Khaimukdam Group

SPECIAL CONTENT

พรีเมียร์ลีก ซีซัน 2023-24 กับบทสรุปหลากหลายประเด็น

พรีเมียร์ลีก ซีซัน 2023-24 กับบทสรุปหลากหลายประเด็น

พรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 2023-24 ได้ปิดฉากอย่างสมบูรณ์หลังจากแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เฉือนชนะแมนเชสเตอร์ ซิตี 2-1 ครองแชมป์เอฟเอ คัพ เป็นสมัยที่ 13 ในประวัติศาสตร์สโมสร ขณะที่แมนฯซิตี ชนะเลิศพรีเมียร์ลีกเป็นสมัยที่ 4 ติดต่อกัน และลิเวอร์พูละครองแชมป์อีเอฟแอล คัพ

ในส่วนของโควตาฟุตบอลสโมสรยุโรป ทีมท็อป 4 แมนฯซิตี, อาร์เซนอล, ลิเวอร์พูล และแอสตัน วิลลา ได้ไปแข่งขันแชมเปียนส์ ลีก, ทีมอันดับ 5 ทอตแนม ฮอตสเปอร์ และแชมป์เอฟเอ คัพ แมนฯยูไนเต็ด ได้ไปเล่นยูโรปา ลีก ส่วนทีมอันดับ 6เชลซี จากที่ควรได้สิทธิยูโรปา ลีก แต่เพราะ “เรด เดวิลส์” ได้ชูถ้วยใบเก่าแก่อายุกว่า 150 ปีของเมืองผู้ดี “เดอะ บลูส์” จึงต้องลงสนามรอบเพลย์ออฟของคอนเฟอเรนซ์ ลีก แทน

ภายหลังศึกลูกหนังเทียร์ 1 ของอังกฤษ รูดม่านลง Sky Sports สื่อกีฬาคุณภาพเมืองผู้ดี ได้ประมวลเหตุการณ์ที่น่าสนใจที่เกิดขึ้นในพรีเมียร์ลีก ซีซัน 2023-24 ในหลายหลายประเด็น ซึ่งทีมงานไข่มุกดำได้คัดเลือกบางหัวข้อ นำมาแปลและเรียบเรียงนำเสนอต่อคอลูกหนังบ้านเราดังต่อไปนี้

ประตูมากขึ้น ผู้เล่นอังกฤษทำสกอร์สูงขึ้น

นับตั้งแต่ซีซัน 2020-21 การทำประตูในพรีเมียร์ลีกเพิ่มขึ้นติดต่อกัน 3 ปีติดต่อกัน นับจากค่าเฉลี่ย 2.69 ประตูต่อนัด เพิ่มเป็น 2.82 ประตูในซีซัน 2021-22, 2.85 ประตูในซีซัน 2022-23 และ 3.28 ประตูในซีซัน 2023-24 แต่ที่น่าสังเกตเป็นพิเศษคือ ฤดูกาลที่เพิ่งจบไปเพิ่มขึ้นจากซีซันก่อนหน้าถึง 15%

ตัวแปรที่น่าให้ความสำคัญคือ ค่าเฉลี่ยการเกิดสกอร์ต่อนัดยังสูงกว่าช่วงก่อนฤดูกาล 1995-96 ซึ่งมีจำนวนสโมสร 22 ทีม รวมการแข่งขันทั้งโปรแกรม 420 นัดต่อซีซัน ก่อนลดจำนวนเหลือ 20 ทีมหรือ 380 นัดต่อซีซัน โดยซีซัน 2023-24 แฟนบอลได้เห็นบอลวิ่งซุกก้นตาข่ายรวมแล้ว 1,246 ครั้ง ช่างเป็นลีกที่น่าตื่นเต้นเร้าใจจริงๆ

