เหมือนเดิมทุก ๆ วันจันทร์ในช่วงนี้ ผมจะมีโอกาสได้คุยกับคุณวาว จารุวัฒน์ พริบไหว ทางเพจตุงตาข่าย ในเรื่องเกี่ยวกับแท็คติกส์ฟุตบอลที่เรา 2 คนเลือกมามองจากเกมสุดสัปดาห์ในมุมที่ “ย่อยง่าย” และสามารถอธิบายให้เข้าใจได้พอเป็นสังเขปซึ่งวีคนี้ คือ เรื่อง Positional Play ที่แมนเชสเตอร์ ซิตี้ กระทำการใส่ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ครับ >>> bit.ly/3sRqMiH
ความหมายของ Positional Play ให้แปลแบบเป๊ะ ๆ อาจมองไม่เห็นภาพได้เท่ากับให้ผมอธิบายผ่านแท็คติกส์อย่างน้อย 3 – 4 ประการที่ เป๊ป กวาร์ดิโอลา และเด็ก ๆ แสดงให้เห็นในเกมนี้:
1. การเพิ่มจำนวนผู้เล่น หรือ overload จำนวนผู้เล่นเข้าไปในพื้นที่ฝั่งขวาของทีมปิศาจแดงฟาก แอรอน วาน บิสซากา ที่แม้ แอนโธนี เอลังกา จะถอยลงมาช่วย และมีสกอตต์ แม็คโทมิเนย์ กับวิคตอร์ ลินเดอเลิฟ ประจำการอยู่ก็ไม่ไหว เพราะฝั่งนี้ซิตี้เติมมาทั้ง แจ็ค กริลิช, แบร์นาโด ซิลวา, False 9 ฟิล โฟเดน ตามหลังโดย เจา คานเซโล ไม่นับ อายเมอริค ลาปอร์ต หรือโรดรี้ ที่ยืนประคองสถานการณ์
การ overload ด้วยจำนวนผู้เล่นทำให้การรุก (ขณะมีบอล) ผู้เล่นซิตี้ที่ได้บอลจะมีชอยส์อย่างน้อย 2 (สามเหลี่ยม) หรือ 3 ชอยส์ (สี่เหลี่ยม – ไดมอนด์) เสมอ ๆ อันทำให้การจู่โจม เข้าทำ มีประสิทธิภาพ และได้เปรียบ
ไม่นับการเคลื่อนที่ของผู้เล่นที่ขยับตัวตลอดเวลา เป็นอิสระ และไม่เป็นเป้านิ่งให้เกิดการประกบตัว หรือคิดจะประกบตัวก็ยาก เพราะจำนวนคนน้อยกว่า
ประตู 1-0 หรือ 2-1 ตอบโจทย์สิ่งนี้เป็นอย่างดี และตัวเลขเกือบ 50% ของการขึ้นบอลเกิดจากฝั่งนี้ หรือเป็น 2 เท่าของการขึ้นเกมตรงกลาง และฝั่งขวาของสนามที่มี ริยาด มาห์เรซ ประจำการอยู่
2. อย่างไรก็ดี ไม่ได้หมายความว่า มาห์เรซ มีประโยชน์น้อย แต่นี่คืออีก แท็คติกส์สำคัญของการเล่น Postional Play นั่นคือ การใช้ตัวผู้เล่นที่มีความสามารถเผชิญกับคู่แข่งที่มีความสามารถน้อยกว่าโดยตรงไปเลย
กรณีนี้ เป๊ป อาจมองว่า อเล็กซ์ เทลเลส ไม่น่าจะ 1 v 1 ปะทะกับดาวเตะอัลจีเรียได้โดยตรง การ isolate มาห์เรซ ไว้ในพื้นที่ว่างฝั่งขวาเสียเลยจึงเป็นแท็คติกส์ที่วางไว้
ครับ จริง ๆ แล้ว หากแผน A หรือคือ การเจาะฝั่งซ้ายด้วยการ overload ผู้เล่นไม่ประสบความสำเร็จ หรือคือไม่สามารถเจาะไปถึงเส้นหลัง หรือเข้ากรอบเขตโทษฝั่งนั้นแล้วเปิด cut back หรือยิง หรือเปิดเสาสองกลับมาได้
การเปลี่ยนแกน switching play ไปจบอีกฝั่งกับมาห์เรซ ที่จะต้องว่าง หรือได้ปะทะตรงกับเทลเลสที่แม้เจ้าตัว กับเพื่อน ๆ จะเคลื่อนที่ตามมา ทว่าหากมาห์เรซ จับบอลแรกได้เยี่ยม หรือบอลถูกเปิดมาเพอร์เฟคต์
