มันน่าจะต้องมี “เหตุผล” เป็นร้อยเป็นพัน หรือ “ไม่มี” เลยแม้แต่ข้อเดียว ที่ทำให้เรา แฟนบอล หลงรักฟุตบอล และเฝ้าติดตามทีมโปรด หรือข่าวคราวของ The most beautiful game เกมกีฬาที่สวยงามที่สุดในโลกชนิดนี้
สำหรับ “ขอบเขต” งานในวันนี้ ผมได้ศึกษา และวางโครงเรื่องจากหัวข้องานชื่อ The ‘peculiar’ economics of professional football leagues หรือลักษณะพิเศษทางเศรษฐศาสตร์ของฟุตบอลลีกอาชีพ นะครับคร่าว ๆ ผมได้สรุปจาก “หัวข้อ” เนื้อหาที่ได้เรียนมาจาก ศาสตราจารย์คริสตีน เอาจ์ตัน (Christine Oughton) อาจารย์ของผมที่ Birkbeck College เมื่อ 10 กว่าปีก่อนนะครับ และเขียนเรื่องนี้อยู่เรื่อย ๆ แต่ปรับรายละเอียดให้เหมาะสมกับ “บริบท” ตามช่วงเวลาที่เขียนนะครับ
ทั้ง 6 ข้อ “เหตุผล” ตรวจสอบแล้วว่า ยังคงเหมาะสมกับการ “อ้างอิง” ได้อยู่ และมีดังนี้ (ตรวจสอบคอร์สปริญญาโท Sports Management and The Business of Football – MSc. ได้ที่นี่นะครับ http://www.bbk.ac.uk/…/postgraduate/programmes/TMSSMBUF_C
1.)
1.) “ฟุตบอล” เป็นผลผลิตร่วมระหว่าง “ลีก” และ “สโมสรฟุตบอล” (Joint product) ที่ต้องอาศัยกัน และกัน เพราะฟุตบอลจะเตะกันเอง ดูกันเอง ทีมเดียวไม่ได้ ต้องมีคู่แข่งขันมาร่วมด้วย และมีการจัดการลีกที่ดี เป็นในทิศทางเดียวกันตามหลักเกณฑ์จากผู้ปกครองสูงสุด (ฟีฟ่า)
แต่ธุรกิจทั่วไปจะไม่จำเป็นต้องทำเช่นนั้น และอาจจะเป็นการดีกว่า หากเราริเริ่มธุรกิจใหม่ได้ก่อน เนื่องจากจะไม่มีคู่แข่ง (Monopoly) อันสามารถกำหนดราคา หรือควบคุมกลไกการตลาดได้
ในแง่นี้ “พรีเมียร์ลีก” เป็นต้นแบบแรกเริ่มที่ทำได้ค่อนข้างดีนับจากแยกจาก “ดิวิชั่น 1” เดิม มาก่อตั้ง “พรีเมียร์ลีก” ในปี ค.ศ.1992
เพราะอย่างน้อย มันได้เห็นซึ่งความพยายามในการรวมตัว และร่วมมือกันค่อนข้างสูงระหว่างลีก และสมาชิก พอ ๆ กับการสร้างให้เกิดความเข้มข้นในการแข่งขันกัน (Competitiveness)
สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย และบริษัทไทย ลีก จำกัด ในฐานะองค์กรสูงสุดในด้านการบริหารจัดการฟุตบอลในประเทศไทยก็มีนโยบายด้านนี้ที่ชัดเจน และดีขึ้นสอดคล้องกับนโยบาย “ฟีฟ่า” พื้นฐานจะมาจากกฎ “คลับ ไลเซนซิ่ง” ที่จะเป็นเสมือนใบเบิกทางพื้นฐานของสโมสรสมาชิกที่จะปฏิบัติตามแตกต่างกันไปตามมาตรฐานของ T1, 2, 3 และ 4
