Categories
Football Tactics

วิเคราะห์ทุกมิติเกมหยุดโลก ลิเวอร์พูล – แมนฯซิตี้ เกมที่มอบทั้งความสุข และบทเรียนลูกหนังชั้นเลิศ ให้แฟนบอลทั่วโลกได้เสพชนิดหาได้ยากยิ่ง

โปรดใช้วิจารณญาณอย่างลึกซึ้งระหว่างอ่านบทความนี้นะครับ ผมไม่ได้มีเจตนาจะ “ชี้นำ” แต่อยากจะบาลานซ์ความคิด และนำเสนอมุมมองฟุตบอลจากเกมนัดหนึ่งที่ถึงตอนนี้ 72 ชั่วโมงหลังแมตช์ไปแล้ว เรา ๆ ท่าน ๆ ก็ยังแอบ “อมยิ้ม” ถึงศึกลิเวอร์พูล 2 – 2 แมนฯซิตี้ จากแอนฟิลด์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมากันอยู่

ความยาวบทความ 2,500 คำ ใช้เวลาอ่าน 10 นาที

  • อันดับแรก

ทำความเข้าใจก่อนว่า ลิเวอร์พูล ของเยอร์เกน คลอปป์ เป็น “บอลบุก” และเล่นด้วยความเข้มข้น หรือ intensity เกมที่สูง ประมาณว่า ชอบเดินหน้าฆ่ามัน หรือถอยหลังหกล้ม

หงส์แดงจะชอบ “เพรสซิ่ง” คู่ต่อสู้ขณะที่มีบอลด้วยรูปแบบวิธีหลากหลายทั้งทางตรง และทางอ้อม แต่ที่เห็นบ่อยหน่อย คือ ทำกันอย่างเป็นระบบ เป็น unit และร่วมด้วยช่วยกัน collective ตั้งแต่แดนบน

และจะมีการ “ไล่ล่า” (Chasing) คู่แข่งขันเพื่อแย่งบอลกลับคืน โดยส่วนใหญ่ก็นั่นแหละครับในแดนคู่แข่งตั้งแต่พวกเขาพยายามจะเปิดเกมรุก หรือหลังจากเราเสียการครองบอลแล้วเกิด transition จากรับเป็นรุก

การไล่ล่าจะทำด้วยการ “กดดัน” เข้าพื้นที่ที่คู่แข่งมีบอลด้วยตัวใกล้สุด และอาจจะเพิ่มจำนวนกลายเป็นไล่ล่า หรือเพรสซิ่งเป็นกลุ่มก้อนในพื้นที่ที่คู่แข่งมีบอล

ครั้นชนะ แย่งบอลได้ก็จะ transition จากรับเป็นรุกด้วยความรวดเร็วเข้าสู่แดนสุดท้าย หรือ Final Third ของคู่แข่งขัน

ทั้งนี้หากว่าแพ้ คู่แข่งแกะบอลออกมาได้ ลิเวอร์พูลจะอาศัยความสามารถเฉพาะตัวที่ยอดเยี่ยม และความรวดเร็วของคู่เซนเตอร์ฮาล์ฟคอย “เก็บกิน” 

ขอบคุณภาพจาก : https://web.facebook.com/ThailandLiverpoolFC

ดังนั้น มันจึงยากในระบบ Lone Striker หรือกองหน้าคนเดียวผ่านระบบหลักฟุตบอลในตอนนี้ไม่ว่าจะ 4-2-3-1, 4-5-1, 4-3-3, 3-4-3 จะเอาชนะ เวอร์จิล ฟานไดต์ หรือโจเอล มาติป ไปได้จากแค่บอลข้ามศรีษะไปหลังไลน์ที่ “รับสูง” แบบ high line

หรือเราก็จะมี อลิสซง เบคเกอร์ คอยอ่านเกมเสมือนเป็นเซนเตอร์ฯ คนที่ 3 คอยออกมาตัดบอลอีกด้วย นั้นคือ ในภาวะปกติ

แต่หากในภาวะไม่ปกติ เช่น เกมนี้กับซิตี้ หรือก่อนหน้านี้กับ เบรนท์ฟอร์ด ที่ยอดทีมลอนดอน ตะวันตก ใช้กองหน้าคู่ พักผ่อน เก็บบอล และประสานงานกันได้ดี “หน้าไลน์” เพราะตัวใหญ่ (อีวาน โทนีย์) เล่นกับบอลดี และรวดเร็ว ไบรอัน เอมบูโม เราก็ลำบากเหมือนกัน

ไม่นับ เฟส 2 จากการครองบอล และบุก โธมัส แฟรงค์ ยังใช้บอลโยนทะแยง (อันเป็นอีกจุดอ่อนของหงส์แดง) ครอสส์จากฝั่งซ้ายไปตก และรุมแบ็คขวา เทรนท์ อเล็กซานเดอร์-อาร์โนลด์ เป็นต้น

