Khaimukdam Group

SPECIAL CONTENT

จาก “จัสติน ฟาชานู” สู่ลีกฟุตบอลสีรุ้ง

จัสติน ฟาชานู อดีตศูนย์หน้าคนดัง นอกจากเป็นนักเตะค่าตัว 1 ล้านปอนด์คนแรก ๆ ของอังกฤษแล้วยังเป็นนักฟุตบอลอาชีพคนแรกในสหราชอาณาจักรที่ออกมายอมรับขณะค้าแข้งว่าเป็นเกย์ในเดือนตุลาคม 1990  แม้ LGBTQ (lesbian, gay, bisexual, transgender, queer) จะเป็นที่ยอมรับมากขึ้น แต่เวลากลับผ่านไปนานเกือบ 32 ปี จึงมีนักเตะกล้าที่จะทำเรื่องเดียวกันกับฟาชานู

เดือนพฤษภาคม 2022 ที่ผ่านมา เจค ดาเนียลส์ กองหน้าวัยเพียง 17 ปีของแบล็คพูล ทีมในแชมเปียนชิพ ออกมายอมรับว่าเป็นเกย์หลังเพิ่งเซ็นสัญญานักฟุตบอลอาชีพฉบับแรกเพียงสามเดือนก่อนหน้านี้ เขาเข้ามาอยู่แบล็คพูลตั้งแต่อายุแค่ 7 ขวบ และมีโอกาสร่วมทีม ยู-18 ในซีซัน 2020-21 ซึ่งสามารถผลิตสกอร์ได้มากถึง 30 ประตู

ดาเนียลส์ได้รับการยกย่องในความกล้าหาญที่ออกมาเปิดเผยต่อสาธารณชนจากผู้คนมากมายรวมถึง เจ้าฟ้าชายวิลเลียม ในฐานะประธานสมาคมฟุตบอลอังกฤษ, บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรี และสองนักเตะดัง แฮร์รี เคน กับ ดาบิด เด เคอา

กัปตันทีมชาติอังกฤษโพสต์บนทวิตเตอร์ว่า “ขอยกย่องนายและบุคคลที่สนับสนุนยืนเคียงข้างนายอย่างเพื่อน ๆ ครอบครัว สโมสร และกัปตันทีม ฟุตบอลควรต้อนรับทุกคนเท่าเทียมกัน” ขณะที่นายประตูของแมนฯยูไนเต็ด โพสต์ว่า “เจค ผู้กล้าหาญอย่างมหัศจรรย์”

ทิม ธอร์นตัน นักข่าวของสกาย สปอร์ตส์ ให้สัมภาษณ์ว่า “ตัวแทนของเจคได้ติดต่อผมช่วงต้นปีหลังจากเขาตัดสินใจจะเปิดเผยความจริงต่อสาธารณชน ผมพบเจค เอเยนต์ และแม่ของเขาที่แบล็คพูล เราพูดคุยถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นเมื่อข่าวแพร่ออกไป แต่เป็นความปรารถนาของเจคที่จะช่วยเหลือผู้อื่น เขาคือแรงบันดาลใจให้กับทุกคนทุกที่”

ดาเนียลส์ตระหนักดีถึงผลที่จะตามมาแม้ยังได้รับกำลังใจและการสนับสนุนจากคนรอบตัวเหมือนครั้งหนึ่งที่ฟาชานูเคยบอกเล่าประสบการณ์ แต่อีกมุมหนึ่ง กองหน้าชาวอังกฤษ ซึ่งย้ายจากนอริชไปเล่นให้น็อตติงแฮม ฟอเรสต์ ด้วยค่าตัว 1 ล้านปอนด์ในเดือนสิงหาคม 1981 ยอมรับว่าตัวเขายังโดนล้อเลียนบ่อยครั้งและเป็นเป้าโจมตีด้วยวาจาของผู้คน รวมถึงจอห์น ฟาชานู น้องชายอายุน้อยกว่าปีเดียวของจัสติน ที่ให้สัมภาษณ์เอ็กซ์คลูซีฟกับ เดอะ วอยซ์ ซึ่งพาดหัวเรื่องว่า “จอห์น ฟาชานู: พี่ชายเกย์ของผมเป็นจัณฑาล” และเคยพูดกับ ทอล์คสปอร์ต ว่าความจริงแล้วจัสตินไม่ได้เป็นเกย์ เขาแค่เรียกร้องความสนใจ อย่างไรก็ตาม จอห์นได้ออกมาแสดงความเสียใจที่พูดแบบนั้นกับพี่ชายตัวเอง

