Categories
Column

5 มีนาคม วันนักข่าวแห่งชาติ

รวมเวลาเป็นสื่อเต็มตัว 1995 – 2008 คือ 13 ปี และประจำอยู่อังกฤษ 1997-2006 รวม 9 ปี ขณะงานการตลาดกีฬา ทำระหว่าง 2008-2013 หรือ 5 ปีให้ทรู วิชั่นส์ และสั้น ๆ กับ แอร์เอเชีย

จากนั้นก็ว่ายเวียนแบบไม่เต็มตัวนักในแวดวงสื่อกับธุรกิจส่วนตัว และงานทั้งทำคอนเทนท์ และ Sport Services กับ “ไข่มุกดำ” จนถึงปัจจุบัน และก็ยังเป็นสมาชิกอยู่กับสมาคมผู้สื่อข่าวกีฬาออนไลน์แห่งประเทศไทย ในตอนนี้

ดังนั้น ส่วนตัวจึงเห็นการเปลี่ยนแปลงพอสมควร ตั้งแต่ยุคเริ่มเข้าสู่โลกออนไลน์ คือ มีเว็ปไซต์ กระทั่งสู่โลกโซเชียลที่ทุกคนเป็นสื่อได้หมดในช่องทางของตัวเองเฉกเช่นปัจจุบัน

คำพูด “คลาสสิค” จากเพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ ก็คือ ทุกคนต้องปรับตัว และหลายคน หรือส่วนใหญ่ ต้องโบกมือลาไปประกอบอาชีพอื่น ๆ กันหมดแล้ว

ก็มองได้ว่า “โชคดี” ที่สถานการณ์อาจบีบให้หลายคนได้ออกไปเผชิญ และได้ทำอะไรที่ “ศักยภาพ” ตัวเองทำได้ที่ไม่ใช่การเป็นสื่อมวลชน

ส่วนที่เหลือก็ “โชคดี” เหมือนกันที่ยังได้ทำงานที่รัก และเป็นสิ่งเดียวที่ทำมาทั้งชีวิตต่อไปกับองค์กรตัวเอง หรือ “ช่องทาง” ใดช่องทางหนึ่ง หรือหลายช่องทางของตัวเองต่อไป

ไม่เฉพาะ “สื่อมวลชน” ที่โดน disrupt ทั้งจากโลกดิจิตอล หรือเพราะโควิด-19 ที่ยิ่งเข้ามาเป็น “ตัวเร่ง” ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตัวเอง และสังคม กับสิ่งที่ทำอยู่

แทบทุกอาชีพโดนกันหมดมากน้อย และเรียกร้องให้เรา ๆ “มนุษย์” ต้องปรับตัว และต่อสู้ และใช้ชีวิตกันต่อไป

เอาเป็นว่า วันนี้ 5 มี.ค.วันสื่อมวลชนแห่งชาติ หรือจะเรียก “วันนักข่าว” ในวันที่นักข่าวแทบไม่เหลือ ผมก็ขออนุญาตเอาใจช่วยทุก ๆ คน ทุก ๆ อาชีพ

เราจะสู้ไปด้วยกัน #YNWA

ปล.ภาพจาก “ยูโร 2008” ผมน่าจะเป็นคนหนึ่งที่เริ่มจากใช้เครื่อง Mac มาตลอดตั้งแต่ ค.ศ.1997 ก่อนจะเลิกใช้หลังทัวร์นาเมนท์นั้น และไม่เคยหวนกลับไปเลย

#ไข่มุกดำ

#วันนักข่าวแห่งชาติ

Categories
Special Content

“มาตรฐาน” ไทยลีก 2019

ฟุตบอลลีกสูงสุดของบ้านเรา “โตโยต้า ไทยลีก” หรือ “T1” ฤดูกาล 2019 เตรียมได้ฤกษ์ระเบิดฉากสุดสัปดาห์นี้เริ่มศุกร์ 22 ก.พ.แล้วนะครับ

ผมตั้งชื่อเรื่องแบบนี้ และมีคำว่า “มาตรฐาน” เพราะค่อนข้างมั่นใจจะได้เห็นคุณภาพฟุตบอลไทยที่ดีขึ้นในปีนี้ เพราะเชื่อว่าด้วยหลากหลาย “ปัจจัย” และสำคัญที่สุด คือ “เวลา”

ฤดูกาล 2019 น่าจะเป็นปีที่ “สุกงอม” กำลังดีของวงการฟุตบอลระดับสโมสรของเมืองไทยครับ 🙂

ในโซนหัวตาราง หรือ “ลุ้นแชมป์” การที่ บุรีรัมย์ ยอมปล่อย ดิโอโก้ หลุยส์ ซานโต ให้กับ ยะโฮร์ ดารุล ทักซิม นั่นเท่ากับเปิดช่อง “ความเสี่ยง” ในการป้องกันแชมป์ และช่วยขยับช่อง “โอกาส” ในการลุ้นแชมป์ให้เปิดกว้างมากขึ้น

แน่นอนครับว่า คุณเนวิน ชิดชอบ กล่าวมั่นใจว่า “ทุกครั้ง” ก็สามารถมีตัวแทนมาทำหน้าที่ได้โดยตลอด และในช่วงพรีซีซั่น ตัวแทนดาวเตะจากมาลี มาติโบ ไมก้า ก็ดูเหมือนว่าจะทำได้ดีไม่นับ เปโดร จูเนียร์ อีกคน

รวมกับนโยบาย “ปั้นเด็ก” และเก็บไว้ อย่าง ศุภชัย ใจเด็ด, สุภโชค สารชาติ, ศศลักษณ์ ไหประโคน, ศุภณัฎฐ์ เหมือนตา ฯลฯ ทำให้ซีซั่นนี้ จะเป็นปี “จุดเปลี่ยน” อีกครั้งของทีมได้ไม่ยาก

ถัดมาที่ต้องพุดถึง คือ ทรู แบงคอก ยูไนเต็ด กับความ “พร้อม” ซะขนาดนั้นด้วยการเสริมทัพนำโดย เนลสัน โบนีญ่า และทริสตอง โด กับพีระพัฒน์ โน๊ตชัยยา ความน่ากลัวจึงไม่ต้องพูดถึง และสโลแกน “The Time is now” ก็บ่งบอกแล้วว่า ท่านประธานสโมสรฯ คุณขจร เจียรวนนท์ เอาจริงเพียงใด

มาโน่ โพลกิ้ง ประกาศเช่นกันว่า นี่คือทัพนักเตะที่ดีที่สุด และสโมสรฯได้สนับสนุนให้ซื้อผู้เล่นในตำแหน่งที่ต้องการ

มาโน่ จะเจอบททดสอบที่ไม่มีข้อแก้ตัวใด ๆ ในฤดูกาลนี้ ไม่ว่าจะเล่นระบบ “หลัง 3” หรือระบบใด

แต่การ “ตกรอบ” คัดเลือก AFC แชมเปี้ยนส์ ลีก ให้ฮานอย เอฟซี ถือเป็น “สัญญาณ” แจ้งเตือน

ทรู แบงคอกฯ ต้องมีลุ้นถึงนัดสุดท้ายของฤดูกาลเท่านั้น!

