ช่วงต้นสัปดาห์ที่ลิเวอร์พูลกลับมาฝึกซ้อมที่แอ็กซ่า เทรนนิ่ง เซ็นเตอร์ หลังจบคิวอุ่นเครื่องสองนัดที่อาเซียน ก่อนจะเดินทางต่อไปเก็บตัวปรีซีซั่นที่เยอรมนีและออสเตรีย มีข่าวเล็กๆบนหน้าสื่อไม่กี่สำนักที่ลงข่าวลิเวอร์พูลต่อสัญญาอีกหนึ่งปีกับ โธมัส กรอนเนมาร์ค โค้ชชาวเดนมาร์กวัย 46 ปี เจ้าของสถิติโลกทุ่มบอลไกลระยะ 51.33 เมตร
ซีซั่น 2022-23 เป็นปีที่ 5 ที่กรอนเนมาร์คทำงานให้กับลิเวอร์พูลในตำแหน่ง “โธรว์-อิน โค้ช” ที่รับผิดชอบการทุ่มบอลเขาทำงานแบบพาร์ทไทม์จึงไม่มีชื่ออยู่ในสตาฟฟ์โค้ช แต่ภารกิจของอดีตนักกรีฑาและบ๊อบสเลด (เลื่อนน้ำแข็ง) ทีมชาติเดนมาร์กเปรียบเสมือนปิดทองหลังพระในความสำเร็จของทีมหงส์แดงยุคเยอร์เกน คล็อปป์
ถ้าอยากรู้ว่าผลงานของกรอนเนมาร์คเป็นอย่างไรบนสนามแข่งขัน ให้สังเกตการทุ่มบอลของศิษย์เอกสามคนได้แก่ เทรนท์ อเล็กซานเดอร์-อาร์โนลด์, แอนดี้ โรเบิร์ตสัน และ โจ โกเมซ
เมื่อวันจันทร์ที่ 18 กรกฎาคมที่ผ่านมา ขณะที่นักเตะลิเวอร์พูล 15 คนกำลังฝึกซ้อม นักข่าวเห็นกรอนเนมาร์คยืนอยู่กับคล็อปป์และดร.อันเดรียส ชลัมแบร์เกอร์ หัวหน้าฝ่ายฟื้นฟูสมรรถภาพ ไม่กี่ชั่วโมงต่อมากรอนเนมาร์คได้ทวีตยืนยันว่าเขาได้เซ็นสัญญาหนึ่งปีกับลิเวอร์พูล
“ผมภูมิใจที่จะบอกว่าได้ต่อสัญญากับลิเวอร์พูลอีกหนึ่งปีเป็นซีซั่นที่ห้าในฐานะโค้ชทุ่มบอล รวมถึงสโมสรฟุตบอลอาชีพอีกสามทีม ผมเริ่มทึ่งกับการทุ่มบอลหลังได้เห็นญาติๆที่เป็นพี่ใหญ่ของผมทุ่มบอลไกลช่วงกลางทศวรรษ 1980”
กรอนเนมาร์คไม่ได้ระบุชื่ออีกสามทีมที่เขาต่อสัญญาแต่ที่ผ่านมา เขาทำงานฟรีแลนซ์ให้กับ อาแจ็กซ์, ไลป์ซิก, เกนท์, แอตแลนตา ยูไนเต็ด และมิดทีลแลนด์
“คล็อปป์” ยังงงเมื่อรู้ว่าโลกลูกหนังมีอาชีพโค้ชทุ่มบอล
โธมัส กรอนเนมาร์ค เริ่มเข้ามาทำงานในแอนฟิลด์เมื่อเดือนกันยายน 2018 เยอร์เกน คล็อปป์ ซึ่งขณะนั้นคุมทีมหงส์แดงมาแล้วสามซีซั่นเต็ม เคยให้สัมภาษณ์ว่า “ด้วยความสัตย์จริง ผมไม่เคยได้ยินอะไรเกี่ยวกับโค้ชทุ่มบอลมาก่อน แต่พอรู้เรื่องราวของโธมัส ผมคิดทันทีว่าต้องเจอตัวเขาให้ได้ ซึ่งหลังได้คุยกันแล้ว มันร้อยเปอร์เซ็นต์เลยที่ผมต้องจ้างเขาให้มาทำงานกัน”
