Categories
Football Tactics

ปิดซีรีส์แรก 10 Episodes : The Tactics รายการพูดคุยคอนเทนท์เชิงเทคนิค และแท็คติกส์ฟุตบอลทั้งพื้นฐาน และสมัยใหม่ เพื่อคนรักฟุตบอลขั้นลึกซึ้ง

รายการ The Tactics : รักฟุตบอล เข้าใจฟุตบอล ซีรีส์เริ่มต้น เดินทางมาครบ 10 Episodes แล้ว และขอมัดรวมทั้งหมดมาให้ได้ติดตามรับชมกัน หรือหากใครใคร่จะรับชมอีกครั้งแบบรวดเดียว 10 Episode สามารถรับชมที่นี่ได้เลย

แนะนำว่า ต้องชม ซ้ำแล้วซ้ำอีก เพื่อความเข้าใจที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น!

ก่อนอื่นใด ขอเท้าความสักเล็กน้อยว่า รายการนี้ ถูกต่อยอดมาจากเมนู Football Tactics >> https://khaimukdam.com/football-tactics/ ในเว็บไซต์ ไข่มุกดำ และอีกหลายโพสต์วิเคราะห์ฟุตบอลในเพจไข่มุกดำ ซึ่งได้ผลิตมุมมองฟุตบอลแบบเจาะลึก แตกต่าง แต่เข้าใจได้ง่าย และไม่มีถูกผิด ให้เกิดขึ้นเพื่อเพื่อน ๆ ได้นำองค์ความรู้ไปต่อยอดฟุตบอลของตนเองไม่ว่า รับชม, เตะกับเพื่อน, แข่งขัน หรือในเชิง Coaching

รายการนี้ ได้รับเกียรติจาก “โค้ชน้อย” อนันต์ อมรเกียรติ (ที่ปรึกษาด้านเทคนิคทีมชาติไทย ยู-23 ปี) ร่วมดำเนินรายการกับ “ท็อป ไข่มุกดำ” ณัฐวุฒิ ประเทืองศิลป์ มาพูดคุย และถ่ายทอดมุมมองฟุตบอล แยกเป็น 10 หัวข้อสำหรับซีรีส์เริ่มต้นนี้

The Tactics น่าจะเป็นหนึ่งในแหล่งความรู้ชั้นดีให้กับเพื่อน ๆ ได้ หวังว่าบรรดาเหล่าแฟนบอล คนรักฟุตบอล จะสามารถนำไปปรับใช้ได้ แม้กระทั่งโค้ช หรือตัวผู้เล่นเองก็สามารถศึกษาไว้ได้ เพราะเมื่อถึงเวลาจริง ๆ สิ่งเหล่านี้มันก็หนีไม่พ้นที่จะนำไปปรับใช้ในสนาม

สำหรับภาพรวมทั้ง 10 EP. มีอะไรให้ติดตาม นำไปใช้ได้บ้าง ตามนี้เลย

EP.1 หลักพื้นฐาน 4 ข้อในการจับประเด็นมองฟุตบอล

EP นี้เพื่อน ๆ จะได้สนุกไปกับ “พื้นฐาน” ในการติดตามฟุตบอลไม่ว่าจะในฐานะใด: โค้ช, ผู้เล่น, แฟนบอลทุกระดับ การรุก, การรับ, transition (รับเป็นรุก และรุกเป็นรับ) รวมถึง ลูกตั้งเตะ ผ่านสนามฟุตบอลที่แบ่งให้เป็น 4 โซนหลัก และ 18 โซนย่อย

เพื่อน ๆ จะได้เรียนรู้การเล่นเกมรุกว่า Direct หรือแบบ Indirect ต่างกันอย่างไร และสมัยนี้ฟุตบอลเล่นรับกันอย่างไร เรื่องทรานซิชั่นส์ไม่ต้องพูดถึง สนุกแน่ ๆ รวมถึงลูกตั้งเตะ เช่น คอร์เนอร์ ควรป้องกันด้วยผู้เล่นเฝ้า 2 เสาหรือไม่