เอสซีจี เมืองทอง กับการเติมทัพแบบ “รูปธรรม” โดยเฉพาะตำแหน่งนายทวารเวียดนาม-รัสเซีย ดัง วาน ลัม และเซนเตอร์ฮาล์ฟ โอ บัน ช็อก กับตำแหน่งต่าง ๆ ที่ค่อนข้างดีอยู่แล้วทำให้ผู้อำนวยการสโมสร คุณรณฤทธิ์ ซื่อวาจา กล่าวอย่างมั่นใจว่า พร้อมลุ้นทุกแชมป์

แต่ประเด็น ผมอยากให้เกาะติดการทำงานของ “โค้ชเบ๊” ไพโรจน์ บวรรัตนดิลก เพราะนี่คือ โค้ช “โลว์โปรไฟล์” ที่ดึงสิ่งที่ดีที่สุดจากผู้เล่น และวางแท็คติกส์แบบ “มัธยัสถ์” ได้ดีที่สุดคนหนึ่ง

แต่ “โค้ชเบ๊” จะเป็นอย่างไรกับทีมที่ใหญ่ขึ้น สตาร์มากขึ้น?

ส่วนตัวสอดแทรกก็หนีไม่พ้น การท่าเรือ เอฟซี ที่ยัง “เติมทีม” ไม่หยุด และได้ตัวอย่าง สุมัญญา กับโก ซุล กิ กลับไทยอีกหนมาเสริมแดนกลางให้แน่นปึ้ก และ “มาดามแป้ง” ก็ลั่นวาจาแล้วว่า ปีนี้ต้องมี “ถ้วย” ติดไม้ติดมือ

ทีมอย่าง สิงห์ เชียงราย ยูไนเต็ด ซึ่งเก่งฉกาจในการเล่นบอลถ้วย แต่ปีนี้ไม่มีกุนซือ อเล็กซานเดอร์ กามา และนายทวารฉัตรชัย บุตรพรหม แล้ว ทว่า “ทรัพยากร” ยังถือว่าเป็นหัวแถวทั้งตัวต่างชาติอย่าง บิล หรือตัวไทยที่ยังได้ขวัญใจผมเอง พีระพงษ์ พิชิตโชติรัตน์ มาเป็นกัปตันทีม

ชลบุรี เอฟซี ก็ไม่เคยลงทุนกับนักเตะต่างชาติมากเท่าปีนี้ที่นำโดย ลูเคียน อดีตดาวยิงจากพัทยา ยูไนเต็ด รวมถึงบรรดาดาวรุ่งก็ดูเหมือนจะ “พร้อม” กันมากขึ้นไล่ตั้งแต่ วรชิต กนิตศรีบำเพ็ญ, สิทธิโชค ภาโส.

ทีมอื่น ๆ ก็ถือว่า มีหลายทีมที่ล้วนอยู่ในข่ายลุ้น “ท็อป 10” ได้สบาย อาทิ สุพรรณบุรี, ราชบุรี, ประจวบฯ รวมถึงน้องใหม่ พีทีที ระยอง ที่เติมทัพได้น่าสนใจ เพราะได้ วิคเตอร์ คาร์โดโซ่ ปราการหลังมาจากเชียงราย และเอมมานูเอล เจย์ โธมัส อดีตดาวรุ่ง อาร์เซนอล มายืนหัวหอก

การหั่นเหลือ 16 ทีม หรือเตะเพียง 30 นัดเท่านั้น คือ “เนื้อ ๆ” ไม่มีหนังจากจำนวนทีมที่น้อยลง และแมตช์ที่ควรจะมีความหมาย และมีความใกล้เคียงกันมากขึ้น

สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ และไทยลีก มองตรงนี้ และหวังว่า ปีนี้จะได้เห็นมาตรฐานดังกล่าว แม้จะมีเสียงแว่ว ๆ แล้วว่า ฤดูกาลหน้าอาจจะกลับไปสู่ระบบ 18 ทีมอีกครั้งก็ตาม

ด้วยจำนวนแมตช์ที่น้อยลง ระยะเวลาทำงานของกุนซือจึงต้องน้อยลงไปด้วย และผมเชื่อว่า ประมาณ 3 เกมแรก, 5 เกม, 7-10 เกมแรกจะได้เห็นการปลดโค้ชกันเรื่อย ๆ (จริง ๆ ปลดกันไปตั้งแต่ยังไม่เปิดฤดูกาลแล้ว เช่น โชเซ อัลเวส บอร์จีส กับเชียงราย)

เพราะ “เวลา” ไม่มีเหลือให้รอคอย ขณะที่การเตรียมทีมปีนี้ คือ 4 เดือน เพราะฉะนั้นข้ออ้างว่า “ไม่พร้อม” ก่อนเปิดฤดูกาลจึงไม่มี!

การนำ VAR (Video Assistant Referee) มาใช้เป็นลีกแรกในอาเซียน และกำเนิดระบบโควต้าต่างชาติ 3+1+3 (ต่างชาติ + เอเชีย + อาเซียน) = 7 Maximum นักเตะที่ไม่ใช่ไทย มองในมุมบวก คือ มาตรฐานที่ดีขึ้นของลีก

VAR ไม่ว่าจะ “สมบูรณ์” ระดับไหนในการนำมาใช้ แต่ก็จะช่วยยกระดับการตัดสิน เช่นเดียวกับ “โควต้าต่างชาติ” ที่ไม่จำเป็นต้องใช้จนครบ ทว่านี่คือ “ทางเลือก” ของแต่ละสโมสร (ส่วนใหญ่ก็เลือกใช้โควต้า อาเซียน กันเท่าที่จำเป็นเท่านั้น)

โควต้า อาเซียน อย่างน้อย ๆ ทำให้ “นักเตะไทย” ขยับตัว และต้องปรับตัวหนี หากไม่อยากถูกทิ้งไว้กลางทาง และทำให้ได้เห็นนักเตะไทย “บิ๊กเนม” ยอมลงไปเล่นลีกรองมากขึ้นกว่าทุกปี

ขณะที่ นักเตะไทยใน T1 ก็จะนิ่งเฉย หรือเรียกค่าตัวแพงเกินจริงไม่ได้ เพราะสโมสรฯมีโอกาสเลือกสรรผู้เล่นมากขึ้น

นักเตะต่างชาติก็เช่นกันที่ต้อง “เก่งจริง” จึงจะอยู่รอดในไทยลีก หาไม่แล้วก็ต้องลงไปเล่นลีกพระรอง หรือกลับบ้านเก่าไป

ทั้งหมดนี้ยังไม่รวมแข้ง “ดาวรุ่งไทย” ที่แต่ละสโมสรฯเห็นพ้องต้องกัน และมีนโยบายสนับสนุนมากขึ้นอันทำให้ทีมชาติชุด ยู-23 ปี หรือนักเตะในช่วงอายุประมาณนี้มีความน่าสนใจ และมีศักยภาพจะพัฒนาเป็น “เจนเนอเรชั่น” ที่ดีที่สุด มีตัวเลือกมากที่สุด และรอแค่เวลาฉายแววเท่านั้น