Sky Sports ยังโฟกัสผู้เล่นอังกฤษเป็นพิเศษ แม้รางวัลรองเท้าทองคำยังตกเป็นของ เออร์ลิ่ง ฮาลันด์ ดาวซัลโวทีมชาตินอร์เวย์ของแมนฯซิตี เป็นปีที่ 2 ติดต่อกันด้วยตัวเลข 31 นัด 27 ประตู แต่อันดับท็อป 10 ซีซันนี้มีนักเตะเมืองผู้ดีติดเข้ามาถึง 6 คน นำโดย โคล พาลเมอร์ (เชลซี, 34 นัด 22 ประตู) รั้งอันดับ 2 ตามด้วยอันดับ 4 (ร่วม) 19 ประตู มี 3 คนเท่ากันคือ โดมินิค โซลันกี (บอร์นมัธ, 38 นัด), โอลลี วัตกินส์ (วิลลา, 37 นัด), ฟิล โฟลเดน นักฟุตบอลแห่งปีของ FWA (แมนฯซิตี, 35 นัด) และอันดับ 9 (ร่วม) 16 ประตู มี 2 คนเท่ากันคือ บูกาโย ซากา (อาร์เซนอล, 35 นัด) กับ จาร์รอด โบเวน (เวสต์แฮม, 36 นัด)

ถือเป็นปีทองของวัตกินส์กับพาลเมอร์ก็ว่าได้จนได้รับเลือกจากแกเรธ เซาธ์เกต ใส่ไว้ในรายชื่อทีมชาติอังกฤษ 33 คนแรกของชุดยูโร 2024 โดยกองหน้าวิลลาทำแอสซิสต์ได้ 13 ครั้ง สูงเป็นอันดับ 1 ในพรีเมียร์ลีก พาลเมอร์ตามเป็นอันดับ 2แบบติดๆ 11 ครั้ง

Sky Sports ยังรายงานว่า นักเตะอังกฤษในพรีเมียร์ลีกทำสกอร์รวมกันซีซันนี้ 369 ประตู เป็นจำนวนมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2002 เป็นต้นมา ซึ่งหากดูข้อมูลตั้งแต่ซีซัน 1995-96 ซึ่งมีตัวเลขสูงถึง 597 ประตู จากนั้นก็ค่อยๆลดจำนวนลงเรื่อยๆจนต่ำระดับหลัก 400 ตั้งแต่ซีซัน 2001-02 คือ 392 ประตู

ตัวเลขยังอยู่โซน 300 จนกระทั่งซีซัน 2012-13 หลุดลงไปที่ 296 ประตู และขยับขึ้นมาเป็น 325 ประตูในซีซัน 2013-14ก่อนกลับลงไปสู่หลัก 200 ติดต่อกัน 5 ฤดูกาล และฟื้นขึ้นหลัก 300 ติดต่อกัน 5 ฤดูกาล ก่อนมาพีคสุดที่ซีซัน 2023-24 คือ 369 ประตู

Sky Sports ให้ข้อสังเกตว่า นักเตะท้องถิ่นผลิตสกอร์ได้เป็นกอบเป็นกำขนาดนี้ทั้งที่มีเวลาอยู่ในสนามหรือ game-time รวมกัน 224,730 นาที ซึ่งเกือบเป็นตัวเลขน้อยที่สุดนับตั้งแต่ซีซัน 1998-99 สำหรับลีกที่ประกอบด้วยนักเตะต่างชาติเก่งๆมากมายที่เข้ามาสร้างสีสันบนเกาะอังกฤษ จนดูเหมือนบดบังราศีของนักเตะท้องถิ่น สิ่งที่เกิดขึ้นนับว่าเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับวงการลูกหนังอังกฤษ

โควตาตัวสำรอง 5 คน ส่งผลอย่างไร

เริ่มที่ 2022-23 พรีเมียร์ลีกอนุญาตให้แต่ละทีมเปลี่ยนผู้เล่นได้นัดละ 5 คน หลังจากโดนตั้งคำถามเรื่องสวัสดิภาพการทำงานและความอ่อนล้าทั้งร่างกายและจิตใจของผู้เล่นอยู่หลายปี ผลลัพธ์ของกฎใหม่นี้ทำให้เกมสนุกสนานขึ้นเพราะเอื้ออำนวยให้ผู้จัดการทีมได้ส่งนักเตะลงมาเพื่อแก้เกมปรับเปลี่ยนแทคติก อีกทั้งยังได้ความสดใหม่จากผู้เล่นม้านั่งสำรอง