การจัดการด้านต่าง ๆ ก็คัดสรรทีมงานมืออาชีพเข้ามาผ่านกระบวนการสากล เช่น pitching หรือเสนองานจนถูกคัดเลือก หรือประมูล เช่น Plan B กับการได้สิทธิ์เป็นผู้ดูแลสิทธิประโยชน์ของสมาคมฯ และไทยลีก เป็นเวลา 3 ปีโดยเปิดซองชนะอีก 2-3 บริษัท เป็นต้น รวมถึง “ทุกด้าน” ของการบริหาร เช่น เทคนิค, ข้อมูลสถิติ, สื่อสารองค์กร, จัดการแข่งขัน, ฝ่ายผู้ตัดสิน ที่ถูกแบ่งแยกการทำงานไว้ชัดเจนร่วมกับสโมสรสมาชิก
2.) ธุรกิจฟุตบอลจะมีการกระจายรายได้ (Redistribution) ภายในลีก และระหว่างลีกใหญ่สู่ลีกเล็กรวมไปถึงทีมใหญ่รายได้ดีสู่ทีมเล็กรายได้น้อยเพื่อช่วยให้ลีก และทีมฟุตบอลแต่ละทีมมีความสมดุลกันมากที่สุด (Competitive Balance)
เพราะหาก “ช่องว่าง” ระหว่างลีกมีมากขึ้น หรือทีมเล็กนับวันยิ่งเล็กลงขณะที่ทีมใหญ่โตเอา ๆ โดยไม่ได้มีมาตรการใด ๆ ค้ำจุนเลย ที่สุดแล้วฟุตบอลก็จะดูไม่สนุก คาดเดาผลการแข่งขันได้ง่ายเนื่องจากความเหลื่อมล้ำที่มีมากอันจะนำมาซึ่งคนดูหนีหาย สปอนเซอร์ไม่สนใจ และสุดท้าย “เม็ดเงิน” ก็จะไม่ตกสู่ทั้งทีมเล็ก และทีมใหญ่ในลีก
ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ธุรกิจฟุตบอลจำต้องอาศัยกุศโลบาย “รวมกันเราอยู่ แยกกันเราตาย” ตามคอนเซ็ปต์ “ผลผลิตร่วม” (Joint products) ระหว่างลีก กับสโมสรฟุตบอล นั่นเองบ้านเราก็จะเห็นข่าวการมอบเงินให้สโมสรต่าง ๆ จากลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด หรือจะเรียกว่า เงินบำรุงสโมสรก็สุดแล้วแต่
โดยทะยอยจ่ายเป็นงวด ๆ ไปเท่า ๆ กัน หาใช่จ่ายให้แชมป์มากสุด หรือทีมบ๊วยน้อยสุดแต่ “ไทยลีก” ยังไม่มีการช่วยเหลือทีม “ตกชั้น” จาก T1 ไป T2 หรือที่ “พรีเมียร์ลีก” อังกฤษเรียกว่า “Parachute money” เพื่อไม่ให้ทีมตกชั้นต้องเจอภาวะ “เคยรวย” มา “ยากจน” ฉับพลันเกินไป (เนื่องจากรายได้ “ทุกทาง” เช่น ค่าตั๋ว, สปอนเซอร์, ลิขสิทธิ์ทีวี, ของที่ระลึก จะลดลงฮวบฮาบ)
ประเด็นแบบนี้เราจะไม่ได้เห็นในธุรกิจอื่น ๆ เป็นอันขาด เพราะธุรกิจทั่วไปมีแต่จะได้เห็น “ปลาใหญ่” กิน “ปลาน้อย” ปลาสร้อยจนสูญพันธุ์ซะมากกว่าจะคิดแม้จะแค่เจียดเงินมาช่วย “ศัตรู”
3.) แฟนบอล (ลูกค้า) จะมีดีกรีความซื่อสัตย์สูงชนิดไม่จำเป็นต้องมี “เหตุผล” เพราะมันเป็นความรัก + ผูกพันด้วยใจโดยไม่มี “ผลประโยชน์” แอบแฝง
ดังจะเห็นได้จาก แฟนบอลทีมหนึ่งจะไม่เปลี่ยนใจไปเชียร์อีกทีมหนึ่งแม้ทีมตัวเองจะไม่ประสบสำเร็จ หรือย่ำแย่เพียงใดก็ตามแต่หากฟุตบอลเป็นเสมือน “โปรดักต์” อื่น ๆ แฟนบอล (ลูกค้า) จะพร้อมเปลี่ยนไปใช้ผลิตภัณฑ์ “ยี่ห้ออื่น” ที่ดีกว่า ถูกกว่า แพ็คเกจดูดีกว่า คุ้มค่ากว่าได้ทันที