ยิ่งในทีมชาติได้ อเล็กซาเดอร์ กามา ไปคุมทีม ขณะที่ “ช่องทาง” การพัฒนายังสามารถต่อยอดไป “เจ ลีก” เหมือนรุ่นพี่ ๆ ที่กำลังทำได้ดี

ทั้งหลายทั้งปวงทำให้ผมเชื่อว่า ปีนี้จะเป็น “ปีทอง” สำหรับฟุตบอลไทยไม่เฉพาะ T1 นะครับ

ดูไทยลีกครบทุกแมตช์ และไม่พลาดบอลทุกลีกดัง ที่ทรูวิชั่นส์แพลทินัม หรือ โกลด์ สมัครวันนี้ ฟรีค่าประกันอุปกรณ์ทุกจุด พร้อมรับ 1,000 ทรูพ้อยท์ ตั้งแต่วันนี้ - 31 มี.ค. 2562

สมาชิกทรูวิชั่นส์ สมัครทรู ซูเปอร์ ซอคเกอร์ เพียง 199 บาท ใช้ทรูมูฟเอชกด *482*199*สมาร์ทการ์ด# โทรออก

หรือคุ้มยิ่งขึ้น! สมัครพร้อมบริการ ทรู ไฟเบอร์ 1Gbps ครบ! ทั้งเน็ตไฟเบอร์พร้อมดูรายการดัง สนใจคลิก https://bit.ly/2KR1zgA

เพิ่มเติม โทร. 02-700-8000 หรือ ทรูช้อป

#ไข่มุกดำ

#FootballThai

Categories
Column

“Gerard Houllier” 1947-2020

ทว่าต้องรอกระทั่งไปถูกส่งโดยหนังสือพิมพ์ “โลกกีฬา” ไปทำข่าวที่อังกฤษ ค.ศ.1997 ถึงจะเริ่ม “อิน” และลึกซึ้งกับการชอบกุนซือ และเริ่มสนใจมุมมองโค้ชมากขึ้น

กับ เชราร์ด ฮุลลิเยร์ คงไม่ต้องพูดอะไรมากกับช่วงเวลาระหว่าง 1998 -2004 กับทีมที่ผมได้ “เรียนรู้” ผ่านบทสัมภาษณ์สมกับการเป็น “คุณครู” มาก่อน และก็ได้เรียนรู้ภาษาอังกฤษแบบสวย ๆ จากอดีตกุนซือลิเวอร์พูลรายนี้มากมาย

เฉพาะอย่างยิ่ง วิธีคิด และสื่อสารออกมาได้ดีมาก

“ลายเซ็น” ฮุลลิเยร์ที่แปะมานี้ ผมได้ตอนไปทำข่าว “ยูโร 2000” ซึ่งฮุลลิเยร์ เป็น “ทีมเทคนิค” ของ “ยูฟ่า” และก็เหมือนทุก ๆ ลายเซ็นที่ผมขอจากนักเตะ หรือโค้ช คือจะต้องมีคำว่า “To Top” หรือ “ให้ท็อป” ซึ่งเป็นชื่อเล่นของผมอยู่ด้วย

นอกจากการวาง “รากฐาน” และเปลี่ยนทัศนคติ กับแนวคิดระดับ “ปฏิรูปทีม” หงส์แดงแบบที่ทราบ ๆ กันแล้ว

ส่วนตัวขอเลือกคำว่า “take initiative” ในบริบทของเชราร์ด มาฝากนะครับ

คำ ๆ นี้ ทำให้ผมเริ่มค้นคว้า ศึกษา และต่อยอดมุมมองการทำข่าว เขียนข่าว จนมี “ลายเซ็น” การเขียนแบบทุกวันนี้

Take initiative เป็นคำที่ ฮุลลิเยร์ ใช้บ่อยในระดับหนึ่ง แปลในที่นี้ได้ว่า “ช่วงชิงความได้เปรียบ (ก่อน)”

ขยายความได้ว่า จะ “ต่อยก่อน” ก็ได้ หรือจะรอจังหวะสองแบบมวย โจเซ่ มูรินโญ่ คือ “รอโต้” (เพราะหลบได้ก่อนแล้วสวนโดนเขาก่อน!) ก็ได้เช่นกัน

ฟุตบอลในมุมการสื่อสารนี้จึงเป็นว่า ใครช่วงชิงความได้เปรียบ หรือ take initiative ได้ก่อนจะด้วยแท็คติกส์ หรือรูปแบบวิธีอะไรก็แล้วแต่จะมีโอกาสก้าวไปสู่ “ชัยชนะ” ได้มากกว่า

ฟุตบอลแบบ เยอร์เกน คลอปป์ คือ เราเป็นฝ่าย take initiative หรือ “เริ่มก่อน” แล้วต้องไม่โดนต่อยกลับด้วย

นั่นคือ เราจะไม่รอ หรือไม่เป็น “เนกาทีฟ ฟุตบอล” อันเป็นวัฒนธรรมของลิเวอร์พูลด้วยซึ่งต้องเล่นสนุก ใส่เต็มที่ บุกก่อน และเมื่อนั้นแฟนบอลจะชอบ รัก และเข้าใจกับความ “โพสิทีฟ” ในการเล่นของเรา

คำ ๆ นี้ take initiative จึงมีความหมายมากสำหรับผม จำได้ว่า เคยเปิด dictionary ดูก็ไม่พบ หรือไม่เข้าใจลึกซึ้งถึงแก่นแท้

ซึ่งก็เหมือน “ฟุตบอล” นั่นแหละครับ ยากลึกหยั่งถึงจะเข้าใจจนกระทั่งถึงเวลา ๆ หนึ่งของชีวิต และฟุตบอลยังไม่หยุดนิ่ง และสามารถต่อยอด เติบโตไปได้เรื่อย

ผมเองไม่ต่างอะไรกับนักบอล หรือคนใกล้ชิด มร.ฮุลลิเยร์ ทุกคนนะครับ และแม้จะ “ทางอ้อม” แต่ผมก็ได้เรียนรู้อะไรมากมาย

ขอบคุณ เชราร์ด ฮุลลิเยร์ นะครับกับช่วงเวลาบนโลกที่แสนวิเศษ และมีคุณค่าสำหรับผม และทุก ๆ คน

#YNWA

#RIPHoullier

#ไข่มุกดำ

#KMDTribute

Categories
Column

การรับชม “ลาลีกา” ในรูปแบบใหม่

นอกจากนี้ ในฐานะที่ “ไข่มุกดำ กรุ๊ป” เป็นพาร์ตเนอร์รายหนึ่งในบ้านเราให้กับลาลีกา ผมก็มีหน้าที่ในการติดต่อพาร์ตเนอร์ด้านโทรคมนาคมให้กับคุณ โจเซ่ เพื่อจะสานต่อ “นโยบาย 10 ปีลาลีกา” ที่จะมีเทคโนโลยีโดยเฉพาะ OTT (Over-the-top) แพลตฟอร์มเป็นเครื่องมือสำคัญ และเป็นตัวอักษร 3 ตัวที่ผู้นำลีกสเปน ฆาเบียร์ เตบาส ในฐานะประธานลาลีกา ให้ความสำคัญเอามาก ๆ