กฎดังกล่าวทำให้จำนวนตัวสำรองที่ลงสนามสูงขึ้นอย่างมีนัยยะใน 2 ปีล่าสุดคือ 2,985 คนในซีซัน 2022-23 และ 3,024 คนในซีซัน 2023-24 มากที่สุดนับตั้งแต่ซีซัน 2010-11 ซึ่งมีการเปลี่ยนตัวผู้เล่นเพียง 1,995 คนเท่านั้นพรีเมียร์ลีกซีซัน 2023-24 ที่ผ่านมา ไบรท์ตันเป็นทีมที่ใช้โควตาดังกล่าวมากที่สุดคือ 176 คน ส่วนอันดับ 2 (ร่วม) มี 4 ทีมที่ใช้ผู้เล่นสำรอง 170 คนเท่ากันคือ เบรนท์ฟอร์ด, บอร์นมัธ, สเปอร์ส และฟูแลม ตามด้วยอันดับ 5 ลิเวอร์พูล 166 คน โดยเวสต์แฮมกับแมนฯซิตีเปลี่ยนผู้เล่นน้อยที่สุดคือ 109 คน และ 115 คน ตามลำดับ

การส่งตัวสำรองลงมายังช่วยให้เปลี่ยนโมเมนตัมโดยเฉพาะช่วงเวลาที่มีอิทธิพลต่อการแข่งขันมากที่สุดคือท้ายเกม ซึ่งสถิติระบุว่า พรีเมียร์ลีกซีซันล่าสุดเกิดการทำประตูหลังนาทีที่ 75 รวมแล้ว 307 ประตู โดย 25 นาทีสุดท้ายของเวลาแข่งขันปกติบวกทดเวลา ยังเป็นช่วงที่ผู้จัดการทีมเปลี่ยนตัวผู้เล่นมากที่สุดด้วย

Sky Sports เสริมข้อมูลที่น่าสนใจคือ ลิเวอร์พูล ทีมอันดับ 3 ของพรีเมียร์ลีก ทำสกอร์ได้ถึง 27 ประตูระหว่างนาทีที่ 76 ถึง 90+ นำโด่งอันดับ 2 “แชมป์” แมนฯซิตี ซึ่งทำได้ 21 ประตู ขณะที่ “รองแชมป์” อาร์เซนอล ก็ทำผลงานไม่น้อยหน้าคือ 20ประตูเท่ากับลูตันและนิวคาสเซิล

Comeback Wins ฟื้นคืนชีพขึ้นมาจากหลุม

นอกเหนือการเกิดสกอร์ท้ายเกมแล้ว การพลิกสถานการณ์กลับมาเป็นฝ่ายชนะหลังเสียประตูก่อน เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สร้างสีสันความเร้าใจให้กับแฟนบอล ซึ่งซีซัน 2023-24 เกิดเหตุการณ์ comeback wins ทั้งสิ้น 63 นัด เป็นสถิติสูงสุดใหม่ของพรีเมียร์ลีก อย่างเช่น 2 กันยายน 2023 สเปอร์สชนะเบิร์นลีย์ 5-2 และ 27 เมษายน 2024 นิวคาสเซิลชนะเชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด 5-1

Comeback Kings เป็นคุณสมบัติหรือตำแหน่งที่ควรคู่กับแคแรกเตอร์ของแมนฯซิตี แชมป์พรีเมียร์ลีก 4 สมัยติดต่อกัน ทีมเรือใบสีฟ้าสามารถเปลี่ยนจากแพ้เป็นชนะได้ 7 นัดเท่ากับลิเวอร์พูลและสเปอร์ส ขณะที่รองแชมป์ 2 สมัยซ้อนอย่างอาร์เซนอล กลับทำได้แค่ 3 นัด รวมถึงนัดปิดซีซันที่เฉือนชนะเอฟเวอร์ตัน 2-1 นั่นมองได้ว่า ทีมปืนใหญ่แทบไม่ตกอยู่ในสถานการณ์สกอร์เป็นรองระหว่างฤดูการแข่งขัน

พรีเมียร์ลีก ลีกที่รวดเร็วที่สุดในโลกลูกหนัง

ไม่เพียงการทำประตูเยอะๆ การเกิดสกอร์ท้ายเกม และการพลิกกลับไปมาของตัวเลขบนสกอร์บอร์ด ความเร็วของเกมยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สร้างความนิยมแก่พรีเมียร์ลีก ซึ่งมีแฟนบอลทั่วโลกติดตามมากที่สุด

รายงานเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาของ Football Observatory ช่วยยืนยันว่า พรีเมียร์ลีกเป็นลีกที่มีความเร็วที่สุดในโลก โดยอ้างอิงจากดัชนีการให้คะแนน ลีกสูงสุดเมืองผู้ดีได้รับคะแนนเต็ม 100 ทั้งการวิ่งเต็มฝีเท้าหรือด้วยความเร็วสูงสุด (sprints), ความเร็ว (speed) และความเร่งหรืออัตราการเปลี่ยนแปลงความเร็ว (accelerations)

ขอบคุณภาพจาก  https://x.com/goal/status/1175975415174848514/photo/1

ลีกที่มีความเร็วสูงเป็นอันดับ 2 คือ แชมเปียนชิพ หรือเทียร์ 2 ของอังกฤษ มีค่าดัชนีเฉลี่ย 85.5 แบ่งเป็น sprints 84, speed 79 และ accelerations 100 ตามด้วย กัลโช เซเรีย อา อิตาลี มีค่าดัชนีเฉลี่ย 75.1 แบ่งเป็น sprints 81, speed 80 และ accelerations 73 ส่วนลีกท็อป 5 ของยุโรปที่เหลืออีก 3 ลีกได้แก่ ลีกเอิง ฝรั่งเศส อยู่อันดับ 8 (เทียบกับลีกเดอซ์หรือระดับเทียร์ 2 อยู่อันดับ 6), ลา ลีกา สเปน อยู่อันดับ 10 และบุนเดสลีกา เยอรมนี อยู่อันดับ 15

รายงานฉบับดังกล่าวยังระบุว่า พรีเมียร์ลีกซีซันที่จบไปมีค่าเฉลี่ยของการวิ่งเต็มฝีเท้า 139.63 ครั้งต่อนัด สูงที่สุดนับตั้งแต่สถิตินี้ถูกบันทึกในซีซัน 2020-21 แต่ความจริงแล้ว averaging sprints ก็เพิ่มขึ้นทุกปีตลอดระยะเวลา 4 ปีคือ 127.44 ครั้ง, 129.4 ครั้ง, 133.68 ครั้ง และ 139.63 ครั้ง ตามลำดับ

Sky Sports ให้ความเห็นเสริมว่า การทำประตูที่เพิ่มขึ้น บวกกับความเร็วของการเล่น แสดงให้เห็นว่าสโมสรในพรีเมียร์ลีกยกระดับ risk and reward หรืออัตราความเสี่ยงต่อผลตอบแทนให้สูงขึ้น ด้วยการดันนักเตะขึ้นไปโจมตีบนพื้นที่สูงขึ้น ขณะที่กองหลังก็เตรียมพร้อมที่จะใช้ความรวดเร็วรุกโต้กลับหรือเคาน์เตอร์แอทแทคเมื่อแย่งบอลมาจากฝ่ายตรงข้าม ตัวอย่างในการแข่งขันกับเบรนท์ฟอร์ดในเดือนมกราคมที่ผ่านมา มิกกี ฟาน เดอ เวน เซ็นเตอร์แบ็คของสเปอร์ส เคยใช้ความเร็วเฉลี่ย 37.38 กิโลเมตร/ชั่วโมง ซึ่งถือเป็น top speed ของพรีเมียร์ลีก ซีซัน 2023-24

พรีเมียร์ลีกลดอายุเฉลี่ยนักเตะตัวจริง

อีกเรื่องหนึ่งที่ซีซัน 2023-24 สร้างความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในพรีเมียร์ลีกนั่นคือ อายุเฉลี่ยของนักเตะตัวจริงลดลงเหลือ 26.74 ปี หรือ 26 ปี 269 วันเท่านั้น ซึ่งเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ซีซัน 2010-11 ที่ตัวเลขเฉลี่ยต่ำกว่า 27 ปี โดยระหว่าง 13 ปีก่อนหน้านี้ ตัวเลขอายุเฉลี่ยน้อยที่สุดของผู้เล่น 11 คนแรกคือ 27.05 ปี ซึ่งเคยเกิดขึ้นในซีซัน 2019-20 และ 2020-21 ขณะที่ซีซัน 2022-23 ก็มีอายุเฉลี่ยต่ำเช่นกันคือ 27.08 ปี