ทางด้านกรอนเนมาร์คเล่าถึงเหตุการณ์สี่ปีที่แล้วว่า “เมื่อเดือนกรกฎาคม 2018 ผมได้รับข้อความเสียง พอเปิดฟังในรถจึงรู้ว่าเป็นเยอร์เกน คล็อปป์ ผมถึงกับทรุดจมที่นั่งเมื่อได้ยินเสียงเขา”
“คล็อปป์บอกว่า สโมสรมีช่วงเวลาที่ดีในซีซั่น 2017-18 อันดับสี่พรีเมียร์ลีกและเข้าชิงแชมเปี้ยนส์ลีก (แพ้เรอัล มาดริด 1-3) แต่พวกเขาเสียบอลจากการทุ่มบ่อยมาก ตอนนั้นผมรับงานทีมอาชีพแปดแห่งทั่วโลก ส่วนใหญ่อยากได้การทุ่มไกล แต่ลิเวอร์พูลกับอาแจ็กซ์ชัดเจนว่าทุ่มไกลไม่ใช่แนวทางของพวกเขา ผมจึงโฟกัสเรื่องทุ่มบอลเร็วและฉลาดซึ่งเป็นเทคนิคที่ผมเริ่มทำงานประมาณปี 2007 ประเด็นหลักอยู่ที่การครองบอล เราจะรักษาบอลอย่างไรเมื่อต้องทุ่มบอลขณะถูกกดดัน เราจะสร้างโอกาสและทำประตูอย่างไรจากสถานการณ์ทุ่มบอล”
ถึงแม้กรอนเนมาร์คเป็นเจ้าของสถิติโลกทุ่มบอลไกลแต่ คล็อปป์บอกว่าระยะทางไม่ใช่เหตุผลหลักที่เขาสนใจโค้ชเมืองโคนมรายนี้
“หลังจากโธมัสเข้ามา การทุ่มบอลของเราได้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง แต่ไม่ใช่อย่างที่คนส่วนใหญ่คิดกันว่าเป็นเรื่องทุ่มบอลให้ไปไกลๆ ตอนนี้เรามีการทุ่มบอลที่แตกต่างกัน 18 วิธี แน่นอนเราต้องการครองบอลต่อหลังการทุ่มซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ มันไม่สมเหตุสมผลเลยถ้าทุ่มบอลไปแล้ว สถานการณ์จะเป็นแบบ 50-50 (โอกาสครองบอลต่อ) ซึ่งตรงนี้แหละที่พัฒนาการส่งผลอย่างมาก”
เมื่อราวกว่าสิบปีที่แล้ว รอรี่ เดแล็ป มิดฟิลด์ชาวไอริส ซึ่งเล่นให้ทีมสโต๊คระหว่างปี 2007 – 2013 รวมถึงปี 2006 ที่ถูกยืมตัวมาจากซันเดอร์แลนด์ เป็นผู้เล่นที่ขึ้นชื่อเรื่องการทุ่มบอลได้ไกล ซึ่งความสามารถพิเศษนี้มีส่วนช่วยให้ทีมช่างปั้นหม้อขึ้นมาเล่นพรีเมียร์ลีก แต่กรอนเนมาร์คยืนยันว่า เขาไม่ได้เข้ามาทำงานที่แอนฟิลด์เพื่อเปลี่ยนให้ลิเวอร์พูลเป็นแบบสโต๊ค
กรอนเนมาร์คเชื่อมั่นว่าเขาสามารถช่วยลิเวอร์พูลให้มีแต้มต่อพิเศษเพิ่มขึ้นจากการทุ่มบอลซึ่งเฉลี่ยแล้วตกนัดละประมาณ40-50 ครั้ง โค้ชวัย 46 ปี ไม่ได้สอนเพียงเทคนิค “การทุ่มบอลไกล” เท่านั้น แต่รวมถึง “การทุ่มบอลเร็ว” เพื่อนำไปสู่เคาน์เตอร์-แอทแท็ค และ “การทุ่มบอลฉลาด” ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อรักษาการครองบอลขณะตกอยู่ในสภาพกดดัน