ทั้งนี้ แม้จะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จนวงการฟุตบอลทั่วโลกต้องปรับตัว แต่ในส่วนบอลสเปนเองมองว่า ไม่อยากให้โรคนี้ส่งผลกระทบถึงแผนการสร้างการเติบโตในระยะยาว และการมองหาหนทางสร้างรายได้ใหม่ ๆ อีกทั้งประธานลาลีกา ยังกล่าวว่า ลาลีกา มีแผนจะคัมแบ็กกลับมาให้แข็งแกร่งยิ่งกว่าเดิมหลังพ้นวิกฤติ โควิด-19 ไปแล้วอีกด้วย

โดยจากการให้สัมภาษณ์ผ่าน World Football Summit หรือ WFS แบบ LIVE สดตามแนวทาง Social Distancing เมื่อปลายปีที่ผ่านมาอันเป็นอีเวนต์ WFS ที่ผมเองเคยได้รับเชิญจาก “ลาลีกา” ให้เข้าร่วมเดินทางไปสัมมนาด้วยหลายหนทั้งในเมืองไทย และต่างประเทศ เตบาส พูดถึงการเติบโตของลาลีกาในโลกดิจิตอล และการเติบโตของรายได้ผ่านช่องทางใหม่นี้ว่าจะมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในอนาคตของฟุตบอล

“เราได้เริ่มต้นแผนฟุตบอล 10 ปีกันแล้ว ตอนนี้เรามีความเข้าใจเกี่ยวกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นด้านลิขสิทธิ์คอนเทนท์ที่เรียกว่า โสตทัศนูปกรณ์ หรือคอนเทนท์ภาพเคลื่อนไหว และเสียง (Audiovisual) ไปจนถึงประโยชน์จากการใช้เทคโนโลยี Over-the-top (OTT*) แพลตฟอร์ม ซึ่งเป็นสิ่งเข้ามาใหม่ และจะอยู่ต่อไปในแผนระยะยาวของการเปลี่ยนแปลงวิถีการติดตามฟุตบอล”

(OTT ง่าย ๆ คือ บริการด้านการสื่อสารไม่ว่าจะแพร่ภาพ หรือเสียงผ่านอินเทอร์เน็ตโดยผู้ให้บริการไม่ต้องลงทุนโครงข่ายสัญญาณเอง YouTube, Netflix, Viu พวกนี้จัดเป็น OTT ทั้งหมด)

“ผมคิดว่า อีกจนถึง 10 ปีข้างหน้า สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับเรา คือ การสร้างระบบนิเวศดิจิทัลที่มาจากการเชื่อมต่อหลายระบบ และบริการของโลกดิจิทัลเข้าด้วยกัน เราเองก็กำลังทำงานด้านนี้มาหลายปีแล้ว และได้ลงทุนมหาศาลไปกับมัน ไปกับการทำ OTT และการต่อต้านการชม (เข้าถึงสัญญาณ) แบบผิดกฎหมาย”

“มันมีแหล่งในการสร้างรายได้ที่อื่นที่เราพยายามเข้าหาในรอบหลายปีที่ผ่านมาที่มีความสำคัญ และน่าจะช่วยส่งเสริมการเติบโตด้านลิขสิทธิ์คอนเทนท์ภาพเคลื่อนไหว และเสียง เพราะมันจะมีโลกดิจิทัล OTT และหลากหลายบริการที่คุณสามารถจะหยิบยื่นให้กับแฟนบอลทั่วโลกได้เลือกใช้บริการตามต้องการ”

การเริ่มต้นของ “ลาลีกา พาส”

ลาลีกา จะเป็นเจ้าของการบริการ OTT, LaLigaSportsTV ซึ่งเปิดตัวไปเมื่อต้นปี 2019 อันถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ ลาลีกา มองว่า จะเป็นย่างก้าวสำคัญต่ออุตสาหกรรมฟุตบอลในอนาคตอีก 10 ปีข้างหน้า

“แน่นอน นั่นถือเป็นโมเดลที่ฉลาดสำหรับการเติบโตของลีก เรากำลังทำงานกันอยู่ และใกล้แล้วกับเป้าหมาย ลาลีกา พาส” เตบาส พูดถึง NBA League Pass ที่ NBA ถือลิขสิทธิ์คอนเทนท์ และเป็นเจ้าภาพดูแลเรื่องให้บริการสมาชิกเอง เทียบเคียงกับกำเนิด ลาลีกา พาส

“ลาลีกา พาส จะเป็นโปรดักต์ที่ยืดหยุ่นกับแต่ละประเทศทั่วโลก และสามารถนำเสนอให้เกิดการทำงานร่วมกันกับสื่อถ่ายทอดสดในแต่ละพื้นที่ได้ มันจะเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้คนชอบลาลีกามาก ๆ เฉพาะอย่างยิ่งซูเปอร์แฟนตัวยงที่อาศัยในท้องถิ่นซึ่งเข้าถึงแค่การถ่ายทอดสดได้ไม่กี่แมตช์ หรือแค่ไฮไลต์ในแต่ละสัปดาห์ โดยคุณจะทำให้แฟน ๆ เหล่านี้ได้เสพคอนเทนท์มากกว่าที่พวกเขาต้องการ และจะช่วยให้บรอดคาสเตอร์สร้างมูลค่าจากคอนเทนท์ได้มากขึ้น”

อย่างไรก็ดี กว่าจะวันนั้น และเป้าหมายแผนการ 10 ปีผ่านเทคโนโลยี OTT และคุณภาพของการผลิตงานประกอบเกมฟุตบอล เช่น วิชวลเอฟเฟคต์ และกราฟฟิค ทันสมัยต่าง ๆ เพื่อออกอากาศโดยการร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ในแต่ละประเทศ

ลาลีกา ก็เหมือนลีกฟุตบอลทั่วไปที่ต้องผ่านเป้าหมายระยะสั้นต่อสู้กับ “โควิด-19” ให้ได้เสียก่อน และนั่นคือเป้าหมายร่วมกันของโลกฟุตบอลเลยก็ว่าได้ครับ

สุดท้าย หากได้อ่านถึงตรงนี้ เรื่องวันนี้อาจ “ล่วงหน้า” ไปสักนิด แต่ชาวเราเริ่มจะ “เข้าใจ” และคุ้นชินกันมากขึ้นแล้วล่ะครับผ่านการชมฟุตบอลผ่านกล่อง เช่น TrueID TV หรือ AIS Play Box ที่จะมีคอนเทนท์ฟุตบอลหลากหลายของ broadcasters เช่น ทรู วิชั่นส์, beIN Sports, UEFA ฯลฯ ซ่อนอยู่ภายใน