ไม่ต้องการใช้ชีวิตที่เหลืออยู่กับการโกหก

“ผมบอกเรื่องนี้กับแม่และพี่สาวหลังจากแมตช์กับแอคคริงตันซึ่งผมทำได้สี่ประตู ผมรู้สึกผ่อนคลายกับการปลดปล่อยน้ำหนักที่หนักมากออกจากบ่า” เจค ดาเนียลส์ เล่าถึงจุดเริ่มต้นก่อนที่จะบอกกับสโมสรและเพื่อนร่วมทีม เขาปรารถนาที่จะซื่อสัตย์กับตัวเองและอยากใช้ชีวิตด้วยการไม่ต้องโกหกใคร กองหน้าดาวรุ่งรู้สึกตื่นเต้นและประหลาดใจมากที่ได้รับการสนับสนุนจากครอบครัวและเพื่อนนักเตะ เขาหวังว่าการกระทำครั้งนี้จะช่วยคนอื่นได้แบบเดียวกัน

ดาเนียลส์ย้อนกลับไปยังชีวิตวัยเด็กว่า น่าจะเป็นตอนอายุ 5-6 ขวบที่รู้ว่าตัวเองเป็นเกย์ นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของเวลาที่ยาวนานกับการใช้ชีวิตด้วยการโกหก แต่พออายุมากขึ้น เขาก็ตระหนักว่าคงเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ ชีวิตแบบนั้นไม่เวิร์คแน่นอน เขาเคยมีแฟนเป็นผู้หญิงและพยายามทำทุกอย่างให้เพื่อนๆมองว่าเขาเป็นชายแท้ แต่มันใหญ่เกินกว่าจะปกปิด เพื่อนที่โรงเรียนมักถามว่า “นายแน่ใจเหรอกว่าไม่ได้เป็นเกย์” ซึ่งเขาก็ตอบกลับไปเสมอว่า “ไม่ ฉันไม่ได้เป็น”

“ผมเป็นนักฟุตบอลอาชีพแล้ว ผมถามตัวเองว่าจะคอยจนกระทั่งรีไรท์แล้วค่อยออกมาบอกความจริงเหรอ แต่ไม่มีนักฟุตบอลอาชีพ(ที่ยังแข่งขันอยู่)ทำอะไรแบบนั้นเช่นกัน ท้ายสุดผมมองว่ามันกำลังนำผมไปสู่การโกหกอีกยาวนาน ซึ่งไม่ใช่วิถีชีวิตที่ผมต้องการ ผมจึงตัดสินใจเผยความจริงกับครอบครัว สโมสร และเพื่อนร่วมทีม”

“ณ เวลานั้น ความคิดมากมลายหายไป ความกดดันที่มีอยู่ก็ไม่เหลือแล้ว มันส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของผมอย่างมาก ตอนนี้ผมเปี่ยมไปด้วยความเชื่อมั่นและมีความสุขกับตัวเองจริง ๆ ในที่สุด”

ดาเนียลส์เล่าถึงปฏิกิริยาแรกที่แม่และพี่สาวได้ฟังคำสารภาพของเขาว่า “พวกเขาตอบว่า จ้า..พวกเรารู้อยู่แล้ว จากนั้นผมก็ไม่มีอะไรต้องกังวลอีกต่อไป ผมได้รับข้อความมากมายที่บอกว่าพวกเขาภูมิใจและพร้อมสนับสนุนผม มันเหลือเชื่อจริง ๆ ผมคขออะไรมากไปกว่านี้ไม่ได้แล้ว”