ทีมที่มีอายุเฉลี่ยผู้เล่นตัวจริงน้อยที่สุดในพรีเมียร์ลีกซีซันล่าสุดคือ เชลซี 24.64 ปี หรือ 24 ปี 233 วัน ซึ่งเป็นสถิติน้อยที่สุดอันดับ 4 ในประวัติศาสตร์พรีเมียร์ลีก นอกจาก “เดอะ บลูส์” มีอีก 3 ทีมที่อายุเฉลี่ยตัวจริงน้อยกว่า 26 ปีได้แก่ ทีมอันดับรองบ๊วยของลีก เบิร์นลีย์ 24.68 ปี ซึ่งมากกว่าเชลซีเพียง 10 วันเท่านั้น ตามด้วยอาร์เซนอล 25.43 ปี และสเปอร์ส 25.53 ปี ขณะที่ทีมที่อายุเฉลี่ยมากที่สุด 2 อันดับแรกคือ ฟูแลม 28.87 ปี และเวสต์แฮม 28.82 ปี ซึ่งเป็น 2 สโมสรที่มีอายุเฉลี่ยสูงกว่า 28 ปี

นักฟุตบอลบาดเจ็บระนาวจนเป็นสถิติใหม่

ผู้เล่นบาดเจ็บเป็นสถิติอีกหมวดที่เกิด new all-time high ของพรีเมียร์ลีก ทั้ง 20 สโมสรมีจำนวนวันที่นักเตะของตัวเองลงแข่งไม่ได้เนื่องจากบาดเจ็บรวมทั้งสิ้น 25,886 วัน เป็นตัวเลขสูงที่สุดนับตั้งแต่เว็บไซต์ Premier Injuries ได้บันทึกสถิตินี้ในฤดูกาล 2020-21 ซึ่งเท่ากับ 18,405 วัน ตามด้วย 19,475 วันในซีซัน 2021-22 และ 21,163 วันในซีซัน 2022-23

ในมุมมองของสโมสร นิวคาสเซิลเป็นทีมที่ไม่สามารถใช้งานผู้เล่นเพราะบาดเจ็บรวมเป็นจำนวนวันมากที่สุดในพรีเมียร์ลีก รองลงมาได้แก่ เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด และเชลซี

สโมสรช็อปปิงถล่มทลาย 2 ตลาดซัมเมอร์ติด

มาถึงเรื่องการลงทุนเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แต่ละทีมในพรีเมียร์ลีก ถ้ามองเพียงตลาดซัมเมอร์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อทีมมากกว่าตลาดฤดูหนาว กลางปี 2023 หรือตลาดซัมเมอร์ครั้งหลังสุด สโมสรเทียร์ 1 อังกฤษใช้เงินซื้อผู้เล่นรวมกันสูงถึง 2.44 พันล้านปอนด์ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากตัวเลข 2.14 พันล้านปอนด์ในปี 2022 โดย 7 ปีก่อนหน้านี้ 20 สโมสรจับจ่ายใช้สอยประมาณ 1.20 – 1.30 พันล้านปอนด์ ยกเว้นปี 2017 ที่ตัวเลขพุ่งถึง 1.49 พันล้านปอนด์ และลดลงเหลือ 1.12 พันล้านปอนด์ในปี 2021

แน่นอนอย่างที่ทราบถ้วนกันผ่านสื่อมวลชน ตลาดซัมเมอร์ปีที่แล้ว เชลซีทุ่มเงินลงไปถึง 434.5 ล้านปอนด์ และเมื่อรวมกับตลาดกลางปี 2022 ตัวเลขพุ่งสูงทะลุ 1 พันล้านปอนด์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ทอดด์ โบห์ลีย์ มหาเศรษฐีชาวอเมริกัน เข้ามาเทคโอเวอร์สโมสรแห่งกรุงลอนดอน

Sky Sports ยังชี้ให้เห็นว่า มิดฟิลด์เป็นตำแหน่งผู้เล่นที่สโมสรพรีเมียร์ลีกให้ความสนใจเสริมแกร่งมากที่สุดในตลาดซัมเมอร์ปี 2023 เชลซีสร้างสถิติใหม่ของสหราชอาณาจักรด้วยค่าทุ่มเงิน 115 ล้านปอนด์ ซื้อมอยเซส ไกเซโด มาจากไบรท์ตัน ทั้งที่ตลาดเดือนมกราคมปีเดียวกันเพิ่งได้ เอ็นโซ เฟร์นานเดซ มาจากเบนฟิกาด้วยค่าตัว 106.8 ล้านปอนด์

