Khaimukdam Group

SPECIAL CONTENT

ทีมชาติหมู่เกาะมาร์แชลล์ เตะฟุตบอลให้มหาสมุทรกระเพื่อม

ทีมชาติหมู่เกาะมาร์แชลล์ เตะฟุตบอลให้มหาสมุทรกระเพื่อม

ปัจจุบันโลกมี 195 ประเทศ สองประเทศไม่ได้เป็นสมาชิกของสหประชาชาติคือ รัฐปาเลสไตน์ (State of Palestine) และ สันตะสำนัก (Holy See) ซึ่งเป็นรัฐอิสระบริหารส่วนกลางของคริสตจักรโรมันคาทอลิกทั้งหมด มีพระสันตะปาปาเป็นประมุข และมีนครรัฐวาติกันเป็นเมืองหลวง แต่สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติหรือฟีฟากลับมีสมาชิกมากถึง 211 ชาติ เนื่องจากฟีฟาอนุญาตให้ Dependent Territories หรือดินแดนที่ไม่ได้มีเอกราชทางการเมืองหรืออธิปไตยทางการเมืองเต็มรูปแบบสมัครเป็นสมาชิกได้ ซึ่งเป็นหลักการเดียวกับโอลิมปิก

ไม่ใช่ทุกประเทศสมาชิกจะร่วมแข่งขันรายการที่ฟีฟาดูแล บางประเทศลงเล่นด้วยความเพลิดเพลินมากกว่าหวังผลแพ้ชนะหรือชิงความเป็นเลิศ หลายประเทศไม่ถูกสื่อต่างชาตินำเสนอข่าวความเคลื่อนไหว ไม่อยู่ในความสนใจของแฟนบอลที่อยู่อีกมุมหนึ่งของโลก และบางชาติกำลังพยายามเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมฟีฟาเพื่อโอกาสแข่งขันกับทีมฟุตบอลชาติอื่น

หนึ่งในนั้นคือ หมู่เกาะมาร์แชลล์ (Marshall Islands) หรือชื่อทางการคือ สาธารณรัฐหมู่เกาะมาร์แชลล์ (Republic of the Marshall Islands)

หมู่เกาะมาร์แชลล์มีประชากรราวหกหมื่นคน กระจายอยู่บน 5 เกาะเดี่ยวและ 30 หมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก ยังไม่มีลีกฟุตบอล แต่คนกลุ่มหนึ่งกำลังพยายามอย่างหนักเพื่อให้ฟุตบอลได้รับความนิยมในประเทศและเข้าเป็นส่วนหนึ่งของฟีฟา เป้าหมายดังกล่าวมีจุดเริ่มต้นจากความรักระหว่างพ่อลูกคู่หนึ่ง ซึ่งย้อนกลับไปยังสมัยที่หมู่เกาะมาร์แชลล์ยังไม่มีทีมชาติฟุตบอล เชม ลิวาย (Shem Livai) นักธุรกิจท้องถิ่นที่อาศัยอยู่ในเมืองหลวง มาจูโร (Majuro) เป็นผู้นำกลุ่มที่หวังสร้างการเปลี่ยนแปลง

คาร์เตอร์ ลิวาย (Carter Livai) ลูกชายของเชม เล่นฟุตบอลเพราะรู้สึกเป็นกีฬาที่เล่นง่าย แค่ไล่เตะลูกฟุตบอลกับเพื่อนฝูงบริเวณชายหาดที่งดงามแห่งหนึ่งของมาจูโร หรือความจริงคือพวกเขาเล่นกันที่สนามหลังบ้านซึ่งมีข้อจำกัดด้วยการขึ้นลงของน้ำจากมหาสมุทร แต่พอคาร์เตอร์อายุ 11 ขวบ เขากับเพื่อนๆก็เลิกเล่นฟุตบอลเพราะเบื่อที่จะเตะกันเองสนุกแบบเด็กๆแล้ว พวกเขาอยากแข่งขันอย่างจริงจังแต่มาจูโรและส่วนอื่นๆของหมู่เกาะมาร์แชลล์ยังไม่มีลีกฟุตบอล