“ที่แบล็คพูลเป็นอะไรที่อะเมซิ่งมาก ๆ เช่นกัน ผมอยู่กับพวกเขาทุกวัน เพื่อนๆอยู่เคียงข้างผม ทุกคนเข้ามาตบหลังตบไหล่ ถามอะไรผมมากมาย แน่นอนทุกคนช็อกแต่ก็พูดว่าทำไมผทไม่บอกพวกเขาให้เร็วกว่านี้ล่ะ เป็นปฏิกิริยาที่ยอดเยี่ยมจริงๆเพราะสื่อให้เห็นว่าพวกเขาใส่ใจผมมากแค่ไหน แน่นอนกัปตันทีมเป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญ เขาถามผมหลายเรื่องก่อนทิ้งท้ายว่า เขาภูมิใจในตัวผม ซึ่งเป็นประโยคที่มีความหมายต่อผมมาก”

ปีนี้ ดาเนียลส์อายุ 17 ปี ได้เซ็นสัญญาเป็นนักฟุตบอลอาชีพ มีโอกาสลงเล่นนัดแรกในอีเอฟแอล แชมเปียนชิพ เมื่อถูกเปลี่ยนลงสนามในนาทีที่ 81 ของเกมกับปีเตอร์โบโรห์ จากนั้นก็ออกมายอมรับว่าเป็นเกย์ ถือเป็นช่วงเวลาที่สำคัญในชีวิตของเขาแน่นอน

“เกย์ ไบ หรือเควียร์ในฟุตบอลชายยังเป็นประเด็นต้องห้าม เพราะนักฟุตบอลต้องแสดงออกถึงความแข็งแกร่ง แต่คนยังมองว่าเกย์เป็นมนุษย์ที่อ่อนแอ แน่นอนผมยังระวังที่อาจเกิดปฏิกิริยาลักษณะนี้ และยังมีคนอีกมากที่เป็นโฮโมโฟเบียน (ไม่ชอบหรือกลัวคนรักร่วมเพศ) ทั้งที่สนามฟุตบอลและโซเชียลมีเดีย ผมคงห้ามคนอื่นไม่ได้ ผมเพียงต้องเรียนรู้ว่าจะไม่ให้มันส่งผลกระทบกับตัวเอง”

ดาเนียลส์หวังว่าการออกมาของเขาจะเป็นต้นแบบและสามารถช่วยให้คนอื่นกล้าที่จะออกมาหากพวกเขาต้องการ “ผมอายุแค่ 17 เอง และชัดเจนว่านี่คือสิ่งที่ผมอยากทำ ถ้านี่ทำให้คนอื่นรู้สึกว่าพวกเขาก็ทำแบบเดียวกันได้ มันเป็นเรื่องวิเศษสุดเลย ประมาณว่าในเมื่อเด็กคนนี้กล้าพอที่จะทำอะไรแบบนี้ ฉันก็ทำได้เหมือนกัน”

จากแฟนบอลสู่สองทศวรรษฟุตบอลลีกชาวเกย์

ขณะที่ จอห์น ฟาชานู และ เจค ดาเนียลส์ เป็นการกระทำที่กล้าหาญส่วนบุคคล แต่ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่รณรงค์เรื่องสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมกันของความหลากหลายทางเพศผ่านการแข่งขันฟุตบอลลีก GFSN หรือ “เกย์ ฟุตบอล ซัพพอร์ตเตอร์ส ลีก” (Gay Football Supporters Network League”

GFSN หรือ Gay Football Supporters Network เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรในสหราชอาณาจักร ก่อตั้งเมื่อต้นปี 1989มีวัตถุประสงค์เพื่อให้แฟนบอลที่เป็นเกย์มีพื้นที่ในการพบปะพูดคุยถกเถียงประเด็นกีฬาลูกหนังที่พวกเขารักโดยไม่ต้องกังวลว่าจะถูกเหยียดหยามหรือล่วงละเมิด

จากวงสนทนาประสาคนรักฟุตบอล กลายมาเป็นนัดหมายเพื่อเตะฟุตบอลข้างละห้าคน จากฟุตบอลข้างละห้ากลายเป็นข้างละสิบเอ็ด จากการแข่งขันแบบตามสะดวกเป็นแมตช์ๆไป กลายมาเป็นลีกที่มีระบบจัดการแข่งขัน ซึ่งเกมแรกในประวัติศาสตร์ จีเอฟเอสเอ็น ลีก เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2002 เลสเตอร์ ไวลด์แคทส์ ชนะ ยอร์คเชียร์ เทอร์ริเออร์ส ไปอย่างสบายเท้า 5-1 ที่ธอร์นส์ พาร์ค ในเวคฟิลด์