ทั้งหมด คือ OTT รับชมผ่านกล่องรับชม หรือผ่านการ Cast จากมือถือ และอุปกรณ์ที่ใช้สัญญาณอินเทอร์เน็ตเป็นตัวกลางขับเคลื่อนสัญญาณให้เราได้ชมทั้งภาพเคลื่อนไหว และเสียงแบบไม่กระตุก เพราะโลกทุกวันนี้ สัญญาณเน็ตเร็วปรี๊ดเพียงพอแล้ว

ที่พูดในวันนี้ หมายความว่า ต่อไป “ลีกยุโรป” จะมีโมเดล “ขายตรง” คอนเทนท์ฟุตบอลอีกช่องทางหนึ่งโดยไม่ผ่าน broadcasters ท้องถิ่น หรือร่วมมือกัน หรือแยกกัน หรืออะไรก็สุดแล้วแต่เพื่อประโยชน์สูงสุดของทั้งผู้ชม (แฟนบอล) และโอเปอเรเตอร์ท้องถิ่น และลีกเอง

ที่สำคัญ คือ โลกของ “ของฟรี” คอนเทนท์ฟรี ก็อาจไม่มีแล้วเช่นกัน แต่ทว่าราคาไม่น่าจะแพงหูฉี่ครับ

คิดเห็นกันอย่างไร เมาท์ได้เช่นเคยจ๊ะ

#ไข่มุกดำ

#LaLiga

#KMDLaLiga

Categories
Column

ลาลีกาในโลกโซเชียล

ได้เห็นการเติบโต การเปลี่ยนแปลงของโลกยุคดิจิตอล และการตลาดออนไลน์ ที่ไม่แน่ใจจะนิยามอย่างไรนะครับ แต่ส่วนตัวยังมองเป็น Marketing 4.0 และเป็นการทำ Content Marketing พื้นฐานองค์ความรู้

ผม และทีมงานจะมีสอนหนังสือเร็ว ๆ นี้ ในเรื่อง Content Design, Content Marketing ให้กับมหาวิทยาลัย นเรศวร วันที่ 16 ก.พ.นี้ และที่คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เดือน เม.ย.

ไว้น่าจะได้มา “แชร์ข้อมูล” ผ่านพื้นที่ตรงนี้ให้ได้ขยับรอยหยักในสมองกันขำ ๆ บ้างเหมือนที่เคยทำนะครับ

กับเรื่องเช้านี้ อยากจะเล่าถึงการแข่งขันบนสื่อสังคมออนไลน์: Facebook, Instagram, Twitter และ TikTok. ของสโมสรในลาลีกา แน่นอนว่าเรอัล มาดริด และบาร์เซโลน่า เป็น 2 สโมสรใหญ่ที่ดึงดูดความสนใจจากแฟนฟุตบอลทั่วโลกได้มากที่สุด

อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งแรกของซีซั่น 2020/21 ได้มีบางสโมสร มีจำนวนผู้ติดตามในอัตราที่เพิ่มขึ้นแบบน่าประหลาดใจ และมีบางสโมสร ที่สร้างการมีส่วนร่วม (engagement) ในอัตราที่เพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ

เป็นการสะท้อนให้เห็นว่า สโมสรในลีกสูงสุดของสเปน มีมากกว่าการแข่งขันในสนาม มากกว่าฐานแฟนบอลที่แท้จริงบนโลกใบนี้ นั่นคือการแข่งขันบนโลกโซเชียล โดยไม่ต้องคำนึงว่า จะเป็นสโมสรใหญ่หรือไม่

เพราะมันคือ การผลิต Content และการวางแผนการจัดการบริหารเนื้อหาในแพลตฟอร์มโซเชียลยุคใหม่ที่ทีมเล็กมีสิทธิ์สู้กับทีมใหญ่ได้แบบไม่เป็นรองเป็นเรื่อง “ในสนาม”

ทีมที่มีจำนวนผู้ติดตามเพิ่มขึ้นมากที่สุด 10 อันดับแรก

ข้อมูลจากฝ่ายธุรกิจของลาลีกา พบว่าทั้ง 20 สโมสรในลีกสูงสุด มีผู้ติดตามใหม่ (new followers) เพิ่มขึ้นรวมกันมากกว่า 26 ล้านคน ในช่วงครึ่งแรกของซีซั่น 2020/21

สโมสรที่มีจำนวนผู้ติดตามใหม่เพิ่มขึ้นในอัตราสูงสุด ติด 10 อันดับแรก คือ กาดิซ ทีมน้องใหม่จากแคว้นอันดาลูเซีย จากปรากฏการณ์ล้มยักษ์ เอาชนะได้ทั้ง เรอัล มาดริด และบาร์เซโลน่า โดยมีผู้ติดตามเพิ่มขึ้นถึง 57.9 เปอร์เซนต์ ผ่าน Facebook, Instagram, Twitter และ TikTok. โดยสามารถมีผู้ติดตามใหม่ได้ถึง 197,000 คนในช่วงเวลานี้

อันดับ 2 อูเอสก้า กับการอยู่ในลาลีกาครั้งที่ 2 ในรอบ 3 ซีซั่นหลังสุด เพิ่มขึ้น 20.5 เปอร์เซ็นต์ ตามมาด้วยเซบีย่า เพิ่มขึ้น 15.4 เปอร์เซนต์ หรือคิดเป็นตัวเลขเพิ่มขึ้นถึง 613,000 followers อันทำให้พวกเขากลายเป็นทีมที่มีจำนวนผู้ติดตามมากสุดเป็นอันดับ 4 ตามหลังบาร์เซโลน่า, เรอัล มาดริด และแอตเลติโก มาดริด อย่างเต็มภาคภูมิ

ส่วนอันดับถัด ๆ มาตามเปอร์เซนต์การเติบโตของจำนวนแฟนบอลหน้าใหม่ เรียงตามลำดับดังนี้ เออิบาร์ (15.2 เปอร์เซนต์), เอลเช่ (14.8 เปอร์เซนต์), เกตาเฟ่ (14 เปอร์เซนต์), บียาร์เรอัล (14 เปอร์เซนต์), กรานาดา (11.8 เปอร์เซนต์), เรอัล บายาโดลิด (11 เปอร์เซนต์) และโอซาซูน่า (10.5 เปอร์เซนต์)

รวมควมแล้ว คือ 10 อันดับแรกที่มีส่วนสำคัญทำให้ยอด Followers ใหม่พุ่งสูงเป็น 26 ล้านคน

ทีมที่มีส่วนร่วมบนสื่อสังคมออนไลน์มากที่สุด 10 อันดับแรก

ข้อมูลจากฝ่ายธุรกิจของลาลีกา พบว่าทั้ง 20 สโมสรในลีกสูงสุด มีการโต้ตอบบนแพลตฟอร์มโซเชี่ยลมีเดียรวมกันมากถึง 1.8 พันล้านครั้ง ในช่วงครึ่งแรกของซีซั่น 2020/21