ด้วยความที่หมู่เกาะมาร์แชลล์ได้รับอิทธิพลจากสหรัฐอเมริกาที่เข้ามาเกี่ยวข้องในประวัติศาสตร์ความเป็นมาของประเทศตั้งแต่ศตวรรษที่แล้ว ชาวมาร์แชลล์จึงนิยมกีฬาอเมริกันชนอย่างบาสเกตบอล เบสบอล และอเมริกันฟุตบอล มากกว่าฟุตบอลหรือซอคเกอร์ เชม ลิวาย จึงเกิดไอเดียและเริ่มก่อตั้ง สหพันธ์ฟุตบอลหมู่เกาะมาร์แชลล์ (Marshall Islands Soccer Federation หรือ MISF) ขึ้นในปี 2020

ลิวายผู้พ่อให้สัมภาษณ์กับสื่ออีเอสพีเอ็นว่า “ผมเห็นพวกเด็กๆรักกีฬาฟุตบอลมากขนาดไหน แต่ที่นี่ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวก ไม่มีลีกฟุตบอล ผมตระหนักทันทีว่าต้องลงมือทำอะไรบางอย่างแล้ว”

เดือนธันวาคม 2022 ลิวายและผู้ร่วมอุดมการณ์กลุ่มหนึ่งได้แต่งตั้ง ลอยด์ โอเวอร์ส (Lloyd Owers) ชาวอังกฤษ ทำหน้าที่ผู้อำนวยการฝ่ายเทคนิคคนแรกของประเทศ พวกเขายังเพิ่มตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายการตลาดและผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารมวลชน และวันที่ 17 มีนาคมที่ผ่านมา พวกเขาแถลงข่าวจับมือเป็นพันธมิตรกับบริษัทเพลเยอร์เลเยอร์ (PlayerLayer) ซึ่งดูแลเรื่องเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายให้กับฟอเรสต์ กรีน โรเวอร์ส สโมสรฟุตบอลที่เล่นในลีกวันของอังกฤษ ซึ่งเพิ่งครองแชมป์ลีกทู ฤดูกาล 2021-22

ไม่เป็นความลับใดๆถึงภารกิจนี้ที่มีวัตถุประสงค์มากกว่าการนำทีมฟุตบอลหมู่เกาะมาร์แชลล์ออกไปสู่สายตาชาวโลก พวกเขาต้องการให้ทีมชาติสร้างความตระหนักให้เกิดขึ้นในหมู่มนุษยชาติถึงการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศที่กำลังจะอุบัติขึ้นภายในปี 2030 ที่ถูกคาดหมายว่า พื้นที่ราว 40 เปอร์เซ็นต์ของมาจูโร ซึ่งบางส่วนครั้งหนึ่งเคยถูกทำลายจากการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ จะจมอยู่ใต้น้ำ

บ่อยครั้งที่กีฬาเป็นเครื่องมือทรงอานุภาพที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับโลกโดยมีอนาคตของชาติเป็นเดิมพัน ครั้งนี้ก็เช่นกันที่หมู่เกาะมาร์แชลล์หวังจะใช้ทีมฟุตบอลทดสอบแนวคิดดังกล่าวว่ายังสามารถใช้ได้ผลอยู่หรือไม่

ผู้อำนวยการฝ่ายเทคนิคคนแรกของมาร์แชลล์

ถึงลิวายเป็นตัวตั้งตัวตีจนโปรเจ็กต์นี้เกิดขึ้น แต่บุคคลสำคัญที่สานต่อจนความฝันเป็นรูปเป็นร่างจริงจังก็คือมืออาชีพอย่างโอเวอร์ส ซึ่งรับตำแหน่งทั้งที่ไม่เคยเดินทางมาหมู่เกาะมาร์แชลล์เลย เขาไม่เคยเจอบอสใหญ่ ลิวาย แบบซึ่งๆหน้าด้วยซ้ำ ทั้งสองติดต่อสื่อสารผ่านหน้าจอและโทรศัพท์ แต่นั่นไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้าของงานเลย