EP.2 Positional Play คือ อะไร และมีความสำคัญอย่างไร

EP.2 จะพูดถึงหัวข้อสำคัญที่สุดของฟุตบอลยุคปัจจุบันหัวข้อหนึ่ง อย่าง Positional Play ซึ่งก็คือ การสร้างความได้เปรียบให้กับตัวเอง หรือการพยายามเข้าทำลายเกมรับของคู่ต่อสู้ทุกรูปแบบ ผ่าน 3หลักการเบื้องต้น ได้แก่

1. สร้างความได้เปรียบในเรื่องจำนวนผู้เล่นในพื้นที่แดนรุกระหว่างบุก และครอบครองบอล

2. เลือกพื้นที่ดังกล่าว ตามแผนการที่ตระเตรียม และซ้อมมา

3. ด้วยคุณภาพผู้เล่นที่เหนือกว่าจะทำให้การสร้างสถานการณ์ในข้อ 1 และ 2 เกิดขึ้น และเป็นไปได้อย่างสมบูรณ์ที่สุด

ทั้งหมดนี้คือภาพรวมหลัก ๆ ของ Positional Play ในส่วนของรายละเอียดเจาะลึกลงไป ตามกันต่อในคลิปนี้ได้เลย

EP.3 False 9

นี่น่าจะเป็นอีก EP ที่ทุก ๆ คนรอคอย ซึ่งพูดถึงหัวข้อที่เป็นแท็คติกส์สำคัญ ที่สอดแทรกอยู่ในกลยุทธ์การเล่น Postional Play ที่ได้นำเสนอไปใน EP ที่ผ่านมา คือ False 9 และ False 10

สำหรับผู้เล่น False 9 นั้น มักจะเป็นผู้เล่นที่มีทักษะการครองบอลที่ดี มีความพริ้วในการเคลื่อนตัวหาพื้นที่ และมี vision ที่เฉียบขาดในการถ่ายบอลให้ผู้เล่นคนอื่น ๆ นอกจากนี้ยังมีหน้าที่ในการดึงกองหลังออกจากลายเพื่อให้เกิดความสับสนในการเลือกตัวประกบและเกิดช่องว่างให้เพื่อนเข้าทำ

EP.4 INVERTED WINGERS / FULL BACK

แท็คติกส์สำคัญอีก 1 ชิ้นที่ถูกบรรจงสร้างสรรค์ขึ้นมาในโลกลูกหนังเพื่อที่จะสร้างสมดุลย์ให้กับ shape การเล่น โดยเฉพาะเกมรุก (เพิ่มจำนวนผู้เล่น, ไลน์การเล่น) บริเวณแดนกลาง และแน่นอน หากทำได้สมบูรณ์ เกมรับก็จะง่าย ทรานซิชั่นส์ก็ดี เพราะจะ allow ให้ผู้เล่นสามารถช่วงชิงบอลคืนกลับมา (Counter Pressing) ได้ทันท่วงที เพราะแต่ละคนยืนไม่ห่างกัน และไลน์ในการเล่นก็มี “ระยะ” ที่เหมาะสม

Inverted ทั้งฟูลแบ็ค และปีก (Wingers) มีหลายตัวอย่างใน EP นี้ที่ไม่อยากให้พลาดเพื่อต่อยอดความเข้าใจจาก 3 EP ที่ผ่านมา

EP.5 รู้จัก PLAYMAKER สมัยใหม่ในโลกฟุตบอล

Playmaker หรือ ตัวทำเกม หรือนักเตะผู้สร้างสรรค์เกม ในช่วงเวลาหนึ่ง (ในอดีต) จะหมายถึงคนที่ใส่เสื้อเบอร์ 10 แต่อย่างที่ทราบกันว่า เบอร์ 10 มันมีได้แค่คนเดียว เพราะฉะนั้นในปัจจุบันนี้ ถ้าผู้เล่นคนอื่น ๆ สามารถยกระดับการเล่น และแนวทางการเล่นของตนเองขึ้นมา ทีมก็จะมี “เพลย์เมคเกอร์” ได้หลากหลายตำแหน่ง และมีความสามารถโดยรวมที่มากขึ้น ทำให้ทีมยิ่งได้เปรียบคู่แข่งขัน

เพราะฉะนั้น เวลาพูดถึง Playmaker ต่อไป ก็ไม่ใช่แค่ผู้เล่นเบอร์ 10 หรือมิดฟิลด์เพียงตำแหน่งเดียว แต่หมายถึง ทุกตำแหน่งที่มีความสามารถ เป็นได้ตั้งแต่ตำแหน่งผู้รักษาประตู, ฟูลแบ็ค, เซนเตอร์ฮาล์ฟ (คิดถึงใครกันบ้างครับ?), มิดฟิลด์ตัวรับ (แบบ deep lying playmaker) เรื่อยไปจนถึงกองหน้า (False 9) ที่เก่งฉกาจในการสร้างสรรค์โอกาส และการทำเกมได้อย่างยอดเยี่ยม

EP.6 มิดฟิลด์คู่ (Double Pivot) ทำหน้าที่อย่างไร?