ขอบคุณภาพจาก  https://www.bbc.com/sport/football/62948125

จีเอฟเอสเอ็น ลีก เพิ่งมีอายุครบ 20 ปีเต็มไปเมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมาในฐานะพื้นที่สำคัญสำหรับนักเตะและแฟนบอล LGBTQ+ จากสโมสรที่ร่วมก่อตั้ง 4 ทีม เพิ่มมาเป็น 16 ทีมในฤดูกาล 2022-23 ซึ่งแบ่งการแข่งขันเป็นดิวิชัน 1 และ 2ลีกละ 8 ทีม แล้วยังมีการชิงถ้วย จีเอฟเอสเอ็น คัพ อีกด้วย

จีเอฟเอสเอ็น ลีก เป็นลีกฟุตบอลแห่งชาติรายการเดียวในโลกสำหรับกลุ่ม LGBTQ+ ซึ่งเปิดรับผู้คนทุกคนไม่จำกัดอายุ เพศ เชื้อชาติ ศาสนา และอื่นๆ ประกอบด้วยสโมสรจากหลายเมืองในสหราชอาณาจักรเช่น ลอนดอน แมนเชสเตอร์ ลิเวอร์พูล เอดินเบิร์ก กลาสโกว์ คาร์ดิฟฟ์ รวมถึงสโมสรที่อยู่ในเครือข่ายจากประเทศไอร์แลนด์ด้วย

สำหรับแผนงานในทศวรรษที่สาม องค์กร “เกย์ ฟุตบอล ซัพพอร์ตเตอร์ส” มุ่งหวังที่จะเห็นทีมฟุตบอล LGBTQ+ กระจายไปทั่วสหราชอาณาจักรให้มากขึ้นอย่างเช่นยังไม่มีทีมในแองเกลียตะวันออกหรือในเบอร์มิงแฮมก็มีเพียงทีมเดียว, อยากให้มีการแข่งขันนานาชาติ ซึ่งเริ่มจากส่งทีมรวมดารา จีเอฟเอสเอ็น เข้าร่วมมหกรรมกีฬาเกย์เกมส์ที่ฮ่องกงในปีหน้า, เพิ่มจำนวนสมาชิกที่เป็น “ทราน” หรือแปลงเพศแล้ว โดยตอนนี้มี TRUK United ที่เป็นทีมฟุตบอลของทราน ส่งนักเตะร่วมแข่งขันเป็นครั้งแรกในจีเอฟเอสเอ็น ลีก ดิวิชัน 2

เป้าหมายสำคัญคือ จีเอฟเอสเอ็นจะไม่มีแค่จีเอฟเอสเอ็นเท่านั้น แต่พวกเขาต้องการทำลายเครื่องกีดขวางทุกประเภทเพื่อที่ทุกคนจะได้เล่นฟุตบอลด้วยกัน ซึ่งแน่นอนนั่นเป็นแผนงานระยะยาว หนึ่งในเครื่องกีดขวางที่ถูกทำลายเกิดขึ้นในจีเอฟเอสเอ็น คัพ รอบชิงชนะเลิศ ฤดูกาลที่แล้วเมื่อวิลเลจ แมนเชสเตอร์ ครองแชมป์ด้วยชัยชนะเหนือดับลิน เดวิลส์ ในสนามเหย้าของเชลบอร์น เอฟซี ซึ่งเป็นครั้งแรกที่นัดชิงได้แข่งขันบนสนามของสโมสรลีกอาชีพนักฟุตบอลชาย

มนุษย์ธรรมดากลุ่มหนึ่งที่อยากเล่นฟุตบอล

ไมค์ กาโลเกรู ประธานจีเอฟเอสเอ็นวัย 39 ปี ซึ่งเล่นให้กับไวลด์แคทส์ตั้งแต่ปี 2009 ให้สัมภาษณ์กับบีบีซี สปอร์ต ว่า “พวกชายแท้ชอบถามผมว่า ‘ทำไมนายต้องเอาเรื่องเซ็กส์เข้ามาวงการฟุตบอลด้วย’ ถ้ามองไปบนอัฒจันทร์ จะเห็นคนที่เป็นโฮโมโฟเบียตะโกนถากถางล้อเลียนผู้เล่น คุณได้ยินอะไรแบบนี้เกือบทุกที่แหละไม่ว่าจะเป็นสนามระดับชาติหรือรากหญ้า”