(เกมกับเชลซี โรเมลู ลูคาคู และเพื่อน ๆ ก็ทำอะไรเราไม่ได้)

ขอบคุณภาพจาก : https://web.facebook.com/mancity

ส่วนเกมนี้ เป๊ป กวาร์ดิโอลา ฉลาด ช่างคิด สมกับเป็นนักนวัตกรลูกหนัง ตามสไตล์ด้วยการอ่านเรื่อง “ความเร็ว” ของ ฟิล โฟเดน ว่าจะมีผลต่อ เจมส์ มิลเนอร์ มากกว่าจับ แจ็ค กรีลิช ไปยืนตามที่คาดการณ์ไว้

หรือเอาโฟเดน ไปยืนฝั่งขวาให้เผชิญหน้าแบ็คซ้าย แอนดรูว์ โรเบิร์ตสัน ที่เคยโดนโฟเดน “เผา” มาแล้วเมื่อ ก.พ.ชนะ 4-1 คาแอนฟิลด์

แต่กลับไปใช้ กาเบรียล เฆซุส ที่ก็มีความเร็วชน รบส. และโฟเดน ชน ท่านรอง โดยให้ กรีลิช ยืนเล่นช่องว่างระหว่างมิดฟิลด์ของเรา และไลน์รับ (อันเป็นอีก 1 จุดอ่อน) เป็นครั้งแรกตามหลังเพื่อน ๆ อย่าง แฟร์รัน ตอร์เรส, ราฮีม สเตอร์ลิง หรือแม้แต่ โฟเดน เองที่เคยลิ้มลองการเป็น False 9 มาแล้วทั้งสิ้น

นั่นคือ “ภาพกว้าง ๆ” และแผนเบื้องต้นที่เป๊ป คิดเอาไว้นะครับ

_ _ _

  • อันดับ 2

คงจะต้อง “ยอมรับ” นะครับว่า การคำนึงถึงคู่ต่อสู้ แล้วปรับแผนที่ไม่ใช่ปรับ “ตัวตน” เป๊ป เรียนรู้เยอะจากการเจอกับเรา และเจอกับคู่แข่งใน UCL กุนซือสแปนิช จึง “ปรับทีม” เสมอเพื่อสิ่งที่มองว่า ดีที่สุดสำหรับทีมตนเอง

หลายครั้งการปรับกลยุทธ์ และแท็คติกส์ ของเป๊ป ถึงกับถูกมองได้ว่า “มากไป” หรือ “คิดเยอะ” ได้เช่นกัน ตัวอย่างเช่น ใน UCL Final ที่แพ้เชลซี เพราะ (ว่ากันว่า) ไม่ส่งมิดฟิลด์ตัวรับแท้ ๆ ลง โดยมีเหตุผลว่า ต้องการ “คอนโทรล” มิดฟิลด์ และเอาชนะแดนกลางให้ได้ 100% และกดใส่เชลซี ที่จะต้องมารับเต็มตัว

แต่กับเกมนี้ เป็นตัวอย่างที่ดีในอีกด้าน เพราะเป๊ปปรับแล้ว ทีมทำผลงานได้ดีตั้งแต่ประมาณนาทีที่ 15 ของครึ่งแรก จนจบ 45 นาทีแรก

และครึ่งหลัง แม้หงส์แดงจะ “be brave” (อ่านปาก คลอปป์ สิครับ “be brave” ในระหว่างเกมจากข้างสนาม) มากขึ้นจากที่แดนหน้าทั้ง 3 กรูลงมาช่วยเกมรับต่ำ หรือมิดฟิลด์เองก็ไม่กล้าดันขึ้นเพรสซิ่งในพื้นที่สูงกว่า เช่น ในแดนคู่แข่ง ตามสไตล์ถนัด หรือไม่กล้าเล่น “The Extra pass” อันเป็นคำที่ คลอปป์ อธิบายหลังเกมที่น่าจะหมายถึง กล้าเล่นบอล ที่แปลว่า กล้าส่ง กล้าครองบอล กล้าเลี้ยง หรือคือ ไม่รีบเตะทิ้งยาวออกไป แล้วก็จะโดนระลอกคลื่นสีฟ้าถาโถมกลับมาครั้งแล้วครั้งเล่า ที่ครึ่งหลังทำได้ดีขึ้นทันที

ประตู 1-0 แน่นอน “ตอบโจทย์” ทุกคีย์เวิร์ดของ คลอปป์ ไม้ว่าจะ be brave, the extra pass, compact (การเล่นแน่นร่วมกันเป็นกลุ่ม เช่น 3 เหลี่ยมในพื้นที่ต่าง ๆ)