โอเวอร์สได้รับการทาบทามหลังจากลิวายเข้าไปศึกษาเว็บไซต์ของเขา ตอนนั้นโอเวอร์สทำเนื้อหาถามตอบรายสัปดาห์ โฟกัสไปยังประเทศที่ฟุตบอลยังไม่มีเสถียรภาพ เขาถ่ายทอดความรู้ที่ได้รับสมัยเรียนมหาวิทยาลัยและเคยทำงานในสตาฟฟ์โค้ช รวมถึงตอนเป็นผู้จัดการทีม ยู-23 ของออกซ์ฟอร์ด ซิตี เขายังเคยทำงานที่ออกซ์ฟอร์ด ยูไนเต็ด, แมนส์ฟิลด์ ทาวน์ และโคลเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่สหรัฐ, แคนาดา และสวีเดน แต่เป็นบทความเรื่องซามัว ประเทศแถบมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ ที่ทำให้ลิวายสนใจอยากดึงโอเวอร์สมาทำงานให้กับ MISF

โอเวอร์สเล่าให้สื่ออีเอสพีเอ็นฟังว่า “เราสองคนคุยกันเยอะมาก แต่ผ่านทางข้อความเสียงที่ทิ้งไว้ใน WhatsApp ซึ่งพอผมตื่นขึ้นมาก็จะเห็นข้อความของเขาเพราะความต่างของเวลา ต่อมาเขาอยากให้ผมวางแผนระยะยาวตามแนวทางส่วนตัวของผม เพื่อดูว่ามันจะเข้ากับ MISF ได้มากน้อยแค่ไหน มารู้ตัวอีกทีเขาก็เสนอตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายเทคนิคให้ผม เราสร้างทุกอย่างขึ้นมาจากศูนย์จริงๆ”

แต่โอเวอร์สยอมรับว่า ก่อนตัดสินใจรับงานนั้น เขาต้องใช้กูเกิลเพื่อค้นหาคำตอบของข้อสงสัยสำคัญคือ หมู่เกาะมาร์แชลล์อยู่ส่วนไหนของโลก

สมรภูมิสงครามโลกและพื้นที่ทดสอบนิวเคลียร์

หากอธิบายพิกัดเพื่อให้นึกภาพง่ายที่สุดแม้ไม่ตรงความจริงเป๊ะ หมู่เกาะมาร์แชลล์จะอยู่ตรงกลางระหว่างประเทศออสเตรเลียและรัฐฮาวายของสหรัฐในมหาสมุทรแปซิฟิก มีประชากรประมาณหกหมื่นคน ย้อนกลับไปช่วงสงครามโลกครั้งที่สองประมาณปี 1939 ถึง 1945 หมู่เกาะมาร์แชลล์เป็นเสมือนศูนย์กลางการสั่นสะเทือนของการสู้รบแถบแปซิฟิก เคยอยู่ภายใต้การปกครองของประเทศญี่ปุ่นช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ก่อนสหรัฐเข้ามาครอบครองในปี 1944 

ระหว่างปี 1946 ถึง 1958 สหรัฐได้ใช้พื้นที่หลายแห่งในหมู่เกาะมาร์แชลล์ และอีกสองสามแห่งในมหาสมุทรแปซิฟิก เป็นสถานที่ทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ โดยตั้งชื่อสถานที่เหล่านั้นว่า Pacific Proving Grounds แม้เวลาผ่านกว่าเจ็ดสิบปีแต่ผลกระทบและสิ่งตกค้างจากรังสียังมีอิทธิพลอย่างใหญ่หลวงต่อชีวิตประจำวันและสุขภาพของคนท้องถิ่น

