ผมน่าจะได้ดู “ช็อตยิง” จังหวะนี้ของ ธิอาโก อัลคันทารา ประมาณ 100 ครั้ง และได้คุยกับยอดโค้ชเมืองไทยหลายคนว่าควรจะเรียกการยิง (ลูกวอลเลย์) ลักษณะนี้ว่าอย่างไรดี?
มองเร็ว ๆ มันเหมือนพวกเราสมัยเด็กน้อย หยิบก้อนหินแบน.ๆ หรือแผ่นกระเบื้องมาขว้างเฉือน ๆ ให้สัมผัสผิวน้ำแล้วกระดอน ๆ ๆ พุ่งไปข้างหน้านะครับ
สวยงาม เพราะหาก “ปาหิน” ได้จังหวะ ได้เหลี่ยมมุม ถูกต้อง วิถีการพุ่ง และลักษณะการสัมผัสผิวน้ำจะสะเทิ้นสะท้านสวยงาม รวดเร็ว พุ่งตรง
จังหวะวอลเลย์นี้ที่เรียกเป็นภาษาฟุตบอลว่า “Half Volley” หรือภาษาบ้าน ๆ หน่อยว่า “ลูกพร้อม” ก็ไม่ต่างกันครับ
กล่าวคือ จะต้องยิงทันทีที่บอลกระดอนขึ้นจากพื้นหญ้า ณ จุดที่ลูกบอลยังลอยไม่สูงมากนัก และจริง ๆ แล้วก็เป็น “เทคนิค” อันหนึ่งที่ผู้รักษาประตูชอบใช้ (จะเรียกว่า Drop Kick) เพราะบอลจะพุ่งเร็วสู่เป้าหมายได้ทันที และคำนวณได้ว่า จะเอา แรง+เร็ว ประมาณไหน (จะดีกว่า โยนแล้วเตะ แน่นอน)
อย่างไรก็ดี การยิงครั้งของ ธิอาโก ไม่ใช่แค่ยิงทันทีที่บอลกระดอนขึ้นมาเล็กน้อยแบบธรรมดา ๆ แต่ยังเป็นการใช้หลังเท้า “ยิงตัด” ลูกบอลครึ่งบนในลักษณะเฉือนสไลด์ติดไซด์นิด ๆ แล้วยังกดเท้าลงอีกด้วย (ไม่นับที่ว่า น่าจะมีเทคนิคการเปิดบอลแบบ Low Drive เข้ามาผสมด้วย – ไว้ผมจะมาพูดถึงภายหลัง)
หรือคือ ทำประมาณอย่างน้อย 3 – 4 เทคนิคกับเท้า และลูกบอล• นั่นคือ ความชำนาญที่ฝึกฝน และเป็นทั้งทักษะ และเทคนิคเฉพาะตัวที่เกิดขึ้นหลังจากทักษะเบื้องต้น นั่นคือ การต้องอ่านจังหวะบอลได้ดีมาก ๆ และคำนวณระยะการตก, การกระดอน, มุม-องศา-ทิศทาง ของลูกบอลตั้งแต่จังหวะสกัดแล้วลอยบนอากาศ แล้วตกลงพื้น แล้วมุมที่จะเล็งเพื่อปล่อยเท้าสู่เป้าหมาย
โอ้ววว แม่เจ้า! ต้องพูดดีเทลกันแบบนี้เลยจริง ๆ ครับ ไม่งั้นมันไม่เห็นภาพที่แท้จริง
เหมือนคนใกล้เหตุการณ์อย่าง เพื่อนร่วมทีม อิบู โคนาเต หรือโจเอล มาติป ปรากฎภาพในโซเชียลทำท่ากุมศรีษะอย่างไม่เชื่อสายตาในสิ่งที่ได้เห็น
ขณะที่นักเตะปอร์โต ต้องใช้คำว่า “stun” แน่นิ่ง ชะงักงันไปทั้งทีม
คำถามอื่น ๆ ยังมี เช่น บอลที่ยิงออกไปแท้จริงแล้วกระดอนโดนผืนหญ้าไหม? เพราะได้เห็นวิถีบอลพุ่งลง แล้วลอยสะเทิ้นขึ้นอีกครั้งก่อนเสียบโคนเสา ดิโอโก คอสตา ที่ไม่มีทางจะเซฟได้
ฟลุ๊ค หรือจังหวะพอดี หรืออย่างไร? เยอร์เกน คลอปป์ ก็ได้ตอบแล้วว่า เคยเห็นธิอาโก้ทำอยู่ในสนามซ้อม ในรายละเอียดอื่น ๆ ที่น่าสนใจก็ เช่น
ดาวเตะวัย 30 ปีจริง ๆ ยืนอยู่ไลน์สุดท้ายในเกมรับ (ถัดไปก็ อลิสซงแล้ว) นอกจอทีวีจากจังหวะเริ่มต้น ฟรีคิกทางฝั่งขวาของ อเล็กซ์ ออกซ์เลด-แชมเบอร์เลน แต่แบบที่บอกครับว่า “อ่านจังหวะ” โหม่งสกัดไม่ดีของปอร์โต้แล้วพุ่งเข้ามาจนเพื่อน ๆ รุ่นน้องที่อยู่ใกล้กว่า อย่าง เนโก วิลเลียมส์ และคอสตาส ซิมิกาส ต้องหลบกระเจิงให้
นั่นแสดงว่า “สมอง” ธิอาโก คำนวณ เลือกโหมดการเล่น และบันทึกภาพการทำประตูนี้ไว้ล่วงหน้าหมดแล้ว
ใครจะแสดงความชื่นชม หรือความเห็นเพิ่มเติมก็จัดมาได้เลยนะครับ
หรือจะ “ขยี้” อีกนิด คือ ธิอาโก ยังมี “เทคนิคพิเศษ” อื่น ๆ ที่ใช้ประจำอีกมาก เช่น ใช้เท้าเหยียบจับบอลแล้วแตะในจังหวะเดียวในลักษณะเดียวกับนักฟุตซอล, การใช้ข้างเท้าด้านนอกจ่ายบอลเสมอ ๆ (หลัง ๆ นักเตะหงส์คนอื่น ๆ ก็เล่นตามเยอะนะ), ลูกชิพเปิดบอลยาวหลากหลายรูปแบบ เช่น Low Drive (พอล ป๊อกบา เป็นอีกคนที่ใช้บ่อย), จังหวะ half turn ตอนจะรับบอล
อย่างไรก็ดี จะให้ดี ธิอาโก อัลคันทารา ต้องมีความสม่ำเสมอ และผสมผสานเทคนิค และทักษะอันงดงามเหล่านั้นให้เกิด “ผลลัพธ์” มากกว่านี้ และเจ็บให้น้อยลง
เพื่อ “ศักยภาพสูงสุด” ของเขาจะไม่พุ่งขึ้น และตกลงเหมือนพลุไฟ แต่จะเป็นเหมือน “ดาว” ที่ลอยค้างฟ้าเป็นตำนานสโมสรได้ต่อไปมากกว่าครับ
ณัฐวุฒิ ประเทืองศิลป์
ขอบคุณข้อมูล : โค้ชน้อย อนันต์ อมรเกียรติ, โค้ชนพ นพพร เอกศาสตรา, โค้ชแดง ทรงยศ กลิ่นศรีสุข, โค้ชใหม่ เจตนิพัทธ์ รชตเฉลิมโรจน์ และโค้ชโจ ธีระศักดิ์ โพธิ์อ้น
Editor – in – chief