การป้องกันจะไม่ง่าย
หรือหากขยับมาป้องกันไม่ทัน มาห์เรซ ก็จะว่างให้สร้างสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ตลอดเวลาไม่เว้นแม้แต่ลูกตั้งเตะ เช่น คอร์เนอร์ที่ได้ประตู 3-1 หรือก่อนหน้านั้นฟรีคิกที่มีโอกาสยิงข้ามคาน
ขณะเดียวกัน หากมาห์เรซ เคลื่อนที่ไปเรื่อย ๆ และใช้ความสามารถ ความเข้าใจในการใช้พื้นที่ว่างทั้งระหว่างไลน์ และหลังไลน์ ประตูก็อาจเกิดขึ้นได้ เช่น 4-1 อันเป็นการเคลื่อนที่ไปรับบอลหลังไลน์ได้อย่างยอดเยี่ย
3. การเคลื่อนที่แบบ “เข้าใจ” ในการใช้พื้นที่ว่าง เช่น ระหว่างไลน์, หลังไลน์, ระหว่างตัวผู้เล่น หรือไปบริเวณ half space คือ ศาสตร์ชั้นสูงของนักเตะที่ต้องเป็นระดับ elite players จริง ๆ และต้องเป็นนักเตะที่ได้รับการโค้ชอย่างถูกต้องดังที่ เป๊ป พูดล่าสุดหลังเกมถล่มปิศาจแดงนัดนี้ว่า ทักษะ ความสามารถโน่นนี่ มันมาจากท้องพ่อท้องแม่แล้ว แต่เขามีหน้าที่ทำให้นักเตะเหล่านี้เล่นได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดก็เท่านั้น
เควิน เดอ บรอย แมน ออฟ เดอะ แมตช์ เกมนี้ คือ เจ้าพ่อคนหนึ่งที่เข้าใจในพื้นที่ว่าง (แน่นอนว่าเขาจะต้องเข้าใจการเล่น positonal play อย่างถ่องแท้) และมีความสามารถเฉพาะตัวในการรับบอลไม่ว่าจะ half turn หรือรับแล้วไปทันที หรือไปกลับบอลอย่างรวดเร็ว หรือเปลี่ยนสปีด ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดเหล่านี้กับบอลจะเป็นการเจาะทะลุทะลวงพื้นที่ว่างในเกมรับของแมนฯยูฯทั้งนั้น และจะ disorganise เกมรับโดยรวมให้พังอย่างราบคาบได้
แบร์นาโด ซิลวา ก็เก่งฉกาจเช่นกันในการลากเลื้อยเจาะพื้นที่ว่าง และครอบครองบอล ขณะที่เพื่อน ๆ ซึ่งรู้หน้าที่จะเคลื่อนตัวไปที่ว่างด้านหน้าเพื่อรับบอลตามหลักไปเพิ่มจำนวน หรือทยอยเติม (เพื่อเพิ่มจำนวนไปเรื่อย ๆ)
กรีลิช โดดเด่นมากในเกมนี้กับจังหวะเวลาที่ใช้แบบไม่มาก หรือน้อยไปกับลูกบอล และเล่น combination กับเพื่อน ๆ ทางฝั่งซ้ายได้ดี และนี่ถือเป็นนัดที่ดาวเตะ 100 ล้านปอนด์เล่นได้ดีที่สุดในฤดูกาลกับซิตี้ แม้จะยิง หรือ assist ไม่ได้ แต่ความเข้าใจใน positional play แบบที่เป๊ปต้องการนั้นมาแล้ว
คนอื่น ๆ คานเซโล, โฟเดน, วอลค์เกอร์, สโตนส์, ลาปอร์ต หรือกระทั่ง เอแดร์สัน ที่รายหลังจะเป็นตัวเลือกเสมอให้เซนเตอร์ฯ อยู่ในสถานการณ์ 3 v 2 ไม่ใช่ 2 v 2 เพราะสามารถขยับมาเล่นบอล รับบอล ออกบอล ด้วยเท้าได้ ต่างเข้าใจความหมาย และผ่านการฝึกซ้อม postional play มาจนภาพโซนต่าง ๆ ในสนามอยู่ในหัวหมดแล้ว และทราบว่าจะแก้ “หน้างาน” กันอย่างไรในภาวะต่าง ๆ