ทีมที่มีส่วนร่วม (engagement) ติด 10 อันดับแรก ได้แก่ เซลตา บีโก้ กับเทคนิคการสร้างภาพกราฟิกที่ให้ผู้เล่นเป็นตัวละครในวิดีโอเกมช่วงยุค 1980 รวมไปถึงการเปลี่ยนโค้ชคนใหม่อย่าง เอดูอาร์โด้ คูเดต์ ที่พาทีมชนะ 5 นัดติด ในช่วงปลายปี 2020 พร้อมกับฟอร์มที่ดีของ ญาโก อัสปาส

แม้เซลต้า บีโก้ จะมีผู้ติดตามบนสื่อออนไลน์น้อยที่สุดเป็นอันดับ 2 ในลาลีกา แต่สัดส่วนการมีส่วนร่วมของพวกเขา มีมากถึง 1,431 ต่อการโพสต์ 1 ครั้ง มีจำนวนการโพสต์ทั้งหมด 3,410 โพสต์

นั่นน่าจะเป็นผลมาจากความครีเอทีฟในการสรรสร้างเนื้อหา และผลงานในสนามบางช่วงบางตอนที่สำคัญของทีม

อันดับ 2 เป็นอูเอสกา ทีมที่มีสัดส่วนการมีส่วนร่วมบนโลกออนไลน์ 1,408 ต่อโพสต์ แต่สวนทางกับผลงานในสนามฟุตบอลที่ไม่ดีเท่าที่ควร ต้องดิ้นรนหนีการตกชั้น

อันดับ 3 กาดิซ มีสัดส่วนการมีส่วนร่วม 1,217 ต่อโพสต์, อันดับ 4 กรานาดา ที่มีผลงานดีทั้งในลีก และถ้วยยูโรป้า ลีก สัดส่วน 1,170 ต่อโพสต์, อันดับ 5 เป็นของโอซาซูน่า สัดส่วน 1,096 ต่อโพสต์, อันดับ 6 เกตาเฟ่ สัดส่วน 1,040 ต่อโพสต์

อีก 4 อันดับที่เหลือ จะเป็นสโมสรที่มีการมีส่วนร่วม คิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 1,000 ต่อโพสต์ ประกอบด้วย เอลเช่ (971), เรอัล เบติส (892), เรอัล บายาโดลิด (818) และแอธเลติก บิลเบา (503)

จากข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ลาลีกาได้ไปถึงทั่วทุกมุมโลกเรียบร้อยแล้ว การเข้ามาของสื่อออนไลน์ ทำให้การติดตามฟุตบอลสเปนมีชีวิตชีวากว่าที่เคย ในยุคที่ดิจิทัลครองโลกเช่นทุกวันนี้

สุดท้าย ลาลีกา คือ ลีกฟุตบอลลีกหลักของโลกลีกเดียวที่มี “ตัวแทน” มาประจำการทำงานอยู่เมืองไทย คุณโฮเซ่ มาเรีย โกตอร์ ที่ล่าสุดแจ้งยืนยันให้ผม และทีมเป็น 1 ในตัวแทนสัมภาษณ์ “ออนไลน์” กับ สตีฟ แม็คมานามาน ในฐานะทูตลูกหนังลาลีกา แต่ผมก็จะแอบแทรกคำถามลากถึงลิเวอร์พูลด้วยนั่นแหละ (555) เหมือนตอนคุยกับ หลุยส์ การ์เซีย

ปล.คอนเทนท์นี้ สนับสนุนโดย “ลาลีกา” นะครับ ต้องขอขอบคุณด้วยครับ

#ไข่มุกดำ

#LaLiga

#KMDFootballBusiness

Categories
Special Content

มากกว่าภาพยนตร์สารคดีกีฬา

ผมเคยคุยกับ “พีชชี่” พีชชงพีชชี่ ว่า ฟิลลิ่งมีแฟนนั่งดูบอลด้วยกันมันคงจะดีนะ?

คำตอบก็ “ใช่” แม้จะเชียร์คนละทีม (พีชชี่ แมนฯยูฯ และแฟนนาง ลิเวอร์พูล) และมีการบลัฟกันพอหอมปากหอมคอ เหมือนเรากับเพื่อนในแกงค์ผู้ชายอ่ะนะ

แต่นางก็บอกว่า มีแฟนไม่ดูบอลก็ดีนะ เพราะหัวเรื่องที่คุยกันก็จะไม่มีฟุตบอล เป็นเรื่องอื่น ๆ เรื่องโน้นเรื่องนี้ไป

ก็เท่ากับว่า มีเรื่องให้คุยกันหลากหลาย เป็นสีสัน เป็นส่วนผสมของ “ความต่าง” ว่างั้น...

เมื่อวาน ตอนผม LIVE แฟนผมนั่งชมระหว่างนั่งแท็กซี่กลับ “โฮมออฟฟิศ & คอฟฟี่” ไข่มุกดำ craft coffee เธอก็เกิดคำถามขึ้นมาอีกว่า “ทำไมต้องอินกันด้วยยามแมนฯยูฯแพ้ ลิเวอร์พูลแพ้ ฯลฯ? เพราะเราไม่ได้อยู่ประเทศอังกฤษซะหน่อย”

มันคือ คำถามปกติคำถามหนึ่งของคนไม่ดูบอล ไม่เข้าใจฟุตบอล ไม่เกี่ยวว่าจะเป็นเพศใด

เต็มที่เธอก็จะถามว่า วันนี้ทีมของผม ลิเวอร์พูล เจอใคร? เก่งไหม? อันดับเท่าไหร่? แล้วก็อวยพร “ขอให้ชนะนะ!”

แต่ก็ไม่เคยอยากจะนั่งชม หรือสนใจอะไรใด ๆ อีก เว้นเสียแต่ว่า หากไม่ลืมก็จะมาถามว่า เมื่อคืนใครชนะ?

แน่นอน เธอไม่เข้าใจระบบแข่งขันแบบลีก แบบบอลถ้วย เกมยุโรป หรือพักเบรกทีมชาติ อย่างไม่ต้องสงสัย และคงยากจะอธิบาย

อย่างไรก็ดี ผมได้รับเชิญจาก “สหมงคลฟิล์ม” ให้ไปชมภาพยนตร์ The End of the Storm รอบสื่อเมื่อวันจันทร์ 25 ม.ค.ที่ผ่านมาที่สยามพารากอน

ผมพาแฟนไปด้วย และนั่นน่าจะเป็น “ครั้งแรก” ที่เธอได้มีประสบการณ์นั่งชม “ฟุตบอล” แม้จะเป็นสารคดีฟุตบอลก็ตามทีเป็นเวลาร่วม 2 ชั่วโมง

ก็ถือเป็นการใช้เวลาร่วมกัน แม้ไม่ใช่นั่งดูเกมฟุตบอลที่บ้าน หรือไปที่สนามด้วยกันเป็นครั้งแรก

ผมถามเธอว่า รู้สึกอย่างไร? เข้าใจคนดูฟุตบอล? หรือเข้าใจทีมลิเวอร์พูลดีขึ้นไหม?