หมู่เกาะมาร์แชลล์ได้บัญญัติรัฐธรรมนูญของตนเองขึ้นมาเมื่อปี 1979 สามารถหลีกหนีจากอำนาจศาลของสหรัฐ แต่เกาะควาจาเลน (Kwajalein) ซึ่งเป็นเกาะที่มีประชากรมากที่สุดเป็นอันดับสอง ยังคงถูกใช้เป็นที่ตั้งของฐานทัพสหรัฐ เพื่อแลกกับการที่หมู่เกาะมาร์แชลล์ยังคงได้รับความช่วยเหลือทางการเงิน ทางการทหาร และการเข้าถึงบริการต่างๆจากสหรัฐ

สหประชาชาติยอมรับหมู่เกาะมาร์แชลล์เป็นสมาชิกเมื่อปี 1991 รายได้หลักของประเทศมาจากปลาทูนาและน้ำมันมะพร้าว ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญที่สุด

การเข้ามาของสหรัฐช่วงสงครามโลกส่งผลให้กีฬายอดนิยมของชาวอเมริกันอย่างบาสเกตบอล เบสบอล และอเมริกันฟุตบอล แพร่หลายเข้าไปในวิถีชีวิตของชาวมาร์แชลล์ แต่ข้อจำกัดอยู่ที่พื้นที่ใช้เล่น ตัวอย่างเช่นกรุงมาจูโร ประชากรสามหมื่นคนอาศัยอยู่บนที่ดินขนาดรัศมีไม่ถึงสิบกิโลเมตร โดยพื้นที่ของเกาะราว 97.8 เปอร์เซ็นต์เป็นน้ำ นั่นทำให้โอเวอร์สใช้เวลาประมาณ 40 ชั่วโมงเดินทางจากบ้านพักกในออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ ไปยังหมู่เกาะมาร์แชลล์

แต่โอเวอร์สไม่เคยมองว่าการเดินทางที่ยากลำบากเป็นอุปสรรค เขาได้รับการสนับสนุนเต็มที่จากภรรยาเมื่อ MISF ติดต่อเข้ามา “เธอบอกว่าลุยเลยเพราะมันเป็นโปรเจ็กต์ที่ใหญ่และส่งผลดี ส่วนตัวผมเองก็มีเป้าหมายส่วนตัวอยู่แล้วคือ อยากทำงานกับประเทศที่ฟีฟายอมรับ ซึ่งตอนนี้ก็เฝ้าหวังว่านั่นจะเป็นหมู่เกาะมาร์แชลล์”

ก่อนเดินทางมาเห็นหมู่เกาะมาร์แชลล์ด้วยตาตัวเอง โอเวอร์สยอมรับว่าเขาจินตนาการความเป็นจริงไม่ออกเมื่อมองชายหาด โรงแรม และสถานที่ต่างๆจากสิ่งที่เห็นผ่าน Google Maps สิ่งที่เขาเห็นมีแค่ที่ดินผืนเล็กๆและหญ้าเป็นหย่อมๆ จนไม่แน่ใจว่ามันจะใช้เป็นพื้นที่เล่นฟุตบอลได้จริงๆ ดังนั้นเขาต้องเดินทางไปที่นั่น

สนามใหม่จุสองพันประเดิมจัดมินิโอลิมปิก

แม้โครงการดังกล่าวผ่านไประยะเวลาหนึ่งพร้อมความคืบหน้าแต่ลิวายไม่ต้องการเร่งรัดคณะทำงานของเขา “ผมเพียงอวยพรให้ทุกคนสามารถทำงานให้ผ่านไปด้วยดี และต้องมั่นใจว่ารากฐานของเราแข็งแรงเพียงพอ”

แผนงานอันดับแรกๆคือพลักดันฟุตบอลเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตประจำวันของผู้คน และนับตั้งแต่โอเดอร์สรับตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายเทคนิค สื่อมวลชนภายในประเทศได้ให้ความสนใจ MISF มากขึ้นเรื่อยๆ โอเวอร์สยังกระตุ้นให้ MISF เป็นที่รับรู้ในสหราชอาณาจักรเป็นวงกว้าง ซึ่งนำไปสู่การบริจาคเสื้อผ้าชุดแข่งและลูกฟุตบอลที่หลั่งไหลเข้ามาสู่หมู่เกาะมาร์แชลล์

