ปลายศตวรรษที่ 20 ต่อต้นศตวรรษปัจจุบันน่าจะเป็นหนึ่งในช่วงเวลาสำคัญของประวัติศาสตร์สนามฟุตบอลเนื่องจากเกิดเหตุเปลี่ยนแปลงของหลายสนามสำคัญทั่วโลกจากความเสื่อมโทรมตามอายุขัยและเพื่อรองรับปริมาณความนิยมของแฟนๆที่เพิ่มขึ้น สนามอย่างซานติอาโก เบร์นาเบว, คัมป์นู, โอลด์ แทรฟฟอร์ด และแอนฟิลด์ เลือกที่จะต่อเติมปรับปรุงครั้งใหญ่ สนามอย่างไฮบิวรีเลือกที่จะทุบอัฒจันทร์และพื้นที่บางส่วนเพื่อเปลี่ยนแปลงเป็นส่วนหนึ่งโครงการที่พักอาศัย ไฮบิวรี สแควร์ พร้อมสร้างสนามใหม่คือ เอมิเรตส์ สเตเดียม
บางสนามถูกทำลายเหลือเพียงเศษอิฐเศษปูน เวมบลีย์ สเตเดียม รุ่นทวินทาวเวอร์ ที่เริ่มใช้งานในปี 1923 ไม่เหลือซากเพื่อให้เวมบลีย์ใหม่ถือกำเนิดบนพื้นที่เดิม ขณะที่เอฟเวอร์ตันจะย้ายไปเล่นที่สนามเหย้าใหม่ในฤดูกาล 2024-25 จากนั้นกูดิสัน ปาร์ค จะถูกทุบทิ้งหลังเริ่มใช้งานปี 1892
สนามเก่าแก่คลาสสิคแห่งล่าสุดที่เริ่มนับเวลาถอยหลังคือ ซาน ซีโร สตเดียม ซึ่งเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (23 ก.ย.) ทีมชาติอังกฤษเพิ่งลงเล่นและแพ้ต่ออิตาลี 0-1 ส่งผลให้ปีหน้าพวกเขาต้องร่วงไปเตะเนชันส์ ลีก บี
แผนทุบทิ้งบ้านของสองสโมสรยักษ์ใหญ่ เอซี มิลาน และอินเตอร์ มิลาน ได้รับการอนุมัติเมื่อสามปีก่อน แต่มีประเด็นใหม่เพิ่มเติมว่า งบสร้างสนามใหม่บานปลายแตะ 1 พันล้านปอนด์ และกว่าการก่อสร้างจะเสร็จสิ้นทั้งโครงการปาเข้าไปปี 2030แต่ประเด็นที่ถูกหยิบขึ้นมาถกเถียงในวงกว้างคือ Tower 11 หรือหอคอยที่สิบเอ็ด สัญลักษณ์ของสนามที่เคยคาดหมายว่าจะหลงเหลือให้เป็นอนุสรณ์แห่งความทรงจำของซาน ซีโร สเตเดียม โดนกดปุ่มไฟเขียวให้ทำลายลงเป็นที่เรียบร้อย
แม้อิตาลีจะได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในประเทศที่อบอวลด้วยสุนทรียภาพแห่งศิลปะแต่ … “ประเทศอิตาลีให้ความเคารพเพียงน้อยนิดต่อประวัติศาสตร์ของสโมสรกีฬา และการทำลาย จุยเซปเป มีอัซซา สเตเดียม ที่ซาน ซีโร แสดงให้เห็นถึงการขาดความใส่ใจต่อความมหัศจรรย์ของนครมิลานในเชิงสถาปัตยกรรม” อัลวิเซ แคคนัซโซ คอลัมนิสต์ฟุตบอล ได้เขียนไว้ในบทความที่เผยแพร่ในสื่ออังกฤษ เดลี เมล
“หอคอยที่สิบเอ็ด” มรดกสุดท้ายของสนามซาน ซีโร
จุยเซปเป มีอัซซา สเตเดียม เป็นชื่อใหม่ของซาน ซีโร สเตเดียม ที่ถูกเปลี่ยนเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 1980 ราวหนึ่งปีหลังการเสียชีวิตของจุยเซปเป มีอัซซา หนึ่งในบุคคลสำคัญของวงการฟุตบอลมิลาน เขาเคยเล่นให้ทั้งอินเตอร์ มิลาน (1927-1940, 1946-1947) และเอซี มิลาน (1940-42) จากนั้นเคยคุมทีมเนรัซซูรี 3 ช่วงสั้นๆ (1947-1948, 1955-1956, 1957)
ความจริงแล้วชื่อดั่งเดิมเมื่อครั้งก่อสร้างในทศวรรษที่ 1920 คือ Nuovo Stadio Calcistico San Siro (แปลว่า สนามฟุตบอลแห่งใหม่ในซาน ซีโร) แต่ผู้คนมักเรียกสั้นๆเพียงซาน ซีโร ตามชื่อเขตของมิลาน เมืองใหญ่ทางตอนเหนือของอิตาลี โดยซาน ซีโร อยู่ห่างจากใจกลางนครมิลานไปทางทิศตะวันตกเฉลียงเหนือประมาณห้ากิโลเมตร