Double Pivot หรือ มิดฟิลด์คู่ ซึ่งถูกพัฒนาและถูกใช้มาเมื่อประมาณ 10 กว่าปีที่แล้ว เป็นต้นแบบต้นฉบับอย่างหนึ่งที่ทีมต่าง ๆ ได้ใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตอนที่บาร์เซโลนาสมัยแรก ๆ จะมี บุสเกตส์ กับ ชาบี เอร์นานเดซ เป็นมิดฟิลด์คู่ ซึ่งบทบาทของทั้งสองคน ก็รับหน้าที่แตกต่างกันไปในเกม พูดง่าย ๆ ก็คือ หากคนหนึ่งเล่นเกมรับ 30% เกมรุก 70% อีกคนก็จะเล่นกลับกัน เป็นเกมรับ 70% เกมรุก 30%

แน่นอนว่า เราจะได้เห็นบทบาทของ Double Pivot มากขึ้น ในฟุตบอลปัจจุบันนี้ ซึ่งในความหลากหลายของฟอร์เมชั่นในแต่ละทีม อาจยังไม่สามารถจะกำหนดชัดได้ว่าจะต้องยืนด้วยระบบ 4-3-3 เนื่องจากทุกการเล่นจะต้องถูกปรับให้สอดคล้องกับคู่ต่อสู้เสมอ และผู้เล่นที่มักจะถูกเลือกใช้กันก็คือ ผู้เล่นที่เล่นได้หลายตำแหน่ง มีความหลากหลายในการเล่น ยกเว้นคู่เซ็นเตอร์ กับประตู 3 คนเท่านั้น ที่บทบาทนั้นควรจะไม่เปลี่ยนไปมาก นอกนั้นถูกเปลี่ยนได้หมดเลย มันถึงจะควบคุมคู่ต่อสู้ได้

EP.7 Lone Striker (กองหน้าตัวเป้า)

“Lone Striker” หรือ กองหน้าตัวเป้า หนึ่งในกุญแจสำคัญของการเล่น ซึ่งผู้เล่นที่ดีในตำแหน่งนี้ ควรจะต้องมีคุณสมบัติเพียบพร้อม ทั้งเรื่องรูปร่างที่ได้เปรียบ สูงใหญ่ มีความคล่องตัวและความเร็วสูง ยิงประตูที่เฉียบคม วิ่งเข้าไปทำประตูในพื้นที่ PTA หรือ วิ่งทะแยงตัดหลังไลน์ได้ มี first touch ที่ดี หรืออาจจะต้องมีจุดแข็งเรื่องลูกกลางอากาศ และที่สำคัญมาก ๆ คือต้องมีสัญชาติญาณในการยิงประตู ในทุกรูปแบบ

ซึ่งส่วนใหญ่แล้วศูนย์หน้าตัวเป้า ที่มีความเพียบพร้อมนั้น มักจะมีค่าตัวแพงมาก ๆ ในปัจจุบัน ผู้เล่นตำแหน่งนี้ ที่มีประสิทธิภาพ ก็มีมากมาย ไม่ว่าจะเป็น คาริม เบนเซม่า, โรเบิร์ต เลวานดอฟสกี้, แฮร์รี เคน, ​เออร์ลิ่ง ฮาลันด์, ดาร์วิน นูนเญซ, โรเมลู ลูกากู, อเล็กซานดาร์ มิโตรวิช ฯลฯ

EP.8 พื้นที่ PTA (Prime Target Area)