เอาจริง ๆ ความเข้าใจฟุตบอลของเธอก็ยังเหมือนเดิม แต่ความเข้าใจในทีมลิเวอร์พูล และเยอร์เกน คลอปป์ ซึ่งทำหน้าที่เสมือนคนเดินเรื่อง (ถ่ายทำใหม่) นั่งเล่าผ่านฟุตเทจภาพซ้อม ภาพต่าง ๆ หรือมีแอนิเมชั่น มาสลับตอนหาภาพไม่ได้กับ subtitle ไทยที่แปลได้มันส์ดี เป็นภาษาบอล คือ ดีขึ้น

เพลง You’ll never walk alone ขับร้องโดย ลาล่า เดล เรย์ ศิลปินสาวระดับมีชื่อคัดเลือกชิงรางวัลแกรมมี จัดว่า “ซึ้ง” กินใจ สะกดคนดูได้ทั้งโรง

เรื่องราวฤดูกาลที่ผ่านมาที่ถูกถ่ายทอดภายใต้ชื่อหนัง The End of the Storm อันเป็นคำชุดหนึ่งในเพลง YNWA สามารถย้อนความทรงจำปีที่ผ่านมา ปี Covid Pandemic แต่ทีมฝ่าฟันทุกอุปสรรคจนได้แชมป์ที่รอคอย 30 ปีได้เป็นอย่างดีด้วยฝีมือของ อดัม บูลล์มอร์ โปรดิวเซอร์ซีรีส์ This is Football และเจอมส์ เออร์สคิน ผู้กำกับสารคดีเชิงกีฬาตัวท็อป

เรื่องจึงถูก “เล่าเรื่อง” อย่างดีจากคลอปป์ สลับด้วยเซอร์เคนนี ดัลกลิช ผู้นำพาทีมคว้าแชมป์สมัยสุดท้ายก่อนหน้านี้ 1989/90 และเป็นตัวแทนมอบโทรฟี พรีเมียร์ลีก ด้วยตนเองในสนามปิดแอนฟิลด์ แบบได้อรรถรสด้วยข้อมูลอินไซด์หลายมุม หลายประเด็น

คลอปป์ จะมีคำพูดสวย ๆ อยู่แล้ว ส่วนท่านเซอร์จะมาในแนวอารมณ์ดี มียิ้มมุมปาก แต่เปี่ยมล้นด้วยพลังงานขั้นสุดเหมือนเดิม

The End of the Storm ไม่ได้เล่าย้อนทุกเหตุการณ์สำคัญละเอียดนักระหว่างทาง 30 ปี แต่ก็มีบ้าง ทว่าเน้นไปที่ซีซั่นที่ผ่านมาเป็นหลักตลอด 99 นาที

ในเชิงสิ่งที่ได้เรียนรู้จากภาพยนตร์ ยังไงเสีย เรื่องแรงบันดาลใจ ยังคงมีได้เสมอ แม้เวลา ณ ตอนนี้จะเลยผ่านจุดพีคของความเป็นแชมป์มาอีกครึ่งฤดูกาลใหม่ (แต่หนังฉายช่วงเดือน พ.ย.ที่อังกฤษ) มาสักพักแล้ว

นอกจากนี้ ผู้ชมยังได้รู้ถึงความรู้สึกนึกคิดของ บอสส์ ในบางด้าน บางมุม ที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน เพราะสิ่งเหล่านี้ถูกเหลามาเล่าเป็น story telling สำหรับสารคดีนี้โดยเฉพาะ

ดังนั้น สิ่งที่ทราบอยู่แล้วจะถูก “ตอกย้ำ” เป็นแรงบันดาลใจที่ดี ขณะที่สิ่งใหม่ที่ได้เรียนรู้ก็จะทำให้เรารู้จักคลอปป์ และบางด้าน บางมุม ของทีมมากยิ่งขึ้นได้อีก

ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่จำเป็นต้อง “รีวิว” หรือตัดเกรด เหมือนเสื้อแข่งสโมสรที่ไม่ว่าจะออกแบบมาอย่างไร ยี่ห้อใด เราก็ชอบ และพร้อมจะสนับสนุน แม้ใจจะเห็นอยู่แล้วว่า เสื้อทีมอื่นอาจจะสวยกว่า

แต่เราก็จะซื้อเฉพาะเสื้อลิเวอร์พูล!!

ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงเป็นอีกครั้งของการแสดงออกอันเป็น “สัญลักษณ์” ของความเป็นแฟมิลี ความรัก ความผูกพัน ระหว่างสโมสร และแฟน ๆ

ในที่นี้ คือ แฟนบอลชาวไทย แบบที่ทีมอื่น ๆ ไม่มีโอกาสจะได้แสดงตน

สุดท้าย สำหรับคนที่แฟนไม่ดูบอล

นี่คือ “โอกาสเดียว” ที่คุณจะได้จับมือแฟนของคุณนั่งชมเรื่องราวทั้งใน และนอกสนามของทีมโปรดไปด้วยกัน

โดยหากคุณ “โชคดี” เหมือนผม แฟนคุณแม้จะ “ไม่เข้าใจ 100%” แต่เขาจะเปิดรับความรักในรูปแบบนี้ของคุณกับฟุตบอลอย่างแน่นอน

#TheEndOfTheStorm

#ไข่มุกดำ

#สหมงคลฟิล์ม

#KMDReview

Categories
Column

“ลาลีกา” ในประเทศไทย

เมื่อเย็นวันจันทร์ 7 ก.ย.หลังกลับจากพักผ่อนใกล้กรุงแถว ๆ นครนายก และเขาใหญ่ 2 วัน ผมมีคิวนัดกับ “ลาลีกา ไทยแลนด์” โดยตัวแทนประเทศไทย คุณ โจเซ่ มาเรีย โกตอร์ เป็นคนเชิญสื่อฟุตบอลออนไลน์มาคุย ทานอาหารสเปนกันที่ UNO MAS รร.เซนทารา แกรนด์

ตามภาพนะครับ หัวใหญ่ ๆ บนโลกฟุตบอลออนไลน์บ้านเราระดับล้าน ระดับแสนเพจไลค์ไปกันพร้อมเพรียงประมาณ 10 คนตั้งแต่ ตัวแทนช่อง 3, เพจขอบสนาม, Mainstand, Goal Thailand, วิเคราะห์บอลจริงจัง, เดอะนัทซัดหมดแมกซ์, มายด์เปี๊ยกบางใหญ่ ส่วนผมเองเพจเล็ก ๆ แต่อาศัยว่า แก่สุดตามฟอร์ม และทำงานกับคุณโจเซ่ ตั้งแต่รู้จักกันมา 3 ปีนับจากแกมาอยู่เมืองไทย จึงได้รับเชิญให้ไปร่วมงานต่าง ๆ ของแกเสมอ

หลัก ๆ ก็เคยจัดงานอีเวนต์คล้าย Meet and Greet “ฟุตซอล” ตอน ฟัลเกา มาแข่งชิงแชมป์สโมสรโลกบ้านเราบริเวณ Stadium One และตอนนี้ก็ช่วยพูดถึงคอนเทนท์ “ลาลีกา” (โพสต์ที่มีโลโก้ “ลาลีกา” คู่กับ “ไข่มุกดำ” เช่นโพสต์นี้ รบกวนช่วยกดไลค์ แชร์ หรือเมนท์ให้หน่อยนะครับ) และเล่าเรื่องบอลสเปนในมุมของผมเองแบบเรื่อง ริเคลเม, ชาบี้ อลองโซ่ ฯลฯ ที่เคยเขียนไป