11 Towers หรือหอคอยทั้งสิบเอ็ด เป็นสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นและถูกมองว่าเป็นสัญลักษณ์ของสนามซาน ซีโร เหตุผลไม่ใช่แค่รูปลักษณ์ที่เป็นแท่งทรงกระบอกขนาดยักษ์ แต่ยังมีจำนวนมากถึง 11 หอคอยที่ล้อมรอบตัวสนามเพื่อรองรับโครงสร้างของอัฒจันทร์แต่ละชั้นและหลังคา โดยแฟนบอลที่เดินทางมายังสนามซาน ซีโร สามารถมองเห็นหอคอยยืนตระหง่านได้แต่ไกลเป็นแท่งกระบอกยักษ์ที่มีเกลียวพัน ซึ่งเกลียวนี้เป็นทางลาดที่ใช้เดินภายในสนาม
ตามแผนเดิมหอคอยจะถูกรักษาไว้หนึ่งหอคอยหวังให้เป็นสัญลักษณ์แห่งการระลึกถึงการมีตัวตนของสนามระดับตำนานกีฬาลูกหนังโลก ซึ่งจะตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่ไม่ไกลนักจาก The Cathedral (มหาวิหาร) ชื่ออย่างไม่เป็นทางการของสนามใหม่ และเป็นระยะทางที่สามารถเดินถึงกันได้สบายๆ แต่เดือนกันยายนที่ผ่านมาได้มีการเปิดเผยจากแหล่งข่าวใกล้ชิดของสภาเมืองมิลานว่า “หอคอยที่สิบเอ็ด” จะถูกทุบทิ้งด้วย อย่างไรก็ตาม แฟนบอลทั่วโลกมีโอกาสเดินทางไปเที่ยวเก็บความทรงจำของสนามซาน ซีโร ได้ประมาณสี่ปีก่อนโดนรื้อทำลายหลังใช้จัดพิธีเปิดการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาวในปี 2026
สำหรับโปรเจ็กต์ “มหาวิหาร” นั้นจะเริ่มทำการก่อสร้างในเดือนมกราคม 2024 เป็นต้นไป โดยมีรายงานจากสื่อใหญ่เมืองมะกะโรนี คอร์เรียเร เดลลา เซรา ว่าล่าสุดงบประมาณได้พุ่งขึ้นเป็น 1.2 พันล้านปอนด์ เพิ่มจากเดิม 120 ล้านปอนด์ แบ่งเป็น 80 ล้านปอนด์สำหรับการสร้างสนาม และอีก 40 ล้านปอนด์สำหรับการตลาด
สนามฟุตบอลความจุผู้ชม 6 หมื่นที่นั่ง (เทียบกับ 7.5 หมื่นที่นั่งของซาน ซีโร สเตดียม) จะถูกล้อมรอบด้วยพื้นที่สีเขียว 22 เอเคอร์ ประกอบด้วยศูนย์ประชุมและศูนย์การค้าขนาดใหญ่ รวมถึงสวนสาธารณะเทศบาลที่อุดมด้วยบรรยากาศธรรมชาติ ภายในมียิมกลางแจ้ง พิพิธภัณฑ์ ลู่วิ่งและอื่นๆเพื่อให้คนท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวได้พักผ่อนหย่อนใจ คาดว่าเมกะโปรเจ็กต์นี้จะแล้วเสร็จประมาณปี 2030 แต่ในส่วนของสนามแข่งขันคาดว่าจะเสร็จทันเปิดฤดูกาล 2027-28
“มหาวิหาร” บ้านใหม่ของมิลานและอินเตอร์
ย้อนไปยังวันที่ 24 มิถุนายน 2019 เอซี มิลาน และอินเตอร์ มิลาน ออกแถลงการณ์ร่วมถึงแผนการสร้างสนามใหม่และคาดให้แล้วเสร็จทันเปิดใช้การแข่งขันซีซัน 2022-23 แต่จุยเซปเป ซาลา นายกเทศมนตรีมิลานและชาวเมืองเรียกร้องและกดดันให้สโมสรเก็บรักษาสนามซาน ซีโร อย่างน้อยถึงโอลิมปิกและพาราลิมปิกฤดูหนาวในปี 2026 ซึ่งมิลานและ Cortina d’Ampezzo เป็นเจ้าภาพ