ขอบคุณภาพจาก : https://web.facebook.com/ThailandLiverpoolFC

ประตู 2-1 ที่เคอร์ติส โจนส์ คงอายกับการได้ชื่อว่า assist เพราะ โม ซาลาห์ โซโล่ซะขนาดนั้น ก็เกิดจากความกล้า ความมั่นใจที่ยังมีอีกหลายเพลย์ “ฉายภาพ” นี้ออกมาในครึ่งหลังแม้จังหวะเหล่านั้นจะไม่ได้ประตู

หรือแม้กระทั่งท้ายเกมหลังเสมอ 2-2 หงส์แดงก็ยัง be brave กล้าลุยจนเกือบได้ประตูจาก ฟาบินโญ่ หรือแน่นอนเกือบเสียจากจังหวะวอลเลย์ของ เฆซุส ที่ไปโดนตัว รบส.บล็อกเอาไว้

กล่าวคือ คลอปป์ และเด็ก เลือกจะ “เล่นรับ” แบบนี้

หรือคือ ใช้แดนหน้า และกลาง “เพรส” เข้าหาคู่ต่อสู้ที่มีบอลทันทีอย่างรวดเร็ว

ลิเวอร์พูล ไม่ได้ “เลือกรับ” ด้วยการรีบ “ถอยร่น” มายืนแพ็คเกมรับระหว่างไลน์กลาง และหลังแบบ compact อย่างรวดเร็ว (อาจทำได้หลังแดนบนเพรสซิ่งไม่สำเร็จ เช่น ตามกฎ 6 วินาที หรือไม่ต้องเพรสเลย คือ ตัดสินใจถอยมากระชับพื้นที่เลยหลังเสียการครองบอล)

แต่รับแบบนั้น ไม่ใช่ลิเวอร์พูล และไม่ใช่คลอปป์

ไม่งั้น จะได้ยินคลอปป์พูดแบบนั้นหรือครับหลังเกมว่า ครึ่งแรกเราไม่กล้า เราไม่เพรสซิงในพื้นที่ในเวลาเหมาะสม และทำให้ได้เห็นซิตี้ ต่อบอลง่ายไปมา หรือเลือกเปิดทะแยง เปิดบอลยาวได้ง่ายที่สุดครั้งหนึ่งเท่าที่บอสส์เคยดูซิตี้มาหลายเกม (จริง ๆ คือ ดูนับครั้งไม่ถ้วนนั่นแหละ)

_ _ _

ขอบคุณภาพจาก : https://web.facebook.com/ThailandLiverpoolFC
  • อันดับ 3

ผมไม่ได้ “แก้ตัว” แทนจอร์แดน เฮนเดอร์สัน, เคอร์ติส โจนส์ หรือกระทั่ง ฟาบินโญ ในแดนกลางที่โดน “ทัวร์ลง” พอควร เช่น เฮนโด ไม่ช่วยมิลเนอร์, โจนส์ ตัดบอลไม่ได้ เล่นรับไม่ดี หรือฟาบินโญ่ ยืนห่างจากไลน์รับเกินไป ฯลฯ

ในโพสต์ LIVE กับพี่กบ Captain No.12 หรือโพสต์ Teaser ของโพสต์นี้ (https://www.facebook.com/khaimukdam/photos/a.174800505908163/4342449355809903/) ผมก็มีโอกาสได้พูดสิ่งเหล่านั้นไปเช่นกัน

ซึ่งแน่นอนว่า นั่นเป็นสิ่งที่เรา ๆ ท่าน ๆ เห็น และแบบที่ผมเคยเรียนไว้ต้องมาเห็นด้วยภาพนิ่งแบบ Freeze frame ด้วย เพราะดูไฮไลต์มองไม่ทันได้จับอะไร

หรือมาอ่านบทวิเคราะห์ อะไรต่อมิอะไรหลังเกมแล้วทำให้เห็นภาพว่า มันมี “ช่องห่าง” ระหว่างไลน์ที่ห่างเกินไปจริง ๆ (เกิน 7-8 หลา – อ้างอิง โค้ชน้อย อนันต์ อมรเกียรติ)

ขณะที่มองไว ๆ คือ “ไลน์รับ” ยืนเรียงสวย 4 คนอยู่ในแนวเดียวกัน และระยะใกล้กันอยู่แล้ว แบบไม่น่ามีปัญหาอะไร

หรือ เดอ บรอย กับแบร์นาโด ซิลบา ยังสามารถแกะตัว แกะบอล ออกมาเปิดไปเล่นหลังฟูลแบ็คเราได้ก่อนจู่โจมแบบรวดเร็ว