โอเวอร์สกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า “การบริจาคเหมือนเป็นฝันร้ายในเชิงขนส่ง แต่พอผมเดินทางไปที่หมู่เกาะมาร์แชลล์ ปัญหาก็คลี่คลายเพราะผมนำมันติดตัวไปด้วย ตอนนี้ผมเริ่มมองอะไรที่ไกลกว่านั้นเช่นนำฟุตบอลเข้าไปอยู่ในหลักสูตรการเรียนการสอนระดับชาติ ให้การศึกษาแก่ครูอาจารย์และฝึกสอนสตาฟฟ์โค้ช เรายังพยายามระดมทุนให้ได้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้”

ลิวายกล่าวเสริมว่า “ผมได้รับอีเมล์และโทรศัพท์มากมายจากพ่อแม่ผู้ปกครองที่อยากให้ลูกหลานเป็นส่วนหนึ่งของโปรเจ็กต์ ผมยังหวังจะก่อตั้งลีกฟุตบอลท้องถิ่นที่เริ่มต้นด้วยหกสโมสร ผสมผสานระหว่างนักศึกษาระดับวิทยาลัยและผู้ใหญ่ตามหมู่บ้านต่างๆ”

ควบคู่ไปกับปลุกกระแสกีฬาลูกหนังในบ้านเกิด การขยับตัวให้เป็นที่รับรู้ของต่างประเทศก็สำคัญไม่พอกัน หนึ่งในกิจกรรมที่น่าจะสร้างอิมแพ็คได้แก่ “ไมโครนีเซีย เกมส์” (Micronesian Games) ซึ่งจะจัดแข่งขันที่กรุงมาจูโรในเดือนกรกฎาคมนี้ เป็นเสมือน “มินิ โอลิมปิก” ของไมโครนีเซีย กลุ่มเกาะที่อยู่ทางตอนเหนือของโอเชียเนีย ประกอบด้วย 5 ประเทศ คิริบาส, หมู่เกาะมาร์แชลล์, ไมโครนีเชีย, นาอูรู, ปาเลา และ 2 ดินแดน กวม (สหรัฐ), หมู่เกาะนอร์เทิร์นมาเรียนา (สหรัฐ) ส่วนใหญ่ในอดีตเคยตกเป็นอาณานิคมของสหรัฐในฐานะดินแดนในภาวะทรัสตีแห่งสหประชาชาติ

ไมโครนีเซีย เกมส์ ยังเป็นมหกรรมกีฬาระดับเมเจอร์รายการแรกที่จัดในสนามกรีฑาแห่งใหม่ความจุ 2,000 ที่นั่งในมาจูโร โดยในส่วนของ MISF ค่อนข้างมั่นใจว่าฟุตบอลจะได้รับความนิยมอย่างสูง และหลังการแข่งขันจบ MISF และคณะกรรมการโอลิมปิกหมู่เกาะมาร์แชลล์ (Marshall Islands National Olympic Committee) ก็จะเดินหน้าโฟกัสฟุตบอลเต็มที่หลังจากเคยส่งนักกีฬาทีมชาติลงแข่งขันกรีฑาทั้งลู่และลาน, เทควันโด, ว่ายน้ำ และยกน้ำหนักในโอลิมปิก เกมส์ 4 ครั้งที่ผ่านมา

สร้างฟุตบอลทีมชาติด้วยโมเดล “อเมริกัน ซามัว”