EP นี้ พูดถึงเรื่องของ “มิติ” การครอสส์บอล และจุดนัดพบที่เรียกว่า Prime Target Area (PTA) ตามนิยามของปรมาจารย์ลูกหนัง ชาร์ลส ฮิวจ์ส (Charles Huges) และที่โค้ชน้อย ร่วมทำสรุปมาคุยกันวันนี้ และคำอธิบายประกอบก็คือ พื้นที่เข้าไปในกรอบ 6 หลาประมาณ 2 หลา (1.8 เมตร) และลากออกมาจากเส้นกรอบ 6 หลาจนถึงจุดโทษ หรือคืออีกประมาณ 6 หลา (5.3 เมตร) รวมเป็นยาว 8 หลา และกว้างเท่ากับความยาวกรอบ 6 หลา

บริเวณ PTA คือ พื้นที่ที่ควรครอสส์ หรือทำเกมจากด้านข้างเข้าสู่กรอบเขตโทษ เพราะเป็นพื้นที่ระหว่างไลน์รับคู่แข่งกับผู้รักษาประตู

คำถาม คือ เทรนท์ หรือใคร ทีมใดก็แล้วแต่ โยนเข้าจุดดังกล่าวไหม? และหากเข้า ทำไมไม่เกิดประสิทธิภาพ

คำตอบมีได้หลากหลาย เช่น คู่แข่งรับต่ำ รับด้วยจำนวนมาก หรือนายทวารออกมากำกับจัดการได้ดี เฉพาะอย่างยิ่ง ลูกโยนจาก Deep area ที่ป้องกันได้ง่ายกว่า

EP.9 พื้นที่ Half Spaces

พื้นที่ Half Spaces ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อันตรายที่สุดในสนาม เป็นช่องลากยาวจะอยู่ระหว่างแนวฟูลแบ็คกับเซ็นเตอร์ฯ จึงเหมาะแก่การเข้าทำเมื่อทีมเป็นฝ่ายรุก

โดยในฟุตบอลสมัยใหม่ ทีมใหญ่ ๆ หลายทีมในต่างประเทศ มักจะให้นักเตะที่เป็นตัวทำเกมมาอยู่ในตำแหน่งนี้ และต้องเป็นนักเตะที่มีความสามารถมากพอที่จะเล่นในพื้นที่แคบ ๆ ได้ด้วย เหตุผลเพราะโซนนี้สามารถจ่ายบอลได้ทุกทิศทาง

EP.10 วิธีการเจาะแนวรับฝั่งตรงข้าม

วิธีการเจาะแนวรับฝั่งตรงข้าม ซึ่งก็หนีไม่พ้นในเรื่องของ Positional Play โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเล่นPositional Play ในแดนคู่ต่อสู้ ในขณะที่เรากำลังเตรียมการใช้คน 8 คนทั้งหมดรุกเข้าไป

โดยการเคลื่อนที่ของผู้เล่นทั้งหมดนี้ จะทำให้คู่ต่อสู่แนวรับทั้งหมดไม่มั่นคง ซึ่งเราก็ใช้วิธีการต่าง ๆ ที่เคยพูดมาใน EP ก่อนหน้านี้ทั้งหมด คือ การเคลื่อนที่ของ Inverted Full-back เข้ามา 2 คน แล้วเอาผู้เล่น Inverted Winger เข้ามาอีก 2 คน แล้วให้มีคนวิ่ง False 9 ลงมาตรงกลาง ส่วนฝั่งซ้ายขวา ก็ให้คนวิ่ง False 10 และ False 8

ถ้าสมมติในกรณีนี้ เราเข้าไปสู่พื้นที่เกือบจะสุดท้าย แบบทะลุทะลวง เพราะฉะนั้นการทำในลักษณะนี้พร้อม ๆ กันหรือเกือบจะพร้อมกัน แนวรับฝั่งตรงข้ามแตกแน่นอน

อย่างไรก็ดี ทีมผู้จัดทำหวังว่ารายการนี้จะให้ประโยชน์กับทุก ๆ คนได้ไม่มากก็น้อย โดยไม่ได้มีผู้สนับสนุนรายการใด ๆ ก็จะมีเพียงเพื่อน ๆ นี่แหละ ที่เป็นกำลังใจ คอยติดตาม และพูดคุยกัน และในอนาคต รายการ The Tactics จะมีซีรีส์ภาคต่ออย่างไร รอติดตามกันได้เลย

📝 ภาวินีย์ สูญสิ้นภัย (แนน)