ลาลีกา จะเปิดฉากสุดสัปดาห์ที่จะถึงนี้แล้ว พร้อมกับพรีเมียร์ลีก, ไทยลีก นั่นแหละ และก็ไม่ต่างจากลีกทั่วโลกที่เปิดฤดูกาลกันแถว ๆ เวลานี้แบบพิษโควิด-19

แต่ที่แตกต่างคือ นโยบายการตลาดที่มีตัวแทนไปทั่วโลก เช่น คุณโจเซ่ คือตัวแทน มีออฟฟิศไทย และจะดูแลตลาดเวียดนาม, ลาว, กัมพูชา และเมียนมาร์ ด้วย

ปีแรกจะเน้นบ้านเราเป็นหลักก่อนปีที่ 2 และปีนี้ปีที่ 3 จะเริ่มเดินทางไปอีก 4 ชาติมากขึ้นกระทั่งโควิด-19 แต่ก็ถือว่าโลกดิจิตอลช่วยได้มาก

“ตอนนี้แคมเปญ หรือการสื่อสารก็จะใช้วิธีติดต่อกัน และเป็นกิจกรรมบนโซเชียล เช่น Tik Tok, Instagram โดยเราแม้จะเสียสปอนเซอร์ไป 2 รายแต่ก็ได้ใหม่เข้ามา 5 รายซึ่งก็ถือว่าทำได้ดีกับเศรษฐกิจแบบนี้ โดยประเทศไทยคือตลาดที่พัฒนาที่สุด และมีฐานแฟนบอลมากที่สุด” คุณโจเซ่ กล่าว

ในมุมของผม (คนไทย) ก็รู้สึกดีนะ ที่ตัวแทนลีกสเปนให้เกียรติเชิญมาคุยกัน สอบถามกัน และเชื่อว่า น้อง ๆ คนอื่น ๆ ก็คงจะโอเครเช่นกัน

พรีเมียร์ลีก หรือลีกอื่น ๆ ไม่ทำ หรืออาจจะมี แต่ก็จะมีออฟฟิศในประเทศหลัก ๆ อย่าง จีน, ญี่ปุ่น, ฮ่องกง หรือสิงคโปร์ สำหรับตลาดเอเชีย

ดังนั้นถือว่าในจุดนี้ ลาลีกา “ได้ใจ” ในการสร้างความสัมพันธ์ด้วยกลุยุทธ์ส่งตัวแทนมาปักหลักเหมือนเป็น “ทูต” ของลีกในเมืองไทย

นอกจากเรื่องโปรดักซ์หลัก คือ ลาลีกา ทั้ง ซานทานแดร์ และ SmartBank แล้ว การทำ CSR ร่วมกับสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยอำนวยความสะดวกทีมชาติเยาวชนไปแข่ง และเก็บตัวที่สเปนก็ทำมาแล้ว

วันศุกร์นี้ 11 ก.ย.ก็เตรียมเช่นกันว่าอาจจะแถลงข่าวเปิด MOU กับสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ

สำหรับฤดูกาลนี้ กิจกรรมแรกจากลาลีกาจะเริ่มวันพุธที่ 9 ก.ย.เวลา บ่าย 2 โมง ถึง 3 ทุ่ม

ฟุตบอลยักษ์ PUMA จำลองจากแมตช์บอลจริงสำหรับจะใช้อย่างเป็นทางการในศึกฟุตบอลลีกสเปนซีซั่นนี้ จะถูกสร้าง และนำมาให้แฟน ๆ บอลชาวไทยได้ยลโฉม และถ่ายภาพร่วมกลางกรุงเทพฯ บริเวณ BTS ช่องนนทรี

ลูกฟุตบอลอย่างเป็นทางการนี้ถูกใช้ชื่อว่า “อดรีนาลีน” (Adrenaline) เป็นรุ่นเอดิชั่นพิเศษสีเหลืองผลิตเพื่อแมตช์โดดเด่นสำคัญที่สุดของฤดูกาล เช่น เอลกลาสซิโก ระหว่าง เรอัล มาดริด และบาร์เซโลน่า หรือดาร์บี้แมตช์อื่น ๆ ของบอลสเปน (ลูกบอลอีกใบจะชื่อว่า Accelerate ซึ่งแปลว่า เร่งความเร็ว โดยจะใช้ในเกมที่เหลือทั้งหมดของลีก ลาลีกา ซานทานแดร์ และลาลีกา SmartBank) โดยลูกบอลยักษ์ใบนี้ที่จะจัดแสดงในกรุงเทพมหานคร และผลิตจากวัสดุพิเศษ Porex มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 3.5 เมตร

เพิ่มเติมเรื่องกิจกรรมก็คือ แฟน ๆ สามารถร่วมกิจกรรม QR code สำหรับแคมเปญฤดูกาลใหม่รวมถึงดาวน์โหลดฟิลเตอร์ IG เจ๋ง ๆ หรือร่วมชาลเลนจ์ผ่านแอพพลิเคชั่น Tik Tok ได้ด้วยเช่นกัน

สำหรับลูกบอลยักษ์ จะมีจัดแสดงเพียงปะเทศ เม็กซิโก, แคเมอรูน, อเมริกาใต้, เยอรมัน และอียิปต์ นอกเหนือจากประเทศไทยที่ถูกจัดขึ้นนะครับ

ดังนั้น หากใครว่าง ก็เรียนเชิญกันได้

นอกจากนี้ โครงการร่วมกับภาคเอกชนนำนักบอลบ้านเราไปฝึก หรือหาประสบการณ์ที่สเปน แว่ว ๆ ก็เตรียมจะเปิดตัวเช่นกัน

ประเด็นผมวันนี้จึงอยู่ที่ เรา ๆ ท่าน ๆ ซึ่งติดตามบอลนอก (แต่ก็ขอให้มีบอลไทยในสายเลือดเหมือนเดิม และตลอดไปนะ) จะได้อย่างน้อยทราบว่า ลาลีกา มีตัวแทนในไทยมา 3 ปีแล้ว และก็ทำหน้าที่สนับสนุนบอลบ้านเราควบคู่กับการประชาสัมพันธ์ลีกสเปนอันเป็นงานหลักด้วยเช่นกัน

จริง ๆ ไม่ต้องทำ หรือไม่ต้องมีตัวแทนก็อาจจะได้

ส่วนบอลสเปนปีนี้ ถ่ายทอดสดทาง AIS Playbox และ beIN Sports Connect รวมถึงมี LIVE ที่เพจ “ขอบสนาม”

เหนือสิ่งอืนใด จะมี Podcast หรือรายการทอล์คกับคุณโจเซ่ทางเพจ “ไข่มุกดำ” เป็นประจำด้วยครับ

#ไข่มุกดำ

#LaLiga #LaLigaThailand