เทคนิคหลักของกรอนเนมาร์คเปรียบเสมือนสามขาหยั่งของ Marginal Gains ซึ่งเป็นทฤษฏีว่าด้วยการปรับปรุงหรือสร้างความสำเร็จเพียงเล็กน้อยแต่เมื่อเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอก็สามารถนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่ได้
“ทักษะนี้สามารถช่วยนำไปสู่การทำสกอร์ แม้กระทั่งช่วยรักษาชีวิตของทีม ผมให้ความสนใจทุกแง่มุม ไม่ใช่เพียงเทคนิคการขว้าง แต่ยังรับบอลอย่างไร วิ่งไปตามทิศทางที่ถูกต้องและสร้างความได้เปรียบ การยืนตำแหน่ง และการสร้างพื้นที่ว่าง”
กรอนเนมาร์คเล่าถึงช่วงที่เริ่มต้นทำงานกับลิเวอร์พูลเมื่อปี 2018 ว่า โจ โกเมซ เป็นผลผลิตที่ออกดอกออกผลคนแรกของเขาที่แอนฟิลด์ เซ็นเตอร์แบ็คชาวอังกฤษเพิ่งย้ายมาจากชาร์ลตันเมื่อสามปีก่อนหน้านี้
“ถ้าเป็นกองหลังคู่แข่งขัน ผมคงไม่อยากอยู่บริเวณพื้นที่ที่โกเมซจะทุ่มเข้าไปหรอก หรือว่ากันตามจริงหากต้องแข่งกับลิเวอร์พูล ผมก็ไม่อยากให้บอลออกนอกสนาม (เพื่อให้ลิเวอร์พูลเป็นฝ่ายทุ่ม) ผมไม่ได้หมายถึงลิเวอร์พูลต้องทุ่มบอลไกลทุกครั้งที่มีโอกาสหรอกนะ แต่ใครจะไปรู้ล่ะว่าเมื่อไรพวกเขาจะทำมัน”
เอียน ไรท์ อดีตศูนย์หน้าอาร์เซนอล เคยให้สัมภาษณ์ว่า “ผมเห็นโจ โกเมซ ทุ่มบอลสวยๆให้ลิเวอร์พูล ซึ่งผมไม่เคยเห็นอะไรแบบนั้นมาก่อน ดูเหมือนกรอนเนมาร์คคงสอนอะไรบางอย่างให้กับเขา ต้องยอมรับเลยว่าลิเวอร์พูลได้รับประโยชน์จากเรื่องนั้น”
“เทคนิคทุ่มบอล” สร้างประโยชน์ให้ทีมฟุตบอลมากกว่าใครคาดคิด
ก่อนหน้ารับงานที่แอนฟิลด์เมื่อปี 2018 โธมัส กรอนเนมาร์ค เคยเป็นโค้ชทุ่มบอลให้กับ เอฟซี มิดทีลแลนด์ และ เอซี ฮอร์เซนส์ สองสโมสรหัวแถวของลีกเดนมาร์ก โดยซีซั่น 2017-18 มิดทีลแลนด์เพิ่งครองแชมป์เดนิส ซูเปอร์ลีกา สมัยที่สอง ส่วนฮอร์เซนส์ทำ 10 ประตูจากการทุ่มไกลในซีซั่นเดียวกัน ขณะที่ อันเดรียส พูลเซ่น แบ็คซ้ายชาวเดนส์ ซึ่งย้ายจากมิดทีลแลนด์ไปเล่นให้โบรุสเซีย มึนเชนกลัดบัค ในปี 2018 เพิ่มระยะการทุ่มจาก 25 เมตรเป็น 37.9 เมตรหลังได้รับการเทรนจากกรอนเนมาร์ค
“มีคนมากมายที่คิดว่างานผมเป็นเรื่องแค่ทุ่มไกล มิดทีลแลนด์ทำได้มากถึง 35 ประตูในสี่ซีซั่นจากเทคนิคนั้น คุณทำได้ถ้ามีทีมที่ใช่หรือเหมาะกับการทุ่มไกล แต่หลายทีมต้องการความรู้ของผมเพียงเรื่องทุ่มไกล ผมสัมผัสความรู้สึกนั้นได้”