และตลอดเวลาทว่ากับฟุตบอลนั้นไม่ใช่ “โปรโมชั่น” นั้นไม่จำเป็น หนำซ้ำความซื่อสัตย์ยังสามารถส่งผ่านไปสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน เจนเนอเรชั่น ต่ออีกเจนเนอเรชั่นได้อีกด้วย
4.) ฟุตบอลเป็น “เกม” หรือเป็น “ธุรกิจ” ที่แตกต่างจากธุรกิจอื่น ๆ เพราะจะมีจุดมุ่งหมายพร้อม ๆ กัน 2 ประการ นั่นคือ ชนะในสนาม และ “ไม่แพ้” หรืออยู่ได้โดยไม่ขาดทุนนอกสนาม
อย่างไรก็ดีครับ “จุดมุ่งหมาย” 2 ประการนี้จะขัดแย้งกันเองโดยธรรมชาติ เพราะหากต้องการจะประสบความสำเร็จในสนาม สโมสรฟุตบอลก็ต้องใช้เงิน “ลงทุน” กับการซื้อตัวผู้เล่น หรือไม่ก็เป็นค่าเหนื่อยผู้เล่นที่ส่วนมากแล้วจะใช้เต็มจำนวนงบประมาณที่มีไม่นับการปรับปรุง “สาธารณูปโภค” ต่าง ๆ สำหรับทีม และแฟนบอล เช่น สนามซ้อม, ที่นั่งสนามแข่ง, ห้องน้ำ, สนามหญ้า ฯลฯ เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อการเล่นทีม และเพื่ออรรถรสในการชมฟุตบอลของแฟน ๆ
ขยับจากนั้นอีกขั้นก็คือ หน้าที่เพื่อสังคม ดังจะได้เห็นกิจกรรม CSR (Corporate Social Responsibilities) ต่าง ๆ มากมาย และเป็น “ภาคบังคับ” ที่ต้องกระทำ โดยเฉพาะโปรแกรมเพื่อเยาวชน และชุมชนที่สโมสรฟุตบอลก่อตั้ง ที่สุดแล้ว “กำไร” อย่าว่าแต่จะไม่เหลือเลย การทำงบดุลไม่ให้ติด “ตัวแดง” ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายแล้ว
ฉะนั้นในทาง “อุดมคติ” ฟุตบอลจึงไม่ใช่ธุรกิจที่ผู้ถือหุ้นไม่ว่าจะในฐานะนิติบุคคล หรือบริษัทมหาชนจะ “นั่งรอ” ผลกำไรปลายปีเฉกเช่น ธุรกิจในอุตสาหกรรมอื่น ๆ ครับ
5.) ตลาดแรงงานนักฟุตบอลนั้นมีกฎระเบียบค่อนข้างละเอียดอ่อนกว่าธุรกิจอื่น ๆ และผู้เล่นชั้นดีจะมีอำนาจในการต่อรองเงินเดือน และการเลือกทีมสูงมาก ลองดูราคานักเตะไทยใน “ไทยลีก” ที่เหมือนมีเยอะ แต่จริง ๆ แล้วมีน้อยมาก (นักเตะดีจริง ๆ)
ฉะนั้นจึงได้เห็นว่า ราคาการย้ายทีม (ค่าตัว) และเงินเดือนรวมเป็นแพ็คเกจแต่ละครั้งจะสูงมากไม่ว่าจะภายใน หรือต่างประเทศ
กวินทร์ ธรรมสัจจานันท์, ชนาธิป สรงกระสินธ์ ต้องมีไม่ต่ำกว่า 2 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือจะธนบูรณ์ เกษารัตน์, ฐิติพันธ์ พ่วงจันทร์ ในการย้ายในประเทศระดับ 50 ล้านบาท เงินเดือนนักเตะทีมชาติชุดใหญ่คิดว่าเท่าไหร่? ในเวลาที่ “ตัวท็อป” ไม่ติดทีมชาติมี 2 แสนอัพ หรือสามแสนกว่าไปแล้ว