(โดยเราต้องเข้าใจตรงกันก่อนว่า ลิเวอร์พูล ไม่ได้เสียประตูจากการโดน “เจาะตรง” เข้าใจกลางเซนเตอร์ฮาล์ฟ หรือเข้าพื้น half spaces แต่จะโดนบอลทะแยงจากขวาไปซ้าย หรือเลี้ยงตัดจากขวาไปซ้ายเข้าทำลายพื้นที่บริเวณโซน 13 และ 16 ของมิลเนอร์ และโจ โก — นั่นแปลว่า งานป้องกันเบื้องต้น คือ ถูกต้องแล้ว แต่เราโดนบอลทะแยง และการเลี้ยง การเปิดบอลเร็วหน้าไลน์จากฝั่งขวา ไปฝั่งซ้ายบริเวณแบ็คขวาของเรา)

ประเด็นนี้ ผมไม่อยากใช้คำว่า “แหม…ก็บอสส์ ไม่ได้ลงมาวิ่งในสนาม จะรู้ได้อย่างไร?”

ครับ ด้วยความเคารพ นักบอลไทย บ่นแบบนั้นแน่ ๆ หากโค้ชสั่งให้ be brave และรุกลุย ลักษณะนี้ เพราะอะไร?

นี่คือ แมนฯซิตี้ และขอโทษ วอล์คเกอร์ กับการตีรถด่วนทางตรงยาว ๆ, กานเซโล กับบทบาทเพลย์เมคเกอร์ (แต่ขอโทษ เกมรับก็ห่วย ship หายจาก 2 จังหวะเบื้องต้นที่พลาดง่ายไปให้ ซาลาห์), แบร์นาโด ซิลวา แกะตัวจากการโดนรุมได้อย่างไร เช่น นาทีที่ 20 ครึ่งแรกเริ่มจาก เฮนโด พลาดเสียบอลแล้วรวมตัวกับเพื่อน 4-5 คนรวมถึง VvD กับภาพลงไปก้นจ้ำเบ้า หรือประตู 2-2 จากบอลทุ่มข้างสนามธรรมดาของกานเซโล ให้โฟเดน ต่อไปที่แบร์นาโด ที่สามารถครองบอล และแกะการเพรสซิงลิเวอร์พูลได้ โดยมี เดอ บรอย ที่ภาษาฟุตบอลเรียกว่า “ซื้อใจ” เพื่อน หรือคือ หากมรึงเก่งจริง มรึงหลุดได้ กรูก็หลุดยาว และพวกมันจะพินาศ

ขอบคุณภาพจาก : https://web.facebook.com/mancity

เฆซุส, โฟเดน และเดอ บรอย รวมกันแล้วสุด ๆ ครับ เฉพาะอย่างยิ่งหากดัน shape เกมรุกมาเข้าข่าย 2-3-5 และดันสูงขึ้นมาได้เมื่อไหร่ อย่าว่าแต่เราเลย ทุกทีมเหนื่อยหมด

เขียนถึงตรงนี้ แท้จริงแล้ว คลอปป์ แทนที่จะสั่ง be brave แต่สั่งแบบ เมาริซิโอ โปเช็ตติโน หรือโธมัส ทูเคิล ว่า be cautious เราอาจได้ผลการแข่งขันอีกแบบ

เพราะหลัง เปแอสเช ออกนำเร็วแมนฯซิตี้ ในบ้านตัวเอง ปารีส แท้ ๆ พวกเขา “รับเต็ม” และรอโต้ให้ เอ็มบับเป, เนย์มาร์, เมสซี, ดิ มาเรีย เล่นกันแค่ 4 ตัว และแบ็ค เช่น ฮาคิมี เติมบ้าง ไรบ้าง แค่นี้ซิตี้ก็ยิงไม่ได้ และโดนอีกลูกจากเมสซี แพ้ 0-2 แต่นั่นไม่ใช่ลิเวอร์พูลไงครับ!

เหนือสิ่งอื่นใด เปแอสเช หากต้องบุกบ้าง ก็โดน แรนส์ ship หายไปเช่นกัน 0-2 หรือซิตี้ เจอทีมมารับจัด ๆ แล้วโต้เร็ว ๆ อย่างที่แพ้ สเปอร์ส หรือเจอแบบ เลสเตอร์, เชลซี ก็ไม่เคยเป็นอะไรที่ง่ายอยู่แล้ว ไม่นับ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด

ดังนั้น อย่า “แปลกใจ” ที่สัมภาษณ์หลังเกม เป๊ปเองแทบจะลืมเรื่อง “ใบเหลือง 2 ใบ” ของเจมส์ มิลเนอร์ ไปเลย เพราะสบถแต่ The best league in the world ๆ 

คลอปป์ กับบทวิเคราะห์นำมาซึ่งบทความนี้ และบอกตรง ๆ ว่า บทสัมฯของคลอปป์ และการเล่นแบบ toe-to-toe ตามภาษามวย หรือเท้าชนเท้า ทำให้ผม และพวกเราได้ “เข้าใจ” ฟุตบอลขึ้นอีกมากทีเดียว