Categories
Football Tactics

สรุป 4 วิธี การดูฟุตบอลขั้นพื้นฐานอย่างเข้าใจ

หัวข้อนี้เป็น 1 ในหัวข้อ Football Tactics ที่ผมให้น้ำหนักค่อนข้างมาก และมองว่าเป็น “เทมเพลท” สำคัญสำหรับทุก ๆ คนในการจับประเด็นเพื่อดูบอลในเชิงวิเคราะห์เกมการแข่งขันที่สามารถนำไปต่อยอดพัฒนาทักษะการอ่านเกมให้ได้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไปในอนาคตได้อีกด้วย

ข้อมูลครั้งนี้ ผม “เรียบเรียง” มาจากเนื้อหาโดย “โค้ชน้อย” อนันต์ อมรเกียรติ อดีตกุนซือทีมชาติไทย, สโมสรธนาคารกรุงเทพ, ผู้อำนวยการอคาเดมี สโมสรพัฒนา เอฟซี ฯลฯ ในอดีต ที่ได้เขียนบันทึกไว้ด้วยลายมือท่านเองมาฝากกันครับ

“โค้ชน้อย” อนันต์ อมรเกียรติ อดีตกุนซือทีมชาติไทย, สโมสรธนาคารกรุงเทพ, ผู้อำนวยการอคาเดมี สโมสรพัฒนา เอฟซี ฯล

โดยท่านอาจารย์ได้เรียบเรียงองค์ความรู้ไว้ 4 ข้อสำหรับการดูฟุตบอลเบื้องต้นให้เข้าใจได้ง่าย ๆ ไว้ดังนี้ :

1. ดูการเล่นเกมรุก

ข้อนี้ไม่ได้แปลว่า ได้บุก ได้ยิง ได้เลี้ยง ได้ส่ง ได้ครองบอลมากมาย ได้ฟรีคิก ฯลฯ เท่านั้น แต่โดยหลัก ๆ ที่ต้องดูแบบพื้นฐานประกอบด้วย : 

1.1 รูปแบบการรุก เช่น ถนัดเล่นลูกสั้น หรือยาว, ชอบเจาะตรงกลาง หรือริมเส้น, ค่อย ๆ สร้างเกม หรือเล่นเร็วทางลึกไปข้างหน้าทันที, มีโต้กลับ (เคาน์เตอร์แอทแทค) ด้วยไหม

1.2 การประสานงานของตำแหน่งต่าง ๆ เป็นอย่างไร ประมาณว่า มีชิ่งหนึ่งสอง, มีการเล่นสามเหลี่ยม/สี่เหลี่ยม หรือการทดแทนตำแหน่งกันหรือไม่ การวิ่งตัวเปล่า การวิ่งทะลุช่อง หรือใช้รูปแบบใดบ้างในการเคลื่อนบอลไปข้างหน้า

1.3 การเคลื่อนที่ของผู้สำคัญ เช่น เพลย์เมคเกอร์ หรือกองหน้า ว่ามีบทบาทอย่างไรในเกม อยู่ตรงไหนของสนาม มีแท็คติกส์อะไร เช่น False 9, Inverted Full Back, การใช้พื้นที่ half space ฯลฯ

1.4 เริ่มสร้างเกมรุกแบบไหน ตั้งแต่ผู้รักษาประตูแล้วค่อย ๆ บิ้วท์บอลแรกมาที่กองหลังขึ้นไปกองกลาง หรือกองหน้า หรือยาวไดเร็กต์จากหลังไปหน้าเลย ทำกันเร็ว หรือช้า, มีการเปลี่ยนสปีดหรือไม่ มีใครรวดเร็ว ทักษะดี เลี้ยงกินตัว หรือ 1 ต่อ 1 ได้ดีไหม

1.5 วางกำลังในแต่ละแดน หลัง กลาง หน้า อย่างไร? กี่คน? ระบบอะไร? และใช้ผู้เล่นรุกกี่คน? เคลื่อนตัวข้ามสู่แดนฝั่งตรงข้ามกี่คน? และไลน์รับสุดท้ายอยู่บริเวณใดของสนามขณะรุก

2. ดูการเล่นเกมรับ

เช่นกัน ไม่ใช่ว่า ดูแค่รับเหนียวแน่น สกัดเก่ง สไลด์แม่น โหม่งไกล เพราะพูดแบบนี้ก็จะง่ายไปหน่อย ทั้งนี้หลัก ๆ ที่ต้องมองคือ :