สำหรับตลาดฤดูร้อนรอบล่าสุด นอกจากไกเซโด ผู้เล่นที่ค่าตัวสูงสุดติดท็อป 5 อีก 4 คนได้แก่ เดแคลน ไรซ์ 105 ล้านปอนด์ จากเวสต์แฮมไปอาร์เซนอล, ยอสโก กวาร์ดิโอล 77.6 ล้านปอนด์ จากไลป์ซิกไปแมนฯซิตี, ราสมุส ฮอยลุนด์ 72 ล้านปอนด์ จากอตาลันตาไปแมนฯยูไนเต็ด และ ไค ฮาแวร์ตซ์ 65 ล้านปอนด์ จากเชลซีไปอาร์เซนอล

เก้าอี้เหนียว ผู้จัดการทีมส่วนใหญ่ทำหน้าที่ครบเทอม

ทิ้งท้ายด้วยเรื่องของผู้จัดการทีม เป็นสถิติต่ำที่สุดนับตั้งแต่ดิวิชัน 1 เปลี่ยนชื่อเป็นพรีเมียร์ลีก ซึ่งมีการเปลี่ยนผู้จัดการทีมถาวรก่อนหน้าและระหว่างฤดูกาลแข่งขันเพียงแค่ 4 คน เทียบเท่าที่เคยเกิดขึ้นในซีซัน 2005-06

วันที่ 9 สิงหาคม 2023 หรือ 2 วันก่อนซีซัน 2023-24 คิกออฟ วูลฟ์แฮมป์ตันได้แต่งตั้งแกรี โอ’นีล เป็นผู้จัดการทีมแทนจูเลน โลเปเตกี ซึ่งพ้นตำแหน่งเพราะมีปัญหาขัดแย้งกับบอร์ดบริหาร และระหว่างซีซัน พรีเมียร์ลีกมีการเปลี่ยนผู้จัดการทีมถาวร 3คนคือ พอล เฮคกิงบอตทอม ทีมเชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด, สตีฟ คูเปอร์ ทีมนอตติงแฮม ฟอเรสต์ และรอย ฮอดจ์สัน ทีมคริสตัล พาเลซ ซึ่งยื่นใบลาออกเองเนื่องจากมีปัญหาสุขภาพ

นอกจากนี้ เยอร์เกน คลอปป์ ทีมลิเวอร์พูล, โรแบร์โต เด แซร์บี ทีมเชลซี และเดวิด มอยส์ ทีมเวสต์แฮม ได้ยุติบทบาทผู้จัดการทีมหลังปฏิบัติหน้าที่จนถึงนัดปิดซีซัน

สำหรับพรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 2024-25 จะเริ่มทำการแข่งขันวันที่ 17 สิงหาคม 2024 จนถึง 25 พฤษภาคม 2025 เป็นการแข่งขันครั้งที่ 33 ในชื่อนี้ และเป็นครั้งที่ 126 ในฐานะลีกฟุตบอลเทียร์ 1 ของอังกฤษ โดยโปรแกรมแข่งขันแบ่งเป็นแมตช์สุดสัปดาห์ 33 นัด, แมตช์กลางสัปดาห์ 4 นัด และแมตช์วันหยุดธนาคาร 1 นัด

ในส่วนของการซื้อขายผู้เล่น ตลาดฤดูร้อนของพรีเมียร์ลีกจะเปิดทำการตั้งแต่วันศุกร์ที่ 14 มิถุนายน 2024 จนถึง 5 ทุ่มของวันศุกร์ที่ 30 สิงหาคม 2024 ตามเวลาท้องถิ่น ส่วนตลาดฤดูหนาวจะมีขึ้นตั้งแต่วันพุธที่ 1 มกราคม 2025 จนถึง 5 ทุ่มของวันจันทร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ 2025 

เรียบเรียง : ฐปน วันชูเพลา (Senior Football Writer) 

Facebook
Twitter
Pinterest
Email

Comments are closed.