ครับ ไอ้ ship หาย (ครั้งที่ 3 แล้ว!) จะมีกี่ครั้งในโลกที่เราได้ยินโค้ชมา “ยอมรับ” ว่า ทำอะไรได้ดี ไม่ได้ดี ในครึ่งแรก หรือครึ่งหลัง หรือต้องการจะทำอะไร และทำได้ หรือทำไม่ได้ หลังจบเกมให้ชาวโลกได้ฟัง

แต่นี่คือ คลอปป์ และตัวเขาได้กระทำ และได้พูดในสิ่งเหล่านี้

_ _ _

  • อันดับสุดท้าย

(พูดแบบคนพอมีประสบการณ์นะ) หากผมเป็นเฮนโด และนักเตะลิเวอร์พูล สิ่งที่ผมจะมองตัวผมเองก่อน คือ หากบอสส์ให้ be brave ด้วยวิธีการเล่น และแท็คติกส์ ต่าง ๆ ผมจะต้องพิจารณา “หน้างาน” และอ่านสถานการณ์ให้ชัดเจนด้วยเช่นกัน

คือ ผมจะพูดว่า หากโค้ช หรือผู้มีพระคุณสั่งให้ผมทำอะไร แล้วผมทราบว่า ผมจะ “ไปตาย” ผมจะทำทำไม?

ดังนั้น มิดฟิลด์ของเรา “กล้า” ได้ แต่ในเวลาเดียวกัน พวกคุณต้องมองคน มองสถานการณ์รอบด้านด้วย เช่น การจะเข้ารุมแบร์นาโด แต่ด้านหลังแมร่งมี เดอ บรอย ยืนถือมีดดาบอยู่

คุณต้องประเมินสถานการณ์เองแล้ว ถูกไหม?

คือ เข้าได้ be brave ได้ แต่หากไม่ได้ (ห้าม commit เช่น สไลด์ล้มตัว หรือพรวด ฯลฯ หรือจะแลกก็ต้องฟาล์วเลย) ต้องทราบว่า ด้านหลังมรึงมีใคร แล้วต้องรีบถอนตัว หากปฏิบัติการแรกล้มเหลว

ไม่ใช่ เชียะอะไร เค้าสั่งให้กระโดดน้ำ พวกมรึงก็กระโดด แล้วจมลงไปโดยไม่ได้ดูเลยว่า “น้ำลึก” แค่ไหน? ห่างฝั่งแค่ไหน? มีห่วงยางหรือเปล่า? น้ำเย็นขนาดไหน?

หรือ มิลเนอร์ หรือโจ โก พวกคุณต้องรู้ว่า โฟเดน มันเร็วแค่ไหน?

การที่ยืนใกล้มาติป ถูกต้องแล้ว เพราะพื้นที่ “ตรงกลาง” โซน 14 คือ “ไข่แดง” ที่พวกคุณห้ามโดนเจาะ แต่หากคุณจะขยับมาใกล้แล้วไล่ตามคู่แข่งริมเส้นไม่ทัน (ผมไม่ได้หมายถึงในทุกจังหวะ หรือตอนโดน 2v1 นะ เช่น จังหวะใบเหลือง 1 v 1 มิลเนอร์ พลาดไปจริง เสียเหลี่ยมให้โฟเดน) มันก็ไม่ใช่

กล่าวคือ ผู้เล่น สามารถหารือกับโค้ชได้ คุยกันได้

แต่เหนือสิ่งอื่นใด ไม่ว่าจะเลือกวิธีไหน มิดฟิลด์ลิเวอร์พูล ต้องรู้สถานการณ์รอบข้างดีกว่าในเกมนี้ และทรานซิชั่นเร็วกว่าในเกมนี้ และสื่อสารกับทั้งแดนบน เรื่องจะเพรสซิ่ง ไม่เพรสซิ่ง เพรสใคร ยังไง และต้องทำด้วยกัน รวมถึงกับแนวรับที่เขายืนจัดระเบียบได้ดีแล้ว แต่อาจยืนห่างไปให้ดีกว่านี้ว่าจะทำอย่างไร เช่น ให้เขาดันขึ้นมา หรือตัวเองสักคนไปยืนโคเวอร์ไว้หน้าคู่เซนเตอร์ฯ (มิลเนอร์ หรือโจ โก ก็จะได้ถ่างห่างออกไปหาโฟเดน ได้มากขึ้น เป็นต้น)

ทั้งหมด คือ การเรียนรู้ของทีม และของพวกเราไปด้วย “พร้อม ๆ กัน”

สุดท้าย ผมขอกล่าวอีกครั้งว่า ฟุตบอลแบบเกมนี้ทั้งก่อน, ระหว่างแข่ง และหลังเกม มันเป็นเกมที่ครบทุกอรรถรส ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย ๆ 