2.1 รับแบบคุมโซน (ดูแลพื้นที่) หรือประกบแมน ทู แมน (คุมคน)

2.2 มีการเช็คไลน์ออฟไซด์หรือไม่

2.3 มีการเพรสซิ่งไหม หรือหากมีต้องดุว่า เริ่มเพรสซิ่งตั้งแต่เมื่อไหร่ เช่น ตั้งแต่แดนหน้าเลยโดยกองหน้า หรือปล่อยมาเพรสซิ่งในแดนกลาง หรือค่อยมาไล่ในแดนหลัง และทำตลอดเวลา หรือเน้นบริเวณใดเป็นพิเศษไหม

2.4 ยืนรับต่ำขนาดไหน เช่น รับที่เส้นเขตโทษ 18 หลา หรือขยับมาเส้น 35 หลา (ระหว่างกลางสนาม และเส้นเขตโทษตัวเอง) และที่ว่างระหว่างไลน์กองกลัง กองกลาง และกองหน้า “สมดุล” หรือเท่ากันหรือไม่ และยังต้องพิจารณาด้วยว่า มีจำนวนผู้เล่นที่อยู่หน้าบอล หรือหลังบอลกี่คนในเวลาตั้งรับ

2.5 การคืนตำแหน่ง หรือรักษาสมดุลตำแหน่งเป็นอย่างไร ทำได้เร็ว หรือช้า ไม่ว่าจะเจอคู่แข่งใช้การรุกแบบใดก็ตามจากข้อ 1 

3. การเปลี่ยนจากรับเป็นรุก หรือรุกเป็นรับ (Transitional Play)

จากรับเป็นรุกหลัก ๆ ก็เพื่อจะทำการเคาน์เตอร์แอทแทค โดยต้องดูว่า บอลแย่งได้แล้วส่งให้ใครคนแรก, บอลสองไปหาใคร, ใครเป็นตัวเป้า ใครเป็นตัวพักบอล ใครเป็นตัวที่มีความเร็วสูงสุด

ทำกันเร็วไหม เพราะการโต้กลับที่สมบูรณ์ เช่น ประตู 4-1 โดยคิเลียน เอ็มบับเป้ ยิงให้ฝรั่งเศสออกนำอาร์เจนติน่าใช้เวลาประมาณ 10 วินาทีอันเป็นเวลาเฉลี่ยของการทำเคาน์เตอร์แอทแทคที่ดี หรือ 9.8 วิ.ประตูที่เบลเยียมยิงดับฝัน 3-2 ทีมชาติญี่ปุ่นตกรอบ 16 ทีมสุดท้ายในวินาทีสุดท้าย (ผมเขียนครั้งแรก ขณะมีบอลโลก 2018) นอกจากนี้ก็ต้องมองว่า ใครเป็นผู้เล่นสำคัญซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้เล่นที่มีความเร็ว จากรุกเป็นรับ หรือก็คือหลังจากบุกแล้วเสียการครองบอล สิ่งที่ต้องมองคือ เสียบอลแล้วมีการเพรสซิ่งเอาบอลคืนทันที หรือไม่เพรสซิ่ง แต่ใช้วิธีรีบคืนตัวกลับมาเล่นรับในตำแหน่งตัวเอง

ที่สำคัญ คือ หากไม่เพรสจะสามารถกลับมาเล่นรับในตำแหน่งได้ทันเวลาหรือไม่ เพราะแน่นอนว่า หากทำได้ไม่ดี โอกาสโดนโต้กลับจนเสียประตูย่อมเกิดขึ้นได้

4. ลูกตั้งเตะต่าง ๆ

ไม่ว่าจะเป็นไดเร็กต์ฟรีคิก คือ ยิงได้เลยในระยะหวังผล หรือจุดโทษ (ที่ต้องศึกษาวิธียิงของมือสังหาร หรือวิธีรับของนายทวาร) หรือโดยอ้อม เช่น อาจจะผ่านลูกเตะมุม ลูกเปิดกินเปล่าจากระยะไกลเข้ากรอบเขตโทษ