สำหรับนักฟุตบอลที่จะมาเป็นตัวแทนทีมชาติ โอเวอร์สเริ่มต้นมองหาและรวบรวมมาระยะเวลาหนึ่ง ความจริงแล้วทันทีที่ข่าวรับตำแหน่งของโอเวอร์สกระจายไปทั่วสื่อทวิตเตอร์ ได้มีนักเตะสามคนติดต่อเข้ามา หนึ่งในนั้นเป็นผู้เล่นระดับวิทยาลัยในสหรัฐที่มีบรรพบุรุษเป็นคนมาร์แชลล์ แต่เพราะยังไม่มีทีมชาติและโครงสร้างลีกที่ชัดเจนจึงเป็นเรื่องยากที่จะดึงดูดใจนักเตะเก่งๆเข้ามา

แม้ MISF มีแผนส่งทีมลงแข่งขันในไมโครนีเซีย เกมส์ แต่นั่นเป็นการรวมนักเตะอย่างไม่เป็นทางการ “เดิมทีผมตั้งใจจะรวมทีมชาติให้เป็นรูปร่างชัดเจนในปีนี้ แต่ผมไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นตอนนี้หรือเร็วๆนี้หรอก เอาจริงๆน่าจะเป็นฤดูใบไม้ผลิปีหน้าที่ทีมชาติจะลงแข่งขันแมตข์ทางการครั้งแรก ซึ่งหากเกิดขึ้นจริงก็ยอดเยี่ยมมาก” โอเวอร์สให้สัมภาษณ์กับอีเอสพีเอ็น

“มีชาวมาร์แชลล์มากมายอยู่ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งที่ผ่านมาเราพยายามเชื่อมโยงกับพวกเขาเพื่อกระตุ้นให้รู้ถึงโปรแกรมและโปรเจ็กต์นี้ของพวกเรา พร้อมดึงนักเตะเข้ามามีส่วนร่วม แต่แผนระยะยาว เราจะมีกลุ่มนักเตะที่อยู่ในสหรัฐ จากนั้นก็นักเตะท้องถิ่นในหมู่เกาะมาร์แชลล์ เราสามารถรวมสองกลุ่มเข้าด้วยกันเหมือนกับที่ชาวอเมริกันซามัวทำมาแล้วอย่างที่เห็นในสารคดีเรื่อง Next Goal Wins”

“ฟุตบอล เมเนเจอร์” (Football Manager) เกมคอมพิวเตอร์ยอดฮิตจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการนี้ด้วย เป็นเกมสร้างทีมฟุตบอลเสมือนจริงด้วยการคัดเลือกนักเตะและสตาฟฟ์โค้ชจากฐานข้อมูลที่มีมากกว่าสี่แสนคน

แอนดรู ซินแคลร์ จากสปอร์ตส์ อินเตอร์แอคทีฟ บริษัทสร้างสรรค์เกมดังกล่าว เปิดเผยกับอีเอสพีเอ็นว่า “เรากำลังศึกษาความเป็นไปได้ที่จะบรรจุหมู่เกาะมาร์แชลล์ไว้ในซีรีส์ของฟุตบอล เมเนเจอร์ ที่ผ่านมาเราก็มีบางประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิกฟีฟาอยู่ในฐานข้อมูล จึงเป็นแบบอย่างที่จะเพิ่มประเทศอธิปไตยอย่างหมู่เกาะมาร์แชลล์เข้าไป”

“แต่ยังมีกระบวนการที่ต้องทำอีกมาก เรายังไม่แน่ชัดเรื่องจำนวนผู้เล่นว่ามากน้อยแค่ไหน พวกเขายังไม่มีสถิติการแข่งขันแมตช์นานาชาติ แต่เราจะพยายามทำให้ดีที่สุดเพื่อช่วยเหลือหมู่เกาะมาร์แชลล์”