ผมต้องขอขอบคุณ โค้ชน้อย อนันต์ อมรเกียรติ, โค้ชนพ นพพร เอกศาสตรา, โค้ชแดง ทรงยศ กลิ่นศรีสุข, โค้ชใหม่ เจตนิพัทธ รัชตเฉลิมโรจน์ และโค้ชโจ ธีระศักดิ์ โพธิ์อ้น ที่ได้ร่วมสนทนาธรรมเกมนี้กับผม และก็พี่กบ Captain No.12 และแน่นอนพวกเราทุกคนในเพจแห่งนี้

That’s why we do love the beautiful game ครับ

☕ ณัฐวุฒิ ประเทืองศิลป์

Categories
Football Tactics

เจาะกลยุทธ์ Positional Play เบื้องหลังแท้จริงในชัยชนะของทีมสีฟ้า แห่งเมือง แมนเชสเตอร์

เหมือนเดิมทุก ๆ วันจันทร์ในช่วงนี้ ผมจะมีโอกาสได้คุยกับคุณวาว จารุวัฒน์ พริบไหว ทางเพจตุงตาข่าย ในเรื่องเกี่ยวกับแท็คติกส์ฟุตบอลที่เรา 2 คนเลือกมามองจากเกมสุดสัปดาห์ในมุมที่ “ย่อยง่าย” และสามารถอธิบายให้เข้าใจได้พอเป็นสังเขปซึ่งวีคนี้ คือ เรื่อง Positional Play ที่แมนเชสเตอร์ ซิตี้ กระทำการใส่ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ครับ >>> bit.ly/3sRqMiH

ขอบคุณรูปภาพจาก : https://web.facebook.com/mancity

ความหมายของ Positional Play ให้แปลแบบเป๊ะ ๆ อาจมองไม่เห็นภาพได้เท่ากับให้ผมอธิบายผ่านแท็คติกส์อย่างน้อย 3 – 4 ประการที่ เป๊ป กวาร์ดิโอลา และเด็ก ๆ แสดงให้เห็นในเกมนี้:

1. การเพิ่มจำนวนผู้เล่น หรือ overload จำนวนผู้เล่นเข้าไปในพื้นที่ฝั่งขวาของทีมปิศาจแดงฟาก แอรอน วาน บิสซากา ที่แม้ แอนโธนี เอลังกา จะถอยลงมาช่วย และมีสกอตต์ แม็คโทมิเนย์ กับวิคตอร์ ลินเดอเลิฟ ประจำการอยู่ก็ไม่ไหว เพราะฝั่งนี้ซิตี้เติมมาทั้ง แจ็ค กริลิช, แบร์นาโด ซิลวา, False 9 ฟิล โฟเดน ตามหลังโดย เจา คานเซโล ไม่นับ อายเมอริค ลาปอร์ต หรือโรดรี้ ที่ยืนประคองสถานการณ์

ขอบคุณรูปภาพจาก : https://web.facebook.com/mancity

การ overload ด้วยจำนวนผู้เล่นทำให้การรุก (ขณะมีบอล) ผู้เล่นซิตี้ที่ได้บอลจะมีชอยส์อย่างน้อย 2 (สามเหลี่ยม) หรือ 3 ชอยส์ (สี่เหลี่ยม – ไดมอนด์) เสมอ ๆ อันทำให้การจู่โจม เข้าทำ มีประสิทธิภาพ และได้เปรียบ

ไม่นับการเคลื่อนที่ของผู้เล่นที่ขยับตัวตลอดเวลา เป็นอิสระ และไม่เป็นเป้านิ่งให้เกิดการประกบตัว หรือคิดจะประกบตัวก็ยาก เพราะจำนวนคนน้อยกว่า

ประตู 1-0 หรือ 2-1 ตอบโจทย์สิ่งนี้เป็นอย่างดี และตัวเลขเกือบ 50% ของการขึ้นบอลเกิดจากฝั่งนี้ หรือเป็น 2 เท่าของการขึ้นเกมตรงกลาง และฝั่งขวาของสนามที่มี ริยาด มาห์เรซ ประจำการอยู่

2. อย่างไรก็ดี ไม่ได้หมายความว่า มาห์เรซ มีประโยชน์น้อย แต่นี่คืออีก แท็คติกส์สำคัญของการเล่น Postional Play นั่นคือ การใช้ตัวผู้เล่นที่มีความสามารถเผชิญกับคู่แข่งที่มีความสามารถน้อยกว่าโดยตรงไปเลย

กรณีนี้ เป๊ป อาจมองว่า อเล็กซ์ เทลเลส ไม่น่าจะ 1 v 1 ปะทะกับดาวเตะอัลจีเรียได้โดยตรง การ isolate มาห์เรซ ไว้ในพื้นที่ว่างฝั่งขวาเสียเลยจึงเป็นแท็คติกส์ที่วางไว้