สิ่งที่ต้องมองคือ ใครเป็นผู้เล่นหลักในกรอบเขตโทษ, ใครคนเปิดฟรีคิกประจำ ถนัดเท้าใด และใช้เทคนิคการเปิดแบบใด รูปแบบการป้องกัน และโจมตี, ลักษณะการประกบเป็นคุมพื้นที่ หรือคุมคน

การสื่อสารในกรอบเขตโทษเป็นอย่างไร ผุ้รักษาประตูถนัดกับการออกมาตัดลูกกลางอากาศแค่ไหน ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่า แม้จะสามารถทำการรุก หรือรับ หรือมีฝึกจังหวะ Transition ได้ดีแล้ว แต่หากไม่เก่งฉกาจ และเชี่ยวชาญในลูกตั้งเตะ การเสียประตูโดยไม่จำเป็นก็จะเกิดขึ้นอย่างน่าเสียดาย

ในทางกลับกัน โอกาสทำประตูมากมายก็เกิดขึ้นจากลูกตั้งเตะนี่เอง

ครับ ทั้งหมดนี้ 4 หัวข้อ: รุก, รับ, รุกเป็นรับ/รับเป็นรุก และลูกฟรีคิกต่าง ๆ คือ 4 ประเด็นหลักที่สามารถใช้วิเคราะห์รูปแบบวิธีการเล่น วิธีคิดทำให้อ่านกลยุทธ์ กลวิธี รวมถึงแบบแผนการเล่นของคู่แข่ง หรือใช้วิเคราะห์ทีมตัวเองด้วยก็ได้

โดยในเกมฟุตบอลปัจจุบัน การ “แมวมอง” (Scouting) คู่แข่งขันแล้วประเมินความสามารถ เจาะวิเคราะห์วิธีการเล่น วิธีคิดของฝั่งตรงข้ามออกได้ คือ สิ่งสำคัญ เหมือนรู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง

ฟุตบอลสมัยใหม่จึงมีอาชีพ นักวิเคราะห์แมตช์แข่งขัน และเท่าที่ทราบมา ลีกไทยเราเอง บรรดาทีมชั้นนำน่าจะมีบุคคลากรตำแหน่งนี้กันทั้งสิ้นในทีมใหญ่ ๆ แต่ส่วนใหญ่อาจจะเป็นชาวต่างชาติ บุคคลในตำแหน่งนี้ที่อาจเรียกว่าเป็นฝ่าย “เทคนิค” ของทีมที่จะช่วยแบ่งเบาภาระโค้ชตัวจริงได้มาก

เพราะลำพังโค้ชคนเดียวไม่สามารถทำหน้าที่ทุกอย่างโดยลำพังได้แล้วในฟุตบอลอาชีพที่เป็นมาตรฐานสูงแบบปัจจุบัน หลายทีมอาจใช้ทีมสตาฟฟ์ค่าตัวถูกกว่า แต่ต้องอาศัยเครื่องมือ เครื่องวัดอื่น ๆ มาช่วย เช่น อัดวิดีโอ ไว้ศึกษาวิเคราะห์แต่ละเกม แล้วขึ้นหน้าจอให้ผู้เล่นดู หรือซื้อบริการข้อมูลสำเร็จรูปในการวิเคราะห์เกมนัดต่อนัดมาประกอบการวางแผนการเล่นในทุกนัด

แต่หากเป็นทีมที่พร้อมจริง ๆ แต่ละนัดผู้ที่ทำหน้าที่นี้จะมองออกอย่างเร็วภายใน 15 นาที และเตรียมวิดีโอไว้เปิดให้ผู้เล่น กับโค้ชได้แก้เกมทันควันระหว่างพักครึ่งเวลาได้เลย

รายละเอียดจริง ๆ ของมืออาชีพจะมีเยอะกว่านี้มาก แต่เบื้องต้น 4 ข้อในวันนี้ คือ อย่างน้อย “พื้นฐาน” การมองฟุตบอลแบบพอจะมี “ครู” และหลักการพื้นฐานให้จับได้บ้างในการชมเกมฟุตบอล 90 นาทีในแต่ละนัดที่ผมหวังว่าจะช่วยยกระดับอรรถรสการชมฟุตบอลของทุก ๆ คนได้นะครับ

(ปรับปรุงข้อมูลจากเพจช้างศึก 6 ก.ค.2018)

ณัฐวุฒิ ประเทืองศิลป์