สมาคมฟุตบอลอังกฤษ หรือ เอฟเอ ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการสมาคมฟุตบอลระหว่างประเทศ (IFAB) ให้ทดลองใช้มาตรการห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี โหม่งลูกบอล ตลอดฤดูกาล 2022/23
ซึ่งมาตรการดังกล่าว ครอบคลุมทุกระดับ ตั้งแต่รากหญ้า, โรงเรียน, สโมสร ไปจนถึงลีก เพื่อป้องกันผลข้างเคียงทางสมอง ในอนาคต และถ้าพิสูจน์ว่าประสบความสำเร็จ จะประกาศใช้อย่างเป็นทางการในซีซั่นถัดไป
แล้ววงการลูกหนังเมืองผู้ดี ให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวอย่างไร ? SoccerSuck x ไข่มุกดำ จะมาขยายความให้ฟังกันครับ
“โอมาลู” ผู้ที่ทำให้โลกรู้จัก CTE
ย้อนกลับไปเมื่อเดือนกันยายน ปี 2002 วงการกีฬาสหรัฐอเมริกาได้สูญเสีย ไมค์ เว็บสเตอร์ ตำนานนักกีฬาอเมริกันฟุตบอลของพิตต์สเบิร์ก สตีลเลอร์ส จากไปด้วยอาการหัวใจวาย ในวัย 50 ปี
สมัยที่เว็บสเตอร์เป็นนักกีฬาอาชีพในเอ็นเอฟเอล ได้รับฉายาว่า “ไอรอน ไมค์” เนื่องจากเขาใช้ศีรษะที่อยู่ภายใต้หมวกเหล็ก พุ่งชนคู่ต่อสู้ กลายเป็นภาพที่แฟนกีฬาคนชนคนจดจำได้เป็นอย่างดี
โดยผู้ที่รับหน้าที่ชันสูตรศพ คือ นพ.เบนเน็ต โอมาลู แพทย์ชาวไนจีเรีย ซึ่งได้ผ่าตัดเอาสมองของเว็บสเตอร์มาวินิจฉัย ภายนอกดูปกติ แต่เมื่อนำเนื้อเยื่อสมองไปฉีดสี ก็พบความผิดปกติในที่สุด
ซึ่งนพ. โอมาลู ได้ตั้งชื่อว่า ภาวะสมองเสื่อมรุนแรงเรื้อรัง (Chronic Traumatic Encephalopathy : CTE) คือภาวะที่สมองไม่สามารถสั่งการได้ตามปกติ เนื่องจากการส่งสัญญาณของระบบประสาทที่ติดขัด
ความน่ากลัวของ CTE คือ ในช่วงแรกจะไม่แสดงอาการชัดเจน แต่ถ้าได้รับบาดเจ็บจากแรงกระทบกระเทือนทางสมองซ้ำๆ สะสมเรื้อรังเป็นเวลานานหลายสิบปี ก็จะทำให้อาการทวีความรุนแรงมากขึ้น
นพ. โอมาลู กล่าวว่า “ในมุมมองของผม อาชีพนักกีฬาอเมริกันฟุตบอล ไม่ต่างอะไรจากทหารในสนามรบ ผมคิดว่านักกีฬาประเภทนี้มากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ กำลังมีอาการบางอย่าง หรือเจ็บป่วยจากภาวะ CTE”
จากกรณีการเสียชีวิตของเว็บสเตอร์ ทำให้ในปี 2011 กีฬาเอ็นเอฟแอล ได้มีการเปลี่ยนแปลงกติกาครั้งสำคัญ เพื่อลดการปะทะของผู้เล่น โดยเริ่มจากขยับระยะการเตะเปิดลูก จากเดิม 30 หลา เป็น 35 หลา
ตามด้วยการเพิ่มความปลอดภัยสูงสุด ด้วยการไม่ให้หมวกกันกระแทกที่สวมใส่ ปะทะกันโดยเด็ดขาด พร้อมกับจัดเตรียมนักประสาทวิทยา ประจำการในแต่ละสนาม เพื่อเช็คสภาพร่างกายของผู้เล่นได้ทันที
บทเรียนจากตำนานลูกหนังในอดีต
“ลูกโหม่ง” ถือเป็นหนึ่งในจังหวะคลาสสิกที่อยู่คู่กับกีฬาฟุตบอลมาทุกยุคทุกสมัย นักฟุตบอลในอดีตหลายๆ คน ต่างเคยมีประสบการณ์โหม่งทำประตูมาแล้วอยู่บ่อยๆ จนพาทีมประสบความสำเร็จมามากมาย
อย่างไรก็ตาม ได้มีนักฟุตบอลระดับตำนานในสมัยก่อน เริ่มที่จะมีอาการป่วยด้วยภาวะสมองเสื่อมมากขึ้นเรื่อยๆ จนมีการตั้งข้อสงสัยว่า สาเหตุที่แท้จริงของภาวะดังกล่าว เกิดจากการโหม่งบอลที่มากเกินไปหรือไม่ ?