ครับ จริง ๆ แล้ว หากแผน A หรือคือ การเจาะฝั่งซ้ายด้วยการ overload ผู้เล่นไม่ประสบความสำเร็จ หรือคือไม่สามารถเจาะไปถึงเส้นหลัง หรือเข้ากรอบเขตโทษฝั่งนั้นแล้วเปิด cut back หรือยิง หรือเปิดเสาสองกลับมาได้

การเปลี่ยนแกน switching play ไปจบอีกฝั่งกับมาห์เรซ ที่จะต้องว่าง หรือได้ปะทะตรงกับเทลเลสที่แม้เจ้าตัว กับเพื่อน ๆ จะเคลื่อนที่ตามมา ทว่าหากมาห์เรซ จับบอลแรกได้เยี่ยม หรือบอลถูกเปิดมาเพอร์เฟคต์

การป้องกันจะไม่ง่าย

หรือหากขยับมาป้องกันไม่ทัน มาห์เรซ ก็จะว่างให้สร้างสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ตลอดเวลาไม่เว้นแม้แต่ลูกตั้งเตะ เช่น คอร์เนอร์ที่ได้ประตู 3-1 หรือก่อนหน้านั้นฟรีคิกที่มีโอกาสยิงข้ามคาน

ขณะเดียวกัน หากมาห์เรซ เคลื่อนที่ไปเรื่อย ๆ และใช้ความสามารถ ความเข้าใจในการใช้พื้นที่ว่างทั้งระหว่างไลน์ และหลังไลน์ ประตูก็อาจเกิดขึ้นได้ เช่น 4-1 อันเป็นการเคลื่อนที่ไปรับบอลหลังไลน์ได้อย่างยอดเยี่ย

ขอบคุณรูปภาพจาก : https://web.facebook.com/mancity

3. การเคลื่อนที่แบบ “เข้าใจ” ในการใช้พื้นที่ว่าง เช่น ระหว่างไลน์, หลังไลน์, ระหว่างตัวผู้เล่น หรือไปบริเวณ half space คือ ศาสตร์ชั้นสูงของนักเตะที่ต้องเป็นระดับ elite players จริง ๆ และต้องเป็นนักเตะที่ได้รับการโค้ชอย่างถูกต้องดังที่ เป๊ป พูดล่าสุดหลังเกมถล่มปิศาจแดงนัดนี้ว่า ทักษะ ความสามารถโน่นนี่ มันมาจากท้องพ่อท้องแม่แล้ว แต่เขามีหน้าที่ทำให้นักเตะเหล่านี้เล่นได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดก็เท่านั้น

เควิน เดอ บรอย แมน ออฟ เดอะ แมตช์ เกมนี้ คือ เจ้าพ่อคนหนึ่งที่เข้าใจในพื้นที่ว่าง (แน่นอนว่าเขาจะต้องเข้าใจการเล่น positonal play อย่างถ่องแท้) และมีความสามารถเฉพาะตัวในการรับบอลไม่ว่าจะ half turn หรือรับแล้วไปทันที หรือไปกลับบอลอย่างรวดเร็ว หรือเปลี่ยนสปีด ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดเหล่านี้กับบอลจะเป็นการเจาะทะลุทะลวงพื้นที่ว่างในเกมรับของแมนฯยูฯทั้งนั้น และจะ disorganise เกมรับโดยรวมให้พังอย่างราบคาบได้

ขอบคุณรูปภาพจาก : https://web.facebook.com/mancity

แบร์นาโด ซิลวา ก็เก่งฉกาจเช่นกันในการลากเลื้อยเจาะพื้นที่ว่าง และครอบครองบอล ขณะที่เพื่อน ๆ ซึ่งรู้หน้าที่จะเคลื่อนตัวไปที่ว่างด้านหน้าเพื่อรับบอลตามหลักไปเพิ่มจำนวน หรือทยอยเติม (เพื่อเพิ่มจำนวนไปเรื่อย ๆ)

กรีลิช โดดเด่นมากในเกมนี้กับจังหวะเวลาที่ใช้แบบไม่มาก หรือน้อยไปกับลูกบอล และเล่น combination กับเพื่อน ๆ ทางฝั่งซ้ายได้ดี และนี่ถือเป็นนัดที่ดาวเตะ 100 ล้านปอนด์เล่นได้ดีที่สุดในฤดูกาลกับซิตี้ แม้จะยิง หรือ assist ไม่ได้ แต่ความเข้าใจใน positional play แบบที่เป๊ปต้องการนั้นมาแล้ว

