Categories
Football Tactics

Prime Target Area (PTA)

ก่อนเกม “แดงเดือด” แมนฯ ยูไนเต็ด – ลิเวอร์พูล ภาคนี้ ผมมี “มิติ” การครอสส์บอล และจุดนัดพบที่เรียกว่า Prime Target Area (PTA) มาฝากนะครับ โดยต้องขอบคุณ “โค้ชน้อย” อนันต์ อมรเกียรติ กับข้อมูลเหมือนเดิม

ก่อนอื่น คำถาม คือ ทำไมต้องโยนจากด้านข้าง หรือครอสส์บอลจากด้านข้างสนามเข้าสู่กรอบเขตโทษ?

คำตอบกำปั้นทุบดินที่สุด คือ หากเจาะเข้า “ไข่แดง” ตรงกลาง หรือที่เรียกว่า Zone 14 ซึ่งก็คือ บริเวณเซนเตอร์ฮาล์ฟ ทะลุผ่านหัวกะโหลกกรอบเขตโทษไม่ได้ หรือคือ เล่น “หน้าไลน์” ตรงกลางพื้นที่แนวรับไม่ได้ เพราะคู่แข่งนักษาอาณาเขตสำคัญนี้ได้ดี หรืออีกนัยคือ บีบให้เราต้องเล่นบอลจากพื้นที่ด้านข้าง

การเล่น หรือทำเกมรุกในส่วน Final Third แดนคู่แข่งจากด้านข้างจึงเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การที่ต้องโยนจากด้านข้าง คือ แนวทางหนึ่งของการรุกจากบริเวณริมเส้น เช่น เทรนท์ อเล็กซานเดอร์-อาร์โนลด์ โยนจากในภาพ คือ Deep area แบบที่เรานิยมเรียกว่า early cross (หากทำด้วยความรวดเร็วก่อนแนวรับจะตั้งกระบวนทาาได้ และทำด้วยจังหวะเวลาเหมาะสม) ก็เพราะพื้นที่ตรงกลางแนวรับนั้นแน่นหนา

ความแน่นหนา เกิดได้จากปัจจัย อาทิ กองหลังฝ่ายตรงข้ามรับแบบ compact ยืนเป็นรถบัส 2 ชั้น และเน้นรับพิเศษบริเวณไข่แดงตรงช่องว่างระหว่างเซนเตอร์แบ็ค หรือช่องระหว่างเซนเตอร์ฯ กับฟูลแบ็ค (Half space) หรือคือ Zone 14 ทั้งหมด ที่เห็นในภาพคือ central area

งานนี้ ฝ่ายรุก จึงต้องหันไปเจาะเกมจากด้านข้างแทน เทรนท์เอง ไม่ได้ถนัดพาบอลไปถึง Wide area และ Goal line area ได้ สุดท้ายก็ต้องรีบโยนจากจุด Deep area เป็นออฟชั่นหลักของตนเอง แต่หากมี จอร์แดน เฮนเดอร์สัน มาช่วยเกมรุกฝั่งขวา หลายครั้งจะเห็น เฮนโด้ สามารถไปได้ถึง Wide area แล้วโยน ได้ หรือจะให้เด็ดกว่านั้น โม ซาลาห์ หรือซาดิโอ มาเน ซึ่งมีความสามารถ และความเร็วในการลากกระชากกินตัวสามารถไปได้ถึง Goal line area ได้ และเด็ดกว่านั้น คือ ซาลาห์ ทำประตูกับแมนฯซิตี้ และวัตฟอร์ด ได้จากการเข้าไปดังกล่าว เป็น 2 ประตู talk of the town โดยไม่จำเป็นต้องเปิดเข้ากลางด้วยซ้ำ

วกมาตอบคำถาม เมื่อเจาะตรงกลางไม่ได้ จึงต้องเจาะจากด้านข้าง และหากใช้แท็คติกส์การโยนเข้าไป การโยนก็ต้องครอสส์เข้าไปในเขตโทษไปสู่จุดที่เป็นประเด็นวันนี้ คือ PTA

PTA ตามนิยามของปรมาจารย์ลูกหนัง ชาร์ลส ฮิวจ์ส (Charles Huges – ลองเสิร์ชชื่อดูนะครับ) และที่โค้ชน้อย ร่วมทำสรุปมาเป็นภาพ และคำอธิบายประกอบก็คือ พื้นที่เข้าไปในกรอบ 6 หลาประมาณ 2 หลา (1.8 เมตร) และลากออกมาจากเส้นกรอบ 6 หลาจนถึงจุดโทษ หรือคืออีกประมาณ 6 หลา (5.3 เมตร) รวมเป็นยาว 8 หลา และกว้างเท่ากับความยาวกรอบ 6 หลา (ตามภาพ)

ครับ บริเวณ PTA คือ พื้นที่ที่ควรครอสส์ หรือทำเกมจากด้านข้างเข้าสู่กรอบเขตโทษ เพราะเป็นพื้นที่ระหว่างไลน์รับคู่แข่งกับผู้รักษาประตู

คำถาม คือ เทรนท์ หรือใคร ทีมใดก็แล้วแต่ โยนเข้าจุดดังกล่าวไหม? และหากเข้า ทำไมไม่เกิดประสิทธิภาพ

คำตอบมีได้หลากหลาย เช่น คู่แข่งรับต่ำ รับด้วยจำนวนมาก หรือนายทวารออกมากำกับจัดการได้ดี เฉพาะอย่างยิ่ง ลูกโยนจาก Deep area ที่ป้องกันได้ง่ายกว่า

นอกจากนี้ เทคนิคการครอสส์ก็สำคัญ ผมขอยกตัวอย่าง เดวิด เบคแคม หรือคอสตาส ซิมิกาส ที่โยนลักษณะ Whipped cross ซึ่งเร็ว แรง โค้ง แต่ไม่สูง ทำให้กองหลังตัวโตไม่มีประโยชน์ แต่นักเตะแนวรุกจะสามารถพุ่งเข้าชาร์จได้เลย

ไม่ได้บอกว่า เทรนท์ หรือคนอื่น ๆ ครอสส์ไม่ดี แต่การครอสส์ก็เหมือนการเปิดบอลที่มีหลายเทคนิค ฝากไว้เบา ๆ เป็นน้ำจิ้มก่อน “แดงเดือด” และประกอบการรับชมบอลให้สนุก มีความสุขนะครับ

☕ณัฐวุฒิ ประเทืองศิลป์

📷✍อนันต์ อมรเกียรติ