ้งมรดกที่ยิ่งใหญ่ให้กับโลกฟุตบอล และจะเป็นตำนานไปอีกนาน
นัดชิงชนะเลิศเวิลด์ คัพ ในคืนวันนี้ กระแสส่วนใหญ่เทใจเชียร์ลิโอเนล เมสซี่ คว้าแชมป์ก่อนอำลาอย่างยิ่งใหญ่ แต่ดิดิเย่ร์ เดอช็องส์ ก็หวังที่จะสร้างประวัติศาสตร์เทียบเท่ากับวิตโตริโอ ปอซโซ่ ให้ได้เช่นกัน
เรียบเรียง : จักรพันธ์ ภู่ทอง
Football Editor