บางทีสกอร์เกิดจากการทุ่มบอลเร็วและฉลาดจริงหรือไม่ เป็นสถานการณ์ที่ระบุชัดเจนได้ยาก แต่กรอนเนมาร์คยังมั่นใจว่า ทักษะทุ่มบอลมีอิทธิพลกับเกมลูกหนังอย่างแน่นอนเพราะมันช่วยให้เกมลื่นไหลและรวดเร็วขึ้น รวมถึงสร้างความสนุกสนานให้กับแฟนบอล
“นอกจากนี้ถ้าครองบอลได้มากขึ้น คุณก็มีโอกาสมากขึ้นที่จะเป็นผู้ชนะการแข่งขัน เช่นเดียวกับลูกเซต-พีชอย่างการเตะมุมและฟรีคิก มันสามารถสร้างความกดดันให้กับทีมคู่แข่งได้เช่นกัน”
อีกด้านหนึ่ง การทุ่มบอลผิดพลาดก็มีผลมากกว่าที่คาดคิด กรอนเนมาร์คกล่าวถึงประเด็นนี้ว่า “หลายทีมที่เล่นสไตล์โททัล ฟุตบอล อาจเสียบอลเมื่อโดนกดดันขณะทุ่มบอลเข้าสนาม เกมหนึ่งที่เป็นตัวอย่างที่ดีมากคือนัดชิงชนะเลิศแชมเปียนส์ ลีก ปี 2011 ระหว่างบาร์เซโลนากับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด”
“บาร์เซโลนาเล่นฟุตบอลสไตล์ติกี-ตากา แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด แทบไม่ได้ครองบอลเลยช่วงต้นการแข่งขัน บาร์เซโลนาเป็นฝ่ายนำ 1-0 (เปโดร นาทีที่ 27) แต่แล้ว เอริก อาบีดาล (แบ็คซ้าย) ต้องทุ่มบอลใกล้กรอบเขตโทษตัวเอง เขาทุ่มสั้นด้วยเทคนิคที่แย่ ทำให้แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ได้บอลและอีกห้าวินาทีต่อมา สกอร์ก็เป็น 1-1 (รูนีย์ นาทีที่ 34)” (หมายเหตุ : บาร์เซโลนาเป็นฝ่ายชนะ 3-1)
“ตามปกติจะมีการทุ่มบอลระหว่าง 30-50 ครั้งต่อนัด หากโค้ชคนไหนพูดว่าทีมเขาไม่เห็นต้องทำอะไรกับมันเป็นพิเศษเลย ผมมองว่าเขาเป็นโค้ชที่ขาดความทะเยอทะยานนะ”
“ทุ่มบอล” เป็นเทคนิคพิเศษที่มีความสำคัญต่อฟูลแบ็คและปีก
โธมัส กรอนเนมาร์ค เปิดเผยว่า การทุ่มบอลไกลมีเทคนิคอยู่ 25-30 ลักษณะ เขาจะใช้วิดีโอเพื่อนำมาวิเคราะห์และพัฒนาผู้เล่น ซึ่งเฉลี่ยแล้วจะทุ่มได้ไกลขึ้น 4-8 เมตร นั่นเท่ากับขยายพื้นที่ครอบคลุมถึงสองเท่า
“ลักษณะการทุ่มบอลไกลที่ดี อย่างแรกแน่นอนต้องเป็นระยะทาง แต่ความเร็วและทิศทางพุ่งเป็นแนวราบก็มีความสำคัญเช่นกัน มีหลายทีมที่มีผู้เล่นที่สามารถทุ่มบอลได้ไกลๆ แต่ถ้าสูงเกินไปก็ทำให้ฝ่ายตรงข้ามป้องกันหรือแย่งได้ง่ายขึ้นด้วย ถ้ามองลูกทุ่มที่ดี คุณจะเห็นมันวิ่งไปได้ไกล มีทิศทางเป็นแนวราบ และพุ่งออกไปอย่างแรง”