บ้านใหม่ของสองสโมสรยักษ์ใหญ่วางการออกแบบด้วยการอ้างอิงเมอร์ซิเดส-เบนซ์ สเตเดียม สนามเหย้าของทีมอเมริกันฟุตบอล แอตแลนตา ฟาลคอนส์ และทีมฟุตบอล แอตแลนตา ยูไนเต็ด ในรัฐจอร์เจีย ประเทศสหรัฐอเมริกา และวันที่ 21ธันวาคม 2021 Populous บริษัทออกแบบสถาปัตย์ชั้นนำของโลก ซึ่งรับผิดชอบโครงการสร้างสนามเวมบลีย์ สเตเดียม, เอมิเรตส์ สเตเดียม และท็อตแนม ฮ็อตสเปอร์ สเตเดียม ได้รับเลือกให้ออกแบบสนามแห่งใหม่
สนามนี้ใช้ชื่อชั่วคราวว่า Nuovo Stadio Milano แต่ต่อมารู้จักกันดีในสมญานาม The Cathedral ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจาก Galleria Vittorio Emanuel II ศูนย์การค้าที่เก่าแก่ที่สุดในโลกซึ่งมีรูปแบบสถาปัตยกรรมฟื้นฟูเรอแนซ็องส์ และDuomo di Milano หรืออาสนวิหารมิลาน
การออกแบบอยู่ภายใต้แนวคิดต้องการให้เป็นสนามกีฬาที่ยั่งยืนที่สุดในยุโรป พร้อมโครงสร้างที่นั่งเอื้ออำนวยให้แฟนบอลอยู่ใกล้ชิดกับนักฟุตบอลและการแข่งขันมากที่สุด นอกจากนี้แสงภายในสนามยังสามารถปรับเปลี่ยนสีไปตามสโมสรที่ลงแข่งขัน สีแดงสำหรับเอซี มิลาน และสีน้ำเงินสำหรับอินเตอร์ มิลาน คล้ายกับอลิอันซ์ อารีนา ในนครมิวนิก ประเทศเยอรมนี
ย้อนทรงความจำเกือบร้อยปีของ “ซาน ซีโร สเตเดียม”
*** สนามซาน ซีโร มีความจุ 75,923 ที่นั่ง ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของทวีปยุโรป (ไม่รวมสนามกีฬานานาชาติอย่างเวมบลีย์และสตาด เดอ ฟรองส์) เป็นรองเพียง คัมป์นู ของบาร์เซโลนา, เวสท์ฟาเลินชตาดิโยน ของโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ และซานติอาโก เบร์นาเบว ของเรอัล มาดริด
*** สนามซาน ซีโร สร้างในเขตซาน ซีโร ก็เพราะปิเอโร พิเรลลี ประธานสโมสรขณะนั้นของเอซี มิลาน เป็นเจ้าของสนามแข่งม้าที่อยู่ในเขตนี้ จึงเป็นเรื่องสะดวกสำหรับเขาที่จะหาที่ดินสร้างสนามฟุตบอลใหม่เท่านั้นเอง
สนามเริ่มก่อสร้างในปี 1925 และเพียงปีเดียวก็เสร็จสมบูรณ์โดยมีค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น 5 ล้านลีร์ สนามถูกใช้เพื่อจัดแข่งขันฟุตบอลเท่านั้นเนื่องจากไม่มีลู่กรีฑา ช่วงแรกสามารถรองรับแฟนบอลได้ราว 35,000 คน
*** สนามเริ่มใช้แข่งขันฟุตบอลอย่างเป็นทางการนัดแรกในวันที่ 19 กันยายน 1926 ระหว่างสองสโมสรคู่อริในเมือง เอซี มิลาน กับ อินเตอร์ มิลาน โดยช่วงทศวรรษแรก เอซี มิลาน เป็นเจ้าของสนามซาน ซีโร จึงถือเป็นการลงสนามแมตช์เหย้าของพวกเขา ผลปรากฏว่าเจ้าถิ่นแพ้อย่างราบคาบ 3-6
*** ต่อมาเมืองมิลานเข้ามาซื้อสนามซาน ซีโร และลงมือขยายสนามเป็นครั้งแรกในปี 1935 อัฒจันทร์โค้งบริเวณหลังเสาธงทั้งสี่ด้านถูกสร้างเพิ่มเติม พร้อมต่อเติมหลังคาเหนืออัฒจันทร์บางด้าน ส่งผลให้ความจุสนามเพิ่มขึ้นเป็น 55,000 คน
*** ช่วงสองทศวรรษแรก อินเตอร์ มิลาน เล่นนัดเหย้าในสนาม อารีนา ซีวิกา ซึ่งตั้งอยู่ในย่านดาวน์ทาวน์ของมิลาน จึงต้องไปเล่นซาน ซีโร สเตเดียม ในฐานะทีมเยือน