อลิสสัน เบคเกอร์ ย้ายไปลิเวอร์พูลในตำแหน่งผู้รักษาประตูที่ 67 ล้านปอนด์ ถามว่าแพง ก็แพง แต่ตำแหน่งนี้หาไม่มี หรือที่มีก็ “ไม่ขาย” ราคาที่หงส์แดงจ่าย หรือตัวอย่างบางนักเตะไทยข้างต้นจึง “สะท้อน” ว่า นักเตะชั้นดีสามารถมีอำนาจต่อรองราคาที่ต้องการได้เลือกทีมได้ด้วย เช่น ธิโบต์ คูร์ตัวส์ อยากจะไปเรอัล มาดริด ใครจะทำไม, โรนัลโด้ เบื่อแล้วกับเกือบ 10 ปีที่มาดริดขอไปกินมะกะโรนี ยูเวนตุส ค่าตัว 100 ล้านปอนด์ แต่แค่วันเดียวก็ขายเสื้อได้ 50 ล้านปอนด์แล้วกระมัง
ส่วนตลาดแรงงานก็แล้วแต่สถานการณ์ ทว่ากฎระเบียบปรับได้ตลอด (อ่านด้านล่างกฎนักเตะต่างชาติของไทย) และขึ้นตรงกับ “ฟีฟ่า” เช่น หากมีคดีฟ้องร้องใด อาทิ สัญญาไม่เป็นธรรม, ไม่จ่ายค่าเหนื่อย ฯลฯ ผู้เล่นสามารถส่งตรงให้หน่วยงานของ “ฟีฟ่า” พิจารณาได้เลยไม่จำเป็นต้องใช้กฎหมายในประเทศนั้น ๆ และ “ฟีฟ่า” สามารถสั่งปรับเงิน, คะแนน ถึงขั้นระงับทีมไม่ให้เข้าร่วมการแข่งขันได้เลยโดยตรง
6.) ฟุตบอลเป็นเกมที่ควบคุมโดยกฎกติกาสากล ผสมผสานกับการบริหารโดยรัฐบาลลูกหนังหลายระดับตั้งแต่ระดับประเทศ, นานาชาติ, ทวีป และโลก คอยควบคุมดูแล, ปรับปรุง และแก้ไข เพื่อคุณภาพที่ดีของเกมพูดแล้วจะ “ยาวไหม” (555) เช่น ล่าสุดก็กับกฎนักเตะอาเซียน 3 คน, ต่างชาติ 3 คน และเอเชีย 1 คนของฟุตบอลลีกบ้านเราประเด็นคงไม่แตะว่า “เหมาะสม” หรือดีที่สุดไหม? แต่จะบอกว่า มันตอบโจทย์เรื่องการ “ปกครอง” เด็ดขาด และเบ็ดเสร็จโดยรัฐบาลลูกหนังที่ไม่จำเป็นต้องอิงกฎหมายนานาชาติใด ๆ
ข้อสรุปดังกล่าว อาจใช้แค่ซีซั่นเดียว และปรับเปลี่ยนอีกก็ได้ตามกระบวนการของรัฐบาลลูกหนังไทย แต่ต้องสอดคล้อง และรับรองโดย “ฟีฟ่า”
โดยเรื่องเกี่ยวข้องกับ “ฟุตบอล” ทุกเรื่อง ฟีฟ่าจะมีหน่วยงานรองรับการทำงานเสมือนเป็น “รัฐบาลกลาง” ของลูกหนังโลก ที่มีอำนาจสิทธิ์ขาด
จุดนี้จึงมีทั้ง “ข้อดี” และไม่ดีได้เหมือนกัน เช่น อำนาจบางครั้งก็อาจก่อให้เกิดการคอรัปชั่นเพราะการ “ตัดสินใจ” ขึ้นอยู่กับกลุ่มคน หรือคณะทำงานภายในไม่กี่คน
แต่ข้อดี คือ การบริหารจัดการจะเป็นในทิศทางเดียวกัน และเบ็ดเสร็จจากส่วนกลาง-ทั้งหมดในวันนี้ มีเป้าหมายจะนำเสนอในด้านที่ “แตกต่าง” อีกมิติหนึ่งของกีฬา “ฟุตบอล” โดยเฉพาะในเชิงเศรษฐศาสตร์ การบริหาร และจัดการกีฬาฟุตบอลโดยเฉพาะในส่วนการจัดการแข่งขันระดับลีก และบอลถ้วย รวมถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับทุกผู้มีผลประโยชน์ร่วม (stakeholders) เช่น แฟนบอล, นักเตะ, ผู้สนับสนุน, พันธมิตรหวังว่า เมื่อทราบ “ความต่าง” นี้ เรา ๆ ท่าน ๆ แฟนบอลจะหลงรักฟุตบอลมากยิ่งขึ้นนะครับ
Author : ณัฐวุฒิ ประเทืองศิลป์
Editor – in – chief