กรอนเนมาร์คระบุว่า การทุ่มบอลนับเป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับผู้เล่นตำแหน่งฟูลแบ็ค
“เป็นเรื่องสำคัญที่แบ็คซ้ายขวาต้องมีความสามารถทุ่มบอลไกล มีความจริงข้อหนึ่งที่ชี้ว่าหากต้องทุ่มบอลภายใต้สถานการณ์กดดัน พวกเขามีโอกาสเสียบอลถึงห้าสิบเปอร์เซ็นต์ ดังนั้นฟูลแบ็คจำเป็นต้องสามารถทุ่มบอลให้ไกลจากแดนตัวเอง ผลของมันไม่ได้มีแค่รักษาการครอบครองบอลแต่ยังสามารถเคาน์เตอร์แอทแท็คอีกด้วย”
อดีตนักเลื่อนน้ำแข็งทีมชาติเดนมาร์กให้ความเห็นว่า ถ้าเป็นไปได้ผู้เล่นทุกคนควรมีทักษะทุ่มบอลที่ถูกต้อง เพียงแต่ฟูลแบ็คเป็นตำแหน่งที่มีความจำเป็นสูงสุด รองลงมาคือผู้เล่นปีก
“การซ้อมมื้อแรก ผมจะเทรนแบ็คซ้ายขวา 6-10 คน เริ่มจากเซสชั่นพื้นฐาน การเคลื่อนตัว และบันทึกวิดีโอ จากนั้นเป็นการสอนเทคนิคบางอย่าง ผมจะพิจารณานักเตะด้วยสายตาและวิเคราะห์จากวิดีโอ ผมต้องการเห็นตำแหน่งการวางเท้า ระยะระหว่างเท้า การเคลื่อนไหวของเอว หัวไหล่ และการวิ่ง”
แม้กูรูยังมองข้ามความเสียหายจากการทุ่มบอลผิดพลาด
โธมัส กรอนเนมาร์ค เล่าย้อนถึงจุดเริ่มต้นอาชีพพิเศษนี้ว่า “ผมเริ่มต้นเมื่อปี 2004 ใครๆก็หัวเราะไอเดียการเป็นโค้ชทุ่มบอลของผม มันคงดูประหลาดเกินไปนั่นแหละที่มีคนลุ่มหลงการทุ่มบอล”
“ฟุตบอลกำเนิดขึ้นมาสัก 140 ปี ตอนนี้ผมอายุสี่สิบกว่าแล้วและแทบไม่เคยได้ยินใครพูดคุยเรื่องทุ่มบอลอย่างเป็นกิจลักษณะ คุณดูบอลทางทีวีและคงเคยเห็นทีมที่เสียบอลจากการทุ่ม มันเกิดขึ้นบ่อยแต่คอมเมนเตเตอร์กลับไม่พูดอะไร แต่ถ้าหลังจากนั้นไม่กี่วินาที นักเตะเกิดจ่ายบอลพลาด พวกเขาจะพูดว่า ‘โอ้! นั่นจ่ายบอลแย่นะ’ และถ้าคนนั้นทำพลาดอีก ก็จะถูกมองว่าวันนี้เขาเล่นไม่ดี แต่ถ้าผิดซ้ำครั้งที่สาม จะโดนวิจารณ์ว่าควรถูกเปลี่ยนตัวออก นี่แหละวัฒนธรรมฟุตบอล ซึ่งมุมมองของผมว่ามันแปลกอย่างสิ้นเชิง”
เชื่อว่าหลังอ่านบทความนี้จบลง คุณจะสังเกตการทุ่มบอลในสนามละเอียดลึกซึ้งขึ้น และเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อการทุ่มบอลอย่างแน่นอน โดยเฉพาะกับแฟนบอลลิเวอร์พูลที่จะรอดูการทุ่มบอลของอเล็กซานเดอร์-อาร์โนลด์, โรเบิร์ตสัน และโกเมซเป็นพิเศษ
เรียบเรียง : ฐปน วันชูเพลา (Senior Football Editor)
Senior Football Editor