คนอื่น ๆ คานเซโล, โฟเดน, วอลค์เกอร์, สโตนส์, ลาปอร์ต หรือกระทั่ง เอแดร์สัน ที่รายหลังจะเป็นตัวเลือกเสมอให้เซนเตอร์ฯ อยู่ในสถานการณ์ 3 v 2 ไม่ใช่ 2 v 2 เพราะสามารถขยับมาเล่นบอล รับบอล ออกบอล ด้วยเท้าได้ ต่างเข้าใจความหมาย และผ่านการฝึกซ้อม postional play มาจนภาพโซนต่าง ๆ ในสนามอยู่ในหัวหมดแล้ว และทราบว่าจะแก้ “หน้างาน” กันอย่างไรในภาวะต่าง ๆ

4. รวมแล้ว postional play ต้องเข้าใจพื้นที่, เข้าใจเรื่องการเพิ่มจำนวนผู้เล่นในพื้นที่ที่ต้องการ และต้องมีคุณภาพของผู้เล่นที่พร้อมจะทำได้

ความสมบูรณ์แบบที่สุดของการเล่นแบบนี้เกิดขึ้นในครึ่งหลังที่ซิตี้ครองบอลได้กว่า 70% และ 15 นาทีสุดท้ายที่ครองบอลได้ถึง 92%

ดังนั้น อย่าแปลกใจที่ สกอตต์ แม็คโทมิเนย์ โต้กลับ รอย คีน ประมาณว่า ไม่ได้ลงมาเล่นไม่รู้หรอกหลังโดนอดีตกัปตันทีมตนเองบ่นว่า ใจไม่สู้ ยอมยกธงขาว หรือมี 5-6 คนไม่คู่ควรจะใส่เสื้อสีแดง แมนฯยูฯ

ด้วยก็เพราะ postional play มันทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์จากการแก้เกมของเป๊ปในครึ่งหลัง

ขณะเดียวกัน สิ่งดีงามที่แฟนปิศาจแดง ควรจะ “ยืดอก” ยอมรับ และทำความเข้าใจก็คือ ในมุมของโค้ช เราได้เห็นสิ่งที่ ราล์ฟ รังนิค พยายามจะทำผ่านการจัดตัว และรูปแบบวิธีการเล่น โดยเฉพาะ 30 นาทีแรก

การใช้ พอล ปอกบา และบรูโน แฟร์นันเดซ ยืนเสมือนเป็นคู่หน้าตัวบน และรับสูง และเพรสซิ่งสูง คล้าย ๆ ระบบ 4-2-4 เพราะต้องการใช้ 4 ตัวบนเพรสซิ่งไม่ให้แมนฯซิตี้ออกบอลแรกจากแดนตัวเองได้ มันมีที่มาที่ไป และมี “เหตุผล” เพียงพอ

ส่วนตัว ผมจะพอใจมากกว่าที่ได้เห็นอะไรแบบนี้ คือ ได้เห็น แมนฯยูฯ กับรูปแบบพยายามบุก พยายามเล่นเพรสซิ่ง และโต้เร็ว โดยดันสูง รับสูง ตามแบบฉบับทีมใหญ่

และก็ต้องยอมรับว่าทำได้ดีแม้เพียงครึ่งชั่วโมง แต่ก็ทำให้เห็นถึงความพยายามอันนั้น

ดังนั้น ได้โปรด อย่า “ถอยหลัง” กลับไปไหน แพ้ก็แพ้ (เพราะยังไงก็ไม่ได้เจอซิตี้ทุกวีค) แต่มันคือ บทเรียน มันคือ จุดเริ่มต้น

ได้โปรดอย่าไปเล่นรับแล้วโต้ หรือเกมนี้เล่นแบบนั้น เกมนั้นจะเล่นแบบนี้ แต่ให้มุ่งไดเรกชั่นนี้ไปเลย หรือจะซื้อผู้เล่นใหม่ก็ต้องเป็นคาแรกเตอร์ที่เล่นแบบนี้ได้

เพราะหากมันจะเจ็บ มันก็ต้องเจ็บ และทั้งซิตี้เอง หรือลิเวอร์พูล ต่างผ่านช่วงเวลาแบบนี้มาแล้วเหมือนกัน

ครับ สรุปอีกที เกมนี้เราได้เห็นโคตรการเล่น positonal play ที่สมบูรณ์แบบในครึ่งหลังจากแมนฯซิตี้ และได้เห็น “แสงสว่าง” ในครึ่งแรกจากแมนฯยูไนเต็ดครับ

โชคดีนะ แฟน ๆ เมืองแมนเชสเตอร์ สีฟ้าแดง จากใจแฟนสีแดงจากเมืองลิเวอร์พูลครับ

🙏 ปล.ขอบคุณ โค้ชน้อย อนันต์ อมรเกียรติ อาจารย์ผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ฟุตบอลให้ผมมาต่อยอดนะครับ

☕ ณัฐวุฒิ ประเทืองศิลป์