“คนเราหวังเห็นผู้คนสนุกสนานกับฟุตบอลทั้งที่มีอะไรแบบนี้เกิดขึ้นเหรอ ครั้งหน้าอยากให้คุณลองฟังเสียงที่ได้ยินเวลาไปดูการแข่งขันฟุตบอลลีกหรืออยู่ในผับ คุณจะเข้าใจเหตุผลที่จีเอฟเอสเอ็นยังดำรงอยู่”

ขอบคุณภาพจาก  https://web.facebook.com/GayFootballSupportersNetwork/photos/pb.100063499932722.-2207520000../5520348088036407/

จีเอฟเอสเอ็นก้าวไปไกลจากแมตช์เดย์เมื่อ 20 ปีที่แล้ว จากคำบอกเล่าของเอียน คอลลินส์ เจ้าของผับในเมืองบีลผู้ถูกบันทึกว่าเป็นคนทำประตูแรกแม้เทอร์ริเออร์สพ่ายไวดล์แคทส์ 1-5 “เราต้องเล่นในสภาพโคลนท่วมรองเท้า แต่ทีมเลสเตอร์เดินทางมาแล้วและต้องการเล่นมาก ถ้าเป็นแมตช์อื่นระดับท้องถิ่น ทีมเหย้าคงเลื่อนการแข่งขันไปแล้ว”

สตีฟ นีเบลทท์ ซึ่งเป็นสมาชิกทีมไวลด์แคทส์ตั้งแต่ปี 2002 ย้อนความทรงจำว่า “เป็นเพราะสังคม(เกย์)ที่ดึงผมเข้าไปในวัย 20 ต้นๆ มันเยี่ยมมากที่ได้พบปะกับนักฟุตบอลทั่วประเทศ ทุกวันนี้ลีกก้าวไปไกลแล้ว อาจไม่ใช่ลีกที่เลิศในแง่มุมเทคนิค แต่เป็นเรื่องความหลากหลายของผู้คน มีอายุตั้งแต่ 19,20 ไปจนถึงรุ่น 50”

นีเบลทท์เติบโตในเวลส์ตอนใต้และย้ายไปเรียนปริญญาตรีที่เลสเตอร์ ตอนนี้ยังเล่นให้ไวลด์แคทส์ในว้ย 46 ปี “ระดับมาตรฐานฟุตบอลของเราสูงขึ้น เป็นการแข่งขันที่เข้มข้นจริงจังขึ้นมาก นั่นแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการของทีมและนักฟุตบอล นักเตะหนุ่ม ๆ เข้ามามากขึ้นซึ่งหมายถึงคุณภาพที่เพิ่มขึ้น”

คอลลินส์ได้มอบเสื้อแข่งจากเกมแรกให้กับพิพิธภัณฑ์ฟุตบอลแห่งชาติในแมนเชสเตอร์ และเขารู้สึกเป็นเกียรติที่ปรากฏชื่ออยู่บนวิกิพีเดีย แต่นั่นยังสำคัญน้อยกว่าการที่ลีกได้เปลี่ยนแปลงและท้าทายมุมมองที่มีต่อฟุตบอลชาย

“ผมเคยชวนเพื่อนที่เป็นเฮทโรเซ็กช่วล (รักต่างเพศ) มาชมบอลนัดหนึ่ง พวกเขาถามว่านักฟุตบอลคนไหนเป็นเกย์เพราะดูแข็งแกร่งมาก นั่นจึงทำให้พวกเขาตระหนักว่าเราจริงจังกับฟุตบอลมากแค่ไหน บางทีแต่ก่อนพวกเขาคงหวังจะให้เราสวมรองเท้าส้นสูงวิ่งบนสนามหญ้ามั้ง เราก็เป็นมนุษย์ธรรมดากลุ่มหนึ่งที่อยากเล่นฟุตบอล … ก็เท่านั้น”

เรียบเรียง : ฐปน วันชูเพลา (Senior Football Writer)

Facebook
Twitter
Pinterest
Email

Comments are closed.