จนกระทั่งสโมสรเริ่มรู้สึกว่าสนามตัวเองเล็กเกินไปแล้วจึงย้ายไปใช้สนามซาน ซีโร ร่วมกับเอซี มิลาน ตั้งแต่ปี 1947
*** หลังสองสโมสรใช้สนามร่วมกัน ซาน ซีโร สเตเดียม กลายเป็นสถานที่คับแคบไปอีกครั้งนำไปสู่การขยายสนามครั้งใหญ่ช่วงต้นปี 1948 ซึ่งแผนแรกนั้น สถาปนิกวางเป้าหมายให้สนามรองรับแฟนบอลให้ได้มากถึง 150,000 คนจากจำนวนเดิม 55,000 คน หนึ่งในการออกแบบที่ร่างไว้คือเพิ่มอัฒจันทร์ชั้นที่สามอยู่เหนือทุกอัฒจันทร์ที่มีอยู่เดิม
แต่ภาพฝันที่จินตนาการไว้ไม่เกิดขึ้นจริง มีการเพิ่มเติมเพียงอัฒจันทร์ชั้นที่สองเท่านั้น ทำให้จำนวนลดเหลือ 100,000 คน แต่ต่อมาด้วยเหตุผลความปลอดภัยในปี 1955 จำนวนผู้ชมลดลงเหลือ 85,000 คน แบ่งเป็น 60,000 ที่นั่ง และแฟนบอล 25,000 คนที่ยืนเชียร์
ปี 1957 สนามทำการติดตั้งระบบไฟฟ้าเพื่อใช้งานเวลากลางคืน และปี 1967 ได้มีการนำสกอร์บอร์ดอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาใช้
*** ระหว่างปี 1987 ถึง 1990 เป็นช่วงเวลาปรับปรุงสนามครั้งสำคัญ อัฒจันทร์สามด้านได้มีการเสริมที่นั่งชั้นพิเศษอยู่เหนืออัฒจันทร์สองชั้นเดิม ภาพลักษณ์ของสนามเก่าถูกปรับโฉมให้ดูทันสมัยขึ้น โซนยืนเชียร์หายไปกลายเป็นสนามที่สามารถจุได้สูงสุด 85,700 ที่นั่ง
การรีโนเวทใหญ่นี้ก็เพื่อใช้เป็นสนามจัดการแข่งขันเวิลด์คัพ 1990 ที่อิตาลีเป็นเจ้าภาพ แม้ค่าใช้จ่ายสูงถึง 60 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ส่งผลให้ซาน ซีโร สเตเดียม เป็นสนามฟุตบอลที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก
นอกจากใช้เป็นสังเวียนฟุตบอลโลก 3 นัดในปี 1934 และ 6 นัดในปี 1990 สนามซาน ซีโร ยังถูกนำไปรองรับการแข่งขัน 3นัดของยูโร 1980 รวมถึงนัดชิงชนะเลิศยูโรเปียน คัพ ปี 1965 (อินเตอร์ มิลาน เป็นแชมป์) และปี 1970 (เฟเยนูร์ด เป็นแชมป์) ก่อนที่รายการนี้จะเปลี่ยนชื่อเป็น แชมเปียนส์ ลีก สนามเคยเป็นสังเวียนชิงชนะเลิศในปี 2001 (บาเยิร์น มิวนิก เป็นแชมป์) และปี 2016 (เรอัล มาดริด เป็นแชมป์)
*** มวยสากลและรักบี้เคยจัดขึ้นที่สนามซาน ซีโร ในปี 1960 และ 2009 ตามลำดับ แต่บ้านของสองทีมฟุตบอลเป็นที่คุ้นเคยดีของแฟนเพลง เป็นหนึ่งในสถานที่จัดคอนเสิร์ตแห่งใหญ่ของอิตาลีมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980 ประเดิมด้วยอัพไรซิ่ง ทัวร์ของศิลปินเร็กเกระดับตำนานอย่าง บ็อบ มาร์เลย์ และเดอะ เวลเลอร์ส เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 1980
*** วันที่ 22 พฤษภาคม 2020 หน่วยงานดูแลมรดกวัฒนธรรมของอิตาลีอนุมัติให้ทำลายสนามซาน ซีโร ซึ่งเริ่มใช้งานเมื่อปี 1926 โดยสนามจะถูกใช้งานครั้งสุดท้ายในโอลิมปิกฤดูหนาวปี 2026 ซึ่งหาก Nuovo Stadio Calcistico San Siro ยังอยู่ คงมีการจัดงานฉลองครบหนึ่งร้อยปีให้กับสนามแทนที่จะเริ่มทุบทิ้ง
เรียบเรียง : ฐปน วันชูเพลา
Senior Football Editor