สำหรับเป้าหมายสำคัญคือ ได้รับไฟเขียวจากฟีฟาให้ร่วมแข่งขันฟุตบอลโลกรอบคัดเลือก ซึ่งต้องเริ่มจากเป็นสมาชิกสมาพันธ์ฟุตบอลระดับทวีป อันดับแรก MISF จะต้องนำเสนอแผนงานและเป้าหมายให้พิจารณาลงคะแนนเสียงรับรอง ว่าหมู่เกาะมาร์แชลล์มีที่พักโรงแรม สถานที่ฝึกซ้อม และโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสมหรือไม่ ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าอาจไม่ผ่านการรับรองเหมือนอย่างที่ตูวาลู (Tuvalu) ประเทศหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก เคยได้สิทธิเป็นเพียงสมาชิกสมทบ (associate member) ของสมาพันธ์ฟุตบอลโอเชียเนีย (Oceania Football Confederation: OFC) และยังไม่ได้เป็นสมาชิกของฟีฟาเพราะขาดความเหมาะเรื่องโรงแรมและสิ่งอำนวยความสะดวก อย่างไรก็ตาม MISF ยังมองในแง่ดีว่า สนามกีฬาแห่งใหม่ในมาจูโร ซึ่งมีสนามฟุตซอลอยู่ข้างใน จะเป็นตัวแปรสำคัญช่วยให้ผ่านการรับรอง

มีความเป็นไปได้มากที่ MISF จะสมัครเป็นส่วนหนึ่งของ OFC มากกว่าสมาพันธุ์ฟุตบอลเอเชีย (Asia Football Confederation: AFC) ซึ่งออสเตรเลียเป็นสมาชิก หรือสมาพันธ์ฟุตบอลอเมริกาเหนือ อเมริกากลาง และแคริบเบียน (CONCACAF) ถ้าได้เข้าร่วม OFC แล้ว เป้าหมายจึงเปลี่ยนไปเป็นฟีฟา

โอเวอร์สกล่าวว่า “ลิวายต้องการให้เราเป็นสมาชิกฟีฟา เขาต้องการร่วมแข่งขันรอบคัดเลือกเวิลด์คัพ นี่เป็นเป้าหมายใหญ่ของเขา แต่ตอนนี้เรายังไม่ได้เป็นสมาชิก OFC เลย เหตุผลหลักคือขาดเงินทุน เราจึงต้องระดมทุนและขอความสนับสนุนจากหลายภาคส่วน เราได้สร้างหน้าเพจ GoFundMe ขึ้นมาแทบทันทีที่ผมรับตำแหน่ง ซึ่งมันไปได้สวยตั้งแต่แรกๆ แต่เรายังจำเป็นต้องสร้างความตระหนักรับรู้ให้กับโปรเจ็กต์นี้ รวมถึงประเทศของเรา และเป้าหมายระยะยาวที่เราพยายามทำให้สำเร็จ”

แผ่นดินบางส่วนจะจมอยู่ใต้น้ำภายในเวลาเจ็ดปี

เป้าหมายสูงสุดของพลเมืองมาร์แชลล์คือ ทำให้โลกตระหนักถึงสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งพวกเขาหวังว่าฟุตบอลจะช่วยส่งเสริมให้คนทั้งโลกรับรู้มหันตภัยนี้ ทั้งนี้มีการคาดคะเนว่าภายในปี 2030 หรืออีกแค่เจ็ดปีข้างหน้า แผ่นดินราว 40เปอร์เซ็นต์ของหมู่เกาะมาร์แชลล์จะจมอยู่ใต้น้ำ รวมถึงเกาะอีบีเย (Ebeye Island) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเกาะปะการังควาจาเลน (Kwajalein) ซึ่งเป็นเกาะที่มีประชากรมากที่สุดเป็นอันดับสองของประเทศ

ลิวายขยายความปัญหาที่น่าเป็นห่วงในบ้านเกิดว่า “สภาพอากาศที่นี่เปลี่ยนแปลงไปทุกๆวัน เราเห็นมันเป็นเรื่องประจำวัน ถ้าใครมาเยือนหมู่เกาะมาร์แชลล์ก็จะสังเกตได้ง่ายถึงสิ่งที่เกิดขึ้น”