4. รวมแล้ว postional play ต้องเข้าใจพื้นที่, เข้าใจเรื่องการเพิ่มจำนวนผู้เล่นในพื้นที่ที่ต้องการ และต้องมีคุณภาพของผู้เล่นที่พร้อมจะทำได้
ความสมบูรณ์แบบที่สุดของการเล่นแบบนี้เกิดขึ้นในครึ่งหลังที่ซิตี้ครองบอลได้กว่า 70% และ 15 นาทีสุดท้ายที่ครองบอลได้ถึง 92%
ดังนั้น อย่าแปลกใจที่ สกอตต์ แม็คโทมิเนย์ โต้กลับ รอย คีน ประมาณว่า ไม่ได้ลงมาเล่นไม่รู้หรอกหลังโดนอดีตกัปตันทีมตนเองบ่นว่า ใจไม่สู้ ยอมยกธงขาว หรือมี 5-6 คนไม่คู่ควรจะใส่เสื้อสีแดง แมนฯยูฯ
ด้วยก็เพราะ postional play มันทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์จากการแก้เกมของเป๊ปในครึ่งหลัง
ขณะเดียวกัน สิ่งดีงามที่แฟนปิศาจแดง ควรจะ “ยืดอก” ยอมรับ และทำความเข้าใจก็คือ ในมุมของโค้ช เราได้เห็นสิ่งที่ ราล์ฟ รังนิค พยายามจะทำผ่านการจัดตัว และรูปแบบวิธีการเล่น โดยเฉพาะ 30 นาทีแรก
การใช้ พอล ปอกบา และบรูโน แฟร์นันเดซ ยืนเสมือนเป็นคู่หน้าตัวบน และรับสูง และเพรสซิ่งสูง คล้าย ๆ ระบบ 4-2-4 เพราะต้องการใช้ 4 ตัวบนเพรสซิ่งไม่ให้แมนฯซิตี้ออกบอลแรกจากแดนตัวเองได้ มันมีที่มาที่ไป และมี “เหตุผล” เพียงพอ
ส่วนตัว ผมจะพอใจมากกว่าที่ได้เห็นอะไรแบบนี้ คือ ได้เห็น แมนฯยูฯ กับรูปแบบพยายามบุก พยายามเล่นเพรสซิ่ง และโต้เร็ว โดยดันสูง รับสูง ตามแบบฉบับทีมใหญ่
และก็ต้องยอมรับว่าทำได้ดีแม้เพียงครึ่งชั่วโมง แต่ก็ทำให้เห็นถึงความพยายามอันนั้น
ดังนั้น ได้โปรด อย่า “ถอยหลัง” กลับไปไหน แพ้ก็แพ้ (เพราะยังไงก็ไม่ได้เจอซิตี้ทุกวีค) แต่มันคือ บทเรียน มันคือ จุดเริ่มต้น
ได้โปรดอย่าไปเล่นรับแล้วโต้ หรือเกมนี้เล่นแบบนั้น เกมนั้นจะเล่นแบบนี้ แต่ให้มุ่งไดเรกชั่นนี้ไปเลย หรือจะซื้อผู้เล่นใหม่ก็ต้องเป็นคาแรกเตอร์ที่เล่นแบบนี้ได้
เพราะหากมันจะเจ็บ มันก็ต้องเจ็บ และทั้งซิตี้เอง หรือลิเวอร์พูล ต่างผ่านช่วงเวลาแบบนี้มาแล้วเหมือนกัน
ครับ สรุปอีกที เกมนี้เราได้เห็นโคตรการเล่น positonal play ที่สมบูรณ์แบบในครึ่งหลังจากแมนฯซิตี้ และได้เห็น “แสงสว่าง” ในครึ่งแรกจากแมนฯยูไนเต็ดครับ
โชคดีนะ แฟน ๆ เมืองแมนเชสเตอร์ สีฟ้าแดง จากใจแฟนสีแดงจากเมืองลิเวอร์พูลครับ
ปล.ขอบคุณ โค้ชน้อย อนันต์ อมรเกียรติ อาจารย์ผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ฟุตบอลให้ผมมาต่อยอดนะครับ
ณัฐวุฒิ ประเทืองศิลป์
Editor – in – chief