จุดเริ่มต้นที่วงการฟุตบอลอังกฤษให้ความสำคัญกับการโหม่งบอล คือกรณีของเจฟฟ์ แอสเทิล อดีตศูนย์หน้าจอมโหม่งประตูของทีมชาติอังกฤษ และเวสต์บรอมวิช อัลเบี้ยน ที่เสียชีวิตไปเมื่อปี 2002 ด้วยวัย 59 ปี
แอสเทิล ถือเป็นนักฟุตบอลคนแรกของเกาะอังกฤษ ที่ถูกตรวจพบว่าเป็นโรคสมองเสื่อม ซึ่งในตอนแรก มีการระบุสาเหตุการเสียชีวิตแบบกว้างๆ ว่า เป็น “อาการทั่วไป” ที่เกิดขึ้นเป็นปกติในวงการฟุตบอลอังกฤษ
จนกระทั่งในปี 2014 ได้มีการเรียกร้องขอความเป็นธรรม ภายใต้แคมเปญ “Justice ofr Jeff” ให้มีการสืบสวนสาเหตุการเสียชีวิตที่แท้จริงของแอสเทิล และท้ายที่สุดก็ได้รับการยืนยันว่า เขาเสียชีวิตด้วยภาวะ CTE
นพ. โอมาลู ผู้ค้นพบ CTE กล่าวว่า “สมองมนุษย์ เปรียบได้กับบอลลูนที่ลอยอยู่ในกะโหลก เมื่อโหม่งลูกฟุตบอล สมองจะลอยตัวไปกระแทกกับกะโหลก ทำให้เกิดรอยช้ำ ยิ่งมีการโหม่งบ่อย ๆ จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิด CTE เมื่ออายุมากขึ้น”
มีการตั้งข้อสันนิษฐานว่า ลูกฟุตบอลในสมัยก่อนมีน้ำหนักที่มาก และจะหนักขึ้นกว่าเดิมถ้ามีการอุ้มน้ำ เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ลูกฟุตบอลถูกออกแบบมาให้มีน้ำหนักเบา และนักเตะเริ่มรู้เทคนิคในการโหม่งบอลที่ถูกต้อง
แต่สำหรับเกมฟุตบอลในปัจจุบัน ที่กลายเป็นธุรกิจแบบเต็มตัว การหลีกเลี่ยงการใช้ลูกโหม่งเพื่อทำประตู คงเป็นสิ่งที่ทำได้ยากมาก ๆ ตราบใดที่ผลประโยชน์ของทีมฟุตบอล สำคัญกว่าความปลอดภัยและชีวิตของนักเตะ
ว่าด้วยเรื่อง “กฎการโหม่งบอล”
จากงานวิจัยที่ระบุว่า นักฟุตบอลอาชีพมีโอกาสเสียชีวิตจากภาวะสมองเสื่อมมากกว่าคนทั่วไปถึง 3.5 เท่า ทำให้ในบางประเทศ เริ่มที่จะเพิ่มมาตรการเพื่อลดการโหม่งบอลสำหรับเด็กที่อายุไม่ถึงเกณฑ์ที่กำหนด
เมื่อปี 2015 สหรัฐอเมริกาได้ออกกฎห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 11 ขวบโหม่งบอลโดยเด็ดขาด เพราะผู้ปกครองกังวลว่าสมองของเด็กๆ จะได้รับการกระทบกระเทือน ส่วนเด็กอายุ 11-13 ปี จะจำกัดจำนวนครั้งในการโหม่ง
ต่อมาในปี 2020 สมาคมฟุตบอลอังกฤษ, สมาคมฟุตบอลสกอตแลนด์ และสมาคมฟุตบอลไอร์แลนด์เหนือ ร่วมกันออกกฎห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี โหม่งบอลในสนามซ้อม แต่ในสนามจริงยังอนุญาตให้ใช้ลูกโหม่งได้
จนกระทั่งฤดูกาล 2021/22 ที่ผ่านมา บรรดาองค์กรฟุตบอลของอังกฤษ ได้ร่วมมือกันในการบังคับใช้กฎโหม่งบอลเป็นครั้งแรก โดยมีผลกับการแข่งขันทุกเพศ ทุกวัย ทุกระดับ ตั้งแต่ลีกอาชีพ จนถึงลีกสมัครเล่น
ซึ่งสาระสำคัญของกฎนี้คือ “ให้จำกัดการโหม่งบอลในสนามซ้อม จากลูกเปิดระยะไกลกว่า 35 เมตรทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นลูกเปิดจากริมเส้น, ลูกเตะมุม, ลูกฟรีคิก และอื่นๆ ไม่เกิน 10 ครั้งต่อสัปดาห์”
มาร์ค บูลลิงแฮม ซีอีโอของเอฟเอ กล่าวว่า “เราจะศึกษาผลวิจัยทางการแพทย์เพิ่มเติม เพื่อทำความเข้าใจกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในทุกกรณี เราเชื่อว่าแนวทางนี้จะช่วยลดปัจจัยเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต”
ล่าสุด ในซีซั่น 2022/23 เอฟเอได้ทดลองใช้มาตรการห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี โหม่งลูกบอลโดยเด็ดขาด ทั้งในสนามซ้อมและสนามแข่ง หากผลการทดลองเป็นที่น่าพอใจ ก็จะบังคับใช้จริงในซีซั่น 2023/24
แม้ผลการวิจัยในเรื่องการป้องกันภาวะสมองเสื่อม ยังคงต้องใช้เวลาพิสูจน์อีกนานมากๆ แต่ความพยายามที่จะลด หรือห้ามการโหม่งบอลในเด็ก ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทุกฝ่ายต่างเห็นความสำคัญร่วมกัน
เรียบเรียง: จักรพันธ์ ภู่ทอง
อ้างอิง :
– https://www.thefa.com/news/2022/jul/18/statement-heading-trial-u12-games-20221807
– https://www.bbc.com/sport/football/62208661
– https://www.bbc.com/sport/football/44367148
Football Editor