ถ้าอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกยังเพิ่มขึ้นด้วยอัตราปัจจุบัน ส่วนหนึ่งของหมู่เกาะมาร์แชลล์จะจมอยู่ใต้น้ำภายในปี 2030 อย่างแน่นอน สิ่งก่อสร้างราว 40 เปอร์เซ็นต์ในกรุงมาจูโรจะถูกกลืนหายไปด้วยระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น บางเกาะผู้คนจะไม่สามารถพักอาศัยใช้ชีวิตได้อีกต่อไป ขณะที่โครงสร้างสนามกีฬาในมาจูโรถูกออกแบบโครงสร้างให้สูงกว่าระดับน้ำทะเลถึงสองเท่าเพื่อป้องกันไม่ให้จมหายไป ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกับการป้องกัน King Tides ซึ่งเป็นช่วงที่กระแสน้ำขึ้นสูงสุดปีละสองครั้งในรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐจากคลื่นมหาสมุทรแปซิฟิกที่พุ่งขึ้นสู่ชายหาด

ลิวายกล่าวต่อว่า “มหาสมุทรกำลังรุกล้ำพื้นที่หลังบ้านของเราและกัดเซาะผืนดินของเรา ต้นไม้ต่างพากันล้มลงในมหาสมุทรจากระดับน้ำที่สูงขึ้นเรื่อยๆ เราจึงหวังการเล่นฟุตบอลจะทำให้ผู้คนตระหนักว่า เกาะเล็กๆกำลังเผชิญหน้ากับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง เหตุการณ์อยู่ใกล้ตัวเพียงแค่หลังบ้านเท่านั้นเอง”

“นี่เป็นเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่กว่าฟุตบอลหรือการยอมรับจากฟีฟามากนัก มันจะสร้างความตระหนักรู้ถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นหากเหตุการณ์ยังเป็นอย่างที่เป็นอยู่ไปเรื่อยๆ ผมภาวนาให้สิ่งนี้ (ฟุตบอล) ช่วยเหลือหมู่เกาะมาร์แชลล์ได้ และในระยะยาวจะช่วยรักษาชาวมาร์แชลล์ให้อยู่ในบ้านของพวกเขาได้ต่อไป”

ถึงกระนั้น ลิวายยอมรับว่านั่นเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาวไกล แต่ระยะสั้น เขาต้องโฟกัสอยู่กับความฝันที่จะเห็นนักเตะกลุ่มหนึ่งเป็นตัวแทนของประเทศเล็กๆในมหาสมุทรแปซิฟิก “เราหวังจะได้เห็นชาวมาร์แชลล์เป็นตัวแทนประเทศพร้อมธงชาติลงแข่งขันในกีฬาที่พวกเขาไม่เคยคาดคิดมาก่อน (อย่างฟุตบอล”

ท้ายสุด ลิวายได้เปรียบเทียบพวกเขาเหมือนกับภาพยนตร์ตลกกีฬาเรื่อง Cool Runnings (สี่เกล๊อะจาไมก้า) ซึ่งออกฉายในปี 1993 สร้างจากเรื่องจริงของชาวจาไมกากลุ่มหนึ่งที่ต้องฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆเพื่อจะได้เป็นประเทศแรกจากแอฟริกา ทวีปโซนร้อน ลงแข่งขันกีฬาเลื่อนน้ำแข็งในโอลิมปิกฤดูหนาวปี 1988

“นี่เป็นเรื่องของประเทศเล็กๆ แต่ฟุตบอลสามารถช่วยวางดินแดนแห่งนี้ไว้บนแผนที่โลกได้” เป็นคำกล่าวของนักธุรกิจชาวมาร์แชลล์ ผู้ที่เริ่มหันมาสนใจฟุตบอลเพื่อให้ลูกชายและเพื่อนๆได้เล่นฟุตบอลที่พวกเขารักต่อไป

เรียบเรียง : ฐปน วันชูเพลา (Senior Football Writer) 

Facebook
Twitter
Pinterest
Email

Comments are closed.